เรื่องเด่น กรรมฐาน ๔๐ ประยุกต์

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 19 ธันวาคม 2016.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,172
    กรรมฐาน ๔๐ ประยุกต์
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม ดร. เช้าวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ งานปฏิบัติธรรมปัญญาสมวาร
    ........................

    ตั้งกายให้ตรง หายใจเข้าสุด หายใจออกสุด จับภาพพระ จับภาพพระหลายองค์แล้วไม่เหมือนกันจะทำได้ยากขึ้น แต่ก็ดีที่ช่วยสร้างสติมากขึ้น หายใจเข้าภาพพระเลื่อนลงไปในท้อง หายใจออกภาพพระเลื่อนขึ้นไปบนศีรษะ สิ่งที่เราฝึกนี้ต้องบอกว่าเป็นพื้นฐานของกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง โดยเฉพาะในส่วนของปฏิสัมภิทาญาณ ภาพพระคือ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสตินั่นเองพร้อมกับเป็นกองกสินไปด้วย แสงสว่าง คือ อาโลกสิน ถ้ากำหนดให้เป็นสีขาวเป็นโอทาตกสิน ภาพพระสีทองเป็น ปีตกกสิน สีเขียวเป็น นีลกสิน

    หลังจากนั้นก็กำหนดภาพพระให้นิ่งไว้ที่ศีรษะของเรา หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น กำหนดใจให้รัศมีของพระครอบคลุมกายเรา หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้นๆ หายใจออกภาพพระสว่างขึ้นๆ ลักษณะนี้เป็นการใช้ผลของกสินแล้ว เมื่อภาพพระสว่างชัดเจนดีแล้ว ให้รัศมีขององค์พระแผ่กว้างออกไป กว้างออกไป ไม่มีประมาณ ให้กำหนดใจไปในพรหมวิหารทั้ง ๔

    มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้นล่วงตกไปแล้ววันหนึ่งคืนหนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจงไปเสวยสุขในสุคติภพโดยทั่วหน้ากันเถิด นี่เป็นเมตตาพรหมวิหารรักเขาเสมอตัวเรา

    มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้นตกอยู่ในความทุกข์ยาก เศร้าหมอง เดือดร้อน ลำเค็ญ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการใดๆ ก็ดี ขอให้เขาเหล่านั้นจงได้ล่วงพ้นจากความความทุกข์ทั้งหลายนั้นเถิด นี่คือ กรุณาพรหมวิหารสงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์

    มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้นที่มีความสุขความเจริญดีอยู่แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจงมีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยเถิด นี่เป็น มุทิตาพรหมวิหารพลอยยินดีที่เขาอยู่ดีมีสุข

    มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น พึงเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่แก่กันและกัน เสียสละให้ปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้ตกอยู่ความทุกข์ยากยิ่งกว่าตนให้พ้นทุกข์เพื่อยังโลกนี้ไปสู่สันติสุขอันสมบูรณ์ด้วยเถิด อันนี้เป็น เมตตา กรุณา อุเบกขา ในอุเบกขาพรหมวิหาร ให้ซักซ้อมทำไว้บ่อยๆ วันละหลายๆ ครั้ง เนื่องจากเมตตาพรหมวิหารนั้นการแผ่เมตตาให้มีอารมณ์ทรงตัวจนถึงฌาน ๔ เป็นของยาก ยิ่งต้องนำมาควบกับกสินและกำหนดเป็นรัศมีสีขาว เป็นโอทาตกสินก็ได้หรือจะกำหนดเป็นแสงสว่างของอาโลตกสินก็ได้

    หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้นๆ หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้นๆ หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้นๆ หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้นๆ และหลังจากนั้นเลื่อนภาพพระลงไปในศีรษะของเรา ถ้าหากว่าภาพพระอยู่ข้างนอกเป็นส่วนของรูปฌาณ ถ้าอยู่ข้างในเป็นการจับต้องได้ยากถือเป็นส่วนของอรูปฌาน น้อมจิตน้อมใจกราบลงที่ภาพพระของเรา ให้ตั้งใจเรายกเอาพระธรรมเทศนาขององค์พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้ามาพินิจพิจารณา ขอให้เราสามารถรู้เห็นได้อย่างชัดเจนในสภาพจิตเดียวกันกับความเป็นจริงนั้นด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า

    หลังจากนั้นก็จิตนึกย้อนรอยถอยไปเมื่อตอนเราตื่นนอน ก่อนนอนไล่ไปจนถึงเมื่อวาน สองวันที่แล้วและสามวันที่แล้ว ไล่ไปเรื่อยจนเป็นเดือนที่แล้ว ปีที่แล้ว ห้าปีที่แล้ว สิบปีที่แล้วจนไปถึงวาระที่เราปฏิสนธิอยู่ในท้องแม่ นี่เป็นส่วนของทิพจักขุญาณ ทั้งในส่วนของอตีตังสญาณ ในส่วนของของปุพเพนิวาสานุสติญาณ ในส่วนของจุตูปปาตญาณ ญาณทั้งหลายเหล่านี้เราสามารถใช้ควบกันได้หมด หลังจากนั้นก็ดูถึงความไม่เที่ยงของร่างกายของเราที่จากการจุดปฏิสนธิเล็กๆ พอโดนไฟธาตุของแม่เคี่ยวเข้าก็มีการขยายตัวขึ้นมา เติบโตขึ้นมาจากสิ่งเดียวก็เป็นสอง จากสองเป็นสี่ จากสี่เป็นแปด จากแปดเป็นสิบหก ขยายเพิ่มขึ้นมาเรื่อยมาจนกระทั่งปรากฏเหมือนยังกับก้อนเลือดก้อนหนึ่งโตประมาณฟองไข่มีจุดดำๆ ของลูกตาปรากฏขึ้นก่อน มีกะโหลกหน้าผาก จากนั้นกะโหลกโตขึ้นก็มีกระดูกสันหลังเหยียดยาวออกไป มีปัญจะสาขาคือ แขน ขาจากจุดเล็กๆ นั้นงอกใหญ่ขึ้นมา มีอวัยวะภายใน ภายนอกสมบูรณ์ หลังจากทนอุดอู้ในท้องแม่ได้เก้าเดือนสิบเดือนก็คลอดก็เคลื่อนออกมาข้างนอก เป็นเด็กน้อยค่อยๆ หัดดิ้น หัดคว่ำ หัดคลาน หัดนั่ง หัดยืน หัดเดิน หัดวิ่ง ไม่มีฟันก็มีฟัน จากพูดไม่ได้ก็พูดได้ เป็นเด็กเล็ก เป็นเด็กโต เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นคนโต เป็นคนแก่แล้วก็ตาย

    ถ้าความรู้สึกเลือนไปจางไปเมื่อไหร่ให้กลับไปหาภาพพระกลับไปหาดวงกสินของเราใหม่ หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้นๆ หายใจออกภาพพระสว่างขึ้นๆ เมื่อจับลมหายใจพร้อมกับภาพพระจนรู้สึกแน่นิ่งมั่นคงดีแล้ว มีกำลังแล้ว กำหนดจิตย้อนรอยถอยหลังไปใหม่จนกระทั่งไปอยู่ในท้องแม่ เป็นจุดปฏิสนธิเล็กๆ โดนไฟธาตุของแม่เผาอยู่ตลอดเวลาค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นมา อึดอัด ขัดข้อง ปวดเมื่อยไปหมด เร่าร้อนไปหมด ดิ้นรนอย่างไรก็ไม่สามารถจะพ้นออกมาได้ ท้ายสุดก็คลอดก็เคลื่อนออกมา ผิวหนังกระทบความหนาวของอากาศแสบร้อนไปทั้งกาย หิวต้องกิน กระหายต้องดื่ม ปวดอุจจาระปัสสาวะ ต้องอึ ต้องฉี่ เจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษาพยาบาล สกปรกโสโครกต้องหาน้ำให้อาบ ต้องพยายามปรับร่างกายให้ทำงานให้ได้อย่างใจ ค่อยๆ หัดพลิก หัดเคลื่อนไหว หัดคลาน หัดล้ม หัดลุก เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยอยู่ทุกขั้นตอน หัดเดิน หัดวิ่ง หัดพูด ต้องเข้าโรงเรียน เรียนหนังสือ กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบอยู่ตลอดเวลา เวลาเรียนก็เครียดกับเรื่องเรียน เครียดกับการบ้าน เครียดกับรายงาน เครียดกับการสอบ เหนื่อยยากกับการเดินทาง จนกระทั่งสอบจบ จนกระทั่งลำบากในการหางานทำ หาคู่ครอง จากคนเดียวกลายเป็นสองคน ความทุกข์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ถ้ามีลูกหญิงลูกชายเพิ่มขึ้นมา ความทุกข์ก็เพิ่มขึ้น สภาพร่างกายเคลื่อนไปคล้อยไปสู่ความแก่ ความหิวกระหาย ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความสกปรกโสโครกยังคงมีอยู่ตลอดเวลา ตัวเราก็เป็นเช่นนี้ คนอื่นก็เป็นเช่นนี้ สัตว์อื่นก็เป็นเช่นนี้ กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ความปารถนาที่ไม่สมหวัง พลัดพรากจากของรักของชอบใจ เศร้าโศกเสียใจ ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบใจ มีความทุกข์ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนหลับตาลง เราเห็นชัดเจนแล้วว่าร่างกายนี้เกิดขึ้นในกองทุกข์ เติบโตขึ้นมาในกองทุกข์ เสื่อมโทรมไปในกองทุกข์

    ขึ้นชื่อว่าเกิดทุกข์เช่นนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก เราต้องการที่เดียวคือ พระนิพพาน เป็นการใช้ปัญญาและอุปสมานุสติในพุทธานุสติถ้าลมหายใจอยู่กับอาณาปานุสติ ถ้ารู้สึกว่าภาพเลือนภาพลางจางไป กลับมาหาภาพพระของเราใหม่ กลับมาหากองกสินของเราใหม่ กลับมาหารูปฌาน อรูปฌานของเราใหม่ จำไว้ว่าภาพพระในศีรษะหรือภาพพระในอกคือ อรูปฌาน ซักซ้อมทบทวนให้คล่องตัวเอาไว้ หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราสว่างขึ้น ความสว่างเป็นสีใดสีหนึ่งก็ถือว่าเราทำในวรรณกสินทั้ง ๔ คือสี ขาว เขียว แดง เหลือง ต้องมีอารมณ์ภาพเสมอกัน หลังจากกำหนดทรงตัวดีแล้ว กลับมาสู่การพิจาณาใหม่กลับเข้าสู่กองกรรมฐาน จตุธาตุววัฏฐาน ๔ พิจารณาส่วนที่แข็งเป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน ได้แก่ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด หัวใจ ส่วนที่จับต้องได้ที่แข็งที่เป็นธาตุดิน

    ส่วนที่ไหลไปไหลมาเป็นน้ำมี เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ปัสสาวะ ไขมันเหลว เป็นส่วนของธาตุน้ำ

    ในส่วนของธาตุลมคือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่ค้างในท้องในไส้หรือแก๊ส ลมที่อยู่ในช่องว่างร่างกายเช่น ช่องหู ช่องจมูก ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมที่พัดไปทั่วร่างกายที่เรียกว่า ความดันโลหิต

    ความอบอุ่นในร่างกายเป็นธาตุไฟคือ ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ธาตุไฟที่เผาผลาญให้ร่างกายทรุดโทรมแก่เฒ่าลงไป ธาตุไฟที่ทำให้กระวนกระวายยามเจ็บไข้ ธาตุไฟที่ช่วยสันดาปในการย่อยอาหาร นี่คือดิน นี่คือน้ำ นี่คือลม นี่คือไฟ แยกออกมาเมื่อไหร่ก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย

    ไม่มีอะไรเหลืออะไรอยู่เลยคือ อรูปฌานในส่วนของอากิญจัญญายตนฌาน หลังจากนั้นมาดูมาตอกย้ำความแน่ใจของเราในส่วนของอสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ คือดูร่างกายของเราที่ตายแล้วขาดธาตุไฟไป ธาตุลมดับ ธาตุดินเริ่มทะลุ ธาตุน้ำเริ่มทำลาย ธาตุดินอืด บวม พองขึ้นมาเป็น วินีลกอสุภกรรมฐาน ผิวกายแตกปริ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองไหลโทรมเป็น ปุฬุวกอสุภกรรมฐาน มีงูมีหนอนซอนไซ ถูกสัตว์ทั้งหลายกัดทึ้งดึงลากไปหลุดกลายเป็นชิ้นๆ ถูกกินจนเหลือแต่โครงกระดูกเป็นวิขายิตกอสุภ เป็นวิกขิตกอสุภ เป็นปุฬุวกอสุภ และท้ายที่สุดเป็นอัฏฐิกอสุภกรรมฐาน ประกอบกระดูกขึ้นมาให้ชัดเจน คลายสลายลงไปสลายลงไป ประกอบขึ้นมาใหม่ นี่ก็เป็นส่วนของกสินเช่นกัน เป็นกสินในอสุภกรรมฐานและท้ายที่สุดก็เปื่อย สลาย ผุ พัง ไม่มีอะไรเหลือเป็นอากิญจัญญายตนอรูปฌาน

    สรุปว่าสิ่งที่สอนพวกเราไปทั้งหมดนี้เป็นกรรมฐาน ๔๐ กองที่ประยุกต์รวมกัน ต้องหมั่นฝึกซ้อมทุ่มเทอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะเกิดความคล่องตัวได้ยากเพราะเป็นการเจริญกรรมฐานหลายๆ กองพร้อมกันทีเดียว ถ้าไม่เคยทำกองใดกองหนึ่งจนทรงตัวมาเราก็แทบจะจับเข้ากันไม่ติดแตะต้องไม่ได้แต่ถ้าหากว่าใครทำได้ก็จะเป็นพื้นฐานของทิพจักขุญาณได้ทั้งมโนมยิทธิ ได้ทั้งอภิญญา

    การที่เราเอากำลังใจกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่เราเห็นภาพก็คือทิพจักขุญาณ แต่ถ้าเรารู้สึกว่าอยู่กับพระองค์ท่านนั้นเป็นการถอดจิตไปแบบมโนมยิทธิแล้ว และให้ตั้งไว้ใจว่าถ้าหากวันนี้เราตายลงไป เกิดอุบัติเหตุอันตรายใดๆ ถึงแก่ชีวิตก็ตาม เราขอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพานเท่านั้น ขึ้นชื่อว่าร่างกายเราที่เต็มไปด้วยความทุกข์นี้เราไม่ต้องการอีก โลกมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความทุกข์เราไม่ต้องการเกิดมาอีก สิ่งที่เราต้องการสิ่งเดียวคือ พระนิพพาน ก็ปิดท้ายด้วยพุทธานุสติกับธัมมานุสติ ถ้าหากว่ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ ดูลมหายใจเข้าออก มีคำภาวนาอยู่ กำหนดคำภาวนา ถ้าหากว่าลมหายใจเบาลงไปหรือหายไป คำภาวนาหายไป รู้สึกอยู่ว่ากำหนดใจรักษาอารมณ์ของเราไว้ พยายามประคับประคองอารมณ์เอาไว้เช่นนี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ตั้งไว้หรือได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    หมายเหตุ : ช่วงต้นของการบันทึกไม่ชัดเจนขาดหายไปนิดหน่อยครับ
    บันทึก : ทิดเยี่ยม
    ถอดเทป: ทิดชา
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 2 มกราคม 2017
  2. แม่ชีอ้อย สุมา

    แม่ชีอ้อย สุมา บุคคลทั่วไป

    ค่าพลัง:
    +0
    ขออนุญาติแชร์นะคะ....มีประโยชน์มาก
     
  3. ฐกฤต โมสิกานนท์

    ฐกฤต โมสิกานนท์ บุคคลทั่วไป

    ค่าพลัง:
    +0
    ขออนุญาติแชร์ครับ
     
  4. Wan Wan Win

    Wan Wan Win บุคคลทั่วไป

    ค่าพลัง:
    +0
    อนุโมทนาสาธุสาธุสาธุ.ขอแชร์นะค่ะ
     
  5. ชีวิต ดับเบิ้ล ดี

    ชีวิต ดับเบิ้ล ดี บุคคลทั่วไป

    ค่าพลัง:
    +0
    ขออนุโมทนาสาธุบุญด้วยครับ
     
  6. Pew Sangsiri

    Pew Sangsiri บุคคลทั่วไป

    ค่าพลัง:
    +0
    ขออนุญาตแชร์ค่ะ ขอบคุณค่ะ
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...