หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน (เต็ม มีทั้งหมด ๑๘ ตอน)

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย เสขะ บุคคล, 4 มิถุนายน 2015.

  1. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    [​IMG]



    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)
    สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
    ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ มีทั้งหมด ๑๘ ตอน


    รับฟังผ่าน YouTube

    ตอนที่ ๑ อานาปานุสสติกรรมฐาน
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=ONgUFxfvWoU"]www.youtube.com/watch?v=ONgUFxfvWoU[/ame]

    ตอนที่ ๒ ขณิกสมาธิ
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=4dfM1rhFLz4"]www.youtube.com/watch?v=4dfM1rhFLz4[/ame]

    ตอนที่ ๓ อุปจารสมาธิ
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=uZInFmgRCwk"]www.youtube.com/watch?v=uZInFmgRCwk[/ame]

    ตอนที่ ๔ อารมณ์ของฌาน
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=CUg4XCJ7xfI"]www.youtube.com/watch?v=CUg4XCJ7xfI[/ame]

    ตอนที่ ๕ วิปัสสนาญาณ
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=8h1_3fd4NvU"]www.youtube.com/watch?v=8h1_3fd4NvU[/ame]

    ตอนที่ ๖ อารมณ์พระโสดาบัน (๑)
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=quSss95dZ58"]www.youtube.com/watch?v=quSss95dZ58[/ame]

    ตอนที่ ๗ อารมณ์พระโสดาบัน (๒)
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=rc41XR4uXpk"]www.youtube.com/watch?v=rc41XR4uXpk[/ame]

    ตอนที่ ๘ พระสกิทาคามีมรรค
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=Dl4NdJH8qns"]www.youtube.com/watch?v=Dl4NdJH8qns[/ame]

    ตอนที่ ๙ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๑
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=Twz-jZt6FgU"]www.youtube.com/watch?v=Twz-jZt6FgU[/ame]

    ตอนที่ ๑๐ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๒
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=XZvB-XsxFNo"]www.youtube.com/watch?v=XZvB-XsxFNo[/ame]

    ตอนที่ ๑๑ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๓
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=Co-9_qD3SUs"]www.youtube.com/watch?v=Co-9_qD3SUs[/ame]

    ตอนที่ ๑๒ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๑
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=XB_ruOzEbBE"]www.youtube.com/watch?v=XB_ruOzEbBE[/ame]

    ตอนที่ ๑๓ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๒
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=of9_wiorHpw"]www.youtube.com/watch?v=of9_wiorHpw[/ame]

    ตอนที่ ๑๔ พระสกิทาคามีมรรค-โมหะ
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=KW3seOiuYog"]www.youtube.com/watch?v=KW3seOiuYog[/ame]

    ตอนที่ ๑๕ พระอนาคามีมรรค ๑
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=FUxwTwzudsE"]www.youtube.com/watch?v=FUxwTwzudsE[/ame]

    ตอนที่ ๑๖ พระอนาคามีมรรค ๒
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=EQokafJQ97Q"]www.youtube.com/watch?v=EQokafJQ97Q[/ame]

    ตอนที่ ๑๗ พระอรหัตตมรรค
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=br1EBv8QWIQ"]www.youtube.com/watch?v=br1EBv8QWIQ[/ame]

    ตอนที่ ๑๘ พระอรหัตตผล (ตอนจบ)
    [ame="http://www.youtube.com/watch?v=7y5gC4mnYQg"]www.youtube.com/watch?v=7y5gC4mnYQg[/ame]





     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 2_102.jpg
      2_102.jpg
      ขนาดไฟล์:
      224.3 KB
      เปิดดู:
      4,059
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 7 มิถุนายน 2015
  2. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
    ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
    ตอนที่ ๑ อานาปานุสสติกรรมฐาน


    สำหรับต่อนี้ไป ขอท่านทั้งหลายตั้งใจสดับคำแนะนำในการเจริญพระกรรมฐาน สำหรับการเจริญพระกรรมฐานต่อไปนี้ ขอให้ชื่อว่าเป็นคำสอนในระหว่างเข้าพรรษา ๒๕๒๑ จะได้ทบทวนกันมาตั้งแต่ต้น เป็นตามลำดับไป

    ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าพิสูจน์แล้วจากคำสอนที่สอนมาในอันดับแรกๆ ยังเห็นว่าบรรดาภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกา ที่รับฟังคำสอนกันมาตั้งแต่ต้น แต่ก็ยังมีปฏิปทาหรืออารมณ์ใจที่เข้าถึงไม่สมควรแก่คำสอน เพราะว่าเวลากาลผ่านมามาก ก็ยังมีอีกหลายท่านที่ยังบูชากิเลสอยู่เป็นอย่างหนัก

    ทั้งนี้ก็เป็นที่น่าเสียดายเวลาที่ผ่านมาอย่างยิ่ง เพราะว่าการรับอบรมในการเจริญพระกรรมฐานก็ดี การอุทิศตัวเข้ามาอยู่ในขอบเขตของพระพุทธศาสนาก็ดี เวลากาลผ่านมานับเป็นปี แม้แต่ฌานโลกีย์เบื้องต้นคืออุปจารสมาธิก็ไม่สามารถจะทรงได้ เป็นที่น่าเสียดายต่อกาลเวลาที่ผ่านไปอย่างยิ่ง

    ฉะนั้น ต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ภิกษุและสามเณร จงมีความตั้งใจดี อย่าบูชากิเลส เราอุทิศตนเข้ามาในขอบเขตในศาสนาขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์เพื่อหวังความดี

    ความจริงคำสอนต่างๆที่มีมาแล้ว ครบถ้วน ภิกษุบางรุ่นรับคำสอนมาหลายๆ รอบ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงซึ่งยังเป็นผู้ครองเรือนอยู่ สามารถก้าวหน้าเลยท่านไปมาก อาการอย่างนี้เป็นที่น่าละอายมาก เพราะว่าเราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เราเป็นปูชนียบุคคล แต่ก็ทำกำลังใจของตนไม่คู่ควรกับปฏิปทาที่สมควรแก่การบูชา

    นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สำหรับท่านที่มีกำลังใจยังประกอบไปด้วยกิเลส มิได้มุ่งหมายความดีตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ผมจะให้โอกาสท่านอีกวาระหนึ่ง ถ้าคำสอนนี้ผ่านพรรษาไปแล้ว ท่านทั้งหลายยังเอาดีทางกำลังใจไม่ได้ตามสมควร อันนี้ก็ต้องขออาราธนาท่านสึกออกไปจากขอบเขตของพระพุทธศาสนา เพราะว่าท่านเป็นอาภัพพะบุคคล ไม่ควรแก่ผ้ากาสาวพัสตร์

    แม้แต่บรรดาท่านพุทธบริษัทที่เป็นอุบาสกอุบสิกาก็เช่นเดียวกัน ระเบียบวินัยใดๆของสำนักมีอยู่ แต่แสดงถึงอาการไม่เคารพในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมครู คือฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติ ก็จะขอเชิญท่านกลับไปบ้านของท่าน ไปปฏิบัติให้สบายใจตามอัธยาศัย ทั้งนี้เพราะว่าท่านไม่คู่ควรจะอยู่ในขอบเขตของพระพุทธศาสนา

    ต่อแต่นี้ไปก็มาตั้งใจกันเสียใหม่ อบรมใจกันให้ดี ความจริงการเจริญพระกรรมฐานนี้เป็นการเจริญเพื่อทรงสติสัมปชัญญะ และก็เป็นการเจริญให้มีหิริและโอตตัปปะ คือมีความละอายต่อความชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่ว

    แต่ทว่าเรายังขืนคบความชั่วอยู่ ก็แสดงว่าทำตัวไม่คู่ควรกับขอบเขตของพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นอลัชชีมีใจด้านเกินไป ถ้ามีอาการอย่างนี้ อารมณ์ใจไม่แจ่มใส เราจะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์อะไร เสียเวลาประกอบกรรมความเลวของท่านของเราในสมัยเป็นฆราวาส

    ต่อแต่นี้ไปขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจสดับ เมื่อฟังแล้วก็ต้องจำ จะจำได้หรือไม่ได้ก็ต้องถือว่าจำได้ เมื่อจำได้แล้วก็ต้องปฏิบัติได้ ถ้าปฏิบัติไม่ได้ขึ้นชื่อว่าคำว่าให้อภัยซึ่งกันและกันไม่มี เพราะพระพุทธศาสนาต้องการคนดี

    ตัวอย่างขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ องค์สมเด็จพระบรมครูไม่เคยง้อคนเลว อย่างพระฉันนะซึ่งเป็นชายชาติ นำองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ แต่ว่าพระฉันนะมาบวชเข้ามาแล้ว เป็นคนเลว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ทรงเหลียวแล และในตอนหลังก็สั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ คือไม่คบหาสมาคมด้วย

    นี่เป็นตัวอย่าง จงอย่าถือว่าเข้ามาเป็นพระแล้ว ผู้บังคับบัญชาจะต้องประคับประคองง้ออยู่เสมอ คนประเภทนี้ไม่มีใครเขาต้องการ จะง้อกันเพื่อประโยชน์อะไร เขาเอาใจกันแต่คนดีเท่านั้น คนเลวมีหน้าที่อย่างเดียวคือจะขับไล่ออกไปนอกสถานที่

    การที่เราจะปฏิบัติความดีในอันดับต้น วันนี้เราพูดกันต้นจริงๆ เรียกว่าขึ้น ก. กันจริงๆ ตามที่โบราณาจารย์ หรือพระอาจารย์ต่างๆ นับตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงมา สืบสวนกันเป็นลำดับ

    อันดับแรกองค์สมเด็จพระสวัสดิโสภาคทรงแนะนำ ให้นักเจริญกรรมฐาน ทรงอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นปรกติ ทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่าในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าทรงหยิบเอาอานาปานุสสติกรรมฐานขึ้นมาก่อน ถ้าอานาปานุสสติกรรมฐานไม่ดีแล้ว องค์สมเด็จพระชินวรก็ไม่นำยกขึ้นมาให้ปฏิบัติก่อนเป็นอันดับต้นของกรรมฐานอื่นๆ

    ทีนี้สำหรับอานาปานุสสติกรรมฐาน ก็หมายถึงว่าการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก นี่เรื่องนี้เราพูดกันมาหลายพันครั้ง ปีนึง ๓๖๕ วัน ดูเหมือนว่าจะพูดทุกวัน จำกันได้หรือเปล่าสำหรับท่านผู้เก่า สำหรับท่านที่มาใหม่ก็ควรจะเข้าใจไว้ด้วย อย่าถือว่าเป็นผู้มาใหม่ จะมาใหม่ขณะนี้ก็ดี ใหม่ทีหลังก็ดี คำสอนใดก็ตามทีที่สอนไปแม้แต่สอนก่อน ก็ต้องถือว่ารู้คำสอนนี้ เพราะว่าคนถ้าไม่หวังดีจงอย่ามาอยู่ที่นี่ จะตอบใช้คำว่าไม่รู้อยู่ก่อนนั้นไม่ได้ ในศาสนาขององค์สมเด็จพระจอมไตร ไม่ใช้คำว่าไม่รู้

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระเบียบและวินัยมีฟังกันไว้ทุกวัน สำหรับท่านที่บวชเก่า กลับทำตาเป็นตากระทู้ หูเป็นหูกะทะ ไม่สนใจกับระเบียบวินัยที่กล่าวไปแล้ว นั่นเป็นความเลวที่สุดของท่าน

    จงมีความสำนึกตัวไว้ด้วย ว่าเราเลวเกินกว่าที่ใครเขาจะคบเราได้ แล้วนอกจากนั้นความเลวของท่านผู้เก่าที่มีอยู่ยังมียิ่งไปกว่านี้ ซึ่งได้รับรายงานจากคนภายนอกที่ควรจะเชื่อได้ อันนี้ก็จะยกกันไป รู้ตัวจงกลับใจกลับความประพฤติเสีย ถ้าไม่กลับใจไม่กลับความประพฤติ พึงรู้สึกเถิดว่าไม่ช้าท่านก็ต้องออกไปจากที่นี่

    เพราะว่าจะต้องปฏิบัติตามปฏิปทาขององค์สมเด็จพระชินสีห์ อย่างพระวักกลิไม่สนใจในการปฏิบัติธรรม เป็นผู้นั่งฟังธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้ชิดทุกวันสิ้นเวลา ๓ ปี แต่ทว่าพระวักกลินี้ก็ไม่เคยได้อะไร สนใจแต่พระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นว่าพระวักกลิไม่เอาไหน สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงตัดสินพระทัยขับพระวักกลิออกจากสำนัก นี่จงจำไว้ด้วยว่า สำนักในพระพุทธศาสนา ไม่ได้ตั้งใจประคับประคองคนเลว เขาประคับประคองกันแต่คนดี แม้แต่องค์สมเด็จพระชินสีห์ก็เช่นเดียวกัน

    จึงขอบรรดาภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาทุกท่านจงรู้สำนึกตัว ที่ใครเขาไม่ว่าไม่กล่าวไม่ติไม่เตียน อย่าพึงคิดว่าเขาต้องการเรา ความจริงนั่นเขานั่งดูจริยาของเราต่างหาก ว่าเราพอจะคลายความเลวลงบ้างหรือไม่ ถ้าไม่คลายความเลวลงเพียงใด ไม่ช้าความเลวที่เราทำไว้มันจะสะสมตัว แล้วก็จะไม่มีทางเลี่ยง มันจะให้ผลต่อท่านเมื่อถึงเวลาอันสมควร ความจริงเราให้โอกาสกันมากเกินไปแล้ว ต่อนี้ไปจงพยายามกลับใจทรงไว้ซึ่งความดี

    ในอันดับแรกขอทุกท่านทั้งเก่าและใหม่ เลวหรือดี กลับตัวกลับใจปฏิบัติตามนี้ อันดับแรกที่สุด ให้ทุกท่านสนใจกับอานาปานุสสติกรรมฐาน อย่าลืมนะ ผมแนะนำให้ท่านสนใจกับอานาปานุสสติกรรมฐาน ผมไม่ได้บอกให้ท่านสนใจในเพลงละครใดๆ ไม่ได้สอนให้ท่านสนใจในความเป็นคนเจ้าชู้ ไม่ได้สอนให้ท่านสนใจเป็นคนละโมบโลภมากในลาภสักการะ ซึ่งเป็นกิริยาที่มีการไม่สมควร

    พระประกอบอาชีพไม่มี พระพุทธเจ้าไม่ทรงต้องการ ประกอบอาชีพก็เป็นความโลภ เมื่ออยากจะโลภบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาทำไม อยู่เป็นฆราวาสโลภได้ตามสบาย

    และก็ผมไม่ได้สอนให้ท่านตั้งใจหรือตั้งไว้ในความโกรธ ความพยาบาท การอิจฉาริษยาบุคคลอื่น แม้แต่ครูบาอาจารย์ก็สามารถจะไปนินทาได้ทั้งๆที่ครูบาอาจารย์ไม่ได้ทำอะไร ก็ร้อนตัวกันไปเอง คิดว่าทำ หาว่าครูบาอาจารย์บีบบังคับส่วนโน้นบ้าง ส่วนนี้บ้าง ดีก็ด่า ชั่วก็ด่า

    อันนี้ไม่ได้เตือนท่าน ไม่ได้เตือนให้มีจิตคิดอย่างนี้ และก็ไม่ได้สอนให้ท่านมีความหลงตัวเองเป็นสำคัญ ถ้ายังนึกว่าท่านดีอยู่ก็แสดงว่าท่านเลวถึงที่สุดของความเลว ใครบ้างปฏิบัติตามนี้ก็จำไว้ก็แล้วกัน รู้ตัวเอาไว้ ความจริงเขารู้กันมากแล้ว ทั้งพระ ทั้งฆราวาส ชาวบ้าน ก็รู้กันทั่วเกือบจะหมดประเทศแล้ว ถ้าตัวของตัวเองยังไม่รู้ ก็เลวเกินไป

    สำหรับอานาปานุสสติกรรมฐาน ผมขอแนะนำให้ทุกท่านใช้ทุกอิริยาบถที่ทรงอยู่ จำไว้ให้ดีด้วยนะ ถ้าว่าท่านใช้ทุกอิริยาบถที่ทรงอยู่ล่ะก็ อารมณ์จิตมันเลี้ยวเข้าไปหาความเลวไม่ได้

    จะมีเวลาว่างเพื่อสร้างความเลวตรงไหน จะกินอยู่ก็ดี จะเดินอยู่ก็ดี จะนั่งอยู่ จะนอนอยู่ จะทำการงานอยู่ จะพูดจาปราศรัยก็ดี ให้เอาใจของทุกท่านกำหนดจับอานาปานุสสติกรรมฐานไว้เป็นปรกติ จำได้ไหม

    และก็ลองคิดดูสิว่า ถ้าเราเอาจิตไปจับอานาปานุสสติกรรมฐานไว้เป็นปรกติ จิตมันไม่มีเวลาว่างจากการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก แล้วจิตดวงนี้มันจะเอาอารมณ์เลวมาจากไหน อกุศลกรรมใดๆ มิให้มาเข้าแทรกจิตได้

    โปรดจำไว้ด้วยว่า การกำหนดจิตรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก จงทำเป็นปรกติ นี่ผมไม่ได้บอกว่าให้ท่านเลือกเวลาทำ ขณะใดที่ใจของท่านยังตื่นอยู่แม้ตาจะหลับ แต่ว่าใจยังตื่นอยู่ ให้เอาจิตกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไว้เสมอ เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก

    ในด้านของมหาสติปัฏฐานสูตรเท่านี้ก็พอ รู้ไว้เสมอแม้แต่เวลาที่เราจะพูดจะคุยกัน จิตใจก็ต้องกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไว้ด้วย

    บางท่านคิดว่าจะเครียดเกินไป แต่อย่าลืมว่าผมทำมาแล้ว มันไม่ใช่ของหนักของคนที่มีความประสงค์ดีกับตัว ระยะเวลาใหม่ๆ ก็จะลืมบ้าง ถ้าเราตั้งใจไว้ ทรงสติสัมปชัญญะไว้ว่าเราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก เมื่อหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้อยู่

    ถ้าหากว่าจิตรู้สึกว่าจะว่างไปนิดหนึ่ง ถ้าเราจะกำหนดรู้เฉพาะลมหายใจเข้าหายใจออก รู้สึกว่าจะว่างๆไปสำหรับท่านที่ต้องการภาวนา

    แม้ท่านผู้เจริญวิปัสสนาญาณก้าวไปสู่ระยะไกล เขาก็ไม่ทิ้งลมหายใจเข้าหายใจออก การเจริญพระกรรมฐานตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบความเป็นอรหันต์ และก็ทรงความเป็นพระอรหันต์แล้ว เขาก็ไม่ทิ้งลมหายใจเข้าหายใจออก

    แม้แต่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ทรงตรัสกับพระสารีบุตรว่า สารีปุตตะ ดูก่อน สารีบุตร เราเองก็เป็นผู้มากไปด้วยอานาปานุสสติกรรมฐาน คำว่ามากก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเป็นปรกติ

    ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าอานาปานุสสติกรรรมฐาน และการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกนี่ เป็นกรรมฐานระงับกายสังขาร คือเป็นกรรมฐานคลายอารมณ์เครียดของจิตใจ และก็เป็นกรรมฐานคลายอารมณ์เครียดทางด้านร่างกาย มีทุกขเวทนาเป็นต้น เราทรงฌานในอานาปานุสสติกรรมฐานได้ ก็คล้ายๆคนฉีดมอร์ฟีน ซึ่งเป็นยาระงับปวด ยาระงับเวทนา อานาปานุสสติกรรมฐานจงทำให้มาก จงอย่าละ

    ต่อแต่นี้ไปเราจะสังเกตกันได้ ว่าพระเณรองค์ใดก็ดี อุบาสกอุบาสิกาคนใดก็ดี ที่พูดเลว ทำเลว คิดเลว แสดงอาการเลว จะได้รู้ได้ว่า คนนั้นทิ้งการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก จำไว้ให้ดีนะว่าปีต่อไป ระยะต่อไปนี้มีความจำเป็น ที่จะต้องเคร่งเครียดต่อปฏิปทาหนัก เพราะว่าเวลานี้ พระพุทธศาสนากำลังถูกย่ำยี ถ้าพระเณรอุบาสกอุบาสิกาของเราไม่ดี มันก็พาพระพุทธศาสนาเศร้าหมองไปด้วย

    สำหรับอุบาสกอุบาสิกาที่เข้ามาอยู่นี้จงรู้ตัวไว้ด้วย อย่าสร้างตนทำตนให้ผิดระเบียบวินัย จะมาจากไหนไม่สำคัญ มีฐานะเช่นใดไม่สำคัญ มีความสำคัญอยู่อย่างเดียว ปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัยมีความสะอาดมัธยัสถ์หมดจดมั้ย มีจริยาวาจาดีมั้ย ถ้าไม่ดีเชิญไปได้ทันที ถ้าไม่ไปก็จะเชิญไป ระมัดระวัง คนที่ทำตัวทำใจเลวๆนั้นมีอยู่

    ต่อนี้ไป ถ้าหากว่าเห็นว่าการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกมันว่างเกินไป ก็ใช้คำภาวนาควบ คำภาวนาเป็นของไม่ยาก เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ หากว่าทุกท่านมีความขยันหมั่นเพียรด้วยการตั้งใจจริง พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกไว้เป็นปรกติ และเวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ

    ถึงเวลาปีนี้เราสอนกันเฉพาะกิจ ไม่อนุญาตในระบบใดๆทั้งหมด อนุญาตกันตามใจนี่รู้สึกว่าจะเลอะเทอะเกินไป ระวังนะ พระก็ดี เณรก็ดี อุบาสกอุบาสิกาก็ดี ใครก็ตามถ้าเลอะ ถ้าเลอะเมื่อไรขับกันเมื่อนั้น ไม่เลือกว่าเวลาเข้าพรรษาออกพรรษา ตอนนี้คบคนชั่วไม่ได้แล้ว เพราะว่าการบีบรัดภายนอกบีบรัดเข้ามามาก จำเป็นที่จะต้องกำจัดคนชั่วภายในให้หมดไป ตั้งตัวตั้งใจทำความดีไว้ให้ดี

    และก็เมื่อบรรดาท่านทั้งหลายกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกอยู่อย่างนี้เป็นปรกติ อะไรที่ไหนมันจะเกิดขึ้น สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นก็คือฌานสมาบัติ ตั้งใจกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไว้เสมอ นั่งอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ ทำงานอยู่ พูดอยู่ หรือว่ากินอยู่ก็ไม่ยอมละกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก

    ถ้าพอใจในคำภาวนาก็ภาวนาไปด้วย อย่างนี้ฌานโลกีย์ที่จะบังเกิดขึ้นกับท่านในอันดับของฌานสี่ อย่างเลวที่สุดในระยะหนึ่งเดือน ทุกท่านจะทรงฌานสี่หมด

    ถ้าจะถามว่าผมรู้ได้ยังไง ผมขอพูดชัดๆว่าผมทำมาแล้ว และก็ผมทำอย่างนี้เพียงแค่วันที่สามของการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ผมเองนี่แหละกับเพื่อนอีกสองคนเข้าถึงฌานสี่ด้วยกันทั้งหมด แล้วพวกท่านจะมาเถียงว่ามันเป็นไปไม่ได้น่ะไม่ได้ ผมทำมาแล้ว และที่ได้มาไม่ใช่ผู้วิเศษวิโส เอาจริงเอาจังตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์เท่านั้น

    แล้วคนที่จะทรงจิต อารมณ์ทรงอยู่ในฌานน่ะเขาไม่พูดมาก ไม่รุ่มร่ามกับอำนาจของความรัก ไม่รุ่มร่ามกับอำนาจของความโกรธ ไม่รุ่มร่ามกับอำนาจของความโลภ ไม่มีความหลงในตัวเอง ไม่แสวงหาทรัพย์สินนอกขอบเขตในความเป็นสมณะ ไม่แสวงหาลาภโดยการขอไม่มีขีดจำกัด ไม่ว่าใครต่อใคร เห็นหน้าใครก็ขอดะ ไอ้คนที่มีความโลภแบบนี้มันไม่ใช่พระ มันเป็นโจร และต้องไม่มีการค้าขายใดๆ ที่เราอยู่ไม่อยู่ในฐานะแห่งความจำเป็น ผลรายได้ถ้าจะได้มาในกรณีพิเศษ ผลนั้นจะต้องอยู่ในส่วนกลาง ไม่ใช่เอาไปรวบรวมไว้เป็นสมบัติของตน

    นี่เราจะเห็นว่าคนที่ทรงฌานเขามีความเรียบร้อยของจิตอย่างนี้ จะเป็นที่สังเกตได้ และก็ผู้ทรงฌานจะเข้าสังคมใดๆ ก็ตาม จะไม่มองดูความดีและความเลวของบุคคลอื่น ไม่ติใคร จะมีความกตัญญูรู้คุณต่อบุคคลผู้มีคุณ ไม่อกตัญญูต่อผู้มีคุณ แม้แต่ผู้มีคุณก็เอาไปนินทาทั้งที่เขายังไม่ทำอะไร กำลังใจอย่างนี้ไม่ใช่กำลังใจของผู้ทรงฌาน เป็นกำลังใจของผู้มีสันดานเป็นสัตว์ในอบายภูมิ

    เอาละต่อจากนี้ไป ก็ขอบรรดาท่านทั้งหลาย ตั้งใจกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ ที่ผมบอกอย่างนี้ไม่ใช่เฉพาะวันนี้นะ ตลอดชีวิตที่ท่านบวชอยู่ ในฐานะที่ท่านเป็นสาวกของสมเด็จพระบรมครู

    เอาละสำหรับวันนี้ กาลเวลาที่จะแนะนำกันก็หมดแล้ว ขอทุกท่านตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกและควบคู่กับคำภาวนาว่าพุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธจนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร

    — จบ ตอนที่ ๑ อานาปานุสสติกรรมฐาน —
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 6 มิถุนายน 2015
  3. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
    ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
    ตอนที่ ๒ ขณิกสมาธิ


    ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย สำหรับวันนี้ก็ขอปรารภ เรื่องอานาปานุสสติกรรมฐาน ต่อไป สำหรับการเจริญพระกรรมฐาน ท่านจะจับกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ตาม เช่น อานาปานุสสติกรรมฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติ เราก็มักจะปฏิบัติควบกับพุทธานุสสติกรรมฐาน การทำอย่างนี้ไม่ใช่ของผิด เป็นของถูก เขาเป็นพระอรหันต์กันมามากแล้ว

    ก็ขอเตือนว่าท่านจะใช้กรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ตาม จงใช้กองนั้นให้ถึงอรหัตตผล ในเมื่อเราเริ่มทำสมถะกองใด จงใช้สมถะกองนั้นให้ถึงอรหัตตผล

    คือว่าไม่ต้องเที่ยววิ่งไปหาที่โน่นวิ่งไปหาที่นี่อีก ไอ้ความดีหรือไม่ดีมันอยู่ที่จิตของเรา ทราบไว้แต่เพียงเท่านี้ การพลั้งพลาดที่ผ่านมาแล้วจงถือว่าเป็นครู คำว่าพลั้งพลาดในที่นี้ เพราะว่าเราใช้เวลามาก แต่ทว่าผลแห่งการปฏิบัติมีผลน้อย

    ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าขาดความเข้มแข็งของจิต ถ้าพูดตามประสาชาวบ้านเขาถือว่าไม่เอาจริงเอาจัง สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าศึกษา มีความเมาในตน มีความเมาในจิต เมาในราคะ เมาในโลภะ เมาในความโลภ และก็เมาในความโกรธ เมาในความหลง ก็เพราะว่าเมา จึงไม่สามารถจะทำจิตให้เบาบางจากกิเลสได้

    เหตุที่จะมา อย่างเดียวก็คือ ขาดความเอาจริงเอาจัง จรณะ ๑๕ ฟังแล้วไม่ปฏิบัติ บารมี ๑๐ ฟังแล้วไม่สนใจ อิทธิบาท ๔ ฟังแล้วก็วางไว้ พรหมวิหาร ๔ ฟังแล้วก็ทิ้งไป ที่เราไม่สามารถจะก้าวเข้าไปสู่ระดับของความดีได้ เพราะว่าขาดคุณธรรมประเภทนี้

    ฉะนั้น ถ้าหากว่าการขาดคุณธรรมประเภทนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าพวกเราเป็นอาภัพพะบุคคล เป็นบุคคลที่เอาดีไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนไม่ได้

    แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่สายเกินไป คำว่าอาภัพพะบุคคลนั้น หมายความว่า บุคคลที่ไม่เอาจริงเอาจัง เราก็กลับเสียใหม่ได้ กลับเป็นคนจริงคนจังเสีย

    การเจริญพระกรรมฐานถึงขั้นอรหัตตผลไม่ใช่ของยาก เพราะไม่มีการลงทุน เราลงแต่กำลังใจอย่างเดียว ฉะนั้นถ้ากำลังใจเข้มแข็ง ก็หมดเรื่องกัน ไม่มีอะไรหนักสำหรับท่านที่มีอารมณ์ใจเข้มแข็ง และก็เป็นคนมีความฉลาด ฉลาดในที่นี้ต้องหลีกจากกิเลส จงอย่าเอากิเลสมาฉลาด

    จำพุทธภาษิตที่ว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง กล่าวโทษโจทก์ความผิด อย่าไปโยนความผิด อย่าไปโยนโทษให้ไปอยู่กับใคร

    ถ้าความเร่าร้อนในใจเกิดขึ้นกับเรา เราต้องแสวงหาความผิดของตนเอง กล่าวโทษโจทก์ตนเองไว้เสมอ ถ้าเราไม่เลว ไม่มีความเร่าร้อน ถ้าหาความเลวในชาตินี้ไม่ได้ ก็ต้องไปค้นคว้าหาความเลวในชาติต่อๆ กันมา

    ในเมื่อเราพบหรือไม่พบ ในที่สุดเราก็ยกประโยชน์ให้แก่ขันธ์ ๕ เพราะว่าเรามีขันธ์ ๕ เราจึงมีความเร่าร้อน ถ้าเราไม่มีขันธ์ ๕ เราไม่ติดอยู่ในขันธ์ ๕ คือขันธ์ ๕ ของเรา เราไม่ติดในขันธ์ ๕ ของบุคคลอื่น เราไม่ติดในทรัพย์สินทั้งหลายทั้งหมดในโลก เราจะมีทุกข์มาจากที่ไหน

    ผลที่สุดเราก็มายกโทษให้แก่ใจของเรา ว่าใจเรามันเลว ใจเราชอบเกาะสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นสาระ ถ้ากำลังใจของท่านทรงได้แบบนี้ ความเป็นอรหันต์เป็นของไม่ยาก และใช้เวลาไม่นาน

    กำลังใจของท่านต้องดูตัวอย่าง เมื่อสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่ที่ควงไม้ศรีมหาโพธิแต่คราวนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงตั้งอธิษฐานจิตว่า เลือดและเนื้อของเราจะเหือดแห้งลงไปก็ตามที ชีวิตินทรีย์ของเราจะสลายไปก็ตาม ถ้าเราไม่สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้

    ความจริงน้ำพระทัยขององค์สมเด็จพระชินสีห์ตอนนี้ ท่านต้องจำและก็ทำตามด้วย อย่าทำตนเป็นอาภัพพะบุคคล

    สำหรับอานาปานุสสติกรรมฐาน เราเริ่มทำใหม่ๆ รู้สึกว่าจะเป็นของยากไปนิดหนึ่ง คำว่ายาก ก็คือกำลังใจของเรายังเข้มแข็งไม่พอ

    ความจริงงานที่ผ่านมาสำหรับผม ผมมีความเข้าใจถึงความยาก ความลำบากในการเจริญพระกรรมฐานในเบื้องต้น แต่ทว่าความยากความลำบากของผมดูเหมือนว่ามันจะมีอยู่ ๓ วันเท่านั้น ในความรู้สึกในด้านของสมถะภาวนา

    อันนี้โปรดอย่าคิดว่าผมเป็นพระอรหันต์ภายใน ๓ วันนับแต่บวช และก็จงอย่าคิดว่าผมเป็นพระอรหันต์เสียแล้ว ถ้อยคำใดๆที่เป็นคำสอน ขอให้ถือว่าเป็นคำสอนมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็มาอธิบายสู่กันฟัง

    แต่ขอทุกท่านจงอย่าหลงตัว ว่าเป็นผู้ทรงฌานเป็นพระอริยเจ้า ความเป็นพระอริยเจ้าไม่ต้องประกาศ เห็นหน้าปั๊บ รู้จัก ได้ยินชื่อ ก็รู้ว่าเป็นพระอริยเจ้า หากว่าท่านยังไม่เป็น และก็หลงว่าเป็นนี่มันจะซวย ไม่ต้องประกาศเขา ความดีอยู่ที่เรา เราไม่ได้บวชเพื่อการบูชาของชาวบ้าน เราบวชเพื่อความดับไม่มีเชื้อ

    มาพูดกันถึงด้านอานาปานุสสติกรรมฐานที่มันมีความหนักไปหน่อย นั่นก็คือในตอนต้นที่เราเริ่มปฏิบัติ อาศัยที่ใจของเรามันหยาบมาก่อน อาศัยที่อารมณ์ของเรามันหยาบมาก่อน อาศัยที่เราไม่ได้ใช้สติสัมปชัญญะควบคุมกำลังใจ อารมณ์ใจมันเชื่องกับความคิดที่ไม่มีขอบเขต

    ตอนนี้ ในเมื่อองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ แนะนำให้เราใช้อานาปานุสสติกรรมฐาน ก็เพื่อเป็นการป้องกันและยับยั้งหรือว่าประหัตประหารอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต ฉะนั้น ต่อไปท่านจะเจริญสมถะกองไหนก็ตาม จะเจริญภาวนากองไหนก็ตาม หรือว่าจะเจริญวิปัสสนากองใดก็ตาม เป็นอันว่า ส่วนนั้นๆ กรรมฐานกองนั้นๆ จะเว้นอานาปานุสสติกรรมฐานไม่ได้

    อันดับแรก ขอให้ทุกท่านทำอานาปานุสสติกรรมฐานให้เข้าถึงฌาน ๔ เอากันจริงกันจัง อย่าสักแต่ว่าทำ

    ความกลุ้มมันจะเกิดขึ้นนิดหน่อย เพราะว่าใหม่ๆ เราจะควบคุมกำลังใจให้มันทรงอยู่ ใจมันก็คอยจะแยกไปโน่นแยกไปนี่ คิดโน่นคิดนี่ คิดป้วนเปี้ยน เรียกว่านอกรีตนอกรอย อย่างนี้อย่าเพิ่งตกใจว่าเราจะไม่ดี

    ถ้าบังเอิญ เราทำกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกควบพุทธานุสสติกรรมฐานไปได้สักนาทีสองนาที จิตนี้ไม่เกิดอารมณ์พล่าน แล้วต่อมามีความรู้สึกกลัวว่า โอ หนอ นี่ใจเราออกนอกลู่นอกทางไปแล้วหรือ เราก็ดึงอารมณ์เข้ามา ดึงอารมณ์เข้ามาจับอานาปานุสสติกรรมฐานให้เป็นปรกติ กับพุทธานุสสติกรรมฐานควบคู่กัน ประเดี๋ยวหนึ่งมันก็ไป มันไปเรารู้ตัวเราก็จับมันมาใหม่

    การทำอย่างนี้จงอย่าทำแต่เฉพาะเวลาที่ได้ยินคำสอน จงใช้เวลาของท่านตลอดวัน ที่ทำงานอยู่ พูดอยู่ กินอยู่ ขี้อยู่ เยี่ยวอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ ใช้เวลาเป็นปรกติ

    คำว่าเวลาเป็นปรกติ จะถามว่า เวลาพูดรู้ลมหายใจเข้าออกได้หรือ เวลาพูดนั่นจริงๆ เราจะขาดเฉพาะภาวนาเท่านั้น

    การกำหนดรู้ลมหายใจหายใจออกเป็นของไม่ยาก เพราะอะไรจึงว่าไม่ยาก ถ้าหากว่าเรารู้ไปด้วย มันเป็นของไม่ยาก มันไม่ได้ห้ามปากของเราพูด

    เวลาทำงานจะรู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย มันก็ไม่ห้ามมือเราทำ เวลาเราจะเดินไปไหน เราจะรู้ลมหายใจเข้าออก มันก็ไม่ได้ห้ามเดิน

    เป็นอันว่าลมหายใจเข้าหายใจออก เราก็ลืมบ้างไม่ลืมบ้างเป็นของธรรมดา แต่ทว่าท่านทั้งหลายมีความเข้มแข็งของจิต ตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนจริงๆ อาการของอารมณ์อานาปานุสสติจะรู้สึกว่าไม่ยาก

    แต่ทว่าเวลาที่ท่านทั้งหลายจะฝึกไป ผมขอแนะนำว่า ควรจะตั้งเวลาทรงฌานไว้ด้วย เพื่อประโยชน์ในขณะที่จิตของท่านเข้าถึงฌาน ด้วยอำนาจพุทธานุสสติกรรมฐานหรือว่าอานาปานุสสติกรรมฐาน

    ในตอนนี้ ผมจะพูดเฉพาะอารมณ์ของอานาปานุสสติกรรมฐาน แต่ทว่าเวลาที่ท่านว่างจากคำพูด พูดคุย เวลาที่พอที่จะภาวนาได้ หายใจเข้านึกว่าพุท หายใจออกนึกว่าโธ ไม่ใช่เป็นของแปลก เป็นของดี ถ้าภาวนาไม่ได้ ปากมันต้องพูด ใจมันต้องคิดอย่างอื่น ก็ใช้แต่อานาปานุสสติกรรมฐาน

    อานาปานุสสติกรรมฐานจะทำให้ท่านสบายใจ มีความสุข จงอย่าลืมว่าวันทั้งวัน ผมไม่ได้บอกให้ท่านคิดเรื่องอื่น ให้คิดถึงอานาปานุสสติกรรมฐาน

    หากว่าจะมีคำถามเข้ามาว่า ถ้าจะทำงาน ถ้ากำหนดรู้อานาปานุสสติกรรมฐานคือลมหายใจเข้าออก งานมิเสียเหรอ

    ผมก็ขอตอบว่า งานที่ท่านทำ มันจะเป็นงานที่ดีที่สุด เพราะว่าอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ละเอียด เป็นอารมณ์ทรงสติสัมปชัญญะ ขณะที่เราจะคิดงาน ก็วางอานาปานุสสติกรรมฐานสักครู่หนึ่ง ใช้การคิดพิจารณา

    แต่ความจริงคนที่เขาคล่องแล้ว เขาไม่ทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน เพราะว่าขณะที่จับอานาปาฯอยู่ ใช้ขนาดต่ำๆ แค่อุปจารสมาธิ ตอนนั้นอารมณ์จิตมันเป็นทิพย์ เมื่ออารมณ์จิตเป็นทิพย์ ปัญญามันก็เกิด ในเมื่อปัญญาเกิด งานที่ท่านจะทำมันจะมีอะไรยาก

    ขอจงพยายามทำกันให้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกี้นี้พูดไปว่า เวลาที่เจริญไป ขอท่านทั้งหลายตั้งเวลากำลังฌานไว้ด้วย นั่นก็คือหาเวลาตั้งไว้ ด้วยการนับก็ดี หายใจเข้าหายใจออกนับเป็น ๑ หายใจเข้าหายใจออกนับเป็น ๒ ก็นับไปเลยก็ได้ถึง ๑๐

    และตั้งจิตไว้ว่าตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ นี่ จะไม่ยอมให้จิตของเราแลบไปสู่อารมณ์อื่น ถ้ามันไปสู่อารมณ์อื่นเมื่อไหร่เราจะตั้งต้นใหม่ทันที และหากว่าถ้าถึง ๑๐ แล้วจิตของเราดี มีความสุข เราก็ยังไม่เลิก ตั้งต่อไปอีก ๑๐

    เมื่อถึง ๑๐ แล้วยังดีอยู่ เราก็ยังไม่เลิก ต่อไปอีก ๑๐ ในระยะใหม่ๆ แค่ ๑๐ ต้นมันก็ไม่สามารถจะควบคุมได้ แต่เราก็ต้องนำน้ำใจขององค์สมเด็จพระจอมไตรมาใช้ ว่าแค่ ๑๐ ต้นจิตยังซ่านอยู่ สมเด็จพระบรมครูทรงดำริว่า เลือดและเนื้อของเราจะเหือดแห้งไปก็ตามที ชีวิตินทรีย์จะตายไปก็ตาม ถ้าเราไม่สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด เราจะไม่ลุกจากที่นี่

    เราก็จงคิดว่าถ้า ๑ ถึง ๑๐ นี้เอาดีไม่ได้ จะให้มันตายไปเสียเลย จิตพล่านนิดเริ่มตั้งต้นใหม่ รักษาอารมณ์ใจให้เข้าถึงสุข อย่างนี้เป็นจุดหนึ่ง

    แต่เมื่อนานๆไป ถึงครึ่งเดือนแล้ว ถ้าหากว่าท่านยังทำแค่ ๑๐ ผมก็ถือว่าเลวเกินไปสำหรับผ้ากาสาวพัสตร์ หรือว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทชายและหญิงที่อยู่ในเขตนี้ เมื่อถึงเวลา ๑๕ วันผ่านไป ท่านทั้งหลายยังรักษาอารมณ์ถึง ๑๐ ก็คิดว่าไม่ควรจะอยู่ในที่นี้ มันเลวเกินไปสำหรับเขตของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะอะไร

    เพราะผมทำมาก่อน ผมรู้ อย่ามาอ้างเหตุอ้างผลใดๆทั้งหมด การอ้างเหตุอ้างผลกับบุคคลที่ผ่านมาแล้วมันไม่เกิดประโยชน์ ทำไม แค่นับ ๑ ถึง ๑๐ มันเป็นเวลานิดเดียว ที่เขาใช้กันกว่าจะถึง ๗ วัน นับ ๑ เป็น ๑๐๐ แล้ว บางที ๒๐๐ ๓๐๐ จิตมันยังสบาย ทำให้มันคล่อง

    ถ้าเราทำกันทั้งวัน ไอ้ความยุ่งของจิตมันไม่มี ความโลภมันก็ไม่เกิด ความรักในอารมณ์ต่างๆ ก็ไม่เกิด ความโกรธความพยาบาทมันก็ไม่เกิด ความหลงมันก็ไม่เกิด มันจะเกิดมายังไง เพราะจิตมันมีสภาพรับอารมณ์อารมณ์เดียว

    ในเมื่อจิตมันรับอารมณ์ที่เป็นกุศล ทรงสติสัมปชัญญะด้วยอานาปานุสสติกรรมฐาน แล้วอะไรมันจะเข้ามาอีก ที่มันเข้ามาได้เพราะว่า พวกท่านทั้งหลายมีหน้าที่แต่เพียงฟัง ดีไม่ดีกำลังสอนอยู่อย่างนี้ก็ไม่ฟัง ไปฟังวิทยุเสียบ้าง ไปนั่งคุยกันเสียบ้าง ไปทำงานกันเสียบ้าง นั่นแสดงถึงความเลวอย่างหนักของพวกท่านจึงไม่ได้ดี

    อันนี้ผมขอพูดแต่เฉพาะคนที่ไม่สนใจ สำหรับท่านที่ดีก็มีอยู่มาก ที่สามารถปราบปรามอารมณ์ร้ายที่มีอยู่ในจิต ความหยาบในจิตหมดไปเหลือแต่ความละเอียด

    คนที่มีความหยาบในจิตหมดไป เหลือแต่กองธรรมที่ละเอียด จะดูว่าเขามีความขยันขันแข็งในการงาน จิตใจเขาไม่ได้ฟุ้งซ่านไปในด้านโลกียธรรม มีความมุ่งมั่นโดยเฉพาะว่างานที่ทำนี่มันเป็นอามิสบูชา และการตั้งใจปฏิบัติงานโดยไม่คิดสินจ้างรางวัล มันเป็นปฏิบัติบูชา เป็นจาคานุสสติกรรมฐาน

    หรือที่เราเรียกว่า พุทธัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง เรียกว่า การถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดจนกว่าจะเข้านิพพาน เป็นอย่างนี้

    ที่พูดอย่างนี้จะถือว่าไปยกยอปอปั้นหลอกใช้คน ดูน้ำใจของเขาว่าเขาทำงานน่ะเขาทำเพื่อตัวหรือว่าทำเพื่อพระพุทธศาสนา เขาไม่เคยรับฟังว่าจะจ้างเท่าไหร่ ให้รางวัลเท่าไหร่ เขาก็ทำกันด้วยความเต็มใจ การทำอย่างนี้เป็นพุทธบูชา คือเป็นปฏิบัติบูชาตรงในพระพุทธเจ้า กระทำในทรัพย์สินขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า

    นี่เขาทำกันอย่างนี้ ผมก็ทำมาอย่างนี้ ไม่เห็นว่างานทำลายพระกรรมฐาน เวลาหยิบงานขึ้นมา จิตใจก็ตั้งหน้าโดยเฉพาะในการงานที่เราทำ สำหรับพระที่รักษาสมบัติของพระพุทธศาสนามีการผลัดเวรเปลี่ยนกัน นี่เป็นพุทธัง ชีวิตังจริง ธัมมัง ชีวิตัง สังฆัง ชีวิตังจริงเหมือนกัน เพราะว่ายอมพลีความสุขส่วนตัว เอามารักษาทรัพย์สินของพระศาสนา

    เวลาท่านเดินไปเดินมาน่ะ ก็ใช้การเดินเป็นเขตของการจงกรม อย่าปล่อยให้ใจมันเสียเวลา เวลานั่งอยู่ก็จับอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นปรกติ ความจริงงานประเภทนี้ได้กำไรมาก

    ๑.รักษาทรัพย์สินของพระพุทธศาสนา เป็นการแสดงความกตัญญูต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ๒.ใช้โอกาสใช้สมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนาไปด้วย ช่วยกำลังใจให้มีความสุขเข้าถึงอารมณ์ฌาน

    เป็นอันว่า สำหรับวันนี้ ก็ขอแนะนำท่าน ในส่วนที่จะใช้อานาปานุสสติกรรมฐานกับพุทธานุสสติกรรมฐานควบคู่กันไป แต่ว่างานเฉพาะนี้เป็นงานเฉพาะของอานาปานุสสติกรรมฐาน คือจงพยายามใช้กำลังใจให้อยู่ขอบเขต มีความเด็ดเดี่ยว ถือว่าทำไม่ได้ให้มันตายไป

    พระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านบรรลุมรรคผล ท่านก็เป็นคนมีสิบนิ้วเหมือนเรา สองมือสิบนิ้ว มือละห้านิ้ว มีอาการ ๓๒ เหมือนเรา ถ้าดูตามประวัติของท่านแล้ว เรากับท่านไม่ต่างกันอะไรนัก เว้นไว้แต่ว่าเรามีกำลังใจเท่าท่านหรือไม่เท่านั้น

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอน ก่อนจะนอนจับลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ จนกว่าจะหลับไป ให้มันหลับไปด้วยการดูลมหายใจเข้าออก ตื่นขึ้นมาใหม่ๆ จะลุกขึ้นมาหรือไม่ลุกก็ตาม เวลาเช้ามืด ใช้อารมณ์ใจให้มันถึงที่สุดทุกวัน

    นี่ความจริงผมสอนมาแล้วนะเรื่องนี้นะ เห็นบางท่านที่ผลุบๆ โผล่ๆ น่ะ เป็นอันว่ารู้ ผมรู้ว่าท่านเหล่านั้นไม่ได้สนใจอะไร เป็นที่น่าเสียดาย ชีวิตของท่านที่ตายแล้วมันจะต้องลงนรก เราจะประมาทกันเพื่อประโยชน์อะไร เห็นว่าพระพุทธศาสนาไม่ดีก็สึกไป มันก็หมดเรื่อง ฆราวาสก็เหมือนกัน เห็นว่าเขตพระศาสนาไม่ดีก็ออกไปเสียก็หมดเรื่อง อย่ามาอยู่ให้เปลีองที่ของพระศาสนาเพื่อประโยชน์อะไร

    เพียงแค่รักษากำลังใจเท่านี้ ยังถือว่าลำบาก มันก็ควรแล้วที่จะต้องไปลากโคลนทำงานให้สบายใจตามอัธยาศัยของตน นี่การพูดอย่างนี้ จะถือว่าด่าใครไม่ใช่ เพราะต้องการให้ดี รักษากำลังใจนั้น มันเสียอะไรบ้าง

    เวลาเดินไปบิณฑบาต ก้าวเท้าซ้ายหายใจเข้า ก้าวเท้าขวาหายใจออก ทำมันไปจนกว่าจะบิณฑบาตจนกลับ แค่นี้จิตมันก็ทรงฌานแบบสบายๆ อย่าไปหาเวลาที่ไหน

    ไอ้ที่เรื่องปรารภอะไรอย่างอื่นภายนอก จงรู้ตัวว่าเราบวชมาเพื่อ นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตังกาสาวัง คะเหตวา เราอธิษฐานว่า ขอรับผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

    ฉะนั้นทางใดก็ตามที่เป็นปัจจัยของพระนิพพานเราต้องทำให้ได้ เราต้องชนะใจ อย่าลืมว่าวันเดียวสองวันมันไม่ชนะ ทำไปมันทุกวันมันต้องถึงคำว่าชนะ คำว่าไม่ชนะไม่มี ถ้าเรามีความพยายาม

    ชาวนาน่ะเขาไถนาด้วยควายตัวเดียวไถคันเดียว เนื้อที่ ๓๐-๔๐ ไร่ เขาทำได้ เพราะว่าเขาใช้รอยไถน้อยๆ แต่ว่าไถบ่อยๆ ไม่ยอมหยุด ข้อนี้มีอุปมาฉันใด

    แม้แต่อานาปานุสสติกรรมฐานก็เช่นเดียวกัน มันจะกลุ้มมันจะกลัดประการใดก็ตามที เราถือว่ากิจนี้เป็นกิจที่เราจะต้องทำ ยอมตายมันซะสิ ถ้ามันทำไม่ได้ให้มันตายไป เดินไปเดินมาอย่าทิ้งอารมณ์อานาปานุสสติ เดินไปก็ใช้เท้าเป็นเครื่องวัด ก้าวไปเท้าซ้ายหายใจออก ก้าวไปขวาหายใจเข้า เอามันอย่างนี้เรื่อยๆ ไป อย่าไปนั่งนึกนั่งคิดอะไร

    ถ้าท่านทำกันอย่างนี้จริงๆ ผมให้เวลาอย่างเลวที่สุด เพียงแค่เดือนเดียว อารมณ์ฌานในอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นของท่าน สำหรับที่จิตใจของท่านทั้งหลายเข้าสู่อารมณ์ฌาน จะเป็นฌานไหนก็ตาม ฌานก็ดี อุปจารฌานก็ดี ใจของท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีแต่ความเรียบร้อยของจิต มีอารมณ์แนบสนิทในด้านของกุศล ทั้งการจะทำการจะพูดการจะคิดของแต่ละบุคคลเต็มไปด้วยอารมณ์ที่เยือกเย็น ปราศจากเวร ปราศจากภัย ไม่เดือดร้อนในกิจการงานใดๆ ที่มันจะเกิดกับเราหรือมันจะหมดไปจากสภาพของเรา

    เอาละ สำหรับวันนี้ ก็ขอเตือนกันไว้แต่เพียงเท่านี้ สำหรับวันพรุ่งนี้จะได้พูดถึงอารมณ์ของฌาน ในขณะที่ท่านทั้งหลายเอาจิตของท่านก้าวเข้าไปสู่ระดับอานาปานุสสติกรรมฐานที่เป็นฌาน แล้วก็อย่าลืมว่า เฉพาะอานาปานุสสติกรรมฐานนี้ ผมจะแนะนำท่านถึงอรหัตตผล จะได้ทราบว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระทศพลแต่ตอนก่อนที่เราปฏิบัติ ควรทำให้ได้ถึงอรหัตตผลได้ทุกจุด

    เอาละ ต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านทั้งหลาย จงตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าที่ท่านจะเห็นว่า เวลานั้นเป็นการสมควร เพราะว่าผมไม่ให้เวลากับท่าน ให้ท่านทำตามอัธยาศัยของท่าน.


    — จบ ตอนที่ ๒ ขณิกสมาธิ —
     
  4. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
    ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
    ตอนที่ ๓ อุปจารสมาธิ


    ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย และท่านสหธรรมิกทั้งหลาย เวลานี้ ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานแล้วซึ่งพระกรรมฐาน สำหรับวันนี้ ก็จะขอนำอานาปานุสสติกรรมฐานมาพูดกับบรรดาท่านทั้งหลายอีก

    เพราะว่าอานาปานุสสติกรรมฐานนี่ เป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะเจริญพระกรรมฐานกองใด ถ้าหากว่าไม่ใช้อานาปานุสสติกรรมฐานเป็นบาทแล้ว ผลแห่งการเจริญพระกรรมฐานกองนั้นจะไม่มีผลสำหรับท่าน

    วันนี้ก็จะขอพูดต่อไปจากอาการของขณิกสมาธิ เมื่อวันก่อนได้พูดไปในรูปของขณิกสมาธิ แต่ทว่าสำหรับวันนี้ จะพูดไปถึงอุปจารสมาธิ แต่ก่อนที่จะนำเรื่องนั้นขึ้นมาพูด ก็จะขอนำเอาอุปสรรคของอานาปานุสสติกรรมฐานมาพูดเสียก่อน

    คือว่าอุปสรรคของอานาปานุสสติกรรมฐานนี่มีมาก เนื่องว่าเป็นกรรมฐานที่มีความละเอียด ฉะนั้นจะต้องต่อสู้กันหนัก ถ้าเราสามารถต่อสู้กับอานาปานุสสติกรรมฐานได้ กรรมฐานกองอื่นๆ ก็ไม่มีความสำคัญ เราสามารถจะทำกรรมฐานอีก ๓๙ กองได้ภายในกองละ ๗ วัน เป็นอย่างช้า

    อุปสรรคอันดับแรก ก็คือว่า การทรงอารมณ์ไม่ละเอียดพอ นั่นก็คือลมหยาบ

    อานาปานุสสติกรรมฐานนี่อาศัยลมเป็นสำคัญ ถ้าวันใดปรากฏว่าลมหายใจของท่านหยาบ วันนั้นจะปรากฏว่าการคุมสติสัมปชัญญะ คือการทรงสมาธิไม่ดีตามสมควร จะมีอาการอึดอัด บางครั้งจะรู้สึกว่าแน่นที่หน้าอก หรือว่าบางคราวจะมีความรู้สึกคล้ายๆ กับหายใจไม่ทั่วท้อง จะมีอาการเหนื่อย หรือว่ามีอาการอึดอัดเกิดขึ้น

    ถ้าอาการอย่างนี้มีแก่ท่านทั้งหลาย หรือว่าเกรงว่าอาการอย่างนี้จะมี เมื่อเวลาเริ่มต้นที่จะเจริญพระกรรมฐานคือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ให้ท่านทั้งหลายชักลมหายใจยาวๆ สัก ๓-๔ ครั้ง คือหายใจยาวๆ หายใจเข้ายาวๆ หายใจออกยาวๆ สัก ๓-๔ ครั้ง เพื่อเป็นการระบายลมหยาบให้หมดไป จากนั้นก็เริ่มกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก

    แต่ว่าอย่าลืม การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกนี่ อย่าบังคับให้หายใจเข้าออกหนักๆ หรือว่าเบาๆ อย่าบังคับให้ยาวหรือสั้นด้วยอาการที่ตั้งใจทำอย่างนั้น ถ้าหากว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก เพราะว่าการเจริญอานาปานุสสติกรรมฐานต้องการสติสัมปชัญญะเป็นใหญ่

    ฉะนั้นลมหายใจของเราจะหนักก็ดี จะเบาก็ดี จะสั้นก็ตาม จะยาวก็ตาม ปล่อยไปตามสภาพของร่างกายที่ต้องการ แต่ทว่าเราเอาจิตเข้าไปรู้ไว้เท่านั้น หายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้อยู่ นี่เป็นแบบหนึ่ง

    และอีกแบบหนึ่งในกรรมฐาน ๔๐ ท่านให้กำหนดฐาน ๓ ฐาน คือเวลาหายใจเข้า ลมกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ เวลาหายใจออก ลมกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูกหรือว่าริมฝีปาก ถ้าคนริมฝีปากเชิดจะกระทบริมฝีปาก ถ้าริมฝีปากงุ้มจะกระทบจมูก เป็นความรู้สึก

    แต่ว่าเพื่อความรู้สึกอย่างนี้ ขอท่านทั้งหลายจงอย่าบังคับลมหายใจให้แรง ปล่อยไปตามปรกติ แต่เอาจิตติดตามนึกถึงเท่านั้น ขอให้ทำอย่างนี้จะมีผล

    ข้อสังเกต ถ้าเวลาเราหายใจเข้าหายใจออก ความรู้สึกมีแต่เพียงว่ากระทบจมูกอย่างเดียวและสามารถจะจับความรู้สึกอย่างนี้ได้นานๆ สักหน่อย อาการอย่างนี้ปรากฏพึงทราบว่า นั่นจิตของท่านทรงได้แค่อุปจารสมาธิ

    ถ้าสามารถรู้การสัมผัสสองฐาน คือหายใจเข้ากระทบจมูก กระทบหน้าอก และหายใจออกรู้กระทบหน้าอก กระทบจมูกสองจุดนี่ อย่างนี้แสดงว่าจิตของท่าน เข้าถึงอุปจารสมาธิ

    ถ้ารู้ทั้ง ๓ ฐาน หายใจเข้ากระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ และก็เวลาหายใจออก กระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบริมฝีปากหรือจมูก รู้ได้ชัดเจน อย่างนี้แสดงว่าจิตของท่านเข้าถึงปฐมฌาน นี่เป็นอาการสังเกต

    ถ้าหากว่าอารมณ์จิตของท่านละเอียดยิ่งไปกว่านั้น หรือว่าเป็นปฐมฌานละเอียด หรือว่าเป็นฌานที่สอง ฌานที่สาม อย่างนี้ท่านจะรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก มันไหลไปเหมือนกับกระแสน้ำไหลกระทบไปตลอดสาย ทั้งลมหายใจเข้าและหายใจออก อย่างนี้แสดงว่าจิตของท่านเข้าถึงปฐมฌานละเอียด หรือว่าฌานที่สอง หรือว่าฌานที่สาม

    สำหรับปฐมฌาน ลมยังหยาบอยู่ แต่ทว่าลมรู้สึกว่าจะเบากว่าอุปจารสมาธิ พอไปถึงฌานที่สองจะรู้สึกว่าลมหายใจเบาลงอีก ไปถึงฌานที่สาม ลมหายใจที่กระทบรู้สึกว่าจะเบามาก เกือบไม่มีความรู้สึก ถ้าเข้าถึงฌานที่สี่ ท่านจะมีความรู้สึกว่าไม่หายใจเลย แต่ความจริงร่างกายหายใจเป็นปรกติ

    ที่ความรู้สึกน้อยลงไปก็เพราะว่า จิตกับประสาทห่างกันออกมา ตั้งแต่ปฐมฌาน จิตก็ห่างจากประสาทไปนิดหนึ่ง มาถึงฌานที่สอง จิตก็ห่างจากประสาทมากไปหน่อยหนึ่ง พอถึงฌานที่สาม ห่างไปมากเกือบจะไม่มีการสัมผัสกันเลย ถึงฌานที่สี่ จิตปล่อยประสาท ไม่รับรู้การกระทบกระทั่งทางประสาททั้งหมด จึงไม่รู้สึกว่าเราหายใจ ข้อนี้เป็นข้อสังเกต

    ทีนี้ต่อมาก็จะพูดถึงอาการที่จะเข้าถึงอุปจารสมาธิ เมื่อท่านกำหนดรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก จิตจะมีความสงบสงัดดีขึ้นดีกว่า อุปจารสมาธิจะมีความชุ่มชื่นมีความสบาย แต่ทว่าจะทรงอยู่นานก็หาไม่ อาจจะทรงอยู่ได้สักหนึ่งนาที สองนาที สามนาที ในระยะต้นๆ แต่บางวันมันก็ทรงอยู่ได้ตั้งครึ่งชั่วโมง ตั้งชั่วโมงเหมือนกัน เอาแน่นอนอะไรไม่ได้

    เป็นอันว่าเมื่อจิตของท่านเริ่มมีความสุข มีความรื่นเริง จิตชุ่มชื่นหรรษา อาการของปีติมี ๕ อย่าง ที่จะเรียกว่าอุปจารสมาธิ จิตที่เข้าถึงอุปจารสมาธิก็คือจิตมีปีติ และก็จิตเข้าถึงสุข ถ้าเข้าถึงสุขเรียกว่าเต็มอุปจารสมาธิ

    อาการของปีติที่ควรแก่การพิจารณา ควรจะทราบนั่นก็คือ หนึ่ง มีขนลุกซู่ซ่า ที่เรียกว่าขนพองสยองเกล้า ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ก็จงอย่าสนใจกับร่างกาย ขนมันจะลุก ขนมันจะพอง ขนมันจะตั้งขึ้นสูงขึ้นมา ขนมันจะต่ำก็ช่างมัน ไม่สนใจกับอาการทางร่างกายทั้งหมด พยายามสนใจกับอารมณ์ที่เราทรงไว้

    ความจริงอาการอย่างนี้ ผมพูดก็พูด เขียนก็เขียนมาแล้ว แต่ก็ยังมีนักปฏิบัติมากท่าน เมื่อกระทบกระทั่งกับเรื่องทางกายเกิดขึ้น มักจะมาถามกันบ่อยๆ แต่ว่าไม่ใช่คนในสำนัก เป็นคนนอกสำนัก เป็นเหตุให้รู้สึกว่ารำคาญ เพราะว่าสันดานของพวกคนที่จะเอาดีเนี่ยเขาฟังกันครั้งเดียว หรือว่าดูครั้งเดียว อ่านครั้งเดียวเท่านี้พอ ไม่ต้องมานั่งจ้ำจี้จ้ำไชอะไรกัน

    เมื่อมีอาการขนลุกขนพองเกิดขึ้น จิตจะเป็นสุข ตอนนี้ขอให้ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจว่า จิตเราเริ่มเข้าอุปจารสมาธิคือ ปีติ

    บางท่านอาการอย่างนี้ไม่ปรากฏ จะปรากฏอีกอย่างหนึ่ง คือ น้ำตาไหล เวลาเริ่มทำสมาธิน้ำตาไหล บางทีใครเขาพูดอะไรเป็นที่ชอบใจ ชื่นใจ ปลื้มใจ น้ำตาก็ไหล มันไหลจนกระทั่งบังคับไม่อยู่ นี่เป็นอาการของปีติที่สอง

    อาการของปีติที่สาม เวลาจิตเริ่มเป็นสมาธิ คำว่าเริ่มเป็นสมาธินี่เอาแน่นอนไม่ได้ ถ้าคนที่มีอารมณ์คล่อง บางทีทำทำงานอยู่ นึกขึ้นมาอาการมันก็เกิดทันที เรียกว่าจิตเข้าถึงสมาธิเร็ว อาการที่สามของปีติก็คือร่างกายโยกไปโยกมา โยกข้างหน้าโยกข้างหลัง อย่างนี้เป็นอาการของปีติที่สาม

    ปีติที่สี่ มีอาการตัวสั่นเทิ้มคล้ายกับปลุกพระ หรือมีอาการบางครั้งตัวลอยขึ้นพ้นพื้นที่ ถ้าอาการอย่างนี้ปรากฏก็อย่าพึงนึกว่า นั่นอาการของการเหาะมันจะมีขึ้น ยังไม่ใช่เหาะ เป็นเรื่องของปีติ

    อาการที่ห้าจะมีอาการซาบซ่านซู่ซ่าทางกาย คล้ายๆ กับของในกายมันไหลออกไปหมด ตัวกายเบาโปร่ง จะมีความรู้สึกเหมือนว่าตัวใหญ่ขึ้น หน้าใหญ่ขึ้น ตัวสูงขึ้น รู้สึกว่ามันซู่ซ่าแต่อารมณ์จิตสบาย อาการอย่างนี้เป็นอาการของปีติที่ห้า

    เมื่ออาการของปีติที่ห้าเกิดขึ้น ตอนนั้นอารมณ์จิตจะเป็นสุข ความสุขที่มีขึ้นเราจะบอกไม่ถูก ว่าความสุขนั้นมันจะมียังไง อธิบายไม่ได้ ขึ้นชื่อว่าความสุขประเภทนี้ในชีวิตของเราจะไม่ปรากฏมีมาเลย มันเป็นความสุขสดชื่น ปราศจากอามิสที่คิดถึง หมายความว่าไม่ใช่มีความชื่นใจเพราะได้ของมา

    อย่างนี้เขาเรียกความสุขที่เกิดขึ้นจาก นิรามิสสุข คือสุขที่ไม่อิงอามิส มันเป็นความสุขผ่องใสสดชื่น มีความสบาย เปรียบเทียบกับอะไรก็เปรียบเทียบไม่ได้ ถ้าอาการอย่างนี้มีขึ้น แสดงว่าจิตของท่านเข้าถึงอุปจารสมาธิอันถึงอันดับที่สุด เป็นการเต็มในขั้นกามาวจรสวรรค์

    อย่าลืมว่า ขณิกสมาธิ เป็นปัจจัยให้เกิดในกามาวจรสวรรค์ แล้วก็ถึงอุปจารสมาธิเต็ม เป็นการเต็มที่จะขึ้นไปเกิดบนสวรรค์ได้ทุกชั้นตามอัธยาศัย เรียกว่าเต็มกามาวจรสวรรค์ ถ้าเลยไปจากนี้ก็เป็นอาการของพรหม

    ขอถอยหลังมาอีกนิดหนึ่ง ขณะที่จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ อาจจะเป็นอุปจาระต้น อุปจาระกลางหรืออุปจาระปลายก็ตาม อุปจาระต้นที่เรียกว่า ขนพองสยองเกล้า หรือว่าน้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง นี่เป็นอุปจารสมาธิขั้นต้น

    อุปจารสมาธิขั้นกลางก็ได้แก่กายสั่นเทิ้มคล้ายๆกับปลุกพระ เริ่มรู้ว่ามีร่างกายลอยขึ้น มีอาการซาบซ่าซู่ซ่า ตัวเบา ร่างกายใหญ่ หน้าตาโต มีจิตสบาย อย่างนี้เรียกว่าอุปจาระขั้นกลาง

    ถ้ามีถึงขั้นอารมณ์ใจเป็นสุขบอกไม่ถูก นี่เป็นอุปจารสมาธิขั้นสูงสุด

    จะเป็นอุปจารสมาธิอันดับใดก็ตาม ในขณะนี้จะมีอาการแปลกๆ เกิดขึ้น นั่นก็คือบางครั้งเราจะเห็นแสงหรือสีต่างๆ ปรากฏ บางครั้งก็เห็นสีเขียว สีขาว สีแดง สีเหลือง บางครั้งก็มีอาการคล้ายๆ ใครเขาฉายไฟเข้ามาที่หน้า บางคราจะรู้สึกว่ามีแสงสว่างทั่วไปทั้งวรกาย มีทั้งข้างหน้าและข้างหลัง

    ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นขอให้ท่านทั้งหลายพึงทราบว่า นั่นเป็นนิมิตของอานาปานุสสติกรรมฐาน แต่ว่าบางทีก็อาจจะมีภาพคน ภาพอาคารสถานที่ และภาพอะไรก็ตามเกิดขึ้น แต่อาการอย่างนี้จะเกิดขึ้นชั่วขณะเดียวแล้วก็หายไป

    มาในตอนนี้ขอท่านทั้งหลายจงจำไว้ว่า จงอย่าสนใจกับแสงสีใดๆ ทั้งหมด อะไรจะเกิดขึ้นก็ช่าง ทำความรู้สึกไว้เสมอว่า เราเจริญกรรมฐานต้องการอารมณ์จิตเป็นสุข ต้องการอารมณ์เป็นสมาธิคือจับอารมณ์เดิมเข้าไว้

    แต่ทว่าเรื่องภาพแสงสีนี่ก็รู้สึกว่าเป็นที่น่าหนักใจอยู่นิดหนึ่ง เนื่องว่าเป็นของแปลก เป็นของใหม่สำหรับผู้ปฏิบัติ เมื่อเห็นเข้าอดจะตกใจไม่ได้ พอจิตไปจับภาพและแสงสีนั้นจิตก็เคลื่อน ภาพก็หาย ฉะนั้นการเห็นภาพหรือแสงสีในอันดับนี้ ตามเกณฑ์แห่งการปฏิบัติท่านยังไม่ถือว่าเป็นของดี

    แต่ก็มีหลายท่าน อาจจะเป็นหลายสำนักก็ได้ เพราะมีลูกศิษย์ลูกหาของบรรดาท่านทั้งหลายเคยมาถามเสมอๆ ว่าขอท่านได้โปรดพิจารณากรรมฐานที่ฉันได้ ว่ามันเสื่อมไปแล้วหรือยัง ก็ได้ถามว่าทำไมจึงถามอย่างนั้น ท่านบอกว่าขณะที่ท่านเจริญกับอาจารย์ของท่าน อาจารย์ของท่านบอกว่าจบกิจในการปฏิบัติแล้ว

    ได้ถามว่าการจบกิจในการปฏิบัติ มีอะไรเกิดขึ้นกับใจ ท่านก็บอกว่าเห็นภาพแสงสีต่างๆ เห็นเหมือนภาพคนบ้าง แสงสว่างบ้าง สีเขียวบ้าง สีแดงบ้าง อย่างนี้ อาจารย์บอกว่าจบแล้ว กรรมฐานมีเท่านี้ อันนี่ท่านทั้งหลายผมเสียดายความดีของท่านผู้ปฏิบัติ

    ความจริงภาพแสงสีต่างๆ ที่เห็น บางคนก็เข้าใจว่า อาการอย่างนั้น เป็นเรื่องของทิพจักขุญาณ ถ้าความรู้สึกมีอย่างนี้ ก็น่าเสียดายอีก เพราะภาพที่ปรากฎ แสงสีที่ปรากฎ ไม่ใช่ทิพจักขุญาณ เป็นเรื่องของอารมณ์จิตที่เข้าถึงอุปจารสมาธิ จิตมีสภาพเป็นทิพย์เล็กน้อยเท่านั้น ยังใช้อะไรไม่ได้

    ฉะนั้นขอท่านทั้งหลาย จงอย่าสนใจกับภาพและแสงสีต่างๆ ถ้าหากว่าอาการอย่างนี้ปรากฏ จงทำความรู้สึกว่าเรายังดีไม่พอ อารมณ์จิตของเรายังเข้าไม่ถึงปฐมฌาน ขอท่านทั้งหลายโปรดจำ

    และอีกอาการหนึ่งเท่าที่พูดมา ถ้าหากว่าอาการของจิตของท่าน เข้าถึงปีติส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม เช่น ขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง กายสั่นหรือกายลอย มีอาการซาบซ่าน มีจิตเป็นสุข อาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ปรากฏกับท่าน

    ขอท่านทั้งหลาย เวลาทำงานทำการก็ดี เดินไปไหนทำกิจธุระใดๆ ก็ดี ขณะเมื่อมันเหนื่อย เวลาที่เหนื่อยรู้สึกว่าใจสั่น มันเหนื่อยหนัก นั่งพัก พอนั่งพักเริ่มจับลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกทันที ทำแบบสบาย จิตจะมีความเป็นสุข แล้วก็อาการเหนื่อยจะหายได้รวดเร็ว เพราะว่าอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นการระงับทุกขเวทนาทางกาย นี้จุดหนึ่ง

    และอีกจุดหนึ่งขณะที่เราเหนื่อยๆ สมมติว่าวันนี้ผมไปเห็นพระดายหญ้า ทำงานกันหลายอย่าง ขณะที่ท่านทำงานกันแบบนั้นท่านก็เหนื่อย หาแท่นที่นั่งพัก ที่นั่งพักจะมีเสียงเอะอะโวยวายอะไรก็ช่าง

    พอนั่งพักลงมาแล้วจับลมหายใจเข้าออกทันที พอจับปับ อาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอาการของปีติมันจะเกิดขึ้น อย่างนี้แสดงว่าจิตของท่านเข้าสมาธิได้รวดเร็ว

    อาการอย่างนี้ควรจะฝึกไว้เสมอๆ เพราะมันเป็นประโยชน์มาก ทำให้เราคล่องในการทรงสมาธิ เวลาที่จิตถึงฌานสมาบัติ เราสามารถจะเข้าฌานได้ตามอัธยาศัย

    อาการเข้าฌานนี่ ถ้าท่านที่เข้าฌานยังต้องการเวลา หมายความว่าต้องการจะรู้อะไรต้องการจะสงบจิต เราก็ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง หน่อยหนึ่งหรือนานหน่อย หลับตาภาวนาอยู่นาน แล้วฌานจึงจะเกิด อย่างนี้ต้องถือว่ายังใช้ไม่ได้

    การทรงสมาธิต้องคล่อง ตามพระบาลีท่านกล่าวว่า จิตเข้าถึงวสี คำว่า วสี คือการคล่องในการเข้าฌานและออกฌาน

    ฉะนั้นการฝึกสมาธิของท่าน ผมจึงบอกว่าจงอย่าหาเวลาแน่นอน หมายความว่าเดินไปก็ดี ทำงานอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ตาม หรือแม้ว่าจะดูหนังสือ จะฟังเทปก็ตาม จิตจับลมหายใจเข้าออกให้มันทรงตัว

    เวลาเดินบิณฑบาตกว่าจะกลับ มีโอกาสสำหรับเรามาก ขณะที่ไปบิณฑบาต ก้าวออกไปบิณฑบาตตั้งแต่ก้าวแรก หรือก่อนจะไปจนกระทั่งกว่าจะถึงเวลากลับ จงอย่าปล่อยจิตของท่านให้ว่างจากสมาธิ ให้จิตของท่านทรงสมาธิอยู่ตลอดเวลา

    และก็จงอย่าเข้าใจผิดว่าถ้าจิตเป็นสมาธิจะยืนแข็งโด่ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น จิตเป็นสมาธิ ก็ใช้การกำหนดการก้าวของเท้า ก้าวเท้าซ้ายหรือก้าวเท้าขวาก็รู้อยู่ หายใจเข้าก้าวเท้าซ้าย หายใจออกก้าวเท้าขวา หรือก้าวเท้าไปรู้ด้วย รู้ลมหายใจเข้าออกด้วย

    ถ้าจะใช้พุทธานุสสติควบก็ดี เวลาก้าวเท้าไปหนึ่งก็พุท ก้าวไปอีกทีก็โธ ก้าวไปอีกทีก็พุธ ก้าวไปอีกทีก็โธ ทำอย่างนี้ตลอดไป ก็เป็นอันว่าท่านเป็นผู้ไม่ว่างจากอารมณ์ของสมาธิ

    เวลาจะกลับมาฉันอาหาร จะทำอะไรก็ตามอย่าวางสมาธิ เวลาจะกินข้าว จะฉันข้าว เวลานี้เราตักข้าว เวลานี้ตักกับข้าว เวลานี้เอาข้าวเข้าปาก เวลานี้เราเคี้ยว มีความรู้สึกไปด้วย เวลานี้เราอาจจะไม่รู้ลมหายใจเข้าออก แต่รู้อาการที่ทำ อย่างนี้ก็ใช้ได้ เป็นการทรงอารมณ์สมาธิ

    หรือว่าเวลาที่กำลังฉันข้าว เรารู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย จะช่วยให้เกิดสมาธิได้ง่าย และก็เป็นการทรงฌานได้ดี

    คือการที่จะเจริญพระกรรมฐานให้ดีนี่เขาไม่ยอมให้เวลาว่าง

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอนก่อนจะหลับ ใช้จับอานาปานุสสติกรรมฐานให้ทรงตัว ท่านจะหลับง่าย และให้หลับไปกับอานาปานุสสติกรรมฐาน เวลาหลับจะมีความสุข ขณะที่หลับจะถือว่าเป็นผู้ทรงฌานอยู่

    การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกจนหลับ ขณะที่จะหลับจิตจะต้องเข้าถึงปฐมฌานหรือฌานสูงกว่านั้น จึงจะหลับ และแม้ขณะที่หลับอยู่ก็ถือว่าหลับอยู่ในฌาน ถ้าตายระหว่างนั้นท่านเป็นพรหม

    เวลาที่ตื่นมาใหม่ๆ ท่านจะลุกจากที่นอนก็ตาม หรือไม่ลุกก็ได้ จะนอนอยู่อย่างนั้น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก หรือว่าอยากจะนั่งก็ได้ แต่ระวังให้ดี การลุกขึ้นมานั่งต้องคุมสติสัมปชัญญะให้ดี

    เมื่อตื่นนอนขึ้นมาแล้วต้องจับลมหายใจเข้าออกทันทีเพื่อทรงสมาธิจิตให้ทรงตัว ตอนเช้ามืดพยายามทำให้สงบสงัดให้มากที่สุด เป็นการรวบรวมกำลังใจสูงสุด เพื่อประโยชน์แก่การบิณฑบาต

    เมื่อเวลาไปบิณฑบาตอย่าคุยกัน แล้วเวลาเดินไปบิณฑบาตเว้นระยะห่างกันพอคนรอดได้ สำหรับพระองค์หน้า เคยเดินไปยืนตรงไหนยืนตรงนั้น เมื่อเวลาเขาใส่บาตร ถ้าองค์ท้ายยังรับบาตรไม่เสร็จ องค์หน้าอย่าพึ่งก้าวไป มิฉะนั้นจะทำให้องค์ท้ายลำบาก ต้องเดินตามเร็วเดี๋ยวก็เหนื่อย มันเป็นการดูไม่งามสำหรับชาวบ้าน

    เรื่องนี้ก็เป็นสติสัมปชัญญะหรือว่าเป็นสมาธิเหมือนกันที่ท่านทั้งหลายจะต้องรู้ไว้ และจำเข้าไว้เพื่อความดีของท่าน

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่าท่านทั้งหลายจิตทรงสมาธิไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืน แล้วก็ตอนเช้ามืดในเวลาที่เดินไปบิณฑบาต ถ้าจิตของท่านทั้งหลายทรงสมาธิอยู่ สมเด็จพระบรมครูทรงตรัสว่าคนที่เขาใส่บาตรท่านเขาจะมีบุญมาก ได้บุญมาก มีความสุขในปัจจุบัน

    ดีกว่าท่านที่ปล่อยให้ใจลอยให้จิตน้อมไปในกามารมณ์หรือโลกียวิสัย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะจิตน้อมไปในโลกีย์ เป็นจิตที่เต็มไปด้วยความสกปรก เมื่อจิตของเราสกปรก ท่านผู้ให้ก็ได้ของสกปรกไป ถ้าจิตของเราทรงสมาธิเข้าไว้ แสดงว่าจิตของเราสะอาดจากบาปอกุศล บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนที่สงเคราะห์ก็ได้ดี

    เอาล่ะบรรดาท่านทั้งหลาย สำหรับเวลานี้ก็หมดเวลาเสียแล้ว สำหรับวันนี้ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

    — จบ ตอนที่ ๓ อุปจารสมาธิ —
     
  5. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
    ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
    ตอนที่ ๔ อารมณ์ของฌาน


    ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย และบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย วันนี้ ก็จะขอพูดเรื่องอานาปานุสสติกรรมฐาน ส่วนที่แล้วมานั้นได้พูดถึง ด้านขณิกสมาธิ กับ อุปจารสมาธิ สำหรับวันนี้จะได้พูดถึง อารมณ์ของฌาน

    การเจริญอานาปานุสสติกรรมฐาน อารมณ์เข้าสู่ความเป็นฌาน ความจริงก็เป็นเครื่องสังเกตไม่ยาก เมื่อผ่านอุปจารสมาธิมาแล้ว ตอนนี้จิตจะมีความสุข มีความเยือกเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฌานนี่แบ่งออกเป็น ๔ อย่าง คือ

    อารมณ์ปฐมฌาน
    ปฐมฌานนี่มีองค์ ๕ คือ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

    คำว่า วิตก ก็ได้แก่ อารมณ์นึกที่เราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก

    วิจาร ก็ได้แก่ การรู้ว่าเวลานี้เราหายใจเข้าหรือว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น หรือว่าจะพูดกันถึงในกรรมฐาน ๔๐ เราก็จะมีอารมณ์รู้ว่าเวลานี้ลมกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ สำหรับลมหายใจเข้า ถ้าสำหรับลมหายใจออก ก็จะกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูกหรือว่าริมฝีปาก อย่างนี้เป็นอาการของวิจาร จำไว้ให้ดีด้วย

    และก็
    ปีติ เป็นความเอิบอิ่มใจ ตามที่กล่าวมาแล้ว มีความชุ่มชื่น มีความเบิกบาน ไม่มีความอิ่ม ไม่มีความเบื่อ ในการเจริญพระกรรมฐาน สามารถจะรวบรวมกำลังสมาธิเมื่อไหร่ก็ได้

    สุข ก็ได้แก่ ความสุขเยือกเย็น ที่หาความสุขเปรียบเทียบใดๆ ไม่ได้ และมีความเอิบอิ่มใจมาก

    เอกัคคตา มีอารมณ์เดียว หมายความว่า ในขณะนั้นจิตจะจับเฉพาะอารมณ์ลมหายใจเข้าออกอยู่ตามปรกติ จิตจะไม่รับอารมณ์ส่วนอื่น

    อันนี้เป็นอาการของที่เราจะทราบได้ตามจริยา คือ อาการของปฐมฌาน มีองค์ ๕

    แต่ทว่าจะพูดถึงความรู้สึก ขณะที่จิตของเราเข้าถึงปฐมฌาน จิตจะจับลมหายใจเข้าออก ลมหายใจจะเบา มีความสุขสดชื่น หูได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนแจ่มใส แต่ทว่าไม่รำคาญในเสียง

    จะเป็นเสียงดังจะเป็นเสียงเบา เสียงเพลง เสียงทะเลาะกัน เอะอะโวยวายของขี้เมา ขี้เหล้าเมายาก็ตาม เราไม่รำคาญในเสียง สามารถจะคุมอารมณ์ได้ตามปรกติ อย่างนี้เรียกว่า ปฐมฌาน

    และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังจิตสำหรับผู้ฝึกที่จะเข้าปฐมฌานนั้น ก็มีความสำคัญอยู่จุดหนึ่ง คือ ขณะที่จิตก้าวเข้าไปสู่ปฐมฌานเบื้องแรก กำลังของจิตยังไม่มั่นคง

    ตอนนี้เวลาที่เราจับลมหายใจเข้าออกจะมีอารมณ์สงัด จะมีสภาพนิ่งคล้ายๆ อาการเคลิ้ม บางทีเราคิดว่าเราหลับแต่ความจริงไม่หลับ ถ้าหลับมันจะโงกหน้าโงกหลัง

    อาการเช่นนั้นที่เกิดขึ้นกับเรา มีอาการเฉยๆ ตัวตั้งตรง แต่ว่ามีอาการเคลิ้มลืมตัวเหมือนหลับ สักครู่เดียวหรือประเดี๋ยวเดียว จะมีอาการหวิวคล้ายตกจากที่สูง และเราก็ไม่สามารถจะนำอารมณ์นั้นขึ้นมาใช้ได้อีก เพียงแค่รักษาอารมณ์สบาย

    อาการอย่างนี้ ขอท่านทั้งหลายพึงทราบ ว่านั่นสมาธิจิตของท่าน ขณะที่มีอารมณ์สบายเงียบสงัด มีอาการคล้ายเคลิ้มเหมือนหลับ เป็นอาการจิตหยาบของอารมณ์หยาบของปฐมฌาน เป็นการก้าวขึ้นสู่ปฐมฌานแบบหยาบๆ

    แต่ทว่าจิตไม่สามารถจะทรงฌานอยู่ได้ จิตพลัดจากฌาน จะมีอาการหวิวคล้ายกับตกจากที่สูง ถ้ามีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ก็จงอย่าสนใจ มันจะเป็นยังไงก็ช่าง เราก็รักษาอารมณ์ปรกติไว้ ได้เท่าไหร่พอใจเท่านั้น

    มาเข้าถึงตอนทุติยฌาน คือ ฌานที่ ๒
    ฌานที่ ๒ นี่มีองค์ ๓ คือ ตัด วิตก วิจารเสียได้ เหลือ ปีติ สุข เอกัคคตา

    ในตอนนี้จะรู้สึกว่าจิตเข้าไปจับลมหายใจเข้าลมหายใจออกจะวางไว้ คือจิตจะไม่สนใจ ลมหายใจจะเบาลง มีแต่ความสดชื่นหรรษา มีความนิ่งสนิท

    ถ้าหากว่าเราจะสังเกตให้ง่าย นั่นก็คือถ้าเราภาวนาไปด้วย สมมติว่าเรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้าเรานึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ อันนี้จะสังเกตง่าย ในขณะที่เข้าฌานที่ ๒ ในขณะจิตเข้าถึงฌานที่ ๒ คำภาวนาจะหายไป จิตจะตั้งอารมณ์ทรง มีความเอิบอิ่ม มีอารมณ์สบาย มีอารมณ์ละเอียด สงัด มีอารมณ์สงัดมาก

    แต่พอจิตเคลื่อนจากฌานที่ ๒ ลงมาสู่อุปจารสมาธิ จะมีความรู้สึกว่า โอหนอ นี่เราลืมไปเสียแล้วหรือ หรือว่าเราเผลอไปแล้ว นี่เราไม่ได้ภาวนาเลย การกำหนดรู้จับลมหายใจเข้าออกเราก็ไม่ได้ทำ ตายจริงนี่เราเผลอไป แต่ความจริง นั่นไม่ใช่อาการของความเผลอ เป็นอาการของจิตที่ทรงสมาธิสูงขึ้น ขอท่านทั้งหลายพึงเข้าใจตามนี้

    สำหรับอาการของฌานที่ ๓ นั้น มีองค์ ๒ คือ เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา ตัดปีติหายไป

    อาการของฌานที่ ๓ นี่ที่เราจะสังเกตได้ง่าย ความชุ่มชื่นสดชื่นหายไปของจิต จิตมีความสุข และก็มีจิตทรงตัวมากในอารมณ์ที่ตั้งไว้ ดีกว่าฌานที่ ๒

    แล้วทางร่างกายจะสังเกตว่า มีอาการคล้ายๆ กับนั่งหรือยืนตรงเป๋งเหมือนอะไรมาผูกเข้าไว้ สำหรับลมหายใจจะรู้สึกว่าเบาลงไปมากเกือบไม่มีความรู้สึก หูได้ยินเสียงภายนอกเบาๆ ถึงแม้ว่าเสียงนั้นจะดัง แต่ก็เสียงที่เราได้ยินเบามาก อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ ๓

    เมื่อเข้าถึงฌานที่ ๔ จะมีความรู้สึกว่าเราไม่ได้หายใจ แต่ทว่ากำลังใจไม่มืด มีความสว่างโปร่งทรงอารมณ์อยู่ตามปรกติ มีอารมณ์เด็ดเดี่ยวตั้งมั่น คือมีความมั่นคงมาก ไม่รู้การสัมผัสจากภายนอก ยุงจะกิน ริ้นจะกัด เสียงจะมาจากทางไหนไม่รู้หมด ปรากฎว่ามีจิตนิ่งเฉยๆ

    สำหรับฌาน ๔ นี้มีองค์ ๒ คือ มีเอกัคคตากับอุเบกขา

    เอกัคคตา หมายความว่า ทรงอารมณ์เป็นหนึ่ง อารมณ์ไม่เคลื่อน อุเบกขาหมายถึงว่า เฉยไม่รับสัมผัสอารมณ์ใดๆ ทั้งหมด

    ที่พูดมานี้ เพื่อประสงค์ที่ให้ท่านทั้งหลายทราบว่า อาการของฌานมันเกิดขึ้นจะมีความรู้สึกเป็นยังไง แต่ว่าเนื้อแท้จริงๆ นักปฏิบัติถ้าจะปฏิบัติกันให้ดีล่ะก็ จงอย่าสนใจว่าเวลานี้มันจะได้ฌานอะไร จะเข้าถึงฌานหรือจะเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ จะเป็นฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็ช่าง ไม่สนใจ

    นี่เราพูดกันถึงว่าในแง่ของการปฏิบัติที่เอาดีกัน ถือว่าวันนี้ได้ดีเพียงใด พอใจเท่านั้น เราทำตามอารมณ์สบายของเรา มันได้แค่ไหนพอใจแค่นั้น เมื่อวานนี้ดีกว่าวันนี้ วันนี้เลวกว่าเมื่อวานนี้หน่อยก็่ช่าง คิดว่าเราเป็นผู้สะสมความดี จะทรงอารมณ์จิตให้อยู่ในด้านของสมาธิตามความพอใจที่เราต้องการเท่านี้พอ

    ถ้าจิตตั้งอยู่อย่างนี้ อารมณ์จะเป็นสุข ไม่มีอาการดิ้นรน จงอย่าสนใจกับภาพที่เห็น จงอย่าสนใจกับอารมณ์ของจิต ว่าเมื่อวันก่อนนี้มันเลวกว่าวันนี้ หรือว่าวันนี้ดีกว่าวันก่อน ถ้าไปสนใจอย่างนั้น จิตจะไม่ทรงตัว จะหาอารมณ์ที่แนบสนิทไม่ได้

    ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายพึงตั้งใจไว้โดยเฉพาะ เพื่อผลของความดี นั่นก็คือเวลาที่เจริญสมาธิจิต จะด้านอานาปานุสสติก็ตาม กรรมฐานกองอื่นใดก็ตาม จงทราบว่า เวลานี้จะตกอยู่ในสภาพของฌานอะไรก็ช่าง อย่าไปตั้งหน้าตั้งตาว่าเราต้องการได้ฌานนั้น เราต้องการทรงฌานนี้ มันจะเกิดอารมณ์กลุ้ม

    ถ้าอารมณ์กลุ้มเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ตัดความดีทั้งหมด ผลที่สุด วันนั้นเราจะไม่ได้อะไรเลย เป็นอันว่าขณะใดที่ทำไปขณะนั้นเรามีความพอใจ ได้แค่ขณิกสมาธิคือสมาธิเล็กน้อยเราก็พอใจ ได้ถึงอุปจารสมาธิเราก็พอใจ จิตตกอยู่ในฌานใดฌานหนึ่งเราก็พอใจ พอใจเสียทั้งหมด

    ถ้าทำจิตอย่างนี้ อารมณ์จิตจะสบาย ก็ได้แก่การฝึกจิตเข้าถึงอุเบกขารมณ์นั่นเอง เมื่อการฝึกจิตแบบนี้แล้ว ต่อไปจิตจะเป็นเอกัคคตารมณ์และอุเบกขาคือจิตจะทรงฌาน ๔ ได้ง่าย

    ตอนนี้มาก็ขอพูดกันถึงหลักแห่งการปฏิบัติ การปฏิบัติที่จะให้ผลกันจริงๆ ผมเคยพูดมาแล้วในตอนก่อนว่าจงใช้เวลาจุกจิกๆ ของเราเป็นเครื่องการกระทำสมาธิ

    อย่างที่พูดมาวันวานนี้ว่า เวลาทำการทำงานก็ดี ใช้งานเป็นสมาธิ เดินไปบิณฑบาต เดินไปธุระ จะทำอะไรก็ตาม อย่าทิ้งลมหายใจเข้าออก พยายามนึกถึงลมหายใจเข้าหายใจออกไว้เสมอ

    แต่ว่าถ้างานนั้นไม่เหมาะสมแก่การใช้ลมหายใจเข้าหายใจออก เราก็ใช้จิตจับอยู่ที่งาน ว่าเวลานี้เราทำอะไร เราดายหญ้ารึ เราก็เอาใจจับไว้เฉพาะเวลาที่เราดายหญ้า มือเราถือจอบ จอบเราฟันดิน หรือเราถากหญ้า จะถากตรงไหน ตั้งใจไว้โดยเฉพาะ อย่างนี้ก็เป็นอาการฝึกอารมณ์ของสมาธิไปในตัว

    เราจะทาสี เราจะตอกตะปู เราจะเลื่อยไม้ เราจะโบกปูน เราจะทำอะไรทุกอย่าง ตั้งใจทำในกิจนั้นโดยเฉพาะ เอาจิตจับไว้โดยเฉพาะในเรื่องนั้น อย่างนี้เป็นการทรงสมาธิ ทำสมาธิให้ทรงตัวไปในตัว เป็นการฝึกในงาน

    สำหรับวันนี้ยังไม่พูดถึงด้านวิปัสสนาญาณ ก็จะพูดในวงแคบๆ ของสมาธิเท่านั้น มีอีกวิธีหนึ่งที่เคยฝึกกันมา ผมก็ดี เพื่อนของผมก็ดี หลายๆ ท่านก็ดี เขาใช้วิธีฝึกต่อสู้กันแบบนี้

    หนึ่ง ซ้อมการต่อสู้กับความเหนื่อย เราเหนื่อยมาก็ดี เราร้อนมาก็ดี เดินทางไกลมาเหนื่อยๆ และกำลังร้อนจัด สมัยโน้นมันไม่มีรถไม่มีเรือ มันหายาก จะไปมาติกาบังสุกุล จะไปไหนกันทีก็ใช้การเดิน

    เดินมาร้อนๆ และก็เหนื่อยจัด พอมาถึงที่ เปลื้องผ้าออก ถ้าไม่ร้อนไม่เป็นไร เข้าห้อง ในขณะเดียวกันนั่นเอง เราก็อยู่ในห้องของเราโดยเฉพาะ ไม่ยอมให้เหงื่อแห้ง ไม่ยอมคลายความเหนื่อย นั่งปับหรือว่านอนลงจิตจับสมาธิทันที จับลมหายใจเข้าหายใจออกว่าจิตมันจะทรงตัวมั้ย ถ้าจิตยังไม่ทรงตัวดีเพียงใด เราจะไม่เลิก แต่ว่าอาการอย่างนี้ท่านทั้งหลาย มันเป็นการระงับความเหนื่อย คือดับความร้อน ดับความเหนื่อยไปในตัว

    เมื่อจิตเข้าถึงสมาธิเล็กน้อย คือขณิกสมาธิ ความเหนื่อยมันก็คลาย พอจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ มีปีติเป็นอารมณ์ ตอนนี้เองมันจะหายเหนื่อยทันที ความร้อนความกลุ้มมันจะหายไป และความเหนื่อยจากทางร่างกายมันก็จะไม่มี ต้องพยายามต่อสู้อย่างนี้นะครับ

    การสำเร็จมรรคผลหรือได้ฌานสมาบัติ ไม่ใช่ได้มาจากป่า ส่วนใหญ่จริงๆ เขาได้ในที่มวลชนมากๆ และการเจริญสมาธิจากป่าในแดนสงัดที่ว่าได้ผลดีนั้นไม่จริง ถ้าหากว่าจิตยังไม่ถึงความเป็นพระอริยเจ้าเพียงใด ท่านกลับเข้ามาหาหมู่ชนเมื่อไหร่ เมื่อนั้นมันเกิดการกลุ้มทันที ต้องมาฝึกกันใหม่

    ถ้าหากว่าจะถามว่าทราบเรื่องนี้ได้ยังไง กระผมก็ต้องขอตอบว่าผมชนกับมันมาแล้วทุกอย่าง การอยู่ในป่าช้า การอยู่ในป่าชัฏ การอยู่ในถ้ำ ผมทำมาแล้วทุกอย่าง แต่ผลจริงๆ ที่ได้ทรงตัว ก็คือต้องเข้ามาต่อสู้กับกลุ่มคน

    นั่นเราอยู่คนเดียวมีการสงบสงัด ไม่มีอะไรรบกวนใจ เราจะทรงอารมณ์อย่างใดก็ได้ เหมือนเราปักไม้ไว้ในที่สงัด ลมไม่พัด น้ำไม่ไหล ไม่มีใครไปจับเขย่า ไม้มันก็มีอาการทรงตัว ปักแน่นหรือไม่แน่นมันก็ทรงตัวอยู่ได้ ถ้าไปปักที่น้ำมันไหลเชี่ยว ลมพัดแรง มีคนเขย่า ถ้ามันไม่แน่นจริงๆ มันก็ทรงตัวไม่ไหว ข้อนี้มีอุปมาฉันใด จิตของเราก็เหมือนกัน ที่จะได้ดีกันจริงๆ ก็ต้องต่อสู้กับอารมณ์ที่เข้ามาขัดขวาง

    อาการที่ต่อสู้กับความเหนื่อยและความร้อนนี่ ผมเคยทำแบบนี้นะ เคยทำแบบนี้ บางทีผมทำงานเหนื่อยๆ ดีไม่ดีกำลังเหนื่อยหอบแฮ่กๆ นั่นแหละ ผมหยุดพักนั่งพิงสันหลังพิงฝาปับจับอารมณ์สมาธิ จับเมื่อไรมันทรงตัวเมื่อนั้น อารมณ์สบายทันที

    นี่ฝึกมันต้องฝึกแบบนี้ เวลาทำงานเหนื่อยๆ แต่ว่าเวลาที่จะนั่งทำแบบนั้นระวังนะ อย่าให้ใครเขาเห็น การนั่งสมาธิให้คนเห็น พระพุทธเจ้าท่านทรงปรับว่าเป็นอุปกิเลส มันจะมีการโอ้การอวดอยู่ในตัวเสร็จ ใช้ไม่ได้ ต้องใหัลับนั่งเฉยๆ สบายๆ ใครจะว่ายังไงก็ช่าง ประเดี๋ยวหนึ่งเราก็ลุกไปทำงานของเราใหม่

    ประการที่สอง ต้องพยายามต่อสู้กับเสียง เวลานี้สะดวก ในการต่อสู้กับเสียงนี่ อย่าใช้เสียงให้มันดังนัก ชาวบ้านเขาจะรำคาญ

    วิธีต่อสู้กับเสียงก็คือ ขณะที่เราพบกับเสียงที่เราไม่พอใจ เขาคุยกันเอะอะโวยวาย เราย่องเข้าไปใกล้ๆ ถ้ามันไม่มีที่ลับ เราก็เข้าไปใกล้ๆ ทำตามองเหม่อดูอะไรซะก็ช่าง เอาจิตจับลมหายใจเข้าหายใจออก ลองดูซิว่ามันรำคาญในเสียงมั้ย

    ถ้าทำอย่างนั้นไม่สะดวก เวลานี้วิทยุของเรามี บันทึกเสียงของเรามี เวลาเราจะทำเปิดเบาๆ นะ อย่าไปให้คนข้างๆ เขารำคาญ เปิดวิทยุฟังเบาๆ มันจะเป็นเพลงละครอะไรก็ตาม ขณะเดียวกันนั้น เราก็ใช้อารมณ์กำหนดอานาปานุสสติกรรมฐานและภาวนาไปด้วยก็ได้ หูได้ยินเสียงเพลง เสียงพูดในวิทยุชัด แต่ว่าถ้าจิตของเราไม่รำคาญในเสียงนั้นอย่างนี้ใช้ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทำไปๆ จนกระทั่งหูไม่ได้ยินเสียงเลยยิ่งดีใหญ่ นั่นเป็นอาการของฌาน ๔

    เท่าที่เคยฝึกกันมา ผมเคยฝึก อันดับแรก ใช้แผ่นเสียงชุดหนึ่งให้เด็กเล่น เมื่อเด็กเล่น เด็กก็เอะอะโวยวายไปตามเรื่อง และใช้เสียงมันก็เปิดเสียงเพลงด้วย สมัยก่อนก็ใช้วิทยุขยายเสียงแผ่นเสียงแบบไขลาน ต่อมาแผ่นเสียงเดียวหรือสายเดียวเราสู้ได้ ก็ไปซื้อใหม่อีกเครื่องหนึ่ง เพลงไม่เหมือนกันให้เด็กอีกพวกหนึ่งเล่น มันก็เถียงกันมาเถียงกันไป ฝ่ายนี้เปิดเพลงอย่างนั้น ฝ่ายนั้นเปิดพลงอย่างโน้น เรานอนกลาง นอนจับลมหายใจเข้าออกภาวนาไปจนไม่รำคาญในเสียง ในที่สุดเสียงอันดังมันก็ดังแว่วน้อยลงมาทุกทีๆ จนกระทั่งถึงระดับไม่ได้ยินเสียงเลยนี่ใช้ได้

    ต้องต่อสู้แบบนี้เสมอๆ จนกระทั่งมีอารมณ์ชิน อารมณ์ชินขึ้นมา เสียง ได้ยินเสียงที่เราไม่พอใจเมื่อไหร่ หรือว่าเราพอใจเมื่อไหร่ก็ตาม เราจะเข้าสมาธิได้ทันทีทันใด นี่ว่ากันถึงการฝึกจิตให้คล่องในการเข้าสมาธิ ถ้าทำได้อย่างนี้อารมณ์จิตจะทรงตัว พยายามทำ

    จงอย่าคิดว่าทำไม่ได้ ไม่มีใครเขาทำได้มาตั้งแต่เกิด ทุกคนต้องมาฝึกกันเหมือนกัน จนถึงพระอรหันต์ทุกองค์ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ฝึกกันมาแบบนี้ ค่อยทำค่อยไปทีละน้อยละน้อย ในที่สุดมันก็เข้าถึงจุดจบ ถ้าเราไม่ละความพยายาม ตอนนี้พูดเฉพาะอานาปานุสสติกรรมฐาน ดีไม่ดีเดี๋ยวก็เผลอเอาอะไรมาป้วนเปี้ยนเข้ามันจะยุ่งกันใหญ่

    ที่นี้ต่อมาอีก เราก็พยายามฝึกระงับอารมณ์ที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คืออนิฏฐารมณ์

    คำว่าอนิฏฐารมณ์ก็ได้แก่อารมณ์ที่เราไม่ชอบใจ อารมณ์ใดก็ตามที่มันจะเกิดขึ้นกับเราเป็นอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจเกิดขึ้น ตอนนี้เราต้องพยายามระงับด้วยกำลังของสมาธิ

    คิดว่าใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เขาจะนินทาอย่างไรก็ช่างเขา มันเป็นปากของเขา และก็มันเป็นหน้าที่ของเขาที่เขาจะชมก็ได้ เขาจะด่าก็ได้ มันเป็นเรื่องของเขา

    เวลาที่รับคำด่าหรือคำชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำด่า เราอย่าพึ่งไปโกรธ ใช้จิตพิจารณาเสียก่อนว่า ไอ้เรื่องที่เขาด่ามันจริงหรือไม่จริง ถ้าเป็นอาการที่ไม่ตรงความเป็นจริง เราก็ยิ้มได้ ว่าท่านผู้ด่านี่ไม่เห็นจะมีอาการน่าเลื่อมใสตรงไหน ด่าส่งเดชโดยไร้เหตุไร้ผล ไม่เหมาะกับฐานะที่เกิดมาเป็นคนของพระพุทธศาสนา แต่จงอย่าโกรธ จงยิ้มเสียว่าเราดีกว่าเขาเยอะ

    แล้วต่อจากนั้นไปก็ใช้อารมณ์ใจเอาเสียใหม่ ถ้าพบอารมณ์ที่ทำให้เราไม่พอใจ เราก็ใช้อารมณ์จับอารมณ์ลมหายใจเข้าออกให้จิตมันทรงตัว จะด่าก็ช่างจะว่าก็ช่างนินทาก็ช่าง ช่างเขา เรารักษาอารมณ์ของเราให้มีความสุขใช้ได้ ถือว่าอารมณ์ความสุขเป็นปัจจัยให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานโดยง่าย

    อันนี้เป็นอารมณ์แบบสบายๆ ที่เราสามารถจะทรงตัว จิตระงับอารมณ์ที่มากระทบที่เราไม่พอใจ ทีหลังก็มาพยายามหาทางระงับความอยากด้วยกำลังของฌาน

    ความจริงกำลังของฌานนี่มันจะระงับกิเลสได้ทุกอย่าง โลภะ ความโลภ ราคะ ความรัก โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง มันระงับได้ทุกอย่าง แต่มีอารมณ์หนัก

    เมื่ออารมณ์จิตของเรามีการทรงตัวจริงๆ อารมณ์แห่งความสุขมันจะยืนตัวกับจิตของเรา มันจะไม่หวั่นไหวในเมื่อเห็นคนหรือวัตถุที่มีความสวยสดงดงาม จะไม่เกิดอาการทะเยอทะยาน จากอาการที่ได้ลาภสักการะ จะไม่มีความหวั่นไหวในกำลังจิต แม้ขณะที่มีบุคคลเขายั่วให้โกรธ อาการอย่างนี้มันจะไม่มีในจิตของเรา และสิ่งที่เราจะยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรามันก็ไม่มี

    ความจริงกำลังสมาธินี่สามารถจะกดกิเลสทุกตัวให้มันจมลงไปได้ แต่อย่าลืมว่ากิเลสมันไม่ตายเพราะมันถูกฝังไว้เท่านั้น แค่เราเผลอเมื่อไหร่มันก็โผล่มาเล่นงานเราเมื่อนั้น

    สำหรับคนที่ทรงจิตถึงฌาน ๔ หรือทรงอารมณ์สมาธิถึงฌานใดฌานหนึ่ง จนกระทั่งมีอารมณ์ชิน มักจะมีอาการเผลอคิดว่าเราเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้ผมเองก็พบมา แม้แต่ตัวผมเองก็เหมือนกัน ตัวผมเองนี่บางครั้งในตอนที่กำลังฝึกผมคิดว่าเอ๊ะนี่เราเป็นพระอรหันต์เสียแล้วหรือเนี่ย มันไม่พอใจอะไรทั้งหมด รักมันก็ไม่เอาไหน โลภมันก็ไม่เอาไหน โกรธมันก็ไม่เอาไหน หลงอะไรมันก็ไม่มี

    แต่ทว่าทำมาทำไป อารมณ์นานๆ เข้ากำลังใจตกลง ไอ้เจ้าตัวรักมันก็เริ่มโผล่นิดๆ เจ้าตัวโลภ เจ้าตัวโกรธ เจ้าตัวหลงมันก็มาหน่อยๆ ตอนนี้จึงรู้ตัวว่าโอ้หนอ นี่เราพลาดไปเสียแล้วที่คิดว่าตัวเป็นอรหันต์ เป็นแค่กำลังฌานโลกีย์เท่านั้น

    แต่ความจริงแม้เราเป็นฌานโลกีย์ แต่สามารถจะระงับอาการเช่นนี้ได้ ก็ควรจะพอใจ เพราะว่ากิเลสสามารถจะกดมันให้จมลงไปได้ ไม่ช้าเราก็สามารถจะห้ำหั่นให้มันให้พินาศได้ด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ

    เอาละบรรดาท่านทั้งหลาย มองดูเวลาเห็นว่าหมดเสียแล้วสำหรับวันนี้ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

    — จบ ตอนที่ ๔ อารมณ์ของฌาน —
     
  6. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
    ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
    ตอนที่ ๕ วิปัสสนาญาณ


    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาที่ถึงการเจริญพระกรรมฐาน สำหรับวันนี้ ก็จะขอพูดในด้านของวิปัสสนาญาณ

    เพราะว่าในอานาปานุสสติกรรมฐานนี่ พูดกันมาถึงด้านสมถภาวนาพอสมควร ถ้าจะถามว่าพูดจบแล้วหรือยัง ก็ต้องตอบว่าพูดมันไม่จบ ถ้าจะให้จบในอานาปานุสสติกรรมฐาน เราก็ต้องพูดกันถึงยันตายมันก็ไม่จบ

    เป็นอันว่าขออธิบายเฉพาะหลักใหญ่ๆ เข้าไว้ นอกจากนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายใชัปัญญาพิจารณาเอาเองด้วย เพราะว่าการปฏิบัติไม่ว่ากรรมฐานกองใดทั้งหมด อุปสรรคทางจิตย่อมปรากฎมีขึ้นเสมอ สำหรับอุปสรรคใดๆ ที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ก็ดี หรือว่าจากทางกายก็ดี ถ้าเราไม่ยอมแพ้เสียอย่างเดียว เราก็ชนะ

    อุปสรรคต่างๆ มันจะมีขึ้นได้ มันก็ต้องสลายตัวได้เหมือนกัน ต้องถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ทุกอย่างถ้าเราเอาจิตเข้าไปจับธรรมดาเสียอย่างเดียว จิตมันก็มีความสุข การเจริญพระกรรมฐาน ความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือต้องการให้มีความสุข

    ต่อนี้ไป ก็จะขอนำเอาด้านของวิปัสสนาญาณ มาแนะนำกับบรรดาท่านทั้งหลายพอสมควรแก่อัธยาศัยและตามเวลา เนื่องในด้านวิปัสสนาญาณนี้เราจะพูดกันไปหลายชีวิตมันก็ไม่จบ

    หมายความว่าพูดแล้ว แล้วก็ตายไปพูด ตายแล้วก็เกิดใหม่ เกิดใหม่แล้วก็พูดใหม่ พูดใหม่ตายไปใหม่ มันก็ไม่จบ ถ้าจะพูดให้จบได้เมื่อไหร่ ต่อเมื่อท่านทั้งหลายถึงอรหัตตผล ถ้าทุกคนถึงอรหัตตผลเสียหมด ตอนนั้นวิปัสสนาญาณจบ จบเพราะอะไร จบเพราะท่านถึงแล้ว ท่านมีความเข้าใจ

    สำหรับด้านวิปัสสนาญาณนี่ มีวิธีปฏิบัติถึง ๔ แบบด้วยกัน นั่นก็คือ
    หนึ่ง สุกขวิปัสสโก
    สอง เตวิชโช
    สาม ฉฬภิญโญ
    สี่ ปฏิสัมภิทัปปัตโต

    การอธิบายในการเจริญสมาธิเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาญาณ ที่พูดมาแล้วนั้นเป็นความมุ่งหมายให้เข้าถึงวิชชา ๓ อภิญญา ๖ และก็ปฏิสัมภิทาญานเป็นสำคัญ ฉะนั้นเวลาเมื่อท่านทั้งหลายรับฟังแล้วก็รู้สึกว่ามันหนักมาก รู้สึกว่าหนักใจจริงๆ จะทำได้หรือไม่ได้…

    สำหรับในตอนต้นในด้านวิปัสสนาญาณนี่ ผมจะขอพูดด้านสุกขวิปัสสโกก่อน ความจริงสุกขวิปัสสโกแปลว่าเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยอำนาจของความสุขแบบสบาย สุขนั้นแปลว่าสบาย เราเรียกว่าทำแบบสบายๆ การทำแบบสบายๆ นี่เขาทำแบบนี้ คือว่า เราใช้อารมณ์สมาธิควบคู่กันไปกับการพิจารณาวิปัสสนา

    คำว่าใช้สมาธิคู่กันไป มีบางท่านบอกว่าสุกขวิปัสสโกไม่ต้องใช้สมถะเลย ใช้แต่วิปัสสนาญาณตัวเดียว อันนี้ผิด ถ้าพูดอย่างนั้นก็แสดงว่าท่านผู้พูดไม่ได้อะไรเลย

    ความจริงศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ๓ ประการนี้จะแยกกันไม่ได้
    นักเจริญพระกรรมฐานนับตั้งแต่เริ่มเข้าขณิกสมาธิเป็นต้นมา จะต้องเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าจะต้องมานั่งสมาทานให้พระนำกัน คนที่ยังติดพระนำแล้วจึงมีศีล ก็แสดงว่าบุคคลนั้นไม่มีศีลเลย

    ศีลนั้นอยู่ที่ใจ คือความงดเว้นเท่านั้น ถ้าเราสามารถงดเว้นปัญจเวร ๕ ประการหรือว่าสิกขาบท ๘ ประการที่เรียกว่าศีล ๕ หรือศีล ๘ เราไม่ละเมิดเสียแล้วก็ชื่อว่าเราเป็นผู้มีศีล ไม่ต้องรอให้พระให้ แต่ความจริงพระท่านไม่ได้ให้ ท่านให้การศึกษาเท่านั้น

    เป็นอันว่านักเจริญพระกรรมฐานจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นผู้ทรงฌานก็ดี จะเป็นพระอริยเจ้าก็ดี ท่านจะบกพร่องในศีลไม่ได้ ในขณะใดชื่อว่าท่านเป็นผู้บกพร่องในศีล ก็แสดงว่าท่านเอาดีไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะอะไร

    เพราะว่าถ้าศีลบกพร่องก็แสดงว่าเราตายแล้วต้องไปเกิดในอบายภูมิ แล้วก็จะเป็นผู้ทรงฌานเกิดเป็นพรหม หรือว่าเป็นผู้ทรงอุปจารสมาธิขณิกสมาธิเกิดเป็นเทวดา หรือตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานไปนิพพานจะไปได้ยังไง ในเมื่อศีลของเราบกพร่อง เราต้องเป็นสัตว์ในอบายภูมิ

    ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายจงสังวรเรื่องศีลให้มาก
    คำว่าสังวรนี่แปลว่าระวัง อันดับแรกต้องมีศีลบริสุทธิ์เสียก่อน ไม่ใช่บริสุทธิ์เฉพาะเวลาที่สมาทานพระกรรมฐาน ให้ศีลมันบริสุทธิ์ทุกลมหายใจเข้าออก

    ถ้าศีลของท่านบริสุทธิ์ทุกลมหายใจเข้าออก การเจริญสมาธิก็เป็นของง่าย เพราะศีลจะมีขึ้นได้เพราะอาศัยเมตตาความรักซึ่งกันและกัน กรุณาความสงสารซึ่งกันและกัน คนที่มีจิตเมตตาความรัก กรุณาความสงสาร อารมณ์เย็น จิตมีความเยือกเย็น ความฟุ้งซ่านของจิตไม่มี ความเร่าร้อนของจิตไม่มี อารมณ์ก็สบาย ในเมื่ออารมณ์สบาย มีความเยือกเย็น จิตก็ทรงสมาธิได้ดี

    คือการจองล้างจองผลาญคิดประหัตประหารซึ่งกันและกัน หรือความโลภโมโหโทสัน อยากได้ทรัพย์ของคนอื่น การที่จะละเมิดความรัก หรือการจะมุสาวาทดื่มสุราเมรัยไม่มี ในเมื่ออาการ ๕ อย่างนี้ไม่มีแล้ว จิตก็มีความสบาย มีอารมณ์เป็นสุข

    อันดับแรกปรับปรุงศีลให้ดี เมื่อปรับปรุงศีลดีแล้วสมาธิก็ทรงตัว เมื่อสมาธิทรงตัวปัญญามันก็เกิด นี่เป็นพื้นฐานของการเจริญฌานและวิปัสสนาญาณ

    สำหรับวิปัสสนาญาณในด้านสุกขวิปัสสโก ยังไงๆ ท่านก็อย่าลืมทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน จำไว้ให้ดีว่าจะทำกรรมฐานกองต่อๆไปก็ดี หรือว่าจะเจริญวิปัสสนาญาณก็ดี ท่านจะทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานไม่ได้ ถ้าท่านทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานเมื่อไหร่กรรมฐานกองอื่น วิปัสสนาญานที่จะทำก็พังหมด

    อานาปานุสสติกรรมฐานมีอุปมาเหมือนกับพื้นแผ่นดิน อารมณ์จิตที่จะทรงเป็นสมาธิหรือปัญญาที่จะเกิดเหมือนกับเรา ตัวเราซึ่งยืนอยู่บนแผ่นดิน ถ้าเราไม่มีแผ่นดิน เราจะยืนที่ไหน จะก้าวไปข้างหน้าจะถอยไปข้างหลัง จะนั่งจะนอนจะยืนจะเดินไม่มีที่ เพราะมันไม่มีแผ่นดิน จำไว้ให้ดีว่าอานาปานุสสติกรรมฐานนี่ทิ้งไม่ได้

    นี้การทรงอานาปานุสสติกรรมฐานในด้านสุกขวิปัสสโกเขาทำกันไม่ยาก ทำง่ายๆ คือโดยไม่ต้องไปคิดถึงอานาปานุสสติกรรมฐานก็ได้ พยายามทรงจิตทำจิตให้ทรงตัว ควบคุมกำลังจิตของท่านให้อยู่ในขอบเขตของวิปัสสนาญาณ

    วิปัสสนาญาณที่ผมอยากจะพูดกับท่าน วันนี้จะเอาวิปัสสนาญาณ ๙ มาพูด แต่ขอพูดสองอย่าง เพราะว่าวิปัสสนาญาณ ๙ นี่ผมทำสองอย่างเท่านั้น อีก ๗ อย่างไม่มีความหมาย อีก ๗ อย่างก็เดินเข้ามาหา ๒ อย่าง

    สองอย่างก็คือ นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕
    และ สังขารุเปกขาญาณ วางเฉยในอารมณ์ต่างๆ ที่จะพึงเกิดขึ้นหรือว่าอาการต่างๆ ที่จะพึงเกิดขึ้นกับใจก็ดี กับขันธ์ ๕ ก็ดี

    ถ้าได้อย่างตัวนี้ก็ชื่อว่าจบวิปัสสนาญาณ ๙ ไม่ต้องไปนั่งไล่เบี้ยนับบันไดมีกี่ขั้นให้มันยุ่งไปเปล่าๆ จะไปทำตนอย่างนักวิชาการน่ะ แหม ศัพท์แสงเก่งกันจริงๆ ไล่อย่างโน้น ออกอย่างนี้ ไปอย่างนี้ ไปอย่างโน้น ไล่เบี้ย ผลที่สุดไม่ได้อะไรเลย ก็ทำไปอย่างนกแก้วนกขุนทอง จะได้ประโยชน์อะไร

    เขาทำอย่างนี้ คือว่า ควบคุมกำลังใจของเรา ในด้านนิพพิทาญาณ
    พิจารณาดูร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี ร่างกายของสัตว์ก็ดี และก็วัตถุธาตุทั้งหลายในโลกก็ดี ทั้งหมด ว่ามันไม่มีดีตามความเป็นจริง

    วิปัสสนานี่เขาเอาจิตเข้าไปจับหาความเป็นจริงกัน ไม่ใช่ฝืนความจริง
    ความเป็นจริงมันเป็นยังไง ร่างกายของเรามันไม่มีการทรงตัว เกิดขึ้นมาแล้วมันก็เสื่อมไปทุกวันๆ เป็นเด็กมันก็คลานเข้ามาหาความเป็นหนุ่มเป็นสาว พอเป็นหนุ่มเป็นสาวมันก็คลานไปหาความเป็นคนแก่ ถึงความเป็นคนแก่มันก็คลานไปหาความตาย น่ารักมั้ย

    เราจะรักสาวสักคน เราจะรักหนุ่มสักคน เราก็ดูอีตอนที่เขาเป็นหนุ่มเป็นสาว เราไม่เคยจะนึกถึงว่าคนที่เคยเป็นหนุ่มเป็นสาวมาก่อน แต่ว่าเวลานี้แก่แล้ว สมัยที่เขาเป็นหนุ่มเป็นสาว เขาก็สวยสดงดงาม ที่นี้ตอนแก่แล้วเราไม่มอง ทำไมจึงไม่มองเพราะเราถือว่าไม่สวย ไม่ดี ไม่เป็นที่ถูกใจ

    เราก็ไปนั่งคิดว่าร่างกายของใครล่ะ มันจะทรงความงามเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ตลอดเวลา เราก็เหมือนกัน เขาก็เหมือนกัน วัตถุธาตุต่างๆ ก็เหมือนกัน บ้านเรือนโรงต่างๆ อาคารสถานที่

    อย่างที่วัดของเรานี้ ใครมาเขาก็บอกว่าสวยอร่ามไปหมด ที่นี้ท่านคิดหรือว่ามันจะสวยไปตลอดกาลตลอดสมัย อีกไม่นาน สองสามปี ความเศร้าหมองมันก็จะปรากฎชัด นี่สภาพของวัตถุธาตุมันก็เป็นอย่างนี้ คนก็เป็นอย่างนี้

    แม้กระทั่งสำหรับร่างกายของคนนอกจากมันจะโทรมแล้วมันก็สร้างความยุ่ง ต้องกินต้องรักษาโรค ต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ยุ่งไปหมด คิดเอาเอง อย่ามาให้นั่งพรรณนาอยู่เลย มันเสียเวลา

    มองดูให้ดีว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี มันสกปรกหรือสะอาด มันมีสุขหรือว่ามันมีทุกข์ ความหิวเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การปวดอุจจาระเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หนาวเกินไป ร้อนเกินไป เป็นสุขหรือเป็นทุกข์

    ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การต้องแสวงหาอาชีพทำมาหากินเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การกระทบกระทั่งกับวาจาที่เป็นที่ไม่ถูกใจ อาการที่เขาทำขึ้นมาเป็นที่ไม่ถูกใจเรา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์

    ถ้าเราไม่บ้าเสียอย่างเดียว เราต้องตอบว่ามันทุกข์ทุกอย่าง และในเมื่อมันทุกข์ทุกอย่าง เราจะเมามันเพื่อประโยชน์อะไร น่ารักตรงไหนล่ะ

    มองดูแล้วร่างกายมันเป็นศัตรูตัวสำคัญ ถ้าไปเกาะติดมันเข้า เราก็จะมีอาการแต่ความทุกข์ นี่อารมณ์นิพพิทาญาณเขามองกันอย่างนี้ ไม่ต้องไปนั่งหลับตาปี๋หรอก เดินไปเดินมา ทำงานทำการก็มองดูหาความจริง ว่าโอหนอนั่นเป็นปัจจัยของความทุกข์ อาการเหน็ดเหนื่อยที่มันเกิดขึ้นมันเป็นปัจจัยของความทุกข์

    ถ้าเราไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียว มันจะสุขหรือมันจะทุกข์ แล้วเราไปติดพันร่างกายของบุคคลอื่นเขาเข้า แล้วเราไปดึงเอาสุขมาหรือเราไปดึงเอาทุกข์มา เราทุกข์เขาก็ทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์แต่เพียงแบกภาระเลี้ยงกันเท่านั้น ยังทุกข์ในขณะที่อารมณ์ไม่ตรงกันอีกด้วย

    ในเมื่อรู้ว่าสภาพของร่างกายหรือวัตถุธาตุทั้งหมดในโลกมันเป็นของไม่ดี เราก็สร้างอารมณ์ความเบื่อ เบื่อที่ไม่ต้องการจะมีร่างกายอย่างนี้อีก

    วิธีปฏิบัติในสมัยก่อน ผมเจริญนิพพิทาญาณ นี่ต้องขออภัยนะ อย่าคิดว่าผมอวด เอาเป็นเพียงว่าผมทำมาก่อน ผมทำแบบนี้ เห็นคนทุกคนเมื่อคุยกัน ผมถามว่าเขาสุขหรือเขาทุกข์ ถามว่าเคยป่วยไข้ไม่สบายมั้ย เขาบอก แย่เจ้าค่ะ แย่ขอรับ ป่วยโน่น ป่วยนี่ เราก็อื้ม เป็นทุกข์แล้ว

    เห็นคนแต่งตัวสวยๆ ยิ่งเป็นสาวเป็นหนุ่มก็ตาม ผมจะถามทันทีว่าอาการไข้อย่างนั้นอย่างนี้มันมีกับคุณบ้างมั้ย เขาตอบว่ามี ถามว่าอารมณ์ต่างๆ ที่มันกระทบกระทั่งคุณให้เกิดความกลุ้มมีบ้างมั้ย

    ถามทั้งร้อยทั้งพัน กี่หมื่นกี่แสนคน ตอบว่ามีทุกคน ในเมื่อเขารู้ว่าโรคต่างๆ ของเขามี อาการความเป็นทุกข์ของเขามี อารมณ์ที่ไม่มีการทรงตัว คือไม่ประกอบไปด้วยธรรม ไม่มีความสุขก็มี เราปรารถนาเขาเพื่ออะไร

    เป็นอันว่าเราก็วางเฉยไปเสีย ตอนวางเฉยเป็นไง คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ร่างกายของเขาก็ดี ร่างกายของเราก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายอื่นก็ดี มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ความสุขมันอยู่ที่ไหน ความสุขมันอยู่ที่เราจะเข้าพระนิพพาน

    นี้ผมขอพูดย่อๆ อารมณ์ที่ทำนี่ไม่ใช่ต้องหลับตา ท่านเดินไปเดินมา นั่งทำอะไรอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ แล้วก็เดินอยู่ ทำอะไรก็ตาม มองดูสภาพของความจริง

    เห็นต้นหญ้าที่มันร่วงโรยลงไป ก็คิดว่าโอหนอ ชีวิตของคนเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ก็คิดมันวนไปวนมาน่ะถอนกำลังใจให้มันติด เมื่ออาการอย่างนั้นเกิดขึ้น เห็นอะไรอย่างนั้นมันเกิดขึ้น เห็นอาการของความทุกข์เกิดขึ้น ความขัดข้องเกิดขึ้น เราก็เฉย ที่เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ

    มันอะไรจะมาก็ช่างมัน มันจะแก่ก็เชิญแก่ ใจสบายๆ ถือว่าหนีความแก่ไม่ได้ ถ้าความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น ทุกขเวทนามันมีเราก็ต้องรักษา ใจเราก็เฉย รักษาหายก็หาย ไม่หายก็ช่างมัน อยากจะตายเมื่อไหร่ก็เชิญ เกิดมาเพื่อตาย

    ใครเขาด่า ใครเขานินทาเราก็เฉย เขามีปากสำหรับด่า เขามีปากสำหรับนินทา มันเรื่องของเขา ใครเขาจะชม ใครเขาจะสรรเสริญเราก็เฉย ไอ้การชมการสรรเสริญก็ดี การด่าการนินทาก็ดี เราไม่ได้เป็นไปตามปากของเขา เราจะดีหรือเราจะชั่วอยู่ที่กำลังใจของเราเท่านั้น

    รวบรวมกำลังใจไว้อย่างนี้ เราก็เฉยต่ออาการทั้งหมด หนุ่มก็เฉย ไม่ดีใจในความเป็นหนุ่ม แก่ก็เฉย ไม่เสียใจในความเป็นคนแก่ มันจะตายก็เฉยเพราะว่าเราจะต้องตาย ตายแล้วไปไหน เราภูมิใจได้ว่าตายแล้วเราไปนิพพาน

    ทีนี้การเจริญวิปัสสนาญาณน่ะอย่าคิดกันส่งเดช ไอ้คิดกันแบบนี้น่ะคิดดี แต่คิดไม่มีจุดหมายปลายทางนี้มันแย่ เหมือนกับเครื่องบินที่ร่อนอยู่ในอากาศ แต่หาจุดลงไม่ได้ ถ้ามันลงไม่ได้มันเสร็จ บินไปบินมา น้ำมันหมดร่วงลงมาตายทั้งคนทั้งเครื่อง ข้อนี้มีอุปมาฉันใด นักเจริญพระกรรมฐานก็เหมือนกัน

    นักเจริญพระกรรมฐานที่เอาดีไม่ได้เพราะไม่มีจุดลง จุดลงในอันดับแรกก่อนที่เราจะเริ่มจับวิปัสสนาญาณ อย่าลืมนะขั้นสุกขวิปัสสโกนี่ จะนั่งสมาธิหลับตาปี๋หรือไม่นั่ง ไม่สำคัญ คุมอารมณ์พิจารณาอย่างนี้ไปแบบสบายๆ

    จุดที่เราจะจับเป็นหัวหาดอันดับแรก ก็คือพระโสดาบัน นี่ การเจริญสมาธิวิปัสสนานี่เขาทำกันแบบนี้ มันถึงจะถึงเร็ว อย่าทำเปะปะๆๆ ส่งเดชไป มันไม่ได้อะไรหรอก ดีไม่ดีเดินไปไม่รู้ว่าถนนนี่อยู่ที่ไหน หล่นโครมครามลงมาแข็งขาหักหมด

    เขาก็ต้องจับจุด ถ้าเจริญสมถะต้องจับอารมณ์ฌาน เจริญวิปัสสนาญาณต้องจับอารมณ์พระโสดาบันไว้ก่อน เราก็นั่งดูพระโสดาบันมีอะไร

    พระโสดาบัน
    มีหนึ่ง สักกายทิฐิ การพิจารณารู้สภาพว่าร่างกายของเรามันต้องตายแน่ มันไม่อยู่ตลอดกาลตลอดสมัย มันพัง

    วิจิกิจฉา มั่นใจในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สงสัย แต่ทว่าการที่ไม่สงสัยนี่ต้องใช้ปัญญา

    สีลัพตปรามาส เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ สำหรับฆราวาสต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์ เณรมีศีล ๑๐ บริสุทธิ์ พระมีศีล ๒๒๗ บริสุทธิ์ ก็เท่านี้ไม่เห็นจะมีอะไร

    เป็นอันว่าเราใช้กำลังใจอยู่ในขอบเขตสั้นๆ ว่า
    หนึ่ง เราคิดถึงความตายเป็นอารมณ์ อารมณ์ของจิตเรานี่ เราเกาะติดอะไรหนอ เกาะติดกาย ติดกาย กายมันไม่ทรงตัว ติดทำไม เราก็เกาะติดสักกายทิฐิ เอาจิตพิจารณาดูว่าเราก็ดี คนอื่นก็ดี ในโลกนี้ สัตว์ทั้งหมดตายหมด วัตถุธาตุบ้านเรือนโรงมันก็พังไปในที่สุด เราจะเมามันในชีวิตเพื่อประโยชน์อะไร

    ประการที่สอง องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ทรงแนะนำเราให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ การที่มีศีลบริสุทธิ์นี่เป็นการกำจัดความเดือดร้อนของจิตและของกาย จะไปที่ไหนก็ย่อมเป็นที่รักของบุคคลผู้ประสพพบเห็น

    ศีล ท่านกล่าวว่าหนึ่ง กิตติสัทโธ คนที่มีศีลบริสุทธิ์นี่ มีชื่อเสียงฟุ้งขจรไป ชื่อดี เสียงงาม แม้แต่คนเขาไม่เคยเห็นตัว เขาได้ยินแต่ชื่อเขายังรัก ยังชอบ กลิ่นของศีลลอยทวนลมได้ ไม่เหมือนกลิ่นของน้ำหอม คนที่มีศีลบริสุทธิ์ หอมทั้งใต้ลม หอมทั้งเหนือลม ที่ว่าหอมเพราะหอมในความดี ไม่ใช่หอมตัว ตัวน่ะไม่หอมแน่

    นี้ในเมื่อเราเห็นว่าศีลดี ก็ทรงศีลให้บริสุทธิ์ ระมัดระวังอยู่ในศีล ถ้าหากเราคิดไว้เสมอว่าไม่ลืมชีวิตว่าเราจะตาย เราจะตายก็ตายสิ ฉันขอเกาะติดศีล

    อย่างกับพวกอะไรหนอ ที่เขาสอนกัน หนึ่งเกาะติดประชาชน สองเกาะติดพื้นที่ สามเกาะติดแนวรบ ถ้าเกาะติดสามติดเราจะชนะ เราก็เหมือนกัน

    หนึ่ง เกาะติดสักกายทิฐิ ไม่ลืมว่าร่างกายนี้มันจะตาย มีความรู้สึกว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุก็ดี พังแน่ เราไม่ขอถือเอาร่างกายของเรา ร่างกายของเขา วัตถุธาตุทั้งหมดเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง เราจะขอเอาพระนิพพานเป็นที่พึ่ง

    ประการที่สอง เกาะติดคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว เห็นว่าองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว สอนถูก สอนตรง เรามีความประสงค์ที่จะทรงอารมณ์ไว้ในคำสอนขององ์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ประการที่สาม เราเกาะติดศีล รักษาอารมณ์ศีลให้บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ใจเราไม่ว่างจากศีล

    ประการที่สี่ จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าจิตของเรามีการรักพระนิพพานเป็นอารมณ์จริงๆ ไม่ว่าจะยังไงๆ ใจเราก็ตั้งไว้ที่พระนิพพาน

    ไม่ลืมความตาย
    ไม่เมาในชีวิต
    ไม่มีจิตสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    มีศีลบริสุทธิ์
    มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
    อย่างนี้เขาเรียกว่า โคตรภูญาณ เป็นจุดที่อยู่ช่วงระหว่างพระโสดากับโลกียะ โลกียฌานกับโลกุตตรฌาน

    แต่ว่าใจของเราก้าวไปนึกถึงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นมานี้เป็นเรื่องของธรรมดา ความหวั่นไหวในคำนินทาน้อยไป ความดีใจในคำสรรเสริญน้อยไป ความสุขใจเกิดขึ้น คิดว่าเรามีพระนิพพานเป็นที่ไปแน่ อย่างนี้ท่านเรียกกันว่า พระโสดาบัน ไม่ยากเลย

    ถ้าจะพูดกันให้สั้น
    จิตของเรามีความเคารพในพระพุทธเจ้า
    มีความเคารพในพระธรรม
    มีความเคารพในพระอริยสงฆ์
    ทรงศีลบริสุทธิ์
    และก็มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เป็นปรกติ
    อย่างนี้เรียกกันว่า พระโสดาบัน

    ไม่ต้องไปนั่งหลับตาเข้าฌานให้มันลำบาก เท่านี้สบายใจแล้วหรือยัง ถ้าทุกท่านทำได้อย่างนี้ ท่านเรียกกันว่าเป็นพระอริยเจ้าพระโสดาบันขั้นสุกขวิปัสสโก

    เอาละสำหรับวันนี้ก็หมดเวลาเสียแล้ว ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

    — จบ ตอนที่ ๕ วิปัสสนาญาณ —
     
  7. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
    ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
    ตอนที่ ๖ อารมณ์พระโสดาบัน (๑)

    สำหรับเวลานี้ ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ศัพท์ว่า อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจัจชามิ ซึ่งแปลว่า ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับท่านนักปฏิบัติเพื่อความดี จะเป็นพระก็ตาม เป็นเณรก็ตาม อุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม จำถ้อยคำนี้ไว้ให้มันดี จำแล้วจิตก็ต้องคิดต้องทำตามด้วย

    คำว่า มอบกายถวายชีวิต นั่นหมายถึงว่า ยอมรับนับถือคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    คำสั่งก็ได้แก่ศีล คือวินัยก็ดี ศีลก็ดี เป็นคำสั่งที่พระพุทธเจ้า ทรงให้ละเว้นจากความชั่วเบื้องต้น อันนี้ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ทั้งภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตั้งใจไว้ให้มั่นว่า ถ้าเราละเมิดศีล มันเป็นของไม่ดี เป็นปัจจัยให้เกิดความเร่าร้อน

    อีกประการหนึ่ง รากเหง้าของกิเลส ได้แก่ ความรักใน รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสก็ดี หรือว่า ความโลภ โลภอยากจะมีทรัพย์สิน เพิ่มพูนทรัพย์สินให้มากมายก็ดี ความโกรธ ความพยาบาทจองล้างจองผลาญซึ่งกันและกันก็ดี หรือว่า หลงตัว เราจะไม่ตาย หลงตัวเราเป็นคนดีไม่ใช่คนเลวก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงให้เราละเสีย

    ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายที่ประกาศตนว่า อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจัจชามิ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงพยายามอดกลั้น ความรักในระหว่างเพศ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ความโลภ อยากจะร่ำรวย ความโกรธ ความหลง

    คำว่า อดกลั้น นี่หมายความว่า ทำจิตให้เป็นสมาธิ ได้แก่อารมณ์เป็นฌาน ฌานโลกีย์มีอำนาจแค่อดกลั้นเท่านั้น อันดับต่อไปเมื่ออดกลั้นได้แล้ว ก็พยายามห้ำหั่นกิเลสทั้ง ๓ ประการ ที่มีอยู่ ๔ ข้อนี่

    ราคะกับโลภะ มีสภาพอันเดียวกัน ที่ผมพูดแยกออกไปก็เพื่อความเข้าใจเท่านั้น พยายามห้ำหั่นให้มันหมดสิ้นไป จงทำตัวทำใจให้ประกอบไปด้วยความสุขในด้านของความดี หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะไม่ลืมบทข้อนี้ คือว่าแทนที่เราจะว่าเป็นประเพณีน่ะมันเสียเวลาเปล่า

    ชีวิตของเราล่วงไปๆ ทุกวันๆ มันใกล้ความตายเข้ามาทุกที ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายจงทรงไว้ซึ่งความดี สิ่งใดที่มันชั่วมาแล้วก็ให้มันแล้วกันไป อย่ารื้อฟื้นคืนมันขึ้นมา เพราะความชั่วมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ที่ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้ประณามท่านใดท่านหนึ่ง เพราะขึ้นชื่อว่าคน ที่เกิดมาในโลกนี้ ที่ไม่เคยทำความชั่วไม่มี

    เวลานี้เราเข้ามาอยู่ในเขตขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเขตของความดี เราก็ควรทรงความดีให้เต็มภาคภูมิ นี่อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่นักปฏิบัติที่จะทำได้ดีจริงๆ น่ะ เขาไม่ลืมคำนี้ ให้คำนี้มันก้องอยู่ในจิตทุกเวลา

    ในเมื่อมันก้องแล้วค่อยๆ จับจริยาอารมณ์ของจิตว่ามันชั่วตรงไหน จิตจะมีความรักในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสหรือเปล่า จิตเรามีความโลภหรือเปล่า จิตเรามีความโกรธ ความพยาบาท จองล้างจองผลาญบุคคลอื่นหรือเปล่า จิตเรามีความหลงในความประพฤติชั่วของในตัวของเราที่เข้าใจว่าเราประพฤติดีหรือเปล่า

    ทุกวันนี้เราคอยจับดูอารมณ์ของจิต ตามพระบาลีที่กล่าวว่า อัตตนา โจทยัตตานัง ซึ่งแปลเป็นใจความว่า จงกล่าวโทษโจทย์ความผิดตนเองไว้เสมอ อันนี้เราคิดหรือเปล่า หรือคิดว่าเราดี ถ้าเราคิดว่าเราดีเมื่อไหร่ เราก็เลวเมื่อนั้น

    ต่อแต่นี้ไปก็จะพูดถึงอานาปานุสสติกรรมฐาน เวลานี้เรากำลังศึกษาอานาปานุสสติกรรมฐาน และสิ่งที่ผมพูดมาแล้วเมื่อสักครู่นี้ที่ผ่านมา มันเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า บางท่านจะคิดว่ามันไม่เกี่ยวไม่ข้องกันเลย แต่ความจริงมันเกี่ยว มันเกี่ยวตรงไหน

    เกี่ยวตรงที่ว่าถ้าเราทรงอานาปานุสสติกรรมฐานได้ กรรมฐานนี้มีนิมิตเครื่องหมายโดยเฉพาะลมหายใจเข้าออก และลมหายใจเข้าออกนี้ ส่วนมากคนเราเกิดมาแล้วไม่ได้สนใจกับลม เพราะว่าร่างกายมันทำงานของมันเป็นปรกติ

    ถ้าหากว่าเราไปสนใจกับลม ถ้ารู้ลมเข้าลมออกอยู่เป็นปรกติ อารมณ์แห่งความหลงในกามคุณ ๕ มันก็ไม่มี อารมณ์ความหลงไปในเรื่องของความโลภ มันก็ไม่มี จะหลงอยู่ใน ความโกรธ ความหลง มันก็ไม่มี เพราะจิตมันติดงาน คือรู้ลมเข้าลมออก เป็นอันว่าจิตของท่านเป็นฌานสมาบัติ เมื่อฌานสมาบัติเกิดขึ้น ปัญญามันก็เกิด

    ขอได้โปรดทราบ ที่ไม่สามารถจะทำปัญญาให้ดีขึ้นได้ เพราะใจของท่านไม่เป็นสมาธิ ปัญญาที่มันดีขึ้นได้มีอะไร ที่เราจะรู้ว่าปัญญาดีปัญญาชั่ว ก็เอาจิตของเราเข้าไปวัดกับอารมณ์ของพระโสดาบัน

    ความจริงเรื่องนี้ เราพูดย้ำกันไปย้ำกันมา ฟังกันทุกวัน ผมเห็นว่าเป็นของไม่ยากสำหรับคนดี แต่เป็นของหนักสำหรับคนเลว โปรดจำไว้ด้วยว่าคำว่าพระโสดาบันเป็นของไม่ยาก

    เมื่อวันก่อนที่ผ่านมาก็ได้พูดเรื่องของพระโสดาบัน วันนี้เราย้อนถอยหลังไปสักนิดหนึ่ง ว่าเวลานี้เราทรงความเป็นพระโสดาบันได้แล้วหรือยัง หรือว่าจิตของเรายังวุ่นวายอยู่กับความชั่ว คนที่มีอารมณ์จิตไม่วุ่นวายกับความชั่ว นั่นก็คือพระโสดาบัน

    พระโสดาบันมีอะไร
    นึกถึงความตายเป็นอารมณ์
    มีความเคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระอริยสงฆ์ โดยไม่สงสัยในคำสั่งสอนของท่าน
    มีศีล ๕ บริสุทธิ์
    จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์

    ยอมรับนับถือกฎของธรรมดามากขึ้น หมายความว่า ความหวั่นไหวในโลกธรรม ๘ ประการมีน้อย ใครเขาจะด่าจะว่าก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใครเขาจะชมก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา อะไรก็ตามมันมาก็ธรรมดาไปหมด ความหวั่นไหวของพระโสดาบันยังมีอยู่บ้าง แต่ว่าพระโสดาบันก็มีความอิ่มใจ ที่คิดว่าเราเกิดแล้วในชาตินี้ไม่เสียทีเกิด เราสามารถจะรวบรวมความดีไว้ได้ คือ หนึ่งสักกายทิฐิแบบเบา ก็ได้แก่ ไม่เมาในชีวิต คิดว่าเราจะต้องตาย

    เมื่อเราจะต้องตายก็ต้องหาทางสร้างความดี ใช้ปัญญาพิจารณาคำสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์ จนกระทั่งมีความเข้าใจไม่สงสัย อย่างนี้เรียกว่า เคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์

    เมื่อไม่สงสัยก็ตัดใจตรงลงเฉพาะด้านของความดี คือ มีศีลบริสุทธิ์ เฉพาะฆราวาสมีศีล ๕ บริสุทธิ์ สามเณรมีศีล ๑๐ บริสุทธิ์ พระมีศีล ๒๒๗ บริสุทธิ์

    จิตมีความรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ คิดไว้อย่างเดียวว่าตายคราวนี้จุดที่เราจะพึงไปนั่นคือเราต้องการพระนิพพาน

    อารมณ์ขั้นต้นของพระโสดาบันเพียงเท่านี้ มันยากนักหรือ ความจริงสำหรับคนชั่วยาก สำหรับคนดีไม่ยาก เพราะว่าคนชั่วน่ะจะสอนยังไงก็ตามก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ ฟังแล้วก็ฟังเฉยๆ มีความทะนงตนคิดว่าตนเป็นคนดีเป็นปรกติ ไม่ได้มองความชั่วของตัว

    สำหรับการที่เราจะทำให้ศีลบริสุทธิ์ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ไม่สงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราทำยังไง

    เวลานี้เราเจริญอานาปานุสสติกรรมฐาน เราก็ต้องไม่ไปสนใจกับอะไร ใช้อานาปานุสสติกรรมฐานเป็นวิปัสสนาญาณเครื่องควบคุม อานาปานุสสติได้แก่การนึกถึงลมหายใจเข้าหายใจออก ถ้าจะภาวนาก็ภาวนาว่าพุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ นี่เป็นความต้องการของเราที่จะสร้างความดี

    ขณะที่เราภาวนาว่าพุทโธ เพื่อรู้ลมหายใจเข้าออก ปัญญามันเกิด ทำไมจึงว่าปัญญาเกิด ก็เพราะจิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ปัญญามันก็เกิด ถ้าปัญญาของพวกท่านทั้งหลายไม่เกิด ก็แสดงว่าจิตของท่านไม่มีสมาธิ

    ท่านจะถามผมว่า จิตเป็นสมาธิอันดับไหนปัญญาจึงเกิด ก็ต้องขอตอบว่า ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไม่ว่าสมาธิจุดไหน ปัญญาเกิดทั้งหมดนี้ ถ้าปัญญาเราไม่เกิด ก็แสดงว่าจิตไม่เป็นสมาธิ อันนี้ต้องจำไว้ครับ

    การศึกษามีวัดเราแห่งเดียวที่รับฟังคำสอนเป็นปรกติ แต่ทว่าเป็นที่น่าเสียดายอยู่นิดหนึ่ง บางทีเรารับคำสอนกันมากเกินไป จนกระทั่งมีใจหยาบไม่มีความรู้สึกละอายในความชั่ว คือถ้าอารมณ์ใดๆ ถ้ามันเป็นความชั่วมีอยู่ล่ะก็ นึกถึงตรงนี้นะครับ นึกว่าเราเลวจริงๆ นะ

    เหมือนกับปลาที่อยู่ในน้ำแต่ไม่รู้คุณของน้ำ นกที่จับอยู่กับต้นไม้ก็ไม่รู้คุณของต้นไม้ ว่าต้นไม้เป็นที่อาศัยให้ความสุขสำหรับนก น้ำเป็นที่อาศัยให้ความสุขสำหรับปลา แต่นกกับปลาก็มีจิตหยาบ มีจิตเลว ไม่ได้รู้สึกถึงคุณของต้นไม้และน้ำ ฉันใด

    สำหรับคนที่มีจิตเลวก็เช่นเดียวกัน อยู่กับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังเป็นปรกติ แต่ว่าไม่สามารถจะทำจิตเป็นสมาธิ ไม่สามารถจะทรงความเป็นพระโสดาบันได้ ก็รู้สึกว่าจะเป็นที่น่าหนักใจ ถ้าพูดตามประสาชาวบ้านก็เรียกว่าเลวเต็มที ความเป็นพระไม่มีความหมาย ความเป็นเณรไม่มีความหมาย ความเป็นอุบาสกอุบาสิกาไม่มีความหมาย

    เรามาพูดถึงคนที่มีปัญญา เวลาเขาจับลมหายใจเข้าหายใจออก เขาก็จะนั่งคิดว่าร่างกายของเราที่ทรงอยู่ได้ก็เพราะอาศัยผัสสาหาร อาหารคือลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นสำคัญ สำหรับกวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าวก็มีความสำคัญ มโนสัญญเจตนาหาร อาหารที่เราต้องการตามอารมณ์ของใจก็มีความสำคัญ

    แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต นั่นก็คือลมหายใจ ถ้าเราหายใจเข้าแล้วเราไม่หายใจออกมันก็ตาย หายใจออกแล้วเราไม่หายใจเข้ามันก็ตาย นั่งมองดูชีวิตตามความเป็นจริง ว่าความตายนี่มันอยู่ที่ปลายจมูกของเราเท่านั้น มันไม่ได้อยู่ที่ไหน วันเวลาที่มันจะตายบอกไม่ได้ว่าเมื่อไรกันแน่ นี่เราจะปล่อยชีวิตของเราตอนนี้ให้มันตายไปโดยการไร้ประโยชน์จนไม่สร้างความดี มันจะเป็นการสมควรมั้ย

    การที่เราไม่สร้างความดี เราสร้างความชั่ว มันก็เป็นปัจจัยของความทุกข์ ในเมื่อชาตินี้เราทุกข์ ชาติหน้าเราจะสุขได้ยังไง วันนี้เราเลว วันพรุ่งนี้มันจะดีได้ยังไง หรือว่าใครเขาเห็นเราว่าวันนี้เราเลว วันพรุ่งนี้ใครเขาเห็นหน้าเรา เขาก็คิดว่าเราเลวอยู่นั่นแหละ

    เป็นอันว่าเราก็ประณามตัวเราเอง
    คอยจับจุดที่ศีล ศีลของเราบกพร่องมั้ย
    จับจุดที่กามคุณ กามคุณของเราฟุ้งซ่านมั้ย
    จับจุดที่โลภะ ความโลภ เรามีความโลภมั้ย
    จับจุดที่ใจอำมหิตโหดร้าย มีความโกรธคิดประทุษร้ายคนอื่น อันนี้เรามีมั้ย
    จับจุดที่เป็นความหลง หลงว่าเราจะยังไม่ตาย ยังจะมีชีวิตต่อไป อยากจะเกื้อกูลกิเลสให้มันมาก คิดว่าร่างกายจะทรงตัวตลอดกาลตลอดสมัย อยากทะนงตนเป็นคนดี อยากจะดีอยากจะเด่น
    อันนี้มีหรือเปล่า ถ้ามีเราก็เลว นี้เป็นส่วนย่อสำหรับพระโสดาบัน

    แล้วก็หันเข้าไปอีกทีว่า เอ๊ะ นี่เรากำลังจะตายแล้วนี่ หายใจเข้าแล้วเราไม่หายใจออกมันก็ตาย หรือว่าเราหายใจออกแล้วเราไม่หายใจเข้ามันก็ตาย แล้วเราจะทำยังไง ทำยังไงเมื่อเวลาอยู่มันถึงจะเป็นสุข เวลาตายแล้วถึงจะเป็นสุข สุขจริงๆ ก็คือพระนิพพานในเวลาตาย ในเวลาอยู่ที่เราจะอยู่อย่างเป็นสุขได้ก็เพราะอาศัยอยู่อย่างจิตไม่ติดในโลกธรรม ไม่มีอารมณ์ของความชั่ว

    ความจริงพระโสดาบันยังมีโลกธรรมติดอยู่มาก เราก็ถอยหลังไปดู โอ้หนอ ชีวิตของเราก็ดี ชีวิตของบุคคลอื่นก็ดี ไม่มีการทรงตัวเสียเลย จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้

    ถ้าเราคิดว่าเราจะมีอายุอยู่นาน เราก็จงดูคนที่เกิดพร้อมเรา หรือว่าเกิดทีหลังเรา เขาตายก่อนเรามีบ้างมั้ย ถ้ามีก็แสดงว่าชีวิตของเราก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน มันจะพลันตายเมื่อไหร่เราก็ไม่รู้

    อันนี้จับอานาปานุสสติให้ดี คิดว่าโอ้หนอ ลมหายใจนี่เป็นที่พึ่งชั่วคราวสำหรับเรา ถ้ามันไม่ทำงานเมื่อไรเราก็ตาย ชีวิตของเราต้องตายแน่ แต่ทว่าถ้าปรกติเรามีความรู้สึกชั่ว จะชั่วตรงไหนก็ตาม เราปัจจุบันเราก็มีทุกข์ ตายจากความเป็นคนเราก็มีทุกข์

    ฉะนั้นเราต้องหาความสุขขั้นต้นซะก่อน อันดับแรกถือลมหายใจเข้าออกเป็นสำคัญ ว่าเจ้ากับเรานี้มาอยู่กันไม่นาน ไม่ช้าเจ้าก็ไม่ทำงาน ไม่ทำงานฉันก็ตาย เมื่อร่างกายมันตายแล้วฉันก็ต้องไป ไปสู่ภพสู่ชาติตามความดีและความชั่วของฉัน แต่การสู่ภพสู่ชาติมันจะดีไม่ได้ เพราะชาตินี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ชาตินี้เต็มไปด้วยความเดือดร้อน ชาตินี้เต็มไปด้วยความกระวนกระวายของใจ

    เป็นอันว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไม่มีความประมาทในชีวิต อารมณ์จิตของเราจะทรงไว้ซึ่งความดี เมื่อจิตของเราดี เมื่ออยู่ในชาตินี้เราก็เป็นสุข ตายไปชาติหน้าเราก็เป็นสุข เป็นสุขตรงไหน เป็นสุขที่ว่าเรามันดี ถ้าเราทำความดีเสียอย่างเดียว ไม่มีใครเขามาว่ามากล่าวมาติมาเตียนเรา

    ทีนี้ความดีจริงๆ อยู่ที่ไหน ผู้ให้ความดีจริงๆ คือพระพุทธเจ้า แล้วความดีที่พระพุทธเจ้าให้ก็คือพระธรรม ผู้ที่นำเอาความดีคือพระธรรมมาแนะนำเราก็คือพระอริยสงฆ์ เป็นอันว่าทั้งสามจุดนี่ เราถือว่าเป็นที่พึ่งของเรา เกาะติดในพระพุทธเจ้า เกาะติดในพระธรรม เกาะติดในพระสงฆ์

    ความจริงวันก่อนผมก็พูดเรื่องเกาะติดมาแล้ว ติดจริงๆ เกาะติดในอารมณ์อานาปานุสสติกรรมฐาน ไม่ยอมให้อารมณ์ว่างจากอานาปาฯ ไม่ยอมปล่อยให้ความชั่วส่วนใดส่วนหนึ่งเข้ามายุ่งกับจิตความชั่วต่างๆ มันจะเข้ามายุ่งไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะจิตของเรามันติดอยู่ในอานาปานุสสติ ติดอยู่ในลมหายใจเข้าหายใจออก แล้วใจมันจะคิดเรื่องอื่นได้ยังไง

    ถ้าเราจะทำงาน ก็จับลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นพื้นฐาน ให้จิตทรงตัว เอางานเป็นสรณะ เอางานเป็นที่พึ่ง

    เหมือนกับพระที่กำลังทำงานอยู่นี่ พาหนะที่เราใช้มันเก่าไป สีมันไม่เหมาะสม พอเห็นว่าสีมันไม่เหมาะสม จงรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันเป็นอนิจจัง ความจริงสีนี่มันดี คนทำก่อนเขาเห็นว่าสวย แต่เวลานี้มันเศร้าหมองเพราะอะไร เพราะกาลเวลาผ่านไป มันก็เริ่มใช้ไม่ได้ ไม่ถูกกับกาลสมัย เราก็ต้องทำใหม่ให้มันดี แต่ไอ้คำว่าดีที่เราทำใหม่มันก็ไม่ดีตลอดกาลตลอดสมัย สีเก่ามันสลายตัวได้เสื่อมได้ฉันใด สีใหม่ก็มีสภาพแบบนั้น

    ในเมื่อสีมันเป็นยังงั้น ร่างกายเราก็เป็นยังงั้นเหมือนกัน ไม่ช้ามันก็ทรุดมันก็โทรม มันทรุดมันโทรมไปทุกวันเหมือนกับสีที่พ่นใหม่ มันก็เก่าลงไปทุกวัน ในที่สุดสีก็ใช้ไม่ได้ฉันใด ร่างกายของเรามันก็เหมือนกัน ไม่ช้ามันก็พัง

    นี่เป็นอันว่าเรื่องของร่างกายและก็อานาปาฯ ลมหายใจเข้า หายใจเข้าไปแล้วและเราก็หายใจออก เวลาหายใจออกและเราหายใจเข้า มันไม่ใช่ลมเก่าที่ออกไป มันเป็นลมใหม่ นี่ร่างกายของเราก็มีสภาพแบบนี้

    ความจริงความตายมันมีทุกวัน เวลากาลผ่านไปเพียงใด ความตายปรากฎเท่านั้น แต่ที่มันอยู่กันได้ ก็อาศัยสันตติคือการสืบเนื่องติดต่อ การติดต่อซึ่งกันและกันในระหว่างอาหาร สำหรับอาหารคือคำข้าว ช่วยเชื่อมให้ร่างกายโตขึ้นและทรงตัว สำหรับอาหารที่มีความสำคัญคือ ผัสสาหาร นั่นคือลมหายใจเข้าออก เป็นการให้ชีวิตทรงอยู่

    แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ องค์สมเด็จพระบรมครูกล่าวว่าไม่ช้ามันก็สลายตัว เมื่อมันเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องเกาะติดศีล เกาะติดศีลจะติดได้ยังไง เกาะให้ดีจริงๆ คือ เกาะพรหมวิหาร ๔

    จิตมีเมตตา ความรักในคนหรือสัตว์อยู่เสมอ ไม่คิดว่าเราจะเป็นศัตรูกับใคร ไม่คิดว่าใครจะเป็นศัตรูกับเรา

    กรุณา จิตมีความสงสาร ปรารถนาจะเกื้อกูลให้คนอื่นมีความสุขอยู่เสมอ เมื่อจิตมีความรักความสงสาร ศีลขาดไม่ได้

    ต่อไป จิตมีมุทิตา คือจิตอ่อนโยน ไม่มีอารมณ์อิจฉาริษยาบุคคลอื่น เห็นใครดีเพียงใดเราพอใจเพียงนั้น ไม่ใช่จะไปนั่งอิจฉาริษยาความดีของบุคคลอื่น เป็นอันว่าเราพอใจในความดีของท่าน เขาดีเราพลอยดีใจด้วย ดีใจและก็ทำตามเขา เห็นเขาดีเราไม่เดือดร้อน เจอะคนดีเมื่อไรชื่นใจเมื่อนั้น นี่เป็นลักษณะของพรหมวิหาร ๔

    อุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบกระทั่ง จะเป็นคำนินทาหรือคำสรรเสริญก็ช่าง ลาภจะมีหรือไม่มีก็ช่าง ยศจะมีหรือไม่มีก็ช่าง มันมีแล้วมันสลายไปก็ช่างมัน ถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา

    ถ้าหากว่าจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายโดยถ้วนหน้า จิตทรงอยู่ในพรหมวิหาร ๔ ประการ เรื่องความเป็นพระโสดาบันไม่มีความสำคัญสำหรับท่าน ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่า เรื่องความเป็นพระโสดาบันก็เป็นของเล็ก

    เพราะพระโสดาบันก็ดี พระสกิทาคามีก็ดี มีความสำคัญอยู่ที่ศีล ถ้าหากว่าศีลของเราบริสุทธิ์ ก็มีความเป็นพระโสดาบันได้ ทีนี้ถ้าเรามีจิตเมตตากรุณาทั้ง ๒ ประการ แม้ไม่มีมุทิตา อุเบกขาก็ตาม ศีลของเราก็บริสุทธิ์แล้ว

    เพราะฉะนั้นขอบรรดาท่านทั้งหลาย ที่มีความหวังดีกับตัวของท่านเอง ความจริงความดีที่เราทำ เราทำเพื่อเรา เพื่อเรามีความสุข

    ฉะนั้น ขอทุกท่านหวังความเป็นพระโสดาบัน ขอทุกคนจงอย่าเว้นนึกถึงความตาย พิจารณาความดีเข้าไว้ ทรงพรหมวิหาร ๔ ให้ครบถ้วน เมื่อพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วนเพียงใด ชื่อว่าท่านทั้งหลายทรงศีลบริสุทธิ์ แถมจิตอีกนิดหนึ่งว่าเราขอไปพระนิพพานเป็นที่สุด ชีวิตนี้เป็นชีวิตสุดท้ายสำหรับเรา การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ไม่พึงเป็นที่ปรารถนาของเรา เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน

    เอาละบรรดาท่านทั้งหลาย มองดูเวลาที่จะพูดกับท่านเห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ต่อนี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก และใช้อารมณ์พิจารณาหรือภาวนาก็ได้ตามอัธยาศัย และขอให้อยู่อิริยาบถตามสบาย จะนั่งก็ได้ จะนอนก็ได้ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ ตามอัธยาศัยของท่าน จนกว่าว่าท่านเห็นว่าเวลานั้นเป็นเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร.

    — จบตอนที่ ๖ อารมณ์พระโสดาบัน (๑) —
     
  8. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
    ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
    ตอนที่ ๗ อารมณ์พระโสดาบัน (๒)


    ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย และท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย สำหรับเวลานี้ ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อนี้ไปก็เป็นโอกาสที่ท่านทั้งหลายจะได้รับการศึกษาในด้านการปฏิบัติพระกรรมฐาน สำหรับในระยะนี้เป็นระยะที่ท่านทั้งหลายศึกษาในด้านอานาปานุสสติกรรมฐาน

    ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายจงสนใจกับอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นปรกติ สำหรับกรรมฐานกองนี้ผมจะพูดละเอียดกว่ากองอื่นๆ เพราะว่าเป็นแบบแผนที่มีความสำคัญ สำหรับกองต่อไปก็จะพูดโดยย่อ

    คำว่า สนใจกับอานาปานุสสติกรรมฐาน ก็หมายความว่า จะนั่งอยู่ก็ดี จะเดินอยู่ก็ดี จะยืนก็ดี จะนอนก็ดี เอาจิตไปสนใจกับลมหายใจเข้าหายใจออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก เวลาหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้อยู่ อย่างนี้เป็นแบบหนึ่ง คือแบบของมหาสติปัฏฐานสูตร

    สำหรับในแบบกรรมฐาน ๔๐ เวลาหายใจเข้ามีความรู้สึกว่าลมกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ เวลาหายใจออกลมกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูกหรือว่าริมฝีปาก ถ้าคนมีริมฝีปากเชิดจะมีความรู้สึกว่าลมกระทบริมฝีปาก ถ้าริมฝีปากงุ้ม จะมีความรู้สึกว่าลมกระทบจมูก ถ้ามีความรู้สึกสามฐานก็แสดงว่า การทรงอานาปานุสสติกรรมฐานของท่านเริ่มใช้ได้

    ผมใช้คำว่า เริ่มใช้ได้ เพราะว่ายังใช้ไม่ได้เต็มที่ ถ้าจะใช้ให้ได้เต็มที่ ก็ต้องมีความรู้สึกว่าลมหายใจเบาลง แต่ก็อย่าไปผ่อนลมหายใจ ให้เกิดความรู้สึกเอง และก็ในที่สุดไม่มีความรู้สึกว่าหายใจ ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าหายใจนี่เป็นอาการของฌานสี่

    ฉะนั้น อาการที่ท่านทั้งหลายพากันพยายามรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกกันเป็นปรกติ ก็จะเป็นการห้ามจิตไม่ให้ไปยุ่งกับนิวรณ์ ๕ ประการ และก็จะเป็นการห้ามจิตและป้องกันจิตไม่ให้ไปยุ่งกับอารมณ์ที่เป็นอกุศลทั้งหมด หลังจากนั้นจิตของท่านก็จะประกอบไปด้วยปัญญา ต่อนี้ไปจิตก็ก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้เข้าถึงวิปัสสนาญาน

    ฉะนั้นขอท่านพระโยคาวจรทุกท่าน จงอย่าทิ้งอารมณ์การรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกเสีย ถึงแม้ว่าท่านจะทำกองอื่นก็ตาม ต้องขึ้นอานาปานุสสติก่อนเสมอ

    ความจริงเรื่องของพระโสดาบัน ผมก็คิดว่าจะหยุดตั้งแต่เมื่อคืนที่แล้ว แต่มาวันนี้มาคิดได้ว่า ความจริงเรื่องการเป็นพระโสดาบันนี่เป็นยาก ที่ว่าเป็นยากก็เพราะว่าจิตดวงเดิมของเรา มีการคบหาสมาคมกับอารมณ์ที่เป็นอกุศลอยู่เสมอ ฉะนั้นจึงขอย้ำอีกสักครั้งหนึ่ง หรือว่าย้ำอีกวาระหนึ่ง

    คือการย้ำนี่ ผมจะขอเอาความประพฤติและการแนะนำของลัทธิฝ่ายตรงกันข้ามมาใช้ ความจริงเขาจะเป็นลัทธิอะไรก็ตาม ถ้าของเขาดี เราก็ควรนำมาใช้ ลัทธิอันนี้ถึงจะเรียกว่าลัทธิอะไรไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่การประพฤติปฎิบัติ เขาแนะนำกันว่าอย่างนี้ เด็กๆ ในสมาคมนั้น เขาแนะนำว่า จงลืมพ่อ จงลืมแม่ จงลืมครูบาอาจารย์ ลืมพระมหากษัตริย์ ลืมทุกอย่างเสีย เรามีความต้องการอย่างเดียวคือสังคมนิยม นี้เป็นอาการที่สอน

    โตขึ้นมาแล้ว เมื่อถือปืนเข้าต่อสู้หวังจะยึดพื้นที่ เขาก็แนะนำว่า จงติดเกาะติดประชาชน หมายความว่าประชาชนอยู่ที่ไหน เกาะติดที่นั่น ไม่ทำตนให้เป็นศัตรูกับประชาชน ทำตนให้เป็นมิตรกับประชาชน ประการที่สอง เกาะติดพื้นที่ พื้นที่ที่ใดที่เรารักษาอยู่ พื้นที่นั้นเราจะไม่ยอมให้เป็นที่อยู่ของข้าศึก หมายความว่าจะไม่ยอมให้ฝ่ายตรงกันข้าม เข้ามายุ่งกับพื้นที่นั้นได้ ประการที่สาม เกาะติดกองทัพ คือหมายความว่าคู่ต่อสู้ของเราอยู่ที่ไหน เราจะเกาะติดที่นั่น ไม่ยอมถอยเด็ดขาด

    แล้วต่อมาคติของเขาก็มีว่า มึงมากูมุด มึงหยุดกูแหย่ มึงแย่กูตี มึงหนีกูตาม อันนี้เป็นคติของเขา ถึงแม้ว่าจะเป็นคติการเมืองหรืออะไรก็ช่างเถอะ เรามีความต้องการอย่างเดียว นำนโยบายของเขามาใช้ในด้านธรรมะของเรา

    คำว่า ลืม อันนี้ผมจะพูดเฉพาะขั้นพระโสดาบัน อันดับแรก เราก็จงลืมความทรงชีวิตตลอดกาลตลอดสมัยเสีย นี่ความรู้สึกเดิมของเรามีอยู่ว่า เราเกิดมาแล้วเราจะไม่ตาย อารมณ์อย่างนี้เราลืมเสียให้หมด จงมีความรู้สึกใหม่ว่าความเกิดมีขึ้นมาได้ ความแก่ความแปรปรวนมันก็มีได้เหมือนกัน ความป่วยไข้ไม่สบายมันก็มีได้ ความตายมันก็มีได้ ฉะนั้นเราจะต้องตายแน่ อันนี้เราไม่ลืม

    เราลืมความรู้สึกที่คิดว่าจะไม่ตายเสีย หันเข้ามาหาความรู้สึกว่าเราจะต้องตายแน่ แต่ก่อนที่เราจะตาย เราก็ต้องเกาะติด เกาะติดอะไร เกาะติดความดี ให้ทำความรู้สึกไว้เสมอว่าถ้าเราเป็นคนดี ถ้าตายจากคนเป็นผี เราก็เป็นผีดี ผีดีผีอะไร คือผีเทวดา ผีพรหมหรือผีพระนิพพาน เป็นอันว่าดินแดนที่เราจะไปอยู่เป็นดินแดนที่มีความสุขมาก ถ้าดีมากก็สุขมาก ดีปานกลางสุขปานกลาง ดีน้อยสุขน้อย

    ดีน้อยสุขน้อยหมายถึงว่าเกิดบนสวรรค์เป็นเทวดา ดีปานกลางหมายถึงว่า เกิดเป็นพรหมอยู่ชั้นพรหม ดีถึงที่สุดดีมากก็หมายถึงว่าตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานไปพระนิพพาน นี่เราต้องเกาะติดความดี

    เมื่อเกาะติดความดีแล้ว ความดีที่เราจะพึงเกาะติด ตามที่ผมพูดมาแล้ว ก็คือ หนึ่ง เราไม่ลืมใช้ปัญญาวินิจฉัยคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี่เราจะเชื่อโดยที่เราไม่ใช้ปัญญาพิจารณาไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่ชอบ พระพุทธเจ้าทรงชอบคนที่ฟังแล้วนำไปคิดและก็ทดลองในการปฏิบัติ ในเมื่อทดลองมีผลแล้วจริงค่อยเชื่อท่าน

    ฉะนั้นอันดับแรกเราจะเชื่อพระพุทธเจ้า ก็ต้องอาศัยการพิจารณาเสียก่อน ว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระชินวรมีผลจริงหรือไม่ เมื่อแน่ใจว่าดีแน่ เราก็เชื่อพระพุทธเจ้าคือยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า ยอมรับพระธรรม ยอมรับนับถือพระอริยสงฆ์ ที่พยายามร้อยกรองพระธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงแนะนำไว้เพื่อให้เราศึกษากัน อันนี้ก็หมายความว่า เราเกาะติดพระพุทธเจ้า เราเกาะติดพระธรรม เราเกาะติดพระอริยสงฆ์

    คำว่า เกาะติดพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า
    สัพพปาปัสสะ อกรณัง ซึ่งแปลว่า เธอทั้งหลายจงอย่าทำความชั่วทั้งหมด ทั้งกาย วาจา และใจ เราเกาะติดคำนี้ เราไม่ทำความชั่วทุกอย่าง

    กุสลัสสูปสัมปทา พระพุทธองค์ทรงสอนว่า เมื่อเราไม่ทำความชั่วแล้ว ก็จงประพฤติแต่ความดี เราก็เกาะติดตัวนี้สร้างความดีให้เกิดขึ้นในทุกด้านที่พระองค์ทรงสั่งสอน ทั้งกาย วาจาและใจ

    สาม สจิตตปริโยทปนัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เธอจงทำใจของเธอให้ผ่องใสจากกิเลส อันนี้เราก็ต้องเกาะติดสมถะและวิปัสสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสามเป็นด้านของวิปัสสนา ข้อสองเป็นด้านของศีลและสมาธิ ข้อหนึ่งเป็นด้านการทำจิตให้มีความรู้สึกว่าความชั่วเป็นโทษเป็นทุกข์เป็นภัย

    เอตัง พุทธานะสาสนัง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ตรัสเหมือนกันอย่างนี้หมด

    คำสอนอย่างนี้ที่เราจะรู้ได้ก็เพราะอาศัยพระสงฆ์เป็นผู้นำมา พระสงฆ์รับคำสอนจากพระพุทธเจ้าแล้วจำมา แล้วก็นำมาสอนพวกเรา ท่านประพฤติปฏิบัติได้แล้ว

    ฉะนั้นเราจึงเกาะติด ลืมความชั่วเสียทั้งหมด ขึ้นชื่อว่าความชั่วในอดีต ที่มีมาแล้วทั้งหมด เราลืมมันเสีย คือว่าเราไม่หันไปประพฤติความชั่วใดๆ ทั้งหมด ทั้งกาย วาจาและใจ เราเข้ามาเกาะติดความดี คือ คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็ดูจริยาของพระพุทธเจ้าที่ทรงปฏิบัติมาอย่างไร เราเกาะติดจริยาแบบนั้น เป็นอันว่าเราเกาะติด แล้วก็ดูพระสงฆ์ทั้งหลายที่เป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้เพราะทรงปฏิบัติอย่างไร เราก็เกาะติดจริยาอย่างนั้น อันนี้เป็นการเกาะติด

    ต่อมาเราก็เกาะติดอีก เกาะติดอะไร คือ เกาะติดศีล ศีลพระมีเท่าไหร่ ๒๒๗ ศีลเณรมี ๑๐ ศีลฆราวาสเอา ๕ เป็นสำคัญ จะปฏิบัติศีล ๘ ก็ได้ แต่ว่าศีล ๕ ต้องถือว่าเป็นสำคัญ เพราะว่าพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ฆราวาสเขาทรงแค่ศีล ๕ เท่านั้น สำหรับพระเณรต้องถือว่าศีล ๒๒๗ หรือศีล ๑๐ เป็นศีลปรกติที่เราจะต้องปฏิบัติ จะไปปฏิบัติศีล ๕ ไม่ได้ ฉะนั้นก็จงระวังว่า ถ้าเราบกพร่องในศีล ๕ ก็หมายถึงว่าศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ไม่มีสำหรับเรา เราเป็นผู้ไม่คู่ควรกับผ้ากาสาวพัตร์ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุมัติให้กับเรา

    ฉะนั้นเมื่อเราจะเกาะติดศีล เราจะเกาะติดศีล เราก็ต้องลืม ลืมอะไร อันนี้คุณฟังไว้แล้วก็จำไว้นะ ให้มันเป็นนิทัสนะประจำใจของเรา เราฟังคำสอนกันมากกว่าที่อื่นทั้งหมด แต่ทว่าถ้าจิตใจของท่านไม่สามารถจะลดความชั่ว ทรงความเป็นพระโสดาบันได้ ผมจะเสียดายเวลาที่ผมแนะนำอย่างยิ่ง คำว่าลืมทั้งหมด เราลืมอะไร

    เราลืมความโหดร้าย คืออารมณ์จิตที่ขาดความเมตตาปรานีเนี่ย ลืมมันเสีย เรามีแต่อารมณ์จิตที่ประกอบไปด้วยความเมตตาปรานีเป็นสำคัญ เป็นอันว่า เราลืมความโหดร้าย เราก็เกาะติดความเมตตาปรานี อย่าลืมนะครับ อันนี้เป็นศีลข้อที่ ๑

    ศีลข้อที่ ๒ ลืมมือไว หมายถึงว่า การฉกชิงวิ่งราว การลักการขโมย การยื้อแย่งทรัพย์สินของเขา มือไวหรือใจไว ถ้าใจมันช้ามือมันก็ช้า ถ้าใจไวมือมันก็ไว ให้มันไวด้วยกัน เราลืมความมือไวในด้านความเลวเสีย ลืมใจไวในด้านความเลวเสีย ถ้าใจเราไม่ยุ่งกับความเลว มือหรือวาจามันก็ไม่เลวเหมือนกัน

    นี้การที่จะคิดลักคิดขโมย คิดยื้อแย่งคิดคดโกงทรัพย์สินของบุคคลอื่น เราลืมมันเสีย เรามีอารมณ์ตรงกันข้ามคือแทนที่เราจะมีความรู้สึกอย่างนั้น เราสร้างความรู้สึกเสียใหม่ คือ เกาะติดทานการให้ อย่าลืมนะขอรับ ทีนี้เราลืม ลืมลัก ลืมขโมย ลืมทุจริต แต่ว่าเราเกาะติดผลของทานการให้ หวังในการสงเคราะห์เป็นสำคัญ

    อันนี้ทำอารมณ์ของเราให้เกาะติดตัวนี้ไว้ เรามีจิตเมตตา กรุณา สงสารคนทั้งหลายและสัตว์ทั้งหลาย สงสารเขาเหมือนกับสงสารตัวเรา อันนี้เราใช้อารมณ์เกาะติดคือแทนที่เราจะแย่ง จะลักขโมยเขา เรากลับเป็นผู้ให้ ตั้งใจคิดว่าจะให้ไว้เสมอ และก็เต็มใจในการให้ถ้าเรามี ถ้าเราไม่มีวัตถุเป็นที่ให้ เราก็ให้แรงงานช่วยแรงงาน ถ้าแรงงานเราไม่มีจะให้เราก็ให้ปัญญา ช่วยในการแนะนำ

    เป็นอันว่าเรากลับใจจากอารมณ์อยากจะได้ของเขากลายเป็นผู้ให้ เราลืมคิดลัก คิดขโมย แต่เราเกาะติดในการให้ มันก็เป็นการทำลาย ป้องกันความชั่วในด้านของศีล ที่จะละเมิดศีลเสียได้ในข้อที่สอง

    ข้อที่สาม เราลืมความเป็นคนใจเร็ว คำว่าใจเร็วในที่นี้คือใจลืมคิด เห็นลูกเขา เห็นเมียเขา คนในปกครองของเขา เรามีความต้องการจะสมสู่อยู่ร่วมกันในฐานะสามีภรรยา โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากท่านผู้ปกครองหรือเจ้าของของเขา นี่เป็นความชั่วที่เราจะต้องลืม เราลืมมันเสีย อารมณ์อย่างนี้อย่าให้มีในจิตของเรา

    เราก็เกาะติดอารมณ์สันโดษ พอใจแต่เฉพาะคู่ตัวผัวเมียของเราเท่านั้น ไม่ปรารถนาจะไปล่วงเกินยื้อแย่งบุตรธิดาสามี ข้าทาสหญิงชายคนในปกครองของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง

    คำว่ากาเมนี่ไม่ใช่เฉพาะผัวเขาเมียเขา ลูกเขาหลานเขาเหลนเขา คนใช้เขา คนในปกครองของเขา ถ้าเขายังมีผู้ปกครองอยู่ เราไม่ได้รับอนุมัติ ไปร่วมรักถึงแม้ว่าจะมีความพอใจในระหว่างซึ่งกันและกัน ก็จัดว่าเป็นโทษของกาเม นี่อาการประพฤติปฏิบัติข้อนี้ต้องละเอียดนิดหนึ่ง

    อันนี้เราก็เกาะติดสันโดษ ถ้าเราเป็นคนโสดก็พอใจในความเป็นโสด เกาะติดความเป็นโสด ต้องการจะแต่งงานก็มีความยินดีเกาะติดเฉพาะภรรยาหรือสามีของเราเท่านั้น บุคคลอื่นใดเราไม่ต้องการ

    สำหรับศีลข้อที่สี่ เราจะต้องลืมวาจาสี่สถาน ไม่มีในอารมณ์จิตของเรา หนึ่งพูดไม่จริง สองพูดหยาบ สามพูดยุแยงตะแคงแส่ให้เขาแตกร้าวซึ่งกันและกัน แตกความสามัคคี สี่พูดวาจาสำราก เป็นที่สะเทือนใจของบุคคลผู้อื่นคือไร้ประโยชน์

    อาการสี่อย่างนี้ เราต้องลืมมันเสีย ไม่พีงประสงค์จะนำมาใช้ มันจะมีประโยชน์เพียงใดก็ตามที ก็ถือว่ามันไม่ใช่ความปรารถนาของเรา เรามีความต้องการอย่างเดียว คือ เกาะติดสัจจธรรม เกาะติดความจริง จะพูดอะไรก็ตาม จะพูดตรงต่อความเป็นจริงเสมอ แต่การพูดจริงต้องมีความฉลาด ฉลาดในการพูดจริง หมายความว่า ต้องดูกาลดูสมัย ถ้าบางระยะถ้าพูดจริงไปมันจะเป็นโทษ เราก็ต้องหลบไปเสียนิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับทำลายประโยชน์ของเขา

    เราจะต้องลืมคำหยาบที่เราเคยใช้ จะมีวาจาแต่เฉพาะวาจาอ่อนหวานเป็นที่ชื่นใจ เราจะต้องลืมวาจาที่เราจะทำให้บุคคลอื่นเขาแตกแยกซึ่งกันและกัน คือยุให้รำตำให้รั่ว ยุแยงตะแคงแส่ อันนี้ลืมมันเสีย ใช้แต่วาจาที่สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น

    และเราจะต้องลืมที่มีความรู้สึกว่าน้ำเมาเป็นของดี คำว่าน้ำเมาเป็นของดีมีประโยชน์เพื่อสังคม เราลืมมันเสีย เกาะติดคิดแต่ว่าน้ำเมาเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท สุราเมระยะมัชชะปมาทัฏฐานาเวรมณี สุราและเมรัยก็ดี ดื่มเข้าไปแล้วมันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ทำคนให้เสียคน ทำจริยาให้เสียจริยา

    คิดว่าคนใดที่มีความประมาทอยู่ สมเด็จพระบรมครูท่านกล่าวว่าเป็นคนที่ก้าวเข้าไปหาความตาย ถ้าเราไม่ตายจากชีวิต เราก็ตายจากความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตเรามักจะรักน้อยกว่ารักความดี ฉะนั้นเราก็ต้องเกาะติดอารมณ์อย่างนี้ คือ เกาะติดอารมณ์ที่เราคิดว่าจะไม่ดื่มสุราและเมรัย และเราก็ไม่ติดมันด้วย

    เป็นอันว่าจริยาทั้งหมดนี้ เป็นจริยาที่คู่ควรแก่พระโสดาบัน

    นอกจากนั้นเราก็ต้องมีอารมณ์เกาะติด นั่นคือ เกาะติดพระนิพพานเป็นอารมณ์ เราทำทุกสิ่งทุกอย่างไม่หวังผลตอบแทนในชาติปัจจุบัน เราเกื้อกูลใครพูดดีกับใครสงเคราะห์ใคร เขาจะมีความกตัญญูรู้คุณในเราหรือไม่ ไม่สำคัญ เราคิดเสียว่าเราทำทุกอย่าง เพื่อการเข้าถึงพระนิพพาน นี่เป็นสิ่งที่เราต้องการ เป็นอันว่าจิตเราเกาะติดพระนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อเราลืมความชั่วเกาะติดความดีอย่างนี้

    ความจริงอารมณ์เกาะติดนี่ อารมณ์ลืมก็ดี อารมณ์เกาะติดก็ดี มันต้องมีกับนักปฏิบัติทุกท่าน อย่าไปคบค้าสมาคมกับอารมณ์ของความชั่ว ถ้าอย่างเกาะติดจริงๆ น่ะท่านทั้งหลาย ไม่เกินหนึ่งเดือน เราได้แน่

    ทีนี้เราก็หันไปมองดู ภาษิตของเขามีว่า มึงมากูมุด มึงหยุดกูแหย่ มีงแย่กูตี มึงหนีกูตาม ใช่หรือไม่ใช่ คงจะใช่นะ ผมก็จำไม่ได้นัก

    มึงมากูมุด หมายความว่า อารมณ์แห่งความชั่วต่างๆ ที่มันจะเข้ามาถึงใจ สมมติว่าสักครั้งหนึ่งเราลืมตัวลืมตน คิดว่าเราจะไม่ตาย คิดว่าเราเป็นคนดี คิดว่าเราไม่ชั่ว ถ้าอารมณ์อย่างนี้มันเกิดขึ้นกับใจเรา จงนึกว่านี่ศัตรูร้ายมาแล้ว ศัตรูร้ายที่ทำลายความดีมาแล้ว เมื่อมันมาเรามุดเสีย มุดไปตรงไหน

    มันคิดว่าร่างกายเราจะไม่ตายเกิดขึ้น มันมีอารมณ์เกิดขึ้นอย่างนี้ เราก็มุดเข้าไปหามรณานุสสติกรรมฐาน คิดว่าลมปราณของเราที่ทรงอยู่นี่ เราหายใจเข้าแล้วเราไม่หายใจออกแล้วมันก็ตาย หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้ามันก็ตาย เราจะไปเชื่อมันทำไมกับอารมณ์เลวๆ แบบนั้น เรามุดเสีย แทนที่จะยอมรับนับถือว่าเราจะไม่ตาย เราไม่ยอมคิด คิดว่าวันนี้แหละเราอาจจะต้องตาย ความตายจะมีกับเราขึ้นได้ในที่ทุกสถานทุกกาลเวลา ไม่ใช่ไปรอวันรอคืน

    ท่านกล่าวว่ามึงมากูมุด อีตอนมึงหยุดกูแหย่ พอ มึงหยุดกูแหย่ หมายความว่า อารมณ์ที่มีความทะนงตนไม่เกิดขี้น อารมณ์ที่คิดประทุษร้าย ความโหดร้าย มือไวใจเร็วพูดปดหมดสติไม่เกิดขึ้น อารมณ์ทรงความดีทั้งศีลทั้งธรรม ทั้งมรณานุสสติกรรมฐานก็ทรงตัว การยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็มั่นคง ศีลก็มั่นคง อารมณ์เกาะพระนิพพานก็มั่นคง นี้เรียกว่ามันหยุด

    กิเลสศัตรูคือศัตรูหยุด เราก็แหย่ แหย่ตรงไหน แหย่โจมตีมันเข้าไป กวนมันเข้าไปอย่าให้มันเกิดขึ้น พยายามเจริญมรณานุสสติกรรมฐานโดยใช้ลมหายใจเป็นลมปราณเป็นที่กำหนด พยายามควบคุมอารมณ์ศีลให้ทรงตัว พยายามควบคุมอารมณ์ยอมรับนับถือด้วยปัญญาในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม พระสงฆ์ พยายามยึดพระนิพพานเป็นอารมณ์

    รวมความแล้ว เราใช้มรณานุสสติกรรมฐาน กับพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ อุปสมานุสสติกรรมฐาน พร้อมกันไปในคราวเดียวกัน พยายามทำจิตให้มันทรงตัวอย่างยิ่งเพื่อความเป็นพระโสดาบัน

    ที่นี้มึงแย่กูตี เมื่อเราทรงตัวได้ดีแล้วอย่างนี้ มึงแย่กูตี หมายความว่า จับสักกายทิฎฐิในวิปัสสนาญาณขึ้นมาใช้ พิจารณาว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่ของมัน มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นเพียงธาตุสี่มาประชุมกันชั่วคราว เมื่อมันสลายตัวเราจะต้องไป แต่การไปของเราจะไม่ไปเพื่อความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในภพใดๆ อีก เราจะเป็นผู้สิ้นชาติ สิ้นภพ

    ตีโลภะความโลภให้พินาศไป ตีราคะความกำหนัดยินดีในกามารมณ์ให้พินาศไป ตีโทสะให้พินาศไป ตีโมหะให้พินาศไป การโจมตีแบบนี้เพราะว่าเข้าถึงพระโสดาบัน ให้จิตทรงตัว ตีอันดับสำคัญให้ถึงอรหันต์เลย ไม่ต้องไปตีพระสกิทาคา อนาคา ตีให้มันจบจุด

    มึงแย่กูตี ที่นี้มันก็หนี มันหนีเราตาม หมายความว่า เราจะทรงอานาปานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌานไว้ในปรกติ แล้วใช้สักกายทิฎฐิในวิปัสสนาญาณเข้าประหัตประหาร โดยจับสังโยชน์ ๑๐ ประการเป็นเครื่องวัดอารมณ์ใจ ว่าเวลานี้สังโยชน์ตัวใดบ้างที่ยังขวางใจของเราอยู่

    เอาละบรรดาสาวกของสมเด็จพระบรมครู เท่าที่พูดมานี้มองดูเวลามันก็หมด ผมคิดว่าการที่เอาจุดซอยๆ ความจริงน่าจะซอยมากกว่านี้ แต่เวลาไม่พอ มาซอยกันเรื่องพระโสดาบัน คิดว่าคงไม่เกินวิสัยของท่านที่จะพึงทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านทั้งหลายหมั่นฝึกฝนในด้านของมโนมยิทธิเป็นของดี คือการฝึกกำลังจิตให้มั่นคง

    เอาละต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านอุบาสก อุบาสิกา บรรดาพระสงฆ์ภิกษุสามเณรทั้งหลาย ตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าที่ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าเวลานั้นเป็นการอันสมควร

    — จบ ตอนที่ ๗ อารมณ์พระโสดาบัน (๒) —
     
  9. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
    ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
    ตอนที่ ๘ พระสกิทาคามีมรรค


    ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย สำหรับเวลานี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานพระกรรมฐาน สมาทานศีลแล้ว ณ โอกาสต่อนี้ไป ก็จะขอแนะนำท่านทั้งหลายให้ปฏิบัติในพระกรรมฐานด้านพระสกิทาคามี

    สำหรับเรื่องราวของพระโสดาบัน ก็คิดว่าท่านทั้งหลายคงจะมีความเข้าใจและก็คงจะปฏิบัติได้เพราะเป็นของไม่ยากนัก และขอย้ำอีกนิดหนึ่งว่า พระโสดาบันนี่ยังตัดกิเลสไม่หมด เป็นแต่เพียงว่าผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย มีศีลบริสุทธิ์และก็มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

    แต่เรื่องที่จะน่าสังเกตมีอยู่นิดหนึ่ง ท่านที่มีอารมณ์เข้าถึงพระโสดาบัน ตอนนี้จิตมักจะนิยมคำว่าธรรมดาอยู่เสมอ ในคำว่าธรรมดาก็หมายความว่า เขาจะด่า เขาจะว่า เขาจะนินทา เขาจะสรรเสริญ ความสะเทือนใจสำหรับท่านที่เป็นพระโสดาบันนี่มีน้อยเต็มที ถ้าจะเทียบกับอารมณ์ของปุถุชนคนหนาแน่นไปด้วยกิเลส ความหวั่นไหวประเภทนั้นไม่มี

    และก็โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระโสดาบันไม่เป็นบุคคลที่ถือมงคลตื่นข่าว เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เขาลือกันว่าที่นั่นดี เขาลือกันว่าที่นี่ดี พระโสดาบันไม่มีอารมณ์อย่างนั้น มีความมั่นคงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติที่ตนปฏิบัติได้แล้ว

    และก็มีความมั่นคงในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันพระโสดาบันจะมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า ความดีหรือความชั่ว ผลที่จะปฏิบัติได้หรือไม่ได้เพียงใดนั่น มันขึ้นอยู่แก่ตัวเอง ไม่ใช่ว่าผลใหญ่จะขึ้นอยู่กับครูบาอาจารย์ ความจริงครูบาอาจารย์มีความสำคัญ ท่านเป็นคนไม่อกตัญญู รู้คุณครูบาอาจารย์ก็จริงแหล่ แต่ทว่ามีความรู้สึกอยู่เสมอว่า

    อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน หมายความว่า เราจะดีหรือว่าเราจะชั่ว มันอยู่ที่ตัวของเรา แต่ครูบาอาจารย์สอนมาแล้ว เราไม่ปฏิบัติตามผลมันก็ไม่มี
    โกหิ นาโถ ปโร สิยา ข้อนี้หมายความว่า บุคคลอื่นเล่าใครจะเป็นที่พึ่งได้
    อัตตนาหิ สุทันเตนะ เมื่อเราฝึกฝนตนของเราดีแล้วไซร้
    นาถัง ลภติ ทุลลภัง เราจะได้ที่พึ่งอันบุคคลอื่นพึงหาได้โดยยาก

    ตามพระบาลีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้นี้ พระโสดาบันมีความยึดมั่น ด้วยมีความรู้สึกว่าเราจะดีหรือไม่ดี ครูท่านสอนมาแล้ว พระพุทธเจ้าท่านสอนมาแล้ว พระอริยสงฆ์ทั้งหลายสอนเรามาแล้ว ถ้าหากเราไม่ประพฤติปฏิบัติตาม เราก็ดีไม่ได้ ฉะนั้นความดีหรือความไม่ดี มันอยู่ที่เราเป็นสำคัญ ไม่ใช่ว่าอยู่ที่สำนักนั้นสำนักนี้สำนักโน้น สำนักไหนๆ ก็ไม่มีความสำคัญถ้าเราไม่ดี

    ให้จำพระบาลีอันนี้ไว้ สำหรับท่านที่เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน คือเป็นพระอริยเจ้าขั้นต้น ท่านจะมีความมั่นคงในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ดิ้นไม่รน นี่ผมไม่ได้กันท่านนะ ไม่ได้กันพวกท่านว่าท่านจะไปทางไหนน่ะผมห้าม ไม่ใช่ยังงั้น ผมไม่เคยห้ามใคร นี่พูดถึงอารมณ์ของพระโสดาบันกันจริงๆ

    ต่อไปนี้ อารมณ์จะต้องใช้หนักกว่าเดิมสักนิดหนึ่ง เพราะว่าการจะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นพระสกิทาคามี เราเริ่มเดินจุดเข้าหาพระสกิทาคามี อย่างนี้ท่านเรียกว่าพระสกิทาคามีมรรค

    พระสกิทาคามีมรรคนี่ต้องใช้อารมณ์เพิ่ม อารมณ์เพิ่มที่เราจะพึงใช้ก็คือ หนึ่งอสุภกรรมฐาน สองพรหมวิหารสี่ สามจาคานุสสติกรรมฐาน และก็สี่ร่วมด้วยกายคตานุสสติ จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จะก้าวเข้าไปหาจุดใหม่ ก็จะต้องนั่งไล่เบี้ยกันทีละน้อยๆ เพื่อความเข้าใจของพวกท่าน

    ทั้งนี้ก็เพราะอะไร ก็ต้องขออภัย ที่บางท่านอาจจะคิดว่า แหม พูดอย่างนี้นี่ดูถูกเราเกินไป แต่ความจริงการพูดอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะดูถูกดูหมิ่นพวกท่าน ว่าทำกันมานานแล้ว แค่พระสกิทาคามีเท่านี้น่ะหรือ ที่เราจะทำไม่ได้ แต่การแนะนำกัน ก็ไม่ได้หวังว่าจะแนะนำเฉพาะผู้ปฏิบัติในชุดนี้เท่านั้น หวังให้คำแนะนำนี่เป็นตำรายาวนานไปกว่านี้หลายสิบปี หรือเป็นร้อยปี ฉะนั้นก็จะต้องขอพูดละเอียดสักนิดหนึ่ง

    มาตอนนี้เราก็ต้องเร่งรัดกันด้านสมาธิให้หนักกว่าสักหน่อย แล้วก็ตอนนี้แหละเป็นจุดที่มีความสำคัญ เพราะว่าพระสกิทาคามีนี่ มีการบรรเทาในราคะความรัก โลภะความโลภ โทสะความโกรธ โมหะความหลง เป็นอันว่าอาการทั้งสามประการนี้ต้องมีกำลังน้อย

    สำหรับพระสกิทาคามีผล หากว่าจะพึงเข้าถึงโปรดเข้าใจไว้ด้วย ว่าความรู้สึกในเพศรู้สึกว่ามันเกือบจะไม่มี เห็นคนสวยก็เหมือนกับเห็นซากศพ เห็นวัตถุที่สวยก็เหมือนกับเห็นไม้ผุ มันไม่มีความหมาย การดิ้นรนในลาภสักการะไม่มีในพระสกิทาคามี เพราะกำลังคือความโลภมันตกไป คลานต้วมเตี้ยมๆ เหมือนกับกุ้งใกล้จะตาย อำนาจความโกรธความหวั่นไหวในถ้อยคำที่บุคคลปรามาสก็หายาก ความหลงในสรีระร่างกายทรัพย์สมบัติทั้งหลายมันก็เพลียเต็มที อาการอย่างนี้เป็นอาการของพระสกิทาคามีผล

    นี่ผมพูดถึงตอนจบ ถ้าเข้าสกิทาคามีผลมันเป็นอย่างนี้ สำหรับความรักในระหว่างเพศ มันเกือบจะหมดความรู้สึก ถ้าส่วนใหญ่ของอารมณ์น่ะหมดความรู้สึก แต่บางครั้งนานๆ มันก็โผล่หน้ามานิดหนึ่ง ฉะนั้นท่านที่เข้าถึงพระสกิทาคามีนี่ บางทีเผลอ คิดว่านี่เราเป็นพระอนาคามีเสียแล้วหรือ ตอนนี้คุยสู่กันฟัง

    ต่อไปก็จะขอนำวิธีปฏิบัติ วิธีปฏิบัติตอนนี้ต้องรับอารมณ์สมาธิให้มาก แต่ก็จงอย่าให้มากเกินไปถึงกับเป็นโรคเส้นประสาท เป็นง่อยเปลี้ยเสียขา อดอาหารการบริโภค เคร่งครัดเกินไป อย่างนี้ไม่มีผล แทนที่จะมีคุณก็กลายเป็นของมีโทษ

    วิธีปฏิบัติในตอนนี้ ก็หมายความว่า เริ่มต้นเราอาจจะใช้อารมณ์พิจารณาอสุภสัญญา เอาอสุภะ ๑๐ ก่อน พิจารณาด้านอสุภสัญญาก่อนก็ได้ หรือว่าเราจะเริ่มต้นในการจับอานาปานุสสติกรรมฐาน จับลมหายใจเข้าออกโดยเฉพาะ หรือว่าจะควบคู่กับพุทธานุสสติกรรมฐานก็ได้ พยายามทำสมาธิให้อารมณ์ใจมันสบาย ให้มีความเข้มแข็งในอารมณ์

    ความเข้มแข็งในอารมณ์นี่ไม่เหมือนอารมณ์ของคนโกรธ อารมณ์ของคนโกรธนี่เข้มแข็งในด้านของความชั่ว ความเข้มแข็งในด้านของการจะก้าวเข้าไปสู่พระสกิทาคามี เป็นความเข้มแข็งด้านดี คือทรงอานาปานุสสติกับพุทธานุสสติกรรมฐาน ให้จิตมีอารมณ์โปร่ง มีความสบาย ใจเย็น อย่ารีบอย่าร้อน หรือว่าท่านจะพิจารณาในด้านอสุภกรรมฐานไปเลยก็ได้ ถ้าอารมณ์ใจยังเป็นเช่นนั้น

    ต่อนี้ไปผมก็จะขอพูดถึงวิธีที่ปฏิบัติ ในยามปรกติ เราพยายามลืมเสียให้หมด ลืมว่าคนนั้นเขาว่าเรา คนนี้เขาด่าเรา คนนั้นเขาเกลียดเรา คนนี้เขารักเรา คนนั้นเขาสรรเสริญเรา อารมณ์ขุ่นมัวทั้งหลายที่ปรากฎอยู่ในโลกธรรม ลืมมันเสีย มันจะมีลาภหรือไม่มีลาภก็ช่างมัน ลาภมีแล้วมันจะหมดไปก็ช่างมัน ยศฐาบรรดาศักดิ์เขาจะให้หรือไม่ให้ก็ช่างมัน ลืมมัน อารมณ์อย่างนี้ลืมมัน มันได้ยศมาแล้วเขาจะเรียกคืนไปก็ช่างมัน หรือว่าการสรรเสริญนินทาจะมาจากทางไหนก็ช่างมัน ความสุขความทุกข์จะรุมทางกายทางใจไม่มีความสำคัญสำหรับเรา

    เราลืมโลกธรรม ๘ ประการเสีย จงพยายามลืม ฝึกลืม อย่าสนใจ และก็ลืมคำปรามาสทั้งหลาย ลืมอารมณ์ของความชั่ว ที่คิดว่าผู้ใหญ่ไม่ดี ลำเอียง รักคนนั้นมาก รักคนนี้มาก คนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี คนนั้นพูดไม่ถูกใจเรา คนนี้เอาใจเรา ลืมมันเสียเพราะว่านั่นเป็นอารมณ์แห่งความเลว

    และอารมณ์ของนิวรณ์ ๕ ตอนนี้นิวรณ์ ๕ ยังกวนใจอยู่ กามฉันทะ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ ความโกรธความพยาบาท อารมณ์ฟุ้งซ่านอยากจะด่าอย่างนั้น อยากจะวิเศษอย่างนี้ คนนั้นดีคนนี้ชั่ว ลืมเสียให้หมด

    ถ้าอารมณ์เรายังมีอย่างนี้ เรามันก็เลว ถ้าเรายังรู้สึกว่าคนอื่นเขาชั่ว ก็แสดงว่าเราชั่วมาก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า ถ้าเราดีแล้ว ไม่มีใครชั่ว เพราะว่าเรายอมรับนับถือกฎของกรรม อะไรจะไม่ชั่ว เรายังนินทาว่าร้ายบุคคลอื่นนั่นเรายังชั่วอยู่ อาการอย่างนี้จงลืมเสียให้หมด ต่อไปเราก็เกาะติดอารมณ์

    ความจริงปฏิปทานี้เป็นปฏิปทาของฝ่ายที่เขากำลังรุกรานประเทศ เขาใช้ เขาใช้ในการรบ ตอนนี้เราก็รบเหมือนกัน เรารบกับกิเลส เราก็เป็นทหารเหมือนกัน ทหารเขารบ เราก็เป็นทหาร เป็นทหารในกองทัพธรรม ซึ่งมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นจอมทัพ

    นี่ในเมื่อเราลืมจุดนั้น ลืมจุดเสีย เราก็เกาะติด เกาะติดจุดดี เราก็มานั่งพิจารณากายของเราว่า โอหนอ กายของเรานี้ มันจะทรงอยู่ได้สักกี่วัน วันคืนล่วงไปๆ ชีวิตของเราก็่ล่วงไปตามกาย ความหมายในชีวิตไม่มีสำหรับเรา เพราะชีวิตนี้มีสภาพเหมือนกับผีหลอก ร่างกายของคน ร่างกายของสัตว์ วัตถุธาตุทั้งหมด มันมีสภาพเหมือนผีหลอก หลอกตรงไหน เกิดมาเป็นเด็กโตขึ้นมาทีละน้อยละน้อย มันก็หลอกเรา หลอกให้เราเห็นว่ามันโตขึ้นมาๆ พอร่างกายสมบูรณ์ถึงความเป็นหนุ่มสาวมีความเปล่งปลั่ง ตอนนี้มีความปรารถนากันมาก มึงรักกู กูรักมึง อยากจะเคล้าเคลียอยู่เป็นคู่สามีภรรยาซึ่งกันและกัน ตอนนี้อารมณ์เราก็หลอกอีก หลอกยังไง หลอกเห็นว่าเขาสวย หลอกเห็นว่าเขาดี หลอกเห็นว่าเขาน่ารัก เขามีร่างกายสะอาด สดใส มันหลอก

    ร่างกายของใครมันดี ร่างกายของใครสวย ร่างกายของใครสะอาด มันมีที่ไหน คนทุกคนมีมั้ยที่ใครไม่มีอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เสลด น้ำลาย ที่มีอยู่ภายในร่างกาย บอกมาทีสิว่าร่างกายของใครเขามีอยู่บ้าง ร่างกายเรามีมั้ย ร่างกายเขามีมั้ย ถ้ามันมีเหมือนกัน ร่างกายมันก็สกปรกเหมือนกัน แล้วทำไมเราจะไปหลงรักกับสิ่งที่มีสภาพสกปรก มันเลวแสนเลว

    นี่อารมณ์นี่เราต้องเกาะติด เกาะติดอารมณ์ให้ทรงตัว ว่าร่างกายนี่มันเต็มไปด้วยความสกปรก แล้วมันก็หาความจีรังยั่งยืนไม่ได้ มีความเสื่อมมีความทรุดมีความโทรมไปทุกวันๆ ไม่ช้ามันก็จะมีสภาพพลันตาย เราตาย เขาตาย อาการตายนี่ ความจริงจิตไม่ได้ตาย แต่กายมันตาย

    ก็ช่างเถอะ ชาวบ้านเขาถือเราถือเขา เราก็คิดว่าเอ๊ะเราก็ตาย เขาก็ตาย ไอ้เราก็สกปรกเขาก็สกปรก มองดูร่างกายนี้ มันมีอะไรเป็นนิมิตเครื่องหมายที่จะทรงไว้ซึ่งความดี หาไม่ได้ ไม่มี ไม่มีสภาพใดปรากฎ ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่า ธาตุ ๔ ที่มันคุมเข้ามาเป็นร่างกาย แบ่งเป็นอาการ ๓๒ มันเคลื่อนไปหาความพังเป็นปกติ สภาวะของมันเป็นอย่างนี้ แล้วมันมีอะไรมั้ย ที่เราควรจะยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเราต่อไป ที่เรามีความหมายมั่นปั้นมือว่าร่างกายนี้จะทรงตลอดกาลตลอดสมัย

    คนที่เรารัก วัตถุที่เรารัก ที่เราปรารถนา คิดว่าเขาผู้นั้นจะอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัย เวลาที่เรารักเลือกคนสวยที่เราพอใจ แล้วก็ไปดูหรือเปล่า ว่าคนที่เขาเคยสวยมาแล้วน่ะ แล้วก็หมดสวยน่ะ มันมีบ้างหรือเปล่า คนที่มีวัยเลยไปแล้วเนี่ยเขาสวยมั้ย ถ้าเรารักลูกสาวเขา รักลูกชายเขา แล้วก็ดูพ่อดูแม่ดูปู่ย่าตายายของเขา ว่าถ้าหากว่าสภาวะของเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ เขาหาเรื่องแต่งงานไม่ได้ เพราะแก่โครกแก่ครากแบบนั้น ไม่มีใครเขาแต่งงานด้วย

    สิ่งที่เขาจะแต่งงานด้วย ก็ต้องเป็นคนสวยคนดี มีร่างกายแข็งแรงพอ มีความเอิบอิ่มของขันธ์ ๕ แต่เวลานี้เรากำลังรักลูกหญิงลูกชายของเขา อยากจะได้มีคู่ครอง หรือว่าร่างกายของเขาสง่าผ่าเผย มีความสวยสดงดงาม เฉพาะสตรีมีความอ่อนช้อย หน้าหวานพูดดีพูดไพเราะ

    สภาพอย่างนี้ ที่เรามองเห็นมันหลอกหลอนเราเอง ใครหลอก เราหลอก ไม่ใช่ชาวบ้านเขาหลอก เราหลอกเขา เขาหลอกเรา ต่างคนต่างหลอกกัน ร่างกายของเราเต็มไปด้วยความสกปรก ข้างในไม่ต่างกับส้วมเคลื่อนที่ ร่างกายสุภาพบุรุษหรือสตรีที่เรารักก็มีสภาพเหมือนกัน แต่เราก็ตั้งหน้าตั้งตาหลอกคนอื่น เอาผ้าผ่อนท่อนสไบเครื่องแพรพรรณทั้งหลายมาหุ้มกายให้มันเก๋ แต่งหน้าแต่งผมแต่งเนื้อแต่งผิวแต่งพรรณ แต่งไปหาความทุกข์ ไม่ใช่แต่งไปหาความสุข

    เป็นอันว่าเราจะทำยังไงก็ตาม เขาจะทำยังไงก็ตาม ร่างกายมันก็โทรมเข้าไปหาคนที่แก่กว่าเราอยู่เสมอ ในเมื่อร่างกายมีสภาพอย่างนี้ ในที่สุดไปถามมนุษย์ตนใดซิว่า มีอายุมาถึงโกฎิปีล้านปีมีมั้ย มันก็ไม่มี ไปถามคนทุกคนสิว่า ปู่ย่าตายายญาติผู้ใหญ่ขึ้นไปถึงทวดเทิดน่ะมีมั้ย เขาจะบอกว่าญาติของเขามี แล้วก็ไปถามตัวเขาอีกที ว่าญาติผู้ใหญ่ของท่านมีเวลานี้ท่านมีชีวิตอยู่บ้างหรือเปล่า เขาก็จะบอกว่าตายไปหมดแล้ว

    นี่เป็นกฎของความจริงที่บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ภิกษุสามเณรจะต้องคิดถึงคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ร่างกายเราก็ดี ร่างกายเขาก็ดี วัตถุธาตุทั้งหมดก็ดี ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด และร่างกายของแต่ละร่างกายก็เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก มันไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราเสียจริงๆ

    ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง วันนี้ว่ากันแค่อสุภกรรมฐานอย่างเดียวพอ พิจารณาอสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติ พิจารณาให้เห็นตรงให้เห็น เกาะติดมันจริงๆ เกาะติดตามสภาพความจริงของมัน ลืมอารมณ์หลังที่เรามีความหลง เห็นคนสวย พยายามไปดูถึงบ้าน ในเวลาที่เขาไม่แต่งตัว ไปดูเวลาที่เขาถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ มันน่ากินน่าดื่มมั้ย นั่นน่ะคนสวยที่เราคิดว่าสวย ก็คือคนซวย มันจะสวยตรงไหนเต็มไปด้วยความสกปรก จะเอาคำว่าสวยมาจากไหน

    ถ้าจะถามว่าคนซวยคือใคร ก็คือเรา เรามันซวย เพราะว่าเห็นคนที่สกปรกหาว่าเป็นคนสวย เห็นคนที่มีสภาวะร่างกายไม่ทรงไว้ซึ่งความจีรังยั่งยืน หาว่ายั่งยืน เขาเป็นเช่นใด เราก็เป็นเช่นนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เรายังจะโง่ เข้าไปรักร่างกายที่มีความสวยสดงดงามตามที่เราคิดด้วยความโง่อีกหรือ เราจะหลงในวัตถุที่เขาแต่งด้วยสีสันวรรณะให้เห็นว่าสวยสดงดงาม แต่เนื้อแท้จริงๆ มันเต็มไปด้วยความผุพังเก่าคร่ำคร่าภายใน มันเดินทางเข้าไปหาความสลายตัวของมัน เรายังพอใจอยู่หรือยังไง

    เป็นอันว่าปลงอารมณ์ใจคิดไว้อย่างนี้ ว่าร่างกายของเราก็ดี ของเขาก็ดี มันเต็มไปด้วยความสกปรก และก็ยังไม่มีการจีรังยั่งยืน มันทรุดมันโทรมมันจะสลายตัวไปทุกวัน ในที่สุดเราก็กลายเป็นผีที่ไม่มีใครปรารถนา เมื่ออานาปานุสสติกรรมฐานคือลมปราณสิ้นไป ใครเล่าเขาจะต้องการ

    ดูตัวอย่างนางสิริมา สวยแสนสวย แต่ทว่าพอตายแล้วสามวัน องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาทรงนำพระไปเยี่ยมศพ การเยี่ยมศพของพระพุทธเจ้ามีความหมายที่ให้บรรดาพระท่านทั้งหลายมีความเข้าใจในขันธ์ ๕ ว่ามันสกปรก ในที่สุดประกาศขายนางสิริมาพันบาท พันกหาปนะ ไม่มีใครซื้อ ถ้ายกให้เปล่าๆ นางเน่าแล้ว ไม่มีใครซื้อ ยกให้และแถมเงินให้อีก ก็ไม่มีใครซื้อ นั่นเพราะอะไร ตอนที่นางสิริมามีลมปราณ เธอเป็นหญิงที่มีความสวยงามมาก เป็นที่ต้องตาต้องใจของบรรดาแขกเมืองทั้งหลาย แต่ว่าตายไปแล้วสามวันมีสภาพอย่างนั้น

    สำหรับการพิจารณาแบบนี้ ขอท่านทั้งหลายทำใจสลับกันระหว่างสมาธิกับการพิจารณา ถ้าพิจารณาไปอารมณ์มันซ่าน เราก็ถอยหลังเข้ามาจับอารมณ์ให้ทรงตัว คือทิ้งการพิจารณาเสียมาจับอานาปานุสสติกับพุทธานุสสติควบกัน สลับกันไปสลับกันมาแบบนี้

    ในที่สุดจิตใจของพวกท่าน ก็จะเกาะติดอยู่ในอารมณ์ของอสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติ และสักกายทิฎฐิ เป็นตัวตัดกิเลสในด้านของราคะจริต คือกามราคะจะค่อยๆ สลายตัวไป และขอให้ท่านทั้งหลายจงลืมความหลังที่เราเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีความจีรังยั่งยืน มีความสวยสดงดงาม ที่เราน่ารัก น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ จงทำกำลังใจของท่านยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริงตามที่กล่าวมา

    มองดูเวลาก็หมดเสียแล้วสำหรับวันนี้ สำหรับอสุภสัญญา กับกายคตานุสสติ กับสักกายทิฎฐิ วันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะเห็นว่าเวลานั้นเป็นภาวะอันสมควร สำหรับท่าน สวัสดี

    — จบตอนที่ ๘ พระสกิทาคามีมรรค —
     
  10. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
    ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
    ตอนที่ ๙ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๑


    ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย สำหรับเวลานี้ ท่านทั้งหลาย ได้พากันสมาทานศีล พากันสมาทานพระกรรมฐานแล้ว แล้วก็ท่านทั้งหลายกำลังจะสดับคำแนะนำในการเจริญพระกรรมฐาน ก่อนที่ท่านจะสดับการเจริญพระกรรมฐาน ขอท่านทั้งหลายจงนึกถึงคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในตอนที่พระองค์ทรงประกาศไว้ในวันกลางเดือนสามที่เรียกกันว่าวันมาฆบูชา

    วันนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า
    ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่เธอจะไปประกาศพระศาสนาในที่ใดๆ ขอจงใช้คำสอนให้เหมือนกันทั้งหมด นั่นก็คือ
    หนึ่ง สัพพปาปัสสะ อกรณัง เธอจงแนะนำบรรดาประชาชนทั้งหลายให้ละความชั่วทั้งหมด
    สอง กุสลัสสูปสัมปทา เธอจงแนะนำให้เขาทุกคนสร้างแต่ความดี
    สาม สจิตตปริโยทปนัง จงให้ทุกคนทำอารมณ์ใจให้ผ่องใส
    เอตัง พุทธานะสาสะนัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทรงตรัสอย่างนี้เหมือนกันหมด

    เป็นอันว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมสุคตที่ทรงสอนไว้นี้ ขอบรรดาท่านทั้งหลายจงจำไว้สอนตัวเอง จงอย่าคิดว่าเราจะไปเป็นครูของใคร การที่เป็นครูชาวบ้านมันเป็นของไม่ยาก แต่ว่าเป็นครูตนเองนี่เป็นของยาก ก่อนที่เราจะเป็นครูเขา เราต้องดีเสียก่อน ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระชินวรคือพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงยังไม่สามารถจะทำลายกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานเพียงใด องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ไม่ทรงสอนคนอื่น

    ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายจงจำพุทธภาษิตไว้ว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงพยายามตักเดือนตนเองไว้เสมอ

    สำหรับวันนี้ ก็จะขอพูดถึงสกิทาคามีมรรคที่ยังค้างอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสกิทาคามีมรรคนี่ เราต้องทำกันหลายจุด และก็ต้องมีอารมณ์เข้มแข็งกว่าพระโสดาบัน สำหรับพระโสดาบันนั่นรู้สึกว่าเป็นของง่ายๆ มีอะไรไม่ยาก ที่เราไม่สามารถจะทรงกันไว้ได้ก็เพราะใจของเรามันเลว ถ้าใจของเรามันไม่เลว พระโสดาบันก็เหมือนกับกล้วยสุกที่ปอกเปลือกแล้ว และก็ใส่ปากอยู่แล้ว เหลือแต่ว่าจะกลืนกินเมื่อไหร่เท่านั้น

    สำหรับสกิทาคามีนี่ ความจริงเป็นอารมณ์ที่ก้าวเข้าไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่ามีหลายท่านที่ได้พระโสดาบันแล้ว ก็ไม่ทราบว่าตนเองเป็นพระสกิทาคามี อนาคามีเมื่อไหร่ นั่งมานั่งไป พิจารณามาพิจารณาไปถึงอรหัตตผล รู้สึกตนเมื่อถึงอรหันต์เสียแล้ว อันนี้มีเยอะ ท่านที่จะได้ตามลำดับเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา แล้วถึงอรหันต์ อันนี้มีน้อย ส่วนใหญ่บางท่านกลับไม่รู้ว่าเป็นพระโสดาบันเมื่อไหร่ มารู้ตัวเอาเมื่อเป็นอรหันต์เสียแล้ว อย่างนี้มีมาก

    แต่ก่อนที่จะพูดถึงอย่างอื่น ก็ขอเอาข้อปลีกย่อยเล็กน้อย แต่ว่ามีความสำคัญ มาแนะนำท่านเสียก่อน นั่นก็คือ เวลาเจริญพระกรรมฐาน เราก็จำที่จะต้องตามใจของใจ แปลกไหม คือว่าเราต้องตามใจใจ คือตามอารมณ์ที่มันต้องการในขณะนั้น

    ในบางขณะอารมณ์ของเราต้องการสงบสงัด มันไม่ต้องการภาวนา ก็จงอย่าฝืนภาวนา หรือว่าอย่าฝืนพิจารณา มันอยากสงัดก็ให้สงัดด้วยกำลังฌาน รู้ลมหายใจเข้าออก เมื่อรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ถ้าจะภาวนาก็ใช้ศัพท์สั้นๆ คือใช้ศัพท์ว่าพุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ

    ถ้ามันไม่อยากจะขยับเขยื้อน ไม่อยากจะเคลื่อนไปด้านพิจารณาก็ปล่อย อย่าฝืน ถ้าฝืนแล้วผลจะเสีย ในเมื่อมันเป็นฌาน ก่อนที่มันจะเป็นฌานเราตั้งใจไว้ยังไง ตั้งใจคิดไว้ว่ากามฉันทะ คือ มีรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส เราไม่พึงปรารถนา จิตมันทรงฌาน มันจะมีกำลังตัดจุดนั้นของมันไปเอง ไม่ต้องไปวิตกกังวลว่า วันนี้เราไม่มีโอกาสพิจารณา ผลของการพิจารณาจะหย่อนลงไปไม่ต้องคิด เพราะว่าจิตมันทำกิจของมันเองโดยเฉพาะอยู่แล้ว

    และอีกประการหนึ่ง ถ้าวันใดหรือเวลาใด ถ้าจิตมันต้องการใช้อารมณ์คิด เราก็คิดอยู่ในขอบเขตของพระกรรมฐาน อย่าคิดให้นอกลู่นอกทาง มันอยากจะคิดก็ปล่อยคิด บางทีมันก็อยากจะคิดเสียจนกระทั่งไม่อยากจะมาจับอารมณ์ทรงตัวก็ปล่อยมัน เวลานั้นจิตมันใช้ปัญญาหรือว่าปัญญามันหลักแหลมขึ้น เพราะอำนาจจิตที่เป็นกุศล

    ตอนต่อที่จะพูดอย่างอื่นต่อไปขอย้ำสักนิดหนึ่ง ว่าอารมณ์ใจของเรานี่ ให้มันทรงอยู่ในด้านของสมาธิจิต คือคติที่ผมเคยพูดว่า เอาลัทธิของผู้คนในป่าที่เขาสอนกันมา เขาบอกว่า มึงมากูมุด มึงหยุดกูแหย่ มึงแย่กูตี มึงหนีกูตาม ความจริงคติของเขาดี แต่ทว่าเขาไปใช้ในการรบกัน มันก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาทำได้อย่างนั้นจริงๆ บทชนะของเขาก็มี เพราะนั่นเป็นความฉลาดที่เราคาดไม่ถึง

    มึงมากูมุด หมายความว่า ถ้าข้าศึกมาหลบเสีย ข้าศึกก็ทำอันตรายไม่ได้
    มึงหยุดกูแหย่ นั่นหมายความว่า ถ้าข้าศึกเผลอ เราก็แหย่ ก็โจมตีเก็บเล็กเก็บน้อย ทำลายกำลังของข้าศึก
    ถ้า มึงแย่กูตี หมายความว่า ถ้าเขาเข้าถึงความยับเยินเมื่อไหร่ แย่กำลังอ่อนเมื่อไร โหมกำลังให้หนักตีให้พับ
    มึงหนีกูตาม เมื่อเขาแพ้ตามติดประหัตประหารให้ใกล้ชิดทำลายให้หมด

    ถ้ากองทัพใดกองทัพหนึ่งใช้คติแบบนี้เป็นปกติ แล้วสามารถปฏิบัติได้ กองทัพนั้นมีทางเดียวคือความชนะ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า ผมเอาเรื่องนี้มาพูดทำไม เราเป็นทหารอะไร ของใคร ไปรบกับใคร ผมก็ต้องตอบว่า เราเป็นทหารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กองทัพนี้เขาเรียกกันว่ากองทัพธรรม มีพระพุทธเจ้าเป็นจอมทัพ เรารบกับใครยังงั้นหรือ ผมก็ขอตอบว่า เรารบกับความชั่วคือกิเลส กิเลสก็คือความชั่วนั่นเอง

    เวลาที่เราจะรบกับความชั่ว กิเลสมีเท่าไหร่ไม่ต้องคำนึงถึง กิเลสที่เราจะรบกัน เวลานี้ก็คือความรักสวยรักงาม ซึ่งมันเป็นอารมณ์ค้านกับความเป็นจริง คำว่าสวยว่างาม ไม่ว่าวัตถุธาตุหรือสิ่งที่มีชีวิตในโลกนี้ มันมีที่ไหน ขอท่านทั้งหลายที่รับฟัง กรุณาหาสิ่งที่มันไม่สกปรกในโลกนี้ มาให้ผมดูด้วย เพราะว่าเวลานี้ผมโง่จริงๆ โง่มากที่ไม่เคยเห็นคน ไม่เคยเห็นสัตว์ ไม่เคยเห็นวัตถุธาตุ ว่ามันสวย

    อันนี้ผมพูดถึงเวลานี้นะ แล้วพวกท่านทั้งหลายอย่าไปถามว่าเมื่อเวลาที่ก่อนหน้านี้ ยังหนุ่มวัยคะนองอยู่เห็นไหม ว่ามันสวยสดงดงามมันสะอาด ตอนนั้นผมก็ต้องตอบว่าสวยทุกอย่างเหมือนกัน ผมก็เห็นเหมือนทุกๆ คนที่เขาเห็นว่าสวย เห็นสตรีเพศมีทรวดทรงดี ผิวดี วาจาอ่อนหวานเราก็รัก รักเพราะว่าเห็นว่าเขาสวย รักเห็นว่าเขาดี เห็นวัตถุธาตุต่างๆ ที่มีสีสันวรรณะลักษณะทรวดทรงดี อาการดีเราก็ชอบ ผมชอบเหมือนกัน ชอบหมด

    แต่ว่ามาตอนนี้ ยังไงไม่ทราบ มันจะแก่ลง หรือยังไงก็ไม่ทราบ มันหมดดีไปเสียหมด ดีโดยจริยาของคนมี แต่ดีเพราะความสวยมองไม่เห็น เห็นจะเป็นเพราะ แก่เกินไปตาไม่ดี แก่เกินไปหูไม่เป็นเรื่อง และแก่เกินไปกำลังใจมันต่ำ มันจึงเห็นว่าไม่ดี

    เป็นอันว่าเราใช้คติของเขาว่า มึงมากูมุด เรามุดอยู่ที่ไหน ตามปรกติที่ผมเคยแนะนำท่าน นักปฏิบัติที่เขาจะมีผล เขามุดกันอยู่เป็นปรกติ ก่อนที่มึงจะมากูก็มุด คือว่าตามปกติเราไม่ยอมให้มันมาแล้วจึงมุด ถ้ามาก่อนแล้วมุดไม่ทัน เมื่อมุดไม่ทันก็ถูกข้าศึกโจมตี

    ฉะนั้นในยามปรกติเราต้องมุดเสียก่อน มุดตรงไหน มุดเข้าไปอยู่ใต้กระโปรง ใต้กางเกงเขาอย่างนั้นรึ จะมุดเข้าไปอยู่ในถ้ำในเหว มันไม่พ้นหรอกคุณ ถ้ามุดแบบนี้ หาวัตถุเป็นเครื่องกั้นเป็นที่กำบัง ไม่พ้น ต้องหาอารมณ์ของจิตเป็นเครื่องกั้น

    มุดอันดับแรกก็คือ มุดให้จิตทรงตัวอยู่ในอานาปานุสสติกรรมฐาน พยายามรู้ลมเข้าลมออกอยู่เป็นปรกติ ถ้าเราจะภาวนาด้วย ก็ใช้ศัพท์สั้นๆ เช่น พุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ ทำอย่างนี้ให้มันทรงตัวอยู่ได้ตลอดวัน จนกว่าจะหมดเวลา เวลาที่มันหมดเป็นเวลาเท่าไร นั่นก็คือเวลาหลับ ถ้าตื่นขึ้นมาเมื่อไหร่ก็จับลมหายใจเข้าออกทรงคำว่าพุทโธ ในเมื่อจิตเราไม่ว่าง กิเลสตัวไหนจะเข้ามาแทรก นิวรณ์ตัวไหนที่จะเข้ามาทำลายจิต มันไม่มี

    วิธีมุดอย่างนี้เขาเรียกว่ามุดกลางๆ ยังไม่หลบตัวจริง หมายความว่า เรามุดไว้เสมอ ข้าศึกจะมาทางซ้าย จะมาทางขวา จะมาในลักษณะไหนก็ช่าง ฉันมุดไว้ก่อน มุดหลบนายไว้ก่อน

    สำหรับข้าศึกที่จะเข้าโจมตีเราที่มีกำลังใหญ่ มันมีกำลังสามกองทัพ คือ กองทัพราคะหรือว่าโลภะ อันนี้เป็นอันเดียวกัน หนึ่งกองทัพ กองทัพโทสะ กองทัพโมหะ สามทัพนี่แหละที่มันคอยเข้าประหัตประหารเรา กองทัพที่เราจะต้องเข้าต่อสู้อันดับแรก สำหรับสกิทาคามีมรรค เวลานี้เราพูดกันถึงเรื่องพระสกิทาคามีมรรค และก็ในหมวดของอานาปานุสสติกรรมฐาน

    ท่านที่ศึกษาหมวดนี้แล้วต้องจำให้ดี เพราะหมวดต่อๆ ไป ผมอาจจะพูดย่อหรือยาวก็ได้ตามใจผม สุดแล้วแต่ผมจะเห็นสมควร ว่าผมเห็นสมควรหรือไม่สมควร ก็ไม่ใช่เรื่องของผมโดยตรง เป็นเรื่องหลักสูตรในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้

    เวลานี้เรากำลังจะโจมตีข้าศึก หรือว่าจะมุดหนีข้าศึกคือกามฉันทะ เมื่อ ราคะได้แก่ ความรัก รักในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสในระหว่างเพศ อารมณ์ที่มั่วสุมไปด้วยกามารมณ์ อันนี้เราก็จำจะต้องมุดล่ะ

    ทีแรกน่ะมุดกลางๆ พอเจ้าราคะมันมา คือยังไง อารมณ์รักตามที่กล่าวแล้ว ย้ำกันไม่ดีเสียเวลา ถ้ามันจะมาจะทำยังไง หรือว่ามันยังไม่มา วิธีมุดที่ถูกต้องก็คือรักษาอานาปานุสสติกรรมฐานไว้ ใช้กำลังใจทรงสมาธิตามสมควร และก็มุดหลบราคะ ด้วยการพิจารณาคนก็ดี สัตว์ก็ดี วัตถุธาตุก็ดี ทั้งหมดนี้ เราเห็นว่ามันสกปรกทั้งหมด

    หาความจริง อย่าไปนึกเฉยๆ คลำตัวเรา อย่าคลำเขา คลำเขาน่ะมันคลำไม่ได้ถนัด คลำเราดีกว่า ที่พระอุปัชฌาย์บอกว่า เกศา โลมา นขา ทันตา ตะโจ ที่เป็นกรรมฐานสำคัญ ท่านทั้งหลายบวชมาแล้วเคยใช้บ้างหรือเปล่า ผมสะอาดหรือสกปรก ขนสะอาดหรือสกปรก หนังสะอาดหรือสกปรก เล็บสะอาดหรือสกปรก ฟันสะอาดหรือสกปรก ๕ อย่างนี้หาจุดให้พบ รวมความร่างกายทั้งร่างกายของเรานี่ ส่วนไหนบ้างที่มันสะอาด กรุณาหาความสะอาดให้พบ เพราะว่าคนที่พบความสะอาดในร่างกายของเรา ร่างกายของบุคคลอื่น หรือความสะอาดในวัตถุธาตุก็คือจอมโง่

    วันนี้เรายังไม่พูดถึงความโลภ นี่เราจะเป็นอนาคามี เราต้องตัดตรงนี้ ทำอารมณ์จิตให้เป็นฌาน ฌานในอะไร ฌานในอานาปานุสสติกรรมฐาน ฌานในพุทธานุสสติกรรมฐาน ซึ่งทรงเป็นตัวกลาง ต่อมาก็ให้เป็น ฌานในอสุภสัญญา และกายคตานุสสติ

    คำว่าฌานหมายถึงว่าอารมณ์ชิน มีความรู้สึกอย่างนั้นเป็นปรกติ ตลอดวันตลอดคืน ไม่ใช่เฉพาะว่าเวลาที่มานั่งฟังกัน ถ้าเอาแต่เฉพาะเวลาที่มานั่งฟังกันแบบนี้ ผมว่าขาดทุนมาก ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่า เวลามันนิดเดียว ฟังอยู่ทำอยู่ เวลา ๓๐ นาที ดีไม่ดีมันดีไม่ถึง ๕ นาทีก็เสร็จ

    เราจะต้องพิจารณาหาความจริงว่าร่างกายของเราส่วนไหนมันสะอาด อุจจาระสะอาดมั้ย ปัสสาวะสะอาดมั้ย น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองสะอาดมั้ย มันก็ทั้งหมดทั้งกาย ตรงไหนมันสะอาด เราจะหาความสะอาดไม่ได้เลย ในเมื่อความสะอาดมันไม่มี มันก็ต้องสกปรก

    เอาสิ ตอนนี้เราหาทางมุด ป้องกันข้าศึกตนนี้เรามุดเสีย มุดเอาจิตเข้าไปจับตามความเป็นจริงว่า โอหนอ ร่างกายของคนและสัตว์ วัตถุธาตุทั้งหมด มันมีแต่ความสกปรก ในเมื่อมันสกปรกอย่างนี้ เราควรจะรักมันหรือว่าเราควรจะเกลียดมัน เราก็ต้องเกลียดมัน รักมันไม่ได้ สิ่งที่เรารักคือเรารักของสวย เรารักของสะอาด เรารักของดี เราไม่ได้รักของเลว

    รวมความ มึงมากูมุด ปรกติเรารีบมุดไว้ก่อน อย่าพึ่งให้มันมา ในเมื่อมันมา เราก็มุดอีกทีหนึ่ง ไอ้ตัวราคะมันมา มุดด้วยอสุภสัญญาและกายคตานุสสติ

    ที่นี้ มึงหยุดกูแหย่ เป็นอันว่าอารมณ์ของกามฉันทะมันเริ่มหยุด ใจเริ่มชักจะไม่สนใจ เห็นคนและสัตว์เห็นว่า แหมมันสกปรกไปหมด อย่าลืมว่าตอนนี้เป็นอารมณ์ของฌาน อย่าเผลอ ถ้าเผลอคิดว่าเป็นพระอรหันต์ล่ะก็ซวยบอกไม่ถูก

    มึงหยุดกูแหย่ ก็หมายความว่า ในเมื่ออารมณ์มันหยุด ในเมื่ออารมณ์มันหยุดแล้ว ก็เสริมใช้กำลังเข้าโจมตี นั่นคือปัญญามานั่งพิจารณาว่า อสุภสัญญาคือร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุก็ดี สกปรก มันสกปรกอย่างเดียวรึ หันเข้าไปจับสักกายทิฏฐิในวิปัสสนาญาณ ว่าร่างกายคนก็ดี สัตว์ก็ดี นี่มันไม่สกปรกอย่างเดียว มันประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ทรงตัวชั่วคราว แยกออกเป็นชิ้นเป็นส่วนได้ ๓๒ ชิ้น ที่เรียกกันว่าอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ตับ ไต ไส้ ปอด เป็นต้น ผมไม่อยากจะแยก แยกเข้ามันยุ่ง ดูทีเดียวให้มันสกปรกไปหมดดีกว่า ไปไล่เบี้ยตำรา ก็รู้สึกจะเลวเกินไป มันยืดมันยาด พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ธรรมของเราไม่ใช่ธรรมอันเป็นเครื่องเนิ่นช้า

    ต่อไปเราก็มาพิจารณาว่ามันเป็นธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ สภาวะของมันเป็นยังไง หนึ่ง อนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ สอง ทุกขัง มันมีสภาพแห่งความทุกข์ สาม อนัตตา มันสลายตัว อย่างนี้เขาเรียกว่า วิปัสสนาญาณอย่างอ่อน รู้ว่ามันไม่เที่ยง รู้ว่ามันเป็นทุกข์ รู้ว่ามันเป็นอนัตตา

    ถ้าวิปัสสนาญาณอย่างแข็ง ก็คือว่า มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาอุปาทานสร้างขึ้น มันเกิดขึ้นมาจากความเลว ไม่ใช่เกิดขึ้นมาจากความดี เกิดแล้วก็พัง เราคือจิตที่มาสถิตในกายนี้ ไม่เป็นเรื่อง เราอาศัยเรือนร่างหรือบ้านเรือนที่สกปรกโสโครกหนัก มีสภาพเหมือนกับป่าช้าที่เต็มไปด้วยความเน่า เราไม่เอาแล้ว ไป ไม่ขอจับ เจ้าสกปรก ก็สกปรกแล้วยังโยเยแบบนี้ ไม่มีการทรงตัว ฉันขอลาแล้ว สร้างจิตให้เป็นนิพพิทาญาณ มีความเบื่อหน่าย

    ที่นี้ มึงหนีกูตาม ถ้ามันหนีออกไป หมายความว่า ไอ้เจ้ากามฉันทะมันไม่สามารถจะเข้ามายุ่งใจได้เต็มที่ เราก็ตามติดเข้าโจมตีมันอย่างหนัก มึงหนีกูตาม เราก็พิจารณาไปเลย ตามพิจารณาไปว่าโลกนี้มีอะไรทรงตัวบ้าง นี่ดีไม่ดีน่ะผมสอนคุณอย่างนี้คุณเป็นอรหันต์ ไม่แน่ ดีไม่ดีปุ๊บปั๊บคุณเป็นอรหันต์เข้าเลย นี่ผมไม่รับรองนะ ผมพูดอย่างนี้ ผมไม่มั่นใจว่าคุณจะได้อยู่แค่พระสกิทาคามี

    เราก็จับ มึงแย่กูตี ตัวสุดท้ายไปเลย ตามตีให้ยับเยิน วิธีตีให้ยับก็หมายความว่า ไอ้ขันธ์ ๕ คือร่างกายของเราก็ดี ของเขาก็ดี ปรกติมันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์ นี่เราเบื่อมันเต็มทีแล้ว มันสกปรก มันไม่มีการทรงตัว ตีให้พังว่ามันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์

    เราก็จะมองเห็นว่ามันทุกข์ทุกจุด เราจะทรงกายขึ้นมาได้นี่มันทุกข์ทุกวัน ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะการกินมันทุกข์ใหญ่ ถ้าไม่มีจะกินมันก็ทุกข์ กินเข้าไปแล้วมันก็ทุกข์ ทีนี้ของที่จะกินนี่ต้องหามา การหากินมันก็ทุกข์ หนาวนักมันก็ทุกข์ ร้อนนักมันก็ทุกข์ ปวดอุจจาระปวดปัสสาวะมันก็ทุกข์ ความปรารถนาไม่สมหวังมันก็ทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายมาถึงมันก็ทุกข์ อาการพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจมันก็ทุกข์ ความตายมันจะเข้ามาถึงมันก็ทุกข์

    ใครทุกข์ มันทุกข์หรือเราทุกข์ แต่ความจริงเราไม่ใช่มัน เราทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะเราโง่ โง่ไปยึดถือว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา เราก็ต้องควานหา ต้องตัดทุกข์ทิ้งให้ได้ ตามตีมันเลย ทุกข์มันมาจากอะไร ทุกข์มันมาจากตัณหาคือความอยาก อยากเกิด อยากมีผัว อยากมีเมีย อยากมีลูก อยากมีหลาน อยากมีเหลน อยากร่ำรวย อยากใหญ่อยากโต อยากมีชื่อมีเสียง มันตัวอยาก รวมความว่าอยากก่อให้มันมีร่างกายต่อไปอีก คืออยากก่อให้มันทุกข์ต่อไป

    อันนี้เป็นอาการของความทุกข์ ทุกข์มันมาจากตัณหานี้หนอ พระพุทธเจ้าบอกว่าจะตัดตัณหาด้วยอะไร ตัดตัณหาด้วยศีลบริสุทธิ์ ศีลของท่านมันมีอยู่แล้วสมาทานทุกวัน ถ้าหากว่าเรารักษาศีลของเราให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ศีลทรงตัวอย่างนี้ เมื่อศีลทรงตัวดี ก็เป็นเกราะอันหนึ่งที่จะป้องกันอบายภูมิ ศีลบริสุทธิ์เป็นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี เวลานี้ผมกำลังพูดกับท่านที่เป็นพระสกิทาคามีมรรค เรื่องศีลจึงไม่มีการหนักใจ

    อันนี้ อีกตัวหนึ่งที่จะเข้ามาทำลายตัณหาคือสมาธิ สมาธิก็คือมีอารมณ์ทรงตัว
    ทรงตัวอยู่ในศีลเป็นปรกติ เรียกว่า สีลานุสสติกรรมฐาน
    ทรงตัวอานาปานุสสติปรกติ เรียกว่า อานาปานุสสติกรรมฐาน
    ทรงตัวอยู่ในพุทธานุสสติ ภาวนาอยู่เรื่อยๆ จัดว่าเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน
    จิตเห็นสภาวะต่างๆ เป็นของเน่าเฟะเละไม่ดี เป็น นิพพิทาญาณ จัดว่าเป็น อสุภกรรมฐาน กับ กายคตานุสสติกรรมฐาน

    จนกระทั่งอารมณ์เกิดความเบื่อหน่ายจริงๆ เมื่อเห็นคนก็เบื่อ เห็นสัตว์ก็เบื่อ เห็นวัตถุธาตุก็เบื่อ เพราะมันหาความสวยสดงดงามตามความปรารถนาที่ต้องการไม่ได้ มันเบื่อ นั่งก็เบื่อ นอนก็เบื่อ หลับก็เบื่อ ตื่นก็เบื่อ เบื่อหมด เห็นคนสวยอยากจะอาเจียน เห็นคนแต่งหน้าแต่งตา แต่งผิว แต่งพรรณ แต่งอะไรต่ออะไร มันนึกสงสาร ว่าโอหนอ นี่เขาแต่งไปหาความทุกข์กันทั้งนั้น เขาไม่ได้ทำเพื่อความสุข เขาเกิดมาเพื่อการสร้างทุกข์แท้ๆ อารมณ์ใจเราก็หดหู่ หดหู่มีความสะอิดสะเอียน มีความปรารถนาไม่ต้องการอยู่เสมอ อย่างนี้เรียกว่านิพพิทาญาณ นี่เรียกว่าเราตามตีให้มันพังไปเลย

    มองดูเวลาท่านทั้งหลายหมดเสียแล้ว อยากจะพูดถึงสังขารุเปกขาญาณ ยังพูดไม่ถึง เป็นอันว่าจุดนี้เราระงับกันเพียงเท่านี้ นับต่อแต่นี้ไปขอท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าท่านจะเห็นว่าเวลาเป็นกาลเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร สวัสดี

    — จบ ตอนที่ ๙ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๑ —
     
  11. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
    ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
    ตอนที่ ๑๐ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๒


    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายและพระโยคาวจรทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งท่านพระภิกษุสามเณรทั้งหลาย เวลานี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ก็เป็นวาระที่ท่านทั้งหลาย จะเริ่มใช้อารมณ์จิตของท่านให้เป็นประโยชน์ เพื่อตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน

    สำหรับเมื่อวันวานนี้ กระผมได้พูดถึงเรื่องของ นิพพิทาญาณ ในหมวดของอานาปานุสสติกรรมฐาน ความจริงก็ยังไม่จบ แต่ทว่าจะขอย้อนรอยถอยหลังสักนิดหนึ่งว่า การเจริญพระกรรมฐานที่จะให้ได้ดี ไม่ใช่ว่าเราจะตั้งหน้าตั้งตาทำแต่สมาธิอย่างเดียว หรือว่าจะทำแต่วิปัสสนาญาณอย่างเดียว ถ้าทำแบบนี้ไม่มีผล

    การที่จะปฏิบัติให้มีผลจริงๆ นั่นก็คือ ต้องมีอารมณ์สำรวมอยู่เสมอ
    คำว่า สำรวม ก็ได้แก่ การระมัดระวัง คือ
    หนึ่ง ระวังศีล อย่าให้บกพร่อง
    สอง ระวังสมาธิ อย่าให้เคลื่อน
    สาม ระวังปัญญา อย่าให้ใช้ไปในด้านของอกุศล
    ถ้าท่านทั้งหลายระวังอยู่อย่างนี้เป็นปรกติ ผลแห่งการปฏิบัติไม่เป็นของยาก

    และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิทธิบาท ๔
    ฉันทะ มีความพอใจในอารมณ์กรรมฐานที่เราจะพึงปฏิบัติ
    วิริยะ มีความขยันหมั่นเพียร รุกไล่กิเลสให้มันพินาศไป
    จิตตะ สนใจในเรื่องการเจริญกรรมฐานโดยตรง
    วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาควบคุมจิต ว่าเวลานี้จิตของเราตกอยู่ในสภาวะอะไร ตกอยู่ในสภาพของกุศลหรืออกุศล
    เป็นอันว่าถ้าท่านทั้งหลายมีอิทธิบาท ๔ ครบถ้วน การเจริญกรรมฐานเป็นของไม่ยาก

    และประการต่อไปก็คือ การเข้าใจ ฟังแล้วคิด คิดแล้วทดลองในการปฏิบัติ การทดลองในการปฏิบัติต้องเป็นการทดลองอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำเล่น หากว่าท่านทั้งหลายทำได้อย่างนี้เป็นปรกติ ก็เป็นอันว่าการเจริญกรรมฐานเป็นเรื่องเล็กไม่ใช่เรื่องใหญ่

    ต่อนี้ไป ก็จะขอเตือนบรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย ว่าการเจริญกรรมฐานที่ดีจริงๆ เราต้องมีศีลบริสุทธิ์เป็นปรกติ อย่าใช้อารมณ์ที่เป็นอกุศลภายนอก กายวาจาให้อยู่ในธรรม อย่าทำกายวาจาให้เข้าไปถึงด้านอกุศล นั่นแสดงว่าจิตมันเลว ถ้าจิตดี กายวาจามันก็ดี ถ้าจิตเลว กายวาจามันก็เลว เราเกิดมาเวลานี้เราต้องการความดีหรือว่าต้องการความเลว ถ้าเราต้องการความดี ก็พยายามทรงความดีไว้ เอาจิตใจคุมไว้ในด้านของความดี วิธีปฏิบัติพระกรรมฐานให้ใช้อารมณ์พิจารณากับอารมณ์ทรงตัวสลับกันไป

    เพราะวันนี้จะพูดถึงสังขารุเปกขาญาณ วิธีทรงตัวก็คือ ควบคุมอารมณ์ใจให้เป็นสมาธิตามที่ท่านปรารถนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทนี้เป็นบทของอานาปานุสสติกรรมฐาน

    และก็อานาปานุสสติกรรมฐานนี่ ท่านจะทำกรรมฐานหมวดใดก็ตาม จะต้องใช้อานาปานุสสติกรรมฐานขึ้นต้นไว้เสมอ ถ้าหากว่าท่านทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานเมื่อไร นั่นหมายความว่ากรรมฐานของท่านจะสลายตัว คือ ศีลก็ไม่ทรงตัว ศีลที่ทรงตัวเขาเรียกว่าสีลานุสสติกรรมฐาน สมาธิก็ไม่ทรงตัว สมาธิทรงตัวเขาเรียกจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณมันก็ไม่เกิด

    นี่เราจะต้องคุมอารมณ์สมาธิ วิธีการคุมอารมณ์สมาธิก็มีทั้งสองแบบ แบบที่หนึ่งคือ ทรงอารมณ์จิตให้หยุด คำว่าหยุดหมายความว่า ใช้คำภาวนาหรือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไว้เป็นปรกติ โดยไม่คิดถึงอารมณ์อื่นใด อย่างนี้เรียกว่าทรงให้หยุด และสมาธิในด้านของการหยุด คือ จิตมันหยุดคิดเรื่องอื่น คิดเฉพาะกิจที่เราจะพึงกระทำ คือคิดถึงคำภาวนา คิดถึงลมหายใจเข้าออกโดยเฉพาะ คำว่าหยุดนี่ไม่ใช่หยุดเลย หยุดอารมณ์อื่น คือทรงอารมณ์ไว้โดยเฉพาะ นี่เป็นแบบหนึ่ง

    อีกแบบหนึ่ง ก็ใช้การพิจารณาในด้านกรรมฐานที่จะพึงมีสำหรับการภาวนา หรือว่าด้านวิปัสสนาญาณ คือพิจารณานะครับ ไม่ใช่ภาวนา พิจารณาใคร่ครวญหาเหตุหาผล หาผลเพื่อการละ เมื่อการพิจารณามันเฟื่องเกินไป จิตจะฟู จะออกนอกลู่นอกทาง ก็ทิ้งการพิจารณาเสีย หันเข้ามาจับอารมณ์หยุด คือ อานาปานุสสติควบกับคำภาวนา ว่ายังไงก็ได้ตามใจท่าน จนกระทั่งจิตทรงอารมณ์ตัวดีแล้ว ก็มีความเยือกเย็นดี คลายอารมณ์มาใช้การพิจารณา ถ้าทำสลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ ความเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์เป็นของไม่ยาก อย่าลืมว่าทุกท่านต้องมีอิทธิบาท ๔ ครบถ้วน

    วันนี้ขอย้อนรอยถอยหลังไปหานิพพิทาญาณสักนิดนึง ความจริงวิปัสสนาญาณนี่มี ๙ แต่ผมนำมาพูดกับพวกท่านเพียง ๒ ก็เพราะว่าเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่หนัก และก็มีความสำคัญน้อย ความสำคัญใหญ่ในด้านการปฏิบัติ เราก็จับนิพพิทาญาณให้ได้

    วันนี้พูดกันถึงว่าสกิทาคามีมรรค ในด้านของกามฉันทะ เราหาทางตัดกามคุณ โดยอารมณ์ที่เห็นว่ารูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ เป็นของดี เรามานั่งพิจารณากันดูว่ามันดีจริงๆ หรือว่ามันเลว สิ่งที่เราปรารถนานั่นคืออะไร สิ่งที่เราปรารถนาจริงๆ คือความผ่องใสของรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส

    รูปสวย เราชอบ เสียงเพราะ เสียงที่ไพเราะเป็นประโยคจับใจ เราชอบ กลิ่นหอม เราชอบ รสอร่อย เราชอบ สัมผัสเป็นที่ถูกใจ เราชอบ แต่ว่าสิ่งที่เราชอบนั้น มันทรงตัวหรือเปล่า มันจะทรงตัวสวยสดงดงามอยู่ตามนั้น มันจะหอมหวลยวนใจอยู่ตามนั้น มันจะมีรสอร่อยในการสัมผัสอยู่ตามนั้น มันมีมั้ย มีอะไรบ้างในการทรงตัวแบบนี้

    ในที่สุดเราก็มองเห็นว่ามันไม่มี ไม่มีอะไรทรงตัวเป็นปรกติ มันมีการเคลื่อนไปเพื่อสลายตัว รูปสวยเดี๋ยวก็เศร้าหมอง เสียงเพราะผ่านไป เสียงของบุคคลคนเดียวกัน เดี๋ยวก็เพราะ เดี๋ยวก็ไม่เพราะ เวลาเขารักเขาชอบใจ เสียงมันก็เพราะ เวลาเขาโกรธหรือเขาเกลียด เสียงมันก็ไม่เพราะ กลิ่นก็เช่นเดียวกัน มันจะหอมตลอดกาลตลอดสมัยได้ไหม มันก็หอมไม่ได้ หอมผ่านจมูกไปแล้วก็หายไป ดีไม่ดีเก็บไว้นานๆ กลายเป็นกลิ่นเหม็น รสที่สัมผัสปลายลิ้นกับกลางลิ้น พอถึงโคนลิ้นมันก็หายไป

    การสัมผัสระหว่างเพศ เราปรารถนากันมากว่ามันเป็นสุข แต่ดูคนที่เขามีคู่ครอง เขาสร้างสุขหรือเขาสร้างทุกข์ ความเป็นอิสระของเราไม่มี ถ้าเรามีคู่ครอง เพราะว่าจะต้องมีความห่วงใยในคู่ครองเป็นปรกติ ถ้ามีลูกหลานเหลนขึ้นมาเป็นยังไง ถ้าสภาพของบุคคลที่เป็นคู่ครองของเรา เขาจะสาว เขาจะหนุ่ม สวยสดงดงามตลอดเวลาหรือเปล่า อย่าลืมมองดูคนแก่บ้าง คนที่แก่น่ะเขาหนุ่มเขาสาวกันมาแล้วทั้งนั้น แต่ในที่สุดเมื่อสภาพความแก่เกิดขึ้น มันมีสภาวะเป็นอย่างไร

    นั่งมองโลกนี้ว่ามันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การมีคู่ครองเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นึกเอาเอง เพราะว่าทุกคนมีปัญญา ว่ากันโดยนัยแล้ว ไม่มีอะไรทรงตัว มันมีสภาพนำมาซึ่งความทุกข์ แล้วมันน่ารักน่าปรารถนา แล้วก็น่าเบื่อ ใช้ปัญญาพิจารณาดูให้ดี เป็นอันว่าเบื่อ ท่านจะเบื่อหรือไม่เบื่อ แต่ผมเบื่อ ผมถือว่าผมเบื่อแล้ว และก็เบื่อถึงที่สุดของจิต ไม่เคยคิดไม่เคยปรารถนา เพราะว่าเห็นคนก็เหมือนเห็นซากศพ เห็นวัตถุที่มีอาการผ่องใส ก็สลดใจว่ามันผ่องใสไม่นาน เพราะว่าเห็นมันมามาก ผ่านชีวิตมาหลายสิบปี มีความเข้าใจดีในเรื่องนี้

    นี้สำหรับท่านจะเบื่อหรือไม่เบื่อ เมื่อนิพพิทาญาณเกิดขึ้น ก็มีหลายคนอยากจะตาย หากว่าท่านจะถามผมว่าอยากตายมั้ย เวลานั้นมันอยากตายจริงๆ เห็นคนเลวเบื่อ เห็นสัตว์เลวเบื่อ เห็นวัตถุธาตุทั้งหลายเบื่อ เห็นบริวารเลวก็สะอิดสะเอียน เห็นเพื่อนเลวก็รังเกียจ รวมความว่าเราหาคนดีกันไม่ได้

    คำว่าหาคนดีกันไม่ได้ บางทีเขามีนิสัยดี มีจริยาดี มีจิตซื่อตรง แต่ร่างกายของเขามันไม่ดี ร่างกายของเขามันเดินเข้าไปหาความผุความพัง เดี๋ยวก็เป็นโรคอย่างนั้น เดี๋ยวก็มีอาการอย่างนี้ ความแปรปรวนมันเกิด เลยพบความไม่ดี ก็เลยเบื่อ

    บริษัทบริวารก็เหมือนกัน ทุกคนเขาอาจจะเป็นคนดี แต่เขาเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้จริงจัง ไม่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย เพราะว่าเขาต้องตกอยู่ในสภาพของ อนิจจัง-หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง-ความทุกข์มันยุ่งกับเขา อนัตตา-ในที่สุดเขาก็ตาย เป็นอันว่าที่พึ่งของเรา จะพึ่งใครก็ตาม เขาก็แก่ลงไปทุกวัน เขาก็ป่วยทุกวัน เขาก็ตายทุกวัน เป็นอันว่าเราก็จำจะต้องเบื่อ เพราะสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรารัก มันมีสภาพเป็นอย่างนั้น เขาเองเขาก็ไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่ากฎธรรมดามันบังคับ

    ในเมื่อความเบื่อเกิดขึ้นมากๆ ก็อยากจะตาย ในสมัยพระพุทธเจ้า พระจ้างปริพาชกฆ่าเสียหลายสิบองค์ ให้ฆ่าตนและก็ให้เครื่องบริขารเป็นเครื่องรางวัล ฉะนั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมารจึงได้ทรงแนะนำว่า ท่านทั้งหลายเมื่อพิจารณากายแยกออกเป็นชิ้นเป็นส่วนแล้ว จงรวมเข้าไว้ก่อน คำว่ารวมเข้าไว้ก่อนก็หมายความว่า อย่าเพิ่งทิ้งมัน ถ้าถึงเวลา มันพังของมันเอง ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา นั่นก็คือใช้สังขารุเปกขาญาณ

    ถ้าเป็นญาณในโลกียฌาน เราเรียกว่า อุเบกขา แปลว่าวางเฉยในอารมณ์ แต่ว่าในด้านวิปัสสนาญาณ เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ คือ ใช้ปัญญารู้ตามความจริง แล้วก็มีความวางเฉยในเรื่องของขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ของเรา ขันธ์ ๕ ของเขา เราก็เฉยหมด เฉยเพราะว่าอะไร

    เพราะว่ามันจะพังก็ช่างมัน มันไม่พังก็ช่างมัน มันจะหนุ่มก็ช่างมัน มันจะสาวก็ช่างมัน มันจะป่วยก็ช่างมัน มันจะแก่ก็ช่างมัน มันจะตายก็ช่างมัน ทำไมจึงช่าง ก็เพราะธรรมดาเขาเป็นอย่างนั้น ทำจิตของเราให้สบาย ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ถือว่าธรรมดามันเป็นอย่างนี้ เราไม่มีทางจะเลี่ยง อาการมันเกิดขึ้น จิตเราไม่วุ่นวาย จะเกิดยังไงก็ช่าง ถือว่าขันธ์ ๕ อันนี้ไม่ช้ามันก็พัง พังเมื่อไหร่เราไปนิพพานเมื่อนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราก็หันเข้ามาถึงเรื่องกามฉันทะ ในสกิทาคามีมรรคและสกิทาคามีผล เรายังตัดกันไม่ได้เด็ดขาด ในเรื่องกามฉันทะ หรือโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ แต่ก็บรรเทาลงมาก คล้ายๆ กับจะได้อานาคามีผล

    ที่นี้วิธีที่เราจะระงับมันได้จริงๆ อย่าลืมว่า ต้องใช้กรรมฐาน หนึ่ง กายคตานุสสติและอสุภกรรมฐาน ประจำใจไว้เสมอ ให้มีความรู้สึกทรงตัว เรื่องความรักในเพศหยุดที เรียกว่าหยุดกันเสียที เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นปัจจัยของความทุกข์ สิ่งที่เรารักมันสกปรก ตามที่พูดมาแล้วอย่าย้ำให้มากเลย ในเมื่อมันสกปรกโสโครกอย่างนั้น จะเอาอะไรมาดี

    แล้วก็นำมรณานุสสติกรรมฐานเข้ามา ว่าคนที่เรารักนี่ไม่ช้าก็ตาย ตายแล้วมันน่ารักตรงไหน เป็นอันว่าคนที่เรารัก ก็คือเรารักส้วมเคลื่อนที่นั่นเอง มันเต็มไปด้วยความสกปรก เต็มไปด้วยความโสโครก และในที่สุดก็ต้องมาเป็นผีตาย และร่างกายของเราก็มีสภาพอย่างนั้น ในเมื่อเรากับเขามีสภาพเสมอกัน ต่างคนต่างสกปรก ต่างคนต่างไม่ทรงตัว ต่างคนต่างตาย จะมานั่งรำพึงรำพันด้วยความรักมันด้วยประโยชน์อะไร ใจก็วางเฉย

    จะมายังไงก็ช่าง เห็นคน ทำจิตให้สภาพเหมือนเห็นศพ เห็นผิวพรรณก็ดูภายใน แม้แต่ผิวพรรณเขาก็สกปรก มันไม่ได้สะอาด ที่นี้สภาวะของจิตมีความเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายนี่มันท้อแท้ใจ เราก็ทำใจวางเฉยในสังขารุเปกขาญาณ ว่าสภาพความสกปรกอย่างนี้ สภาพวุ่นวายของความรักอย่างนี้ มันไม่มีสำหรับเราแล้ว เราจะไปยุ่งอะไร ใครจะมา ใครจะไปยังไง เราก็เฉย

    อันดับแรกอยู่ลืมว่า มึงมากูมุด คำว่ามึงมากูมุด มึงหยุดกูแหย่ มึงแย่ก็ตี มึงหนีกูตาม มึงมากูมุดนั่น หมายถึงว่า ถ้าเห็นว่าสภาวะที่เราจะพึงรับเป็นกามฉันทะ เราก็มุดเข้าไปหา อสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติ แล้วจับสักกายทิฏฐิ เห็นว่าร่างกายมันไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร เป็นธาตุ ๔ ที่ตัณหาสร้างขึ้น ใช้เป็นเรือนร่างชั่วคราว ใจก็มีอารมณ์สบาย เมื่อจิตมีอารมณ์สบาย ใจมันเฉย อารมณ์มันเบา

    อย่าลืมนะครับ อารมณ์ของสมถะที่เป็นฌาน มันก็มีสภาพคล้ายๆ ความเป็นอรหันต์เหมือนกัน แต่อารมณ์หนัก แนบแน่น หนักหน่วง แต่อารมณ์ตัดจริงๆ เป็นอารมณ์เบา มีความสบายๆ เฉยๆ เหมือนกับไม่มีอะไรมาถ่วงใจ ใจเบา ใจสบาย ความรักในระหว่างเพศมันไม่มี

    อาการอย่างนี้เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ ในเฉพาะกามฉันทะที่เราจะพึงตัด แต่อย่าลืมว่าอารมณ์ของพระสกิทาคามี ยังตัดกามฉันทะไม่ได้เด็ดขาด แต่ทว่าก็สามารถที่จะระงับอารมณ์ไว้ได้มาก นานๆ จะมีอารมณ์เกิดสักครั้งหนึ่ง ในเรื่องของการมีความรู้สึกในกามารมณ์

    นี้เป็นอันว่าเราเข้าถึงสังขารุเปกขาญาณ อารมณ์ใจสบาย สบายในตอนนี้เรียกว่าเบาลงไปมาก ความรู้สึกในระหว่างเพศ มันจะมีขึ้นมาบ้างสำหรับพระสกิทาคามี แต่ว่ามีแล้วมันถอยหลังเร็ว ถอยไปไหน มันหลบเข้าไปหาอสุภสัญญา อย่าลืมนะขอรับ อันนี้ต้องทำกันให้ชิน จะว่าเห็นหรือไม่เห็น มีความรู้สึกเท่ากัน ถ้าอารมณ์รักเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ผลักให้มันล้มไปเมื่อนั้น

    ใจเรา ผมอยากจะพูดว่า คำว่า มึงมากูมุด เราควรจะพูดใหม่ว่า กูมุดตั้งแต่มึงยังไม่มา มุดตรงไหน มุดเข้าไปอยู่ในอสุภสัญญา คือ ในอสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติ จิตจับอารมณ์ให้ทรงตัวไว้ นั่งนึก นอนนึก จิตพิจารณาอยู่ว่า ใครหนอในโลกนี้ที่จะมีร่างกายสะอาด ร่างกายของบุคคลใดที่เป็นปัจจัยของความสุข มันไม่เป็นปัจจัยของความทุกข์

    สมมติว่าเราจะมีคู่ครองสักคน ปรกติในยามเช้าตื่นขึ้นมา เราเข้าห้องน้ำห้องส้วม ไม่เข้าไม่ได้ เสร็จแล้วล้างปากล้างหน้า ต่อมาก็รับประทานอาหาร ทำกิจการงานทุกอย่างก็จะหมดวัน เมื่อสิ้นวันสิ้นเวลาแล้ว เราก็นอนพัก สิ้นงาน ตื่นมาก็ทำงานใหม่ ที่นี้เราจะหาคู่ครองสักคน ที่ได้มาครองแล้วงานทุกอย่างไม่ต้องทำ หน้าไม่ต้องล้าง ปากไม่ต้องล้าง ข้าวไม่ต้องกิน มันสะอาดผ่องใส มันอิ่มอยู่ตลอดเวลา เรามีคู่ครองแล้ว เราจะต้องไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ถ้าหาได้อย่างนี้แล้วก็ควรจะหา

    ถ้าบังเอิญหาไม่ได้อย่างนี้ เราก็มุดอยู่ในอสุภสัญญากับกายคตานุสสติกรรมฐาน บวกกับสักกายทิฏฐิ เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเขา ไม่ช้ามันก็พัง เราติดอยู่ในร่างกาย ในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ ก็ชื่อว่าเราติดอยู่ในทุกข์ เราหาความสุขไม่ได้ จนกระทั่งมีอารมณ์ใจเย็น เย็นสบาย ไม่วิตกไม่กังวลเรื่องความรักในระหว่างเพศ ไม่วิตกไม่กังวลในเมื่อพบรูปสวย เราก็เห็นว่ามันไม่สวย ฟังเสียงไพเราะ เราเห็นว่ามันเป็นอนัตตา มันหายไป กระทบกลิ่นที่หอมหวานหอมหวลยวนใจ เราก็ถือว่ากลิ่นเดี๋ยวก็หายไปด้วยอำนาจของลม

    แล้วหากว่าจะมีการสัมผัส ก็ถือว่านี่เรากระทบซากของผี แต่จิตใจของเรายิ้มอยู่เสมอ ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นมาร ที่เราเรียกกันว่ากิเลสมาร จนกระทั่งจิตใจของบรรดาพวกท่านทั้งหลาย นานๆ จะมีอารมณ์ราคะเกิดสักครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมีความรู้สึกตัว จิตบอกว่านี่มึงมาอีกแล้วหรือ เจ้าภัยใหญ่ เจ้าตัวร้าย มาอีกแล้วหรือ จิตมีความรู้สึกอย่างนี้ ในที่สุดอารมณ์ก็สิ้นไป

    เมื่อความรักในเพศ หรือความรักในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เกิดขึ้นเมื่อใด อารมณ์ใจคือปัญญา โผล่ขึ้นมาตัดทันทีทันใด อย่างนี้เราเรียกกันว่าสกิทาคามีผลในด้านของราคะจริต จิตที่มีความรักสวยรักงาม แต่ยังนะขอรับ ยัง ยังไม่เต็มสกิทาคามีดี เพราะเราเริ่มตัดกันเพียงแค่ราคะ แต่ก็อย่าลืมว่าถ้าเราจะตัดกิเลสตัวใดตัวหนึ่ง ที่มันเป็นตัวนำ ในราคะก็ดี ในโลภะก็ดี ในโทสะก็ดี ในโมหะก็ดี ถ้าตัวใดตัวหนึ่งมันพังลงไปแล้ว ทุกตัวมันก็พลอยพังด้วย เพราะมันไม่สามารถจะช่วยกันพยุงได้

    รากเหง้าของกิเลสทั้งหลาย องค์สมเด็จพระจอมไตร กล่าวว่ามีอยู่ ๓ คือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือว่าโลภะ โทสะ โมหะ มันเป็นโต๊ะ ๓ ขา ในเมื่อมันหักไปสักขา อีก ๒ ขาก็ไม่สามารถจะยันได้ฉันใด รากเหง้าของกิเลสทั้ง ๓ ประการนี่ก็เช่นเดียวกัน หากว่าท่านทั้งหลายทำลายราคะเฉพาะตัวนี้ให้พินาศไป จนกระทั่งกำลังใจทรงเป็นอุเบกขาญาณ ไม่หวั่นไหวในรูปเสียงกลิ่นรสและสัมผัส อย่างนี้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสวัสดิโสภาค ระวังให้ดีนะครับ บางทีท่านไม่อยู่แค่สกิทาคามี และบางทีท่านก็ไม่อยู่ในเขตพระอนาคามี ดีไม่ดีปุบปับเป็นอรหันต์ทันที

    เอาละสำหรับวันนี้ มองดูเวลาก็หมดแล้ว ขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จงพากันตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามที่ท่านเห็นว่าสมควรแก่เวลา ถ้าชอบใจอย่างไหน ทำอย่างนั้น ชอบใจอิริยาบถอย่างไหน ทำอย่างนั้น เรื่องอิริยาบถนี่บอกกันมาเป็นปรกติ ว่าจะนั่งก็ได้ จะนอนก็ได้ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ แต่ก็ยังมีหลายรายไม่มีความพอใจ เป็นที่น่าเสียดาย เอาละเวลาหมดแล้ว สำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


    — จบ ตอนที่ ๑๐ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๒ —
     
  12. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน
    ในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑
    ตอนที่ ๑๑ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๓


    สำหรับบัดนี้ ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานพระกรรมฐานและสมาทานศีลแล้ว บทว่า อิมาหัง ภควา อัตตภาวัง ตุมหากัง ปริจัชชามิ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่ได้ยินเสียงอย่างนี้และท่านว่าตามอย่างนี้ ความรู้สึกของท่านเป็นยังไง ท่านว่าตามไปตามประเพณี หรือว่า ว่าไปด้วยความตั้งใจ หวังจะอุทิศชีวิตและร่างกายเป็นการบูชาพระรัตนตรัยหรือเปล่า

    สำหรับคำนี้เป็นเครื่องวัดกำลังใจของท่าน เพราะว่าคนที่จะเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะเป็นพระโสดาบัน มีความเคารพในพระพุทธเจ้าจริงๆ มีความเคารพในพระธรรม มีเคารพในพระสงฆ์จริง คือมั่นคงในคุณพระรัตนตรัยทั้งสามประการจริง และก็มีศีลบริสุทธิ์จริง มีอารมณ์จับพระนิพพานจริง นี่เป็นอาการของพระโสดาบัน

    เมื่อคติเข้าถึงพระโสดาบันแล้วก็ บรรเทาความรัก บรรเทาความโลภ บรรเทาความโกรธ บรรเทาความหลง คำว่าบรรเทาความรัก ก็หมายความว่า มีรักอยู่ในขอบเขตของศีลธรรม รักกันเฉพาะคู่ตัวผัวเมีย นี่ผมหมายถึงความรักในด้านกามารมณ์ จิตใจไม่ไปยุ่งกับคนอื่น ด้านความโลภ พระโสดาบันยังมีการอยากรวย แล้วรวยอยู่ในขอบเขตของศีล รวยอยู่ในขอบเขตของระเบียบประเพณี ไม่อยากรวยนอกรีตนอกรอย พระโสดาบันยังมีความโกรธ ที่ว่าบรรเทาความโกรธ ก็เพราะว่าได้แต่โกรธ ประทุษร้ายเขาไม่ได้ พระโสดาบันยังมีความหลง เพราะว่ายังรักสวยรักงาม ยังมีความรัก ยังมีความอยากรวย ยังมีความโกรธ จึงชื่อว่ามีความหลง

    แต่ถึงกระไรก็ดี พระโสดาบันยังมีความดีอยู่มาก คือ หนึ่งไม่ลืมความตาย ไม่ประมาทในชีวิต ประการที่สองมีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระอริยสงฆ์อย่างจริงจัง ไม่สักแต่ว่าทำความเคารพ และมีศีลบริสุทธิ์ จิตมีความสงบ รักพระนิพพานเป็นอารมณ์

    ที่นำมาพูดนี้เพราะว่าสงสัย สงสัยว่าคนในกลุ่มของเราบางคน จะมีนิสัยประเภทเพียงสักแต่ว่าจับปลายรูป คอยแต่ตำหนิติเตียนคนอื่น แต่ตนเองไม่มีความดีพอ คนที่ชอบตำหนิคนอื่นน่ะ แสดงว่าจิตใจมันเลวจัด ถ้าใจของเราไม่เลว มันก็ไม่อยากจะติใคร กิเลสบางประการก็สักแต่เพียงว่าทำสีหลอกชาวบ้าน ทำเหมือนว่าฉันนี่เป็นปราชญ์ เป็นคนดีมีความรู้ มีการบรรลุมรรคบรรลุผล แต่จิตใจของตนยังประกอบด้วยความเลวทราม แม้แต่การเคารพในพระรัตนตรัยก็ยังไม่มี นี่จุดนี้เป็นจุดสำคัญ คือเป็นจุดบอดสำหรับบุคคลที่เกิดมาแล้ว

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราได้ฟังคำสอนกันทุกๆ วัน วันละหลายเวลา แต่จิตของเรายังไม่บรรเทาความรักในระหว่างเพศ ไม่บรรเทาความโลภ ไม่บรรเทาความโกรธ ไม่บรรเทาความหลง แสดงว่าเราเป็นอาภัพพะบุคคล เป็นบุคคลที่หาความดีไม่ได้ ที่พระพุทธเจ้าไม่ต้องการ ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายจงระมัดระวังจิตใจของท่านในเรื่องนี้ให้มาก อย่ามีความประมาท เกิดมาเป็นคนแล้ว จงอย่ากลับลงไปเป็นสัตว์นรก เพราะว่าถ้าอยู่แดนอย่างนี้ ถ้าลงก็ลงลึก เพราะว่าชาวบ้านเขาคิดว่าเราดี

    ต่อแต่นี้ไปก็มาพูดกันถึงเรื่องพระสกิทาคามีมรรค สกิทาคามีมรรคในด้านอสุภสัญญาหรือว่าในด้านความรักในระหว่างเพศ ผมพูดมายาวไปหน่อย แต่ทั้งๆที่ยาวนี่ความจริงมันก็ยาวมาหลายปีแล้ว ถ้าจะเอาเรื่องนี้มาพูดกัน มาต่อกันทุกๆ ปีหรือทุกคราวที่ผมพูด มันก็จะกลายเป็นหนังสือเล่มใหญ่ แต่ทว่าอาศัยบุคคลบางคนที่มีน้ำใจหยาบ เป็นอาภัพพะบุคคลไม่ได้รู้เรื่องนี้เสียเลย เป็นที่น่าเสียดาย คือความรักกับความโลภนี่มันตัวเดียวกัน

    วันนี้ก็จะขอพูดเรื่องความโลภสำหรับพระสกิทาคามี ที่เรียกว่าปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความเป็นพระสกิทาคามี เขาเรียกว่าสกิทาคามีมรรค จิตดวงนี้ แต่ความจริงเนี่ย เราตัดความรักในระหว่างเพศเสียได้ ความโลภมันก็ขาด ความโลภ หรือความโกรธ ความหลง มันก็มีกำลังเบาไปเสมอๆ กัน แต่เพื่อความเข้าใจของบรรดาท่านทั้งหลาย ก็จะขอนำมาพูดไว้

    แต่ความจริงถ้าผมเองล่ะผมไม่อยากฟัง เพราะว่าผมไม่ได้ศึกษามามากอย่างพวกท่านศึกษากัน ผมศึกษามาตามปรกติ ครูบาอาจารย์สอนเล็กน้อยผมก็พยายามทำให้มันได้ จุดใดที่อาจารย์สอนถ้าเรายังทำไม่ได้เราก็ไม่เข้าไปหาครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่ผมก็นำมาจากตำรับตำรา ผมไม่ได้กวนอาจารย์มาก ถ้าส่วนใดในตำราที่ผมดูแล้วไม่เข้าใจ นั่นถึงจะเข้าไปหาครูบาอาจารย์ แต่ถ้าส่วนใดมีตำราอยู่แล้ว เราก็ปฏิบัติไป มันจะผิดหรือมันจะถูก จึงเข้าไปหาครูบาอาจารย์ใหม่ โดยการซักซ้อมผลแห่งการปฏิบัติ ส่วนใหญ่เราก็ปฏิบัติถูก แต่มันมีส่วนหยาบ ท่านก็เตือนเข้าไปหาส่วนละเอียด มันก็เป็นการเตือนเล็กน้อย อย่างนี้เราก็ทำกันได้

    รวมความว่า การที่เราทำกันจริงๆ เราจับสักกายทิฐิตัวเดียว แล้วก็เอาสังโยชน์ทั้งสิบประการเป็นเครื่องวัดใจ เขาทำกันแค่นี้ เขาไม่ได้ทำกันมากกันมาย ผลที่มันจะพึงได้ ก็คือผลที่เราต้องการ แล้วก็เป็นผลที่พระพุทธเจ้าต้องการ นี่พูดกันถึงคนดี คนรู้จริง สำหรับคนเอาจริง นี้สำหรับผมพูดนี่ผมพูดเผื่อว่าไม่รู้ แต่ความจริงมันก็หนามากนะ ถ้าไม่รู้แบบนี้หนามาก ฟังกันมานานแล้ว ตำรับตำรามีอยู่ เทปมีฟัง และก็ฟังฟรีกันตลอด ถ้ายังไม่เข้าใจ ยังลดไม่ได้ล่ะก็ นิมนต์สึกไปเถอะถ้าเป็นพระ เป็นพระเป็นเณรนิมนต์สึกไปเถอะ ไม่มีอะไรจะดีหรอก

    ตอนนี้มาพูดกันตามจุดของพระสกิทาคามีมรรค ในเมื่อความโลภนี่เราบรรเทากันมาได้แล้วจากพระโสดาบัน จริยาของพระโสดาบัน ก็ดูตัวอย่างนางวิสาขามหาอุบาสิกา และท่านอนาถปิณฑิกะเศรษฐี ท่านทั้งสองนี้เป็นผู้บรรเทาความโลภ

    ความจริงท่านเป็นมหาเศรษฐี งานในยามปรกติในการทำมาหากินของท่าน ท่านก็ทำมาหากินเป็นปรกติ ไม่ใช่ว่าพอเจริญวิปัสสนาญาณเข้ามาแล้ว แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ เจริญสมถะวิปัสสนารักษาศีลทำอะไรไม่เป็น เขาไม่ใช่ยังงั้น เขาทำกินกันตามปรกติ เพราะว่าร่างกายมันจะต้องกิน จะต้องมีของใช้ เพราะร่างกายมันจะต้องใช้ แต่ว่าจิตใจของเขามีความรู้สึกอยู่อย่างเดียว คือตายแล้วเลิกกัน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราทำ เพราะความจำเป็น จำใจ เพราะร่างกายมันมี

    ให้ทราบว่าพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ยังมีงานทำ เพื่อความเป็นอยู่ของขันธ์ ๕ และก็เพื่อความเป็นสุขของสังคม นี่เขาไม่ได้นั่งคิดจะมาร่ำมารวยกัน พอถึงพระสกิทาคามีนี่ เขาทำกันยังไง ความโลภมันถอยหลัง มันถอยหลังกลับไป ที่เราเรียกว่ามึงมากูมุด อันนี้พอถึงความเป็นพระอริยเจ้าแล้ว มีงไม่มากูก็มุด ความจริงระบบนี้เราก็ควรจะมุดมา ตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นพระอริยเจ้า ถ้าก่อนเป็นพระอริยเจ้าเราไม่มุด ก็ตั้งหน้าตั้งตาสู้กับความโลภมันก็เสร็จ

    ทีนี้ตอนมาถึงพระสกิทาคามี ปฏิบัติในตอนนี้ ความรวยในยามปรกติที่เราหาได้ ก็เกิดความพอ ความดิ้นรนในลาภสักการะ เหลือน้อยเต็มที แต่ว่างานทุกอย่างทำตามหน้าที่ มีนาอยู่ร้อยไร่ เราก็ยังทำเต็มร้อยไร่ ลงทุนเพื่อการค้าขายเท่าไหร่ เราก็ยังลงทุนอยู่ ถือว่าทำตามหน้าที่ แต่ว่าปราศจากความคดโกง ปราศจากการทุจริต การยื่นโยนสงเคราะห์ในการให้ทาน อย่างนางวิสาขามหาอุบาสิกากับท่านอนาถปิณฑิกะเศรษฐี ท่านสงเคราะห์ด้วยดีทุกอย่าง

    ตามพระบาลีท่านกล่าวว่า ท่านทั้งสองนี้ในยามที่เข้าไปสู่วัด จะมองเห็นมือท่านเป็นผู้มีมือเปล่าไม่มี ในตอนเช้าหรือก่อนเที่ยง ท่านจะมีอาหารไปถวายพระ เวลาเข้าไปวัด เวลาในเวลาวิกาล ก็จะมีเภสัชเข้าไปเสมอ สำหรับการให้ทานของท่านทั้งหลายพวกนี้ ท่านให้ไม่หวังผลตอบแทน ให้เพื่อเป็นการหวังในการสงเคราะห์ จิตคิดจะละโมบโลภมากไม่มี มีจิตดวงเดียวคือการให้

    ทว่าการให้ของพระอริยเจ้านี้ท่านเลือกบุคคลที่จะให้ พระสงฆ์ชื่อว่าปุญญักเขตตัง เป็นเนื้อนาบุญของโลก แต่ทว่าถ้านาเลว ท่านก็ไม่ให้เหมือนกัน อย่างภิกษุโกสัมพีไม่เชื่อในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทะเลาะกันแตกร้าวกัน บรรดาพระอริยเจ้าที่เป็นฆราวาสทั้งหลายไม่ยอมใส่บาตรเด็ดขาด พระพวกนั้นจะได้กินอยู่บ้าง ก็ชาวบ้านที่เป็นปุถุชนคนหนาแน่นไปด้วยกิเลส ที่ถือกันว่าชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์ เห็นว่าหัวโล้นห่มผ้าเหลืองก็ใช้ได้ แบบนั้นเป็นแบบที่ส่งเสริมผู้ทำลายความดีของพระศาสนา เรียกว่าส่งเสริมโจรผู้ปล้นพระศาสนา ฆราวาสผู้นั้นก็ทำไม่ถูกเหมือนกัน อย่างนี้พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ

    ในขณะที่บรรดาภิกษุชาวโกสัมพี จะไปขอขมาโทษต่อพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวันมหาวิหาร ตอนนั้นท่านอนาถปิณฑิกะเศรษฐีท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านขออนุญาตองค์สมเด็จพระพิชิตมาร จะไม่ยอมให้พระบรรดาทั้งหลายพวกนี้เข้ามา เห็นมั้ย ว่าพระอริยเจ้าน่ะเขาไม่ได้เคารพส่งเดช ไม่ใช่ว่าสักแต่ว่าโกนหัวโกนคิ้วห่มผ้าเหลืองเขาก็ไหว้ เขาเลือกที่ไหว้ เขาจึงเป็นพระอริยเจ้าได้ ฉะนั้นการให้ก็เหมือนกัน การให้ของพระอริยเจ้า ย่อมให้ไม่หวังผล แต่ทว่าการให้ประเภทนั้น ก็จะต้องดูคนว่าเป็นบุคคลผู้ควรให้หรือไม่

    เป็นอันว่าสำหรับเรื่องสกิทาคามีมรรคในเรื่องทานนี่ ผมจะไม่พูดอะไรมาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าท่านตัดราคะมาเสียได้แล้ว หรือบรรเทาเสียจนกระทั่งมันสยบ เรื่องโลภะความโลภ มันจะมาจากทางไหน ก็จะทรงไว้แต่เพียงอาชีพที่มีความสุจริต แต่ก็ไม่ใช่ขี้เกียจ ยังหาเพิ่มเติมตามความจำเป็น แต่ว่าจิตใจของท่านไม่ผูกพันในทรัพย์สิน

    จะยกตัวอย่างจริยาของบุคคลในปัจจุบัน ที่การบริจาคทานของท่านผู้นี้ มีจริยาคล้ายพระอริยเจ้า นี่ฟังกันให้ดีนะ ผมไม่ได้บอกว่าคนพวกนั้นเป็นพระอริยเจ้า เขาจะเป็นกันหรือไม่เป็นผมไม่รู้ เพราะว่าผมไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่ผมจะบอกว่าเขาพวกนั้นบริจาคทานในการสงเคราะห์คล้ายพระอริยเจ้า นั่นก็คือคนในคณะกรรมการเจ้าหน้าที่ศูนย์ของเรา เจ้าหน้าที่ในศูนย์ของเรานี่ ผมก็นับตัวไม่ถ้วนเหมือนกันว่าใครบ้าง หรือว่าบุคคลที่เขาสงเคราะห์เข้ามาในศูนย์ของเรา คือคำว่าศูนย์ของเรานี่ เป็นศูนย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ขอร้องให้ผมตั้งขึ้น ศูนย์นี้ต้องชื่อว่าเป็นศูนย์ของพระองค์ ไม่ใช่ศูนย์ของผม

    ถ้าศูนย์ของผมน่ะผมทำมานานแล้ว แต่มันเตาะแตะๆ คล้ายกับเด็กสอนเดิน ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขอร้องให้ตั้งขึ้น แล้วพระองค์ก็ทรงพระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มาหนึ่งแสนบาท เป็นการเริ่มต้นของศูนย์ ต่อมาก็ทรงพระราชทานอีกสองครั้ง เฉพาะเงิน รวมแล้วสองแสนเศษเกือบสามแสน แล้วยังมีสิ่งของที่คนอื่นเขาโดยเสด็จพระราชกุศลอีกมากมาย เมื่อใครเขามอบของก็ทรงพระราชทานส่งมาให้ ฉะนั้นศูนย์นี้จึงชื่อว่าเป็นของพระองค์

    นี่การพระราชทานทรัพย์สงเคราะห์กับคนยากจนในถิ่นทุรกันดารหรือไม่กันดารก็ตาม อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี และก็เช่นกับบุคคลทั้งหลายที่เขาสงเคราะห์ร่วมมากับสงฆ์ก็ดี เจ้าหน้าที่ทั้งสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษที่ช่วยเราทำงานทุกอย่าง เธอทำงานกันไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย ไม่มีสินจ้างรางวัลใดๆ และก็สละทรัพย์ส่วนตน เสียค่ารถ ค่าพาหนะ ค่าอาหาร ในการมาทำการช่วยจัดการงานของศูนย์ก็ดี หรือว่าไปช่วยแจกของกับคนที่ยากจนในถิ่นทุรกันดารก็ดี เธอทั้งหลายเหล่านั้นไม่เคยเอาเปรียบศูนย์

    คำว่าเอาเปรียบศูนย์ก็หมายความว่า ไม่ทำงานแต่ว่ารับเงินค่าจ้าง นี่เงินค่าจ้างพวกเธอเองทั้งหมดไม่เคยรับ ผมก็ไม่เคยให้ และนอกจากเธอจะทำงานกันอย่างแข็งแรงอย่างคาดไม่ถึง ก็ยังเสียสละทรัพย์ส่วนตัว ร่วมกิจการของสงฆ์ในการแจก นอกจากนั้น ค่ารถ ค่าพาหนะต่างๆ ค่าโดยสาร ที่ต้องเช่ารถเขาไป เธอก็ออกกันเอง ค่าอาหารการบริโภคเธอก็ออกกันเอง แล้วเราไปดูน้ำใจของบุคคลทั้งหลายเหล่านี้ ที่เขาทำ เขาทำน่ะเขาหวังผลตอบแทนหรือเปล่า ที่เป็นวัตถุ ว่าการให้แล้วคนพวกนี้จะต้องมายกมือไหว้มาขอบคุณ ขอบคุณแล้วต้องชำระหนี้ จะต้องเอาของมาให้เป็นการตอบแทน เพราะการให้แก่คนทั้งหลายเหล่านั้น เราไม่รู้จักมาก่อน การที่จะไปทวงบุญทวงคุณนั้น มันเป็นไปไม่ได้

    ก็ต้องดูตัวอย่างน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมาชิกคือบุคคลผู้มีศรัทธาสงเคราะห์ศูนย์ก็ดี เจ้าหน้าที่ของศูนย์ของเราก็ดี ที่ทำงานกันเป็นสาธารณะประโยชน์โดยไม่หวังผลตอบแทน จริยาการให้ทานแบบนี้ เป็นจริยาของพระอริยเจ้า ถ้าจะกล่าวกันไปก็มีจริยาคล้ายกับจริยาของ นางวิสาขามหาอุบาสิกา หรือท่านอนาถปิณฑิกะเศรษฐี

    ถ้าอารมณ์แห่งการให้มีอย่างนี้ล่ะก็ ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนอย่างหนึ่ง นี่ประการหนึ่ง เด็กของเราหลายคน มีน้ำจิตน้ำใจเป็นกุศล ถึงกับอยากจะลาออกจากราชการ มาทำงานของศูนย์ ที่ไม่มีผลตอบแทน ไม่มีเงินเดือน ไม่มีเบี้ยเลี้ยง นี่พวกเธอเสียสละกันขนาดนี้ น้ำใจอย่างนี้แหละ เป็นน้ำใจที่ตัดโลภะ ความโลภ และเป็นน้ำใจที่ตัดความโลภเช่นเดียวกับพระอริยเจ้าทั้งหลาย

    ฉะนั้นผมจะไม่แนะนำอะไรมาก หากว่าท่านไม่เข้าใจล่ะก็ จงดูตัวอย่างบรรดาเด็กหญิงและเด็กชาย ของเราผู้ชายน้อย ผู้หญิงมาก เด็กๆ ที่มาทำงานเพื่อศูนย์ ทำงานสงเคราะห์คนผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร ถึงวันเวลา บางคนก็รับราชการมีหน้าที่ตำแหน่งสูง จนถึงเป็นถึงนายพล แต่เขาทุกคนผู้นั้นเวลาทำงานก็ทำงานอย่างกุลี เข้าไปคลุกคลีกับคนทุกคน อย่างไม่ถือเนื้อถือตัว ไม่แสดงความรังเกียจว่าคนทั้งหลายเหล่านั้น จะเป็นคนจนจะมีฐานะเช่นใด ใจของท่านทั้งหลายพวกนั้น เต็มไปด้วยความโอบอ้อมอารี มีความเมตตาปรานี หวังในการสงเคราะห์ และก็คนทุกคนที่ทำงาน ไม่มีเงินเดือน ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ออกค่ากินเอง ออกค่าพาหนะเอง

    นี่ตัวอย่างของบรรดาท่านทั้งหลายที่ช่วยทำงานของศูนย์ เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นจริยาที่แสดงถึงว่าจิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีโลภะอันขาดแล้ว หมายความว่ามีความโลภในด้านอกุศลนั้นขาดแล้ว

    โลภะแปลว่าได้มา ต้องเพ่งเอาสองประการ คือได้มาเพราะความโลภ เป็นการทำลายความดี หรือได้มาด้วยความสุจริต ถ้าเขาได้มาด้วยความสุจริต คนเป็นพลทหาร พลตำรวจ เขาทำความดีจนกระทั่งเลื่อนขึ้นเป็นนายพล อย่างนี้ไม่ใช่ความโลภ เป็นสัมมาอาชีวะ คนที่ประกอบกิจการงานในการค้าการขาย ทำไร่ทำนาหรือว่ารับจ้าง ถ้าสร้างความดีจนมีฐานะร่ำรวย อย่างนี้ไม่ใช่ความโลภ เป็นสัมมาอาชีวะ พระอริยเจ้ายังต้องทำ

    อย่าว่าแต่พระสกิทาคามีหรือว่าพระโสดาเลย ถึงแม้พระอนาคามีก็ทำ สำหรับพระที่เป็นพระอรหันต์ท่านก็ทำ อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านสงเคราะห์บรรดาประชาชนทั้งหลาย จนกระทั่งเขามีความเลื่อมใสในพระองค์ ถวายของเข้ามาราคามากแสนมาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงรับ แต่รับแล้วองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ไม่ได้ไปสั่งสมเพื่อความอยู่เป็นสุข เพื่อความร่ำรวยแต่ผู้เดียว กลับเอาของทั้งหลายเหล่านั้นปล่อยให้เป็นสาธารณะประโยชน์เพื่อความสุขของบุคคลส่วนใหญ่

    นี่สำหรับเรื่องความโลภนี่วิธีตัด เขาก็ตัดกันด้วยการให้ทาน ไม่ใช่ตัดกันด้วยความละโมบโลภมาก อันนี้ผมพูดวันเดียว ให้ดูตัวอย่างเด็กๆ ที่มาทำงานก็แล้วกัน อธิบายไปมันก็ยุ่งพูดกันมาเยอะแยะแล้ว

    เป็นอันว่าสำหรับพระสกิทาคามี เริ่มต้นตั้งแต่พระโสดาบัน พระโสดาบันลดความโลภคือการหามาด้วยการทุจริต จะหาแต่เฉพาะสุจริตทำเท่านั้น มีจิตเมตตาปรารถนาจะเกื้อกูลบุคคลทุกคนให้มีความสุข แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน อย่างนางวิสาขามหาอุบาสิกาและท่านอนาถปิณฑิกะเศรษฐี ท่านทั้งสองนี้ให้ทานไม่จำกัด

    สำหรับท่านอนาถปิณฑิกะเศรษฐี จนลงไปถึงกับข้าวที่เป็นเม็ดไม่มีกิน มีกินเพียงข้าวปลายผสมกับน้ำผักดอง เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไป ท่านก็ไม่ลดทานของท่าน เคยถวายสงฆ์วันละ ๕๐๐ องค์เพียงใด ท่านก็ถวายเท่านั้น แม้แต่กับข้าว ข้าวมันจะไม่ดี ท่านก็เห็นว่าไม่สำคัญ ใจของท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยการให้ทาน นี่เป็นตัวอย่างว่าความโลภที่เราจะตัดกันได้ ก็เพราะอาศัยการให้ทาน จิตมีความสงสารปรารถนาในการสงเคราะห์ และการให้ทานนั้นเป็นการให้ที่ไม่หวังผลในการตอบแทน

    สำหรับโลภะนี่ผมจะไม่สอนตามลำดับ เพราะไม่เห็นมีอะไร เพราะว่าถ้าเราบรรเทาความรักในระหว่างเพศเสียได้ ก็ชื่อว่าเราบรรเทาความโลภไปด้วย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะตัวรักกับตัวโลภนี่เป็นตัวเดียวกัน ฉะนั้นวิธีที่จะสอนก็จะไม่สอนอะไรมาก ให้คิดแต่เพียงว่า จิตคิดอยู่ว่าเราจะสงเคราะห์คนและสัตว์ให้มีความสุข ไม่ใช่คิดจะเอาเปรียบจะเอากำไร การแสวงหารายได้จะหาได้โดยชอบธรรมเท่านั้น สิ่งใดที่ไม่เป็นไปโดยชอบธรรมเราจะไม่หา

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่ปฏิบัติพระกรรมฐาน เริ่มต้นตั้งแต่จะปฏิบัติพระกรรมฐานเป็นต้นมา พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่าพระโยคาวจร เป็นผู้ที่มีความประพฤติประกอบไปด้วยความดี จะต้องพยายามตัดทั้งราคะ พยายามตัดทั้งโลภะ พยายามตัดทั้งความโกรธ พยายามตัดทั้งความหลง

    เป็นอันว่าสำหรับโลภะตัวนี้ สำหรับเรื่องพระโสดาหรือพระสกิทาคามี ผมก็ยอมงดพูดแต่เพียงเท่านี้ เพราะว่าตัวอย่างมีอยู่แล้ว ถ้าจะพูดไปก็ไร้ประโยชน์ ขอย้ำอีกนิดหนึ่งว่าดูตัวอย่างพวกเด็กๆ ที่มาทำงานเพื่อศูนย์ เธอทำงานกันเหน็ดเหนื่อย เธอจ่ายของเธอเอง ค่าเดินทางมาเดินทางไป กินระหว่างทาง บางทีมาถึงที่วัด เธอก็ซื้อกินของเธอเอง และการไปแจกของเป็นส่วนสาธารณะประโยชน์ เธอก็ต้องเสียค่าพาหนะเอง แล้วเธอก็ยังเสียสละสตางค์เอามาช่วยผมอีก ก็เกรงว่าหลวงพ่อจะขาดทุน แต่ความจริงถ้าพวกเธอไม่เรียกค่าจ้างมันก็เป็นบุญอยู่แล้ว เธอยังกลัวขาดทุน นี่แสดงว่าน้ำใจของเธอพวกนี้ มีจริยาในการให้ทานคล้ายพระอริยเจ้า อย่าลืมนะ ว่าผมพูดว่าคล้ายพระอริยเจ้า ผมไม่ได้บอกว่าพวกเธอเป็นพระอริยเจ้า เพราะการจะบอกอย่างนั้นเป็นเรื่องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ผู้เดียว

    เอาละสำหรับวันนี้ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอทุกท่านพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยและตามสมควรแก่เวลาที่ท่านเห็นว่าสมควรจะเลิก สวัสดี


    — จบ ตอนที่ ๑๑ พระสกิทาคามีมรรค-ราคะ ๓ —
     
  13. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    (รออ่านต่อ)
    ตอนที่ ๑๒ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๑
    ตอนที่ ๑๓ พระสกิทาคามีมรรค-โทสะ ๒
    ตอนที่ ๑๔ พระสกิทาคามีมรรค-โมหะ
    ตอนที่ ๑๕ พระอนาคามีมรรค ๑
    ตอนที่ ๑๖ พระอนาคามีมรรค ๒
    ตอนที่ ๑๗ พระอรหัตตมรรค
    ตอนที่ ๑๘ พระอรหัตตผล (ตอนจบ)


    คัดลอกข้อความจาก หลวงพ่อฤาษีฯ สอนอานาปานุสสติกรรมฐาน « ศูนย์พุทธศรัทธา
     
  14. ชนะ สิริไพโรจน์

    ชนะ สิริไพโรจน์ ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,891
    กระทู้เรื่องเด่น:
    14
    ค่าพลัง:
    +35,260
    สาธุ ขออนุโมทนาในบุญธรรมทาน ซึ่งเป็นทานที่มีอานิสงส์สูงสุด
     

แชร์หน้านี้

Loading...