สมเด็จโตมหาปราชญ์แห่งรัตนโกสินทร์ ตอน ระงับอธิกรณ์

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 15 เมษายน 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,440
    คณาจารย์เรื่องเวทย์โดย จิเจรุนิ ตอนสมเด็จโตมหาปราชญ์แห่งรัตนโกสินทร์ ตอน ระงับอธิกรณ์
    [​IMG]
    ต่อแต่นั้นมา ท่านก็มีชื่อเสียงในทางเทศน์ ตัดทอนธรรมะให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรองสำนวน เพราะเทศน์อย่างคำไทยตรงๆ จะเอาข้อธรรมอะไรแสดง ก็ง่ายต่อผู้ฟังดังประสงค์ อย่างที่ถวายในวังสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา ผู้ฟังชมว่าดี เกิดโอชะในธรรมสวนะได้ง่าย โลกนิยมเทศน์อย่างนี้มาก พระธรรมกิตติแสดงธรรมตามภาษาชาวบ้าน ถือเอาความเข้าใจของผู้ฟังเป็นเกณฑ์ ไม่ต้องร้อยกรอง

    ครั้นถึงปีชวด ฉศก จุลศักราช ๑๑๒๖ ปี ได้ถูกนิมนต์เทศน์หน้าพระที่นั่ง พอเข้าไปถึง พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออก จึงปราศรัยสัพยอก "ว่าไงเจ้าคุณ เขาพากันชมว่าเทศน์ดีนักนี่ วันนี้ต้องลองดู" พระธรรมกิตติ (โต) ถวายพระพรว่า "ผู้ที่ไม่มีความรู้เหตุผลในธรรม ครั้นเขาฟังรู้ เขาก็ชมว่าดี ขอถวายพระพร" พระองค์ทรงพระสรวล แล้วทรงถามว่า "ได้ยินข่าวเขาว่า เจ้าคุณบอกหวยเขาถูกกัน จริงหรือ" ทูลว่า "ขอถวายพระพร อาตมภาพได้อุปสมบทมา ไม่เคยออกวาจาว่าหวยจะออก ด กวางเหมงตรงๆ เหมือนดังบอก ด กวางเหมงแด่สมเด็จพระบรมบพิตร์พระราชสมภารเจ้าอย่างวันนี้ ไม่ได้เคยบอกแก่ใครเลย" ได้ทรงฟังแล้วทรงพระสรวลอีก แล้วทรงจุดเทียน พระธรรมกิตติจับตาลปัดแฉกขึ้นธรรมาสน์ เมื่ออาราธนาแล้ว ก็ถวายศีลแล้วถวายศักราช พอถึงปีชวด ท่านก็ย้ำ "ฉศก ฉศก ฉศก ฉศก" สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังทรงพระอักษรอยู่ ได้ทรงฟังปีชวด ฉศก ย้ำๆ อยู่นาน ก็เงยพระพักตรขึ้นพนมหัตถ์รับว่า "ถูกแล้ว ชอบแล้ว เจ้าคุณ" แต่ก่อนกาลที่ล่วงมาแล้ว เดิมเลข ๖ ท้ายศักราช เขียนและอ่านต่อๆ มาว่า "ฉ้อศก" นั้นไม่ถูก แล้วรับสั่งกรมราชเลขาให้ตราพระราชบัญญัติออกประกาศเป็นใบปลิวให้รู้ทั่วกัน ทั่วพระราชอาณาจักรว่า "ตั้งแต่ปีชวด ฉศก เหมือนศกนี้มีเลข ๖ เป็นเศษด้วย ไม่ให้เขียนและอ่านว่า ฉ้อศก อย่าเขียนตัว อ เคียง ไม้ให้เขียนไม้โท ลงไปเป็นอันขาด ให้เขียน ฉ เฉยๆ ก็พอ ถ้าเขียนและอ่านว่า ฉ้อศกอีก จะต้องว่าผู้นั้นผิดและฝ่าฝืน" กรมราชเลขาก็บันทึกและออกประกาศทราบทั่วกัน และนิมนต์ท่านเทศน์ต่อไป

    พระธรรมกิตติก็ตั้งคัมภีร์ บอกศักราชต่อจนจบ ถวายพรแล้วเดินคาถาจุณณียบท อันมีมาในพราหมณ์สังยุตตนิกายปาฏิกวรรคนั้น แปลถวายว่า ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่งแกนั่งคิดว่า "สมณํ โคตมํ อุปสงฺกมิตฺวา อิมํ ปณฺหํ ปุจฉามิ อหํ" กูจะเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้ว กูจะถามปัญหากับเจ้าสมณะโคดมดูสักหน่อย "สีสณฺหาตฺวา ปารุปนํนิวาเสตวา คามโตนิกฺขมิตฺวา เชตวน มหาวิการภิมุโข อคมาสิ" แปลว่า โสพฺราหฺมโณ พราหมณ์ผู้นั้น คิดฉะนี้แล้ว แกจึงลงอาบน้ำดำเกล้า โสพฺเภ ในห้วยแล้ว แกออกจากบ้านแก แกตั้งหน้าตรงไป พระเชตวันมหาวิหาร ถึงแล้วแกจึงตั้งข้อถามขึ้นต้น แกเรียกกระตุกให้รู้ตัวขึ้นก่อนว่า "โภ โคตม นี่แนะพระโคดม ครั้นท่านว่ามาถึงคำว่า "นี่แน่ พระโคดม" เท่านี้แล้ว ก็กล่าวว่า คำถามของพราหมณ์และคำเฉลยของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่เป็นประการใด สมเด็จพระบรมบพิตร์เจ้าได้ทรงตรวจตราตริตรองแล้ว ก็ได้ทรงทราบแล้วทุกประการ ดังรับประทานวิสัชชนามา ก็สมควรแก่เวลาแต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการดังนี้ ขอถวายพระพร พอยถาสัพพีแล้ว ก็ทรงพระสรวลตบพระหัตถ์ว่า "เทศน์เก่ง จริง พวกพราหมณ์ที่เขาถือตัวว่าเขารู้มาก เขาแก่มาก เขาไม่ไคร่ยอมเคารพพระพุทธเจ้านัก เขามาคุยๆ ถาม พอแก้รำคาญ ต่อนานๆ เขาก็เชื่อในธรรม เขาก็สำเร็จเป็นพระโสดา ที่ความดำริห์ของพราหมณ์ผู้เจ้าทิฏฐิทั้งหลายเขาวางโตทุกคน เจ้าคุณแปล อหํ ว่า กู นั้น ชอบแท้ทางความดีจริงๆ รางวัลก็ได้รับพระราชทานรางวัล ๑๖ บาท เติมท้องกัณฑ์ ๒๐ บาท รวมเป็น ๓๖ บาท (เรื่อง ฉศก เรื่องถวายเทศน์อย่างที่เรียบเรียงมานี้ พระปรีชาเฉลิม (แก้ว) เคยเล่าให้ฟังเป็นพื้นจำมีอยู่บ้าง ซึ่งได้สืบถามพระธรรมถาวรอีกท่านก็รับว่า จริง แต่เทศน์ว่าอย่างไรนั้น ลืมไป พระธรรมถาวรว่า แต่ความคิดของพราหมณ์ใช้คำว่า กู กู นี้ ยังจำได้ เจ้าคุณธรรมถาวรเลยบอกต่อไปว่า วันที่ถวายเทศน์ ฉศก นี้ และถวาย ด กวางเหมง ไว้ก่อนขึ้นเทศน์นั้นว่า วันนั้นหวยจำเพาะออก ด กวางเหมง จริงอย่างที่ท่านแก้พระราชกระทู้ว่า ไม่เคยบอกตัวตรงๆ กับใครๆ เหมือนดังบอกสมเด็จพระบรมบพิตรวันนี้ ครั้นถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีชวด ศกนี้เอง ทรงพระมหากรุณาโปรดเลื่อนสมณศักดิ์พระธรรมกิตติ (โต) ขึ้นเป็นพระเทพกวี ราชาคณะผู้ใหญ่ ในตำแหน่งสูง มีนิตยภัตร ๒๘ บาท ค่าข้าว ๑ บาท

    สิ้นข้อความในประวัติที่เจ้าของท่านเขียนไว้ในฉากที่ ๕ ในฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร ที่ได้คิดวิจารณ์ อนุมานแสวงหาเหตุผลต้นปลาย ตรวจราชประวัติและราชพงศาวดาร ประกอบกับรูปภาพในฉากนี้ ก็สิ้นข้อความในเพียงนี้

    ในประวัติของสมเด็จโต ท่านให้ช่างเขียนๆ วัดระฆัง เขียนรูปบ้านพระยาโหรา รูปเสมียนตราด้วง รูปสมเด็จพระสังฆราช (นาค) รูปพระเทพกวี (โต) รูปวัดอินทรวิหาร รูปวัดกัลยาณมิตร รูปเด็กแบกคัมภีร์ ในงานฉลองวัดทั้ง ๒ และรูปป่าพระพุทธบาท รูปป่าพระฉาย รูปพระอาจารย์เสม รูปพระอาจารย์รุกขมูล รูปเมืองเขมร รูปเสือที่ทางไปเมืองเขมร รูปจ้างเขมร ตั้งแต่ฉากที่ ๑ ถึง ฉากที่ ๑๓ – ๑๔ จะได้สันนิษฐานเป็นเรื่องดังต่อไปนี้

    ครั้นออกพรรษาในปีชวด ศกนั้นแล้ว พระเทพกระวี (โต) จึงลงมาจัดการกวาดล้างกุฏิใหญ่ ๕ ห้อง ข้างคลองคูวัดระฆังข้างใต้ แล้วบอกบุญแก่บรรดาผู้ที่มาสันนิบาต ให้ช่วยการทำบุญขึ้นกุฏิ ได้เผดียงสงฆ์ลงสวดมนต์ทั้งวัดที่กุฏินั้น ค่ำวันนั้นมีมหรสพฉลองผู้ที่ศรัทธานับถือ ลือไปถึงไหน ก็ได้มาช่วยงานถึงนั่น บรรดาผู้ที่มานั้นต่างก็หาเลี้ยงกันเอง งานที่ทำคราวนั้นเป็นงานใหญ่มาก เลี้ยงพระถึง ๕๐๐ องค์ ผู้คนต่างนำสำรับคาวหวาน เครื่องไทยทานมาถวายพระเทพกระวีแน่นวัดแน่นวา ครั้นการเลี้ยงพระเลี้ยงคนสำเร็จเรียบร้อย ท่านลงแจกด้ายถักผูกข้อมือคนละเส้น แล้วท่านบอกว่า "ดีนักจ้ะ ลองดูจ้ะ ตามประสงค์"

    ครั้นพระเทพกระวี (โต) ขึ้นอยู่บนกุฏิ ๕ ห้องแล้ว ผู้คนก็มาละเล้าละลุมเพื่อจับหวยทุกวัน ครั้นนั้นพระยาโหราธิบดี ทำบุญฉลองสัญญาบัตร พระเทพกวีก็ได้ไปสวดมนต์ไปฉัน ครั้นพระยาโหราธิบดี และเสมียนตราด้วง ปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหม (วัดอินทรวิหาร) สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระเทพกวีก็ได้ไปเทศน์ไปฉันการฉลองวัด เมื่อท่านพระยานิกรบดินทร์สร้างวัดกัลยาณมิตรแล้วก็มีการฉลอง สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระเทพกระวี (โต) ก็ได้ไปฉัน คราวพระยานิกรบดินทร์สร้างโบสถ์วัดเกตุไชโย พระเทพกระวี (โต) ก็ได้ไปเป็นแม่งานฉลองโบสถ์ มีการมหรสพใหญ่ตามภาษาชาวบ้านนอก อำเภอไชโยนั้น มีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้ขึ้นไปช่วยงานฉลองโบสถ์วัดเกตุไชโยนั้นมากท่านด้วยกัน

    ครั้นกาลล่วงมา สมเด็จพระวันรัต วัดมหาธาตุ ถึงมรณภาพแล้ว สมเด็จพระวันรัต เซ่ง วัดอรุณ เป็นเจ้าคณะกลาง ครั้งนั้นพระอันดับในวัดระฆังทะเลาะกัน และฝ่ายหนึ่งได้ตีฝ่ายหนึ่งศีรษะแตก ฝ่ายศีรษะแตกได้เข้าฟ้องพระเทพกระวี เจ้าอาวาสๆ ก็ชี้หน้าว่า "คุณตีเขาก่อน" พระองค์หัวแตกเถียงว่า "ผมไม่ได้ทำอะไร องค์นั้นตีกระผม" พระเทพกระวีว่า "ก็เธอตีเขาก่อน เขาก็ต้องตีเธอบ้าง" พระนั้นก็เถียงว่า "เจ้าคุณเห็นหรือ" พระเทพกระวีเถียงว่า "ถึงฉันไม่ได้เห็นก็จริง แต่ฉันรู้อยู่นานแล้วว่า คุณตีเขาก่อน คุณอย่าเถียงฉันเลย" พระองค์ศีรษะแตกเสียใจมาก จึงได้อุตส่าห์เดินลงไปวัดอรุณ เข้าอุทธรณ์ต่อสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) เจ้าคณะกลาง

    ส่วนสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) จึงเรียกตัวพระเทพกระวี (โต) ไปชำระตามคำอุทธรณ์ พระเทพกระวี (โต) ก็โต้คำอุทธรณ์และตอบสมเด็จพระวันรัตว่า "ผมรู้ดีกว่าเจ้าคุณอีก เจ้าคุณได้แต่รู้ว่า เห็นเขาหัวแตกเท่านั้น ไม่รู้ถึงเหตุในกาลเดิมมูลกรณี ผมรู้ดีว่า คุณองค์นั้นได้ตีคุณองค์นั้นก่อน และเขาบ่ห่อนจะรู้สึกตัว เขามามัวแต่ถือหัว หัวเขาจึงแตก"

    สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ฟังๆ ก็นึกแปลก แยกวินิจฉัยก็ไม่ออก กลับจะเป็นคนถือเอาแต่คำบอก จึงย้อนถามว่า "เจ้าคุณเห็นอย่างไร จึงรู้ได้ว่า พระองค์นี้ตีพระองค์นั้นก่อน แจ้งให้ฉันฟังสักหน่อย ให้แลเห็นบ้าง จะได้ช่วยกันระงับอธิกรณ์"

    พระเทพกระวีว่า "พระเดชพระคุณจะมีวิจารณ์ยกขึ้นพิจารณาแล้ว กระผมก็เต็มใจ อ้างอิงพยานถวาย" พระวันรัตว่า "เอาเถอะ ผมจะตั้งใจฟังเจ้าคุณชี้พยานอ้างอิงมา" พระเทพกระวีจึงว่า "ผมทราบตามพุทธฎีกา บอกให้ผมทราบว่า นหิเวรา นิวปสัมมันติ ว่า เวรต่อเวร ย่อมเป็นเวรกันร่ำไป ถ้าจะระงับเสียด้วยไม่ตอบเวร เวรย่อมระงับ นี่แหละ พระพุทธเจ้าบอกผมเป็นพยาน กระผมว่า เวรต่อเวร มันจึงทำกันได้ ผมเห็นตามคำพระพุทธเจ้าบอกผมเท่านี้ ผมจึงวิจารณ์พิจารณากล้ากล่าวได้ว่า คุณตีเขาก่อน"

    สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ชักงงใหญ่ จะเถียงก็ไม่ขึ้น เพราะท่านอ้างพุทธภาษิต จึงล้มเข้าหาพระเทพกระวี (โต) ว่า "ถ้ากระนั้น เจ้าคุณต้องระงับอธิกรณ์ เรื่องนี้ว่า ใครเป็นผู้ผิด ผู้ถูกโทษจะตกกับผู้ใด แล้วแต่เจ้าคุณจะตัดสินเถิด" พระเทพกระวีมัดคำพระวันรัตว่า "พระเดชพระคุณอนุญาตตามใจผม ผมจะชี้โทษคุณให้ยินยอมพร้อมใจกันทั้งคู่ความ ทั้งพิพากษาให้อธิกรณ์ระงับได้ ให้เวรระงับด้วย" สมเด็จพระวันรัตก็อนุญาต

    พระเทพกระวี (โต) ก็ประเล้าประโลมโน้มน้าวกล่าวธัมมิกถา พรรณนาอานิสงค์ของผู้ระงับเวร พรรณนาโทษของผู้ต่อเวร ให้โจทก์จำเลยสลดจิต คิดเห็นบาปบุญคุณโทษ ปราโมทย์เข้าหากัน ท่านจึงแก้ห่อผ้าไตรออกกับเงินอีกสามตำลึง ทำขวัญองค์ที่ศีรษะแตก แยกบทชี้เป็นสามสถาน ผู้ตีตอบเอาเป็นหมดเวร จักไม่ตีใครต่อไป ถ้าขืนไปตีใครอีก จะลงโทษว่าเป็นผู้ก่อเวร ฝืนต่อพระบวรพุทธศาสนา มีโทษหนักฐานละเมิด

    ผู้ที่ถูกตีก็ระงับใจไม่อาฆาต ไม่มุ่งร้ายต่อก่อเวรอีก "ถ้าขืนคดในใจทำหน้าไหว้ หลังหลอก เอาฉันเป็นผู้ปกครอง หรือขืนฟ้องร้องกันต่อไป ว่าฉันเอนเอียงไม่เที่ยงธรรมแล้ว จะต้องโทษฐานบังอาจหาโทษผู้ใหญ่ โดยหาความผิดมิได้ ทั้งจะเป็นเสี้ยนหนามต่อพระบวรพุทธศาสนา เป็นโทษใหญ่ร้อนถึงรัฐบาล จะต้องลงอาญาตามรบิลเมืองฯ"

    "ฝ่ายฉันเป็นคนผิด เอาแต่ธุระอื่น ไม่สอดส่องดูแลลูกวัด ไม่คอยชี้แจงสั่งสอนอันเตวาสิก สัทธิวาหาริก ให้รู้ธรรมรู้วินัย จึงลงโทษตามพระวินัยว่าไม่ควรย่อมเป็นโทษแท้ ขอคดีเรื่องนี้จงเลิกระงับไปตามวินัยนี้" พระฐานะที่นั่งฟังทั้งมหาบาเรียนและพระอันดับพระคู่ความ ก็สาธุการเห็นดีพร้อมกันอย่างเย็นใจ พระวันรัต (เซ่ง) ก็เห็นดี สงบเรื่องลงเท่านี้ฯ

    ครั้งหนึ่งพระวัดระฆัง เต้นด่าท้าทายกันขึ้นอีกคู่ พระเทพกระวี (โต) ท่านเอกเขนกนั่งอยู่นอกกุฏิท่าน ท่านแลเห็นเข้า ทั้งได้ยินพระทะเลาะกันด้วย จึงลุกเข้าไปในกุฏิ จัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พาน รีบเดินเข้าไปในระหว่างวิวาท ทรุดองค์ลงนั่งคุกเข่าไปถวายดอกไม้ธูปเทียนพระคู่นั้น แล้วอ้อนวอนฝากตัวว่า "พ่อเจ้าประคุณ พ่อจงคุ้มครองฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่า พ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้ เก่งแท้แท้ พ่อเจ้าประคุณ ลูกฝากตัวด้วย" เลยพระคู่นั้นเลิกทะเลาะกัน มาคุกเข่ากราบพระเทพกระวีๆ ก็คุกเข่ากราบตอบพระ กราบกันอยู่นั่น หมอบกันอยู่นั่นนานฯ

    ครั้งหนึ่งสมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) นิมนต์เข้าไปเทศน์ที่จวน สมเด็จเจ้าพระยาจุดเทียน พระเทพกระวีขึ้นธรรมมาสน์ ครั้นรับศีลเสร็จแล้ว พวกหัวเมืองเข้ามาหาสมเด็จเจ้าพระยา หมอบกันเป็นแถว ส่วนตัวเจ้าพระยานั้นเอกเขนกรินน้ำชาไขว่ห้างกำลังพระเทศน์ พระเทพกวีเลยเทศน์ว่า "สัมมามัวรินกินน้ำชา มิจฉาหมอบก้มประนมมือ" สมเด็จเจ้าพระยาบาดหูลุกเข้าเรือน ส่วนพระเทพกระวีก็ลงจากธรรมาสน์กลับวัดระฆัง ข่าวว่าตึงกันไปนาน

    ครั้นสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ถึงมรณภาพแล้ว พระเทพกระวีต้องเป็นผู้ใหญ่นั่งหน้า ครั้งหนึ่งเมื่อมีกิจการฉลองสวดมนต์ในพระบรมมหาราชวัง พระเทพกระวีเป็นผู้ชักนำพระราชาคณะอ่อนๆ ลงมา ครั้นสวดเสร็จแล้วยถา พระรับสัพพีแล้วสวดคาถาโมทนาจบแล้ว พระเทพกวี (โต) จึงถวายอติเรกขึ้นองค์เดียวว่าดังนี้

    อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ อติเรกวสฺสตํ ชีวตุ ทีฆายุโก โหตุ อโรโคโหตุ สุขิโต โหตุ มหาราชา สิทฺธิกิจจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ มหาราชสํ ส ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพร ดังนี้

    สมเด็จพระจอมเกล้าทรงโปรดมาก รับสั่งถามว่า แก้ลัดตัดเติมจะได้บ้างไหม พระเทพกระวี (โต) ถวายพระพรว่า อาตมาภาพได้เปยยาลไว้ในตัวบทคาถา สำหรับสมเด็จบรมพิตรพระราชสมภารเจ้าจะได้ทรงตรอกลง ตามพระบรมราชอัธยาศัยแล้ว สมเด็จพระจอมเกล้าทรงตรอกซ้ำลงตรง ฑีฆายุ อีกบันทัดหนึ่ง ทรงตรอกลงที่หน้าศัพท์ มหาราชสฺส เป็น ปรเมนทรมหาราชวรสฺส นอกนั้นคงไว้ตามคำพระเทพกระวี (โต)ทุกคำ แล้วตราพระราชบัญญัติประกาศไปทุกๆ พระอาราม ให้เป็นขนบธรรมเนียมต้องให้พระราชาคณะผู้นั่งหน้าถวายคาถาอติเรกนี้ก่อน จึงรับ ภาวตุสัพฯ จึงถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่งได้ ตลอดจนการพระเมรุ การถวายพระกฐินทานตามพระอารามหลวง ต้องมีพระราชาคณะถวายอติเรกนี้ทุกคราวที่พระราชดำเนิน จึงเป็นราชประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้แล

    ครั้นถึงปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ปี สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระเทพกระวี (โต) ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รับหิรัญบัตรมีฐานา ๑๐ มีนิตยภัตร ๓๒ บาท ค่าข้าวสาร ๑ บาทต่อเดือน สมเด็จฯ มีชนมายุ ๗๘ พรรษา ๕๖ ได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีโสกันต์ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โสกันต์คราวนี้มีเทศน์กัณฑ์เขาไกรลาส รวมที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังมาได้ ๑๕ ปี จึงได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงเทพมหานครแล

    ครั้งหนึ่งมีราชการโสกันต์ สังฆการีวางฎีกาว่าย่ำรุ่งถึง แล้วถวายพระพร ถวายชัยมงคลคาถา พระฤกษ์โสกันต์ วางฎีกาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครั้นได้เวลาย่ำรุ่งตรง ท่านก็มาถึง พระมหาปราสาทยังไม่เปิดพระทวาร สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็มานั่งอยู่บนบันไดพระมหาปราสาทชั้นบน แล้วท่านก็สวดชัยมงคลคาถาชยันโตโพธิยาลั่นอยู่องค์เดียว สามจบแล้ว ท่านก็ไปฉันข้าวต้มที่ทิมสงฆ์ แล้วท่านก็ไปพักจำวัดในโรงม้าต้น ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นเวลาสามโมงเช้า เสด็จออกจวนพระฤกษ์ สังฆการีประจุ พระราชาคณะประจำที่หมด ยังขาดแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์เดียว เที่ยวตามหากันลั่นไปหมด สมเด็จพระจอมเกล้าทรงกริ้วใหญ่ พวกทนายเลือกสนใจใน บอกต่อๆ กันเข้าไปว่าได้เห็นสมเด็จหายเข้าไปในโรงม้าต้น พวกสังฆการี เข้าไปค้นคว้าอาองค์ท่านมาได้ ช่วยกันรุนก้นดันส่งเข้าไปในพระทวาร ครั้นทอดรพะเนตร์เห็น ก็กริ้วแหว รับสั่งว่า "ถอดๆ ไม่ระวังรั้วงานราชการ เป็นขุนนางไม่ได้ แฉกคืนๆ เร็วๆ เอาชยันโตทีเดียว" ขรัวโตก็เดินชยันโตจนถึงอาสนสงฆ์ ลงเข้าแถวสวด พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงคีบพระเมาฬี พระบรมวงศานุวงศ์ก็คีบ และคีบ แลโกน เป็นลำดับไป ครั้นเสร็จแล้ว ทรงประเคน อังคาสพระสงฆ์ แล้วเสด็จเข้าในพระฉาก

    ขรัวโตฉันแล้วก็นั่งนิ่ง เสด็จออกเร่งให้ยถา ขรัวโตก็ยถา แต่ไม่ตั้งตาลิปัด เวลานั้นพระธุระมาก มัวหันพระพักตร์ไปรับสั่งราชกิจอื่นๆ พระพุฒาจารย์ (โต) ก็เดินดุ่มๆ รีบออกไปลงเรือข้ามฟาก พอแปรพักตร์ไปรับสั่งอติเรก จะรีบฯ พระราชาคณะรองๆลงมา ก็ไม่มีใครกล้า นิ่งงันกันไปหมด รับสั่งถามว่า "อ้าว สมเด็จหายไปไหน" เขาทูลว่า "ท่านกลับไปแล้ว" "อ้าวพัดยังอยู่ ชรอยจะทำใจน้อยไม่เอาพัดไป เร็ว เอาพัดไปส่ง เอาตัวมาถวายอติเรกก่อน" สังฆการีรีบออกเรือตามร้องเรียก "เจ้าคุณขอรับ นิมนต์กลับมาก่อน มาเอาพัดแฉก" ท่านร้องตอบมาว่า "พ่อจะมาตั้งสมเด็จกลางแม่น้ำได้หรือ" สังฆการีว่า "รับสั่งให้หา" ท่านก็ข้ามกลับมา เข้าทางประตูต้นสน ดุ่มๆ ขึ้นมาบนพระปราสาท แล้วรับสั่งให้ถวายอติเรกเร็วๆ ฯ ทูลว่า ขอถวายพระพร ถวายไม่ได้ฯ" รับสั่งถามว่า "ทำไมถวายไม่ได้ฯ" ทูลว่า "ขอถวายพระพร เหตุพระราชบัญญัติตราไว้ว่า ให้พระราชาคณะถวายอติเรก บัดนี้ อาตมาภาพกลายเป็นพระอันดับแล้ว จึงไม่ควรถวายอติเรก ขอถวายพระพรฯ" รับสั่งว่า "อ้อ จริงๆ เอาสิ ตั้งกันใหม่" กรมวังออกหมายตั้งสมเด็จ บอกวิเสศเลี้ยงพระอีก สังฆการีวางฎีกา เอาพระชุดนี้ก็ได้ วิเสศทำไม่ทัน ก็ทำแต่น้อย ก็ได้เพียง ๕ องค์ ศุภรัตน์เตรียมผ้าไตรตั้ง และพระไตร พระชยันโต แล้วเสด็จ พวกสังฆการีวางฎีกาพระชุดโสกันต์กำหนดเวลา เลยกลับไม่ได้

    ครั้นเวลา ๕ โมง เสด็จออกทรงประเคน พระฉันแล้ว (ประกาศตั้งสมเด็จ) ทรงประเคนหิรัญบัตร ประเคนไตร บาตร ตาลิปัด ย่าม พระชยันโต คราวนี้สมเด็จยกไตรแพรครอง กลับเข้ามาอนุโมทนาแล้วถวายอติเรก ถวายพระพรลา เป็นอันเสร็จการไปคราวหนึ่งฯ

    ครั้งหนึ่ง เข้าไปฉันในพระบรมราชวัง ได้ทรงประเคนไตรแพร ท่านก็นำไตรแพรนั้น เช็ดปาก เช็ดมือ ยุ่งไปหมด รับสั่งทักว่า "ไตรเขาดีดี เอาไปเช็ดเปรอะหมด" ท่านตอบว่า "อะไรถวายได้ ผ้าเช็ดมือถวายไม่ได้ อาตามภาพก็ต้องเอาผ้าไตรของอาตมาเอง เช็ดอาตมาเอง เป็นอันได้ บริโภคของทายกแล้ว ไม่เป็นสัทธาเทยสินิบาตฯ
    ที่มา http://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/
     

แชร์หน้านี้

Loading...