วิชาชินบัญชรอธิษฐาน.. จิตตภาวนา โดย พระอาจารย์อารยวังโส

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย pongio, 14 ธันวาคม 2014.

  1. pongio

    pongio เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    843
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +6,851
    วิชาชินบัญชรอธิษฐาน.. จิตตภาวนา โดย พระอาจารย์อารยวังโส


    สาธุชน พึงรวมจิตไว้ที่ฐานจิตฐานต่าง ๆ ตามลำดับ โดยรวมให้เป็นจุด ๆ เดียว ไม่เคลื่อนตาม ลม เข้า-ออก บริกรรมพุทโธให้นิ่ง รวมเป็นหนึ่งจากฐานจิตที่ ๑ ปากโพรงจมูก หรือ ริมฝีปากบน เมื่อรวมเป็นหนึ่ง..เคลื่อนจิตช้า ๆ ผ่านสันจมูกมาไว้ฐานจิตที่ ๒ ตรงหน้าผากระหว่างคิ้ว... เมื่อรวมเป็นหนึ่งแล้ว ให้เคลื่อนจิตไปสู่ ฐานจิตที่ ๓ บนกระหม่อมศีรษะ ตรงนี้สำคัญมากเป็นการเริ่มต้นการอธิฐานชินบัญชร ต้องรวมนิ่ง สติกำกับพุทโธรวมลงเป็นหนึ่งเดียวกลางกระหม่อมศีรษะ

    ตั้งจิตอธิษฐานว่า "ขอพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ อดีต สืบเนื่องจนปัจจุบัน จงประดิษฐานอยู่บนศีรษะของข้าพเจ้า ณ บัดนี้" โดยรวมองค์พุทโธไว้บนศีรษะของเรา แล้วอธิษฐานดำริ ๓ ครั้งที่จิต ดังในพระชินบัญชรคาถา สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา, สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน... "ขอพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงประดิษฐานอยู่บนกระหม่อมของข้าพเจ้า"... ดำริสืบเนื่องว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ๒๘ พระองค์ มีพระตัณหังกรเป็นต้น เป็นพระมุณีเจ้าผู้นำโลกทุกพระองค์ ทรงประดิษฐานอยู่บนกระหม่อมของข้าพเจ้าเถิด.. แล้วรวมพุทโธไว้บนกระหม่อมศีรษะ ... ดังพระบาลีคาถาว่า
    ตัณหัง กะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา, สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา, สีเส ปะติฎฐิโต มัยหัง พุธโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน, ขอพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่บนศีรษะของข้าพเจ้า ขอพระธรรมเจ้าประดิษฐานอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง
    เคลื่อนจิตที่ตั้งมั่นดีแล้วบนกระหม่อมศีรษะลงไปภายในกลางกะโหลกศีรษะ ประมาณ ๒-๓ นิ้ว ระดับเดียวกับดวงตาของเรา รวมให้นิ่งภายในกลางกะโหลกศีรษะ แล้วแผ่ไปที่ดวงตาทั้ง ๒ ข้าง ด้วยอำนาจจิตดำริว่า " ขอพระธรรม...จงประดิษฐานอยู่ที่ดวงตาทั้งสองของข้าพเจ้า" เพ่งรู้อยู่ที่ดวงตาทั้งสองข้างด้วยจิตที่เป็นกลาง รวมอยู่ที่พุทโธ สว่างอยู่เบื้องหน้า ...

    เคลื่อนจิตธัมโมจากดวงตากลับเข้าสู่ภายในกะโหลกศีรษะ รวมเป็นองค์พุทโธให้เป็นหนึ่งเดียว เป็นก้อนกลมสว่างอยู่ภายในกลางกะโหลกศีรษะ.. เคลื่อนมาที่อุระคือทรวงอก ตรงลิ้นปี่ที่ศูนย์กลางกาย.. จากพุทโธที่กลางกระหม่อมศีรษะ ธัมโมที่ดวงตาแปลงเป็นสังโฆตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางกายรวมจิตให้แน่วแน่ นิ่งเป็นหนึ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย

    การจะเอ่ยอ้างคุณของพระอริยสงฆ์องค์ใดก็ตาม ในความหมายธรรมก็คือให้จิต รู้ ตื่น เบิกบาน มีกำลังแห่งความศรัทธาจิตอย่างยิ่งให้องค์คุณของพระรัตนตรัย.. จะเคลื่อนไปตำแหน่งใด ก็ให้มีความตื่น เบิกบาน รู้อยู่ตลอดเพื่อให้เพิ่มพูนกำลังฉันทะอิทธิบาท กำลังวิริยะอิทธิบาท กำลังจิตตะอิทธิบาทให้แก่กล้าขึ้น และเป็นกำลังแห่งพละ... ให้ดำริที่จิตว่า "พระสงฆ์ผู้เป็นอากรแห่งคุณทั้งปวง พึงประดิษฐานอยู่ที่อุระประเทศของข้าพเจ้า" และรวมบริกรรมว่า สังโฆ ให้เป็นหนึ่งเดียวกับจิตกำกับอยู่อย่างเข้มแข็ง ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางกาย...

    และดำริต่อไปว่า "ขอพระอนุรุทธะเถระเจ้าประดิษฐานที่หทัย คือหัวใจ" แล้วเคลื่อนจิตจากศูนย์กลางกายที่ดำริจิตรวมอยู่กับสังโฆ ไปที่หัวใจด้านเบื้องซ้าย โดยกำหนด สังโฆเป็นพระอนุรุทธะเถระเจ้า และกลับมาที่ศูนย์กลางกายอีกครั้ง เพื่อดำเนินต่อไปตามบทกรรมฐานการอธิษฐานชินบัญชร ตามลำดับโดยดำริว่า "ขอพระสารีบุตรเถระเจ้าประดิษฐาน ณ เบื้องขวา".... แล้วเคลื่อนจิตจากศูนย์กลางกายไปเบื้องขวา และกลับมาที่ศูนย์กลางกาย ดำริสังโฆรวมอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นพึงดำริสังโฆและเคลื่อนจิตตามที่ปรากฎในบทกรรมฐานต่อไป ดังนี้

    "ขอพระโกณฑัญญะเถระเจ้า พึงประดิษฐานอยู่ที่เบื้องหลัง"...

    "ขอพระมหาโมคคัลลานะเถระเจ้า ประดิษฐานอยู่เบื้องซ้าย"...

    "ขอพระอานนท์กับพระราหุลเถระเจ้า พึงประดิษฐานอยู่ ณ หูขวา ของข้าพเจ้าทั้งหลาย"...

    "แม้พระกัสสปะเถระเจ้า กับพระมหานามะเถระเจ้า ทั้ง ๒ พึงประดิษฐาน ณ หูซ้ายของข้าพเจ้า"

    "พระโสภิตะ ผู้ถึงพร้อมด้วยสิริ เป็นพระมุนีที่ประเสริฐ ดังอาทิตย์ส่องสว่าง พึงประทับที่สุดผมเบื้องหลัง"

    "พระกุมารกัสสปะเถระเจ้า ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ผู้มีวาทะอันวิจิตรผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณนั้น จงประดิษฐานอยู่ที่หน้าผากของข้าพเจ้าเป็น นิจ"....

    "พระเถระทั้ง ๕ พึงเป็นรอยเจิมบนหน้าผากของข้าพเจ้า ได้แก่พระปุณณะเถระเจ้า พระองคุลิมาลเถระเจ้า พระอุบาลีเถระเจ้า พระนันทะเถระเจ้า และพระสีวลีเถระเจ้า"

    เราก็รวมเป็นรอยเจิมไว้ที่หน้าผาก..."พระมหาเถระทั้งหลาย ๘๐ องค์ ที่เหลือจากนี้ เป็นผู้ชนะมาร ผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงชนะรุ่งเรืองอยู่ด้วยเดชแห่งศีล พึงสถิตอยู่ในอวัยวะภายในน้อยใหญ่ทั้งหลาย ทั่วสรรพางค์กายของข้าพเจ้าเถิด" เพื่อคุ้มครองรักษาทั้งสรรพางค์กายนี้... โดยสูดลมหายใจเข้า แล้วแผ่ไปทั่วร่างกาย ให้ขนลุกขนพองซาบซ่านไปทั่วตัว... จะทำกี่ครั้งก็ได้ แล้วรวมไว้ที่ศูนย์กลางกายอีกครั้งหนึ่ง

    ต่อไป รวมจิตไว้ที่ศูนย์กลางกาย ให้ตั้งมั่นดำริว่า พุทโธ เมนาโถ, ธัมโม เมนาโถ. สังโฆ เมนาโถ และรวมจิตอยู่ที่พุทโธ.... ขณะนี้ เปลี่ยนสังโฆเป็นพุทโธ และอธิษฐานที่จิตว่า...

    "พระขันธปริตร พระโมรปริต พระอาฏานาฏิยสูตร พึงเป็นหลังคาเครื่องปิดกั้นในอากาศ"
    ข้าพเจ้าขออธิษฐานขึ้นไปตั้งไว้เป็นเครื่องปิดกั้นในอากาศ รวมจิตเป็นพุทโธ แล้วแผ่ขึ้นไปข้างบน ก็ให้สำเร็จปิดกั้นด้านบนด้วยอำนาจแห่งพระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร เพื่อป้องกันด้านบนกลับมารวมจิตไว้ที่ศูนย์กลางกาย ด้วยอำนาจแห่งพุทโธ พึงอธิษฐานว่า

    "ด้วยอำนาจแห่งธรรมที่ได้กระทำบูชาด้วยดีแล้วนี้ อันปรากฎอยู่ในบทชินบัญชรคาถา จงถึงซื่งความสำเร็จทั้งปวง .. ขออุปัทวะทั้งหลายทั้งภายนอกภายใน จงถึงความพินาศไป ด้วยเดชแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีที่สิ้นสุด .. ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มหาบุรุษประเสริฐเหล่านั้นทั้งหมดจงอภิบาลรักษาข้าพเจ้า ผู้อยู่ท่ามกลางชินบัญชร ... ขออำนาจพระปริตร พระสูตรที่กล่าวไว้ในพระชินบัญชรคาถา พึงปิดกั้นในเบื้องล่าง ปิดกั้นในเบื้องหน้า ปิดกั้นในเบื้องหลัง ดุจเป็นห้องแห่งอำนาจธรรมที่ปกป้องรักษาทุกทิศทาง ทั้งภายใน ภายนอก เบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องบน เบื้องล่าง ทุกทิศ .. ปกป้อง ปกปิด รักษา และรวมจิตไว้ที่พุทโธศูนย์กลางกาย ดุจเรานั่งท่ามกลางชินบัญชร ..
    อธิษฐานว่า "ขอข้าพเจ้าเป็นผู้ชนะอุปัทวะด้วยอานุภาพแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า .. ขอข้าพเจ้าเป็นผู้ชนะหมู่ข้าศึกด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมเจ้า... ขอข้าพเจ้าเป็นผู้ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ และการประพฤติธรรมตามพระคาถาชินบัญชรอธิษฐานเจริญภาวนานี้ เถิด"

    รวมจิตไว้ที่ศูนย์กลางกาย แผ่ไปในทุกทิศทาง และรวมกลับมาไว้ที่ศูนย์กลางกาย รู้อยู่กับ พุทโธ ทำจิตให้เบิกบานอีกครั้ง ... เป็นสมบูรณ์แห่งการประพฤติกรรม รวมจิตให้นิ่งสงบไว้ ตั้งจิตอธิษฐานอีกครั้ง อันสมบูรณ์ด้วยอำนาจแห่งธรรม... ตั้งจิตอยู่ที่พุทโธ...

    ขออานุภาพแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พึงอภิบาลรักษาข้าพเจ้าดุจประดิษฐานอยู่บนกระหม่อมของข้าพเจ้า..

    ขออำนาจแห่งพระธรรม พึงสถิตอยู่ที่ดวงตาทั้งสองของข้าพเจ้า..

    ขออำนาจแห่งพระสงฆ์ พึงตั้งมั่นอยู่ที่อุระประเทศของข้าพเจ้า..

    และขอพระมหาเถระเจ้า พึงประดิษฐานทั่วสรรพางค์กายของข้าพเจ้า..

    ขอพระรัตนสูตร พึงตั้งอยู่เบื้องหน้า..

    ขอพระเมตตาสูตร พึงตั้งอยู่เบื้องขวา..

    ขอพระธชัคคสูตร พึงตั้งอยู่เบื้องหลัง..

    ขอพระองคุมาลปริตร พึงตั้งอยู่เบื้องซ้าย..

    ขอพระขันธปริตร พระโมรปริตร พระอาฏานาฏิยสูตร เป็นหลังคาเครื่องปิดกั้นในอากาศ..

    และขอจิตของข้าพเจ้านั้น รวมอยู่ในชินบัญชร ตั้งอยู่ในอำนาจแห่งพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เพื่อความชนะอุปัทวะชนะหมู่ข้าศึกชนะอันตราย .. ด้วยอานุภาพแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ พึงสำเร็จ ณ บัดนี้ เถิด

    บัดนี้เป็นความตั้งมั่นสุดท้ายอันสมบูรณ์ตามชินบัญชรคาถาที่ตั้งขึ้นเพื่ออธิษฐานธรรมเจริญจิตภาวนา.. รวมจิตไว้ที่ศูนย์กลางกาย แผ่ด้วยคำว่า นะโม พุทธะ เมตตา ไปทุกทิศทางอย่างไม่มีประมาณ ส่งไปยังสัตว์ ทั้งหลายน้อยใหญ่ ..

    รวมจิตไว้ที่ศูนย์กลางกาย ดำริ นะโม พุทธะ เมตตา แผ่ไปทั่วสรรพางค์กายอีกครั้ง ระลึกพุทโธ พุทโธ ควบคุมจิตไว้ที่ศูนย์กลางกาย และเคลื่อนกลับมาที่ฐานจิตที่ ๑ ปากโพรงจมูก

    ดำริพุทโธที่จุดสัมผัสลม รู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าพุทโธ หายใจออกพุทโธ หายใจให้มีกำลังขึ้น แรงขึ้น เร็วขึ้น แล้วผ่อนช้าลง คลายลมหายใจออก ..เอวัง

    http://palungjit.org/threads/วิชาชินบัญชรอธิษฐาน-จิตตภาวนา-โดย-พระอาจารย์อารยวังโส.450885/?langid=34
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. pongio

    pongio เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    843
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +6,851
    สืบเนื่องจากงานสวดพระปริตรฯ ครั้งที่ ๔๒ ชินบัญชรอธิษฐานธรรมณ วัดระฆัง (ตอน ๑)

    15 มกราคม 2556 เวลา 11:12 น.
    โดย…พระอาจารย์อารยะวังโส

    ปุจฉา : ยังซาบซึ้งในบรรยากาศสวดมนต์ที่วัดระฆัง อบรมสมาธิตาม วิชา ชินบัญชรอธิษฐานธรรม ซึ่งควรแก่การเผยแพร่ให้ชาวไทยได้รู้จักการสวด และนำมาปฏิบัติอบรมจิต เจริญสมาธิ จะทำให้มีเมตตากรุณาต่อกันมากขึ้น เชื่อว่าเมืองไทยจะสงบ หากชาวไทยรู้จักภาวนาตามหลักวิชาดังกล่าว ทำอย่างไรจึงจะได้ชักชวนผู้คนมาปฏิบัติภาวนาให้มากขึ้น ตามหลักวิชาชินบัญชรอธิษฐานธรรม ที่พระคุณเจ้าได้สั่งสอนนำสู่การปฏิบัติธรรม เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ ม.ค.ที่ผ่านมา…

    วิสัชนา : ขอเจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จากปุจฉาที่ยกขึ้นมาเป็นคำกล่าวของพุทธศาสนิกชนบางท่าน ที่มีโอกาสไปร่วมงานสวดพระปริตร อธิษฐานจิต เพื่อแผ่นดินไทย ครั้งที่ ๔๒ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ ม.ค. ๒๕๕๖ ณ พระอุโบสถ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (วัดระฆัง หลวงพ่อโต) ในชื่องาน “ชินบัญชรอธิษฐานธรรม ครั้งที่ ๓” ซึ่งนอกจากจะเจริญพระพุทธมนต์แล้ว อันเป็นไปตามปกติด้วยการสวดบทพระปริตรตามศาสนนิยมในปัจจุบันแล้ว ยังได้มีการรับพระกรรมฐานประจำปี พุทธศักราช ๒๕๕๖ และเข้าสู่การอบรมจิตตภาวนาไปพร้อมกัน ท่ามกลางประชาชนจำนวนนับพันคน ที่พร้อมใจกันไปประกอบอธิการกุศลในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และเพื่อความสงบสุขของแผ่นดินไทยเป็นสำคัญ ด้วยหัวใจชาวไทยที่ยังเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมด้านความกตัญญูกตเวทิตา จึงเห็นภาพศาสนิกชนจำนวนนับพันคน นั่งปฏิบัติบูชากันอย่างสงบ ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย ด้วยพระอุโบสถตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะมีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมาก ก็ไม่ถึงกับแออัดยัดเยียด หากรู้จักใช้สอยพื้นที่





    สืบเนื่องจากงานสวดพระปริตรฯ ครั้งที่ ๔๒ ชินบัญชรอธิษฐานธรรมณ วัดระฆัง (ตอน ๒)

    16 มกราคม 2556 เวลา 08:19 น.
    โดย…พระอาจารย์อารยะวังโส

    โดยเฉพาะด้านนอกกำแพงโบสถ์ ด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถรองรับคนได้อีกพอสมควร ที่สำคัญไม่ต้องรีบร้อนลุกหนี เพราะถูกพวกนักท่องเที่ยวเดินส่งเสียงดังไล่เข้ามาแบบบางแห่ง ที่เอาใจนักท่องเที่ยวมากกว่าชาวไทยเจ้าของประเทศ ที่อุตส่าห์มุ่งหน้ามาประกอบกรรมดีตามวิถีพุทธ เพื่อชาติ บ้านเมือง ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ จะได้ดำรงมั่นคงสืบต่อไปด้วยหัวใจชาวไทยที่เข้มแข็ง ด้วยอำนาจธรรม… แต่ก็ไม่ว่ากัน (หรือว่าไปแล้วก็ไม่ทราบ!?) ใครทำอะไรไว้ ก็ต้องได้รับผลจากการกระทำนั้น…

    ไม่นานเกินรอคงได้เห็นผลกรรมที่ก่อเกิดขึ้นจากการกระทำของตนอย่างแน่นอน การขัดขวางกระแสสายธารแห่งศรัทธาของมหาชนนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลไกใดๆ ก็อ้างไม่ขึ้น รับฟังได้ยาก ในเมื่อประชาชนร่วมมือร่วมใจกันประกอบกุศลกรรมมายาวนาน จนเกิดการจัดงานถึง ๔๒ ครั้ง อย่างไม่ต้องพึ่งงบประมาณองค์กรใดๆ เลย โดยในแต่ละครั้งจะมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมงานมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ ศาสตราจารย์คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี มล.สราลี กิติยากรเจ้านายฝ่ายเหนืออย่างเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน หรือบางสมัยก็มี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการบางกระทรวง

    แม้แต่องคมนตรีหลายท่านก็เคยเข้าร่วมงาน โดยเฉพาะการได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สถาบันพระปกเกล้า กรมทหารราบที่ ๑๑ (รอ.) บางเขน กองทัพบก และสำนักงานกรุงเทพมหานคร มาโดยตลอด จึงเกิดการรวมพลังจิตสานสร้างความสามัคคีธรรมเกิดขึ้นในสังคม ให้ขับเคลื่อนพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ มาได้จนถึงปัจจุบัน ที่ควรบันทึกไว้อย่างยิ่ง ก็คงจะเป็นครั้งที่ใช้ชื่องานว่า “หยุดหนึ่งชั่วโมงให้กับประเทศไทย” ซึ่งสมัยนั้นเกิดความแตกแยกสูงมาก

    มีประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันประท้วงอำนาจรัฐบาล ต่อมานำไปสู่เหตุการณ์เผาบ้านเมืองขึ้น การจัดงานในครั้งนั้นมีการกล่าวขานกันมาก สื่อสิ่งพิมพ์เกือบทุกฉบับลงข่าวหน้า ๑ พร้อมภาพประชาชนจำนวนมากมายมาร่วมประกอบศาสนกิจ เนื่องในงานสวดพระปริตร อธิษฐานจิต เพื่อแผ่นดินไทย ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในชื่องาน “หยุดหนึ่งชั่วโมงให้กับประเทศไทย” มีการถ่ายทอดแพร่ภาพไปทั่วประเทศทางสถานีโทรทัศน์ฯ

    ด้วยความสืบเนื่องแห่งศาสนกิจที่ถูกต้องตามศาสนธรรม แม้อาจจะแตกต่างไปบ้างจากพิธีสงฆ์ แต่พึงเข้าใจว่า นี่เป็นภาคของประชาชนที่มุ่งเน้นการฟังธรรม เพื่ออบรมจิต ปฏิบัติธรรม สร้างสรรค์จิตสำนึกให้มีคุณธรรม ซึ่งไม่ใช่สวดมนต์นิยมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นภาวนานิยม เพื่ออบรมจิตตภาวนาเป็นสำคัญ จึงต้องมีพระวิปัสสนาจารย์นำบรรยายให้ความรู้ปฏิบัติธรรมสืบต่อจากการสวดมนต์ ซึ่งแท้จริงการสวดมนต์นั้นก็เป็นการอบรมจิตตภาวนาอย่างหนึ่ง หากนำไปสู่การมีความรู้ความเข้าใจในบทสวดนั้น ก็ย่อมได้รับการพัฒนาจิตที่เรียกว่าจิตตภาวนาด้วย เป็นเป้าหมายที่แท้จริง

    ดังการจัดงานในทุกๆ ครั้งของการสวดพระปริตร อธิษฐานจิต เพื่อแผ่นดินไทย ซึ่งชื่องานก็แจ้งคุณลักษณะชัดเจนอยู่แล้วว่า ๑.มีการสวดมนต์ตามบทพระปริตร ที่จะต้องปรับปรุงแนวการสวดทำนองให้พอเหมาะกับประชาชนจำนวนมาก และคนรุ่นใหม่สวดตามได้ มีความไพเราะ อันชักชวนให้ชอบที่จะสวด ไม่น่าเบื่อ

    ๒.มีการอบรมจิตตภาวนา เพื่ออธิษฐานจิตด้วยอำนาจแห่งการปฏิบัติบูชา เพื่อนำไปสู่ประโยชน์สุขแห่งความปรารถนาตามเจตนาของแต่ละบุคคล ที่ได้มีโอกาสกระทำ

    ในการจัดงานครั้งที่ ๔๒ ของการสวดพระปริตรอธิษฐานธรรมที่วัดระฆังฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ ม.ค. ในครั้งนี้จึงมีการอบรมจิตตภาวนาตามหลักวิชาชินบัญชรอธิษฐานธรรม ซึ่งประชาชนนับพันร่วมกันปฏิบัติธรรม และสามารถเข้าถึงความสงบเยือกเย็น ให้มีความสุขใจที่เกิดจากอำนาจธรรมในบทชินบัญชร เมื่อสัมปยุตหรือรวมเข้ากับจิต ก็กลายเป็น “อำนาจจิตที่มีธรรม” หรืออำนาจธรรมในฐานจิต เพื่อเป็นบาทวิถีขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จตามกิจอันควรทำนั้นๆ และเมื่อรวมกับพลังธรรม ที่ก่อเกิดขึ้นด้วยศรัทธาเป็นผู้นำสู่การประกอบความเพียรชอบ มีความระลึกรู้ชอบควบคุมจนจิตตั้งมั่น ก่อเกิดปัญญาธรรมขึ้น

    จึงกลายเป็นพลังธรรมในดวงจิต ที่มีฤทธิ์ในการขับเคลื่อนไปตามวิถีที่มุ่งสู่ความสำเร็จตามเจตนาแห่งจิตที่ดำรินั้น อย่างมีสติปัญญาประกอบควบคุม สามารถทำให้จิตตั้งมั่นและสงบระงับได้อย่างมีสติปัญญา เกิดความรู้เท่ารู้ทันในสภาวธรรม (นิวรณ์) ทั้งปวง ให้รู้จักละวางไม่เข้าไปยึดติด จนเกิดสมาธิที่แก่กล้าขึ้น ดังนั้นอาตมาจึงกล่าวสอนให้สาธุชนอบรมจิตต่อไปในวันนั้น (๖ ม.ค. ๒๕๕๖) ณ พระอุโบสถ วัดระฆังฯ ในตอนหนึ่งว่า

    “…เมื่อจิตเราพบกับความสงบ ก็ตั้งความประเสริฐเข้าไปให้กับจิต ประเสริฐ เรียกว่า “พรหม”… พรหมวิหารธรรม ก็คือธรรมที่อาศัยเพื่อความประเสริฐ จนนำไปสู่ความสุขใจและสงบจิต และให้เกิดความประเสริฐขึ้น ประเสริฐ ก็คือสภาพจิตที่มีพรหมวิหารธรรม






    สืบเนื่องจากงานสวดพระปริตรฯ ครั้งที่ ๔๒ ชินบัญชรอธิษฐานธรรม ณ วัดระฆัง (ตอน ๓)

    พึงตั้งเมตตาขึ้นที่จิตของเรา คำว่า “เมตตา” คือความคิดที่ดี ความปรารถนาที่ดี เป็นความปรารถนาดีที่ตั้งขึ้นด้วยความไม่ประสงค์ร้าย ไม่ประทุษร้าย แม้กับตนเองเป็นเบื้องต้น ถ้าเราคิดร้าย ประสงค์ร้ายกับตนเองได้ ประทุษร้ายกับตนเองได้ เบียดเบียนตนเองได้ในโลกนี้ ไม่มีหน้าไหนที่เราจะไม่เบียดเบียนแม้กระทั่งพ่อแม่เรา เพราะแม้กระทั่งตัวเรา สัตว์ทั้งหลายรักตนเองเป็นที่สุด ก็ยังทำร้ายทำลายตนเองได้… เมตตาจึงเป็นการผูกมิตรกับตนเองเป็นเบื้องต้น เมตตาเป็นอำนาจธรรมของกัลยาณมิตรแห่งตน ทำตนให้เป็นมิตรแห่งตนก่อนในเบื้องต้น จึงพึงตั้งจิตดำริขึ้นภายในว่า…

    “ข้าพเจ้าจะไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียน ไม่คับแค้นใจ ไม่ทุกข์ใจ เพื่อออกมาจากความทุกข์ ออกมาจากเวร เพื่อต้องการความสุข…” ใครบ้างที่ไม่ต้องการความสุข…ไม่มี แม้เราแม้เขาล้วนแล้วแต่ต้องการความสุข ที่เราเดินทางมาเพราะต้องการหาความสุข แต่สุขแท้ในพระศาสนาคือความสงบ สงบแท้ก็คือสงบสังขารความปรุงแต่ง…ดังคำบาลีกล่าวไว้ว่า “เตสํ วูปสโม สุโข” ความสงบแห่งจิตแห่งสังขารนั้น เป็นสุขที่แท้จริง คือสิ้นซึ่งกิเลสปรุงแต่งแล้ว เราก็ทำมิตรแห่งตนให้เกิดขึ้น ด้วยการผูกมิตรกับตนด้วยการมีกรรมอันควร กรรมนี้เป็นกรรมของ “อภัยทาน” ให้อภัยทานนี้เกิดขึ้นที่จิตของเรา ละ วาง ให้มันว่าง และก็เว้น ละวางว่างเว้นจากความชั่วความทุกข์ทั้งปวง…เราก็จะพบกับความสงบและสุขใจขึ้น

    อาหารจิต ก็คือ ความรู้สึก…ความรู้สึก ก็คือ สภาพธรรม สภาพธรรมใดที่ให้ความรู้สึกที่ดี สภาพธรรมนั้น เรียกว่า สภาพธรรมของคติของความสุขที่เป็นกุศลธรรม เรียกว่า ตัว “บุญ” ในเบื้องต้นก็ได้ บุญนั้นคือให้เกิดความเยือกเย็นและสงบ และความสุข เรียกว่า “บุญ” ถ้ายกขึ้นโลกุตตรธรรมเรียกว่าเป็น “กุศล” ทันที เป็นกุศลนี้ เป็นไปเพื่อออกมาจากความทุกข์โรคภัยทั้งปวง

    เราทำจิตเรานั้นให้มั่นคง ดำรงอยู่ที่เมตตา เมตตาตน ก็คือ สำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นชอบว่าควรแก่การละวางความทุกข์ออกไป ทุกข์เกิดขึ้นเพราะความพยาบาท ความเบียดเบียน คับแค้นใจ ให้อาการแห่งความทุกข์ และก็ทุกข์ใจ การจะออกจากความทุกข์ได้ต้องละจากความพยาบาท ความเบียดเบียน ความคิดที่ไม่ดีทั้งหลาย ความคิดที่เป็นอกุศลทั้งปวง ต้องละ และต่อไปพึงตั้งดำริขึ้นในจิตว่า “เราจะไม่เบียดเบียนใคร เราจะตั้งอยู่ในกรอบแห่งความเป็นประโยชน์แห่งตนและผู้อื่น”





    สืบเนื่องจากงานสวดพระปริตรฯ ครั้งที่ ๔๒ชินบัญชรอธิษฐานธรรมณ วัดระฆัง (ตอน ๔)

    18 มกราคม 2556 เวลา 11:17 น.
    โดย…พระอาจารย์อารยะวังโส

    เมื่อเราไม่คิดจะเบียดเบียนใคร ก็คือไม่เบียดเบียนตนเอง แต่ถ้าเราคิดเบียดเบียนใครนั้น ก็คือเบียดเบียดตนเอง เพราะจิตมันก็จะเกิดอาการของอกุศลขึ้น บาปอยู่ที่จิต บุญก็อยู่ที่จิต… คิดดี ถูกต้องตรงธรรม ก็เป็นบุญ… คิดผิด ผิดจากธรรม ก็เป็นบาป บาปก็เร่าร้อน บุญก็เยือกเย็น ปัจจุบันนี้เห็นได้ไหม…เห็นได้ บุญบาปเกิดขึ้น เห็นได้ทุกขณะจิต ถ้าเรามีสติปัญญาในระดับที่พอที่จะเป็นคนที่ประเสริฐ มันก็เห็นบุญเห็นบาปที่จิตของเราได้ เมื่อบุญบาปเกิดขึ้นขณะนี้ เบื้องหน้ามันติดตัวไป มันก็ต้องแสดงผล จึงไม่ต้องทำนายว่า เบื้องหน้าเป็นบุญหรือเป็นบาป ถ้าปัจจุบันมันเป็นอย่างไร เบื้องหน้ามันก็ต้องเป็นส่งต่อไปอย่างนั้น เป็นไปตามวิถีธรรมว่า มันต้องเป็นเช่นนี้ จึงขอให้ดำริตั้งเมตตานั้นพร้อมกันในจิตว่า…

    “ขอข้าพเจ้ามีความสุข ขอข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์ ขอข้าพเจ้าปราศจากเวร ขอข้าพเจ้าปราศจากความพยาบาท ความเบียดเบียน ขอข้าพเจ้าปราศจากความคับแค้นใจ ความทุกข์ใจ ขอให้ถึงความสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด…” เราระลึกที่จิตของเรา “อะหัง สุขิโต โหมิ, นิททุกโข โหมิ, อะเวโร โหมิ, อัพยาปัชโฌ โหมิ, อะนีโฆ โหมิ, สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ” รวมจิตเราให้มีเมตตา สงบนิ่ง และมีความสุข โดยการละ นำออกซึ่งความคับแค้นความทุกข์ทั้งปวง ชั่วขณะที่ควบคุมจิตได้นั้น อำนาจกุศลผลบุญเกิดยิ่งกว่า… มากกว่าที่เราสวดสาธยายมาทั้งหมด ที่สวดสาธยายทั้งหมดมันจะมีผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประจุอำนาจธรรมเมตตาลงไปในจิต ในเมื่อจิตเรามีเมตตาสมบูรณ์แล้วในการอธิษฐานตอนสุดท้ายที่เราสวดสาธยาย

    เพื่อสำเร็จดังเจตนาก็สัมฤทธิผล สัมฤทธิผลก็ด้วยจิตนั้น จิตนี้เป็นใหญ่ จิตนี้เป็นหัวหน้าในกิจการทั้งปวง จิตนี้เป็นประธานอันนำไปสู่ความสำเร็จในสรรพธรรมทั้งหลาย… จะสุข จะทุกข์ จะดี จะชั่ว บาป บุญ ประธานแห่งการกระทำ คือ มโนตัวนี้ หรือจิตใจตัวนี้ จึงกลับมาที่สาเหตุแห่งการเลื่อนไหลไปสู่สุขทุกข์ ก็คือจิต ขอให้ทุกคนพึงรวบรวมจิตนั้นให้มั่นคง ความมั่นคงแห่งจิตนั้นต้องมีธรรมะเป็นหลักยึด ซึ่งหลักแห่งความมั่นคงของจิตก็คือพรหมวิหารธรรม และพรหมวิหารในเบื้องต้นก็คือเมตตาธรรม ถ้าเมตตาไม่เกิด กรุณาก็ไม่มา มุทิตาก็ไม่มี จึงไม่ต้องถามถึงอุเบกขา… ทำเมตตาให้เกิดขึ้นก่อน สัตว์ใดมีเมตตา สัตว์นั้นเรียกว่าสัตว์ประเสริฐ ลองชั่งน้ำหนักดูว่าเราเป็นสัตว์ที่ประเสริฐหรือไม่ อยู่ที่เรามีเมตตาหรือไม่ ถ้าเราขาดเมตตา เราก็ใกล้เคียงกับสัตว์เดรัจฉาน คนที่ไม่รู้เรื่อง และไม่รู้จัก และไม่เข้าใจ ไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติ ก็คือคนที่อยู่นอกทางความเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ และมนุษย์ที่ประเสริฐนั้นก็ต้องมีความประพฤติอยู่กับธรรมะในเบื้องต้น คือ ศีลธรรม แต่ศีลธรรมจะเกิดขึ้นได้นั้น จิตต้องมีเมตตาธรรม เมตตาธรรมนั้นจึงเป็นน้ำเลี้ยงจิตอันยิ่งใหญ่ ยังให้จิตเติบโตบนพื้นฐานของความดีที่เพื่อความมีคุณธรรมมีจริยธรรมอันประเสริฐ ถ้าขาดเมตตาธรรมรักษาแล้วนี่ เหมือนบ้านทั้งหลังขาดเสากลางเสาหลัก มันก็พัง…

    พรหมวิหารจึงเป็นอำนาจธรรมที่รักษาให้จิตนั้นไม่พังทลายจากความดี จึงต้องตั้งเมตตาขึ้น ผู้ตั้งเมตตาขึ้นในจิตได้นั้น สมบัติย่อมเกิดขึ้นได้ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จประโยชน์แห่งความดีทั้งปวง ดังนั้น การจะอธิษฐานสิ่งใดนั้นย่อมเกิดในประโยชน์นั้นๆ จึงควรแก่การใช้เวลาสั้นๆ ไม่กี่นาที ดำริจิตลงที่เมตตา ให้บริกรรมในจิตอีกครั้งตามเสียงอาตมาว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ, นิททุกโข โหมิ, อะเวโร โหมิ, อัพยาปัชโฌ โหมิ, อะนีโฆ โหมิ, สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ” เมื่อดำริตามคำกล่าวลงกลางจิตแล้ว ให้แปลเป็นภาษาที่เข้าใจได้ ก็จะเกิดอำนาจเมตตาขึ้น ก็จะขจัดความเห็นแก่ตัวออกไปได้ ด้วยธรรมดาของพื้นฐานแห่งสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีความเห็นแก่ตัว ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดต่างๆ เพราะเห็นแก่ตัว อยากได้ อยากมี อยากเป็น

    แม้ที่สุดของผู้อื่นก็ปล้นชิงทำลายได้ เมื่อสัตว์มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น มากขึ้น การประทุษร้ายต่อชีวิตต่อทรัพย์ย่อมมีปัญหาคอร์รัปชันในสังคมย่อมเกิดขึ้นด้วย เพราะสัตว์มาก

    ไปด้วยความเห็นแก่ตัว มักมากจนไม่รู้วิถีธรรม ไม่รู้แนวธรรมความถูกต้อง และการที่เราเรียกร้องให้สังคมกลับมาสู่ความสงบ จึงควรเรียกร้องที่จิตของเรา ให้จิตของเรากลับมาสู่ความสงบ เพื่อพบธรรมะ สลัดละความเห็นแก่ตัวออกไป เมตตาก็จะเกิดขึ้น เป็นเมตตาที่ตั้งขึ้นในกลางจิตด้วยดำริลงไปว่า…


    สืบเนื่องจากงานสวดพระปริตรฯ ครั้งที่ ๔๒ชินบัญชรอธิษฐานธรรมณ วัดระฆังฯ (ตอน ๕)

    21 มกราคม 2556 เวลา 09:30 น.
    โดย…พระอาจารย์อารยะวังโส

    “ข้าพเจ้าจะไม่พยาบาท จะออกมาจากความเบียดเบียน จะละสิ้นความคับแค้นใจ ความทุกข์ใจ” ความปรารถนาดีต่อตนก็เกิดขึ้น ความเห็นแก่ตัวก็เจือจางหมดไป และเมื่อเราสมบูรณ์ด้วยความปรารถนา คือ เมตตาต่อตนแล้ว หวังผลตนมีความสุขสงบ เราก็ตั้งเมตตาเพื่อผู้อื่นได้อย่างเต็มกำลัง ศัตรูของเมตตา คือ ความเห็นแก่ตัว เมื่อเราขจัดความเห็นแก่ตัวได้ เมตตาเกิดขึ้น เราก็จะอยู่อย่างมีความสุขสงบ เราสามารถที่จะทำให้ตนเสมอผู้อื่นได้ คือ ทำให้ผู้อื่นเสมอตนได้ด้วยเมตตา รักผู้อื่นเสมอตน หรือรักตนเสมอในผู้อื่น ก็ด้วยเมตตาธรรม

    เมตตานั้น ไม่จำกัดชาติ ศาสนา ไม่จำกัดฐานะ โอกาส อายุ วัยทั้งหลาย เมตตาเป็นธรรมะสากล สามารถที่ทำให้คนลดซึ่งความเห็นแก่ตัวลงได้ สามารถกำจัดความขัดแย้งในสังคมได้ ซึ่งการที่สังคมมีความขัดแย้งนั้น ก็เพราะคนมีความเห็นแก่ตัว สัตว์แย่งชิงกัน ไม่ต่างจากสุนัขเดรัจฉานทั้งหลาย เพราะอะไร… เพราะมันขาดเมตตา สัตว์ทั้งหลายอาศัยธาตุกรรมที่สำเร็จแล้ว คือ ความทุกข์ควบคุมจิต เขาไม่สามารถสละละวางได้ ไม่สามารถฝึกฝนให้มีสติปัญญาได้ แต่เรามนุษย์ทั้งหลายนั้น จำแนกแตกต่างกันด้วยกรรม มิใช่ชาติกำเนิด ตระกูล ความรู้ภายนอก ความจำแนกของเรา คือ เรื่องของกรรม เราสามารถทำกรรมดีได้ ดังคำกล่าวที่ว่า เหนือบุญก็คืออำนาจกรรม เหนือกรรม คือ วิปัสสนาญาณ ก็คือการทำปัญญาให้รู้แจ้ง เหนืออำนาจบุญทั้งปวง ก็คืออำนาจของกรรม กรรมนี้มันสัมฤทธิผลเมื่อไหร่ มันต้องเกิดผลแก่ผู้กระทำเมื่อนั้น เราจึงประกอบกรรมที่เกิดประโยชน์กับตน ด้วยการกระทำกุศลกรรมโดยการเจริญเมตตาขึ้นที่จิต ให้จิตมีเมตตาสงบนิ่ง ลด ละ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 ธันวาคม 2014

แชร์หน้านี้

Loading...