สติปัฏฐาน ๔(ตามแนววิชชาธรรมกาย)ถึงธรรมกาย_พระนิพพาน

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 13 สิงหาคม 2012.

  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย
    สัตว์โลก ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์ ทิพย์ (เทวดา) พรหม อรูปพรหม นั้น มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอยู่ มีลักษณะขาวใสบริสุทธิ์ ตามระดับความบริสุทธิ์ของจิตใจ
    ขนาดของดวงธรรม
    เนื่องจากดวงธรรมของสัตว์โลกในระดับโลกิยะ ยังถูกอวิชชาห่อหุ้มอยู่ ดวงธรรมจึงยังไม่ขยายโตเต็มส่วน เต็มที่ ซึ่งตรงกันข้ามกับธรรมกาย ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายของธรรมกายนั้นขยายโตเต็มส่วน ปรากฏเห็นอยู่โดยรอบองค์ธรรมกาย เหมือนองค์ธรรมกายประทับนั่งอยู่ในดวงแก้วดวงใหญ่



    ธาตุละเอียดทั้ง ๖
    ธาตุละเอียดทั้ง ๖ นั้นก็ตั้งอยู่ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย
    ธาตุละเอียดทั้ง ๖ ได้แก่ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ และ วิญญาณธาตุ
    ธาตุน้ำอยู่ด้านหน้า ธาตุดินอยู่ด้านขวา ธาตุไฟอยู่ด้านหลัง ธาตุลมอยู่ด้านซ้าย อากาศธาตุอยู่ตรงกลาง วิญญาณธาตุอยู่ตรงศูนย์กลางอากาศอีกทีหนึ่ง
    ที่ศูนย์กลางของวิญญาณธาตุนั้น ก็ยังมีธาตุละเอียดของนามขันธ์ ๔ และธาตุเห็น ธาตุจำ ธาตุคิด และ ธาตุรู้ ก็ซ้อนอยู่ตรงกลางของกลางซึ่งกันและกันเป็นชั้นๆ กันเข้าไปข้างในอีก
    และขยายส่วนหยาบออกมาเป็น ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด และ ดวงรู้ อันเป็นธรรมชาติรวม (๔ อย่าง) ของ “ใจ” ธรรมชาติ ๔ อย่างคือ เห็น จำ คิด รู้ นี้แหละที่ขยายส่วนหยาบมาจากธาตุละเอียดของนามขันธ์ ๔ คือ เวทนา (ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์) สัญญา (ความจำ) สังขาร(ความคิดปรุงแต่ง) และ วิญญาณ (ความรู้อารมณ์)
    ก็หมายความว่า กายในกาย ณ ภายในละเอียดเข้าไปจนสุดกายหยาบกายละเอียดนั้น ต่างก็เป็นกายที่มีชีวิตจิตใจ อีกด้วยนั่นเอง



    ธรรมชาติ ๓ ฝ่าย
    ธาตุทั้ง ๖ นั้น ยังเป็นที่ตั้งของ “ธรรม” คือ ธรรมชาติ ๓ ฝ่าย ได้แก่
    ธรรมชาติฝ่ายบุญกุศล (กุสลาธัมมา) หรือ ฝ่ายดี ฝ่ายพระ หรือธรรมขาว ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส ดลจิตใจของสัตว์โลกให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทางกาย วาจาและใจ และให้ผลที่เป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข
    ธรรมชาติฝ่ายบาปอกุศล (อกุสลาธัมมา) หรือฝ่ายชั่ว ฝ่ายมาร หรือธรรมดำ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มัวหมอง
    ดลจิตใจของสัตว์โลกให้ประพฤติผิด รู้ผิด คิดผิด เห็นผิด ด้วยกาย วาจา และใจ และให้ผลเป็นความทุกข์เดือดร้อน
    ธรรมชาติฝ่ายกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว (อัพยากตาธัมมา)
    ธรรมชาติทั้ง ๓ ฝ่ายนี้ต่างคอยเอิบ อาบ ซึม ซาบ ปน เป็น ฯลฯ อยู่ในธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ ของสัตว์ ให้ปฏิบัติตามอำนาจของแต่ละฝ่ายนั้น และปรุงแต่งสัตว์นั้นให้ดี เลว ประณีต หยาบ ละเอียด เป็นสุข เป็นทุกข์ ต่างๆ กันไปตามกรรม ตามธรรมชาติแต่ละฝ่ายดังกล่าว ที่ทำหน้าที่เป็นเหตุนำ เหตุหนุน อยู่ในธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ของสัตว์นั้นๆ


    ภพซ้อนภพ
    กายในกาย และธรรมในธรรม ณ ภายใน ที่มีศูนย์กลางกายตรงกัน ซ้อนอยู่เป็นชั้นๆ เข้าไปจนสุดละเอียดนั้น จัดเป็น ภพเป็น ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็นปัจจุบันธรรม
    ส่วนมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก อันเป็นที่อยู่ ที่รองรับ ของ มนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน สัตว์นรก เทวดา พรหม ที่ประกอบด้วยพื้นดิน หิน บ้าง เป็นสถานที่มีวิมานอันเป็นทิพย์บ้าง เป็นต้นนั้น เป็นภพหยาบ เรียกว่า ภพตาย
     
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    พระปรมัตถ์ : อกุศลจิต


    ๑ ตุลาคม ๒๔๙๖


    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส. (๓ หน)


    ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา จตุธา ปรมตฺถโต
    จิตฺตํ เจตสิกํ รูปํ นิพฺพานมิติ สพฺพถา ติ


    ...ปรมัตถปิฎกนี้เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงๆ นะ ที่ดับสูญไปเสีย ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เรียนกันแต่เปลือกๆ ผิวๆ เป็นแต่กระพี้ๆ ไป ก็เพราะมารขวางกีดกันไว้ ให้ศึกษาเผินไปหมด พุทธศาสนาก็จะถล่มทลายเพราะเนื้อธรรมไม่มีใครรู้แน่แท้ลงไป รู้แต่เปลือกแต่ผิวไปเสีย เหตุนี้ เราทั้งหลายควรตั้งใจเสียให้ดี ทั้งภิกษุสามเณรจงอุตส่าห์เล่าเรียนปรมัตถคัมภีร์อภิธรรมปิฎก นี้ให้แตกฉานชำนาญเถิด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา "



    ...ปรมัตถปิฎกนี้เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงๆ นะ ที่ดับสูญไปเสีย ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เรียนกันแต่เปลือกๆ ผิวๆ เป็นแต่กระพี้ๆ ไป ก็เพราะมารขวางกีดกันไว้ ให้ศึกษาเผินไปหมด พุทธศาสนาก็จะถล่มทลายเพราะเนื้อธรรมไม่มีใครรู้แน่แท้ลงไป รู้แต่เปลือกแต่ผิวไปเสีย เหตุนี้ เราทั้งหลายควรตั้งใจเสียให้ดี ทั้งภิกษุสามเณรจงอุตส่าห์เล่าเรียนปรมัตถคัมภีร์อภิธรรมปิฎก นี้ให้แตกฉานชำนาญเถิด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา



    ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมีกถา แก้ด้วยปรมัตถเทศนา ซึ่งมีมาในพระปรมัตถปิฏก ยกอุเทศในเบื้องต้นขึ้นแสดงก่อน เพื่อจะได้เป็นอุทาหรณ์แนะนำแก่ท่านทั้งหลายสืบไปเป็นลำดับๆ ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา เริ่มต้นแห่งปรมัตถปิฎกนี้ว่า
    ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา ในพระอภิธรรมปิฏกนั้น กล่าวโดยความประสงค์แล้ว ถ้าจะกล่าวโดยอรรถอันลึกซึ้ง โดยปรมัตถ์ ก็จัดเป็น ๔ ประการ (๑) จิต (๒) เจตสิก (๓) รูป (๔) นิพพาน, ๔ ประการเท่านี้ พระพุทธศาสนามีปิฎก ๓ คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก ปรมัตถปิฎก ที่ท่านทั้งหลายได้เคยสดับตรับฟังแล้วโดยมาก ในพระวินัยบ้าง พระสูตรบ้าง ในพระปรมัตถ์ไม่ค่อยจะได้ฟังนัก วันนี้จะแสดงในพระปรมัตถปิฎก เพราะเวลานี้วัดปากน้ำกำลังเล่าเรียนพระปรมัตถปิฎกอยู่ ควรจะฟังพระปรมัตถปิฎกนี้ให้ชำนิชำนาญ ให้เข้าเนื้อเข้าใจ จะได้จำไว้เป็นข้อวัตรปฏิบัติ เป็นธรรมอันพระพุทธเจ้าทรงตรัส
    ในเริ่มแรกเริ่มเบื้องต้น ทรงตรัสในดาวดึงส์เทวโลก ได้ทรงตรัสพระปรมัตถปิฎกนี้ สนองคุณพระพุทธมารดา และแก่หมู่เทพเจ้าทั้งหลาย ที่พากันมาสดับตรับฟัง ทรงตรัสอยู่ถ้วนไตรมาสสามเดือน เมื่อเวลารุ่งเช้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพุทธนิมิตให้ตรัสพระอภิธรรมปิฎก พระบรมครูทรงไปแสวงหาอาหารบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีป ไปฉันในป่าหิมพานต์ พระสารีบุตรเถรเจ้าไปปฏิบัติสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกๆ วัน แล้วพระองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมปิฎกนั้นแก่พระสารีบุตร พระสารีบุตรก็นำเอาพระอภิธรรมปิฎกนั้นมาแก่มนุษย์ มนุษย์ทั้งหลายจึงได้สดับฟัง
    เมื่อพระองค์ทรงตรัสเทศนาจบพระปรมัตถปิฎกแล้ว เสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกที่เมืองสังกัสสนคร ในคราวนั้นพระองค์ทรงเปิดโลก ให้สัตว์นรก เทวดา มนุษย์ เห็นกันและกัน พร้อมกัน เห็นปรากฏเป็นมหัศจรรย์ ในครั้งนั้นพระพุทธาภินิหารเป็นมหัศจรรย์ สรรพสัตว์เหล่านั้นตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า อยากเป็นพระพุทธเจ้า จนกระทั่งมดดำแดง อยากเป็นพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้น อันนี้เป็นความมหัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนั้น ที่ท่านทั้งหลายจะพึงได้สดับในเนื้อความของปรมัตถปิฎก ณ เวลาวันนี้ นับว่าเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ดังจะแสดงต่อไป
    ตามวาระพระบาลีที่ได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นว่า ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา จตุธา ปรมตฺถโต จิตฺตํ เจตสิกํ รูปํ นิพฺพานมิติ สพฺพถาติ แปลว่า เนื้อความในพระปรมัตถปิฎกนั้น ถ้าจะกล่าวโดยเนื้ออันยิ่งใหญ่แล้ว กล่าวโดยปรมัตถ์ จัดเป็น ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ๔ ประการนี้เท่านั้นเรียกว่า พระปรมัตถปิฎก เป็นเนื้อความของพระปรมัตถปิฎกทีเดียว จำไว้ให้มั่น จิตถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง เจตสิก ถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๕๒ ดวง นี่ส่วนเจตสิก รูปถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๒๘ รูป มหาภูตรูป ๔, อุปาทายรูป ๒๔ รวมเป็น ๒๘ นิพพานแยกออกไปเป็น ๓ คือ กิเลสนิพพาน ขันธนิพพาน ธาตุนิพพาน นิพพานแยกเป็น ๓ ดังนี้
    วันนี้จะแสดงในเรื่อง จิต เป็นลำดับ จิต ๘๙ ดวง หรือจิต ๑๒๑ ดวง ท่านจัดไว้ดังนี้ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง กามาวจรจิต ๒๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง และโลกุตตรจิต ๘ ดวง นี่เป็นจิต ๘๙ ดวง จำไว้เสียให้มั่น คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ๑๘ กับ ๑๒ รวมกันเป็น ๓๐ กามาวจร ๒๔ รวมกันเข้าเป็น ๕๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ รวมกันเข้าเป็น ๖๙ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ รวมกันเข้า เป็น ๘๑ ดวง โลกุตตรจิต ๘ ดวง รวมเข้าเป็น ๘๙ ดวง ดังนี้ นี่โดยย่อ ถ้าโดยพิสดาร ต้องแยกโลกุตตรจิตออก ยกฌานขึ้นรับรองจิตทั้ง ๘ ดวงนี้ คงเหลือจิต ๘๑ ดวง จิต ๘๙ ดวง ยกเอาโลกุตตรจิต ๘ ดวงออกเสีย ยกฌานทั้ง ๕ ขึ้นเป็นที่ตั้ง จิตเดินในฌานทั้ง ๕ นั้น ฌานละ ๘ ดวง คูณกับ ๕ เป็น ๔๐ ดวง จิต ๘๑ ดวงเป็นโลกิยจิต ยกเอาโลกุตตรจิต ๔๐ ดวง มาบวกกันเข้า ๘ ก็รวมเป็นจิต ๑๒๑ ก็จิต ๘๑ ดวงนั่นเอง แต่ว่ายกเอาโลกุตตรจิต ๘ ดวง ออกเสีย ถ้าว่าเอาโลกุตตรจิตมาเพียง ๘ ดวง ก็เป็นจิต ๘๙ ดวง ถ้าหากว่าโลกุตตรจิต ๘ ดวงนั้นแยกพิสดารออกไปตามฌานทั้ง ๕ ก็เป็น ๑๒๑ ดวง นี่รู้จักแล้วว่าจิตมีเพียงเท่านี้ จะชี้แจงแสดงจิตเป็นลำดับไป ให้จำไว้เป็นหลักฐานเป็นประธาน
    ต่อไปนี้จะแสดงคัมภีร์ปรมัตถ์ที่เป็นหลักเป็นประธานให้เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว เพราะเป็นเนื้อธรรมจริงๆ ที่เราได้ยินได้ฟังเข้าเนื้อเข้าใจแล้วนั้นยังไม่ถึงเนื้อธรรม เมื่อถึงจิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงล่ะ จงตั้งอกตั้งใจฟัง ยาก ไม่ใช่เป็นของง่าย เป็นของละเอียดด้วย ไม่ใช่เป็นของพอดีพอร้าย ไม่ใช่อยู่กับคนที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ต้องมีกิเลสบาง ปัญญาละเอียดทีเดียว จึงจะฟังเข้าเนื้อเข้าใจได้ ถ้าจะเทียบละก้อ ต้องเข็มเล็กๆ ด้ายเส้นเล็กๆ เย็บตะเข็บผ้าจึงจะละเอียดได้ ถ้าเข็มโตไป ด้ายเส้นโต จะเย็บตะเข็บผ้าให้เล็กลงไปไม่ได้ ฉันใดก็ดี ปรมัตถปิฎกนี้เป็นของละเอียด ต้องปัญญาละเอียดไปตามกัน จึงจะฟังเข้าเนื้อเข้าใจ เหตุนั้นจงตั้งใจฟังให้ดี
    ในอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้นั้น แบ่งออกเป็น ๓ จำพวก โลภมูล ความโลภ มี ๘ ดวง โทสมูล ความโกรธมี ๒ ดวง โมหมูล ความหลงมี ๒ ดวง ๘ กับ ๔ รวมเป็น ๑๒ ดวง นี้อกุศลจิต อกุศลจิตนี้แหละที่สากลโลก ภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี ที่จะทำความชั่วร้ายไม่ดีไม่งามก็เพราะอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้แหละ ไม่ใช่ทำด้วยอย่างอื่นเลย ทำด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้ทั้งนั้น ทำชั่วน่ะ เราต้องรู้ตัวเสีย ให้เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว คำว่าที่เรียกว่าจิตน่ะมันเป็นดวงๆ ที่จะจัดนี้มีถึง ๑๒ ดวง ดังนี้คือ

    จิตโลภ จัดเป็น ๘ ดวง
    จิตที่เกิดพร้อมด้วยความยินดีมาก ที่ประกอบด้วยความยินดีมาก ประกอบด้วยความ เห็นผิด และเกิดขึ้นตามลำพัง นี่ดวง ๑
    จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือ ชักจูง นี้ดวง ๑
    จิตที่ประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดโดยลำพังนี้ดวง ๑ นี้ดวงที่ ๓
    จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้น หรือชักจูง นี้อีกดวง ๑ รวมเป็น ๔ ดวง
    จิตที่เกิดประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้น โดยลำพัง นี้ดวง ๑ เป็นดวงที่ ๕
    จิตที่ประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดย ถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวง ๑ เป็นดวงที่ ๖
    จิตประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดย ลำพัง นี้ดวง ๑ เป็น ๗ ดวง
    จิตประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และเกิดโดย ถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวง ๑ เป็น ๘ ดวง
    นี้ชั้นหนึ่ง ๘ ดวงนี้เป็นส่วนโลภะ ความอยาก

    จิตโกรธ จัดเป็น ๒ ดวง
    จิตโกรธเกิดขึ้นตามลำพัง ดวง ๑
    จิตโกรธเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวง ๑
    จิตหลง ก็มี ๒ ดวง
    จิตหลงเกิดขึ้นโดยความสงสัย ดวง ๑
    จิตหลงเกิดขึ้นโดยความฟุ้งซ่าน ดวง ๑
    รวมเป็น ๑๒ ดวงด้วยกัน นี้เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านี้ ฟังยากไหมล่ะ ยากจริงๆ ไม่เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว ฟังเหมือนบุรุษคนหนึ่งนั่งกินข้าวอยู่ทีละคำๆ มันก็อิ่มเป็นลำดับขึ้นไป บุรุษคนหนึ่งนั่งกินลมอยู่เป็นคำๆ เข้าไป พอเลิกแล้วไม่อิ่มสักนิด อ้ายกินข้าวกินลมมันลึกซึ้ง อย่างนี้จริงไหม นี้ฟังเรื่องปรมัตถ์เหมือนกินลม ไม่มีเนื้อมีหนังเลย ไม่อิ่มไม่ออกเลยทีเดียว เห็นไหมล่ะ แต่รสชาติอัศจรรย์นักนะ อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจฟัง
    จิตดวงที่ ๑ ที่ประกอบด้วยความยินดีมาก จิตดวงนี้เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมาก และประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง จิตดวงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร นี่ต้องอย่างนี้ล่ะ จึงจะมีรส ค่อยมีรสหน่อย เราจะต้องพินิจพิจารณา หากว่าจิตของเราเองมันเกิดขึ้น มีความยินดีมาก ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง เออ อ้ายประกอบด้วยความเห็นผิดน่ะ เห็นอย่างไร ลักษณะเห็นผิดน่ะเหมือนเรายินดีมากในสิ่งที่ผิด เมื่อเราเห็นทรัพย์เข้าก้อนหนึ่ง ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของเขา ก็รู้เหมือนกันว่าเป็นของเขา แต่มันอยากได้เหลือทน ทรัพย์ก้อนนั้นมันใหญ่พอประมาณอยู่ ถ้าได้เข้าแล้วมันเลี้ยงชีพได้ตลอดสาย นับเป็นล้านๆ หรือนับเป็นแสนๆ ทีเดียว เมื่อไปเห็นทรัพย์เข้าเช่นนั้นแล้ว เราไม่ได้คิดไว้เลยว่าจะเอาทรัพย์ก้อนนั้น หรือจะขโมยหรือจะลักเขา ไม่ได้คิดเลย พอไปเห็นทรัพย์ก้อนนั้นเข้า ในที่ที่ควรจะได้ เจ้าของเผลอ พอเห็นทรัพย์เข้าเท่านั้น ใจมันปลาบปลื้มยินดีอย่างชนิดปล่อยชีวิตจิตใจทีเดียวอย่างนี้ ความยินดีมากมันเกิดขึ้นเองแล้ว จิตที่เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมากนั่นแหละ นี่ทรัพย์ก้อนนี้เราหยิบเอาเสีย ธนบัตรสักแสนหนึ่งไม่เท่าไร ถ้าใบละหมื่นก็ ๑๐ ใบ เท่านั้น ใบละพันๆ ก็ ๑๐๐ ใบเท่านั้น เป็นแสนหนึ่งเสียแล้ว เอ นี่จะเอาหรือไม่เอา นี่ความเห็นผิดเกิดขึ้น เอาได้ เราก็รวย พอเห็นผิดเกิดขึ้นเช่นนั้น ไม่ต้องมีใครชักชวนกระตุ้นละก้อ คว้าเอาทรัพย์ของเขาเข้าทีเดียว คว้าทีเดียวซ่อนทีเดียว นี่สำเร็จสมความปรารถนาของตัวแล้ว เอาไปได้สำเร็จ สมเจตนาด้วย และไม่มีใครรู้เห็นด้วย ทำสนิททีเดียว นี่แหละจิตดวงนั้นแหละเกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมาก และประกอบด้วยความเห็นผิดด้วย มันเห็นว่าของเขา ไม่ใช่ของเรา นี่มันไปลักของเขานี้จะไม่ผิดอย่างไรเล่า มันก็ผิดนะซี่ เกิดขึ้นตามลำพังของตัว ไม่มีใครกระตุ้นหรือชักจูง ไม่ว่าในป่าหรือในที่ลับใดๆ หรือในที่มืดใดๆ ก็ตามเถอะ เอาทรัพย์ของเขามาได้สมเจตนา ไม่แต่เพียงแสนหนึ่งนะ สตางค์หนึ่งก็ดี สองสตางค์ก็ดี ถ้าว่าเป็นของเขาละก้อ แบบเดียวกัน อย่างนี้ทั้งหมด ถ้าว่าจิตเกิดขึ้นโดยความยินดีเช่นนั้น ถือเอาของเขามาเช่นนั้น นี่แหละโลภมูลดวงหนึ่ง นี้เป็นดวงต้นเกิดขึ้น เป็นอกุศลทีเดียว เราต้องไปนรกแน่ ต้องได้รับทุกข์แน่ เชื้อจิตดวงนี้ ต้องได้รับทุกข์แน่ รับบาปแน่ทีเดียว นี่ที่จะทำบาปลงไปชัดๆ มันปรากฏแก่ตนดังนี้ นี่ดวงหนึ่ง
    ดวงที่ ๒ ต่อไป จิตประกอบด้วยความยินดีมาก และเห็นผิดอีกเหมือนกัน คือ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง คราวนี้เห็นทองคำเข้าก้อนหนึ่ง หรือไปเห็นสายสร้อยเข้าเส้นหนึ่ง ราคานับแสนทีเดียว โดยเป็นของหลวงด้วย ราคานับแสนๆ ไม่ใช่ของราษฎร์ แต่ว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดเขาเอามาซ่อนไว้ ไปเห็นเข้า หรือตกหล่นอยู่ อย่างหนึ่ง อย่างใดก็ตามเถอะ ไปเห็นเข้า รู้ทีเดียวนี่ไม่ใช่ของธรรมดา ราคามากทีเดียว เมื่อไปเห็นเข้า เช่นนั้นไม่กล้า เพราะรู้ว่าเป็นของหลวง มันไม่กล้าลักของหลวง กลัวติดคุกติดตะรางขึ้นมาเสียแล้ว ก็มากระซิบกับเพื่อนกัน เออ! ข้าไปพบของสำคัญไว้ที่นั่นแน่ะทำอย่างไรนี่ อยู่ที่นั่นแน่ะ ข้าไปพบเข้าแล้วจะทำอย่างไร อ้ายเพื่อนก็ว่า ทำไมไม่เอาเสียล่ะ เพื่อนกระตุ้นเข้าแล้วว่าทำไมไม่เอาเสียล่ะ พอว่าเท่านั้นแหละก็แพล็บไปเอามาสมความปรารถนา นี่ถูกกระตุ้น หรือชักจูงเข้าแล้ว ไปเอาของของเขามาแล้ว โดนอกุศลเข้าอีกดวงหนึ่ง นี้เป็นอกุศลสำคัญ นี้แหละเป็นโลภมูล เกิดจากความโลภ เป็นอกุศลร้ายกาจอย่างนี้หนา นี้ว่าถึงลักถึงขโมย ไม่ใช่ ลักไม่ใช่ขโมยอย่างเดียว ที่ชั่วละก้อ ทั้งนั้นแหละ แบบเดียวกัน ชักตัวอย่างให้เข้าใจ ให้เข้าใจ ว่าดวงจิตดวงนี้มันเป็นอย่างนั้น ให้รู้จักหลักนี้
    ดวงที่ ๓ จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง ยินดีมากเมื่อไปเห็นสิ่งของของคนอื่นที่มีค่าเข้า ที่มีค่ามาก จะเป็นเงินทองหรือแก้วแหวนชนิดใดๆ หรือผ้านุ่งผ้าห่มชนิดใดๆ ก็ตามเถอะ เป็นวัตถุชนิดหนึ่งชนิดใดใช้ได้ จนกระทั่งสตางค์เดียวก็ใช้ได้ ใช้ได้ทั้งนั้น เมื่อไปเห็นเข้าแล้วก็รู้ว่าของนี่เจ้าของเขาพิทักษ์รักษาอยู่ เขาดูแลอยู่ เราไปพบทองเข้าหนักขนาดพันบาท นี่ก็มากอยู่หนักขนาดพันบาท แต่ว่าทองนี้ ถ้าเราเอาไปได้ เราก็ใช้ได้นาน ลงทุนลงรอนได้ ถ้าเราเอาไปไม่ได้เราก็จนอยู่แค่นี้ ถ้าเราเอาไปได้ละก้อ ตั้งเนื้อตั้งตัวได้เชียว ถ้าหากเขาจับเราได้ก็ต้องเข้าคุกตะรางไป ถ้าเขาจับเราไม่ได้ล่ะ เราก็ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ แต่ว่าไม่มีความเห็นผิดอะไร เห็นว่าถ้าเราเอาไปได้ก็เป็นประโยชน์แก่เรา เราไม่เอาไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา เข้าใจว่าจะหลบหลีกพ้น แต่เราต้องได้รับผลชั่วเพราะเราขโมยเขา จะทำอย่างไรได้ ก็มันจนนี่ มันก็ต้องขอไปทีสิ คว้าทองนั้นเข้าก้อนหนึ่งโดยความยากจน มาเป็นของตัวแล้ว ไม่มีใครกระตุ้นหรือชักจูงเลย คิดตกลงในใจของตัวเอง เอาของของเขาไปดังนี้ แล้วก็รู้ด้วยว่าเป็นบาปเป็นกรรมเป็นอกุศลเป็นโทษ เห็นก็ไม่ใช่เห็นผิด เห็นถูกนี่แหละเห็นว่าเป็นบาปเป็นกรรมเป็นโทษ แต่ว่ามันจนเต็มที มันก็ต้องขอไปที ใจกล้าหน้าด้านเอาทีหนึ่ง มันก็เป็นอกุศลจิตเหมือนกัน อกุศลอีกนั่นแหละ ลักเขาขโมยเขาไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เห็นถูก นี้เป็นจิตอีกดวงหนึ่ง ดวงที่ ๓
    ดวงที่ ๔ ก็แบบเดียวกันอย่างนั้นอีก จิตที่ประกอบด้วยความอยากมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด แบบเดียวกันกับเห็นทองอย่างนั้นแหละ เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง ทีนี้เราเห็นเพชรสักเม็ดหนึ่งราคานับล้านแต่ไม่ใช่ของเราแบบเดียวกัน เออ! เมื่อไปเห็นเพชรเข้าเช่นนั้นแล้ว จะตกลงใจอย่างไรล่ะ ราคามันมากขนาดนี้เมื่อไรจะพบกันล่ะ แต่ยังไม่กล้า ที่จะเอาเพชรเม็ดนั้นด้วยกลัวเกรงอันตรายหรือกลัวติดคุกติดตะราง นำเอาเรื่องไปบอกพวกเพื่อนๆ พวกเพื่อนๆ บอกว่าทำไมจึงไม่เอา เอ็งนี่มันโง่เกินโง่อย่างนี้นี่ พอเพื่อนว่าเข้าเท่านั้น ก็ไปลักเพชรเม็ดนั้นได้สมความปรารถนา เอาไปเก็บไว้สมเจตนาของตน นี้ต้องมีผู้กระตุ้น หรือชักจูงเป็นจิตดวงที่ ๔
    สี่ดวงนี้เป็นโลภมูลทั้งนั้น โลภมูลอีกสี่ดวงต่อมาเป็น ๘ ดวง
    ดวงที่ ๕ จิตที่เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ แต่ว่าประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง จิตดวงนี้เกิดขึ้นด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่มีความยินดีมากมายใหญ่โตนัก ได้ก็เอา ไม่ได้ก็แล้วไป พอสมควรแต่ว่ากิริยาแบบเดียวกัน นี่เป็นจิตดวงที่ ๕
    ดวงที่ ๖ จิตที่เกิดขึ้นด้วยความยินดีพอประมาณแบบเดียวกัน และประกอบด้วยความเห็นผิด ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูง จึงจะสำเร็จสมความปรารถนา ก็แบบเดียวกันอย่างที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ว่ามันไม่ยินดีมากนัก ดวงก่อนยินดีมาก ดวงหลังยินดีพอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นเพราะความอยากได้พอประมาณ เช่น ไปเห็นทองหรือเพชรดังกล่าวแล้วแบบเดียวกัน ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงจึงจะสำเร็จความปรารถนา นี้เป็นดวงที่ ๖
    ดวงที่ ๗ จิตที่อยากได้พอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นมีความอยากได้พอประมาณ แต่ว่าไม่มีความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยลำพัง ก็แบบเดียวกัน ดังอธิบายมาก่อน นี่เป็นดวงที่ ๗
    ดวงที่ ๘ จิตที่อยากได้พอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความอยากได้พอประมาณ ไม่มีความเห็นผิด แต่ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูง จึงจะสำเร็จสมความปรารถนาแบบเดียวกันนั่นแหละ นี้เป็นดวงที่ ๘
    จิต ๔ ดวงก่อนกับ ๔ ดวงหลัง ไม่ได้ต่างจากกัน สี่ดวงก่อน จิตที่เกิดขึ้นด้วยความอยากมากยินดีมาก สี่ดวงหลังนี่ยินดีพอประมาณเท่านั้น เมื่อรู้จักจิต ๘ ดวงนี้แล้ว มันก็อยู่ในตัวของเรานี่เองเกิดขึ้นแก่เราเอง เราเคยพบมานี่ อ้ายพวกนี้ เคยพบเคยปะอยู่บ้าง แต่ว่าเราไม่รู้จักมัน วันนี้เราจะรู้จักมันล่ะ พอมีรสบ้าง แต่ว่ายังมีรสน้อยเต็มที กว้างกว่านี้ ยังจะมีรสมากว่านี้อีก แต่ว่าให้รู้จักเสียชั้นหนึ่งก่อนโดยย่อ
    จิตที่เป็นอกุศล จิตโทสะ มี ๒ ดวง
    จิตโทสะดวงที่ ๑ เกิดขึ้นโดยลำพัง อ้ายนี่อกุศลจิต เกิดขึ้นโดยลำพังมันเป็นอย่างไร อกุศลจิตเกิดขึ้นโดยลำพัง เช่น เราไปในสถานที่ใดๆ ก็ช่าง อยู่ในบ้านก็ช่าง ไม่มีใครชักจูง ไม่มีอะไรทั้งหมด ใจมันโกรธ จิตดวงนี้เป็นจิตโกรธ มันโกรธขึ้นไม่มีใครทำอะไรเลย อยู่ดีๆ มันก็พลุ่งพล่านโกรธขึ้นอย่างนั้น ไม่มีใครว่าไม่มีใครทำอะไรทั้งหมด โกรธขึ้นมาก็มีอาการต่างๆ ใครจะพูดกระทบกระเทียบเข้านิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้ก็แปลบๆ ขึ้นมาทีเดียว นั่นมันเรื่องอะไร ไม่มีใครรู้เรื่องของตัวเลย มันโกรธอยู่ในใจอย่างนั้นแหละ นี่โกรธขึ้นโดยลำพัง ไม่มีใครชักจูง ไม่มีว่ากล่าวกระทบกระเทียบเลย มันเกิดขึ้น มันพลุ่งพล่านอยู่ภายในของตัวเอง อ้ายนี้แหละเขาเรียกว่าโทสจริต นี่แหละโทสจริตมันเกิดขึ้นอย่างนี้แหละ เกิดขึ้นโดยลำพัง
    จิตโทสะดวงที่ ๒ มันเกิดขึ้นโดยมีคนชักจูงหรือกระตุ้นเตือน มีคนชักจูงหรือกระตุ้นขึ้น อ้ายนั่นมันยั่วให้โกรธน่ะซี สามียั่วให้ภรรยาโกรธบ้าง ภรรยายั่วให้สามีโกรธบ้าง หรือชาวบ้านยั่วให้โกรธบ้าง คนโน้นคนนี้ยั่วให้โกรธบ้าง ไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง มีคนยั่วให้โกรธ เอารูปที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอาเสียงที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอากลิ่นที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอารสที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง ยั่วเข้ามันก็โกรธน่ะซี่ นั่นแหละมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงให้โกรธขึ้น
    จิต ๒ ดวงนี้ก็ร้ายเหมือนกัน จิต ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นโดยลำพังดวง ๑ เกิดขึ้นโดยมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงดวง ๑ จิตเหล่านี้พออธิบายง่ายหรอก จิตโกรธนี่น่ะ
    จิตหลงนี่น่ะลึกซึ้งนัก จิตหลงมี ๒ ดวง
    จิตหลงดวงที่ ๑ เกิดขึ้นโดยสงสัยลังเลไม่ตกลงใจ อ้ายนี่สำคัญอยู่ จิตหลงเกิดขึ้นโดยสงสัยลังเลไม่ตกลงในใจ จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง ในการครองเรือนของตนก็ดี จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง หรือไม่ได้ครองเรือนก็ดี จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง ลังเล ไม่ตกลงในใจอย่างนั้นแหละร่ำไป อย่างนี้เขาเรียกว่าจิตหลง จะทำอะไรก็ไม่แน่นอนลงไป เข้าทำราชการก็ไม่แน่นอน แต่จะทำหรือไม่ทำก็ไม่แน่นอน ทำส่วนตัวก็ไม่แน่นอน ทำนา ทำไร่ ไม่แน่นอนทั้งนั้น ไม่ตกลงในใจ ถึงทำกิจการอันหนึ่งอันใดก็ไม่ตกลงในใจทั้งนั้น เมื่อสั่งการงานไม่ตกลงในใจอย่างนี้ มันลังเลอยู่เช่นนี้ มันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็หลงงมงายอยู่เช่นนั้น นี่เขาเรียกว่าจิตหลงมันเกิดขึ้น ลังเลไม่ตกลงในใจ สิ่งใดที่ลังเลไม่ตกลงในใจแล้ว พูดออกไปก็ดี ทำลงไปก็ดี มีผิดกับถูกสองอย่างเท่านั้น ถูกก็มี ผิดก็มี เพราะมันลังเล ไม่ตกลงในใจเสียแล้ว การที่จิตลังเลไม่ตกลงในใจน่ะ เช่น เรารักษาศีลอย่างนี้แหละไปเจอ ทรัพย์เข้าหรือสัตว์เข้าตัวใหญ่ๆ ที่ชอบอกชอบใจที่มีค่ามาก เราฆ่าลงไปเป็นอาหารของเราได้นาน เราลักเอาไป ก็เป็นอาหารได้นาน แต่เราไม่ตกลงในใจ เราจะรักษาศีลดี หรือรักชีวิตดี จะลักเขาดีหรือจะฆ่าเขาดี หรือว่าจะไม่ลักไม่ฆ่าเขาดี ถ้าไม่ลักไม่ฆ่าเขาเราก็อด เราก็จน ถ้าลักเขาฆ่าเขาได้ เราเลิกอดเลิกจน ลังเลไม่ตกลงในใจอย่างนี้ นี่เขาเรียกว่าจิตหลง มันระคนจิตหลงเข้าคละอยู่ด้วย ถ้าทำลงไปด้วยอำนาจจิตหลงอย่างนั้น ถ้าทำผิดมันก็ผิดไป ถ้าทำถูกมันก็ถูกไป แต่ว่าในที่นี้ประสงค์เอาที่ผิดเพราะว่าเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่กุศลจิต ประสงค์ที่ผิดฝ่ายเดียว เรียกว่าลังเลไม่ตกลงในใจ นี้เป็นจิตหลงดวง ๑
    จิตหลงดวงที่ ๒ อาการทำโดยฟุ้งซ่านน่ะ อ้ายนี่มันครึ่งบ้าครึ่งดี ลูกเต้าใกล้เคียง เหวี่ยงปึงลงไปให้ก็ตายเลย กำลังมันไม่สบายอกสบายใจ ทำโดยฟุ้งซ่าน ด้วยหลงเหมือนกัน เหมือนคนทำโดยฟุ้งซ่านทำมันแรงเกินไป ไม่ปรารถนาให้ตายหรอก มันไปตายเข้าก็เลยติดคุก นั่นเพราะทำด้วยจิตฟุ้งซ่าน นี้เป็นจิตหลงดวง ๑
    จิตหลง ๒ ดวงนี้สำคัญมาก ต้องคอยระแวดระวังสำคัญอยู่ ไม่ให้ไปทางถูก ให้ไปทางผิดร่ำไป
    นี้จิต ๑๒ ดวงนี่แหละมันควบคุมเราอยู่ ให้เราไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ เราตกต่ำเลวทรามลงได้ด้วยประการใดๆ ก็เพราะจิต ๑๒ ดวงนี่เอง ต้องควบคุมไว้ให้ดี ต้องเล่าเรียนเสียให้ชัดทีเดียว ถ้าว่าเล่าเรียนเสียให้ชัดแล้ว รู้หน้ารู้ตารู้ขอบรู้เขตของมันแล้ว มันจะข่มเหงเราไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้เท่าทันมันเสียแล้วมันก็จะข่มเหงเราตามชอบใจ ในตัวของเรานี้ไม่ใช่ที่อื่น นี่แหละมันเนื้อหนังปรมัตถ์ทีเดียว ฝ่ายความชั่วล่ะ เป็นเนื้อหนังของพระอภิธรรมปิฎกทีเดียว จิต ๑๒ ดวงนี่แหละ
    ที่แสดงวันนี้แสดงแต่เพียง ๑๒ ดวง เวลาไม่เพียงพอ แล้วต่อไปจะแสดงเป็นลำดับไป อเหตุกจิต กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรวิต พอหมดเรื่องจิตแล้วละก็จะแสดงรูป ๒๘ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ หมดรูปแล้วจะแสดงนิพพาน ให้เข้าเนื้อเข้าใจแตกฉานใน ๔ อย่างนี้ให้ได้ เพราะวัดปากน้ำเริ่มลงมือเล่าเรียนกันแล้วใน ๔ อย่างนี้ ภิกษุสามเณรเล่าเรียนกันแล้ว ที่แสดงนี้ก็เป็นอุปการะแก่ภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาที่กำลังเล่าเรียนกันอยู่นี้ กำลังศึกษาอยู่ มีครูสอน พระทิพย์ปริญญาเป็นผู้สอนปรมัตถปิฎกนี้ ผู้สอนปรมัตถ์ ไม่ใช่เล่นๆ หนา ต้องมีภูมิพอ ต้องมีการศึกษาพอ ถ้าไม่มีการศึกษาพอละก้อ ลูกศิษย์สู้ครู ถามกันเจ๊งแน่ทีเดียว ไม่ต้องสงสัยละ เพราะเป็นของที่ลึกซึ้งมาก ถามเจ๊งแน่ ถามติดแน่ทีเดียว เพราะฉะนั้นอุบาสกอุบาสิกาควรตั้งอกตั้งใจศึกษาเถิด
    ปรมัตถปิฎกเป็นเนื้อหนังพุทธศาสนาจริงๆ ส่วนวินัยปิฎกเป็นข้อห้ามข้อปรามไม่ให้ทำชั่วด้วยกายด้วยวาจาเท่านั้น ส่วนสุตตันตปิฎก เป็นสายบรรทัด เป็นตัวอย่างว่าคนนั้นทำอย่างนี้เป็นสุขอย่างนี้ คนนั้นทำดังนี้ พ้นจากทุกข์ พ้นจากไตรวัฏ ไปสู่นิพพานอย่างนี้ นั่นเป็นหน้าที่ของสุตตันตปิฎก ไม่ใช่เนื้อหนังของธรรม ส่วนปรมัตถปิฎกนี้เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงๆ นะ ที่ดับสูญไปเสีย ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เรียนกันแต่เปลือกๆ ผิวๆ เป็นแต่กระพี้ๆ ไป ก็เพราะมารขวางกีดกันไว้ ให้ศึกษาเผินไปหมด พุทธศาสนาก็จะถล่มทลายเพราะเนื้อธรรมไม่มีใครรู้แน่แท้ลงไป รู้แต่เปลือกแต่ผิวไปเสีย เหตุนี้ เราทั้งหลายควรตั้งใจเสียให้ดี ทั้งภิกษุสามเณรจงอุตส่าห์เล่าเรียนปรมัตถคัมภีร์อภิธรรมปิฎก นี้ให้แตกฉานชำนาญเถิด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา ที่ได้ชี้แจงแสดงมาตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมีกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้


    จบเทศนา โดยหลวงปู่สดฯ เรื่อง พระปรมัตถปิฎก
     
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543



    วัตถุประสงค์และวิธีตรวจจักรวาล ภพ ๓


    วัตถุประสงค์ ของการตรวจจักรวาล ภพ และโลกันต์ ก็เพื่อให้รู้เห็นธรรมชาติที่เป็นไปในภพ ๓ และโลกันต์ ว่า เป็นสภาพที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขาร/สังขตธรรม) อย่างไร ได้แก่ปรุงแต่งด้วยบุญ (ปุญญาภิสังขาร) ปรุงแต่งด้วยบาป (อปุญญาภิสังขาร) และปรุงแต่งด้วยฌานสมาบัติที่ไม่หวั่นไหว (อเนญชาภิสังขาร) และเพื่อให้เห็นแจ้งรู้แจ้ง ในสามัญญลักษณะคือสภาวะที่เป็นเองเสมอกันหมดของสังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่า เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อย่างไร ให้เห็นสัจจธรรม คือ ทุกขสัจ และ สมุทัยสัจ ตามที่เป็นจริง และพัฒนาขึ้นเป็นความเห็นแจ้งรู้แจ้งในอีก ๒ สัจจธรรมที่เหลือ คือ นิโรธสัจ และ มรรคสัจ อันเป็นการเจริญปัญญาจากการที่ได้ทั้งเห็นและทั้งรู้สภาวธรรมและสัจจธรรม ตามที่เป็นจริงอย่างแจ่มแจ้ง เป็นหนทางให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามรอยบาทพระพุทธองค์
    สำหรับผู้ที่ถึงธรรมกายแล้ว ก็ให้พิสดารกาย เจริญฌานสมาบัติพร้อมกันหมดทุกกายสุดกายหยาบกายละเอียด โดยอนุโลมปฏิโลมหลายๆ เที่ยว ให้ใสละเอียดหมดทุกกาย
    หากประสงค์จะตรวจดูความเป็นไปในภพ ๓ ก็ให้น้อมเอาภพ ๓ เข้ามาเป็นกสิณ คือมาไว้ ณ ศูนย์กลางกาย แล้วใช้ตาคือญาณพระธรรมกายตรวจดูความเป็นไปในแต่ละภพ เริ่มตั้งแต่ อรูปภพ ๔ ชั้น รูปภพ ๙ ชั้น (๑๖ ภูมิจิต) ตลอดไปจนถึงกามภพ ทั้งสวรรค์ ๑๖ ชั้น และ นรก ๘ ขุมใหญ่ ซึ่งอยู่ใต้เขาพระสุเมรุลงไป ให้รู้เห็นความเป็นไปโดยตลอด หากประสงค์จะทราบบุพพกรรมคือกรรมเก่าที่กระทำไว้ในภพก่อนอย่างไร จึงได้มาเสวยผลบุญหรือผลบาปอยู่ในขณะนี้ ก็ไต่ถามดูได้

    ลักษณะภพ ๓ และโลกันต์


    ก่อนที่จะได้กล่าวถึงภพ ๓ และโลกันต์ ในรายละเอียดต่อไป ก็จะได้กล่าวถึงจักรวาลสักเล็กน้อย พอให้เห็นเค้าโครงหยาบๆ เสียก่อน คือว่า ในจักรวาลหนึ่งๆ นั้นมี ภพ ๓ เป็นที่รองรับสัตว์ที่ประกอบกรรมดีกรรมชั่ว ปานกลาง มี ๓ คือ กามภพ รูปภพ และ อรูปภพ
    อรูปภพ
    เป็นภูมิหรือที่สถิตของอรูปพรหม มีอยู่ ๔ ชั้นด้วยกัน คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และ เนวสัญญานาสัญญายตนะ อายตนะของอรูปภพนี้จะดึงดูดสัตว์ที่ประกอบกรรมดีที่สุดของชาวโลกคือผู้ได้อรูปฌาน แล้วทำกาลกิริยาคือตายไปในขณะที่ยังไม่เสื่อมจากอรูปฌานนั้น ไปเสวยสุขอย่างชาวโลกที่ละเอียดประณีตที่สุดในภพนี้ แต่ตราบใดที่ยังมีอวิชชา ตัณหา ราคะ อยู่ ก็ยังไม่พ้นจากสังสารจักรคือการเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีกได้
    รูปภพ
    เป็นภพที่อยู่รองลงมาก็ได้แก่ เป็นภพของรูปพรหม มีอยู่ ๙ ชั้น ๑๖ ประเภท (ซึ่งมักกล่าวกันว่ามี ๑๖ ชั้น ตามภูมิจิตของรูปพรหม) เป็นที่รองรับหรือดึงดูดสัตว์ที่ประกอบความดีอย่างชาวโลก รองลงมาจากอรูปพรหม คือเป็นผู้ที่ได้ รูปฌาน แล้วทำกาลกิริยาในขณะที่ยังไม่เสื่อมจากรูปฌานนั้นๆ จึงได้มาเสวยสุขที่ละเอียดประณีตรองลงมาจากอรูปพรหม นอกเสียจากพรหมในชั้นสุทธาวาส ๕ ชั้นแล้ว เมื่อจุติคือเคลื่อนหรือตายจากพรหมโลก ก็ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารจักรต่อไปอีก
    ที่ว่า ยกเว้นพรหมในชั้นสุทธาวาส ๕ ชั้นซึ่งเป็นพรหมชั้นสูงที่สุดนั้น ก็เพราะว่า รูปภพ ชั้นสุทธาวาสทั้ง ๕ ชั้นนี้ เป็นที่สถิตของพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามีกับชั้นพระอรหัตตมรรค ซึ่งละโลกไปในระหว่างที่ยังไม่ได้บรรลุพระอรหัตตผล และยังไม่เสื่อมจากปัญจมฌาน จึงได้มาบังเกิดในรูปภพชั้นสุทธาวาส ตามภูมิธรรมของท่าน และเมื่อได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้วก็จะปรินิพพานในภพนี้เลยทีเดียว โดยไม่ต้องไปเกิดในภพภูมิอื่นอีก
    รองลงมาจากรูปภพ ก็เป็น กามภพ เป็นภูมิหรือที่รองรับสัตว์ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม ได้แก่ ภพทิพย์หรือเทวโลก ซึ่งมี ๖ ชั้นด้วยกัน ความเป็นอยู่ในภพเหล่านี้มีความละเอียดประณีต รองลงมาจากรูปภพ, ที่หยาบกว่าภพทิพย์ลงมาอีกก็ได้แก่ ภพของมนุษย์ หรือที่เรียกว่า มนุษย์โลก แล้วก็มีอบายภูมิทั้ง ๔ คือ ภพของ เปรต อสุรกาย สัตว์นรก และ สัตว์ดิรัจฉาน
    ตั้งแต่ภพมนุษย์ขึ้นไป ตลอดถึงภพของทิพย์ รูปพรหม และอรูปพรหม จัดว่าเป็น สุคติภพ คือ เป็นที่ไปดี ด้วยว่าสัตว์ที่ได้มาบังเกิดในภพเหล่านี้เพราะกรรมดีส่งผล สัตว์ในภพนี้จึงมีความเป็นอยู่สุขสบายตามส่วนแห่งผลบุญกุศลที่ได้เคยสร้างไว้ในอดีต
    ส่วนอบายภูมิทั้ง ๔ คือ ภูมิของเปรต อสุรกาย สัตว์นรก และ สัตว์เดรัจฉานนั้น จัดรวมอยู่ในประเภท ทุคคติภพ ซึ่งหมายถึง ที่ไปไม่ดี เป็นภพของสัตว์ที่ประกอบกรรมชั่วเป็นชนกกรรมนำให้ไปบังเกิดในภพหรือภูมิเหล่านี้ ซึ่งมีความเป็นอยู่ที่เป็นความทุกข์เดือดร้อนไปกว่าสุคติภพที่กล่าวมาแล้ว ตามส่วนแห่งอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์นรกทั้งหลายนั้นต่างได้รับความทุกข์ทรมานด้วยเครื่องกรรมกรณ์อย่างแสนสาหัส อย่างเช่นใน อเวจีมหานรก ซึ่งเป็นชั้นต่ำที่สุดของกามภพ เป็นที่รองรับสัตว์ผู้ประกอบกรรมชั่วที่สุดอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่าง คือ เป็นผู้ฆ่าบิดา, ฆ่ามารดา, ฆ่าพระอรหันต์, ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต และทำให้ภิกษุสงฆ์แตกแยกกัน เรียกว่า อนันตริยกรรม คือกรรมหนักที่ผู้ใดกระทำลงไปแล้วจะต้องได้รับผลกรรมในทันทีที่ตายลง แม้จะกระทำกรรมดีมาก่อน แต่กรรมดีนั้นก็ไม่มีช่องไม่มีโอกาสที่จะให้ผลได้ คือช่วยไม่ได้ จะต้องมาบังเกิดในอเวจีมหานรกนี้อย่างแน่นอน ให้ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ด้วยไฟนรกเผาผลาญให้เร่าร้อนทุรนทุรายอยู่อย่างนั้นถึงชั่วอนันตรกัปป์ทีเดียว อย่างเช่นพระเทวทัตผู้ประกอบกรรมชั่วหลายอย่างในสมัยพุทธกาล ก็ได้ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก และขณะนี้ก็ยังอยู่ในนรกชั้นนี้
    อายตนะโลกันต์
    อยู่นอกภพ ๓ ตั้งแต่ขอบล่างจักรวาลนี้ออกไป เป็นที่รองรับสัตว์ที่ประกอบกรรมชั่วที่สุด ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิอย่างแรงกล้า แม้แต่อเวจีมหานรกก็ไม่สามารถจะรองรับไว้ได้ เมื่อตายลงจึงถูกอายตนะโลกันต์นี้ดึงดูดไป เป็นภพที่อยู่ขอบล่างสุดของจักรวาล คืออยู่ระหว่างล่างที่สุดของจักรวาลทั้งหลาย มีลักษณะที่มืดมิด ไม่เห็นกัน สัตว์โลกันต์นั้นต้องทุกข์ทรมานทั้งด้วยความหิวโหย และทั้งทะเลน้ำกรดเย็นที่กัดกินละลายหมดทั้งร่างของสัตว์นั้นให้ตายลง แล้วก็เกิดใหม่ วนเวียนอยู่นั่นแหละ ตราบชั่วพุทธันดร กล่าวได้ว่า กว่าจะได้มาผุดมาเกิดในภพ ๓ นี้อีกก็ลืมกันได้เลยทีเดียว
    ส่วนลักษณะของจักรวาล ตามคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์นั้น ท่านได้แสดงไว้ว่า ตรงกลางจักรวาล มีภูเขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่เป็นแกนกลาง หยั่งลงไปในท้องมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ (๑ โยชน์เท่ากับ ๔ คาวุต หรือ ๔๐๐ เส้น) สูงพ้นน้ำขึ้นไปเบื้องบนอีก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ จักรวาลหนึ่งๆ อันมี สังขารโลก สัตว์โลก โอกาสโลก แม้ทั้งหมด ชื่อว่า “โลกธาตุ” หนึ่งๆ
    ลักษณะของจักรวาล เว้นไว้แต่โลกมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน และดาวนพเคราะห์ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ ทั้งหลายแล้ว มีสภาวะที่เป็นทิพย์ทั้งสิ้น คือไม่อาจเห็นได้ด้วยมังสจักษุ หรือ ไม่อาจสัมผัสรู้ได้ด้วยอายตนะหยาบของมนุษย์หรือของสัตว์เดรัจฉานที่อาศัยอยู่ร่วมกับโลกมนุษย์นี้ ดังที่ท่านได้กล่าวว่า
    “เหมือนอย่างว่า พระองค์ทรงรู้แจ้งสัตวโลก ฉันใด, แม้โอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน) ก็ทรงรู้แจ้งแล้ว ฉันนั้น. จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงรู้แจ้ง คือได้ทรงทราบ ได้แก่ทรงแทงตลอดแล้ว ซึ่งโลกธาตุ อันไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยพระพุทธญาณอันไม่มีที่สุด ตลอดอนันตจักรวาล อย่างนี้ คือ
    จักรวาลหนึ่ง ว่าด้วยส่วนยาวและส่วนกว้าง มีประมาณ ๑,๒๐๓,๔๕๐ โยชน์, ท่านกล่าวประมาณไว้โดยรอบ,
    จักรวาลมีปริมณฑลทั้งหมด ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์, แผ่นดินนี้ในจักรวาลนั้น บัณฑิตกล่าวไว้ว่าโดยความหนามีประมาณ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์.
    น้ำสำหรับรับรองแผ่นดินซึ่งมีประมาณ ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์นั้นนั่นแลไว้ โดยความหนา ก็มีประมาณเท่านั้น ตั้งอยู่บนลม, ลมสำหรับธารน้ำแม้นั้นไว้ พุ่งขึ้นจดท้องฟ้าสูง ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์, ความตั้งอยู่แห่งโลกเป็นดังนี้.
    ก็ในจักรวาลนี้ ที่ตั้งอยู่แล้วอย่างนี้ มีภูเขาสิเนรุ เยี่ยมกว่าบรรดาภูเขาทั้งหลาย หยั่งลงในห้วงมหรรณพ ถึง ๘๔๐,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (เบื้องบน) ก็มีประมาณเท่านั้น เหมือนกัน.
    มหาบรรพตใหญ่ทั้ง ๗ เหล่านี้ คือ เขายุคันธร ๑ เขาอิสินธร ๑ เขากรวิกะ ๑ เขาสุทัสสนะ ๑ เขาเนมินธร ๑ เขาวินัตตกะ ๑ เขาอัสสกัณณะ ๑ เป็นของทิพย์ วิจิตรด้วยรัตนะต่างๆ หยั่งลง (ในห้วงมหรรณพ)
    และสูงขึ้นไป (เบื้องบน) ตามลำดับโดยประมาณกึ่งหนึ่งๆ จากประมาณแห่งสิเนรุที่กล่าวแล้ว ทั้งเบื้องล่างและเบื้องบนนั้น เป็นสถานที่อยู่ของท้าวมหาราช (ทั้ง ๔) มีเทวดาและยักษ์อาศัยอยู่แล้ว ตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบภูเขาสิเนรุ ด้วยอำนาจเป็นเครื่องล้อม.
    หิมวันตบรรพต สูง ๕๐๐ โยชน์ โดยส่วนยาวและกว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ ประดับด้วยยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด.
    ชมพูทวีปท่านประกาศแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งต้นชมพูใด, ต้นชมพูที่ชื่อว่า นคะ นั้น วัดโดยรอบลำต้นประมาณ ๑๕ โยชน์ ความยาวของลำต้นและกิ่งประมาณ ๕๐ โยชน์ ความกว้างโดยรอบประมาณ ๑๐๐ โยชน์ และสูงขึ้นไป (เบื้องบน) ก็มีประมาณเท่านั้น นั่นแล.
    จักรวาลบรรพต หยั่งลงในห้วงมหรรณพ ๒๘,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (เบื้องบน) ก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน, จักรวาลบรรพต นี้ตั้งล้อมรอบโลกธาตุทั้งหมดนั้นอยู่.
    ในโลกธาตุนั้น ดวงจันทร์ (วัดโดยตรงโดยส่วนยาวส่วนกว้างและส่วนสูง) ๔๙ โยชน์ ดวงอาทิตย์ประมาณ ๕๐ โยชน์, ภพดาวดึงส์ประมาณ ๑๐,๐๐๐ โยชน์, ภพอสูร อเวจีมหานรก และ ชมพูทวีปก็มีประมาณเท่านั้น, อปรโคยานทวีป ประมาณ ๗,๐๐๐ โยชน์, ปุพพวิเทหทวีป ก็มีประมาณเท่านั้น, อุตตรกุรุทวีป ประมาณ ๘,๐๐๐ โยชน์, ก็แล ทวีปใหญ่ๆ ในโลกธาตุนี้ แต่ละทวีปๆ มีทวีปเล็กๆ เป็นบริวาร ทวีปละ ๕๐๐ๆ, จักรวาลหนึ่งแม้ทั้งหมดนั้น ชื่อว่า โลกธาตุหนึ่ง. ในระหว่างแห่งจักรวาลนั้น เป็นโลกันตริกนรก
    แม้โอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน) อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้แจ้งแล้วโดยประการทั้งปวง ด้วยประการอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคนั้นทรงพระนามว่า โลกวิทู เพราะความที่พระองค์ทรงรู้แจ้งโลก โดยประการทั้งปวง แม้ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้.” (พระพุทธโฆษาจารย์, สมนฺตปาสาทิกา นาม วินยฏฺฐกถา (ปฐโม ภาโค): มหามกุฏราชวิทยาลัย, พ.ศ.๒๕๓๔, หน้า ๑๒๕-๑๒๗.)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 16 กรกฎาคม 2014
  4. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    [​IMG]

    พระเดชพระคุณพระราชพรหมเถร
    ( วีระ คณุตฺตโม )

    การเจริญภาวนาเพื่อความหลุดพ้นโดยเจโตสมาธินี้ จิตของผู้เจริญภาวนา จะมีอานุภาพสูงยิ่ง ตามระดับคุณธรรมที่ปฏิบัติได้ จนอาจกล่าวได้ว่า เมื่อท่านสาธุชนผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย น้อมใจลงไปหยุด ณ ศูนย์กลางกาย และบริกรรมภาวนาว่า "สัมมาอะระหัง" เมื่อใด กระแสจิตของครู-อาจารย์ กับของศิษย์ก็ย่อมจะถึงกันในทันที เพราะอยู่ในสายธาตุธรรมเดียวกัน กระแสจิตจึงเชื่อมถึงกันโดยอัตโนมัติ

    การกระทำพิธียกครู จึงเห็นว่าไม่จำเป็น และอาตมาก็ยังไม่เคยได้ยินว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติให้กระทำเช่นนั้นอีกด้วย

    อนึ่ง อาตมาใคร่ขอย้ำว่า บรมครูที่สูงที่สุดนั้น ก็คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระอริยสงฆ์ ซึ่งก็หมายถึง พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ และมีความหมายถึง "ธรรมกาย" ซึ่งมีอยู่ในศูนย์กลางกาย อันเป็นกายในกาย ที่สุดละเอียดของทุกท่านนั่นเอง พระพุทธองค์จึงได้ตรัสกับพระวักกลิ ผู้คอยเฝ้าติดตามชมพระสิริโฉมกายเนื้อของพระองค์ท่านอยู่เสมอว่า

    โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ โย มํ ปสฺสติ โส ธมฺมํ ปสฺสติ
    (สํ.ข.๑๗/๒๑๖/๑๒๙)

    แปลความว่า..
    ดูกรวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม
    ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็น เราตถาคต
    ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั่นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม

    และว่า...
    " ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ "
    ซึ่งแปลความว่า...
    เราตถาคตคือธรรมกาย

    เพราะฉะนั้น พระบรมครูก็อยู่ในตัวเราทุกคนนั่นเอง
    .............................
    จากหนังสือ
    สมถวิปัสสนากัมมัฏฐานเบื้องต้น
     
  5. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    ความทุกข์มันมาได้เพราะใจเรายอมรับสภาวะที่กำลังปรากฏต่อหน้าต่อตาไม่ได้ เช่น เราจะต้องเจ็บป่วยเรายอมรับไม่ได้ ความทุกข์ทางใจมันก็เกิดขึ้นเราจะต้องแก่ ยอมรับไม่ได้ ว่าจะต้องแก่ ความทุกข์ทางจิตใจก็เกิดขึ้นจะต้องตายยอมรับไม่ได้ก็ทุกข์อีก จะต้องพลัดพรากจากคนที่รักจะต้องเจอสิ่งที่ไม่รัก อะไรแบบนี้แหละ จะต้องผิดหวังในชีวิตบ้างถ้าเรายอมรับความจริงได้ว่า ชีวิตมันเป็นอย่างนี้แหละทุกอย่างผ่านมาแล้วผ่านไป ผ่านมาแล้วผ่านไปตลอดเวลา
    ยอมรับความจริงตรงนี้ได้จะไม่ทุกข์ ที่ใจมันทุกข์เพราะมันไม่ยอมรับความจริง



    [​IMG]
     
  6. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    เขมาเขมสรณาคมน์

    (เทศนาโดยหลวงปู่สด จันทสโร )


    ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗




    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส. (๓ หน) พหุ ํ เว สรณํ ยนฺติ ปพฺพตานิ วนานิ จ
    อารามรุกฺขเจตฺยานิ มนุสฺสา ภยตชฺชิตา
    เนตํ โข สรณํ เขมํ เนตํ สรณมุตฺตมํ
    เนตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ
    โย พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต
    จตฺตาริ อริยสจฺจานิ สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ
    ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ
    อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ ทุกฺขูปสมคามินํ
    เอตํ โข สรณํ เขมํ เอตํ สรณมุตฺตมํ
    เอตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจตีติ.



    เสร็จกิจ ๑๖ ไม่ตกกันดาร เรียกว่า นิพพานก็ได้ นี่แหละเสร็จกิจ ๑๖ ละ ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ในกายมนุษย์ ๔, ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ในกายทิพย์ ๔ เป็น ๘, ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ในกายรูปพรหม ๔ เป็น ๑๒, ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ เห็นจริงตามจริงในกายอรูปพรหมอีก ๔ มันก็เป็น ๑๖ นี้เสร็จกิจทางพุทธศาสนา

    ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดง เขมาเขมสรณทีปิกคาถา วาจาเครื่องกล่าวแสดงซึ่ง ที่พึ่งอันเกษมและไม่เกษมทั้ง ๒ สองอย่าง จะชี้แจงแสดงตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษาตามมตยาธิบาย จะชี้แจงแสดงเป็นทางปริยัติ เป็นทางปฏิบัติ เป็นทางปฏิเวธ ให้เป็นเหตุสอดคล้องต้องด้วยพุทธศาสนา เริ่มต้นจะแสดงทางปริยัติก่อน ในตอนหลังจะได้แสดงทางปฏิบัติต่อไป แล้วปฏิเวธก็จะรู้คู่กันไปในทางปฏิบัติ พุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์บรรพชิต ทุกถ้วนหน้า จงเงี่ยโสตทั้งสองรองรับรสพระสัทธรรมเทศนา ดังอาตมาจะได้ชี้แจงแสดง ต่อไป ณ บัดนี้
    เริ่มต้นแห่งวาระพระบาลีว่า พหุ ํ เว สรณํ ยนฺติ เป็นอาทิว่า มนุษย์เป็นอันมาก อันภัยคุกคามเข้าแล้ว ย่อมถึงภูเขาทั้งหลายบ้าง ถึงป่าทั้งหลายบ้าง ถึงอารามและต้นไม้และเจดีย์ทั้งหลายบ้างว่าเป็นที่พึ่ง เนตํ โข สรณํ เขมํ นั่นหาใช่ที่พึ่งอันเกษมไม่ เนตํ สรณมุตฺตมํ นั่นหาใช่ที่พึ่งอันอุดมไม่ เนตํ สรณมาคมฺม ถ้าอาศัยอันนั้นเป็นที่พึ่งแล้ว สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ ย่อมหาหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปได้ไม่ โย พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต ผู้ใดถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า ว่าเป็นที่พึ่งแล้ว จตฺตาริ อริยสจฺจานิ สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ ทุกฺขูปสมคามินํ มาเห็นอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ตามปัญญาอันชอบ ทุกฺขํ คือทุกข์ ทุกขสมุปฺปาทํ คือ ตัณหาเป็นแดนให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ คือ การก้าวล่วงเสียซึ่งทุกข์ อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ คือหนทางมีองค์ ๘ ไปจากข้าศึก ทุกฺขูปสมคามินํ ให้ถึงพระนิพพาน เป็นที่สงบระงับทุกข์ เอตํ โข สรณํ เขมํ นี้เป็นที่พึ่งอันเกษม เอตํ สรณมุตฺตมํ นี้เป็นที่พึ่ง อันอุดม เอตํ สรณมาคมฺม มาถึงอันนี้เป็นที่พึ่งได้แล้ว สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจตีติ ย่อมหลุดพ้น จากทุกข์ทั้งปวงได้ด้วยประการดังนี้ นี้เนื้อความของพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา
    ต่อแต่นี้จะแสดงเป็นปริยัติเทศนา ในเขมาเขมสรณาคมน์ต่อไป ปริยัติเทศนาว่า มนุษย์เป็นอันมาก ไม่ใช่น้อย หมดทั้งสากลโลก ชมพูทวีป แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล นิพพานถอดกาย มีเท่าไรที่เป็นมนุษย์หรือทิพย์ก็ช่าง หรือรูปพรหม อรูปพรหม ก็ช่าง เมื่อพากันมาฟังธรรมเทศนาแล้ว นั่นแหละก็อยู่ในพวกมนุษย์นั่นทั้งนั้น มีมากน้อยเท่าใด มนุษย์ทั้งหลายมากด้วยกัน ภยตชฺชิตา อันภัยคุกคามเข้าแล้ว เมื่อคุกคามเข้าเช่นนั้น แล้วทำไง บางพวกไปถึงภูเขาใหญ่ๆ ที่เขานับถือเชิดชูบูชากันว่าเป็นที่พึ่งบ้าง บางพวกไปถึงป่าใหญ่ๆ ที่เขานับถือเชิดชูบูชากันว่าเป็นที่พึ่งบ้าง บางพวกไปถึงอารามใหญ่ๆ เช่น เชตวนาราม หรืออารามใหญ่ๆ กว่านั้นก็ช่าง หรือเล็กกว่านั้นก็ช่าง ที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น อย่างวัดโสธรอย่างนี้ พอถึงวัดเข้าไหว้แล้ว แต่ว่าไหว้กลัวฤทธิ์กลัวเดชพระยามาร อ้ายที่มีฤทธิ์มีเดชอยู่ที่นั่น ไม่ใช่เคารพต่อพระพุทธเจ้าโดยตรง เคารพในฤทธิ์เดชของพระยามารมัน กลัวพระยามารมัน อารามหรือต้นไม้เป็นเจดีย์ บัดนี้ก็ยังปรากฏอยู่นั่นแน่ เจริญพาสน์นั่นแน่ ต้นมะขามใหญ่ นั่นแน่ ไปถึงก็ต้องไหว้เชียว ต้องไหว้ กลัว กลัวใครละ กลัวฤทธิ์พระยามาร มันมีฤทธิ์มีเดช มันสิงมันทรงได้ มันบอกไหว้นบเคารพเสีย มันให้ความสุขความเจริญ ถ้าว่าไม่ไหว้นบ เคารพ นบบูชาแล้ว ก็ลงโทษต่างๆ นานา กลัวมัน ต้องไหว้มันอย่างนี้ ไปถึงอาราม หรือ ต้นไม้ เจดีย์เช่นนั้นเข้าแล้ว ก็ต้องไหว้ กลัวต้องภัยได้ทุกข์ ถึงอ้ายสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ว่าเป็น ที่พึ่งทีเดียว
    นั่นพระพุทธเจ้าปฏิเสธแล้ว เนตํ โข สรณํ เขมํ ภูเขาก็ดี ป่าก็ดี อารามก็ดี ต้นไม้ก็ดี นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันผ่องใส ไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม เนตํ สรณมุตฺตมํ นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด หรืออันอุดม ไม่ใช่ที่พึ่งอันอุดมอันสูงสุด เนตํ สรณมาคมฺม อาศัยอันนั้นว่าเป็นที่พึ่งแล้ว น ปมุจฺจติ สพฺพทุกฺขา ย่อมหาหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะต้องติดอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ อยู่นี่เอง จนไปนิพพานไม่ได้ เพราะเข้าถึงที่พึ่งไม่ถูก พลาดไปเรื่องนี้ เราเห็นอยู่ต่อตาทั่วๆ กัน ในประเทศไทยนี่ อะไรต่อมิอะไรกันไขว่เชียว เพราะเหตุอะไร ? เพราะเหตุว่า ไม่รู้จัก พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ น่ะซี พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ไม่ได้อยู่เรี่ยราดเช่นนั้น พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ อยู่ในตัวทุกคน กายเป็นชั้นๆ เข้าไป กายมนุษย์-กายมนุษย์ละเอียด, กายทิพย์-กายทิพย์ละเอียด, กายรูปพรหม-กายรูปพรหมละเอียด, กายอรูปพรหม-กายอรูปพรหมละเอียด, กายธรรม-กายธรรมละเอียด นั่นแน่ พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ นั่นแน่ กายธรรม-กายธรรมละเอียด กายธรรม นั่นแหละเป็น พุทฺโธ เป็นเนมิตตกนามเกิดขึ้นเป็น พุทฺโธ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม นั่นแหละ เส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย กลมรอบตัว ดวงนั้นแหละเป็นเนมิตกนาม เกิดขึ้นเรียกว่า ธมฺโม กายธรรมละเอียดอยู่ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย แต่ว่าใหญ่กว่ากายธรรม นั่นแหละเรียกว่า สงฺโฆ เป็นเนมิตตกนามเกิดขึ้นเรียกว่า สงฺโฆ ถ้าตัวจริงละก้อ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นั่นแหละเป็นตัวจริงที่เราจะถึง จะไปถึงสิ่งอื่นไม่ได้ โย พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต ผู้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง ถึงพระธรรมว่าเป็นที่พึ่ง ถึงพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง หรือถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ทั้ง ๓ นั้นว่าเป็นที่พึ่ง
    เมื่อถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว จตฺตาริ อริยสจฺจานิ สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ ต้องเห็นอริยสัจธรรมทั้ง ๔ เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ตามปัญญาอันชอบที่ถูก ไม่ให้ผิดจากอริยสัจธรรมทั้ง ๔ อริยสัจธรรมทั้ง ๔ เป็นธรรมสำคัญในทางพระพุทธศาสนา แต่เราไม่เดียงสาทีเดียวว่าอะไรเป็นทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ เราไม่เดียงสาทีเดียว ไม่เดียงสาอย่างไร ? ทุกขสัจน่ะคืออะไรล่ะ ? ความเกิดน่ะซีเป็นทุกขสัจจะ สมุทัยสัจล่ะ เหตุให้เกิดนั่นแหละเป็นสมุทัยสัจ นิโรธสัจล่ะ ความดับเหตุให้เกิดนั่นแหละเป็นนิโรธสัจ มรรคสัจ ข้อปฏิบัติหนทางมีองค์ ๘ ไปจากข้าศึกให้ถึงพระนิพพานที่เป็นที่สงบระงับนั่นแหละ เป็นมรรคสัจ นี้เป็นตัวสำคัญนัก วันนี้มุ่งมาดปรารถนาจะแสดงในทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ นี้ ให้เข้าเนื้อเข้าใจ จะแสดงทางปริยัติก่อน แล้วจึงย้อนไปแสดงทางปฏิบัติให้เข้าเนื้อเข้าใจชัดว่า ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ น่ะ อยู่ที่ไหน อะไรให้รู้กันเสียที
    เมื่อเห็นสัจธรรมทั้ง ๔ เป็นที่พึ่งดีเช่นนี้แล้ว พระองค์ก็ทรงรับสั่ง เอตํ โข สรณํ เขมํ นี้เป็นที่พึ่งอันเกษม อันผ่องใส เอตํ สรณมุตฺตมํ นี้เป็นที่พึ่งอันอุดมสูงสุด เอตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ มาอาศัยอันนี้เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ นี่ท่านแสดงย่อย่นสกลพุทธศาสนา ธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นที่ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ คือ สัจธรรมทั้ง ๔ รู้จริงรู้แท้ทีเดียวในสัจธรรมทั้ง ๔ นี้ ถ้าไม่รู้จริงรู้แท้ในสัจธรรมทั้ง ๔ เป็นพระอรหันต์ก็ไม่ได้ เป็นพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ เป็นไม่ได้ทีเดียว นี่ธรรมสำหรับทำให้เป็นพระพุทธเจ้าทีเดียว สัจธรรมทั้ง ๔ นะ เพราะฉะนั้นวันนี้เราควรฟัง ที่แสดงมาแล้วนี้เป็นทางปริยัติ
    ถ้าจะแสดงโดยปฏิบัติ ให้แน่ชัดลงไปแล้วละก็ ในสัจธรรม ๔ นี่น่ะคือใคร ถ้ารู้จักพระพุทธเจ้าเสียก่อน
    พระพุทธเจ้าน่ะคือใครที่ไปเห็นสัจธรรมทั้ง ๔ น่ะ เห็นด้วยพระสิทธัตถกุมารหรือด้วยตาของพระสิทธัตถราชกุมาร ความเห็น ความรู้ของพระสิทธัตถราชกุมารหรือ ? ไม่ใช่
    หรือเห็นด้วยกายละเอียดของพระสิทธัตถราชกุมาร กายที่นอนฝันออกไปน่ะ ? ไม่ใช่ ไม่ได้เห็นด้วยตานั้นกายนั้น
    เห็นด้วยตากายทิพย์ของพระสิทธัตถราชกุมารหรือ ? กายที่ฝันในฝันออกไปนะ ? ไม่ใช่ เห็นด้วยกายนั้นเป็นพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ไม่ได้
    เห็นด้วยตากายทิพย์ละเอียดของพระสิทธัตถราชกุมารอย่างนั้นหรือ ถึงจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ? ไม่ใช่ ไม่เห็น เช่นนั้น เพราะสัจธรรมนี่เห็นขั้นท้ายไม่ใช่เห็นขั้นต้น เห็นด้วยตากายรูปพรหมหรือรูปพรหม ละเอียดของพระสิทธัตถราชกุมารอย่างนั้นหรือ ? เห็นทุกข์ เห็นเหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ? ไม่ใช่
    เห็นด้วยตากายอรูปพรหม-อรูปพรหมละเอียดของพระสิทธัตถราชกุมาร เป็นกายที่ ๗ ที่ ๘ กระนั้นหรือ ? ไม่ใช่ เห็นด้วยตากายนั้น มันอยู่ในภพ มันทะลุหลุดสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ มันยังติดภพอยู่
    ท่านเห็นด้วยตาธรรมกาย ธรรมกายที่เป็นโคตรภูนะ ยังหาได้เป็นพระโสดา-สกทาคาไม่ ยังหาได้เป็นโสดาปัตติมรรคผล สกทาคามิมรรคผล อนาคามิมรรคผล อรหัตมรรคผลไม่ เห็นด้วยตากายธรรม รู้ด้วยญาณของกายธรรม ไม่ใช่รู้ด้วยดวงวิญญาณ เพราะกายมนุษย์มีดวงวิญญาณ ญาณไม่มี กายมนุษย์-กายมนุษย์ละเอียด, กายทิพย์-กายทิพย์ละเอียด มีดวงวิญญาณทั้งนั้น ดวงญาณไม่มี กายรูปพรหม-รูปพรหมละเอียด มีแต่ดวงวิญญาณ ดวงญาณไม่มี กายอรูปพรหม-อรูปพรหม ละเอียด มีแต่ดวงวิญญาณ ดวงญาณไม่มี พอถึงกายธรรมเข้า มีญาณทีเดียว
    ญาณน่ะเป็นอย่างไร ? รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร ? ตาธรรมกายก็เหมือนรูปพระปฏิมาอย่างนี้แหละ เหมือนมนุษย์อย่างนี้แหละ แบบเดียวกันแต่ทว่าละเอียด แล้วมีญาณของกายธรรม ญาณน่ะเป็นอย่างไร ? ดวงวิญญาณอยู่ในกลางกายมนุษย์นี่ เท่าดวงตาดำข้างใน อยู่ในกลางกายทิพย์ก็เท่าดวงตาดำข้างใน อยู่ในกลางกายมุนษย์ละเอียด กายทิพย์ละเอียด ก็แบบเดียวกัน หรือกายรูปพรหม-รูปพรหมละเอียด อรูปพรหม-อรูปพรหมละเอียด ก็มีดวงวิญญาณแบบเดียวกัน ดวงวิญญาณเท่านั้นไม่อาจจะเห็นอริยสัจได้ ต่อเมื่อใด ไปถึงกายธรรมเข้า ดวงวิญญาณจะขยายส่วนออกไปเป็นดวงญาณ หน้าตักธรรมกายโตเท่าไหน ก็กว้างแค่นั้น ถ้าหน้าตักศอกหนึ่ง ดวงญาณก็วัดผ่าเส้นศูนย์กลางศอกหนึ่ง หน้าตักวาหนึ่ง ดวงญาณก็วัดผ่าเส้นศูนย์กลางวาหนึ่ง กลมรอบตัว ถ้าว่าหน้าตักธรรมกายนั้น ๒ วา ดวงญาณก็วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๒ วา กลมรอบตัว ขยายอย่างนั้น ถ้าหน้าตัก ๔ วา ดวงญาณก็วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๔ วา กลมรอบตัว แล้วแต่หน้าตักธรรมกาย หน้าตักธรรมกายโคตรภูนั่นไม่ถึง ๕ วา หย่อน ๕ วาเล็กน้อย ถ้าเป็นพระโสดาจึงจะเต็ม ๕ วา ถ้ายังไม่ถึงพระโสดาหย่อนกว่า ๕ วา หน้าตักของธรรมกายนั่นโตเท่าไหน ดวงญาณก็โตเท่านั้น ดวงญาณนั้นแหละสำหรับรู้ละ นั่นแหละ สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ เห็นตามปัญญาอันชอบ เห็นชัดๆ ทีเดียว ดวงญาณของธรรมกายขยายออกไป ดังนั้นเมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ธรรมกายจะเห็นทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรจสัจ มรรคสัจ ต้องเข้าสมาบัติ ธรรมกายต้องเข้าสมาบัติธรรมกายนั่งนิ่งเพ่งฌานทีเดียว ใจหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย หยุดนิ่ง เมื่อนิ่งถูกส่วนเข้าแล้ว ที่ธรรมกายนั่งนั่นแหละเกิดเป็นดวงฌานขึ้น วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๒ วา ๘ ศอก กลมเป็นวงเวียน เป็นกงจักร กลมเป็นกงเกวียนทีเดียว เหมือนแผ่นกระจกหนาคืบหนึ่ง วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๒ วา หนาคืบหนึ่ง รองนั่งของธรรมกายนั้นมาจากไหน ดวงฌานที่เกิดขึ้นน่ะมาจากไหน ที่มาของดวงฌานน่ะมีมาก มาจากกสิณก็เป็นดวงฌานได้ มาจากดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ก็เป็นดวงฌานได้ แต่ว่าเมื่อถึงธรรมกายแล้ว ใช้ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นเองเป็นปฐมฌาน ขยายส่วน เห็นใส เมื่อดูใสแล้วก็ขยายส่วนออกไป ขยายส่วนออกไป ๒ วา กลมรอบตัว แต่ว่าหนาคืบหนึ่ง กลมเหมือนยังกับกงจักรหรือกงเกวียน กลมเหมือนอย่างวงเวียนอย่างนั้น หนาคืบหนึ่ง ใสเป็นแก้วผลึกทีเดียว รองนั่งของธรรมกาย ธรรมกายเมื่อเข้าถึงปฐมฌานเช่นนั้นนั่นแหละ พอถึงปฐมฌานเข้าเช่นนั้น ก็มีวิตก ความตรึก วิจาร ความ ตรอง ปีติ ชอบเนื้อชอบใจ วิตกว่าฌานนั้นมันมาจากไหน เห็นแล้วมันมาจากนั่น วิจาร ไตร่ตรองไป ตรวจตราไปถี่ถ้วน เป็นของที่ไม่มีที่ติ ปลื้มอกปลื้มใจ ดีอกดีใจ มีความปีติขึ้น ปลื้มอกปลื้มใจ เต็มอกเต็มใจ เต็มส่วนของปีติ มีความสุข นิ่งอยู่กลางฌานนั่น สุขในฌาน อะไรจะไปสู้ ในภพนี่ไม่มีสุขเท่าถึงดอก สุขในฌานนะ สุขลืมสมบัตินั่นแหละ สมบัติกษัตริย์ก็ไม่อยากได้ สุขในฌานนะ สุขนักหนาทีเดียว เต็มส่วนของความสุขก็หนึ่ง เฉยวิเวกวังเวง เปลี่ยวเปล่า เรามาคนเดียวไปคนเดียวหมดทั้งสากลโลก คนทั้งหลายไปคนเดียวทั้งนั้น ไม่มีคู่สองเลย จะเห็นว่าลูกสักคนหนึ่งก็ไม่มี สามีสักคนหนึ่งก็ไม่มี ภรรยาสักคนหนึ่งก็ไม่มี ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างเกิด เป็นจริงอย่างนี้ ปล่อยหมด ไม่ว่าอะไร ไม่ยึดถือทีดียว เรือกสวนไร่นา ตึกร้านบ้านเรือน ก่อนเราเกิดเขาก็มีอยู่อย่างนี้ หญิงชายเขาก็มีกันอยู่อย่างนี้ เราเกิดแล้วก็มีอยู่อย่างนี้ เราตายไปแล้วมันก็มีอยู่อย่างนี้ เห็นดิ่งลงไปทีเดียว เข้าปฐมฌานเข้าแล้ว เห็นดิ่งลงไปเช่นนี้ เมื่อเข้าปฐมฌานก็แน่นิ่งอยู่ ฌานที่ละเอียดกว่านี้มี พอนึกขึ้นมาเช่นนั้น ก็ อ้อ! ที่ละเอียดขึ้นมากว่านี้มีอยู่ ก็นิ่งอยู่กลางปฐมฌานนั่น กลางดวงปฐมฌานนั่นนิ่ง ใจของธรรมกายหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย นิ่งพอถูกส่วนเข้า ฌานนั่นเปลี่ยนแล้ว ปฐมฌานนั่นจางไป ทุติยฌานมาแทนที่รองนั่ง จะไปไหน ไปคล่องแคล่วยิ่งกว่าขึ้นเครื่องบิน ปฐมฌานเหมือนกัน ทุติยฌานเหมือนกัน พอเข้าฌานที่ ๒ ได้แล้ว ก็นึกว่าฌานที่ ๒ มันใกล้ฌานที่ ๑ มันเสื่อมง่าย ใจก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายอีก ถูกส่วนนิ่งเข้าอีก ทุติยฌานก็จางไป ตติยฌานมาแทนที่ นิ่งอยู่กลางตติยฌานนั่น พอถูกส่วนเข้าตติยฌานแล้ว ละเอียดกว่าตติยฌานนี่มี นิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่น ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมนั่น ถูกส่วนเข้า เมื่อนึกถึงฌาน ตติยฌานก็จางไป จตุตถฌานเข้ามาแทนที่ ยังไม่พอแค่นั้น นิ่งอยู่กลางจตุตถฌานนั่น ละเอียดกว่านี้มี ว่าละเอียดกว่านี้มี จตุตถฌานก็จางไป อากาสานัญจายตนฌาน กลางของจตุตถฌานว่างออกไปเท่ากัน ดวงเท่ากัน ดวงเท่ากันนี้เรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน ธรรมกายก็นั่งอยู่กลางของอากาสานัญจายตนฌาน เรียกว่า เข้าอากาสานัญจายตนฌาน แล้ว ใจก็นิ่งอยู่ศูนย์กลางที่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั่น ถูกส่วนเข้าก็นึกว่าฌานนี้ คล่องแคล่วว่องไวดี แต่ว่าละเอียดกว่านี้มี พอถูกส่วนเข้า อากาสานัญจายตนฌานก็จางไป วิญญาณัญจายตนฌานเข้ามาแทนที่ ดวงก็เท่ากัน นิ่งอยู่กลางดวงวิญญาณัญจายตนฌานนั่น ว่าละเอียดกว่านี้มี นิ่งอยู่ศูนย์กลางที่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั่น แต่ว่าเพ่งฌาน นิ่ง พอถูกส่วนเข้า วิญญาณัญจายตนฌานจางไป อากิญจัญญายตนฌานเข้ามาแทนที่ รู้ละเอียด จริง นี่เป็นรู้ละเอียดจริง นิ่งอยู่อากิญจัญญายตนฌานนั่น ละเอียดกว่านี้มี พอถูกส่วนเข้า อากิญจัญญายตนฌานจางไป เนวสัญญานาสัญญายตนะเข้ามาแทนที่ เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกนึกในใจทีเดียวว่า สนฺตเมตํ ปณีตเมตํ นี่ละเอียดจริง ประณีตจริง นี่เข้าฌานดังนี้ นี่เขาเรียกว่า เข้าฌานโดยอนุโลม
    เข้าฌานโดยปฏิโลม ถอยกลับจากฌานที่ ๘ นั้น จากเนวสัญญานาสัญญายตนะเข้าหา อากิญจัญญายตนะ มาวิญญาณัญจายตนะ เข้าอย่างไรก็ออกมาอย่างนั้น มาถึงอากาสานัญจายตนะ ถอยจากอากาสานัญจายตนะ มาถึงจตุตถฌาน ถอยจากจตุตถฌาน มาถึงตติยฌาน ถอยจากตติยฌาน มาถึงทุติยฌาน ถอยจากทุติยฌาน มาถึงปฐมฌาน เข้าไปดังนี้อีก นี่เรียกว่าปฏิโลมถอยกลับ อนุโลมเข้าไปอีก ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ไปอีก ถอยจากที่ ๘ มาถึง ที่ ๗ ที่ ๖ ที่ ๕ ที่ ๔ ที่ ๓ ที่ ๒ ที่ ๑ มาถึงอีก นี่เรียกว่า อนุโลมปฏิโลมไปอย่างนี้ พออนุโลมปฏิโลมถูกส่วนเข้าก็เห็นทีเดียวว่า อ้อ! สัตว์โลกนี่เป็น ทุกข์ละ เห็นทุกข์ละนะ นี่ทางปฏิบัติเห็นทุกข์ละ ตาธรรมกายเห็นอายตนะที่ดึงดูดของสัตว์โลก เขาเรียกว่า โลกายตนะ อ้อ! มนุษย์นี่เกิดขึ้นไม่ใช่อื่นเลย ความเกิดนี่ อายตนะของโลกเขาดูดนะ ก็เห็นอายตนะทีเดียว มนุษย์นี่ก็มีอายตนะอยู่อันหนึ่ง เราเคยค้นพบ เรารู้จักแล้ว อายตนะของมนุษย์ รู้จักกันทั่วแหละ อายตนะของมนุษย์ ที่เราติดอยู่ ก็ติดอายตนะนั่นแหละมันดึงดูด อายตนะอยู่ที่ไหน ? ที่บ่อเกิดของมนุษย์ อายตนะแปลว่าบ่อเกิด บ่อเกิดมันอยู่ที่ไหน ? นั่นแหละเป็นตัวอายตนะของมนุษย์ทีเดียว อายตนะของทิพย์ละ มันมีมากด้วยกันนี่ อายตนะกำเนิดของสัตว์มีถึง ๔ คือ อัณฑชะ สังเสทชะ ชลาพุชะ โอปปาติกะ อัณฑชะ เกิดด้วยฟองไข่ สังเสทชะ เกิดด้วยเหงื่อไคล ชลาพุชะ เกิดด้วยน้ำ อายตนะที่ว่านี้เป็นชลาพุชะ เกิดด้วยน้ำ โอปปาติกะ ลอยขึ้นบังเกิด เอากันละคราวนี้ อัณฑชะ เกิดด้วยฟองไข่ เป็ด ไก่ ทั้งนั้น เป็นอายตนะอันหนึ่ง สังเสทชะ เหงื่อไคลเป็นอายตนะอันหนึ่ง สำหรับเหนี่ยวรั้งใจให้สัตว์เกิดนั่น เป็นอายตนะสำหรับบ่อเกิด ชลาพุชะ มีน้ำสำหรับเป็นอายตนะให้เกิด โอปปาติกะ อายตนะของจาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรตี ปรนิมมิตตวสวัตตี นี่เป็นอายตนะของทิพย์ทั้งนั้น มีอายตนะดึงดูดให้เกิดเหมือนกัน ไม่ใช่เท่านั้น อายตนะที่ทรามลงไปกว่านี้ อายตนะให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คล้ายมนุษย์เหมือนกัน อายตนะให้เกิดเป็นอสุรกาย แบบเดียวกันกับมนุษย์ อายตนะเกิดเป็นเปรต แบบเดียวกับมนุษย์ อายตนะในอบายภูมิทั้ง ๔ สัญชีวะ กาฬสุตตะ สังฆาฏะ โรรุวะ มหาโรรุวะ ตาปะ มหาตาปะ อเวจีนรก นรกทั้ง ๘ ขุมใหญ่นี้ ขุมหนึ่งๆ มีอุสสทนรกเป็นบริวารล้อมรอบ ๔ ด้านๆ ละ ๔ ขุม เป็น ๑๖ ขุม แล้วมียมโลกนรก ตั้งอยู่ในทิศทั้ง ๔ ทิศๆ ละ ๑๐ ขุม เป็น ๔๐ ขุม นรกทั้ง ๔๕๖ ขุมเป็นอายตนะดึงดูดสัตว์โลกทั้งนั้น เมื่อทำดีทำชั่วไปถูกส่วนเข้าแล้ว อายตนะของนรกก็ดึงเป็นชั้นๆ ดูดเป็นชั้นๆ ต้องไปติด ใครทำอะไรเข้าไว้ อายตนะมันดึงดูดไปติด ฝ่ายธรรมกายไปเห็นก็ อ้อ! สัตว์โลก มันติดอย่างนี้เอง ติดเพราะอายตนะเหล่านี้ อ้ายที่มาเกิดเหล่านี้ใครให้มาเกิดละ อ้ายที่มาเกิด เป็นอบายภูมิทั้ง ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ ชั้นนี้ ใครให้เกิดละเห็นทีเดียวแหละ เห็นทีเดียว ทุกฺขสมุปฺปาทตณฺหา ตัณหานี่แหละเป็นแดนให้เกิดพร้อมทีเดียว
    ตัณหาคืออะไรล่ะ ? กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา แยกออกไปเป็น ๓ เห็นตัณหาอีก อ้อ! อ้ายเจ้ากามตัณหานี้ อยากได้กาม อยากได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส นั่นเอง เจ้าถึงต้องมาเกิด เออ อยากได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ไปตีรันฟันแทงกันป่นปี้ รบราฆ่าฟันกันยับเยินเปินทีเดียว เพราะอยากได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ ไม่ใช่เรื่องอะไร เห็นชัดๆ อย่างนี้ว่า อ้อ ! อ้ายนี่เองเป็นเหตุให้เกิด กามตัณหานี่เอง อ้อ! นี่ อายตนะของกามตัณหาทั้งนั้น ในอบายภูมิทั้ง ๔ นรก อสุรกาย เปรต สัตว์ดิรัจฉานเหล่านี้ มนุษย์ สวรรค์ ๖ ชั้น นี่กามตัณหาทั้งนั้น อ้ายกามนี่เองเป็นตัวสำคัญเป็นเหตุ อ้ายนี่สำคัญนัก
    ไม่ใช่แต่กามตัณหาฝ่ายเดียว ไปดูถึงรูปพรหม ๑๖ ชั้น พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา เวหัปผลา อสัญญสัตตา อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐ รูปพรหม ๑๖ ชั้นนี่เป็น ภวตัณหา อ้ายนี่อยากได้รูปฌานที่เราดำเนินมานั่นเอง ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อ้ายนี่เป็นรูปพรหม อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อ้ายนี่ให้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ อ้ายนี่ติด อ้าย ๘ ดวงนี่เอง เมื่อไปติดเข้าแล้วมันชื่นมื่นมันสบายนัก กามภพสู้ไม่ได้ มันสบายเหลือเกิน มันสุขเหลือเกิน ปฐมฌานก็สุขเพียงเท่านั้น ทุติยฌานก็สุขหนักขึ้นไป ตติยฌานสุขหนักขึ้นไป จตุตถฌานสุขหนักขึ้นไป อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน สุขหนักขึ้นไป อากิญจัญญายตนฌานสุขหนักขึ้นไป เนวสัญญานาสัญญายตนฌานสุข หนักขึ้นไป มันพิลึกกึกการละ มันยิ่งใหญ่ไพศาลทีเดียว ส่วนรูปภพนั้นเป็นภวตัณหา อ้ายภวตัณหานี่เองเป็นเหตุให้เกิดในรูปภพทั้ง ๑๖ ชั้นนี่
    ฝ่ายอรูปภพทั้ง ๔ ชั้นนี่เป็นวิภวตัณหา เข้าใจว่า นี่เอง หมดเกิด หมดแก่ หมดเจ็บ หมดตาย เสียแล้ว เข้าใจว่า นี่เองเป็นนิพพาน เมื่อไม่พบศาสนาของพระบรมศาสดาจารย์ ก็เข้าใจว่า อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่เอง เป็นนิพพานทีเดียว เข้าใจอย่างนั้น ค้นคว้าหาเอาเอง นี่เป็นวิภวตัณหา ไปติดอยู่อ้ายพวกนี้เอง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อ้าย ๓ ตัวนี่แหละสำคัญนัก ไปเห็นหมด เห็นรูปพรรณสัณฐาน ฌานก็เห็น กามตัณหาก็เห็น กามตัณหาทั้ง ๑๑ ชั้นนี่เห็น ภวตัณหาทั้ง ๑๖ ชั้นนั่นก็เห็น วิภวตัณหาทั้ง ๔ ชั้นน่ะ เห็นหมด เห็นปรากฏทีเดียว เอ! นี่จะทำอย่างไร ? ต้องละอ้ายพวกนี้ ต้องละกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี้ ถ้าละไม่ได้ละก้อ หลุดพ้นไปไม่ได้ละ ก็ทุกข์อยู่นี่ ไม่พ้นจากทุกข์ แน่นอนทีเดียว แน่นอนในใจของตัวทีเดียว เข้าสมาบัติดูอีก ตรวจทบไปทวนมาดูอีก ดูหนักเข้าๆๆ เห็นชัดหมดทุกสิ่งทุกประการแล้ว ในกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดูไปดูมา อ้อ! เราต้องละกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี่ ถ้าว่าไม่ละกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี่ให้ขาดเสียละก้อ เราจะต้องมีชาติไม่จบไม่แล้ว จะต้องทุกข์ไม่จบไม่แล้ว จะต้องหน้าดำคร่ำเครียดไม่จบไม่แล้ว จะต้องลำบากยากแค้นไม่จบไม่แล้ว เมื่อคิดดังนี้เข้าใจดังนี้แล้ว ตาธรรมกายก็มองเห็นแจ่ม เราต้องละกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ละอย่างไร ? วิธีจะละ ละอย่างไรนะ ? เออ ! วิธีจะละ ละท่าไหนกันนะ ? เห็นทางทีเดียวว่า อ้อ ! พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ไปทางนี้ ที่เราเดินมาทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ในกายมนุษย์มาถึงกายมนุษย์ละเอียด ในกายทิพย์มาถึงกายทิพย์ละเอียด ในกายรูปพรหมมาถึงกายรูปพรหมละเอียด ในกายอรูปพรหมมาถึงกายอรูปพรหมละเอียด จนกระทั่งมาถึงกายธรรมกาย ธรรมกายละเอียดนี้ เราต้องเดินในช่องทางของศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ นี่เอง ใจต้องหยุด ต้องหยุดทีเดียวถึงจะละกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาได้ เริ่มต้นต้องหยุดเชียว พอหยุดกึ๊กเข้าก็ได้การทีเดียว อ้อ! พอหยุดกึ๊กเข้า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดับหมด ถ้าว่าไม่หยุดละก้อ เป็นไม่ได้การทีเดียว ไปไม่รอดไม่พ้นทีเดียว
    หยุดอะไรละ ใจหยุดสิ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นแหละ พอถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงศีล หยุดอยู่กลางดวงศีลนั่นแหละ หยุดกลางของกลาง กลางของหยุด กลางที่หยุดนั่นแหละ ถ้าว่าถึงดวงสมาธิ กลางดวงสมาธิ กลางของกลางที่หยุดนั่นแหละ ก็เข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา กลางของกลางที่หยุดนั่นแหละ เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ พอหยุดแล้วก็กลางของกลางที่หยุดนั่นแหละ เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอเข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะแล้ว หยุดอยู่ศูนย์กลางของใจที่หยุดนั่นแหละ กลางของกลางๆๆ หนักเข้าก็เห็นกายพระโสดา เข้าถึงกายพระโสดา อ้อ! พอเข้าถึงกายพระ โสดารู้จักเชียว นี่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ไปทางนี้ ไม่ใช่ไปทางอื่นเลย แต่พอเข้าถึงกายพระโสดาละเอียด ทำแบบเดียวกันอย่างนั้น หยุดอย่างเดียวกันนั่นแหละ หยุดอย่างนั้นแหละ พอหยุดเข้ารูปนั้นจริงๆ เข้าถึงกายพระสกทาคา-สกทาคาละเอียด อนาคา-อนาคาละเอียด ก็รู้รสชาติของใจทีเดียว พอเข้าถึงพระอรหัต-พระอรหัตละเอียด เข้าแล้วหลุดหมด กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ทุกฺขูปสมคามินํ อย่างนี้เอง ถึงพระนิพพานเป็นที่ดับแห่งทุกข์ พอถึงพระอรหัตก็เห็นนิพพานแจ่ม เข้านิพพานไปได้ทีเดียว นี้ไปอย่างนี้ ไปจริงๆ อย่างนี้ ก็ไปได้ เพราะเห็นสัจธรรมทั้ง ๔ แล้ว ก็เข้ามาคลุมสัจธรรมทั้ง ๔ ไว้ ยังไม่ปล่อยทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มั่นกับใจดูแล้วดูอีก ทบทวนแล้วทบทวนอีก แน่นอนในใจ พอแน่นอนในใจ เห็นทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ พอครบ ๔ เข้าเท่านั้นแหละ ได้บรรลุพระโสดาทันที พอพระโสดาเข้าสมาบัติ นิ่งอยู่ในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ทบไปทวนมาๆ ตาธรรมกายของพระโสดาไปเห็นทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ รู้ด้วยญาณของพระโสดา พอครบรอบ ๔ เข้าเท่านั้น ได้บรรลุพระสกทาคา หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา เกตุดอกบัวตูมใสบริสุทธิ์หนักขึ้นไป ธรรมกายพระสกทาคาเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ทบไปทวนมา แบบเดียวกัน เห็นทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ในกายรูปพรหม เห็นชัด พอถูกส่วนเข้า ก็ได้บรรลุพระอนาคา พระอนาคาเดินสมาบัติแบบเดียวกัน เห็นทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ในกายอรูปพรหมเข้าก็ได้บรรลุพระอรหัตทีเดียว หมดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหานทีเดียว ถ้าหลักฐานเรียกว่า โสฬสกิจ เรียกว่าแค่นี้สำเร็จโสฬสกิจแล้ว โสฬสกิจแปลว่ากระไร ? กิจ ๑๖ ในเพลงที่เขาวางไว้เป็นหลักว่า เสร็จกิจ ๑๖ ไม่ตกกันดาร เรียกว่า นิพพานก็ได้ นี่แหละเสร็จกิจ ๑๖ ละ ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ในกายมนุษย์ ๔, ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ในกายทิพย์ ๔ เป็น ๘, ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ในกายรูปพรหม ๔ เป็น ๑๒, ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ เห็นจริงตามจริงในกายอรูปพรหมอีก ๔ มันก็เป็น ๑๖ นี้เสร็จกิจทางพุทธศาสนา ทางพระอรหัตแค่นี้ นี้ทางปฏิบัติ เทศนาดังนี้เป็นทางปฏิบัติ ไม่ใช่ทางปริยัติ นี่ทางปฏิบัติอันนี้แหละ พระพุทธศาสนาในทางปริยัติ ดังแสดงแล้วในตอนต้น พุทธศาสนาในทางปฏิบัติดังแสดงแล้วในบัดนี้ แต่ปริยัติ ปฏิบัติ ที่เรียกว่าเข้าถึงปฏิบัติ เดินสมาบัติทั้ง ๘ นั้น เป็นทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ดังนี้ นี่เป็นทางปฏิบัติแท้ๆ
    เมื่อกายธรรมเห็น ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ได้เข้าเห็นพระโสดา บรรลุถึงพระโสดา นั่นปฏิเวธแท้ๆ ทีเดียว ได้เข้าถึงพระโสดาแล้ว ทั้งหยาบทั้งละเอียด เมื่อพระโสดา เดินสมาบัติทั้ง ๘ ดูทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ในกายทิพย์เข้าทั้งหยาบทั้งละเอียด ได้บรรลุพระสกทาคา
    เมื่อถึงพระสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด เห็นเข้านั่นเป็นตัวปฏิเวธแท้ๆ ทีเดียว รู้แจ้งแทงตลอดในสกทาคาเข้าแล้ว เมื่อพระสกทาคาเข้าสมาบัติทั้ง ๘ ดูทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ในกายรูปพรหมเข้า เห็นในสัจจธรรมทั้ง ๔ ชัดอีก ได้บรรลุ พระอนาคา นี้ที่ได้เห็นตัวพระอนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด และทั้งธรรมที่ทำให้เป็นพระอนาคา นั่นเป็นตัวปฏิเวธแท้ๆ ทีเดียว รู้แจ้งแทงตลอดเห็นจริงทีเดียว เห็นปรากฏทีเดียว
    เมื่อพระอนาคาเข้าสมาบัติ ดูทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ทั้งหยาบทั้งละเอียด เห็นชัดใน ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ได้บรรลุพระอรหัต
    เมื่อเห็นกายพระอรหัต ทั้งธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียด เห็นชัดทีเดียว นั่นเห็นชัดอันนั้นแหละได้ชื่อว่า เป็นปฏิเวธแท้ๆ เชียว รู้แจ้งแทงตลอด
    นี้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ดังนี้ ศาสนามีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ดังนี้ ถ้าว่านับถือศาสนา ปฏิบัติศาสนา เข้าปริยัติก็ไม่ถูก ปฏิบัติก็ไม่ถูก ปฏิเวธก็ไม่ถูก มันก็ไปต่องแต่งอยู่นั่น เอาอะไรไม่ได้ สัก ๑๐ ปี ๑๐๐ ปี ก็เอาอะไรไม่ได้ ถึงอายุจะแก่ปานใด จะโง่เขลาเบาปัญญาปานใด ถ้าเข้าถึงทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ไม่ได้ ไม่เห็นทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ดังแสดงมาแล้วนี้ จะปฏิบัติศาสนาเอาเรื่องราวไม่ได้ ถ้าว่าคนละ โมฆชิณฺโณ แก่เปล่า เอาอะไรไม่ได้ เอาเรื่องไม่ได้ เหตุนี้แหละทางพุทธศาสนาจึงนิยมนับถือนักในเรื่อง สัจธรรมทั้ง ๔ นี้
    ที่แสดงมานี้ก็เพื่อจะให้รู้สัจธรรมทั้ง ๔ เมื่อรู้จักสัจธรรมทั้ง ๔ แล้ว สัจจธรรมทั้ง ๔ นี้ใครเป็นคนรู้คนเห็น ธรรมกาย ธรรมกายโคตรภูทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายพระโสดาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายพระสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายพระอนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียด เป็นผู้เห็นเป็นผู้รู้ เป็นผู้เห็น ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ เหล่านี้ นี้แหละเป็นธรรมสำคัญในพุทธศาสนา เมื่อได้สดับ ตรับฟังแล้ว พึงมนสิการกำหนดไว้ในใจของตนทุกถ้วนหน้า เมื่อรู้จักธรรมที่พระองค์ทรงรับ สั่งว่า เอตํ โข สรณํ เขมํ นี้ที่พึงอันเกษมผ่องใส เอตํ สรณมุตฺตมํ นี้ที่พึ่งอันอุดมสูงสุด เอตํ สรณมาคมฺม มาอาศัยอันนี้เป็นที่พึ่งแล้ว สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ด้วยประการดังนี้ ที่ได้ชี้แจงแสดงมานี้ ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษาตามมตยาธิบาย เป็นไปในทางปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัจที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติใน เขมาเขมสรณาทีปิกคาถา ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็น สยามภาษาตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา ด้วยอำนาจสัจวาจาที่ได้อ้างธรรมเทศนา ตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์ บรรพชิต บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมีกถาโดยอรรถนิยมความเพียงแค่นี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.
     
  7. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    ปาฐกถาธรรมเรื่อง
    สติสัมปชัญญะโดย พระภาวนาวิสุทธิคุณ (เสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.๖)
    เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
    ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
    วันอาทิตย์ ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เวลา ๐๘.๐๐ น.




    เจริญพร ญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน
    สำหรับวันนี้ จะได้บรรยายธรรมเรื่อง “สติสัมปชัญญะ” ซึ่งเป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่การดำเนินชีวิตของทุกคนไปสู่ความเจริญและสันติสุข และให้ถึงความสิ้นทุกข์อย่างถาวรได้
    คำว่า “สติ” หมายถึง ความระลึกได้ คือ จดจำถ้อยคำหรือเรื่องราวที่ผ่านมา แม้นานแล้วได้ สามารถระลึกหรือนึกขึ้นได้ นี้อย่าง ๑ และหมายถึง การควบคุมจิตใจให้จดจ่ออยู่กับกิจที่ทำ หรือเรื่องที่กำลังเพ่งพิจารณาอยู่ได้ ไม่พลั้งเผลอ นี้อีกอย่าง ๑
    สติเป็นเจตสิกธรรมที่ประกอบกับจิตให้ระลึกนึกถึงบาป-บุญ คุณ-โทษ ทางเจริญ-ทางเสื่อม แห่งชีวิตตามที่เป็นจริงได้ จึงชื่อว่า เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญและสันติสุข อนึ่ง ในการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่ออบรมกาย วาจา ใจ ของตนให้บริสุทธิ์โดยทางศีล สมาธิ และปัญญา เป็นต้นนั้น “สติ” ยังเป็นเครื่องช่วยให้ระลึกนึกถึงเหตุในเหตุ ไปถึงต้นเหตุแห่งทุกข์ รวมทั้งเหตุในเหตุแห่งความเจริญและสันติสุข ด้วยปัญญาอันเห็นชอบได้ จึงชื่อว่า เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การปฏิบัติธรรม เพื่อถึงมรรค ผล นิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุขได้
    ส่วน คำว่า “สัมปชัญญะ” หมายความถึง ความรู้สึกตัวพร้อม หากเผลอสติก็ระลึกถึงขึ้นได้ใหม่ สัมปชัญญะ จึงเป็นคุณเครื่องส่งเสริมสติให้เจริญ ให้เต็ม ให้มั่นคง ไม่พลั้งเผลอ สัมปชัญญะจึงเป็นเจตสิกธรรมที่มาคู่กับสติ
    กล่าวโดยสรุป สติกับสัมปชัญญะนั้นเป็นธรรมคู่กัน คือ ความระลึกนึกรู้ หรือพิจารณาเห็นด้วยปัญญาอันเห็นชอบ ก่อนคิด-พูด-ทำ ว่าความคิด หรือคำที่จะพูด หรือว่ากรรมที่กำลังจะทำนั้นดีหรือชั่ว เป็นบุญกุศลหรือเป็นบาปอกุศล เป็นทางเจริญหรือทางเสื่อม นี้ชื่อว่า “สติ” แต่เมื่อเผลอสติคิด พูดหรือทำไปก่อนแล้วโดยไม่ทันระลึกนึกรู้ได้ ว่าดีหรือชั่ว แล้วกลับมาระลึกนึกรู้ได้ หรือรู้สึกตัวได้ด้วยปัญญาอันเห็นชอบ ว่า ความคิดที่กำลังเกิด วาจาที่กำลังพูด และ/หรือ กรรมที่กำลังกระทำอยู่นั้น ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหรือว่าผิดพลาด เป็นกุศลคุณความดี หรือว่าเป็นความชั่ว เป็นทางเจริญ ควรดำเนิน หรือว่าเป็นทางเสื่อมไม่ควรดำเนิน แล้วเลือกดำเนินหรือประพฤติปฏิบัติไปแต่ในทางเจริญ งดเว้นความประพฤติปฏิบัติไปในทางเสื่อม นี้ชื่อว่า “สัมปชัญญะ” แม้สำนึกได้ภายหลังที่ได้ คิด-พูด-ทำ ไปแล้ว ก็ชื่อว่า “สัมปชัญญะ” เหมือนกัน
    สติกับสัมปชัญญะ ด้วยปัญญาอันเห็นชอบนี้ จึงเป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่การดำเนินชีวิตให้ดำเนินไปแต่ในทิศทางที่ถูกที่ควร คือ ที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม กล่าวคือ ที่เป็นบุญกุศลคุณความดีอันจะนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จและความเจริญสันติสุข และสูงสุดให้ถึงมรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวงและที่เป็นบรมสุขอย่างถาวรได้
    ส่วนผู้ประมาทขาดสติสัมปชัญญะ ไม่มีความสำนึกระลึกได้ก่อนคิด-พูด-ทำ ว่าดีหรือชั่ว เป็นทางเจริญหรือทางเสื่อม และขณะที่กำลังคิด-พูด-ทำอยู่ หรือแม้ได้คิด-พูด-ทำไปแล้ว ก็ยังไม่รู้สึกตัวว่าประพฤติตนผิดพลาดหรือถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ยังไม่รู้สึกตัวว่าการดำเนินชีวิตของตนนั้นเป็นไปในทางเจริญหรือทางเสื่อมตามที่เป็นจริง การดำเนินชีวิตของผู้นั้นก็เหมือนรถไม่มีพวงมาลัย หรือเรือขาดหางเสือ ที่จะช่วยการควบคุมทิศทางการขับรถหรือขับเรือให้แล่นไปในทิศทางที่ถูกต้องตรงเป้าหมาย คือ ความสำเร็จและความเจริญสันติสุขที่ตนมุ่งหวังได้
    ดังตัวอย่าง เยาวชนหรือคนวัยหนุ่มสาวในวัยเรียนผู้ใด มีสติสัมปชัญญะด้วยปัญญาอันเห็นชอบว่า การที่บุคคลจะดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จในชีวิต และถึงความเจริญและสันติสุขได้ ก็จะต้องเป็นผู้มีความรู้มีความสามารถ มีคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีปัญญาอันเห็นชอบ กอปรด้วยศีลธรรม เมื่อมีสติระลึกได้อยู่อย่างนี้ เยาวชนหรือคนหนุ่มสาวในวัยเรียนนั้น ย่อมไม่ประมาทหลงมัวเมาในชีวิต รีบเร่งขวนขวาย พากเพียรศึกษาหาความรู้เต็มกำลังสติปัญญาความสามารถและฐานะของตนๆ ชนผู้นั้นเมื่อเจริญวัยขึ้น ย่อมเป็นผู้มีวิชาความรู้ มีความสามารถ และมีสติปัญญาอันเห็นชอบ รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริงได้ดี ด้วยความรู้ความสามารถและปัญญานั้น ย่อมช่วยให้สามารถสร้างฐานะทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคมให้สำเร็จและถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้
    หากเผลอสติ ประพฤติผิดพลาดจากทำนองคลองธรรมไปบ้าง ก็มีสัมปชัญญะคือรู้สึกตัว รู้เท่าทันในความผิดพลาดนั้น รีบกลับตัวกลับใจมาประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในคุณความดี ก็ยังไม่สาย และสามารถจะดำเนินชีวิตตนไปสู่ความสำเร็จ ถึงความเจริญและสันติสุขได้อีก ในระยะเวลาไม่นานเกินรอ
    ชนผู้เช่นนี้ ชื่อว่า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะด้วยปัญญาอันเห็นชอบ สติสัมปชัญญะ จึงชื่อว่า เป็นธรรมมีอุปการะมาก ด้วยประการฉะนี้
    ส่วนเยาวชนหรือคนวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนใด ประมาท ขาดสติสัมปชัญญะด้วยปัญญาอันเห็นชอบ ไม่ระลึกได้ว่า การที่บุคคลจะสามารถสร้างตัว สร้างฐานะ ให้สำเร็จถึงความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขได้ ก็จะต้องมีวิชาความรู้ความสามารถ และคุณธรรม จึงไม่ใส่ใจและไม่ขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียนหาวิชารู้ และไม่หมั่นฝึกฝนอบรมตนให้มีความสามารถ และกลับประมาทมัวเมาในชีวิต หลงฟุ้งเฟ้อไปตามเพื่อน หลงเที่ยวเตร่ เสเพล และหลงติดอยู่ในโลกิยสุข ตามแหล่งอบายมุขหรือแหล่งบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ ทั้งๆ ที่ตนเองยังหาเงินไม่เป็น และยังต้องแบมือขอเงินจากพ่อแม่อยู่ แต่กลับใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ติดอยู่ในค่านิยมฟุ้งเฟ้อ และหมกมุ่นอยู่แต่ในกิเลสกาม บางรายก็สมสู่อยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา ทั้งๆ ที่ยังเรียนไม่สำเร็จ และยังไม่มีงานทำเป็นหลักเป็นฐาน ครั้นเงินทองไม่พอจับจ่ายใช้สอย บางรายก็หันไปค้าสวาท หรือขายตัว นำชีวิตไปสู่ความเสื่อม เป็นโทษและเป็นความทุกข์เดือดร้อนต่อๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะการศึกษาเล่าเรียนไม่สำเร็จตามเป้าหมาย เมื่อวิชาความรู้สูงๆ ไม่มี หรือมีน้อย ย่อมด้อยสติปัญญาความสามารถในอันที่จะประกอบกิจการงานในอาชีพที่ดีๆ ได้ การสร้างตัวสร้างฐานะของตนและครอบครัวของผู้เป็นเช่นนี้ ก็ย่อมลำบากต่อไปในกาลข้างหน้า นี่เพราะโทษของการขาดสติสัมปชัญญะ เครื่องยับยั้งชั่งใจ ด้วยปัญญาอันเห็นชอบ รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในชีวิต นำให้ชีวิตตกต่ำ และดำเนินชีวิตไปในทางเสื่อม ถึงเป็นความทุกข์เดือดร้อนได้ ในยุคปัจจุบันนี้ เยาวชนหรือคนหนุ่มสาวในวัยเรียน ที่ประมาทขาดสติสัมปชัญญะอย่างนี้มีมากขึ้นทุกที จนน่าเป็นห่วงว่าเยาวชนที่กำลังจะเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ของสังคม และของประเทศชาติ ว่าถ้าปล่อยให้มีพฤติกรรมเป็นกันอย่างนี้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว สังคมไทยเราจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ ?
    โทษของการขาดสติสัมปชัญญะอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคมยุคโลกาภิวัตน์ ที่ข้อมูลข่าวสารถูกส่งถึงผู้รับได้อย่างรวดเร็ว กว้างขวาง ที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้แสดงออกซึ่งกิริยาอาการ วาจา หรือถ้อยคำ และเจตนาความคิดอ่าน ที่แสดงต่อสาธารณชน โดยที่ผู้แสดงออกบางรายขาดสติสัมปชัญญะ คือขาดความสำนึกรู้ผิด-ชอบ ชั่ว-ดี และขาดการสำรวมระวัง แล้วแสดงออกซึ่งกิริยาอาการ วาจาหรือถ้อยคำ และเจตนาความคิดอ่านต่อสาธารณชนที่ไม่ดี คือที่ไม่เป็นจริงแท้ ไม่เหมาะสม ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล และแถมยังเป็นโทษเป็นภัยต่อสังคม และต่อชาติ ต่อพระพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักของประเทศชาติเราเอง เมื่อแสดงออกในลักษณะที่เป็นโทษแก่สังคมและสถาบันหลักของประเทศชาติเราไปแล้ว ผู้แสดงออกซึ่งกิริยาวาจาและเจตนาความคิดอ่านที่ไม่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นโทษเช่นนั้นแหละ ย่อมถูกบัณฑิต คือผู้รู้ ติเตียน เป็นการทำลายเกียรติภูมิของตนเองนั้นแหละอีกด้วย ไปในตัวเสร็จ
    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานหลักธรรมนั้นไว้แก่สาธุชนพุทธบริษัท เป็นแนวทางปฏิบัติตามที่มีปรากฏในอภยราชกุมารสูตร มัชฌิมนิกายมัชฌิมปัณณาสก์ มีความว่า
    “ราชกุมาร ! ตถาคต (ก็ฉันนั้นเหมือนกัน) ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
    อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจาไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
    ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
    ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
    อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
    ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย.”

    อนึ่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังได้ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นไว้ให้พระภิกษุได้ปฏิบัติตน ประพฤติตน ด้วยความสำรวมระวังความประพฤติปฏิบัติทางกายทางวาจาคือคำพูด รวมตลอดไปถึงทางจิตใจ คือ เจตนาความคิดอ่าน ให้ละเอียด ประณีต ไม่หยาบคาย ให้เรียบร้อยดี ไม่มีโทษ ยังความสันติสุข คือ ความสุขด้วยความสงบอยู่ภายในสังฆมณฑล หากมีปัญหาอะไรก็ให้ปรับปรุงแก้ไข ดูแลกันเองตามพระธรรมวินัย และกฎหมายของบ้านเมือง เพื่อรักษาศรัทธาปสาทะของประชาชนไว้ด้วยวิธีการอันถูกต้อง เหมาะสม ดังมีปรากฏ ตามวินัยพุทธบัญญัติ ในมุสาวาท วรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๙ ว่า ภิกษุบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่นแก่อนุปสัมบัน (คือผู้ที่มิได้บวชเป็นภิกษุ ได้แก่ ประชาชนทั่วไป และ/หรือแม้เล่าให้สามเณรฟัง) ต้องปาจิตตีย์ (เว้นไว้แต่ได้สมมติ) และในภูตคามวรรค ที่ ๒ สิกขาบทที่ ๓ ว่า
    “ภิกษุติเตียนภิกษุอื่นที่สงฆ์สมมติให้เป็นผู้ทำการสงฆ์ ถ้าเธอทำโดยชอบ ติเตียนเปล่าๆ ต้องปาจิตตีย์”

    หมายความว่า พระภิกษุใด ตำหนิติเตียนพระภิกษุผู้ที่สงฆ์แต่งตั้ง หรือมอบอำนาจให้ทำการสงฆ์ เช่นให้พิจารณาชำระอธิกรณ์ เป็นต้น ที่ท่านได้กระทำ คือ ดำเนินการโดยชอบ กล่าวคือ โดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย กฎหมายและกฎมหาเถรสมาคมแล้วเป็นต้น พระภิกษุผู้ตำหนิติเตียนพระภิกษุอื่นที่สงฆ์สมมติให้เป็นผู้ทำการสงฆ์ที่ได้กระทำโดยชอบเปล่าๆ เช่นนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ดังนี้เป็นต้น
    แม้คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็ยังต้องมีคุณสมบัติผู้ดีเป็นเครื่องคุ้มครองกิริยามารยาท คือ การแสดงออกซึ่งกิริยาวาจาและจิตใจ กล่าวคือ เจตนาความคิดอ่านที่ดี ซึ่งได้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังเช่น เมื่อท่านธนัญชัยเศรษฐี แห่งนครสาเกตุ ก่อนแต่จะส่ง “นางวิสาขา” ผู้เป็นธิดาของตนไปสู่เรือนเจ้าบ่าว หรือว่าที่สามี คือ “ปุณณวัฒนกุมาร” บุตรชายของท่านมิคารเศรษฐี ณ นครสาวัตถี ได้สอนและให้โอวาทแก่นางวิสาขา ๑๐ ข้อ มีปรากฏในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เรื่อง “นางวิสาขา” ว่า
    “แม่ ธรรมดาหญิงผู้อยู่ในสกุลผัว รักษามารยาทนี้ และนี้จึงจะควร
    แม่ ธรรมดาหญิงที่อยู่ในสกุลพ่อผัวแม่ผัว ไม่ควรนำไฟใน ออกไปภายนอก ไม่ควรนำไฟนอก เข้าไปภายใน พึงให้แก่คนที่ให้เท่านั้น ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้ พึงให้แก่คนทั้งที่ให้ ทั้งที่ไม่ให้ พึงนั่งให้เป็นสุข พึงบริโภคให้เป็นสุข พึงนอนให้เป็นสุข พึงบำเรอไฟ พึงนอบน้อมเทวดาภายใน.”

    คำสอนของท่านธนัญชัยเศรษฐีแก่นางวิสาขา ผู้ธิดานั้น มีความหมายว่า หญิงสะใภ้ไม่ควรนำเรื่องที่ไม่ดีของพ่อผัวแม่ผัวและของสามีไปกล่าวให้คนอื่นภายนอกฟังนั่นเอง เพราะเหตุนั้น พระภิกษุนับตั้งแต่พระมหาเถระ พระเถรานุเถระ จนถึงพระนวกะผู้บวชใหม่ ผู้ได้รับการอบรมพระธรรมวินัยดีแล้ว จึงต้องอยู่ในความสงบ หากมีปัญหาในวงการสงฆ์ก็เสนอวิธิการปรับปรุงแก้ไขต่อพระภิกษุเจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้น และ/หรือ ร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหากันเองเป็นการภายใน พระพุทธศาสนาของเราจึงยืนยาวมั่นคงมาจนถึงตราบทุกวันนี้ ก็เพราะพระเถรานุเถระปฏิบัติตามพระธรรมวินัย สำรวมในศีลและอินทรีย์ ดำรงตนและหมู่คณะอยู่ในความสงบอย่างนี้ นี้คือพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐสูงสุด
    แม้ข้าราชการทุกหมู่เหล่าก็ต้องมีระเบียบวินัยทำนองนี้เหมือนกัน แบบเดียวกัน
    กล่าวคือ ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง ก็มีระเบียบวินัยเป็นกรอบขอบเขตในความประพฤติปฏิบัติตน ในทำนองหรือในลักษณะที่ว่า “ไม่ควรนำไฟในออกไปภายนอก” คือ ไม่ควรนำปัญหาหรือเรื่องราวที่ไม่ดีไม่งามภายในหน่วยงานของตน ออกไปพูดตำหนิ หรือ ไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อสาธารณชนบุคคลภายนอก เหมือนกัน วิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม ก็คือ ควรปรึกษาหารือป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นเป็นการภายใน และ/หรือ นำเสนอข้อปัญหาพร้อมทั้งวิธีการป้องกันแก้ไขปัญหานั้นๆ ไปยังผู้บังคับบัญชาหน่วยเหนือ ตามลำดับชั้น ตามกฎ-ระเบียบที่องค์กรนั้นๆ ได้กำหนดไว้ดีแล้ว นั่นเอง
    กล่าวโดยสรุป ทุกสังคมน้อยใหญ่ นับตั้งแต่สังคมภายในครอบครัว องค์กรศาสนา องค์กรทางราชการทุกหมู่เหล่า และองค์กรธุรกิจเอกชนทั้งหลาย ทั้งไทยและต่างชาติต่างศาสนา ต่างมีระเบียบวินัยในทำนองนี้ เพื่อป้องกันความเสื่อมเสียส่วนรวม เหมือนกันทั้งนั้น เพราะเหตุนั้น สาธุชนผู้ฟังทุกท่าน ก่อนแสดงออกซึ่งกิริยามารยาท วาจาหรือถ้อยคำและเจตนาความคิดอ่านทั้งหลายต่อสาธารณชน แม้จะอ้างว่าหวังดีต่อสังคม ก็พึงมีสติสัมปชัญญะหยุดคิด หยุดไตร่ตรอง พิจารณาผลได้ผลเสียต่อสังคมโดยส่วนรวมก่อน ว่า กิริยามารยาท วาจาหรือถ้อยคำและเจตนาความคิดอ่านที่จะแสดงออกไป หรือขณะที่กำลังแสดงออกอยู่นั้น และแม้ที่ได้แสดงออกไปแล้วว่า เป็นอาการกิริยา วาจาหรือถ้อยคำที่จริง ที่แท้หรือว่าไม่จริง ไม่แท้ ที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์หรือว่าเป็นโทษแก่สังคม และ/หรือองค์กรนั้นๆ และการแสดงออกนั้นเป็นการแสดงออกด้วยเจตนาความคิดอ่านที่ดี ที่บริสุทธิ์ ที่ยุติธรรม ที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมและระเบียบวินัยของสังคม และขนบธรรมเนียมที่ดีของไทยพุทธเราหรือไม่ หากคิดได้ก่อนคิด-พูด-ทำ ก็ควรงดเว้นเสีย หากพลั้งเผลอผิดไป ในขณะคิด-พูด-ทำอยู่ ก็จงมีสติยับยั้งชั่งใจ กลับตัวกลับใจเสีย แม้ได้คิดผิด พูดผิด ทำผิดไปแล้ว ก็ยังไม่สายที่จะกลับตัว กลับใจมาประพฤติปฏิบัติให้ดี ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวม อีกได้ ขอให้มีหลักอยู่ว่า สังคมโดยส่วนรวมของประเทศชาติไทยเรา คือ สถาบันชาติ ของไทยเราจะเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขอยู่ได้อย่างมั่นคง ก็ต่อเมื่อสถาบันพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติไทยเรา ๑ กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ๑ เจริญและมั่นคง หาก ๒ สถาบันนี้ คือ สถาบันพระพุทธศาสนา กับ สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับความกระทบกระเทือนด้วยประการใด สถาบันชาติไทยของเราก็ย่อมจะอ่อนแอลง เพราะ เมื่อประชาชนขาดศีลธรรมประจำใจ สังคมย่อมเกิดความโกลาหล จลาจลวุ่นวาย หนักขึ้น อาจถึงรบราฆ่าฟัน แย่งชิงกันมากขึ้น ความเจริญและสันติสุขภายในประเทศชาติ ก็ย่อมหมดไปเพราะความโลภ โกรธ หลง ของคนในชาติ ทุกศาสนาในประเทศไทยเราเองนี้แหละ ถ้าสถาบันพระพุทธศาสนายังคงเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขอยู่ สังคมประเทศชาติแม้ทุกศาสนาในประเทศไทยก็จะยังมีความสันติสุขอยู่ได้ เพราะพระพุทธศาสนาไม่เคยเบียดเบียนใคร แต่ถ้าพระพุทธศาสนาในประเทศไทยล่มจม สังคมทุกหมู่เหล่าและทุกศาสนาในประเทศไทยก็เสียหายล่มจมไปด้วยกันหมดทั้งประเทศ อย่าสงสัยเลย
    เพราะเหตุนั้นญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทั้งหลายเมื่อท่านได้ยินได้ฟังข่าวสารการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ก็จงตั้งสติสัมปชัญญะพิจารณาข่าว หรือการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับศาสนบุคคลและศาสนธรรม ให้ดี ว่าผู้พูดผู้แสดงออกทางกายคือกิริยามารยาท ทางวาจา คือ คำพูดหรือถ้อยคำต่างๆ และทางใจคือเจตนาความคิดอ่าน ที่เขาแสดงออกมานั้น ว่าน่าเชื่อถือ น่าเลื่อมใสศรัทธา ว่าถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมือง และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของไทยเราแค่ไหนเพียงไร ก่อนที่จะใช้ข้อมูลนั้นประกอบการพิจารณาตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตนไปในแนวทางที่ให้เกิดความเจริญและสันติสุขในชีวิต จะได้ไม่เสียประโยชน์ ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะได้ไม่เสียความรู้สึกที่ดีต่อพระรัตนตรัย อันเป็นที่พึ่งประเสริฐสูงสุดของตนเอง เพราะหลงตามกระแสที่ผิดๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
    เพราะขาดปัญญาอันเห็นชอบในทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริงบุคคลจึงขาดสติ คือ ความระลึกได้ก่อนคิด-พูด-ทำ ว่ากรรมที่จะกระทำหรือประพฤติปฏิบัตินั้น ดีหรือชั่ว ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเป็นคุณประโยชน์หรือเป็นโทษขณะเมื่อคิด-พูด-กระทำกรรมนั้นอยู่ ก็ไม่มีสัมปชัญญะ คือ ไม่มีความสำนึกได้ว่าผิดหรือถูก ควรหรือไม่ควร และแม้ภายหลังที่ได้คิด-พูด-ทำความผิดพลาดหรือไม่ถูกไม่ควรไปแล้ว ก็ยังไร้ความสำนึกว่าตนเองประพฤติถูกต้องหรือผิดพลาด ไม่ถูกไม่ควร จึงหลงมัวเมาในชีวิต ดำเนินชีวิตตนไปด้วยความประมาทขาดสติสัมปชัญญะและปัญญาอันเห็นชอบนำตนไปสู่ความเสื่อมเสีย เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน ต่อๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุด
    เพราะเหตุนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญาจึงไม่ประมาท มีความพากเพียร เรียนรู้และประกอบคุณความดี ละเว้นความชั่ว ชำระจิตใจให้ผ่องใส เจริญสติสัมปชัญญะด้วยปัญญาอันเห็นชอบ ให้รอบรู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป กล่าวคือ ให้รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ให้รู้ธรรมที่เป็นแก่นสารสาระประโยชน์ และที่ไม่เป็นแก่นสารสาระประโยชน์ กล่าวคือ ให้รู้แนวทางการดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุข อันควรดำเนิน และให้รู้ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามความเป็นจริงอันควรงดเว้น บัณฑิตผู้มีปัญญารอบรู้เช่นนั้น ย่อมดำเนินชีวิตตนและชักนำคนอื่นให้ดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญและสันติสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต จนถึงความพ้นทุกข์แต่ถ่ายเดียว
    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ (สํ.ส.๑๕/๘๑๒/๓๐๖) ว่า
    “สติมโต สทา ภทฺทํ สติมา สุขเมธติ
    สติมโต สุเว เสยฺโย....”
    ความเจริญย่อมมีแก่ผู้มีสติทุกเมื่อ คนมีสติย่อมได้ความสุข ความดีย่อมมีแก่คนมีสติ”
    คุณเครื่องช่วยให้สติสัมปชัญญะด้วยปัญญาอันเห็นชอบเกิดและเจริญขึ้นก็คือ “ศรัทธา” ในบุคคลที่ควรศรัทธา คือ นับถือ เลื่อมใส ศรัทธาในบุคคลผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ดำเนินชีวิตไปด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญาอันเห็นชอบ และมีความศรัทธาในข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา คือ ข้อปฏิบัติที่ดี ที่ชอบ ได้แก่ ทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล เป็นต้น อันจะนำไปสู่ความเจริญและสันติสุข ไม่ไปในทางเสื่อม เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน นั่นเอง ผู้มีศรัทธาเห็นคุณค่าในความประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ว่ามีคุณประโยชน์แก่การดำเนินชีวิต เช่นนั้น จึงจะมี “วิริยะ” คือ ความเพียรพยายามประพฤติปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่ดีที่ชอบ มีทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล เป็นต้นนั้น ด้วยธรรมปฏิบัตินี้ สติสัมปชัญญะด้วยปัญญาอันเห็นชอบย่อมเกิดและเจริญขึ้นได้ กล่าวคือ
    ย่อมเห็นโทษของความประพฤติชั่วหรือทุจริตทางกายได้แก่การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักฉ้อ การประกอบมิจฉาอาชีวะ การประพฤติผิดในกาม หรือความไม่สำรวมในกาม และอบายมุขต่างๆ เช่น เป็นนักเลงสุรา/ยาเสพติด เป็นนักเลงผู้หญิงหรือหญิงเป็นนักเลงผู้ชาย ติดเที่ยวกลางคืน คบคนชั่วหรือคนนำไปแต่ในทางให้ฉิบหาย เป็นมิตร เกียจคร้านในกิจการงานที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบ เป็นต้น ย่อมเห็นโทษความประพฤติทุจริต ทางวาจา ได้แก่ วาจาหยาบคาย โป้ปดมดเท็จ ยุแยกให้แตกสามัคคี และวาจาเหลวไหลไร้สาระ ว่า เป็นข้อปฏิบัติหรือเป็นทางให้เกิดโทษ ความทุกข์เดือดร้อน ก็ย่อมละเว้นความประพฤติชั่ว คือกายทุจริตและวจีทุจริตเหล่านั้นเสีย และตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ สมบูรณ์ อย่างน้อยเบญจศีล คือ ศีล ๕ อยู่เสมอ นี้ประการ ๑
    อีกประการ ๑ ย่อมเห็นคุณของความประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กอปรด้วยสาระประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น อย่างน้อยเห็นคุณของ “เบญจกัลยาณธรรม” คือ ธรรมอันดีงาม ๕ อย่าง ซึ่งเป็นตรงกันข้ามกับความประพฤติผิดศีล ได้แก่ ความเป็นผู้มีใจเมตตากรุณาต่อกัน ๑ สัมมาอาชีวะ คือ การประกอบอาชีพโดยชอบ และ/หรือ ทาน คือ การรู้จักเสียสละ แบ่งปัน การให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์สุขส่วนตน ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ๑ ความเป็นผู้รู้จักสำรวมในกาม และ/หรือเป็นผู้สันโดษในคู่ครองของตน ๑ สัจจะ คือ ความจริงใจต่อตนเองและต่อผู้อื่น ๑ ความเป็นผู้ไม่ประมาทและความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญาอันเห็นชอบ ๑
    เมื่อได้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในคุณความดี มีเบญจศีล เบญจธรรมเป็นต้นดังนี้ กาย วาจา และใจย่อมเป็นบุญเป็นกุศล และสงบยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับผลแห่งคุณความดีและผลแห่งการละเว้นความประพฤติชั่ว ย่อมปรากฏเป็นประสบการณ์ชีวิต ทำให้รู้ผิด-ชอบชั่ว-ดียิ่งขึ้น ยังให้สติสัมปชัญญะด้วยปัญญาอันเห็นชอบ คือ ความรู้บาป-บุญ คุณ-โทษ รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง เกิดและเจริญขึ้นเป็นลำดับ เป็นอุปการะแก่การเห็นคุณค่าและเจริญภาวนาสมาธิ และปัญญาอันเห็นชอบ ให้แก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไป คุณธรรมดังกล่าว คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา จึงชื่อว่า “อินทรีย์ ๕” หมายความว่า คุณธรรมที่เป็นใหญ่ ครอบงำเสียซึ่งอกุศลธรรมที่ตรงกันข้ามกัน กล่าวคือ คุณธรรมเครื่องครอบงำ ความไร้ศรัทธาในบุคคลและข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา ๑ ความเกียจคร้าน ๑ ความประมาท ๑ ความฟุ้งซ่าน ๑ และความหลงงมงายไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ไม่รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง ๑
    อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี้ เมื่อปฏิบัติได้แก่กล้ายิ่งขึ้นไปอีก ก็จะเป็นพลังกล้าแข็งมั่นคง มิให้อกุศลธรรม ๕ อย่าง ได้แก่ ความไม่ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่าน และความหลงงมงาย เข้าครอบงำจิตใจได้ จึงชื่อว่า พละ ๕
    พละ ๕ นี้เอง ที่เป็นอุปการะ คือคุณเครื่องยังให้ โพชฌงค์ องค์คุณแห่งความตรัสรู้ ๗ ประการ ก็คือ สติ ๑ ธัมมวิจยะ คือ การวิจัยธรรม ได้แก่ การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม ๑ วิริยะ ๑ ปีติ ๑ ปัสสัทธิ คือ ความสงบกาย สงบใจ ๑ สมาธิ ๑ และ อุเบกขา คือ ความวางเฉย ๑ ให้เกิดและเจริญขึ้น และเป็นอุปการะให้อริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางมรรคผลนิพพาน ให้เกิดและเจริญขึ้น ได้ถึงความเจริญสันติสุขและถึงความพ้นทุกข์อันถาวรต่อไป
    ส่วนบุคคลผู้ประมาท ขาดสติสัมปชัญญะ คือ ขาดความสำนึกผิด-ชอบชั่ว-ดี ไม่มีศรัทธาในบุคคลผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้แก่ พระพุทธเจ้าและพระสงฆเจ้า เป็นต้น และไม่มีศรัทธาในข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา คือพระสัทธรรมอันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว จึงไม่ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม กลายเป็นคนไม่มีศีลธรรมประจำใจ ได้แต่หลงมัวเมาในชีวิต ประพฤติผิดศีลผิดธรรมด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาย่อมไม่สามารถดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จ และถึงความเจริญสันติสุขได้ ดุจดังผู้ขับรถที่ขาดพวงมาลัยหรือขับเรือที่ไม่มีหางเสือเครื่องควบคุมทิศทาง ย่อมไม่อาจนำรถหรือเรือไปสู่จุดหมายปลายทางได้ถูกต้อง และย่อมถึงความอับปางหรือเสียหายได้ ฉันใด ฉันนั้น
    เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้หวังความเจริญและสันติสุข จึงต้องไม่ประมาทหลงมัวเมาในชีวิต ต้องสนใจเอาใจใส่ในการศึกษาปฏิบัติธรรม ให้มีศีลมีธรรมประจำใจ และต้องมีสติสัมปชัญญะด้วยปัญญาอันเห็นชอบ คือมีสำนึกรู้ผิด-ชอบ ชั่ว-ดี รู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง จึงจะสามารถดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญสันติสุข และถึงความพ้นทุกข์ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ในกาลทุกเมื่อ

    --------------------------------------------------------------------------------
    ก่อนยุติการบรรยายธรรมนี้ อาตมภาพขอเจริญพรสาธุชนผู้สนใจที่จะได้เทปคัสเซทบันทึกปาฐกถาธรรมนี้ และ/หรือตอนก่อนๆ ก็ติดต่อขอรับได้ที่ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
    อนึ่งผู้สนใจศึกษา/ปฏิบัติธรรมศีล-สมาธิ-ปัญญาก็เข้ารับการอบรมได้ที่ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ได้ทุกวันอาทิตย์ โดยมีรถรับส่งฟรีจากปากทางเข้าวัดสระเกศ (วัดภูเขาทอง) กรุงเทพฯ ไปยังวัดหลวงพ่อสดฯ ที่อำเภอดำเนินสะดวก รถออกเวลา ๐๗.๓๐ น. และรับกลับกรุงเทพฯ เวลา ๑๕.๐๐ น. เป็นประจำ
    สำหรับวันนี้ อาตมภาพขอยุติการปาฐกถาธรรมไว้แต่เพียงนี้ก่อน โปรดติดตามรับฟังตอนต่อไปในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนต่อไป ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน เจริญพร.
     
  8. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    [​IMG]



    โอวาทธรรมจาก...หลวงป๋า




    หลวงพ่อท่านบอกว่า"ทางนี้ทางเดียว ไม่มีสองทาง"
    นี่แหละ มัชฌิมาปฏิปทาโดยทางปฏิบัติ คือ "เอกายนมรรค" ทางนี้ทางเดียว อยู่ที่กลางของกลางธาตุธรรมของเรา กลางของกลาง ดับหยาบไปหาละเอียด จนสุดละเอียดไปถึงพระนิพพาน ตรงนี้แหละที่เป็นเคล็ดลับสำคัญ คือ "เห็นดำ ทำให้ขาว" จำไว้ อย่าได้ปล่อยให้มีธาตุธรรมภาคดำในธาตุธรรมของเราเป็นอันขาด อาตมากล่าวไว้เบื้องต้นในเรื่ิงนี้เท่านี้ก่อน

    ...เวลาพิจารณาอริยสัจ ๔ จะรู้จะเห็น เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ให้เข้าใจไว้เท่านี้ก่อน เคล็ดลับที่พึงทราบในการเจริญภาวนามีมาก บางทีก็จะมีผู้ปฏิบัติหรือเจริญสมถภาวนาได้ดีๆ แล้วหลงติดฤทธิ์ อย่าไปหลงเลย จงตั้งใจปฏิบัติเพื่อรักษาตนเองให้ดี

    หรือหากจะสามารถได้อภิญญาและวิชชาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ ก็จงช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน โดยไม่หวังลาภสักการะ ไม่หวังชื่อเสียง ไม่หวังให้ใครเขาชมเราว่าเก่ง แต่การกำจัดกิเลสนั้นแหละ คือ "คนเก่ง ถ้าเก่งอย่างอื่นแล้ว กิเลสเฟื่องฟูอยู่ ไม่นับว่าเก่ง อย่างนั้นชื่อว่า "หมดเก่ง" เลยแพ้ภาคมารเขาตั้งแต่ยังไม่ได้ก้าวออกจากมุ้ง"

    เพราะฉะนั้น จงให้เข้าใจเสียให้ดี มีพระภิกษุสามเณรบางรูป หลงติดอิทธิปาฏิหาริย์ เลย"หมดเก่ง" ไม่ช้าอิทธิปาฏิหาริย์ก็เสื่อม แล้วก็จะกลายเป็นการหลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต ก็เสียพระเสียเณรไปเท่านั้น

    มีอยู่อย่างหนึ่ง ไม่อยากชี้โพรงให้กระรอก บอกว่าห้ามดีๆก็ยังชอบทำ แต่ถ้าไม่บอกแล้วจะยุ่ง เพราะมีคนเคยทำ อาตมาจึงต้องบอกเสียเดี๋ยวนี้เลย ไม่เช่นนั้น เป็นเปรตไม่รู้ตัวนะ เช่น บางท่านพอจิตนิ่งเป็นสมาธิ แล้วเห็นเลข เห็นเลขแล้วก็เที่ยวบอกใครต่อใคร บางทีซื้อเองด้วย ให้จำไว้เลยว่า จะได้เป็นเปรตภายในไม่กี่วัน แม้จะได้ทำเพียงไม่กี่ครั้ง จงอย่าทำเป็นอันขาด
    ............


    พระเทพญาณมงคล
    เสริมชัย ชยมงฺคโล
    วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
    อ.ดำเนินสะดวก
    จ.ราชบุรี
    (จาก..ตอบปัญหาธรรมปฏิบัติ)



    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 19 กรกฎาคม 2014
  9. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • ฤ.PNG
      ฤ.PNG
      ขนาดไฟล์:
      87.5 KB
      เปิดดู:
      2,588
  10. ศรีอารย์

    ศรีอารย์ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    53
    ค่าพลัง:
    +71
    สาธุครับ ผมเคยไปวัดปากน้ำ ไปหาข้อมูลนะครับ
     
  11. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    จะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เห็นในขณะปฏิบัติภาวนาธรรมนั้น ไม่ใช่สิ่งที่นึกเอาเอง ?

    รู้ได้ด้วยการพิสูจน์ด้วยตนเอง เช่น
    1. การนึกให้เห็นดวงแก้วหรือพระแก้วขาวใสที่เรียกว่า กำหนดบริกรรมนิมิต ในเบื้องต้นของการฝึกเจริญภาวนาสมาธินั้น จะไม่มีทางนึกให้เห็นได้ชัดเจน ใสแจ๋ว และสว่างไสว เท่าเมื่อใจรวมหยุดเป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคงดีแล้ว (ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อันเป็นที่ตั้งของ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม) การเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย และการเห็นกายในกายไปจนถึงธรรมกายนั้น สวยงาม ละเอียด ประณีต และมีรัศมีปรากฏ แตกต่างจากการนึกเห็นด้วยใจในเบื้องต้นนั้นมากมายนัก อย่างที่เรียกว่า “ไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน” แล้วจะไปนึกเอาเองได้อย่างไร จึงไม่ใช่สิ่งที่นึกเอาเอง
    2. เมื่อปฏิบัติได้ถึงธรรมกายแล้ว ก็ทดลองฝึกน้อมเข้าสู่อนาคตังสญาณ ดูเหตุการณ์ในอนาคตอันใกล้ๆ ดูบ้าง หรือฝึกขยายทิพยจักขุและข่ายของญาณทัสสนะ ดูสิ่งต่างๆ ที่พอจะพิสูจน์ได้ว่าเห็นจริงหรือไม่จริงดูบ้าง ก็ค่อยๆ มีประสบการณ์เองว่า ที่เห็นนั้นถูกต้องตามที่เป็นจริงก็มีมาก ที่ผิดพลาดบ้างก็มี ก็ให้พิจารณาเหตุสังเกตผลดู ว่าเป็นเพราะเหตุใด
    และถ้าได้ทำนิโรธดับสมุทัยปหานอกุศลจิตให้หมดสิ้นไปได้ดีเพียงใด และใจเป็นอุเบกขาเพียงใดในขณะใด ในขณะนั้นการรู้เห็นจะเป็นตามจริง ทั้งจริงโดยสมมติและจริงโดยปรมัตถ์เพียงนั้น แต่ถ้าขณะใด จิตใจยังมัวหมองอยู่ด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน มีอคติ การรู้เห็นในขณะนั้นก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ง่ายดาย
    ผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นพระอริยเจ้า หรือผู้ปฏิบัติธรรมที่หมั่นมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันในกองกิเลส และหมั่นชำระจิตใจให้ผ่องใสไว้เสมอ ด้วยการเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ และทำนิโรธ ให้ใจสะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอเพียงใด ธรรมชาติเครื่องรู้เห็นมีทิพพจักขุและญาณทัสสนะเป็นต้นย่อมบริสุทธิ์ ให้สามารถรู้เห็นได้ถูกต้อง แม่นยำ กว่าผู้ที่ทรงคุณธรรมที่ต่ำกว่าเพียงนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิบัติถึงธรรมกายแล้วก็อย่าได้เหิมเกริมว่าเลิศแล้ว ต้องปฏิบัติภาวนาธรรมเพื่อกำจัดขัดเกลากิเลสให้หมดสิ้นไป ด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญาอันเห็นชอบอยู่เสมอ นั่นแหละจึงจะพอแน่ใจได้ว่าพอเอาตัวรอดได้ และเมื่อนั้นเครื่องรู้เห็น ได้แก่ ทิพพจักขุและญาณทัสสนะก็จะบริสุทธิ์ ให้สามารถรู้เห็นได้อย่างถูกต้องแม่นยำเอง
    จึงพึงเข้าใจว่า การสอนให้ตรึกนึกเห็นด้วยใจเป็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใส หรือ พระพุทธรูปขาวใส ขึ้น ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั้น เป็นเพียงอุบายวิธีในการอบรมจิตใจ ให้มารวมหยุดเป็นจุดเดียว (เอกัคคตารมณ์) ตรงศูนย์กลางกายอันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม และเป็นที่ตั้งกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตและธรรมในธรรม เพื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ อันเป็นการเจริญภาวนานั้นเองทั้งสมาธิและปัญญา ด้วยการที่ให้ได้ทั้งรู้และทั้งเห็นสภาวธรรมและสัจจธรรมตามธรรมชาติที่เป็นจริง​
     
  12. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    วันนี้...วันพระ แรม15ค่ำ เดือน8



    [​IMG]


    ภพสาม

    กามภพ: กามภพเป็นที่อยู่ของสัตว์ที่เสพกาม
    ก็มีเทวโลก มนุษย์โลก และอบายโลก รวมกันเป็นหนึ่ง

    ...รูปภพ: เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่สำเร็จรูปฌาน มี 4

    อรูปภพ: เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่สำเร็จอรูปฌาน มี 4

    รวมทั้งสิ้นเป็น 9 เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้เวียนว่ายตายเกิด
    พระอรหันต์ผู้หมดจดจากกิเลสย่อมจากที่อยู่ของสัตว์ไม่ต้องมา
    อยู่ในที่ 9 แห่งนี้ พระอรหันต์จึงประทับอยู่บนที่สิบ คือ
    อายตนะนิพพาน พระอรหันต์จึงเป็นผู้ประกอบด้วยองค์สิบ
    ย่อมพ้นจากวัฎสงสาร การดับภพสามได้นั้นท่านมิได้เหาะขึ้น
    ไป กามภพ, รูปภพ, อรูปภพ คงอยู่กับที่นั้นเอง

    แม้พระบรมศาสดาพึงจะดับภพสาม ก็พึงดับที่จิตของตน
    คือทำลายตัวสมมติทั้งหมดทั้งสิ้นจากจิต เป็นฐิติจิต
    ฐิติธรรม อันไม่รู้จักตาย เป็นวิราคธาตุ วิราคธรรม
    เป็นธาตุล้วน ธรรมล้วน เป็นธาตุเป็น ธรรมเป็น

    ฉะนั้นหลวงพ่อจึงกล่าวเสมอว่า “หยุดคือตัวสำเร็จ”
    ใจที่หยุดถูกกลาง เข้าสิบ เข้าศูนย์ ถูกสิบ ถูกศูนย์แล้ว
    ย่อมสามารถทำลายความสมมติแห่งภพชาติได้หมด
    ถ้าเราปฏิบัติกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติให้ถูกทาง ก็จะ
    ประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะ พึงรู้ พึงเห็น ได้ด้วยตัวของตัว
    เอง

    พระอรหันต์ทั้งหลายดับภพสามได้ด้วยความเพียร
    ทำให้มาก เจริญให้มาก
    จนจิตมีกำลังสามารถทำลายความสมมติทั้งหลายลงได้หมด
    ดับสิ้นอาสวะกิเลส ดับภพ ดับชาติได้

    หลวงพ่อบอกว่า

    “สิบศูนย์นี้เป็นตัวสำคัญมาก เข้าสิบ แล้วก็ตกเข้าศูนย์”

    ตกศูนย์ก็คือใจหยุด พอใจหยุด เรียกว่าเข้าสิบแล้ว จะเห็น
    ดวงปฐมมรรคใสแจ่มขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นั่นแสดง
    ว่าเห็นศูนย์แล้ว พอเห็นศูนย์ใจก็จะหยุดอยู่กลางศูนย์ ต้องเข้า
    กลางดวงนั้นแห่งเดียว ไปได้ทางเดียวทางอื่นไม่มี ทางนี้เป็น
    ทางไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 26 กรกฎาคม 2014
  13. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
  14. Ta WHK

    Ta WHK เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กันยายน 2008
    โพสต์:
    1,133
    ค่าพลัง:
    +6,078
    วันนี้ใช้อันนี้นำปฏิบัติค่ะ ตอนแรกทำขนมไปก็ฟังไปด้วย ฟังก่อนว่าเป็นยังไงก่อนปฏิบัติ พอปฏิบัติจริงๆก็ดีค่ะ แต่ยังไม่ค่อยดีนักมีหลายหตุมาขัดซะก่อน(โทรศัพท์) ต้องมาเริ่มดับหยาบไปหาละเอียดบ่อยๆ เลยยังไม่ค่อยนิ่ง ตามหลวงป๋าไม่ค่อยทันเพราะยังไม่นิ่งพอ คราวหน้าจะไม่ให้มีเหตุมาขัดแล้วค่ะ รายงานผลการปฏิบัติในวันนี้มีเท่านี้ค่ะ วันนี้ต้องเป็นแม่ครัวเอง พ่อครัวลาไปเที่ยวหิมะสามสี่วัน หั่นผักไปจะภาวนาไป ขอบคุณนะคะ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 กรกฎาคม 2014
  15. Ta WHK

    Ta WHK เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กันยายน 2008
    โพสต์:
    1,133
    ค่าพลัง:
    +6,078
    แหม เดาใจได้ถูกเป้ะเลยค่ะ เวลาที่ดับหยาบไปหาละเอียด บางครั้งก็นึก ตรงกายไหนนี่ แต่ก็ปักไปดวงแก้วที่ศูนย์กลางกายหยาบเนี่ยล่ะค่ะ ก็บางครั้งต่อไม่ได้ค่ะเลยต้องเริ่มใหม่
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 กรกฎาคม 2014
  16. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543

    รายละเอียด ค่อยคุยในFB หรือ LINE ดีกว่า จะได้เป็นปัจจุบันทันเวลา
    และ รายละเอียดแต่ละคนต่างกัน เกรงว่าท่านอื่นจะนำไปใช้ไม่เหมาะกับตน
    ในสถานะการณ์ที่คล้ายกัน

    ( ระบบข้อความส่วนตัว ในเว็บนี้ ผมเปิดไว้แล้ว ส่งข้อความทางนี้ก็ได้ครับ )
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 28 กรกฎาคม 2014
  17. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  18. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    <object width="640" height="480"><param name="movie" value="//www.youtube.com/v/I9hFw7GFRNM?hl=th_TH&amp;version=3&amp;rel=0"></param><param name="allowFullScreen" value="true"></param><param name="allowscriptaccess" value="always"></param><embed src="//www.youtube.com/v/I9hFw7GFRNM?hl=th_TH&amp;version=3&amp;rel=0" type="application/x-shockwave-flash" width="640" height="480" allowscriptaccess="always" allowfullscreen="true"></embed></object>
     
  19. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    วิชชาธรรมกาย...มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมาอย่างไร ?

    ๑.ในขั้น “สมถะ” หรือขั้นถึง “๑๘ กาย” แล้วเริ่มพิจารณาสภาวธรรมนั้น

    พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านจะถ่ายทอดให้กับบุคคลทั่วไปเป็นประจำ

    แต่ส่วนมากจะเป็นวิธีปฏิบัติเบื้องต้น...เป็นหลักใหญ่



    ๒.ในส่วน “วิปัสสนา” นั้น

    พระเดชพระคุณหลวงพ่อจะใช้วิธี “แสดงพระธรรมเทศนา”

    โดยท่านจะยกเอา “พระพุทธสุภาษิต” หรือ “พุทธวจนะ” มาแสดงก่อน

    แล้วก็อธิบายพุทธวจนะนั้น ทั้งในเชิง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ



    สำหรับ “ปริยัติ” นั้น อธิบายตามพระบาลี ตามหลักพระไตรปิฎก



    ส่วน “ปฏิบัติ” นั้น หลวงพ่อทั้งปฏิบัติเอง และสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติให้ทั้งรู้และเห็น

    เพราะฉะนั้นในการเทศน์ จึงเอาสิ่งที่ท่าน “เห็น” และสิ่งที่ท่าน “รู้” นำมาแสดง

    ซึ่งไม่มีที่ไหนแสดงถึงขนาดนี้ และผลของการปฏิบัติว่าเป็นอย่างไร...ท่านก็เอามาแสดง

    คือ ท่านแสดงพร้อมทั้ง ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ



    เรื่อง "มหาสติปัฏฐาน ๔" ส่วนใหญ่จะอยู่ในพระธรรมเทศนา ซึ่งมักจะสอนคนทั่วไป

    มีเหมือนกันในบางพระธรรมเทศนา จะมี “วิชชาชั้นสูงล้ำๆ” อยู่ด้วย

    แต่ผู้ฟังอาจฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

    ผู้ที่ได้ ๑๘ กายแล้ว ตรึกตามก็พอจะเข้าใจได้



    ยังมีการถ่ายทอดอีกช่วงหนึ่งที่สำคัญมาก สำหรับ “วิชชาธรรมกายชั้นสูง” คือ

    หลวงพ่อจะสอนวิชชาให้กับพระสงฆ์ที่เป็นวิชชา...ที่หลวงพ่อวางใจด้วย

    คือ ต้องเป็นธรรมกายด้วย และต้องเป็นธาตุธรรมที่หลวงพ่อ...ตรวจดีแล้ว



    บางท่านแม้เป็นธรรมกาย หลวงพ่อก็ไม่ถ่ายทอดให้

    ท่านอาจจะมีญาณพิเศษของท่าน ว่าคนนี้ถ่ายทอดไปแล้วแทนที่จะเป็นผลดี...ก็อาจไม่ดี

    คือ จะเป็นฐานของภาคมารไป



    ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอด เท่าที่ทราบมีทั้งพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา



    ทางฝ่าย "พระสงฆ์" ที่ได้รับการ “ถ่ายทอดวิชชาชั้นสูง” คือ

    - พระมหาจัน เปรียญธรรม ๕ ประโยค และท่านยังได้ “จดบันทึก” ไว้ด้วย

    - พระครูวินัยธร (ชั้ว โอภาโส)

    - พระภาวนาโกศลเถร (ธีระ ธมฺมธโร)

    - พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)

    - ฯลฯ



    เฉพาะเท่าที่ได้ยินชื่อในฝ่าย “อุบาสก , อุบาสิกา” มี

    - อาจารย์แม่ชีปุก มุ้ยประเสริฐ

    - คุณยายทองสุข สำแดงปั้น

    - คุณครูญาณี ศิริโวหาร

    - คุณยายถนอม อาสไวย์

    - คุณยายเธียร ธีระสวัสดิ์

    - คุณครูฉลวย สมบัติสุข

    - คุณครูจันทร์ ขนนกยูง

    - คุณครูตรีธา เนียมขำ

    - คุณกุล ผ่องสุวรรณ



    ในการถ่ายทอดนั้น มีทั้งได้รับมาก ได้รับน้อย คือ

    ในวิชชาชั้นสูง หลวงพ่อจะสั่งวิชชา ให้ทำวิชชาแก้เรื่องนั้นเรื่องนี้ แก้โรคบ้าง แก้ปัญหาบ้านเมืองบ้าง เป็นต้น

    สมัยนั้นมีสงครามด้วย วิชชาธรรมกายจึงได้ถูกนำมาใช้เพื่อสันติสุขของประเทศชาติเป็นส่วนรวม









    วิชชาทั้งหมดทุกระดับนั้น



    เบื้องต้นใครๆก็ได้รับ...ไม่มีปัญหา



    เบื้องกลาง คือ ระดับวิปัสสนา ....ที่เป็นพระธรรมเทศนานั้น

    ผู้ที่บันทึกไว้คือ ท่านเจ้าคุณพิพัฒน์ธรรมคณี โดยท่านได้บันทึกเทปไว้

    ซึ่งท่านได้มอบเทปที่บันทึกไว้ทั้งหมดแก่ พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)



    และท่านพระมหาจัน เปรียญธรรม ๕ ประโยค ซึ่งจดวิชชาเอาไว้ที่เป็น “วิชชาชั้นสูง” หรือ “วิชชาครู” นั้น

    ก็ตกทอดมายัง พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม) เช่นกัน



    เพราะฉะนั้น หลวงพ่อพระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)

    รองเจ้าอาวาส และ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

    จึงเป็นที่รวมของวิชชาธรรมกายตั้งแต่ เบื้องต้น เบื้องกลาง เบื้องสูง



    ขณะเดียวกันท่านก็ได้ “ถ่ายทอดวิชชา” ให้กับ พระราชญาณวิสิฐ (เสริมชัย ชยมงฺคโล)

    เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

    .... ซึ่งมีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

    โดยตรงก็ “สอน” กัน

    โดยอ้อมก็ให้ “รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นตำรา”

    ซึ่งได้รวบรวมเรียบเรียงใน ระดับสมถวิปัสสนา และ มหาสติปัฏฐาน ๔ รวมทั้งพระธรรมเทศนา



    หลวงพ่อพระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม) ท่านได้ให้ความเมตตาไว้วางใจแก่

    พระราชญาณวิสิฐ (เสริมชัย ชยมงฺคโล) ร่วมกับ พระครูสมุห์ณัฐนันท์ กุลสิริ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

    ในการรวบรวม “วิชชาธรรมกายชั้นสูง” คือ มรรคผลพิสดาร เล่มที่ ๑ / มรรคผลพิสดาร เล่มที่ ๒



    ต่อมาท่านก็ให้รวบรวม "วิชชาชั้นสูง เล่มที่ ๓” อีก

    และได้จัดพิมพ์เป็นเล่มไว้แจกแก่บุคคล (ที่ได้ธรรมกายแล้ว)

    หลังจากที่ได้มาฝึกปฏิบัติกับท่านพอสมควรแล้ว







    การถ่ายทอดวิชชาธรรมกาย...ที่สืบทอดต่อกันมานั้น มีข้อสังเกตว่า



    ๑. ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอด มีภูมิธรรมภูมิปัญญา...ไม่เท่ากัน

    การรับ......จึงไม่เท่ากัน



    ๒. วาระของการสอนออกไป

    แม้บางคนจะมีภูมิธรรมภูมิปัญญาสูง บางทีมาในขณะในสมัยที่กำลังแสดงธรรมนั้น บางทีก็ไม่ได้มา

    และบางคนที่มีภูมิธรรมปานกลางก็มา ในส่วนที่กำลังแสดงที่สำคัญบ้าง ไม่สำคัญบ้าง

    สรุปง่ายๆว่า แต่ละคนมีโอกาสเข้ามารับฟัง มาเรียนรู้ธรรมปฏิบัติ

    โดยเข้ามาไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน....จึงได้ธรรมะไปก็ไม่เท่ากันอยู่ดี



    ๓. ธาตุธรรมแก่กล้าไม่เท่ากัน

    อันนี้เป็นพื้นของเก่า หรือจะกล่าวว่ามี “บุพเพกตปุญญตา” ไม่เท่ากัน

    แล้วแต่ใครสร้างบารมีมาแบบไหน



    บางคนสร้างบารมีมาเพื่อเป็น “ปกติสาวก” เขาก็รับช่วงหนึ่งสมบูรณ์



    บางคนสร้างบารมีมาในระดับสูงกว่านั้น คือ

    ระดับ “พุทธอุปัฏฐาก” หรือว่า “อัครสาวก” หรือ “อสีติมหาสาวก” เขาก็รับได้มากกว่า



    บางคนก็ตั้งจิตอธิษฐานเข้าสู่ “พุทธภูมิ” ท่านเหล่านี้ก็ได้รับมาก



    มันจึงเป็นไปตามธาตุธรรมที่แก่กล้าไม่เท่ากัน

    และในแต่ละระดับที่ต่างกันนี้ บางทีผู้ที่ปรารถนาต่ำแต่บารมีเต็ม...กลับรับได้ชัดเจน

    เหมือนวิทยุเครื่องเล็กจิ๋ว...แต่ว่ารับได้ดี



    บางคนแม้จะสร้างบารมีมาในระดับปานกลาง อธิษฐานมาในระดับกลาง ระดับสูง

    อาจจะรับได้ดีหรือไม่ได้ดี...เท่าคนที่อธิษฐานบารมีน้อยๆก็ได้

    เพราะบารมียังไม่เต็มธาตุธรรม ยังไม่แก่



    สรุปใน ๓ เหตุ ๓ ปัจจัยนี้

    ทำให้ผู้รับการถ่ายทอด...ได้รับไปสมบูรณ์ไม่เท่ากัน

    เพราะฉะนั้นผลก็ออกไปตามส่วนอย่างนี้



    เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ หลวงพ่อพระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)

    และ หลวงพ่อพระราชญาณวิสิฐ (เสริมชัย ชยมงฺคโล) มีความรู้สึกว่า

    “วิชชาธรรมกายที่บริสุทธิ์ และสมบูรณ์ถูกต้อง” ... สมควรที่จะได้รับการถ่ายทอดให้กว้างขวางขึ้น

    เผยแพร่ให้มากขึ้น และทำให้เป็นหลักเป็นฐาน

    เพื่อให้เป็นเอกสาร และพยานบุคคลอ้างอิงได้ต่อไปในอนาคต



    เพราะมิฉะนั้นแล้ว

    วิชชาธรรมกายอาจจะถูกบุคคล หรือ ศิษยานุศิษย์ที่รับไปไม่เท่ากัน

    หรือ บกพร่อง เข้าใจไม่เท่าเทียมกัน หรือ เข้าใจผิดบ้างถูกบ้าง

    นำออกไปปฏิบัติไปถ่ายทอด ที่ไขว้เขวออกไปนอกลู่นอกทางของแนววิชชาธรรมกาย (ซึ่งมีอยู่ตรงกับพระไตรปิฎก) ทำให้เป็นที่เสื่อมศรัทธาของบุคคลได้
     
  20. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,145
    ค่าพลัง:
    +70,543
    .............................................
     

แชร์หน้านี้

Loading...