ทำบุญกันได้หลายวิธี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย aprin, 7 มกราคม 2008.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ทำบุญกันได้หลายวิธี

    ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    ไต้ ตามทาง


    ชาวไทยพอพูดถึงการทำบุญ ก็นึกไปถึงการให้ทาน ไม่นึกถึงการทำบุญวิธีอื่น และ "ทาน" ที่ว่านี้นึกถึงแต่การใส่บาตร ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแก่พระเท่านั้น ความรับรู้เรื่องทานเพียงแค่นี้ นับว่ายังแคบ เพราะเหตุนี้แหละจึงต้องมาจับเข่าคุยกัน

    ความจริงการทำบุญมีตั้ง 10 วิธี เรียก "บุญกิริยาวัตถุ" สำหรับชาวบ้าน พระพุทธเจ้าท่านสรุปไว้ 3 วิธี คือ ทาน ศีล ภาวนา

    1.ทาน (การให้) มี 2 อย่าง คือ ให้เพื่อทำบุญ กับให้เพื่อสงเคราะห์

    การถวายสังฆทานใส่บาตร หรือบริจาคสิ่งอันควรใช้สอยต่างๆ แก่พระภิกษุสงฆ์เรียกว่า ให้เพื่อทำบุญ การให้ชนิดนี้จุดประสงค์เพื่อฟอกจิตของตนให้สะอาด หรือเพื่อละกิเลส ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น

    การให้ข้าวปลาอาหาร ทรัพย์สินเงินทองแก่คนขอทาน หรือบริจาคเพื่อทำประโยชน์แก่สาธารณะต่างๆ เป็นการให้เพื่อสงเคราะห์

    การให้ ไม่ว่าจะให้เพื่อทำบุญหรือให้เพื่อสงเคราะห์ จะมีผลมากอยู่ที่เจตนาของการให้เป็นสำคัญกว่าอย่างอื่น ถ้าให้เพื่อเอาหน้า เช่น ให้เพื่อให้คนเขาเห็นว่าเขาเป็นคนใจบุญ ให้เพื่อแสดงว่า ตนเป็นคนร่ำรวย ทำบุญคราวละมากๆ ให้เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่น "เพื่อหาเสียง" เพื่อแลกสวรรค์วิมานในชาติหน้า ถึงของที่ให้นั้นจะมากมาย ราคาแพงๆ การให้ทานชนิดนี้มีผลน้อยพูดง่ายๆ ว่าทำบุญไม่ได้บุญ หรือได้ก็ได้น้อย

    แต่ถ้าให้เพราะจิตเลื่อมใส ต้องการให้จริงๆ ทั้งก่อนให้ และหลังจากให้แล้ว จิตใจเลื่อมใสไม่คิดเสียดาย การให้อย่างหลังนี้ แม้ของที่ให้จะเล็กน้อยราคาถูกๆ ก็เป็นบุญกุศลแท้จริง คนจนทำบุญทำทานได้ และอาจได้บุญมากกว่าคนรวยเสียด้วยซ้ำ

    2. ศีล (การรักษาศีล)

    การทำทานนั้นจะต้อง "ลงทุน" พอสมควรจึงจะได้ อย่างน้อยเราต้องจัดหาข้าวปลาอาหารหรือสิ่งของมาเสียก่อน จึงจะให้ท่าน เช่น ใส่บาตร หรือบริจาคได้ แต่การทำบุญด้วยการรักษาศีลนี้ไม่ต้อง "ลงทุน" อะไร คือไม่ต้องจัดหาสิ่งของภายนอกใดๆทุกอย่างมีที่ตัวเราแล้ว เพียงแต่เราตั้งใจงดเว้น จะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดในกาม ไม่พูดเท็จ และไม่ดื่มสุราเมรัย แล้วควบคุมมิให้ละเมิดด้วยจิตใจแน่วแน่มั่นคงก็นับว่าเราได้ทำบุญแล้ว

    ถ้าถามว่าทำไมเพียงเท่านี้จึงเป็นบุญ คำตอบก็คือ ถ้าเราตั้งใจแน่วแน่จะไม่ทำชั่วดังกล่าวข้างต้น แล้วพยายามรักษาไว้ไม่ให้เสียความตั้งใจ จิตใจของเราก็จะเข้มแข็งบริสุทธิ์สะอาดขึ้น ความสะอาดของจิตนี้แหละคือบุญ ความสกปรกคือบาป โลภ โกรธ หลง มันคือสิ่งที่คอยรุกรานจิตใจตลอดเวลา ถ้าตกเป็นทาสของมัน จิตเราก็จะสกปรก

    โลภ คอยดลใจให้อยากลัก อยากขโมย ยิ่งโกงเขาเท่าไรมันยิ่งกำเริบ เท่ากับเราให้น้ำให้ปุ๋ยแก่มัน

    โกรธ คอยยุให้ทำลายคนอื่น ยิ่งฆ่าทำลายคนอื่นได้ ยิ่งมันในอารมณ์ ดุจดังให้เชื้อแก่ไฟ

    หลง มันคอยยุให้ลุ่มหลง ยิ่งยุ่งกับสุรานารีกีฬาบัตรเท่าใดยิ่งทำให้หน้ามืดตามัว

    จิตเราก็ไม่มีวันว่างเว้นจากอิทธิพลของ "กิเลส" สามตัวนี้ นานวันเข้า พื้นจิตก็สกปรก ตกต่ำหยาบกระด้างขึ้น

    การต่อสู้กับกิเลสก็เหมือนกับการรบทัพจับศึก ถ้าเรายังตีโต้ขับไล่ข้าศึกไม่ได้ ก็ต้องยับยั้งการรุกคืบหน้าของข้าศึกไว้ก่อน ตรึงข้าศึกไว้กับที่ก่อน มีโอกาสคอยหาทาง "ตัดเสบียง" ของข้าศึกแล้วเข้าทำลายภายหลังเมื่อมีกำลังพร้อม

    การรักษาศีล ไม่ว่าศีลห้า หรือศีลแปด ก็คือการไม่ให้โอกาสแก่โลภ โกรธ หลง มันรุกคืบหน้านั่นเอง ยับยั้งได้นานเท่าใด จิตใจก็ปลอดภัยนานเท่านั้น

    3. ภาวนา (การพัฒนาจิต)

    คนส่วนมากมักเข้าใจว่า "ภาวนา" ก็คือการนั่งหลับตา บ่นอะไรพึมพำๆ การทำบุญด้วยวิธีภาวนาก็คือ หาเวลาไปนั่งบ่นบริกรรมในที่เงียบๆ ไม่ต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพเหมือนคนทั่วๆ ไป ถ้าเช่นนั้นคนที่ไม่พร้อมที่ทำบุญชนิดนี้ปล่อยให้คนเฒ่าคนแก่เขาทำกันดีกว่า!

    นั่นเป็นความเข้าใจผิด ภาวนา ตามศัพท์หมายถึง "ทำความดีที่ยังไม่เกิดมีให้เกิดมีและให้เจริญงอกงาม" ความดีที่จะต้องทำให้เกิดมีและให้เจริญงอกงามมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกันคือ

    (1) การศึกษา ศิลปวิทยาการต่างๆ ที่ทำให้คนฉลาดขึ้น มีประโยชน์ในการดำรงชีวิต และสร้างประโยชน์แก่สังคม เราตั้งใจศึกษาหาความรู้เข้าไว้เต็มที่ เช่น ตั้งใจอ่านหนังสือ ท่องจำ ฝึกฝน ฟังเทศน์ ฟังธรรม ฟังปาฐกถา สนทนาสอบถามเอาความรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ

    (2) การทำงานด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยการใช้ปัญญา เช่น รู้จักเลือกทำแต่งงานที่เป็นประโยชน์ รู้จักวางแผนงานปรับปรุงงานให้ดีขึ้น รู้จักค้นคว้าทำงานให้ก้าวหน้า รู้จักทำงานถูกกาลเทศะ รู้จักทำงานที่สุจริต

    (3) การทำจิตใจให้สงบ คือหาวิธีควบคุมจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้จิตมั่นคิดโน่นคิดนี่ตลอดเวลา และการรู้จักใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจกฎธรรมชาติและธรรมดาของชีวิต ว่าทุกอย่าง "ไม่คงที่ไม่คงตัว" แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายความยึดติดที่มากจนเกินไป

    การทำทั้งสามเรื่องนี้ให้พร้อมเรียกว่า "ภาวนา" การทำบุญด้วยการภาวนาตามนัยนี้ใครๆ ก็ทำได้ เพราะฉะนั้น โปรดตรวจสอบตัวเองว่าตนได้ทำสิ่งเหล่านั้นพร้อมหรือยัง

    - ศิลปวิทยาการต่างๆ ที่มีประโยชน์ที่ส่งเสริมให้เกิดความฉลาด ตนได้เรียนรู้แล้วหรือยัง เรียนเพียงพอแล้วที่จะดำรงชีวิตและทำประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนาหรือไม่

    - หน้าที่การงานที่สุจริต ตนได้ทำแล้วหรือยัง เมื่อได้ทำแล้วได้ตั้งใจอุทิศตนแก่งานเต็มที่ ปรับปรุงแก้ไขให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นหรือไม่

    - รู้จักหาวิธีสงบระงับใจ ไม่ฟุ้งซ่าน โลเล และรู้จักใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจความเป็นไปของโลกและของชีวิตตามเป็นจริง ลดความยึดมั่นถือมั่นเกินกว่าเหตุ จนสามารถสร้างความสุขปลอดโปร่งแก่จิตใจได้บ้างหรือยัง

    ถ้ายัง ก็จงรีบๆ ทำเข้าเถิด ทำแล้วจะเกิดผลประโยชน์แก่ท่านเองหาใช่ใครไม่

    หน้า 29


    วันที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6248 ข่าวสดรายวัน
    http://www.matichon.co.th/khaosod/v...ionid=TURNd053PT0=&day=TWpBd09DMHdNUzB3Tnc9PQ==
     

แชร์หน้านี้

Loading...