วิธีฝึก วิธีคิด สำหรับผู้อยาก "บวชใจ" ทำไมผมถึงใช้คำว่า บวชใจ แล้วบวชใจต่างกับบวชกาย ( เป็นสมณะ ) ตรงไหน ธรรมะที่แท้จริงของพุทธองค์ เนื้อความจริงๆแล้วคืออะไร ทุกวันนี้มนุษย์เรา มัวเมา ลุ่มหลง อยู่กับสิ่งสมมุติทั้งสิ้น ธนบัตรเงินตราเอย ยศศักดิ์เอย วิทยฐานะต่างๆเอย เป็นสมมุติทั้งนั้น แม้แต่ศีล จะ ๕ ข้อ ๘ ข้อ ๑๐ ข้อ ๒๒๗ ข้อ หรือแม้แต่ ๓๑๑ ข้อ ก็เป็นสมมุติ หากเราปฏิบัติตามแนวทางพุทธศาสนา แต่ยังยึดติดสมมุติโดยไม่รู้ตัว ก็ยากที่จะหลุดพ้นเพราะมิได้เข้าใจธรรมะของพุทธองค์ที่เป็นเนื้อแท้ วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกัน สิ่งสมมุติ คือ อะไรต่างๆที่มันไม่ได้มีค่าอะไร แต่เราไปยึดติด ทำให้มันมีค่าขึ้นมา ตัวอย่างแรก คือ เงิน เป็นสิ่งสมมุติที่มนุษย์เรายอมรับกันในวงกว้าง ทั้งที่มันก็เป็นแค่เศษกระดาษ แต่ทำให้มันมีค่าขึ้นมาได้ แต่เพราะมันคือสมมุติ เมื่อเรายกเลิกสมมุตินั้น มันก็ไร้ค่า หากเราไปในที่ที่ไม่ใช้เงิน คนพื้นเมืองไม่เห็นค่า เงินก็เป็นแค่กระดาษ ถ้าเราไปติดอยู่กลางทะเลทราย ชีวิตต้องตายเพราะขาดน้ำ เรามีเงินพันล้านอยู่กับตัว ส่วนผู้ร่วมชะตากรรมกับเรา มีน้ำพกติดตัวมาด้วย แต่ปริมาณเพียงพอสำหรับประทังชีวิตแค่คนเดียวเท่านั้น เมื่อขาดน้ำแล้วต้องตาย เรามีเงินสักพันล้านเราก็ยอมแลก เพื่อน้ำอันน้อยนิดถ้ามันหมายถึงชีวิต แต่เงินพันล้านก็ไม่ได้มีค่าเลย เพราะเจ้าของน้ำนั้นก็ย่อมรักชีวิตตนเองมากกว่าเงินเหมือนกัน ตัวอย่างที่สองคือ ศีล เป็นสมมุติอย่างไร ปัจจุบันเราตีค่าคุณงามความดีของคนตามสถานะคือ ผู้ใดครองศีลสูงกว่า ต้องเคารพผู้นั้น เถิดทูนผู้นั้น ชีพราหมณ์ศีลสูงกว่าฆราวาส ญาติโยมต้องกราบไหว้ พระศีลสูงกว่าชีพราหมณ์ ชีพราหมณ์ต้องกราบไหว้ หลายคนหลงศีล คิดว่าตนไปรับศีล ๘ มา ตอนนี้ฉันศีลสูงกว่าเธอ เธอต้องเคารพ เธอต้องกราบไหว้ฉัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด คุณค่าความดีของคน ไม่ได้วัดกันที่การครองศีล ไม่ได้วัดที่การครองผ้าขาวหรือผ้าเหลือง ไม่ได้หมายความว่า พระสงฆ์ผู้รักษาศีล ๒๒๗ ข้อจะเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์กว่าพวกชีพราหมณ์หรือญาติโยมเสมอไป เช่น มีฆราวาสคนหนึ่ง ขี้เหล้าเมายา ฆ่าคนจะติดคุก เลยหนีคดีมาบวช ครองผ้าเหลือง ถามว่าเขากลายเป็นพระสงฆ์แล้ว ถือเป็นคนดีเลยหรือไม่ ตอบว่าไม่ จิตใจที่ต่ำทรามเช่นไรก็ยังต่ำทรามเช่นนั้น มิอาจเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเข้ามาในศาสนา ก็มีแต่จะทำให้ศาสนาเสื่อม แต่กับพระสงฆ์หนึ่งท่าน ที่ปฏิบัติดี ใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนใคร เมื่อถึงวาระที่จำต้องลาสิกขา กลับมาสู่ความเป็นสามัญชน แต่ก็ยังปฏิบัติแต่สิ่งดีๆ ความเป็นคนดี จิตใจดี ก็ไม่ได้เลือนหายไปไหน จากตัวอย่างที่ผมได้ประสบมากับตัวเอง คือ มีคนรู้จักท่านหนึ่ง มักจะมาขอคำแนะนำ เรื่องการปฏิบัติตนกับผมเสมอๆแต่มีครั้งหนึ่ง เขาได้ชวนผมไปอยู่วัดเป็นเพื่อนเนื่องจากจะไปบวชพรหมณ์แก้บน ระหว่างที่มีโอกาสคุยสนทนาธรรมกัน เขาก็ได้พูดมาประโยคหนึ่งว่า “วันนี้เธอสอนฉันไม่ได้ ฉันรับศีล เธอไม่ได้รับศีล” นี่แลคือความยึดมั่นถือมั่นในศีลที่เป็นสิ่งสมมุติ คิดว่าตนเองนั้นสูงส่งกว่าคนอื่นๆ ก่อนรับศีลเป็นระดับหนึ่งหลังรับศีลกลายเป็นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด ทุกๆวันที่เรามีชีวิตอยู่ ถึงแม้ตัวเรานั้นจะไม่ได้สมาทานศีล ไม่ได้เอาศีลมาแบกไว้ แต่หากเราใช้ชีวิตมีสติ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเมตตา ไม่คิดเบียดเบียนใคร เราก็ไม่ได้ต่างจากผู้ทรงศีลเลย แก่นแท้ของศีล แก่นแท้ของศีล มี ๓ อย่าง คือ ๑.อะไรที่เราทำแล้ว เบียดเบียนผู้อื่นไม่ควรทำ ๒.อะไรที่เราทำแล้ว เบียดเบียนตนเองไม่ควรทำ ๓.อะไรที่เราทำแล้ว เบียดเบียนตนเองด้วย ผู้อื่นด้วย ยิ่งไม่ควรทำ แต่มนุษย์เรา หลายๆคนมองเห็นความหมายของ ๓ ข้อนี้ไม่ชัด เลยบัญญัติวินัย บัญญัติศีลขึ้นมาไว้สำหรับนักบวชและฆราวาส เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติตน จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ของเณร หรือศีล ๒๒๗ ของภิกษุ ศีล ๓๑๑ ข้อของภิกษุณี ทั้งหมดล้วนคือ กุศโลบาย ในการให้ผู้ปฏิบัติละเว้นการกระทำที่เบียดเบียนคนอื่นและตนเองทั้งสิ้น และตั้งแต่ศีล ๘ ขึ้นไป จะรวมวินัยในส่วนของธรรมะเข้าไปด้วย คือเป็นศีลส่วนหนึ่ง วินัยส่วนหนึ่ง ก็เพื่อใช้ฝึกให้เรารู้จักอดทน ไม่ตกเป็นทาสกิเลส เพื่อให้เข้าใกล้หนทางหลุดพ้นนั่นเอง และสำหรับศีลของภิกษุนั้น เหตุเพราะมีวินัยที่บัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องศาสนาจากความเสื่อมรวมอยู่มาก วินัยของภิกษุเลยมีมากถึง ๒๒๗ ข้อนั่นเอง แก่นแท้ของศีลทั้ง ๓ ข้อนั้นครอบคลุมศีลสมมุติทุกข้ออยู่แล้ว การที่เรายึดแก่นแท้ของศีล ทั้ง ๓ ข้อได้ เป็นเรื่องที่ดี และทำให้เราเป็นผู้บริสุทธิ์จากการสร้างกรรมชั่ว แต่ยังไม่ได้ทำให้เราเข้าใกล้ความหลุดพ้น แต่การรักษาแก่นแท้ของศีลทั้ง ๓ ให้อยู่กับตัวมีสติเสมอนั้น ถือเป็นก้าวแรกที่ควรจะทำ หากเราปรารถนาความพ้นทุกข์ แม้จะมิใช่นักบวช แต่ก็ควรจะต้องศึกษาพระธรรม เพื่อให้เข้าใจในแก่นของวินัยข้อนั้นๆว่าบัญญัติมาเพราะอะไร เพื่ออะไร ไม่ใช่เขียนไว้ให้ปฏิบัติอย่างไร ก็ทำตามนั้น หลับหูหลับตาปฏิบัติ จนกลายเป็นงมงาย ยกตัวอย่างวินัยในส่วนของศีล มีข้อหนึ่งระบุไว้ว่า ในน้ำมีตัวสัตว์ห้ามนำมารดหญ้า หรือ ดิน ได้มีภิกษุผู้บวชใหม่หมายจะสรงน้ำ แต่ในน้ำมีลูกน้ำยุงลายเลยไม่กล้าใช้บ้าง หรือเอาไปเททิ้งลงในชักโครกบ้าง คือไม่ได้รดหญ้าหรือดิน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ที่พุทธองค์ทรงบัญญัติ ก็เพื่อไม่ให้เราเบียดเบียนสัตว์ แม้เป็นลูกน้ำยุงลาย ก็มีชีวิตมีวิญญาณ การที่เราไปเทเขาทิ้ง จะลงไปที่ใดๆก็แล้วแต่ ยังผลให้เขาตายเอาดาบหน้า ก็ถือเป็นการเบียดเบียนสร้างกรรม ที่ภิกษุควรระวังจริงๆไม่ใช่ว่า พอในน้ำมีตัวสัตว์ก็ไม่กล้าใช้ และถ้าเอาไปเททิ้งก็ยิ่งหนักเลย เราสามารถใช้น้ำที่มีตัวสัตว์ได้ แต่เมื่อตักมาแล้วมีตัวสัตว์ติดมา ก็เทสัตว์นั้นกลับลงไปที่เดิมก็ได้ ตัวอย่างวินัยข้างต้นเป็นส่วนของศีล คือผิดวินัยแล้ว เกิดเป็นกรรมด้วย และวินัยดังต่อไปนี้จะเป็นส่วนของธรรมะ คือ ผิดวินัยแล้วไม่เกิดเป็นกรรม เช่นเรื่องของ การห้ามทานอาหารยามวิกาล ในตำราหมายถึงหลังเที่ยงวันไปแล้ว ถามผู้ถือศีล ๘ น้อยคนนักที่จะตอบได้ว่า ทำไมถึงไม่ให้ฉันหลังเที่ยง จริงๆแล้วคือ ไม่อยากให้ผู้ปฏิบัติพะวงอยู่กับการกิน เพื่อจะได้ตั้งใจกับการปฏิบัติธรรมให้มากๆ ทานเฉพาะเท่าที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ วินัยข้อนี้สอนให้รู้จักอดทน ไม่ตามใจปาก สมัยพุทธกาลพระท่านฉันแค่เพียงวันละมื้อเท่านั้นเอง หากเราผู้ปฏิบัติ หรือนักบวชใหม่ พระใหม่ ปวดท้องทนไม่ไหวเนื่องด้วยความเคยชินกับชีวิตฆราวาส เมื่อละเมิดวินัยข้อนี้ ก็ไม่ได้ไป เบียดเบียนใคร จึงไม่ได้เกิดเป็นกรรมกับผู้ใด เพียงแต่ถ้าเราตามใจปาก ตามใจกิเลส ก็จะห่างไกลจากความพ้นทุกข์ เมื่อไม่หวังจะมาหาทางพ้นทุกข์ ก็ไม่ควรออกบวชนั่นเอง วินัยในส่วนของธรรมะข้อต่อมา เป็นเรื่องของวินัยที่มีไว้ปกป้องศาสนา คืออะไร ยกตัวอย่างที่หนึ่ง ภิกษุห้ามมีบาตรไว้ในครอบครองมากกว่า ๑ ใบ หากเก็บบาตรส่วนเกินไว้นานกว่า ๑๐ วันต้องอาบัติ เหตุที่ทรงบัญญัติเช่นนั้น มิใช่ว่าละเมิดแล้วเป็นกรรม หรือละเมิดแล้วห่างจากความหลุดพ้น แต่ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่งสะสมบาตรไว้มากมาย ญาติโยมเห็นแล้ว เอามาแซวว่าเป็นพ่อค้าบาตร พุทธองค์เห็นว่าไม่เหมาะสมจึงบัญญัติวินัยข้อนี้มา เพื่อปกป้องศาสนาจากคำครหาต่างๆ ฉะนั้นหากเราพิจารณา ศีลสมมุติทั้งหลาย และแยกเฉพาะ ตัวศีลแท้ๆออกมาจากวินัย ก็จะเหลือศีลแค่ไม่กี่ข้อเท่านั้นเอง และถ้าเราดูที่แก่นแท้ของศีลดังที่กล่าวแต่แรก ก็จะบีบศีลสมมุติทั้งหลายที่แบ่งแยกออกมามากมายหลายข้อ ให้อยู่ใน ๓ ข้อนั่นเอง ฉะนั้นการบวชใจก็คือการยึดเอาแก่นแท้ของศีลทั้ง ๓ ข้อไปปฏิบัติ หากรักษาแก่นแท้ของศีลนี้ไว้ได้ เราก็จะมีศีลไม่ต่างจากพระ และหากเราก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ ก็จะได้ชื่อว่าเป็น พระแท้ผู้เปี่ยมด้วยเมตตานั่นเอง แก่นแท้ของศีลนั้น ไม่ได้มีเขียนไว้ในปิฏกโดยตรง หากแต่สามารถเข้าใจได้จากกระบวนการใช้ปัญญาพิจารณาเพื่อให้ได้แก่นแท้ออกมา ถามว่า ยกตัวอย่างด้วยศีล ๕ แก่นแท้ข้อที่ ๑ คือ อะไรที่เราทำแล้ว เบียดเบียนผู้อื่นไม่ควรทำ เรายึดมั่นแค่ข้อนี้เราจะไม่ผิดศีล ๕ ได้ถึง ๔ ข้อ คือข้อปาณาติบาต อทินนา กาเม และ มุสา และ แก่นแท้ข้อที่ ๒ คือ อะไรที่เราทำแล้ว เบียดเบียนตนเองไม่ควรทำ เราจะไม่ผิดศีล ๕ ข้อ สุรา ดังนี้แล้วเพียงแค่ยึดมั่นแก่นแท้ของศีลทั้งสาม เราก็เป็นผู้ที่ชื่อว่า ไม่ทำบาป ไม่สร้างกรรม เป็นผู้รักษาศีลได้บริสุทธิ์ จะศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ล้วนมีพื้นฐานเดียวกัน และด้วยความที่เป็นสมมุตินี้เอง พระวินัยหรือศีลของพระจึงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลสมัยประกอบกับสังคมที่เปลี่ยนไป แต่แก่นศีลทั้งสามนี้จะไม่มีวันเปลี่ยน หากเรากระทำการละเมิดยังคงเป็นบาปและเป็นกรรมแน่นอน แต่พระวินัยหรือศีลของพระนั้นมีหลายข้อที่ละเมิดแล้วไม่ได้เป็นกรรม เพราะเป็นสมมุติที่เติมเข้าไปเพื่อใช้ฝึกตนสำหรับผู้ออกบวชเท่านั้น ผิดวินัยแล้วสามารถปลงอาบัติได้ แต่ถ้าผิดศีลที่เกิดแล้วเป็นกรรม ถึงปลงอาบัติได้แต่กรรมไม่ได้หายไปด้วย การศึกษาพระธรรม พุทธองค์แฝงแก่นแท้ไว้ ผู้ที่ศึกษาและพิจารณาด้วยปัญญาย่อมได้ความออกมาเหมือนกัน แต่หลายๆคน ปฎิบัติตามแบบไม่หาเหตุต้น ไม่สงสัยว่า บัญญัติมาทำไม หลับหูหลับตาปฎิบัติ โดยที่ไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการปฎิบัตินั้นๆ แล้วจะค้นพบทางหลุดพ้นได้อย่างไร ศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘ ก็ดี จวบจนศีล ๒๒๗ เป็นสมมุติทั้งสิ้น เป็นสมมุติที่กำหนดให้เรายึดมั่น เพื่อวางตัวสำรวมในการกระทำ ที่จะทำให้เกิดกรรมสำหรับผู้ที่ยังตีแก่นแท้ไม่ออก เพราะหากไปบอกว่า ไม่ให้ทำอะไรที่เบียดเบียนคนอื่น หลายคนอาจไม่เข้าใจ ยังคิดไม่ได้เอง ถึงต้องบัญญัติ อย่างละเอียดแยบยลว่า ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ห้ามฯลฯ ซึ่งจริงๆแล้วทั้งหมดนั้น มันก็อยู่ในพื้นฐานแค่แก่นแท้ของศีล ๓ ข้อนั่นเอง เมื่อรู้แก่นแท้ของศีลแล้ว ก็จงอย่ามองข้ามแก่นแท้ของการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น คือการรู้ อริยสัจ ๔ คำสอนหรือหลักการปฎิบัติที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าใช้หยิบมาสอน หยิบมาตีกรอบการปฎิบัติของเรา ท่านสอนให้รู้ว่าต้องปฎิบัติเพื่ออะไร และการปฎิบัตินั้นๆจะนำไปสู่จุดหมายที่องค์ท่านชี้ไว้ได้อย่างไร เมื่อเรารู้ อริยสัจ ๔ เราก็รู้ ทุกข์ รู้เหตุ รู้ความดับทุกข์ รู้มรรค หลังจากนั้น การจะดับทุกข์อย่างไร ขึ้นอยู่กับเรา การจะทำนิพพานให้แจ้ง ก็ต้องปฎิบัติตาม มรรค ๘ และตอนนี้เราได้เริ่มจากศีลแล้ว ต่อมาก็พัฒนาต่อไปที่การฝึกสมาธิ สุดท้ายแล้วปัญญาก็จะเกิด เราก็จะสามารถเข้าใจอริยสัจ ๔ ได้แจ่มแจ้ง และเข้าถึงนิพพานได้ในที่สุด พุทธองค์ นับหนึ่งให้เรา เราเองที่จะเป็นผู้นับ สอง สาม และ สี่ ฉะนั้นการตีความหมาย ให้เข้าใจแก่นแท้ในคำสอน คือการเริ่มทำความเข้าใจกับการก้าวเดินด้วยตนเอง พุทธองค์ไม่ได้เดินเคียงเราไปจนถึงฝั่ง ท่านเป็นผู้สอน ผู้ชี้ทาง เราตัวคนเดียวเท่านั้น ต้องพาตัวเองไปให้ถึง หากเราไม่นึกคิดพิจารณา ในคำสอนให้เข้าใจถึงแก่นแท้ ระหว่างทางย่อมพบเจออุปสรรคมากมาย เราก็มิอาจพิจารณาเองได้ว่า จะทำอย่างไรกับอุปสรรคเหล่านั้นจนต้องย้อนกลับมาถามพุทธองค์อยู่ร่ำไป จำไว้ว่า พระธรรมคือพาหนะที่จะพาเราไปส่ง คือเรือที่พาเราข้ามคลอง พุทธองค์ให้เรือเรามา สอนวิธีพายเรือให้เรามา แต่หน้าที่เราคือ ต้องพายให้เป็นก่อน มิฉะนั้นมันจะวนอยู่กับที่ไม่ไปไหน และเมื่อพาตนเองไปถึงฝั่งได้แล้ว ก็ต้องละทิ้งสิ่งสมมุติทุกอย่างเสีย แม้แต่เรือที่เราอาศัยมาก็ไม่ต้องแบกไปด้วย คือในที่สุดแล้ว แม้แต่พระธรรมคำสอนของพุทธองค์เราก็ต้องละ รวมบทความ นั่งสมาธิแล้วได้อะไร(ประสบการณ์ตรงจากการบวชพระ1พรรษา) ก่อนปฎิบัติต้องทำความเข้าใจเรื่อง "ทาน ศีล ภาวนา รวมถึงการแผ่เมตตา และการอุทิศบุญ" วิธีฝึก วิธีคิด สำหรับผู้อยาก"บวชใจ" รักษาศีลให้บริสุทธิ์ที่สุดต้องรักษาให้ถึงใจ ความหมายแท้จริงของการทาน "เจ" วิธีฝึกจิต รับรู้สภาวะ
ศีล ในแก่นแท้ของพุทธองค์ ก็มีอยู่แค่ ๓ อย่าง คือ ๑.อะไรที่เราทำแล้ว เบียดเบียนผู้อื่นไม่ควรทำ ๒.อะไรที่เราทำแล้ว เบียดเบียนตนเองไม่ควรทำ ๓.อะไรที่เราทำแล้ว เบียดเบียนตนเองด้วย ผู้อื่นด้วย ยิ่งไม่ควรทำ เเล้วในพระไตรปิฎก มีกล่าวไว้ตรงไหนบ้าง!!! เพราะชาวพุทธเเท้ๆกึจะเอาพระไตรปิฎกเป็นมาตรฐาน ถ้านอกเหนือจากนั้น อาจจะตีความไปคนละทางสองทาง เพราะระดับสติปัญญาที่เเตกต่างกัน
ศีลไม่ใช่สิ่งสมมตินะครับ ศีลเป็นอริยมรรค ส่วนที่เขาถือตัวถือตน อันนั้นคือ มานะ... สมมติ... คำๆนี้ใช้ต้องระวัง โดยเฉพาะสำหรับห้องสำหรับผู้เริ่มต้น ผู้เริ่มต้นจะมาคุยว่าสมมติสมแม็ตมันจะยุ่งเอา
องค์พระสัมมาฯตรัสสอนไว้ก็เเก่นอยู่เเล้ว!?!? ปฎิบัติตามคำสอนกว่าจะสำเร็จก็นับหนึ่งเเล้ว ก็นับหนึ่งอีก ไม่รู้เมื่อไร จะเข้าไปในกระเเสพระนิพพาน !!
ไม่ได้มีกล่าวไว้หรอกครับ แต่เป็นกระบวนการใช้ปัญญาพิจารณา ให้ได้แก่นแท้ออกมา เพราะในปิฎก จะเน้นผู้ศึกษาทุกระดับภูมิธรรม ถามว่า ยกตัวอย่างด้วยศีล ๕ แก่นแท้ข้อที่ ๑ คือ อะไรที่เราทำแล้ว เบียดเบียนผู้อื่นไม่ควรทำ เรายึดมั่นแค่ข้อนี้ เราจะไม่ผิดศีล ๕ ได้ถึง ๔ข้อ คือ ข้อ ปาณาติบาต อทินนา กาเม และ มุสา และ แก่นแท้ข้อที่ ๒ คือ ๒.อะไรที่เราทำแล้ว เบียดเบียนตนเองไม่ควรทำ เราจะไม่ผิดศีล ๕ ข้อ สุรา แค่ยึดมั่นแก่นของศีลทั้งสาม เราก็เป็นผู้ที่ชื่อว่า ไม่ทำบาป ไม่สร้างกรรม เป็นผู้รักษาศีลได้บริสุทธิ์ จะศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ล้วนมีพื้นฐานแบบเดียวกัน ที่ว่าเป็นสมมุติก็เพราะว่า ถ้าพุทธองค์ยังไม่นิพพาน วินัย หรือ ศีลของพระ ก็จะมีมากขึ้นไปอีก ตามกาลสมัย และสังคมที่เปลี่ยนไป แต่แก่นศีลทั้งสาม จะไม่มีวันเปลี่ยน หากเรากระทำละเมิดแล้ว บาปและเป็นกรรมแน่นอน แต่วินัยพระหรือศีลพระ มีหลายข้อละเมิดและไม่ได้เป็นกรรม เพราะเป็นสมมุติที่เติมเข้าไป เพื่อใช้ฝึกตนสำหรับผู้ออกบวชเท่านั้น ผิดวินัย จึงปลงอาบัติให้ตกได้ แต่ถ้าผิดศีลที่เกิดเป็นกรรม ปลงอาบัติได้ แต่กรรมไม่ได้หายไปไหน การศึกษาพระธรรม พุทธองค์แฝงแก่นแม้ไว้ ผู้ที่ศึกษาและพิจารณาด้วยปัญญาย่อมได้ความออกมาเหมือนกัน แต่หลายๆคน ปฎิบัติตามแบบไม่หาเหตุต้น ไม่สงใสว่า บัญญัติมาทำไม หลับหูหลับตาปฎิบัติ โดยที่ไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการปฎิบัตินั้นๆ แล้วจะค้นพบทางหลุดพ้นได้อย่างไร "เเล้วในพระไตรปิฎก มีกล่าวไว้ตรงไหนบ้าง!!! เพราะชาวพุทธเเท้ๆกึจะเอาพระไตรปิฎกเป็นมาตรฐาน ถ้านอกเหนือจากนั้น อาจจะตีความไปคนละทางสองทาง เพราะระดับสติปัญญาที่เเตกต่างกัน" แม้แต่พระไตรปิฏก สุดท้ายแล้วพุทธองค์ก็ทรงให้ละ อย่าไปยึดมั่นถือมั่น เป็นเพียงเรือที่พาเราข้ามฝั่ง ถึงฝั่งแล้ว จงอย่าแบกเรือไปด้วยให้หนัก การตีความในปิฏกให้เข้าใจท่องแท้ เปรียบเหมือนการศึกษาวิธีใช้เรือ ถ้าเรามีเรือแต่พายไม่เป็น ก็วนอยู่อย่างนั้น ไม่เกิดประโยชน์เลย ฉะนั้นมีเรือ ต้องพายให้เป็น "ศีลไม่ใช่สิ่งสมมตินะครับ ศีลเป็นอริยมรรค ส่วนที่เขาถือตัวถือตน อันนั้นคือ มานะ... สมมติ... คำๆนี้ใช้ต้องระวัง โดยเฉพาะสำหรับห้องสำหรับผู้เริ่มต้น ผู้เริ่มต้นจะมาคุยว่าสมมติสมแม็ตมันจะยุ่งเอา" ศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘ ก็ดี ยันศีล ๒๒๗ เป็นสมมุติทั้งสิ้นครับ เป็นสมมุติที่กำหนดให้เรายึดมั่น เพื่อวางตัว สำรวมในการกระทำ ที่จะทำให้เกิดกรรม สำหรับผู้ที่ยังตีแก่นแท้ไม่ออก ถ้าไปบอกว่า ไม่ให้ทำอะไรที่ เบียดเบียนคนอื่น หลายคนไม่เข้าใจ ยังคิดไม่ได้ เลยต้องบัญญัติ อย่างละเอียดแย้บยลว่า ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ห้ามๆๆๆๆๆๆๆ ซึ่งจริงๆแล้วทั้งหมดนั้น มันก็อยู่ในพื้นฐานแค่ แก่นศีล ๓ ข้อนั่นเอง บทความของผม อ่านแล้วใช้ปัญญาพิจารณา ถ้าเห็นว่าไม่ถูกก็ไม่เป็นไรครับ แต่ละคนมีระดับภูมิธรรมที่ต่างกัน เหมือนตำราการปฎิบัติ ผู้ที่ไม่เคยลงมือปฎิบัติ ย่อมอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ ต้องปฎิบัติควบคู่กันไป ปฎิบัติไปแล้ว สงใส ย้อนกลับมาอ่าน ก็จะเริ่มเข้าใจมากขึ้น เริ่มรู้ว่าที่เขาเขียนไว้ หมายถึงอะไร ที่ผมมาโพสที่ ห้องพุทธศาสนาเบื้องต้น ก็เพราะก่อนจะปฎิบัติ ทุกคนควรจะเข้าใจแก่นของมันให้ดีก่อน มิฉะนั้น หากปฎิบัติไปโดยไม่เข้าใจ จะไม่เกิดผล และพาหลงทาง
ถ้าพูดถุงแก่นแท้จริงๆ มีเพียงแค่ อริยสัจ ๔ ครับ คำสอน หลักการปฎิบัติอื่นๆ เป็นสมมุติ เป็นวิธีที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าใช้หยิบมาสอน หยิบมาตีกรอบการปฎิบัติของเรา ท่านไม่ได้สอนวิธีปฎิบัติใดๆ แต่สอนให้รู้ว่า ต้องปฎิบัติเพื่ออะไร และการปฎิบัติที่คิด พิจารณานั้นๆ นำไปสู่จุดหมายที่องค์ท่านชี้ไว้หรือไม่ เมื่อเรารู้ อริยสัจ ๔ เราก็รู้ ทุกข์ รู้เหตุ รู้ความดับทุกข์ รู้มรรค หลังจากนั้น การจะดับทุกข์อย่างไร ขึ้นอยู่กับเรา การจะทำนิพพานให้แจ้ง ก็ต้องปฎิบัติตาม มรรค ๘ ไม่ว่าเราจะปฎิบัติอย่างไร ถ้ายังตั้งอยู่บนสัมมาทิฎฐิ ปลายทางคือ ที่เดียวกัน "ปฎิบัติตามคำสอนกว่าจะสำเร็จก็นับหนึ่งเเล้ว ก็นับหนึ่งอีก ไม่รู้เมื่อไร จะเข้าไปในกระเเสพระนิพพาน" พุทธองค์ นับหนึ่งให้เรา เราเองที่จะเป็นผู้นับ สอง สาม และ สี่ ใครที่จะมามัวแต่นับ หนึ่ง ก็คือการย่ำอยู่กับที่ เปรียบได้กับการที่พุทธองค์สอนวิธีการก้าวเดิน แต่เราไม่กล้าที่จะเดิน เหมือนพุทธองค์ชี้ทางให้ แต่เราก็ไม่กล้ายอมไปทางนั้น ฉะนั้นการตีความหมายให้เข้าใจท่องแท้ในคำสอน คือการเริ่มทำความเข้าใจกับการก้าวเดินด้วยตนเอง พุทธองค์ไม่ได้เดินเคียงเราไปจนถึงฝั่ง ท่านเป็นผู้สอน ผู้ชี้ทาง เราตัวคนเดียวเท่านั้น ต้องพาตัวเองไปให้ถึง หากเราไม่นึกคิดพิจารณา ในคำสอนให้เข้าใจท่องแท้ ระหว่างทาง ย่อมมีอุปสรรคมากมาย เราก็มิอาจพิจารณาเองได้ว่า จะทำอย่างไรกับอุปสรรคเหล่านั้น ต้องย้อนกลับมาถามพุทธองค์อยู่ล่ำไป จำไว้ว่า พระธรรมคือเครื่องมือ พาเราไปส่ง คือเรือที่พาเราข้ามคลอง พุทธองค์ให้เรือเรามา สอนวิธีพายเรือใ้ห้เรา แต่หน้าที่เราคือ ต้องพายให้เป็น ไม่งั้นมันจะวนอยู่กับที่ และเมื่อพาตนเองไปถึงฝั่งแล้ว ก็ต้องละทิ้งสิ่งสมมุติทุกอย่างเสีย เรือที่เราพายมา ก็ไม่ต้องแบกไปด้วย คือในที่สุด แม้แต่พระธรรมคำสอน เราก็ต้องละ
รวมบทความ นั่งสมาธิแล้วได้อะไร(ประสบการณ์ตรงจากการบวชพระ1พรรษา) ก่อนปฎิบัติต้องทำความเข้าใจเรื่อง "ทาน ศีล ภาวนา รวมถึงการแผ่เมตตา และการอุทิศบุญ" วิธีฝึก วิธีคิด สำหรับผู้อยาก"บวชใจ" รักษาศีลให้บริสุทธิ์ที่สุดต้องรักษาให้ถึงใจ ความหมายแท้จริงของการทาน "เจ" วิธีฝึกจิต รับรู้สภาวะ