56. ...วัดกำแพง(คลองบางจาก) ธรรมดาซะที่ไหน...

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย สร้อยฟ้ามาลา, 4 กุมภาพันธ์ 2013.

  1. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ว่าด้วย ปัญหาแห่งบัณฑิต ๕ คน
    บัณฑิตทั้ง ๔ เหล่านั้นปรึกษากันอีกว่า บัดนี้ มโหสถบุตรคฤหบดีมียศใหญ่นัก เราจักทำอย่างไรดี. ลำดับนั้น เสนกะจึงกล่าวกะบัณฑิตทั้งสามว่า การที่เขามียศใหญ่นั้นยกไว้เถิด เราเห็นอุบายแล้ว. เราทั้ง ๔ จักไปหามโหสถถามว่า ควรบอกความลับแก่ใคร. ถ้าเขาจักบอกว่า ไม่ควรบอกแก่ใครไซร้. เราทั้งหลายจักทูลยุยงพระราชาว่า คฤหบดีบุตรผู้มีนามว่ามโหสถ เป็นข้าศึกของพระองค์. บัณฑิตทั้ง ๓ เห็นชอบด้วย. บัณฑิตทั้ง ๔ เหล่านั้น จึงไปเรือนมโหสถทำปฎิสันถารแล้วกล่าวว่า แน่ะบัณฑิต เราทั้ง ๔ ใคร่จะถามปัญหาท่าน. ครั้นมโหสถให้ถาม เสนกะจึงถามว่า บุคคลผู้เป็นบัณฑิต ควรตั้งอยู่ในธรรมอะไร. มโหสถตอบว่า ควรตั้งอยู่ในความจริง. เสนกะถามว่า ผู้ตั้งอยู่ในความจริงแล้วควรทำอะไร. มโหสถตอบว่า ควรให้ทรัพย์สมบัติเกิดขึ้น. เสนกะถามว่า ให้ทรัพย์สมบัติเกิดแล้ว ควรทำอะไร. มโหสถตอบว่า ควรคบมิตร. เสนกะถามว่า คบมิตรแล้วควรทำอะไรต่อไป. มโหสถตอบว่า ควรเรียนความคิดอ่านจากมิตร. เสนกะถามว่า เรียนความคิดอ่านจากมิตรแล้วควรทำอะไรอีก. มโหสถตอบว่า การได้ความคิดอ่านจากมิตรนั้น. ถ้าเป็นความลับ ไม่ควรบอกความลับของตนแก่ใคร. บัณฑิตทั้ง ๔ ก็รับว่าดีแล้ว. แล้วลากลับ เป็นผู้มีจิตยินดี คิดว่า บัดนี้เราทั้ง ๔ เห็นหลังมโหสถละ. แล้วไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มโหสถเป็นกบฏต่อพระองค์. พระเจ้าวิเทหราชตรัสห้ามว่า เราไม่เชื่อท่านทั้งหลาย มโหสถจักไม่เป็นกบฎต่อเรา. บัณฑิตทั้ง ๔ จึงกราบทูลว่า จริงนะ พระเจ้าข้า. ขอได้ทรงเชื่อ ก็ถ้าไม่ทรงเชื่อ จงตรัสถามเขาดูว่า ความลับของเขา เขาไม่ควรบอกแก่ใคร. ถ้าเขาจักไม่เป็นกบฏต่อพระองค์ เขาจักทูลว่า ควรบอกแก่คนชื่อนั้น. ถ้าเขาจักเป็นกบฏต่อพระองค์ เขาจักทูลว่า ไม่ควรบอกแก่ใครๆ ในเมื่อความปรารถนาสำเร็จจึงควรบอก. ในกาลนั้น พระองค์จักทรงเชื่อข้าพระองค์หมดสงสัย. พระราชาทรงรับจะทดลอง.
    วันหนึ่ง เมื่อบัณฑิตทั้ง ๕ มาพร้อมกันจึงตรัสคาถานี้ใน ปัญจปัณฑิตปัญหา ในวีสตินิบาตว่า
    ท่านทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิตทั้ง ๕ มาพร้อมกันแล้ว บัดนี้ปัญหาแจ่มแจ้งแก่เรา ท่านทั้งหลายจงฟังปัญหานั้น บุคคลควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญอันเป็นข้อความลับแก่ใคร.
    ครั้นพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว เสนกะคิดว่า เราจักให้พระราชาเข้าอยู่ในพวกเราด้วย จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    ข้าแต่พระภูมิบาล พระองค์จงตรัสเปิดเผยแก่เหล่าข้าพระองค์ก่อน พระองค์เป็นผู้ชุบเลี้ยง เป็นผู้ทรงอดทนต่อราชกรณียะอันหนัก จงตรัสก่อน. ข้าแต่พระจอมประชากร เหล่าข้าพระองค์ผู้เป็นนักปราชญ์ทั้ง ๕ จักพิจารณา สิ่งที่พระองค์พอพระราชหฤทัย และเหตุเป็นที่ชอบด้วยพระอัธยาศัย แล้วกราบทูลภายหลัง.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภตฺตา ความว่า พระองค์เป็นผู้ชุบเลี้ยงเหล่าข้าพระองค์ และเป็นผู้ทรงอดทนต่อพระราชภารกิจที่เกิดขึ้น. ขอพระองค์โปรดตรัสข้อนั้นก่อนเถิด. บทว่า ตว ฉนฺทรุจีนิ ความว่า บัณฑิต ๕ คนเหล่านี้พิจารณา สิ่งที่พระองค์พอพระราชหฤทัย และเหตุเป็นที่ชอบด้วยพระอัธยาศัยแล้ว จักกราบทูลในภายหลัง.
    ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสคาถานี้ ด้วยความเป็นผู้เป็นไปในอำนาจกิเลสของพระองค์ว่า
    ภรรยาใดมีศีลาจารวัตร ไม่ให้ผู้อื่นลักสัมผัส คล้อยตามอำนาจความพอใจของภัสดา เป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ. สามีควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับแก่ภรรยา.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนญฺเถยฺยา ความว่า อันผู้อื่นไม่พึงจับต้องด้วยอำนาจกิเลส.
    แต่นั้นเสนกะยินดีว่า บัดนี้ เราทั้งหลายยังพระราชาให้เข้าในพวกเราได้แล้ว. เมื่อจะแสดงเหตุการณ์ที่ตนทำไว้เอง จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    สหายใดเป็นที่ระลึก เป็นที่ถึง เป็นที่พึ่งของบุคคล ผู้ถึงความทุกข์เดือดร้อนอยู่. บุคคลควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับ แก่สหายนั้นเทียว.
    ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามปุกกุสะว่า แน่ะอาจารย์ปุกกุสะ ท่านเห็นอย่างไร ความลับของตนควรบอกแก่ใคร. ปุกกุสะเมื่อจะกราบทูล จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    พี่น้องชายใด ผู้เป็นพี่ใหญ่หรือพี่กลางหรือน้อง ถ้าว่าพี่น้องชายนั้นตั้งอยู่ในศีล เสพสิ่งที่ควรเสพ. บุคคลควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับแก่พี่น้องชายนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฐิตตฺโต ความว่า ดำรงสภาวะไว้ได้ คือเป็นผู้มีการเสพผิดออกแล้ว.
    แต่นั้น พระราชาตรัสถามกามินทะว่า แน่ะอาจารย์กามินทะ ท่านเห็น อย่างไร ความลับควรบอกแก่ใคร กามินทะเมื่อจะกราบทูลจึงกล่าวคาถานี้ว่า
    บุตรใดดำเนินตามใจบิดา เป็นอนุชาตมีปัญญาไม่ทรามกว่าบิดา. บิดาควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับแก่บุตรนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปตฺถคู ได้แก่ ผู้ทำตามถ้อยคำ อธิบายว่า บุตรที่ทำตามใจของเรา คือเป็นไปในอำนาจจิตของบิดา เป็นผู้อดทนต่อโอวาท. บทว่า อนุชาโต ความว่า บุตรมี ๓ ประเภท คือ อภิชาต ๑ อนุชาต ๑ อวชาต ๑. บุตรผู้ยังยศที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ชื่อว่าอภิชาต. บุตรที่เป็นเชื้อสายของสกุล เป็นผู้ตัดวงศ์สกุล ทำทรัพย์ให้พินาศ ชื่อว่าอวชาต. บุตรผู้รักษาแบบแผนของสกุล ประเพณีของสกุลไว้ได้ ชื่ออนุชาต. อาจารย์กามินทะกล่าวอย่างนี้ หมายถึงอนุชาตบุตรนั้น.
    แต่นั้น พระราชาตรัสถามเทวินทะว่า แน่ะอาจารย์เทวินทะ ท่านเห็นอย่างไร ความลับควรบอกแก่ใคร. เทวินทะเมื่อจะกราบทูล เหตุการณ์ที่ตนทำไว้. จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ประเสริฐที่สุดแห่งมนุษยนิกร มารดาใดเลี้ยงบุตรด้วยความพอใจรักใคร่. บุตรควรเปิดเผยข้อความที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ อันเป็นความลับแก่มารดานั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทฺวิปทชนินฺทเสฏฺฐ ได้แก่ จอมประชากรผู้ประเสริฐที่สุดของมนุษย์ทั้งหลาย. บทว่า ฉนฺทสา ปิเยน ได้แก่ ด้วยความพอใจและด้วยความรัก.
    พระราชาครั้นตรัสถามอาจารย์ ๔ คนเหล่านั้น ซึ่งกล่าวตอบไปอย่างนี้แล้ว. จึงตรัสถามมโหสถบัณฑิตว่า เจ้าเห็นอย่างไร พ่อบัณฑิต ความลับควรบอกแก่ใคร. มโหสถบัณฑิตเมื่อจะกราบทูลเหตุแห่งความลับ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    การซ่อนความลับไว้ นั่นแลเป็นการดี. การเปิดเผยความลับไม่ดีเลย. บุคคลผู้มีปรีชา เมื่อความปรารถนายังไม่สำเร็จก็พึงกลั้นไว้. เมื่อความปรารถนาสำเร็จแล้ว พึงกล่าวตามสบาย.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนิปฺผนฺนาย ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า สิ่งที่ตนปรารถนายังไม่สำเร็จเพียงใด. บัณฑิตพึงอดกลั้นไว้ ไม่พึงแจ้งแก่ใครๆ เพียงนั้น.
    เมื่อมโหสถบัณฑิตกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงเสียพระทัย. เสนกะแลดูพระพักตร์พระราชา. พระราชาก็ทอดพระเนตรหน้าเสนกะ. มโหสถบัณฑิตเห็น กิริยาแห่งเสนกะและพระราชา. ก็รู้ว่า อาจารย์ทั้ง ๔ นี้ได้ยุยง ในระหว่างเราและพระราชาไว้ก่อนแล้ว. พระราชาตรัสถามปัญญาเพื่อทดลองเรา. เมื่อพระราชาและราชบริษัทเจรจากันอยู่ ดวงอาทิตย์อัสดงคต เจ้าหน้าที่ตามประทีป. มโหสถดำริว่า ขึ้นชื่อว่าราชการเป็นของหนักย่อมไม่ปรากฏ ใครจะรู้เรื่อง อะไรจักมี. เราควรรีบกลับเสียก่อน. ดำริฉะนี้ จึงลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระราชาออกไป. คิดว่า ผู้หนึ่งกล่าวว่า ควรบอกความลับแก่สหาย. ผู้หนึ่งกล่าวว่า ควรบอกความลับแก่พี่น้องชาย. ผู้หนึ่งกล่าวว่า ควรบอกควาบลับแก่บุตร. ผู้หนึ่งกล่าวว่า ควรบอกความลับแก่มารดา. เราสำคัญว่า กิจนี้จักเป็นของคนเหล่านี้ได้ทำแล้วแน่ คนเหล่านี้คงกล่าวถึงกิจที่ตนเห็นแล้ว จงยกไว้เถิด เราจักรู้เหตุนี้ ในวันนี้. ฝ่ายราชบัณฑิตทั้ง ๔ ออกจากราชสำนักแล้ว ในวันอื่นๆ เคยนั่งที่หลังถังข้าวถังหนึ่งใกล้ประตูพระราชนิเวศน์ ปรึกษากันถึงกรณียกิจ แล้วจึงกลับไปบ้าน. เพราะเหตุนั้น มโหสถจึงดำริว่า วันนี้ เรานอนอยู่ภายใต้ถังข้าว ก็สามารถจะรู้ความลับของอาจารย์ทั้ง ๔ นั้น จึงให้คนใช้ยกถังข้าวนั้นแล้วให้ลาดเครื่องลาด แล้วเข้าอยู่ภายใต้ถังข้าวนั้น แล้วให้สัญญาแก่คนใช้ว่า ในเมื่ออาจารย์ทั้ง ๔ มานั่งปรึกษากันลุกไปแล้ว พวกเจ้าจงมานำข้าวออก. คนใช้เหล่านั้นรับคำสั่ง แล้วหลีกไป.
    ฝ่ายอาจารย์เสนกะทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า พระองค์ยังไม่ทรงเชื่อข้าพระบาทหรือ. บัดนี้ ข้อความนั้นเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า. พระราชาทรงสดับคำของพวกอาจารย์ผู้ยุยง ก็หาได้ทรงพิจารณาไม่ เป็นผู้ทั้งกลัวทั้งตกพระหฤทัย. จึงตรัสถามว่า แน่ะท่านเสนกบัณฑิต บัดนี้ เราจักทำประการไร. เสนกะจึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ควรที่พระองค์จะไม่ชักช้า อย่าทันให้มโหสถรู้ตัว แล้วฆ่าเสีย. พระราชาตรัสว่า แน่ะอาจารย์เสนกะ ยกท่านเสียแล้ว คนอื่นชื่อว่า เป็นผู้ใคร่ความเจริญแก่เราย่อมไม่มี. ท่านจงชวนสหายของท่านคอยอยู่ที่ภายในประตู. เมื่อมโหสถบุตรคฤหบดีมาสู่ราชสำนักแต่เช้า จงตัดศีรษะเสียด้วยพระแสงขรรค์. ดำรัสสั่งฉะนี้แล้ว พระราชทานพระแสงขรรค์รัตนะที่ทรง. อาจารย์ทั้ง ๔ นั้นกราบทูลว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า. ขอพระองค์อย่าทรงเกรงกลัวเลย พวกข้าพระบาทจักฆ่ามโหสถนั้นเสียให้จงได้. ทูลฉะนี้ แล้วออกมานั่งที่หลังถังข้าว. รำพึงกันว่า พวกเราเห็นหลังปัจจามิตรแล้ว.
    แต่นั้น เสนกะจึงเอ่ยขึ้นว่า ใครจักฆ่ามโหสถ. อาจารย์ทั้ง ๓ จึงตอบว่า ท่านอาจารย์นั่นแลจักฆ่าได้. แล้วทำกิจนั้นให้เป็นภาระของเสนกะนั้นผู้เดียว. ลำดับนั้น เสนกะจึงถามอาจารย์ทั้ง ๓ ว่า ท่านทั้ง ๓ กล่าวว่า ชื่อว่าความลับควรบอกแก่บุคคลชื่อโน้นๆ ดังนี้. กิจนั้นท่านทั้ง ๓ ได้ทำแล้ว หรือเห็นแล้ว หรือได้สดับแล้วอย่างไร. ลำดับนั้น อาจารย์ทั้ง ๓ กล่าวกะเสนกะว่า ข้าแต่อาจารย์ กิจที่ท่านกล่าวว่า ความลับควรบอกแก่สหายนั้นเป็นของปรากฏแล้ว. กิจนั้นท่านทำแล้ว หรือเห็นแล้ว หรือได้ฟังแล้วอย่างไรเล่า กิจนั้นเราได้ทำเอง. ข้าแต่อาจารย์ ถ้ากระนั้นท่านจงกล่าวให้ทราบ ความลับนี้พระราชาทรงทราบแล้ว ชีวิตของเราจะไม่มี. ข้าแต่อาจารย์ ท่านอย่ากลัวเลย บุคคลผู้ทำลายความลับของเราทั้งหลายในที่นี้ไม่มี. ขอจงกล่าวให้ทราบเถิด เสนกะเอาเล็บเคาะถังข้าวว่า มโหสถอยู่ใต้ถังข้าวนี้กระมัง อาจารย์ทั้ง ๓ ตอบว่า มโหสถเป็นคนเมาอิสริยยศ คงไม่เข้าไปอยู่ในที่เช่นนี้. บัดนี้จักเป็นคนเมายิ่งด้วยยศ ท่านเห็นซึ้งไปได้.
    ฝ่ายเสนกะ เมื่อจะบอกความลับของตน จึงกล่าวว่า ท่านทั้ง ๓ รู้จักหญิงแพศยาชื่อโน้น ในนครนี้หรือ. ข้าพเจ้าทั้ง ๓ ทราบ. บัดนี้ นางคนนั้นยังปรากฏอยู่ หรือหายไปไม่พบเลย ท่านอาจารย์. เสนกะจึงแจ้งว่า เราทำกิจของบุรุษกับด้วยนางคนนั้นในสวนไม้รัง แล้วยังนางคนนั้นให้ตาย ด้วยโลภในเครื่องประดับ. แล้วนำเครื่องประดับของนางนั้นมาห่อด้วยผ้าสาฎก แล้วแขวนไว้บนไม้รูปเหมือนงาช้างในห้องเรือนของเรา. เรายังไม่อาจจะใช้เครื่องประดับนั้น เห็นความที่เครื่องประดับนั้นเป็นของเก่า. เราทำความผิดพระราชกำหนดอย่างนี้ ได้บอกแก่สหายคนหนึ่ง สหายคนนั้นมิได้บอกแก่ใคร. ด้วยเหตุนี้ เราจึงกล่าวว่า เราได้บอกความลับแก่สหาย. มโหสถเริ่มตั้งใจ กำหนดความลับของเสนกะไว้เป็นอย่างดี.
    ฝ่ายปุกกุสะ เมื่อจะบอกความลับของตน จึงกล่าวว่า โรคเรื้อนมีที่ขาของข้าพเจ้า. น้องชายน้อยของข้าพเจ้าเท่านั้นรู้ ข้าพเจ้าไม่ให้ใครๆ รู้. ชำระแผลนั้นทายา พันผ้าทับแผล. พระราชามีพระหฤทัยกรุณาในข้าพเจ้า ตรัสเรียกข้าพเจ้าว่า ปุกกุสะจงมา แล้วบรรทมที่ขาของข้าพเจ้าบ่อยๆ. ก็ถ้าราชาทรงทราบเรื่องนี้ พึงประหารชีวิตข้าพเจ้า. ยกน้องชายน้อยคนนั้นของข้าพเจ้าเสีย คนอื่นไม่รู้เลย. ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าบอกความลับแก่น้องชายน้อย.
    ฝ่ายกามินทะ เมื่อจะแสดงความลับของตน จึงกล่าวว่า ในวันอุโบสถข้างแรม ยักษ์ชื่อนรเทวะ มาสิงข้าพเจ้า. ข้าพเจ้าก็ร้องดุจสุนัขบ้าร้อง ข้าพเจ้าได้แจ้งเนื้อความนี้แก่บุตร. บุตรของข้าพเจ้ารู้ว่า ยักษ์มาสิงข้าพเจ้า. ก็ให้ข้าพเจ้านอนในห้องข้างใน ปิดประตู ออกไปให้มีมหรสพที่ประตู เพื่อกลบเสียงของข้าพเจ้า. ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าบอกความลับแก่บุตร.
    แต่นั้นอาจารย์ทั้ง ๓ จึงถามเทวินทะ. เทวินทะ เมื่อจะกล่าวความลับของตน จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าทำการขัดสีแก้วมณี มีแก้วมณีเป็นมงคล เป็นที่เข้าอยู่แห่งสิริ เป็นของหลวง. ซึ่งท้าวสักกเทวราชประทานพระเจ้ากุสราชไว้. ข้าพเจ้าลักเอามงคลมณีรัตน์นั้นมาให้มารดา มารดานั้นไม่ให้ใครรู้. ถึงเวลาข้าพเจ้าจะเข้าเฝ้าพระราชา ก็ให้มงคลมณีรัตน์แก่ข้าพเจ้า. ข้าพเจ้ายังสิริให้อยู่ในตัวข้าพเจ้า ด้วยอำนาจแห่งมงคลมณีรัตน์นั้น จึงเข้าไปสู่ราชสำนัก. พระราชาไม่ตรัสแก่ท่านทั้งหลาย ตรัสกับข้าพเจ้าก่อนกว่าใครๆ แล้วพระราชทานกหาปณะ ๘ กหาปณะบ้าง. ๑๖ กหาปณะบ้าง. ๓๒ กหาปณะบ้าง. ๖๔ กหาปณะบ้าง แก่ข้าพเจ้าเพื่อเป็นเสบียงได้เลี้ยงชีพทุกวัน. ถ้าพระราชาทรงทราบอานุภาพมณีรัตน์นั้นไซร้ ชีวิตของข้าพเจ้าก็จะไม่รอดอยู่. ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าบอกความลับแก่มารดา.
    พระมหาสัตว์ได้ทำความลับของอาจารย์ทั้ง ๔ ให้ประจักษ์ ก็อาจารย์ทั้ง ๔ นั้นแจ้งความลับแก่กันแลกัน ราวกะบุคคลผ่าอกของตน แผ่อวัยวะภายในออกมาภายนอก. แล้วเตือนกันว่า ท่านทั้งหลายอย่าประมาท มาช่วยกันฆ่ามโหสถ บุตรคฤหบดีแต่เช้า. กำชับกันดังนี้ แล้วต่างลุกขึ้นหลีกไป. ในกาลเมื่ออาจารย์ทั้ง ๔ ไปแล้ว คนใช้ของมโหสถที่นัดหมายกันไว้ ก็มายกถังข้าว พาพระมหาสัตว์ออกหลีกไป. พระโพธิสัตว์กลับถึงเคหสถาน อาบน้ำ แต่งกาย บริโภคโภชนาหารแล้วรู้ว่า วันนี้ พระนางอุทุมพรเทวีผู้เชษฐภคินีของเรา คงประทานข่าวมาแต่พระราชวัง. จึงวางบุรุษพิเศษไว้ที่ประตูสั่งว่า เจ้าจงให้คนมาแต่พระราชวังเข้ามา แล้วบอกแก่เราโดยเร็ว. ก็แลครั้นสั่งฉะนั้นแล้วก็นอน ณ ที่นอนมีสิริ.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 กุมภาพันธ์ 2013
  2. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ขณะนั้น พระเจ้าวิเทหราชบรรทม ณ ที่บรรทมอันมีสิริ ทรงอนุสรณ์ถึงคุณของมโหสถว่า มโหสถบัณฑิตบำรุงเรามาตั้งแต่เขามีอายุได้ ๗ ปี. ไม่ได้ทำความเสียหายหน่อยหนึ่งแก่เรา. เมื่อเทวดาถามปัญหา ถ้าจักไม่มีมโหสถไซร้ ชีวิตของเราก็จะไม่พึงมี. เรามาถือเอาคำของปัจจามิตรผู้มีเวร แล้วกล่าวสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงฆ่ามโหสถผู้มีธุระหาผู้เสมอมิได้ ฉะนี้. แล้วให้พระขรรค์ เป็นอันว่าเราทำสิ่งที่ไม่ควรทำ. บัดนี้แต่พรุ่งนี้ไป เราจักไม่ได้เห็นมโหสถอีก. ทรงรำพึงฉะนี้ก็ยังความโศกให้เกิดขึ้น พระเสโทไหลโซมพระกาย. พระราชานั้นเต็มไปด้วยความโศก ก็ไม่ทรงได้ความผ่องใสแห่งพระมนัส. พระนางอุทุมพรเทวีเสด็จไปบรรทมร่วมกับพระราชสามี ทอดพระเนตรเห็นพระอาการของพระราชสามี. ทรงดำริว่า เป็นไฉนหนอ ความผิดอย่างไรของเรามีอยู่ หรือเหตุการณ์แห่งความโศกอย่างไรอื่น เกิดขึ้นแก่พระองค์. เราจักทูลพระองค์ก่อน เมื่อจะทูลถาม จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐที่สุด พระองค์เป็นผู้มีพระมนัสวิปริตไปอย่างไรหรือ. ข้าแต่พระจอมประชากร ข้าพระบาทจะฟังพระดำรัสข้อนั้นของพระองค์. พระองค์ทรงพระดำริอย่างไรหรือจึงทรงโทมนัส ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ความผิดของข้าพระบาทไม่มีเลยหรือ พระเจ้าข้า.
    ลำดับนั้น พระราชาตรัสคาถาตอบพระนางว่า
    มโหสถผู้มีปัญญาจะถูกฆ่า เพราะมโหสถผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน. เราบังคับสั่งเพื่อฆ่าแล้ว. เราคิดถึงเรื่องนั้นจึงเป็นผู้โทมนัส. แน่ะพระเทวี ความผิดของเธอไม่มีเลย.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาณตฺโต เม ความว่า แน่ะนางผู้เจริญ บัณฑิตทั้ง ๔ บอกแก่เรา มโหสถบัณฑิตเป็นศัตรูของเรา. เราไม่ได้พิจารณาโดยถ่องแท้ สั่งฆ่ามโหสถผู้มีปัญญาดังแผ่นดินว่า พวกท่านจงฆ่าเขาเสีย. เมื่อเราคิดถึงการณ์นั้น จึงมีความโทมนัสว่า เราตายเสียดีกว่ามโหสถบัณฑิตตาย.
    ความโศกสักเท่าภูเขาเกิดขึ้นแก่พระนางอุทุมพร ด้วยความรักในพระมหาสัตว์ เพราะได้ทรงสดับพระราชาตรัสฉะนั้น. แต่นั้น พระนางจึงทรงคิดว่า เราจักยังพระราชาให้ทรงอุ่นพระหฤทัยด้วยอุบายหนึ่ง. ในกาลเมื่อพระราชาบรรทมหลับ เราจักส่งข่าวไปยังมโหสถผู้กนิษฐภาดาของเรา. ลำดับนั้น พระนางจึงกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์ผู้ยังมโหสถให้ดำรงอยู่ในอิสริยยศใหญ่. ภายหลังมาทรงทำการดังนี้แก่เขาจะเป็นไรไป แล้วทูลเล้าโลมพระราชาว่า พระองค์ทรงสถาปนามโหสถในตำแหน่งเสนาบดี. ได้ยินว่า บัดนี้ เธอคิดกบฏต่อพระองค์ ก็บุคคลผู้ปัจจามิตร มิใช่เป็นคนเล็กน้อยเลย. พระองค์ควรประหารชีวิตเขาเสียทีเดียว. ขอพระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย พระราชามีความโศกเบาบางก็หยั่งลงสู่นิทรารมณ์. ขณะนั้น พระราชเทวีเสด็จลุกขึ้นเข้าสู่ห้อง ทรงพระอักษรมีความว่า ดูก่อนมโหสถ บัณฑิตทั้ง ๔ ทำลายเธอให้แตกกับพระราชา. พระราชากริ้ว ตรัสสั่งบัณฑิตทั้ง ๔ ให้ฆ่าเธอที่ประตูพระราชวังเวลาพรุ่งนี้ พรุ่งนี้เธออย่ามาสู่ราชสำนัก. ถ้าจะมาก็พึงเป็นผู้สามารถทำชาวพระนคร ให้อยู่ในเงื้อมมือเธอแล้วพึงมา. ทรงพระอักษรมีความฉะนี้ แล้วสอดเข้าในห่อ เอาด้ายพันห่อแล้ว วางในสุพรรณภาชน์ใหม่ปิดฝา ประทับพระลัญจกรประทานแก่นางข้าหลวง ผู้ประพฤติประโยชน์ตรัสสั่งว่า เจ้าจงนำห่อนี้ไปให้แก่ มโหสถบัณฑิตผู้น้องชายน้อยของเรา. นางข้าหลวงได้ทำตามคำสั่ง อันใครๆ ไม่ควรคิดว่า ทำไมนางข้าหลวงออกจากตำหนักข้างใน ในเวลากลางคืนได้. เพราะว่า พระราชาพระราชทานพรแก่พระนางไว้ก่อนแล้ว ให้พระนางใช้ใครนำของเสวยอันมีรสออกไปให้มโหสถ ได้ตามประสงค์. เพราะฉะนั้น ใครๆ จึงไม่ห้ามนางข้าหลวงนั้น. พระโพธิสัตว์รับพระสุพรรณภาชน์แล้วให้นางข้าหลวงนั้นกลับ. นางข้าหลวงก็ลากลับมา. ทูลความที่ตนให้พระสุพรรณภาชน์แก่มโหสถแล้วแด่พระนาง. ขณะนั้น พระนางจึงเสด็จมาบรรทมกับพระราชสามี. ฝ่ายพระโพธิสัตว์แก้ห่อหนังสือออก อ่านรู้ความนั้นแล้ว. จัดกิจที่จะพึงทำแล้วเข้านอน.
    ฝ่ายอาจารย์ทั้ง ๔ ถือพระแสงขรรค์ ยืนอยู่ภายในประตูวัง แต่เช้า. เมื่อไม่เห็นมโหสถมาก็เสียใจ ไปเฝ้าพระราชา. ครั้นตรัสถามว่า เป็นอย่างไร. ท่านทั้งหลายฆ่ามโหสถแล้วหรือ. จึงกราบทูลว่า ไม่เห็นมโหสถมา พระเจ้าข้า. ฝ่ายพระมหาสัตว์ พออรุณขึ้นก็สนานกายด้วยน้ำหอม ประดับกายด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง บริโภคโภชนะอันเลิศ ชำระสรีรกิจแล้ว. ทำชาวพระนครให้อยู่ในเงื้อมมือแล้ว ตั้งการรักษาในที่นั้นๆ เป็นผู้อันมหาชนห้อมล้อม ขึ้นรถไปสู่ประตูวังด้วยยศใหญ่. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชให้เปิดพระแกล ประทับยืนทอดพระเนตรอยู่. ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ลงจากรถ ถวายบังคมบรมกษัตริย์ แล้วยืนอยู่. พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยาของมโหสถทรงดำริว่า ถ้ามโหสถเป็นข้าศึกแก่เรา ที่ไหนเขาจะพึงไหว้เรา. ลำดับนั้น ก็ตรัสให้เรียกมโหสถมาเฝ้า แล้วเสด็จประทับ ณ พระราชอาสน์. ฝ่ายมโหสถถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ส่วนหนึ่ง. บัณฑิตทั้ง ๔ ก็นั่งอยู่ที่นั่น. ลำดับนั้น พระราชาเป็นเหมือนไม่ทรงทราบอะไร. ตรัสถามมโหสถว่า แน่ะพ่อมโหสถ เมื่อวานนี้ เจ้ากลับบ้านแต่ยามแรก เจ้าพึ่งมาเดี๋ยวนี้ เจ้าสละเสียอย่างนี้ เพราะอะไร. ตรัสฉะนี้แล้ว ได้ตรัสคาถานี้ว่า
    เจ้าไปบ้านแต่หัวค่ำ มาเอาบัดนี้ ใจของเจ้ารังเกียจเพราะได้ฟังอะไรหรือ. ดูก่อนเจ้าผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน ใครได้พูดอะไรแก่เจ้า เราจะฟังเจ้าบอกเรื่องของเจ้า เจ้าจงบอกเรื่องนั้นแก่เรา.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิโทสคโต ความว่า ดูก่อนพ่อมโหสถบัณฑิต เมื่อวานเจ้าไปบ้านแต่หัวค่ำ คือปฐมยาม. บทว่า อิทานิ เอสิ ความว่า บัดนี้มาด้วยอิสริยยศ. บทว่า กิมาสงฺกิเต ได้แก่ รังเกียจอะไร. บทว่า กิมโวจ ความว่า ใครๆ ได้กล่าวกะเจ้าว่า อย่าไปเฝ้าพระราชาหรือ. พวกเราจะฟังคำของเจ้านั้น เชิญเจ้าบอก คือแจ้งการณ์นั้นแก่เรา.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลเตือนพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ถือเอาคำบัณฑิตทั้ง ๔ แล้วมีพระราชาณัติให้ฆ่าข้าพระบาท. ด้วยเหตุนั้น ข้าพระบาทจึงยังไม่มา. ทูลฉะนี้ แล้วได้กล่าวคาถานี้ว่า
    มโหสถผู้มีปัญญาจะถูกฆ่า ข้าแต่พระปิ่นประชากร กาลใด พระองค์เสด็จอยู่ในที่ลับได้ตรัส ข้อความลับที่รับสั่งแก่อาจารย์ทั้ง ๔ กับพระนางอุทุมพร เมื่อหัวค่ำ. ข้อความลับอย่างนั้นของพระองค์ พระองค์ได้เปิดเผยแล้ว ก็ข้อความลับนั้นอันข้าพระบาทได้ฟังแล้ว ในกาลนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทิ เต ได้แก่ กาลใดพระองค์. บทว่า มนฺตยิตํ ได้แก่ ตรัสแล้ว. บทว่า เทสํ ความว่า หัวค่ำ คือตอนกลางคืน. ถามว่า ตรัสแก่ใคร ตอบว่า แก่พระอัครมเหสี ด้วยว่าพระองค์ประทับอยู่ในที่ลับ ได้ตรัสข้อความนี้แก่พระอัครมเหสีนั้น. บทว่า คุยฺหํ ปาตุกตํ ความว่า ความลับของพระองค์เห็นปานฉะนี้ พระองค์ทรงทำให้ปรากฏแล้ว. บทว่า สุตํ มเมตํ ความว่า มโหสถโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ก็ความลับนั้นข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว ในขณะนั้นทีเดียว.
    พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของมโหสถ ก็ทรงพระพิโรธด้วยทรงเห็นว่า นางอุทุมพรจักส่งข่าวไปขณะนั้นเอง. จึงทอดพระเนตรดูพระราชเทวี. มโหสถรู้กิริยานั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทรงพิโรธพระราชเทวีทำไม. ข้าพระองค์ทราบเหตุการณ์ อดีต อนาคต และปัจจุบันทั้งสิ้น. พระนางตรัสความลับของพระองค์แก่ข้าพระองค์ จงยกไว้ก่อน. ความลับของเสนกะและปุกกุสะเป็นต้น ใครแจ้งแก่ข้าพระองค์เล่า. ปัญหาของกิ้งก่า ใครบอกแก่ข้าพระองค์. และปัญหาของเทวดาใครบอกแก่ข้าพระองค์เล่า. ข้าพระองค์ทราบ ความลับของชนเหล่านี้ก่อนแล้วทีเดียว. เมื่อจะทูลความลับของเสนกะก่อน จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
    เสนกะได้ทำกรรมลามกไม่ใช่กรรมดีอันใด คือฆ่าหญิงแพศยานางหนึ่งในสวนไม้รัง ในนครนี้เอง. แล้วถือเอาเครื่องประดับ ห่อด้วยผ้าสาฎกเก็บไว้ในเรือนของตน. อยู่ในที่ลับได้แจ้งเรื่องนี้แก่สหายคนหนึ่ง. กรรมลามกอันเป็นความลับของตนเห็นปานนี้ อันเสนกะทำให้ปรากฏแล้ว ความลับนี้ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสพฺภิรูปํ ความว่า เสนกะได้กระทำอกุศลกรรม อันลามกไม่ใช่กรรมดี คือฆ่าหญิงแพศยาชื่อโน้น ในสวนไม้รัง ในนครนี้เอง. แล้วถือเอาเครื่องประดับ ห่อด้วยผ้าสาฎกของหญิงนั้นแหละ เก็บไว้ในที่โน้นในเรือนของตน. บทว่า สขิโนว รโหคโต อสํสิ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ครั้งนั้น เสนกะอยู่ในที่ลับได้บอกเรื่องนั้นแก่สหายคนหนึ่ง เรื่องแม้นั้นข้าพระองค์ก็ได้ฟังแล้ว. ข้าพระองค์มิได้คิดกบฏต่อสมมติเทพ. เสนกะนั่นแหละเป็นผู้คิดกบฏ. ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์ด้วยคนกบฏ จงโปรดให้จับเสนกะ.
    พระราชาทอดพระเนตรดูเสนกะแล้วมีราชกระทู้ถามว่า จริงหรือ. เสนกะก็ได้ทรงรับกราบทูลตอบว่า จริง พระเจ้าข้า. จึงรับสั่งให้จำเสนกะในเรือนจำ. ฝ่ายมโหสถ เมื่อจะกราบทูลข้อความลับของปุกกุสะ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    ข้าแต่พระจอมประชากร โรคเรื้อนเกิดขึ้นแก่ปุกกุสะ เป็นโรคที่ไม่สมควรจะใกล้ชิดพระราชา. ปุกกุสะอยู่ในที่ลับได้แจ้งแก่น้องชายน้อย. ความที่ปุกกุสะเป็นโรคเรื้อน เป็นข้อความลับเห็นปานนี้ อันปุกกุสะได้ทำให้ปรากฏแล้ว. ความลับนี้ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อราชปฺปตฺโต ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า โรคเรื้อนเกิดขึ้นแก่ปุกกุสะนั้น เป็นโรคที่ไม่สมควรจะใกล้ชิด คือไม่ควรจะถูกต้องพระราชา. พระองค์บรรทมที่ขาของปุกกุสะบ่อยๆ ด้วยเข้าพระหฤทัยว่า ขาของปุกกุสะอ่อน. ที่แท้ขาของปุกกุสะนั้นมีสัมผัสอ่อน เพราะผ้าพันแผล พระเจ้าข้า.
    พระราชาทอดพระเนตรดูปุกกุสะแล้ว ตรัสถามว่า จริงหรือปุกกุสะ. ครั้นได้ทรงสดับรับสารภาพว่าจริง จึงรับสั่งให้เอาตัวเข้าเรือนจำ. มโหสถบัณฑิต เมื่อจะกราบทูลความลับของกามินทะ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    กามินทะอันอาพาธซึ่งลามก กล่าวคือยักษ์ชื่อนรเทวะ สิงแล้วเป็นเหมือนสุนัขบ้าร้องอยู่. กามินทะอยู่ในที่ลับ ได้แจ้งความลับนี้แก่บุตร. ความลับเห็นปานนี้ อันกามินทะทำให้ปรากฏแล้ว. ความลับนี้ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสพฺภิรูโป ความว่า กามินทะนั้นอันอาพาธใดถูกต้อง .แล้วร้องเหมือนสุนัขบ้า อาพาธนั้น คือยักษ์นรเทวะสิง เป็นอาพาธต่ำช้าลามก. กามินทะอันอาพาธนั้นถูกต้องแล้ว ไม่สมควรเข้าไปสู่ราชสกุล พระเจ้าข้า.
    พระราชาทอดพระเนตรดูกามินทะแล้วตรัสถามว่า จริงหรือกามินทะ. กามินทะทูลรับสารภาพ จึงตรัสสั่งให้นำกามินทะเข้าสู่เรือนจำ. ฝ่ายมโหสถบัณฑิต เมื่อจะกราบทูลความลับของเทวินทะ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    ท้าวสักกเทวราชได้ประทานมณีรัตนะอันโอฬารมี ๘ คดแด่พระเจ้ากุสราช ผู้เป็นพระอัยยกาของพระองค์. มณีรัตนะนั้นเดี๋ยวนี้ตกถึงมือเทวินทะ ก็เทวินทะอยู่ในที่ลับได้แจ้งแก่มารดา. ข้อความลับเห็นปานนี้ อันเทวินทะทำให้ปรากฏแล้ว. ความลับนี้ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิตามหสฺส ได้แก่ พระเจ้ากุสราชผู้เป็นพระอัยยกาของพระองค์. บทว่า ตทชฺช หตฺถํ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มณีรัตนะซึ่งสมมติว่าเป็นมงคลนั้น เดี๋ยวนี้ตกถึงมือของเทวินทะแล้ว.
    พระราชาตรัสถามเทวินทะว่า จริงหรือเทวินทะ. ครั้นเทวินทะกราบทูลสารภาพว่าจริง จึงโปรดให้ส่งเทวินทะเข้าเรือนจำ. อาจารย์ทั้ง ๔ ตั้งใจจะฆ่ามโหสถ กลับต้องเข้าเรือนจำเองทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้.
    พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์กราบทูลว่า อันบุคคลไม่ควรบอกความลับของตนแก่บุคคลอื่น ด้วยเหตุนี้. อาจารย์ทั้ง ๔ กราบทูลว่า ควรบอก ก็ถึงความพินาศใหญ่. เมื่อจะแสดงธรรมให้ยิ่ง ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
    การซ่อนความลับไว้นั่นแหละดี การเปิดเผยความลับไม่ประเสริฐเลย. บุคคลผู้มีปัญญา ในเมื่อข้อความลับยังไม่สำเร็จ พึงอดทนไว้. ข้อความลับสำเร็จแล้ว พึงกล่าวตามสบาย.
    บุคคลไม่ควรเปิดเผยข้อความลับเลย ควรรักษาข้อความลับนั้นไว้ ดุจบุคคลรักษาขุมทรัพย์ ฉะนั้น. ข้อความลับอันบุคคลผู้รู้แจ้ง ไม่ทำให้ปรากฏนั่นแลดี. บัณฑิตไม่ควรบอกความลับแก่สตรี และแก่คนไม่ใช่มิตร กับอย่าบอกความในใจแก่บุคคลที่อามิสลากไป และแก่คนไม่ใช่มิตร.
    ผู้มีปรีชาย่อมอดทนต่อคำด่าคำบริภาษ และการประหารแห่งบุคคลผู้รู้ข้อความลับซึ่งผู้อื่นไม่รู้ เพราะกลัวแต่แพร่ความลับที่คิดไว้. ประหนึ่งคนเป็นทาส อดทนต่อคำด่าเป็นต้นแห่งนาย ฉะนั้น. ชนทั้งหลายรู้ความลับที่ปรึกษากันของบุคคลผู้หนึ่ง เพียงใด. ความหวาดสะดุ้งของบุคคลนั้นย่อมเกิดขึ้น เพียงนั้น. เพราะเหตุนั้น ผู้ฉลาดไม่ควรสละความลับ.
    บุคคลกล่าวความลับในเวลากลางวัน พึงหาโอกาสที่เงียบ. เมื่อจะพูดความลับในเวลาค่ำคืน อย่าปล่อยเสียงให้เกินเขต. เพราะว่า คนแอบฟังความ ย่อมจะได้ยินความลับที่ปรึกษากัน. เพราะฉะนั้น ความลับที่ปรึกษากันจะถึงความแพร่งพรายทันที.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ถิยา แปลว่า แก่สตรี. บทว่า อมิตฺตสฺส จ ความว่า ไม่ควรบอกแก่ศัตรู. บทว่า สํหีโร ความว่า ก็บุคคลใดถูกอามิสอย่างใดอย่างหนึ่งลากไป คือถึงการพูดชักชวนและสงเคราะห์ ไม่พึงบอกความลับแก่บุคคลแม้นั้น. บทว่า หทยตฺเถ โน ความว่า ก็บุคคลใดไม่ใช่มิตร เป็นมิตรเทียม ปากพูดอย่างหนึ่ง ใจคิดอย่างหนึ่ง. ไม่พึงบอกแก่บุคคลแม้นั้น. บทว่า อสมฺพุทธํ ได้แก่ อันผู้อื่นไม่รู้ ปาฐะว่า อสมฺโพธํ ก็มี ความว่า ไม่ควรให้ผู้อื่นรู้. บทว่า ติติกฺขติ ความว่า ย่อมอดกลั้นคำบ้าง คำบริภาษบ้าง การประหารบ้างเสมือนทาส. บทว่า มนฺตินํ ความว่า ผู้มีความรู้ทั้งหลายย่อมรู้ข้อที่ปรึกษากันนั้น ในระหว่างผู้มีความรู้ทั้งหลายเพียงใด. บทว่า ตาวนฺโต ความว่า ความหวาดสะดุ้งของบุคคลนั้นเพียงนั้น. นั้นย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยผู้รู้ความลับแม้เหล่านั้น. บทว่า น วิสฺสเช ความว่า ไม่พึงสละ คือไม่ควรให้ผู้อื่นรู้. บทว่า วิวิจฺจ ความว่า ถ้าต้องการจะปรึกษาความลับในกลางวัน พึงปรึกษาในที่ปกปิดให้ทำโอกาสให้เงียบ. บทว่า นาติเวลํ ความว่า ก็เมื่อพูดความลับในราตรี ไม่พึงทำเสียงดังเปล่งเสียงเกินเวลา คือเกินขอบเขต. บทว่า อุปสฺสูติกา ได้แก่ ชนผู้ฟังเข้าไปสู่สถานที่ปรึกษายืนอยู่ที่นอกฝาเป็นต้น. บทว่า ตสฺมา ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ด้วยเหตุนั้น ความลับที่ปรึกษากันนั้นจะถึงความแพร่งพรายทันทีทีเดียว.
    พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับ ถ้อยคำแห่งมโหสถ ก็ทรงพิโรธว่า อาจารย์เหล่านี้ปองร้ายกันเอง มาลงเอามโหสถว่าเป็นผู้ปองร้ายเรา. จึงมีพระราชดำรัสสั่งราชบุรุษว่า พวกเจ้าจงไป จงนำอาจารย์ทั้ง ๔ นั้น ออกจากพระนคร ให้นอนหงายบนหลาว แล้วตัดศีรษะเสีย. เมื่ออาจารย์ทั้ง ๔ อันราชบุรุษมัดมือไพล่หลัง เฆี่ยนด้วยไม้เรียวร้อยทีคราวละ ๔ คราวละ ๔ แล้วนำไปสู่ประหารชีวิต. มโหสถกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ อาจารย์เหล่านี้เป็นอมาตย์เก่าของพระองค์. ขอพระองค์ทรงงดโทษแก่อาจารย์เหล่านี้. พระราชาพระราชทานอนุญาต. แล้วให้เรียกอาจารย์ทั้ง ๔ มา ตรัสสั่งยกให้เป็นทาสแห่งมโหสถ. ก็แต่มโหสถทูลยกให้เป็นไทในเวลานั้น นั่นเอง. พระราชาตรัสสั่งให้ขับไล่อาจารย์ทั้ง ๔ จากพระราชอาณาจักร. มโหสถทูลขอพระราชทานโทษว่า ขอได้โปรดอดโทษแก่คนอันธพาลเหล่านั้น ขอให้ทรงยกย่องอยู่ในฐานันดรนั้น. พระราชาทรงเลื่อมใสในมโหสถเกินเปรียบ ด้วยทรงดำริว่า มโหสถได้มีเมตตาเห็นปานนี้ ในเหล่าปัจจามิตร. มโหสถจักไม่มีเมตตาเห็นปานนี้ ในชนเหล่าอื่นอย่างไร. จำเดิมแต่นั้น นักปราชญ์ทั้ง ๔ เป็นผู้หมดพยศ ดุจงูถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว ไม่อาจจะกล่าวอะไรอีก.
    จบ ปัญหาบัณฑิต ๕
    จบ ปริภินทกถา
     
  3. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    ว่าด้วย มหาอุมมังคกัณฑ์

    จำเดิมแต่กาลนั้นมา มโหสถบัณฑิตถวายอนุศาสน์อรรถธรรมแด่พระเจ้ากรุงมิถิลา มโหสถคิดว่า ก็เราดูแลเศวตฉัตรอันเป็นราชสมบัติของพระราชา ควรที่เราจะไม่ประมาท ดำริฉะนี้ จึงให้ทำกำแพงใหญ่ในพระนครและให้ทำกำแพงน้อยอย่างนั้น ทั้งหอรบที่ประตูและที่ระหว่างๆ ให้ขุดคู ๓ คู คือคูน้ำ คูเปือกตม คูแห้ง ให้ซ่อมแซมเรือนเก่าๆ ภายในพระนคร ให้ขุดสระโบกขรณีใหญ่ ให้ฝังท่อน้ำในสระนั้น ทำฉางทั้งปวงในพระนครให้เต็มด้วยธัญญาหาร ให้นำพืชหญ้ากับแก้และกุมุทจากพวกดาบสผู้คุ้นเคยในสกุล ผู้มาแต่หิมวันตประเทศมาปลูกไว้ ให้ชำระล้างท่อน้ำให้น้ำไหลเข้าออกสะดวก ให้ซ่อมแซมสถานที่ทั้งหลาย มีศาลาเก่าภายนอกพระนครเป็นต้น เพราะเหตุการณ์อะไร มโหสถจึงให้ตกแต่งบ้านเมืองดังนั้น เพราะจะป้องกันภัยอันจะมาถึงในกาลข้างหน้า.
    มโหสถไต่ถามพวกพาณิชผู้มาแต่ประเทศนั้นๆ ว่ามาแต่ไหน. เมื่อได้รับตอบว่า มาแต่สถานที่โน้น. จึงซักถามว่า อะไรเป็นที่ชอบพระราชหฤทัยของพระราชาแห่งพวกท่าน. ได้ความแล้วก็ทำความนับถือต่อพวกนั้นแล้วส่งกลับไป. แล้วเรียกโยธาร้อยเอ็ดของตนมากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงรับเครื่องบรรณาการที่เราจะให้ แล้วไปสู่ราชธานีร้อยเอ็ด ถวายบรรณาการเหล่านี้แด่พระราชาเหล่านั้น เพื่อต้องการให้พระราชาเหล่านั้นรักตน แล้วอยู่บำรุงพระราชาเหล่านั้น ดูกิริยาหรือความคิดแห่งพระราชาเหล่านั้น ส่งข่าวมาให้เรารู้ แล้วอยู่ในที่นั้น เราจะเลี้ยงบุตรและภรรยาของเหล่าท่าน สั่งดังนี้แล้วจารึกกุณฑล ฉลองพระบาทพระขรรค์และสุวรรณมาลา ให้เป็นอักษรในราชาภรณ์นั้นๆ เพื่อพระราชาเหล่านั้นๆ แล้ว ตั้งสัตยาธิษฐานว่า กิจของเราย่อมมีเมื่อใด อักษรเหล่านี้จงปรากฏเมื่อนั้น. แล้วมอบให้โยธาร้อยเอ็ดเหล่านั้นไป. โยธาเหล่านั้นไปในประเทศนั้นๆ ถวายบรรณาการแด่พระราชาเหล่านั้น เมื่อพระราชาเหล่านั้นตรัสถามว่า มาธุระอะไร. ก็ทูลว่า มาบำรุงพระองค์. ครั้นตรัสถามว่า มาแต่ไหน. ก็ไม่ทูลตามตรง. ทูลว่า มาจากที่อื่น. เมื่อทรงรับ ก็อยู่รับราชการในภายใน.
    กาลนั้นมีพระราชาองค์หนึ่งพระนามว่า สังขพลกะ ในกัมพลรัฐ ให้เตรียมศัสตราวุธ และเรียกระดมกองทัพ ทหารของมโหสถที่วางให้สดับข่าวและระวังเหตุการณ์ ที่ส่งไปอยู่ ณ ราชสำนักแห่งพระเจ้าสังขพลกราชนั้น ได้ส่งข่าวสาสน์มายังมโหสถว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบประพฤติเหตุในนครนี้ว่า พระเจ้าสังขพลกราชจักทรงทำราชกิจชื่อนี้ ขอท่านจงส่งสุวบัณฑิต (นกแก้วฉลาด) ไปทราบความเองโดยถ่องแท้. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้ฟังข่าวนั้น จึงเรียกสุวโปดกลูกนกแก้วมา กล่าวว่า เจ้าจงไปสืบข่าวว่า พระราชาองค์หนึ่งมีพระนามว่าสังขพลกะ ในกัมพลรัฐ ทำราชกิจชื่อนี้ แล้วจงเที่ยวไปในสกลชมพูทวีป นำประพฤติเหตุมาเพื่อเรา กล่าวฉะนี้ แล้วให้สุวโปดกกินข้าวตอกคลุกน้ำผึ้งให้ดื่มน้ำผึ้ง แล้วเอาน้ำมันหุงร้อยหนหุงพันหนทาขนปีก แล้วให้จับที่หน้าต่าง เบื้องปราจีนทิศปล่อยไป. สุวบัณฑิตนั้นไปในที่นั้น รู้ประพฤติเหตุแห่งพระเจ้าสังขพลกราช แต่สำนักทหารของมโหสถนั้นโดยแน่นอนแล้ว. เมื่อจะตรวจชมพูทวีปทั้งสิ้นถึงอุตรปัญจาลนครในกัปปิลรัฐ.
    กาลนั้น พระราชามีพระนามว่า จุลนีพรหมทัต ครองราชสมบัติในอุตรปัญจาลนครนั้น พราหมณ์ ชื่อเกวัฏ เป็นนักปราชญ์ผู้ฉลาดพร่ำ ถวายอรรถธรรมแก่พระราชานั้น. ในเวลาใกล้รุ่งวันหนึ่ง ปุโรหิตนั้นตื่นขึ้นแลดูห้องประกอบด้วยสิริ อันประดับแล้ว เห็นยศใหญ่ของตนด้วยแสงสว่างแห่งประทีป จึงคิดว่า ยศแห่งเรานี้ ใครๆ ให้เรา ก็คิดได้ว่า ไม่ใช่ของคนอื่น เป็นของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตพระราชทานแก่เรา ควรเราจักจัดแจงให้พระราชาผู้พระราชทานยศ เห็นปานนี้แก่เรา ให้เป็นอัครราชาในสกลชมพูทวีป เราก็จักได้เป็นอัครปุโรหิตของพระองค์ คิดฉะนี้ แล้วเข้าเฝ้าพระราชาแต่เช้า ทูลถามถึงสุขไสยาตามธรรมเนียม แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้อความอันข้าพระบาทจะพึงทูลปรึกษามีอยู่. เมื่อพระราชาทรงอนุญาตให้กราบทูล จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า สถานที่ลับในพระนครไม่มี ขอเสด็จไปพระราชอุทยาน. พระราชาทรงเห็นชอบด้วย จึงเสด็จไปพระราชอุทยานกับปุโรหิต วางพลนิกายไว้ภายนอกให้รักษา แล้วเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยานกับพราหมณ์เท่านั้น ประทับนั่ง ณ แผ่นศิลาเป็นมงคล.
    ครั้งนั้น สุวโปดกเห็นกิริยาของพระราชากับพราหมณ์ จึงคิดว่า อันเหตุการณ์พึงมีในกิริยาของพระราชากับพราหมณ์นี้ วันนี้เราจักได้ฟังอะไรๆ ที่ควรแจ้งแก่มโหสถ คิดฉะนี้ แล้วบินเข้าไปสู่พระราชอุทยาน จับเร้นอยู่ระหว่างใบไม้รังอันเป็นมงคล. พระราชาตรัสให้เกวัฏทูลเรื่อง พราหมณ์จึงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอพระองค์ทรงทำไว้ในพระกรรณของพระองค์แต่ที่นี้ ความคิดนี้จักชื่อว่ารู้กัน ๔ หู ถ้าพระองค์ทรงทำตามคำของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักทำพระองค์ให้เป็นอัครราชาในสกลชมพูทวีป. พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำของเกวัฏ ก็ทรงโสมนัสด้วยความเป็นผู้มีความปรารถนาใหญ่ จึงตรัสว่า กล่าวไปเถิดอาจารย์ เราจักทำตามคำของท่าน. พราหมณ์เกวัฏจึงทูลบรรยายความคิดว่า ข้าแต่สมมติเทพ เราทั้งหลายจักเรียกระดมกองทัพแล้วล้อมเมืองน้อยยึดเอาไว้ก่อน ข้าพระบาทจักเข้าสู่เมืองทางประตูน้อย แล้วแจ้งแก่พระราชานั้นว่า กิจด้วยการรบของพระองค์ไม่มี โภคสมบัติเป็นของพวกข้าพระเจ้าทั้งสิ้น พระองค์จักคงเป็นพระราชาอยู่อย่างนั้น ก็ถ้าพระองค์จักรบ ก็จะพ่ายแพ้โดยส่วนเดียว เพราะความที่พลและพาหนะของพวกข้าพระเจ้ามาก ถ้าพระราชานั้นจักทำตามคำของพวกเรา พวกเราจักจับพระราชานั้นไว้ ถ้าพระราชานั้นจักไม่ทำตามคำของเราไซร้ พวกเราจักรบแล้วให้พระราชานั้นถึงความสิ้นพระชนม์ แล้วถือเอากองทัพนครนั้นเป็น ๒ ไปยึดเอาเมืองอื่นต่อไป ถือเอาราชสมบัติในสกลชมพูทวีปโดยอุบายนี้ แล้วดื่มชัยบาน พวกเรานำพระราชาร้อยเอ็ดมาสู่เมืองเรา แล้วให้ดื่มสุราเจือยาพิษในอุทยาน แล้วยังพระราชาทั้งหมดให้สิ้นพระชนม์ แล้วทิ้งพระศพของพระราชาเหล่านั้นเสียในคงคา ก็จักทำราชสมบัติในราชธานีร้อยเอ็ดอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ พระองค์จักเป็นอัครราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ด้วยประการฉะนี้. พระราชาทรงยินดีตรัสว่า ดีแล้วอาจารย์ เราจักทำอย่างนั้น. พราหมณ์เกวัฏกราบทูลว่า ความคิดนี้ชื่อว่าความคิดรู้กัน ๔ หู เพราะว่าบุคคลอื่นไม่อาจมาล่วงรู้ เพราะเหตุนั้น ขอพระองค์อย่าชักช้า รีบยกกองทัพออกทีเดียว. พระราชาได้ทรงสดับคำนั้น ก็ทรงโสมนัส รับว่า ดีแล้ว.
    สุวโปดกได้ฟังเรื่องนั้นทั้งหมด ในกาลเมื่อพราหมณ์กับพระราชาคิดการนี้จบลง จึงประหนึ่งบินลงจับกิ่งไม้รังที่ห้อย ยังมูลให้ตกลงบนศีรษะแห่งเกวัฏ แล้วร้องขึ้นว่า นี้อะไรกัน. พอเกวัฏแหงนขึ้นก็ยังมูลให้ตกลงในปาก ร้องกิริๆ บินขึ้นจากกิ่งไม้รังกล่าวว่า แน่ะเกวัฏ ท่านสำคัญว่า ความคิดของท่านรู้กันแต่ ๔ หูหรือ บัดนี้รู้กันเป็น ๖ หูแล้ว จักรู้กันเป็น ๘ หูอีก แล้วจักรู้กันหลายร้อยหูทีเดียว. ในเมื่อชนทั้งหลายกล่าวว่า ช่วยกันจับๆ ให้ได้ ดังนี้ ก็บินไปสู่กรุงมิถิลาโดยกำลังเร็วดุจลม เข้าไปสู่เคหสถานแห่งมโหสถบัณฑิต. ก็ความประพฤตินี้เป็นวัตรของสุวโปดก คือถ้าว่าข่าวมาแต่ที่ไรๆ ควรบอกแก่มโหสถผู้เดียว ทีนั้นสุวโปดกก็ลงจับที่จะงอยบ่าแห่งมโหสถ. ถ้าว่าควรฟังแต่นางอมราเทวี สุวโปดกก็ลงจับที่ตัก. ถ้าว่ามหาชนควรสดับ สุวโปดกก็ลงจับที่พื้น. กาลนั้น สุวโปดกลงจับที่จะงอยบ่าแห่งมโหสถ ด้วยสัญญานั้น มหาชนก็หลีกไปด้วยรู้กันว่า อันความลับพึงมี. มโหสถพาสุวโปดกขึ้นไปสู่พื้นชั้นบนแล้วถามว่า พ่อได้เห็นได้ฟังอะไรมาหรือ. ลำดับนั้น สุวโปดกจึงกล่าวกะมโหสถว่า ข้าแต่นาย ข้าพเจ้าไม่เห็นภัยอะไรๆ แต่สำนักพระราชาอื่นในสกลชมพูทวีป. ก็แต่พราหมณ์ชื่อเกวัฏ ผู้เป็นปุโรหิตของพระราชาจุลนีพรหมทัต พาพระราชาไปอุทยานแล้วทูลความคิดอันรู้แต่ ๔ หู. ข้าพเจ้าจับอยู่ระหว่างกิ่งไม้รัง ยังมูลให้ตกลงในปากแห่งพราหมณ์เกวัฏแล้วมานี่. กล่าวฉะนี้ แล้วบอกกิจที่ได้เห็นที่ได้ฟังทั้งปวงแก่มโหสถ. ครั้นมโหสถถามว่า ก็พระเจ้าจุลนีรับจะทำตามหรือไม่. สุวโปดกตอบว่า รับจะทำตาม. มโหสถจึงทำกิจที่ควรทำแก่นกนั้น คือ ให้นอนในกรงทองคำ มีเครื่องลาดอันอ่อน. แล้วคิดว่า ชะรอยเกวัฏไม่รู้จักความที่ เราชื่อมโหสถบัณฑิต. เราจักให้ถึงที่สุดแห่งความคิด ที่เขาคิดกันนั้นในบัดนี้. จึงถ่ายสกุลเข็ญใจในเมืองออกอยู่นอกเมือง นำสกุลมีอิสริยยศซึ่งอยู่ใกล้ประตูชนบทในแคว้นเข้ามาอยู่ภายในเมือง ให้สะสมธัญญาหารไว้เป็นอันมาก.
    ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตเชื่อคำแห่งเกวัฏ อันหมู่เสนาแวดล้อมแล้ว เสด็จไปล้อมเมืองหนึ่ง ฝ่ายเกวัฏก็เข้าไปในเมืองนั้นโดยนัยที่กล่าวแล้ว ยังพระราชาในเมืองนั้นให้หมายรู้แล้ว ทำเมืองนั้นให้เป็นของตน ทำกองทัพทั้ง ๒ ให้เป็นกองเดียวกันไปล้อมเมืองอื่น ก็ยึดเมืองทั้งปวงได้หมดโดยลำดับ พระเจ้าจุลนีตั้งอยู่ในโอวาทของพราหมณ์เกวัฏ ยกเสียแต่พระเจ้าวิเทหราช นอกนั้นก็ได้พระราชาทั้งหลายในสกลชมพูทวีปอันเหลืออยู่ให้เป็นของพระองค์ ด้วยประการฉะนี้.
    บุรุษที่มโหสถวางไว้ก็ส่งข่าวถึงมโหสถเนืองนิตย์ว่า นครทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตยึดไว้ได้แล้ว. ขอท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาท ฝ่ายมโหสถบัณฑิตส่งข่าวตอบไปยังบุรุษที่วางไว้เหล่านั้นว่า เราเป็นผู้มิได้ประมาทอยู่ในที่นี้แล้ว. แม้พวกเจ้าทั้งหลายก็อย่าได้วิตกถึงเรา จงเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เถิด.
    ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตยกทัพไปยึดนครนั้นๆ สิ้น ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ก็ได้ราชสมบัติในสกลชมพูทวีป จึงตรัสกะเกวัฏปุโรหิตว่า นครทั้งหลายเท่านี้ เราได้ไว้แล้วๆ เราจักยึดราชสมบัติของพระเจ้าวิเหหราช ณ กรุงมิถิลา. ปุโรหิตทูลค้านว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พวกเราไม่ควรจะยึดราชสมบัติในนครที่มโหสถอยู่ เพราะว่า มโหสถนั้นเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยความรู้ และเป็นผู้ฉลาดในอุบายอย่างนี้ๆ. ปุโรหิตทูลห้ามพระเจ้าจุลนี พรรณนาคุณสมบัติของมโหสถ ดุจบุคคลยกมณฑลแห่งดวงจันทร์ขึ้นกล่าว เพราะว่า ปุโรหิตนี้เป็นผู้ฉลาดในอุบายเอง ฉะนั้นจึงยังพระราชาให้กำหนดด้วยอุบายว่า ข้าแต่เทพเจ้า ราชสมบัติในมิถิลานครเป็นของเล็กน้อย ราชสมบัติในสกลชมพูทวีปเป็นของพอแก่เราทั้งหลาย ประโยชน์อะไรด้วยราชสมบัติในนครมิถิลาแก่เราทั้งหลายเล่า. ฝ่ายพระราชาทั้งหลายอันเหลือก็กล่าวว่า เราทั้งหลายจักยึดราชสมบัติในกรุงมิถิลาแล้วดื่มชัยบาน. ฝ่ายเกวัฏก็ทูลห้ามพระราชาเหล่านั้น แล้วให้พระราชาเหล่านั้นรู้ด้วยอุบายว่า เราทั้งหลายจักยึดราชสมบัติในวิเทหรัฐทำอะไร พระราชานั้นก็เป็นดุจของเราทั้งหลาย ขอพระองค์ทั้งหลายเสด็จกลับเถิด พระราชาเหล่านั้นได้ฟังคำของเกวัฏ ต่างก็เสด็จกลับนครของตนๆ.
    เหล่าบุรุษที่วางไว้สดับเหตุการณ์ ก็ส่งข่าวแก่มโหสถว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตอันพระราชาร้อยเอ็ดแวดล้อมจะมาสู่กรุงมิถิลา แต่ก็กลับสู่เมืองของตน. ฝ่ายมหาสัตว์ก็ส่งข่าวตอบพวกบุรุษที่วางไว้ว่า จำเดิมแต่นี้ พวกเจ้าจงคอยดูกิริยาของพระเจ้าจุลนี. ฝ่ายพระจุลนีทรงปรึกษากับอาจารย์เกวัฎว่า บัดนี้ เราจักทำกิจอย่างไร. ครั้นเกวัฏทูลว่า เราจักดื่มชัยบาน. จึงให้ประดับอุทยานแล้ว ตรัสสั่งพวกราชเสวกว่า พวกเจ้าจงตระเตรียมสุราไว้ในไหสักร้อยไหพันไห ตระเตรียมของบริโภคมีรส คือปลาและเนื้อเป็นต้น มีอย่างต่างๆ ไว้ให้เพียงพอ. กาลนั้น มีบุรุษที่มโหสถวางไว้ ก็ส่งประพฤติเหตุนั้นให้มโหสถทราบ ก็แต่บุรุษที่มโหสถวางไว้เหล่านั้นหารู้ไม่ว่า พระเจ้าจุลนีประกอบสุราด้วยยาพิษ ใคร่จะฆ่าพระราชาร้อยเอ็ดให้สิ้นพระชนม์ชีพ. ฝ่ายพระโพธิสัตว์รู้ความนั้นแต่สุวโปดก จึงส่งข่าวตอบพวกบุรุษที่วางไว้นั้นว่า เจ้าทั้งหลายรู้วันที่จะดื่มสุราแน่นอนแล้วจงบอกแก่เรา. บุรุษที่วางไว้นั้นก็ทำตามสั่ง มโหสถดำริว่า เมื่อบัณฑิตเช่นเรามีอยู่ พระราชามีประมาณเท่านี้ไม่ควรสิ้นพระชนม์ชีพ เราจักเป็นที่พึ่งของพระราชาเหล่านั้น คิดฉะนี้ แล้วเรียกพวกทวยหาญที่เป็นบริวารสหชาตพันคนนั้นมา แจ้งว่า ดูก่อนสหายทั้งหลาย ได้ยินว่า พระราชาจุลนีให้ตกแต่งพระราชอุทยาน แล้วแวดล้อมไปด้วยพระราชาร้อยเอ็ดประสงค์จะดื่มสุรา เจ้าทั้งหลายจงไปในที่นั้น ในเมื่ออาสน์ของพระราชาทั้งหลายเขาแต่งตั้งแล้ว ในเมื่อพระราชาองค์หนึ่งยังไม่นั่ง เจ้าทั้งหลายจงชิงเอาอาสน์ ซึ่งตั้งอยู่ในลำดับต่อกับอาสน์แห่งพระเจ้าจุลนี ประกาศว่า นี้เป็นราชอาสน์มีค่ามากแห่งพระราชาของพวกเรา ดังนี้. ในเมื่อข้าราชการฝ่ายนั้นกล่าวว่า ท่านทั้งหลายเป็นคนของใคร. พึงกล่าวตอบว่า เป็นข้าราชการของพระเจ้าวิเทหราช. เมื่อพวกข้าราชการฝ่ายนั้นกล่าวกะพวกเจ้าว่า เราทั้งหลายเมื่อไปล้อมยึดเอานครนั้นๆ ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ก็หาเห็นพระราชาอันมีนามว่าวิเทหะ สักวันหนึ่งไม่. พระราชาที่พวกท่านอ้างนั้น จักชื่อว่าพระราชากระไรได้ ท่านทั้งหลายจงไป จงถือเอาอาสน์ในที่สุดแห่งอาสน์. เมื่อกล่าวฉะนี้แล้วก็จักทุ่มเถียงกัน. พวกเจ้าก็จงเถียงว่า พระราชาอื่นยกพระเจ้าจุลนีพรหมทัตเสียแล้ว จะยิ่งกว่าพระราชาของเราในที่นี้ไม่มี. กล่าวฉะนี้แล้ว จงทุ่มเถียงให้มากขึ้น แล้วพูดว่า เมื่อพวกเราไม่ได้แม้ซึ่งอาสน์เพื่อพระราชาของพวกเรา พวกเราจักไม่ให้ท่านทั้งหลายดื่มสุราและเคี้ยวกินมัจฉมังสะ ณ บัดนี้. แล้วบันลือโห่ร้อง ยังความสะดุ้งให้เกิดแก่ข้าราชการฝ่ายนั้นด้วยเสียงดัง แล้วต่อยทุบไหสุราทั้งปวงเสียด้วยค้อนใหญ่ แล้วเทสาดมัจฉมังสาหารเสีย ทำให้บริโภคไม่ได้. แล้วเข้าไปสู่ระหว่างแห่งเสนาโดยเร็ว ดุจเหล่าอสูรเข้าไปสู่เทพนคร แล้วทำเสียงให้อึกทึกครึกโครม ประกาศว่า เราทั้งหลายเป็นคนของมโหสถบัณฑิตในกรุงมิถิลา ถ้าท่านทั้งหลายสามารถก็จงจับพวกเรา. ให้ข้าราชการเหล่านั้นรู้ความที่พวกเจ้ามาแล้ว จงมาเถิด. มโหสถแจ้งให้สหชาตโยธาของตนรู้ ฉะนี้แล้วส่งไป.
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_4578_1a.jpg
      IMG_4578_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      583.7 KB
      เปิดดู:
      792
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 กรกฎาคม 2013
  4. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ทวยหาญสหชาตบริวารของมโหสถรับคำสั่ง ไหว้มโหสถแล้ว ผูกสอดอาวุธ ๕ ออกจากกรุงมิถิลาไปในราชอุทยานแห่งพระเจ้าจุลนี เข้าไปสู่พระราชอุทยานอันตกแต่งแล้ว ดุจนันทนวันเทพอุทยานฉะนั้น เห็นสิริราชสมบัติอันประดับแล้ว ตั้งแต่พระราชบัลลังก์พระราชาร้อยเอ็ด ซึ่งมีเศวตฉัตรอันยกแล้ว ได้ทำกิจทั้งปวงโดยนัย อันพระโพธิสัตว์กล่าวแล้ว ยังมหาชนให้เอิกเกริกแล้วบ่ายหน้ากลับกรุงมิถิลา. ฝ่ายราชบริษัทข้างกรุงปัญจาละก็กราบทูลประพฤติเหตุแด่พระราชาเหล่านั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงพิโรธว่า พวกกรุงมิถิลามาทำอันตรายแก่สุราที่ประกอบยาพิษเห็นปานนี้ของเราเสีย. ฝ่ายพระราชาร้อยเอ็ดก็พิโรธว่า พวกกรุงมิถิลามาทำให้พวกเราไม่ได้ดื่มชัยบาน. ส่วนพลนิกายก็ขัดใจว่า เราทั้งหลายไม่ได้ดื่มสุราอันหามูลค่ามิได้. ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตตรัสเรียกพระราชาเหล่านั้นมา รับสั่งว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมา เราทั้งหลายจักไปกรุงมิถิลา ตัดเศียรพระเจ้าวิเทหราชเสียด้วยพระขรรค์ แล้วย่ำเหยียบเสียด้วยบาท แล้วประชุมดื่มชัยบาน ท่านทั้งหลายจงเตรียมยกกองทัพไป ตรัสฉะนี้ แล้วเสด็จในที่ลับตรัสข้อความนี้แก่เกวัฏอีกว่า เราทั้งหลายจักจับปัจจามิตรผู้ทำอันตรายแก่มงคลเห็นปานนี้ของพวกเรา พวกเราจักเป็นผู้อันเสนา ๑๘ อักโขภิณี พร้อมด้วยพระราชาร้อยเอ็ดแวดล้อมไป ท่านอาจารย์จงไปด้วย. พราหมณ์เกวัฏดำริด้วยความที่ตนเป็นผู้ฉลาดว่า อันเราไม่อาจจะเอาชนะมโหสถบัณฑิต ความละอายจะมีแก่พวกเราเป็นแน่ เราจักยังพระราชาให้กลับพระดำริ. ลำดับนั้น เกวัฏจึงทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช นั่นหาใช่กำลังของพระเจ้าวิเทหราชไม่ นั่นเป็นการจัดแจง นั่นเป็นอานุภาพของมโหสถบัณฑิต กรุงมิถิลาอันเขารักษาแล้ว ดุจทำที่ราชสีห์รักษาแล้ว อันใครๆ ไม่อาจยึดเอา ความอายจักมีแก่พวกเราอย่างเดียว ไม่ควรไป ณ กรุงมิถิลา. ฝ่ายพระราชาจุลนีเป็นผู้มัวเมาด้วยความเมาในราชอิสริยยศ ด้วยถือพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์ จึงตรัสว่า มโหสถจักทำอะไรเราได้ ตรัสฉะนี้แล้วเป็นผู้อันพระราชาร้อยเอ็ดแวดล้อมเสด็จออกไปด้วยเสนากำหนด ๑๘ อักโขภิณี. ฝ่ายอาจารย์เกวัฏ เมื่อไม่อาจจะให้พระเจ้าจุลนีเชื่อคำของตนก็โดยเสด็จไปด้วย ด้วยคิดเห็นว่าเราไม่ควรจะประพฤติให้เป็นข้าศึกต่อพระราชา.
    ฝ่ายสหชาตโยธาของมโหสถกลับถึงกรุงมิถิลาโดยราตรีเดียว แจ้งกิจที่ตนได้ทำแก่มโหสถ. ฝ่ายเหล่าบุรุษที่มโหสถวางไว้ก็ส่งข่าวก่อนว่า พระเจ้าจุลนีเป็นผู้อันพระราชาร้อยเอ็ดห้อมล้อมเป็นราชบริพาร เสด็จมาด้วยทรงมุ่งจะจับพระเจ้าวิเทหราช ขอท่านผู้เป็นบัณฑิตอย่าประมาท. มโหสถได้รับข่าวจากเหล่าบุรุษที่วางไว้เนืองนิตย์ว่า วันนี้พระเจ้าจุลนีเสด็จถึงสถานที่นั้น วันนี้ถึงสถานที่นั้น ก็วันนี้จักเสด็จถึงกรุงมิถิลา. พระมหาสัตว์ได้ทราบข่าวนั้นก็ยิ่งเป็นผู้ไม่ประมาท. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตจักกรีธาทัพมายึดเมืองเรา ก็ได้ทรงฟังเสียงกึกก้องไม่ขาดเสียง. ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตพร้อมด้วยพลนิกายถือคบเพลิงนับด้วยแสนดวง ส่องมรรคาเสด็จมาถึงแต่หัวค่ำ. แล้วให้ล้อมเมืองมิถิลาไว้ทั้งสิ้น. ลำดับนั้น แม่ทัพก็ให้ตั้งหมู่พลในที่นั้นๆ ล้อมกรุงมิถิลาด้วยปราการคือช้าง ด้วยปราการคือรถ ด้วยปราการคือม้า เหล่าพลนิกายได้ยินบันลือลั่น ปรบมือ ผิวปาก คำรนร้องอยู่. กรุงมิถิลากำหนดทั้งสิ้น ๗ โยชน์ ก็มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน ด้วยแสงสว่างประทีปและแสงสว่างเครื่องประดับ.
    สมัยนั้น ราวกะว่า เป็นการที่ปฐพีจะแตกสลาย ด้วยศัพย์สำเนียงแห่งม้ารถ และดุริยางค์ดนตรีเป็นต้น นักปราชญ์ทั้ง ๔ คือเสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ เทวินทะ ได้ยินเสียงโห่ร้องโกลาหลไม่รู้เรื่องก็เข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เสียงโห่ร้องอื้ออึงมาก ก็แต่ข้าพระองค์ไม่ทราบเสียงนั่นเป็นเสียงอะไร ควรที่จะทรงพิจารณ์ให้ทราบเรื่อง. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของอาจารย์ทั้ง ๔ ก็ทรงคิดว่า พระเจ้าพรหมทัตจักเสด็จมาแล้ว จึงเปิดพระแกลทอดพระเนตร ก็ทรงทราบว่า เสด็จมาแล้ว ทั้งกลัวทั้งตกพระหฤทัย ทรงเห็นชัดว่า ชีวิตของเราไม่มีละ พรุ่งนี้พระเจ้าพรหมทัตจักยังพวกเราทั้งมวลให้สิ้นชีวิต ทรงเห็นฉะนี้ ก็ประทับนั่งตรัสอยู่กับอาจารย์ทั้ง ๔. ส่วนพระโพธิสัตว์รู้ว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตเสด็จมาถึงแล้ว เป็นผู้ไม่ครั่นคร้ามดุจราชสีห์ จัดการรักษาในพระนครทั้งสิ้นแล้ว คิดว่า เราจักเล้าโลมพระราชา จึงขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ ถวายบังคมพระราชา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตร เห็นมโหสถมาเฝ้าก็ค่อยสบายพระหฤทัย ทรงดำริว่า คนอื่นยกมโหสถบัณฑิตผู้บุตรของเรา จะชื่อว่าสามารถเปลื้องเราจากทุกข์ ย่อมไม่มี.
    เมื่อจะรับสั่งกับมโหสถ ได้ตรัสคาถาแรกในมหาอุมมังคชาดก นี้ว่า
    ดูก่อนพ่อมโหสถ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตเจ้ากรุงปัญจาละเสด็จยาตราทัพมา พร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า. กองทัพของพระเจ้ากรุงปัญจาละนี้นั้นพึงประมาณไม่ได้ มีกองช่างโยธา กองราบ ล้วนแต่ฉลาดในสงครามทั้งปวง. สามารถจะนำข้าศึกมาได้ มีเสียงอื้ออึง ยังกันและกันให้รู้ด้วยเสียงกลองและเสียงสังข์.
    มีวิทยาทางโลหธาตุ มีเครื่องประดับ มีธงเกลื่อนกล่นด้วยช้างม้า สมบูรณ์ด้วยเหล่าคนมีศิลป์ ตั้งมั่นด้วยดีด้วยเหล่าทหารผู้แกล้วกล้า. กล่าวกันว่า ในกองทัพนี้ มีราชบุรุษ ๑๐ คนเป็นผู้ฉลาด มีปัญญา ประชุมปรึกษากันในที่ลับ. พระชนนีของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตเป็นที่ ๑๑ ย่อมทรงสั่งสอนชาวปัญจาลนคร.
    ที่นั้น บรรดาชนเหล่านี้ พระราชาร้อยเอ็ดผู้เรืองยศ ตามเสด็จพระเจ้าปัญจาลราช ถูกชิงแว่นแคว้น กลัวมรณภัย ตกอยู่ในอำนาจของชาวปัญจาลนคร. เป็นผู้ทำตามพระราชกระแสที่ดำรัส ไม่มีความปรารถนาก็จำต้องกล่าวคำเป็นที่รัก. ตามเสด็จพระเจ้าปัญจาลราช เป็นผู้มีอำนาจมาก่อน ไม่มีความปรารถนา ก็ต้องอยู่ในอำนาจของพระเจ้าปัญจาลราช.
    กรุงมิถิลาถูกกองทัพนั้นแวดล้อมเป็น ๓ ชั้น ราชธานีของชาววิเทหรัฐถูกขุดเป็นคูโดยรอบ. กองทัพที่แวดล้อมกรุงมิถิลาโดยรอบนั้น ปรากฏเหมือนดาวบนท้องฟ้า. ดูก่อนพ่อมโหสถ พ่อจงรู้ว่า พวกเราจักพ้นทุกข์ได้อย่างไร.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพเสนาย ความว่า ดูก่อนพ่อมโหสถ ได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีเสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า. นับได้ ๑๘ อักโขภิณี มีพระราชาร้อยเอ็ดเป็นผู้นำ. บทว่า ปญฺจาลิยา ได้แก่ เป็นของมีอยู่ของพระเจ้าปัญจาลราช. บทว่า วิทฺธิมตี ความว่า ประกอบด้วยกำลังของช่างไม้ ผู้เที่ยวแบกทัพสัมภาระที่นำมาเพื่อการช่าง. บทว่า ปตฺติมตี ได้แก่ อันบุรุษผู้ถือเอาสิ่งประเสริฐน้อยใหญ่รักษาแล้ว. บทว่า สพฺพสงฺคามโกวิทา ได้แก่ ผู้ฉลาดในสงครามทั้งปวง. บทว่า โอหารินี ความว่า สามารถแอบเข้าไปในกองทัพไม่มีใครเห็น ตัดศีรษะข้าศึกนำมาได้. บทว่า สทฺทวตี ได้แก่ ไม่สงัดจากเสียง ๑๐ ประการ. บทว่า เภริสงฺขปฺปโพธนา ความว่า ในที่นั้นไม่สามารถจะให้รู้ด้วยคำสั่งว่า จงมา จงรุก จงรบ จงอย่าไปเป็นต้น. แต่กิจเช่นนั้นจะให้รู้กันได้ในที่นี้ ด้วยเสียงกลองและด้วยเสียงสังข์ ฉะนั้นจึงชื่อว่า ยังกันและกันให้รู้ด้วยเสียงกลองและเสียงสังข์. บทว่า โลหวิชฺชา ในบาทคาถาว่า โลหวิชฺชา อลงฺการา นี้นั้น เป็นชื่อของโล่ เช่นเสื้อเกราะหมวกเกราะเป็นต้น ซึ่งประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นศิลปโลหะ. บทว่า อลงฺการา ได้แก่ เป็นเครื่องประดับของพระราชา และมหาอมาตย์ของพระราชาเป็นต้น. เพราะฉะนั้น ในบาทคาถานี้ จึงมีเนื้อความดังนี้ว่า ชื่อว่ามีวิทยาทางโลหธาตุ มีเครื่องประดับ เพราะสว่างไสวไปด้วยวิทยาทางโลหธาตุและด้วยเครื่องประดับ. บทว่า ธชนี ความว่า ประกอบด้วยธงทั้งหลายที่ยกขึ้นบนรถเป็นต้น ซึ่งประดับด้วยทอง เป็นต้น รุ่งเรืองด้วยวัตถุต่างๆ.
    บทว่า วามโรหินี ความว่า ทหารเหล่านั้นท่านเรียกว่า วามโรหินี เพราะเมื่อขึ้นช้างขึ้นม้า ย่อมขึ้นข้างซ้าย. ประกอบด้วยทหารเหล่านั้น คือเกลื่อนกล่นไปด้วยช้างและม้าซึ่งประมาณมิได้. บทว่า สิปฺปิเยหิ ความว่า สมบูรณ์ด้วยดี คือเกลื่อนกล่นด้วยเหล่าทหารที่ถึงความสำเร็จในศิลปะ ๑๘ อย่าง มีหัตถีศิลปะและอัศวศิลปะเป็นต้น. บทว่า สูเรหิ ความว่า แน่ะพ่อ ได้ยินว่า กองทัพนี้ตั้งมั่นด้วยดี ด้วยเหล่าทหารผู้มีความบากบั่นเสมอด้วยราชสีห์. บทว่า อาหุ ความว่า กล่าวกันว่าในกองทัพนี้มีบัณฑิต ๑๐ คน. บทว่า รโหคตา ความว่า มีปกติไปในที่ลับ คือมีปกตินั่งปรึกษากันในที่ลับ เล่ากันว่า บัณฑิตเหล่านั้นเมื่อได้คิดกันวันสองวัน ก็สามารถจะกลับเอาแผ่นดินขึ้นตั้งไว้ในอากาศได้. บทว่า เอกาทสี ความว่า ได้ยินว่า พระชนนีของพระเจ้าจุลนีนั้น ประกอบด้วยปัญญายิ่งกว่าบัณฑิต ๑๐ คนนั้น. พระชนนีนั้นเป็นคนฉลาดที่ ๑๑ ของบัณฑิตเหล่านั้น สั่งสอนพร่ำสอนกองทหารปัญจาละ.
    เล่ากันมาว่า วันหนึ่งมีบุรุษคนหนึ่งถือข้าวสารหนึ่งทะนาน ข้าวสุกหนึ่งห่อ และกหาปณะหนึ่งพัน คิดจะข้ามแม่น้ำ ก็ลงถึงท่ามกลางแม่น้ำ ไม่อาจจะข้ามได้ จึงกล่าวกะชนทั้งหลายผู้ยืนอยู่ริมฝั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าวสารหนึ่งทะนาน ข้าวสุกหนึ่งห่อ และกหาปณะหนึ่งพันของข้าพเจ้ามีอยู่ในมือ บุคคลผู้สามารถยังข้าพเจ้าให้ได้ข้ามจากฝั่งนี้ ข้าพเจ้าจักให้สิ่งที่ข้าพเจ้าชอบใจซึ่งมีอยู่ในมือ. ลำดับนั้น มีบุรุษหนึ่งถึงพร้อมด้วยกำลัง นุ่งผ้ามั่นแล้วข้ามลงสู่แม่น้ำ จับแขนบุรุษนั้นให้ข้ามลงไป แล้วกล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งที่ควรให้แก่ข้าพเจ้า. บุรุษนั้นกล่าวตอบว่า ท่านจงถือเอาข้าวสารหนึ่ง ทะนานหรือข้าวสุกหนึ่งห่อ. บุรุษผู้พาข้ามฟากจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่คิดชีวิตพาท่านข้ามฟาก ข้าพเจ้าไม่ต้องการด้วยของสองสิ่งนั้น ท่านจงให้กหาปณะแก่ข้าพเจ้า. บุรุษผู้ว่าจะให้ของชอบใจนั้นจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้พูดว่า ข้าพเจ้าจะให้สิ่งที่ชอบใจจากของ ๓ อย่างแก่ท่าน. บัดนี้ ข้าพเจ้าก็ให้สิ่งที่ข้าพเจ้าชอบใจแก่ท่าน ท่านอยากได้ก็จงถือเอา. บุรุษผู้พาข้ามฟากจึงพูดแก่บุคคลผู้หนึ่งผู้ยืนอยู่ใกล้. บุคคลผู้นั้นก็กล่าวตอบว่า บุรุษผู้ว่าจะให้ของชอบใจให้ของที่ชอบใจแก่ท่าน ท่านรับเอาเถิด. บุรุษผู้พาข้ามฟากกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่เอา. แล้วพาบุรุษผู้จะให้ของชอบใจไปสู่ที่วินิจฉัย แจ้งแก่อมาตย์ผู้วินิจฉัยทั้งหลาย. ฝ่ายอมาตย์ผู้วินิจฉัยเหล่านั้นได้ฟังข้อความทั้งปวงก็วินิจฉัยอย่างนั้น. บุรุษผู้พาข้ามฟากไม่ยินดีด้วยวินิจฉัยแห่งอมาตย์เหล่านั้น จึงกราบทูลพระราชา. ฝ่ายพระราชาจุลนีให้เรียกอมาตย์ผู้วินิจฉัยเหล่านั้นมา ทรงฟังคำของชนทั้ง ๒ แต่สำนักอมาตย์ผู้วินิจฉัย. เมื่อไม่ทรงทราบจะวินิจฉัยอย่างอื่น จึงทรงวินิจฉัยทับสัตย์. บุรุษผู้พาข้ามฟากได้ฟังพระราชวินิจฉัยดังนั้น ก็พูดขึ้นหน้าพระที่นั่งว่า พระองค์ทำข้าพระองค์ผู้สละชีวิตลงสู่แม่น้ำให้มีโทษ.
    ขณะนั้น พระชนนีแห่งพระเจ้าจุลนีมีพระนามว่า สลากเทวี ประทับนั่งอยู่ใกล้ ทรงทราบความที่พระราชาวินิจฉัยผิด. จึงตรัสว่า พ่อวินิจฉัยคดีที่วินิจฉัยผิด ดีแล้วหรือ. พระเจ้าจุลนีทูลพระราชมารดาว่า ข้าพระเจ้าทราบเท่านี้ ถ้าว่าพระมารดาทรงทราบยิ่งกว่านี้ไซร้ ขอได้ทรงวินิจฉัยอีกเถิด. พระนางสลากเทวีจึงรับสั่งว่า ดีล่ะพ่อ แม่จะวินิจฉัย. จึงรับสั่งให้เรียกบุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจมาแล้วตรัสว่า เจ้าจงมา จงวางของ ๓ อย่างที่เจ้าถืออยู่ไว้ที่ภาคพื้น. แล้วตรัสถามว่า เมื่อเจ้าลอยอยู่ในน้ำ เจ้าพูดว่ากระไรกะบุรุษผู้พาเจ้าข้ามฟากคนนี้. ครั้นบุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจทูลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว. จึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงถือเอาของที่เจ้าชอบใจของเจ้า ณ บัดนี้. บุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจจึงถือเอาถุงกหาปณะหนึ่งพัน. ลำดับนั้น พระนางจึงให้เรียกบุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจมา ในกาลเมื่อเดินไปได้หน่อยหนึ่ง. ตรัสถามว่า เจ้าชอบกหาปณะหนึ่งพันหรือ. ครั้นได้ทรงฟังทูลตอบว่า ชอบกหาปณะหนึ่งพัน พระเจ้าข้า. จึงตรัสว่า เจ้าพูดกะบุรุษผู้พาข้ามฟากนี้ว่า เราจักให้ของที่ชอบใจจากของ ๓ อย่างนี้แก่เขาหรือไม่ได้พูด. ครั้นได้ทรงฟังตอบว่า ได้พูด. จึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงให้กหาปณะหนึ่งพันแก่บุรุษผู้พาเจ้าข้ามฟากนี้ นั่นแล. บุรุษผู้ว่าจะให้ของที่ชอบใจได้ฟังพระวินิจฉัย ฉะนั้น. ก็ร้องไห้คร่ำครวญได้ให้กหาปณะหนึ่งพัน แก่บุรุษผู้พาตนข้ามฟากนั้น. ขณะนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตและอมาตย์ทั้งหลาย ยินดีในพระวินิจฉัยนั้นต่างแซ่ซ้องสาธุการ. จำเดิมแต่นั้น ความที่พระนางเจ้าสลากเทวีพระราชชนนีของพระเจ้าจุลนีเป็นผู้เป็นไปด้วยพระปัญญา ก็บังเกิดปรากฏในที่ทั้งปวง. พระเจ้าวิเทหราชทรงหมายเอาพระนางเจ้าองค์นี้ จึงตรัสว่า มาตาเอกาทสี เป็นต้น.

    บทว่า ขตฺยา ได้แก่ กษัตริย์ทั้งหลาย. บทว่า อจฺฉินฺนรฏฐา ความว่า ถูกพระเจ้าจุลนีพรหมทัตชิงแว่นแคว้นยึดครอง. บทว่า พฺยถิตา ความว่า กลัวแต่มรณภัย ไม่ทรงเห็นสิ่งอื่นที่จะพึงถือเอา. บทว่า ปญฺจาลีนํ วสํ คตา ความว่า ตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าปัญจาลราชนี้ ก็บทนี้เป็น ทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งฉัฏฐีวิภัตติ. บทว่า ยํ วทา ตกฺกรา ความว่า อาจกระทำตามพระราชกระแสที่ตรัส. บทว่า วสิโน คตา ความว่า เมื่อก่อนมีอำนาจเอง แต่เดี๋ยวนี้อยู่ในอำนาจของพระเจ้าจุลนี. บทว่า ติสนฺธิ ความว่า ถูกล้อมด้วยกำแพง ๔ เหล่านี้คือ ถูกล้อมด้วยกำแพง คือช้างเป็นชั้นแรก ถัดนั้นล้อมด้วยกำแพง คือรถ ถัดนั้นล้อมด้วยกำแพง คือม้า ถัดนั้นล้อมด้วยกำแพง คือพลราบ ชื่อว่าล้อม ๓ ชั้น คือระหว่างกองช้างกับกองรถเป็นชั้น ๑ ระหว่างกองรถกับกองม้าเป็นชั้น ๑ ระหว่างกองม้ากับกองพลราบเป็นชั้น ๑. บทว่า ปริกฺขญฺญติ ความว่า บัดนี้ นครนี้ถูกขุดโดยรอบเหมือนเขาประสงค์จะยกขึ้นถือไป. บทว่า อุทฺธํ ตารกชาตาว ความว่า กองทัพที่ล้อมรอบกรุงมิถิลานั้น ปรากฎด้วยอาวุธทั้งหลายมีท่อนไม้เป็นต้น หลายร้อยหลายพัน เหมือนดาวบนท้องฟ้า. บทว่า วิชานาหิ ความว่า ดูก่อนพ่อมโหสถ ตั้งแต่อเวจีจนถึงภวัคคพรหม คนอื่นที่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตผู้ฉลาดในอุบายเช่นเจ้าไม่มี. อนึ่ง ชื่อว่าความเป็นบัณฑิต ย่อมรู้กันได้ในฐานะเห็นปานนี้ เพราะคนอื่นเช่นเจ้าไม่มี. ฉะนั้น เจ้าเท่านั้นจงรู้ว่า พวกเราจักพ้นความทุกข์นี้ได้อย่างไร.
    พระมหาสัตว์ได้สดับพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชดังนี้แล้ว ดำริว่า พระราชานี้ทรงกลัวมรณภัยเหลือเกิน ก็แพทย์เป็นที่พึ่งอาศัยของคนไข้ โภชนาหารเป็นที่พึ่งอาศัยของคนหิว น้ำดื่มเป็นที่พึ่งอาศัยของคนระหาย เว้นเราเสีย คนอื่นที่เป็นที่พึ่งอาศัยของพระราชานี้ไม่มี เราจักปลอบโยนพระองค์ให้เบาพระหฤทัย. ครั้งนั้น พระมหาสัตว์มิได้ครั่นคร้ามดุจราชสีห์บันลือสีหนาท ณ พื้นมโนศิลา กราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าทรงกลัวเลย จงเสวยราชสมบัติให้เป็นสุขเถิด ข้าพระองค์จักทำกองทัพซึ่งนับได้ ๑๘ อักโขภิณีนี้ ให้เป็นผู้มิใช่เจ้าของ แม้แห่งผ้าสาฎกที่พันท้องอยู่ให้หนีไป ดุจบุคคลเงื้อก้อนดินให้กาหนีไป และดุจบุคคลขึ้นธนูให้ลิงหนีไป ฉะนั้น.
    กราบทูลฉะนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๙ ว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงเหยียดพระยุคลบาทให้ผาสุก เชิญเสวยและรื่นรมย์ในกามสมบัติเถิด พระเจ้าจุลนีพรหมทัตจะละกองทัพชาวปัญจาละ หนีไป.
    เนื้อความของคาถานั้นมีว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงเหยียดพระยุคลบาท กล่าวคือเสวยราชย์ของพระองค์ตามสบายเถิด และเมื่อทรงเหยียด อย่าได้คิดเรื่องการสงคราม. โปรดเสวยและรื่นรมย์ในกามสมบัติเถิด พระเจ้าจุลนีพรหมทัตนี้ จักทรงทิ้งกองทัพนี้หนีไป.
    มโหสถบัณฑิตยังพระราชาให้อุ่นพระหฤทัย แล้วออกมาให้ยังกลองแจ้ง เรื่องเล่นมหรสพเที่ยวป่าวร้องในพระนคร. กล่าวกะชาวพระนครว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้วิตกเลย จงยังวัตถุทั้งหลายมีดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ น้ำดื่มและโภชนะเป็นต้น ให้ถึงพร้อมแล้วเริ่มเล่นมหรสพ. มโหสถกล่าวกะชาวพระนครว่า ชนทั้งหลายในที่นั้นๆ จงดื่มใหญ่ จงเล่นดีดสีตีเป่า จงประโคมดนตรี จงฟ้อนรำ จงโห่ร้อง จงเฮฮา จงบันลือเสียงให้เอิกเกริก จงตบมือให้สนุก จงขับร้องตามสบาย ค่าใช้จ่ายสำหรับพวกท่านทั้งหลาย เป็นของเราจัดให้ทั้งนั้น. เราผู้มีนามว่ามโหสถบัณฑิต พวกท่านจักได้เห็นอานุภาพของเรา ยังชาวพระนครให้เบาใจแล้ว. ชาวพระนครได้ทำตามนั้น. ชนทั้งหลายอยู่นอกเมืองย่อมได้ยินเสียง มีเสียงขับประโคมเป็นต้น ก็พากันเข้าสู่ภายในเมืองทางประตูน้อย. ผู้รักษาทั้งหลายย่อมไม่จับกุมบุคคลที่ตนเห็นแล้วๆ นอกจากพวกศัตรู. เพราะฉะนั้น คนเดินเข้าออกมิได้ขาด บุคคลเข้าไปในเมืองย่อมเห็นคนเล่นมหรสพ.
    ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้ทรงสดับเสียงโกลาหลในกรุงมิถิลา จึงตรัสถามอมาตย์ทั้งหลายว่า ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย ในเมื่อพวกเราล้อมเมือง ด้วยกองทัพนับด้วยอักโขภิณีตั้งอยู่แล้ว ความกลัวหรือเพียงความพรั่นพรึง ย่อมไม่มีแก่ชาวเมือง. ชาวเมืองร่าเริงปีติโสมนัส ประโคมฟ้อนรำขับโห่ร้องเกรียวกราว ตบมือ คุกคาม มีเหตุการณ์เป็นไฉน. ลำดับนั้น บุรุษที่มโหสถวางไว้ ก็ทูลมุสาแด่พระราชาว่า ข้าแต่เทพเจ้า พวกเรามีกิจอันหนึ่งเข้าไปในเมืองทางประตูน้อย เห็นประชาชนชาวเมืองเล่นการมหรสพ ได้ซักถามว่า พระราชาในสกลชมพูทวีปมาล้อมเมืองของท่านทั้งหลายตั้งอยู่แล้ว แต่พวกท่านเป็นผู้ประมาทเหลือเกิน เหตุการณ์เป็นอย่างไร. ชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวตอบว่า พระราชาของเราทั้งหลายทรงปรารถนาอย่างหนึ่ง. ได้มีในกาลเมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า ในเมื่อเมืองเราอันพระราชาในสกลชมพูทวีปล้อมแล้ว พวกเราจักเล่นมหรสพ วันนี้ความปรารถนาของพระราชาแห่งพวกเราถึงที่สุด. เพราะฉะนั้น ทางราชการจึงป่าวร้องให้ชาวเมืองเล่นมหรสพ ดื่มใหญ่ในที่ของตนๆ. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้ทรงฟัง ถ้อยคำของพวกบุรุษที่มโหสถวางไว้ ก็ทรงขัดเคือง. ตรัสสั่งเสนาว่า ท่านทั้งหลายจงไป จงรีบถมเมืองข้างนี้ด้วยข้างนี้ด้วย จงทำลายคู จงทำลายกำแพง จงทำลายประตูหอรบ เข้าไปในเมือง เอาศีรษะชาวเมืองมาด้วยเกวียนร้อยเล่ม ดุจเอาฟักเขียวมา ฉะนั้น. จงตัดเศียรพระเจ้าวิเทหราชนำมา.
     
  5. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    โยธาผู้กล้าหาญทั้งหลายได้ฟังพระราชดำรัสสั่ง ก็กุมอาวุธมีประการต่างๆ ไปสู่ที่ใกล้ประตูหอรบ. ถูกทวยหาญของมโหสถประทุษร้าย ด้วยการเทสาดเปือกตม ระคนด้วยก้อนกรวดและเลน ระคนด้วยทราย และการทิ้งก้อนศิลา ก็ถอยกลับลงสู่คูด้วยคิดจะทำลายกำแพง. เหล่าโยธาที่ตั้งอยู่บนประตูเชิงเทินภายใน ก็ทำให้ข้าศึกถึงความพินาศใหญ่ ด้วยเครื่องสังหารมีลูกศรหอกและโตมรเป็นต้น. โยธาของมโหสถย่อมเบียดเบียนโยธาของพระเจ้าจุลนี สำแดงวิการแห่งมือเป็นต้น และด่าบริภาษขู่ด้วยประการต่างๆ พูดยั่วให้โกรธว่า พวกเจ้ามีร่างกายเหน็ดเหนื่อย จงมาดื่มเคี้ยวกินสักหน่อยซิ แล้วสาดสุราทิ้งภาชนะสุราและโยนมัจฉมังสะ กับทั้งไม้เสียบมัจฉมังสะลงไป. ส่วนพวกสัตว์ก็ดื่มเคี้ยวกินเดินไปมาบนกำแพง โยธากรุงปัญจาละไม่อาจจะทำอะไรได้. ก็ไปเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ บุคคลเหล่าอื่นยก ท่านผู้มีอานุภาพแล้ว ไม่สามารถจะเอาชัยชนะได้. พระเจ้าจุลนีประทับแรมอยู่ ๔-๕ ราตรี เมื่อไม่ทรงเห็นอุบายที่จะหักเอาเมืองมิถิลาได้ จึงตรัสถามเกวัฏว่า อาจารย์ พวกเราไม่สามารถจะยึดพระนครได้ แม้คนคนหนึ่ง ก็ไม่สามารถจะเข้าใกล้ จะควรทำอย่างไร. เกวัฎกราบทูลสนองว่า ช่างก่อนเถอะ พระเจ้าข้า. ธรรมดาเมืองมีน้ำภายนอก เราจักเอาเมืองได้ด้วยสิ้นน้ำ พวกในเมืองลำบากด้วยน้ำ จักเปิดประตูเมืองออกมา. พระราชาทรงเห็นชอบด้วยว่า อุบายนี้ดี จำเดิมแต่นั้นมา. พวกข้างกองทัพก็มิให้ใครนำน้ำเข้าไปในเมือง. บุรุษที่มโหสถวางไว้ก็เขียนหนังสือผูกปลายลูกศรยิงส่งข่าวเข้าไปในเมือง. เพราะมโหสถตั้งอาณัติไว้ว่า ใครพบหนังสือที่ปลายลูกศรจงนำมาให้เราดังนี้.
    ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่งเห็นหนังสือที่ปลายลูกศรก็เอาไปแสดงแก่มโหสถ มโหสถรู้ข่าวนั้น จึงนึกว่า พระเจ้าจุลนีไม่รู้จักความที่เราเป็นมโหสถบัณฑิต จึงให้ผ่าไม้ไผ่ยาว ๖๐ ศอกออกเป็น ๒ ซีก รานปล้องออกหมด แล้วประกบกันเข้าอีก รัดด้วยหนัง ทาโคลนข้างบน ให้หว่านโตนดสายบัวและพืชบัวขาว ซึ่งได้มาแต่ดาบสผู้มีฤทธิ์นำมาแต่หิมวันตประเทศ ในเลนใกล้ฝั่งสระโบกขรณี วางไม้ไผ่ไว้ข้างบนกรอกน้ำลงไป คืนเดียวเท่านั้นเกิดดอกขึ้นไปๆ ถึงปลายไม้ไผ่สูงพันราว ๑ ศอก. ลำดับนั้น มโหสถยังบุรุษทั้งหลายของตนให้ถอนสายบัวนั้น โยนให้พวกข้าศึก ด้วยคำว่า พวกท่านจงถวายสายบัวนี้แก่พระเจ้าจุลนี. เหล่าบุรุษของมโหสถทำสายบัวนั้นให้เป็นวลัย แล้วร้องบอกว่า แน่ะท่านทั้งหลาย ผู้เป็นข้าบาทของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต เหล่าท่านอย่าตายด้วยความหิวเลย จงรับเอาดอกอุบลนี้ประดับ เคี้ยวกินสายบัวให้อิ่มหนำ. ร้องบอกฉะนี้ แล้วโยนลงไป บุรุษคนหนึ่งที่มโหสถวางไว้ จึงถือเอาสายบัวนั้นนำไปถวายพระเจ้าจุลนี. กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอได้ทอดพระเนตรสายบัวนี้ สายบัวยาวเท่านี้ เราทั้งหลายไม่เคยเห็นมาแต่ก่อนจนบัดนี้. ครั้นเมื่อพระราชาตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงวัดดู. ก็วัดสายบัวอันยาว ๖๐ ศอก ทูลว่า ๘๐ ศอก. ในเมื่อพระราชาตรัสถามอีกว่า บัวนั่นเกิดในที่ไหน. บุรุษคนหนึ่งที่มโหสถวางไว้กราบทูลเท็จว่า วันหนึ่ง ข้าพระเจ้ากระหายน้ำเข้าไปในเมืองทางประตูน้อย ด้วยคิดจะดื่มสุรา ได้เห็นสระโบกขรณีใหญ่ทั้งหลายที่ขุดไว้ เพื่อประโยชน์แห่งชาวเมืองเล่นน้ำ. มหาชนนั่งในเรือเก็บดอกบัว ดอกบัวนี้เกิดริมฝั่งสระโบกขรณีนั้น ก็แต่สายบัวอันเกิดในที่ลึกยาวราว ๑๐๐ ศอก. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้สดับข้อความนั้น จึงตรัสแก่เกวัฏว่า ดูก่อนท่านอาจารย์ พวกเราไม่อาจจะยึดเอาเมืองนี้ด้วยให้สิ้นน้ำ ท่านเลิกความคิดนี้เสียเถิด.
    พราหมณ์เกวัฏกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น จักยึดเอาเมืองนี้ด้วยให้สิ้นข้าว เพราะธรรมดาว่า นครต้องมีข้าวภายนอก. พระราชาตรัสให้ทำอย่างนั้น. มโหสถบันฑิตรู้ข่าวนั้นโดยนัยหนหลัง จึงนึกว่า พราหมณ์เกวัฏไม่รู้จักความที่เราเป็นมโหสถบัณฑิต จึงให้เทโคลนตามบนกำแพงเมือง แล้วให้หว่านข้าวเปลือกในที่นั้น. ธรรมดา ความประสงค์ของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายย่อมสำเร็จราตรีเดียวเท่านั้น. ข้าวเปลือกก็งอกขึ้นบนกำแพงเมือง. พระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรเห็นต้นข้าวนั้น จึงตรัสถามว่า นั่นอะไรปรากฏเขียวอยู่บนกำแพงเมือง. บุรุษที่มโหสถวางไว้ได้ฟังพระราชกระแส ก็เป็นเหมือนคอยชิงมาแต่พระโอฐสนองพระราชดำรัส จึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า ได้ยินว่า บุตรแห่งคฤหบดีอันมีนามว่ามโหสถบัณฑิต คิดเห็นภัยในอนาคตกาล จึงให้ขนข้าวเปลือก แต่แคว้นขึ้นฉางหลวงไว้ แล้วเก็บงำข้าวเปลือกที่เหลือไว้ริมกำแพง. ได้ยินว่า ข้าวเปลือกเหล่านั้น แห้งไปด้วยแดด ชุ่มไปด้วยฝน และข้าวกล้าทั้งหลายก็เกิดขึ้นพร้อมในที่นั้น. วันหนึ่งข้าพเจ้าเข้าไปโดยประตูน้อยด้วยกิจอันหนึ่ง เห็นกองข้าวเปลือกริมกำแพง ก็หยิบข้าวเปลือกมาจากกองนั้น ทิ้งไว้ริมทาง. ทีนั้นหมู่ชนเมื่อจะพูดกับข้าพระเจ้าว่าชะรอยท่านจะหิว จึงบอกว่า ท่านจงเอาชายผ้าห่อข้าวเปลือกไปเรือนของท่านให้ตำหุงกินซิ. พระเจ้ากรุงปัญจาละได้สดับดังนั้น จึงตรัสกะพราหมณ์เกวัฏว่า เราไม่อาจจะยึดเอาเมืองด้วยให้สิ้นธัญญาหาร อุบายอื่นมีหรือ.
    เกวัฏกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น เราจักยึดเอาด้วยสิ้นฟืน ขึ้นชื่อว่า เมืองย่อมมีฟืนภายนอก. พระราชาตรัสให้ดำเนินการอย่างนั้น. ฝ่ายมโหสถรู้ข่าวนั้นดังหนหลัง ให้ทำกองฟืนประมาณเท่าภูเขา ให้ปรากฏล่วงพ้นข้าวเปลือกบนกำแพง. พวกคนของมโหสถ เมื่อกล่าวเยาะเย้ยเล่นกับโยธาของพระเจ้าจุลนี จึงกล่าวว่า ถ้าพวกท่านหิวจงหุงข้าวกินเสีย แล้วโยนฟืนใหญ่ๆ ลงไปให้. ฝ่ายพระราชาจุลนีทอดพระเนตร เห็นฟืนเป็นอันมากกองพ้นกำแพงเมือง. จึงตรัสถามว่า นั่นอะไร. บุรุษที่มโหสถวางไว้จึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า ได้ยินว่า บุตรคฤหบดีผู้มีนามว่ามโหสถเห็นภัยในอนาคต จึงให้ขนฟืนมากองไว้หลังเรือนแห่งเหล่าสกุล และให้กองไว้ริมกำแพงเมืองก็มิใช่น้อย. พระเจ้ากรุงปัญจาละได้สดับดังนั้น จึงตรัสกะอาจารย์เกวัฏว่า เราไม่อาจจะยึดเอาเมืองด้วยสิ้นฟืน ท่านจงเลิกอุบายนี้เสีย. พราหมณ์เกวัฏทูลว่า ขอพระองค์อย่าได้ทรงวิตก อุบายอื่นยังมี. พระเจ้าจุลนีตรัสถามว่า อุบายอย่างไรอีก เรายังไม่เห็นที่สุดอุบายของท่าน. เราไม่สามารถจะยึดเอาวิเทหรัฐได้ เราจักกลับเมืองของเรา. เกวัฏจึงทูลว่า ความอายว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตกับพระราชาร้อยเอ็ด ไม่สามารถจะยึดเอาวิเทหรัฐได้ จักมีแก่พวกเรา. มโหสถจักเป็นบัณฑิตอย่างไร แม้ข้าพระองค์ก็เป็นบัณฑิตแท้จริง. พวกเราจักทำเลสอันหนึ่ง พระราชาตรัสว่า เลสอะไร.
    เกวัฏจึงทูลสนองว่า พวกเราจักทำธรรมยุทธ์. พระราชาตรัสถามว่า อะไรเรียกว่าธรรมยุทธ์. เกวัฏทูลตอบว่า เสนาจักไม่ต้องรบ. ก็แต่บัณฑิตทั้งสองของพระราชาทั้งสองจักอยู่ในที่เดียวกัน. ในบัณฑิตทั้งสองนั้น บัณฑิตใดจักไหว้ บัณฑิตนั้นจักแพ้. ก็มโหสถไม่รู้ความคิดนี้ และข้าพระองค์ก็เป็นผู้แก่กว่า มโหสถยังเป็นหนุ่ม เห็นข้าพระองค์ก็จักไหว้. มโหสถไหว้ข้าพระองค์ เมื่อใด. ชาวแคว้นวิเทหะก็จักชื่อว่า อันพวกเราชนะแล้ว. ทีนั้น พวกเราจักยังวิเทหรัฐให้ปราชัยแล้วยึดไว้เป็นเมืองของตน. ความอายจักไม่มีแก่พวกเรา ด้วยประการฉะนี้. รบด้วยเลสนี้ชื่อว่าธรรมยุทธ์. ฝ่ายมโหสถได้ทราบรหัสเหตุเหมือนหนหลัง จึงคิดว่า ถ้าเราแพ้เกวัฏ เราก็ไม่ใช่บัณฑิต. ส่วนพระเจ้าจุลนีพรหมทัตตรัสว่า อุบายนี้งามละอาจารย์. ให้เขียนราชสาสน์ความว่า พรุ่งนี้ธรรมยุทธ์จักมี ชนะหรือปราชัยโดยธรรมโดยเสมอจักมีแก่บัณฑิตทั้งสอง. ผู้ใดไม่ทำธรรมยุทธ์ ผู้นั้นชื่อว่าพ่ายแพ้. ดังนี้แล้ว ส่งไปถวายพระเจ้าวิเทหรัฐทางประตูน้อย. พระเจ้ากรุงมิถิลาได้ทรงสดับราชสาสน์นั้น ให้เรียกมโหสถมาแจ้งเนื้อความนั้น. มโหสถกราบทูลว่า ดีแล้วพระเจ้าข้า ขอสมมติเทพ พระราชทานราชสาสน์ตอบไปว่า ชาวกรุงมิถิลาจักเตรียมจัดสนามธรรมยุทธ์ไว้ ทางประตูด้านปัศจิมทิศ. กองทัพกรุงปัญจาละจงมาสู่สนามธรรมยุทธ์. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของมโหสถ จึงพระราชทานราชสาสน์ ตอบแก่ทูตผู้มาแล้ว นั่นเอง.
    มโหสถให้เตรียมจัดสนามธรรมยุทธ์ทางประตูด้านปัศจิมทิศ ด้วยคิดว่า ปราชัยจักมีแก่เกวัฏวันพรุ่งนี้. ฝ่ายเหล่าบุรุษที่มโหสถวางไว้ร้อยเอ็ดคน ก็ล้อมเกวัฏไว้เพื่อประโยชน์แก่การรักษามโหสถด้วยคิดว่า ใครจะรู้เหตุการณ์ เหตุการณ์อะไรจักเกิดมี. ส่วนพระราชาร้อยเอ็ดก็ไปสู่สนามธรรมยุทธ์ ยืนคอยดูทางปราจีนทิศ พราหมณ์เกวัฏก็ไปเช่นนั้นเหมือนกัน. ฝ่ายมโหสถบรมโพธิสัตว์สนานน้ำหอมแต่เช้าทีเดียวแล้ว นุ่งผ้ามาแต่แคว้นกาสีราคานับด้วยแสนกหาปณะ แล้วประดับเครื่องอลังการทั้งปวง บริโภคโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ ไปสู่พระทวารด้วยบริวารใหญ่. ครั้นได้พระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าว่า บุตรของเราจงเข้ามา ดังนี้ ก็เข้าไปถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. ครั้นได้สดับพระราชดำรัสถามถึงเหตุที่มาเฝ้า จึงกราบทูลว่า จักไปสนามธรรมยุทธ์. ครั้นตรัสถามว่า จะต้องการอะไร. จึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์ประสงค์จะลวงเกวัฏด้วยแก้วมณี ควรที่ข้าพระองค์จะได้มณีรัตนะ ๘ คด พระราชาก็ทรงอนุญาต. มโหสถรับมณีรัตนะนั้นแล้ว ถวายบังคมพระราชาลงจากพระราชนิเวศน์ มีโยธาสหชาตพันหนึ่งแวดล้อม. ขึ้นสู่รถอันประเสริฐเทียม ด้วยม้าเศวตสินธพอันควรค่าเก้าแสนกหาปณะ ถึงริมประตูเวลากินอาหารเช้า. ฝ่ายเกวัฏยืนคอยดูทางมาแห่งมโหสถ ด้วยคิดว่า มโหสถจักมาถึงบัดนี้ๆ เป็นเสมือนยื่นคอด้วยแลหา เหงื่อไหลโซมด้วยความร้อนแห่งดวงอาทิตย์.
    ฝ่ายมโหสถเต็มไปด้วยความเป็นผู้มีบริวารมาก ดุจมหาสมุทรท่วมทับ เป็นผู้มิได้สยดสยองมิได้พองขนดุจไกรสรสีหราช ให้เปิดประตูออกจากพระนคร ลงจากรถดำเนินไปโดยว่องไวองอาจดุจพระยาราชสีห์. พระราชาร้อยเอ็ดเห็นสิริรูปแห่งพระโพธิสัตว์ ก็ยังศัพท์สำเนียงเอิกเกริก สรรเสริญเกียรติพระโพธิสัตว์ให้เป็นไปว่า ได้ยินว่า บุตรสิริวัฒกเศรษฐีผู้มีนามว่า มโหสถบัณฑิต เป็นผู้ไม่มีสอง ไม่มีใครเปรียบด้วยความปรีชาในสกลชมพูทวีป. ฝ่ายมโหสถมีสิริสมบัติหาที่เปรียบมิได้ คือมณีรัตนะ เดินตรงไปหาพราหมณ์เกวัฏ. ส่วนปุโรหิตเกวัฏเห็นมโหสถบรมโพธิสัตว์ ก็ไม่อาจจะทรงกายอยู่ได้ ลุกขึ้นต้อนรับกล่าวว่า ท่านมโหสถบัณฑิต เราทั้งสองเป็นบัณฑิตเหมือนกัน เมื่อพวกข้าพเจ้ามาอยู่ที่นี้นานเพราะท่าน ท่านไม่สั่งสักว่าเครื่องบรรณาการมาบ้าง เพราะเหตุไร ท่านจึงได้ทำอย่างนี้. ลำดับนั้น มโหสถกล่าวตอบเกวัฏว่า ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าหาบรรณาการที่สมควรแก่ท่าน พึ่งได้มณีวันนี้เอง ท่านจงรับเอามณีรัตนะนี้ มณีรัตนะอื่นอย่างนี้ หาไม่ได้ทีเดียว เกวัฏเห็นมณีรัตนะอันรุ่งเรืองอยู่ในมือมโหสถ ก็คิดว่า มโหสถจักประสงค์ให้เรา จึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงให้ แล้วเหยียดมือคอยรับ. มโหสถจึงกล่าวว่า ท่านคอยรับเถิดแล้วโยนไปให้ตก ณ นิ้วมือที่เหยียดรับ. ลำดับนั้น เกวัฏไม่อาจทานแก้วมณีอันมีน้ำหนักด้วยนิ้วมือ แก้วมณีก็พลาดตกใกล้เท้ามโหสถ เกวัฏก็น้อมกายลงแทบเท้าแห่งมโหสถด้วยใคร่จะถือเอา เพราะความโลภ. ลำดับนั้น มโหสถก็ไม่ให้เกวัฏลุกขึ้นได้ จับคอเกวัฏไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง จับชายกระเบนไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง กล่าวว่า ลุกขึ้นซิ ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าเป็นเด็กเท่ากับหลานของท่าน ท่านอย่าไหว้ข้าพเจ้าเลย. แล้วยังหน้าของเกวัฏให้สีลงที่พื้นกลับไปกลับมา จนหน้าเปื้อนด้วยโลหิตแล้วกล่าวว่า ดูก่อนคนอันธพาล เจ้าหวังการไหว้แต่เราหรือ. กล่าวฉะนี้ แล้วจับคอซัดไป เกวัฏไปตกลงในที่ราวหนึ่งอุสุภ ลุกขึ้นหนีไป. โยธาของมโหสถก็หยิบเอาแก้วมณีไว้.
    เสียงมโหสถร้องว่า ลุกขึ้นเถิดๆ อย่าไหว้เราเลย ดังนี้ ได้ยินทั่วบริษัท ส่วนบริษัทของมโหสถก็กล่าวว่า เกวัฏไหว้เท้ามโหสถ. แล้วโห่ร้องแซ่เป็นเสียงเดียวกัน. พระราชาร้อยเอ็ด ตลอดพระเจ้าจุลนีก็ได้เห็น เกวัฏน้อมกายลงแทบเท้ามโหสถ พระราชาเหล่านั้นคิดว่า บัณฑิตของพวกเราไหว้มโหสถบัณฑิตแล้ว บัดนี้ พวกเราเป็นอันพ่ายแพ้ มโหสถจักไม่ให้ชีวิตแก่พวกเรา คิดฉะนี้ แล้วต่างก็ขึ้นม้าของตน ปรารภเพื่อหนีตรงไปอุตตรปัญจาละ บริษัทของพระโพธิสัตว์เห็นพระราชาเหล่านั้นหนีไปแล้ว จึงบอกกันว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตพาพระราชาร้อยเอ็ดหนีไปแล้ว แล้วโห่ร้องกันอีก พระราชาทั้งปวงได้สดับเสียงนั้น กลัวแต่มรณภัยก็พากันแตกกองทัพหนีไป บริษัทของพระโพธิสัตว์ก็บันลือสำเนียงเกรียวกราวโกลาหลใหญ่.
    พระมหาสัตว์เป็นผู้เสนางคนิกรแวดล้อม กลับเข้าสู่กรุงมิถิลา.
     
  6. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ฝ่ายกองทัพของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตหนีไปได้ ๓ โยชน์ ฝ่ายเกวัฏก็ขึ้นม้าแล้วเช็ดโลหิตที่หน้าผากไปถึงกองทัพ นั่งอยู่บนหลังม้ากล่าวว่า แน่ะท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าหนีไปเลย เราไม่ได้ไหว้บุตรคฤหบดีผู้ชื่อว่ามโหสถ ดอก. ท่านทั้งหลายหยุดเถิด. เสนาไม่เชื่อไม่หยุดคงเดินไป พากันด่าขู่เกวัฏ. กล่าวว่า แน่ะพราหมณ์ชั่ว ผู้มีธรรมเป็นบาป ท่านกล่าวว่า เราจักทำธรรมยุทธ์ แล้วมาไหว้มโหสถผู้คราวหลาน ผู้ไม่เพียงพอจะไหว้ กิจที่พวกข้าพเจ้าจะพึงทำแก่ท่านไม่มี. กล่าวฉะนี้ แล้วก็ไม่ฟังถ้อยคำของเกวัฏ คงเดินไปนั่นเที่ยว เกวัฏไปโดยเร็วถึงกองทัพจึงกล่าวว่า ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงเชื่อเราเถิด เราไม่ได้ไหว้มโหสถ มโหสถลวงเราด้วยแก้วมณี ยังพระราชาทั้งปวงเหล่านั้นให้รู้ โดยอาการต่างๆ ให้เชื่อถ้อยคำของตน ยังกองทัพอันแตกกระจัดกระจายแล้วนั้น ให้กลับควบคุมกันเป็นปกติ ก็เสนาใหญ่ถึงเพียงนั้น หากจะถือกำฝุ่นหรือก้อนดินก้อนหนึ่งซัดไปไซร้ กองฝุ่นและดินราวเท่ากำแพงเมือง พึงยังคูให้เต็ม ก็แต่ความประสงค์แห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จ เพราะเหตุนั้น แม้บุคคลผู้หนึ่งหันหน้าเฉพาะเมืองซัดกำฝุ่น หรือก้อนดินจึงไม่มีเลย. กองทัพแม้ทั้งปวงกลับถึงสถานที่ตั้งค่ายของตน พระราชาจุลนีตรัสถามเกวัฏว่า เราจักทำอย่างไร อาจารย์.
    เกวัฏทูลตอบว่า เราทั้งหลายไม่ให้ใครๆ ออกจากประตูน้อย ตัดการเข้าออกเสีย ชาวเมืองออกไม่ได้ก็จักเดือดร้อนเปิดประตู ทีนั้น พวกเราจักจับเหล่าปัจจามิตรได้. พระราชาตรัสรับรองว่า อุบายนี้งาม. ฝ่ายมโหสถรู้ข่าวนั้นโดยนัยหนหลัง จึงคิดว่า เมื่อกองทัพปัญจลนครล้อมอยู่ในที่นี้นาน พวกเราจักไม่มีความผาสุก ควรที่จะให้กองทัพนั้นหนีไปด้วยอุบาย จักให้หนีไปเสียด้วยความคิด. มโหสถพิจารณาหาคนฉลาดคิดคนหนึ่ง ก็เห็นพราหมณ์หนึ่ง ชื่ออนุเกวัฏ. จึงให้เรียกตัวมาแจ้งว่า แน่ะอาจารย์ ควรที่ท่านจะช่วยงานอันหนึ่งของพวกเรา. อนุเกวัฏถามว่า ข้าพเจ้าจะทำอะไร ขอให้ท่านบอก. มโหสถบัณฑิตจึงชี้แจงให้อนุเกวัฏทราบว่า ท่านอาจารย์จงขึ้นไปอยู่ตามกำแพงเมือง. เมื่อเห็นกองรักษาฝ่ายเราประมาท จงโยนขนมและปลาเนื้อเป็นต้น เพื่อพวกกองทัพของพระเจ้าจุลนี ในระหว่างๆ แล้วร้องบอกว่า ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงเคี้ยวกินสิ่งนี้ๆ อย่ากระสันเดือดร้อนเลย. จงพยายามอยู่สักสองสามวันเถิด ชาวเมืองมิถิลาก็เดือดร้อน ดุจไก่เดือดร้อนตายอยู่ในกรง ฉะนั้น ไม่ช้านาน ก็จะเปิดประตูเมืองเพื่อพวกท่าน ต่อแต่นั้น พวกท่านจงจับพระเจ้ากรุงมิถิลาและมโหสถผู้ดุร้าย. กองรักษาของพวกเราได้ฟังถ้อยคำของท่านก็จักด่าคุกคามท่าน จะเป็นเหมือนจับมือและเท้าท่าน ประหารด้วยซีกไม้ไผ่ให้กองทัพพระเจ้าจุลนีเห็น แล้วให้ท่านลงจากกำแพงเมือง มุ่นผมท่านให้เป็นจุก ๕ หย่อม แล้วโรยผงอิฐลงบนศีรษะท่าน แล้วให้ท่านทัดดอกยี่โถ แล้วตีท่านเล็กน้อยพอให้เห็นเป็นรอยที่หลังท่าน แล้วให้ท่านขึ้นบนกำแพงเมือง ให้ท่านนั่งในสาแหรก เอาเชือกผูกโรยหย่อนลงไปนอกกำแพงเมือง แล้วแสดงให้กองทัพของพระเจ้าจุลนีได้ยินว่า แน่ะอ้ายโจรทำลายความคิด เองจงไป.
    พวกกองทัพของพระเจ้าจุลนีจักพาท่านไปเฝ้าพระเจ้าจุลนี พระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรเห็นจักตรัสถามท่านว่า ท่านมีความผิดอย่างไร. ทีนั้น ท่านควรทูลอย่างนี้แด่พระเจ้าจุลนีว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า แต่ก่อนข้าพระเจ้ามียศใหญ่ มโหสถโกรธข้าพระเจ้าว่าเป็นผู้ทำลายความคิด จึงทูลพระเจ้าวิเทหราช แล้วชิงเอายศของข้าพระเจ้าเสียทั้งหมด ข้าพระเจ้าคิดว่า จักขอให้พวกพลของพระองค์ตัดศีรษะของบุตรคฤหบดีผู้ชิงยศของข้าพระเจ้าไป คิดฉะนี้ แล้วได้เห็นโยธาของพระองค์เดือดร้อน จึงให้ของควรเคี้ยว ควรกินแก่โยธาเหล่านั้น มโหสถใส่ใจข้าพระเจ้าผู้มีเวรเก่าไว้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ จึงให้ข้าพระเจ้าถึงความพินาศนี้ ชนทั้งปวงของพระองค์รู้เหตุทั้งหมด. ท่านจงยังพระเจ้าจุลนีพรหมทัตให้เชื่อโดยประการต่างๆ เมื่อเกิดความคุ้นเคยกันแล้ว จึงทูลต่อไปว่า ข้าแต่มหาราช จำเดิมแต่กาลที่พระองค์ได้ข้าพระบาทมาแล้ว พระองค์อย่าได้ทรงวิตกเลย บัดนี้ พระชนมชีพของพระเจ้าวิเทหราชและชีวิตของมโหสถจะไม่มี เพราะข้าพระเจ้ารู้สถานที่มั่นคง สถานที่ไม่มีกำลัง และสถานที่มีหรือไม่มีสัตว์ร้ายมีจระเข้เป็นต้น ในคูแห่งกำแพงในเมืองนี้ ข้าพระบาทจักยึดเอาเมืองถวายพระองค์ โดยกาลไม่นานเลย. ครั้นทูลอย่างนี้ พระราชาจุลนีจักทรงเชื่อประทานรางวัลแก่ท่าน แต่นั้น จะให้ท่านปกครองกองทัพและพาหนะของพระองค์ ทีนั้น ท่านจงคุมกองทัพของพระเจ้าจุลนีให้ลงในคูที่มีจระเข้ร้าย กองทัพของพระเจ้าจุลนีก็จักไม่ลงด้วยกลัวจระเข้ กาลนั้น ท่านจงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถยุยงให้กองทัพแตกร้าวเป็นกบฏต่อพระองค์แล้ว ใครๆ ตั้งแต่พระราชาร้อยเอ็ดและพราหมณ์เกวัฏ ที่จะไม่รับสินบนมโหสถไม่มี ชนเหล่านี้ที่แวดล้อมโดยเสด็จทั้งสิ้น ล้วนแต่เป็นพวกของมโหสถ อันเสวกามาตย์ของพระองค์ มีแต่ข้าพระบาทคนเดียวเท่านั้น.
    ถ้าพระองค์ยังไม่ทรงเชื่อ จงมีพระราชโองการแก่พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดว่า เธอทั้งหลายจงแต่งองค์มาหาเรา ดังนี้ ทีนั้น พระองค์ก็จะพึงทอดพระเนตร เห็นอักษรในราชาภรณ์ มีภูษาทรงเครื่องประดับและพระขรรค์เป็นต้น อันมโหสถจารึกนามของตน ถวายไว้แก่พระราชาเหล่านั้น ก็จะพึงทรงเชื่อ ท่านทูลฉะนี้ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็จักทรงทำตามอย่างนั้น จักทอดพระเนตรเห็นอักษรที่จารึก ชื่อมโหสถในราชาภรณ์เหล่านั้น ก็จักทรงเชื่อและกลัวสะดุ้งพระหฤทัย ส่งพระราชาเหล่านั้นกลับไป แล้วจักตรัสหารือท่านว่า บัดนี้ เราจักทำอย่างไรดี ท่านบัณฑิต. ท่านควรกราบทูลพระองค์ดังนี้ว่า มโหสถเป็นคนเจ้ามายามาก ถ้าพระองค์จักประทับอยู่สิ้นวันเล็กน้อย มโหสถก็จักทรงทำปวงเสนาของพระองค์ให้อยู่ในเงื้อมมือตน แล้วจับพระองค์ เราทั้งหลายอย่าเนินช้า รีบขึ้นม้าหนีไปเสีย ในระหว่างมัชฌิมยามวันนี้ ขอมรณภัยของพวกเรา จงอย่ามีในคนอื่นเลย. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตได้ทรงฟังคำของท่านดังนั้น ก็จักทรงทำตาม ท่านจงกลับในเวลาที่พระเจ้าจุลนีหนีไป แล้วยังพวกโยธาของเราให้รู้. พราหมณ์อนุเกวัฏได้ฟังคำชี้แจงนั้น ก็กล่าวว่า ข้าแต่ท่านบัณทิต ดีแล้ว ข้าพเจ้าจักทำตามคำของท่าน. มโหสถจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านควรทนต่อการประหารเล็กน้อย. อนุเกวัฏกล่าวตอบว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต ยกเสียแต่ชีวิตและมือเท้าของข้าพเจ้า เหลือจากนั้น ท่านจงทำตามชอบใจของท่าน. มโหสถจึงให้สิ่งของแก่เหล่าชนในเรือนของอนุเกวัฏ แล้วทำพราหมณ์ให้ถึงประการอันแปลกโดยนัยที่กล่าวแล้ว แล้วให้นั่งในสาแหรก เอาเชือกผูกโรยลงไปให้แก่พวกเสวกของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต.
    ลำดับนั้น พวกเสนาก็จับอนุเกวัฏนำไปถวายพระเจ้าพรหมทัต. พระราชาทรงทดลองแล้ว ก็ทรงเชื่อพราหมณ์อนุเกวัฏ จึงพระราชทานรางวัลแก่อนุเกวัฏแล้วให้ปกครองเสนา. ฝ่ายอนุเกวัฏก็ยังเสนาให้ลงในสถานที่มีจระเข้ร้าย พลนิกายถูกจระเข้ทั้งหลายขบกัด ถูกกองรักษาที่อยู่บนหอรบยิงพุ่งเอาด้วยศร หอกและโตมร ก็ถึงความพินาศใหญ่ จำเดิมแต่นั้นๆ ก็ไม่อาจเข้าไปใกล้ ด้วยความกลัวอันตรายเห็นปานนั้น. ลำดับนั้น อนุเกวัฏเข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนีพรหมทัตทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า พวกคนรบเพื่อประโยชน์แก่พระองค์ไม่มี มีแต่พวกรับสินบนทั้งนั้น. ถ้าพระองค์ไม่เชื่อ จงให้พวกเหล่านั้นมา จักทอดพระเนตรเห็นอักษรจารึก ชื่อมโหสถในเครื่องอุปโภคมีผ้านุ่งที่นุ่งอยู่เป็นต้น. พระเจ้ากรุงอุตตรปัญจาละให้ทำอย่างนั้น ก็ทอดพระเนตรเห็นอักษรในผ้าเป็นต้นแห่งพวกนั้นทั้งหมด ก็เข้าพระทัยแน่ว่าพวกนี้รับสินบน. จึงตรัสถามอนุเกวัฏว่า บัดนี้ เราควรจะทำอย่างไร ท่านอาจารย์. ครั้นอนุเกวัฏทูลตอบว่า กิจอื่นที่ควรทำไม่มี พระเจ้าข้า. ถ้าพระองค์ทรงรีรออยู่ มโหสถจักจับพระองค์. ส่วนอาจารย์เกวัฏก็สาละวนอยู่แต่แผลที่หน้าผากเท่านั้น แต่รับสินบนเหมือนกัน. เพราะแกรับมณีรัตนะแล้ว ยังพระองค์ให้หนีไปสิ้น ๓ โยชน์ ให้ทรงเชื่อถือแล้วให้กลับ. แกนี้แหละยุยงให้กองทัพแตก. ข้าพระองค์ไม่สมัครจะอยู่แม้สักคืนเดียว ควรจะหนีเสียในระหว่างเที่ยงคืนวันนี้. ยกข้าพระองค์เสีย บุคคลอื่นจะเป็นผู้ร่วมพระหฤทัยไม่มี. ครั้นอนุเกวัฏทูลฉะนี้ ก็ตรัสสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านอาจารย์จงผูกม้าที่นั่งแล้วตระเตรียมยาน. อนุเกวัฏรู้ความที่พระเจ้าจุลนีจะหนีโดยทรงวินิจฉัยแน่ จึงทูลให้อุ่นพระหฤทัยว่า อย่ากลัวเลย พระเจ้าข้า. แล้วออกไปข้างนอก สั่งพวกบุรุษที่มโหสถวางไว้ว่า วันนี้พระเจ้าอุตตรปัญญาจาละจะหนี ท่านทั้งหลายอย่าหลับเสีย. สั่งฉะนี้ แล้วผูกม้าที่นั่งมั่นคง อย่างที่รั้งไว้จะให้หยุดมันยิ่งสำคัญว่า วิ่งหนีตะบันไป. แล้วนำมันมาไว้ในระหว่างมัชฌิมยาม แล้วกราบทูลว่า ม้าที่นั่งเตรียมผูกไว้แล้ว พระเจ้าข้า ขอทรงทราบเวลาเสด็จ. พระราชาก็ขึ้นม้าหนีไป. ฝ่ายอนุเกวัฏก็ขึ้นม้าทำเหมือนโดยเสด็จด้วยหน่อยหนึ่งก็กลับ ม้าที่นั่งที่ผูกมั่นคงแม้พระราชารั้งให้หยุด ก็พาพระราชาหนีไปอย่างเดียว.
    ฝ่ายอนุเกวัฏเข้าในหมู่เสนาก็ร้องอึงขึ้นว่า พระราชาจุลนีพรหมทัตเสด็จหนีไปแล้ว พวกบุรุษที่มโหสถวางไว้ก็ร้องบอกกันกับพวกของตน. ฝ่ายพระราชาร้อยเอ็ดได้สดับเสียงนั้น ก็สำคัญว่า มโหสถเปิดประตูเมืองออกมา. บัดนี้เขาจักไม่ไว้ชีวิตพวกเรา ก็กลัวสะดุ้งตกใจ. ไม่เหลียวแลเครื่องอุปโภคบริโภค พากันหนีไปแต่ที่นั้นๆ. ชนทั้งหลายก็ร้องเอ็ดกันขึ้นว่า แม้พระราชาร้อยเอ็ดก็เสด็จหนีไปแล้ว. กองรักษาอยู่ที่บนประตูหอรบได้ยินเสียงนั้น ก็โห่ร้องตบมือกันขึ้น. ขณะนั้น พระนครมิถิลาทั้งสิ้น ทั้งภายในภายนอกก็บันลือเสียงสนั่นหวั่นไหวเป็นอันเดียวกัน. เพียงดังแผ่นดินแยกออก เพียงดังท้องทะเลปั่นป่วน ฉะนั้น. พลนิกาย ๑๘ อักโขภิณีกลัวแต่มรณภัย ด้วยเข้าใจว่า พระเจ้าจุลนีและพระราชาร้อยเอ็ดถูกมโหสถจับไว้ได้แล้ว. ก็ทิ้งแม้ผ้าสาฎกที่พันท้องของตนๆเสียหนีไป สถานที่ตั้งกองทัพว่างเปล่า. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตพาพระราชาร้อยเอ็ดไปสู่นครของตน. วันรุ่งขึ้น พลนิกายชาวกรุงมิถิลาเปิดประตูเมืองออก มาแต่เช้า เห็นสิ่งของกองอยู่เป็นอันมาก. จึงแจ้งแก่มโหสถว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต พวกเราจักทำอย่างไร. มโหสถกล่าวว่า ทรัพย์ที่พวกข้าศึกทิ้งไว้ ตกเป็นของพวกท่าน. พวกท่านจงถวายสิ่งที่เป็นของพระราชาทั้งปวงแด่พระราชาของเราทั้งหลาย. จงนำสิ่งเป็นของเศรษฐีและเกวัฏมาให้แก่เรา ชาวเมืองจงถือเอาสิ่งที่เหลือจากนี้. เมื่อชนทั้งหลายนำรัตนภัณฑ์มีค่ามากไปอยู่ กินเวลาล่วงไปถึงกึ่งเดือน. ก็แต่ชนทั้งหลายนำของอันเหลือจากนั้นไป กินเวลาถึง ๔ เดือน. พระโพธิสัตว์ให้รางวัลเป็นอันมากแก่พราหมณ์อนุเกวัฏ. ได้ยินว่า จำเดิมแต่นั้นมา ชาวกรุงมิถิลาก็บังเกิดมั่งคั่งมั่งมีเงินแลทอง รัตนะมีค่ามากก็เกิดมีมากหลาย.
    พระเจ้าจุลนีพรหมทัตประทับอยู่ ณ เมืองอุตตรปัญจาละกับพระราชาร้อยเอ็ดเหล่านั้น ล่วงไปปีหนึ่ง. อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์เกวัฏแลดูหน้าด้วยกระจก ก็เห็นแผลที่หน้าผาก. จึงคิดว่า นี้มโหสถทำไว้ มโหสถทำเราให้อายแก่พระราชาทั้งหลาย มีประมาณเท่านี้. คิดฉะนี้ ก็เกิดโกรธขึ้น. คิดว่า เมื่อไรหนอ เราจักเป็นผู้สามารถเห็นหลังแห่งมโหสถ. ก็นึกได้ว่า อุบายมีอยู่ ลงสันนิษฐานแน่ว่า พระราชธิดาของพระราชาแห่งเรามีพระนามว่า ปัญจาลจันที มีพระรูปโฉมอุดมเปรียบด้วยเทพอัปสร. เราจักให้พระนางนั้นแก่พระเจ้าวิเทหราช โลมเธอด้วยกาม. แล้วนำเธอผู้เป็น ดังปลากลืนเบ็ดกับมโหสถมา ฆ่าเสียทั้งสองคน แล้วดื่มชัยบาน. ตระหนักแน่ฉะนี้แล้ว จึงเข้าเฝ้ากราบทูลแด่พระเจ้าจุลนีว่า ข้าแต่สมมติเทพ ยังมีความคิดอีกอย่างหนึ่ง. พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำของเกวัฏ จึงตรัสว่า แน่ะท่านอาจารย์ พวกเราไม่เป็นเจ้าของแม้แห่งผ้าสาฎกที่พันท้อง เพราะอาศัยความคิดของท่าน. บัดนี้ ท่านจักทำอะไรอีก นิ่งเสียทีเถิด. เกวัฏจึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า อุบายอื่นเช่นอุบายนี้ไม่มี. พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงกล่าวให้ฟัง. พราหมณ์เกวัฏทูลว่า ถ้าจะทูล ควรอยู่แต่สอง พระเจ้าข้า. พระราชาทรงเห็นชอบด้วย พราหมณ์จึงเชิญเสด็จพระราชาขึ้นบนปราสาท ให้เสด็จเข้าไปในห้องบรรทม แล้วทูลว่า เราทั้งหลายจักโลมพระเจ้าวิเทหราชด้วยกิเลส แล้วเอาตัวมาฆ่าเสียพร้อมกับมโหสถ. พระราชาตรัสว่า อุบายนี้งาม แต่เราจักเล้าโลมนำเขามาอย่างไร. เกวัฏทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระราชธิดาของพระองค์ผู้มีพระนามว่า ปัญจาลจันที ทรงรูปโฉมงดงาม. พวกเราจักให้จินตกวีประพันธ์รูปสมบัติอันทรงสิริ และความงามแห่งอิริยาบถสี่ของพระราชธิดานั้น ด้วยประพันธ์เป็นเพลงขับ. แล้วให้ผู้ชำนาญขับร้องกาพย์กลอนเหล่านั้นในกรุงมิถิลา. ให้มีใจความว่า เมื่อจอมนรินทร์ปิ่นวิเทหรัฐไม่ได้ นารีรัตน์เห็นปานนี้ ราชสมบัติก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนี้. รู้ว่า พระเจ้าวิเทหราชปฏิพัทธ์เกี่ยวเนื่องด้วยการฟัง นั่นแล. ข้าพระองค์จักไปในกรุงมิถิลา กำหนดวันมารับพระราชธิดาอภิเษก. เมื่อข้าพระองค์กำหนดวันกลับมาแล้ว พระเจ้าวิเทหราชก็จักเป็นเหมือนปลากลืนเบ็ด พามโหสถมา. ภายหลังเราทั้งหลาย ก็จักฆ่าพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถเสีย. พระเจ้าจุลนีได้สดับคำของเกวัฏ แล้วทรงยินดีรับรองว่า อุบายของท่านงาม เราทั้งหลายจักทำอย่างนั้น.
    ก็นางนกสาลิกาที่เลี้ยงไว้ในที่บรรทมแห่งพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ได้ฟังความคิดนั้นแล้วได้ทำให้ประจักษ์ พระเจ้าจุลนีให้เรียกพวกจินตกวีเก่ามา พระราชทานทรัพย์เป็นอันมาก. แล้วแสดงพระราชธิดาแก่พวกนั้น ตรัสว่า เจ้าทั้งหลายจงประพันธ์กาพย์กลอน อาศัยรูปสมบัติของธิดานี้. พวกจินตกวีเหล่านั้นก็ประพันธ์เพลงขับอย่างจับใจยิ่ง แล้วขับถวายพระราชา. พระราชาก็พระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่พวกนั้นอีก. นางฟ้อนรำทั้งหลายเรียนกาพย์กลอน แต่สำนักจินตกวีทั้งหลายแล้ว ไปขับร้องในมณฑลมหรสพ. เพลงขับเหล่านั้นได้แพร่ไป ด้วยประการฉะนี้. เมื่อเพลงขับเหล่านั้นได้แพร่ไปในหมู่ประชาชน พระเจ้าจุลนีตรัสให้เรียกพวกขับร้องทั้งหลายมาตรัสสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงจับนกใหญ่ให้มาก ขึ้นสู่ต้นไม้ในราตรี นั่งขับร้องอยู่บนต้นไม้นั้น. ครั้นเวลาใกล้รุ่ง จงผูกกังสดาลที่คอนกเหล่านั้น ปล่อยขึ้นไปแล้ว จึงลงจากต้นไม้. พระเจ้าจุลนีให้ทำดังนั้น เพื่อเหตุให้เป็นของปรากฏว่า แม้เทวดาทั้งหลายก็ขับร้อง พรรณนาพระรูปโฉมแห่งพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงปัญจาละ. พระเจ้าจุลนีตรัสเรียกเหล่าจินตกวีนั้นมาอีกตรัสว่า บัดนี้ เจ้าทั้งหลายจงพรรณนาสรรเสริญว่า นางกุมาริกาเห็นปานนี้ หาสมควรแก่พระราชาอื่นในพื้นชมพูทวีปไม่ นางสมควรแก่พระเจ้าวิเทหราชกรุงมิถิลา และอิสริยยศของนางนี้ผู้เดียวควรแก่พระเจ้าวิเทหราช. ดังนี้ ผูกให้เป็นเพลงขับ. จินตกวีเหล่านั้นทำตามรับสั่ง แล้วขับถวายให้ทรงสดับ. พระเจ้าจุลนีก็พระราชทานทรัพย์แก่พวกนั้น แล้วตรัสสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงไปสู่กรุงมิถิลา แล้วขับโดยอุบายนี้แหละในกรุงมิถิลานั้นอีก. จินตกวีเหล่านั้นเมื่อขับเพลงขับเหล่านั้น ไปถึงกรุงมิถิลา โดยลำดับ ก็ขับ ณ โรงมหรสพ
     
  7. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    มหาชนได้ฟังเพลงขับเหล่านั้น ก็ยังเสียงโห่ร้องเกรียวกราวให้เป็นไป ได้ให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่พวกนั้น. พวกนั้นขับบนต้นไม้ในเวลาราตรี ครั้นใกล้รุ่งก็ผูกกังสดาลที่คอนกทั้งหลาย แล้วลงจากต้นไม้. เสียงโกลาหลเป็นอันเดียวกันว่า แม้เทวดาทั้งหลายก็ขับร้อง พรรณนาพระรูปโฉมของพระราชธิดาพระเจ้ากรุงปัญจาละ ดังนี้. ได้มีในพระนครทั้งสิ้น เพราะได้ยินเสียงกังสดาลในอากาศ. พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับเสียงนั้น จึงให้เรียกพวกนักประพันธ์กาพย์กลอนมา ให้เล่นมหรสพในพระราชนิเวศน์. แล้วทรงดำริว่า ได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีมีพระราชประสงค์จะประทานพระราชธิดาผู้ทรงรูปโฉมอันอุดมเห็นปานนี้แก่เรา. ทรงดำริฉะนี้ ก็ทรงยินดี ได้พระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่นักประพันธ์เหล่านั้น. พวกนั้นก็กลับนำความมากราบทูลพระเจ้าจุลนีพรหมทัต. ลำดับนั้น อาจารย์เกวัฏจึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า บัดนี้ ข้าพระบาทจักไปเพื่อกำหนดวัน. พระราชาตรัสว่า ดีแล้วอาจารย์ ท่านควรจะเอาอะไรไปบ้าง. เกวัฏกราบทูลว่า ควรเอาบรรณาการบ้างเล็กน้อยไป พระเจ้าข้า. ก็ทรงอนุญาต. เกวัฏก็ถือเอาเครื่องบรรณาการไปด้วยบริวารใหญ่ ถึงวิเทหรัฐ.
    เสียงโกลาหลเป็นอันเดียวกันได้บังเกิดในกรุงมิถิลา เพราะได้ฟังการมาของเกวัฏว่า ได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีกับพระเจ้าวิเทหราช จักกระทำสัมพันธไมตรีต่อกัน. ฝ่ายพระเจ้าจุลนีจักประทานพระธิดาของพระองค์ แด่พระราชาของพวกเรา. ได้ยินว่า พราหมณ์เกวัฏมาเฝ้า เพื่อกำหนดวันเสด็จไปอภิเษก. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำนั้น แม้พระมหาสัตว์ก็ได้ฟังเหมือนกัน. ความปริวิตกได้มีแก่พระมหาสัตว์ว่า การที่เกวัฏมาย่อมไม่ชอบใจเรา เราจักรู้เหตุนั้นโดยความเป็นจริง ดังนี้ เพราะได้ยินคำลือนั้น. มโหสถจึงส่งข่าวไปยัง บุรุษที่วางไว้ในสำนักของพระเจ้าจุลนีว่า เจ้าจงรู้ข้อความนี้ตามความเป็นจริงส่งข่าวมาให้รู้. ลำดับนั้น พวกบุรุษที่วางไว้จึงส่งข่าวตอบมาว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายไม่รู้ข้อความนี้ โดยความเป็นจริง. พระเจ้าจุลนีกับเกวัฏนั่งปรึกษากันอยู่ในห้องบรรทม. ก็แต่นกสาลิกาที่เลี้ยงไว้ ในที่บรรทมของพระเจ้าจุลนี รู้ความคิดอันนี้. พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้นแล้ว คิดว่า เราจักไม่ให้เกวัฏเห็นบ้านเมืองที่จัดดีแล้ว จำแนกดีแล้ว อย่างที่ปัจจามิตรไม่มีโอกาส. มโหสถจึงให้ล้อมทางที่มาทั้งสองข้าง และเบื้องบนด้วยเสื่อลำแพน ตั้งแต่ประตูพระนครจนถึงพระราชนิเวศน์ และตั้งแต่พระราชนิเวศน์จนถึงเรือนตน. ให้เขียนภาพโปรยดอกไม้ที่พื้น ให้ตั้งหม้อน้ำมีน้ำเต็ม และให้ปักต้นกล้วยผูกธงไว้. เกวัฏเข้าสู่พระนคร เมื่อไม่เห็นเมืองที่จำแนกดี. แล้วก็คิดว่า พระราชาให้ตกแต่งมรรคาไว้รับเรา. ไม่รู้ว่า เขาทำเพื่อไม่ให้เห็นบ้านเมือง. เกวัฏไปเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าวิเทหราช ถวายเครื่องบรรณาการ ทูลปฏิสันถารแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระเจ้าวิเทหราชทรงทำสักการะ สัมมานะแล้ว. เมื่อจะกราบทูลถึงเหตุการณ์ที่ตนมา ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
    พระราชามีพระราชประสงค์จะทรงทำสันถวไมตรี จะประทานรัตนะทั้งหลายแด่พระองค์ แต่นี้ไป ทูตทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะ กล่าวคำที่น่ารัก จงมา จงกล่าววาจาอันอ่อนหวาน เป็นวาจาที่น่ายินดี ปัญจาลรัฐและวิเทหรัฐทั้งสองนั้น จงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺถวกาโม เต ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระราชประสงค์จะทรงทำสันถวไมตรีกับด้วยพระองค์. บทว่า รตนานิ ความว่า จะประทานรัตนะทั้งหลาย ตั้งต้นแต่พระราชธิดาซึ่งเป็นอิตถีรัตนะแด่พระองค์. บทว่า อาคจฺฉนฺตุ ความว่า ได้ยินว่า ตั้งแต่นี้ไป ทูตทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะ กล่าวคำที่น่ารัก คุมเครื่องบรรณาการแต่อุตตรปัญจาลนคร มาในมิถิลานครนี้ และแต่มิถิลานครนี้ ไปในอุตตรปัญจาลนครนั้น. บทว่า เอกา ภวนฺตุ ความว่า ขอรัฐทั้งสองนั้นจงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทีเดียว ดุจน้ำในคงคาไหลร่วมกับน้ำในยมุนา ฉะนั้น.
    ก็แลครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว เกวัฏได้กราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระราชาของข้าพระเจ้าใคร่จะส่งมหาอมาตย์อื่นมา ก็ไม่สามารถจะแจ้งข่าว ให้เป็นที่ชอบพระราชหฤทัย. เพราะฉะนั้น จึงส่งข้าพระเจ้ามา โดยพระราชโองการว่า ท่านอาจารย์ ท่านจงยังพระเจ้าวิเทหราช ให้ทรงทราบดีแล้วพาเสด็จมา ดังนี้. ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ขอพระองค์เสด็จราชดำเนินไป จักได้พระราชธิดามีรูปงามนัก และสันถวไมตรีกับพระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลาย จักดำรงมั่นแด่พระองค์. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของเกวัฏ แล้วทรงโสมนัส. ข้องอยู่ด้วยอันได้ทรงฟังว่า จักได้พระราชธิดารูปงามที่สุด. จึงตรัสว่า แน่ะอาจารย์ ได้ยินว่า ความวิวาทในเพราะธรรมยุทธ์ได้มีแก่ท่านและมโหสถ. ท่านจงไปหามโหสถบุตรเรา. ท่านทั้งสองเป็นบัณฑิต จงยังกันและกันให้ขมาโทษ ปรึกษาหารือกัน แล้วจงกลับมา. เกวัฏได้ฟังพระราชดำรัส ก็ไปด้วยคิดว่า เราจักพบมโหสถ. ฝ่ายพระมหาสัตว์รู้ว่า เกวัฏ จะมายังสำนักตนวันนั้น. จึงคิดว่า การที่เราจะเจรจากับเกวัฏผู้มีกรรมอันลามกเป็นธรรมดา จงอย่าได้มีเลย. คิดดังนี้ แล้วจึงดื่มเนยใสหน่อยหนึ่งแต่เช้า. ผู้รักษาเรือนเอาโคมัยสดเป็นอันมาก ละเลงเรือนมโหสถ และเอาน้ำมันทาเสาทั้งหลาย แต่ตั้งเตียงผ้าไว้หนึ่งเตียงสำหรับเป็นที่นอนแห่งมโหสถ นอกจากนี้ให้เก็บเสียสิ้น ไม่ว่าเตียงหรือตั่ง. มโหสถได้ให้สัญญาแก่ชนบริวารว่า เมื่อพราหมณ์ปรารถนาจะพูดกับพวกเจ้า. พวกเจ้าพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะพราหมณ์ ท่านอย่าพึงพูดกับท่านบัณฑิต. เพราะวันนี้ ท่านบัณฑิตดื่มเนยใส. ในเมื่อเราทำอาการจะพูดกับเกวัฏ. พวกเจ้าพึงห้ามเสียว่า ท่านดื่มเนยใสอย่างแรง ท่านอย่าพูด. มโหสถจัดอย่างนี้แล้วนุ่งผ้าแดง วางคนรักษาไว้ที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ ชั้น แล้วนอนบนเตียงผ้า. ฝ่ายเกวัฏยืนที่ซุ้มประตูที่ ๑ ของเรือนมโหสถ ถามว่า บัณฑิตอยู่ไหน.
    ลำดับนั้น ชนทั้งหลายก็ห้ามพราหมณ์เกวัฏว่า แน่ะพราหมณ์ ท่านอย่าส่งเสียง ถ้าท่านอยากจะมา จงมานิ่งๆ เพราะวันนี้ ท่านบัณฑิตดื่มเนยใสอย่างแรง ท่านจักต้องไม่ทำเสียงอื้ออึง. ชนทั้งหลายที่ซุ้มประตูนอกจากนี้ ก็กล่าวห้ามพราหมณ์อย่างนั้น. เกวัฏล่วงซุ้มประตูที่ ๗ ก็ถึงสำนักมโหสถ. มโหสถแสดงอาการจะพูด ลำดับนั้น ชนทั้งหลายกล่าวห้ามว่า ท่านอย่าได้พูด เพราะท่านดื่มเนยใสอย่างแรง ประโยชน์อะไรด้วยการพูดกับพราหมณ์ร้ายนี้. เกวัฏไปสำนักมโหสถบัณฑิต ไม่ได้นั่ง ไม่ได้แม้ที่ยืนอาศัยอาสนะ ต้องยืนเหยียบโคมัยสดอยู่. ลำดับนั้น คนใช้ของมโหสถคนหนึ่ง แลดูเกวัฏแล้วเลิกตาขึ้น. คนหนึ่งแลดูแล้วยักคิ้ว. คนหนึ่งแลดูแล้วงอศอกเงื้อ. คนบางพวกแสดงวิการ มีวิการมือและเท้าเป็นต้น. เกวัฏเห็นกิริยาของพวกมโหสถ ก็เก้อเขิน กล่าวว่า แน่ะท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าลาไปละ. เมื่อคนอื่นๆ กล่าวว่า แน่ะพราหมณ์ร้ายถ่อย แกอย่าส่งเสียง ถ้าว่าแกขืนส่งเสียง พวกเราจักทำลายกระดูกแกเสีย. ก็เป็นผู้ทั้งกลัวทั้งตกใจ กลับไปไม่เหลียวหลัง. ลำดับนั้น คนหนึ่งลุกขึ้นตีหลังเกวัฏด้วยซีกไม้ไผ่ คนหนึ่งประหารหลังด้วยฝ่ามือ คนหนึ่งไสคอผลักไปในระหว่าง. เกวัฏทั้งกลัวทั้งตกใจออกไปสู่พระราชวัง ดุจมฤคพ้นจากปากราชสีห์. พระเจ้าวิเทหราชทรงดำริว่า วันนี้บุตรของเราได้ฟังประพฤติเหตุนี้ แล้วจักเป็นผู้ยินดี. ธรรมสากัจฉาใหญ่จะพึงมีแก่บัณฑิตทั้งสอง. วันนี้ บัณฑิตทั้งสองจักยังกันและกันให้ขมาโทษ เป็นลาภของเราหนอ. พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเกวัฏ เมื่อจะตรัสถาม อาการสังสนทนากับมโหสถบัณฑิต. จึงตรัสคาถานี้ว่า
    ดูก่อนอาจารย์เกวัฏ ท่านได้พบกับมโหสถ เป็นอย่างไรหนอ เชิญกล่าวข้อความนั้นเถิด มโหสถกับท่านต่างงดโทษกันแล้วกระมัง มโหสถยินดีแล้วกระมัง.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏินิชฺฌตฺโต ความว่า เพื่อระงับการทะเลาะกันที่เป็นไปในสนามธรรมยุทธ์ มโหสถได้งดโทษให้ท่าน และท่านก็ได้งดโทษให้มโหสถแล้วหรือ. บทว่า กจฺจิ ตุฏฺโฐ ความว่า มโหสถได้ฟังประพฤติเหตุที่พระราชาของพวกท่านส่งมา ยินดีแล้วกระมัง.
    ลำดับนั้น เกวัฏทูลว่า พระองค์อย่าทรงถือ มโหสถว่าเป็นบัณฑิตเลย พระเจ้าข้า คนที่ชื่อว่าเป็นอสัตบุรุษยิ่งกว่ามโหสถไม่มี. แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
    ข้าแต่พระจอมประชากร บุรุษที่ชื่อมโหสถเป็นคนเลว ไม่น่าชื่นชม กระด้าง มิใช่สัตบุรุษ ไม่พูดอะไรสักคำ เหมือนคนใบ้คล้ายคนหนวก.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสพฺภิรูโป ได้แก่ มิใช่ชาติบัณฑิต. บทว่า น กิญฺจิตฺถํ ความว่า มโหสถไม่กล่าวข้อความอะไรๆ กับเราด้วย. เหตุนั้นแล เราจึงเข้าใจเขาว่าไม่ใช่บัณฑิต. เกวัฏกล่าวโทษของพระโพธิสัตว์ ด้วยประการฉะนี้.
    พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของเกวัฏแล้ว ไม่ทรงยินดี ไม่ทรงคัดค้าน โปรดให้พระราชทานเสบียงและเรือนพักอยู่แก่เกวัฏและเหล่าบริวารที่มาด้วย ทรงส่งเกวัฏไปด้วยรับสั่งว่า เชิญท่านอาจารย์ไปพักผ่อน ดังนี้แล้ว ทรงดำริว่า มโหสถบุตรของเราเป็นผู้ฉลาดในปฏิสันถาร ได้ยินว่า เขาไม่ได้ทำปฏิสันถารกับเกวัฏเลย ไม่แสดงความยินดี เขาจักเห็นภัยอะไรๆ ในอนาคต ดำริฉะนี้ แล้วก็เริ่มกถาขึ้นเอง ตรัสคาถานี้ว่า
    บทมนต์นี้เห็นได้แสนยากโดยแท้ ข้อความที่ดีอันนระผู้มีความเพียรเห็นแล้ว ความจริง กายของเราก็หวั่นไหว ใครจักละแคว้นของตน ไปสู่เงื้อมมือของคนอื่นเล่า.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ ความว่า บทมนต์นี้ที่บุตรของเราเห็นแล้ว คนอื่นนอกนี้เห็นได้แสนยากโดยแท้. บทว่า นรวิริเยน ความว่า ข้อความที่ดีอันนระผู้มีความเพียรจักเห็นแล้ว. บทว่า สยํ ความว่า ใครจักละแว่นแคว้นของตน ไปสู่เงื้อมมือของคนอื่นเล่า.
     
  8. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    เมื่อพระเจ้าวิเทหราชทรงนึกถึงข้อความนั้นว่า บุตรของเราจักเห็น โทษในการมาของพราหมณ์เกวัฏ. ด้วยว่าเกวัฏนี้ เมื่อมาจักมิได้มาเพื่อต้องการสันถวไมตรี แต่แกคงมาเพื่อเล้าโลมเราด้วยกามคุณ แล้วพาไปเมืองของตนเอาตัวไว้. บุตรของเราจักเห็นภัยในอนาคตนั้นแล้ว ทรงนึกอยู่อย่างนี้ ก็ทั้งกลัว ทั้งสะดุ้งประทับนั่งอยู่. บัณฑิตทั้ง ๔ คนมาเฝ้า. พระราชาตรัสถามเสนกะว่า การที่เราจะไปอุตตรปัญจาลนครนำพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีมา ท่านชอบใจอยู่หรือ. เสนกะกราบทูลว่า พระองค์รับสั่งอะไร พระเจ้าข้า. เพราะว่า ควรที่พระองค์จะนำสิริซึ่งมาถึงอย่าให้หนีไปเสีย. หากพระองค์เสด็จไปกรุงปัญจาละ ก็จักได้รับพระราชธิดามา. กษัตริย์องค์อื่นยกเสียแต่พระเจ้าจุลนีพรหมทัต จัก เป็นผู้เสมอด้วยพระองค์ย่อมไม่มีในพื้นสกลชมพูทวีป. เพราะอะไร เพราะพระองค์ได้พระราชธิดาของพระราชาผู้เป็นใหญ่มาเป็นมเหสี จริงอยู่. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตเป็นพระราชาเลิศในพื้นสกลชมพูทวีป ใคร่จะยกพระราชธิดา ผู้ทรงพระรูปโฉมอันอุดมถวายแด่พระองค์ ก็ด้วยทรงเห็นว่า พระราชานอกนี้เป็นคนของเรา พระเจ้าวิเทหราชพระองค์เดียวเสมอเรา. ขอพระองค์ทรงทำตามคำของพระเจ้าจุลนีเถิด แม้พวกข้าพระองค์ก็จักได้ผ้าและเครื่องประดับทั้งหลาย เพราะอาศัยพระองค์. พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามอาจารย์อีก ๓ คนที่เหลือ อาจารย์เหล่านั้นก็กราบทูลเช่นเดียวกัน. เมื่อพระราชากำลังรับสั่งอยู่กับอาจารย์ทั้ง ๔. พราหมณ์เกวัฏออกจากเรือนพักรับรอง มาถวายบังคมพระราชาด้วยคิดว่า เราจักทูลลาพระราชากลับ. จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ไม่อาจรอช้า จักทูลลากลับ. พระราชาทรงทำสักการะแก่เกวัฏแล้ว ทรงส่งเขากลับไป. พระมหาสัตว์รู้ว่าเกวัฏกลับแล้ว จึงอาบน้ำแต่งกายไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมพระราชาแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระราชาทรงดำริว่า มโหสถบัณฑิตบุตรเราเป็นผู้มีความคิดมาก ถึงฝั่งแห่งมนต์ ย่อมรู้ข้อความทั้งหลายทั้งในอดีตอนาคตและปัจจุบัน เป็นนักปราชญ์ จักรู้ว่า ควรหรือไม่ควรที่เราจะไปในกรุงปัญจาละ. พระองค์มิได้ตรัสเรื่องของพระองค์ที่ทรงคิดไว้ก่อน เป็นผู้กำหนัดยินดีเพราะราคะ หลงเพราะโมหะ. เมื่อจะตรัสถาม จึงตรัสคาถานี้ว่า
    พวกเราทั้ง ๖ คน เป็นบัณฑิตมีปัญญาสูงสุด ดุจแผ่นดิน มีมติเสมอกันเป็นเอกฉันท์ทีเดียว พ่อมโหสถ แม้เจ้าก็จงทำมติว่า ไปหรือไม่ไป หรืออยู่.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉนฺนํ ความว่า พ่อบัณฑิต พวกเรา ๖ คน คือ พราหมณ์เกวัฏ ๑ เรา ๑ และอาจารย์ ๔ คนเหล่านี้. บทว่า เอกาว มติ ความว่า มีอัธยาศัยเป็นอันเดียวกัน ร่วมกันเหมือนน้ำแม่น้ำคงคาไหลร่วมกับน้ำแม่น้ำยมุนา ฉะนั้น. บทว่า เย ความว่า พระเจ้าวิเทหราชตรัสว่า พวกเราทั้ง ๖ คนเป็นบัณฑิตสูงสุด มีปัญญาสูงสุดดุจแผ่นดินเหล่านั้น ย่อมชอบใจการที่พระเจ้าจุลนีนำพระราชธิดามา. บทว่า านํ ได้แก่ อยู่ในที่นี้เท่านั้น. บทว่า มตึ กโรหิ ความว่า ชื่อว่าความชอบใจของพวกเรา ยังเอาเป็นประมาณไม่ได้. แม้เจ้าก็จงแสดงความคิดว่า การที่พวกเราไปปัญจาลนครเพื่อประโยชน์อาวาหมงคล หรือไม่ไป หรืออยู่ในที่นี้เท่านั้น. เจ้าชอบอย่างไร.
    พระมหาสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น จึงคิดว่า พระราชาองค์นี้เป็นผู้ละโมบในกามารมณ์ ถือเอาคำของอาจารย์ ๔ คนเหล่านี้ด้วยความเป็นอันธพาล ย่อมไม่ทรงทราบโทษที่จะเสด็จไป. เราจักชี้โทษในการเสด็จไป แล้วจักให้กลับพระหฤทัยเสีย คิดฉะนี้ แล้วจึงกล่าว ๔ คาถาว่า
    ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ทรงทราบพระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงมีอานุภาพมาก มีพลมาก ก็พระราชานั้นปรารถนาเพื่อปลงพระชนมชีพของพระองค์ ดุจนายพรานฆ่ามฤคด้วยมฤคี ฉะนั้น.
    ปลาอยากกินของสดคือเหยื่อ ย่อมกลืนเบ็ดที่คด ซึ่งปกปิดไว้ด้วยเนื้ออันเป็นเหยื่อ มันย่อมไม่รู้จักความตายของมัน ฉันใด ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงปรารถนากามย่อมไม่ทรงทราบพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนี เหมือนปลาไม่รู้จักความตายของตน ฉะนั้น.
    ถ้าพระองค์เสด็จไปยังปัญจาลนคร จักต้องสละพระองค์ทันที ภัยใหญ่จักถึงพระองค์ ดุจภัยมาถึงมฤค ตัวตามไปถึงทางประตูบ้าน ฉะนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราช พระมหาสัตว์เรียกพระเจ้าวิเทหราช. บทว่า มหานุภาโว ได้แก่ มียศใหญ่. บทว่า มหพฺพโล ได้แก่ ประกอบด้วยพลนับได้ ๑๘ อักโขภิณี. บทว่า มารณตฺถํ ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความตาย. บทว่า โอกจเรน ได้แก่ แม่เนื้อตัวล่อเหยื่อ ก็นายพรานฝึกแม่เนื้อตัวหนึ่ง แล้วเอาเชือกผูกนำไปป่า พักไว้ในที่พวกเนื้อหากิน. แม่เนื้อนั้นต้องการนำเนื้อโง่มาสำนักตน จึงร้องดังยั่วราคะด้วยสัญญาของตน. เนื้อโง่แวดล้อมด้วยฝูงเนื้อนอนที่พุ่มไม้ในป่า ไม่ให้สัญญาในแม่เนื้อที่เหลือ. ได้ฟังเสียงของแม่เนื้อนั้น มีใจผูกพันเพราะเกี่ยวข้อง ด้วยฟังเสียงของแม่เนื้อนั้น ลุกออกไป ชูคอเข้าไปหาแม่เนื้อตัวนั้น. ยืนให้ความสะดวกอย่างมากแก่นายพราน นายพรานใช้หอกคมกริบแทงเนื้อนั้นให้สิ้นชีวิตในที่นั้นเอง. ในเรื่องนั้น พระเจ้าจุลนีเหมือนนายพราน พระราชธิดาของพระองค์เหมือนแม่เนื้อล่าเหยื่อ พราหมณ์เกวัฏเหมือนอาวุธในมือของนายพราน. อธิบายว่า นายพรานต้องการฆ่าเนื้อด้วยเนื้อล่อเหยื่อ ฉันใด. พระเจ้าจุลนีต้องการฆ่าพระเจ้าวิเทหราชด้วยพระราชธิดา ฉันนั้น. บทว่า อามคิทฺโธ ความว่า ปลาแม้อยู่ในน้ำลึกร้อยวาต้องการเหยื่อ คือของสดที่เขาปิดที่คดของเบ็ดไว้นั้น. กลืนเบ็ดเข้าไปย่อมไม่รู้ความตายของตน. บทว่า ธีตรํ ความว่า พระองค์ทรงปรารถนากาม ย่อมไม่ทรงทราบพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีนั้น เป็นเช่นกับเหยื่อที่พรานเบ็ด คือพระเจ้าจุลนีทรงวางปิดเบ็ด คือคำพูดของพราหมณ์เกวัฏไว้ เหมือนปลาไม่รู้เหยื่อ คือความตายของมัน. บทว่า ปญฺจาลํ ได้แก่ อุตตรปัญจาลนคร. บทว่า อตฺตํ ได้แก่ ตน. บทว่า ปนฺถานุปฺปนฺนํ ความว่า ภัยใหญ่จักมาถึงเนื้อตัวเดินไปตามทางที่ประตูบ้าน. เมื่อพวกมนุษย์ถืออาวุธออกจากบ้านเพื่อต้องการเนื้อ พวกที่เห็นนั้นๆ ย่อมฆ่าเนื้อนั้นเสีย ฉันใด. มรณภัยใหญ่จักมาถึง คือจักเข้าถึงพระองค์ แม้เมื่อเสด็จอุตตรปัญจาลนคร ฉันนั้น. พระมหาสัตว์ทูลข่มพระราชาด้วย ๔ คาถา ด้วยประการฉะนี้.
    พระเจ้าวิเทหราชถูกพระมหาสัตว์ข่มอย่างเหลือเกินทีเดียว ก็ทรงพิโรธว่า มโหสถนี้หมิ่นเราดุจทาสของตน ไม่สำคัญว่าเราเป็นพระราชา รู้ราชสาสน์ที่พระอัครราชส่งมาสำนักเราว่า จักประทานพระราชธิดาดังนี้แล้ว. ไม่กล่าวคำประกอบ ด้วยมงคลแม้คำหนึ่งมากล่าวกะเราว่า เป็นเหมือนเนื้อโง่ เป็นเหมือนปลากลืนเบ็ด และเป็นเหมือนเนื้อเดินตามทางถึงประตูบ้าน จักถึงความตาย. ครั้นกริ้วแล้ว ได้ตรัสคาถาเป็นลำดับว่า
    พวกเรานี่แหละเป็นคนเขลา บ้าน้ำลายที่กล่าวถึง เหตุแห่งการได้รัตนะอันสูงสุดในสำนักเจ้า เจ้าเจริญด้วยหางไถ จะรู้จักความเจริญเหมือนคนอื่นเขา ได้อย่างไร.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาลามฺหเส ความว่า เป็นคนเขลา. บทว่า เอลมูคา ได้แก่ พวกเรานี่แหละมีปากเต็มไปด้วยน้ำลาย. บทว่า อุตฺตมตฺถานิ ได้แก่ เหตุให้ได้นางแก้วอันอุดม. บทว่า ตยี ลปิมฺหา ความว่า กล่าวในสำนักของท่าน. บทว่า กิเมว ความว่า เมื่อจะติเตียนเขา จึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า นงฺคลโกฏิวฑฺโฒ ความว่า พระเจ้าวิเทหราชทรงหมายเนื้อความว่า บุตรคฤหบดีย่อมเจริญด้วยถือหางไถนา ตั้งแต่เป็นหนุ่มเท่านั้น. จึงตรัสด้วยพระราชประสงค์นี้เองว่า เจ้าย่อมรู้งานของบุตรคฤหบดีเท่านั้น ย่อมไม่รู้งานที่เป็นมงคลของกษัตริย์ทั้งหลาย. บทว่า อญฺเญ ความว่า คนอื่นๆ คืออาจารย์เกวัฏหรืออาจารย์เสนกะเป็นต้น รู้จักความเจริญ คือมงคลของกษัตริย์เหล่านี้ ฉันใด เจ้ารู้จักความเจริญเหล่านั้นฉันนั้นละหรือ การรู้จักกิจการของบุตรคฤหบดี นั่นแหละสมควรแก่เจ้า.
    พระเจ้าวิเทหราชด่าบริภาษมโหสถ แล้วตรัสว่า บุตรคฤหบดีทำอันตรายแห่งมงคลแก่เรา ท่านทั้งหลายจงนำเขาออกไปเสีย แล้วตรัสคาถา เพื่อให้นำมโหสถออกไปว่า
    ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสถนี้ให้หายไปเสียจากแว่นแคว้นของเรา เพราะเขาพูดเป็นอันตรายแก่การได้รัตนะของเรา.
    มโหสถรู้ว่า พระราชากริ้ว จึงคิดว่า หากว่าใครอื่นทำตามพระราชดำรัสจับมือหรือคอเรา นั่นไม่ควรแก่เรา เราจะละอายตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น เราจักออกไปเสียเอง คิดฉะนี้แล้ว จึงถวายบังคมพระราชา ลุกจากที่นั่ง กลับไปสู่เคหสถานแห่งตน. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชรับสั่งดังนั้น ด้วยอำนาจพระพิโรธเท่านั้น หาได้ตรัสสั่งใครๆ ให้ทำดังนั้นไม่ เพราะพระองค์มีพระมนัสเคารพในพระโพธิสัตว์. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า พระราชาองค์นี้เป็นอันธพาลเกินเปรียบ ย่อมไม่ทรงทราบประโยชน์ หรือมิใช่ประโยชน์แด่พระองค์ เป็นผู้ปรารถนาในกาม ทรงทราบแต่ว่า จักได้พระราชธิดาของพระเจ้าจุลนี หาทรงทราบภัยในอนาคตไม่. เมื่อเสด็จไปกรุงปัญจาละก็จักถึงความพินาศใหญ่ หาควรที่เราจะทำพระราชดำรัสไว้ในใจไม่ เพราะพระองค์ทรงมีพระอุปการะแก่เรามาก พระราชทานยศใหญ่แก่เรา ควรที่เราจะเป็นปัจจัยแห่งพระองค์. แล้วดำริต่อไปว่า เราจักส่งสุวโปดกไปก่อน รู้ความจริงแล้วไปเองภายหลัง ดำริฉะนี้ แล้วจึงเรียกสุวโปดกมา แล้วส่งไป ณ กรุงปัญจาละนั้น.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
    แต่นั้น มโหสถบัณฑิตได้หลีกไปจาก ราชสำนักของพระเจ้าวิเทหราช ที่นั้นได้เรียกนกสุวบัณฑิตชื่อ มาธูระ*(อรรถกถาเป็น มาถูระ) ผู้เป็นทูตมาสั่งว่า แน่ะสหายตัวมีปีกเขียว เจ้าจงมาทำการขวนขวายเพื่อเรา นางนกสาลิกาที่เขาเลี้ยงไว้ ณ ที่บรรทมของพระเจ้าปัญจาลราชมีอยู่ ก็นางนกนั้นเป็นนกฉลาดในสิ่งทั้งปวง.
    เจ้าจงถามนางนกนั้นโดยพิสดาร. นางนกนั้นรู้ความลับทุกอย่างของพระเจ้าปัญจาลราช และของพราหมณ์เกวัฏผู้โกสิยโคตรทั้งสองนั้น. นกสุวบัณฑิตชื่อมาธูระ ตัวมีปีกเขียวรับคำมโหสถว่า เออ แล้วได้ไปสู่สำนักนางนกสาลิกา.
    แต่นั้น นกสุวบัณฑิตชื่อมาธูระนั้นครั้นไปถึงแล้ว ได้เรียกนางนกสาลิกาตัวมีกรงงาม พูดเพราะมาถามว่า เธอพออดทนอยู่ในกรงงามดอกหรือ เธอมีความผาสุกในเพศดอกหรือ ข้าวตอกกับน้ำผึ้งเธอได้ในกรงงามของเธอดอกหรือ.
    ดูก่อนสหายสุวบัณฑิต ความสุขมีแก่ฉันและความสบายก็มี อนึ่ง ข้าวตอกกับน้ำผึ้งฉันก็ได้เพียงพอ. ดูก่อนสหาย ท่านมาแต่ไหน หรือว่าใครใช้ท่านมา ก่อนแต่นี้ ฉันไม่เคยเห็นท่าน หรือได้ยินเลย.
     
  9. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ดูก่อนสหายสุวบัณฑิต ความสุขมีแก่ฉันและความสบายก็มี อนึ่ง ข้าวตอกกับน้ำผึ้งฉันก็ได้เพียงพอ. ดูก่อนสหาย ท่านมาแต่ไหน หรือว่าใครใช้ท่านมา ก่อนแต่นี้ ฉันไม่เคยเห็นท่าน หรือได้ยินเลย.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หริตปกฺโข ได้แก่ มีปีกเสมอด้วยใบไม้เขียว. บทว่า เวยฺยาวจฺจํ ความว่า มโหสถกล่าวกะนกสุวบัณฑิต ซึ่งมาจับที่ตักในเมื่อตนกล่าวว่า มานี่สหาย เจ้าจงทำการขวนขวายของเราอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้อื่นที่เป็นมนุษย์ไม่อาจทำได้. เมื่อนกสุวบัณฑิตถามว่า ข้าพเจ้าจะทำอะไรนาย. มโหสถก็กล่าวว่า สหาย คนอื่นเว้นพระเจ้าจุลนีและพราหมณ์เกวัฏ ย่อมไม่รู้เหตุที่พราหมณ์เกวัฏมาโดยความเป็นทูต คนสองคนเท่านั้นนั่งปรึกษากันในห้องบรรทมของพระเจ้าจุลนี. แต่มีนางนกสาลิกาที่พระเจ้าปัญจาลราชนั้นเลี้ยงไว้ในที่บรรทม. ได้ยินว่า นางนกสาลิกานั้นรู้ความลับนั้น. เจ้าจงไปในที่นั้น ทำความคุ้นเคยประกอบด้วยเมถุนกับนางนกสาลิกานั้น. ถามความลับของพระเจ้าจุลนีและพราหมณ์เกวัฏ กะนางนกสาลิกานั้นโดยพิสดาร. จงถามนางนกสาลิกานั้นในประเทศที่มิดชิด อย่างที่ใครๆ อื่นจะไม่รู้เรื่องนั้น. ก็ถ้าใครได้ยินเสียงของเจ้า ชีวิตของเจ้าจะไม่มี ฉะนั้น. เจ้าจงถามค่อยๆ ในที่มิดชิด. บทว่า สา เนสํ สพฺพํ ความว่า นางนกสาลิกานั้นรู้ความลับทุกอย่างของชนทั้งสองเหล่านั้น คือพระเจ้าจุลนีและพราหมณ์เกวัฏผู้โกสิยโคตร.
    บทว่า อาโม ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุวโปดกนั้นอันมโหสถบัณฑิตทำสักการะโดยนัยก่อนนั่นแล ส่งไปแล้ว. รับคำของมโหสถว่า เออ ไหว้พระมหาสัตว์ทำประทักษิณ แล้วบินออกทางสีหบัญชรที่เปิดไว้. ไปนครชื่ออริฏฐปุระ ในแคว้นสีพี ด้วยความเร็วปานลม. กำหนดประพฤติเหตุในประเทศนั้น แล้วไปสำนักของนางนกสาลิกา. ไปอย่างไร ก็สุวโปดกนั้นจับที่ยอดแหลม อันเป็นทองของพระราชนิเวศน์. ส่งเสียงอย่างไพเราะอาศัยราคะ. เพราะเหตุไร นางนกสาลิกาได้ฟังเสียงนี้แล้วจักส่งเสียงรับ เป็นสัญญาให้รู้ว่าฉันจักไปหา. แม้นางนกสาลิกานั้นได้ฟังเสียงของสุวโปดกแล้ว ก็จับที่สุวรรณบัญชรใกล้ที่บรรทมของพระราชา มีจิตกำหนัดด้วยราคะ ส่งเสียงรับสามครั้ง. สุวโปดกบินไปหน่อยหนึ่ง ส่งเสียงบ่อยๆ เกาะที่ธรณีสีหบัญชร โดยลำดับ. ตามกระแสเสียงที่นางนกสาลิกากระทำ ตรวจดูว่าไม่มีอันตราย บินไปสำนักของนางนกสาลิกานั้น. นางนกสาลิกาได้กล่าวกะสุวโปดกในที่นี้ว่า มาเถิดสหาย จงจับที่สุวรรณบัญชร. สุวโปดกก็บินไปจับ. บทว่า อามนฺตยี ความว่า สุวโปดกนั้นบินไปอย่างนี้แล้ว ประสงค์จะทำความคุ้นเคยประกอบด้วยเมถุน จึงเรียกนางนกสาลิกานั้น. บทว่า สุฆรํ ได้แก่ กรงงาม เพราะความเป็นที่อยู่ในกรงทอง. บทว่า เวเส ได้แก่ ประกอบด้วยเพศ คือมีชาติตามเพศ. ได้ยินว่า นกสาลิกาชื่อว่า มีชาติตามเพศในหมู่นกทั้งหลาย. เหตุนั้น จึงเรียกนกสาลิกานั้นอย่างนี้. บทว่า ตว ความว่า เรากล่าวในเรือนงามของท่าน. บทว่า กจฺจิ เต มธุนา ลาชา ความว่า สุวโปดกถามว่า เธอได้ข้าวตอกกับน้ำผึ้งดอกหรือ. บทว่า กุโต นุ สมฺม อาคมฺม ความว่า นางนกสาลิกาถามว่า แน่ะสหาย ท่านมาจากไหน เข้าไปในที่นี้. บทว่า กสฺส วา ความว่า หรือว่าใครส่งท่านมาในที่นี้.
    สุวโปดกได้ฟังคำของนางนกสาลิกาแล้ว คิดว่า ถ้าเราบอกว่ามาแต่มิถิลา นางนกสาลิกานี้แม้ถึงความตาย ก็จักไม่ทำความคุ้นเคยกับเรา ก็เรากำหนดนครอริฏฐปุระ ในแคว้นสีพีมาแล้ว ฉะนั้น เราจักทำมุสาวาทกล่าวว่า พระเจ้าสีวิราชทรงส่งมาแต่ที่นั้น คิดฉะนี้ แล้วจึงกล่าวว่า
    ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เขาเลี้ยงไว้ในที่บรรทม บนปราสาทของพระเจ้าสีวิราช พระราชาพระองค์นั้นเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม โปรดให้ปล่อยสัตว์ทั้งหลายที่ถูกขังจากที่ขังนั้นๆ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พนฺเธ ความว่า พระราชาพระองค์นั้นโปรดให้ปล่อยสัตว์ทั้งปวงจากที่ขัง เพราะความที่พระองค์เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม. เมื่อโปรดให้ปล่อยอย่างนี้ พระองค์ตรัสว่า พวกท่านจงเชื่อเราปล่อยมันไป ข้าพเจ้านั้นออกจากกรงทองที่เปิดไว้ ถือเอาอาหารในที่นั้นๆ ตามที่ปรารถนา ภายนอกปราสาท แล้วอยู่ในกรงทองนั่นเอง ไม่เหมือนเธอซึ่งอยู่ในกรงเท่านั้น ตลอดกาลเป็นนิจอย่างนี้.
    ลำดับนั้น นางนกสาลิกาให้ข้าวตอกคลุกน้ำผึ้ง ที่วางอยู่ในกระเช้าทองและน้ำผึ้งเพื่อตนแก่สุวโปดก. แล้วถามว่า แน่ะสหาย ท่านมาแต่ที่ไกล มาในที่นี้เพื่อประสงค์อะไร. สุวโปดกได้ฟังคำนางนกสาลิกา ใคร่จะฟังความลับ จึงมุสาวาทกล่าวว่า
    นางนกสาลิกาตัวหนึ่งพูดอ่อนหวาน เป็นภรรยาของฉัน เหยี่ยวได้ฆ่านางนกสาลิกานั้นเสีย ในห้องที่บรรทมต่อหน้าฉันผู้อยู่ในกรงงามซึ่งเห็นอยู่.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺส เมกา ความว่า นางนกสาลิกาตัวหนึ่งเป็นภรรยาของฉันนั้น. บทว่า ทุติยาสิ ความว่า ได้เป็นภรรยา. บทว่า มญฺชุภาณิกา แปลว่า พูดไพเราะ.
    ลำดับนั้น นางนกสาลิกาถามสุวโปดกว่า ก็อย่างไรเหยี่ยวจึงได้ฆ่าภรรยาของท่านเสีย. สุวโปดกเมื่อจะบอกแก่นางนกสาลิกา จึงกล่าวว่า เธอจงฟัง. วันหนึ่งพระราชาของฉันเสด็จไปเล่นน้ำ ตรัสเรียกฉันไปตามเสด็จ. ฉันจึงพาภรรยาไปตามเสด็จเล่นน้ำ กลับมากับพระราชานั้น ขึ้นปราสาทกับพระองค์พาภรรยาออกมาจากกรง จับอยู่ที่โพรงตำหนักยอดเพื่อผึ่งสรีระ ขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งบินมาเพื่อโฉบ เราทั้งสองผู้ออกจากตำหนักยอด ฉันกลัวแต่ภัย คือความตายบินหนีโดยเร็ว แต่นางนกสาลิกาคราวนั้นมีครรภ์แก่ เพราะฉะนั้น นางจึงไม่อาจหนี. ทีนั้น เหยี่ยวก็ยังนางให้ตายต่อหน้าฉัน ผู้เห็นอยู่แล้วพาหนีไป. ทีนั้น พระราชาของฉันทอดพระเนตร เห็นฉันร้องไห้ด้วยความโศกถึงนาง. จึงตรัสถามว่า เจ้าร้องไห้ทำไม. ได้ทรงฟังความข้อนั้นแล้วรับสั่งว่า พอละเจ้า อย่าร้องไห้ จงแสวงหาภรรยาอื่น. เมื่อฉันได้ฟังรับสั่งจึงกราบทูลว่า ประโยชน์อะไรด้วยภรรยาอื่น ผู้ไม่มีอาจารมรรยาท ไม่มีศีล แม้ที่นำมาแล้ว ผู้เดียวเที่ยวไปดีกว่า. รับสั่งว่า แน่ะสหาย ข้าเห็นนางนกสาลิกาตัวหนึ่ง ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร เช่นกับภรรยาของเจ้า. ก็นางนกสาลิกาเห็นปานนี้ เขาเลี้ยงไว้ในที่บรรทมของพระเจ้าจุลนีมีอยู่. เจ้าจงไปในที่นั้น ถามใจของเขาดู ให้เขาทำโอกาส. ถ้าเจ้าชอบใจเขา จงมาบอกแก่เรา ภายหลังเราหรือพระเทวี จักไปนำนางนั้นมาด้วยบริวารใหญ่ ตรัสฉะนี้ แล้วทรงส่งฉันมาในที่นี้ ฉันจึงมาด้วยเหตุนั้น กล่าวฉะนี้แล้ว สุวโปดกจึงกล่าวว่า
    ฉันรักใคร่ต่อเธอจึงมาในสำนักของเธอ ถ้าเธอพึงให้โอกาส เราทั้งสองก็จะได้อยู่ร่วมกัน.
    นางนกสาลิกาได้ฟังคำของสุวโปดกก็ดีใจ แต่ยังไม่ให้สุวโปดกรู้ว่าตนปรารถนา ทำเป็นไม่ปรารถนากล่าวว่า
    นกแขกเต้าก็พึงรักใคร่กับนางนกแขกเต้า นกสาลิกาก็พึงรักใคร่กับนางนกสาลิกา การที่นกแขกเต้าจะอยู่ร่วมกับนางนกสาลิกา ดูกระไรอยู่.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุโว ความว่า แน่ะสหายสุวบัณฑิต นกแขกเต้านั่นแลพึงรักใคร่นางนกแขกเต้า ซึ่งมีชาติเสมอกันของตน. บทว่า กีทิโส ความว่า ชื่อว่าการอยู่ร่วมของนกที่มีชาติไม่เสมอกัน จะเป็นอย่างไร. เพราะนกแขกเต้าเห็นนางนกแขกเต้าที่มีชาติเสมอกัน ก็จักละนางนกสาลิกาแม้เชยชิดกันมานาน. ความพลัดพรากจากของรักนั้นจักเป็นไปเพื่อทุกข์ใหญ่ ฉะนั้น. แต่ไหนแต่ไรมา ชื่อว่าการอยู่ร่วมของนกที่มีชาติไม่เสมอกัน ย่อมไม่เหมาะสมเลย.
    สุวโปดกได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า นางนกสาลิกานี้หาได้ห้ามเราไม่ ยังทำการบริหารอีกด้วย คงจักปรารถนาเราเป็นแน่. เราจักให้นางนกสาลิกานี้เชื่อถือ เราด้วยอุปมาต่างๆ. คิดฉะนี้แล้ว จึงกล่าวว่า
    เออก็ผู้ใดใคร่ในกามกับนางจัณฑาล ผู้นั้นทั้งหมดย่อมเป็นเช่นกับนางจัณฑาลนั้น เพราะว่าบุคคลไม่เป็นเช่นเดียวกัน ในเพราะกามย่อมไม่มี.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จณฺฑาลิกามปิ ได้แก่ ซึ่งนางจัณฑาล. บทว่า สทิโส ความว่า การอยู่ร่วมกันทุกอย่างย่อมเป็นเช่นเดียวกันทั้งนั้น เพราะมีจิตเป็นเช่นเดียวกัน. บทว่า กาเม ความว่า เพราะในเรื่องกาม จิตเท่านั้นเป็นประมาณ ชาติหาเป็นประมาณไม่.
    ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว สุวบัณฑิตเมื่อจะนำเรื่องอดีตมาชี้แจง เพื่อแสดงความต่างชาติกันไม่เป็นประมาณ ในหมู่มนุษย์ก่อน. จึงกล่าวคาถา เป็นลำดับว่า
    พระราชมารดาของพระเจ้าสีวี พระนามว่า ชัมพาวดี มีอยู่. พระนางเป็นหญิงจัณฑาล ได้เป็นพระมเหสีที่รักของพระเจ้าวาสุเทพกัณหโคตร.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชมฺพาวตี ความว่า พระชนนีของพระเจ้าสีพีราช พระนามว่า ชัมพาวดี. ได้เป็นหญิงจัณฑาล พระนางได้เป็นพระอัครมเหสีที่รักของพระเจ้าวาสุเทพ ผู้เป็นพี่ชายของพี่น้อง ๑๐ คนของกัณหายนโคตร.
    ได้ยินว่า วันหนึ่งพระเจ้าวาสุเทพเสด็จออกจากกรุงทวารวดี ประพาสพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นกุมาริการูปงามคนหนึ่งเป็นจัณฑาล จากบ้านคนจัณฑาลเข้าสู่พระนครด้วยธุระบางอย่าง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระองค์มีจิตปฏิพัทธ์ มีรับสั่งให้ถามว่า ชาติอะไร. แม้ได้สดับว่า ชาติจัณฑาล ก็ยังมีรับสั่งให้ถามว่า มีสามีหรือไม่. ทรงสดับว่า ยังไม่มีสามี. จึงพานางกุมาริกานั้นกลับจากที่นั้นทีเดียว. นำไปพระราชนิเวศน์ ทรงตั้งเป็นอัครมเหสี. พระนางนั้นประสูติพระโอรสพระนามว่า สีวี. เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว พระเจ้าสีวีจึงครองราชสมบัติในกรุงทวาราวดี. สุวโปดกกล่าวคำนี้ หมายเอาเจ้าสีวีนั้น.
     
  10. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    สุวบัณฑิตนำอุทาหรณ์นี้มาอย่างนี้. แล้วกล่าวว่า กษัตริย์แม้เห็นปานนี้ ยังสำเร็จสังวาสกับหญิงจัณฑาล. ใครจะว่าอะไรในเราทั้งสอง ซึ่งเป็นสัตว์ดิรัจฉานเล่า. ความชอบใจในการร่วมประเวณีกันและกันต่างหาก เป็นข้อสำคัญ. กล่าวฉะนี้แล้ว เมื่อจะชักอุทาหรณ์อื่นมาอีก จึงกล่าวว่า
    กินรีชื่อรัตนวดีมีอยู่ แม้นางก็ได้ร่วมรักกะดาบสชื่อวัจฉะ มนุษย์ทั้งหลายร่วมอภิรมย์กับมฤดีก็มี มนุษย์และสัตว์ไม่เป็นเช่นเดียวกัน ในเพราะกามย่อมไม่มี.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วจฺฉํ ความว่า กะดาบสผู้มีชื่ออย่างนั้น. ก็กินรีนั้นได้ร่วมรักกะดาบสนั้นอย่างไร. ในอดีตกาล มีพราหมณ์คนหนึ่งเห็นโทษในกามทั้งหลาย จึงละยศใหญ่ออกบวชเป็นฤๅษี สร้างบรรณศาลาอยู่ ณหิมวันตประเทศ. กินนรเป็นจำนวนมากอยู่ ณ ถ้ำแห่งหนึ่งใกล้บรรณศาลาของฤๅษีนั้น. แมลงมุมตัวหนึ่งอยู่ ณ ประตูถ้ำนั้น. มันได้กัดศีรษะของกินนรเหล่านั้น ดื่มกินโลหิต. ธรรดากินนรทั้งหลายหากำลังมิได้ เป็นชาติขลาด. แม้แมลงมุมตัวนั้นก็ใหญ่โตมาก กินนรทั้งหลายไม่อาจจะทำอะไรมันได้ จึงเข้าไปหาดาบสนั้น. ทำปฏิสันถารแล้ว ดาบสถามถึงเหตุที่มา. จึงพากันบอกว่า มีแมลงมุมตัวหนึ่งประหารชีวิตของพวกข้าพเจ้า. พวกข้าพเจ้าไม่เห็นผู้อื่นจะเป็นที่พึ่งได้. ขอท่านจงฆ่ามันเสีย ทำความสวัสดีแก่พวกข้าพเจ้า. ดาบสได้ฟังคำดังนั้น ก็รุกรานว่า พวกเองไปเสีย. บรรพชิตทั้งหลาย เช่นเราไม่ทำปาณาติบาต. บรรดากินนรเหล่านั้น มีกินรีชื่อรัตนาวดี ยังไม่มีผัว. กินนรเหล่านั้นจึงตกแต่งกินรีรัตนวดีนั้น แล้วพาไปหาดาบส. กล่าวว่า กินรีนี้จงเป็นผู้บำเรอเท้าท่าน. ท่านจงฆ่าปัจจามิตรของพวกเราเสีย. ดาบสเห็นกินรีรัตนวดีก็มีจิตปฏิพัทธ์ จึงสำเร็จร่วมอภิรมย์กับกินรีนั้น แล้วไปยืนที่ประตูถ้ำ. ตีแมลงมุมออกมาหากิน ด้วยค้อนให้สิ้นชีวิต. ดาบสนั้นอยู่สมัครสังวาสกับกินรีนั้น มีบุตรธิดาแล้วทำกาลกิริยา ณ ที่นั้นแล. กินรีรัตนวดีนั้นรักใคร่ดาบสชื่อวัจฉะ ด้วยประการฉะนี้. สุวโปดกนำอุทาหรณ์นี้มา เมื่อจะแสดงว่า วัจฉดาบสเป็นมนุษย์ ยังสำเร็จสังวาสกับกินรีนั้นผู้เป็นดิรัจฉานได้. จะกล่าวไย ถึงเราทั้งสองเป็นนกเป็นดิรัจฉาน ด้วยกันจะร่วมสังวาสกันไม่ได้เล่า. จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า มนุษย์ทั้งหลายร่วมอภิรมย์ด้วยมฤคีอยู่ ดังนี้. มนุษย์เราทั้งหลายอยู่ร่วมกับดิรัจฉานมีอยู่ คือปรากฏอยู่ ด้วยประการฉะนี้.
    นางนกสาลิกานั้น ได้ฟังคำของสุวโปดกแล้ว กล่าวว่า ข้าแต่นาย ขึ้นชื่อว่าจิตจะเป็นอย่างเดียวไปตลอดกาล ย่อมไม่มี. ฉันกลัวแต่ความพลัดพรากจากท่านที่รักจ๊ะสหาย. สุวบัณฑิตแม้นั้นเป็นผู้ฉลาดในมายาสตรี ฉะนั้น เมื่อจะทดลองนางนกสาลิกา จึงกล่าวคาถาอีกว่า
    เอาเถอะ แม่สาลิกาผู้พูดเพราะ ฉันจักไปละ เพราะถ้อยคำของเธอนั้นเป็นเหตุให้รู้ประจักษ์ เธอดูหมิ่นฉันนัก.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจกฺขานุปทํ เหตํ ความว่า คำที่เธอกล่าวทั้งหมดนั้นเป็นแนวทางให้รู้ประจักษ์ คือเป็นเหตุให้รู้ประจักษ์. บทว่า อติมญฺญสิ ความว่า เธอล่วงเกินดูหมิ่นฉันแน่ว่า นกแขกเต้านี้ย่อมปรารถนาเท่านั้น เธอไม่รู้สารสำคัญของฉัน. พระราชาก็บูชาฉัน ฉันหาภรรยาได้ไม่ยาก ฉันจักแสวงหานกตัวอื่นเป็นภรรยา ฉันจักไปละ.
    นางนกสาลิกาได้ฟังคำของสุวโปดก เป็นเหมือนหัวจะแตก เป็นเหมือนถูกกามรดี ที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยการเห็นสุวโปดกนั้น ตามเผาผลาญอยู่. ทำทีเป็นไม่ปรารถนา ด้วยมายาสตรีของตน. ได้กล่าวหนึ่งคาถาครึ่งว่า
    ดูก่อนมาธูรสุวบัณฑิต สิริย่อมไม่มีแก่ผู้ด่วนได้ ขอเชิญท่านอยู่ ณ ที่นี้จนกว่าจะได้เห็นพระราชา จนได้ฟังเสียงตะโพน และได้เห็นอานุภาพของพระราชา.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น สิรี ความว่า แน่ะสหายสุวบัณฑิต สิริย่อมไม่มีแก่ผู้ด่วนได้. งานที่ผู้ด่วนได้กระทำย่อมไม่งาม. ขึ้นชื่อว่าการครองเรือนนั้นหนักยิ่ง ต้องคิดพิจารณาก่อนจึงทำ. ขอเชิญท่านอยู่ในที่นี้ จนกว่าจะได้เห็นพระราชาของพวกเราผู้ประกอบด้วยยศใหญ่. บทว่า โสสิ ความว่า ท่านจักได้ฟังเสียงตะโพนเสียงขับร้อง และเสียงประโคมดนตรีอื่นๆ ที่เหล่านารีผู้มีรูปโฉมอุดมมีลีลา เสมอด้วยกินรีบรรเลงอยู่ในเวลาสายัณห์ และจักได้เห็นอานุภาพและสิริโสภาคอันยิ่งใหญ่ของพระราชา. ท่านจะด่วนไปทำไมเล่าสหาย. แม้ข้ออ้างท่านก็ยังไม่รู้ อยู่ก่อนเถิด ฉันจักให้รู้จักภายหลัง.
    ลำดับนั้น นกทั้งสองก็กระทำเมถุนสังวาสในสายัณหสมัยนั้นเอง มีความสามัคคีบันเทิงอยู่ร่วมเป็นที่รักกัน. ครานั้น สุวโปดกคิดว่า บัดนี้นางนกสาลิกาจักไม่ซ่อนความลับแก่เรา ควรที่เราจักถามนางแล้วไปในทำนองนี้ จึงกล่าวว่า แน่ะสาลิกา. อะไรหรือนาย. ฉันอยากจะถามอะไรเจ้าสักหน่อย. ถามเถิดนาย. เรื่องนั้นงดไว้ก่อน วันนี้เป็นวันมงคลของเรา ไว้วันอื่นฉันจักรู้. นางนกสาริกากล่าวว่า ถ้าคำที่ถามประกอบด้วยมงคล ก็จงถาม ถ้ามิใช่ ก็อย่าเพิ่งถาม. สุวบัณฑิตตอบว่า กถานั้นเป็นมงคลกถา ที่รัก. ถ้าเช่นนั้นก็จงถามเถิด. ลำดับนั้น สุวบัณฑิตกล่าวว่า ถ้าเธออยากฟังเรื่องนั้น ฉันก็จักกล่าวแก่เธอ. เมื่อจะถามความลับนั้น จึงกล่าวหนึ่งคาถากึ่งว่า
    เสียงเซ็งแซ่นี้ ฉันได้ยินภายนอกชนบทว่า พระราชธิดาของพระเจ้าปัญจาลราชมีพระฉวีวรรณดังดาวประกายพรึก พระเจ้ากรุงปัญจาลราชจักถวายพระราชธิดานั้น แก่ชาววิเทหรัฐ คือจักมีการอภิเษกระหว่างพระเจ้าวิเทหราชกับพระราชธิดานั้น.
    เนื้อความของคาถานั้นมีว่า เสียงเซ็งแซ่นี้มาก บทว่า ติโรชนปเท สุโต ความว่า ปรากฏคือรู้กันทั่ว คือแผ่ไปในรัฐอื่นในชนบทอื่น แผ่ไปอย่างไร พระราชธิดาของพระเจ้าปัญจาลราช รุ่งเรืองราวกะดาวประกายพรึก มีพระฉวีวรรณเสมอด้วยดาวประกายพรึกนั้น มีอยู่. พระเจ้าปัญจาลราชจักประทานพระราชธิดานั้นแก่ชาววิเทหรัฐ. บทว่า โส วิวาโห ภวิสฺสติ ความว่า ฉันได้ฟังเสียงที่แผ่ไปอย่างนี้นั้น. จึงคิดว่า กุมาริกานี้ทรงพระรูปโฉมอุดม และพระเจ้าวิเทหราชก็เป็นข้าศึกของพระเจ้าจุลนี. พระราชาอื่นๆที่อยู่ในอำนาจของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตก็มีอยู่เป็นอันมาก. พระเจ้าจุลนีไม่ประทานแก่พระราชาเหล่านั้น. เหตุไร จึงจะประทานพระราชธิดาแก่พระเจ้าวิเทหราชเสีย.
    นางนกสาลิกาได้ฟังคำของสุวบัณฑิตนั้นแล้ว จึงกล่าวอย่างนี้ว่า นาย. เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวอวมงคลในวันมงคล. สุวโปดกจึงย้อนถามว่า ฉันกล่าวว่ามงคล เธอกล่าวว่าอวมงคล. นี่อะไรกันนาย การทำมงคลเห็นปานนี้ จงอย่าได้มีแก่ชนเหล่านั้นแม้เป็นอมิตร . สุวโปดกให้นางนกสาสิกาแจ้งเรื่อง นางว่าไม่กล้าพูด. สุวโปดกจึงว่า ที่รัก จำเดิมแต่กาลที่เธอบอกความลับที่เธอรู้แก่ฉันไม่ได้. การร่วมอภิรมย์กันฉันสามีภรรยา ก็ชื่อว่าไม่มี. นางนกสาลิกาถูกสุวโปดกแค่นไค้นักก็กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง. แล้วกล่าวว่า
    แน่ะมาธูระ การที่เหล่าอมิตรทำวิวาหมงคลเช่นนี้ เหมือนกับการที่พระเจ้าปัญจาลราชจักทำวิวาหมงคล พระราชธิดากับพระเจ้าวิเทหราช ขออย่าได้มีเลย.
    ครั้นนางนกสาลิกากล่าวคาถานี้แล้ว สุโปดกซักถามอีกว่า เพราะเหตุไร เธอกล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้. จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง ฉันจะกล่าวโทษในเรื่องนี้แก่ท่านอีก แล้วกล่าวคาถานอกนี้ว่า
    พระราชาผู้เป็นจอมทัพแห่งชาวปัญจาละ จักทรงนำพระเจ้าวิเทหราชมาแล้ว แต่นั้น ก็จักฆ่าพระเจ้าวิเทหราชเสีย เพราะพระเจ้าจุลนีมิใช่สหายของพระเจ้าวิเทหราช.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตโต นํ ฆาตยิสฺสติ ความว่า พระเจ้าวิเทหราชจักเสด็จมาพระนครนี้ในกาลใด. พระเจ้าจุลนีจักไม่ทรงทำความเป็นสหาย คือมิตรธรรมด้วยพระเจ้าวิเทหราชในกาลนั้น. จักไม่ประทานพระราชธิดาแก่พระเจ้าวิเทหราชนั้น แม้เพื่อทอดพระเนตร. ได้ยินว่า พระเจ้าวิเทหราชนั้นมีอรรถธรรมานุศาสน์อยู่คนหนึ่ง ชื่อมโหสถบัณฑิต. พระเจ้าจุลนีจักฆ่ามโหสถนั้นพร้อมกับพระเจ้าวิเทหราช. พราหมณ์เกวัฏปรึกษากับพระเจ้าจุลนีว่า เราจักฆ่าคนทั้งสองนั้นเสียแล้ว ดื่มชัยบาน. จึงไปกรุงมิถิลา เพื่อจับมโหสถนั้นมา.
    นางนกสาลิกาบอกความลับแก่สุวบัณฑิตโดยไม่เหลือ ด้วยประการฉะนี้. สุวบัณฑิตได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวชมเกวัฏว่า อาจารย์เกวัฏเป็นคนฉลาดในอุบาย. การฆ่าพระเจ้าวิเทหราชเสียด้วยอุบายเห็นปานนี้ น่าอัศจรรย์. แล้วกล่าวว่า ประโยชน์อะไรด้วยอวมงคลเห็นปานนี้แก่เรา นิ่งเสียนอนกันเถิด. รู้ความสำเร็จแห่งกิจที่มา อยู่กับนางนกสาลิกานั้นในราตรีนั้น แล้วกล่าวว่า ที่รัก ฉันจักไปแคว้นสีวี ทูลความที่ฉันได้ภรรยาที่ชอบใจ แด่พระเจ้าสีวีและพระเทวี. แล้วกล่าวเพื่อให้นางนกสาลิกาอนุญาตให้ตนไปว่า
    เอาเถิด เธอจงอนุญาตให้ฉันไปสัก ๗ ราตรี เพียงให้ฉันได้กราบทูลพระเจ้าสีวิราชและพระมเหสีว่า ฉันได้อยู่ในสำนักของนางนกสาลิกาแล้ว.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มเหสิโน ได้แก่ พระมเหสีของพระเจ้าสีวิราชนั้น. บทว่า อาวสโถ ได้แก่ ที่เป็นอยู่. บทว่า อุปนฺติกํ ความว่า ครั้งนั้น สุวโปดกกล่าวว่า ฉันจักบอกพระราชาและพระเทวีทั้งสองนั้นว่า เชิญเสด็จไปสำนักของนางนกสาลิกานั้น ดังนี้. ในวันที่ ๘ จักนำมาที่นี้ จักพาเธอไปด้วยบริวารใหญ่ เธออย่าได้กระวนกระวาย จนกว่าฉันจะมา.
    นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น ไม่ปรารถนาจะแยกกับสุวโปดกเลย แต่ไม่อาจจะปฏิเสธคำของเขาได้ จึงกล่าวคาถา เป็นลำดับว่า
    เอาเถิด ฉันอนุญาตให้ท่านไปประมาณ ๗ ราตรี ถ้าท่านไม่กลับมายังสำนักของฉันโดย ๗ ราตรี ฉันจะสำคัญตัวฉันว่าหยั่งลงแล้ว สงบแล้ว ท่านจักมาในเมื่อฉันตายแล้ว.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มญฺเญ โอกนฺตสนฺตํ มํ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ฉันจะกำหนดตัวฉันว่าปราศจากชีวิตแล้ว. เมื่อท่านไม่มาในวันที่ ๘ จักมาเมื่อฉันตายแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านอย่ามัวชักช้า.
    ฝ่ายสุวบัณฑิตกล่าวด้วยวาจาว่า ที่รัก เธอพูดอะไร แม้ฉันเมื่อไม่เห็นเธอในวันที่ ๘ จะมีชีวิตอยู่ที่ไหนได้. แต่ใจคิดว่า เจ้าจะเป็นหรือตาย ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่เรา. บินขึ้นบ่ายหน้าไปสีวีรัฐ ไปได้หน่อยหนึ่งยังกลับมาสำนักของนางนกสาลิกานั้นอีก กล่าวว่า ที่รัก ฉันไม่เห็นรูปสิริของเธอ ไม่อาจจะทิ้งเธอไปได้ ฉะนั้น ฉันจึงกลับมา. กล่าวฉะนี้ แล้วบินขึ้นอีก ไปกรุงมิถิลา ลงจับที่จะงอยบ่ามโหสถบัณฑิต พระมหาสัตว์อุ้มขึ้นไปบนปราสาทด้วยสัญญานั้น แล้วไต่ถาม. จึงแจ้งประพฤติเหตุนั้นทั้งหมดแก่มโหสถ. ฝ่ายมโหสถก็ได้ให้ สิ่งตอบแทนความชอบแก่สุวโปดกนั้นโดยนัยหนหลัง นั่นแล.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
    ลำดับนั้นแล นกมาธูรสุวบัณฑิตได้บินไปแจ้งแก่มโหสถว่า คำนี้เป็นคำของนางนกสาลิกา.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาลิกาย วจนํ อิทํ ความว่า สุวโปดกได้แจ้ง ข้อความทั้งปวงโดยพิสดารว่า คำนี้เป็นคำของนางนกสาลิกา.
    พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงดำริว่า เมื่อเราไม่อยากให้เสด็จ พระราชาก็จักเสด็จ. ครั้นเสด็จไปแล้วก็จักถึงความพินาศใหญ่. ทีนั้น เมื่อพระราชาประทานยศเห็นปานนี้แก่เรา เราจักถือตามพระราชดำรัสไว้ในใจ แล้วไม่สนองพระเดชพระคุณของพระองค์. ความครหาก็จักมีแก่เรา. เพราะฉะนั้น เราจักล่วงหน้าไปก่อนพระองค์. แล้วเฝ้าพระเจ้าจุลนี สร้างนครเป็นที่ประทับอยู่แห่งพระเจ้าวิเทหราช. ทำให้เป็นนครที่จำแนกดีแล้ว. ให้ทำอุโมงค์เป็นทางเดินยาวราว ๑ คาวุต อุโมงค์ใหญ่ราวกึ่งโยชน์. แล้วอภิเษกพระนางปัญจาลจันที ราชธิดาของพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ให้เป็นบาทบริจาริกาแห่งพระราชาของเรา. ในเมื่อพระราชาร้อยเอ็ดพร้อมด้วยพลนิกาย ๑๘ อักโขภิณีแวดล้อมตั้งอยู่ เราจักปลดเปลื้องพระราชาของเราให้พ้นไป ดุจเปลื้องดวงจันทร์จากปากอสุรินทรราหู ฉะนั้น. แล้วพาเสด็จสู่พระนครมิถิลา ชื่อว่าราชกรณียกิจที่จะมีมาของพระราชาต้องเป็นภารธุระแห่งเรา. เมื่อมโหสถดำริอย่างนี้ ก็เกิดปีติในสรีระ ด้วยกำลังแห่งความปีติ. มโหสถเมื่อจะเปล่งอุทาน จึงกล่าวกึ่งคาถาว่า
    บุคคลบริโภคโภคสมบัติในเรือนของผู้ใด พึงประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ผู้นั้นทีเดียว.
    เนื้อความของกึ่งคาถานั้นมีว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิตได้อิสริยยศใหญ่ บริโภคโภคสมบัติแต่สำนักของพระราชาใด พึงประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่เกื้อกูล ที่เป็นความเจริญ แด่พระราชานั้น. แม้จะทรงด่าบริภาษ ประหาร จับคอคร่าออกไปก็ตาม ด้วยทวารทั้งสาม มีกายทวารเป็นต้น. บัณฑิตทั้งหลายไม่พึงทำกรรม คือการประทุษร้ายมิตรเลย.
    ครั้นดำริดังนี้แล้ว ก็อาบน้ำแต่งตัว ไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ถวายบังคมแล้วยืน ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์จักเสด็จไปอุตตรปัญจาลนครหรือ. พระราชาตรัสตอบว่า เออ จะไป เมื่อเราไม่ได้นางปัญจาลจันที จะต้องการอะไรด้วยราชสมบัติ เจ้าอย่าทิ้งเรา จงไปกับเรา ประโยชน์ ๒ ประการ คือเราได้นารีรัตนะ และราชไมตรีของพระเจ้าจุลนีกับเรา จักตั้งมั่น จักสำเร็จ เพราะเหตุเราทั้งสองไปในกรุงปัญจาละนั้น. ลำดับนั้น มโหสถเมื่อจะทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์จักไปก่อนสร้างพระราชนิเวศน์เพื่อพระองค์. พระองค์ควรเสด็จไป ในเมื่อข้าพระองค์ส่งข่าวมากราบทูล. เมื่อทูลอย่างนี้แล้ว ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
    ข้าแต่พระจอมประชาชน เอาเถิด ข้าพระองค์จักไปสู่ปัญจาลบุรีที่น่ารื่นรมย์ดีก่อน เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระเจ้าวิเทหราชผู้ทรงยศ. ข้าแต่บรมกษัตริย์ ครั้นข้าพระองค์สร้างพระราชนิเวศน์ถวายแล้ว ส่งข่าวมากราบทูลพระองค์เมื่อใด พระองค์พึงเสด็จไปเมื่อนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวเทหสฺส ได้แก่ แด่พระองค์ผู้เป็นพระเจ้าวิเทหราช. บทว่า เอยฺยาสิ แปลว่า พึงเสด็จมา.
    พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทั้งทรงร่าเริง ทั้งทรงโสมนัส ด้วยเข้าพระหฤทัยว่า มโหสถไม่ทิ้งเรา จึงดำรัสว่า แน่ะพ่อมโหสถ เมื่อพ่อไปก่อน พ่อควรจะได้อะไรไปบ้าง. ครั้นมโหสถกราบทูลตอบว่า ควรได้พลและพาหนะไป. จึงตรัสว่า พ่อปรารถนาสิ่งใด จงเอาสิ่งนั้นไป. มโหสถจึงกราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดให้เปิดเรือนจำ ๔ เรือน ให้ถอดเครื่องจำ คือโซ่ตรวนแห่งโจรทั้งหลาย ส่งไปกับข้าพระองค์. ครั้นพระราชทานพระราชานุญาตให้ทำตามชอบใจ จึงให้เปิดเรือนจำ ให้พวกโจรที่กล้า เป็นทหารใหญ่ผู้สามารถยังกิจการในที่ที่ไปแล้วๆ ให้เสร็จ. แล้วกล่าวว่า เจ้าทั้งหลายจงบำรุงเรา. แล้วให้สิ่งของแก่ชนเหล่านั้น แล้วพาเสนา ๑๘ เหล่าผู้ฉลาดในศิลปะต่างๆ มีช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างหนัง ช่างศิลา ช่างเขียน ช่างอิฐเป็นต้นไป ให้เอาเครื่องอุปกรณ์เป็นอันมาก มีมีดขวานจอบเสียมเป็นต้นไปด้วย เป็นผู้มีกองพลใหญ่ห้อมล้อมออกจากนครไป.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ตรัสว่า
    ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตได้ไปสู่บุรีที่น่ารื่นรมย์ดีของพระเจ้าปัญจาลราชก่อน เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์ถวายพระเจ้าวิเทหราชผู้ทรงยศ.
    ฝ่ายพระมหาสัตว์ เมื่อไปในที่ทั้งหลายนั้น ก็ให้สร้างบ้าน บ้านหนึ่งในระยะทางโยชน์หนึ่งๆ แล้วกล่าวกะอมาตย์คนหนึ่งๆว่า ท่านทั้งหลายจงเตรียมจัดช้างม้าและรถไว้. ในกาลเมื่อ พระเจ้าวิเทหราชรับพระนางปัญจาลจันทีกลับไป แล้วพาพระราชาเสด็จไป. ห้ามเหล่าปัจจามิตร อย่าให้ประทุษร้ายได้ ให้เสด็จถึงกรุงมิถิลาโดยเร็ว. สั่งฉะนี้ แล้ววางอมาตย์คนหนึ่งๆ ไว้. ก็ครั้นมโหสถไปถึงฝั่งคงคา จึงเรียกอมาตย์ชื่ออานันทกุมาร มาสั่งส่งไปว่า ดูก่อนอานันทะ ท่านจงพาช่างไม้ ๓๐๐ คนไปเหนือคงคา. ให้ถือเอาไม้แก่น สร้างเรือประมาณ ๓๐๐ ลำ แล้วถากไม้ในที่นั้นนั่นแหละ. บรรทุกไม้เบาๆ ในเรือเอามาโดยพลัน เพื่อต้องการสร้างเมือง. ส่วนมโหสถเองขึ้นเรือข้ามฟากไปฝั่งโน้น นับทางด้วยหมายเท้าก้าวไป จำเดิมแต่สถานที่ขึ้นจากเรือ ก็กำหนดว่า ที่นี้กึ่งโยชน์. อุโมงค์ใหญ่จักมีในที่นี้. นครที่ตั้งพระราชนิเวศน์แห่งพระเจ้าวิเทหราช จักมีในที่นี้. จำเดิมแต่พระราชนิเวศน์นี้ อุโมงค์เป็นทางเดินจักมีในที่ราว ๑ คาวุตจนถึงพระราชมณเฑียร. กำหนดฉะนี้ แล้วเข้าไปสู่กรุงอุตตรปัญจาละ. พระเจ้าจุลนีทรงสดับว่า มโหสถมาถึงก็ทรงโสมนัสยิ่งว่า บัดนี้ ความปรารถนาของเราจักสำเร็จ เราจักเห็นหลังแห่งเหล่าปัจจามิตร. เมื่อมโหสถมา พระเจ้าวิเทหราชจักมาไม่ช้า. ทีนั้น เราจักฆ่าข้าศึกทั้งสองเสีย เสวยราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น. กรุงอุตตรปัญจาละทั้งสิ้นเอิกเกริกโกลาหลว่า ได้ยินว่า ผู้นี้ชื่อมโหสถบัณฑิต ได้ยินว่า พระราชาร้อยเอ็ดอันมโหสถนี้ให้หนีไป ราวกะบุคคลไล่กาให้หนีไป ด้วยก้อนดิน. พระมหาสัตว์ไปสู่พระทวารในขณะที่ชาวเมืองดูชมรูปสมบัติของตนอยู่ ให้กราบทูลพระเจ้าจุลนีให้ทรงทราบ. ครั้นได้รับพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้า จึงเข้าไปถวายบังคมพระราชายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.
    ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีทรงทำปฏิสันถาร ตรัสถามมโหสถว่า พระราชาของเจ้าจักเสด็จมาเมื่อไร. มโหสถทูลว่า จักเสด็จมาในกาลเมื่อ ข้าพระองค์ส่งข่าวไปทูล. พระเจ้าจุลนีตรัสถามว่า ก็ตัวเจ้ามาเพื่อประโยชน์อะไร. มโหสถทูลว่า มาเพื่อสร้างพระราชนิเวศน์แห่งพระราชาของข้าพระองค์. พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ดีแล้ว. แต่นั้น ก็โปรดให้พระราชทานเสบียงแก่เสนาของมโหสถ และพระราชทานสิ่งของเป็นอันมาก และเรือนที่อยู่แก่มโหสถ. แล้วตรัสว่า แน่ะพ่อ เจ้าอย่าเดือดร้อน จงทำราชการที่ควรทำอยู่กับข้า จนกว่าพระราชาของเจ้าจะเสด็จมา. ได้ยินว่า มโหสถขึ้นไปสู่พระราชนิเวศน์ ยืนอยู่แทบเชิงบันไดได้กำหนดว่า ประตูอุโมงค์อันเป็นทางเดิน จักมีในที่นี้. ความปริวิตกได้มีแก่มโหสถว่า พระเจ้าจุลนีตรัสว่า เจ้าจงทำกิจที่ควรทำแก่พวกเราบ้าง ดังนี้. ในเมื่อขุดอุโมงค์ ก็ควรจะให้ทำอย่างที่บันไดนี้จะไม่ทรุดลง. ลำดับนั้น มโหสถจึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีอย่างนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อข้าพระองค์เข้ามาเฝ้ายืนอยู่ที่เชิงบันได ตรวจดูนวกรรมในที่นี้ เห็นโทษที่บันไดใหญ่. ถ้าข้อความที่กราบทูลนี้ชอบด้วยพระราชดำริ ข้าพระองค์จะเอาไม้ทั้งหลายมาปูลาดลงให้เป็นที่พอใจ. พระเจ้าจุลนีทรงอนุญาต มโหสถกำหนดดีแล้วว่า ช่องประตูอุโมงค์จักมีในที่นี้ จึงให้นำบันไดออกเสีย ให้ปูลาดแผ่นกระดาน เพื่อต้องการมิให้มีฝุ่นในที่ทีจะเป็นประตูอุโมงค์. แล้วพาดบันไดไว้ตามเดิมมิให้หวั่นไหว มิให้ทรุดลงได้. เมื่อพระราชาไม่ทรงทราบโทษที่จะพึงมีก็เข้าพระหฤทัยว่า มโหสถทำด้วยความภักดีในเรา.
    มโหสถให้ทำนวกรรมตลอดวันนั้นอย่างนี้แล้ว. รุ่งขึ้น จึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าข้าพระองค์พึงเลือกหา สถานที่ประทับแห่งพระราชาของข้าพระองค์. ข้าพระองค์พึงปฏิบัติทำให้ชอบใจ. พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ดีแล้วพ่อบัณฑิต ยกเสียแต่พระราชนิเวศน์ของข้า. นอกนี้ในกรุงทั้งหมด เจ้าปรารถนาที่ใดเป็นพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าวิเทหราช เจ้าจงเอาที่นั้น. มโหสถกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์เป็นแขกมา ประชาชนคนของพระองค์ที่เป็นคนสนิทมีมาก. คนเหล่านั้นครั้นเมื่อข้าพระองค์เอาเรือนของเขา ก็จักเกิดทะเลาะกับพวกข้าพระองค์. เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จักทำอะไรกับพวกเหล่านั้นได้. พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ดูก่อนบัณฑิต เจ้าอย่าถือเอาคำของพวกนั้น. สถานที่ใดเจ้าชอบใจ เจ้าจงถือเอาสถานที่นั้นทีเดียว. มโหสถจึงกราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่สมมติเทพ พวกนั้นจักมากราบทูลพระองค์บ่อยๆ ความสำราญแห่งพระหฤทัยของพระองค์ และแห่งใจของข้าพระองค์จักไม่มี. ก็ถ้าว่าพระองค์ทรงปรารถนา คนรักษาประตูควรเป็นคนของข้าพระองค์. จนกว่าข้าพระองค์จักหาสถานที่เป็นพระราชนิเวศน์แห่งพระราชาของข้าพระองค์ได้. แต่นั้นพวกนั้นเข้าประตูไม่ได้ ก็จักไม่มา. เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็จักทรงพระสำราญ และข้าพระองค์ก็จักสบายใจ. พระราชาจุลนีทรงอนุญาต. พระมหาสัตว์ตั้งคนของตนไว้ในที่ทั้งปวงคือที่เชิงบันได หัวบันได และประตูใหญ่ สั่งว่าพวกเจ้าอย่าให้ใครๆ เข้าไป.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ไปสู่ตำหนักพระราชมารดาของพระเจ้าจุลนีก่อน แล้วสั่งคนทั้งหลายว่า เจ้าทั้งหลายจงจัดการรื้อตำหนัก. คนใช้เหล่านั้นก็ปรารภ เพื่อจะรื้ออิฐและขุดดินตั้งแต่ซุ้มประตู. พระราชชนนีของพระเจ้าจุลนีได้สดับข่าวนั้น จึงเสด็จมารับสั่งว่า พวกเจ้าจะให้รื้อตำหนักของข้าเพื่ออะไร. ชนเหล่านั้นจึงทูลตอบว่า มโหสถให้รื้อใคร่เพื่อให้สร้างพระราชนิเวศน์แห่งพระราชาของตน. พระราชชนนีจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น อยู่ด้วยกันในตำหนักนี้ก็แล้วกัน. ชนเหล่านั้นทูลตอบว่า พลพาหนะของพระราชาแห่งพวกข้าพระองค์มีมาก ตำหนักนี้ย่อมไม่พอกันอยู่. ข้าพระองค์จักให้สร้างที่ประทับใหม่ให้ใหญ่. พระราชชนนีจึงรับสั่งว่า พวกเจ้าไม่รู้จักข้า ข้าเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าจุลนี ข้าจักไปหาลูกข้า จักรู้กันเดี๋ยวนี้. ชนเหล่านั้นจึงทูลว่า ข้าพระองค์จักรื้อตามพระราชดำรัส ถ้าพระองค์อาจ ก็จงห้าม. พระนางสลากเทวีกริ้ว รับสั่งว่า ข้ารู้จักกิจที่ข้าพึงทำแก่พวกเจ้าเดี๋ยวนี้. ตรัสแล้วเสด็จไปประตูพระราชนิเวศน์. ลำดับนั้น คนเฝ้าประตูก็ห้ามพระราชมารดาว่า แกอย่าเข้าไป. พระราชมารดาตรัสว่า ข้าเป็นพระราชชนนี. ชนเหล่านั้นก็ทูลว่า พวกข้าพระองค์ไม่ทราบ. พระเจ้าจุลนีตรัสสั่งไว้ว่า อย่าให้ใครๆ เข้าไป. เพราะฉะนั้น พระองค์จงเสด็จกลับไปเสีย. พระนางสลากเทวีเมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นที่พึ่งอันพึงยึดถือ ก็เสด็จกลับมาทอดพระเนตรตำหนักของพระองค์ ประทับยืนอยู่. ลำดับนั้น ชนผู้หนึ่งจึงทูลพระนางนั้นว่า แกทำอะไรในที่นี้ จงไปๆ. ว่าแล้วลุกขึ้น ไสพระศอให้ล้มลงยังภูมิภาค. พระนางเจ้าทรงดำริว่า พวกนี้พระราชาลูกเราสั่งแล้วแน่ ใครไม่สามารถจะทำอย่างนี้ ด้วยประการอื่น. เราจักไปหามโหสถ จึงเสด็จไปหามโหสถ ตรัสว่า แน่ะพ่อมโหสถ ท่านให้รื้อตำหนักข้าพเจ้าเพราะอะไร. มโหสถไม่พูดกับพระนางเจ้า แต่บุรุษผู้ยืนอยู่ในที่ใกล้ทูลว่า พระนางจะตรัสอะไรกะมโหสถ พระนางเจ้าจึงรับสั่งว่า มโหสถให้รื้อตำหนักข้าพเจ้าเพื่ออะไร. บุรุษนั้นทูลว่า เพื่อทำที่ประทับแห่งพระเจ้าวิเทหราช. พระราชมารดารับสั่งว่า เมืองใหญ่ถึงเพียงนี้ ทำไมจะหาที่ทำพระราชนิเวศน์ในที่อื่นไม่ได้ เจ้าจงรับสินบนแสนกหาปณะนี้ แล้วให้ทำพระราชนิเวศน์ในสถานที่อื่นเถิด. บุรุษนั้นทูลตอบว่า ดีแล้ว พระแม่เจ้า. ข้าพระองค์จักให้ละตำหนักของพระนาง แต่พระนางอย่ารับสั่งการที่ข้าพระองค์รับสินบนแก่ใครๆ. เพราะว่าชนเหล่าอื่นจะพากันให้สินบนแก่พระองค์แล้วไม่อยากละเรือนของตน. พระนางสลากเทวีรับสั่งตอบว่า การที่ข้าพูดให้ใครรู้นั้น เป็นที่น่าอายแก่ข้าว่า พระราชมารดาได้ให้สินบน ดังนี้. เพราะฉะนั้น ข้าจักไม่บอกแก่ใคร. บุรุษนั้นทูลรับว่า ดีแล้ว. แล้วรับเอากหาปณะ ๑ แสนจากพระนาง. ก็ละตำหนักนั้นไปเรือนเกวัฏ ให้ทำเหมือนกับทำแก่ตำหนักพระนางสลากเทวีนั้น. เกวัฏโกรธไปสู่ราชทวาร เหล่าคนรักษาประตูก็ประหารที่หลังเกวัฏด้วยซีกไม้ไผ่ หนังที่หลังเกวัฏก็เป็นแนวขึ้น เกวัฏไม่เห็นจะพึ่งอะไรได้ก็กลับบ้านให้กหาปณะ ๑ แสนแก่บุรุษนั้น. มโหสถถือเอาสถานที่ตั้งเรือนในนครทั้งสิ้นด้วยอุบายนี้. รับสินบนได้กหาปณะในที่นั้นๆ ประมาณ ๙ โกฏิ. พระโพธิสัตว์พิจารณาในนครทั้งสิ้นแล้วไปเฝ้าพระเจ้าจุลนี พระราชาตรัสถามว่า เป็นอย่างไร พ่อบัณฑิต. สถานที่ตั้งพระราชนิเวศน์เจ้าหาได้หรือยัง. มโหสถกราบทูลว่า ชื่อว่าใครจะไม่ให้ ย่อมไม่มี. แต่ครั้นเมื่อเรือนอันข้าพระองค์ถือเอา ชนเจ้าของก็ย่อมลำบาก การทำความที่ชนเหล่านั้นต้องพลัดพรากจากของรัก ไม่สมควรแก่ข้าพระองค์. เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จักสร้างพระนครให้เป็น สถานที่ประทับแห่งพระราชาของข้าพระองค์. ในที่โน้นระหว่างคงคากับพระนครนี้ ในที่ ๑ คาวุตแต่ที่นี้ ภายนอกพระนครนี้.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 กุมภาพันธ์ 2013
  11. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับก็ยินดี ด้วยทรงเห็นว่า การรบกันภายในเมืองเป็นการลำบาก เสนาฝ่ายเราหรือเสนาฝ่ายอื่นก็อาจรู้ยาก. การทำยุทธนาการภายนอกเมืองเป็นการง่าย จักได้ไม่ต้องทุบตีกันตายในเมือง. ทรงเห็นฉะนี้ จึงตรัสว่า ดีแล้วพ่อ เจ้าจงให้สร้างในสถานที่ที่เจ้ากำหนดเถิด. มโหสถกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักให้ทำในที่ ที่กราบทูลและขอพระราชทานอนุญาตแล้วนั้น. ชาวพระนครอย่าพึงไปสู่ที่ทำนวกรรมของข้าพระองค์ เพื่อหาฟืนและใบไม้ เพราะว่าเมื่อชาวเมืองไป จักเกิดทะเลาะวิวาทกัน. ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ความสำราญพระราชหฤทัยจักไม่มีแด่พระองค์ และความสบายใจก็จักไม่มีแก่ข้าพระองค์. พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ดีแล้ว พ่อบัณฑิต เจ้าจงห้ามไม่ให้ใครไปยังประเทศนั้น. มโหสถทูลต่อไปว่า ข้าแต่สมมติเทพ ช้างทั้งหลายของข้าพระองค์ ชอบเล่นน้ำ. เมื่อน้ำเกิดขุ่นมัวขึ้น ถ้าชาวเมืองจักขัดเคืองพวกข้าพระองค์ว่า จำเดิมแต่มโหสถมา พวกเราไม่ได้ดื่มน้ำใส. ขอพระองค์กรุณาอดกลั้นในเรื่องนี้ อย่ากริ้วพวกข้าพระองค์. พระเจ้าเจ้าจุลนีตรัสว่า ช้างทั้งหลายของพวกเจ้า พวกเจ้าจงปล่อยให้เล่นเถิด. ตรัสฉะนี้ แล้วให้ป่าวร้องว่า ผู้ใดออกจากที่นี้ ไปสู่ที่สร้างพระนครของมโหสถ จักปรับไหมผู้นั้นพันกหาปณะ.
    มโหสถถวายบังคมลาพระเจ้าจุลนีพาพวกของตนออกจากพระนคร ปรารภเพื่อสร้างพระนครในสถานที่กำหนดไว้. ให้สร้างบ้านชื่อคัคคลิริมฝั่งคงคาฟากโน้น ให้ช้างม้ารถพาหนะโคมีกำลังอยู่ในบ้านนั้น พิจารณาการสร้างพระนคร แบ่งการงานทั้งปวงว่า ชนเท่านี้ทำกิจชื่อนี้เป็นต้น และได้เริ่มการงานในอุโมงค์ ประตูอุโมงค์ใหญ่อยู่ริมฝั่งคงคา. ชนทั้งหลายราว ๖,๐๐๐ คนขุดอุโมงค์ใหญ่ นำกรวดทรายที่เทลงๆ นั้น คงคาก็ขุ่นมัวไหลไป ชาวเมืองก็พากันกล่าวว่า ตั้งแต่มโหสถมา พวกเราไม่ได้ดื่มน้ำใส คงคาขุ่นมัวไหลไป เหตุเป็นอย่างไรหนอ. ลำดับนั้น บุรุษที่มโหสถวางไว้ก็แจ้งแก่ชาวเมืองว่า ได้ยินว่า หมู่ช้างของมโหสถเล่นน้ำ ทำให้น้ำในคงคาขุ่นเป็นตม. เพราะเหตุนั้น คงคาจึงขุ่นมัวไหลไป. ธรรมดาว่าความประสงค์ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมสำเร็จ. เพราะเหตุนั้น รากไม้ ศิลา กรวดทั้งปวงในอุโมงค์ ย่อมจมหายไปในพื้นดิน. ประตูแห่งอุโมงค์ซึ่งเป็นทางเดินอยู่ในเมืองนั้น ชนทั้งหลายราว ๓,๐๐๐ คนขุดอุโมงค์ซึ่งเป็นทางเดิน ให้บรรจุกรวดทรายด้วยถุงหนังไปถมในนครนั้น ให้คลุกเคล้าดินและทรายที่เทไวๆ กับน้ำก่อกำแพง และทำกิจอื่นๆ ด้วย.
    ประตูทางเข้ามหาอุโมงค์มีทางในเมือง ประกอบด้วยประตูเป็นคู่ มียนตร์สูง ๑๘ ศอก ก็ในเมื่อเหยียบกดเครื่องสลักห้ามอันหนึ่งเข้า ประตูนั้นก็เปิด. ก่ออิฐ ๒ ข้างแห่งมหาอุโมงค์แล้วให้ฉาบปูน ปูไม้บังเบื้องบนเอาดินเหนียวยาอุดช่องแล้วทาขาว ก็ในอุโมงค์นั้นมีประตูทั้งหมด คือประตูใหญ่ ๘๐ ประตูน้อย ๖๔ ทุกประตูประกอบด้วยยนตร์. ในเมื่อเหยียบกดเครื่องสลักห้ามอันหนึ่งเข้า ประตูทั้งหมดก็ปิด. ในเมื่อเหยียบกดเครื่องสลักห้ามอันหนึ่งเข้า ประตูทั้งหมดก็เปิด. โคมดวงไฟมีมากกว่าร้อย มี ๒ ข้างของมหาอุโมงค์ โคมดวงไฟทั้งสิ้นประกอบด้วยยนตร์ ครั้นเมื่อเปิดยนตร์อันหนึ่ง โคมดวงไฟก็เปิดสว่างพร้อมกันหมด. ครั้นเมื่อปิดยนตร์อันหนึ่ง โคมดวงไฟก็ปิดมืดพร้อมกันหมด.
    ก็ห้องบรรทมร้อยเอ็ดห้องสำหรับพระราชาร้อยเอ็ด มีอยู่ ๒ ข้างแห่งมหาอุโมงค์ ทอดเครื่องลาดต่างๆ ไว้ในห้องบรรทมทุกห้อง. ที่ประทับนั่งแห่งหนึ่งๆ ยกเศวตฉัตรไว้ทุกแห่ง รูปสตรีทำด้วยเส้นป่านรูปหนึ่งๆ งดงามยิ่ง ตั้งไว้อาศัยพระราชสีหาสน์และพระราชมหาสยนะองค์หนึ่งๆ ประดิษฐานไว้แล้ว ถ้าว่า บุคคลไม่จับต้องรูปนั้น ก็ไม่อาจรู้ว่าไม่ใช่รูปคน. อนึ่ง พวกช่างเขียนผู้ฉลาดได้ทำจิตรกรรมเขียนอย่างวิจิตรต่างๆ ทั้ง ๒ ข้างแห่งมหาอุโมงค์ แสดงภาพทั้งปวงไว้ในอุโมงค์แบ่งเขียนเป็นต้นว่า ภาพสักกเทวราชเยื้องกราย มีหมู่เทวดาแวดล้อมและเขาสิเนรุ เขาบริภัณฑ์ สาคร มหาสาคร ทวีป ๔ ป่าหิมพานต์ สระอโนดาต พื้นศิลา ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ สวรรค์ชั้นกามาพจร มีจาตุมหาราชิกาเป็นต้นและสมบัติ ๗ ประการ เกลี่ยกรวดทรายซึ่งมีสีดุจแผ่นเงินที่ภาคพื้น แสดงดอกปทุมห้อยตามช่องเบื้องบน แสดงร้านตลาดขายของมีประการต่างๆ ทั้ง ๒ ข้าง. ห้อยพวงของหอมพวงบุปผชาติเป็นต้นในที่นั้นๆ ประดับอุโมงค์เป็นราวกะสุธรรมาเทพสภา.
    ฝ่ายช่าง ๓๐๐ คน ที่มโหสถให้ไปทำทัพสมภาระแห่งพระราชนิเวศน์ และให้ต่อเรือบรรทุกมานั้น ก็ได้ต่อเรือ ๓๐๐ ลำ บรรทุกทัพสัมภาระที่แต่งเสร็จแล้ว มาทางคงคาแจ้งแก่มโหสถ. มโหสถนำทัพสัมภาระเหล่านั้นไปเป็นเครื่องประกอปใช้การในพระนคร แล้วให้นำเรือทั้งหลายไปรักษาไว้ในที่ปกปิด. สั่งว่า เหล่าเจ้าจงนำมาในวันที่เราสั่ง. การก่อสร้างทั้งปวงในพระนครที่แล้วเสร็จ คือคูน้ำ คูเปือกตม คูแห้ง กำแพงสูง ๑๘ ศอก ป้อมประตูเมือง ซุ้มประตูเมือง พระราชนิเวศน์เป็นต้น โรงช้างเป็นต้น และสระโบกขรณี มหาอุโมงค์ ชังฆอุโมงค์ พระนครทั้งหมดนี้แล้วเสร็จ ๔ เดือน ด้วยประการฉะนี้.
    ต่อนั้นล่วงมาได้ ๔ เดือน พระมหาสัตว์ได้ส่งทูตไปเพื่อเชิญเสด็จพระเจ้าวิเทหราชเสด็จมา.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
    มโหสถสร้างพระราชนิเวศน์เพื่อพระเจ้าวิเทหราชผู้ทรงยศเสร็จแล้ว ภายหลังจึงส่งทูตทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอเชิญพระองค์เสด็จมาบัดนี้ พระราชนิเวศน์ที่สร้างเพื่อพระองค์สำเร็จแล้ว.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาหิณี แปลว่า ส่งไปแล้ว.
     
  12. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของทูต ก็ทรงโสมนัส เสด็จไปด้วยราชบริพารเป็นอันมาก.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
    ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราช พร้อมด้วยจตุรงคเสนาเสด็จไปสู่นคร อันมั่งคั่งที่มโหสถสร้างไว้ในแคว้นกัปปิละ เพื่อทอดพระเนตรพาหนะ อันหาที่สุดมิได้.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนนฺตพาหนํ ได้แก่ พาหนะมีช้างและม้าเป็นต้นประมาณมิได้. บทว่า กปฺปิลิยํ ปุรํ ได้แก่ นครที่มโหสถบัณฑิตสร้างไว้ในแคว้นกัปปิละ.
    พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปโดยลำดับถึงฝั่งคงคา. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ก็ไปรับเสด็จให้เข้าสู่นครที่ตนสร้าง พระราชาเสด็จไปสู่ปราสาทอันประเสริฐในนครนั้น สนานพระวรกาย ทรงแต่งพระองค์แล้ว เสวยโภชนาหารมีรสอันเลิศ ทรงพักผ่อนหน่อยหนึ่งแล้ว เวลาเย็นทรงสั่งราชทูตไปยังสำนักพระเจ้าจุลนี เพื่อให้ทรงทราบว่าพระองค์เสด็จมาถึงแล้ว.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
    ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปถึงแคว้นกัปปิละแล้ว ทรงส่งพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้าจุลนีพรหมทัตว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า หม่อมฉันมาเพื่อถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ ขอพระองค์โปรดพระราชทาน พระราชธิดาผู้งดงามทั่วองค์ประดับด้วยราชาลังการล้วนแต่ทองคำ ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง ให้เป็นมเหสีของหม่อมฉัน ณ บัดนี้เถิด.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วนฺทิตุ ํ ความว่า พระเจ้าวิเทหราชมีพระชนม์แก่กว่าพระเจ้าจุลนี พระเจ้าจุลนีไม่พอที่จะเป็น แม้เพียงพระโอรสของพระเจ้าวิเทหราช แต่พระเจ้าวิเทหราชหมกมุ่นไปด้วยกิเลส จึงทรงดำริว่า พระเจ้าจุลนีเป็นพระสัสสุระที่เราผู้เป็นพระชามาตาควรถวายบังคม ไม่ทรงทราบความคิดของพระเจ้าจุลนี จึงทรงส่งสาสน์ถวายบังคมไป. บทว่า ททาหิทานิ ความว่า พระเจ้าวิเทหราช ทรงส่งสาสน์ไปว่า พระองค์โปรดเรียกหม่อมฉันมาว่า จะประทานพระราชธิดา ขอได้โปรดประทานพระราชธิดานั้นแก่หม่อมฉัน ในบัดนี้เถิด.
    บทว่า สุวณฺณปฏิจฺฉนฺนํ ได้แก่ ประดับด้วยเครื่องประดับทองคำ.
    ฝ่ายพระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับถ้อยคำของราชทูต ก็ทรงโสมนัส ดำริว่า บัดนี้ ปัจจามิตรของเราจักไปข้างไหนพ้น เราจักตัดศีรษะเขาทั้งสองคน แล้วดื่มชัยบาน เมื่อจะทรงแสดงพระโสมนัสส่วนเดียวให้ปรากฏ จึงพระราชทานรางวัลแก่ราชทูต แล้วตรัสคาถาเป็นลำดับมาว่า
    ดูก่อนพระเจ้าวิเทหราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว เสด็จมาแต่ไกล ก็เหมือนใกล้ พระองค์หาฤกษ์อาวาหมงคลไว้ หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดาประดับด้วยราชาลังการล้วนแต่ทองคำ ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวงแด่พระองค์.
    ในคาถานั้น พระเจ้าจุลนีได้สดับสาสน์ของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว ตรัสเรียกพระเจ้าวิเทหราชนั้น ดุจเสด็จอยู่เฉพาะพระพักตร์ว่า เวเทห. อีกนัยหนึ่ง ทรงสั่งให้ราชทูตไปทูลว่า พระเจ้าพรหมทัตจุลนีตรัสอย่างนี้ จึงตรัสอย่างนี้.
    ราชทูตได้ฟังดังนั้น จึงไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงหาฤกษ์ ที่สมควรแก่การพระราชพิธีอาวาหมงคล พระเจ้าจุลนีจะถวายพระราชธิดาแด่พระองค์. พระเจ้าวิเทหราชจึงส่งราชทูตไปอีกว่า วันนี้แหละฤกษ์ดี.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
    ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชก็ได้ทรงหาพระฤกษ์ ครั้นหาพระฤกษ์ได้แล้ว จึงได้ทรงส่งพระราชสาสน์ไป ถวายพระเจ้าพรหมทัตว่า ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระราชธิดาผู้งดงามทั่วองค์ ประดับด้วยราชาลังการล้วนแต่ทองคำ ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง ให้เป็นมเหสีของหม่อมฉัน ณ บัดนี้เถิด.
    ฝ่ายพระเจ้าจุลนีตรัสตอบว่า
    หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดาผู้งดงามทั่วองค์ ประดับด้วยราชาลังการล้วนแต่ทองคำ ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง แด่พระองค์ในบัดนี้.
    ครั้นพระเจ้าจุลนีตรัสคาถานี้แล้ว ตรัสลวงว่า จะส่งไปเดี๋ยวนี้ๆ ดังนี้ ได้ประทานสัญญาแก่พระราชาร้อยเอ็ดว่า ท่านทั้งปวงกับเสนา ๑๘ อักโขภิณี จงเตรียมออกรบ วันนี้เราจักตัดศีรษะข้าศึกทั้งสอง พรุ่งนี้จักได้ดื่มชัยบาน. พระราชาร้อยเอ็ดเหล่านั้นทั้งหมดก็ออก ในขณะนั้นทีเดียว. ฝ่ายพระเจ้ากรุงปัญจาละ เมื่อจะเสด็จออกทำการยุทธ์ ก็ยังพระนางสลากเทวีผู้พระราชมารดา พระนางนันทาเทวีผู้พระมเหสี พระปัญจาลจันทะผู้ราชโอรส พระนางปัญจาลจันทีผู้พระราชธิดา รวม ๔ องค์ให้อยู่ในตำหนักเดียวกัน กับนางสนมทั้งหลาย จึงเสด็จออกสงคราม.
    ฝ่ายมโหสถบรมโพธิสัตว์ทำราชสักการะเป็นนักหนา แด่พระเจ้าวิเทหราชพร้อมพวกเสนาที่โดยเสด็จ. ชนบางพวกดื่มสุรา บางพวกเคี้ยวกินมัจฉมังสาหาร บางพวกเหน็ดเหนื่อยก็นอน เพราะมาแต่ทางไกล. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชทรงพาอาจารย์ทั้ง ๔ มีเสนกะเป็นต้น ประทับนั่ง ณ พื้นพระราชมณเฑียรที่ตกแต่งแล้ว ท่ามกลางราชบริพาร. ฝ่ายพระเจ้าจุลนีล้อมนครที่พระเจ้าวิเทหราชประทับ ให้ติดต่อกัน ๓ ชั้น ย่นเข้าเป็น ๔ ด้วยกองทัพ ๑๘ อักโขภิณี มีคนจุดคบเพลิงนับด้วยแสนๆ ครั้นอรุณขึ้นก็เตรียมยึดเมืองตั้งอยู่ มโหสถรู้ความก็ส่งโยธา ๓๐๐ คนของตนไปสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงไปตามทางอุโมงค์จับราชมารดา มเหสี ราชบุตรและราชธิดาของพระเจ้าจุลนีมาทางอุโมงค์. อย่าให้อยู่นอกประตูมหาอุโมงค์ ให้อยู่ภายในอุโมงค์ ตั้งรักษาอยู่จนกว่าข้าจะมา จึงนำออกจากอุโมงค์ให้อยู่ในโรงกว้างใหญ่ในกาลเมื่อข้าไป. ชนเหล่านั้นรับคำสั่งมโหสถก็ไปทางอุโมงค์ เปิดไม้ลาดไว้ที่เชิงบันได แล้วมัดมือเท้าคนรักษาในที่เชิงบันได หัวบันไดและพื้นตำหนัก และนางบำเรอมีนางค่อมแคระเป็นต้น แล้วปิดปากชนเหล่านั้นให้อยู่ในที่กำบังนั้นๆ แล้วเคี้ยวกินเครื่องเสวยที่จัดไว้ถวายพระเจ้าจุลนี ทิ้งของอะไรๆ เสีย ทำลายภาชนะทำให้ป่นปี้เสีย แล้วขึ้นสู่เบื้องบนปราสาท.
    กาลนั้น พระนางสลากเทวีทรงสำคัญว่า ที่ไหนจะมีใครรู้จักพระนันทาเทวีราชบุตรราชธิดา เหตุอะไรจักเกิดมี จึงให้บรรทมอยู่ ณ พระยี่ภู่เดียวกันกับพระองค์. โยธาเหล่านั้นยืนร้องเรียกที่ประตูห้อง. พระนางจึงออกมาตรัสถามว่า ทำไมพ่อ. โยธาเหล่านั้นจึงแสร้งทูลว่า ข้าแต่พระเทวี พระราชาของพวกเรายังพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถ ให้ถึงความสิ้นชีวิตแล้ว แวดล้อมด้วยพระราชาร้อยเอ็ดเป็นเอกราชในสกลชมพูทวีป ดื่มชัยบานใหญ่ด้วยพระเกียรติยศใหญ่ ส่งข้าพระองค์ทั้งหลายมา เพื่อพาเสด็จไปทั้ง ๔ พระองค์. พระราชมารดาเป็นต้นทรงเชื่อ จึงเสด็จลงจากปราสาทถึงเชิงบันได. โยธาเหล่านั้นก็พาเสด็จไปเข้าทางอุโมงค์ พระราชมารดาเป็นต้นตรัสว่า ข้าอยู่ในที่นี้สิ้นกาลเท่านี้ ยังไม่เคยลงสู่ทางนี้. โยธาเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระเทวีเจ้า ชนทั้งปวงหาได้ลงสู่ทางนี้ไม่ เพราะทางนี้เป็นทางมงคล. วันนี้พระราชาตรัสสั่งให้นำเสด็จโดยทางนี้ เพราะเป็นวันมงคล. พระราชมารดาเป็นต้นทรงเชื่อ. ลำดับนั้น โยธาบางพวกพาพระราชมารดาเป็นต้นมาบ้าง บางพวกกลับไปเปิดคลังรัตนะในพระราชนิเวศน์ ถือเอาทรัพย์ตามปรารถนามาบ้าง. ฝ่ายพระราชมารดาเป็นต้น เบื้องหน้าแต่จะถึงมหาอุโมงค์ เห็นอุโมงค์ราวกะเทพสภาอันประดับแล้ว ก็ทรงสำคัญว่า จัดไว้เพื่อประโยชน์แด่พระราชา. ลำดับนั้น โยธาเหล่านั้นพาพระราชมารดาเป็นต้น ไปสู่สถานที่ใกล้มหาคงคา ให้ประทับในห้องอันตกแต่งแล้วภายในอุโมงค์. พวกหนึ่งอยู่รักษา พวกหนึ่งไปแจ้งการที่ได้นำพระราชมารดาเป็นต้น มาแล้วแก่มโหสถโพธิสัตว์. มโหสถได้ฟังคำของโยธาเหล่านั้น ก็มีความโสมนัสว่า บัดนี้ ความปรารถนาของเราจักถึงที่สุด จึงไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชทรงดำริว่า พระเจ้าจุลนีจักนำพระราชธิดามาให้เราบัดนี้. ก็เสด็จลุกจากราชบัลลังก์ ทอดพระเนตรทางช่องพระแกล เห็นพระนครมีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน ด้วยคบเพลิงนับด้วยแสนดวงมิใช่แสนเดียว. อันกองทัพใหญ่ล้อมรอบแล้ว ก็ทรงฉงนสนเท่ห์ รำพึงว่า นั่นอะไรกันหนอ. เมื่อจะทรงหารืออาจารย์ผู้บัณฑิตทั้งหลาย จึงตรัสคาถานี้ว่า
    กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ อันเป็นกองทัพสวมเกราะตั้งอยู่ จุดคบเพลิงสว่างไสว บัณฑิตทั้งหลายย่อมสำคัญอย่างไรกันหนอ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กินฺนุ มญฺญนฺติ ความว่า พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามว่า พระเจ้าจุลนีโปรดปรานหรือกริ้วพวกเรา. บัณฑิตทั้งหลายเข้าใจกันอย่างไรหนอ.
    อาจารย์เสนกะได้ฟังตรัสถามจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าทรงวิตกเลย คบเพลิงมากเหลือเกินปรากฏอยู่ ชะรอยพระเจ้าจุลนีจะพาพระราชธิดามาถวายพระองค์. ฝ่ายอาจารย์ปุกกุสะกราบทูลว่า พระเจ้าจุลนีจักทรงอารักขา เพื่อทรงทำอาคันตุกสักการะแด่พระองค์. บัณฑิตทั้งสี่เหล่านั้นชอบใจอย่างใด ก็กราบทูลอย่างนั้น ด้วยประการฉะนี้. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช เมื่อได้ทรงสดับเสียงคนในกองทัพบอกสั่งกันว่า เสนาทั้งหลายจงตั้งอยู่ในที่โน้น ท่านทั้งหลายจงรักษาในที่โน้น อย่าประมาท และทอดพระเนตรเห็นเสนาผูกสอดเกราะ ก็เป็นผู้อันมรณภัยคุกคาม. เมื่อทรงหวังสดับถ้อยคำแห่งพระมหาสัตว์ จึงตรัสคาถานอกนี้ว่า
    กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ อันเป็นกองทัพสวมเกราะตั้งอยู่ จุดคบเพลิงสว่างไสว ดูก่อนมโหสถบัณฑิต พวกนั้นจักทำอะไรกันหนอ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กินฺนุ กาหนฺติ ปณฺฑิต ความว่า พ่อบัณฑิต เจ้าคิดอย่างไรหนอ เสนาเหล่านี้จักกระทำอะไรแก่พวกเรา.
     
  13. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    พระมหาสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น จึงคิดในใจว่า เราจักทำพระราชาผู้อันธพาลนี้ให้สะดุ้งสักหน่อย ภายหลังจึงแสดง กำลังปัญญาของเราให้ปรากฏ ทำให้พระองค์เบาพระหฤทัย. คิดฉะนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระเจ้าจุลนีพรหมทัตมีกำลังมาก ล้อมพระองค์ไว้ประทุษร้ายพระองค์ รุ่งเช้าจักปลงพระชนม์พระองค์.
    คนเหล่านั้นทั้งหมดมีพระเจ้าวิเทหราชเป็นต้น ก็ตกใจกลัวตาย พระราชาพระศอแห้ง พระเขฬะไม่มีในพระโอฐ เกิดเร่าร้อนในพระสรีระ พระองค์ทรงกลัวต่อมรณภัย คร่ำครวญตรัสคาถา ๒ คาถาว่า
    ใจของเราสั่น และปากก็แห้งผาก เราเป็นเหมือนถูกไฟไหม้กลางแดด ไม่บรรลุถึงความเย็นใจ. เตาของช่างทองรุ่งเรืองภายใน ไม่รุ่งเรืองภายนอก ฉันใด. ใจของเราย่อมเร่าร้อนอยู่ภายใน ไม่ปรากฏภายนอก ฉันนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุพฺเพธติ ความว่า แน่ะพ่อมโหสถ ใจของข้าย่อมหวั่นไหว ราวกะว่าใบอ่อนของโพธิ์ใบต้องลมใหญ่ ฉะนั้น. บทว่า อนฺโต ฌายติ โน พหิ ความว่า หัวใจของเราย่อมเร่าร้อนอยู่ในภายใน แต่ไม่ปรากฏในภายนอก ราวกะเตาของช่างทองนั้น.
    พระมหาสัตว์ได้ฟังพระเจ้าวิเทหราชทรงคร่ำครวญ คิดว่า พระราชานี้เป็นอันธพาล ไม่ทำตามคำของเราในวันอื่นๆ เราจักข่มพระองค์ให้ยิ่งขึ้น จึงทูลว่า
    ข้าแต่บรมกษัตริย์ พระองค์เป็นผู้ประมาทแล้วเป็นไปล่วงความคิด มีความคิดทำลายเสียแล้ว. บัดนี้บัณฑิตทั้ง ๔ ผู้มีความคิดจงป้องกันพระองค์เถิด. พระองค์ไม่ทรงทำตามคำของข้าพระองค์ ผู้เป็นอมาตย์ใคร่ประโยชน์แสวงหาความเกื้อกูล ทรงยินดีแล้ว ด้วยพระปีติอันเศร้าหมองของพระองค์ ดุจมฤคตกหลุม ฉะนั้น.
    ปลาอยากกินของสดคือเหยื่อ ย่อมกลืนเบ็ดอันงอซึ่งปิดไว้ด้วยเนื้ออันเป็นเหยื่อ มันย่อมไม่รู้ความตายของตน ฉันใด. ข้าแต่พระราชา พระองค์เป็นผู้มีความปรารถนาในกาม ย่อมไม่ทรงทราบพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีผู้เป็นดุจเหยื่อ ราวกะปลาไม่รู้จักเหยื่อคือความตายของตน ฉันนั้นนั่นเทียว.
    ถ้าพระองค์เสด็จนครปัญจาละ จักต้องสละพระองค์ทันที ภัยใหญ่จักถึงพระองค์ ดุจภัยมาถึงมฤคตัวตามไปถึงทางประตูบ้าน ฉะนั้น.
    ข้าแต่พระจอมประชา บุรุษผู้ไม่ประเสริฐ เป็นเหมือนงูอยู่ในพกพึงกัดเอา. ผู้มีปัญญาไม่พึงทำไมตรีกับบุรุษเช่นนั้น. เพราะการคบบุรุษชั่ว เป็นทุกข์โดยแท้.
    ข้าแต่พระจอมประชากร บุรุษผู้มีศีล เป็นพหูสูตนี้พึงรู้คุณแห่งไมตรีนั้นกับบุรุษนั้นนั่นเทียว เพราะการคบสัตบุรุษทั้งหลาย เป็นสุขโดยแท้.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปมตฺโต ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์เป็นผู้ประมาทเพราะความใคร่. บทว่า มนฺตนาตีโต ความว่า เป็นผู้ก้าวล่วงความคิดที่ข้าพระองค์เห็นภัยในอนาคต คิดกำหนดตัดด้วยปัญญา. บทว่า ภินฺนมนฺโต ความว่า เป็นผู้มีความคิดทำลายเสียแล้ว คือ ความคิดใดที่พระองค์ทรงยึดถือร่วมกับอาจารย์เสนกะเป็นต้น. ความคิดนั้นทรงทำลายแล้ว จึงชื่อว่าเป็นผู้มีความคิดทำลายเสียแล้ว เพราะความเป็นผู้ก้าวล่วงความคิดนั่นแล. บทว่า ปณฺฑิตา ความว่า มโหสถแสดงว่า อาจารย์ ๔ คนมีเสนกะเป็นต้นเหล่านี้จงรักษาพระองค์ในบัดนี้เถิด ข้าพระองค์เห็นกำลังของอาจารย์เหล่านั้น. บทว่า อกตฺวามจฺจสฺส ความว่า ไม่ทรงทำตามคำของข้าพระองค์ผู้เป็นอมาตย์สูงสุด. บทว่า อตฺตปีติรโต ความว่า เป็นผู้ทรงยินดียิ่งแล้ว ด้วยพระปีติอันเศร้าหมองของพระองค์. บทว่า มิโค กูเฏว โอหิโต ความว่า มฤคมาด้วยความโลภเหยื่อติดอยู่ในบ่วงหลุม ฉันใด. พระองค์ไม่ทรงเชื่อคำของข้าพระองค์ เสด็จมาด้วยความโลภว่า จักได้พระราชธิดาปัญจาลจันที. บัดนี้ จึงทรงเป็นเหมือนมฤคที่ติดในบ่วงหลุม ฉันนั้น. สองคาถาว่า ยถาปิ มจฺโฉ เป็นต้น มโหสถบัณฑิตกล่าวเพื่อแสดงว่า อุปมานี้ข้าพระองค์นำมาแล้วในกาลนั้น. แม้คาถาว่า สเจ คจฺฉสิ เป็นต้น มโหสถบัณฑิตก็กล่าวเพื่อแสดงว่า ข้าพระองค์นำอุปมาแม้นี้ถวายพระองค์ มิใช่เพียงเท่านี้อย่างเดียวเท่านั้น. บทว่า อนริยรูโป ได้แก่ บุรุษผู้ไร้ความละอาย มีชาติของคนชั่วเช่นพราหมณ์เกวัฏ. บทว่า น เตน เมตฺตึ ความว่า พระองค์ไม่ควรทำมิตรธรรมกับคนเช่นนั้น แต่พระองค์ทรงมีเมตตาพราหมณ์เกวัฏ ถือคำของเขา. บทว่า ทุกฺโข ความว่า ขึ้นชื่อว่าการสมาคมกับคนเห็นปานนี้ ทำครั้งเดียวก็เป็นทุกข์. เพราะนำทุกข์ใหญ่มาทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า. บทว่า ยํ เตฺวว ตัดบทเป็น ยํ ตุ เอว อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะ ก็อย่างนี้แหละ. บทว่า สุโข ความว่า เป็นสุขทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้าทีเดียว.
    ลำดับนั้น มโหสถข่มพระเจ้าวิเทหราชยิ่งขึ้น ด้วยหวังว่า พระองค์จักไม่ทรงทำอย่างนี้อีก. เมื่อจะนำพระดำรัสที่ตรัสไว้ ในกาลก่อนมาแสดง จึงทูลว่า
    ข้าแต่พระราชา พระองค์เป็นคนเขลา บ้าน้ำลายที่กล่าวถึง เหตุแห่งการได้รัตนะสูงสุดในสำนักข้าพระองค์. ข้าพระองค์เจริญด้วยหางไถ จะรู้จักความเจริญเหมือนคนอื่นเขาได้อย่างไร ท่านทั้งหลายจงไส คอมโหสถนี้ให้หายไปเสียจากแว่นแคว้นของเรา เพราะเขาพูดเป็นอันตรายแก่การได้รัตนะของเรา.
    ครั้นมโหสถกล่าวคาถา ๒ คาถานี้แล้ว จึงกล่าวข่มอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์เป็นบุตรคฤหบดี จักรู้จักความเจริญเหมือนคนอื่นๆ มีเสนกะเป็นต้นผู้เป็นบัณฑิตของพระองค์ซึ่งรู้ความเจริญฉะนั้น ได้อย่างไร. วาทะนั้นไม่ใช่โคจรของข้าพระองค์ ข้าพระองค์รู้ศิลปะแห่งคฤหบดีแท้ ข้อความนี้ปรากฏแก่เสนกะเป็นต้น คนเหล่านั้นเป็นบัณฑิต วันนี้พระองค์ถูกกองทัพ ๑๘ อักโขภิณีล้อมไว้ คนทั้งหลายมีเสนกะเป็นต้น จงเป็นที่พึ่งของพระองค์ ก็พระองค์รับสั่งให้ไสคอ ข้าพระองค์ฉุดออกไปเสีย บัดนี้ พระองค์ตรัสถามข้าพระองค์ทำไม. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับดังนั้น ทรงดำริว่า มโหสถบัณฑิตกล่าวโทษที่เราทำไว้เท่านั้น เพราะเขารู้ภัยในอนาคตนี้มาก่อน นั่นเอง เพราะเหตุนั้น เขาจึงกล่าวข่มเราเหลือเกิน แต่เขาก็ไม่หยุดงาน ตลอดกาลเท่านี้เลย มโหสถนี้จักทำความสวัสดีแก่เราแน่แท้. ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราช เมื่อจะยึดมโหสถเป็นที่พำนัก จึงตรัสคาถา ๒ คาถาว่า
    ดูก่อนมโหสถ บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ทิ่มแทง เพราะโทษที่ล่วงไปแล้ว เจ้ามาทิ่มแทงข้า ดุจม้าที่เขาผูกไว้ด้วยประตักทำไม ถ้าเห็นว่าเราจะพ้นภัยได้ หรือเห็นว่าเราจะปลอดภัยได้ ก็จงสั่งสอนเราโดยความสวัสดีนั้นแหละ เจ้าจะทิ่มแทงเราเพราะโทษที่ล่วงไปแล้วทำไม.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นานุวิชฺฌนฺติ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ถือเอา โทษที่ล่วงไปแล้วมาทิ่มแทงกันด้วยหอก คือปาก. บทว่า อสฺสํว สมฺพนฺธํ ความว่า เจ้าทิ่มแทงเรา ราวกะม้าที่เขาผูกไว้อย่างดี เพราะถูกเสนาข้าศึกล้อมไว้ทำไม. บทว่า เตเนว มํ ความว่า เจ้าจงสั่งสอนเรา คือจงให้เราสบายใจ ด้วยความสวัสดีนั้นว่า พระองค์จักพ้นภัยด้วยอาการอย่างนี้ พระองค์จักปลอดภัยด้วยอาการอย่างนี้ ด้วยว่า เว้นเจ้าเสียแล้ว คนอื่นเป็นที่พึ่งอาศัยของเราไม่มี.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ดำริว่า พระราชาองค์นี้เป็นอันธพาลเหลือเกิน ไม่รู้จักบุรุษวิเศษ เราจักให้พระองค์ลำบากเสียหน่อยหนึ่ง แล้วจักเป็นที่พึ่งของพระองค์ภายหลัง ดำริฉะนี้แล้ว ทูลว่า
    ข้าแต่บรมกษัตริย์ กรรมของมนุษย์ที่เป็นไปล่วงแล้ว ทำได้ยาก เป็นแดนเกิดที่ยินดีได้ยาก ข้าพระองค์ไม่สามารถจะปลดเปลื้องพระองค์ได้ ขอพระองค์ทรงทราบเองเถิด.
    ช้าง ม้า นก ยักษ์ ผู้มีฤทธิ์มียศ สามารถไปได้ทางอากาศมีอยู่ ช้างเป็นต้น ซึ่งมีอิทธานุภาพเห็นปานนั้นที่พระองค์มีอยู่ แม้เหล่านั้นก็พึงพาพระองค์ไปได้.
    ข้าแต่บรมกษัตริย์ กรรมของมนุษย์ที่เป็นไปล่วงแล้ว ทำได้ยาก เป็นแดนเกิดที่ยินดีได้ยาก ข้าพระองค์ไม่สามารถจะปลดเปลื้องพระองค์โดยทางอากาศได้.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺมํ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า กรรมชื่อว่าปลดเปลื้องพระองค์จากภัยนี้ ที่เหล่ามนุษย์ซึ่งเป็นมนุษย์ในอดีตพึงทำนี้ ชื่อว่าเป็นไปล่วงแล้ว. บทว่า ทุกฺกรํ ทุรภิสมฺภวํ ความว่า อันใครๆ ไม่อาจแก้ไข ไม่อาจต่อสู้. บทว่า น ตํ สกฺโกมิ ความว่า ข้าพระองค์ไม่สามารถจะปลดเปลื้องพระองค์จากภัยนี้. บทว่า ตฺวํ ปชานสฺสุ ขตฺติย ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงทราบ สิ่งที่ควรกระทำในเรื่องนี้เองเถิด. บทว่า เวหายสา ได้แก่ ช้างที่สามารถไปทางอากาศ. บทว่า ยสฺส ได้แก่ พระราชาพระองค์ใด. บทว่า ตถาวิธา ความว่า ช้างทั้งหลายที่เกิดในตระกูลฉัททันต์หรือตระกูลอุโบสถมีอยู่ ช้างเหล่านั้นพึงพาพระราชานั้นไป. บทว่า อสฺสา ความว่า ม้าทั้งหลายที่เกิดในตระกูลพญาม้าพลาหก. บทว่า ปกฺขี กล่าวหมายเอาครุฑ. บทว่า ยกฺขา ได้แก่ เหล่ายักษ์มีสาตาคิรยักษ์เป็นต้น. บทว่า อนฺตลิกฺเขน ความว่า ข้าพระองค์ไม่สามารถจะปลดเปลื้องพระองค์โดยทางอากาศ คือไม่สามารถจะพาพระองค์นำไปถึงกรุงมิถิลาทางอากาศได้.
     
  14. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำของมโหสถดังนั้นก็จำนน ประทับนั่งอยู่. ลำดับนั้น อาจารย์เสนกะคิดว่า บัดนี้ ยกมโหสถบัณฑิตเสีย ที่พึ่งอื่นของพระราชาและของพวกเราไม่มี ก็พระราชาทรงฟังคำของมโหสถ ทรงครั่นคร้ามต่อมรณภัย ไม่ทรงสามารถจะตรัสอะไรๆ ได้ เราจักอ้อนวอนมโหสถบัณฑิตให้ช่วย. เมื่อเสนกะจะอ้อนวอนได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
    บุรุษผู้ยังไม่เห็นฝั่งในมหาสมุทร ได้ที่พำนักในประเทศใด. เขาย่อมได้ความสุขในประเทศนั้น ฉันใด ท่านมโหสถขอท่านได้เป็นที่พึ่งของพวกเรา และของพระราชา ฉันนั้น. ท่านเป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าพวกข้าพเจ้าเหล่ามนตรี ขอท่านช่วยปลดเปลื้องพวกเราจากทุกข์เถิด.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตีรทสฺสี ความว่า ผู้เรือแตกกลางทะเล เมื่อไม่เห็นฝั่ง. บทว่า ยตฺถ ความว่า เมื่อถูกกำลังคลื่นซัดลอยไป ได้ที่พึ่งในประเทศใด. บทว่า ปโมจย ความว่า อาจารย์เสนกะอ้อนวอนว่า เมื่อก่อนคราวกองทัพตั้งล้อมกรุงมิถิลา ท่านได้ปลดเปลื้องพวกเราให้พ้นภัย แม้บัดนี้ ก็ท่านนี่แหละจงช่วยปลดเปลื้อง พวกเราให้พ้นจากทุกข์.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะข่มอาจารย์เสนกะ จึงได้กล่าวด้วยคาถาว่า
    ท่านอาจารย์เสนกะ กรรมของมนุษย์ที่เป็นไปล่วงแล้ว ทำได้ยาก เป็นแดนเกิดที่ยินดีได้ยาก ข้าพเจ้าไม่สามารถจะปลดเปลื้องท่านได้ ขอท่านจงทราบเอาเองเถิด.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตฺวํ ปชานสฺสุ เสนก ความว่า ท่านอาจารย์เสนกะ ข้าพเจ้าไม่สามารถ ท่านจงนำพระราชานี้สู่กรุงมิถิลาทางอากาศเถิด.
    พระเจ้าวิเทหราชเมื่อไม่ทรงเห็นเครื่องยึดถือ ที่จะพึงทรงยึดถือ ทรงครั่นคร้ามต่อมรณภัย ไม่สามารถจะตรัสอะไรๆ กับพระมหาสัตว์ได้ ทรงดำริว่า บางคราวแม้เสนกะก็รู้อุบายอะไรๆ เราจะถามเขาดูก่อน. เมื่อตรัสถาม จึงตรัสคาถาว่า
    ท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามอาจารย์เสนกะ ท่านจะสำคัญสิ่งที่ควรทำอย่างไร ในกาลนี้.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กึ กิจฺจํ ความว่า ท่านจะสำคัญสิ่งที่ควรทำอย่างไรในกาลนี้ พวกเราถูกมโหสถสละแล้ว ถ้าท่านรู้ ก็จงบอกแก่เรา.
    อาจารย์เสนกะได้ฟังดังนั้น คิดว่า พระราชาตรัสถามอุบายกะเรา งามหรือไม่งาม จงยกไว้เราจักกล่าวอุบายอย่างหนึ่งแด่พระองค์ คิดฉะนี้แล้ว กล่าวคาถาว่า
    พวกเราจงเอาไฟเผาเสียตั้งแต่ประตู หรือจงจับมีดฆ่ากันและกัน ละชีวิตเสียพลัน อย่าทันให้พระราชาพรหมทัตฆ่าพวกเราให้ลำบากนาน.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทฺวารโต ความว่า พวกเราจงปิดประตู ก่อไฟที่ประตูนั่น. บทว่า วิกนฺตนํ ความว่า จงจับศัสตราห้ำหั่นกันและกัน. บทว่า หิสฺสาม ความว่า พวกเราจักละชีวิตพลัน ปราสาทที่ตกแต่งแล้วนั่นแล จักเป็นจิตกาธานไม้ของพวกเรา.
    พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังดังนั้น ก็เสียพระหฤทัย จึงตรัสว่า ท่านอาจารย์เสนกะจงทำจิตกาธานเห็นปานนั้น แก่บุตรภรรยาของตนเถิด. แล้วตรัสถามปุกกุสะเป็นต้น พวกนั้นก็กราบทูลด้วยถ้อยคำแสดงความเขลาตามสมควรแก่ตน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระราชาตรัสถามปุกกุสะว่า
    ท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามอาจารย์ปุกกุสะ ท่านจะสำคัญสิ่งที่ควรทำอย่างไร ในกาลนี้.
    ปุกกุสะกราบทูลว่า
    พวกเราควรกินยาพิษตายละชีวิตเสียพลัน อย่าทันให้พระราชาพรหมทัตฆ่าพวกเรา ให้ลำบากนาน.
    พระราชาตรัสถามกามินทะว่า
    ท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามอาจารย์กามินทะ ท่านจะสำคัญสิ่งที่ควรทำอย่างไร ในกาลนี้.
    กามินทะกราบทูลว่า
    พวกเราพึงเอาเชือกผูกให้ตาย หรือโดดลงบ่อให้ตายเสีย อย่าทันให้พระราชาพรหมทัตฆ่าพวกเรา ให้ลำบากนาน.
    พระราชาตรัสถามเทวินทะว่า
    ท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามอาจารย์เทวินทะ ท่านจะสำคัญสิ่งที่ควรทำอย่างไร ในกาลนี้.
    เทวินทะกราบทูลว่า
    พวกเราจงเอาไฟเผาเสียตั้งแต่ประตู หรือจงจับมีดฆ่ากันและกันละชีวิตเสียพลัน ถ้ามโหสถไม่สามารถจะปลดเปลื้องพวกเรา โดยง่าย.
    อนึ่ง บรรดาอาจารย์ทั้ง ๔ เทวินทะคิดว่า พระราชานี้ทรงทำอะไร มาตรัสถามพวกเรา ในเมื่อไฟมีอยู่มาทรงเป่าหิงห้อย ยกมโหสถบัณฑิตเสียแล้ว คนอื่นจะสามารถทำความสวัสดีแก่พวกเราในเวลานี้ย่อมไม่มี พระองค์ไม่ตรัสถามมโหสถ มาตรัสถามพวกเรา พวกเราจะรู้อะไร คิดฉะนี้แล้ว เมื่อไม่เห็นอุบายอื่น จึงกล่าวคำที่เสนกะกล่าวแล้ว นั่นเอง. เมื่อจะสรรเสริญมโหสถ จึงกล่าวบททั้ง ๒ ว่า
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ความประสงค์ในเรื่องนั้นเป็นดังนี้ พวกเราทั้งหมดจะวิงวอนมโหสถนั่นแหละ ก็ถ้าว่าแม้เมื่อวิงวอน มโหสถก็ไม่สามารถจะปลดเปลื้องพวกเราโดยง่าย ภายหลังพวกเราจักทำตามคำเสนกะ.
    พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของเทวินทะดังนั้น ทรงระลึกถึงโทษที่พระองค์ได้ทำแก่พระโพธิสัตว์ในกาลก่อน ก็ไม่ทรงสามารถจะตรัสกับมโหสถ ทรงคร่ำครวญจนมโหสถได้ยินถนัด ตรัสว่า
    บุคคลแสวงหาแก่นของต้นกล้วย ย่อมไม่ได้ ฉันใด เราทั้งหลายแสวงหาอุบายเครื่องพ้นจากทุกข์ ก็ย่อมไม่ประสบปัญหานั้น ฉันนั้น. บุคคลแสวงหาแก่นแห่งไม้งิ้ว ย่อมหาไม่ได้ ฉันใด เราทั้งหลายแสวงหาอุบายเครื่องพ้นจากทุกข์ ย่อมไม่ประสบปัญหานั้น ฉันนั้น.
    การอยู่ของช้างทั้งหลายในสถานที่ไม่มีน้ำ ชื่อว่าอยู่ในที่มิใช่ประเทศ เพราะว่าช้างเหล่านั้นอยู่ในสถานที่อันไม่มีน้ำ ชื่อว่ามิใช่ประเทศ ย่อมตกอยู่ในอำนาจของปัจจามิตรเร็วพลัน ฉันใด แม้การที่เราทั้งหลายอยู่ในที่ใกล้ของมนุษย์ชั่ว เป็นคนพาลหาความรู้มิได้ ก็ชื่อว่าอยู่ในสถานที่มิใช่ประเทศ ฉันนั้น.
    ใจของเราสั่น และปากก็แห้งผาก เราเป็นเหมือนถูกไฟไหม้กลางแดด ไม่บรรลุถึงความเย็นใจ.
    เตาของช่างทองรุ่งเรืองภายใน ไม่รุ่งเรืองภายนอก ฉันใด ใจของเราย่อมเร่าร้อนอยู่ภายใน ไม่ปรากฏภายนอก ฉันนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กทฺทลิโน ความว่า บุรุษผู้มีความต้องการด้วยแก่น แม้แสวงหาอยู่ก็ไม่ได้แก่นแต่ต้นกล้วยนั้น เพราะต้นกล้วยไม่มีแก่น ฉันใด เราทั้งหลายแม้แสวงหาอุบายเครื่องพ้นทุกข์นี้ ถามบัณฑิต๕ คน ก็ไม่ประสบปัญหานั้น. บทว่า นาชฺฌคมามฺหเส ความว่า เราทั้งหลายไม่ประสบปัญหานั้น ดุจบุคคลไม่ได้ฟังอุบายที่เราทั้งหลายถาม แม้ในคาถาที่สองก็นัยนี้แหละ. บทว่า กุญฺชรานํ วนูทเก ความว่า การอยู่ของช้างทั้งหลายในที่ไม่มีน้ำ ชื่อว่าอยู่ในที่มิใช่ประเทศ เพราะว่าช้างเหล่านั้น เมื่ออยู่ในชัฏป่าอันหาน้ำมิได้เห็นปานนั้น ชื่อว่ามิใช่ประเทศ ย่อมตกอยู่ในอำนาจของปัจจามิตรเร็วพลัน ฉันใด. แม้การที่เราทั้งหลายอยู่ในที่ใกล้ของมนุษย์ชั่ว เป็นคนพาลหาความรู้มิได้ ก็ชื่อว่าอยู่ในสถานที่มิใช่ประเทศ ฉันนั้น. ก็บรรดาบัณฑิตมีประมาณเท่านี้ แม้คนหนึ่งซึ่งจะเป็นที่พึ่งอาศัยของเราในบัดนี้ ก็ไม่มี. พระเจ้าวิเทหราชทรงบ่นเพ้อไปต่างๆ ด้วยประการฉะนี้.
    มโหสถบัณฑิตได้สดับดังนั้น คิดว่า พระราชาพระองค์นี้ทรงลำบากเหลือเกิน. ถ้าเราไม่เล้าโลมพระองค์ให้สบายพระหฤทัย พระองค์จักมีพระหฤทัยแตกสิ้นพระชนมชีพ จึงได้กราบทูลเล้าโลม.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
    แต่นั้น มโหสถผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญาเห็นประโยชน์ เห็นพระเจ้าวิเทหราชถึงความทุกข์ จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าตกพระหฤทัยกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ขอพระองค์อย่าตกพระหฤทัยกลัวเลย.
    ข้าพระองค์จักเปลื้องพระองค์ ผู้ดุจดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์อันราหูจับแล้ว หรือดุจช้างจมติดในเปือกตม หรือดุจงูติดอยู่ในกระโปรง หรือดุจนกติดอยู่ในกรง หรือเหล่าปลาอยู่ในข่าย. ผู้มีพลและพาหนะคุมล้อมอยู่ ให้พ้นจากความลำเค็ญ.
    ข้าพระองค์จักยัง กองทัพปัญจาละให้หนีไป ดุจไล่ฝูงกาด้วยก้อนดิน. ข้าพระองค์มิได้เปลื้องพระองค์ ผู้เสด็จอยู่ในที่คับขัน ให้พ้นจากทุกข์ ชื่อว่าปัญญาของข้าพระองค์นั้น จะมีประโยชน์อะไร หรือบุคคลเช่นข้าพระองค์นั้นเป็นอมาตย์ จะมีประโยชน์อะไร.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ ความว่า มโหสถเมื่อเล้าโลมพระเจ้าวิเทหราชให้สบายพระหฤทัย ประหนึ่งทำเมฆฝนให้ตกในป่าไฟไหม้. ได้กราบทูลคำนี้ว่า มา ตฺวํ ภายิ มหาราช เป็นต้น. บทว่า สนฺนํ ในคาถานั้น แปลว่า ติดอยู่. บทว่า เปฬพนฺธํ ได้แก่ งูที่อยู่ภายในกระโปรง. บทว่า ปญฺจาลํ ได้แก่ กองทัพปัญจาละซึ่งเป็นกองทัพของพระเจ้าปัญจาลราช แม้ใหญ่อย่างนี้. บทว่า พาหยิสฺสามิ แปลว่า จักให้หนีไป. บทว่า อาทู เป็นนิบาตในอรรถว่าชื่อ ความว่า ชื่อว่าปัญญาของข้าพระองค์จะมีประโยชน์อะไร. บทว่า อมจฺโจ วาปิ ตาทิโส ความว่า หรืออมาตย์ผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาเช่นนั้น เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา ผู้เปลื้องพระองค์ที่ถูกความตายเบียดเบียนอยู่อย่างนี้ ให้พ้นจากทุกข์ไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไร. ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์โปรดสำคัญว่า มโหสถนี้ชื่อว่ามาก่อน มาเพื่อประโยชน์อะไร. ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าตกพระหฤทัยกลัวเลย ข้าพระองค์จักเปลื้องพระองค์ให้พ้นจากทุกข์นี้. มโหสถบัณฑิตเล้าโลมพระเจ้าวิเทหราชให้สบายพระหฤทัย ด้วยประการฉะนี้.
    ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของมโหสถ ก็กลับได้ความอุ่นพระหฤทัยว่า บัดนี้เราได้ชีวิตแล้ว. เมื่อพระโพธิสัตว์บันลือสีหนาท ชนทั้งปวงเหล่านั้นก็พากันยินดี. ลำดับนั้น เสนกะถามพระโพธิสัตว์ว่า ท่านบัณฑิต ท่านเมื่อพาพวกเราทั้งหมดไป จักไปได้ด้วยอุบายอย่างไร. มโหสถแจ้งว่า ข้าพเจ้าจักนำไปทางอุโมงค์ซึ่งตกแต่งไว้ พวกท่านจงเตรียมไปเถิด. เมื่อจะสั่งโยธาให้เปิดประตูอุโมงค์ กล่าวว่า
    แน่ะพ่อหนุ่มๆ พวกเจ้าจงลุกมา จงเปิดประตูอุโมงค์ ประตูห้องติดต่อเครื่องยนตร์. พระเจ้าวิเทหราชพร้อมด้วยเหล่าอมาตย์ จักเสด็จไปโดยอุโมงค์.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาณว เป็นชื่อเรียกคนหนุ่ม. บทว่า มุขํ โสเธถ ความว่า จงเปิดประตูอุโมงค์. บทว่า สนฺธิโน ความว่า จงเปิดประตูห้องติดต่อเครื่องยนตร์ คือจงเปิดประตูห้องนอนร้อยเอ็ดห้อง จงเปิดประตูโคมดวงประทีปร้อยเอ็ดโคม.
    คนใช้ของมโหสถเหล่านั้นลุกไปเปิดประตูอุโมงค์ อุโมงค์ทั้งสิ้นมีแสงสว่างทั่วไป สว่างไสวประหนึ่งเทวสภาที่ได้ประดับแล้ว.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
    พวกคนรับใช้ของมโหสถบัณฑิต ได้ฟังคำของมโหสถแล้ว จึงเปิดประตูอุโมงค์ และเครื่องสลักห้ามอันประกอบด้วยยนตร์.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุสาริโน ได้แก่ ผู้ทำการขวนขวายช่วยเหลือ. บทว่า ยนฺตยุตฺเต จ อคฺคเฬ ได้แก่ บานประตูที่ถึงพร้อมด้วยลิ่มสลัก.
    พวกนั้นเปิดประตูอุโมงค์ แล้วแจ้งให้มโหสถทราบ. มโหสถก็กราบทูล นัดพระราชาว่า ได้เวลาแล้ว พระเจ้าข้า. ขอเชิญเสด็จลงจากปราสาท. พระราชาก็เสด็จลง เสนกะเปลื้องเครื่องพันศีรษะ แล้วผลัดผ้าหยักรั้ง. ลำดับนั้น มโหสถเห็นกิริยาแห่งเสนกะ จึงถามว่า นั่นท่านอาจารย์ทำอะไร. เสนกะตอบว่า แน่ะบัณฑิต ธรรมดาทั้งหลายไปโดยอุโมงค์ ต้องเปลื้องผ้าโพกหยักรั้งไป. มโหสถจึงแจ้งว่า แน่ะอาจารย์เสนกะ ท่านอย่าสำคัญว่า คนเข้าอุโมงค์ต้องก้มคุกเข่าเข้าไป ถ้าท่านใคร่จะไปด้วยช้างจงขึ้นช้างไป ถ้าท่านใคร่จะไปด้วยม้าจงขึ้นม้าไป เพราะอุโมงค์สูง ประตูกว้างสูง ๑๘ ศอก. ท่านจงประดับตกแต่งตัวตามชอบใจ ไปก่อนพระราชา. ฝ่ายพระโพธิสัตว์จัดให้เสนกะไปก่อน ให้พระราชาเสด็จไปท่ามกลาง ตนเองไปภายหลัง. เหตุไร มโหสถจึงจัดอย่างนี้. เพราะพระเจ้าวิเทหราชจะได้ไม่ทอดพระเนตร อุโมงค์อันตกแต่งแล้ว ค่อยๆเสด็จไป. ข้าวต้มข้าวสวยของเคี้ยวเป็นต้น ประมาณไม่ได้ มีไว้เพื่อมหาชนในอุโมงค์. คนเหล่านั้นเคี้ยวดื่มพลางแลชมอุโมงค์ไป. ฝ่ายพระมหาสัตว์ทูลเตือนพระเจ้าวิเทหราชว่า เชิญเสด็จไป เชิญเสด็จไป พระเจ้าข้า. ตามเสด็จไปเบื้องหลัง พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรอุโมงค์ ซึ่งเป็นดังเทวสภาอันตกแต่งแล้ว พลางเสด็จไป.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
     
  15. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    เสนกะเดินไปก่อน มโหสถเดินไปข้างหลัง พระเจ้าวิเทหราชเสด็จดำเนินไปท่ามกลาง พร้อมด้วยอมาตย์ห้อมล้อมเป็นราชบริพาร.
    คนหนุ่มผู้รับใช้ของมโหสถเหล่านั้นรู้ว่า พระเจ้าวิเทหราชเสด็จมา จึงนำพระนางสลากเทวีพระราชมารดาพระเจ้าจุลนี พระนางนันทาเทวีมเหสีพระเจ้าจุลนี และพระปัญจาลจันทราชกุมาร พระนางปัญจาลจันทีราชกุมารี ผู้เป็นราชโอรสราชธิดาของพระเจ้าจุลนี ออกจากอุโมงค์ให้ประทับอยู่ ณ พลับพลากว้างใหญ่. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชเสด็จออกจากอุโมงค์กับมโหสถ. กษัตริย์ทั้ง ๔ คือ พระนางสลากเทวี พระนางนันทาเทวี ปัญจาลจันทกุมาร ปัญจาลจันทีกุมารี ได้ทอดทัศนาการ เห็นพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถ ก็ทราบว่า พวกเราตกอยู่ในเงื้อมมือผู้อื่นโดยไม่สงสัย. เหล่าคนของมโหสถจับพวกเรามา ก็ครั่นคร้ามต่อมรณภัย ทั้งกลัวทั้งสะดุ้งร้องอึง.
    ได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีเสด็จไปรักษาอยู่ ณ สถานที่ ๑ คาวุต ใกล้ฝั่งคงคา ด้วยทรงเกรง พระเจ้าวิเทหราชจะหนี. ก็พระเจ้าจุลนีในเมื่อราตรีเงียบสงัด ได้ทรงฟังเสียงร้องของกษัตริย์ทั้ง ๔ เป็นผู้ใคร่จะตรัสว่า เสียงนั้นเป็นเสียงนางนันทาเทวี แต่ก็หาได้ตรัสอย่างไรไม่ ด้วยทรงเกรงความเย้ยหยันว่า พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระนางนันทาเทวีที่ไหน. พระมหาสัตว์เชิญให้ พระนางปัญจาลจันทีราชกุมารีประทับบนกองรัตนะ แล้วอภิเษกในที่นั้น. แล้วกราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า พระองค์เสด็จมาเพราะเหตุการณ์นี้. พระราชกุมารีนี้จงเป็นมเหสีของพระองค์. เรือ ๓๐๐ ลำได้เทียบอยู่แล้ว. พระเจ้าวิเทหราชเสด็จลงจากพลับพลากว้าง ขึ้นสู่เรืออันตกแต่งแล้ว. แม้กษัตริย์ทั้ง ๔ ก็ขึ้นสู่เรือ.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
    พระเจ้าวิเทหราชเสด็จออกจากอุโมงค์ ขึ้นสู่เรือแล้ว มโหสถรู้ว่าพระองค์ขึ้นสู่เรือแล้ว ได้ถวายอนุศาสน์ว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระเจ้าจุลนีพรหมทัตนี้เป็นพระสัสสุระของพระองค์.
    ข้าแต่พระจอมประชากร พระนางนันทาเทวีนี้เป็นพระสัสสูของพระองค์ การปฏิบัติพระราชมารดาของพระองค์อย่างใด จงมีแก่พระสัสสูของพระองค์อย่างนั้น.
    ข้าแต่พระราชา พระเชษฐภาดาร่วมพระอุทรพระมารดาเดียวกันโดยตรงของพระองค์ ทรงรักใคร่อย่างใด พระปัญจาลจันทราชกุมาร พระองค์ควรทรงรักใคร่อย่างนั้น.
    พระนางปัญจาลจันทีนี้ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าพรหมทัตที่พระองค์ทรงปรารถนา พระองค์จงทำความใคร่ของพระองค์แก่พระนาง พระนางจงเป็นพระมเหสีของพระองค์.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุสาสิ ความว่า ได้ยินว่า มโหสถนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลบางคราว พระเจ้าวิเทหราชอาจกริ้ว แล้วฆ่าพระชนนีของพระเจ้าจุลนีเสีย พึงสำเร็จสังวาสกับพระนางนันทาเทวีผู้มีพระรูปงดงาม พึงฆ่าพระราชกุมารเสียก็ได้ จำเราจักถือปฏิญญาของพระเจ้าวิเทหราชไว้ เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวถวายอนุศาสน์ด้วยคำว่า อยํ เต เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อยํ เต สสฺสุโร ความว่า พระปัญจาลจันทกุมารนี้เป็นพระโอรสของพระเจ้าจุลนีผู้เป็นพระสัสสุระของพระองค์ เป็นพระกนิษฐภาดาของพระนางปัญจาลจันที บัดนี้ พระเจ้าจุลนีเป็นพระสัสสุระของพระองค์. บทว่า อยํ สสฺสุ ความว่า พระมารดาของพระนางปัญจาลจันทีนี้ พระนามว่า นันทาเทวี เป็นพระสัสสูของพระองค์. บทว่า ยถา มาตุ ความว่า บุตรย่อมกระทำวัตรปฏิบัติแก่มารดา ฉันใด. พระองค์จงมีการกระทำวัตรปฏิบัติแก่พระนางนันทาเทวี ฉันนั้น. ยังมาตุสัญญาซึ่งมีกำลังกว่าให้ปรากฏ อย่าทรงแลดูพระนางนันทาเทวีด้วยโลภจิต ไม่ว่าในกาลไรๆ. บทว่า นิยโก ความว่า เป็นผู้เกิดภายใน คือเกิดด้วยบิดามารดาเดียวกัน. บทว่า ทยิตพฺโพ แปลว่า พึงประพฤติเป็นที่รัก. บทว่า ภริยา ความว่า พระนางปัญจาลจันทีนี้จักเป็นมเหสีของพระองค์ พระองค์อย่าทรงดูหมิ่นพระนางนี้. มโหสถบัณฑิตได้ถือปฏิญญาของพระเจ้าวิเทหราชอย่างนี้.
    พระเจ้าวิเทหราชทรงรับคำว่า ดีแล้ว. ก็มโหสถไม่กล่าวอะไรๆ ปรารภถึง พระราชชนนีพระเจ้าจุลนี เพราะเหตุไรจึงไม่กล่าวปรารภถึง เพราะพระราชชนนีนั้นทรงพระชราแล้ว. พระโพธิสัตว์ยืนกล่าวเรื่องทั้งปวงอยู่ริมฝั่งคงคา. ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชเป็นผู้ใคร่จะเสด็จไปด้วยความพ้นจากทุกข์ใหญ่ จึงตรัสกะมโหสถว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าจะยืนอยู่ริมฝั่งคงคาทำอะไร แล้วตรัสคาถาว่า
    ดูก่อนมโหสถ เจ้าจงรีบขึ้นเรือ เจ้าจะยืนอยู่ริมฝั่งคงคาทำไมหนอ เราทั้งหลายพ้นจากทุกข์แล้วโดยยาก จงไปบัดนี้เถิด.
    พระมหาสัตว์ได้ฟังรับสั่งจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ การโดยเสด็จด้วยพระองค์ ยังไม่ควรแก่ข้าพระองค์ก่อน แล้วทูลว่า
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า การที่ข้าพระองค์ผู้เป็นนายกแห่งเสนามาทอดทิ้งเสนางคนิกรเสีย เอาแต่ตัวรอด หาชอบไม่ ข้าพระองค์จักนำมาซึ่งเสนางคนิกรในกรุงมิถิลาที่พระองค์ละไว้ และสิ่งของที่พระเจ้าพรหมทัตประทานแล้ว.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สภาวะ. บทว่า นิเวสนมฺหิ ท่านกล่าวหมายเอาพระนคร. บทว่า ปริโมจเย แปลว่า พึงปลดเปลื้อง. บทว่า ปริหาปิตํ แปลว่า ทิ้งไว้.
    มโหสถกล่าวคาถาดังนี้ แล้วกราบทูลว่า ก็เมื่อเหล่าชนมาแต่ทางไกล บางพวกเคี้ยวกิน บางพวกดื่ม บางพวกเหน็ดเหนื่อยก็นอนหลับ ไม่รู้การที่พวกเราออกจากอุโมงค์แล้ว บางพวกเจ็บป่วย ทำงานมากับข้าพระองค์ตลอด ๔ เดือน เป็นคนมีอุปการะแก่ข้าพระองค์ ก็บรรดาชนเหล่านั้นมีมาก ข้าพระองค์ไม่อาจจะทิ้งแม้คนหนึ่งไป แต่ข้าพระองค์จักกลับนำมาซึ่งเสนาทั้งปวงของพระองค์ และทรัพย์ที่พระเจ้าจุลนีประทานมิให้เหลือไว้ ขอพระองค์อย่าเฉื่อยช้าในที่ไหน รีบเสด็จ ขอพระองค์ทรงละช้างม้าพาหนะเป็นต้น ที่ข้าพระองค์วางไว้ในหนทางเป็นระยะซึ่งเหน็ดเหนื่อยแล้วๆ เสีย เสด็จขึ้นพระยานมาศที่สามารถเข้าสู่กรุงมิถิลาเสียโดยเร็วพลัน.
    ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสคาถาว่า
    ดูก่อนบัณฑิต เจ้าเป็นผู้มีเสนาน้อย จักข่มพระเจ้าจุลนีผู้มีเสนามากตั้งอยู่อย่างไร เจ้าเป็นผู้ไม่มีกำลัง จักลำบากด้วยพระเจ้าจุลนีผู้มีกำลัง.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิคฺคยฺห ได้แก่ ครอบงำ. บทว่า วิหญฺญิสฺสสิ แปลว่า จักลำบาก.
    ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กล่าวคาถาว่า
    ถ้าบุคคลมีความคิด แม้มีเสนาน้อยย่อมชนะบุคคลผู้ไม่มีความคิดที่มีเสนามากได้ พระราชาพระองค์เดียว ย่อมชนะพระราชาทั้งหลายได้ ดุจดวงอาทิตย์อุทัยกำจัดความมืด ฉะนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนฺตี ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความคิด คือมีปัญญา คือฉลาดในอุบาย. บทว่า อมนฺตินํ ได้แก่ ผู้ไม่ฉลาดในอุบาย. บทว่า ชินาติ ความว่า ผู้มีปัญญาย่อมชนะผู้มีปัญญาทราม. บทว่า ราชา ราชาโน ความว่า พระราชาเห็นปานนี้แม้พระองค์เดียว ก็ย่อมชนะพระราชาทั้งหลายที่มีปัญญาทรามแม้มาก เหมือนอย่างอะไร. บทว่า อาทิจฺโจวุทยนฺตมํ ความว่า ดวงอาทิตย์อุทัยส่องแสงสว่าง กำจัดความมืด ฉันใด. ผู้มีปัญญาย่อมชนะและย่อมไพโรจน์ราวกะดวงอาทิตย์ ฉันนั้น.
    ก็แลครั้นทูลดังนี้แล้ว พระมหาสัตว์ถวายบังคมพระเจ้าวิเทหราช กราบทูลว่า เชิญพระองค์เสด็จไปเถิด. แล้วส่งเสด็จ พระเจ้าวิเทหราชทรงนึกถึงคุณของพระโพธิสัตว์ว่า เราพ้นจากเงื้อมมือข้าศึกแล้วหนอ และความประสงค์ของเราก็ถึงที่สุดแล้ว เพราะได้นางปัญจาลจันทีราชธิดาพระเจ้าพรหมทัตแล้ว ก็บังเกิดพระปีติปราโมทย์. เมื่อจะตรัสสรรเสริญคุณของมโหสถแก่เสนกะ จึงตรัสคาถาว่า
    แน่ะเสนกาจารย์ การอยู่ร่วมด้วยเหล่าบัณฑิต เป็นสุขดีหนอ เพราะว่ามโหสถปลดเปลื้องพวกเราผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก ดุจบุคคลปลดเปลื้องฝูงนกที่ติดอยู่ในกรง หรือฝูงปลาที่ติดอยู่ในแห ฉะนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุสุขํ วต ความว่า การอยู่ร่วมด้วยบัณฑิตทั้งหลาย นี้เป็นสุขยิ่ง เป็นสุขยิ่งกว่าหนอ. บทว่า อิติ เป็นนิบาตลงในอรรถว่า เหตุ มีคำอธิบายว่า แน่ะอาจารย์เสนกะ เพราะมโหสถปลดเปลื้อง พวกเราที่ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก ฉะนั้น. เราจึงกล่าวว่า การอยู่ร่วมด้วยเหล่าบัณฑิตอย่างนี้ นี้เป็นสุขดีหนอ.
    อาจารย์เสนกะได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น เมื่อจะสรรเสริญคุณของมโหสถ จึงกล่าวว่า
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บัณฑิตทั้งหลายนำความสุขมาแท้จริง อย่างนี้ทีเดียว มโหสถปลดเปลื้องพวกเราผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก ดุจบุคคลปลดเปลื้องฝูงนกที่ติดอยู่ในกรง หรือฝูงปลาที่ติดอยู่ในแห ฉะนั้น.
    ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชเสด็จขึ้นจากแม่น้ำ ถึงบ้านที่มโหสถให้สร้างไว้ทุกระยะ ๑ โยชน์ ชนทั้งหลายที่มโหสถวางไว้ในบ้านนั้นๆ ก็จัดช้างพาหนะข้าวน้ำเป็นต้นถวายพระราชา พระราชายังช้างม้ารถที่เหน็ดเหนื่อยแล้วๆ ให้กลับ เปลี่ยนสัตว์พาหนะนอกนี้ ถึงบ้านอื่นด้วยสัตว์พาหนะเหล่านั้น ล่วงมรรคา ๑๐๐ โยชน์ด้วยอุบายนี้ รุ่งเช้า ก็เสด็จเข้ากรุงมิถิลา.
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_4582_1a.jpg
      IMG_4582_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      570 KB
      เปิดดู:
      1,012
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 กรกฎาคม 2013
  16. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ฝ่ายพระโพธิสัตว์ไปสู่ประตูอุโมงค์ เปลื้องดาบที่ตนเหน็บไว้ออก คุ้ยทรายที่ประตูอุโมงค์ฝังดาบนั้นไว้ในทรายนั้น. ก็แลครั้นฝังดาบ แล้วก็เข้าไปสู่อุโมงค์ แล้วออกจากอุโมงค์เข้าสู่เมืองที่สร้างไว้ ขึ้นปราสาทอาบน้ำหอมแล้ว บริโภคโภชนะมีรสเลิศต่างๆ แล้วไปสู่ที่นอนอันประเสริฐ. เมื่อนึกว่ามโนรถของเราถึงที่สุด แล้วก็หลับไป. ฝ่ายพระเจ้าจุลนีตรวจเสนางคนิกรแล้วเสด็จถึงนครนั้นโดยกาลล่วงไปแห่งราตรีนั้น.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
    พระเจ้าจุลนีผู้มีกำลังมาก รักษาการตลอดราตรีทั้งสิ้น ครั้นอรุณขึ้น ก็เสด็จถึงอุปการนคร พระเจ้ากรุงอุตตรปัญจาละพระนามว่า จุลนี ผู้มีกำลังมากเสด็จทรงช้างที่นั่งตัวประเสริฐมีกำลัง อายุ ๖๐ ปี ได้ตรัสการทัพกะเสนาของพระองค์ พระองค์ทรงสวมเกราะแก้วมณี พระหัตถ์จับศร ได้ตรัสกะพวกเหล่าทวยหาญผู้รับใช้ ซึ่งชำนาญในศิลป์เป็นอันมากประชุมกันอยู่.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กสิณํ ได้แก่ ตลอดราตรีทั้งสิ้นไม่เหลือ. บทว่า อุเทนฺตํ ได้แก่ขึ้นไปอยู่. บทว่า อุปการํ ความว่า เสด็จถึงนครที่ได้ชื่อว่า อุปการ เพราะพระมหาสัตว์สร้างเทียบเคียงปัญจาลนคร. บทว่า อโวจ ความว่า ได้ตรัสกะเสนาของพระองค์. บทว่า เปสิเย ได้แก่ ผู้ทำการรับใช้ของพระองค์. บทว่า อชฺฌภาสิตฺถ ความว่า ตรัสยิ่งแล้ว คือได้ตรัสก่อนกว่านั่นเอง. บทว่า ปุถุคุมฺเพ ความว่า ผู้ดำรงอยู่ในศิลปะเป็นอันมาก คือรู้ศิลปะเป็นอเนก.
    บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงข้อความเหล่านั้นโดยย่อ พระศาสดาจึงตรัสว่า
    พระเจ้าจุลนีตรัสกะกองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ผู้มีศิลปธนู ผู้ยิงแม่น ยิงขนทรายก็ไม่พลาด ผู้ประชุมกันอยู่แล้ว.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปาสนมฺหิ ได้แก่ ผู้ชำนาญในการยิงธนู. บทว่า กตหตฺเถ ได้แก่ ผู้ยิงแม่นเพราะยิงไม่ผิดพลาด.
    บัดนี้ พระเจ้าจุลนี เมื่อจะตรัสสั่งให้จับเป็นพระเจ้าวิเทหราช จึงตรัสว่า
    เจ้าทั้งหลายจงไสช้างพลายมีกำลัง อายุ ๖๐ ปี ช้างทั้งหลายจงย่ำยีนคร ที่พระเจ้าวิเทหราชทรงสร้างไว้ดีแล้วเสีย ลูกศรอันขาวด้วยเขี้ยวงา ปลายแหลมคมสามารถแทงกระดูกได้ เกลี้ยงเกลา เหล่านี้จงตกลงดังห่าฝนด้วยกำลังธนู. เหล่าโยธารุ่นหนุ่มสวมเกราะแกล้วกล้า มีอาวุธประกอบด้วยด้ามอันวิจิตร เหล่าช้างใหญ่แล่นมา จงหันหน้าสู้ช้างทั้งหลาย หอกทั้งหลายที่ขัดด้วยน้ำมันแล้ว มีแสงเป็นประกายวะวับรุ่งเรืองตั้งอยู่ ดังดาวประกายพรึก มีรัศมีมาก. เมื่อเหล่าโยธาของเรามีกำลังคืออาวุธ ทรงสังวาลคือเกราะ ไม่ล่าหนีในสงครามเช่นนี้ พระเจ้าวิเทหราชจักพ้นไปได้ที่ไหน หากจะเป็นเหมือนนกบินไปทางอากาศ ก็จักทำได้อย่างไร.
    ก็โยธาของเราทั้งหมด ๓๙,๐๐๐ ซึ่งเราเที่ยวไปทั่วแผ่นดิน ไม่เห็นเทียมทัน สามารถตัดศีรษะข้าศึกเอามาคนละศีรษะได้. อนึ่ง ช้างพลายทั้งหลายอันประดับแล้ว มีกำลังอายุ ๖๐ ปี เหล่าโยธาหนุ่มๆมีผิวพรรณดังทองคำงดงามอยู่บนคอ โยธาทั้งหลายมีเครื่องประดับสีเหลือง นุ่งผ้าสีเหลือง ห่มผ้าเฉวียงบ่าสีเหลืองงดงามอยู่บนคอช้าง ดังเทพบุตรทั้งหลายในนันทนวัน ดาบทั้งหลายมีสีดังปลาสลาด ขัดถูด้วยน้ำมัน แสงวะวับ อันเหล่าโยธาผู้วีรบุรุษทำเสร็จแล้ว มีคมเสมอ มีคมยิ่ง เงาวับ ดาบทั้งหลายหาสนิมมิได้ ทำด้วยเหล็กกล้ามั่นคง อันเหล่าโยธาผู้มีกำลัง เชี่ยวชาญในวิธีประหาร ถือเป็นคู่มือแล้ว.
    เหล่าโยธาผู้ถึงพร้อมด้วยความงามดังทองคำ สวมเสื้อสีแดงกวัดแกว่งดาบย่อมงดงาม ดังสายฟ้าแลบวาบอยู่ในระหว่างก้อนเมฆ เหล่าโยธาผู้กล้าหาญสวมเกราะ สามารถยังธงให้สะบัดในอากาศ ฉลาดในการใช้ดาบและเกราะ ถือดาบ ฝึกมาอย่างชำนาญสามารถจะตัดคอช้างให้ขาดตกลง. (แต่กาลก่อน)ท่านเป็นผู้อันหมู่ชนเช่นนี้แวดล้อม แต่กาลนี้ ความพ้นภัยของท่านไม่มี. เราไม่เห็นราชานุภาพของท่าน ที่จะเป็นเหตุให้ท่านไปกรุงมิถิลาได้เลย.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทนฺตี ได้แก่ มีงาสมบูรณ์. บทว่า วจฺฉทนฺตมุขา ได้แก่ มีหน้าเช่นเหล็กสกัด. บทว่า ปนุณฺณา แปลว่า เกลี้ยงเกลา. บทว่า สมฺปตนฺตุตรีตรา ความว่า ลูกศรเห็นปานนี้เหล่านั้นจงตกลง คือจงมาพร้อมกันแล้วๆ เล่าๆ พระเจ้าจุลนีมีพระดำรัสสั่งว่า พวกเจ้าจงหลั่งฝนคือลูกศร ให้เป็นเหมือนฝนลูกเห็บตก. บทว่า มาณวา ได้แก่ ทหารหนุ่ม. บทว่า จมฺมิโน ได้แก่ ถือโล่. บทว่า จิตฺตทณฺฑยุตาวุธา ความว่า ประกอบด้วยอาวุธที่มีด้ามวิจิตร. บทว่า ปกฺขนฺทิโน ได้แก่ ผู้แล่นเข้าสงคราม. บทว่า มหานาคา ความว่า แม้เมื่อช้างใหญ่ทั้งหลายทำโกญจนาทมา โยธาทั้งหลายก็สามารถที่จะยืนนิ่ง จับงาทั้งสองของช้างเหล่านั้น ถอนออกเสียได้. บทว่า สตรํสาว ตารกา ความว่า มีรัศมีมากราวกะดาวประกายพรึก. บทว่า อาวุธพลวนฺตานํ ได้แก่ ประกอบด้วยกำลังอาวุธ. บทว่า คุณิกายุรธารินํ ความว่า เกราะท่านเรียกว่า คุณี ผู้ทรงไว้ซึ่งเกราะทั้งหลายด้วย ซึ่งเครื่องประดับ คือกำไลแขนทั้งหลายด้วย หรือผู้ทรงไว้ซึ่งกำไลแขน กล่าวคือเกราะ.
    บทว่า สเจ ปกฺขีว กาหติ ความว่า พระเจ้าจุลนีตรัสว่า ถ้าจักบินไปได้ทางอากาศเหมือนนก แม้อย่างนั้น ก็จักพ้นไปได้อย่างไร. บทว่า ตึส เม ปุริสนาวุโตฺย ความว่า ท่านเรียกบุรุษ ๓๙,๐๐๐ ว่า ตึสนาวุโตฺย ดังนี้. บทว่า สพฺเพ เจเกกนิจฺจิตา ความว่า พระเจ้าจุลนีทรงแสดงว่า โยธาของเราสามารถแย่งอาวุธจากมือคนอื่นๆ ตัดศีรษะปัจจามิตรทั้งหลายได้ เป็นโยธาที่คัดเลือกเป็นคนๆ อยู่ประจำการ. บทว่า เกวลํ มหิมํ จรํ ความว่า เที่ยวไปตลอดแผ่นดินนี้ทั้งสิ้น. บทว่า เยสํ สมํ น ปสฺสามิ ความว่า พระเจ้าจุลนีทรงแสดงว่า เราไม่เห็นโยธาเหล่านั้น ที่เหมือนโยธาของเราซึ่งมีความสามารถเท่านี้. ทองท่านเรียกว่า จารุ ในบทว่า จารุทสฺสนา ความว่า มีวรรณะดังทอง. บทว่า ปีตาลงฺการา ได้แก่ มีเครื่องประดับสีเหลือง. บทว่า ปีตวสนา ได้แก่ นุ่งผ้าเหลือง. บทว่า ปีตุตฺตรนิวาสนา ได้แก่ มีผ้าห่มเหลือง. บทว่า ปาฐีนวณฺณา ได้แก่ เช่นกับปลาสลาด. บทว่า เนตฺตึสา แปลว่า พระขรรค์. บทว่า นรวีเรหิ ได้แก่ บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีความเพียร. บทว่า สุนิสฺสิตา ได้แก่ ลับอย่างดี คมกริบ. บทว่า เวลฺลาฬิโน ความว่า โชติช่วง ดังดวงอาทิตย์เที่ยงวัน. บทว่า สิกฺกายสมยา ความว่า ทำด้วยเหล็กกล้าที่ให้นกกระเรียนเคี้ยวเจ็ดครั้งถือเอา. บทว่า สุปฺปหารปฺปหาริภิ ได้แก่ โยธามือแม่น. บทว่า โลหิตกญฺจูปธาริตา ความว่า ประกอบด้วยเสื้อสีแดง. บทว่า ปวกา ได้แก่ สามารถสะบัดธงในอากาศ. บทว่า อสิจมฺมสฺส โกวิทา ได้แก่ ฉลาดในการใช้ดาบและเกราะ. บทว่า ผรุคฺคหา ได้แก่ ผู้ถือดาบ. บทว่า สิกฺขิตรา ได้แก่ ฝึกอย่างเหลือเกินในการถือดาบนั้น. บทว่า นาคกฺขนฺธนิปาติโน ความว่า สามารถใช้พระขรรค์ตัดคอช้างให้ตกลง.
    บทว่า นตฺถิ โมกฺโข ความว่า พระเจ้าจุลนีตรัสว่า พ่อเปรตวิเทหะ ครั้งก่อน ท่านรอดพ้นได้ ด้วยอานุภาพมโหสถบุตรคฤหบดี. แต่บัดนี้ ท่านไม่มีทางรอดพ้นเลย. บทว่า ปภาวนฺเต ความว่า บัดนี้ เราไม่เห็นราชานุภาพของท่าน ที่เป็นเครื่องให้กลับไปกรุงมิถิลาได้. วันนี้ ท่านเป็นเหมือนปลาเข้าแหที่ทอดไว้.
     
  17. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    พระเจ้าจุลนีตรัสคุกคามพระเจ้าวิเทหราชอย่างนี้แล้ว ทรงทำในพระหฤทัยว่า เราจักจับเป็นพระเจ้าวิเทหราชให้ได้ในบัดนี้ จึงทรงเตือนช้างที่นั่งด้วยพระแสงขออันประดับเพชร แล้วตรัสสั่งเสนาว่า พวกเจ้าจงจับ จงทำลาย จงแทง เสด็จถึงอุปการนครประหนึ่งจะถมทับเสีย. ลำดับนั้น บุรุษทั้งหลายที่มโหสถวางไว้ ก็พาพวกของตนแวดล้อมมโหสถไว้ ด้วยคิดว่า ใครจะรู้ อะไรจักมี. ขณะนั้น พระโพธิสัตว์ลุกจากที่นอนอันเป็นสิริ ชำระร่างกายแล้ว บริโภคอาหารเช้า ประดับตกแต่งตัวนุ่งผ้ามาแต่แคว้นกาสีราคาตั้งแสน ห่มรัตกัมพล เฉียงอังสา ถือไม้เท้าทองที่สำหรับใช้อันหนึ่ง ซึ่งขจิตด้วยรัตนะ ๗ สวมรองเท้าทอง. เหล่าสตรีที่ตกแต่งแล้วดุจเทพอัปสรพัดอยู่ด้วยวาลวีชนี เปิดสีหบัญชรบนปราสาทซึ่งตกแต่งแล้ว แสดงตนแด่พระเจ้าจุลนี เดินกลับไปกลับมา ด้วยลีลาดังท้าวสักกเทวราช.
    ฝ่ายพระเจ้าจุลนีทอดพระเนตร เห็นสิริรูปอันอุดมของมโหสถ ก็ไม่สามารถจะยังพระมนัสให้เลื่อมใส เร่งไสช้างที่นั่งเข้าไปด้วยทรงคิดว่า เราจักจับมโหสถให้ได้ ในบัดนี้. มโหสถโพธิสัตว์คิดว่า พระเจ้าจุลนีนี้ด่วนมาด้วยทรงสำคัญว่า เราได้ตัวพระเจ้าวิเทหราชแล้วในที่นี้เอง ชะรอยจะไม่ทรงทราบว่า เราจับพระโอรสพระธิดาและพระมเหสีของพระองค์ ส่งถวายแด่พระราชาของพวกเราแล้ว ฉะนั้น เราจักสำแดงหน้าของเราให้เช่นกับแว่นทอง แล้วกล่าวกับพระเจ้าจุลนี. พระโพธิสัตว์ยืนอยู่ที่หน้าต่าง เปล่งเสียงไพเราะ เมื่อจะกล่าวเย้ยหยันกับพระเจ้าจุลนี จึงทูลว่า
    พระองค์ด่วนไสช้างที่นั่งตัวประเสริฐมาทำไมหนอ พระองค์มีพระหฤทัยร่าเริงแล้วเสด็จมา คงจะเข้าพระทัยว่า ทรงเป็นผู้ได้ประโยชน์แล้ว ขอพระองค์ทรงลดแล่งธนูนั่นลงเสียเถิด ทรงทิ้งลูกธนูเสียเถิด ทรงเปลื้องเกราะอันงามโชติช่วงด้วยแก้วไพฑูรย์ แก้วมณีนั่นออกเสียเถิด.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุญฺชรํ ได้แก่ ช้างตัวประเสริฐ. บทว่า ปหฏฐรูโป ความว่า มีพระหฤทัยร่าเริงแล้วยินดีแล้ว คือทรงโสมนัส. บทว่า อาคมสิ แปลว่า เสด็จมา. บทว่า ลทฺธตฺโถสฺมิ ความว่า พระองค์เข้าพระหฤทัยว่า เรามีประโยชน์อันสำเร็จแล้ว คือความปรารถนาของเราถึงที่สุดแล้ว. บทว่า โอหเรตํ ความว่า พระองค์ทรงนำลง คือเอาลง คือทิ้งธนู กล่าวคือแล่งนั่นเสีย ประโยชน์อะไรด้วยธนูนั่นแก่พระองค์. บทว่า ปฏิสํหร ความว่า จงนำออกประทานแก่ผู้อื่น หรือเก็บไว้ในที่มิดชิด พระองค์จักใช้ลูกธนูทำอะไร. บทว่า จมฺมํ ความว่า แม้เกราะนั่นก็โปรดนำออกเสีย เพราะเกราะนี้พระองค์ทรงสวม ตั้งแต่เมื่อวาน. โปรดทิ้งเสียเถิด อย่าให้มันเบียดเบียนพระวรกายของพระองค์เลย อย่าทำพระวรกายของพระองค์ให้ลำบากเลย โปรดเสด็จเข้าพระนครของพระองค์แต่เช้าเถิด. พระโพธิสัตว์ได้ทำ ความเย้ยหยันกับพระเจ้าจุลนี ดังนี้.
    พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำของมโหสถแล้ว ตรัสว่า บุตรคฤหบดีนี้ทำการเย้ยหยันกับเรา วันนี้เราจักรู้กิจที่จะพึงทำแก่เจ้า. เมื่อทรงคุกคามมโหสถ ตรัสว่า
    เจ้าเป็นผู้มีผิวหน้าผ่องใส และกล่าวถ้อยคำเคยยิ้มแย้ม ความถึงพร้อมแห่งผิวพรรณเช่นนี้ ย่อมมีในเวลาใกล้ตาย.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิหิตปุพฺพญฺจ ภาสสิ ความว่า เจ้ายิ้มแย้มก่อนแล้วกล่าวภายหลัง ชื่อว่ากล่าวถ้อยคำเคยยิ้มแย้ม เจ้าไม่นับเราในเรื่องอะไรๆ. บทว่า โหติ โข ความว่า ธรรมดา ความถึงพร้อมแห่งผิวพรรณเห็นปานนี้ ย่อมมีแก่คนในเวลาใกล้ตายเท่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านผ่องใส วันนี้เราจักตัดศีรษะของเจ้า แล้วดื่มชัยบาน.
    ในเวลาที่มโหสถทูลกับพระเจ้าจุลนีนั้นอย่างนี้ ฝ่ายพลนิกายเป็นอันมากได้เห็น รูปสิริแห่งพระมหาสัตว์ จึงได้ไปสู่สำนักของพระเจ้าพรหมทัต ด้วยคิดว่า พระราชาของพวกเราทรงปรึกษามโหสถ ตรัสอะไรกันหนอ พวกเราจักฟังพระดำรัสและถ้อยคำแห่งพระราชาและมโหสถ. ฝ่ายมโหสถบัณฑิตได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าจุลนีแล้ว คิดว่า พระเจ้าจุลนีไม่ทรงรู้จักเราว่ามโหสถบัณฑิต เราจักไม่ให้ฆ่าเราได้ คิดฉะนี้ จึงทูลว่า ความคิดของพระองค์กระจายแล้ว พระเจ้าข้า เรื่องที่พระองค์และเกวัฏคิดด้วยใจ ไม่เกิดแล้ว แต่เรื่องที่กล่าวด้วยปาก เกิดแล้ว. เมื่อจะประกาศข้อความนั้น จึงทูลว่า
    ข้าแต่ขัตติยราช พระดำรัสที่พระองค์ตรัสคุกคาม ไร้ประโยชน์เสียแล้ว พระองค์เป็นผู้มีพระดำริกระจายไปทั่วแล้ว พระองค์จับพระเจ้าวิเทหราชไม่ได้หรอก ดังม้าสินธพอันม้ากระจอกไล่ไม่ทัน.
    พระเจ้าวิเทหราช พร้อมเหล่าอมาตย์ราชบริพาร เสด็จข้ามคงคาไปแล้ว แต่วันวานนี้ เมื่อพระองค์จักติดตามไปก็จักตก เหมือนกาบินไล่ตามพระยาหงส์ ฉะนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภินฺนมนฺโตสิ ความว่า มโหสถกล่าวว่า พระองค์อย่าได้เข้าพระหฤทัยว่า ความคิดของเราที่ปรึกษากับเกวัฏในห้องสิริไสยานั้น ไม่มีใครรู้ ความคิดนั้น ข้าพระองค์รู้แล้วก่อนทีเดียว. ฉะนั้น พระองค์จึงเป็นผู้มีพระดำริ กระจายไปทั่วแล้ว. บทว่า ทุคฺคณฺโห หิ ตยา ความว่า ข้าแต่พระมหาราช พระราชาของพวกข้าพระองค์ พระองค์ทรงจับได้ยาก เหมือนม้าสินธพกับม้ากระจอก พระองค์เหมือนคนขี่ม้ากระจอก ไม่อาจที่จะจับพระราชาของพวกข้าพระองค์ ซึ่งเหมือนคนขี่ม้าอาชาไนยมีกำลังเร็ว. มโหสถแสดงว่า เกวัฏเหมือนม้ากระจอก พระองค์เหมือนคนขี่ม้ากระจอก. ข้าพระองค์เหมือนม้าสินธพมีกำลังเร็ว พระราชาของพวกข้าพระองค์เหมือนคนขี่ม้าสินธพ. บทว่า ติณฺโณ หิยฺโย ความว่า พระเจ้าวิเทหราชพร้อมด้วยเหล่าอมาตย์ ข้าราชบริพารเสด็จข้ามน้ำไปแต่วันวานนี้แล้ว มิได้เสด็จหนีไปพระองค์เดียวเสียด้วย. บทว่า อนุชวํ ความว่า ก็ถ้าพระองค์จักไล่ตาม คือจักติดตามพระเจ้าวิเทหราช กาบินไล่ตามพระยาหงส์ทอง จักตกในระหว่างนั่นแล ฉันใด พระองค์จักตก คือจักถึงความพินาศในระหว่างนั่นแล ฉันนั้น. มโหสถทูลดังนี้.
    บัดนี้ พระมหาสัตว์มิได้พรั่นพรึง ประดุจพระยาไกรสรราชสีห์ เมื่อจะนำอุทาหรณ์มา จึงทูลว่า
    สุนัขจิ้งจอกทั้งหลายเป็นสัตว์ต่ำช้ากว่ามฤค เห็นดอกทองกวาวบานในรัตติกาล ก็สำคัญว่าชิ้นเนื้อ เข้าล้อมต้นอยู่ ครั้นเมื่อราตรีล่วงไปแล้ว พระอาทิตย์ขึ้น สุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์ต่ำช้ากว่ามฤค เห็นดอกทองกวาวบานแล้ว ก็หมดหวัง ฉันใด. ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงล้อมพระเจ้าวิเทหราช ก็จักทรงหมดหวังเสด็จไป เหมือนสุนัขจิ้งจอกทั้งหลายเห็นดอกทองกวาว ฉันนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิสฺวาน ได้แก่ เห็นด้วยแสงจันทร์. บทว่า ปริพฺยุฬฺหา ความว่า ยืนล้อมด้วยหวังว่า จักเคี้ยวกินชิ้นเนื้อแต่เช้าทีเดียวแล้วจักไป. บทว่า วีติวตฺตาสุ ความว่า สุนัขจิ้งจอกเหล่านั้นได้ยืนอยู่อย่างนั้นในราตรีใดๆ เมื่อราตรีนั้นๆ ล่วงไปแล้ว. บทว่า ทิสฺวา ความว่า สุนัขจิ้งจอกทั้งหลายเห็นดอกทองกวาวแต่เช้าทีเดียว รู้ว่า นี้ไม่ใช่เนื้อ ก็หมดหวังพากันหนีไป. บทว่า สิงฺคาลา ความว่า สุนัขจิ้งจอกทั้งหลายล้อมต้นทองกวาวแล้วหมดหวังไป ฉันใด. แม้พระองค์ ก็ฉันนั้น ทรงทราบว่าพระเจ้าวิเทหราชไม่มีในที่นี้ ก็จักหมดหวังเสด็จไป คือจักพาเสนาหนีไป. มโหสถแสดงดังนี้.
    พระเจ้าจุลนีทรงสดับคำไม่พรั่นพรึงของมโหสถนั้น ทรงคิดว่า บุตรคฤหบดีนี้เป็นคนกล้าเกินกล่าวแล้ว มันคงให้พระเจ้าวิเทหราชเสด็จหนีไปแล้ว โดยไม่ต้องสงสัย ก็กริ้วเหลือเกิน ทรงรำพึงว่า เมื่อก่อน พวกเราไม่เป็นเจ้าของ แม้แห่งผ้าสาฎกที่คาดพุงเพราะมโหสถ บัดนี้ ปัจจามิตรอยู่ในเงื้อมมือของพวกเราแล้ว ก็มโหสถให้หนีไป มโหสถเป็นคนทำความฉิบหายแก่พวกเรามากหนอ เราจักทำโทษอันควรทำแก่คนสองคน รวมแก่มโหสถนี้คนเดียว เมื่อจะทรงสั่งลงโทษแก่มโหสถ จึงตรัสว่า
    เจ้าทั้งหลายจงตัดมือและเท้า หูและจมูกของมโหสถผู้ปล่อยพระเจ้าวิเทหราชศัตรูของข้า ซึ่งอยู่ในเงื้อมมือแล้วไปเสีย เจ้าทั้งหลายจงเสียบมโหสถผู้ปล่อยพระเจ้าวิเทหราชศัตรูของข้า ซึ่งอยู่ในเงื้อมมือแล้วไปเสีย ในหลาวย่างมันให้ร้อน ดุจย่างเนื้อฉะนั้น.
    บุคคลแทงหนังโคที่แผ่นดิน หรือเกี่ยวหนังราชสีห์ หรือเสือโคร่งฉุดมาด้วยขอ ฉันใด. ข้าจักให้เจ้าทั้งหลายทิ่มแทงมโหสถ ผู้ปล่อยพระเจ้าวิเทหราชศัตรูของข้า ซึ่งอยู่ในเงื้อมมือแล้วไปเสีย แล้วฆ่าเสียด้วยหอก ฉันนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาตปฺปํ ความว่า จงเสียบบุตรคฤหบดีนี้ในหลาวย่างไฟ เหมือนเสียบเนื้อมฤคเป็นต้นที่ควรย่าง ฉะนั้น. บทว่า สีหสฺส อโถ พฺยคฺฆสฺส ความว่า เหมือนอย่างว่า บุคคลเอาขอเกี่ยวหนังราชสีห์เป็นต้น ฉุดมา ฉันใด. จงทำแก่มโหสถ ฉันนั้น. บทว่า เวธยิสฺสามิ ได้แก่ จักให้แทง.
    พระมหาสัตว์ได้ฟังพระดำรัสดังนั้น ก็หัวเราะ คิดว่า พระราชานี้ไม่รู้ว่า เราส่งพระมเหสีและพระวงศานุวงศ์ของพระองค์ไปกรุงมิถิลาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงคิดลงกรรมกรณ์แก่เรา แต่อาจยิงเราด้วยศร หรือทำโทษอย่างอื่นตามชอบพระหฤทัยของพระองค์ด้วยความพิโรธ เอาเถิด เราจะแจ้งเหตุการณ์ เพื่อทำให้พระองค์โศกาดูรเสวยทุกข์ บรรทมสลบอยู่บนหลังช้างที่นั่ง นั่นเอง คิดฉะนี้แล้ว จึงทูลว่า
    ถ้าพระองค์ตัดมือและเท้า หูและจมูกของข้าพระองค์ พระเจ้าวิเทหราชจักให้ตัดพระหัตถ์เป็นอาทิแห่งพระปัญจาลจันทราชโอรส พระนางปัญจาลจันทีราชธิดา และพระนางนันทาเทวีมเหสีของพระองค์ พระเจ้าวิเทหราชจักให้ตัดพระหัตถ์เป็นต้นของพระราชโอรสพระราชธิดา และพระมเหสีของพระองค์ อย่างนั้นเหมือนกัน.
    ถ้าพระองค์เสียบเนื้อข้าพระองค์ในหลาวย่างให้ร้อน พระเจ้าวิเทหราชก็จักให้เสียบเนื้อพระปัญจาลจันทราชโอรส พระนางปัญจาลจันทีราชธิดา และพระนางนันทาเทวีมเหสีของพระองค์ ย่างให้ร้อน พระเจ้าวิเทหราชจักให้เสียบเนื้อพระราชโอรส พระราชธิดา และพระมเหสีของพระองค์ ย่างให้ร้อน อย่างนั้นเหมือนกัน.
    ถ้าพระองค์จักทิ่มแทงข้าพระองค์ด้วยหอก พระเจ้าวิเทหราชก็จักให้ทิ่มแทง พระปัญจาลจันทราชโอรส พระนางปัญจาลจันทีราชธิดา และพระนางนันทาเทวีมเหสีของพระองค์ด้วยหอก พระเจ้าวิเทหราชจักทิ่มแทงพระราชโอรส พระราชธิดา และพระมเหสีของพระองค์ด้วยหอก อย่างนั้นเหมือนกัน.
    ข้อความดังกราบทูลมาอย่างนี้ ข้าพระองค์ทั้งสอง คือพระเจ้าวิเทหราชกับข้าพระองค์ ได้ปรึกษาตกลงกันไว้แล้วเป็นความลับ โล่หนังมีน้ำหนัก ๑๐๐ ปละ ที่ช่างหนังทำสำเร็จแล้ว ด้วยมีดของช่างหนังย่อมช่วยป้องกันตัว เพื่อห้ามกันลูกศรทั้งหลาย ฉันใด ข้าพระองค์เป็นผู้นำความสุข บรรเทาทุกข์ถวายพระเจ้าวิเทหราชผู้เรืองยศ ก็จำต้องทำลายลูกศร คือพระดำริของพระองค์ ด้วยโล่หนัง คือความคิดของข้าพระองค์ ฉันนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เฉทยิสฺสติ ความว่า พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับว่า ได้ยินว่า พระเจ้าจุลนีตัดมือเท้าของมโหสถบัณฑิตแล้ว ก็จักให้ตัด. บทว่า ปุตฺต ทารสฺส ความว่า พระราชาของพวกข้าพระองค์จักให้ตัดมือเท้าของคน ๓ คน คือพระราชโอรสพระราชธิดา ๒ และพระอัครมเหสี ๑ เพราะตัดมือเท้าของข้าพระองค์คนเดียวเป็นเหตุ. บทว่า เอวํ โน มนฺติตํ รโห ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์และพระเจ้าวิเทหราช ได้ปรึกษาตกลงกันไว้ในที่ลับอย่างนี้ว่า พระเจ้าจุลนีรับสั่งให้กระทำกรรมใดๆ แก่ของพระองค์ในกรุงปัญจาละนี้. พระเจ้าวิเทหราชพึงกระทำกรรมนั้นๆ แก่พระราชโอรสพระราชธิดา และพระมเหสีของพระองค์ ในกรุงมิถิลานั้น. บทว่า ปลสตํ ความว่า หนังน้ำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ ที่ให้ขี้เถ้าเป็นอันมากกัดให้อ่อนนุ่ม มีดของช่างหนัง ท่านเรียกว่า โกนฺติมนฺตา ในบทว่า โกนฺติมนฺตาสุนิฏฺฐิตํ โล่หนังสำเร็จด้วยดี เพราะรอยตัดทั้งหลายทำด้วยมีดของช่างหนังนั้น. บทว่า ตนุตาณาย ความว่า โล่หนังนั้นเข้าถึงความป้องกันสรีระ เพื่อป้องกันลูกศรทั้งหลาย คือป้องกันลูกศรทั้งหลาย รักษาสรีระไว้ได้ ฉันใด. บทว่า สุขาวโห ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า แม้ข้าพระองค์ก็เป็นผู้นำความสุขมา ถวายแด่พระราชาของพวกข้าพระองค์ โดยห้ามปัจจามิตรทั้งหลาย เหมือนโล่หนังสำหรับป้องกันลูกศรของพระองค์. บทว่า ทุกฺขนูโท ความว่า ข้าพระองค์นำมาซึ่งความสุขทางกายและทางใจ บรรเทาความทุกข์. บทว่า มตินฺเต ความว่า เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จักต้องทำลายความคิด คือปัญญาของพระองค์ ด้วยความคิดของข้าพระองค์ เหมือนป้องกันลูกศรด้วยโล่หนังหนัก ๑๐๐ ปละนั้น.
    พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับดังนั้น แล้วทรงพระดำริว่า บุตรคฤหบดีพูดอย่างนี้ทำไม ได้ยินว่า เราทำกรรมกรณ์แก่เขาอย่างใด พระเจ้าวิเทหราชจักทรงทำกรรมกรณ์แก่โอรสและมเหสีของเราอย่างนั้น บุตรคฤหบดีไม่รู้ว่า เราจัดการอารักขาโอรสและมเหสีของเราอย่างดี บัดนี้ เขาจักตายจึงบ่นเพ้อด้วยกลัวตายนั่นเอง เราไม่เชื่อคำของเขา. มโหสถคิดว่า พระราชาสำคัญตัวเราว่า พูดด้วยความกลัวตาย เราจักให้พระองค์ทรงทราบเสีย จึงทูลว่า
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เชิญเถิด ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูภายในเมืองของพระองค์ ซึ่งว่างเปล่า นางสนม และกุมารทั้งหลาย ตลอดถึงพระชนนีของพระองค์ ข้าพระองค์ให้นำออกจากอุโมงค์ ถวายไปแด่พระเจ้าวิเทหราชแล้ว.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุมฺมงฺคา ความว่า ข้าพระองค์สั่งคนหนุ่มๆ ของข้าพระองค์ไปพาพระวงศานุวงศ์เหล่านั้น ลงจากปราสาทนำมาทางอุโมงค์นั่นแล แล้วนำออกจากอุโมงค์ใหญ่ ถวายแด่พระเจ้าวิเทหราชไปแล้ว.
    พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับดังนั้น จึงทรงคิดว่า บุตรคฤหบดีนี้กล่าวหนักแน่นเหลือเกิน อนึ่ง เมื่อคืนนี้ เราได้ยินเสียงเหมือนเสียงนางนันทาเทวี ข้างแม่น้ำคงคา มโหสถนี้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก บางทีพึงกล่าวจริง ทรงคิดฉะนี้ แล้วเกิดความโศกมีกำลัง ดำรงพระสติไว้ทำเป็นไม่โศก. เมื่อจะตรัสเรียกอมาตย์คนหนึ่งมา ส่งไปให้รู้ความ จึงตรัสคาถาว่า
    เจ้าจงไปภายในเมืองของเรา ตรวจตราดูคำของมโหสถนี้ จริงหรือเท็จอย่างไร.
    อมาตย์นั้นพร้อมด้วยบริวารไปสู่พระราชนิเวศน์ เปิดพระทวารเข้าไปภายใน ได้เห็นเหล่าคนผู้รักษาพระราชนิเวศน์ และเหล่าบริจาริกานารีที่ค่อมแคระเป็นต้น ถูกผูกมือและเท้าอุดปาก ติดกับไม้นาคทันต์ทั้งหลาย ภาชนะในห้องเครื่องแตกทำลาย ขาทนียโภชนียะเกลื่อนกล่นในที่นั้น และห้องประกอบด้วยสิริมีประตูเปิด มีการปล้นรัตนะ ซึ่งเหล่าปัจจามิตรเปิดประตูคลังรัตนะกระทำแล้ว ได้เห็นฝูงกาเข้าไปทางพระทวารและพระแกล ซึ่งเปิดทิ้งไว้เที่ยวอยู่พระราชนิเวศน์หาสิริมิได้ เช่นกับบ้านที่ทิ้งแล้วหรือประหนึ่งพื้นสุสาน จึงกลับมา เมื่อจะกราบทูลแด่พระราชา จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มโหสถทูลอย่างใด ข้อความนั้นก็เป็นอย่างนั้น พระราชนิเวศน์ทั้งปวงว่างเปล่า ดุจที่ลงหากินแห่งกา.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กากปตนกํ ยถา ความว่า เป็นราวกะว่า บ้านที่ทิ้งไว้ใกล้ฝั่งทะเล เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงกา ที่มาด้วยกลิ่นหอมของปลา.
     
  18. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงสะทกสะท้านด้วยความโศก เกิดแต่ความพลัดพรากจากกษัตริย์ทั้ง ๔. พระองค์ก็ทรงพิโรธพระโพธิสัตว์เกินเปรียบ ดุจงูพิษถูกตีด้วยท่อนไม้ว่า ความทุกข์ของเรานี้เกิดขึ้น เพราะอาศัยบุตรคฤหบดี. มโหสถเห็นพระอาการกริ้วของพระเจ้าจุลนี จึงคิดว่า พระราชาผู้มีพระยศใหญ่พระองค์นี้ พึงเบียดเบียนเราด้วยขัตติยมานะ ด้วยสามารถแห่งความโกรธ ในกาลบางคราวว่า เราจะต้องการด้วยกษัตริย์ทั้ง ๔ ไปทำไม ไฉน เราจะทำพระนางนันทาเทวีให้เป็นเหมือนพระราชานี้ยังไม่เคยเห็น พึงสรรเสริญสรีรวรรณแห่งพระนางนั้น ทีนั้น พระราชาก็จะทรงระลึกถึงพระนางนั้น ก็จักไม่ทำอะไรๆ แก่เราด้วยทรงรักใคร่ในพระมเหสีของพระองค์ ด้วยทรงคะนึงว่า ถ้าเราฆ่ามโหสถเสีย เราก็จักไม่ได้สตรีรัตนะ เห็นปานนี้. มโหสถคิดฉะนี้ แล้วยืนอยู่บนปราสาทเพื่อการรักษาตัว ได้นำแขนซึ่งมีวรรณะดุจวรรณะแห่งทองคำ ออกในระหว่างรัตกัมพล เมื่อจะสรรเสริญพระนางนั้น ด้วยสามารถแห่งอันกราบทูลมรรคาที่พระนางนั้นเสด็จไป จึงทูลว่า
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระนางนันทาเทวีเสด็จไปแล้วจากอุโมงค์นี้ เป็นผู้มีพระสรีราพยพอันงามสรรพ มีพระโสณีควรเปรียบกับแผ่นทองคำธรรมชาติ มีปกติตรัสประภาษไพเราะเสนาะ ดังเสียงลูกหงส์.
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระนางนันทาเทวี อันข้าพระองค์นำเสด็จออกไปจากอุโมงค์นี้ เป็นผู้มีสรรพางค์งามน่าทัศนา ทรงพระภูษาโกไสยมีพระรูปอำไพ ดุจสุวรรณสายรัดพระองค์นั้น ก็งามทำด้วยกาญจนวิจิตร มีพระบาทสดใสพระโลหิตขึ้นแดงอันแถลงเบญจกัลยาณี ชี้ไว้เป็นแบบด้วยสามารถแห่งพระฉวี พระมังสา พระเกศา พระเส้นเอ็น และพระอัฐิงามดี มีสายรัดพระองค์แก้วมณีแกมสุวรรณ
    ดวงพระเนตรนั้นเปรียบกับตานกพิราบ มีพระสรีรภาพอันโสภณ ริมพระโอฐแดง ดุจผลตำลึงสุกก็ปานกัน มีบั้นพระองค์บางอย่างประหนึ่งจะรวบกำรอบทีเดียว มีบั้นพระองค์เล็กเรียวดุจเถานาคลดาเกิดแล้วดี แลดุจกาญจนไพที พระศกของพระนางนันทาเทวียาวดำ ปลายช้อยเล็กน้อย ดุจปลายมีด.
    พระนางเจ้านั้นมีดวงพระเนตรเขื่อง ราวกะดวงตาแห่งลูกมฤค ๑ ขวบเกิดดีแล้ว หรือดุจเปลวเพลิงในเหมันตฤดู. แม่น้ำใกล้ภูผาหรือหมู่ไม้ดาดาษไปด้วยไม้ไผ่เล็กๆ ย่อมงดงาม ฉันใด. เส้นพระโลมชาติก็อ่อนงดงาม ฉันนั้น. พระนางมีพระเพลางามดังงวงกุญชรงาม. มีพระถันยุคลดังคู่ผลมะพลับทองงามเป็นที่หนึ่ง มีพระสัณฐานพึงพอดี ไม่สูงนักไม่ต่ำนัก. พระโลมาของพระนางเจ้านั้น มีพองามไม่มากเกิน.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิโต ท่านแสดงถึงอุโมงค์. บทว่า โกสุมฺภผลกสุสฺโสณี ความว่า มีพระโสณีงามปานแผ่นทองคำอันไพศาล. บทว่า หํสคคฺครภาณินี ความว่า ประกอบด้วยการเปล่งเสียงเสนาะไพเราะจับใจ คล้ายเสียงลูกหงส์ที่เที่ยวหากินอยู่. บทว่า โกเสยฺยวสนา ได้แก่ ทรงผ้าไหมขจิตด้วยทอง. บทว่า สามา ได้แก่ มีสรีระดังทอง. บทว่า ปาเรวตกฺขี ความว่า มีดวงพระเนตรเช่นกับนกพิราบ ในฐานอันเลิศทั้งหลายในประสาททั้งห้า. บทว่า สุตนู แปลว่า มีพระสรีระงาม. บทว่า พิมฺโพฏฺฐา ได้แก่ มีริมพระโอฐแดงดังผลตำลึงสุก. บทว่า ตนุมชฺฌิมา ความว่า มีบั้นพระองค์บางดังว่าจะกำได้รอบ. บทว่า สุชาตา ภุชคลฏฺฐีว ความว่า มีบั้นพระองค์งามดุจหน่อไม้มีสีแดงต้องลมไหว ในเวลาเมื่อทรงเยื้องกรายงามไพโรจน์ ดุจเถานาคลดาเกิดดีแล้ว. บทว่า เวทีว ความว่า มีบั้นพระองค์ปานกาญจนไพที. บทว่า อีสกคฺคปเวลฺลิตา ความว่า พระเกศาช้อยที่ปลายนิดหน่อย ชื่อว่า ปลายช้อยเล็กน้อย ช้อยดุจปลายมีด. บทว่า มิคจฺฉาปีว ความว่า ประกอบด้วยดวงตาเขื่อง ดุจลูกมฤค ๑ ขวบเกิดที่เชิงเขา. บทว่า เหมนฺตคฺคิสิขาริว ความว่า งามดุจเปลวไฟในฤดูหนาว เพราะมีแสงสว่าง. บทว่า ขุทฺทเวฬุภิ ความว่า งามด้วยแถวโลมชาติบางๆ เหมือนอย่างแม่น้ำที่ดาดาษด้วยไม้ไผ่เล็กๆ ย่อมงามฉะนั้น. บทว่า กลฺยาณี ความว่า ประกอบด้วยความงาม ๕ อย่าง คืองามผิว งามเนื้อ งามผม งามเส้นเอ็นและงามกระดูก. บทว่า ปฐมา ติมฺพรุตฺถนี ความว่า พระนางนันทาเทวีนั้นมีพระยุคลถันชิดกัน สมบูรณ์ด้วยสัณฐาน ปานประหนึ่งคู่แห่งผลมะพลับทองที่วางไว้บนแผ่นทองฉะนั้น งามเป็นที่หนึ่ง คือสูงสุด.
    เมื่อพระมหาสัตว์พรรณนา รูปสิริของพระนางนันทาเทวีอย่างนี้แล้ว พระนางเธอได้เป็นเหมือนพระเจ้าจุลนีไม่เคยได้ทอดพระเนตรเห็นมาก่อน พระองค์เกิดความเสน่หามีกำลัง.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทราบว่า พระเจ้าจุลนีมีความเสน่หาเกิดขึ้น จึงได้กล่าวคาถา เป็นลำดับไปว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้มีพาหนะสมบูรณ์ด้วยสิริ พระองค์ทรงยินดีด้วยการทิวงคตของพระนางนันทาเทวีเป็นแน่ ข้าพระองค์และพระนางนันทาเทวี จะไปสู่สำนักยมราชเป็นแน่.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิริพาหน ความว่า มโหสถกล่าวว่า ข้าแต่พระมหาราชผู้มีพาหนะถึงพร้อมด้วยสิริ พระองค์ย่อมทรงยินดีด้วยการทิวงคตของพระนางนันทาเทวี ผู้ทรงพระรูปอันอุดมอย่างนี้แน่. บทว่า คจฺฉาม ความว่า ก็ถ้าพระองค์จักฆ่าข้าพระองค์ พระราชาของข้าพระองค์ก็จักฆ่าพระนางนันทาเทวีอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น พระนางนันทาเทวีและข้าพระองค์ก็จักไปสำนักของยมราช ยมราชเห็นข้าพระองค์ทั้งสองแล้ว ก็จักให้พระนางนันทาเทวีแก่ข้าพระองค์เท่านั้น เมื่อข้าพระองค์แม้ตายแล้วก็ยังได้นางแก้วเช่นนั้น จักเสียประโยชน์อะไรเล่า ข้าพระองค์แลไม่เห็นความเสื่อมเพราะตัวต้องตาย พระเจ้าข้า. ได้ยินว่า มโหสถกราบทูลพระเจ้าจุลนีอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
    พระมหาสัตว์สรรเสริญพระนางนันทาเทวีในฐานะเท่านี้ หาสรรเสริญกษัตริย์อีก ๓ องค์ไม่ ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุไร เพราะธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ทำสิเนหาอาลัยในชนอื่นๆ ดุจในภรรยาที่รัก หรือว่าชนทั้งหลาย เมื่อไม่ระลึกถึงมารดา ก็จักไม่ระลึกถึงบุตรและธิดา เพราะเหตุนั้น พระโพธิสัตว์จึงสรรเสริญพระนางนันทาเทวีเท่านั้น ไม่สรรเสริญพระราชมารดา เพราะทรงพระชราแล้ว. ในเมื่อพระมหาสัตว์สรรเสริญพระนางนันทาเทวีด้วยเสียงอ่อนหวาน พระนางนันทาเทวีก็ได้เป็นเหมือนมาประทับอยู่หน้าที่นั่งพระเจ้าจุลนี แต่นั้น พระเจ้าจุลนีจึงทรงคิดว่า ยกมโหสถบัณฑิตเสีย บุคคลอื่นที่ชื่อว่าสามารถจะพามเหสีที่รักของเรามาให้แก่เรา ย่อมไม่มี. ลำดับนั้น เมื่อพระเจ้าจุลนีทรงระลึกพระนางเจ้านั้น ความโศกก็เกิดขึ้น พระโพธิสัตว์จึงทูลเล้าโลมพระเจ้าจุลนีว่า พระองค์อย่าทรงวิตกเลย พระราชเทวี พระราชโอรส และพระราชชนนีของพระองค์ทั้ง ๓ องค์จักเสด็จกลับมา ข้าพระองค์กลับไปนั่นแหละเป็นกำหนดแน่ ในการเสด็จกลับแห่งกษัตริย์ทั้ง ๓ องค์นั้น เพราะฉะนั้น ขอพระองค์วางพระหฤทัยเสียเถิด พระเจ้าข้า.
    ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีทรงคิดว่า เราให้ทำการพิทักษ์รักษาเมืองของเราเป็นอันดี แล้วมาตั้งล้อมอุปการนครนี้ด้วยพลพาหนะถึงเท่านี้ มโหสถยังนำพระเทวีโอรสธิดา และพระชนนีของเรา จากเมืองเราซึ่งรักษาดีแล้วอย่างนี้ไปให้พระเจ้าวิเทหราชได้ และเมื่อพวกเราตั้งล้อมอยู่อย่างนี้ มโหสถยังพระเจ้าวิเทหราชทั้งพลพาหนะให้หนีไป แม้สักคนหนึ่งก็หามีใครรู้ไม่ มโหสถรู้เล่ห์กลอันเป็นทิพย์หรือ หรือเพียงอุบายบังตาหนอ. เมื่อจะตรัสถามข้อความกะมโหสถ จึงตรัสคาถาว่า
    เจ้ารู้เล่ห์กลอันเป็นทิพย์ หรือเจ้าได้ทำอุบายเพียงบังตา ในการที่เจ้าปล่อยพระเจ้าวิเทหราชผู้เป็นศัตรูของข้า ซึ่งตกอยู่ในเงื้อมมือข้าแล้ว.
    มโหสถได้ฟังรับสั่งจึงทูลว่า ข้าพระองค์รู้เล่ห์กลอันเป็นทิพย์ จริงอยู่ บัณฑิตทั้งหลายย่อมเรียนเล่ห์กลอันเป็นทิพย์ไว้ ครั้นเมื่อภัยมาถึง ก็ปลดเปลื้องตนบ้าง ผู้อื่นบ้างให้พ้นทุกข์. ทูลฉะนี้ แล้วทูลว่า
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมบรรลุเล่ห์กลอันเป็นทิพย์ บัณฑิตชนผู้มีความรู้เหล่านั้น จึงเปลื้องตนจากทุกข์ได้. เหล่าโยธารุ่นหนุ่มเป็นคนฉลาด เป็นทหารขุดอุโมงค์ของข้าพระองค์ มีอยู่. พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปกรุงมิถิลา โดยทางที่ทหารเหล่านี้ทำไว้.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิพฺพมายีธ ตัดบทเป็น ทิพฺพมายํ อิธ. บทว่า มาณวปุตฺต ได้แก่ เหล่าโยธารุ่นหนุ่มผู้บำรุง. บทว่า เยสํ กเตน ได้แก่ ที่พวกเขาทำไว้. บทว่า มคฺเคน ได้แก่ โดยอุโมงค์ที่ตกแต่งไว้.
    พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับคำนี้แล้ว ก็ใคร่จะทอดพระเนตรอุโมงค์ โดยทรงคิดว่า มโหสถแจ้งว่า ได้ยินว่า พระเจ้าวิเทหราชได้เสด็จไปโดยอุโมงค์ที่ตกแต่งไว้ อุโมงค์เป็นอย่างไรหนอ. ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์รู้ว่า พระเจ้าจุลนีมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรอุโมงค์ จึงคิดว่า พระราชาใคร่จะทอดพระเนตรอุโมงค์ เราจักแสดงอุโมงค์แก่พระองค์. เมื่อจะแสดง จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
    เชิญเถิด พระเจ้าข้า ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรอุโมงค์ที่ได้สร้างไว้ดีแล้ว งามรุ่งเรืองด้วยระเบียบแห่งกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ซึ่งสำเร็จดีแล้วตั้งอยู่.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หตฺถีนํ ความว่า ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรอุโมงค์ที่งามรุ่งเรือง ด้วยระเบียบแห่งกองพลช้างเป็นต้นเหล่านี้ ที่นายช่างทำด้วยโปตถกรรม (การแกะสลัก) และจิตรกรรม (การเขียนภาพ) มีแสงสว่างเป็นอย่างเดียวกัน เช่นกับเทวสภาที่ตกแต่งแล้ว.
    ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มโหสถได้ทูลต่อไปว่า อุโมงค์ซึ่งตกแต่งแล้ว ข้าพระองค์ให้สร้างไว้ด้วยปัญญาของข้าพระองค์ เป็นราวกะปรากฏแล้วในที่ตั้งขึ้นแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ พระองค์จงทอดพระเนตรประตูใหญ่ ๘๐ ประตูน้อย ๖๔ ห้องนอน ๑๐๑ โคมดวงประทีป ๑๐๑ พระองค์ จงเป็นผู้พร้อมเพรียงบันเทิงกับด้วยข้าพระองค์ เสด็จเข้าไปสู่อุปการนครกับด้วยราชบริพาร. ทูลฉะนี้ แล้วให้เปิดประตูเมือง. พระเจ้าจุลนี พระราชาร้อยเอ็ดแวดล้อมเสด็จเข้าสู่เมือง. พระมหาสัตว์ลงจากปราสาท ถวายบังคมพระเจ้าจุลนี พาพระราชาพร้อมด้วยราชบริพารเข้าสู่อุโมงค์. พระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรเห็นอุโมงค์ราวกะเทวสภา. เมื่อจะทรงพรรณนาคุณแห่งพระโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า
    ดูก่อนมโหสถ บัณฑิตทั้งหลายเช่นนี้ เหล่านี้อย่างตัวเจ้าอยู่ในเรือน ในแว่นแคว้นแห่งผู้ใด เป็นลาภของชาววิเทหรัฐและชาวกรุงมิถิลา ผู้ได้อยู่ร่วมกับผู้นั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิเทหานํ ความว่า เป็นลาภของชาววิเทหะ คือของชนบทที่เป็นบ่อเกิด คือเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งเหล่าบัณฑิตเห็นปานนี้หนอ. บทว่า ยสฺสิเม อีทิสา ความว่า บัณฑิตทั้งหลายผู้ฉลาดในอุบายเหล่านี้ คือเห็นปานนี้ อยู่ในเรือนเดียวกัน ในประเทศเดียวกัน หรือในแว่นแคว้นเดียวกัน ของผู้ใดเป็นลาภของผู้นั้นหนอ. บทว่า ยถา ตฺวมสิ ความว่า ชนทั้งหลายย่อมได้เพื่ออันอยู่ในรัฐเดียวกัน ในชนบทเดียวกัน ในนครเดียวกัน ในเรือนเดียวกัน กับบัณฑิตเช่นนั้นเหมือนอย่างตัวท่านนั่นแหละ เป็นลาภของชนเหล่านั้น คือของชาววิเทหรัฐและชาวกรุงมิถิลา ผู้ได้อยู่ร่วมกับท่าน. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตมีพระดำรัสดังนี้.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้แสดงห้องนอน ๑๐๑ ห้องแด่พระเจ้าจุลนี. ครั้นประตูห้องหนึ่งเปิด ประตูทั้งหมดก็เปิด. ครั้นประตูห้องหนึ่งปิด ประตูทั้งหมดก็ปิด. เมื่อพระราชาทอดพระเนตรพลางเสด็จไปข้างหน้า มโหสถโดยเสด็จไปข้างหลัง เสนาทั้งปวงก็เข้าไปสู่อุโมงค์ พระราชาเสด็จออกจากอุโมงค์ มโหสถรู้ว่าเสด็จออก จึงตามออกมาบ้าง ไม่ให้ชนทั้งปวงออก ปิดประตูอุโมงค์เหยียบเครื่องสลักยนตร์ ประตูใหญ่ ๘๐ ประตูน้อย ๖๔ ประตูห้องนอน ๑๐๑ และโคมดวงประทีป ๑๐๑ ก็ปิดพร้อมกัน อุโมงค์ทั้งสิ้นก็มืดราวกะโลกันตนรก. มหาชนทั้งกลัวทั้งสะดุ้งอันมรณภัยคุกคามแล้ว พระมหาสัตว์หยิบดาบซึ่งตนเข้าไปฝังทรายไว้เมื่อวานนี้ แล้วโดดขึ้นจากพื้นสู่อากาศสูง ๑๘ ศอก แล้วกลับลงมาจากอากาศ จับพระหัตถ์พระเจ้าจุลนีพรหมทัตไว้ เงื้อดาบให้ตกพระหฤทัยทูลถามว่า ราชสมบัติในสกลชมพูทวีปเป็นของใคร. พระราชากลัวตรัสตอบว่า เป็นของเธอ. แล้วตรัสว่า เธอจงให้อภัยแก่ข้า. มโหสถทูลว่า พระองค์อย่าตกพระหฤทัยกลัวเลย พระเจ้าข้า. ข้าพระองค์จับดาบด้วยใคร่จะปลงพระชนม์ก็หาไม่ ข้าพระองค์จับเพื่อจะสำแดงปัญญานุภาพของข้าพระองค์. ทูลฉะนี้ แล้วถวายดาบนั้นต่อพระหัตถ์พระราชา. ลำดับนั้น มโหสถทูลพระราชาผู้ทรงถือดาบประทับยืนอยู่ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ถ้าพระองค์ทรงใคร่จะฆ่าข้าพระองค์ ก็จงฆ่าด้วยดาบเล่มนี้. ถ้าพระองค์ทรงใคร่จะพระราชทานอภัย ก็จงพระราชทาน. พระราชาตรัสตอบว่า ดูก่อนบัณฑิต ข้าให้อภัยแก่เธอจริงๆ เธออย่าคิดอะไรเลย. พระราชาจุลนีพรหมทัตกับมโหสถโพธิสัตว์ทั้งสองต่างจับดาบทำสาบาน เพื่อไม่ประทุษร้ายต่อกันและกัน. ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีตรัสกะพระโพธิสัตว์ว่า ดูก่อนบัณฑิต เธอเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกำลังปัญญาอย่างนี้ เหตุไรไม่เอาราชสมบัติเสีย. มโหสถทูลตอบว่า ถ้าพระองค์อยากได้ ก็จะฆ่าพระราชาในสกลชมพูทวีปเสียในวันนี้แล้วเอาราชสมบัติ ก็แต่การฆ่าผู้อื่นแล้วถือเอายศ นักปราชญ์ทั้งหลายไม่สรรเสริญ.
    ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า ดูก่อนบัณฑิต มหาชนออกจากอุโมงค์ไม่ได้ก็คร่ำครวญ เธอจงเปิดประตูอุโมงค์ให้ชีวิตทานแก่มหาชน. มโหสถเปิดประตูอุโมงค์ อุโมงค์ทั้งสิ้นก็มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน. มหาชนกลับได้ความยินดี พระราชาทั้งปวงออกจากอุโมงค์กับเสนาไปสู่สำนักมโหสถ. มโหสถสถิตอยู่ ณ พลับพลาอันกว้างขวางกับพระราชาจุลนี. ลำดับนั้น พระราชาเหล่านั้นตรัสกะมโหสถว่า พวกข้าพเจ้าได้ชีวิตเพราะอาศัยท่าน ถ้าท่านไม่เปิดประตูอุโมงค์อีกครู่เดียว ข้าพเจ้าทั้งปวงก็จักถึงความตายในอุโมงค์นั้น นั่นเอง. มโหสถทูลตอบว่า ข้าแต่มหาราชทั้งหลาย พระองค์ไม่เสียพระชนมชีพเพราะอาศัยข้าพระองค์ แต่ในบัดนี้ก็หาไม่. แม้ในกาลก่อน พระองค์ก็ได้อาศัยข้าพระองค์ จึงยังดำรงพระชนมชีพอยู่. พระราชาเหล่านั้นตรัสถามว่า เมื่อไร บัณฑิต. มโหสถบันฑิตจึงทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์ทรงฟัง ทรงระลึกถึงกาล เมื่อพระเจ้าจุลนียึดราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้นได้ ยกเสียแต่เมืองของพวกข้าพระองค์ แล้วกลับอุตตรปัญจาลราชธานี แล้วจัดแต่งสุรา เพื่อดื่มชัยบานในสวนหลวง ได้หรือไม่. พระราชาเหล่านั้นรับว่า ระลึกได้.
     
  19. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    มโหสถจึงทูลว่า ในกาลนั้น พระราชาจุลนีกับเกวัฏผู้มีความคิดชั่ว ประกอบกิจนั้นเพื่อปลงพระชนม์เหล่าพระองค์ ด้วยสุราที่ประกอบด้วยยาพิษและมัจฉมังสะเป็นต้น. ทีนั้น ข้าพระองค์จึงรำพึงว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เหล่าพระองค์จงอย่าได้เสียพระชนมชีพ โดยหาที่พึ่งมิได้เลย. คิดในใจดังนี้ จึงส่งพวกคนของข้าพระองค์ไป ให้ทำลายภาชนะทั้งปวง ทำลายความคิดของพวกนั้นเสีย ได้ให้ชีวิตทานแด่พระองค์ทั้งหลาย. พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดได้สดับคำของมโหสถ ก็มีพระมนัสหวาดเสียว จึงทูลถามพระเจ้าจุลนีว่า จริงหรือไม่ พระเจ้าข้า. พระเจ้าจุลนีตรัสตอบว่า จริง ดิฉันเชื่อถ้อยคำของอาจารย์เกวัฏได้ทำอย่างนั้น มโหสถบัณฑิตได้กล่าวจริงทีเดียว. พระราชาเหล่านั้นต่างสวมกอดพระมหาสัตว์ ตรัสว่า แน่ะบัณฑิต ท่านได้เป็นที่พึ่งของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้รอดชีวิตเพราะท่าน. ตรัสฉะนี้ แล้วบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชาภรณ์ทั้งปวง. มโหสถทูลพระเจ้าจุลนีอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์อย่าได้ทรงคิดเลย นั่นเป็นโทษของการส้องเสพด้วยมิตรลามกนั่นเอง ขอพระองค์ยังพระราชาเหล่านั้นให้งดโทษ. พระราชาพรหมทัตตรัสว่า เราได้ทำกรรมเห็นปานนี้แก่พวกท่าน เพราะอาศัยคนชั่ว นั่นเป็นความผิดของข้าพเจ้า ท่านทั้งหลายจงงดโทษแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักไม่ทำกรรมเห็นปานนี้อีก. รับสั่งฉะนี้ แล้วให้พระราชาเหล่านั้นขมาโทษ. พระราชาเหล่านั้นแสดงโทษกะกันและกัน แล้วเป็นผู้พร้อมเพรียง ชื่นชมต่อกัน.
    ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีให้นำ ขาทนียะและโภชนียะเป็นอันมาก และดนตรีของหอมดอกไม้เป็นต้นมา เล่นอยู่ในอุโมงค์กับด้วยกษัตริย์ทั้งปวงตลอดสัปดาห์ แล้วเข้าสู่พระนคร ให้ทำสักการะใหญ่แก่พระมหาสัตว์ แวดล้อมไปด้วยพระราชาร้อยเอ็ด ประทับนั่ง ณ พื้นพระราชมณเฑียร ตรัสด้วยมีพระราชประสงค์ จะให้มโหสถบัณฑิตอยู่ในราชสำนักของพระองค์ ว่า
    ข้าจะให้เครื่องเลี้ยงชีพ การบริหาร เบี้ยเลี้ยงและบำเหน็จเพิ่มขึ้น ๒ เท่า และให้โภคสมบัติอันไพบูลย์อื่นๆ เจ้าจงใช้สอยสิ่งที่ปรารถนา จงรื่นรมย์เถิด อย่ากลับไปหาพระเจ้าวิเทหราชเลย พระเจ้าวิเทหราชจักทำอะไรได้.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุตฺตึ ได้แก่ เครื่องเป็นไปแห่งชีวิตที่อาศัยได้. บทว่า ปริหารํ ได้แก่ ให้คามและนิคม. บทว่า ภตฺตํ ได้แก่ อาหาร. บทว่า เวตนํ ได้แก่ เสบียง. บทว่า โภเค ความว่า ข้าจะให้โภคสมบัติอันไพบูลย์แม้อื่นๆ แก่เจ้า.
    ฝ่ายมโหสถบัณฑิต เมื่อจะทูลห้ามพระเจ้าจุลนี ได้ทูลว่า
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ใดสละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน เพราะเหตุแห่งทรัพย์ ผู้นั้นย่อมถูกตนเองและผู้อื่นติเตียนทั้งสองฝ่าย. พระเจ้าวิเทหราชยังทรงพระชนม์อยู่เพียงใด ข้าพระองค์ไม่พึงเป็นราชบุรุษของพระราชาอื่นเพียงนั้น.
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ใดสละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน เพราะเหตุแห่งทรัพย์ ผู้นั้นย่อมถูกตนเองและผู้อื่นติเตียนทั้งสองฝ่าย. พระเจ้าวิเทหราชยังดำรงพระชนม์อยู่เพียงใด ข้าพระองค์ไม่พึงอยู่ในแว่นแคว้นของพระราชาอื่นเพียงนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺตโน จ ปรสฺส จ ความว่า บุคคลย่อมติเตียนตนด้วยตนว่า บาปเห็นปานนี้ อันเราผู้สละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน เพราะเหตุแห่งทรัพย์กระทำแล้ว แม้ผู้อื่นก็ย่อมติเตียนด้วยเหตุนี้ว่า ผู้นี้มีธรรมเลวทราม สละท่านผู้ชุบเลี้ยงตนมาเพราะเหตุแห่งทรัพย์ เพราะเหตุนั้น เมื่อพระเจ้าวิเทหราชยังดำรงพระชนม์อยู่ ข้าพระองค์ไม่อาจอยู่ในแว่นแคว้นของพระราชาอื่นได้.
    ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีตรัสกะมโหสถว่า แน่ะบัณฑิต ถ้าอย่างนั้น ท่านจงให้ปฏิญญาว่าจะมาในนครนี้ ในเมื่อพระราชาของท่านทิวงคตแล้ว. มโหสถทูลสนองว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า เมื่อข้าพระองค์ยังมีชีวิตอยู่จักมา. ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตทรงทำมหาสักการะแก่พระโพธิสัตว์ตลอดสัปดาห์ ครั้นล่วงไปอีกสัปดาห์ เวลาที่มโหสถทูลลา เมื่อจะตรัสว่า แน่ะบัณฑิต ข้าให้สิ่งนี้ๆ แก่เจ้า จึงตรัสคาถาว่า
    ดูก่อนมโหสถบัณฑิต ข้าให้ทอง ๑,๐๐๐ นิกขะ และบ้าน ๘๐ บ้านในแคว้นกาสีแก่เจ้า. ข้าให้ทาสี ๔๐๐ คน และภรรยา ๑๐๐ คนแก่เจ้า เจ้าจงพาเสนางคนิกรทั้งปวงไปโดยสวัสดีเถิด.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิกฺขสหสฺสํ ความว่า ๕ สุวัณณะเป็น ๑ นิกขะ ให้ทอง ๑,๐๐๐ นิกขะ. บทว่า คาเม ความว่า บ้านเหล่าใดเก็บส่วยได้ปีละหนึ่งแสนกหาปณะ ข้าให้บ้านเหล่านั้นแก่เจ้า. บทว่า กาสิสุ ได้แก่ ในแคว้นของประชาชนชาวกาสี.
    กาสิกรัฐนั้นอยู่ใกล้วิเทหรัฐ เพราะฉะนั้น พระเจ้าจุลนีจึงประทานบ้าน ๘๐ บ้านในกาสิกรัฐนั้นแก่มโหสถ. ฝ่ายมโหสถทูลพระเจ้าจุลนีว่า พระองค์อย่าทรงวิตกถึงพระราชวงศ์เลย ข้าพระองค์ได้ทูลพระราชาของข้าพระองค์ไว้ ในกาลเมื่อพระองค์เสด็จไปกรุงมิถิลาว่า ขอพระองค์จงตั้งพระนางนันทาเทวีไว้ในที่พระราชชนนี จงตั้งพระปัญจาลจันทกุมารไว้ในที่พระกนิษฐภาดา. ทูลฉะนั้น แล้วได้อภิเษกพระนางปัญจาลจันทีราชธิดาของพระองค์กับพระเจ้าวิเทหราช แล้วจึงได้ส่งเสด็จพระเจ้าวิเทหราช. ข้าพระองค์จักส่งพระราชมารดา พระนางนันทาเทวี และพระราชโอรสของพระองค์กลับมาโดยเร็วทีเดียว. พระเจ้าจุลนีพรหมทัตตรัสว่า ดีแล้ว พ่อบัณฑิต. แล้วยังมโหสถให้รับฝากข้าชายหญิงโคกระบือ และเครื่องประดับ และทองเงินช้างม้ารถอันตกแต่งแล้วเป็นต้น ที่พึงพระราชทานแก่พระราชธิดา ด้วยพระดำรัสว่า เจ้าพึงให้ทรัพย์เหล่านี้แก่พระปัญจาลจันทีราชบุตรีข้า. เมื่อทรงพิจารณากิจอันควรทำแก่เสนาพาหนะ จึงตรัสว่า
    พวกเจ้าจงให้อาหารแก่ช้างและม้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เพียงใด จงเลี้ยงดูกองรถและกองราบให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ เพียงนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาว ความว่า มิใช่เพิ่มเป็นสองเท่าอย่างเดียวเท่านั้น พระเจ้าจุลนีตรัสว่า จงให้อาหารมีข้าวเหนียวและข้าวสาลีเป็นต้นแก่ช้างและม้าทั้งหลายจนเพียงพอ. บทว่า ตปฺเปนฺตุ ความว่า จงให้เท่าที่ไปไม่ลำบากในระหว่างทาง ให้อิ่มหนำ.
    ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เมื่อทรงส่งมโหสถบัณฑิตไป พระเจ้าจุลนีตรัสว่า
    พ่อบัณฑิต เจ้าจงพากองช้าง กองม้า กองรถ กองราบไป ขอพระเจ้าวิเทหมหาราช จงทอดพระเนตรเห็นเจ้าผู้ไปถึงกรุงมิถิลา.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิถิลํ คตํ ความว่า ขอพระเจ้าวิเทหราชจงทอดพระเนตรเห็นเจ้าถึงกรุงมิถิลาโดยสวัสดี.
    พระเจ้าจุลนีทรงทำสักการะใหญ่แก่มโหสถบัณฑิตแล้วทรงส่งไป ด้วยประการฉะนี้. แม้พระราชาร้อยเอ็ดเหล่านั้น ก็ทำมหาสักการะประทานบรรณาการเป็นอันมาก. ฝ่ายเหล่าบุรุษที่มโหสถวางไว้ในสำนักของพระราชาร้อยเอ็ดเหล่านั้น ก็แวดล้อมมโหสถ. มโหสถเดินทางไปด้วยบริวารมาก ในระหว่างทางได้ส่งคนไปเก็บส่วยแต่บ้านที่พระเจ้าจุลนีประทาน ถึงวิเทหรัฐ. ฝ่ายอาจารย์เสนกะได้วางคนไว้ในระหว่างทางสั่งว่า เจ้าจงดูพระเจ้าจุลนีเสด็จมาหรือไม่เสด็จมา และบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งมา จงบอกข้า. ฝ่ายคนผู้รับคำสั่งของเสนกะเห็นมโหสถมาแต่ไกลราว ๓ โยชน์จึงมาแจ้งแก่เสนกะว่า มโหสถมากับบริวารเป็นอันมาก เสนกะได้ฟังประพฤติเหตุ จึงได้ไปสู่ราชสำนัก. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชประทับอยู่ ณ พื้นปราสาท ทอดพระเนตรภายนอกทางพระแกลเห็นกองทัพใหญ่. ทรงรำพึงว่า เสนาของมโหสถน้อย ก็เสนานี้ปรากฏว่ามากเหลือเกิน พระเจ้าจุลนีเสด็จมากระมังหนอ. ทรงรำพึงดังนี้ ก็ทั้งทรงกลัวทั้งทรงสะดุ้ง เมื่อจะตรัสถามอาจารย์ทั้ง ๔ จึงตรัสว่า
    เสนา คือ กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบนั้นปรากฏมากมาย เป็นจตุรงคินีเสนาที่น่ากลัว บัณฑิตทั้งหลายสำคัญอย่างไรหนอ.
    ลำดับนั้น เสนกะ เมื่อจะกราบทูลข้อความนั้น จึงกล่าวว่า
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ความยินดีอย่างสูงสุด ย่อมปรากฏเฉพาะแด่พระองค์ มโหสถพากองทัพทั้งปวงมาถึงแล้ว โดยสวัสดี.
    พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของเสนกะ จึงตรัสว่า ดูก่อนท่านเสนกะ เสนาของมโหสถบัณฑิตน้อย ก็แต่นี่มากมาย. เสนกะทูลตอบว่า มโหสถจักทำให้พระเจ้าจุลนีทรงเลื่อมใส พระเจ้าจุลนีทรงเลื่อมใส แล้วจักพระราชทานเสนาแก่มโหสถ. พระเจ้าวิเทหราช จึงให้เอากลองตีป่าวร้อง ในพระนครว่า ชาวเมืองทั้งหลายจงตกแต่งพระนครต้อนรับมโหสถบัณฑิต ชาวพระนครก็ทำตามประกาศ. มโหสถเข้าพระนครไปสู่ราชสำนัก ถวายบังคมพระเจ้าวิเทหราชแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.
    ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชเสด็จลุกขึ้น สวมกอดมโหสถ แล้วประทับเหนือบัลลังก์อันประเสริฐ เมื่อจะทรงทำปฏิสันถาร จึงตรัสว่า
    คน ๔ คน นำคนตายไปทิ้งไว้ในป่าช้าแล้วกลับไป ฉันใด พวกเราทิ้งเจ้าไว้ในกัปปิลรัฐแล้วกลับมาในที่นี้ ก็ฉันนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าเปลื้องตนพ้นมาได้ เพราะเหตุอะไร เพราะปัจจัยอะไร หรือเพราะผลอะไร.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตุโร ชนา ความว่า แน่ะบัณฑิต คน ๔ คนนำคนตายไปป่าช้าด้วยเตียง ทิ้งคนตายนั้นไว้ในป่าช้านั้น ไม่เหลียวแลไป ฉันใด. พวกเราทิ้งเจ้าไว้ในกัปปิลรัฐมาที่นี้ ก็ฉันนั้น. บทว่า วณฺเณน ได้แก่ ด้วยเหตุ. บทว่า เหตุนา ได้แก่ ด้วยปัจจัย. บทว่า อตฺถชาเตน ได้แก่ ด้วยผล. บทว่า ปริโมจยิ ความว่า พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามมโหสถว่า เจ้าตกอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึก เปลื้องตนพ้นมาได้ ด้วยเหตุอะไร ด้วยปัจจัยอะไร ด้วยผลอะไร.
     
  20. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลตอบว่า
    ข้าแต่พระจอมวิเทหรัฐ ข้าพระองค์ป้องกันข้อความด้วยข้อความ ป้องกันความคิดด้วยความคิด พระเจ้าข้า. ใช่แต่เท่านั้น ข้าพระองค์ยังป้องกันพระราชา ดังสาครกั้นล้อมชมพูทวีปไว้ ฉะนั้น.
    เนื้อความของคาถานั้นว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์ป้องกันข้อความที่พวกนั้นคิดไว้ ด้วยข้อความที่ข้าพระองค์คิดแล้ว. ข้าพระองค์ป้องกันความคิดที่พวกนั้นคิดไว้ ด้วยความคิดของข้าพระองค์. ใช่แต่เท่านั้น ข้าพระองค์ยังได้ป้องกันพระราชาแม้นั้น ผู้มีพระราชาร้อยเอ็ดเป็นบริวาร ถึงเพียงนี้ทีเดียว ดุจสาครกั้นล้อมชมพูทวีปไว้ ฉะนั้น. มโหสถกล่าวกรรมที่ตนทำทั้งหมด โดยพิสดาร.
    พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงโสมนัส ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิต เมื่อจะทูลถึงบรรณาการที่พระเจ้าจุลนีพระราชทานแก่ตนให้ทรงทราบ จึงทูลว่า
    พระเจ้าจุลนีพระราชทานทอง ๑,๐๐๐ มิกขะ บ้าน ๘๐ บ้านในแคว้นกาสี ทาสี ๔๐๐ คนและภรรยา ๑๐๐ คนแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้พา เสนางคนิกรของข้าพระองค์ทั้งหมดมาในที่นี้ โดยสวัสดี.
    แต่นั้น พระราชาทรงยินดีร่าเริงเหลือเกิน เมื่อจะตรัสสรรเสริญคุณของพระมหาสัตว์ จึงทรงเปล่งอุทานนั้น นั่นแลว่า
    แน่ะเสนกาจารย์ การอยู่ร่วมด้วยเหล่าบัณฑิตเป็นสุขดีหนอ เพราะว่ามโหสถปลดเปลื้องพวกเรา ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก ดุจบุคคลปลดเปลื้องฝูงนกที่ติดอยู่ในกรง หรือฝูงปลาที่ติดอยู่ในแห ฉะนั้น.
    ฝ่ายเสนกบัณฑิต เมื่อจะรับพระราชดำรัส ได้กล่าวคาถานั้น นั่นแลว่า
    ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บัณฑิตทั้งหลายนำความสุขมาแท้จริง อย่างนี้ทีเดียว มโหสถปลดเปลื้องพวกเราผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก ดุจบุคคลปลดเปลื้องฝูงนกที่ติดอยู่ในกรง หรือฝูงปลาที่ติดอยู่ในแห ฉะนั้น.
    ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหราชให้ตีกลองป่าวร้องในพระนครว่า ชาวเมืองจงเล่นมหรสพใหญ่ตลอดสัปดาห์ คนเหล่าใดมีความรักในตัวเรา คนเหล่านั้นทั้งหมด จงทำสักการะและสัมมานะ แก่มโหสถบัณฑิตเถิด.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
    ชาวเมืองซึ่งนับว่าเกิดในแคว้นมคธ จงดีดพิณทั้งปวง จงตีกลองเล็กกลองใหญ่และมโหระทึก จงพากันโห่ร้องบันลือเสียงให้เซ็งแซ่.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาหญฺนฺตุ ได้แก่ จงประโคมดนตรี. บทว่า มาคธา สํขา ความว่า นับว่าเกิดในมคธรัฐ. บทว่า ทุนฺทภี ได้แก่ กองใหญ่.
    ลำดับนั้น ชาวเมืองและชาวชนบทเหล่านั้น ตามปกติก็ใคร่จะกระทำ สักการะแก่มโหสถบัณฑิตอยู่แล้ว. ครั้นได้ยินเสียงกลองป่าวร้อง ก็ได้ทำสักการะกันเหลือล้น.
    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น ตรัสว่า
    พวกฝ่ายใน พวกกุมาร พ่อค้า พราหมณ์ กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ชาวชนบทและชาวนิคม ร่วมกันนำข้าวน้ำเป็นอันมาก มาให้แก่มโหสถบัณฑิต. ชนเป็นอันมากได้เห็นมโหสถบัณฑิตกลับมาสู่กรุงมิถิลา ก็พากันเลื่อมใส. ครั้นมโหสถบัณฑิตถึงแล้ว ก็โบกผ้าอยู่ทั่วไป.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอโรธา จ ความว่า พวกฝ่ายในมีพระนางอุทุมพรเทวีเป็นต้น. บทว่า อภิหารยุ ความว่า ให้นำไปยิ่ง คือส่งไป. บทว่า พหุชฺชโน ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชนเป็นอันมากทั้งชาวพระนคร ทั้งชาวบ้านสี่ประตูเมือง ทั้งชาวชนบท ได้เลื่อมใสแล้ว. บทว่า ทิสฺวา ปณฺฑิตมาคเต ความว่า เมื่อมโหสถบัณฑิตมากรุงมิถิลา เห็นมโหสถบัณฑิตนั้น. บทว่า ปวตฺตถ ความว่า เมื่อมโหสถบัณฑิตถึงกรุงมิถิลา มหาชนดีใจกล่าวว่า มโหสถบัณฑิตนี้ปลดเปลื้องพระราชาของพวกเรา ที่ตกอยู่ในอำนาจของปัจจามิตรให้ปลอดภัยก่อน ภายหลังยังพระราชาร้อยเอ็ด ให้ขมาโทษกันและกันทำให้สามัคคีกัน ยังพระเจ้าจุลนีให้เลื่อมใส พาเอายศใหญ่ที่พระเจ้าจุลนีประทานมาแล้ว ได้โบกผ้ากันอยู่ทั่วไป.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ไปสู่ราชสำนัก ในวันสุดมหรสพ กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ควรที่พระองค์จะส่งพระราชมารดา พระราชเทวี และพระราชโอรสของพระเจ้าจุลนี ไปเสียโดยเร็ว. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำมโหสถ ก็ตรัสว่า ดีแล้วพ่อ เจ้าจงส่งไปเสีย. มโหสถทำสักการะใหญ่แก่กษัตริย์ทั้ง ๓ นั้น และทำสักการสัมมานะแก่เสนาผู้มากับตน. ส่งกษัตริย์ทั้ง ๓ แม้นั้นกับพวกชนของตนไปด้วยบริวารเป็นอันมาก ส่งภรรยา ๑๐๐ คนและทาสี ๔๐๐ คน ที่พระเจ้าจุลนีพระราชทานแก่ตน มอบถวายไปกับพระนางนันทาเทวี และส่งแม้เสนีผู้มากับด้วยตน ไปกับชนเหล่านั้น.
    พระนางนันทาเทวีสวมกอดพระธิดา จุมพิตที่พระเศียรแล้วตรัสว่า แม่ลาเจ้าละ แม่ไปละ. ตรัสฉะนี้ ทรงกันแสงคร่ำครวญด้วยศัพท์สำเนียงอันดัง. ฝ่ายพระนางปัญจาลจันทีผู้พระธิดา ทรงกราบพระราชมารดาแล้วทรงโศกาดูร ทูลว่า พระมารดาอย่าละทิ้งลูกก่อน. กษัตริย์ทั้ง ๓ ออกจากพระนคร ด้วยบริวารเป็นอันมากถึงอุตตรปัญจาลนครโดยลำดับ. ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีพรหมทัตตรัสถามพระราชมารดาว่า ข้าแต่พระมารดา พระเจ้าวิเทหราชทรงทำอนุเคราะห์แด่พระองค์ อย่างไร. พระนางเจ้าสลากราชชนนีตรัสตอบว่า พ่อตรัสอะไร พระเจ้าวิเทหราชตั้งแม่ไว้ในฐานเป็นเทวดาได้ทำสักการะแก่เรา ตั้งนันทาเทวีไว้ในฐานเป็นพระราชมารดา ตั้งพ่อปัญจาลจันทกุมารในฐานเป็นราชกนิษฐภาดา. พระเจ้าจุลนีได้ทรงสดับพระราชชนนีรับสั่ง ก็ทรงยินดียิ่งนัก แล้วส่งบรรณาการเป็นอันมากไปถวายพระเจ้าวิเทหราช. จำเดิมแต่นั้น กษัตริย์เจ้าพระนครทั้ง ๒ ก็พร้อมเพรียง ชื่นชม อยู่แล.
    จบมหาอุมมังคกัณฑ์
     

แชร์หน้านี้

Loading...