พาหิยะ เมื่อใดเธอเห็นรูปแล้ว สักว่าเห็น เมื่อใดฟังเสียงแล้ว สักว่าฟัง ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวกาย ก็สักว่า ดม ลิ้ม สัมผัส ได้รู้แจ้งธรรมมารมณ์ ก็สักว่าได้รู้แจ้งแล้ว เมื่อนั้นเธอจัก ไม่มี เมื่อใดเธอ ไม่มี เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฏในโลกใบนี้ ไม่ปรากฏในโลกอื่น ไม่ปรากฏในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง นั่นละ ที่สุดแห่งทุกข์ละ ที่มา : หนังสือ พุทธวจน ฉบับก้าวย่างอย่างพุทธะ
ขออนุโมทนา สาธุ ประวัติพระพาหิยทารุจิริยะ, รายละเอียด พระพาหิยะ ท่านเป็นชาวแคว้นพาหิยะโดยกำเนิด เรื่องราว ของท่านดังนี้ สถานะเดิม เกิดในตระกูลไวศยะ ในตระกูลกุฎุมพีตระกูลหนึ่งในแคว้นพาหิยะ สันนิษฐานว่า ท่านได้ชื่อตามแคว้น ชีวิตฆราวาส เมื่อเจริญวัยแล้วได้ประกอบอาชีพค้าขายตามตระกูล เนื่องจากมีภูมิลำเนาอยู่แถบชายฝั่งทะเล ตระกูลของท่านจึงประกอบการค้าขายทางเรือโดยเดินเรือบรรทุกสินค้าไปขายที่สุวรรณภูมิ เมืองท่าเรือสำคัญเมืองหนึ่งที่ท่านเดินเรือผ่านไปมาอยู่เป็นประจำคือ ท่าเรือสุปปารกะ ในอปรันตชนบท ท่านแล่นเรือค้าขายอยู่อย่างนี้เป็นปกติ วันหนึ่งทะเลเกิดมรสุม คลื่นซัดเรืออัปปางขณะเดินเรือเข้าใกล้เขตท่าเรือสุปปารกะ ลูกเรือตายหมด เหลือรอดอยู่แต่ท่านซึ่งเกาะแผ่นกระดานลอยน้ำมาจนถึงท่าเรือสุปปารกะ ท่านไปถึงท่าเรือด้วยร่างกายเปลือยเปล่าเนื่องจากเสื้อผ้าหลุดหายไปหมดสิ้น บริเวณท่าเรือสุปปารกะเป็นถิ่นเจริญ มีคนอยู่หนาแน่น ท่านรู้สึกเหนื่อยและหิว แต่รู้สึกละอายที่จะเปลือยกายเข้าไปในชุมชนนั้น ท่านจึงตัดสินใจเอาเปลือกไม้พันตัวแทนเครื่องนุ่งห่มแล้วถือกระเบื้อง จากนั้นจึงแสร้งเดินไปใกล้ศาลเทพารักษ์ แล้วทำทีเป็นเดินออกจากศาลเข้าไปในชุมชน ชาวท่าเรือสุปปารกะได้รับข่าวคราวต่างๆ ตลอดเวลา แม้กระทั่งเรื่องราวของพระอรหันต์ที่มีข่าวมาว่าอยู่ที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง ก็ได้ยินเป็นประจำ เมื่อพาหิยะปรากฏตัวในลักษณะแปลกกว่าคนอื่นคือนุ่งห่มเปลือกไม้ ต่างก็สำคัญว่าเป็นพระอรหันต์ จึงได้ให้อาหารและยกย่องนับถือ ทำให้ท่านสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ต่อมาพาหิยะเองก็สำคัญผิดไปว่า พฤติกรรมของท่านที่เป็นอยู่คือพฤติกรรมของพระอรหันต์ ดังนั้นเมื่อเปลือกไม้แห้งเ**่ยวแล้วก็ไม่ยอมนุ่งห้มผ้าอื่นด้วยเกรงว่าความเป็นพระอรหันต์จะเสื่อมและลาภสักการะก็จะน้อยลง การออกบวช ด้วยเหตุที่ท่านนุ่งห่มเปลือกไม้ ฉะนั้นท่านจึงมีชื่อว่า "พาหิยทารุจิริยะ" แปลว่า พาหิยะผู้มีเปลือกไม้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ท่านเลี้ยงชีวิตอยู่อย่างนี้ จนวันหนึ่ง พรหมองค์หนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนเก่าในอดีตชาติ ซึ่งสังเกตดูท่านอยู่ตลอดเวลาก็มาจากพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ปรากฏกายให้ท่านเห็นพร้อมทั้งบอกให้ท่านทราบว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์และไม่ได้ปฏิบัติตามทางที่จะทำให้เป็นพระอรหันต์ด้วย พรหมองค์นี้เป็นเพื่อนเก่าของท่านครั้งสมัยพระศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะและออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมด้วยกัน หลังจากเพื่อนของท่านบรรลุอนาคามิผลแล้วก็มรณภาพไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส เห็นท่านประพฤติผิดจึงมาเตือนด้วยความปรารถนาดี และยังได้บอกอีกว่า บัดนี้พระอรหันต์ที่แท้จริงอุบัติขึ้นแล้ว พระองค์คือพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวัน ในเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เมืองสาวัตถีไกลจากอปรันตชนบทประมาณ ๑๒๐ โยชน์ (๑,๙๒๐ กิโลเมตร) พระพาหิยะทันทีที่ได้ฟังว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วเท่านั้น ท่านก็เกิดปีติอย่างแรงกล้า รีบเดินทางจากท่าเรือสุปปารกะด้วยอาการรีบร้อน เช้าวันหนึ่งจึงมาถึงเมืองสาวัตถึ ขณะนั้น พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในตัวเมืองพอดี ท่านไปที่วัดเชตวันและได้ทราบจากพระในวัดว่า พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในตัวเมือง จึงรีบลาจากพระในวัดแล้วมุ่งหน้าเข้าไปในตัวเมืองสาวัตถีทันที เหตุที่ท่านรีบร้อนเช่นนี้ก็เพราะไม่มั่นใจว่า ชีวิตของท่านหรือของพระพุทธเจ้าจะอยู่ได้นานเพียงไร ชั่วเวลาเพียงครู่เดียวนี้ท่านอาจตายหรือพระพุทธเจ้าอาจปรินิพพานก็ได้ หากเป็นเช่นนี้แล้วก็คงจะพลาดโอกาสจากการฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ด้วยความคิดดังกล่าวทำให้ท่านรีบออกตามหาพระพุทธเจ้าไปทั่วเมืองสารวัตถี จนในที่สุดก็มาพบขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จพุทธดำเนินอยู่กลางถนน ทันทีที่เห็นพระพุทธเจ้า ท่านก็เกิดปีติท่วมท้น ถลาเข้าไปหมอบกราบแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า พลางทูลขอให้ทรงแสดงธรรมให้ฟัง "พาหิยะ" พระพุทธเจ้าตรัสห้าม "เวลานี้มิใช่เวลาแสดงธรรม เห็นไหมตถาคตกำลังบิณฑบาตอยู่กลางถนน" พระพาหิยะหยุดระยะนิดนึง ครั้นแล้วก็ทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงให้ฟังอีกเป็นครั้งที่ ๒ พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้าม ครั้นแล้วท่านก็ทูลขอเป็นครั้งที่ ๓ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ท่านมีอุปนิสัยสมควรฟังธรรมได้ จึงตรัสว่า "พาหิยะ เธอควรศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เมื่อทราบก็สักแต่ว่าทราบ เมื่อรู้สึกก็สักแต่ว่ารู้สึก" พระพาหิยะพิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ท่านได้บรรลุอรหัตผลทันทีที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบ จากนั้นจึงทูลขอบวช แต่ด้วยเหตุที่ท่านไม่เคยสร้างบุญด้วยบาตรและจีวรมาเลย พระพุทธเจ้าจึงทรงรับสั่งให้ท่านไปหาบาตรและจีวรมาก่อน ท่านก็ทำตาม ขณะที่กำลังแสวงหาบาตรและจีวรอยู่ ท่านก็ถูกแม่วัวขวิดตายเสียก่อน ท่านจึงนิพพานโดยท่านยังมิทันได้บวช การบรรลุธรรม ท่านได้บรรลุอรหัตผลก่อนแล้วจึงทูลขอบวชโดยได้ฟังธรรมว่าด้วยเรื่องการรู้ทันขณะเห็นรูป ได้ยิน ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสิ่งสัมผัสทางกาย และนึกคิดอารมณ์ที่เคยได้รับรู้มาแล้วซึ่งเรียกว่า "รู้ทันวิญญาณ ๖" ท่านบรรลุอรหัตผลได้เร็ว แต่การที่พระพุทธเจ้าทรงวางเงื่อนไขต้องให้ท่านทูลขอฟังธรรมถึง ๓ ครั้งก็เพราะทรงเห็นว่าท่านเดินทางมาไกล ร่างกายอ่อนเพลีย สภาพจิตยังไม่พร้อม เพราะเกิดปีติมากเกินไป พระองค์จึงทรงประวิงเวลารอให้สภาพร่างกายและจิตใจพร้อมเสียก่อน จึงทรงแสดงธรรม ซึ่งก็ได้ผล คือ เมื่อฟังธรรมจบแล้ว ท่านก็ได้บรรลุอรหัตผลทันที บั้นปลายชีวิต หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วได้ไม่ถึงวันก็นิพพานโดยถูกแม่วัวขวิดตาย ทั้งนี้ด้วยเป็นเพราะบาปกรรมเก่าในอดีตชาติตามมาให้ผล กรรมเก่านั้น คือ ท่านร่วมกับเพื่อนลวงโสเภณีนางหนึ่งไปฆ่าชิงทรัพย์ เรื่องมีว่า ในชาตินั้นท่านเกิดเป็นลูกเศรษฐี วันหนึ่งได้ร่วมกับพวกอีก ๓ คนว่าจ้างโสเภณีนางหนึ่งไปหาความสุขสำราญกันในสวน ซึ่งเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจด้วยราคา ๑,๐๐๐ กหาปณะ ตกเย็นครั้นจ่ายค่าตัวให้นางแล้ว รู้สึกเสียดายจึงวางแผนฆ่านางทิ้งแล้วชิงเอาเงินคืนพร้อมทั้งปลดเอาเครื่องประดับในตัวนางไปด้วย ฝ่ายโสเภณีเมื่อรู้ว่าจะถูกฆ่าแน่ ทั้งที่ตัวเองไม่มีความผิด ก็อ้อนวอนขอชีวิต แต่ก็ไร้ผล ก่อนจะสิ้นชีวิต นางได้ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ได้ฆ่าคนเหล่านั้นเป็นการแก้แค้นบ้างในชาติหน้า แรงอาฆาตทำให้นางไปเกิดเป็นนางยักษิณี ฝ่ายพระพาหิยะและเพื่อนอีก ๓ คนนั้น เวียนว่ายตายเกิดและตกนรกเพราะกรรมนั้นส่งผล แล้วมาในชาตินี้พระพาหิยะก็มาเกิดเป็นมนุษย์ นางยักษิณีอดีตโสเภณีจึงได้แปลงเป็นแม่โคมาขวิดตายหมดทุกคน โดยเพื่อนของท่าน ๓ คน คือ พระปุกกุสาติ (พระเจ้าปุกกุสาติแห่งแคว้นคันธาระ) เพชฌฆาตตัมพทาฐิกะ (โจรเคราแดง) และ สุปปพุทธกุฏฐิ (ชายขอทานขี้เรื้อน) หลังจากพระพาหิยะถูกแม่โคขวิดตายแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จมาพบ ทรงรับสั่งให้พระช่วยกันเผาศพท่านแล้วนำอัฐิไปบรรจุไว้ในเจดีย์ตรงทาง ๔ แยก เพื่อให้คนได้บูชาและน้อมนึกถึงมาเป็นเครื่องเตือนใจอันเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้ได้สังฆานุสติ (การระลึกถึงพระสงฆ์) เอตทัคคะ-อดีตชาติ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองหงสวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าปทุมุตตระพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าปทุมุตตระทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านบรรลุธรรมได้เร็ว(ขิปปาภิญญา) ท่านเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง ท่านได้ทำความดีต่างๆ ตามที่พระพุทธเจ้าปทุมุตตระตรัสสอนจนเป็นเหตุให้ได้รับพุทธพยากรณ์ว่า "ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้บวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งเธอไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านบรรลุธรรมเร็ว" ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าปทุมุตตระตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ ชาติที่ท่านพบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองพาราณสี หลังจากที่พระพุทธเจ้ากัสสปะเสด็จดับขันธปรินิพพานได้นานแล้ว ช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนากำลังใกล้สูญสิ้นไปจากโลก ท่านได้ออกบวชและได้เห็นพระสาวกต่างประพฤติผิดธรรมวินัยกันเป็นจำนวนมากแล้วเกิดความสลดใจ ท่านพร้อมกับเพื่อนพระอีก ๖ รูป (รวมเป็น ๗ รูป) จึงชวนกันหลีกออกจากหมู่คณะขึ้นไปปฏิบัติธรรมบนยอดเขาโดยตั้งใจว่าจะไม่กลับลงมาอีก ล่วงไปได้ ๕ วัน เพื่อนพระที่เป็นพระเถระก็ได้บรรลุอรหัตผล และล่วงวันที่ ๗ เพื่อนพระที่เป็นพระเถระรองลงมาก็ได้บรรลุอนาคามิผล ส่วนพระที่เหลืออีก ๕ รูป เมื่อยังไม่ได้บรรลุมรรคผลขั้นใดเลยก็ไม่ยอมฉันอาหารจนร่างกายซูบผอมแล้วมรณภาพลงในที่สุด พระเถระรูปแรกนิพพานและพระเถระรูปที่ ๒ มรณภาพและได้ไปเป็นพรหมอยู่ชั้นพรหมโลกปัญจสุทธาวาส ส่วนพระอีก ๕ รูปมรณภาพแล้วก็ไปเกิดอยู่ในเทวโลกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน (พระพุทธเจ้าโคดม) ทั้งหมดนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์นั่นเอง พระพาหิยะมาเกิดเป็นบุตรของกุฎุมพีในแคว้นพาหิยะ ครั้นแล้วก็ได้บรรลุอรหัตผลแต่นิพพานก่อนจะได้บวช อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับความสามารถในปัจจุบันชาติที่สามารถบรรลุธรรมได้เร็ว พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านบรรลุธรรมได้เร็วดังกล่าวมาแล้ว วาจานุสรณ์ ไม่มีกล่าววาจาใดไว้เป็นอนุสรณ์เพราะด่วนนิพพานก่อน ข้อมูลจาก http://www.sil5.net/index.asp?conte...%C2%B7%D2%C3%D8%A8%D4%C3%D4%C2%D0%2C&keyword= ภาพจาก http://www.rmutphysics.com/charud/scibook/buddhist1/buddhist1pic/pic2/89.jpg http://4.bp.blogspot.com/-ntpZyVk5Hus/TqLPxGOfMOI/AAAAAAAAA_E/YIzLbPvmym0/s320/IMG_0001.jpg http://3.bp.blogspot.com/-vO_N7b1BY8Q/T9lKxXLJMjI/AAAAAAAAANs/fFQMpxI7TtY/s1600/62.JPG
สาธุๆ =/\= ฟังแล้วน้ำตาไหล ขอบพระคุณเจ้าของกระทู้ ขอบคุณเทพเทวาที่ดูแลข้าพเจ้า ที่นำข้าพเจ้ามาพบกระทู้นี้ ก่อนหน้านี้ .....ชีวิตข้าพเจ้า ตกอับ หมดทางไปแล้ว นอนตาย ไร้ความหวัง หมดหนทาง ......แต่ตอนนี้ ข้าพเจ้ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว ขอบพระคุณมากค่ะ
พาหิยะ เมื่อใดเธอเห็นรูปแล้ว สักว่าเห็น เมื่อใดฟังเสียงแล้ว สักว่าฟัง ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวกาย ก็สักว่า ดม ลิ้ม สัมผัส ได้รู้แจ้งธรรมมารมณ์ ก็สักว่าได้รู้แจ้งแล้ว เมื่อนั้นเธอจัก ไม่มี เมื่อใดเธอ ไม่มี เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฏในโลกใบนี้ ไม่ปรากฏในโลกอื่น ไม่ปรากฏในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง นั่นละ ที่สุดแห่งทุกข์ละ ที่มา : หนังสือ พุทธวจน ฉบับก้าวย่างอย่างพุทธะ ด้วยความไม่เข้าใจ คำที่เน้นด้วยสีแดง และความหมายของงพุทธวจน ขอความรู้แจ้งของของบทพุทธวจนนี้ด้วยครับ
คำที่เน้นด้วยสีแดง คือ แค่รับรู้เฉยๆ แล้วก็ปล่อยวางโดยไม่นำมายึดติด( คุณMAKCLOUD) อนุโมทนา สาธุ กับธรรมมะดีๆที่มาให้อ่านครับ
คำสีแดงคือ เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งต่างๆ ผ่านเข้ามายังอฬายตนะทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จงใช้ปัญญาแยกแยะว่า สิ่งเหล่านั้นตั้งอยู่บนความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือเกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ไม่ได้นาน จักต้องดับสูญสลายลงไปในที่สุด เมื่อจิตรู้ตามความจริงเช่นนี้แล้ว ความยึดมั่น ถือมั่น ในตัวกู ของกูก็จะหมดไป จิตไม่นำพา ไม่ปรุงแต่งเป็นอารมณ์ อันจะเป็นเหตุให้เกิดแห่งทุกข์ขึ้นได้ จิตจะวางลงในอุเบกขารมณ์ลงในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงจะอยู่เหนือทุกข์ เหนือสุข เป็นสภาวะที่ประสบพบได้ด้วยตนเองเท่านั้น ครับ
จะตายแต่ใช้เ้งิืนยังไม่หมด คือทุกข์ ยังไม่ตายแต่เงินหมดก่อน คือที่สุดแห่งทุกข์ พอดีเห้นใน1000ทิปเขาคุยกันอย่างนี้
ถ้าความทุกข์คือ การรับเข้าทุกสิ่งไว้กับตัว ฉะนั้น ความสุขก็คือการไม่คิด... ปัจจุบันมีเรื่องดีดี ที่ได้ประสบกับตัวเองก็บ่อยครั้ง ว่าทำไมเดี๋ยวนี้คนไทยถึงมักจะพูดกันว่า "ไม่เป็นไร" "อย่าคิดมาก" และ "ปล่อยมันไป" กับปัญหาที่เกิดขึ้นหรือเข้ามากระทบ เพราะยุคสมัยนี้คนเราอยากมีความสุขมากขึ้นกับชีวิตก็เลยต้องปรับหลักการดำเนินชีวิต คือคิดแค่ว่า "การปล่อยวางไม่ใช่การยอมแพ้..หรือเป็นแค่การมองโลกในแง่ดีจนตาบอด แต่มันเป็นเพียงวิธีการจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาอย่างเฉลียวฉลาด และมีชั้นเชิงมากกว่าค่ะ" ดังเช่นที่ท่าน จขกท ท่านได้โพสไว้ได้กินใจมากค่ะรู้ซึ้งเลย...
ขออนุญาติเจ้าของกระทู้นะคะ แบบรู้สึกเซ็งนะ..กะคนที่ไม่รู้จักอ่านกติกา ไม่รู้กาลเทศะในการโพสเนี่ย ต้องไม่ใช่คนไทยหัวใจพุทธเป็นแน่... ช่างไม่รู้เลย spam ของคุณอาจสร้างความทุกข์และรำคาญใจให้ผู้อื่นก็เป็นได้
โมทนากับทุกท่านที่เห็นค่าของทุกข์ค่ะ เคยอ่านเจอประเด็นที่ดูเหมือนง่าย "ทุกข์คือนรกค์ สุขคือสวรรค์ ไม่สุขไม่ทุกกข์คือนิพพาน" จริงๆน่าจะต้องใช้ความพยายามพอสมควร
แล้วเขาไม่ทุกข์เรื่องอื่นเลยหรอ ทุกข์แต่เรื่องเงินอย่างเดียวหรอครับ ตอนแก่ เขาไม่ทุกข์หรอ ตอนเจ็บเขาไม่ทุกข์หรอ ตอนตายเขาไม่ทุกข์หรอ เขาประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก เขาไม่ทุกข์หรอ เขาพรัดพรากจากของที่รักที่ชอบใจ เขาไม่เป็นทุกข์หรอ เขาอยากได้สิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นสมปราถนา เขาไม่ทุกข์หรอ ทุกข์มีความหมายกว้าง แต่ที่เขาพูดว่า ใช้เงินไม่หมด ทุกข์ ใช่เงินหมด แล้วที่สุดแห่งทุกข์ นั้นแค่เสี้ยวของความว่าทุกข์ เมื่อไม่ยึดถือในสิ่งต่างๆ จะเป็นทุกข์ก็ดี สุขก็ดี ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ก็ดี เขาย่อมพิจารณาถึงความไม่เที่ยง คือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดาของอารมณ์เหล่านั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่เป็นนิจ เมื่อเห็นความไม่เที่ยงย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายความยึดติด เมื่อคลายความยึดติด จิตก็หลุดพ้น จากการยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งต่างๆ และในตัวตน