บทที่ ๖ ชัยชนะต่อนักบวชผู้อวดดี อหังการ นิครนถ์ สัจจกะ เจนวาทะ ตระบัด ตะพัดผลาญ หมายย่ำยี ธ ด้วย วาทการ นมังการ มืดบอด ปลอดปัญญา เข็มขัดเหล็ก รัดพุง มุ่งวางมาด โอ่ประกาศ โต้วาทะ พระสัตถา จอมมุนี เจิดจ้า ด้วยปัญญา รู้อัชฌา เทศนา กระจ่างธรรม ด้วยเดชา อานุภาพ พระสัมพุทธ ธ วิสุทธิ์ ปัญญา อุปถัมภ์ ทรงชนะ สัจจกะ ด้วยสัทธรรม อันน้อมนำ เข้าสู่ มรรควิธี ขอผองท่าน จงมี ชัยมงคล ทั่วสกล ดลพร้อม ด้วยสุขี ด้วยอำนาจ ปัญญา-บารมี มรรควิถี แห่งพระ พิิชิตมาร สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ สมเด็จพระจอมมุนี ทรงผจญกับสัจจกนิครนถ์ ผู้มืดมนยิ่งนัก เชิดชูลัทธิของตนราวกับชูธงขึ้นฟ้า มุ่งมาโต้วาทะกับพระองค์ ทรงพิชิตสัจจกนิครนณ์ ด้วยเทศนาญานวิธี คือ การแสดงพระเทศนาสอนให้มีปัญญามองเห็นความจริง ด้วยเดชองค์พระผู้พิชิตโจรนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ เวสาลี เป็นเมืองเล็กๆ ในป่ามหาวัน วันหนึ่งที่อากาศแจ่มใสท้องฟ้าโปร่ง คนจำนวนมากพากันมาประชุมที่กลางเมือง มีนิครนถ์(คือผู้นับถือศาสนาของนิครนถ์นาฎบุตรหรือศาสนาเชน) ผู้หนึ่งเที่ยวประกาศไปในที่นั้นว่า "ฮ่ะ ฮ่ะ ฮ่า เราไม่เคยเห็นสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดมีปัญญาที่จะมาโต้วาทะกับเราได้เลย แม้แต่ผู้ที่สำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ ถ้าคิดจะมาโต้วาทะแสดงภูมิรู้กับเราแล้ว ไม่มีเลยที่จะไม่แสดงอาการประหม่าจนตัวสั่น เหงื่อไหลออกตามรักแร้ แม้ว่าเราจะโต้วาทะกับเสา เสานั้นก็ยังสะท้านหวั่นไหว แล้วนับประสาอะไรกับมนุษย์เล่า" นิครนถ์ที่เที่ยวพูดอวดภูมิรู้ภูมิธรรมเสียงดังลั่นอยู่นี้มีชื่อว่า "สัจจกะ" เขาเป็นที่ยอมรับของคนในเมืองนี้ว่าเป็นผู้มีความรู้ดี มีปัญญามาก เฉลียวฉลาดมีปฏิภาณสามารถในการโต้ตอบปัญหาทางวิชาการต่างๆ มิได้เกรงขามในปุจฉาวิสัชนากับผู้ใด เลยตั้งตนเป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์ แสดงตนเป็นผู้วิเศษประเสริฐเลิศด้วยความรู้มีวิทยาการเชี่ยวชาญชำนาญนัก ทำให้ประชาชนทั้งหลายพาลูกหลานมาฝากฝังให้เป็นลูกศิษย์ลูกหาเป็นจำนวนมาก ท้งเหล่าศิษย์ก็ล้วนแต่มีศักดิ์เป็นลูกกษัตริย์และพราหมณ์มหาศาลเป็นส่วนมาก วันหนึ่งสัจจกะเกิดความปริวิตกไปว่า "เรานี้มีความรู้วิทยาการมากมายขึ้นทุกวัน นานไปเบื้องหน้าน่าจะมีอันตรายเป็นแน่ คือว่าอุทรท้องของเราอันบรรจุความรู้มากมายไว้นี้ เห็นทีจะทะลุทลายออกมาสักวันหนึ่งเป็นแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะเอาพืดเหล็กมารึงรัดอย่าให้ท้องแตกออกไปได้" จึงให้ตีพืดเหล็กอันหนึ่งมารึงรัดท้องไว้ไม่ให้แตกออกไปได้ ศิษย์ผู้หนึ่งเห็นอาจารย์กำลังนำแผ่นเหล็กมารัดท้องไว้จึงร้องทักว่า "ท่านอาจารย์ ! เอาแผ่นเหล็กมารัดท้องไว้ทำไมกันเล่า" สัจจกะตอบทันทีว่า "เจ้าไม่รู้อะไร เรานี้มีความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน แผ่นเหล็กนี้จะช่วยไม่ให้ท้องเราแตก เพราะความรู้ที่มีอยู่มากมายไงล่ะ" ลูกศิษย์ก็ร้องอ๋อขึ้นมาเป็นเสียงเดียวกัน ต่อมาในศาลาที่ประชุมในการโต้วาทะและสอบถามปัญหาต่างๆ สัจจกะก็ได้ตอบปัญหาอวดภูมิรู้อย่างฉะฉาน ศิษย์ผู้หนึ่งได้กล่าวถึงพระสมณโคดมท่ามกลางที่ประชุมว่า "ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีปัญญามาก ชื่อเสียงของพระองค์ก็ระบือไปทั่วชมพูทวีป ว่าสามารถตอบปัญหาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้ คลายความสงสัยได้ พระองค์ทรงสอนในเรื่องความเป็นจริงและสามารถพิสูจน์ได้ ไม่มีใครกล้าแย้งคำสอนนั้นได้เลย"
ขณะที่เสียงนั้นสิ้นสุดลง สัจจกะก็ได้ดำริในใจว่า "หากเจอศิษย์ของพระสมณโคดม เราจะลองถามดูว่าพระองค์ทรงสอนและทรงแนะนำสาวกโดยมากอย่างไรกัน" ครั้งหนึ่งขณะที่พระอัสสชิกำลังเดินบิณฑบาตอยู่ สัจจกนิครนถ์เหลียวไปเห็นพระอัสสชิ จึงตรงเข้าไปทักว่า "ท่านอัสสชิ พระโคดมทรงสั่งสอนสาวกทั้งหลายอย่างไร และคำสอนของพระโคดมที่เป็นไปโดยมากว่าอย่างไร ? " พระอัสสชิตอบว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นศาสดาของเราสอนว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน" สัจจกะฟังคำนั้นแล้วก็ไม่ได้เห็นตามนั้นจึงตอบว่า "ยังไม่เป็นที่พอใจของข้าพเจ้า ท่านอัสสชิ ท่านอาจฟังมาผิดกระมัง ถ้าข้าพเจ้าได้พบกับสมณโคดม ได้เจรจากันซักหน่อย บางทีอาจจะเปลื้องความเห็นผิดเหล่านั้นได้ เอาล่ะประเดี๋ยวข้าพเจ้าจะไปพูดให้เข้าใจกันเสียที" เขากล่าวดุจมีจิตกรุณานักหนา แล้วรีบมุ่งหน้าเข้าไปหาเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ในที่ประชุมของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ในวันนั้นเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีได้มาประชุมกัน ๕๐๐ พระองค์ ด้วยกรณียกิจอย่างหนึ่ง ระหว่างนั้นสัจจกะก็พรวดพราดเข้ามาในที่ประชุม แล้วป่าวประกาศด้วยเสียงอันดังว่า "เร็วเถิดๆ ท่านทั้งหลาย วันนี้เราจะไปแก้ความเห็นผิดของพระสมณโคดม เรื่องขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ทั้งที่เราก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นตัวของเราอยู่นี่ ยังว่าไม่ใช่เป็นของเราได้อย่างไรกัน พวกท่านคอยดูแล้วกัน เราจะหมุนถ้อยคำของพระสมณโคดม ให้เหมือนกับชายผู้มีกำลังมหาศาลจับลูกแกะที่มีขนยาวแล้วกระชากไปกระชากมา เราจะเล่นงานพระสมณโคดมให้เหมือนอย่างนั้นเลยละ ฉะนั้นเร็วเถิดๆ ท่านทั้งหลาย วันนี้เรากับพระสมณโคดมจะโต้วาทะกันให้รู้แพ้รู้ชนะ" สิ้นคำประกาศนั้นก็มีเสียงอื้ออึงไปทั่ว ต่างพูดถึงการโต้วาทะระหว่างพระสมณโคดมกับสัจจกนิครนถ์ บางพวกมีความเห็นว่า "พระสมณโคดมจะไปสู้สัจจกะได้อย่างไรกัน" บางพวกก็มีความเห็นว่า "สัจจกะนั้นน่ะหรือจะไปมีปัญญาโต้วาทะกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ สัญญาจะเทียบกับปัญญาที่รู้แจ้งได้อย่างไรกัน" แล้วทุกคนก็มุ่งไปสู่กูฎาคารศาลา อันเป็นเวทีแห่งการโต้วาทะของเหล่านักปราชญ์ ในราวป่ามหาวันที่อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ไม้และสรรพสัตว์ ที่แห่งนั้นพระภิกษุจำนวนมากกำลังเดินจงกรมอยู่อย่างสำรวม สัจจกะจึงตรงเข้าไปถามหาพระสมณโคดม "พระสมณโคดมอยู่ไหนกันเล่า หรือจะรู้เหตุแห่งการมาของพวกเราแล้วไม่กล้าออกมาสนทนากัน" ภิกษุรูปหนึ่งตอบว่า "คงไม่เป็นเช่นนั้นหรอกสัจจกะ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ตรงโคนไม้ในป่ามหาวันโน่น" สัจจกะไม่รีรอรีบเดินนำหน้าไปทันที เมื่อไปถึงในที่ที่พระองค์ทรงประทับ กษัตริย์บางพวกก็ทำการถวายบังคม บางพวกก็กระทำอัญชลี บางพวกก็นิ่งอยู่ สัจจกนิครนถ์ลงนั่งในที่สมควรแห่งตน แล้วจึงกราบทูลถามพระองค์ว่า "ข้าพเจ้าขอถามสักเรื่องหนึ่งเถิดท่านสมณะ" พระองค์ทรงอนุญาตว่า "ท่านประสงค์จะถามข้อใดก็จงถามมาเถิดสัจจกะ" สัจจกะจึงถามว่า "ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า พระองค์ทรงสอนและทรงแนะนำสาวกโดยมากว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เี่ที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนอย่างนั้นหรือ จะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไรกัน เราขอฟังคำอธิบายในข้อนี้สักหน่อยเถิด" สมเด็จพระพุทธองค์ก็ทรงตอบปัญหาของเขาเหมือนกับที่พระอัสสชิเถระได้ตอบมาแล้วนั่นแล "ไม่เจริง พระโคดม!" เขาคัดค้านขึ้นหวังจะหักล้างวาทะของสมเด็จพระผู้มีพระภาค "ไม่เป็นความจริงหรอกที่พระโคดมว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเรา โดยที่แท้ขันธ์ ๕ มันเป็นตัวเป็นตนเป็นของเราต่างหาก พระสมณโคดม .. ต้นไม้และเมล็ดพันธุ์ทั้งหลายจะเจริญงอกงามได้ต้องอาศัยพื้นดิน จะทำการงานใดๆ มนุษย์ก็ต้องอาศัยพื้นดินฉันใด บุคคลอาศัยรูปเป็นตัวตน มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวตน จึงมีบุญมีบาปได้ ถ้ามีรูปเป็นต้น ไม่มีตัวตนแล้วบุญบาปจะมีได้อย่างไรเ่ล่าท่านสมณะ" "สัจจกะ ท่านยืนยันว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวตน เป็นของของเราหรือ" "ข้าพเจ้ายืนยันอย่างนั้นพระสมณโคดม คนทั้งหลายก็ยืนยันอย่างนั้นเหมือนกัน" "คนอื่นช่างเขาเถิดสัจจกะ เราขอเพียงท่านยืนยันคำของท่านอย่างนั้นหรือ" "ข้าพเจ้ายืนยันอย่างนั้นพระสมณโคดม" พระองค์จึงยกตัวอย่างว่า
"ดีละ ถ้าอย่างนั้นเราขอถามท่านสักข้อหนึ่ง ท่านเห็นอย่างไรก็จงตอบอย่างนั้น...พระราชาเมื่อได้รับราชาภิเษกแล้ว เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู ย่อมมีอำนาจรับสั่งให้ฆ่าคนที่ควรฆ่า หรือเนรเทศคนที่ควรขับไล่ภายในแว่นแคว้นของตนมิใช่หรือ" "เป็นอย่างนั้นพระโคดม" เมื่อสัจจกะรับคำ พระองค์จึงตรัสต่อไปว่า "ดูก่อนสัจจกะ ก็ท่านบอกว่า รูป เป็นต้น เป็นตัวตนของเรา ท่านมีอำนาจเหนือรูปนั้น หรือสามารถบังคับว่ารูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ท่านทำได้หรือสัจจกะ" สัจจกนิครนถ์นั่งนิ่งอยู่ พระองค์จึงตรัสถามซ้ำเป็นครั้งที่สอง สัจจกะก็ยังนิ่งอยู่ ในเวลานั้นพระอินทร์ได้แปลงเป็นยักษ์ชื่อว่า วชิรปาณิยักษ์ มีหัวใหญ่โต มีเขี้ยวใหญ่ยาวเหมือนกับหน่อต้นกล้วย มีลูกตาโต ดูน่ากลัวยืนอยู่เบื้องบนของสัจจกนิครนถ์ ถือกระบองเหล็กมีเปลวเพลิงลุกโชติช่วงอยู่ ให้ปรากฏเห็นแต่พระผู้มีพระภาคเจ้ากับสัจจกะเท่านั้น วชิรปาณิยักษ์ได้พูดขู่สัจจกะด้วยเสียงดุดันน่ากลัวว่า "ตอบพระองค์ตามความจริง สัจจกะ ท่านไม่กลัวตายหรืออย่างไร หากผู้ใดถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามถึง ๓ ครั้งแล้วไม่ยอมตอบละก็ หัวของผู้นั้นจะต้องแตกเป็น ๗ ส่วน ด้วยกระบองเพลิงนี้แหละ ท่านไม่เห็นหรือ" สัจจกะเมื่อได้สติจึงรีบกราบทูลพระองค์ด้วยเสียงอันสั่นเครือและนอบน้อมว่า "ชะ ชะ ใช่ พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดวิสัชชนาต่อไปเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ไขต่อไป พระพุทธเจ้าข้า" เมื่อสัจจกนิครนถ์รับคำแล้วพระองค์จึงตรัสต่อไปว่า "ดูก่อนสัจจกะ ถ้าท่านถือว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวเป็นตนของเราแล้ว ท่านมีอำนาจที่จะกล่าว รูปของท่านได้หรือไม่ว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนั้น จงอย่าเป็นอย่างนี้เลย บังคับไม่ได้ใช่ไหมเล่า? เพราะเหตุนั้น ขันธ์ ๕ จึงไม่เป็นของเรา เพราะเราบังคับไม่ได้ ท่านมีอำนาจบังคับให้มีให้เป็นอย่างนั้นได้หรือ" "ไม่มีพระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจบังคับขันธ์ทั้ง ๕ ได้เลยพระเจ้าข้า" "แล้วเธอเข้าใจว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง" "ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า" "ถ้าสิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา สิ่งนั้นจะเป็นทุกข์หรือเป็นสุข" พระองค์ตรัสถามสัจจกะ "เป็นทุกข์พระเจ้าข้า" "ดูก่อนสัจจกะ หากผู้ใดติดอยู่ในความทุกข์ และยังยึดมั่นว่า สิ่งนั้นเป็นของเรา สิ่งนี้เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา เธอเข้าใจว่า ผู้นั้นจะล่วงพ้นทุกข์ได้หรือไม่เล่า" "ไม่สามารถหลุดจากความทุกข์ไปได้เลยพระเจ้าข้า" หลังจากสมเด็จพระบรมครูเจ้าได้ทรงแก้ไขปัญหาที่เขาผูกมาทูลถามจนกระจ่างหมดสิ้นแล้ว ในขณะที่สัจจกนิครนถ์ผู้เข้าใจว่าตนมีปัญญามากกำลังนั่งนิ่งอึ้งจนปัญญาอยู่ สมเด็จพระบรมครูเจ้าจึงตรัสขึ้นว่า "ดูก่อนสัจจกะ เปรียบเหมือนบุรุษถือขวานเข้าไปในป่าด้วยต้องการแก่นไม้ พบต้นกล้วยจึงตัดที่โคนแล้วตัดใบออก และปอกเปลือกออก แม้แต่กระพี้เขาก็ไม่เห็น เช่นเดียวกับวาจาของท่านซึ่งหาแก่นสารอะไรไม่ได้ พอซักไซ้ไล่เลียงเข้าก็ว่างเปล่าแพ้ไปเอง เราได้ซักถามท่านให้กล่าวแก้ในถ้อยคำของท่านเองและท่านก็แพ้ไปเอง ... ...แล้วในบัดนี้เราได้สดับว่า ท่านได้เคยกล่าวไว้ในที่ประชุมใหญ่ว่าอย่างไร ระลึกได้หรือไม่ จงพิสูจน์คำพูดของท่านเถิดที่ท่านเคยกล่าวว่า... 'เราไม่เคยเห็นสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด ที่จะมีปัญญามาโต้วาทะกับเราได้เลย แม้แต่ผู้ที่สำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ ถ้าคิดจะมาโต้วาทะแสดงภูมิรู้กับเราแล้ว จะไม่มีเลยที่จะไม่มีอาการประหม่าจนตัวสั่นเหงื่อไหลออกมาตามรักแร้ ถึงแม้เราจะโต้วาทะกับเสา เสานั้นก็ยังสะท้านหวั่นไหว แล้วนับประสาอะไรกับมนุษย์เล่า' ...สัจจกะ เหงื่อของท่านไหลอาบจากหน้าผากไปถึงพื้นแล้ว ส่วนเราไม่มีเหงื่อไหลออกเลย" พระองค์ตรัสพลางกับเปลื้องพระวรกายอันมีสีดังทองคำให้ปรากฏในที่ประชุม ส่วนสัจจกนิครนถ์ก็นิ่งอยู่ คอตกเหงื่อโทรมกาย หมดปฏิภาณอยู่ตรงนั้น ทุมมุขราชกุมาร หนึ่งในเหล่าเจ้าลิจฉวี เห็นอาการของสัจจกนิครนถ์ จึงพูดเปรียบเทียบขึ้นว่า "สัจจกะมีอุปมาประหนึ่งปูอยู่ในสระโบกขรณี ยัีงมีกุมารกุมารีทั้งหลายชวนกันออกจากบ้าน คมนาการไปสู่สระโบกขรณี เพื่อประสงค์จะเล่นน้ำ ครั้นได้แลเห็นปู จึงจับขึ้นมาจากน้ำวางไว้ที่ริมฝั่ง หักก้ามปูและขาปูเสียให้หมด ฝ่ายปูนั้นก็มิอาจจะคลานต่อไปได้ กรณีนี้มีอุปมาฉันใดก็ดี สมเด็จพระผู้มีพระภาค ได้ทรงพระกรุณาแก้ไขปัญหาให้สัจจกนิครนถ์ผู้เห็นผิดจนบัดนี้เกิดปัญญา กำจัดทิฐานุทิฏฐิ คือความเห็นผิดให้อันตรธานหายจากขันธสันดานเสียสิ้น ก็มีอุปมาประดุจกุมารกุมารีหักก้ามปูและขาปู แล้วทิ้งให้นอนกลิ้งอยู่ที่พื้นดินฉะนั้น" สัจจกนิครนถ์จึงโต้กลับด้วยคำพูดว่า "หยุด หยุดก่อนทุมมุข ท่านปากกล้ามากแล้ว เราไม่ได้สนทนากับท่าน เราสนทนากับพระสมณโคดมต่างหากเล่า" ทุมมุขราชกุมารตอบกลับไปว่า "เราก็สนทนากับพระุองค์เหมือนกัน"
สัจจกะนิ่งไปพักหนึ่งแล้วพูดต่อว่า "ช่างเถอะ ช่างเถอะ เราจะสนทนากับพระสมณโคดมต่อ" แล้วจึงกราบทูลถามว่า "ด้วยเหตุเพียงเท่าใด สาวกของพระสมณโคดมจึงชื่อว่าได้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูกต้องตามโอวาทของพระสมณโคดม กำจัดความสงสัยเสียได้ ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนแห่งศาสดาของตน" พระองค์ตรัสตอบว่า "ดูก่อน สัจจกะ สาวกของเราเล็งเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้" สัจจกะเวลานั้นรู้สึกพิศวงในพระปัญญาของพระองค์เป็นอันมากจึงมีความเลื่อมใสศรัทธาและกราบทูลถามพระองค์ต่อไปว่า "ข้าแต่พระโคดม ด้วยเหตุผลใด ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นพระอรหันต์" พระองค์ตรัสตอบว่า "เพราะเหตุว่า สาวกของเราพิจารณาเบญจขันธ์ตามความเป็นจริง คือ ความไม่ใช่ตัวตนของเรา หลุดพ้นแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่น ด้วยเหตุนี้แหละจึงได้ชื่อว่าเป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว ประกอบด้วยคุณอันยอดเยี่ยม ทั้ง ๓ ประการ คือ หนึ่งความเห็นอันยอดเยี่ยม(ทัสสนานุตตริยะ) สองการปฏิบัติอันยอดเยี่ยม(ปฏิปทานุตตริยะ) และสามความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยม(วิมุตตานุตตริยะ)" สิ้นความนั้นแล้ว สัจจกะก็มีความเห็นถูกและยอมรับนับถือในพระปัญญาของพระองค์ และสรรเสริญว่า "ข้าพเจ้ามาในที่นี้ ก็เพื่อจะไต่ถามปริศนาด้วยมีจิตเจตนาหวังว่าจะให้พระองค์พ่ายแพ้แก่ถ้อยคำของข้าพเจ้า แต่พระองค์ทรงพระกรุณาบรรเทาโทษ ขจัดความเห็นผิดในสันดานให้อันตรธานด้วยอำนาจพระธรรมเทศนา อุปมาเช่นบุรุษผู้หนึ่งซึ่งถูกอสรพิษขบกัด ก็ให้กำเริบร้อนประหนึ่งว่าจะสิ้นชีวิตแล้ว ยังมีบุรุษอีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีวิษณุมนต์คุณวิชามาช่วยดับพิษงูนั้นให้อันตรธานหายไป บุรุษผู้นั้นได้รับความสบายหายจากการเจ็บปวดเจียนตาย... ... นี่และ มีอุปมาฉันใด ข้าพเจ้านี้ถูกงูพิษร้ายคือความเห็นผิด มาขบกัดให้บังเกิดมืดมนมัวเมาเห็นผิดเป็นชอบพระเจ้าข้า บัดนี้พระองค์ทรงพระกรุณาให้เห็นความสว่างในทางบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ บังเกิดผลประโยชน์ทุกสิ่งทุกประการ ชำระสันดานให้บริสุทธิ์บังเกิดสุขหาที่สุดมิได้ ดังนั้น พระองค์จึงเปรียบเหมือนหมองูผู้ทรงวิษณุมนต์ มีใจกรุณาเอื้ออารีช่วยระงับพิษให้ส่างจางหายไปด้วยวิชาคุณแห่งตน พระเจ้าข้า" สัจจกะกราบทูบไปพลางคิดไปพลาง ก็ยิ่งเกิดศรัทธาขึ้นท่วมท้นในดวงใจ จึงกล่าวอย่างไม่หยุดยั้ง "ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ! พระองค์มากระทำให้บังเกิดสวัสดิมงคลผลประโยชน์แก่ข้าพระองค์ยิ่งนักหนา พ้นที่จะคณานับ ข้าพระองค์ขออาราธนาสมเด็จพระมิ่งมงกุฎปิ่นเกล้าโลกาจารย์กับหมู่นิกรสงฆ์ทั้งปวง ที่เป็นบริวารโปรดไปรับอาหารบิณฑบาตเพื่อเป็นบุญอันใหญ่ยิ่งแห่งข้าพระบาทในวันพรุ่งนี้เถิด" สัจจกะทูลอารธนาแล้วก็น้อมนมัสการด้วยความเลื่อมใสเป็นหนักหนา พระพุทธองค์ทรงรับด้วยดุษณียภาพ สัจจกนิครนถ์ลุกขึ้นประกาศแก่เหล่าลิจฉวีด้วยเสียงดังไปทั่วที่นั้นว่า "ท่านทั้งหลายจงฟังเรา เราได้อาราธนาพระสมณโคดมและสาวกเพื่อรับภัตตาหารในเช้าพรุ่งนี้ หากมีสิ่งของใดที่ท่านทั้งหลายเตรียมมาถวายแก่เรา พวกท่านจงนำไปถวายแด่พระสมณโคดมผู้เป็นอาจารย์ของเราเถิด" เสียงแสดงความปีติยินดี ดังอื้ออึงไปทั่วป่ามหาวัน เช้าวันรุ่งขึ้น สัจจกนิครนถ์ก็สั่งให้ตกแต่งภัตตาหารอันประณีตในอารามของตนอย่างงดงามสมเกียรติ และจัดคนไปทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้ามาประทับนั่งในอารามนั้น หลังจากที่พระพุทธองค์ฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว สัจจกนิครนถ์จึงกราบทูลว่า "ขอผลบุญในทานครั้งนี้ จงเกิดแก่ทายกทั้งหลาย" พระพุทธองค์ทรงประสาทสิทธิพร "ผลบุญแห่งการให้ทานแก่ผู้มีราคะ โทสะ โมหะ จงมีแก่ทายก ส่วนผลบุญในทานนี้ ให้แก่ผู้ที่ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ เช่นเราตถาคต และจงบังเกิดมีผลแก่เธอสัจจกะ" เมื่อสิ้นพระสุรเสียงแห่งพรชัย สัจจกนิครนถ์ก็เกิดความปลาบปลื้มปีติยินดี เบิกบานรื่นเริงบันเทิงในธรรมยิ่งนัก ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วไม่นาน สัจจกนิครนถ์ผู้กลับใจก็ได้เสียชีวิตลง เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยไปนับร้อยปี จึงได้มีบุรุษผู้หนึ่งได้ครองเพศบรรพชิตอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ในบวรพระพุทธศาสนามีนามว่า "พระกาฬพุทธรักขิตเถระ" อาศัยอยู่ในเจติยคิรีมหาวิหาร ณ ลังกาทวีป พระภิกษุรูปนี้ได้ทำที่สุดจนบรรลุคุณวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา สิ้นกิเลสอาสวะเป็นพระอรหันตริยบุคคล ผู้มีปัญญาประจักษ์แจ้งในพระไตรปิฎกและพระกรรมฐานเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเป็นที่สักการะบูชาแห่งท้าวพระยาทั้งปวง และมีหมู่นิกรสงฆ์เป็นบริวารจำนวนมากผู้หนึ่งในสมัยนั้น คนธรรมดาสามัญน้อยคนนักที่จะรู้จักว่า พระคุณเจ้าพระกาฬพุทธรักขิตอรหันต์ผู้วิเศษที่ตนเคารพเลื่อมใสอยู่นั้น ที่แท้ก็คือ "สัจจกนิครนถ์" ผู้มีปัญญามากในครั้งสมัยพุทธกาลนั่นเอง. ยังมีต่อคราวหน้าจะลงให้ใหม่ครับ
บทที่ 7 พระโมคคัลลานะต่อสู้กับพญานาค นนฺโทปนนฺทภุชคํ วิพุธํ มหิทฺธึ ปุตฺเตน เถรภุชเคน ทมาปยนฺโต อิทฺธูปเทสวิธินา ชิตวา มุนินฺโท ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจอมมุนี ทรงโปรดให้พระโมคคัลลานะเถระพุทธชิโนรส ไปปราบนันโทปนันทนาคราช ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มากด้วยวิธีให้แสดงฤทธิ์ทรมาน ให้สิ้นฤทธิ์ ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงเกิดมีแก่ท่าน ในเรื่องพุทธชัยมงคลที่ ๗ นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเอาชนะพญานาคชื่อ นันโทปนันทะ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ที่วิหารเชตวัน ทรงเข้ามหากรุณาสมาบัติ แผ่ข่ายพระญาณไปทั่วหมื่นโลกธาตุ ทรงเห็นนันโทปนันทนาคราชเข้ามาในข่ายพระญาณ ก็ทราบว่าพญานาคนี้ดุร้ายยิ่งนัก แต่อาศัยเคยสั่งสมบุญเอาไว้ในปางก่อนไว้มาก หากพระองค์เสด็จไปทรมานก็จะหันมานับถือพระรัตนตรัย แล้วจะเป็นอุปนิสัยปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานในชาติต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านของอนาถบินฑิกเศรษฐี ทรงรับสั่งท่านพระอานนท์ให้สงฆ์ทราบว่า พระองค์จะเสด็จไปเทวโลกก่อนที่จะไปฉันที่บ้านของท่านเศรษฐี บรรดาพระมหาสาวกก็พาบริวารของตนเอง มาคอยรับเสด็จพระพุทธองค์ แล้วติดตามเหาะไปสู่พรหมโลกด้วยกายเนื้อ พ ญ า น า ค ข ว า ง ท า ง ไ ป สู่ ส ว ร ร ค์ ..........ในสมัยนั้น พระยานาคชื่อนันโทปนันทะ เนรมิตรกายให้งดงามประดุจเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ นั่งอยู่บนรัตนบัลลังก์ เสวยทิพยสมบัติด้วยใจเบิกบานทีเดียว ครั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระสาวกเหาะมาก็โกรธตามประสาผู้มีทิฏฐิมานะว่า “สมณะเหล่านี้เห็นทีจะไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อไปก็ต้องเหาะข้ามหัวเราไป ฝุ่นละอองที่ติดเท้าก็จะร่วงหล่นใส่เรา ควรที่เราขึ้นไปห้ามเสียก่อน ไม่ให้เหาะข้ามไปเด็ดขาด” คิดแล้วก็เอาหางรัดเขาพระสุเมรุซึ่งสูงประมาณ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ไว้ ๗ รอบ เลิกพังพานปิดเมืองดาวดึงส์อันมีบริเวณ ๑๒ โยชน์ และปรากฏอยู่เหนือยอดเขาพระสุเมรุ บันดาลให้เป็นหมอกควันมืดอนธการไปหมด ..........พระรัฐปาลเถระเห็นความผิดปรกติเช่นนั้น ก็ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อก่อนข้าพระองค์ยืนอยู่ตรงนี้ สามารถมองเห็นภูเขาที่อยู่ล้อมภูเขาพระสุเมร และได้เห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เห็นเวชยันตปราสาท ได้เห็นธงเบื้องบนเวชยันตปราสาท แต่มา ณ บัดนี้ไม่เห็นอะไรเลย ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุอะไรพระเจ้าข้า” เมื่อทราบว่า พญานาคเป็นเพียงสัตว์ดิรัจฉานผู้มีอานุภาพเท่านั้น แต่บังอาจมาขัดขวางหนทางพระพุทธเจ้า ก็อาสาที่จะปราบพระยานาคให้สิ้นฤทธิ์เสียเลย แต่ท่านก็ถูกพระพุทธองค์ตรัสห้ามไว้เสียก่อน พระอรหันต์รูปอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพระภัททิยะ พระราหุล ต่างก็ทูลอาสาที่จะไปปราบพญานาค พระองค์ก็ทรงห้ามเอาไว้เหมือนกัน ด้วยทรงทราบว่าไม่ใช่วิสัยของพระอรหันต์ทั้งหลายที่จะทำลายทิฏฐิมานะของพญานาค ผู้มีฤทธานุภาพมาก หากไม่ระวังอาจถูกนาคทำร้ายถึงขั้นต้องตาย คือเข้านิพพานกันก่อนเวลาสมควรก็เป็นได้ ครั้นเมื่อพระมหาโมคัลลานะทูลอาสา จึงทรงอนุญาตพร้อมทั้งทรงประทานพรให้มีชัยชนะแก่พระยานาค พ ร ะ โ ม ค คั ล ล า น ะ ต่ อ สู้ กั บ พ ญ า น า ค ..........พระมหาโมคคัลลานะ ครั้นได้รับพุทธานุญาตแล้วก็คิดว่า พระยานาคราชนี้เข้าใจว่าตัวเองมีฤทธิ์มาก ไม่มีใครเปรียบได้ จึงได้คิดอกุศลต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า จำเราจะทรมานเสียให้สิ้นพยศ ท่านคิดดังนั้นแล้ว ก็เนรมิตกายเป็นพระยานาคที่มีร่างกายยาวใหญ่กว่าพระยานันโทปนันทะถึง ๒ เท่า มีพังพานประมาณแสนโกฏิ ประดับไปด้วยแก้วและทองงดงาม แล้วรัดกายของพระยานาคราชนั้นให้แน่นเข้ากับเขาพระสุเมรุ มิให้เคลื่อนไหวได้ ฝ่ายพระยานาคถูกนาคพระมหาโมคคัลลาน์รัดจนแทบกระดูกแตกก็โกรธเกรี้ยวยิ่งนัก ได้พ่นพิษให้เป็นควันพุ่งใส่พระเถระเต็มที่ แต่พระมหาโมคคัลลาน์ก็บันดาลให้ควันเกิดขึ้นมากยิ่งกว่า ปราบฤทธิ์ของพระยานาค ..........พระยานาคขัดเคืองมาก ก็พ่นควันพิษเป็นเปลวไฟอันร้อนแรงเข้าใส่ พระเถระก็เข้าเตโชกสิณ เนรมิตไฟที่ร้อนแรงกว่าให้เกิดขึ้น ไฟของพระยานาคไม่อาจระคายเคืองผิวของพระเถระได้เลย แต่พยานาคกลับถูกไฟของพระเถระเบียดเบียนจนร้อนรุ่มยิ่งนัก พระยานาคคิดว่า “สมณะนี้ชื่ออะไรหนอ ทำไมจึงมีฤทธิ์มากอย่างนี้” พระเถระก็บอกให้ทราบว่าเป็นสาวกเบื้องซ้ายของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระยานาคจึงหาเรื่องต่อว่า “ท่านเป็นสมณะ ทำไมจึงมาทำร้ายข้าพเจ้า การกระทำของท่านมิควรแก่สมณะเลย” ..........ท่านพระเถระตอบว่า “เรานี้ไม่ได้ลงโทษท่านเพราะความโกรธ แต่ที่ทรมานท่านนั้นน่ะ ก็หวังจะให้ท่านละความเห็นผิด ให้ตั้งอยู่ในทางของพระอริยเจ้า” ว่าแล้วก็กลับเพศเป็นพระมหาโมคคัลลาน์พร้อมกับสอนว่า “เจ้าเป็นเดียรัจฉานมีความประมาท มิรู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนมารดาบิดาครูอาจารย์ ควรแล้วหรือที่ท่านจะมาสำแดงความโกรธในพระพุทธเจ้า และพระสาวกที่เหาะมาแล้วเนรมิตกายปิดกั้นหนทางไปของพระองค์ แม้ละอองพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า จะตกลงมาเหนือเศียรของท่าน ก็จะเกิดมงคลยิ่งนัก หาเป็นอัปมงคลไม่ ..........พวกเทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งเหล่ามนุษย์ล้วนแต่ประณมหัตถ์นมัสการ ตั้งความปรารถนาที่จะบูชาพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดูก่อนพระยานาคราช ผู้ที่บังเกิดขึ้นมาในโลกนี้นั้น ยากนักที่จะได้เป็นพระพุทธเข้า บางคนเกิดมานับหมื่น ๆ ชาติก็มิได้พานพบ อย่าว่าแต่การได้พบพระองค์เลย แม้แต่รอยพระบาทก็ยากที่จะพบ เพราะทวยเทพทั้งหลายมาลบรอยพระบาทเสียก่อน หากว่าพระองค์ทรงอธิษฐานไว้ จึงจะประดิษฐานอยู่ไม่ลบเลือน ..........ผู้ใดเลื่อมใสในพระองค์แล้ว จะได้ผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ จะได้เสวยทิพยสมบัติในเทวโลกชั้นใดชั้นหนึ่งใน ๖ ชั้นในภายหน้า เพราะพระพุทธเจ้ามีอานุภาพเป็นอจินไตย คุณของพระองค์ก็มากมายเกินกว่าจะพรรณนาให้หมดสิ้นไปได้ ท่านสิเป็นเดียรัจฉานชั้นต่ำ ซ้ำยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ มากล่าวร้ายพระพุทธเจ้า มีแต่จะต้องไปบังเกิดในนรกอย่างเดียวเท่านั้น” พ ญ า น า ค ถู ก ป ร า บ ..........ถึงกระนั้นพญานาคก็ยังไม่ยอมเชื่อถ้อยคำของพระเถระ ยังมีทิฏฐิมานะเหมือนเดิม คิดแต่จะหาทางกำจัดพระเถระให้ได้ พระเถระรู้วาระจิตของพญานาค จึงเข้าไปทางช่องหูเบื้องขวาของพระยานาค แล้วออกทางช่องหูเบื้องซ้าย เข้าไปทางช่องหูเบื้องซ้ายออกทางช่องหูเบื้องขวา เข้าทางช่องจมูกเบื้องขวาออกทางช่องจมูกเบื้องซ้าย เข้าทางจมูกเบื้องซ้ายออกทางจมูกเบื้องขวา พระยานาคถูกทรมานอย่างนั้นก็เกิดทุกขเวทนายิ่งนัก คิดว่า “ในนาคพิภพไม่มีใครจะสู้ฤทธิ์เดชของเราได้ แต่สมณะนี้กลับทรมานเราจนไม่อาจอดทนได้ต่อไป คอยดูเถอะ เราจะล่อหลอกให้สมณะนี้เข้าไปทางปากของเรา แล้วจะเคี้ยวให้แหลกละเอียด” คิดแล้วก็กล่าวว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ธรรมดาว่าสมณะย่อมมีแต่เมตตากรุณา ทำแต่สิ่งที่ชอบธรรมมิได้ขาด แต่นี่พระผู้เป็นเจ้ามาแกล้งทรมานข้าพเจ้าให้เป็นทุกข์ ก็พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่ามิได้โกรธข้าพเจ้า เหตุไรจึงลงโทษข้าพเจ้าเล่า” ว่าแล้วก็อ้าปากแยกเขี้ยวเข้าใส่หมายจะเข่นฆ่าด้วยความโกรธ ..........ฝ่ายพระเถระได้ฟังแล้วก็ไม่ได้สะทกสะท้าน ทั้งในคำขู่และคำกล่าวหาใดๆ เลย ท่านบอกว่า “การที่เราทรมานท่านนั้น ก็เพราะหวังจะให้ท่านมีศรัทธาในพระพุทธเจ้าอันจะเป็นอุปนิสัยติดไปในภายหน้า ใช่ว่าจะเกลียดชังท่านก็หามิได้” ว่าแล้วก็ปาฏิหาริย์กายให้เล็กลง เหาะวับเข้าไปในปากของพระยานาค ท่านเข้าไปเดินจงกรมอยู่ในท้องของพระยานาคทำให้พญานาคเจ็บปวดทรมานเหลือประมาณ แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้ ..........ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณว่า “บัดนี้พระยานาคได้พ่ายแพ้แก่พระมหาโมคคัลลาน์บุตรของเราแล้ว” ทรงเปล่งโอภาสอยู่บนนภากาศ ตรัสเตือนท่านพระเถระว่า “พระยานาคตัวนี้มีฤทธิ์ยิ่งนัก ท่านจงมนสิการให้ดี อย่าได้ประมาท” พระเถระทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญอิทธิบาท ๔ มา มิได้เกียจคร้าน ทำจนชำนาญปรารภอยู่มิได้ขาด ย่อมไม่กลัวพระยานาคนี้ แม้ว่าจะมีพระยานาคที่มีฤทธิ์ยิ่งกว่าพระยานาคตัวนี้สักแสนเท่า ข้าพระพุทธเจ้าก็หากลัวไม่” ..........ฝ่ายพระยานาคได้แกล้งทำเป็นขอร้องว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าอย่าได้เบียดเบียนเราเลย จงออกมาจากท้องของเราเสียเถิด” ท่านเถระทราบวาระจิตของพระยานาค ก็เหาะออกมานั่งอยู่ข้างนอก ฝ่ายพระยานาคยังไม่สิ้นพยศ คิดจะระบายลมออกจากจมูกให้แรง จนแม้จะถูกต้นไม้ ต้นไม้ก็หักโค่น ท่านพระมหาโมคคัลลาน์ทราบวาระจิตของนันโทปนันทนาคราช ก็เข้าจตุตถฌานรักษาตนไว้มิให้เป็นอันตราย ลมที่เร่าร้อนนั้นไม่อาจจะทำความระคายผิวหรือเส้นขนของพระเถระได้เลย ซึ่งพระอรหันต์รูปอื่นอาจจะทำปาฏิหาริย์ได้ แต่การเข้า-ออก จตุตถฌานอย่างชำนาญไม่ติดขัด
เหมือนพระมหาโมคคัลลานะเถระ ไม่ใช่ทำได้ง่าย นี่จึงเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตเฉพาะพระมหาโมคคัลลานะเถระเท่านั้น พ ญ า น า ค ยึ ด เ อ า พ ร ะ พุ ท ธ เ จ้ า เ ป็ น ส ร ณ ะ ..........พระยานาคเห็นพระเถระมิได้รับอันตรายแต่อย่างไร ก็รู้สึกหวาดหวั่นใจขึ้นมา เพราะมองไม่เห็นวิธีการที่จะต่อสู้กับพระเถระได้ คิดว่า “สมณะองค์นี้มีฤทธิ์มากยิ่งนัก ถ้าเราจะสู้ต่อไปก็น่าที่จะได้รับความลำบากมากกว่านี้ คงถึงตายเป็นแน่ จำเราจะต้องรีบหนีไปเสียก่อน ไม่ยอมให้สมณะรูปนี้ทรมานอีกต่อไปได้” ท่านพระเถระทราบว่าพญานาคกำลังจะหนี จึงเนรมิตกายให้เป็นพญาครุฑใหญ่บินติดตามไล่ล่า พระยานาคก็แปลงกายเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ โตบ้าง เล็กบ้าง เพื่อหลบหนีไป พระเถระก็ติดตามมิได้ลดละ พญานาคเมื่อเห็นว่าจะหนีไม่พ้น จึงแปลงกายเป็นมาณพน้อยเข้าไปกราบแทบเท้าของพระเถระ กล่าวว่า “ข้าพเจ้ายอมแพ้แล้ว ข้าพเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีใจบาปหยาบช้า มิได้เห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่ตน มาพบพระผู้เป็นเจ้าก็มิได้ถวายอภิวาท ขอพระผู้เป็นเจ้า จงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด” ..........พระเถระกล่าวว่า เราเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เพราะฉะนั้น ท่านจงไปสำนักของพระพุทธเจ้าเพื่อยึดเอาพระองค์เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดเถิด ว่าแล้วก็พาพระยานาคไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อไปถึงพญานาคก็ก้มลงกราบนมัสการแล้วกราบทูลว่า “ข้าพเจ้านี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นพาลมิได้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ขอพระองค์ได้โปรดอโหสิกรรมในความผิดที่ได้ทำพลั้งพลาดเพราะอกุศลเข้าสิงจิตนั้นด้วยเถิด บัดนี้ข้าพเจ้าทราบแน่ชัดแล้วว่า พระองค์เป็นนาบุญของทายกทั้งปวง จำเดิมแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้าขอสละรูปกายบูชาพระรัตนตรัยไปจนตราบชีวิตจะหาไม่” ม ห า เ ศ ร ษ ฐี ฉ ล อ ง ชั ย ช น ะ แ ก่ พ ร ะ เ ถ ร ะ ..........พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานศีล ๕ ให้รักษาแล้วก็พาพระสาวกกลับไปบ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเศรษฐีก็ทูลถามว่า“วันนี้เหตุใดพระองค์จึงเสด็จมาสาย พระเจ้าข้า” ทรงตอบว่า “เป็นเพราะโมคคัลลานเถระ ทำสงครามกับนันโทปนันทนาคราช” “แล้วใครแพ้ใครชนะ พระพุทธเจ้าข้า” “พญานาคพ่ายแพ้โมคคัลลาน์” ท่านเศรษฐีได้สดับแล้ว ก็ชื่นชมโสมนัสยิ่งนัก ทั้งเลื่อมใสต่อพระมหาเถระ และเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้มีอานุภาพอันไม่มีประมาณ จึงอยากจะฉลองชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ท่านได้กระทำการบูชาสักการะพระอรหันต์ ๕๐๐ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยการถวายสังฆทาน ๗ วัน ..........จากเรื่องนี้ เราจะเห็นว่า เพียงฤทธานุภาพของพระมหาสาวกก็ยังสามารถปราบพระยานาคผู้มีฤทธิ์มากได้ อานุภาพของพระบรมศาสดายิ่งจะต้องมีมากกว่านั้นร้อยเท่าพันทวี เพราะในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก จะหาบุคคลผู้มาเสมอเหมือนพระองค์ไม่มีเลย มนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม นาค ยักษ์ ครุฑ คนธรรพ์ทุกหมู่เหล่า ไม่อาจเทียบได้ทั้งด้านปัญญา อานุภาพหรือมหากรุณา เพราะฉะนั้น ในชัยมงคลคาถาจึงได้ถือว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีชัยแก่พระยานาคราช นับเป็นการมีชัยครั้งที่ ๗ ของพระองค์ที่พระโบราณจารย์ได้บันทึกเอาไว้ จึงสมควรอย่างยิ่งที่เราเอง จะนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้า นอบน้อมต่อพระรัตนตรัยซึ่งมีคุณอันไม่มีประมาณ นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ พุทฺโธ เม สรณํ วรํ ที่พึ่งที่ระลึกอย่างอื่นของพวกเราไม่มี พระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกอันเกษมสูงสุดของเรา และหมั่นสวดสรรเสริญเจริญพุทธคุณอยู่เป็นประจำอย่าได้ขาด ..........ผู้รู้ได้กล่าวเอาไว้ว่า บุญอันเลิศ คือ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุขและกำลัง ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมอันเลิศ เลื่อมใสในรัตนะอันเลิศ คือเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลชั้นเยี่ยมเลื่อมใสในพระธรรมอันประเสริฐ อันปราศจากราคะ เป็นที่เข้าไปสงบ เป็นสุข เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ เป็นนาบุญชั้นเยี่ยม ให้ทานในสิ่งที่เลิศ ปราชญ์ผู้ถือมั่นธรรมที่เลิศ ให้สิ่งที่เลิศ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ย่อมถึงสถานที่เลิศบันเทิงใจอยู่.....
บทที่ ๘ ชัยชนะต่อพระพรหมผู้หลงผิด พกาพรหม โมหันธ์ สำคัญผิด ว่าเรืองฤทธิ์ พิสุทธิ์ วิมุติฉาน มีทิฐิ มิจฉา อหังการ นมังการ ดังงูรัด ขบกัดกร ด้วยเดชา อานุภาพ พระสัมพุทธ ธ วิสุทธิ์ ทรงญาณ เทศน์สั่งสอน ธรรมโอสถ วิเศษ ที่แทรกซอน ให้เพิกถอน พิษงู กู้ชีวี ขอผองท่าน จงมี ชัยมงคล ทั่วสกล ดลพร้อม ด้วยสุขี เทศนา-ญาณะ-บารมี ธรรมวิธี แห่งพระ พิชิตมาร ทุคคาหะทิฎฐิภุชะเคนะ สุทัฎฐะหัตถัง พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทิพะกาภิธานัง ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ สมเด็จพระจอมมุนี ทรงผจญกับท้าวพกาพรหม ผู้สำคัญตนว่ามีความรุ่งเรือง ด้วยคุณอันบริสุทธิ์ และมีฤทธิ์มากกว่าใคร ซึ่งเป็นความเห็นผิดเหมือนถูกงูรัดไว้ ทรงพิชิตพกาพรหมด้วยการแสดงพระเทศนาให้เกิดปัญญา ด้วยเดชองค์พระผู้พิชิตพระพรหมนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ พรหมโลกเบื้องสูงเป็นแดนแห่งผู้ที่ฝึกจิตจนประณีตละเอียดมีอารมณ์แห่งฌานต่างๆ ได้เสวยผลแห่งการฝึกจิต แล้วไปเกิดอยู่ในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่งตามระดับภูมิแห่งจิตนั้น เวลาในพรหมโ่ลกนี้ยาวนานกว่าเวลาในโลกมนุษย์มากมายนักหาที่สุดได้ยาก พรหมโลกมี ๑๖ ชั้น ชั้นที่ ๓ ที่มีชื่อเรียกว่า มหาพรหมาภูมิ ณ ที่นี้และเป็นที่ซึ่งมีแต่ความสุขและมีเวลา ๑ มหากัป (๑ กัป มีการเปรียบเทียบว่า มีภูเขาที่กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๑ โยชน์ หรือเท่ากับ ๑๖ กิโลเมตร ทุก ๑๐๐ ปี จะมีเทวดานำผ้าบางๆ มาลูบภูเขานั้น ๑ ที ระยะเวลาที่กว่าภูเขานั้นจะสึกกร่อนจนราบเพราะถูกผ้าลูบนั้นแหละเท่ากับระยะเวลาของ ๑ กัป) จึงจะกลับมาเกิดอีก ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนาน นานมากจนทำให้ท้าวมหาพรหมที่ชื่อว่า "พกาพรหม" นั้นหลงผิดไปว่า ในพรหมโลกนี้เที่ยงแท้ยั่งยืน ไม่ทุกข์ มีแต่สุขนิรันดร ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตายอีกต่อไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความเห็นผิดของพกาพรหม ขณะที่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจแผ่ข่ายพระญาณออกไปในเวลาใกล้รุ่ง ที่โคนต้นพญารัง ภายในเขตป่าชื่อสุภควันใกล้เมืองอุกัฎฐา เป็นพุทธวิสัยแห่งพระองค์เท่านั้นที่จะโปรดพกาพรหมให้มีความเห็นถูกได้ เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้วจึงเสด็จขึ้นไปปรากฏในพรหมโ่ลกในทันที เหมือนบุรุษที่แข็งแรงมีกำลังมาก เหยียดแขนออกและคู้แขนเข้าอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น ฝ่ายพกาพรหมได้เห็นการปรากฏกายของพระองค์มาแต่ไกลจึงร้องเชื้อเชิญว่า "ท่านผู้หาทุกข์มิได้ ท่านเพิ่งได้มาในพรหมโลก การมาของท่านเป็นการดี เพราะที่นี้มีแต่ความสุขชั่วนิรันดร์ การออกไปจากความทุกข์ไม่มีอีกแล้ว เพราะพรหมภูมินี้เที่ยงแท้ยั่งยืน และมีความมั่นคงโดยแท้ ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ และไม่มีความตาย มีแต่ความเป็นอมตะอยู่เสมอ" พระพุทธองค์ทรงทราบดีกว่า พกาพรหมถูกอวิชชาคือความไม่รู้ปิดบังความจริง จึงตรัสโปรดพรหมว่า "ดูก่อนท่านพกาพรหม เรารู้ว่าท่านมีฤทธานุภาพมาก" พกาพรหมได้ฟังดังนั้นก็แปลกใจในพระปัญญาของพระพุทธเจ้า และถามด้วยความสงสัยว่า "ท่านผู้หมดทุกข์แล้ว ท่านรู้ได้อย่างไรเล่าว่า เรามีศักดิ์และฤทธิ์มาก" "เรารู้ เนื่องจากท่านมาอยู่ในที่นี้นานจนคิดว่าพรหมโลกนี้เที่ยงแท้ ยั่งยืนคงทน มีแต่ความสุข ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ ไม่มีความตาย การออกจากความทุกข์อย่างอื่นที่มีอยู่ว่าไม่มี ไม่มีสถานที่ใดที่จะสูงไปกว่าพรหมโลกนี้อีกแล้ว" "จะมีอะไรที่สูงไปกว่าพรหมโลกนี้อีกเล่า" พกาพรหมพูดอย่างหลงผิด "ดูก่อนมหาพรหม เหนือภูมิของมหาพรหมยังมีอาภัสสรพรหม สุภกิณหพรหมก็มีอยู่ เวหัปผลาพรหมก็มีอยู่ พกาพรหม และที่สุดคือ นิพพานที่เป็นสุขโดยแท้ เป็นที่ที่จะไม่เกิด ไม่แก่ มั่นคงไม่เคลื่อนไป เป็นปกตินิรันดร์ ท่านไม่รู้ในสิ่งนั้นเลย ส่วนเรารู้ เราเห็นในสิ่งทั้งปวง แต่เราไม่ยึดในสิ่งทั้งหลายนั้น เราไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา" ท้าวมหาพรหมไม่เชื่อในสิ่งที่พระองค์ตรัสถึงความจริงอันเที่ยงแท้ ด้วยถูกความไม่รู้ครอบงำอยู่ จึงห้ามมิให้พระองค์ตรัสต่อ
"ท่านอย่าได้แสดงธรรมแก่เราและบรรพชิตอีกเลย เพราะเคยมีมาแล้วสมณะที่บอกว่าเป็นพระพุทธเจ้า เืมื่อสิ้นชีพไปแล้ว ก็ได้ไปเกิดในที่ต่ำทราม ส่วนสมณะที่ไม่สั่งสอนสาวกและบรรพชิตเมื่อสิ้นชีพไปแล้ว กลับไปเกิดในกายที่ดีกว่า ประณีตละเอียดกว่า ฉะนั้น ขอท่านจงมีความปรารถนาน้อย และจงหาความสุขแต่ในปัจจุบันเถิด" "ดูก่อนพกาพรหม เราตถาคตจะแสดงธรรมหรือไม่ เราก็ไม่เกิดที่ไหนอีกแล้ว สมณะเหล่านั้นที่ไปเิกิดในที่ต่ำทรามเพราะเข้าใจว่าตนได้ตรัสรู้ถึงแก่นความจริง แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ และเราแสดงธรรมนั้นก็เพื่อประโยชน์แก่เหล่าสาวกหาใช่เพื่อประโยชน์แก่เรา แต่หากว่าท่านยังคิดว่าเหนือเรา ก็จงแสดงฤทธิ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่เราตถาคต โดยไปอยู่ในที่ที่ตถาคตไม่สามารถรู้เห็นได้ เราจึงจะยกย่องท่านให้เป็นใหญ่ในสามโลก เหนือกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย" พกาพรหมได้ฟังเช่นนั้นก็เห็นเป็นโอกาสให้ได้สำแดงฤทธิ์แห่งตน "ถ้าอย่างนั้น เราจะหายตัวไปจากที่นี้ ให้ท่านดู" พระพุทธองค์ตรัสว่า "ถ้าท่านคิดว่าจะหายไปได้ ก็เชิญหายไปเถิด" เมื่อสิ้นพระพุทธดำรัส พกาพรหมก็บันดาลตนให้หายไปจากที่นั้น เป็นที่ประจักษ์แก่พระพุทธองค์และเหล่าพรหมทั้งหลาย พกาพรหมได้นิรมิตกายให้ละเอียดซ่อนอยู่ในเม็ดทรายในท้องทะเล พระพุทธองค์ก็ทรงหาพบ หรือแม้จะหลีกหนีไปซ่อนอยู่บนต้นกัลปพฤกษ์ในวิมานด้วยอาการนั่งยองๆ ก็ตาม พระพุทธองค์ก็ทรงเห็นและกล่าวทักขึ้นว่า "โน่นแน่ะ ท่านพกาพรหมนั่งยองๆ อยู่บนต้นกัลปพฤกษ์ เราตถาคตเห็นท่านแล้ว" พกาพรหมเมื่อสุดความสามารถในฤทธิ์ของตนก็มีความเก้อเขิน ที่เข้าใจว่าตนจะพ้นจากการล่วงรู้ด้วยทิพยจักขุแห่งพระองค์ได้ เมื่อพกาพรหมไม่สามารถใช้ฤทธิ์ของตนบังพระปัญญาของพระตถาคตได้ จึงจำใจกลับไปนั่งในวิหารตามเดิม เป็นที่ละอายอดสูแก่พระองค์และเหล่าพรหมทั้งหลายยิ่งนัก พกาพรหมจึงท้าพระองค์ให้ทรงแสดงฤทธิ์บ้าง "ดูก่อนท่านผู้ไม่มีทุกข์ ถ้าท่านสามารถหายไปจากที่นี้จนเรามองไม่เห็นนั่นแหละ เราจึงจะสรรเสริญท่านว่าเป็นผู้รู้จริง" พระองค์ตรัสตอบว่า "ถ้าเช่นนั้น เราจะหายไปให้ท่านดูในบัดนี้" "หากท่านจะหายไปจากเราได้ ก็จงหายไปเถิด" พกาพรหมกล่าวตอบในทันที ลำดับนั้น พระตถาคตจึงตกแต่งอิทธาภิสังขาร อันตรธานพระวรกายให้หายไปจากที่นั้น แต่ทรงกระทำปาฏิหาริย์ปรากฏพระสุรเสียง แสดงพระธรรมเทศนาโปรดพรหมทั้งหลายอยู่ว่า "เราเห็นภัยในภพ และเห็นภพของสัตว์ผู้แสวงหาภาวะที่ปราศจากภพแล้ว ไม่ชมภพอะไรเลย ทั้งไม่ยึดติดเพลิดเพลินอยู่ในภพทั้งหลาย" เหล่าพรหมบริษัทที่มาเฝ้าพระองค์ต่างก็พากันอัศจรรย์ใจไปตามๆ กัน ฝ่ายพกาพรหมก็พยายามค้นหาพระบรมศาสดาไปทั่่วทั้งสามโลก แต่ก็ไม่สามารถพบพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เลย จนในที่สุดก็หมดปัญญาค้นหา จึงยอมศิโรราบ คลายความเห็นผิดลงและร้องขอให้พระองค์ทรงปรากฏพระวรกาย "ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านจงปรากฏกายออกมาเถิด เราไม่มีปัญญาที่จะค้นหาท่านพบในสามโลกแล้ว ขอท่านจงปรากฏกายให้เป็นที่ประจักษ์แก่เราและเหล่าพรหมทั้งหลายและโปรดแสดงธรรมแก่เราในเวลานี้ด้วยเถิด ท่านผู้เจริญ" พระผู้มีพระภาค เมื่อทรงพิจารณาวาระจิตของพกาพรหมว่าคลายความเห็นผิดลง และอยู่ในภาวะที่จะพึงสอนได้ จึงยอมปรากฏพระองค์แก่พกาพรหมและเหล่าพรหมบริษัท ด้วยพระอิริยาบทเดินจงกรมอยู่บนเศียรเกล้าของพกาพรหมภายในวิหารแห่งพรหมโลกนั่นเอง บรรดาเหล่าพรหมบริษัทต่างพากันชื่นชมว่าทรงเหนือกว่าเทวดาและพรหมทั้งปวง จากนั้นพระองค์จึงเสด็จลงประทับนั่งบนพุทธอาสน์ แล้วตรัสแสดงธรรมโปรดพรหมว่า "ดูก่อนท่าวมหาพรหมผู้เรืองฤทธิ์ ท่านมาอยู่ในพรหมโ่ลกนี้เสียนาน นานจนไม่ทราบว่าท่านมาเกิดในที่นี้ได้อย่างไร" พกาพรหมจึงทูลอาราธนาให้พระองค์แสดงธรรม "ท่านผู้เจริญ จริงอยู่ข้าพระองค์มาอยู่ในพรหมโลกนี้เสียนาน จนไม่ทราบเลยว่าต้นเหตุแห่งกรรมที่ทำให้มาเกิดในพรหมโลกนี้เป็นเพราะเหตุใด ข้าพระองค์ลืมเสียหมดแล้ว ขอพระองค์ได้โปรดเมตตาวิสัชชนาอนุเคราะห์ต่อไปเถิด" พระพุทธองค์จึงทรงเล่าอดีตชาติที่เป็นเหตุให้มาเกิดเป็นพรหมอย่างพิสดารว่า "ดูก่อนพกาพรหม ในครั้งก่อนโน้นท่านเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลพราหมณ์แห่งหนึ่ง ต่อมาได้พิจารณาเห็นโทษของกามคุณทั้ง ๕ ว่าเป็นเครื่องเศร้าหมองทำให้จิตหมกมุ่นอยู่ในโลกีย์ ไม่อาจชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ ไม่ทำให้สิ้นชาติ ชรา และมรณะ จึงได้ออกบวชเป็นฤาษี มีชื่อว่า เกสวฤาษี หมั่นบำเพ็ญเพียรจนสามารเข้าฌานสมาบัติ มีอภิญญาเป็นที่ตั้ง..... เกสวฤาษีได้สร้างศาลาอยู่ริมแม่น้ำคงคา แล้วจึงตั้งจิตมัธยัสถ์เสวยอยู่ในศาลาแห่งนั้น ต่อมา มีพ่อค้าเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ขับเกวียนตามกันมาในทางแห้งแล้งกันดารตลอดทั้งวันคืน ไม่มีบ่อน้ำหรือแม่น้ำไหลผ่านในที่นั้นเลย ตกกลางคืนเกวียนที่นำทางคันหน้าได้ขับย้อนกลับลงมาทางเดิมโดยหมู่เกวียนที่ตามหลังไม่ทันได้พิจารณา ครั้นรุ่งเช้า เหล่าพ่อค้าเกวียนจึงได้รู้ว่ากลับมาทางเก่าก็พากันตกใจ เสบียงอาหารหรือก็ขาดแคลน ด้วยความหิวและอ่อนเพลียจึงพากันหลับอยู่ในร่มเกวียนนั้น เกสวฤาษีรู้ถึงความเดือดร้อนนั้นว่า เหล่าพ่อค้าและโคจะต้องตายด้วยความหิว จึงได้แสดงฤทธาธิษฐานบันดาลให้ท่อน้ำพุ่งขึ้นจากคงคามาในนภากาศ ไหลตรงไปในที่กันดารแห่งนั้น
ธารน้ำทิพย์ปรากฏแก่เหล่าพ่อค้าเกวียนทั้งหลาย ทั้งคนและโคต่างพากันดื่มน้ำ ทำให้มีกำลังวังชาขึ้นมาอีก แล้วตักตวงน้ำเป็นเสบียงออกเดินทางต่อไปจนถึงที่หมาย ครั้งหนึ่ง พวกชาวบ้านในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับบรรณาศาลาได้รับความเดือดร้อน เพราะถูกหมู่โจรปล้นสะดมทรัพย์สินและจับโคกระบือต้อนหนีไป ได้ส่งเสียงขอความช่วยเหลือ ฤาษีได้ยินเสียงร้องนั้น จึงเข้าฌานสมาบัติโดยมีอภิญญาเป็นเบื้องบาทอธิษฐาน เป็นทัพโยธาหาญจำนวนมาก พวกโจรเห็นทัพโยธาหาญมากมายเช่นนั้นก็ตกใจ คิดว่าเป็นทัพหลวงที่กษัตริย์เสด็จมาปราบ จึงหนีเอาชีวิตรอดทิ้งทรัพย์สินที่ปล้นเอาไว้กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณนั้น ชาวบ้านจึงได้ทรัพย์ฺสินของตนกลับคืนมา และพ้นจากอำนาจของพวกโจรเหล่านั้น ในเวลาต่อมา เกสวฤาษีก็ได้ช่วยเหล่าพ่อค้าให้รอดพ้นจากพญานาคอันธพาลที่มารังแก พ่อค้าเหล่านั้นบรรทุกสินค้าเต็มเรือสำเภาแล่นไปในมหาสมุทร ผ่านน่านน้ำที่พญานาคอาศัยอยู่ พญานาคก็สำแดงกายให้ปรากฏ บันดาลคลื่นยักษ์โถมเข้าใส่เรือสำเภา เรือก็โคลงด้วยแรงแห่งคลื่นนั้น ทำให้สินค้าเสียหายเป็นจำนวนมาก เกสวฤาษีเพ่งเพียรอยู่ก็ทราบด้วยใจถึงความเดือดร้อนของเหล่าพ่อค้าเรือว่า พวกเขาถูกพญานาคแผลงฤทธิ์เบียดเบียนให้ทุกข์ร้อน จึงรีบจำแลงกายเป็นพญาครุฑ บินโฉบไปทางพญานาคอันธพาลประหนึ่งจะเอาชีวิต ฝ่ายพญานาคตกใจกลัวในอำนาจแห่งพญาครุฑจึงเลื้อยหนีลงมหาสมุทรไป ช่วยให้เหล่าพ่อค้าเรือพ้นจากอำนาจของพญานาคในคราวนั้น ฝ่ายพกาพรหมได้ฟังพระธรรมเทศนานั้นก็ระลึกชาติได้ เกิดความเลื่อมใสโสมนัสเป็นที่สุด ได้เห็นตามความจริงตามนั้น และคลายความเห็นผิดจนหมดสิ้น จึงกล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นอานิสงส์ในกองกุศลที่ได้ทำไว้ในชาติปางก่อนแล้ว ทั้งยังได้รับพระธรรมเทศนาที่พระองค์ตรัสสอนในปัจจุบันนี้ วันนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้ทำลายความเห็นผิดออกไปจากจิต เห็นแจ้งประจักษ์ไม่สงสัยในพระปัญญาญาณของพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้โดยชอบแทั เป็นผู้เห็นความจริง และเป็นผู้มีอานุภาพรุ่งเรือง ทำพรหมโลกให้สว่างไสวได้ด้วยพระปัญญา จึงขอมอบดวงใจบูชาพระองค์ ยึดถือเป็นที่พึ่งตลอดไป พระพุทธเจ้าข้า" เมื่อพระพุทธชินสีห์ทรงเห็นว่าพกาพรหมมีความเห็นถูกต้องแล้ว จึงลาพกาพรหมและเหล่าพรหมทั้งหลายกลับมาสู่โคนต้นพญารัง ประทับนั่งตามอัธยาศัย และทรงพิจารณาว่า ความเห็นผิด..ยังมีได้แม้ในหมู่พรหม. จบ