ประวัติสมเด็จโต ฉบับพระยาทิพโกษา(สอนโลหะนันท์)ตอน8 สู่พระนครหลวง

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 10 กันยายน 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,440
    [​IMG]
    ครั้นถึงเดือน ๑๒ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ สามเณรโตมีความกระหายใคร่จะล่องลงมาร่ำเรียนในสำนักราชบัณฑิตนักปราชญ์หลวงบ้าง ใคร่จะเข้าสู่สำนักพระเถระเจ้าผู้สูงศักดิ์อรรคฐานในกรุงเทพพระมหานครโดยความเต็มใจ
    ครั้งสามเณรโต อายุได้ ๑๘ ปีย่าง ปลงใจแน่วแน่แล้วในการที่จะละถิ่นฐาน ญาติโยมได้จะทนทานในการอนาถาในกรุงเทพฯ ได้แน่ใจแล้ว จึงได้กราบกรานท่านพระครูจังหวัดบรรยายแถลงยกย่องพิทยาคุณและความรู้ของท่านพระครูเมืองไชยนาทบุรี พอเป็นที่ปลื้มปราโมทย์ปราศจากความลบหลู่ดูหมิ่น ด้วยระเบียบถ้อยคำอันดีพอสมควรแล้ว ขอลาว่าเกล้ากระผมขอถวายนมัสการลาฝ่าท้าวเพื่อจะลงไปสู่สำนักราชบัณฑิตย์ ผู้สูงศักดิ์อรรคฐานให้เป็นการเชิดชูเกียรติคุณของฝ่าท้าวให้แพร่หลายในกรุงเทพฯ ขอบารมีฝ่าท้าวจงกรุณาส่งเกล้ากระผมให้ถึงญาติโยม ณ แขวงเมืองพิจิตรด้วย
    ฝ่ายท่านพระครูเจ้าคณะเมืองไชยนาทบุรีได้ฟัง ซึ่งมีความพอใจอยู่แล้วในการที่จะแสวงหาศิษย์ที่ดีมีสาระทะแกล้วกล้าองค์อาจ ฉลาดเฉลียวรอบรู้คัมภีร์ คิดจะส่งศิษย์อย่างดีเข้ากรุงเทพฯ เพื่อช่วยเผยแพร่ให้ความรู้และความดีของท่านนั้นโด่งดังปรากฏแพร่หลายไปในกรุงเทพฯ อนึ่งสามเณรองค์นี้ก็เป็นคนดี มีความรู้กอร์ปด้วยคติสติปัญญา ความเพียรก็กล้าไม่งอนง้อท้อถอยเลย หัวใจก็จดจ่ออยู่แต่การเล่าเรียนหาความรู้ดูฟังตั้งใจจริง ไม่เป็นคนโว่งมซมเซา พอจะเข้าเทียบเทียมเมธีที่กรุงเทพพระมหานครได้ ท่านพระครูเห็นสมควรจะอนุญาตได้ ท่านจึงกล่าวเถระวาทสุนทรกถา เป็นทางปลูกผูกอาลัยแก่สามเณรพอสมควรแล้ว ท่านก็ออกวาจาอนุญาตว่า "ดีแล้ว นิมนต์เถอะจ้ะ" เราขอรอผลัดจัดการส่งสัก ๓ วัน เพื่อเตรียมตัวเตรียมการส่งให้เป็นที่เรียบร้อยตามระเบียบแบบธรรมเนียมการ สามเณรก็กราบถวายนมัสการลามายังกุฏิที่อยู่ แล้วก็จัดการตระเตรียมเก็บสรรพสิ่งเครื่องอุปโภคต่างๆ ส่งคืนเข้าที่ตามเดิม คัมภีร์ที่ยังเรียนค้างอยู่ก็ทำใบยืมๆ ไปเรียนต่อไป สิ่งของที่เหลือบริโภคอุปโภคแล้ว ก็แบ่งปันถวายเพื่อนสามเณรที่อยู่ที่เคยเป็นเพื่อนกันไว้ใช้สรอยพอเป็นทางผูกอาลัยทำไมตรี
    ครั้นเวลารุ่งเช้าแล้ว สามเณรโตก็ออกพายเรือสามปั้นบิณฑบาตไปถึงบ้านที่สุดเหนือน้ำและใต้น้ำ สามเณรก็บอกกล่าวล่ำลาแก่ญาติโยมอุปฐากและที่ปวารณาและผู้ที่มีวิสาสะทั่วหน้ากันทั้งสองฝั่ง ที่อยู่บ้านดอนขึ้นไปก็บอกลาฝากขึ้นไปทั่วกัน
    ฝ่ายเจ้าพวกเด็กๆ ลูกศิษย์วัดทั้งปวงรู้ว่าหลวงพี่เณรของเขาจะลงไปอยู่บางกอก พวกเด็กทั้งหลายก็พากันเสียดาย ใจเขาหาย เขาทำได้แต่หน้าแห้ง ทำตาแดงๆ เหตุเขามีความคุ้นเคยรักใคร่อาลัยหลวงพี่สามเณรโต เขาเคยกินอยู่สำราญด้วยอาหารเกิดทวีขึ้น เพราะอำนาจบารมีศีลธรรมของสามเณรโต จนเข้าของแปลกประหลาดเหลือเฟือเอื้อเอาใจเขามาช้านานประมาณ ๓ ปีล่วงมา
    ฝ่ายแม่รุ่นสาวๆ คราวกันกับพ่อเณร ซึ่งมีใจโอนเอนไปข้างฝ่ายรัก ก็ทำอึกอักผะอืดผะอมกระอักกระอ่วนรัญจวนใจ ด้วยพ่อเณรเธอจะไปอยู่ไกลถึงบางน้ำบางกอก ต่างก็อั้นอันอ้นจนใจไม่อาจออกวาจาห้ามปรามเพราะความอาย รักก็รักเสียดายก็เสียดาย ทั้งความยึดถือมุ่งหมายก็ยังมีอยู่มั่นคงจงใจ ทั้งเกรงผู้หลักผู้ใหญ่จะล่วงรู้ดูแคลน แสนกระดากทำกระเดื่องชำเลืองโฉมพ่อเณรโต แอบโผล่หน้าต่างตามมองแลรอดสอดตามช่องรั้วหัวบ้านแลจนลับนัยน์ตา เสียวซ่านถึงโสกาเช็ดน้ำตาอยู่ก็มี
    ฝ่ายพวกเด็กๆ พอกลับถึงวัด เขาก็ตะโกนบอกเพื่อนกันว่า ต่อแต่วันนี้พวกเราจะอดกันละโว้ยๆ
    ครั้นพระเณรฉันเช้าแล้ว ท่านพระครูเจ้าคณะจังหวัดจึงเรียกพระปลัดพระสมุห์มาสั่งการว่า แนะพระปลัดจ๋า พรุ่งนี้เธอต้องสั่งเลขวัด ให้เขาจัดเรือเก๋ง ๔ แจว คนแจวประจำพร้อมและจัดเสบียงทางไกลให้พร้อมมูลด้วย ให้พอเลี้ยงกันทั้งเวลาไปและมาด้วย ส่วนเธอและพระสมุห์ช่วยพาสามเณรโตเข้าไปส่งให้ถึงญาติโยมเณร ณ เมืองพิจิตรในวันรุ่งพรุ่งนี้แทนตัวดิฉันด้วย พรุ่งนี้มารับจดหมายส่งของฉันก่อน
    ฝ่ายพระปลัด ๑ พระสมุห์ ๑ รับเถระบัญชาแล้วออกมาเรียกร้องกะเกณฑ์เลขวัดสั่งให้จัดเรือจัดเสบียงให้พร้อมทั้งเครื่องต้มเครื่องแกง หม้อน้อยหม้อใหญ่ กระทะ ข้าวเหนียว น้ำตาล มาขามเปียก พริกสด พริกแห้ง หอมกระเทียม ขิง ข่า กระทือ พริกไท ให้พร้อมไว้ เวลาเที่ยงมาแล้วจอดไว้ที่ท่าวัดนี้ตามที่ท่านพระครูสั่ง
    ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๓ พระปลัดฉันเช้าแล้วเข้าหาท่านพระครู รับจดหมายแล้วกราบลาออกมา แล้วนัดหมายพระสมุห์และนัดสามเณรโตว่าเที่ยงแล้วลงเรือพร้อมกัน ครั้นถึงเวลาฉันเพลแล้ว ขอแรงศิษย์วัดและเพื่อนเณร ๒-๓ คน ช่วยขนขนบบริขารหีบ ตะกร้า กระเช้า กระบุงที่บรรจุของสามเณรโตลงท่าวัดพร้อมกัน สามเณรโตก็เข้าไปสักการวันทาลาท่านพระครูด้วยความเคารพ
    ส่วนท่านพระครูก็ประสิทธิ์ประสาทพรให้วัฒนาถาวรภิญโญภาวะยิ่ง ให้สัมฤทธิ์สมความมุ่งหมาย จงทุกสิ่งทุกประการเทอญ
    ครั้นเวลาเที่ยงทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พระปลัด พระสมุห์ และสามเณรโต พร้อมคนแจวเรือก็ลงเรือ ได้เวลาบ่ายโมงก็ออกเรือทางแม่น้ำ บ่ายหัวเรือไปเมืองพอจิตรในวันนั้น
    ครั้นแจวมา ๒ คืนก็ถึงท่าบ้านสามเณรโต ฝ่ายตาผล ยายลา นางงุด เห็นเรือเป็นเก๋งมาจอดท่าหน้าบ้าน ต่างก็ออกมาดู รู้ว่าท่านปลัด ท่านสมุห์และสามเณรโตมา ก็ดีใจลงไปในเรือต้อนรับและนิมนต์ขึ้นเรือน แล้วขึ้นมาปูอาศน์ ตักน้ำเย็น ต้มน้ำร้อน จัดเภสัชเพลายาสูบใส่พานแล้ว ครั้นพระปลัด พระสมุห์ สามเณรขึ้นมาอาราธนาที่หอนั่ง ประเคนหมาก น้ำ ยาสูบ แล้วก็กราบ
    ครั้นพระปลัดเห็นเจ้าบ้านนั่งปรกติเรียบราบแล้วจึงปฏิสันฐาน และนำจดหมาย ของท่านพระครูเมืองไชยนาทบุรี ส่งให้ตาผลๆ รับมาอ่านได้ทราบความตลอดแล้วด้วยความพอใจ เมื่อสนทนาเสร็จจึงพาพระปลัด พระสมุห์และสามเณรออกไปยังวัดใหญ่ เมืองพิจิตรทราบ
    ครั้นท่านพระครูอ่านดูรู้ข้อความตลอดแล้ว ก็เห็นดี เห็นชอบด้วย ตกลงก็เห็นดีเห็นงามด้วยกันทั้งครูอาจารย์และคณะยาติโยมพร้อมใจกันหมด ครั้นได้เวลา พระปลัด พระสมุห์ ตาผลและนางงุดก็ลาท่านพระครูใหญ่กลับมาบ้าน แล้วก็จัดแจงอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงเณร และคนแจวเรือจนอิ่มหนำสำราญแล้วทั้ง ๓ เวลา ส่วนพระปลัดและพระสมุห์เมื่อได้ทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายมาเสร็จและสมควรแก่เวลา ก็ลาเจ้าล้านๆ ก็จัดการส่งพระปลัดและพระสมุห์ให้กลับไปยังวัดเมืองไชยนาทบุรี
    ส่วนทางบ้านเมื่อได้กำหนด นางงุดก็จัดเรือจัดคนจัดลำเลียงสเบียงอาหารจัดของแจกให้ของฝากชาวกรุงเทพฯ ทั้งของถวาย ของกำนัลท่านผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ลงบรรทุกในเรือเรียบร้อยเสร็จแล้ว ก็เกณฑ์ตาผลให้เป็นผู้นำพร้อมด้วยคนแจวส่งสามเณรไปกรุงเทพฯ แต่ต้องให้แวะนมัสการบูชาพระพุทธชิณราชในวันกลางเดือน ๑๒ นี้ก่อน และพ่อต้องอ้อนวอนขอหลวงพ่อชิณราชให้ช่วยคุ้มครองกำกับรักษาส่งพ่อเณรอย่าให้มีเหตุการณ์ และอย่าให้ป่วยไข้ได้เจ็บอย่าให้มีภัยอันตราย ตั้งแต่วันนี้จนตราบเท่าจนเฒ่าจนแก่ และขอให้เณรร่ำเรียนลุสำเร็จจงทุกสิ่งทุกประการ กับขอบารมีหลวงพ่อชิณราชช่วยปกป้องกันศัตรูหมู่อันธพาล อย่าผจญและอย่าเบียดเบียนพ่อเณรได้ ขอพ่อจงแวะไหว้บูชาอ้อนวอนว่าตามคำสั่งข้านี้อย่าหลงลืมเลย
    ฝ่ายตาผลรับคำลูกสาวแล้ว ก็ลงเรือออกเรือจากท่าหน้าบ้าน และให้แจวออกทางแม่น้ำพิษณุโลก ล่องมาหลายเพลาก็มาถึงวัดพระชิณราชในวันขึ้น ๑๔ เดือน ๑๒ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ ปีนั้น
    ครั้น ณ วันที่ ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ศกนั้น ตาผลนิมนต์สามเณรโตขึ้นไปโบสถ์พระชินราช เดินปทักษิณรอบแล้ว เข้านมัสการทำสักการะบูชา สามเณรยืนขึ้นวันทาแล้วตั้งสักการะ โดยสักกัจจะเคารพแก่พระพุทธชิณราช ตาผลจึงพร่ำพรรณาถวายเณรแก่พระชิณราชและวิงวอนขอฝาก ขอความคุ้มครองป้องกัน ขอให้พระพุทธชิณราชบันดาลดลส่งเสริมแก่สามเณรตามคำนางงุดโยมของเณรสั่งมาทุกประการ
    ครั้นทำการเคารพสักการบูชาแก่พระพุทธชิณราชเสร็จแล้ว ก็กราบลาพาสามเณรโตมาลงเรือแจวล่องมา ๒ คืนก็ถึงหน้าท่าวัดบางลำภูบน กรุงเทพฯ ตอนเวลาเช้า ๒ โมง แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพพระมหานคร
    ตาผลชาวเมืองกำแพงเพชร ซึ่งถอยลงมาตั้งถิ่นฐานภูมิลำเนาอยู่เหนือเมืองพิจิตรได้นำสามเณรโตผู้หลานอันเป็นลูกของนางงุดลูกสาว สามเณรโตนั้นมีอายุย่างเข้า ๑๘ ปี ตาผลผู้เป็นตา จึงได้นำพาสามเณรโตขึ้นไปมอบถวายพระอาจารย์แก้ววัดบางลำภูบน พระนคร ตาผลได้เล่าถึงการเรียนของสามเณรโตจนกระทั่งถึงท่านพระครูจังหวัดเมืองเหนือทั้ง ๒ อาราม มีความเห็นชอบพร้อมกันที่จะให้ลงมากรุงเทพ เกล้ากระผมจึงได้นำสามเณรโตมาสู่ยังสำนักของหลวงพ่อ เพื่อหลวงพ่อจะได้ทำนุบำรุงชี้ช่องนำทาง ให้สามเณรดำเนินหาคุณงามความดีมีความรู้ยิ่งในพระมหานครสืบไป
    ฝ่ายพระอาจารย์แก้วทราบพฤติการณ์ ตามที่ตาผลเล่า ก็เกิดความเชื่อ และเลื่อมใสในสามเณรโต และมีความเห็นพ้องด้วยกับท่านพระครูทั้ง ๒ จังหวัด สมจริงดังที่พยากรณ์ไว้แต่ยังนอนแบเบาะ และได้รับเป็นลูกไว้ จึงนึกขึ้นได้ถึงเงินที่ได้ลั่นวาจาว่าจะจ้างแม่มันเลี้ยงปีละ ๑๐๐ บาท ๓ ปีหย่านมเป็นเงินค่าจ้าง ๓๐๐ บาท จึงให้ศิษย์ที่เป็นไวยาวัจจกรหยิบเงินมา ๓๐๐ บาท ส่งมอบให้ตาผลเพื่อฝากไปใช้ให้นางงุดเป็นค่าน้ำนมข้าวป้อน ๓ ปี เงิน ๓๐๐ บาท
    ตาผลน้อมคำรับเอาเงิน ๓๐๐ บาท มากำไว้สักครู่ เมื่อจวนจะลากลับ จึงพร่ำพรรณนามอบฝากเณรโดยอเนกประการ แล้วถวายเงิน ๓๐๐ บาทนั้นคืนหลวงพ่อแก้ว แล้วถวายอีก ๑๐๐ บาทเป็นค่าบำรุงเณรสืบไป แล้วก็ลาท่านอาจารย์แก้วไปเยี่ยมญาติพี่น้อง ณ บางขุนพรหมต่อไป
    ฝ่ายพระอาจารย์แก้ว จึงจัดห้องหับให้สามเณรอยู่บนหมู่คณะวัดบางลำพูบนวันนั้นมา เวลาเช้าก็ลุกขึ้นบิณฑบาตร และสำรับกับข้าวของฉันในคณะอาจารย์แก้วนั้นอุดมล้นเหลือไม่บกพร่อง ทั้งบารมีศีลและธรรมที่สามเณรโตประพฤติดี ก็บันดาลให้มีผู้ขึ้นถวายเช้าและเพลและที่ปวารณาก็กลายเป็นโภชนะสับบายของโยคะบุคคลทุกเวลา
    ฝ่ายพระอาจารย์แก้วเมื่อเห็นเวลาฤกษ์ดีแล้ว จึงได้นำสามเณรโตไปฝากพระโหราธิบดี, พระวิเชียร กรมราชบัณฑิต ให้ช่วยแนะนำสั่งสอนสามเณรให้มีความรู้ดีในคัมภีร์ พระปริยัติธรรมทั้ง ๓ ปิฎก พระโหราธิบดี, พระวิเชียรก็รับและสอนตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
    ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk-home-hist-index-page.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...