ปัญญาทางโลก กับ ปัญญาทางธรรม ในพุทธศาสนาต่างกันอย่างไร

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย เทพออระฤทธิ์, 25 มิถุนายน 2012.

  1. เทพออระฤทธิ์

    เทพออระฤทธิ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 กุมภาพันธ์ 2008
    โพสต์:
    4,573
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +22,049
    [​IMG]



    ปัญญาทางโลก กับ ปัญญาทางธรรม

    ในพุทธศาสนาต่างกันอย่างไร


    ปัญญาทางโลก ไม่มีศีลเป็นตัวคุม จึงเป็นปัญญาแบบมือใครยาว สาวได้สาวเอา หรือปัญญาแบบตัวใครตัวมัน ไม่ต้องคำนึง หรือนึกถึงศีลธรรม แบบคนฉลาดที่ขาดศีลธรรม เอาเปรียบคนที่โง่กว่าตน จึงเป็นการกระทำที่เบียดเบียนผู้อื่นอยู่เสมอ ทำให้โลกวุ่นวาย มีปัญหาอยู่เสมอ ส่วนปัญญาทางธรรมในพระพุทธศาสนามีข้อบังคับ หรือข้อบ่งชี้ชัดเจนว่าจะต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากสมาธิ อันมีศีลเป็นเครื่องควบคุมจึงจะเป็นสัมมาปัญญา หรือปัญญาที่ถูกต้องทางพุทธ หรือจะพูดว่าปัญญาทางโลกเป็นเพียงแค่สัญญา หรือความจำก็ได้

    คำสอนของพระองค์ที่รวบรวมไว้มีอยู่ ๘๔,๐๐๐ บท (วิธี) แยกเป็นหมวดใหญ่ ๆ ๓ หมวด คือ

    ๑. กล่าวถึงพระวินัย หรือกฎข้อบังคับต่าง ๆ ๒๑,๐๐๐ บท ซึ่งพระองค์ก็เริ่มต้นด้วยศีล

    ๒. กล่าวถึงพระสูตรต่าง ๆ ๒๑,๐๐๐ พระสูตร ซึ่งพระองค์ก็เริ่มต้นด้วยศีล

    ๓. กล่าวถึงพระอภิธรรมต่าง ๆ ๔๒,๐๐๐ บท ซึ่งพระองค์ก็เริ่มต้นด้วยศีล

    ฉะนั้น ทางพุทธศาสนา จึงยกเอาศีลเป็นแม่ของพระธรรม หรือเป็นมารดาของพุทธศาสนา

    ดังนั้น หากใครจะเอาดี รู้ดี เข้าใจดี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทางพุทธศาสนาแล้ว ก็ต้องเริ่มต้นจากการรักษาศีล มีศีลคุมใจไว้ก่อน เป็นอันดับแรก เพื่อกันไม่ให้มันคิดชั่ว-พูดชั่วและทำชั่ว เปรียบเหมือนจับเสือ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ดุร้าย-ไว้ใจอะไรไม่ได้ หากจะฝึกมัน อบรมมันให้เชื่อง ก็จำเป็นต้องจับมันใส่กรงให้ได้ก่อน กันมันออกไปอาละวาดทำร้ายผู้อื่นเขา เมื่อจับเสือใส่กรงได้ แต่เสือไม่ตาย ยังดุร้ายอยู่ก็ตาม แต่ก็หมดสิทธิ์ที่จะออกไปทำร้ายผู้อื่นเขา ใจคนที่ยังไม่ได้อบรมก็เหมือนกัน ต้องคุมไว้ด้วยศีล แม้จะคิดชั่ว โดยเจตนา หรือไม่เจตนา (เผลอ) ก็ตาม มันก็ชั่วอยู่แค่ความคิด แต่ไม่ยอมให้ความชั่วล้นออกไปนอกใจ ไหลไปสู่วาจาชั่ว และทำชั่วทางกายได้การปฏิบัติเขาทำกันเป็นขั้นเป็นตอนแบบนี้ เมื่อสามารถควบคุมกาย และวาจาได้ดีแล้วอาการเผลอใจที่คิดชั่ว ก็จะน้อยลงๆตามลำดับ จนที่สุดอาการเผลอก็ไม่มี หรือมีก็ดับอารมณ์นั้นๆได้ไม่ยาก ดับได้โดยฉับพลัน ที่เขาใช้ศัพท์ว่า เกิด-ดับๆๆๆ เกิดอะไรก็เกิดอารมณ์ชั่วที่ใจนั่นเอง ดับอะไร ก็ดับอารมณ์ชั่วของตนนั่นเอง เกิดที่ไหนก็เกิดที่ใจเรา ไม่ใช่เกิดที่ใจผู้อื่น เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้เราดับที่ใจของเราเช่นกัน ห้ามไม่ให้ไปดับที่ใจผู้อื่นเขา หรือเกิดที่ไหนให้ดับที่นั่น เกิดที่ใจเรา ก็ดับที่ใจของเรา พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างนี้ แต่พวกที่ยังไม่เข้าใจ แต่พยายามสอนชาวบ้านหรือผู้อื่น เขาได้ดับไฟ ที่อยู่ภายนอกตน หรือแก้ไขปัญหาที่ผู้อื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับพระพุทธเจ้าสอน เขาเหล่านั้น จึงทำไม่สำเร็จ เหตุผลก็เพราะเขาค้านพระพุทธเจ้า เดินสวนทางกับพระองค์ ยิ่งทำจึงยิ่งยุ่ง ยิ่งมีปัญหา เมื่อไม่มีผลเขาก็โทษชาวบ้าน-โทษผู้อื่นว่าเลว, ไม่ดี, โง่, พูดไม่รู้เรื่องแต่โดยธรรมแล้วท่านลองคิดดูดี ๆ ท่านก็จะพบความจริงเองว่า ใครเป็นคนโง่กันแน่

    ฉะนั้น การดูทีวี-การฟังวิทยุ-การอ่านหนังสือธรรมะ จึงมีผลได้ ๒ อย่าง คือ

    ๑. ได้ประโยชน์-ได้ความสุข-ได้พระธรรม หรือได้ขนมหวานไปบริโภค ถ้าผู้แสดง, ผู้พูด, ผู้เขียนรู้จักพระธรรมตามความเป็นจริง หรือเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือมีความคิดเห็นตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้สอนไว้

    ๒. ไม่ได้ประโยชน์-ได้แต่ความทุกข์-ได้แต่ธรรมที่เป็นอกุศลหรือของปลอม หรือได้ยาพิษไปบริโภค เพิ่มทุกข์เพิ่มโทษให้กับตน ทุกครั้งที่ดู-ที่ฟัง-ที่อ่าน เพราะเขาแสดงแต่สิ่งที่ไร้สาระ ให้ยาพิษแก่ผู้ดู-ผู้ฟัง-ผู้อ่าน ตลอดเวลา เนื่องจากเขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นตรงข้าม กับที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ และยังค้านคำสอนของพระองค์ด้วย โดยใช้คำพูดที่เต็มไปด้วยโวหาร ใช้สำนวน-ใช้คารม-ฝีปากกล้า-ขาดความละอาย น้อมใจให้ผู้ดู-ผู้ฟัง-ผู้อ่านคล้อยตามเขา เพราะเขารู้ดีว่าในโลกนี้ มีคนโง่มากกว่าคนฉลาด ต้นเหตุก็เพราะเขาคิดผิด หลงผิด หรือเป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงยังผลให้ความชั่ว ความหลงผิดอีก ๗ อย่าง เกิดขึ้นกับใจของเขาคือ มีความดำริไปในทางที่ผิด มีวาจาที่ผิด มีการงานหรือแนะนำให้ผู้อื่นกระทำในทางที่ผิด หาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด ทำความเพียรไปในทางที่ผิด มีสติระลึกแต่สิ่งที่ผิดและจิตเขาก็ตั้งมั่น-ยึดมั่นอยู่กับสิ่งที่ผิด เพราะหลงผิดตั้งแต่ต้นว่าเขาทำถูก

    หมายเหตุ:

    ที่ว่าผิดนั้นหมายความว่า ผิดไปจากที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ เพราะโดยปกตินั้น พวกเราทุกคนที่เกิดมานี้เป็นคนโง่ ยังไม่หมดโง่ จึงต้องมาเกิดอยู่ ตราบใดที่เรายังไม่หมดโง่ เราก็ยังต้องเวียนมาเกิดอยู่อย่างนี้ เพื่อพิสูจน์ความโง่ของตน จนกว่าจะหมดโง่ สันดานของคนโง่นั้น ๑๐๐% ย่อมต้องอวดดี อวดฉลาดอยู่เป็นธรรมดา เพราะใจเรายังตกอยู่ในอำนาจของกิเลส จึงถูกกิเลสบังคับให้คิด ให้พูด ให้ทำตามคำสั่งของมัน พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญบารมีมานานแสนนาน จนถึงชาติสุดท้าย เมื่อบารมีเต็มแล้ว จึงได้มาเกิดเป็นชาติสุดท้าย เพื่อพิสูจน์ความโง่ เป็นครั้งสุดท้าย พระองค์ได้พิสูจน์ โดยการปฏิบัติด้วยพระองค์เองอยู่ ๖ ปี จึงได้พบทางที่จะแก้ไขใจตนเองให้หมดโง่ หายโง่ก่อนผู้อื่นทุก ๆ คนในโลก เมื่อพบวิธีแก้โง่ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงได้รวบรวมวิธีแก้โง่ หรือพระธรรม หรือโมกขธรรม หรือธรรมปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ ความพ้นทุกข์ (พ้นโง่) แล้วได้พิสูจน์พระธรรมคำสอนของพระองค์ ซึ่งแสดงไว้ในปฐมเทศนา โดยสอนท่านปัญจวัคคีย์ (ฤๅษีทั้ง ๕) ให้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าได้ (ให้หายโง่ได้) เมื่อพิสูจน์ได้แล้ว จึงได้ประกาศพระศาสนาของพระองค์ในวันมาฆบูชาทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ (ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น หรือหายโง่) ซึ่งจัดเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา มีความย่อ ๆ จำง่าย ๆ แค่ ๓ ข้อ คือ

    ๑. จงละความชั่วทั้งหมด (แม้ความชั่วในอดีตก็จงอย่านำมาคิด เพราะจะทำให้จิตเศร้าหมอง)

    ๒. จงกระทำแต่ความดี (อะไรที่เป็นความดี สิ่งนั้นเป็นบุญ คือต้องไม่ขัดต่อศีลธรรม ความดีหรือชั่ว บุญหรือบาป อยู่ที่ความคิดของตนเองทั้งสิ้น)

    ๓. จงทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ (เพื่อให้พ้นจากอำนาจของกิเลส)

    หรือจำสั้นๆว่า ละชั่ว-ทำดี-ทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ แค่นี้ก็พอ

    ขอชี้แจงเพิ่มเติมในการปฏิบัติ :

    พระองค์ทรงเน้นหัวใจของการปฏิบัติในคำสอนของพระองค์ก็คืออริยมรรค ๘ เพราะใน ๓ เดือนสุดท้ายที่พระองค์จะปรินิพพาน (อายุครบ ๘๐) พระองค์ก็ปลงอายุสังขารของพระองค์ในวันมาฆบูชา มีความว่านับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปอีก ๓ เดือนข้างหน้า (วันเพ็ญเดือนหก หรือวันวิสาขบูชา) พระองค์จะเข้าสู่ปรินิพพาน (ตายหรือดับสังขาร) ใน ๓ เดือนสุดท้ายนี้ พระองค์หยุดสอน หยุดแนะนำเรื่องวินัย-พระสูตร และพระอภิธรรม คงสอนแต่เพียงศีล-สมาธิ-ปัญญา ๓ ข้อนี้เท่านั้น (ซึ่งย่อมาจากอริยมรรค ๘ นั่นเอง) ซึ่งหากพิจารณาแล้ว ก็เหมือนกับปฏิบัติบูชา ซึ่งพระองค์ทรงต้องการให้พวกชาวบ้าน (ฆราวาส) ปฏิบัติกันมี ๓ ข้อเช่นกัน คือทาน-ศีล-ภาวนา ตัวภาวนาแยกออกเป็น ๒ ส่วนคือ สมถะภาวนา ซึ่งก็คือสมาธินั่นเอง และวิปัสสนาภาวนา ก็คือตัวปัญญานั่นเอง

    ข้อพิจารณา :

    เมื่อเราเอาหัวใจพระพุทธศาสนา ๓ ข้อ คือจงละชั่ว-จงทำดี-จงทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ กับหัวใจในการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา ๓ ข้อ คือศีล-สมาธิ-ปัญญา (อริยมรรค ๘) หรือปฏิบัติบูชา ๓ ข้อ คือ ทาน ศีล ภาวนา มาพิจารณาโดยธรรม เราก็จะเห็นได้ด้วยปัญญาชัดว่า ธรรมทั้งหมดนี้เข้ากันได้อย่างเหมาะสม

    ๑. จงละความชั่วทั้งหมด ในการปฏิบัติฝ่ายสมมุติสงฆ์ ก็คือ ต้องมีศีล ฝ่ายฆราวาส ก็ต้องมีทานกับศีล ถ้าเราไปหาพระที่ดีทุกองค์ ท่านจะให้เรารับศีล มีศีลก่อนทุกครั้ง ก่อนจะเริ่มปฏิบัติ จะเริ่มพิธีอะไรก็ตามทางพุทธศาสนาแล้ว พระที่ดีท่านจะต้องเริ่มด้วยการ ให้เราทำจิตใจเราให้นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระอริยสงฆ์ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงให้เรารับศีล ให้เราตั้งใจตั้งเจตนา ของเราในปัจจุบันนั้นว่า ข้าพเจ้าขอตั้งเจตนาที่จะงดเว้นที่จะไม่กระทำความชั่ว ๕ ประการ หากผู้ใดไม่เข้าใจพิธีทางศาสนาก็จะคุยกัน ไม่สนใจที่จะน้อมจิตใจให้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ และตั้งเจตนาที่จะงดเว้นไม้กระทำชั่ว ๕ ประการ (รับศีล ๕) หากใครเข้าใจ เขาจะได้บุญ ๑๐๐% เต็ม เพราะจริยาหรือการตั้งจิตให้เข้าถึงพระรัตนตรัยและศีล ๕ ข้อนั้น หากใจไม่ตั้งเจตนางดเว้นแล้ว มันก็ไม่เป็นศีล บุญก็ไม่เกิดกับใจ เพราะบุญ-บาป อยู่ที่ใจ เกิดที่ใจ มิได้อยู่หรือเกิดนอกใจ ผู้ใดทำตามที่ข้าพเจ้าเขียนมานี้ได้ ผู้นั้นมีโอกาสพ้นนรก ได้ตลอดกาล เพราะทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ ปฏิปทาหรือจริยาวัตรประจำจิตของผู้เป็นพระโสดาบันโดยตรง ผู้ไม่เข้าใจก็จะทิ้งประโยชน์ ที่ตนควรได้ไปเปล่า ๆ เพราะความไม่เข้าใจ (ความโง่) จัดว่าเป็นผู้ประมาทในความตาย เพราะเวลาย่อมไม่คอยใคร แต่ผมเองขอดัดแปลงว่า “ความตายและเวลาไม่คอยใคร” ในพุทธศาสนาพระองค์สอนอุบายในการปฏิบัติไว้ ๘๔,๐๐๐ วิธี เพื่อให้เหมาะสมกับจริตและนิสัยและกรรม ของแต่ละคนที่มีอยู่ แต่ละคนได้สร้างกรรม หรือการกระทำไว้ในอดีตไม่เหมือนกัน ไม่เสมอกัน พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าย่อมรู้จริต รู้นิสัย รู้กรรม ในอดีตของแต่ละคน แต่ละหมู่เหล่าได้อย่างดี และรู้วิธีว่าจะสอน จะแนะนำเขาอย่างไรจึงจะได้ผล และรู้ผลล่วงหน้าด้วยว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร และก็ได้ผลตามนั้นทุกครั้ง ทุกราย คุณธรรมพิเศษนี้จึงมีแต่เฉพาะพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีผู้ที่ไม่เข้าใจพระองค์ จึงไปคัดค้านคำสอนของพระองค์โดยตรงก็มี โดยอ้อมก็มี เช่น

    ก) สอน แนะ พูด เขียน ความว่า เทวดาไม่มี พรหมไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี นิพพานไม่มี และคนตายแล้วสูญ เป็นต้น

    ข) พระพุทธเจ้าไม่มีฤทธิ์อะไรหรอก ที่เขียนไว้ในพระไตรปิฏกนั้นเป็น ธรรมาทิฏฐาน คือ ตีความหมายเป็นธรรมว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยธรรมะของตน อันเป็นธรรมที่เกิดจากจิตของคนที่ยังมีกิเลส ตัณหา อุปาทาน และกุศลกรรม (อวิชชาหรือความโง่) ซึ่งล้วนเป็นธรรม ที่เป็นอกุศลทั้งสิ้น เพราะจิตของเขาเป็นมิจฉาทิฏฐิตั้งแต่ต้น ความคิด วาจา (คำพูด) และการกระทำของเขาจึงผิดหมด ตรงข้ามกับพระพุทธเจ้า ทั้งหมด หากใครเชื่อก็ต้องรับกรรมหรือโง่ตามเขาไปด้วย ความจริงคิดง่ายๆ เพียงตั้งคำถามกับตนเองว่า ระหว่างพระพุทธเจ้า กับผู้พูดนั้นๆ ซึ่งยังไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราควรจะเชื่อใคร หรือผู้ที่คัดค้านพระพุทธเจ้านั้นเขาก็เท่ากับคัดค้านพระธรรม ซึ่งเท่ากับเขาไม่เคารพพระพุทธเจ้า เขาไม่ได้เคารพพระพุทธเจ้า เท่ากับเขาเป็นคนนอกศาสนาพุทธโดยแท้ เพราะสิ่งที่เรากำลังพูด กำลังปฏิบัติกันนี้ เราพูดกันถึงพุทธศาสนา (คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า) จึงต้องยึดเอาคำสอนคำพูดของพระองค์เป็นหลักประพฤติ และปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมิฉะนั้นผลหรือมรรคผลย่อมไม่เกิด

    ขอสรุปว่า:

    ทานเป็นสิ่งที่เราทำได้ง่ายที่สุด เพราะใช้กำลังใจ หรือบารมีเล็กน้อยก็ทำทานได้ ทานมีผลให้เราตัดความโลภจากใจของเรา (ละความชั่ว) ได้โดยตรง ศีลใช้กำลังใจสูงขึ้นกว่าทาน แต่หากเข้าใจหรือมีปัญญา ก็สามารถทำได้ไม่ยาก โดยตั้งใจที่จะงดเว้นไม่กระทำความชั่วในขณะนั้น ในขณะที่พระท่านให้ศีล เราจะชั่วหรือไม่มีศีลมาก่อนในอดีต ก็เป็นเรื่องของอดีต แต่พระองค์ให้ตั้งใจไว้ในปัจจุบันธรรม ตั้งใจจะมีศีลครบ ๕ ข้อในปัจจุบันในขณะนั้นผลของบุญเกิดทันทีที่เราตั้งเจตนาที่ใจเรา เราเอาบุญกันเต็ม ๑๐๐% ในขณะนั้น ส่วนในอนาคตจงอย่าไปตามนึกถึง เพราะเหตุการณ์นั้นยังไม่มาถึง เพียงแค่มีศีลบริสุทธิ์ชั่วขณะหนึ่งเพียง ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๓๐ นาที ก็ต้องนับว่าเป็นบุญใหญ่แล้ว และอย่าลืมว่า บุญจากใจเราน้อมถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ อีกในขณะนั้น ก็เท่ากับบุญของพระโสดาบันหรือใกล้เคียง (ในชั่วขณะนั้น)

    ประการสุดท้าย เรารู้ได้อย่างไรว่า เมื่อเราทำบุญเสร็จแล้วเราจะไม่ตาย เพราะความตายไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมายบอกเราให้รู้ล่วงหน้า เราอาจถูกงูกัดตายเมื่อเดินไปยังไม่พ้นวัด อาจหัวใจวายตาย อาจมีอุบัติเหตุตาย คือตายได้ทุกเวลา แต่หากตายในขณะที่จิตเราบริสุทธิ์ ใกล้เคียงกับพระโสดาบันหรือเท่ากับพระโสดาบัน เราก็ไม่มีทางตกนรก ผลใหญ่อยู่ที่จุดนี้ แต่หากมันไม่ตายก็ดี เราจะได้บำเพ็ญบารมีต่อไป จนกว่ามันจะหายโง่ พอออกจากวัดศีลมันจะพร่องไปก็ไม่เป็นไร เวลาเราไปไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนก็ดี ตอนตื่นเช้าก็ดี ก็ใช้อุบายอย่างนี้แหละ คือ อย่าลืม พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ และเอาจิตตั้งเจตนาที่จะงดเว้นไม่กระทำความชั่ว ๕ อย่าง โดยไม่จำเป็นต้องอาราธนาศีล แค่จิตตั้งเจตนาต่อหน้าพระ หรือต่อพระในจิต หรือนิมิตพระในจิตก็เป็นศีลทันที (การรับศีล หรือสมาทานศีลสัก ๑๐๐ ครั้ง, ๑,๐๐๐ ครั้ง หากจิตไม่มีเจตนาที่จะงดเว้นตามแล้ว รับศีลกี่ครั้งก็ไม่เป็นศีล แต่การตั้งเจตนาที่ใจเราที่พระในใจเรา ตั้งใจที่ไหนเมื่อใดก็เป็นศีลทันที)

    ผู้ฉลาดมีปัญญา เวลาไหว้พระที่บ้านทุกครั้ง เขาก็น้อมเอาพระรัตนตรัยเข้าไปไว้ในใจเขา น้อมเอาพระภายนอก ให้เข้าไปเป็นพระภายใน ทำศีลให้บริสุทธิ์ในช่วงนั้น การกระทำของเขาหากทำบ่อยๆ ทุกวัน จิตเขาก็จะชินต่อความดี ชินต่อจริยาของพระโสดาบัน หรือจิตเป็นฌาน (ฌาน ก็คือชินนั่นเอง) ในที่สุดจิตดวงนั้นเลย กลายเป็นพระโสดาบันไปเองโดยอัตโนมัติ ผลใหญ่รางวัลใหญ่ อยู่ที่ตรงนี้ (ถ้าเข้าใจ) ศีลเป็นตัวระงับความโกรธได้ในเบื้องต้น และสุดท้ายก็จะตัดความโกรธได้ในบั้นปลาย

    ๒. จงทำแต่ความดี ข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ พระองค์ตรัสไว้ชัดเจนความว่า “ธรรมหรือกรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้ามีใจประเสริฐสุด (มีใจเป็นใหญ่) ทุกสิ่งสำเร็จได้ที่ใจ” ทุกอย่างอยู่ที่เจตนาของใจทั้งสิ้น หรือบุญ-บาป ดี ชั่ว อยู่ที่ความคิดของเราเองทั้งสิ้น พระธรรมหรือธรรมะเป็นของเย็น เป็นของสงบ หากจิตไม่สงบพระธรรมก็ไม่เกิดหรือไม่มีทางเห็นธรรม พระองค์จึงอบรมพวกเราให้มีสติ เพราะหากขาดสติ จิตใจก็ไม่สงบ สมาธิก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่มี

    ดังนั้น สติ สมาธิ ปัญญา จึงแยกจากกันไม่ได้ ขาดตัวต้น ๒ ตัวท้ายก็ไม่มี คำสอนของพระองค์ทั้งหมดจึงเป็นอุบายให้เรามีสติก่อนทั้งสิ้น และเมื่อรวมคำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ บทแล้ว พระองค์ก็ทรงย่อเหลือประโยคเดียวคือ “จงอย่าประมาท” หรือ “จงมีสติตลอดเวลานั่นเอง” รายละเอียดจึงของดไว้ สรุปว่า ข้อนี้ในทางปฏิบัติก็คือ

    ก) ให้เรามีสติตลอดเวลา หรือมีสมาธินั่นเอง เพราะถ้าจิตดีจิตเป็นสมาธิอยู่ ความชั่วมันก็เกิดไม่ได้

    ข) เมื่อเราละความชั่วของเราได้ ๑ ครั้ง เท่ากับเราทำความดี ๑ ครั้ง เช่นกัน ถ้าละชั่วได้ ๑๐๐ ครั้ง ก็เท่ากับทำดี ๑๐๐ หนเช่นกัน

    ๓. จงทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ เพราะพระองค์ทราบดีว่าสมาธิหรือฌาน หรือเจริญแต่สตินั้นยังไม่สามารถจะฆ่ากิเลสให้ตายสนิทได้ จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล คือต้องรู้ต้นเหตุของมันเสียก่อน แล้วแก้ที่เหตุ หรือดับเหตุนั้นให้ได้ จิตจึงจะผ่องใสอยู่เสมอ ตัวสติ สมาธิเป็นแค่การยับยั้งกิเลสไว้ชั่วคราว ต้องใช้ปัญญาหรือวิปัสสนา หรือวิปัสสนาภาวนา เป็นตัวตัดจึงจะทำให้กิเลสตายได้ และพระองค์เป็นองค์แรกที่พบอริยสัจสี่ ซึ่งพระองค์ประกาศว่า เป็นปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนา และมีแต่ในเฉพาะศาสนาของพระองค์เท่านั้น

    เราจะเห็นได้ชัดว่า ศาสนาทุกศาสนาในโลก มีแนวการสอนคล้ายกันหมด คือ ให้ละความชั่ว ให้กระทำแต่ความดี แต่อุบายต่างกัน และมีทิฐิหรือความเห็นไม่เหมือนกัน แต่ในพุทธศาสนามีข้อที่ ๓ คือ ให้ทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ เพื่อให้พ้นจากอำนาจของกิเลส หมายความว่าใช้หลักแค่ ๒ ข้อ ยังฆ่ากิเลสไม่ได้ ได้แค่ระงับไว้เท่านั้นเอง ระงับชั่วคราวจึงยังไม่พ้นโง่ (อวิชชา)

    รายละเอียดแห่งการเจริญปัญญามีอยู่มากของดไว้ จึงขอสรุปว่า

    ๑. จงละความชั่วทั้งหมด ด้วยการให้ทาน รักษาศีล

    ๒. จงกระทำแต่ความดี ด้วยการเจริญสติ สมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา

    ๓. จงทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ ด้วยการเจริญภาวนา ทั้งสมถะและวิปัสสนาภาวนา ซึ่งต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดปัญญา ให้เห็นอริยสัจตามความเป็นจริง

    และในการปฏิบัติกันจริงๆแล้ว เราปฏิบัติข้อ ๑ ข้อเดียว คือละความชั่ว ก็เท่ากับการกระทำความดีนั่นเอง เมื่อเราทำความดีอยู่เสมอ เพราะไม่ยอมทำชั่ว หรือโดยการละความชั่วตลอดเวลา ทำไปนานๆจิตก็ชินแต่ความดี จิตก็เลยผ่องใส หรือจะพูดว่า การละความชั่วเป็นมรรค ส่วนความดีและจิตผ่องใสนั้นเป็นผล ใครไม่ละความชั่วที่ตน ผล ๒ ข้อหลังก็ไม่เกิด เหมือนกับคำสอนของพระองค์ทั้งหมดนั้น คือมรรค ส่วนการกระทำการปฏิบัติของเรานั้นเป็นตัวนำมาให้เกิดผล ถ้าเกิดผลเต็มที่เราก็พ้นทุกข์ พ้นโง่ พ้นอวิชชา พ้นวัฏฏะ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก คือนิพพานนั่นเอง ไม่ได้สูญไปไหน หรือจะว่าสูญก็ได้ คือสูญจากความชั่ว ความเลวทั้งหมด แต่ความดียังอยู่ครบบริบูรณ์ ทุกประการ เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่มีมรรคอยู่ในใจของตน แล้วปฏิบัติมรรคอย่างจริงจัง ผู้นั้นย่อมเกิดผลและมีนิพพานเป็นที่สุด หรือมรรคผลนิพพานเป็นของคู่กัน แยกกันไม่ออกเหมือนกับ ศีล สมาธิ ปัญญา, สติ สมาธิ ปัญญา ของจริงทางพุทธศาสนา ก็มีโดยย่อแค่นี้

    ผมขออธิษฐานจิตต่อพระพุทธองค์ว่า ในปัจจุบันนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้มอบกายถวายชีวิตให้แก่พระพุทธองค์ และพระพุทธศาสนา ของพระองค์แล้ว ๑๐๐% โดยสัจจะวาจาของข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านบทความนี้ (แล้วนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง) ด้วยกันทุกท่านเทอญ

    หมายเหตุส่งท้าย:

    ท่านผู้ใดที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว นำไปปฏิบัติตามให้เกิดผลท่านผู้นั้นก็มีสิทธิ์ที่จะได้ขึ้นรถไฟเที่ยวสุดท้าย ๑๐๐% เต็มตามคำนำในเล่มที่ ๕

    ๐ ศีล ๓ ระดับ

    ขั้น ๑ เอาศีลคุมกายให้เรียบร้อย

    ขั้น ๒ เอาศีลคุมวาจาให้เรียบร้อย

    ขั้น ๓ เอาศีลคุมใจให้เรียบร้อย ก็คือ กรรมบถ ๑๐ นั่นเอง

    ๐ การวางอารมณ์ ราคะ และปฏิฆะ ไม่ได้อย่างสนิทใจเพราะบกพร่องใน

    กายคตานุสสติ และพรหมวิหาร ๔ (กายคตาตัดราคะ, พรหมวิหาร ๔ ตัด ปฏิฆะ)



    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

    ที่มา Frameset-3

    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 มิถุนายน 2012
  2. khomeraya

    khomeraya เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    1,833
    ค่าพลัง:
    +21,369
    ปัญญาทางโลก ...รู้เพื่อลืม
    ปัญญาทางธรรม...รู้เพื่อหลุด
     
  3. baimaingam

    baimaingam เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    634
    ค่าพลัง:
    +880
    ขออนุโมทนา สาธุครับ...
    ...หันหลังคืนฝั่ง พ้นจากทะเลทุกข์...
    ...ทุกสิ่งอยู่ที่จิต ทุกสิ่งล้วนว่างเปล่า...
    ...ปลูกพืชฉันใด ย่อมได้ผลฉันนั้น...
     
  4. Limtied

    Limtied เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    822
    ค่าพลัง:
    +3,662
    ปัญญาทางโลก = "ไม่พอ"

    ปัญญาทางธรรม = "พอ"
     
  5. แจ๊กซ์69

    แจ๊กซ์69 ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    3,142
    ค่าพลัง:
    +1,962
    ปัญญาทางโลก เพื่อเห็นทุกข์

    ปัญญาทางธรรม เพื่อพ้นทุกข์
     
  6. เปาชุนไหล

    เปาชุนไหล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กุมภาพันธ์ 2012
    โพสต์:
    435
    ค่าพลัง:
    +2,240
    บุคคลที่ถือศีล5 ร่วมกับ กรรมบถ10
    หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านว่า มีอานิสงส์มากสุดประมาณ

    อนุโมทนาสาธุกับ ธรรมทาน ครับ
     
  7. rwoot

    rwoot เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2008
    โพสต์:
    336
    ค่าพลัง:
    +191
    ปัญญาทางโลก...เลี้ยงกิเลส

    ปัญญาทางธรรม...ตัดกิเลส.....Rwoot.
     

แชร์หน้านี้

Loading...