ทำความรู้จักกับ “ สติปัฏฐาน ๔ ”

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย Nivarna, 19 เมษายน 2012.

  1. Nivarna

    Nivarna เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    41
    ค่าพลัง:
    +138
    ทำความรู้จักกับ “ สติปัฏฐาน ๔ ”
    *********
    การเจริญสติปัฏฐานนี้ เป็นวิธีปฏิบัติธรรมที่นิยมกันมา และยกย่องนับถือกันอย่างสูง ถือว่ามีพร้อมทั้งสมถะ และวิปัสสนาในตัว ผู้ปฏิบัติอาจเจริญสมถะจนได้ฌาน อย่างที่จะกล่าวถึงในเรื่องสัมมาสมาธิ อันเป็นองค์มรรคข้อที่ ๘ ก่อน แล้วจึงเจริญวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐานไปจนถึงที่สุดก็ได้ หรือจะอาศัยสมาธิเพียงขั้นต้นๆ เท่าที่จำเป็นมาประกอบ เจริญแต่วิปัสสนาฝ่ายเดียวตามแนวสติปัฏฐานนี้ ไปจนถึงที่สุดก็ได้
    วิปัสสนา เป็นหลักปฏิบัติสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ได้ยินได้ฟังกันมาก พร้อมกับที่มีความเข้าใจไขว้เขวอยู่มากเช่นเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจตามสมควร จากการศึกษาคร่าวๆ ในเรื่องสติปัฏฐานต่อไปนี้ จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในความหมายของวิปัสสนาดีขึ้น ทั้งในแง่สาระสำคัญ และมีประโยชน์เพียงใด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ ไม่ได้มุ่งอธิบายเรื่องวิปัสสนาโดยตรง คงมุ่งเพียงให้เข้าใจสาระสำคัญของสติปัฏฐานเท่านั้น
    สติปัฏฐาน คือ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ, ข้อปฏิบัติมีสติเป็นประธาน, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง, การมีสติกำกับดูสิ่งต่าง ๆ และความเป็นไปทั้งหลาย โดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย ที่ทำให้มองเห็นเพี้ยนไปตามอำนาจกิเลส อย่างที่กล่าวถึงในพุทธพจน์ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นมรรคาเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นโสกะและปริเทวะ เพื่อความอัสดงแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุโลกุตตรมรรค เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน นี้คือสติปัฏฐาน ๔ (เอกายนมรรค หมายถึง ทางอันแรก คือ ข้อปฏิบัติอันประเสริฐที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความบริสุทธิ์หมดจด หมดความทุกข์ และบรรลุนิพพาน), ได้แก่

    ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันกายและเรื่องทางกาย, สติพิจารณาภายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

    ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา, สติตามดูเวทนา คือ ความรู้สึกสุขทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์เป็นอารมณ์โดยรู้เท่าทันว่า เวทนานี้ ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

    ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิตหรือสภาพและอาการของจิต, สติพิจารณาใจที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่าใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เรา เขา กำหนดรู้จิตตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี ราคะ โทสะ โมหะ จิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ

    ๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม, การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม, สติพิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลที่บังเกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่า ธรรมนี้ก็สักว่าธรรมไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

    ธรรมอันเป็นอุปการะที่จะขาดเสียไม่ได้ในการปฏิบัติ คือ
    ๑. อาตาปี ความเพียร
    ๒. สัมปชาโน ความรู้ตัว
    ๓. สติมา มีสติ

    อานิสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔
    อย่างที่กล่าวถึงในพุทธพจน์ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ ปี พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี (๗ ปีจงยกไว้ หมายถึงอย่าว่าแต่จะเจริญสติปัฏฐาน ๗ ปีเลย แม้เจริญเพียง ๖ ปี ... ๕ ปี ... ๗ วัน ก็สามารถบรรลุอรหัตตผล หรือ อนาคามิผลได้)
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • buddha003~1.jpg
      buddha003~1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      20.9 KB
      เปิดดู:
      111
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 20 เมษายน 2012

แชร์หน้านี้

Loading...