ปรินิพพาน

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 20 กุมภาพันธ์ 2012.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    [๑๐๒] ดูกรอานนท์ สมัยหนึ่ง เราแรกตรัสรู้ พักอยู่ที่ต้นไม้ อชปาลนิโครธแทบฝั่ง
    แม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้น มารผู้มีบาป ได้เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหา
    แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นมาร ผู้มีบาปยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่
    พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้
    เถิด บัดนี้เป็นเวลา ปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ตอบว่า ดูกร
    มาร ผู้มีบาป ภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่ แกล้วกล้า ไม่
    เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม
    เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่าย
    ไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรับปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้
    เพียงใด เราจักยังไม่ ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ
    ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด เราจัก
    ยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ
    ดูกรมารผู้มีบาป อุบาสกผู้เป็นสาวกของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด เราจัก
    ยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ
    ดูกรมารผู้มีบาป อุบาสิกาผู้เป็นสาวิกาของเรา จักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด เรา
    จักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ
    ดูกรมารผู้มีบาป พรหมจรรย์ของเรานี้จักยังไม่สมบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กัน
    โดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดามนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว เพียงใด เราจักไม่ปรินิพพาน
    เพียงนั้น
    ดูกรอานนท์ วันนี้เมื่อกี้นี้เอง มารผู้มีบาปได้เข้ามาหาเราที่ปาวาลเจดีย์ ครั้นเข้ามาหา
    แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง มารผู้มีบาปครั้นยืนเรียบร้อย แล้วได้กล่าวกะ
    เราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพาน ในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจง
    ปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพาน ของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
    พระวาจานี้ไว้ว่า ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุผู้เป็นสาวกของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด ... ภิกษุณี
    ผู้เป็นสาวิกา ของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด ... อุบาสกผู้เป็นสาวกของเราจักยังไม่เฉียบ
    แหลม ... เพียงใด ... อุบาสิกาผู้เป็นสาวิกาของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ... เพียงใด ... พรหมจรรย์
    ของเรานี้จักยังไม่สมบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กัน โดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดา
    และมนุษย์ประกาศได้ดีแล้วเพียงใด เรา จักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
    ก็บัดนี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มี พระภาคสมบูรณ์แล้ว กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กันโดยมาก เป็น
    ปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานใน บัดนี้เถิด
    ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของ พระผู้มีพระภาค ฯ
    ดูกรอานนท์ เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ตอบว่า ดูกรมารผู้มีบาป ท่านจงมีความ
    ขวนขวายน้อยเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีไม่ช้า โดย ล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคต
    ก็จักปรินิพพาน ดูกรอานนท์ วันนี้เมื่อกี้นี้ ตถาคตมีสติสัมปชัญญะปลงอายุสังขารแล้ว ที่ปาวาล
    เจดีย์ ฯ
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์
    ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรง ดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อ
    ประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็น อันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์
    เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์
    เวลานี้อย่าเลย อย่าวิงวอนตถาคตเลย บัดนี้มิใช่เวลาที่จะวิงวอนตถาคต แม้ครั้งที่สอง ... แม้
    ครั้งที่สาม ... ท่านพระอานนท์ ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ พระผู้มีพระภาคจงทรง
    ดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อ ประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อ
    ความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของ
    เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
    ดูกรอานนท์ เธอเชื่อความตรัสรู้ของตถาคตหรือ ฯ
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เชื่อ ฯ
    ดูกรอานนท์ เมื่อเชื่อ ไฉนเธอจึงแค่นได้ตถาคตถึงสามครั้งเล่า ฯ
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาได้รับมา เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคว่า
    ดูกรอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน
    กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรม แล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่
    ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป ดูกรอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
    กระทำให้ เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตนั้น
    เมื่อจำนงอยู่ จะพึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป ฯ
    ดูกรอานนท์ เธอเชื่อหรือ ฯ
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เชื่อ ฯ
    ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของเธอผู้เดียว เพราะว่า เมื่อ
    ตถาคตทำนิมิตอันหยาบ ทำโอภาสอันหยาบอย่างนี้ เธอมิอาจรู้ทัน จึงมิได้วิงวอนตถาคตว่า
    ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคต จงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อประโยชน์
    ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชน เป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อ
    เกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะพึงห้ามวาจา
    เธอ เสียสองครั้งเท่านั้น ครั้นครั้งที่สาม ตถาคตพึงรับ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เรื่องนี้จึง
    เป็นความผิดพลาดของเธอผู้เดียว ฯ
    [๑๐๓] ดูกรอานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร ราชคฤห์ ณ ที่นั้น
    เราเรียกเธอมาบอกว่า ดูกรอานนท์ พระนครราชคฤห์ น่ารื่นรมย์ ภูเขาคิชฌกูฏ น่ารื่นรมย์
    อิทธิบาททั้ง ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็น
    ดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป
    หรือ เกินกว่ากัป ดูกรอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้
    เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดี แล้ว ตถาคตนั้น เมื่อ
    จำนงอยู่ จะพึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป เมื่อ ตถาคตทำนิมิตอันหยาบ โอภาสอัน
    หยาบอย่างนี้ เธอมิอาจรู้ทัน จึงมิได้วิงวอน ตถาคตว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป
    ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ ตลอดกัป เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็น
    อันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดาและมนุษย์
    ทั้งหลาย ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะพึงห้ามวาจาเธอเสียสองครั้ง เท่านั้น ครั้นครั้งที่สาม
    ตถาคตพึงรับ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เรื่องนี้ จึงเป็นความผิดพลาดของเธอผู้เดียว ฯ
    [๑๐๔] ดูกรอานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคตมนิโครธ เขตพระนคร ราชคฤห์นั้น ...
    เราอยู่ที่เหวเป็นที่ทิ้งโจร เขตพระนครราชคฤห์นั้น ... เราอยู่ที่ถ้ำ สัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภาร
    บรรพต เขตพระนครราชคฤห์นั้น ... เราอยู่ที่ กาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ เขตพระนครราชคฤห์นั้น ...
    เราอยู่ที่เงื้อมชื่อสัปปโสณฑิก ณ สีตวัน เขตพระนครราชคฤห์นั้น ... เราอยู่ที่ตโปทาราม เขต
    พระนครราชคฤห์ นั้น ... เราอยู่ที่เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์นั้น ... เราอยู่ที่
    ชีวกัมพวัน เขตพระนครราชคฤห์นั้น ... เราอยู่ที่มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขตพระนคร ราชคฤห์นั้น
    ณ ที่นั้น เราเรียกเธอมาบอกว่า ดูกรอานนท์ พระนครราชคฤห์ น่ารื่นรมย์ ภูเขาคิชฌกูฏน่า
    รื่นรมณ์ โคตมนิโครธ เหวที่ทิ้งโจร ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต กาฬศิลาข้างภูเขา
    อิสิคิลิ เงื้อมชื่อว่า สัปปโสณฑิกสีตวัน ตโปทาราม เวฬุวันกลันทกวิวาปสถาน ชีวกัมพวัน
    มัททกุจฉิมฤคทายวัน ต่างน่ารื่นรมย์ อิทธิบาททั้ง ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มาก
    แล้ว กระทำ ให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว
    ผู้นั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป ดูกรอานนท์ อิทธิบาท
    ทั้ง ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้ง
    มั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกิน
    กว่ากัป เมื่อตถาคตทำนิมิตอันหยาบ ทำโอภาสอันหยาบอย่างนี้ เธอมิอาจรู้ทัน จึงมิได้วิงวอน
    ตถาคตว่า ขอพระผู้มี พระภาคจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อ
    ประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์
    เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเธอ วิงวอนตถาคต ตถาคตจะพึง
    ห้ามวาจาเธอเสีย สองครั้งเท่านั้น ครั้นครั้งที่สาม ตถาคตพึงรับ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์
    เรื่องนี้ เป็นความผิดพลาดของเธอ ผู้เดียว ฯ
    [๑๐๕] ดูกรอานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่อุเทนเจดีย์ เขตเมืองเวสาลี นี้เอง ณ ที่นั้น
    เราเรียกเธอมาบอกว่า ดูกรอานนท์ เมืองเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ อิทธิบาททั้ง ๔
    อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่น
    แล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป
    ดูกรอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำ
    ให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้
    ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป เมื่อตถาคตกระทำนิมิต อันหยาบ ทำโอภาสอันหยาบอย่างนี้ เธอมิอาจ
    รู้ทัน จึงมิได้วิงวอนตถาคตว่า ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรง
    ดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์
    โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเธอวิงวอน
    ตถาคต ตถาคตจะพึงห้ามวาจาเธอเสียสองครั้งเท่านั้น ครั้นครั้งที่สาม ตถาคตพึงรับ เพราะฉะนั้น
    แหละ อานนท์ เรื่องนี้ เป็นความผิดพลาดของเธอ ผู้เดียว ฯ
    [๑๐๖] ดูกรอานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคตมกเจดีย์ เขตเมืองเวสาลี นี้เอง ... เราอยู่
    ที่สัตตัมพเจดีย์ เขตเมืองเวสาลีนี้เอง ... เราอยู่ที่พหุปุตตเจดีย์ เขตเมืองเวสาลีนี้เอง ... เราอยู่ที่
    สารันททเจดีย์ เขตเมืองเวสาลีนี้เอง ... วันนี้ เมื่อกี้นี้เอง เราบอกเธอที่ปาวาลเจดีย์ว่า ดูกร
    อานนท์ เมืองเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทน เจดีย์ โคตมกเจดีย์ สัตตัมพเจดีย์ พหุปุตตเจดีย์
    สารันททเจดีย์ ปาวาลเจดีย์ ต่างน่ารื่นรมย์ อิทธิบาททั้ง ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้
    มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว
    ผู้นั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป ดูกรอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔
    ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว
    อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตนั้น เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป
    เมื่อตถาคตกระทำนิมิต อันหยาบ ทำโอภาสอันหยาบอย่างนี้ เธอมิอาจรู้ทัน จึงมิได้วิงวอนตถาคต
    ว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตจงทรงดำรงอยู่ตลอดกัป เพื่อประโยชน์
    ของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดา
    และมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะพึงห้ามวาจาเธอเสียสองครั้งเท่านั้น ครั้น
    ครั้งที่สาม ตถาคตพึงรับ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ เรื่องนี้ เป็นความผิดพลาดของเธอ ผู้เดียว ฯ
    ดูกรอานนท์ เราได้บอกเธอไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก
    ความเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจ
    นี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่ง แล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนา
    ว่า ขอสิ่งนั้น อย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะจะมีได้ ก็สิ่งใดที่ตถาคตสละแล้ว คายแล้ว
    ปล่อยแล้ว ละแล้ว วางแล้ว อายุสังขารตถาคตปลงแล้ว วาจาที่ตถาคตกล่าวไว้โดยเด็ดขาดว่า
    ความ ปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จัก ปรินิพพาน
    อันตถาคตจะกลับคืนยังสิ่งนั้น เพราะเหตุแห่งชีวิต ดังนี้ มิใช่ฐานะ ที่จะมีได้ มาไปกันเถิด
    อานนท์ เราจักเข้าไปยังกุฏาคารสาลาป่ามหาวัน ท่าน พระอานนท์รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
    แล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยท่านพระอานนท์เสด็จเข้าไปยังกุฏาคารสาลาป่ามหาวัน
    ครั้นแล้ว รับสั่ง กะท่านพระอานนท์ว่า ไปเถิดอานนท์ เธอจงให้ภิกษุทุกรูปเท่าที่อาศัยเมืองเวสาลี
    อยู่ มาประชุมที่อุปัฏฐานศาลา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มี พระภาคแล้ว จึงให้
    ภิกษุทุกรูปเท่าที่อาศัยเมืองเวสาลีอยู่ มาประชุมที่อุปัฏฐานศาลา แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
    ที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
    ครั้นท่านพระอานนท์ยืน เรียบร้อยแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกัน
    แล้ว ขอ พระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ฯ
    [๑๐๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลาประทับนั่ง บนอาสนะที่
    เขาจัดถวาย ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม
    เหล่าใดที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ธรรม เหล่านั้น พวกเธอเรียนแล้ว พึงส้องเสพ พึงให้เจริญ
    พึงกระทำให้มากด้วยดี โดยประการที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืน ดำรงอยู่ได้นาน เพื่อประโยชน์
    ของชน เป็นอันมาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
    ก็ธรรมที่เราแสดงแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ... เหล่านั้นเป็นไฉน คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
    อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โภชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แลที่เรา แสดงแล้ว
    ด้วยปัญญาอันยิ่ง ... ฯ
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอ
    เตือนพวกเธอ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยัง ความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม
    ความปรินิพพานแห่งตถาคต จักมีในไม่ช้า โดย ล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ฯ
    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ ตรัสพระคาถา
    ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
    [๑๐๘] คนเหล่าใด ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลทั้งบัณฑิต ทั้งมั่งมี ทั้งขัดสน
    ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินที่นายช่าง หม้อกระทำแล้ว ทั้ง
    เล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ทุกชนิด มีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิต
    ของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ฯ
    พระศาสดาได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว
    ชีวิตของเราเป็นของน้อย เราจักละ พวกเธอไป เรากระทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว
    ดูกรภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล อันดีเถิด จงเป็น
    ผู้ มีความดำริตั้งมั่นดีแล้ว ตามรักษาจิตของตนเถิด ผู้ใด จักเป็น
    ผู้ ไม่ประมาท อยู่ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักละชาติสงสาร แล้วกระทำที่สุด
    แห่งทุกข์ได้ ดังนี้ ฯ
    บภาณวารที่สาม ฯ
    [๑๐๙] ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตร และจีวร เสด็จ
    เข้าไปยังเมืองเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในเมือง เวสาลีแล้ว เวลาปัจฉาภัต เสด็จ
    กลับจากบิณฑบาต ทอดพระเนตรเมืองเวสาลี เป็นนาคาวโลก แล้วรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า
    ดูกรอานนท์ การเห็นเมืองเวสาลี ของตถาคตครั้งนี้ จักเป็นครั้งสุดท้าย มาไปกันเถิดอานนท์
    เราจักไปยังบ้าน ภัณฑคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น
    พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงบ้านภัณฑคามแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค
    ประทับอยู่ ณ บ้านภัณฑคามนั้น ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่ง กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
    ทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้ง แทงตลอดธรรม ๔ ประการ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้น
    กาลนานอย่างนี้ ๔ ประการเป็นไฉน เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดศีลอันเป็นอริยะ เราและพวก
    เธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไป สิ้นกาลนาน เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดสมาธิอันเป็นอริยะ ... ปัญญาอัน
    เป็นอริยะ ... วิมุตติอันเป็นอริยะ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้ ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดศีลอันเป็นอริยะสมาธิอันเป็น อริยะ ปัญญา
    อันเป็นอริยะ วิมุตติอันเป็นอริยะแล้ว ตัณหาในภพเราถอนเสียแล้ว ตัณหาอันจะนำไปสู่ภพสิ้น
    แล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี ฯ
    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ ตรัสคาถา
    ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
    [๑๑๐] ธรรมเหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ อันยอดเยี่ยม
    อันพระโคดมผู้มียศตรัสรู้แล้ว ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกธรรมแก่
    ภิกษุทั้งหลาย เพื่อความรู้ยิ่ง พระศาสดา ผู้กระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ มีพระ
    จักษุ ปรินิพพานแล้ว ฯ
    [๑๑๑] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับ ณ บ้านภัณฑคามนั้น ทรงกระทำธรรมีกถา
    นี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา สมาธิอันศีลอบรม
    แล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญา อันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
    จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ
    [๑๑๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในบ้าน ภัณฑคามแล้ว
    ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า มาไปกันเถิดอานนท์ เรา จักไปยังบ้านหัตถีคาม อัมพคาม
    ชัมพุคาม และโภคนคร ท่านพระอานนท์ทูลรับ พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโภคนคร แล้ว ได้ยินว่า
    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ ในโภคนครนั้น ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุ
    ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง มหาประเทศ ๔ เหล่านี้ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจ
    ให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
    ดังต่อไปนี้
    [๑๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้า
    ได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอน
    ของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชมไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียน
    บทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวน ในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ถ้าสอบสวนใน
    พระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความ
    ตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอ
    พึง ทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงใน พระสูตรได้
    เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำ สั่งสอนของพระผู้มีพระภาค
    แน่นอน และภิกษุนี้จำมาถูกต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่หนึ่ง
    นี้ไว้ ฯ
    [๑๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า สงฆ์พร้อมทั้ง
    พระเถระ พร้อมทั้งปาโมกข์ อยู่ในอาวาสโน้น ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า
    นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของ พระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชมไม่พึง
    คัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวน
    ในพระสูตร เทียบเคียง ในพระวินัย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงใน
    พระสูตร ไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำสั่งสอนของ พระผู้มี
    พระภาคแน่นอน และภิกษุสงฆ์นั้นจำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้ง คำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อ
    สอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระ สูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้
    พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำสั่งสอนของ พระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุสงฆ์นั้นจำมา
    ถูกต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สองนี้ไว้ ฯ
    [๑๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุ ผู้เป็นเถระ
    มากรูปอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
    ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็น ธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำ
    สั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึง คัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว
    พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ถ้า
    เมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้
    พึงถึงความ ตกลงในข้อนี้ว่านี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระเหล่านั้น
    จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียง
    ในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลง ในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำ
    ของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระเหล่านั้น จำมาถูก ต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวก
    เธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สามนี้ไว้ ฯ
    [๑๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุ ผู้เป็นเถระ
    อยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรม ทรง วินัย ทรงมาติกา
    ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอน
    ของพระศาสดา ดังนี้ พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึง
    เรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบ สวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ถ้าเมื่อ
    สอบสวนในพระสูตร เทียบเคียง ในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึง
    ความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระนั้นจำมาผิดแล้ว
    ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลง
    ในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำของ พระผู้มี
    พระภาคแน่นอน และพระเถระนั้นจำมาถูกต้องแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหา
    ประเทศข้อที่สี่นี้ไว้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำ มหาประเทศทั้ง ๔ เหล่านี้ไว้ ฉะนี้แล ฯ
    ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ในโภคนครนั้น ทรงกระ ทำธรรมีกถา
    นี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ ปัญญา สมาธิอันศีลอบรม
    แล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิ อบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
    จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้น จากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ
    [๑๑๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในโภคนครตามความพอ พระทัยแล้ว ตรัส
    เรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจัก ไปยังเมืองปาวา ท่านพระ
    อานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
    หมู่ใหญ่ เสด็จถึงเมืองปาวาแล้ว ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อัมพวันของนายจุนทกัมมาร
    บุตร ในเมืองปาวานั้น ฯ
    ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึง เมืองปาวา
    ประทับอยู่ ณ อัมพวันของเราในเมืองปาวา จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไป
    เฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นนายจุนทกัมมารบุตรนั่ง
    เรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา
    ลำดับนั้น นายจุนทกัมมารบุตร อันพระผู้มีพระภาคให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้
    รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
    พร้อม ด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตของข้าพระองค์ เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาค ทรงรับ
    ด้วยดุษณีภาพ ฯ
    ลำดับนั้น นายจุนทกัมมารบุตรทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว ลุกจากอาสนะ
    ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ หลีกไปแล้ว นายจุนท กัมมารบุตรให้ตระเตรียม
    ของเคี้ยวของฉันอันประณีต และสุกรมัททวะ เป็นอันมาก ในนิเวศน์ของตน โดยล่วงราตรีนั้น
    ไป ให้กราบทูลกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จ
    แล้ว ฯ
    ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร พร้อมด้วยภิกษุ
    สงฆ์เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายจุนทกัมมารบุตร ประทับนั่ง บนอาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้น
    พระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วรับสั่งกะนายจุนท กัมมารบุตรว่า ดูกรนายจุนทะ ท่านจงอังคาสเรา
    ด้วยสุกรมัททวะที่ท่านตระเตรียมไว้ จงอังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉัน อย่างอื่นที่ท่าน
    ตระเตรียมไว้ นายจุนท กัมมารบุตรทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงอังคาสพระผู้มี
    พระภาค ด้วยสุกรมัททวะที่ตนตระเตรียมไว้ อังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉันอย่างอื่น ที่ตน
    ตระเตรียมไว้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะนายจุนทกัมมารบุตรว่า ดูกร นายจุนทะ ท่าน
    จงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือเสียในหลุม เรายังไม่เห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
    พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ มนุษย์ซึ่งบริโภคสุกรมัททวะนั้นแล้ว
    จะพึงให้ย่อยไปด้วยดีได้นอกจากตถาคต นาย จุนทกัมมารบุตรทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
    แล้ว จึงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือ เสียในหลุม แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว
    ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคยังนายจุนทกัมมารบุตรผู้นั่งเรียบร้อยแล้ว
    ให้เห็น แจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จ
    หลีกไป ฯ
    ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ก็เกิดอาพาธ
    อย่างร้ายแรง มีเวทนากล้าเกิดแต่การประชวรลงพระโลหิต ใกล้จะ นิพพาน ได้ยินว่า พระผู้มี
    พระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นเวทนาเหล่านั้นไว้ มิได้ทรงพรั่นพรึง ลำดับนั้น
    พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า มาไปกันเถิด อานนท์ เราจักไปยังเมือง
    กุสินารา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มี พระภาคแล้ว ฯ
    [๑๑๘] ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระปรีชาเสวย ภัตตาหาร
    ของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ทรงพระประชวรอย่าง หนัก ใกล้จะนิพพาน
    เมื่อพระศาสดาเสวยสุกรมัททวะแล้ว การประชวรอย่างหนักได้บังเกิดขึ้น
    พระผู้มีพระภาคลงพระบังคน ได้ตรัสว่าเราจะไปยังเมืองกุสินารา ดังนี้ ฯ
    (คาถาเหล่านี้ พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ในเวลาทำสังคายนา)
    [๑๑๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะจากหนทาง แล้วเสด็จเข้าไป ยังโคนไม้ต้น
    หนึ่ง รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา
    เราเหน็ดเหนื่อยนัก จักนั่ง ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ปูผ้าสังฆาฏิ
    ซ้อนกันเป็นสี่ชั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง บนอาสนะที่พระอานนท์ปูถวายแล้ว ครั้นพระผู้มี
    พระภาคประทับนั่งแล้ว จึงรับสั่ง กะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เรา
    เราระหาย จักดื่มน้ำ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า
    ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อย ถูกล้อเกวียน
    บดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำกกุธานทีนี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใสจืด เย็น ขาว มีท่าราบเรียบ
    น่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ และจักทรง สรงสนานพระองค์ แม้ครั้งที่สอง
    พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำดื่ม มาให้เรา เรา
    ระหาย จัดดื่มน้ำ แม้ครั้งที่สอง ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้
    เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อยถูกล้อเกวียนบดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำ
    กกุธานทีนี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใส จืด เย็น ขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ พระผู้มี พระภาคจักทรง
    ดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ แล้วจักทรงสรงสนานพระองค์ แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะ
    ท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ ท่านพระอานนท์
    ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แล้วถือบาตรไปยังแม่น้ำนั้น ครั้งนั้น แม่น้ำนั้นถูกล้อเกวียน
    บดแล้ว มีน้ำน้อยขุ่นมัว ไหลไปอยู่ เมื่อท่านพระอานนท์เข้าไปใกล้ก็ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว
    ไหลไปอยู่ ท่าน พระอานนท์ ได้มีความดำริว่า น่าอัศจรรย์หนอเหตุไม่เคยเป็นมาเป็น
    แล้ว ความที่ พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก แม่น้ำนี้ถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อย
    ขุ่นมัว ไหลไปอยู่ เมื่อเราเข้าไปใกล้กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ไหลไปอยู่ ฯ
    ท่านพระอานนท์ตักน้ำมาด้วยบาตรแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ครั้น
    เข้าไปเฝ้าแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เหตุไม่เคยเป็นมาเป็นแล้ว
    ความที่พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เมื่อกี้นี้ แม่น้ำนั้นถูกล้อเกวียนบดแล้ว
    มีน้ำน้อยขุ่นมัวไหลไปอยู่ เมื่อข้า พระองค์เข้าไปใกล้ กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ไหลไปแล้ว
    ขอพระผู้มีพระภาค จงเสวยน้ำเถิด ขอพระสุคตจงเสวยน้ำเถิด ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสวย
    น้ำแล้ว ฯ
    [๑๒๐] ก็สมัยนั้น โอรสเจ้ามัลละนามว่า ปุกกุสะ เป็นสาวกของ อาฬารดาบสกาลาม
    โคตร ออกจากเมืองกุสินารา เดินทางไกลไปยังเมืองปาวา ปุกกุสมัลลบุตรได้เห็นพระผู้มี
    พระภาคประทับอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง จึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว
    ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อโอรสเจ้ามัลละนามว่า ปุกกุสะ
    นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว
    พวกบรรพชิต ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ เรื่องเคยมีมาแล้ว อาฬารดาบสกาลามโคตร
    เดินทางไกล แวะออกจากหนทางนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ในที่ไม่ไกล ครั้งนั้น
    เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ได้ผ่านอาฬารดาบสกาลามโคตร ติดกันไป บุรุษคนหนึ่งซึ่งเดินทาง
    ตามหลังหมู่เกวียนมา เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร ถึงที่พัก ครั้นเข้าไปหาแล้วถามท่าน
    อาฬารดาบสกาลามโคตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มผ่านไปบ้าง
    หรือ ฯ
    อ. ท่านผู้มีอายุ เรามิได้เห็น ฯ
    บ. ก็ท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ
    เราไม่ได้ยิน ฯ
    ท่านหลับหรือ ฯ
    เรามิได้หลับ ฯ
    ท่านยังมีสัญญาอยู่หรือ ฯ
    อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
    ท่านยังมีสัญญา ตื่นอยู่ ไม่ได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่าน ติดๆ กันไป
    และไม่ได้ยินเสียง ก็ผ้าของท่านเปรอะเปื้อนไปด้วยธุลีบ้างหรือ ฯ
    อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น บุรุษนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์ หนอ
    เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พวกบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ ดังที่ท่านผู้ยังมีสัญญาตื่น
    อยู่ ไม่ได้เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่านติดๆ กันไป และไม่ได้ยินเสียง บุรุษนั้น
    ประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ในอาฬารดาบสกาลามโคตรแล้วหลีกไป ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสถามปุกกุสมัลลบุตรว่า ดูกรปุกกุสะ ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็น
    ไฉน ผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ ไม่เห็นเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ซึ่งผ่าน ติดๆ กันไป และไม่ได้ยิน
    เสียงอย่างหนึ่ง ผู้ที่ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ มิได้
    เห็น และไม่ได้ยินเสียง อย่างหนึ่ง ทั้งสอง อย่างนี้ อย่างไหนจะทำได้ยากกว่ากัน หรือให้เกิด
    ขึ้นได้ยากกว่ากัน ปุกกุสมัลล บุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียน ๕๐๐ เล่ม ๖๐๐ เล่ม
    ๗๐๐ เล่ม ๘๐๐ เล่ม ๙๐๐ เล่ม ๑,๐๐๐ เล่ม ฯลฯ ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม จักกระทำอะไรได้ ผู้ที่ยังมี สัญญา
    ตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ มิได้เห็น และไม่ได้ยินเสียง
    อย่างนี้แหละ ทำได้ยากกว่า และให้เกิดขึ้นได้ยากกว่า ฯ
    [๑๒๑] ดูกรปุกกุสะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ในโรงกระเดื่องในเมืองอาตุมา สมัยนั้น
    เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนาสองพี่น้อง และโคพลิพัทสี่ตัวถูก
    สายฟ้าฟาด ในที่ใกล้โรงกระเดื่อง ลำดับนั้น หมู่มหาชน ในเมืองอาตุมา พากันออกมา แล้ว
    เข้าไปหาชาวนาสองพี่น้องนั้น และโคพลิพัท สี่ตัว ซึ่งถูกสายฟ้าฟาด ดูกรปุกกุสะ สมัยนั้นเรา
    ออกจากโรงกระเดื่อง จงกรมอยู่ในที่แจ้ง ใกล้ประตูโรงกระเดื่อง ครั้งนั้น บุรุษคนหนึ่ง ออกมา
    จากหมู่มหาชนนั้น เข้ามาหาเรา ครั้นเข้ามาหาแล้ว อภิวาทเราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเ
    ราได้กล่าวกะบุรุษนั้น ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ หมู่มหาชนนั้นประชุมกันทำไมหนอ ฯ
    บ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่
    ชาวนาสองพี่น้อง และโคพลิพัทสี่ตัวถูกสายฟ้าฟาด หมู่มหาชน ประชุมกัน เพราะเหตุนี้ ก็ท่าน
    อยู่ในที่ไหนเล่า ฯ
    เราอยู่ในที่นี้เอง ฯ
    ก็ท่านไม่เห็นหรือ ฯ
    เราไม่ได้เห็น ฯ
    ก็ท่านไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ
    เราไม่ได้ยิน ฯ
    ก็ท่านหลับหรือ ฯ
    เราไม่ได้หลับ ฯ
    ก็ท่านยังมีสัญญาหรือ ฯ
    อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
    ก็ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้า ผ่าอยู่ ไม่ได้
    เห็น และ ไม่ได้ยินเสียงหรือ ฯ
    อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ ฯ
    ดูกรปุกกุสะ ลำดับนั้น บุรุษนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า น่าอัศจรรย์หนอ เหตุไม่เคย
    มีมามีแล้ว พวกบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบหนอ ดังที่ท่าน ผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่
    เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าลั่นอยู่ ฟ้าผ่าอยู่ ไม่ได้ เห็น และไม่ได้ยินเสียงบุรุษนั้น
    ประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่งในเรา กระทำ ประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปุกกุสมัลลบุตรได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์โปรยความเลื่อมใสในอาฬารดาบส กาลามโคตร ลงในพายุใหญ่
    หรือลอยเสียในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิด
    ของที่ปิด บอก ทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้
    ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์นี้
    ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอ พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้า
    พระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วัน นี้เป็นต้นไป ฯ
    ลำดับนั้น ปุกกุสมัลลบุตรสั่งบุรุษคนหนึ่งว่า ดูกรพนาย ท่านจงช่วยนำ คู่ผ้าเนื้อ
    ละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเรามา บุรุษนั้นรับคำปุกกุสมัลล บุตรแล้ว นำคู่ผ้าเนื้อ
    ละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเขามาแล้ว ปุกกุส มัลลบุตร จึงน้อมคู่ผ้า
    เนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้น เข้าไปถวาย แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์
    ผู้เจริญ คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคีนี้ เป็นผ้าทรง ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยความอนุเคราะห์
    ทรงรับคู่ผ้านั้นของข้า พระองค์เถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปุกกุสะ ถ้าเช่นนั้นท่านจงให้เรา
    ครอง ผืนหนึ่ง ให้อานนท์ครองผืนหนึ่ง ปุกกุสมัลลบุตรรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค แล้ว
    ยังพระผู้มีพระภาคให้ทรงครองผืนหนึ่ง ให้ท่านพระอานนท์ครองผืนหนึ่ง ลำดับนั้น พระผู้มี
    พระภาคทรงยังปุกกุสมัลลบุตรให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
    ปุกกุสมัลลบุตร อันพระผู้มีพระภาคทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ด้วย
    ธรรมีกถาแล้วลุกจากอาสนะ ถวาย บังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ
    [๑๒๒] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อปุกกุสมัลลบุตรหลีกไปแล้วไม่ นาน ได้น้อม
    คู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้นเข้าไปสู่พระกาย ของพระผู้มีพระภาค ผ้าที่ท่าน
    พระอานนท์น้อมเข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาค นั้น ย่อมปรากฏดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว
    ฉะนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่า
    อัศจรรย์ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก คู่ผ้าเนื้อ
    ละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนี้ ข้าพระองค์น้อมเข้าไปสู่พระกายของพระผู้มีพระภาค
    ย่อมปรากฏ ดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ในกาลทั้งสอง กายของตถาคตย่อม
    บริสุทธิ์ ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ในกาลทั้งสองเป็นไฉน คือ ในราตรีที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตร
    สัมมาสัมโพธิญาณ ๑ ในราตรีที่ตถาคตปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ ดูกรอานนท์
    ในกาลทั้งสองนี้แล กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ดูกรอานนท์ ในปัจฉิม
    ยามแห่งราตรีวันนี้แล ความ ปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ในสาลวันอัน
    เป็นที่แวะพัก ของมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ในเมืองกุสินารา มาไปกันเถิด อานนท์ เราจักไปยัง
    แม่น้ำกกุธานที ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
    [๑๒๓] ปุกกุสะนำผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคีเข้าไปถวายพระศาสดา ทรงครองคู่ผ้า
    นั้นแล้ว มีพระวรรณดังทอง งดงามแล้ว ฯ
    [๑๒๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จ ไปยังแม่น้ำ
    กกุธานที ครั้นแล้วเสด็จลงสู่แม่น้ำกกุธานที ทรงสรงแล้ว เสวย แล้ว เสด็จขึ้น เสด็จไปยังอัมพวัน
    ตรัสเรียกท่านพระจุนทกะมารับสั่งว่า ดูกร จุนทกะ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา
    เราเหน็ดเหนื่อยนัก จัก นอนพัก ท่านพระจุนทกะทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ปูผ้า
    สังฆาฏิ ซ้อนกันเป็นสี่ชั้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยา โดยพระปรัส เบื้องขวา
    ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาทมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงมนสิการ อุฏฐานสัญญา ส่วนท่าน
    พระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค ในที่นั้นแหละ ฯ
    [๑๒๕] พระพุทธเจ้าผู้ศาสดา ผู้พระตถาคต หาผู้เปรียบมิได้ในโลก ทรงเหน็ดเหนื่อย
    เสด็จถึงแม่น้ำกกุธานที มีน้ำใส จืด สะอาด เสด็จลงแล้วทรงสรงและเสวยน้ำแล้ว อันหมู่
    ภิกษุแวดล้อม เสด็จไปในท่ามกลาง พระผู้มีพระภาคผู้ศาสดาทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรง
    เป็นไปในธรรมนี้เสด็จถึงอัมพวันแล้ว รับสั่ง กะภิกษุนามว่าจุนทกะว่า เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อน
    กันเป็น สี่ชั้นให้เรา เราจะนอน พระจุนทกะนั้น อันพระผู้มีพระภาคผู้ อบรม พระองค์ทรงเตือน
    แล้ว รีบปูผ้าสังฆาฏิพับเป็นสี่ชั้น ถวาย พระศาสดาทรงบรรทมแล้ว หายเหน็ดเหนื่อย ฝ่าย
    พระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ในที่นั้น ฯ
    [๑๒๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์
    บางทีใครๆ จะทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทกัมมารบุตรว่า ดูกรนายจุนทะ มิใช่ลาภของท่าน
    ท่านได้ไม่ดีแล้ว ที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของ ท่านเป็นครั้งสุดท้ายเสด็จปรินิพพานแล้ว ดังนี้
    เธอพึงช่วยบันเทาความร้อนใจ ของนายจุนทกัมมารบุตรเสียอย่างนี้ว่า ดูกร นายจุนทะ เป็นลาภ
    ของท่าน ท่าน ได้ดีแล้ว ที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย เสด็จปรินิพพาน
    แล้ว เรื่องนี้เราได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า บิณฑบาต สองคราวนี้ มีผล
    เสมอๆ กัน มีวิบากเสมอๆ กัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ ยิ่งนัก
    บิณฑบาตสองคราวเป็นไฉน คือ ตถาคตเสวย บิณฑบาตใดแล้ว ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
    อย่างหนึ่ง ตถาคตเสวย บิณฑบาตใดแล้ว เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพานธาตุอย่างหนึ่ง
    บิณฑบาต สองคราวนี้ มีผลเสมอๆ กัน มีวิบากเสมอๆ กัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ ใหญ่กว่า
    บิณฑบาตอื่นๆ ยิ่งนัก กรรมที่นายจุนทกัมมารบุตรก่อสร้างแล้ว เป็น ไปเพื่ออายุ ... เป็นไปเพื่อ
    วรรณะ ... เป็นไปเพื่อความสุข ... เป็นไปเพื่อยศ ... เป็นไปเพื่อสวรรค์ ... เป็นไปเพื่อความเป็น
    ใหญ่ยิ่ง ดูกรอานนท์ เธอพึงช่วยบันเทา ความร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตร เสียด้วยประการ
    ฉะนี้ ฯ
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้นแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
    [๑๒๗] บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ เวรย่อมไม่ก่อแก่ผู้สำรวมอยู่ คนฉลาดเทียว ย่อมละ
    กรรมอันลามก เขาดับแล้วเพราะราคะ โทสะ โมหะ สิ้นไป ฯ
    จบภาณวารที่สี่ ฯ
    [๑๒๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด
    เราจักไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดีเมืองกุสินารา และสาลวัน อันเป็นที่แวะพักแห่งพวกเจ้า
    มัลละ ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้ มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคพร้อม
    ด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยัง ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดี เมืองกุสินารา และสาลวันอันเป็น
    ที่แวะพักแห่งพวก เจ้ามัลละ ครั้นแล้วรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยตั้ง
    เตียง ให้เรา หันศีรษะไปทางทิศอุดร ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ เราเหน็ดเหนื่อยแล้ว จักนอน
    ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ตั้งเตียงหันพระเศียร ไปทางทิศอุดร
    ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัส เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาท
    เหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ฯ
    [๑๒๙] สมัยนั้น ไม้สาละทั้งคู่ เผล็จดอกสะพรั่งนอกฤดูกาล ดอกไม้ เหล่านั้นร่วง
    หล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชา แม้ดอก มณฑารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลง
    มาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่น โปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชา
    แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้น ร่วงหล่น
    โปรยปรายลงยัง พระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชา ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่าก็ประโคมอยู่ในอากาศ
    เพื่อ บูชาพระตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต ฯ
    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ ไม้สาละ
    ทั้งคู่ เผล็จดอกบานสพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของ ตถาคตเพื่อบูชา แม้
    ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอก มณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปราย
    ลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้จุณแห่ง จันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่ง
    จันทน์เหล่านั้น ร่วงหล่น โปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่าก็
    ประโคมอยู่ใน อากาศ เพื่อบูชาตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต
    ดูกรอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยเครื่อง
    สักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็น
    ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตาม ธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ
    นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอด เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียก
    อย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติ ธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ดังนี้ ฯ
    [๑๓๐] สมัยนั้น ท่านพระอุปวาณะยืนถวายงานพัดพระผู้มีพระภาค เฉพาะพระพักตร์
    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงขับท่านพระอุปวาณะว่า ดูกรภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้า
    เรา ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า ท่านอุปวาณะ รูปนี้เป็นอุปัฏฐากอยู่ใกล้ชิดพระผู้
    มีพระภาคมาช้านาน ก็และเมื่อเป็นเช่นนั้น ใน กาลครั้งสุดท้าย พระผู้มีพระภาคทรงขับท่าน
    อุปวาณะว่า ดูกรภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้าเรา ดังนี้ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอ
    เป็นปัจจัย ให้พระผู้มี พระภาคทรงขับท่านอุปวาณะว่า ดูกรภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้า
    เรา ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านอุปวาณะ
    รูปนี้ เป็นอุปัฏฐากอยู่ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคมาช้านาน ก็แลเมื่อ เป็นเช่นนั้น ในกาลครั้งสุดท้าย
    พระผู้มีพระภาคยังทรงขับท่านอุปวาณะว่า ดูกร ภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้าเรา ดังนี้
    อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอ เป็นปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาคทรงขับท่านอุปวาณะว่า ดูกรภิกษุ
    เธอจงหลีกไป อย่ายืนตรงหน้าเรา ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เทวดาในหมื่นโลกธาตุมา ประชุมกันโดยมาก
    เพื่อจะเห็นตถาคต เมืองกุสินารา สาลวัน อันเป็นที่แวะพัก แห่งพวกเจ้ามัลละเพียงเท่าใด โดย
    รอบถึง ๑๒ โยชน์ ตลอดที่เพียงเท่านี้ จะหา ประเทศแม้มาตรว่าเป็นที่จรดลงแห่งปลายขนทราย
    อันเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ไม่ถูก ต้องแล้วมิได้มี พวกเทวดายกโทษอยู่ว่า พวกเรามาแต่ที่ไกลเพื่อจะ
    เห็นพระตถาคต พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเสด็จอุบัติในโลก ในบางครั้งบางคราว
    ใน ปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ พระตถาคตจักปรินิพพาน ก็ภิกษุผู้มีศักดิ์ใหญ่ รูปนี้ ยืนบัง
    อยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พวกเราไม่ได้เห็นพระตถาคตใน กาลเป็นครั้งสุดท้าย ฯ
    อ. ข้าแต่องค์ผู้เจริญ ก็พวกเทวดาเป็นอย่างไร กระทำไว้ในใจ เป็น ไฉน ฯ
    มีอยู่ อานนท์ เทวดาบางพวกสำคัญอากาศว่าเป็นแผ่นดิน สยายผม ประคองแขน
    ทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา ดุจมีเท้าอันขาดแล้ว รำพันว่า พระผู้มีพระภาคจะเสด็จ
    ปรินิพพานเสียเร็วนัก พระสุคตจะเสด็จปรินิพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุใน โลก จัก
    อันตรธานเสียเร็วนัก ดังนี้ เทวดาบางพวกสำคัญแผ่นดินว่าเป็นแผ่นดิน สยายผมประคองแขน
    ทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา ดุจมีเท้าอันขาด แล้ว รำพันว่า พระผู้มีพระภาคจักเสด็จ
    ปรินิพพานเสียเร็วนัก พระสุคตจักเสด็จ ปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก จัก
    อันตรธานเสียเร็วนัก ดังนี้ ส่วนเทวดาพวกที่ปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ อดกลั้น
    โดยธรรมสังเวช ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เหล่าสัตว์จะพึงได้ในสังขารนี้แต่
    ที่ไหน ฯ
    [๑๓๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน พวกภิกษุผู้อยู่จำพรรษาใน ทิศทั้งหลายย่อม
    มาเพื่อเฝ้าพระตถาคต พวกข้าพระองค์ย่อมได้เห็น ได้เข้าไปนั่ง ใกล้ภิกษุเหล่านั้นผู้ให้เจริญใจ
    ก็โดยกาลล่วงไปแห่งพระผู้มีพระภาค พวกข้าพระ องค์จักไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ พวกภิกษุ
    ผู้ให้เจริญใจ ฯ
    ดูกรอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเหล่านี้ เป็นที่ควรเห็นของ กุลบุตรผู้มีศรัทธา
    สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง เป็นไฉน คือ
    ๑. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม ระลึกว่า พระ
    ตถาคตประสูติในที่นี้ ฯ
    ๒. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม ระลึกว่า พระ
    ตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ ฯ
    ๓. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม ระลึกว่า พระ
    ตถาคตทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ ฯ
    ๔. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตาม ระลึกว่า พระ
    ตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในที่นี้ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้แล
    เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ฯ
    ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่า พระตถาคต
    ประสูติในที่นี้ก็ดี พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ ก็ดี พระตถาคตทรงยัง
    อนุตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ก็ดี พระตถาคตเสด็จ ปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
    ในที่นี้ก็ดี ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยว จาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชน
    เหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ
    [๑๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติในมาตุคาม อย่างไร ฯ
    การไม่เห็น อานนท์ ฯ
    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อการเห็นมีอยู่ จะพึงปฏิบัติอย่างไร ฯ
    การไม่เจรจา อานนท์ ฯ
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อต้องเจรจา จะพึงปฏิบัติอย่างไร ฯ
    พึงตั้งสติไว้ อานนท์ ฯ
    [๑๓๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ จะพึงปฏิบัติใน พระสรีระของ
    พระตถาคตอย่างไร ฯ
    ดูกรอานนท์ พวกเธอจงอย่าขวนขวาย เพื่อบูชาสรีระตถาคตเลย จงสืบต่อพยายาม
    ในประโยชน์ของตนๆ เถิด จงเป็นผู้ไม่ประมาทในประโยชน์ของ ตนๆ มีความเพียร มีตนอัน
    ส่งไปแล้วอยู่เถิด กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี พราหมณ์ ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตก็ดี
    ผู้เลื่อมใสยิ่งในตถาคตมีอยู่ เขา ทั้งหลายจักกระทำการบูชาสรีระตถาคต ฯ
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เขาทั้งหลาย จะพึงปฏิบัติในพระสรีระของ ตถาคตอย่างไร ฯ
    ดูกรอานนท์ พึงปฏิบัติในสรีระตถาคต เหมือนที่เขาปฏิบัติในพระสรีระ พระเจ้าจักร
    พรรดิ ฯ
    ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ก็เขาปฏิบัติในพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ฯ
    ดูกรอานนท์ เขาห่อพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วห่อ
    ด้วยผ้าใหม่ โดยอุบายนี้ ห่อพระสรีระพระจักรพรรดิด้วยผ้า ๕๐๐ คู่ แล้ว เชิญพระสรีระลงในร
    างเหล็กอันเต็มด้วยน้ำมัน ครอบด้วยรางเหล็กอื่น แล้วกระทำ จิตกาธารด้วยไม้หอมล้วน ถวาย
    พระเพลิงพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิ สร้างสถูป ของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง
    เขาปฏิบัติในพระสรีระพระเจ้า จักรพรรดิ ด้วยประการฉะนี้แล พวกกษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตเป็นต้น
    พึงปฏิบัติใน สรีระตถาคตเหมือนที่เขาปฏิบัติพระสรีระพระเจ้าจักรพรรดิ พึงสร้างสถูปของ ตถาคต
    ไว้ที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง ชนเหล่าใดจักยกขึ้นซึ่งมาลัยของหอมหรือจุณ จักอภิวาท หรือจักยังจิต
    ให้เลื่อมใสในสถูปนั้น การกระทำเช่นนั้น จักเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่
    ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน ฯ
    [๑๓๔] ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน
    คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นถูปารหบุคคลจำพวก หนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
    เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง สาวกของพระตถาคต เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง พระเจ้าจักร
    พรรดิ เป็นถูปารหบุคคลจำพวกหนึ่ง ฯ
    ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
    จึงเป็นถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมาก ยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้ เป็นสถูปของพระผู้มีพระภาคอรหันต
    สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้ เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ
    กายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล พระตถาคตอรหันต
    สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ
    ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า จึงเป็น
    ถูปารหบุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น พวก
    เขายังจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
    เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ ข้อนี้แล พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงเป็นถูปารหบุคคล ฯ
    ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สาวกของพระตถาคต จึงเป็นถูปารห
    บุคคล ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของสาวก ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา
    สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขายังจิตให้เลื่อมใส ในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
    ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล สาวกของพระตถาคตจึงเป็น
    ถูปารหบุคคล ฯ
    ดูกรอานนท์ เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร พระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็น ถูปารหบุคคล
    ชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า นี้เป็นสถูปของพระธรรมราชา ผู้ทรงธรรมนั้น พวกเขายังจิต
    ให้เลื่อมใสในสถูปนั้นแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะ
    อาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล พระเจ้าจักรพรรดิจึงเป็นถูปารหบุคคล ดูกรอานนท์ ถูปารหบุคคล
    ๔ จำพวกนี้แล ฯ
    [๑๓๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้คันทวย ร้องไห้อยู่ว่า เรา
    ยังเป็นเสขบุคคลมีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่ง เป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพาน
    เสีย ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งถาม พวกภิกษุว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไปไหน
    พวกภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ท่านอานนท์นั้น เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้คันทวย
    ร้องไห้อยู่ว่า เรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้ อนุเคราะห์
    เรา ก็จักปรินิพพานเสีย พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งกะภิกษุรูปหนึ่งว่า เธอจงไปเถิดภิกษุ จงบอก
    อานนท์ตามคำของเราว่า ท่านอานนท์ พระศาสดา รับสั่งหาท่าน ภิกษุนั้นทูลรับพระดำรัสของ
    พระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่าน พระอานนท์ถึงที่ใกล้ ครั้นเข้าไปหาแล้วบอกว่า ท่านอานนท์
    พระศาสดา รับสั่งหาท่าน ท่านพระอานนท์รับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ
    ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ฯ
    ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านว่า อย่าเลย
    อานนท์ เธออย่าเศร้าโศก ร่ำไรไปเลย เราได้บอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่ หรือว่า ความเป็นต่างๆ
    ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากของรักของ ชอบใจทั้งสิ้นต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ใน
    ของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน สิ่ง ใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็น
    ธรรมดา การปรารถนา ว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ดูกรอานนท์
    เธอได้ อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่ง เป็น
    ประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หาประมาณมิได้มาช้านาน เธอ ได้กระทำบุญไว้แล้ว
    อานนท์ จงประกอบความเพียรเถิด เธอจักเป็นผู้ไม่มี อาสวะโดยฉับพลัน ฯ
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันต
    สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใด ได้มีแล้วในอดีตกาล ภิกษุผู้เป็น อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคทั้งหลาย
    นั้นอย่างยิ่ง ก็เพียงนี้เท่านั้น คือเหมือน อานนท์ของเรา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใด
    จักมีในอนาคตกาล ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายนั้น อย่างยิ่งก็เพียงนี้เท่านั้น
    คือ เหมือนอานนท์ของเรา อานนท์เป็นบัณฑิต ย่อมรู้ว่า นี้เป็นกาลเพื่อจะเข้าเฝ้า พระตถาคต
    นี้เป็นกาลของพวกภิกษุ นี้เป็นกาลของพวกภิกษุณี นี้เป็นกาลของ พวกอุบาสก นี้เป็นกาลของ
    พวกอุบาสิกา นี้เป็นกาลของพระราชา นี้เป็นกาล ของราชมหาอำมาตย์ นี้เป็นกาลของพวกเดียรถีย์
    นี้เป็นกาลของพวกสาวก เดียรถีย์ ฯ
    [๑๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้ มี อยู่ในอานนท์
    อัพภูตธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุ บริษัทเข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์
    ด้วยการที่ได้เห็น ภิกษุบริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้า อานนท์แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้ด้วยการ
    แสดงธรรม ภิกษุบริษัทนั้นก็ ยินดี ภิกษุบริษัทยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อมนิ่งไปในเวลานั้น ถ้า
    ภิกษุณีบริษัท ... อุบาสกบริษัท ... อุบาสิกาบริษัทเข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้เห็น
    อุบาสิกาบริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้าอานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้ด้วย การแสดง
    อุบาสิกาบริษัทนั้นก็ยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อม นิ่งไปในเวลานั้น ดูกรภิกษุ
    ทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ในอานนท์ ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้ มีอยู่ในพระเจ้าจักรพรรดิ
    ถ้าขัตติยบริษัทเข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยการที่ได้เฝ้า ขัตติย บริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้าพระเจ้า
    จักรพรรดิมีพระราชดำรัสในขัตติยบริษัทนั้น แม้ด้วย พระราชดำรัส ขัตติยบริษัทนั้นก็ยินดี ขัตติย
    บริษัทยังไม่อิ่มเลย พระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมทรงนิ่งไปในเวลานั้น ถ้าพราหมณ์บริษัท ... คฤหบดี
    บริษัท ... สมณบริษัท เข้าไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยการที่ได้เฝ้า สมณบริษัทนั้นย่อมยินดี ถ้า
    พระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชดำรัสในสมณบริษัทนั้น แม้ด้วยพระราชดำรัส สมณ บริษัทนั้นก็ยินดี
    สมณบริษัทยังไม่อิ่มเลย พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงนิ่งไปใน เวลานั้น ฯ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการ มีอยู่ใน อานนท์ ฉันนั้น
    เหมือนกัน ถ้าภิกษุบริษัทเข้าไปเพื่อจะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้ เห็น ภิกษุบริษัทนั้นย่อมยินดี
    ถ้าอานนท์แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้ด้วย การแสดง ภิกษุบริษัทนั้นย่อมยินดี ภิกษุบริษัท
    ยังไม่อิ่มเลย อานนท์ย่อมนิ่งไป ในเวลานั้น ถ้าภิกษุณีบริษัท ... อุบาสกบริษัท ... อุบาสิกาบริษัท
    เข้าไปเพื่อ จะเห็นอานนท์ ด้วยการที่ได้เห็น อุบาสิกาบริษัทนั้น ย่อมยินดี ถ้าอานนท์ แสดงธรรม
    ในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้ด้วยการแสดง อุบาสิกาบริษัทนั้นก็ยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่อิ่มเลย
    อานนท์ย่อมนิ่งไปในเวลานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อัพภูตธรรมอันน่าอัศจรรย์ ๔ ประการนี้แล มีอยู่
    ในอานนท์ ฯ
    [๑๓๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่
    พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคอย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองนี้เลย นคร
    ใหญ่เหล่าอื่นมีอยู่ คือ เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี
    เมืองพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จ ปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์
    มหาศาล คฤหบดี มหาศาลที่เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มากในเมืองเหล่านี้ ท่าน
    เหล่านั้น จักกระทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ เธออย่าได้กล่าว
    อย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองดังนี้เลย ดูกรอานนท์ แต่ปางก่อน มีพระเจ้าจักรพรรดิ
    ทรงพระนามว่ามหาสุทัสสนะ ผู้ทรงธรรม เป็น พระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มี
    มหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรง ชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ
    เมืองกุสินารานี้ มีนามว่า กุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดยยาวด้านทิศบูรพา
    และทิศประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศทักษิณและทิศอุดร ๗ โยชน์ กุสาวดี ราชธานีเป็น
    เมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ ง่าย ดูกรอานนท์ อาลกมันทา
    ราชธานีแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย เป็นเมืองที่มั่งคั่ง รุ่งเรือง มีชนมาก ยักษ์หนาแน่น และมีภิกษาหา
    ได้ง่าย แม้ฉันใด กุสาวดี ราชธานีก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์
    หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย กุสาวดีราชธานีมิได้เงียบจากเสียงทั้ง ๑๐ ประการ ทั้ง กลางวัน
    และกลางคืน คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียง
    ขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคม และเสียงเป็นที่ ๑๐ ว่า ท่านทั้งหลายจงบริโภค จงดื่ม
    จงเคี้ยวกิน จงไปเถิดอานนท์ เธอจงเข้าไปใน เมืองกุสินารา แล้วบอกแก่พวกเจ้ามัลละเมือง
    กุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้ พวก
    ท่านจงรีบออกไปกัน เถิดๆ พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระตถาคตได้ปรินิพพาน
    ในคามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้าพระตถาคตในกาลครั้งสุดท้าย ท่านพระอานนท์ทูลรับ
    พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปในเมืองกุสินาราลำพังผู้เดียว
    สมัยนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ประชุม กันอยู่ที่สัณฐาคารด้วยกรณียกิจบางอย่าง ลำดับนั้น
    ท่านพระอานนท์เข้าไปยัง สัณฐาคารของพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ครั้นแล้วได้บอกแก่พวกเจ้า
    มัลละเมืองกุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจักเสด็จปรินิพพานในปัจฉิมยาม แห่ง
    ราตรีในวันนี้ พวกท่านจงรีบออกไปเถิดๆ พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจใน ภายหลังว่า พระ
    ตถาคตได้ปรินิพพานในคามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้า พระตถาคตในกาลเป็นครั้งสุดท้าย
    พวกเจ้ามัลละกับโอรส สุณิสาและปชาบดีได้ สดับคำนี้ของท่านพระอานนท์แล้ว เป็นทุกข์เสีย
    พระทัย เปี่ยมไปด้วยความทุกข์ใจ บางพวกสยายพระเกศา ประคองหัตถ์ทั้งสองคร่ำครวญอยู่
    ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา ดุจมีบาทอันขาดแล้ว ทรงรำพันว่า พระผู้มีพระภาคจักเสด็จปรินิพพาน
    เสียเร็วนัก พระสุคตจักเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก จักอันตรธานเสีย
    เร็วนัก ฯ
    ครั้งนั้น พวกเจ้ามัลละกับโอรส สุณิสา ปชาบดี เป็นทุกข์เสียพระทัย เปี่ยมไป
    ด้วยความทุกข์ใจ เสด็จเข้าไปยังสาลวันอันเป็นที่แวะพักของเจ้ามัลละ ทั้งหลาย เสด็จเข้าไปหา
    ท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า ถ้าเราจักให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา
    ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทีละองค์ๆ พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราจักมิได้ถวายบังคมพระผู้มีพระ
    ภาคทั่วกัน ราตรีนี้จักสว่างเสีย ถ้ากระไร เราควรจะจัดให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราถวายบังคม
    พระผู้มีพระภาคโดยลำดับสกุลๆ ด้วยกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละมีนามอย่างนี้
    พร้อมด้วยโอรส ชายา บริษัทและอำมาตย์ ขอถวายบังคมพระบาท ทั้งสองของพระผู้มีพระภาค
    ด้วยเศียรเกล้า ฯ
    ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จัดให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราถวายบังคม พระผู้มี
    พระภาคโดยลำดับสกุล ด้วยกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละ มีนามอย่างนี้ พร้อม
    ด้วยโอรส ชายา บริษัท และอำมาตย์ ขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วย
    เศียรเกล้า โดยอุบายเช่นนี้ ท่านพระอานนท์ ยังพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ให้ถวายบังคม
    พระผู้มีพระภาคเสร็จโดยปฐมยามเท่านั้น ฯ
    [๑๓๘] ก็สมัยนั้น ปริพาชกนามว่า สุภัททะ อาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา สุภัทท
    ปริพาชกได้สดับว่า พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรี ในวันนี้แหละ สุภัทท
    ปริพาชกได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ก็เราสดับถ้อยคำของพวก ปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์
    และปาจารย์กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้งบางคราว
    พระสมณโคดมจัก ปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ อนึ่ง ธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้
    ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่เราก็มีอยู่ เราเลื่อมใสในพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ย่อมสามารถ
    จะแสดงธรรมแก่เรา โดยประการที่เราจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัย นี้ได้ ฯ
    ลำดับนั้น สุภัททปริพาชกเข้าไปยังสาลวันอันเป็นที่แวะพักของพวกเจ้า มัลละ เข้าไป
    หาท่านพระอานนท์ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์ ข้าพเจ้าได้สดับถ้อยคำของพวก
    ปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์ กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
    จะอุบัติในโลก ในบางครั้ง บางคราว พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้
    แหละ อนึ่ง ธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าก็มีอยู่ ข้าพเจ้าเลื่อมใสในพระสมณ
    โคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าโดย ประการที่ข้าพเจ้าจะพึง
    ละธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ได้ ข้าแต่ท่านอานนท์ ขอโอกาส เถิด ข้าพเจ้าควรได้เฝ้าพระสมณโคดม
    เมื่อสุภัททปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวตอบสุภัททปริพาชกว่า อย่าเลย
    สุภัททะ ท่านอย่า เบียดเบียนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว แม้ครั้งที่สอง
    สุภัททปริพาชก ... แม้ครั้งที่สาม สุภัททปริพาชกก็ได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์ ข้าพเจ้าได้สดับ
    ถ้อยคำของพวกปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์ กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันต
    สัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้งบางคราว พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยาม
    แห่งราตรีในวันนี้แหละอนึ่ง ธรรมเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าก็มีอยู่ ข้าพเจ้า
    เลื่อมใสใน พระสมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าโดย
    ประการที่ข้าพเจ้าจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ได้ ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ขอโอกาสเถิด
    ข้าพเจ้าควรได้เฝ้าพระสมณโคดม แม้ครั้งที่สาม ท่านพระอานนท์ ก็ได้กล่าวตอบสุภัททปริพาชก
    ว่า อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคต เลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว พระผู้มี
    พระภาคทรงได้ยินถ้อยคำท่านพระอานนท์เจรจากับสุภัททปริพาชก ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค
    จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า อย่าเลยอานนท์ เธออย่าห้ามสุภัททะ สุภัททะจงได้เฝ้า
    ตถาคต สุภัททะจักถามปัญหา อย่างใดอย่างหนึ่งกะเรา จักมุ่งเพื่อความรู้ มิใช่มุ่งความเบียดเบียน
    อนึ่ง เราอัน สุภัททะถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความอันใดแก่สุภัททะนั้น สุภัททะจักรู้ทั่วถึงข้อ
    ความนั้นโดยฉับพลันทีเดียว ฯ
    ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้บอกสุภัททปริพาชกว่า ไปเถิดสุภัททะ พระผู้มีพระภาค
    ทรงทำโอกาสแก่ท่าน สุภัททปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว
    ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร
    ส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์เหล่านี้ใด เป็นเจ้าหมู่
    เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นคนดี
    คือบูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครณฐนาฏ
    บุตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ได้ตรัสรู้ตามปฏิญญาของตนๆ หรือว่าทั้งหมดไม่ได้ตรัสรู้
    หรือว่าบางพวกไม่ได้ตรัสรู้ ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อย่าเลย สุภัททะ ที่ข้อถามนั้นงดเสียเถิด ดูกรสุภัททะ
    เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดีเราจักกล่าว สุภัททปริพาชก
    ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัย
    ใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓
    หรือสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑
    ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ ในธรรม
    วินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุ
    เหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
    [๑๓๙] ดูกรสุภัททะ เราโดยวัยได้ ๒๙ ปี บวชแล้ว ตามแสวงหาว่า อะไรเป็นกุศล
    ตั้งแต่เราบวชแล้ว นับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะผู้เป็นไปในประเทศแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออก ไม่มี
    ในภายนอกแต่ธรรมวินัยนี้ ฯ
    สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ก็มิได้มี ลัทธิอื่นว่างจากสมณะ ผู้รู้ทั่วถึง ก็
    ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
    [๑๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุภัททปริพาชก ได้กราบ ทูลว่า ข้าแต่
    พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง
    นัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิดบอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีป
    ในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดย
    อเนกปริยาย ฉันนั้น เหมือน กัน ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์
    ว่าเป็นสรณะข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ฯ
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชา หวัง
    อุปสมบท ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน เมื่อล่วงสี่เดือน ภิกษุ ทั้งหลายเต็มใจแล้ว
    จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่าเรารู้ความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้ ฯ
    สุภัททปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้ที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวัง
    บรรพชา หวังอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสสี่เดือนเมื่อล่วงสี่เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจ
    แล้ว
    จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบท เพื่อความ เป็นภิกษุไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาสสี่ปี เมื่อล่วงสี่ปี
    ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบทเถิด ฯ
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่น
    นั้น เธอจงให้สุภัททปริพาชกบวชเถิด ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคแล้ว
    สุภัททปริพาชกได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรท่านอานนท์ ผู้มีอายุ เป็นลาภ
    ของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่พระศาสดาทรงอภิเษกด้วยอันเตวาสิกา ภิเษก ในที่เฉพาะพระพักตร์
    ในพระศาสนานี้ สุภัททปริพาชกได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค ก็ท่านสุภัทท
    ปริพาชกได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความ
    เพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ ไม่ช้านานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่
    กุลบุตร ทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญา อันยิ่ง
    ด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จ
    แล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ท่านสุภัททะได้เป็นอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์
    ทั้งหลาย ท่านเป็นสักขิสาวกองค์ สุดท้ายของพระผู้มีพระภาค ฯ
    จบภาณวารที่ห้า
    [๑๔๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์
    บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี
    ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ
    ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็น ศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ดูกรอานนท์ บัดนี้
    พวกภิกษุยัง เรียกกันและกันด้วยวาทะว่า อาวุโส ฉันใด โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ไม่ควรเรียกกัน
    ฉันนั้น ภิกษุผู้แก่กว่า พึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือโคตร หรือโดยวาทะว่า อาวุโส แต่
    ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ภันเต หรืออายัสมา ดูกรอานนท์ โดยล่วงไปแห่งเรา
    สงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้ โดยล่วงไป แห่งเรา พึงลงพรหมทัณฑ์แก่
    ฉันนภิกษุ ท่านพระอานนท์กราบทูลถามว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ก็พรหมทัณฑ์เป็นไฉน
    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ ฉันนภิกษุพึงพูดได้ตามที่ตนปรารถนา ภิกษุทั้งหลาย
    ไม่พึงว่า ไม่พึงกล่าว ไม่พึง สั่งสอน ฯ
    [๑๔๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    ความสงสัยเคลือแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ใน มรรค หรือในข้อปฏิบัติ จะพึงมี
    บ้างแก่ภิกษุ แม้รูปหนึ่ง พวกเธอจงถามเถิด อย่าได้มีความร้อนใจภายหลังว่า พระศาสดาอยู่
    เฉพาะหน้าเราแล้ว ยังมิอาจ ทูลถามพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์ เมื่อพระผู้มีพระภาค
    ตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นพากันนิ่ง แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาครับสั่ง
    กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
    ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติจะพึงมีบ้างแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง พวกเธอจงถามเถิด อย่าได้มีความ
    ร้อนใจในภายหลังว่า พระศาสดาอยู่เฉพาะหน้าเรา แล้ว เรายังมิอาจทูลถามพระผู้มีพระภาคในที่
    เฉพาะพระพักตร์ แม้ครั้งที่สามภิกษุ เหล่านั้น ก็พากันนิ่ง ฯ
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บางทีพวกเธอ
    ไม่ถาม แม้เพราะความเคารพในพระศาสดา แม้ภิกษุผู้เป็นสหาย ก็จงบอกแก่ภิกษุผู้สหายเถิด
    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุพวกนั้น พากันนิ่ง ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบ
    ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์เลื่อมใส
    ในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ว่า ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือ
    ใน ข้อปฏิบัติ มิได้มีแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อานนท์
    เธอพูดเพราะความเลื่อมใสตถาคตหยั่งรู้ในข้อนี้เหมือนกันว่า ความสงสัย เคลือบแคลงใน
    พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ มิได้มีแก่ภิกษุแม้รูปหนึ่ง ในภิกษุ
    สงฆ์นี้ บรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุรูปที่ต่ำที่สุด ก็เป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็น
    ผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ
    [๑๔๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้
    เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาท
    ให้ถึงพร้อมเถิด ฯ
    นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต ฯ
    [๑๔๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌานออกจากปฐมฌาน แล้ว ทรงเข้า
    ทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจาก ตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน
    ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสนัญจาย ตนะ ออกจากอากาสนัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรง
    เข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจาก วิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจาก
    อากิญจัญญายตน สมาบัติแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตน
    สมาบัติแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ฯ
    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวถามท่านพระอนุรุทธะว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จ
    ปรินิพพานแล้วหรือ ท่านพระอนุรุทธะตอบว่าอานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จ
    ปรินิพพาน ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ฯ
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ทรง เข้าเนวสัญญานา
    สัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจาก
    อากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญ จายตนะ ออกจากวิญญานัญจายตนสมาบัติแล้ว
    ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสนัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจาก
    จตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน
    แล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจาก ทุติยฌานแล้ว ทรง
    เข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน พระผู้มีพระภาคออกจากจตุตถฌานแล้ว
    เสด็จปรินิพพานในลำดับ (แห่งการพิจารณาองค์จตุตถฌานนั้น) ฯ

    ----
    ธรรมะเป็นธรรมชั้นลึก อย่าได้ตัดพุทธวัจนะ ตัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์ตน สนับสนุนความคิดตนมาโพสต์เล่นเพื่อความสนุก หรือจะเพื่ออะไรก็ตาม เป็นการกระทำของคนพาล ไม่ใช่สัตบุรุษ
     
  2. smerosd

    smerosd สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    46
    ค่าพลัง:
    +21
    จากข้อความนี้

    [๑๔๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌานออกจากปฐมฌาน แล้ว ทรงเข้า
    ทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจาก ตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน
    ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสนัญจาย ตนะ ออกจากอากาสนัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรง
    เข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจาก วิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจาก
    อากิญจัญญายตน สมาบัติแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตน
    สมาบัติแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ฯ
    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวถามท่านพระอนุรุทธะว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จ
    ปรินิพพานแล้วหรือ ท่านพระอนุรุทธะตอบว่าอานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จ
    ปรินิพพาน ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ฯ
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ทรง เข้าเนวสัญญานา
    สัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจาก
    อากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญ จายตนะ ออกจากวิญญานัญจายตนสมาบัติแล้ว
    ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสนัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจาก
    จตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน
    แล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจาก ทุติยฌานแล้ว ทรง
    เข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน พระผู้มีพระภาคออกจากจตุตถฌานแล้ว
    เสด็จปรินิพพานในลำดับ (แห่งการพิจารณาองค์จตุตถฌานนั้น) ฯ


    ผมมีความสงสัยว่าทำไมพระองค์เข้า ฌาณ หลายชั้นมากกว่าพระองค์จะเสด็จปรินิพาน
    ถ้าผมใช้คำไม่ถูกก็ขออภัยด้วยครับ
     
  3. อะคะมะ

    อะคะมะ สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    25
    ค่าพลัง:
    +11
    เป็นอจินไตย คับ
    1. พุทธวิสัยคือ เรื่องปัญญาความสามารถของพระพุทธเจ้าว่าเป็นอย่างไร
    2. ฌานวิสัย คือ วิสัยของฌาน
    3. เรื่องการให้ผลของกรรม
    4. เรื่องโลกจินตา คือ ความคิดเกี่ยวกับเรื่องของโลกจักรวาลจักรภพ
    จากพระสูตร อจินติตสูตร

    [๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด
    เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการ
    เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัย
    ของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความ
    เป็นบ้า เดือดร้อน ฯ
     
  4. smerosd

    smerosd สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    46
    ค่าพลัง:
    +21
    ขอบคุณมากครับ
     
  5. เอาฮา

    เอาฮา สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 พฤศจิกายน 2011
    โพสต์:
    116
    ค่าพลัง:
    +19
    ขี้เกียจอ่าน..................
     
  6. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ เวรย่อมไม่ก่อแก่ผู้สำรวมอยู่ คนฉลาดเทียว ย่อมละ
    กรรมอันลามก เขาดับแล้วเพราะราคะ โทสะ โมหะ สิ้นไป ฯ
     
  7. COME&Z

    COME&Z เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    1,144
    ค่าพลัง:
    +234
    ;39;aa2;41;aa6
    ..........................
     
  8. changnoy

    changnoy สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 มกราคม 2012
    โพสต์:
    171
    ค่าพลัง:
    +3
    เหมือนกันขี้เกียจอ่าน...........................
     
  9. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    กระทู้นี้ทดสอบความเพียรครับ ใช้เวลาอ่าน(รวมเปิดพจนานุกรม)อย่างน้อย 1 ชั่วโมง 30 นาทีครับ ใครขี้เกียจอ่านก็ไม่ต้องโพสต์ครับ ผมมีเจตนาจะฝากเตือนคนที่ตัดแต่งพระสูตรเอามาโพสต์(กระทู้โดนลบเมื่อวาน)เพื่อสนันสนุนความคิดของตัวเอง หรือเพื่อความสนุก หรือเพื่ออะไรก็ตาม ไม่ควรทำครับ
     
  10. COME&Z

    COME&Z เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    1,144
    ค่าพลัง:
    +234

    กล้ามาก ปรามาสพระไตรปิฎก ส่วนหนึ่งกล้า อีกสามส่วนโง่ กรรมจะส่งผลให้คุณพูดความจริงให้ตายก็ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครอยากฟัง พูดยังไม่จบคนเดินหนี คอยดูว่าจะจริงมั้ย รีบขอขมาพระรัตนตรัยซะ เตือนด้วยความหวังดี คุณอีกคนนึงที่โพสเหมือนกันด้วยนะ
     
  11. COME&Z

    COME&Z เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    1,144
    ค่าพลัง:
    +234

    อันนี้เค้าศึกษาพระไตรปิฎกกัน เอาพระไตรปิฎกมาให้อ่านกัน ไม่ได้มานั่งคิดเองเออเอง มันอจิณไตยตรงไหนไม่ทราบ แหกตาดูดีๆก่อนไป สำคัญมาก ต้องแหกตาตัวเองดูดีๆก่อน ก่อนจะโดนคนอื่นเค้าแหก นะจ้ะ
     
  12. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    อนุโมทนาครับ
     
  13. rnuir

    rnuir เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤศจิกายน 2006
    โพสต์:
    183
    ค่าพลัง:
    +218
    เหล่าท่านที่ได้รับความทุกข์โดยมีศาสนาเป็นเหตุ
    ท่านยึดติดสิ่งที่เป็นรูปธรรมของศาสนา

    แต่ศาสนาก็คือคู่มือที่มีผลต่อความเข้าใจ กระบวนการคิด และเปลี่ยนแปลงสภาพจิตใจ ให้เป็นในแนวทางของศาสนา

    ยกตัวอย่าง คู่มือเรื่องรถ ก็จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับรถนั้น ลักษณะชิ้นส่วน อุปกรณ์ การทำงาน ต่างๆ ทำให้เราเข้าใจในการทำงาน และสามารถใช้ได้ โดยหลักอยู่ที่จุดประสงค์ของการทำคู่มือ
    คู่มือนี้ทำเพื่อให้ผู้ใช้สามรถใช้รถได้อย่างปลอดภัย

    คู่มือเกี่ยวกับธรรมชาติ ก็จะบอกลักษณะต่างๆของธรรมชาติ รูปแบบของการทำงานต่างๆ เช่น ธรรมชาติไม่จีรังยั่งยืน เปลี่ยนแปลงได้ตลอด มนุษย์มีลักษณะจิตใจอย่างไร วิธีการเพื่อให้หลุดพ้น ถ้าคู่มือธรรมชาติมีจุดมุ่งหมายให้คนมีทุกข์ ก็คงจะสอนว่า ควรยึดติดกับสิ่งต่างๆนะ คิดว่าสิ่งต่างๆจะเป็นจะไม่เปลี่ยนแปลง

    พอคุณบรรลุจุดมุ่งหมายของคู่มือธรรมชาติแล้ว คุณก็จะไม่ต้องใช้คู่มืออีก เพราะว่าคู่มือนี้จุดประสงค์คือทำให้คุณเข้าใจธรรมชาติ และไม่ยึดติดในธรรมชาติรวมทั้งตัวคู่มือเองด้วย

    แล้วท่านจะเข้าใจว่า ตายไปก็เอาศาสนาไปไม่ได้
     
  14. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๑๘๗/๔๓๐

    ธรรมเปรียบเหมือนแพ
    [๒๘๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินทางไกล
    พบห้วงน้ำใหญ่ ฝั่งข้างนี้ น่ารังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า ฝั่งข้าโน้มเกษม ไม่มีภัย ก็แหละ
    เรือหรือสะพานสำหรับข้าม เพื่อจะไปสู่ฝั่งโน้น ไม่พึงมี บุรุษนั้นพึงดำริอย่างนี้ว่า ห้วงน้ำนี้ใหญ่
    แล ฝั่งข้างนี้น่ารังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า ฝั่งข้างโน้นเกษม ไม่มีภัย ก็แหละเรือหรือ
    สะพานสำหรับข้าม เพื่อจะไปสู่ฝั่งโน้น ย่อมไม่มี ถ้ากระไร เราพึงรวบรวมหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และ
    ใบไม้มาผูกเป็นแพ แล้วอาศัยแพนั้น พยายามด้วยมือและเท้า พึงข้ามถึงฝั่งได้โดยความสวัสดี.
    ทีนี้แล บุรุษนั้นรวบรวมหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นแพ อาศัยแพนั้น พยายามด้วยมือ
    และเท้า พึงข้ามถึงฝั่งโดยความสวัสดี บุรุษนั้นข้ามไปสู่ฝั่งได้แล้ว พึงดำริ อย่างนี้ว่า แพนี้มี
    อุปการะแก่เรามากแล เราอาศัยแพนี้พยายามอยู่ด้วยมือและเท้า ข้ามถึงฝั่งได้โดยความสวัสดี ถ้า
    กระไร เรายก แพนี้ขึ้นบนศีรษะ หรือแบกที่บ่า แล้วพึงหลีกไปตามความปรารถนา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นผู้กระทำอย่างนี้ จะชื่อว่ากระทำถูกหน้าที่ในแพ
    นั้นบ้างหรือหนอ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นชื่อว่าทำไม่ถูก พระเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาค
    ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษนั้นกระทำอย่างไร จึงจะชื่อว่าทำถูกหน้าที่ในแพนั้น? ในข้อนี้
    บุรุษนั้นข้ามไปสู่ฝั่งแล้ว พึงดำริอย่างนี้ว่า แพนี้มีอุปการะแก่เรามากแล เราอาศัยแพนี้
    พยายามอยู่ด้วยมือและเท้า จึงข้ามถึงฝั่งได้ โดยสวัสดี ถ้ากระไร เราพึงยกแพนี้ขึ้นวางบนบก
    หรือให้ลอยอยู่ในน้ำแล้ว พึงหลีกไปตามความปรารถนา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นกระทำ
    อย่างนี้แล จึงจะชื่อว่ากระทำถูกหน้าที่ในแพนั้น แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรม
    มีอุปมาด้วยแพ เพื่อต้องการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อต้องการยึดถือ ฉันนั้นแล เธอทั้งหลายรู้ถึง
    ธรรมมีอุปมาด้วยแพที่เราแสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลาย พึงละแม้ซึ่งธรรมทั้งหลาย จะป่วยกล่าวไป
    ไยถึงธรรมเล่า.

    ----
    ธรรมเปรียบเหมือนแพ ไม่มีแพไม่ถึงฝั่ง
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,029
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    อนุโมทนาสาธุค่ะ ทั้งอ่านทั้งฟังหลายเที่ยวค่ะ ฟังที่ไรก็เศร้าทุกที่ ขอบพระคุณมากค่ะท่านอุรุเวลา
     
  16. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    อนุโมทนาครับ

    ----
    ขอให้เจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรม
     

แชร์หน้านี้

Loading...