การสวดมนต์ภาวนาที่มีอานิสงส์ มีบุญขั้นสูง เป็นทั้งสมาธิและวิปัสสนา เรียกว่า ภาวนามัย

ในห้อง 'บทสวดมนต์ - คาถา' ตั้งกระทู้โดย yut_sss, 13 มีนาคม 2007.

  1. yut_sss

    yut_sss เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    44
    ค่าพลัง:
    +15,187
    บทสวดมนต์แปล

    พระอาจารย์ ดร.สิงห์ทน นราสโภ





    บทนำ

    การสวดมนต์ภาวนาเป็นการทำบุญขั้นสูงสุด คือ การได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ศึกษาธรรมจากพระองค์และพระอริยะสาวก เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ เมื่อพระอานนท์เถระได้ทูลถามว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพาน พระองค์จะตั้งใครเป็นตัวแทน พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า "ธรรม" ได้แก่สิ่งที่พระองค์ได้ตรัสสอนไว้ จะเป็นตัวแทนพระองค์ พระองค์ตรัสในทำนองเดียวกันนี้ แก่พระวักกลิว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา"

    ฉะนั้น การสวดมนต์โดยใช้พระสูตรที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนจนเป็นเหตุทำให้เกิดพระพุทธศาสนาาขึ้นมา เกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขึ้นมา ก็เนื่องจากพระสูตรสำคัญดังต่อไปนี้ คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร, อนัตตลักขณสูตร, อาทิตตยปริยายสูตร, มหาสติปัฏฐานสูตร, ธัมมนิยามสูตร เป็นต้น จึงเป็นการสวดมนต์ภาวนาที่มีอานิสงส์ มีบุญขั้นสูง เป็นทั้งสมาธิและวิปัสสนา เรียกว่า "ภาวนามัย"

    สาเหตุที่ทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เนื่องจากผู้ได้อ่านหนังสือ "ธรรมะของพระแท้" พิมพ์ที่นิตยสารโลกทิพย์ จากหน้า 9 วรรคที่ 2 มีความว่า "ขณะที่ไปร่วมกิจกรรมที่ สถานปฏิบัติธรรมโลกทิพย์ อาจารย์รังษีญาณ ผู้มีญาณพิเศษ ได้พูดขึ้นมาว่า ขณะที่อาจารย์สวดมนต์ตอนเช้ามืด ได้ยินเสียงในห้องโถงใหญ่เต็มไปด้วยพระ มีเสียงกระหิ่มดังเป็นที่น่าอัศจรรย์ เมื่อลุกขึ้นมาดูแล้ว เห็นท่านอาจารย์สิงห์ทนสวดมนต์อยู่รูปเดียว แล้วอาจารย์รังษีญาณก็พูดเป็นเชิงถามว่ ตัวอาจารย์ท่อนบนขาวใส ท่อนล่างมีสีแดงแจ่มใสเพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น ภายหลังท่าน (อาจารย์สิงห์ทน) อภิบายให้ลูกศิษย์ฟังว่า หากสวดมนต์โดยใช้พระสูตรหลัก คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร, อนัตตลักขณสูตร, อาทิตตยปริยายสูตร, มหาสติปัฏฐานสูตร, ธัมมนิยามสูตร ตัวจะใส เป็นหลักที่เรียกว่า "สจิตตปริโยทปนํ" การชำระจิตใจให้ผ่องใสจึงได้จุดประกายแห่งผู้ศรัทธา เป็นเจ้าภาพในการพิมพ์พระสูตรหลัก ดังที่กล่าวมานี้"

    บางท่านเข้าใจผิด เชื่อไปตามคำกล่าวที่ว่า "สวดมนต์คือยาทา ภาวนาคือยากิน" ไปแยกสวดมนต์เป็นส่วนหนึ่ง ภาวนาเป็นอีกส่วนหนึ่ง ความจริงคนโบราณเขากล่าวไว้ เขาใช้คำว่า "สวดมนต์ภาวนา" มานานแล้ว แทนที่จะอธิบายให้ผู้ที่สวดมนต์รู้คุณค่าของการสวดมนต์อย่างถูกต้อง กลับไปพูดแบบให้ผู้สวดมนต์อยู่แล้วเลิกสวดมนต์ไปเลย ให้นั่งหลับตาภาวนาอย่างเดียว
    การสวดมนต์ภาวนาของพระพุทธศาสนา มิใช่เป็นการอ้อนวอนเพื่อรอผล การสวดมนต์ภาวนาได้รับผลทันที ทั้งทางกายและจิตใจ อาจเรียกว่า การตั้งโปรแกรมจิตก็คงไม่ผิด คือ ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า สวดมนต์ภาวนาเพื่ออะไร มีบทสวดมนต์มากมาย เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ดังกล่าวไว้ในหนังสือ "พลังรังษีธรรม"

    ขอโปรดได้รับทราบไว้ด้วยว่า การสวดมนต์เปล่งเสียงออกมานั้นแหละ จะช่วยให้กายและใจสงบ เมื่อสวดมนต์ด้วยความศรัทธาในพระรัตนตรัย พอเริ่มสวดก็เกิดปีติ เกิดความสุขแล้ว บางท่านนั่งหลับตา หากทำแล้วเกิดปีติเกิดความสุข จิตใจมั่นคงก็ดีจริงๆ แต่ส่วนใหญ่ถามดูเถิด นั่งแล้วได้อะไร ได้ความง่วง ได้เหน็บ ได้ความปวดเมื่อย ก็เลยเลิกเข้าวัดไปเลย ยิ่งบางสำนักบังคับให้นั่งขัดสมาธิ ถ้านั่งไม่ได้ก็อย่าภาวนาเลย ญาติโยมก็เลยกลัวการภาวนาไปเลย
    ความจริงการภาวนา จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ได้ สำคัญอยู่ที่ทำอย่างไรจะมีสติควบคุมมิให้ พูด คิดในสิ่งที่เป็นบาป อกุศล ทุจริต เท่านั้น ต้องมีสติควบคุมกาย วาจา ใจ ให้ได้ โดยเฉพาะใจ ถ้าควบคุมได้ สั่งได้จะ ภาวนากี่ชั่วโมงก็ได้ เบื้องแรกจะต้องฝึกตะล่อมใจให้ได้ก่อน กัมมัฎฐาน 40 ที่ท่านเอามาแสดงเป็นตัวอย่างไว้ ก็เพื่อจะตะล่อมจิตไปตามจริตอุปนิสัยของคนแต่ละคนนั่นเอง มิใช่เพียง 40 วิธีเท่านั้น หากอ่านจากพระไตรปิฎก ยังมีอีกมากมายหลายวิธ
    การสวดมนต์ ก็คือ การภาวนาแบบอนุสตินั่นเอง เป็นได้ทั้งพุทธานุสติ, ธัมมานุสติ, สังฆานุสติ เป็นได้ทั้งการเจริญภาวนา พรหมวิหารอัปปมัญญา โดยเฉพาะผู้มีศรัทธาจริตหรือมีศรัทธาแก่กล้าจะช่วยให้เกิดปีติ เกิดความสุข จิตใจเบิกบาน แจ่มใส ทำให้เกิดพลัง หายโรคภัย ดังที่หมออเมริกัน เขาทำการวิจัยแล้วเขียนไว้ว่า สวดมนต์ทำให้เกิดพลังรักษาโรคได้ทุกชนิด หากมีศรัทธา เมื่อมีศรัทธาแล้ว สมาธิและปัญญาที่แท้จริงก็ตามมา

    อนึ่ง พลังงู หรือ พลังนาคปรก ก็เกิดขึ้นจากการสวดมนต์นี้เอง เสียงทุกเสียงที่เปล่งออกมาจะช่วยกระตุ้น พลังนาคปรก ให้ตื่นขึ้นมาจากก้นกบถึงกระหม่อม
    อดีตรองกงศุลอเมริกันที่เชียงใหม่ เป็นมะเร็งจนกระทั่งหมอแผนจจุบันหมดทางรักษา ได้อ่าน หนังสือกุณฑาลินี เป็นภาษาสันสกฤตและอังกฤษแล้วปฏิบัติตามคำแนะนำของหนังสือเล่มนั้น ซึ่งแนะนำว่า เสียงสระและพยัญชนะ ทุกตัวจะกระตุ้นศูนย์พลังต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวเรา และจะกระตุ้นพลังนาคปรก หรือพลังงูให้เกิดขึ้น เริ่มต้นแต่ก้นกบถึงกระหม่อม เมื่อพลังนาคปรกเกิดขึ้น วิ่งขึ้นไปถึงกระหม่อมจะมีปีติ มีความสุขอย่างสูงสุดจะหายจากความเจ็บปวด จากพิษของมะเร็งอย่างสิ้นเชิง ท่านได้ปฏิบัติตามแล้ว ก็ได้รับผลดังกล่าวจริง

    หนังสือเล่มนี้หายากมาก หนังสือเล่มนี้ขณะนี้อยู่ที่ผู้เขียน (พระอาจารย์สิงห์ทน) เก็บรักษาไว้ และขณะนี้ท่านอดีตรองกงศุลอเมริกันหายจากการป่วยเป็นมะเร็งอย่างสิ้นเชิง คุณยายทองเจือก็หายจากโรคมะเร็ง ดังกล่าวอ้างใน หนังสือพลังรังษีธรรม นั้น

    อนึ่ง แม่ชีที่ได้รับการฝึกหัดอบรมมาแบบคริต์ ภายหลังได้บวชชีได้ปฏิบัติโดยการสวดมนต์ แล้วได้เกิดซาบซึ้งในผลแห่งการสวดยอดพระกันฑ์ไตรปฎิก จนสามารถเข้าใจอธิบายคาถาหรือคำย่อจากหัวใจยอดพระกัณฑ์ไตรปฎิก ดังที่กล่าวในหนังสือพลังรังษีธรรม

    หน้า 16-17 "ทั้งๆ ที่ไม่เคยเรียนรู้ทางทฤษฎีมาก่อนเลย พระโสดาบันคือใคร เพราะเหตุไรจึงชื่อโสดาบัน แต่สามารถอธิบายได้อย่างถูกต้อง หากพุทธศาสนิกชนปฏิบัติได้อย่างแม่ชี พุทธศาสนาคงจะเจริญรุ้งเรือง คงจะมีคนตั้งใจปฎิบัติ สวดมนต์ภาวนามากยิ่งขึ้นเป็นแน่"

    การสวดมนต์ภาวนามีอานิสงส์ มีประโยชน์อย่างไร หาอ่านได้จากหนังสือ "พลังรังษีธรรม" และ "ธรรมะของพระแท้" ได้กล่าวไว้พอสมควรแล้ว พระสูตรทั้ง 5 ถือว่ามีความสำคัญ หากนำมาสวดด้วยความเข้าใจ จะให้ประโยชน์ทั้งกายและใจ

    ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เปิดเผยถึง "ธรรม" ที่พระพุทธองค์ค้นพบจนเป็นเหตุให้เกิดมีพระอริยะสงฆ์ เป็นพยานในการตรัสรู้ของพระพุทธองค์
    อนัตตลักขณสูตร เป็นการอธิบาย หลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้แจ่มแจ้ง เมื่อแสดงทุกขลักษณะในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เบญจวัคคีย์ที่ยังยือมั่นในอัตตาที่ลัทธิพราหมณ์ยึดถือกันว่า มีสภาวะเป็นสิ่งอมตะจริงแท้ เป็นสภาวะที่รู้ทุกสิ่ง และมีแต่ความสุขความเพลิดเพลินพระพุทธองค์จึงได้แยกแยะให้เห็นความจริงของอัตตาอย่างแจ่มแจ้งว่ามันมีความเปลี่ยนแปลง มีแต่ความทุกข์ และไม่มีสาระอะไร พระสูตรนี้ทำให้เกิดพระอรหันต์ขึ้นในโลก
    อาทิตตปริยายสูตร เป็นการอธิบายให้ทราบถึงโทษภัยของตัณหา หรือราคะ โทสะ โมหะ มันร้ายแรง มันเผาให้ร้อน มันเท่ากับความร้อนของพระอาทิตย์ มิใช่เผาให้ร้อนในชาตินี้เท่านั้น มันตามไปเผาทุกชาติที่เกิด

    ธัมมนิยามสูตร เป็นการอธิบายให้เห็นไตรลักษณ์ เป็นกระบวนการต่อเนื่อง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ยก ทุกขลักษณะ ขึ้นแสดงนำ อนัตตลักขณสูตร ยก อนัตตลักษณะ ขึ้นมาแสดงนำ ส่วน ธรรมนิยามสูตร ยก อนิจจลักษณะ ขึ้นมาแสดงนำ

    สติปัฎฐาน คือ หลักในการฝึกปฏิบัติอย่างละเอียด คำว่า "สติ" คือ อะไร พระพุทธองค์ตรัสนิยามไว้อย่างชัดเจนในมหาสติปัฏฐานสูตร ในหนังสือเล่มนี้ได้ใช้บทย่อมหาสติปัฎฐานมาเป็นบทสวด หากเข้าใจก็สามารถใช้เป็นกุญแจเปิดทำความเข้าใจมหาสติปัฎฐานสูตรได้เป็นอย่างดี เมื่อกล่าวโดยย่อ มหาสติปัฏฐาน ได้กล่าวถึง การเอาสติไปตั้งไว้ หรือ ไปกำกับสิ่งดังต่อไปนี้ นอกจากที่กล่าวว่าเป็น กาย เวทนา จิต และธรรม อาจแยกเป็นกัมมัฎฐานดังที่ได้กล่าวไว้ในมหาสิตปัฏฐานสูตร ดังต่อไปนี้ คือ

    1. เอาสติไปกำกับลมหายใจ เข้า-ออก
    2. เอาสติไปกำกับอริยาบท 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
    3. เอาสติไปกำกับอาการ 32 มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น
    4. เอาสติไปกำกับธาตุทั้ง 4
    5. เอาสติไปกำกับร่างกาย มีสภาวะเป็นซากศพ มีลักษณะต่างๆ 9 อย่าง
    6. เอาสติไปกำหนดพิจารณา เวทนา 9
    7. เอาสติไปกำหนดพิจารณา จิต 16 อย่าง
    8. เอาสติไปกำหนดพิจารณา นิวรณ์ 5
    9. เอาสติไปกำหนดพิจารณา ขันธ์ 5
    10. เอาสติไปกำหนดพิจารณา อายตนะ 6
    11. เอาสติไปกำหนดพิจารณา องค์แห่งการตรัสรู้ 7 หรือโพชฌค์ 7
    12. เอาสติไปกำหนดพิจารณา อริยสัจ 4

    หลักการและวิธีปฏิบัติ ก็เป็นไปตามที่กล่าวไว้ในการเอาสติไปกำกับไปกำหนดพิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรม ดังที่ได้แปลและอธิบายไว้ใน สติปัฏฐานปาฐะ นั้นแล้ว คือ มิให้มีการยึดมั่นในตัวตนแม้นิดเดียว เมื่อไม่มีตัวตน กิเลสก็ไม่มีที่อาศัย เมื่อมันไม่มีที่อาศัย มันจะทำให้เกิดความทุกข์ได้อย่างไร พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "สติเป็นสารถีผู้คอยอารักขา (สติ อารกฺขสารถิ - สํ มหาวาร - 19/7) สติเป็นยอดแห่งธรรม เป็นที่พึงประสงค์ทุกสถาน ทุกกาลเวลา จิตมีสติเป็นที่พึ่ง และสติจะช่วยระวังรักษาหากปราศจากสติเสียเแล้ว การประคองจิต การข่มจิต ก็จะมีไม่ได้เลย

    การปฏิบัติตามหลักสติปัฎฐาน เบื้องต้นเป็น โลกีย์มัคค์ คือ ให้สำเร็จประโยชน์ ในทางโลกทำอะไรก็จะสำเร็จ เรียบร้อย เป็นที่ชื่นชม ครั้นปฏิบัติแบบต่อเนื่อง จะดำเนิน จะก้าวไปสู่การบรรลุ โลกุตตรมัคค์ ที่เรียกว่า เอกายนมัคค์ ก็มีความหมายชัดเจนแล้วว่า เป็นทางเดียวเท่านั้น ถ้าดำเนินไปดวยความมีสติ จะไม่หลงทางแน่นอน

    ในภัทเทกรัตตคาถา 14/348/527 พระพุทธเจ้า ได้ตรัสสรรเสริญผู้มีสติอยู่กับปัจจุบันว่า "ผู้บำเพ็ญภาวนา (หรือผู้ฝึกสติ) ไม่ควรกังวลถึงสิ่งที่ผ่านไป ทั้งไม่ควรพะวงถึงสิ่งที่ยังเป็นอนาคต สิ่งที่เป็นอดีตก็ผ่านไปแล้วสิ่งที่เป็นอนาคตก็ยังมาไม่ถึง

    ควรที่จะมีสติกำหนดพิจารณาถึงสิ่งที่เป็นปัจจุบัน คือ มีสติอยู่กำกับปัจจุบันให้แจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน คือมีสติระวังาอยู่เสมอพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ จนกระทั้งรู้แจ้งความเป็นจริง ควรเพียรพยายาม เผาทำลายกิเลสชั่วร้ายเสียในวันนี้ ใครจะพึงรู้อย่างแน่ชัดว่า จะตายวันพรุ้งนี้เพราะไม่มีโอกาสที่จะต่อรองหรือผัดเพี้ยนกับพญามัจจุราช คือ ความตายซึ่งมาพร้อมกับไพร่พลที่พร้อมที่จะทำให้ตาย ผู้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงผู้ใฝ่ความสงบย่อมกล่าวถึงผู้เพียรพยายาม เผาทำลายกิเลสอยู่เสมอเช่นนั้นไม่เกียจคร้านตลอดทั้งกลางวันกลางคืนว่า "แม้เป็นผู้มีชีวิตอยู่เพียงคืนเดียวว่า เป็นผู้มีแต่ความดีงาม มีแต่ความเจริญก้าวหน้าที่แท้จริง" (อตีตัง นานวาคะเมยยะ ฯลฯ)

    ในอริยธนคาถา (19/510/1622) ก็ได้กล่าวยืนยันไว้ว่า "ผู้ที่มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธเจ้า ไม่หวั่นไหว มีศีลอันงาม (ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่างพร้อย) พระอริยเจ้าพอใจ สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระอริยสงฆ์ทั้งมีความเห็นถูกต้องตามหลักธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ย่อมได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้ไม่ยากจน (ด้วยอริยทรัพย์) ชีวิตของเขาผู้นั้น ไม่พลาดจากประโยชน์อันควรจะได้ เพราะฉะนั้นเมื่อน้อมระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้ที่รู้จริง ควรสร้างเสริมศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส ทั้งการเห็นธรรมด้วยภาวนามยปัญญาให้ต่อเนื่อง"

    การสวดมนต์ภาวนา ถือว่าเป็นการเจริญอานาปาสติควบคู่ไปด้วย ทั้งเป็นการฝึกลมหายใจให้ลึกยาว ช่วยให้ได้รับพลังหรือออกซิเจน เวลาหายใจเข้า ขณะที่สวดเปล่งเสียงออกไปเป็นการขจัดคาร์บอนไดออกไซค์ หรือมลพิษออกจากตัว ยิ่งสวดได้มากเท่าไรก็สามารถขับมลพิษออกไปได้มากเท่านั้นเรียกว่า เป็นการออกกำลังกายภายใน และช่วยให้จิตใจแน่วแน่มั่นคง สงบมีสติกำกับอยู่กับบทสวดมนต์นั้นๆ

    แม้แต่ภาวนาว่า "พุท" หายใจเข้า "โธ" หายใจออก ช่วยให้หลายท่านบรรลุความเป็นอริยะแล้ว หากสวดมนต์ภาวนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยบทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ พร้อมกับนำธรรมที่พระพุทธองค์ได้ค้นพบแล้วนำมาตรัสสอน มาทบทวน มาพิจารณาาอย่างต่อเนื่องอย่างมีปีติ สุข ช่วยให้ใจว่างจากนิวรณ์ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาเกิดขึ้นแล้ว ทุกสิ่งคงจะเป็นไปดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า " สมาธิ ภิกฺขเวภาเวถ สมาหิโต ภิกฺขเว ยถาภูตํ ปชานาตีติ" "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงบำเพ็ญสมาธิภาวนา ผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง" คือ เมื่อจิตตั้งมั่นหรือมีสมาธิ (สมาหิโต) จิตก็ใสสว่าง (ปริสุทฺโท) แล้วสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งโลกียะและโลกุตตระ (กมฺมนีโย) คงจะเป็นดังแม่ชีที่ได้รับทราบ ซึ่งในพระธรรมขณะสวดมนต์ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นแล้วกระมัง

    จากพระไตรปิฏก สังยุตตนิกาย มหาวรรค (19/417) พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "ดูก่อนอานนท์ "ธรรม" อย่างเอก ได้แก่ อานาปานสติสมาธิ ใครก็ตามทำให้เกิดขึ้น จะช่วยให้ สติปัฎฐาน 4 เกิดขึ้นครบถ้วน สติปัฎฐาน เมื่อเกิดขึ้นครบถ้วน ทำให้มากๆ ขึ้น จะช่วยให้ โพชฌงค์ 7 คือ สติ ธัมมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา เกิดขึ้นครบถ้วนเมื่อ โพชฌงค์ 7 เกิดขึ้นครบถ้วน จะช่วยให้ได้ วิชชา (อาจเป็น วิชชา 3 คือ ระลึกชาติได้, รู้เห็นการเวียนตายเกิดของสรรพสัตว์อันเป็นไปตามกรรมหรือเรียกว่าได้ตาทิพย์ และญานหยั่งรู้ที่ช่วยให้สิ้นอาสวะ หรืออาจเป็น วิชชา 8 ได้แก่ 1 ญาณที่พิจารณาเห็นสังขาร ได้แก่นามรูปเป็นไตรลักษณ์ 2. มีฤทธิ์ 3. แสดฤทธิ์ได้ 4. มีหูทิพย์ 5. กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ 6. ระลึกชาติได้ 7. มีตาทิพย์ 8. ญาณหยั่งรู้ที่ช่วยให้สิ้นอาสวะ) ทั้งวิมุติ คือ ความหลุดพ้นก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์"

    อนึ่ง สติปัฎฐาน โดยเฉพาะ อานาปานสติสมาธิ ช่วยให้จิตใจมั่นคงไม่ตกเป็นทาษอารมณ์ชั่ววูบ ช่วยไม่ให้เอียงเอนไปสู่ความชั่วร้าย ให้ประสบความสำเร็จ ในการควบคุมตัวเอง และสำเร็จในหน้าที่การงาน ช่วยให้ไม่เครียด ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มีหน้าตาผ่องใส มีสง่าราศรี ชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองรักษาตนเอง และคุ้มครองรักษาผู้อื่นด้วย

    โปรดทราบไว้ด้วย อานาปานสติสมาธิ เป็น การฝึกต่อยอด จากลัทธิพราหมณ์ที่เรียกว่า ปฎิบัติแบบโยคะ คือ จะมีการฝึกหายใจให้ลึกยาวเสียก่อน เพื่อจะช่วยให้ระบบหายใจไม่มีปัญหา เพื่อให้มีพลังสำรองเพียงพอ
    พระพทธเจ้าจึงตรัส กายานุปัสนาสติปัฎฐาน ไว้ดังนี้

    1. หายใจเข้ายาว ก็กำหนดรู้ด้วยความมีสติว่า หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว ก็กำหนดรู้ด้วยความมีสติว่า หายใจออกยาว
    2. หายใจเข้าสั้น ก็กำหนดรู้ด้วยความมีสติว่า หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น ก็กำหนดรู้ด้วยความมีสติว่า หายใจออกสั้น
    3. กำหนดรู้ลมหายใจที่ว่าเป็นกาย ให้รู้ว่ามันผ่านไปตรงไหนของกาย ด้วยความมีสติทั้งหายใจเข้า หายใจออก
    4. ทำลมหายใจให้แผ่วลงด้วยความมีสติ ให้ลมหายใจละเอียดลง เบาลงแผ่วลง จนกระทั้งเหมือนกับไม่หายใจ หรือมีลักษณะคล้ายคนตาย แต่ยังไม่ตาย เพราะยังมีลมหายใจที่แผ่วมาก แล้วจิตจะตกภวังค์ เปลี่ยนเป็น ฌาณจิต ที่มีองค์ประกอบคือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา วิตกจิต อยู่กับลมหายใจด้วยความมีสติ วิจารจิต อยู่กับลมหายใจแบบต่อเนื่องแล้ว เกิด ปีติ อิ่มอกอิ่มใจ มีความ สุข กาย สบายใจ ไม่เป็นเหน็บ ไม่ปวดเมื่อย จิตจะ แน่วแน่มั่นคง อยู่กับลมหายใจ ด้วยความมีสติเท่านั้น


    เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน

    1. ต่อจากนั้น กำหนดพิจารณาปีติด้วยความมีสติ หายใจเข้า หายใจออก
    2. กำหนดพิจารณา ความสุข ด้วยความมีสติหายใจเข้า หายใจออก
    3. กำหนดพิจารณาสัญญา เวทนา คือ ทั้งการกำหนดรู และรู้สึกด้วยความมีสติ หายใจเข้า หายใจออก
    4. กำหนดพิจารณาระงับสัญญาและเวทนา ด้วยความมีสติ คือ มิให้มันครอบงำ ทั้งหายใจเข้า หายใจออก


    จิตตานุปัสสนาสติปีฎฐาน

    1. กำหนดพิจารณาจิต ให้ รู้ ทั่วถึงด้วยความมีสติ ทั้งหายใจเข้าและหายใจออก
    2. กำหนดพิจารณาทำจิต ให้ ปราโมทย์ ด้วยความมีสติ ทั้งหายใจเข้าและหายใจออก
    3. กำหนดพิจารณาจิต ให้ ตั้งมั่น เป็นสมาธิ ด้วยความมีสติ ทั้งหายใจเข้าหายใจออก
    4. กำหนดพิจารณาจิต ให้ ปล่อยวาง ให้จิตว่าง ทั้งหายใจเข้า หายใจออก


    ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน

    1. กำหนดพิจารณา ให้เห็นความไม่เที่ยง ด้วยความมีสติอยู่เสมอ ทั้งหายใจเข้าและหายใจออก
    2. กำหนดพิจารณา ให้เห็นความเป็นอิสระ ไม่ยึดติดอะไร ไม่ถูกครอบงำด้วยความมีสติ ทั้งหายใจเข้าและหายใจออก
    3. กำหนดพิจารณา ให้เห็นความดับกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์มิให้กิเลสหลงเหลืออยู่ด้วยความมีสติ ทั้งหายใจเข้าและหายใจออก
    4. กำหนดพิจารณา ให้เห็นว่า สลัดคืนด้วยความมีสติ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรอีกแล้ว ไม่มีอะไรแม้แต่นิดเดียว ที่มีตัวตน ไม่มีอะไรที่จะมีสาระ สลัดได้ทั้งบุญ และบาป มีแต่อนัตตาเท่านั้น ที่เป็นปรมัตถธรรม

    การสวดมนต์ภาวนา ต้องปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า มิใช่การอ้อนวอน ควรให้เป็นอธิษฐานธรรม คือ เป็นการปฏิบัติด้วยการตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่ มั่นคง โดยยึดหลัก 4 ประการ คือ 1. ให้เกิดปัญญา 2. ให้เกิดมีความจริงใจ (สัจจะ) 3. ต้องปฎิบัติตน เป็นผู้เสียสละ มิใช่เห็นแก่ได้ด้วยอำนาจโลภะ (จาคะ) 4. เป็นการปฏิบัติตน เพื่อให้เกิดความสงบ จากสิ่งที่ร้าย สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย (อุปสมะ)

    ฉะนั้น สวมมนต์ภาวนา จึงเป็นการเสริมสร้าง อิทธิบาทธรรม คือ ธรรมที่ช่วยให้บรรลุความสำเร็จหรืออิทธิฤทธิ์ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างเช่น หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี เป็นต้น มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อาจช่วยให้สำเร็จได้ทั้งโลกียะ และขั้นโลกุตตระ หากเปรียบเทียบกับคำกล่าวของนักจิตวิทยา นักการแพทย์ สมัยใหม่ สวดมนต์ภาวนา เป็น Positive Thinking คิดในทางบวก ให้บรรลุเป้าหมาย ให้สำเร็จสิ่งที่ประสงค์ คิดถึงสิ่งที่ดีงาม ไม่คิดแบบ Negative คือ คิดในทางลบ คิดในทางไม่ดี ทางร้ายทำให้เกิดความท้อแท้ ดังหมออเมริกัน คือ ดร.แอนดรู ไวลด์ กล่าวไว้ว่า "ร่างกายรักษาตัวมันเองได้ หากเรารู้จักวิธีปฎิบัติตน" (The body can heal itself if we know how to active it)

    การสวดมนต์ภาวนา เป็นเสมือนหนึ่ง การตั้งโปรแกรมจิต คล้ายกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับอะไรก็ตาม ก็ตั้งโปรแกรมจิตหรืออธิษฐานจิตไว้ แล้วปล่อยให้มันอยู่ในจิตใต้สำนึก ครั้นแล้วตั้งใจสวดด้วยความมีสติ ให้เป็นบุญที่แท้จริง คือ ให้เป็น ทาน คือ ธรรมทาน เป็น ศีล คือ ควบคุมกายวาจาด้วยความเคารพต่อพระรัตนตรัย เป็น ภาวนา คือ สวดมนต์น้อมระลึกเอาคุณพระรัตนตรัยมาใส่ตนด้วยความมีสติ เมื่อจิตใจอยู่กับบทสวดมนต์ แบบต่อเนื่องจะเกิดปีติ เกิดความสุข ขณะนั้น ต่อมเอ็นโดไครน์ จะหลั่ง สารเอ็นดอร์ฟิน หรือสารสุข ออกมา จะทำให้จิตมีสมาธิ เมื่อจิตดิ่งาเข้าสู้สมาธิแล้ว เสียงที่เปล่งออกมาจะแผ่วลง แล้วหยุดไป จิตจะไปกำหนดลมหายใจ หรือภาพประทับใจจะเป็นอะไรก็ได้ หรือที่รู้เห็นกันว่า เมื่อจิตใจมีสมาธิ (สมาหิโต) จิตใจก็จะว่าง จะใส สว่าง สงบ (ปริสุทโธ) แล้วก็สามารถอธิษฐาน หรือนำไปใช้งานทั้งโลกียะและโกกุตระได้ (กัมมะนิโย)

    ฉะนั้น ความสำเร็จในสิ่งที่ประสงค์ อันเกิดจากการสวดมนต์ภาวนาเกิดจากการปฎิบัติตนดังกล่าวมานี้เอง หรือ จะสวดภาวนาคาถาอื่นก็ตามอย่าลืมหลัก ทาน ศีล ภาวนา อย่าลืมภาวนาแผ่พรหมวิหารธรรม อัปปมัญญษธรรม แก่สรรพสัตว์ และแก่ตนเอง ดังต่อไปนี้

    สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ, อัพยาปัชฌา โหนตุ
    อะนีฆา โหนตุ สุขีอัตตานัง ปะริหะรันตุ (เมตตา)
    สัพเพ สัตตา สัพพะทุกขา ปะมุจจันตุ (กรุณา)
    สัพเพ สัตตา สัทธเสัมปัตติโต มาวิคัจฉันตุ (มุทิตา)
    สัพเพ สัตตา กัมมัสสะกา กัมมะทายาทา (อุเบกขา)
    กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ กัมมะปะฏิสะระณา
    ยัง กัมมัง กะริสสันติ กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา
    ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ
    อะหัง อะโรโค โหมิ อะเวโร โหมิ
    อัพยาปัชโฌ โหมิ อะนีโฆ โหมิ
    สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิฯ

    ขอให้สรรพสัตว์ ผู้เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมด ทั้งสิ้น อย่ามีเวรต่อกันเลย อย่าพยาบาทปองร้ายกันเลย อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย ขอให้มีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด (แผ่เมตตา) ขอให้สรรพสัตว์ จงพ้นจากความทุกข์โดยประการทั้งปวงเถิด (แผ่กรุณา) ขอให้สรรพสัตว์ อย่าได้ปราศจากและอย่าได้พลัดพราก จากสมบัติและบุคคลที่เป็นที่รัก ที่ตนมีอยู่เถิด (แผ่มุทิตา) สรรพสัตว์มีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิดมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม จักเป็นผู้ได้รับผลแห่งกรรมนั้น (แผ่อุเบกขา)

    บุญกุศลใดๆ ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมา ขออุทิศบุญกุศลเหล่านั้น แก่เจ้ากรรมนายเวร เทพาอารักษ์ ตลอดจนผู้มีพระคุณทั้งหลายทั้งปวง มีมารดาบิดา ครู อาจารย์ เป็นต้น ขอให้ข้าพเจ้าหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ขออย่าได้มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ขออย่ามีเวรกับใครเลย ขออย่ามีใครมาพยาบาทปองร้ายเลย ขออย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย ขอให้มีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

    การบำเพ็ญภาวนาโดยอาศัยหลัก พรหมวิหารธรรม หรือ อัปปมัญญาธรรม ช่วยให้ บรรลุฌาณ หรือ อัปปนาสมาธิได้ เมื่อจิตมีสมาธิแม้แต่ โลกียฌาณ ก็ช่วยให้สำเร็จในสิ่งที่เป็น โลกียะได้ ดังกรณีของพระเทวทัตเป็นตัวอย่าง โปรดทำความเข้าใจให้ดีว่ โลกียฌาณเสื่อมได


    คุณประยงค์ ตั้งตรงจิตร กลายเป็นเศรษฐี เพราะรู้จักการใช้ คาถาหลวงพ่อปาน บทที่ว่า
    พุท ธะ มะ อะ อุ นะโม พุทธายะ
    วิ ระ ทะ โย วิ ระ โค นา ยัง
    วิ ระ หิง สา วิ ระ ทา สี
    วิ ระ ทา สา วิ ระ อิต ถิ โย
    พุทธัสสะ มานีมามะ พุทธัสสะ สวาโหมฯ

    คาถาบทนี้ จะขลังก็ต่อเมื่อ สวดภาวนาบทนี้ ก่อนให้ทาน ขณะให้ทาน หลังให้ทาน และภาวนาทุกเวลา ที่ว่างจากภารกิจ ซึ่งเป็นคำสั่งของหลวงพ่อปาน คือ ทาน ศีล และภาวนา ให้ครบถ้วน ทุกวันนั้นเอง คาถานี้จึงจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติ คือ ทาน ศีล และภาวนา ให้ครบถ้วน ทุกวันนั่นเอง คาถานี้จึงจะช่วยให้ผู้ปฎิบัติอย่างแท้จริง ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่ประสงค์ มิใช่ใช้คาถาสักแต่ว่า ว่าตามด้วยอำนาจกิเลสตัณหา ไม่เคยให้ทาน ไม่รักษาศีล ไม่เข้าใจในการภาวนา คิดอยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้เท่านั้น มันจะสำเร็จได้อย่างไร?




    http://www.waluka.com/main/index.php?option=content&task=view&id=36&Itemid=36
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 31 มกราคม 2009
  2. ธูปหอม

    ธูปหอม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ธันวาคม 2006
    โพสต์:
    66
    ค่าพลัง:
    +291
    ขอบคุณค่ะ และ อนุโมทนาบุญค่ะ

    ดิฉันเข้าใจแล้วค๊ะ หลังจากที่สงสัยมานาน
     
  3. simking

    simking เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    135
    ค่าพลัง:
    +436
    สาธุ สาธุ สาธุ เจริญในธรรมทานเป็นอย่างยิ่งค่ะ ขอให้ัเจ้าของโพสต์มีความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมค่ะ ขอน้อมนำคำสอนนี้ไปปฏิบัติต่อนะคะ นิพพานัง ปรมังสุขขัง ค่ะ
     
  4. เมตตรัยยะ

    เมตตรัยยะ สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    1
    ค่าพลัง:
    +0
    ขออนุโมทนาบุญที่เกิดจากการเผยแพร่ความรู้ทางธรรมที่ท่านนำมาด้วยคนนะครับ สาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...