มัชฌิมาปฏิปทา หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 17 กุมภาพันธ์ 2011.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    มัชฌิมาปฏิปทา

    สิงหาคม 2518

    วัดป่าบ้านตาด


    ใน “มัชฌิมาปฏิปทา” ท่านตรัสไว้ว่า “สมฺมาทิฏฺฐิ ความเห็นชอบ” คำว่า “เห็นชอบ” ทั่วๆไปก็มี เห็นชอบในวงจำกัดก็มี และเห็นชอบในธรรมส่วนละเอียดยิ่งก็มี

    ความเห็นชอบของผู้ถือพระพุทธศาสนาทั่วๆไปโดยมีวงจำกัด เช่น เห็นว่าบาปมีจริง บุญมีจริง นรก สวรรค์ นิพพาน มีจริง ผู้ทำดีได้รับผลดี ผู้ทำชั่วได้รับผลชั่ว เป็นต้น นี่ก็เรียกว่า “สมฺมาทิฏฺฐิ” ขั้นหนึ่ง (๑)

    ความเห็นในวงจำกัดของนักปฏิบัติผู้ประกอบการพิจารณา “สติปัฏฐาน” หรือ“อริยสัจสี่” โดยกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นว่าเป็น “ไตรลักษณ์” คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ประจำตนทุกอาการด้วยปัญญา ปลูกศรัทธาความเชื่อลงในสัจธรรม เพราะการพิจารณา “ไตรลักษณ์” เป็นต้นเหตุ และถือไตรลักษณ์ที่มีอยู่ในสภาวธรรมนั้นๆ เป็นทางเดินของปัญญา และพิจารณาในอริยสัจ เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกายและจากใจทั้งของตนและของคนอื่นสัตว์อื่น ว่าเป็นสิ่งไม่ควรประมาทนอนใจ พร้อมทั้งความเห็นโทษใน “สมุทัย” คือแหล่งผลิตทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่สัตว์เสวยผลไม่มีประมาณตลอดกาล และเตรียมรื้อถอนสมุทัยด้วยปัญญา เพื่อก้าวขึ้นสู่ “นิโรธ” คือแดนสังหารทุกข์โดยสิ้นเชิง นี่เรียกว่า “สมฺมาทิฏฺฐิ” ขั้นหนึ่ง (๒)

    “สมฺมาทิฏฺฐิ” ความเห็นชอบในธรรมส่วนละเอียดนั้น ได้แก่ความเห็นชอบในทุกข์ว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง ความเห็นชอบใน “สมุทัย” ว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง ความเห็นชอบใน “นิโรธ” ว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง และความเห็นชอบใน “มรรค” คือศีล สมาธิ ปัญญา ว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความเห็นชอบโดยปราศจากการตำหนิติชมในอริยสัจและสภาวธรรมทั่วๆ ไป จัดเป็น “สมฺมาทิฏฺฐิ” ขั้นหนึ่ง (๓)

    สมฺมาทิฏฺฐิ มีหลายขั้น ตามภูมิของผู้ปฏิบัติในธรรมขั้นนั้นๆ ถ้า สมฺมาทิฏฺฐิ มีเพียงขั้นเดียว ปัญญาจะมีหลายขั้นไปไม่ได้ เพราะกิเลสความเศร้าหมองมีหลายขั้น ปัญญาจึงต้องมีหลายขั้น เพราะเหตุนี้เอง สมฺมาทิฏฺฐิ จึงมีหลายขั้นตามที่อธิบายผ่านมาแล้ว

    ในปฏิปทาข้อสองตรัสว่า “สมฺมาสงฺกปฺโป” ความดำริชอบ มี ๓ ประการ คือ

    (๑) ดำริในการไม่เบียดเบียน หนึ่ง

    (๒) ดำริในการไม่พยาบาทปองร้าย หนึ่ง

    (๓) ดำริเพื่อออกจากเครื่องผูกพัน หนึ่ง

    ดำริในทางไม่เบียดเบียนนั้น คือไม่คิดเบียดเบียนคนและสัตว์ ไม่คิดเบียดเบียนตนเองด้วย ไม่คิดให้เขาได้รับความทรมานลำบากเพราะความคิดของเราเป็นต้นเหตุ และคิดหาเรื่องลำบากฉิบหายใส่ตนเอง ไม่คิดดำริจะกินยาเสพติดมี สุรา ฝิ่น และเฮโรอีน เป็นต้น

    ดำริในความไม่พยาบาท คือไม่คิดปองร้ายหมายฆ่าใครๆ ทั้งสัตว์ทั้งมนุษย์ ไม่คิดเพื่อความชอกช้ำและฉิบหายแก่ใคร ไม่คิดให้เขาได้รับความเจ็บปวดบอบช้ำหรือล้มตายลงไปเพราะความคิดของเราเป็น ต้นเหตุ และไม่คิดปองร้ายหมายฆ่าตัวเอง เช่นคิดฆ่าตัวเองด้วยวิธีต่างๆ ดังปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เสมอ

    นี่คือผลจากความคิดผิด ตัวเองเคยมีคุณแก่ตัวและเป็นสมบัติอันล้นค่าแก่ตัวเอง เพราะความคิดผิดจึงปรากฏว่าตัวกลับเป็นข้าศึกแก่ตัวเอง เรื่องเช่นนี้เคยมีบ่อยๆ ซึ่งมิใช่เรื่องของมนุษย์ผู้ฉลาดจะทำกันละ ทั้งนี้พึงทราบว่าเป็นผลเกิดจาก “ความดำริผิดทาง” ผู้รักษาตัวและสงวนตัวแท้ เพียงแต่จิตคิดเรื่องไม่สบายขึ้นภายในใจเท่านั้น ก็รีบระงับดับความคิดผิดนั้นทันทีด้วย “เนกขัมมอุบาย” ไหนจะยอมปล่อยความคิดที่ผิด ให้รุนแรงขึ้นถึงกับฆ่าตัวตาย เป็นตัวอย่างแห่งความรักตัวที่ไหนมี! นอกจากความเป็นเพชฌฆาตสังหารเท่านั้น

    ความดำริเพื่อออกจากเครื่องผูกมัดนี่ ถ้าเป็นความดำริทั่วๆ ไป ตนคิดอ่านการงานเพื่อปลดเปลื้องตนออกจากความยากจนข้นแค้น เพื่อความสมบูรณ์พูนผลในสมบัติไม่อดอยากขาดแคลน ก็จัดเข้าใน “เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป อย่างอนุโลม” ของโลกประการหนึ่ง

    ผู้ดำริให้ทาน รักษาศีล ภาวนา คิดสร้างถนนหนทาง ก่อพระเจดีย์ ทะนุบำรุงปูชนียสถานที่ชำรุดทรุดโทรม สร้างกุฏิ วิหาร ศาลา เรือนโรงต่างๆ โดยมุ่งกุศลเพื่อยกตนให้พ้นจากกองทุกข์ ก็จัดเป็น “เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป” ประการหนึ่ง

    ผู้ดำริเห็นภัยในความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นไปในสัตว์และสังขารทั่วๆ ไปทั้งเราทั้งเขาไม่มีเวลาว่างเว้น เห็นเป็นโอกาสอันว่างสำหรับเพศนักบวชจะบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นไปตามความหวัง ดำริจะบวชเป็นชี ปะขาว เป็นพระเป็นเณร นี่ก็จัดว่าเป็น ”เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป” ประการหนึ่ง

    นักปฏิบัติมีความดำริพิจารณาอารมณ์แห่งกรรมฐานของตน เพื่อความปลดเปลื้องจิตออกจากนิวรณ์ธรรมทั้งหลายโดยอุบายต่างๆ จากความดำริคิดค้นไม่มีเวลาหยุดยั้ง เพื่อเปลื้องกิเลสทุกประเภทด้วย “สัมมาสังกัปปะ” เป็นขั้นๆ จนกลายเป็น “สมฺมาสงฺกปฺโป อัตโนมัติ” กำจัดกิเลสเป็นขั้นๆด้วยความดำริคิดค้นตลอดเวลา จนกิเลสทุกประเภทหมดสิ้นไปเพราะความดำรินั้น นี่ก็จัดเป็น “สมฺมาสงฺกปฺโป” ประการสุดท้ายแห่งการอธิบายปฏิปทา ข้อ ๒

    ปฏิปทาข้อที่ ๓ ตรัสไว้ว่า “สมฺมาวาจา” กล่าววาจาชอบ ที่กล่าวชอบทั่วๆ ไปก็มี ที่กล่าวชอบยิ่งในวงแห่งธรรมโดยเฉพาะก็มี กล่าวชอบตามสุภาษิต ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ฟัง กล่าวมีเหตุผลน่าฟัง จับใจ ไพเราะเสนาะโสต กล่าวสุภาพอ่อนโยน กล่าวถ่อมตนเจียมตัว กล่าวขอบบุญขอบคุณต่อผู้มีคุณทุกชั้น เหล่านี้จัดเป็น สมฺมาวาจา ประการหนึ่ง

    “สมฺมาวาจา ที่ชอบยิ่ง” ในวงแห่งธรรมโดยจำเพาะนั้น คือกล่าวใน “สัลเลขธรรม”เครื่องขัดเกลากิเลสโดยถ่ายเดียว ได้แก่ กล่าวเรื่องความมักน้อยในปัจจัยสี่เครื่องอาศัยของพระ กล่าวเรื่องความสันโดษ ยินดีตามมีตามได้แห่งปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรมกล่าวเรื่อง “อสังสัคคณิกา” ความไม่คลุกคลีมั่วสุมกับใครๆทั้งนั้น, “วิเวกกตา” กล่าวเรื่องความสงัดวิเวกทางกายและทางใจ “วิริยารัมภา” กล่าวเรื่องการประกอบความเพียร กล่าวเรื่องการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ กล่าวเรื่องทำสมาธิให้เกิด กล่าวเรื่องการอบรมปัญญาให้เฉลียวฉลาด กล่าวเรื่อง “วิมุตติ” คือความหลุดพ้น และกล่าวเรื่อง “วิมุตติญาณทัสสนะ” ความรู้เห็นอันแจ้งชัดในความหลุดพ้น นี่จัดเป็น “สมฺมาวาจา ส่วนละเอียด”

    การกล่าวนั้นไม่ใช่กล่าวเฉยๆ กล่าวรำพันกล่าวรำพึง กล่าวด้วยความสนใจและความพออกพอใจ ใคร่ต่อการปฏิบัติต่อ “สัลเลขธรรม” จริงๆ

    ในปฏิปทาข้อ ๔ ตรัสไว้ว่า “สมฺมากมฺมนฺโต” การงานชอบ การงานชอบทั่วๆ ไปประเภทหนึ่ง การงานชอบในธรรมประการหนึ่ง

    การงานที่ทำโดยชอบธรรมไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง เช่น ทำนา ทำสวน การซื้อขายแลกเปลี่ยน เหล่านี้จัดเป็นการงานชอบ

    การปลูกสร้างวัดวาอาราม และการให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ก็จัดเป็นการงานชอบแต่ละอย่างๆ เป็น สมฺมากมฺมนฺโต ประการหนึ่ง การเดินจงกรม นั่งสมาธิก็จัดเป็นการงานชอบ ความเคลื่อนไหวทางกาย วาจา ใจ ทุกอาการ พึงทราบว่าเป็น “กรรม” คือการกระทำ การทำด้วยกาย พูดด้วยวาจา และคิดด้วยใจ เรียกว่า “เป็นกรรม” คือ การกระทำ ทำถูก พูดถูก คิดถูก เรียกว่า “สัมมากัมมันตะ” การงานชอบ

    คำว่า “การงานชอบ” มีความหมายกว้างขวางมาก แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะน้อมไปใช้ในทางใด เพราะโลกกับธรรมเป็นคู่เคียงกันมา เหมือนแขนซ้ายแขนขวาของคนคนเดียว จะแยกโลกกับธรรมจากกันไปไม่ได้ และโลกก็มีงานทำ ธรรมก็มีงานทำด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากภาวะของคนและการประกอบไม่เหมือนกัน การงานจะให้ถูกรอยพิมพ์อันเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ได้

    ฉะนั้นผู้อยู่ในฆราวาสก็ขอให้ประกอบการงานถูกกับภาวะของตน ผู้ที่อยู่ในธรรมคือนักบวช เป็นต้น ก็ขอให้ประกอบการงานถูกกับภาวะของตน อย่าให้การงานและความเห็นก้าวก่ายและไขว้เขวกัน ก็จัดว่าต่างคนต่าง “สัมมากัมมันตะ” การงานชอบด้วยกัน โลกและธรรมก็นับวันเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ เพราะต่างท่านต่างช่วยกันพยุง

    ปฏิปทาข้อ ๕ ตรัสว่า “สมฺมาอาชีโว” การแสวงหาเพื่อเลี้ยงชีพด้วยการรับประทานตามธรรมดาของมนุษย์และสัตว์ทั่วๆ ไป ประการหนึ่ง การหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยอารมณ์จากเครื่องสัมผัสประการหนึ่ง การแสวงหาอาชีพโดยชอบธรรม ปราศจากการปล้นสะดมฉกลักของใครๆ มาเลี้ยงชีพ หามาได้อย่างไรก็บริโภคเท่าที่มีพอเลี้ยงอัตภาพไปวันหนึ่งๆ หรือจะมีมากด้วยความชอบธรรม ก็จัดว่าเป็น “สมฺมาอาชีโว” ประการหนึ่ง

    ใจได้รับความสัมผัสจากสิ่งภายนอก คือรูป หญิง ชาย เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสของหญิงชาย และสิ่งของที่ถูกกับจริตชอบ เกิดเป็นอารมณ์เข้าไปหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความแช่มชื่นเบิกบาน หายความโศกเศร้าเหงาหงอย มีแต่ความรื่นเริงบันเทิงใจ กลายเป็นยาอายุวัฒนะขึ้นมา แต่ถ้าแสวงผิดทางก็กลายเป็นยาพิษเครื่องสังหารใจ นี่ก็ควรจัดว่าเป็น “สมฺมาอาชีโว” ตามโลกนิยม แต่ไม่ใช่ “สมฺมาอาชีโว” ของธรรมนิยม เพราะมิใช่อารมณ์เครื่องถอดถอนกิเลสออกจากใจ สำหรับโลก ผู้มี “มตฺตญฺญุตา” รู้จักประมาณและขอบเขตที่ควรหรือไม่ควร ก็พอเป็น “สมฺมาอาชีโว” ไปตามภูมิ สำหรับนักบวชไม่ควรเกี่ยวข้องอาหารใจประเภทรูปเสียง เป็นต้น นอกจากพิจารณาตรงข้ามเท่านั้นจึงจัดเป็นสามีจิกรรม

    ส่วนนักบวชพึงปฏิบัติ คือการบำรุงจิตใจด้วยธรรม ไม่นำโลกซึ่งเป็นยาพิษเข้ามารังควานใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ ให้พึงพิจารณาเป็นธรรมเสมอไป อย่าให้เกิดความยินดียินร้าย จะกลายเป็นความขัดเคืองขึ้นมาภายในใจ ซึ่งขัดต่อ “สัมมาอาชีวธรรม” อันเป็นธรรมเครื่องถอดถอนกิเลส

    การพิจารณาเป็นธรรม จะนำอาหารคือโอชารสแห่งธรรม เข้ามาหล่อเลี้ยงหัวใจ ให้มีความชื่นบานด้วยธรรมภายในใจ ให้มีความชุ่มชื่นด้วยความสงบแห่งใจ ให้มีความชุ่มชื่นด้วยความเฉลียวฉลาดแห่งปัญญา ไม่แสวงหาอารมณ์อันเป็นพิษเข้ามาสังหารใจของตน พยายามนำธรรมเข้ามาหล่อเลี้ยงเสมอ เรียกว่า “สมฺมาอาชีโว” ที่ชอบธรรม

    อายตนะภายในมี ตา หู เป็นต้น กระทบกับอายตนะภายนอก มี รูป เสียงเป็นต้น ทุกขณะที่สัมผัสจงพิจารณาเป็นธรรม คือความรู้เท่า และปลดเปลื้องด้วยอุบายเสมอไป อย่าพิจารณาให้เป็นเรื่องของโลกแบบจับไฟเผาตัว จะกลายเป็นความร้อนขึ้นที่ใจ ซึ่งมิใช่ทางของ “สัมมาอาชีวะ” ของผู้บำรุงใจด้วยธรรม

    ควรพยายามกลั่นกรองอารมณ์ที่เป็นธรรม เข้าไปหล่อเลี้ยงจิตใจอยู่ตลอดเวลา อาหารคือโอชารสแห่งธรรม จะหล่อเลี้ยงและรักษาใจให้ปลอดภัยเป็นลำดับ ที่อธิบายมานี้จัดเป็น “สัมมาอาชีวะ” ประการหนึ่ง

    ปฏิปทาข้อ ๖ ตรัสไว้ว่า “สมฺมาวายาโม” ความเพียรชอบ ท่านว่าเพียรในที่สี่สถานคือ

    (๑) เพียรระวังอย่าให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน หนึ่ง

    (๒) เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป หนึ่ง

    (๓) เพียรยังกุศลให้เกิดขึ้น หนึ่ง และ

    (๔) เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วอย่าให้เสื่อมสูญไป หนึ่ง

    “โอปนยิโก” น้อมเข้าในหลักธรรมที่ตนกำลังปฏิบัติได้ทุกขั้น แต่ที่นี่จะน้อมเข้าในหลัก “สมาธิกับปัญญา” ตามโอกาสอันควร

    (๑) พยายามระวังรักษาจิตที่เคยฟุ้งซ่านไปตามกระแสแห่งตัณหา เพราะความโง่เขลาฉุดลากไป หนึ่ง

    (๒) ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมแก้กิเลสทุกประเภท จงพยายามอบรมให้เกิดขึ้นกับใจของตน ถ้าต้องการไปนิพพานดับไฟกังวลให้สิ้นซาก! หนึ่ง

    (๓) ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกๆ ขั้น ถ้าได้ปรากฏขึ้นกับตนแล้ว อย่ายอมให้หลุดมือไปด้วยความประมาท จงพยายามบำรุง ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกๆ ขั้นที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญเต็มที่ จนสามารถแปรรูปเป็น “มรรคญาณ” ประหารกิเลสสมุทัยให้สิ้นซากไป แดนแห่ง “วิมุตติพระนิพพาน” ที่เคยเห็นว่าเป็น ธรรมเหลือวิสัย จะกลายเป็นธรรมประดับใจทันทีที่กิเลสสิ้นซากลงไป หนึ่ง

    ในปฏิปทาข้อ ๗ ตรัสว่า “สมฺมาสติ” ได้แก่การตั้งสติระลึกตามประโยคของความเพียรของตน ตนกำหนดธรรมบทใดเป็นอารมณ์ของใจ เช่น “พุทโธ” หรือ อานาปานสติ เป็นต้น ก็ให้มีสติระลึกธรรมบทนั้นๆ หรือตั้งสติกำหนดใน “สติปัฏฐานสี่” คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งกำหนดเพื่อสมาธิ ทั้งการพิจารณาทางปัญญา ให้มีสติความระลึกในประโยคความเพียรของตนทุกๆ ประโยค จัดเป็น สมฺมาสติ ที่ชอบ ข้อหนึ่ง

    ปฏิปทาข้อ ๘ ตรัสไว้ว่า “สมฺมาสมาธิ” คือ สมาธิที่ชอบ ได้แก่ สมาธิที่สัมปยุตด้วยสติปัญญา ไม่ใช่สมาธิแบบหัวตอ และไม่ใช่สมาธิที่ติดแน่นทั้งวันทั้งคืนไม่ยอมพิจารณาทางด้านปัญญาเลย โดยเห็นว่าสมาธิเป็นธรรมประเสริฐพอตัว จนเกิดความตำหนิติโทษปัญญาหาว่าเป็นของเก๊ และกวนจิตใจที่เป็นอยู่ด้วยความสงบเย็นไปเสีย สมาธิประเภทนี้เรียกว่า “มิจฉาสมาธิ” ไม่จัดว่าเป็นสมาธิที่จะทำให้บุคคลพ้นจากทุกข์โดยชอบธรรม

    ส่วนสมาธิที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์นั้น ต้องกำหนดลงไปในหลักธรรม หรือบทธรรมตามจริตชอบ ด้วยความมีสติกำกับรักษา จนจิตรวมลงเป็นสมาธิได้ จะเป็นสมาธิประเภทใดก็ตาม เมื่อรู้สึกจิตของตนสงบ หรือหยุดจากการคิดปรุงต่างๆ รวมอยู่เป็นเอกเทศอันหนึ่ง จากสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย จนกว่าจะถอนขึ้นมา จัดเป็นสมาธิที่ชอบ และไม่เหมือนสมาธิซึ่งรวมลงไปแล้วไม่ทราบกลางวันกลางคืน เป็นตายไม่ทราบทั้งนั้นเหมือนคนตายแล้ว พอถอนขึ้นมาจึงจะรู้ย้อนหลังว่าจิตรวมหรือจิตไปอยู่ที่ไหนไม่ทราบ นี่เรียกว่า “สมาธิหัวตอ” เพราะรวมลงแล้วเหมือนหัวตอ ไม่มีความรู้สึก สมาธิประเภทนี้จงพยายามละเว้น แม้เกิดขึ้นแล้วรีบดัดแปลงเสียใหม่ สมาธิที่กล่าวนี้เคยมีในวงนักปฏิบัติด้วยกันอยู่เสมอ

    วิธีแก้ไข คือหักห้ามอย่าให้รวมลงตามที่เคยเป็นมา จะเคยตัวตลอดกาล จงบังคับให้ท่องเที่ยวในสกลกาย โดยมีสติบังคับเข้มแข็ง บังคับให้ท่องเที่ยวกลับไปกลับมา และขึ้นลงเบื้องบนเบื้องล่าง จนควรแก่ปัญญาและมรรคผลต่อไป

    ส่วน สัมมาสมาธิ เมื่อจิตรวมลงไปแล้ว มีสติรู้ประจำอยู่ในองค์สมาธินั้น เมื่อถอนขึ้นมาแล้ว ควรจะพิจารณาทางปัญญาในสภาวธรรมส่วนต่างๆที่มีอยู่ในกายในจิต ก็พิจารณาในโอกาสอันควร สมาธิกับปัญญาให้เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกันเสมอไป อย่าปล่อยให้สมาธิเดินเหินไปแบบไม่มองหน้ามองหลัง โดยไม่คำนึงถึงเรื่องอะไรทั้งนั้น

    สรุปความแล้ว สติ สมาธิ ปัญญา ทั้งสามนี้ เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกัน โดยจะแยกจากกันให้เดินแต่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ สมาธิกับปัญญาต้องผลัดเปลี่ยนกันเดิน โดยมีสติเป็นเครื่องตามรักษา ทั้งสมาธิและปัญญา

    นี่แลปฏิปทาทั้ง ๘ ที่ได้อธิบายมาโดยอิงหลักธรรมบ้าง โดยอัตโนมัติบ้าง ตั้งแต่ “สมฺมาทิฏฺฐิ จนถึง สมฺมาสมาธิ” ถึงทราบว่าเป็นธรรมหลายชั้น แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะนำไปปฏิบัติตามภูมิแห่งธรรมและความสามารถของตน

    ในปฏิปทาทั้ง ๘ ประการนี้ ไม่เลือกว่านักบวชหรือฆราวาส ใครสนใจปฏิบัติให้บริบูรณ์ได้ ผล คือ “วิมุตติ” และ “วิมุตติญาณทัสสนะ” เป็นสมบัติอันล้ำค่าของผู้นั้น เพราะ ศีล สมาธิ ปัญญา รวมอยู่ในมรรคนี้ และเป็นเหมือน “กุญแจ” ไข “วิมุตติ” ทั้งสองให้ประจักษ์กับใจอย่างเปิดเผย

    อนึ่งท่านนักปฏิบัติอย่าเข้าใจว่า “วิมุตติ” กับ “วิมุตติญาณทัสสนะ” ทั้งสองนี้แยกกันไปอยู่ในที่ต่างแดน หรือแยกกันทำหน้าที่คนละขณะ ที่ถูกไม่ใช่อย่างนั้น!

    เราตัดไม้ให้ขาดด้วยขวาน ขณะไม้ขาดจากกัน ตาก็มองเห็น ใจก็รู้ว่าไม้ท่อนนี้ขาดแล้วด้วยขวาน เห็นด้วยตากับรู้ด้วยใจ! เกิดขึ้นในขณะเดียวกันฉันใด

    วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะ ก็ทำหน้าที่รู้เห็นกิเลสขาดออกจากใจ ด้วยศีลสมาธิ ปัญญา ในขณะเดียวกันนั้นแล

    จากนั้นแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรให้ยุ่งยากอีกต่อไป เพราะปัญหายุ่งยากก็คือปัญหากิเลสกับใจเท่านั้น ที่ใหญ่ยิ่งในไตรภพ

    เมื่อปล่อยใจจากสิ่งทั้งปวงอันเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดแล้ว กิเลสซึ่งเป็นสิ่งอาศัยอยู่ในใจก็หลุดลอยไปเอง ศีล สมาธิ ปัญญา และ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็ปล่อยวางไว้ ตามความจริง เรียกว่าต่างฝ่ายต่างจริง แล้วก็หมดคดีคู่ความลงเพียงเท่านี้

    วันนี้ได้อธิบายธรรมให้แก่นักปฏิบัติทั้งหลายฟัง โดยยกสมเด็จพระผู้มีพระภาคและพระสาวกทั้งหลายมาเป็นแนวทาง จะได้ตั้งเข็มทิศ คือข้อปฏิบัติของตน ของตนให้เป็นไปตามพระองค์ท่านโดยไม่ลดละ

    เมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมที่ท่านทั้งหลายบำเพ็ญได้บริบูรณ์แล้ว วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นองค์พระนิพพาน ก็จะเป็นของท่านทั้งหลายอย่างไม่มีปัญหา เพราะเหตุฉะนั้ ธรรมทั้งหมดที่ได้กล่าวในวันนี้ ท่านผู้ฟังทุกๆ ท่าน ย่อมจะเข้าใจว่ามีอยู่ในกายในใจของเราทุกท่าน ขอให้น้อมธรรมเหล่านี้เข้ามาเป็นสมบัติของตนทั้งการดำเนินเหตุ ทั้งผลที่ปรากฏขึ้นจากเหตุอันดี คือวิมุตติพระนิพพาน จะเป็นของท่านทั้งหลายในวันนี้วันหน้า โดยนัยที่ได้แสดงมา

    ขอยุติด้วยเวลาเพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

    คัดลอกจาก อนุตตริยะ ลานธรรมเสวนา
    มัชฌิมาปฏิปทา - ลานธรรมเสวนา

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 กุมภาพันธ์ 2011

แชร์หน้านี้

Loading...