การปฏิบัติ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน โดยหลวงปู่จันทา ถาวโร

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 16 พฤศจิกายน 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    อารัมภกถา

    อันธรรมะนั้นมีมากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ย่อย่อลงมาได้แก่มรรค ๘ ย่นมรรค ๘ ลงมาเหลือ ๓ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่นจาก ๓ เหลือ ๒ ได้แก่ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

    การศึกษาธรรมะนั้นมีทั้ง ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธธรรม เปรียบเหมือนต้นไม้ ปริยัติเหมือนกับรากเหง้า ปฏิบัติเปรียบเหมือนลำต้น และปฏิเวธธรรมเปรียบเหมือนกับผลไม้

    ขั้นต้นก็ต้องศึกษาปริยัติจากครูบาอาจารย์บ้าง จากท่านผู้รู้บ้าง จากตำรับตำราบ้าง เมื่อรู้แล้วก็ต้องลงมือปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้วปฏิเวธธรรมจึงเกิดขึ้น จะมากหรือน้อย จะเร็วหรือช้า ก็แล้วแต่เหตุ คือ การกระทำนั้นๆ

    ทีนี้ "การปฏิบัติธรรม" หรือ "ธรรมปฏิบัติ" นั้นทำอย่างไร เดินจงกรมทำอย่างไร ยืนภาวนาทำอย่างไร นั่งสมาธิทำอย่างไร วันนี้จะเทศนาให้ฟัง
     
  2. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ธรรมปฏิบัติ โดยพระอาจารย์จันทา ถาวโร

    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

    นะโม ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้าของศาสนาธรรมะวินัยไตรสิกขาน้อยใหญ่ บัดนี้ฝูงข้าฯ ทั้งหลาย ขอวิสัชนาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อจะรู้ข้อวัตรปฏิบัติในการดำเนินธรรมปฏิบัติ เรื่อง สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน เพื่อเป็นทางเดินเข้าสู่ความสงบ หวังความพ้นทุกข์

    สมถกรรมฐาน


    การเจริญกรรมฐานนั้นมี ๔ วิธีการ คือ

    ๑. การเดินจงกรม

    การเดินจงกรมเจริญสมถกรรมฐาน ต้องทำทางเดินจงกรมในแนวทิศตะวันออกและตะวันตก เพราะพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์จะประสูติจากครรภ์มารดานั้น ปรากฏชื่อเสียงเรียงนามว่าทำให้โลกสะท้านหวั่นไหว เมื่อพระแม่เจ้าประชวรหนัก ออกเดินทางจะไปคลอดที่กรุงเทวทหะนคร พอไปถึงระหว่างครึ่งกลางสองประเทศก็ประชวรหนัก รับสั่งให้เสนาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งหลายจัดแจงเสนาสถาน เสร็จแล้วดอกมณฑาตกจากสวรรค์ ๗ ดอกมารองต่อหน้า แม่เจ้าก็ยืนเอามือแขวนกิ่งของต้นรัง หันหน้าสู่ทิศตะวันออก เมื่อพระพุทธเจ้าคลอดจากครรภ์พระมารดานั้น ไม่มีรกติดออกมาด้วยเพราะอำนาจบุญบารมี คลอดโดยเอาขาทั้งสองออกมาก่อน แล้วยืนอยู่บนดอกมณฑา ยืนแล้วเดินไป ๗ ก้าว ถึงก้าวที่ ๗ ยกมือขึ้นกล่าวว่า

    "อัคโคหะมัสมิ โลกัสมิง"

    แปลว่า เราจะเป็นใหญ่ เป็นศาสดาเอกในโลกทั้งสาม ยุคนี้สมัยนี้เต็มแล้วอินทรีย์ธรรมบารมีเต็มแล้ว สะสมมาเพื่อตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ รื้อสัตว์ขนสัตว์ออกจากวัฏฏทุกข์ ไปถึงปรมัตถ์สุข คือ พระนิพพานเป็นที่แล้ว

    นั่นแหละ เสร็จแล้วเสนาอำมาตย์ญาติกาวงศาทั้งหลายก็รีบรุดมา เทพยดาอินทร์ก็โปรยดอกไม้ทิพย์หอมรื่นชื่นใจ โปรยหลั่งน้ำทิพย์ สถานที่นั้นก็ร่าเริงบันเทิงดี ในขณะนั้นสะท้านหวั่นไหว

    ทีนี้เราจะเดินจงกรมบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอาบุญ เดินจงกรมฝึกจิต อบรมจิต สอนจิต ทรมานจิต เดินจงกรมบำเพ็ญบ่มอินทรีย์

    สัทธาอินทรีย์ วิริยะอินทรีย์ สติอินทรีย์ สมาธิอินทรีย์ ปัญญาอินทรีย์ ทั้ง ๕ นี้นั้น เป็นเครื่องตักตวงเอามรรคผลธรรมวิเศษ และเป็นการบำเพ็ญบุญกุศลวัตรให้เกิดขึ้นพร้อมในระยะนั้น

    ทีนี้จิตของเราทุกท่านน้อยใหญ่ พระเณรเถนชี อุบาสกอุบาสิกาก็ดี เป็น จิตตสัตตวะ

    สัตตวะ แปลว่า เป็นผู้ข้องอยู่ด้วยความอยากและความหลง ท่องเที่ยวเกิดแก่เจ็บตายภพน้อยภพใหญ่ มีแต่ความอยากความหลงครอบงำรึงรัดตรึงตราดวงจิตไว้กับโลกทั้งสามไม่มีวันจบ สิ้นได้

    นั่นแหละ ที่นี้เราจะเดินจงกรม บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นบุญเป็นกุศล และเดินจงกรมบูชาผู้บังเกิดเกล้า บิดามารดานั้นคือผู้บังเกิดเกล้า สมบัติตัวของเรานี้ได้มาจากท่านนั่นแหละ จึงต้องการบำเพ็ญบูชาผู้มีคุณทั้งหลาย

    ต่อแต่นั้นก็กำหนดทางเดินจงกรม จะสั้นหรือยาว ก็ให้เป็นไปตามทางทิศตะวันออกและตะวันตก ทีนี้เมื่อเข้าสู่ทางเดินจงกรมแล้วก็ตั้งสัตย์ไว้ว่าจะเดินนานเท่าไร สำหรับฆราวาสญาติโยมผู้มีภารกิจมาก อาจจะทำ ๑๕ นาที หรือ ๓๐ นาที แล้วแต่จะทำได้ ส่วนพระเณรเอาชั่วโมงหนึ่งเป็นเกณฑ์

    ตั้งสติไว้ให้ดี มีสัมปชัญญะรอบรู้ รอบรู้วิถีของจิตนั้น อย่าให้มันไปกินอารมณ์ของโลก อตีตารมณ์ อารมณ์ที่ล่วงมาแล้วให้ปล่อยวาง อนาคตารมณ์ อนาคตก็ปล่อยวาง เอาปัจจุบันธรรมกำหนด มือซ้ายวางไว้ใต้พกผ้า มือขวาทับมือซ้าย ก้าวขวาว่าพุทโธ ก้าวซ้ายว่าธัมโม ก้าวขวาว่าสังโฆ ไม่ให้เดินเร็ว ไม่ให้เดินช้า เดินพอหมดระยะก้าวขาของตัวเองนั่นแหละ ไปถึงสุดทางเดินจงกรมทางโน้น ทิศตะวันออกก็เวียนขวา หมุนตัวกลับทางขวามือ เพราะเกสาของพระพุทธเจ้านั้นเวียนขวา

    รอบที่ ๒ ก็บริกรรม พุทโธ ธัมโม สังโฆ นึกในใจไม่ต้องออกเสียงพูดหรอก มาถึงสุดทางเดินจงกรมทิศตะวันตกก็เวียนขวาให้มีสติระลึกพร้อมอยู่กับ สัมปชัญญะ เป็น เจตสิกธรรม ประคองดวงจิตไว้ไม่ให้อกุศลธรรมเข้าครอบงำ

    ต่อแต่นั้นเมื่อหมดรอบที่ ๓ แล้ว ขึ้นรอบที่ ๔ ให้หยุดเอาอารมณ์เดียว คือ ก้าวขวาว่า พุท ก้าวซ้ายว่า โธ ไม่ให้เดินเร็ว ไม่ให้เดินช้า เดินพอหมดระยะก้าวขาของตัวเองนั่นแหละ มี สติ กำกับจิตอยู่ทุกระยะ มี สัมปชัญญะ รู้รอบรู้ตามวิถีจิตอยู่ทุกระยะไม่ลดละ อย่าเพิ่งส่งจิตไปอื่น

    การเดินจงกรมนี้ เป็นการเดินจงกรมเพื่อปลุกไฟธาตุให้ลุกขึ้นเผากายให้อบอุ่น ปลุกไฟธาตุให้ลุกขึ้นเผาเส้นเลือดเส้นลมให้กระจายไปทั่วกายดี ร่างกายนั้นถูกไฟธาตุเผาแล้วอบอุ่นสดชื่นดี ก็ไม่เกิดโรคไม่เกิดภัย

    ผู้ที่เดินจงกรมได้นานนั้น แม้เทวดาทั้งหลายก็สาธุการส่วนบุญนั้น จะเข้านั่งสมาธิ จิตก็สงบได้เร็ว เพราะการเดินจงกรมนั้นเป็นตะปะเครื่องแผดเผาเสียซึ่งกิเลสทุกประเภทน้อยใหญ่ ได้

    อันนั้นแหละคือการเจริญสมถกรรมฐานด้วยการเดินจงกรม เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 พฤศจิกายน 2010
  3. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ๒. การยืนภาวนา

    เมื่อเดินจงกรมครบกำหนดชั่วโมงแล้ว ที่นี้ก็มายืนอยู่ทิศตะวันตกหันหน้าสู่ทิศตะวันออก นี้เป็นวาระที่ ๒ คือ การยืนภาวนา กำหนดเวลา ๓๐ นาทีเป็นเกณฑ์ ยืนภาวนาบริกรรมพุทโธกรรมฐานเป็นอารมณ์ของสติ หายใจเข้าว่าพุท หายใจออกว่าโธ อยู่กับอานาปานสติ นั่นแหละ

    การยืนภาวนา หายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ นี่เป็นการเจริญสมถกรรมฐานในวาระยืนภาวนา บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันนี้แหละน้อมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาไว้เป็นสัมพันธมิตรของจิตใจ

    เมื่อเราอยู่กับปราชญ์ ยอดปราชญ์กรรมฐานเอก คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ นั่นเป็นพระกรรมฐานเอกในโลกทั้งสาม ฉลาดแหลมลึกทุกสิ่งอย่าง ไม่มีมนุษย์ นาค ครุฑ อินทร์ พรหม โลกทั้งสามที่ไหนจะเสมอเหมือน นั่นแหละนักปราชญ์ทั้งสามจะบันดาลนำจิตเข้าสู่ความสงบได้ แล้วจะบันดาลให้เกิดปัญญาวิชาความรู้ และจะบันดาลให้เกิดมรรคผลธรรมวิเศษต่อไปดีเลิศประเสริฐแท้

    ๓. การไหว้พระสวดมนต์


    เมื่อยืนภาวนาครบ ๓๐ นาทีแล้ว ก็ลุกออกจากที่ ยกมือขึ้นไหว้ พุทโธ ธัมโม สังโฆ สะระณัง คัจฉามิ ถ้าเป็นตอนเย็นก็เข้าที่ที่กุฏินั่นแหละ เข้าที่แล้วก็ปัดกวาดสถานที่ให้เตียนสะอาด เพราะธรรมมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของสะอาด

    พระพุทธเจ้า เป็นราชาศาสนาธรรมะ พระธรรม เป็นนิยยานิกธรรม นำออกเป็นเครื่องกลั่นกรองกิเลสน้อยใหญ่ทุกประเภท พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลายนั้น เป็นครูผู้แนะนำที่ ๓ แนะนำมวลมนุษย์ทุกถ้วนหน้าให้ประพฤติวัตรปฏิบัติรู้เท่าเห็นตามทุกสิ่งอย่าง ได้ รวมเรียกว่าศาสดา ๓ อันนี้แหละ

    กราบที่หนึ่งว่า พุทโธ (นึกในใจ)

    กราบที่สองว่า ธัมโม

    กราบที่สามว่า สังโฆ สะระณัง คัจฉามิ

    กราบให้อ่อน ทำกายหลังให้อ่อน และทางก้นนั้นก็ให้ต่ำลง กราบดีกราบงามก็เป็นบุญนะ อย่าให้หลังขดเหมือนหลังกุ้ง อันนั้นใช้ไม่ได้ นั่นแหละกราบให้มันงาม อันนี้เป็นการบำเพ็ญภาวนา เป็นการเจริญสมณธรรม

    ต่อแต่นั้นก็ทำวัตร ทำวัตรเสร็จแล้วก็สวดมนต์ สวดมนต์น้อยหรือมากก็สวด อันนี้เรียกว่าการบำเพ็ญภาวนา น้อมเอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องฟอกจิต ชำระจิต เพราะจิตนั้นถูกฉาบทาด้วยกิเลส โลภ โกรธ หลง อวิชชา ตัณหา มาทุกภพทุกชาติ กิเลสนั้นเป็นสมภารเจ้าวัดของจิตมาแน่นอน นำดวงจิตไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ ต่ำสูงลุ่มดอนไม่ได้ตามใจหมายทั้งนั้น นำแต่ชาติภพอันกันดารมาให้

    นั่นแหละ ทีนี้เราจะน้อมเอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามาขับไล่ไสส่งสมภารเจ้าของวัดออก จากจิตใจ ให้จิตดื่มกินซึ่งธรรมะ เมื่อจิตดื่มกินธรรมะแล้ว จิตนั้นจะผ่องแผ้วเบิกบานเลื่อมใส ฉลาดขึ้นทุกกาลสมัย

    เมื่อเสร็จการบำเพ็ญภาวนาแล้ว ไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้ว ให้ตั้งจิตอุทิศส่วนบุญที่บำเพ็ญมานี้นั้น ไปยังผู้บังเกิดเกล้าบิดามารดา เหล่าสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ทายก ทายิกา ผู้ให้ข้าวปลาอาหารปัจจัย ๔ บำรุงนั้น ใกล้และไกลก็อุทิศส่วนบุญไปให้

    สาธุ ปุญญัง อุททิสสะ ทานัง สัพเพ สัตตา สุขิตาโหนตุ

    ข้าพเจ้าจะอุทิศส่วนบุญไปให้ผู้บังเกิดเกล้าทุกถ้วนหน้า ทั้งใกล้และไกลโน้น จงได้รับกุศลผลบุญ พ้นทุกข์ มีความสุขความเจริญ ทุกถ้วนหน้าเถิด

    นี่แหละการบำเพ็ญบุญอุทิศส่วนบุญไปให้ ไม่ได้เอาน้ำหยาดหรอก เอาน้ำใจนี่แหละ น้ำใจนี่เป็นของลึกซึ้ง เยือกเย็นที่สุดคือใจ สูงที่สุดคือใจ ต่ำที่สุดคือใจ ร้อนหนาวคือใจนั่นแหละ จะไปนรก ไปมนุษย์ ไปสวรรค์ ไปพรหมโลก ก็เพราะใจ จะไปนิพพานพ้นโลกพ้นทุกข์สงสารก็เพราะใจ อันนี้แหละดีเลิศประเสริฐแท้ อันนี้จึงชื่อได้ว่า เวทิตาธรรม เราเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา และเป็นศิษย์ที่ดีของอุปัชฌาย์อาจารย์ บวชเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ประพฤติวัตรปฏิบัติบูชาท่านผู้มีคุณทั้งหลายไม่ลดละ ต่อแต่นั้นก็จะมีความสุขความเจริญเกิดมีแก่เราต่อไป

    นี่เสร็จวิธีการนี้แล้วก็เข้าวาระที่ ๔
     
  4. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ๔. การนั่งสมาธิ

    ก่อนที่จะนั่งสมาธินั้นต้องชำระจิตใจให้ผ่องใสเสียก่อน กำหนดปล่อยวางอดีต อนาคต ปัจจุบันอารมณ์นั้นๆ อย่าเพิ่งยึดมาเป็นคติธรรม ทำให้จิตใจเศร้าหมองไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย เดี๋ยวนี้เราบวชมาเป็นพระในศาสนาของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ควรที่จะตั้งใจเจริญสมณธรรมเพื่อขยำเสียซึ่งกิเลสให้หมดไปสิ้นไปให้ได้

    กำหนดปล่อยวางความอยาก อย่าให้ความอยากเกิดขึ้น อยากให้จิตเป็นสมาธิ อยากรู้ธรรมเห็นธรรม อันนี้ไม่ใช่สมณธรรม

    ความอยากนั้นเป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้จิตเข้าสู่ความสงบได้ ให้ปล่อยวางเสมอ

    อุปาทาน ความหึงหวงห่วงอาลัยร่างกายนั้น นั่งนาน เดินนาน กลัวว่าจะเกิดโรคเหน็บชาอย่างโน้นอย่างนี้อย่าให้มี อุปาทานเป็นเหตุให้เกิดภพ ภพเป็นเหตุให้เกิดชาติ ถ้าตัวเรายังยึดถือและยังเสียดายอยู่ ได้ชื่อว่าเราทำความเพียรอยากได้ของตายของฉิบหาย ไม่ใช่ทาง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน

    นั่นแหละ ทำใจให้เหมือนกับผ้าเช็ดเท้าหรือดินและน้ำ ธรรมดาว่าดินและน้ำนั้นใครจะอาบหรือขุดก่นทำอย่างไรมันก็ไม่ว่าอะไร อันนี้ฉันใด จิตใจของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายที่ท่านข้ามโอฆะไปพระนิพพานแล้วนั้น ท่านก็ทำใจอย่างนั้น มีจิตใจอันผ่องใสนั่นแหละชำระปล่อยวาง

    ถ้าเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง นั่งสมาธิก็ต้อง ๑ ชั่วโมงนั่นแหละ

    ยกมือขึ้นไหว้ครู พุทโธ ธัมโม สังโฆ สรณัง คัจฉามิ

    ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิฝึกจิต อบรมจิต สอนจิต ทรมานจิต ให้จิตมีสติ ให้จิตมีปัญญา ให้จิตฉลาดรู้เท่าต่อภพชาติสังขารเป็นมาอย่างไร กรรมดีกรรมชั่วให้ผลเป็นสุขเป็นทุกข์อย่างไร นั่นแหละเราจะได้เป็นไปกำหนดปล่อยวางเสมอ

    ธัมมัญญุตา ประกอบเหตุดีแล้ว อัตถัญญุตา ผลดีจะเกิดขึ้นสนองข้างหน้าโน้นไม่ช้าก็เร็ว ไม่เร็วก็ช้า ถ้าเราทำถูกแล้ว นั่นแหละข้อสำคัญ จำไว้

    ต่อแต่นั้นนั่งสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ทำกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่นเฉพาะหน้า ไม่ให้ก้ม ไม่ให้เงย ไม่เอียงซ้าย ไม่เอียงขวา วางกายให้สบาย ทำใจให้สบาย ถ้าก้มเงยเอียงซ้ายขวาแล้วใจจะไปพะวักพะวงตามธาตุขันธ์นั้น ไม่สงบ ไม่ใช่ทาง ทำกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น บริกรรม พุทโธ ธัมโม สังโฆ สรณัง คัจฉามิ

    ต่อแต่นั้นบริกรรมพุทโธเพียงอารมณ์เดียว หายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ เท่านั้น กลั้นใจดู มันไม่ขาด ให้ถอนขึ้นมาเอาพอดีนั่นแหละ เข้ายาวออกยาว เอาพอดีๆ

    ต่อแต่นั้นอาศัย วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ เรายึดธรรมะ วิริยะธรรม นี้ เป็นเครื่องปราบกิเลส เป็นเครื่องพึ่งพิงอาศัย

    แล้วต้องมี ขันตี ตะโป ตะปัสสิโน เรายึด ขันติธรรม เป็นเครื่องแผดเผาซึ่งความชั่วกิเลสนั้น จึงจะเป็นผู้นำอวิชชาและโทมนัสออกจากดวงจิตได้

    อัตตา หะเว ชิตัง เสยโย จงยึดเอาการที่ชนะตนด้วยการทำคุณงามความดีได้นั้น

    นั่นแหละการนั่งสมาธิมันจึงจะเป็นไปโดยอาศัยธรรมทั้ง ๓ อย่างนี้นั้น

    ต่อแต่นั้น เมื่อเวลาล่วงไปถึง ๓๐ นาที เวทนาขันธ์มันเกิดขึ้น มึนชาปวดร้อนแสบเย็น ก็อย่าพึ่งกระดุกกระดิก อย่างเพิ่งลูบคลำ อย่าเพิ่งเกา ถ้าเรากระดุกกระดิกลูบคลำและเกานั้น แปลว่าเราเสียดายของตาย ไม่อยากได้ของไม่ตาย คือ พระนิพพาน

    ถ้าเราให้กายไหว ความไหวของกายนั้นกระทบจิต จิตก็เลยไม่สงบ ก็เลยเกิดความฟุ้งซ่านรำคาญขึ้น นั่นแหละความสงบก็ไม่เกิดขึ้น ยากที่จะเป็นไปนะ

    นั่งภาวนาให้เหมือนกับตอกลางไร่ เหมือนกับคนที่ไม่มีหัวใจนั่นแหละมันจึงจะเป็นไป ทุกขังอริยสัจจังเกิดขึ้น เราจะได้พิจารณาเห็นว่า เกิดเป็นทุกข์จริงๆ นะชาติภพสังขารนี้นั้น

    นั่นแหละ ข้อสำคัญทำความเพียรกันอยู่อย่างนั้น คงที่ ๑ ชั่วโมง ก้าวหน้า ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที และถ้าคงที่ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที ก้าวหน้าต้อง ๒ ชั่วโมง ขึ้นไปเป็นระยะๆ นี่แปลว่าทำความเพียรเอาชนะกิเลสและธาตุขันธ์ เพราะกิเลสและธาตุขันธ์นี้นั้นเอาเปรียบเอารัด เอาแพ้เอาชนะ มาทุกภพทุกชาติ

    เราคือใจ ใจคือเรา เป็นทาสของกิเลสและธาตุขันธ์นั้นครอบงำบังคับให้วกเวียนเปลี่ยนชาติภพไม่มี วันจบสิ้น ให้ทำแต่ความชั่ว ทำตัวเศร้าหมอง อยู่ในโลกสงสารไม่มีขอบเขตเป้าหมายทางพ้นทุกข์นั้น

    ที่นี้เราได้มีโอกาสดีแล้ว จะมายึดธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องปราบเหล่าข้าศึกเหล่านี้ให้จง ได้ นั่นแหละทำความเพียรให้คงที่และก้าวหน้า

    ต่อแต่นั้น เมื่อนั่งเหนื่อยล้าแล้วยกมือขึ้นกราบ ๓ ที แล้วลุกขึ้นยืนภาวนา ๓๐ นาที แล้วก็เดินจงกรม ก้าวหน้าขึ้นไปเป็น ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที แล้วก็ยืนอีก ๓๕, ๓๖ นาที ก้าวหน้าขึ้นไปเป็นระยะๆ นี่คือการทำความเพียรก้าวหน้า ไม่ใช่คงที่ เพราะคงที่เราผ่านมาแล้ว ชนะกิเลสและธาตุขันธ์ได้แล้ว ทีนี้ต้องก้าวหน้า ทำกันอยู่อย่างนั้น วันคืนนั้นยืนเดินนั่งนอนไม่ลดละ

    ต่อแต่นั้น นั่งทับทุกข์ จนทุกข์ดับไม่มีอยู่ที่กายนั้น หมดเวทนาทุกข์สุขเฉยๆ ไม่มี เหลือแต่เฉยๆ เท่านั้น เราคือจิต จิตคือเรา จะรู้เองเห็นเอง และจิตนั้นจะมีสติปัญญา มีศรัทธา มีความเพียร ความอดทน ความชนะตน องอาจกล้าหาญชาญชัยเพราะรู้เท่าต่อธาตุขันธ์ และเวทนาขันธ์ ไม่หวั่นไหว

    เมี่อเจริญสมถกรรมฐาน เดินจงกรม ยืนภาวนา และนั่งสมาธิชนะแล้ว ก็มาถึงบทบาทวาระที่ ๒ คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
     
  5. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    วิปัสสนากรรมฐาน

    การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น ให้ยกเอาขันธ์ ๕ ขึ้นมาสอนจิต ให้จิตได้ศึกษา ให้จิตมีวิชาความรู้ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

    รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง จิตจงศึกษารูปไม่เที่ยง

    เวทนา อนิจจา เวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ ไม่เที่ยง

    สัญญา อนิจจา สัญญาความจำได้หมายรู้ก็ไม่เที่ยง จิตจงศึกษา

    สังขารา อนิจจา สังขารไม่เที่ยง จิตจงศึกษา

    วิญญาณัง อนิจจา วิญญาณไม่เที่ยง จิตจงศึกษา

    รูปัง ทุกขัง รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จิตจงศึกษา

    เวทนา ทุกขา เวทนาไม่เที่ยง จิตจงศึกษา

    สัญญา ทุกขา สัญญาไม่เที่ยง เป็นทุกข์

    สังขารา ทุกขา สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์

    วิญญาณัง ทุกขัง วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จิตจงศึกษา

    มันสุขหรือมันทุกข์ใช่ไหมเล่า จิตถามจิตนั่นเองแหละ ให้จิตมีสติปัญญาฉลาดรู้ อย่าได้นั่งซบเซาเหงาอยู่ มันจะไม่ได้ปัญญานะ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 พฤศจิกายน 2010
  6. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    รูปัง อนัตตา รูปร่างกายนี้เป็นอนัตตา เพราะมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันจึงเป็นอนัตตา อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา ไม่ใช่บุคคลตัวตนของเราหรอก จิตจงศึกษาอย่าเพิ่งทำตนเป็นคนโง่ อันนี้แหละเวียนเกิดเวียนตาย ภพน้อยภพใหญ่ก็มาได้ รูปัง อนิจจา ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ ได้สมบัติอันเก่า นี่แหละเก่าเพราะมันไม่เที่ยง เก่าเพราะมันเป็นทุกข์ เก่าเพราะมันเป็นอนัตตา จิตจงศึกษา อย่าเพิ่งเมินเฉย จะไม่มีสติปัญญารู้เท่าต่อสภาวธรรมสิ่งทั้งปวงนี้นั้น ไม่ได้ตามใจหมายทั้งนั้น

    ถ้าเป็นอัตตา คือตัวตนแล้วไซร้ ก็คงเที่ยง ไม่ทุกข์นั่นแหละ เพราะเหตุนั้นมันจึงชื่อว่าอนัตตา ไม่ใช่เขาไม่ใช่เราหรอก นี่แหละจิตจงศึกษา จะได้ความสังเวชสลดใจจนน้ำตาไหล โอ้หนออนิจจา เรามาอยู่กับของที่ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา มาอยู่กับของที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั่นแล จะสำคัญมั่นหมายวิเศษอะไรเล่า ไม่ทั้งนั้น

    นี่แหละจิตจงศึกษา

    รูปัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปร่างกายทุกท่านหญิงชายพระเณรเถนชีนี้ พระองค์เจ้าเปรียบเหมือนต่อมน้ำ ธรรมดาว่าต่อมน้ำนั้น เมื่อเม็ดฝนตกจากบนฟ้ามากระทบน้ำข้างล่าง มันก็กองขึ้นเป็นฟองอากาศ ไม่นานหนอก็แตกเป๊าะหายไปเท่านั้น อันนี้ฉันใด รูปร่างกายก็ฉันนั้น

    พระองค์เจ้าสอนให้เห็นเพียงแค่นั้น อย่าเพิ่งเห็นว่ารูปร่างกายเป็นของเรา เราเป็นรูปร่างกาย ร่างกายมีเรา เรามีร่างกาย ไม่หรอก เป็นแต่สัมภาระปัจจัยเครื่องอาศัยชั่วคราวหรอกน่า นี่ข้อสำคัญมั่นหมาย

    อันนั้นแหละ เวทนา อนิจจา สุข ทุกข์ เฉยๆ เปรียบเหมือนคลื่นน้ำ ธรรมดาว่าคลื่นน้ำนั้นลมพัดมาเป็นคลื่นๆ ในห้วยหนองคลองบึงก็ดี ไม่นานมันก็ดับไปเท่านั้น อันนี้ฉันใด เวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั่นแหละให้เห็นคลื่นน้ำ อย่าให้เห็นว่าเวทนาเป็นของเรา เราเป็นเวทนา เวทนามีเรา เรามีเวทนา ไม่ใช่หรอก เป็นสมบัติของธาตุขันธ์ต่างหาก

    นั่นแหละ ให้มันเห็นแจ้งจริงอย่างนี้ มันจึงจะเบื่อหน่ายในภพชาติสังขารที่เป็นมานี้นั้น

    สัญญา อนิจจา ไม่เที่ยง ทุกขา ลำบากกายใจ อนัตตา ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา

    สัญญา จำได้หมายรู้ ก็เปรียบเหมือนพยับแดดฤดูร้อน เรามองออกไปกลางทุ่งว่างๆ มันก็ส่งประกายระยิบระยับในเดือน ๔ เดือน ๕ นั้น หรือเปรียบเหมือนเปลวไฟที่มันลุกขึ้นเป็นกองๆ นั้น เปลวไฟนั้นก็ส่องประกายไม่นานก็ดับไป อันนี้ฉันใด สัญญาอนิจจาไม่เที่ยงก็ฉันนั้น อย่าได้ยึดมั่นถือมั่นว่าสัญญาเป็นของเรา เราเป็นสัญญา สัญญามีเรา ไม่ใช่หรอก เป็นแต่เครื่องใช้อาศัยช่วยทรงจำพุทธวจนะ และความรู้นานาชนิดเท่านั้นแหละ ไม่นานก็หลงลืมไป อันนี้แหละความรู้อยู่กับสัญญา เห็นเป็นเพียงแค่นั้น เปรียบเหมือนพยับแดด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเท่านั้น มันจึงจะไม่หลง จึงจะไม่เศร้าโศกไปตามมันดับไปแล้วนั้น

    อันนี้แหละพระพุทธเจ้าสอน พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายให้เห็นเพียงแค่นั้น อย่าได้เห็นว่าเป็นของมีสาระแก่นสาร

    สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชาย มนุษย์ นาค ครุฑ อินทร์ พรหม โลกทั้งสามนี้นั้น ในสามภพ ทั้งบนบกและในน้ำ ยมโลก มนุษย์โลก พรหมโลกก็ดี อันนั้นแหละเป็นสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    นั่นแหละจะเป็น อุปาทินนะกะสังขาร สังขารที่มีใจครองก็ตามที มนุษย์ นาค ครุฑ อินทร์ พรหม ละเอียดประณีตเลวทรามนั้นๆ นั่นแหละ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เท่านั้น

    อะนุปาทินนะกะสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครอง ต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ รุกขชาติ บ้านเรือน ทุกสถานนั่นแหละ รถ เรือน เกวียน ล้อ สะสมด้วยเหตุปัจจัย เบื้องต้นก็ดูสวยงามหรอก นานๆ ไปก็คร่ำคร่า เบื้องปลายก็ต้องแตกดับลงนอนทับแผ่นดินด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น อันนี้ฉันใด สังขารอะนุปาทินนะกะ ก็ฉันนั้น

    นี่แหละสังขารทุกประเภทให้เห็นเพียงแค่นั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ยังกิญจิ สมุทะยะธัมมัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

    สัพพันตัง นิโรธะธัมมัง สิ่งนั้นทั้งปวงได้แก่ สังขารธรรมทั้งปวงนั้น ก็มีความแตกดับไปเป็นธรรมดา นั่นแหละเป็นแต่ขันธ์ธาตุอายตนะ ประชุมกันเข้าแล้ว ก็สมมติกันว่าเป็นตัวตนฉันบุคคลเราเขาเท่านั้น เพียงแค่นั้น นี้ข้อสำคัญมั่นหมาย

    นั่นแหละสังขารร่างกาย พระองค์เจ้าสอนเปรียบเหมือนต้นกล้วย ธรรมดาว่าต้นกล้วยนั้นไม่มีสาระแก่นสารอะไรหรอก บุรุษได้พร้ามีดเข้าไปสู่ป่ากล้วยตัดฟันลงไป มีแต่หยวกทั้งนั้น อันนี้ฉันใด สังขารร่างกายทั้งหลายก็ฉันนั้น

    เมื่อสิ้นลมแล้วเมื่อไหร่ ก็เหลือแต่ธาตุดินและธาตุน้ำ ก็เปื่อยเน่าสาบสูญเป็นดินหมดเสียสิ้นเท่านั้นแล ไม่มีสังขารประเภทใดคงที่ได้ตามใจหมาย ให้เห็นเพียงแค่นั้น อย่าเห็นว่าสังขารเป็นเรา เราเป็นสังขาร สังขารมีเรา เรามีสังขาร ไม่ใช่ เป็นแต่สัมภาระปัจจัยเครื่องอาศัยชั่วคราว ไม่นานก็จะจากกันไปเพราะมันแก่เจ็บตายทอดทิ้งลงนอนทับแผ่นดินเท่านั้น

    วิญญาณ ผู้รับรู้ในหู ในตา ในจมูก ในลิ้น ในกาย และในใจ อันนั้น อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังก็เป็นทุกข์ อนัตตาก็ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา เปรียบเหมือนนักเล่นกลในถนน ๔ แพร่ง ธรรมดาว่าคนไปมาทั้ง ๔ ทิศ หลงมายาสาไถยตามนักเล่นกลนั้น อันนี้ฉันใด ถนน ๔ แพร่งนั้นได้แก่ ธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ นั่นแหละเจ้าวิญญาณหลอกลวงว่าธาตุดินก็ของเรา ธาตุน้ำก็ของเรา ธาตุลมและธาตุไฟก็ของเรา เป็นของดีมั่นคงแน่นอน นั่นแหละหลอกลวงให้ลงอย่างนั้น

    นั่นแหละอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังก็เป็นทุกข์ อนัตตาไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา ให้เห็นเพียงแค่นั้น อย่าเพิ่งหลงยึดหลงถือ

    อันนี้แหละขันธ์ ๕ อนิจจังไม่เที่ยง ตีมันให้แตก ทุกขังก็เป็นทุกข์ลำบากกายใจ อนัตตาไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา นี่นะตีมันให้แตกด้วยปัญญาใคร่ครวญหาเหตุผลต้นปลายของภพชาติ ขันธ์ ๕ เป็นมาอย่างไร หมวดหมู่กองสังขาร กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ รวมเรียกว่า ขันธ์ ๕

    ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ เป็นภาระหนัก

    นัตถิ ขันธะสะมา ทุกขา ทุกข์อื่นหมื่นแสนจะทุกข์เหมือนขันธ์ ๕ ไม่มี นี่แหละ นัตถิ ขันธะสะมา ทุกขา ให้มันเห็นเพียงแค่นั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตีมันให้แตกด้วยปัญญาวิปัสสนา นั่นแหละคาดหมายเสียก่อนให้มันรู้ให้มันเห็นจริงแจ้งชัด อันนี้เป็นข้อสำคัญมั่นหมาย นั่นแหละตีขึ้นไปตั้งแต่มนุษย์ถึงเทวโลก ตีตั้งแต่เทวโลกมาถึงมนุษย์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา น้อมลงสู่ไตรลักษณ์ ตีตั้งแต่มนุษย์โลกลงไปถึงยมโลก

    ยมโลก โลกหาความเจริญไม่ได้นะ

    นรก นรกก็มาถึง ๔๕๖ ขุมใหญ่ๆ นะเจ้านั่นแหละ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ๔ สถานนั้น เรียกว่า ยมมะ นั่นแหละ ตีให้เห็นว่ามันเป็นอนิจจังไม่เที่ยง โลกนั้นก็ดี ทุกขังก็เป็นทุกข์แสนสาหัส อนัตตาก็ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา โลกทั้งสาม กามโลก ๑๑ มีอบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ รวมเป็น ๑๑

    โลกเสพกามก็น้อมลงสู่ไตรลักษณ์ อนิจจะตาไม่เที่ยงนะ ทุกขะตาก็เป็นทุกข์ อนัตตะตาไม่ใช่เขาไม่ใช่เราแท้ นั่นแหละมันจึงเบื่อหน่ายคลายความยึดถือความถือ ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา

    พรหมโลก ๑๖ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อรูปพรหม ๔ ละเอียดประณีตเลวทรามนะ เป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์ผู้บำเพ็ญรูปฌาน อรูปฌาน และบุญกุศลเกิดขึ้นละเอียดประณีตต่างกันนั้นๆ แต่แล้วก็ตกใต้อำนาจของไตรลักษณ์ทั้งนั้น

    อนิจจะตา ไม่เที่ยง ทุกขะตา ก็เป็นทุกข์ อนัตตะตา ไม่ใช่เขาไม่ใช่เราแน่นอน

    นั่นแหละการเจริญวิปัสสนาค้นคว้าในขันธ์ ๕ น้อมลงสู่ไตรลักษณ์ ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจึงจะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดนะ โลกทั้งสามเป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์ชั่วคราว ไม่นานหนอก็เคลื่อนคลาดย้ายไปเท่านั้น
     
  7. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    โลกภายในอีกคืออะไร คือเมืองกายนคร

    เมืองกายนครคืออะไร ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้คือเมืองกายนครที่โคจรอาศัยของเจ้าจิตราชคือใจ จิตคือเรามาพึ่งพิงอาศัยเมืองกายนครนี้ เห็นว่าเป็นของมั่นคงถาวรแน่นหนา เป็นที่พึ่งพิงอิงอาศัยหลบแดดลมร้อนเย็นหนาวอยู่สนุกสนาน แต่แล้วก็ไม่นานนะ ก็ถูกเจ้าพระยามัจจุราชผู้มีอำนาจเสนาใหญ่ มาประหัตประหารให้ย่อยยับแตกดับตายทิ้งเสีย นั่นแหละ ให้เห็นเป็นอย่างนั้น โลกภายนอกภายในก็เป็นอย่างเดียวกันหมดเสียสิ้น

    อนิจจัง ไม่เที่ยง เมืองกายนครนี้นั้น

    ทุกขัง ก็เป็นทุกข์ลำบากกายใจ

    อนัตตา ไม่ใช่เขาไม่ใช่เราแน่นอน

    นั่นแหละ พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายท่านมาเห็นโลกภายนอกภายในอย่างนี้

    อันนี้เป็นการเจริญวิปัสสนาขั้นเหตุ ค้นคว้าในขันธ์ ๕ ในโลกทั้งสามให้มันแจ้งชัดอย่างนี้ น้อมลงสู่ไตรลักษณ์เสมอมันจึงจะเบื่อหน่ายคลายความยึดว่าธาตุขันธ์เป็นเรา เราเป็นธาตุขันธ์ เรามีธาตุขันธ์ ไม่ใช่หรอก ให้เห็นเพียงแต่ว่าเป็นสัมภาระปัจจัยเครื่องอาศัยชั่วคราว และเป็นสมบัติมาหาได้ใหม่

    นั่นแหละธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟนี้มาหาได้ใหม่ทั้งนั้น และเป็นสมบัติของโลกยืมโลกมาใช้สอยชั่วคราว ไม่นานหนอก็ส่งคืนให้แก่โลกเท่านั้น เพราะมันแก่เจ็บตาย

    ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เมื่อมันแตกดับสามัคคีกันแล้ว ต่างฝ่ายก็ต่างไปนะ หมดเพียงแค่นั้น ลมถึงสภาพสูญ ไม่มีอะไรเป็นเขาเป็นเราทั้งนั้น

    อันนี้ เป็นการเจริญวิปัสสนาขั้นเหตุค้นคว้าในขันธ์ ๕ ให้มันเห็นจริงแจ้งชัด อย่างนี้มันจึงจะพอใจใฝ่ฝันในการที่จะเจริญธรรมต่อไป

    ฉะนั้น เมื่อเราพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า อัชฌัตตาวา คือตัวเราก็เป็นอย่างนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พะหิทธา วา ภายนอกคือคนอื่นก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั่นแล แล้วก็สิ้นสงสัยเท่านั้น วกจิตไปดูอดีตที่ล่วงมาแล้ว ล้านชาติแสนชาตินะนับไม่ถ้วนประมวลไม่จบ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเท่านั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเท่านั้น

    จะไปอนาคตข้างหน้าโน้น ก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเท่านั้น

    อัชฌัตตา วา ภายในคือตัวเราก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พะหิทธา วา ภายนอกคือคนอื่นหมื่นแสนในโลกทั้งสามนี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาด้วยกันเสียสิ้นนี่แหละเจ้า จงใช้ปัญญาโยนิโสมะนะสิการ ใคร่ครวญหาเหตุผลต้นปลายของภพชาติสังขาร ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟเป็นมาอย่างไร

    นั่นแหละพิจารณาฝึกจิต สอนจิต จิตมีสติปัญญาฉลาดรู้เท่าทันต่อธาตุขันธ์ จะได้ไม่หวั่นไหวไปตามธาตุขันธ์เมื่อชรา พยาธิ มรณะ มาถึงแล้วข้างหน้าโน้น ภัยใหญ่นั้นเราศึกษารู้แล้วก็ปล่อยวางได้ไม่หวั่นไหวไปตามภพชาติสังขารนั้น ก็อยู่ด้วยความสุขสบายใจ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 พฤศจิกายน 2010
  8. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ต่อแต่นั้น เมื่อเราฝึกในการเจริญเดินจงกรม ยืนภาวนา นั่งสมาธิ ไหว้พระสวดมนต์ คงที่ก้าวหน้าอยู่อย่างนั้น จะช้าหรือเร็วก็ทำกันอยู่อย่างนั้น แล้วก็พิจารณาชาติภพสังขาร ขันธ์ ๕ น้อมลงสู่ไตรลักษณ์ เราพิจาณาแล้วพิจารณาเล่า ประมวลเข้ากันทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานขั้นเหตุ

    อันนี้เป็นขั้นเหตุนะเจ้า เป็นการฝึกจิต อบรมจิต ทรมานจิต ให้จิตมีปัญญาฉลาดรู้ต่อภพชาติสังขารอยู่ทุกเมื่อ จะได้ไม่หวั่นไหว เห็นเป็นอย่างนั้นก็กลัวเหมือนเต่าหนีไฟ ธรรมดาว่าเต่าเพ็กมันอยู่ในดงใหญ่ เมื่อไฟไหม้ป่ามันก็รีบหนีไฟนะ ไปเลย รีบคลานลงสู่หนองน้ำใหญ่นั่นแหละ เพราะกลัวไฟไหม้ อันนี้ฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลายก็ฉันนั้น กลัวว่าภพชาติสังขารอันนี้แหละเป็นภัยใหญ่

    อุปานียะติ โลโก อะธุโว โลกคือหมู่สัตว์ไม่จีรังยั่งยืนหรอกเจ้า อันชราคือความแก่นั้น ย่อมขับต้อนอายุของชีวิตสัตว์ทั้งหลายไปสู่ความตายทุกวันคืนไม่ว่างเว้นนะ เปรียบเหมือนกับนายโคบาลขับต้อนฝูงโคทั้งหลายไปสู่ที่เลี้ยงกินหญ้า ใช้ค้อนฆ่าไปตีไป โคทั้งฝูงนั้นถูกค้อนของนายโคบาลเจ็บร้าวไปทั้งฝูงนั้น อันนี้ฉันใด นั่นแหละเมื่อเห็นเป็นเช่นนั้นก็อย่าเพิ่งประมาทนะ เราทุกคนทุกท่านในภพทั้งสามเป็นฝูงโคใหญ่ของพญามัจจุราชนะ พญามัจจุราชนั้นเป็นผู้มีอำนาจเสนาใหญ่ เราทุกท่านทั้งแต่วันเกิดมานั้นถูกพญามัจจุราชตัดสินประหารชีวิตแล้ว เมื่อไหร่เราจะไปพ้นได้ พ้นจากความเป็นฝูงโคนั้น

    นั่นแหละ ฉะนั้นเมื่อเห็นเป็นเช่นนั้น อย่าได้หวั่นไหว จงเจริญสมถธรรมด้วยการเดินจงกรม ยืนภาวนา และนั่งสมาธิ และเจริญวิปัสสนาธรรม ด้วยการพิจารณาภพชาติสังขารน้อมลงสู่ไตรลักษณ์ให้เห็นแจ้งประจักษ์อย่างนั้น ทำความเพียรอยู่อย่างนั้น วันคืนยืนเดินนั่งนอน ทำอยู่อย่างนั้นไม่ลดละ

    นั่นแหละ จะเป็นหรือไม่เป็นก็ทำไปอย่างนั้น

    ธัมมัญญุตา ประกอบเหตุดีแล้วนะ อัตถัญญุตา ผลดีคือความสงบขั้นต่างๆ จะเกิดขึ้นสนองข้างหน้าโน้น ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ อันนั้นผลจะเกิดขึ้นสนองเพราะเราประกอบเหตุขึ้นพร้อมแล้วโดยไม่ผิดหวัง

    ต่อแต่นั้น พอเราประกอบให้เป็นมรรคสามัคคีกันพร้อมแล้วทุกสิ่งอย่าง ต่อแต่นั้นจิตก็รวมเป็นมรรคสามัคคี กายกับจิตกับสติปัญญา นั้นพร้อมมูลทุกสิ่งอย่าง เพราะการฝึกฝนอบรมมานั้น

    ต่อแต่นั้นไม่นานจิตก็วางพุทโธ วางกาย วางเวทนา วางขันธ์ รวมลงสู่ภวังคภพอันแน่นแฟ้น ในขณะที่จิตรวมลงไปนั้นจะเร็วหรือช้านั้น จิตกับสติกับปัญญาตามกันทันอยู่ไม่ลดละนั่นแหละเพราะการฝึก เมื่อลงไปถึงฐานนั้นแล้ว สิ่งที่มีอยู่ดับหมดเหมือนไม่มีนะ เหลือแต่ผู้รู้กับสติ ต่อแต่นั้นแสงสว่างกระจ่างแจ้งเกิดขึ้นพร้อมในขณะนั้น นี่เป็นของสำคัญ นี่แหละเป็นสมถกรรมฐานขั้นผล เกิดขึ้นเรียกว่า อุปจารธรรม
     
  9. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    สมถกรรมฐานขั้นผล ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเองหรอกว่าเป็นมาอย่างนั้น ในขณะนั้นแสนสุขแสนสบาย ความสุขในโลกนี้นั้นจะหาสิ่งใดเปรียบปานเสมอไม่มี เพราะจิตมีอารมณ์เดียวนะสุขสบาย ผู้รู้พูดขึ้นอีกว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง ความสุขอื่นเสมอด้วยจิตสงบไม่มี

    อันนี้เป็นของแน่นอนนะ สุขแท้ที่แท้จริง นั่นแหละสุขที่เกิดจากความสงบนั้น

    ต่อแต่นั้นพูดขึ้นมาอีกว่า เรื่องความสุขนี้นั้นเป็นโลกียสุขนะ และเป็นโลกียสังขาร เป็นสังขารอันไม่มั่นคง เป็นสังขารไม่แน่นอน โลกียสังขารเกิดขึ้นได้เพราะการฝึก อันนี้เป็นบุญ

    นั่นแหละแต่แล้วอย่าเพิ่งติดสุข ถ้าติดสุข ความสุขนั้นเป็นเครื่องปิดทุกข์ เมื่อความสุขเป็นเครื่องปิดทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ไม่เห็นธรรม ไม่เห็นตน ก็หลงโลกอีกนะ ค้างโลกอีก เป็นเปรตในวัฏสงสาร ค้างโลกอีกนั่นแหละ อย่าเพิ่งติดสุข แล้วอย่าเมินเฉย พอจิตมันสงบอยู่พอสมควรแล้ว อาศัยอุปจารธรรมนั้นนะเป็นเครื่องหนุนส่งจิตให้มีกำลัง ทีนี้ทหารเอกเกิดขึ้นพร้อมสัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นพร้อมพรึบในขณะนั้นกล้าหาญชาญชัย ปัญญาสัมมาทิฏฐิ เห็นพร้อม

    โอ๋... การสะสมกระทำคุณงามความเพียรนั่นแหละเป็นมรรค มรรคธรรมเป็นเครื่องส่งหนุนจิตเข้าสู่ความสงบได้แน่นอน อันนี้เป็นทางพ้นทุกข์ก็เห็นแจ้งชัดในระยะนั้น นั่นแหละก็สิ้นสงสัย

    ต่อแต่นั้น แสงสว่างกระจ่างแจ้งเกิดขึ้น ในขณะนั้นมีนิมิตผ่านเข้ามาอีก นิมิตนั้นท่านพระธรรมยกบุพเพชาติขึ้นมาสอนนะ นี่ข้อสำคัญ นั่นแหละครั้งแรกแล้วแต่เขาจะยกอะไรมาสอน เป็นเปรต เป็นเสือ เป็นช้าง ยักโข สัตว์บก สัตว์น้ำต่างๆ เขายกเอามาสอนเรานั่นแหละ เพราะเราหลงภพหลงชาติหลงสังขาร นั่นแหละสำคัญมั่นหมายว่าเกิดชาติเดียว ไม่ใช่นะ เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้นก็กำหนดถามผู้รู้ว่า นี่คืออะไร อย่าให้มันเสียเปล่าจะไม่ได้ปัญญา ไม่ได้ความสังเวช นี่คืออะไรกำหนดคำถาม เขาจะพูดขึ้นมานะ

    “นี่แหละ ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ ชาติภพที่ท่านเสวยมาแล้วเป็นอย่างนี้”

    “เป็นอย่างนี้ก็เป็นหรือ”

    “เป็น”

    “เพราะเหตุไรจึงเป็น”

    “เพราะกลืนยาพิษ โลภ โกรธ หลง อวิชชา ตัณหา นั้นคือยาพิษ นั่นแหละเป็นเครื่องร้อยรัดผูกมัดดวงจิตดวงใจให้วกเวียนเปลี่ยนชาติภพไม่จบ สิ้น นั่นแหละนานแสนนานเพราะกรรมกับกิเลสนั้น หลอกลวงรึงรัดผูกมัดอยู่เป็นนิจ จนกว่าที่จะเปลี่ยนชาติภพมาใหม่อีกนั้นก็ช้านานเป็นแสนๆ ชาติ แต่ละภาพละชาตินั้นนะ”

    นั่นแหละจะได้ความสังเวชสลดใจ น้ำตาไหล โอ้หนออนิจจาน่าสังเวช เพราะเราหนอเป็นเหตุท่องเที่ยวเกิดแก่เจ็บตายในภพน้อยภพใหญ่ เรานี้เป็นเหตุ กิเลสและกรรมนั้นเป็นเครื่องร้อยรัดผูกมัด นั่นแหละจะได้รับปัญญาความรอบรู้ รู้รอบในชาติภพสังขารเป็นมาแต่ชาติปางก่อนโน้น

    นั่นแหละเขาจะทำท่าทาง แก่ก็ร้องคราง เจ็บก็ร้องคราง นอนตายเกลือกเลือดบ้าง อาเจียนเป็นเลือดตายบ้าง นั่นแหละตายแล้วก็เน่าเปื่อยเน่าสาบสูญ ไม่มีอะไร ทุกภพทุกชาติเวียนเกิดเวียนตายภพน้อยภพใหญ่นั้น ตายถมทับแผ่นดิน ดินเป็นที่รวบรวมไว้ทั้งนั้น

    นั่นแหละจะได้ความสังเวชสลดใจ ใจจะได้เกรงกลัวไม่อยากได้อีกต่อไป จะได้ปัญญาวิชาความรู้ฉลาดต่อภพชาติสังขาร เปลี่ยนภพชาติมาอย่างนั้น อันนี้เป็นข้อสำคัญมั่นหมายนั่นแหละ เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้นก็จบเรื่องนั้น แล้วก็วกจิตน้อมจิตเข้ามาดูนิมิตปัจจุบันชาตินี้นะ
     
  10. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    สัจจะนิมิต สัจธรรมทั้ง ๔ พิจารณาชาติ คือความเกิดเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความเกิด ชรา คือความแก่เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความแก่ พยาธิ คือความปวดไข้เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความไข้ได้ป่วย มรณะ คือความตายเป็นทุกข์ ทุกข์จนตายเมื่อถึงบทบาทตายแล้ว ใครเล่าอยากได้ไม่มี

    นั่นแหละ อนุโลม ปฏิโลม เดินหน้าถอยหลัง พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า

    อัฑฒา เจวะ ทะฬิททา จะ สัพเพมัจจุปะระยะนา จนและมี ดีและชั่ว นอกบ้านในบ้าน นอกเมืองในเมือง ใต้น้ำบนบก ใต้ดินบนอากาศ ใครเล่าจะผ่านพ้นไปได้ ต้องแก่เจ็บตายเที่ยงแท้แน่นอน

    สัพพัง เภทะปะริยันตัง เอวัง มัจจานะ ชีวิตัง ภาชนะดินทั้งปวงที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุปัจจัย เบื้องต้นก็สวยงาม รถ เรือน เกวียน ล้อ บ้าน เรือน ทุกประเภท ใช้ไปนานๆ ก็เก่าคร่ำคร่า เบื้องปลายก็ต้องแตกดับลงนอนทับแผ่นดินด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นแน่นอนนั่น แหละ ชีวิตสังขารน้อยนิดเดียว เปรียบเหมือนน้ำค้างบนใบหญ้า เมื่อต้องแสงพระอาทิตย์เข้าแล้วก็พลันที่จะแห้งหายไป อันนี้ฉันใด บนพื้นปฐพีอันกว้างใหญ่ก็ดี จะปราศจากความตายของสัตว์แม้เพียงเส้นผมหนึ่งไม่มี

    เท่าที่แสดงมานี้ จงพิจารณาดูเถิด จะเกิดความสังเวชในชีวิต นั่นแหละเกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์โทษภัยน้อยใหญ่ โลกคือหมู่สัตว์เป็นอย่างนั้น เวียนเกิดเวียนตายในภพน้อยภพใหญ่นะ สัจธรรมทั้ง ๔ นี่ได้ทุกภพทุกชาติ ได้แต่สมบัติอันเก่านั่นแหละ ไม่แน่นอนของเก่านี้นั้น

    แต่แล้วปราชญ์เจ้าทั้งหลาย ท่านก็ได้สัจธรรมทั้ง ๔ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ นั่นแหละ ปราชญ์เจ้าทั้งหลายจึงมีใจผ่องแผ้วเบิกบาน ได้บรรลุวิมุตติวิโมกข์จากสัจธรรมทั้ง ๔ นี้

    เพราะสัจธรรมทั้ง ๔ นี้เป็นบ่อนฐานสถานที่บำเพ็ญสมถธรรมวิปัสสนาธรรม ขยำเสียซึ่งกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ออกจากดวงจิตได้ มีแต่สัจธรรมทั้ง ๔ เท่านั้น

    ทีนี้ตายแล้วก็ปราศจากของรักใคร่ชอบใจทั้งหลายทั้งปวง ของที่รักใคร่ชอบพอใจนั้นต้องได้พลัดพรากจากเราแน่แท้คือร่างกายนี้นะ นั่นแหละพลัดพรากจากเราไป เป็นอย่างนั้นเป็นสุขหรือทุกข์เล่า เวียนเกิดเวียนตายภพน้อยภพใหญ่ อยู่อย่างนี้เป็นนิจ

    อันนี้แหละข้อสำคัญมั่นหมาย พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า อนุโลมปฏิโลมเดินหน้าถอยหลังไปถึงบทบาทมันชำนาญแล้ว พระธรรมจะยกมรณกรรมฐานมาสอนอีก เพราะเราหลงในภพชาติสังขาร

    มรณะ ยกภาพมาให้เห็น เป็นคนนอนตายต่อหน้า หญิงชายตายต่อหน้า มองไปข้างหน้าโน้นสุดสายตานะ ซ้ายขวาข้างหลังมีแต่ตายกับตาย

    อันนี้พระธรรมยกบุพเพชาติปางก่อนมาสอนอีก เวียนเกิดเวียนตาย ภพน้อยภพใหญ่ ต่ำๆ สูงๆ ลุ่มๆ ดอนๆ นั่นแล มีแต่ตายกับตาย นอกจากตายแล้วไม่มี

    ตายแล้วเป็นอย่างไร ตายอยู่กลางพงไพรป่าไม้ พี่และน้องพงศ์เชื้อก็ไม่มี มีแต่ตายกับตาย ตายแล้วก็ทอดทิ้งไว้ในโลกนี้ เพราะเป็นสมบัติของโลก ไม่มีอะไรเป็นเขาเป็นเรา เกิดที่นี่ก็แก่เจ็บตายทอดทิ้งไว้ที่นี่ ไปเกิดที่โน้นก็แก่เจ็บตายทอดทิ้งไว้ที่โน่นอีก เป็นอย่างนั้นทั้งบกและน้ำ ได้เสวยมาทุกภพทุกชาติแล้วนั่นแหละ พระธรรมยกบุพเพชาติปางก่อนมาสอนสมบัติแต่ปางก่อนโน้น นี่แหละเวียนเกิดเวียนตายภพน้อยภพใหญ่ ก็ได้มาแต่สมบัติอันเก่านี่แหละ ก็เพราะมันแก่เจ็บตายซ้ำๆ ซากๆ ไม่มีวันจบสิ้นได้

    นี่แหละจงศึกษา ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟนี่นั้น เมื่อมีความสามัคคีกันอยู่ เป็นอย่างไรน่าดูน่าชม หญิงชายนะลูบคลำจับต้องก็อบอุ่น ทีนี้เมื่อสิ้นลมแล้ว ธาตุไฟก็ดับ เหลือแต่ธาตุดินกับธาตุน้ำรวมกันอยู่เป็นอย่างไร เปลี่ยนสี สีขาวซีด สีเขียว สีดำ น่ากลัวทั้งนั้น ส่งกลิ่นเหม็นออกมา หน้าเบ้อืดพอง ส่งกลิ่นออกมาทั้งนั้น นั่นแหละมองไปข้างหน้า นกตะกรุมและอีแร้ง สุนัขบ้านและสุนัขป่า ยื้อแย่งกินเป็นอาหารอยู่เป็นกลุ่มๆ ส่งเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ตัวหนึ่งคาบแขน ตัวหนึ่งคาบขา ยื้อแย่งกันอย่างนั้นแหละ นี่แหละมาตายทอดทิ้งเป็นเหยื่อเป็นภักษาหารอีแร้งอย่างนั้น

    นั่นแหละ พิจารณาเห็นเป็นอย่างนั้นก็สิ้นสงสัย เพราะเราเป็นเหตุ เกิดแก่เจ็บตายเป็นผล เรานี่เป็นเหตุ เพราะกิเลสเป็นเครื่องรึงรัดผูกมัดให้เวียนเกิดเวียนตายภพน้อยภพใหญ่ ไม่มีวันจบสิ้นได้

    เพ่งศึกษาไม่นานก็เปื่อยเน่า มรณะกรรมฐานเกิดขึ้น อสุภะกรรมฐานเกิดขึ้น เปื่อยเน่า นั่นแหละหนักเข้าก็เหลือแต่ร่างกระดูก นั่นแหละร่างใหม่ๆ เก่าๆ สั้นๆ ยาวๆ นะ เพราะเราเวียนเกิดเวียนตาย แต่ละภพชาติมันไม่เหมือนกัน ทั้งบนบกและในน้ำ ทั้งในดงและในป่า เป็นอย่างนั้น

    นั่นแหละ ต่อแต่นั้นก็เพ่งศึกษา นี่แหละเมื่อเห็นเป็นอย่างนั้น อินทรีย์มาวาสนาส่งนะ เพ่งเห็นเป็นอย่างนั้น จิตนั้นก็รู้ว่าเรามาอยู่กับของตาย ตายแล้วก็เปื่อยเน่าสาบสูญ เหลือแต่ร่างกระดูก ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นเขา

    อันนี้อนิจจะตา ไม่เที่ยง มันอยู่ตรงนี้ ทุกขะตา ก็เป็นมันอยู่ตรงนี้ ไม่ได้ตามใจหมาย อนัตตะตา ไม่ใช่เขาไม่ใช่เราก็อยู่ตรงนี้

    นั่นแหละพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายเห็นเป็นอย่างนั้นก็เบื่อหน่าย จึงเลิกละ แล้วก็ยึดดาบเพชร คือ สติปัญญาถางสังโยชน์ ตัดสังโยชน์ ๓ ก็ดี ๕ ก็ดี ๑๐ ก็ดี แล้วแต่จะทำลายได้ อันนั้นเป็นภาระหน้าที่ของจิตเขาจะทำงานเอง

    อันนั้น นิยะโตธรรม นิยะโตจิต เกิดขึ้นที่จิต จิตถึงแล้วแก้วทั้ง ๓ ประการ แก้วพุทโธ ธัมโม สังโฆ เกิดขึ้นแล้วที่จิตหมดเพียงเท่านั้น

    อันนั้นแหละ จิตตัง ทันตัง สุขามาวะหาติ จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ อันนั้นเป็นของสุขดีเลิศประเสริฐแท้ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ดวงเด่นเกิดขึ้นแล้วที่จิต อันนั้นแหละเป็นของสำคัญมั่นหมาย ปฏิปันนา โมกขันติ ฌายิโน มาระพันธะนา เมื่อจิตรื้อถอนสังโยชน์ออกจากจิตได้แล้ว นั่นแหละมารตามไม่เห็นตามไม่ทัน หมดเพียงแค่นั้น นี่ข้อสำคัญมั่นหมาย

    นี่เป็นวาระพระโยคาวจรเจ้าจำพวกที่ ๑
     
  11. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    จำพวกที่ ๒ เพ่งพิจารณาให้เหลือแต่ร่างกระดูก กำหนดไฟเผาทันทีหมดเสียสิ้น ไม่มีอะไรเป็นเขาเป็นเรา ทีนี้เรามาอยู่กับธาตุขันธ์ของสูญ สูญไม่มีอะไรเป็นเขาเป็นเรา สูญตั้งแต่เมื่อปฏิสนธิมาเป็นระยะๆ มาเป็นหนุ่มเป็นสาว สูญจากความเป็นหนุ่มเป็นสาวมาเป็นพ่อคนแม่คน สูญจากความเป็นพ่อคนแม่คนมาเป็นคนเฒ่าคนแก่ ผมหงอก แก้มตอบ ฟันหัก เนื้อหนังสะพรั่งพร้อมไปด้วยเส้นเอ็น ย่อมเป็นที่สังเวชทั้งตนและบุคคลอื่น อันนี้เป็นมาเป็นอยู่ตามเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น

    นั่นแหละ ธาตุโย สุญญะโต ปัสสะ พระธรรมพูดขึ้นมาอีกนะ ท่านจงพิจารณาเห็นเป็นของสูญ มรณะ อสุภะ สุญญะตะกรรมฐาน ทั้ง ๓ ฐานนี้เกิดขึ้นแล้วที่จิตจะเป็นธรรมแขนงเอก แล้วจิตนั้นจะหมดความสงสัย ไม่มีภพใดชาติใดที่จะคงที่เที่ยงแท้ถาวร

    สูญโญ โลโก โลกทั้งสามก็สูญอีก พูดมาอย่างนั้น ฉะนั้นโลกภายนอกก็สูญ โลกภายในก็สูญ จะเอาสถานที่ใดเป็นเขาเป็นเราไม่มีที่อยู่เที่ยงแท้แน่นอนไม่มี

    อนิจจะตา มีแต่ของไม่เที่ยงทั้งนั้น ทุกขะตา ก็เป็นทุกข์ อนัตตะตา ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา ถึงขั้นนี้ละเอียดจริงนะท่าน ละเอียดจริงๆ นะจิตขั้นนี้ นี่แหละบ่อนฐานกรรมฐานเอกที่จะเอาตนรอดพ้นจากหลุมลึก คือ กิเลสได้ไม่น้อยก็มาก ไม่มากก็น้อยแน่นอนนะ

    นั่นแหละ เมื่อเห็นอย่างนั้น เรามาอยู่กับของสูญ โลกสูญ โลกไม่เที่ยง โลกเป็นทุกข์ โลกเป็นอนัตตา อยู่ไปแล้วก็ลำบากกายใจ จิตไม่แล้วไม่รอด

    พระพุทธเจ้าทั้งหลายท่านทอดทิ้งไว้แล้ว ท่านไม่เอาอีก

    อัปปะฏิวัตติ ท่านดับขันธ์เข้านิพพานแล้ว โลกทั้งสามท่านไม่กลับมาอีก เพราะเบื่อหน่ายในโลกสูญนี้นั้น

    อัปปะฏิสนธิ ท่านไม่มาถือปฏิสนธิอีกในโลกทั้งสาม หมดเพียงแค่นั้น

    อะนุปายาโส ท่านไม่ประมวลมาอีกซึ่งทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

    อะนุตตะโร ดวงจิตของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายผู้ได้แล้วนั้นเป็นของเยี่ยมในโลกทั้งสาม ไม่มีสิ่งใดที่จะดีเยี่ยมเสมอเหมือน

    โลกัสสันโต เป็นที่สิ้นสุดแห่งโลกทั้งสาม หมดเพียงแค่นั้น

    เมื่อเห็นเป็นอย่างนั้นท่านก็เบื่อหน่าย ยึดดาบเพชรตัดสังโยชน์ทั้ง ๓ คือ สักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ขาดจากใจ ถ้าตัดได้ ๕ หรือตัดได้ ๑๐ ถอนออกได้ทั้งหมดก็ดีมาก

    นั่นแหละชาตินี้เป็นผล ชาติปางก่อนโน้นเป็นเหตุ สะสมมา บุญกุศลภพน้อยภพใหญ่ นั่นแหละเป็นเครื่องส่งผลให้ได้ตามใจหมาย

    เมื่อตัดถอนได้แล้ว อันนั้นแหละ วิราโช ปราศจากธุลีเครื่องเศร้าหมอง เขโม เป็นสุขอันเกษม ราชภัย ไกลจากสงสาร อันนี้เป็นข้อสำคัญมั่นหมาย

    นี่แหละการแถลงไขธรรมะเทศนา บรรยายธรรมปฏิบัติ เรื่อง สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน ทั้งเหตุและผลย่นย่อมาอธิบายให้ฟัง เพื่อว่าท่านผู้ใคร่ธรรมทั้งหลายจะได้สนใจนำไปประพฤติปฏิบัติอบรมจิตใจของตน ให้ตรงต่อธรรมทะคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วต่อแต่นั้นไปก็จะไม่ผิดวัง ดังพรรณนามานี้ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติเอาไว้แต่เพียงนี้

    เอวัง ..

    คัดลอกจาก อังคาร ลานธรรมเสวนา
    http://larndham.org/index.php?/topic/27703-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%96%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B1/
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 พฤศจิกายน 2010

แชร์หน้านี้

Loading...