บันทึกคติธรรม ของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย beverzone, 30 ตุลาคม 2010.

  1. beverzone

    beverzone เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    589
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +2,174
    [​IMG]
    ภาพหน้าปกหนังสือ


    บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา
    ของ พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
    รวบรวมและบันทึกไว้โดย
    พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฑิโต)
    วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์




    [​IMG]
    ที่มารูปภาพ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=poivang&month=08-2007&date=03&group=7&gblog=4

    ธรรมะปฏิสันถาร
    เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พุทธศักราช 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า พระบรทราชินีนาถ
    เสด็จเยี่ยมหลวงปู่เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงถามถึงสุขภาพอนามัยและการอยู่สำราญแห่งอิริยาบถของหลวงปู่
    ตลอดถึงทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปุจฉาว่า

    "หลวงปู่ การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน”
    “กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อนให้ละอันนั้นก่อน.”



    [​IMG]
    ที่มารูปภาพ http://www.kammatan.com/board/index.php?topic=52.0

    สิ่งที่อยู่เหนือคำพูด
    อุบาสกผู้คงแก่เรียนคนหนึ่ง สนทนากับหลวงปู่ว่า "กระผมเชื่อว่า แม้ในปัจจุบันพระผู้ปฏิบัติถึงขั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
    ก็คงมีอยู่ไม่น้อย เหตุใดท่านเหล่านั้นจึงไม่แสดงจนให้ปรากฎ เพื่อให้ผู้สนใจปฏิบัติทราบว่าท่านได้บรรลุถึงคุณธรรมนั้นๆ แล้ว
    เขาจะได้มีกำลังใจแบะมีความหวัง เพื่อเป็นพลังเร่งความเพียรในทางปฏิบัติให้เต็มที่"

    หลวงปู่กล่าวว่า
    “ผู้ที่ที่เขาตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดว่าเขารู้แล้วซึ่งอะไร เพราะสิ่งนั้นมันอยู่เหนือคำพูดทั้งหมด”





    จริงแต่ไม่จริง
    ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เมื่อปรากฎผลออกมาในแบบต่างๆ ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา
    เช่นเห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง ปรากฎในอวัยวะร่างกายของตนเองบ้าง ส่วนมากมากราบเรียนหลวงปู่เพื่อให้ช่วยแก้ไข
    หรือแนะอุบายปฏิบัติต่อไปอีก มีจำนวนมากที่ถามว่า ภาวนาแบ้วก็เห็นนรก สวรรค์ วิมานเทวดา
    หรือไม่ก็เป็นองค์พระพุทธรูปปรากฏอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ

    หลวงปู่บอกว่า
    ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 พฤศจิกายน 2010
  2. beverzone

    beverzone เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    589
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +2,174
    [​IMG]
    ที่มารูปภาพ http://www.openbase.in.th/node/2878

    เป็นของภายนอก
    เมืิ่อวันที่ 10 ธันวาคม 2524 หลวงปู่อยู่ในงานประจำปี วัดธรรมมงคล สุขุมวิท กรุงเทพ
    มีแม่ชีพราหมณ์หลายคนจากวิทยาลัยครูพากันเข้าไปถามทำนองรายงานผลของการปฏิบัติวิปัสนาให้หลวงปู่ฟังว่า
    เขานั่งวิปัสนาจนจิตสงบแล้วเห็นองค์พระพุทธรูปอยู่ในหัวใจของเขา บางคนบอกว่า ได้เห็นสวรรค์วิมานของตัวเองบ้าง
    บางคนว่าเห็นพระจุฬามนีเจดีย์สถานบ้างพร้อมทั้งภูมิใจว่า เขาวาสนาดี ทำวิปัสนาได้สำเร็จ

    หลวงปู่อธิบายว่า
    “สิ่งที่ปรากฎให้เห็นทั้งหมดนั้น ยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้นจะนำเอามาเป็นสาระที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก.”





    หยุดเพื่อรู้
    เมื่อเดือนมีนาคม 2507 มีพระสงฆ์หลายรูป ทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติ ได้เข้ากราบหลวงปู่เพื่อรับโอวาท
    และรับฟังการแนะแนวทางธรรมะที่จะพากันออกเผยแพร่ธรรมฑูตครั้งแรกหลวงผู่แนะวิธีอธิบายธรรมะขึ้นปรมัตถ์
    ทั้งเพื่อสอนผู้อื่นและเพื่อปฏิบัติตนเอง ให้เข้าถึงสัจจธรรมนั้นด้วย ลงท้ายหลวงปู่ได้กล่าวปรัชญาธรรมไว้ให้คิดด้วยว่า

    “คิดเท่าไหร่ๆ ก็ไม่รู้
    ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้
    แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้”






    ทุกข์เพราะอะไร
    สุภาพสตรีวัยเลยกลางคนผู้หนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่พรรณาถึงฐานะของตนว่าอยู่ในฐานะที่ดี ไม่เคยขาดแคลนสิ่งใดเลย
    มาเสียใจกับลูกชายที่สอนไม่ได้ ไม่อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดี ตกอยู่ภายใต้อำนาจอบายมุขทุกอย่าง
    ทำลายทรัพย์สมบัติและจิตใจของพ่อแม่จนเหลือที่จะทนไดเ ขอความกรุณาหลวงปู่ให้ช่วยแนะอุบายบรรเทาทุกข์
    และแก้ไขให้ลูกชายพ้นจากอบายมุขนั้นด้วย
    หลวงปู่แนะนำสั่งสอนไปตามเรื่องราวนั้นๆ ตลอดถึงแนะอุบายให้ใจสงบ รู้จักปล่อยวางเป็น
    เมื่อสุขภาพสตรีนั้นกลับไปแล้ว

    หลวงปู่ปรารภธรรมะให้ฟังว่า
    “คนสมัยนี้เป็นทุกข์เพราะความคิด”





    [​IMG]


    อุทานธรรรม
    เมื่อแยกพันธะแห่งความเกี่ยวเนื่องจิตกับสรรพสิ่งทั้งปวงได้แล้ว จิตก็หมดพันธะกับเรื่องโลก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
    จะดีหรือเลว มันขึ้นอยู่กับจิตที่ออกไปปรุงแต่งทั้งหมด และจิตที่ขาดปัญญาย่อมเข้าใจผิด
    ก็หลงอยู่ภายใต้อำนาจของเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ทั้งกายและใจ อันโทษทัณฑ์ทางกายอาจมีคนอื่นช่วยปลดปล่อยได้บ้าง
    ส่วนโทษทางใจ มีกิเลสตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้นั้น ต้องรู้จักปลดปล่อยตนด้วยตนเอง

    “พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านพ้นแล้วจากโทษทั้งสองทางความทุกข์จึงครอบงำไม่ได้”






    พุทโธเป็นอย่างไร
    หลวงปู่ได้รับนิมนต์ไปโปรดญาติโยมที่กรุงเทพ เมื่อ 31 มีนาคม 2521 ในช่วงสนทนาธรรม ญาติโยมสงสัยว่าพุทโธ
    เป็นอย่างไร หลวงปู่ได้เมตตาตอบว่า เวลาภาวนาอย่าส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด
    ความรู้ที่เราเรียนกับตำหรับตำรา หรือจากครูบาอาจารย์ อย่าเอามายุ่งเลย ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด
    แล้วก็ภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ เมื่อจิตของเราสงบเราจะรู้เอง ต้องภาวนาให้มากๆเข้า
    เวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง ความรู้อะไรๆ ให้มันออกจากจิตของเรา
    ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้ออกจากจิตเองนั่นแหละมันดี คิอจิตมันสงบ
    ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต และให้จิตภาวนาเอาเอง
    ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ แล้วพทโธนั่นแหละจะผุดขึ้นในจิตของเรา เราจะได้รู้จักว่า
    พุทโธ นั้นเป็นอย่างไร แล้วรู้เอง...เท่านั้นแหละไม่มีอะไรมากมาย





    อยากได้ของดี
    เมื่อต้นเดือนกันยายน 2526 คณะแม่บ้านมหาดไทยโดยมีคุณหญิงจวบ จิรโรจน์
    เป็นหัวหน้าคณะ ได้นำคณะแม่บ้านมหาดไทยไปบำเพ็ญสังคมสงเคราะห์ทางภาคอีสาน
    ได้ถือโอกาสแวะนมัสการหลวงปู่ เมื่อเวลา 18.20 น.
    หลังจากกราบนมัสการและถามถึงอาการสุขสบายของหลวงปู่และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระรึกแล้ว
    เห้นว่าหลวงปู่ไม่ค่อยสบาย ก็รีบออกมา แต่ก็ยังมีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง
    ถือโอกาสพิเศษกราบหลวงปู่ว่า ดิฉันขอของดีจากหลวงปู่ด้วยเถอะเจ้าค่ะ
    หลวงปู่จึงเจริญพรว่า ของดีก็ต้องภาวนาเอาจึงจะได้ เมื่อภาวนาแล้ว ใจสงบ กาย วาจา ก็สงบ
    แล้วกายก็ดี วาจา ใจ ก็ดี เราก็มีอยู่เท่านั้นเอง
    ดิฉันมีภาระมาก ไม่มีเวลาจะนั่งภาวนาได้ งานราชการเดี่ยวนี้รัดตัวมากเหลือเกิน
    ไมีมีเวลาที่ไหนจะมาภาวนาได้คะ

    หลวงปู่จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า
    “การภาวนาต้องกำหนดดูที่ลมหายใจ ถ้ามีเวลาสำหรับหายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา”
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 พฤศจิกายน 2010
  3. beverzone

    beverzone เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    589
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +2,174
    [​IMG]
    ภาพจาก http://kaosala.geranun.com/?page_id=16

    มี แต่ไม่เอา
    ปี 2522 หลวงปู่ไปพักผ่อน และเยี่ยมพระอาจารย์สมชายที่วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรั ขณะเดียวกันก็มีพระเถร
    อาวุโสรูปหนึ่งจากกรุงเทพ คือพระธรรมวราลังการ วัดบุปผารามเจ้าคณะภาคทางภาคใต้ไปอยู่ฝึกกัมมัฏฐาน
    เมื่อวัยชราแล้วเพราะมีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่เพียงปีเดียว
    เมื่อท่านทราบว่าหลวงปู่เป็นพระฝ่ายกัมมัฏฐานอยู่แล้ว ท่านจึงสนใจและศึกษาถามถึงผลของการปฏิบัติ
    ทำนองสนทนาธรรมกันเป้นเวลานาน และกล่าวถึงภาระของท่านว่า มัวแต่ศึกษาและบริหารงานการคณะสงฆ์มาตลอดวัยชรา
    แล้วก็สนทนาข้อกัมมัธฐานกับหลวงปู่เป้นเวลานาน ลงท้ายถามหลวงปู่สั้นๆ ว่า
    ท่านยังมีโกรธอยู่ไหม

    หลวงปู่ตอบว่า
    “มีแต่ไม่เอา.”





    รู้ให้พร้อม
    ระหว่างที่หลวงปู่อยู่รักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น มีผู้ไปนมัสการและฟังธรรมเป้นจำนวนมาก
    คุณบำรุงศักดิ์ กองสุข เป็นผู้หนึ่งที่สนใจในการปฏิบัติสมาธิภาวนานัยว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ
    แห่งวัดสังฆทาน จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นวัดปฏิบัติที่เคร่งครัดฝ่ายธุดงค์กัมมัธฐานในยุคปัจจุบัน
    ได้ปรารภการปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ ถึงเรื่องการละกิเลสว่า "หลวงปู่ครับ ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้"

    หลวงปู่ตอบว่า
    “ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง”





    ไม่ตามใจผู้ถาม
    ผู้ที่อยู่เฝ้ารักษาพยาบาลหลวงปู่ ที่โรงพยาบาลจุฬา ในรอบดึกมีจำนวนหลายท่านด้วยกัน
    เขาเหล่านั้นมีความสงสัยและอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง โดยที่สังเกตเห็นว่าหลวงปู่อธิบายธรรมะนานประมาณ
    สิบกว่านาที แล้วสวดยถาให้พร ทำเหมือนหนึ่งมีผู้มารับฟังอยู่เป็นจำนวนมาก
    ครั้นจะถามประพฤติการที่หลวงปู่ทำเช่นนั้นก็ไม่กล้าถาม ต่อเมื่อเห็นหลวงปู่ทำเช่นนั้นหลายครั้ง
    ก็ทนสงสัยไม่ได้ จึงพากันถามหลวงปู่ตามลักษณะการนั้น

    หลวงปู่จึงตอบว่า
    “ความสงสัยและคำถามเหล่านี้ มันไม่ใช่เป็นแนวทางปฏิบัติธรรม”





    ประหยัดคำพูด
    คณะปฏิบัติธรรมจากจังหวัดบุรีรัมย์หลายท่าน มีร้อยตำรวจเอกบุลชัย สุคนธมัด อัยการจังหวัด
    เป้นหัวห้นามากราบหลวงปู่เพื่อฟังข้อปฏิบัติธรรมและเรียนถามถึงวิธีปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป
    ซึ่งส่วนมากก็เคยปฏิบัติกับครูบาอาจารย์แต่ละองค์มาแล้ว และแสดงแนวทางปฏิบัติไม่ค่อยจะตรงกัน
    เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยขึ้น จึงขอกราบเรียนหลวงปู่โปรดช่วยแนะแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง
    และทำได้ง่ายที่สุด เพราะหาเวลาปฏิบัติธรรมได้ยาก หากได้วิธีที่ง่ายๆ แล้วก็จะเป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง

    หลวงปู่บอกว่า
    “ให้ดูจิต ที่จิต”





    ง่าย แต่ทำได้ยาก
    คณะของคุณตวงพรธารีฉัตร จากสถานีวิทยุทหารอากาศ 01 บางซื่อ นำโดย คุณอาคม ทันนิเทศ
    เดินทางไปถวายผ้าป่าและกราบนมัสการครูบาอาจารย์ตามสำนักต่างๆ ทางภาคอีสาน
    ได้แวะกราบนมัสการหลวงปู่ หลังจากถวายผ้าป่า ถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่หลวงปู่
    และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากท่านแล้ว ต่างคนก็ออกไปตลาดบ้าง พักผ่อนตามอัธยาศัยบ้าง
    มีอยู่กลุ่มหนึ่งประมาณ สี่ห้าคน เข้าไปกราบขอหลวงปู่แนะนำวิธีปฏิบัติง่ายๆ เพื่อแก้ไขความทุกข์ความกลุ้มใจ
    ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ ว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ผลเร็วที่สุด

    หลวงปู่บอกว่า
    “อย่าส่งจิตออกนอก”
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 พฤศจิกายน 2010
  4. beverzone

    beverzone เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    589
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +2,174
    [​IMG]
    ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/SIAM1932/2010/09/28/entry-2

    ทิ้งเสีย
    สุภาพสตรีท่านหนึ่ง เป็นชนชั้นครูบาอาจารย์ เมื่อฟังธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่จบแล้ว
    ก็อยากทราบถึงวิธีไว้ทุกข์ที่ถูกต้องตามธรรมเนียม เขาจึงพูดปรารภต่อไปอีกว่า
    คนสมัยนี้ไว้ทุกข์ไม่ค่อยจะถูกต้องและตรงกัน ทั้งๆที่สมัย ร.6 ท่านทำไว้เป็นแบบอย่างดีอยู่แล้ว
    เช่นเมื่อญาติพี่น้องหรือญาติผู้ใหญ่ถึงแก่กรรมลง ก็ให้ไว้ทุกข์ 7 วันบ้าง 50 วันบ้าง 100 วันบ้าง
    แต่ปรากฏว่าคนทุกวันนี้ทำอะไรรู้สึกว่าลักลั่นกันไม่เป็นระเบียบ ดิฉันจึงขอกราบเรียนหลวงปู่ว่า
    การไว้ทุกข์ที่ถูกต้องนั้น ควรไว้อย่างไรเจ้าคะ

    หลวงปู่บอกว่า
    “ทุกข์ ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย ไปไว้มันทำไม”









    คนละเรื่อง
    มีชายหนุ่มจากต่างจังหวัดไกลสามสี่คนเข้าไปหาหลวงปู่ ขณะที่ท่านนั่งพักผ่อนอยู่ที่มุขศาลาการเปรียญ
    ดูอากัปกิริยาของเขาแล้วคงคุ้นเคยกับพระนักเลงองค์ใดองค์หนึ่งมาก่อนแล้วสังเกตจากการนั่ง การพูด
    เขานั่งตามสบาย พูดตามถนัด ยิ่งกว่านั้น เขาคงเข้าใจว่าหลวงปู่องค์นี้คงสนใจกับเรื่องเครื่องรางของขลังอย่างดี
    เขาพูดถึงชื่อเกจิอาจารย์อื่นๆ ว่าให้ของดีของวิเศษแก่ตนหลายอย่าง ในที่สุดก็เอามาอวดกันเองต่อหน้าหลวงปู่
    คนหนึ่งมีเขี้ยวหมูตัน คนหนึ่งมีเขี้ยวเสือ อีกคนมีนอแรด ต่างคนต่างอวดอ้างว่าของตนวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้
    มีคนหนึ่งเอ่ยว่า หลวงปู่ฮะ อย่างไหนวิเศษกว่ากันฮะ

    หลวงปู่ก็อารมณ์รื่นเป็นพิเศษยิ้มๆ แล้วว่า
    “ไม่มีดี ไม่มีวิเศษอะไรหรอก เป็นของสัตว์เดียรัจฉานเหมือนกัน”









    ปรารภธรรมะให้ฟัง
    คราวหนึ่ง หลวงปู่กล่าวปรารภพระธรรมให้ฟังว่า เราเคยตั้งสัจจะอ่านพระไตรปิฎกจนจบ
    ในพรรษาที่ 2495 เพื่อสำรวจดูว่าจุดจบของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงไหน ที่สุดแห่งสัจจธรรม
    หรือที่สุดของทุกข์นั้นอยู่ตรงไหน พระพุทธองค์ทรงกล่าวสรุปไว้ว่าอย่างไร ครั้นอ่านไป ตริตรองไปกระทั่งถึงจบ
    ก็ไม่เห็นตรงไหนที่มีสัมผัสอันลึกซึ้งถึงจิตของเรา ให้ตัดสินได้ว่า นี่คือที่สิ้นสุดแห่งทุกข์
    ที่สุดแห่งมรรคผล หรือที่เรียกว่านิพพาน
    มีอยู่ตอนหนึ่ง คือ ครั้งนั้นพระสารีบุตรออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ พระพุทธเจ้าตรัสถามเชิงสนทนาธรรมว่า
    สารีบุตรสีผิวของเธอผ่องใสยิ่งนัก อะไรเป็นวิหารธรรมของเธอ พระสารีบุตรกราบทูลว่า

    “ความว่างเปล่าเป็นวิหารธรรมของข้าพระองค์” (สุญญตา)
    ก็เห้นมีเพียงเท่านี้แหละ ที่มาสัมผัสจิตของเรา






    [​IMG]


    แนะนำตามวิทยฐานะ
    พระอาจารย์สุจินต์ สุจิณโณ จบนิติ จากธรรมศาสตร์นานแล้ว มีความเลื่อมใสในทางปฏิบัติธรรม
    เคยไปฝากตัวเป็นลูกศิษหลวงปู่หลุย เป็นเวลาหลายปี ต่อมาเมื่อได้ยินกิตติศัพท์
    หลวงปู่ดูลย์จึงลาหลวงปู่หลุยมาปฏิบัติกับหลวงปู่ ตลอดถึงขอบรรพชาอุปสมบทอยู่ตลอดมา
    อยู่กับหลวงปู่พอสมควรแก่ความต้องการแล้ว จึงกราบลาเพื่อเดินทางธุดงค์วิเวกต่อไป

    หลวงปู่แนะนำว่า
    “เรื่องของพระวินัยนั้น ให้ศึกษาอ่านตำรับตำราให้เข้าใจถูกต้องทุกข้อมูล
    เพื่อปฏิบัติไม่ให้ผิด ส่วนธรรมะนั้น ถ้าอ่านมากก็จะมีวิตกวิจารณ์มาก จึงไม่ต้อง
    อ่านก็ได้ ขอให้ตั้งใจปฏิบัติเอาเพียงอย่างเดียวพอ”









    คิดไม่ถึง
    สำนักปฏิบัติแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสาขาของหลวงปู่นั่นเองอยู่ด้วยกันเฉพาะพระประมาณห้าหกรูป
    อยากจะเคร่งครัดเป็นพิเศษ ถึงขั้นสมาทานไม่พูดจากันตลอดพรรษา
    คือ ไม่ให้มีเสียงเป็นคำพูดออกจากปากใคร ยกเว้นการสวดมนต์ทำวัตร หรือสวดปาฏิโมกข์เท่านั้น
    ครั้นออกพรรษาแล้ว พากันไปกราบหลวงปู่เล่าถึงการปกิบัติอย่างเคร่งครัดของพวกตนว่า
    นอกจากปฏิบัติข้อวัตรอย่างอื่นแล้ว สามารถหยุดพูดตลอดพรรษาอีกด้วย

    หลวงปู่ฟังแล้วยิ้มหน่อยหนึ่ง พูดว่า
    “ดีเหมือนกัน เมื่อไม่พูดก็ไม่มีโทษทางวาจา แต่ที่ว่าหยุดพูดได้นั้น เป็นไปไม่ได้หรอก
    นอกจากพระอริยบุคคลผู้เข้านิโรธสมาบัติขั้นละเอียด ดับสัญญาเวทนาเท่านั้นแหละที่ไม่พูดได้
    นอกนั้นพูดทั้งวันทั้งคืน ยิ่งพวกที่ตั้งปฏิญานว่าไม่พูดนั้นแหละยิ่งพูดมากกว่าคนอื่น
    เพียงแต่ไม่ออกเสียงให้คนอื่นได้ยินเท่านั้นเอง”








    [​IMG]
    ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/SIAM1932/2010/09/28/entry-2

    ผู้ไม่มีโทษทางวาจา
    เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2526 หลวงปู่กำลังอาพาธหนักหักรักษาตัวอยู่ที่ห้องพระราชทาน
    ตึกจงกลนี วัฒนวงค์ โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ หลวงปู่สาม อกิญจโน
    เดินทางไปเยี่ยมหลวงปู่ถึงห้องพยาบาล
    ขณะนั้นหลวงปู่กำลังนอนพักผ่อนอยู่ เมื่อหลวงปู่สามขยับไปนั่งใกล้ชิดแล้วก็ยกมือไหว้
    หลวงปู่ดูลย์ ก็ยกมือรับไหว้ แล้วต่างองค์ก็นั่งอยู่เฉยๆตลอดระยะเวลานาน เมื่อสมควรแก่เวลา
    อย่างยิ่งแล้ว หลวงปู่สามประนมมืออีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับจำนรรจาว่า "กระผมกลับก่อน”
    หลวงปู่ดูลย์ว่า "อือ” ตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมง ได้ยินเพียงแค่นี้เอง
    เมื่อหลวงปู่สามกลับไปแล้ว อดที่จะถามไม่ได้ว่า หลวงปู่สาม อุตสาห์มานั่งตั้งนาน
    ทำไมหลวงปู่จึงไม่สนทนาพูดอะไรกับท่านบ้าง

    หลวงปู่ตอบว่า
    “ธุระมันหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพูดอะไร”
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 พฤศจิกายน 2010
  5. beverzone

    beverzone เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    589
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +2,174
    [​IMG]
    ภาพจาก http://utopianvision.co.uk/bollywood/videos/?v=YSmhho4dPeI

    ขันติบารมี
    เท่าที่อยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่ตลอดเวลาอันยาวนาน ไม่เคยเห็นท่านแสดงอากัปกิริยาใด
    ให้เห็นว่า ท่านอึดอัดหรือรำคาญ จนทนไม่ได้ถึงต้องบ่นอุบอิบอู้อี้กับกรณีใดๆทั้งสิ้น
    เช่น ไปเป็นประธานในงานสถานที่ใดๆ ไม่เป็นเจ้ากี้เจ้าการ รื้อฟื้น หรือให้เขาจัดแจงดัดแปลงใหม่
    หรือไปในสถานที่ที่เป็นกิจนิมนต์ แม่จะต้องนั่นนานหรืออากาศอบอ้าว อย่างไร ก็ไม่เคยบ่น
    เวลาเจ็บไข้ไม่สบาย หรือเวลาเผอิญอาหารมาไม่ตรงเวลา แม้จะหิวกระหายแค่ไหน ก็ไม่เคยบ่น
    หรือสำออย หรือแม้รสชาติอาหารจะจืดจางอย่างไร ก็ไม่เคยเรียกหาเครื่องปรุงเพิ่มเติมอะไรเลย
    ตรงกันข้ามถ้าเห็นพระเถระรูปไหนชอบเป้นเจ้ากี้เจ้าการ ขี้บ่น หรือสำออย ให้คนอื่นเอาใจเป็นต้น

    หลวงปู่มักปรารภให้ฟังว่า
    “แค่นี้อดทนไม่ได้หรือ ถ้าแค่นี้อดทนไม่ได้ จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้อย่างไร”








    ไม่เบียดเบียนแม้ทางวาจา
    หลวงปู่กล่าววาจาบริสุทธิ์ เพราะท่านกล่าวเฉพาะวาจาที่เป็นประโยชน์
    และไม่ทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อนเพราะคำพูดของท่าน แม้จะมีผู้ใดมาพูดเป็นเหตุที่จะชวนให้ท่านวิพาษ์วิจารณ์ใครๆ
    ให้เขาฟังสักอย่าง ท่านก็ไม่เคยคล้ายตาม หลายครั้งที่มีผู้ถามท่านว่า หลวงปู่ ทำไมพระนักพูด
    หรือนักแผยแพร่ระดับประเทศ บางองค์ เวลาพูดหรือเทศน์ ชอบพูดโจมตีคนอื่น
    พูดเสียดสีสังคม หรือพูดกระทบกระแทกพระเถระด้วยกัน เป็นต้น พระพูดในลักษณะนี้ จ้างผมก็ไม่นับถือหรอก

    หลวงปู่ว่า
    “ก็ท่านมีภูมิรู้ ภูมิธรรมอยู่อย่างนั้น ท่านก็พูดไปตามความรู้ความถนัดของท่านนั่นแหละ
    การจ้างให้นับถือไม่มีใครเขาจ้างหรอก เมื่อไม่อยากนับถือ ก็อย่าไปนับถือซิ ท่านคงไม่ว่าอะไรหรอก”








    พระหลอกผี
    ส่วนมากหลวงปู่ชอบแนะนำส่งเสริมพระเณรให้ใส่ใจเรื่องธุดงกัมมัฏฐานเป็นพิเศษมีอยู่ครั้งหนึ่ง
    พระสานุศิษย์มาชุมนุมกันจำนวนมาก ทั้งแก่พรรษาและอ่อนพรรษา หลวงปู่ชี้แนวทางว่า
    ให้พากันไปอยู่ป่าหาทางวิเวก หรืออยู่ตามเขาตามถ้ำเพื่อเร่งความเพียร จะได้พ้นจากภาวะจิตตกต่ำบ้าง
    ก็มีพระรูปหนึ่งพูดออกมาพล่อยๆว่า ผมไม่กล้าไปครับเพราะผมกลัวผีหลอก

    หลวงปู่ตอบเร็วว่า
    “ผีที่ไหนเคยหลอกพระ มีแต่พระนั่นแหละหลอกผีและตั้งขบวนการหลอกผีเป็นการใหญ่เสียด้วย
    คิดดูให้ดีนะวัตถุสิ่งของที่ชาวบ้านเขาเอามาบริจาคทำบุญนั้นแทบทั้งหมดล้วนทำเพื่ออุทิศส่งไปให้ผีทั้งนั้น
    ผีพ่อแม่ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องเขา แล้วพระเราเล่าปฏิบัติตนเหมาะสมแล้วหรือ มีคุณธรรมอะไรบ้าง
    ที่จะส่งให้ผีได้ ระวังอย่ามาเป็นพระหลอกผี”










    นักปฏิบัติลังเลใจ
    ปัจจุบันนี้ศาสนิกชนผู้สนใจการปฏิบัติฝ่ายวิปัสนา มีความงงงวย สงสัยอย่างยิ่งในแนวทางปฏิบัติ
    โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นสนใจ เนื่องจากคณาจารย์ฝ่ายวิปัสนาแนะแนวปฏิบัติไม่ตรงกันยิ่งกว่านั้น
    แทนที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจโดยความเป็นธรรม ก็กลับทำเหมือนไม่อยากจะยอมรับคณาจารย์อื่น สำนักอื่น
    ว่าเป็นการถูกต้อง หรือถึงขั้นดูหมิ่นสำนักอื่นไปแล้วก็เคยมีไม่น้อย
    ดังนั้น เมื่อผู้สงสัยทำนองนี้มากและเรียนถามหลวงปู่อยู่บ่อยๆ จึงได้ยินหลวงปู่อธิบายให้ฟังอยู่เสมอว่า

    “การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสนาภาวนานั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้ เพราะผลลัพมันเป้นอันเดียวกันอยู่แล้ว
    ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีวัตถุ สี แสง
    และคำสำหรับบริกรรม เช่น พุทโธ สัมมาอรหัง เป็นต้น เพื่อนหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน
    เมื่อจิตรวม สงบแล้ว คำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง แล้วก็ถึงรอยเดียวกันคือ วิมุติ เป็นแก่น มีปัญญาเป็นยิ่ง”







    [​IMG]

    อยู่ ก็อยู่ให้เหนือ
    ผู้ที่เขานมัสการหลวงปู่ทุกคนและทุกครั้ง มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้หลวงปู่จะมีอายุใกล้ร้อยปีแล้วก็จริง
    แต่ดูผิวพรรณยังผ่องใส และสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านตลอดมาก็ยากที่จะได้เห็น
    ท่านแสดงอาการหมองคล้ำ หรืออิดโดย หรือหน้านิ่วคิ้วขหมวดออกมาให้เห็น ท่านมีปรกติสงบเย็นเบิกบานอยู่เสมอ
    มีอาพาธน้อย มีอารมณ์ดี ไม่ตื่นเต้นตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เผลอคล้อยตามคำสรรเสริญ
    หรือคำตำหนิติเตียน มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่ามกลางพระเถระฝ่ายวิปัสนา สนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติกับหลวงปู่
    ถึงปรกติจิตที่อยู่เหนือความทุกข์โดยลักษณาการอย่างไร

    หลวงปู่ว่า
    “การไม่กังวล การไม่ยึดถือ นั่นแหละคือวิหารธรรมของนักปฏิบัติ”









    ตื่นอาจารย์
    นักปฏิบัติธรรมสมัยนี้มีสองประเภท ประเภทที่หนึ่ง เมื่อได้รับข้อปฏิบัติ หรือข้อแนะนำจากอาจารย์
    พอเข้าใจแนวทางแล้วก็ตั้งใจพยายามปฏิบัติไปจนสุดความสามารถ อีกประการหนึ่ง ทั้งที่มีอาจารย์แนะนำดีแล้ว
    ได้ข้อปฏิบัติถูกต้องดีแล้ว แต่ก็ไม่ตั้งใจทำอย่างจริงจัง มีความเพียรต่ำ ขณะเดียวกันก็ชอบเที่ยวแสวงหาอาจารย์
    ไปในสำนักต่างๆ ได้ยินว่าสำนักไหนดีก็ไปทุกแห่ง ซึ่งลักษณะนี้มีอยู่มากมาย

    หลวงปู่เคยแนะนำลูกศิษย์ว่า
    “การไปหลายสำนักหลายอาจารย์ การปฏิบัติจะไม่ได้ผล เพราะการเดินหลายสำนักนี้
    คล้ายกับการเริ่ม้ตนปฏิบัติใหม่ไปเรื่อย เราก็ไม่ได้หลักธรรมที่แน่นอน
    บางทีก็เกิดความลังเลงงงวย จิตใจไม่มั่นคง การปฏิบัติก็เสื่อม ไม่เจริญคืบหน้าต่อไป”








    จับกับวาง
    นักศึกษาธรรมะ หรือนักปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างแท้จริงประเภทสอง ศึกษาปฏิบัติเพื่อจะอวดภูมิกัน
    ถกเถียงกันไปวันหนึ่งๆเท่านั้น ใครจำตำราหรืออ้างครูบาอาจารย์ได้มาก ก็ถือว่าตนเป็นคนสำคัญ
    บางทีเข้าหาหลวงปู่ แทนที่จะถามธรรมะข้อปฏิบัติจากท่านก็กลับพ่นความรู้ความจำของตนให้ท่านฟังอย่างวิจิตร
    พิสดารก็เคยมีไม่น้อย แต่สำหรับหลวงปู่นั้นทนฟังได้เสมอ เมื่อเขาจบลงแล้ว ยังช่วยต่อให้หน่อยนึงว่า

    “ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้
    แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน”











    ทำจิตให้สงบได้ยาก
    การปฏิบัติภาวนาสมาธินั้น จะให้ได้ผลเร็วหรือช้าเท่าเทียมกันเป็นไปไม่ได้ บางคนได้ผลเร็ว
    บางคนได้ผลช้าหรือยังไม่ได้ผลลิ้มรสแห่งความสงบเลยก็มี แต่ก็ไม่ควรท้อถอย
    ก็ชื่อว่าเป็นผู้ได้ประกอบความเพียรทางใจ ย่อมเป็นบุญเป็นกุศลขั้นสูงต่อจากการบริจาคทาน
    รักษาศีล เคยมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากเรียนถามหลวงปู่ว่า อุตส่าห์พยายามภาวนาสมาธินานมาแล้ว
    แต่จิตไม่เคยสงบเลยแส่ออกไปข้างนอกอยู่เรื่อย มีวิธีอื่นใดบ้างที่พอจะปฏิบัติได้

    หลวงปู่เคยแนะนำวิธิอีกอย่างหนึ่งว่า
    “ถึงจิตไม่สงบก็ไม่ควรให้มันออกไปไกล ใช้สติระลึกไปแต่ในกายนี้ ดูให้เห็น
    อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญา หาสาระแก่นสารไม่ได้ เมื่อจิตมันมองเห้นชัดแล้ว
    จิตก็เกิดความสลดสังเวช เกิดนิพพิทา ความหน่ายคลายกำหนัด ย่อมตัดอุปาทานขันธ์ได้เช่นเดียวกัน ”










    หลักธรรมแท้
    มีอยู่อย่างหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติชอบพูดถึง คือ ชอบโจษขานกันว่านั่งภาวนาแล้วเห็นอะไรบ้าง
    ปรากฏอะไรมาบ้าง หรือไม่ก็ว่าตนนั่งภาวนามานานแล้วไม่เคยเห็นปรากฎการอะไรออกมาบ้างเลย
    หรือไม่บางคนก็ว่า ตนได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เสมอ ทำให้บางคนเข้าใจผิดว่า ภาวนาแล้วตนจะได้เห็นสิ่งที่ต้องการเป็นต้น

    หลวงปู่เคยเตือนว่า การปรารถนาเช่นนั้นผิดทั้งหมดเพราะการภาวนานั้นเพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมที่แท้จริง
    “หลักธรรมที่แท้จริงนั้น คือ จิต ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง
    เมื่อเข้าใจจิตตัวเองแล้วนั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม”
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 พฤศจิกายน 2010
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,895
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    กราบ กราบ กราบ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล


    ดีจังเลยค่ะ
    ขอบพระคุณสําหรับธรรมทานค่ะ



    catt11
     
  7. beverzone

    beverzone เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    589
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +2,174
    จะมาพิมพ์เพิ่มทุกวันจนจบเล่มนะครับ
    มาติดตามอ่านได้เลยครับ
    ตอนนี้ไปได้ครึ่งเล่มแล้ว
     
  8. รู้รู้ไป

    รู้รู้ไป เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    951
    ค่าพลัง:
    +3,166
    อนุโมทนาในธรรมของหลวงปู่ครับ
    อนุโมทนาในการเผยแพร่ครับ
    มีไว้ติดตัวเหมือนกันครับ ธรรมของหลวงปู่ สั้นแต่เข้าใจง่าย เข้าใจได้มาก แฝงไว้ด้วยความรู้ความเข้าใจที่มากมาย
    อนุโมทนาอีกครั้งครับ
     
  9. จิตปรุง

    จิตปรุง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    237
    ค่าพลัง:
    +802
    อนุโมทนาค่ะที่นำหลักคำสอนของหลวงปู่มาเผยแพร่
    บางอย่างก็ทำอยู่ บางอย่างก็เพ่ิงจะได้รู้
    มีประโยชน์มากค่ะ
    เจริญในธรรมค่ะ
     
  10. beverzone

    beverzone เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    589
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +2,174
    [​IMG]
    ภาพจาก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=25-03-2009&group=8&gblog=7

    หนักๆ ก็มีบ้าง
    พระอาจารย์สำเร็จ บวชมาแต่วัยเด็กจนอายุใกล้หกสิบปีแล้ว เป็นพระฝ่ายวิปัสสนา ปฏิบัติเคร่งครัด
    ชื่อเสียงดี มีคนเคารพนับถือมาก แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด จิตใจเสื่อมลง เนื่องจากไปหลงรักลูกสาวของโยมอุปัฏฐาก
    ถึงขั้นมาขอลาหลวงปู่สึกไปแต่งงาน ทุกคนตกตะลึกกับข่าวนี้มาก ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้
    เพราะปฏิปทาของท่านเป็นที่ยอมรับว่าจะต้องอยู่สมณวิสัยจนตลอดชีวิต หากเป็นเช่นนั้นไป
    ก็จะเป็นการเสื่อมเสียแก่วงการฝ่ายวิปัสสนาอย่างยิ่ง พระเถระคณะสงฆ์และสานุศิษย์ของท่าน
    จึงช่วยกันป้องกันทุกวิถีทางเพื่อให้ท่านเปลี่ยนใจที่จะคิดสึกเสีย
    โดยเฉพาะหลวงปู่ เรียกมาตักเตือนแก้ไขอย่างไรก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายอาจารย์สำเร็จกล่าวต่อหลวงปู่ว่า
    กระผมอยู่ไม่ได้เพราะนั่งภาวนาทีไร เห็นใบหน้าเขามาล่องลอยปรากฏต่อหน้าอยู่ตลอดเวลา

    หลวงปู่ตอบเสียงดังว่า
    “ก็ไม่ภาวนาดูจิตของตัวเอง ไปภาวนาดูก้นของเขา
    มันก็เห็นแต่ก้นเขาอยู่ร่ำไปนั่นแหละ
    ไป อยากไปไหนก็ไปตามสบาย ไปเถอะ”







    มีปกติไม่แวะเกี่ยว
    อยู่รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่เป็นเวลานานสามสิบกว่าปี จนถึงวาระสุดท้ายของท่านนั้น
    เห็นว่าหลวงปู่มีปฏิปทาตรงต่อพระธรรมวินัย ตรงต่อการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์อย่างเดียว
    ไม่แวะเกี่ยวกับวิชาอาคมของศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งชวนสงสัยอะไรเลยแม้แต่น้อย
    เช่น มีคนขอให้ไปเป่าหัวให้ ก็ถามว่าเป่าทำไม มีคนขอให้เจิมรถ ก็ถามเขาว่าเจิมทำไม
    มีคนขอให้บอกวันเดือนหรือฤกษ์ดี ก็บอกว่าวันไหนก็ดีทั้งนั้น หรือเมื่อท่านเคี้ยวหมาก มีคนขอชานหมาก

    หลวงปู่ว่า
    “เอาไปทำไม ของสกปรก”







    ปรารภธรรมะให้ฟัง
    คำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง
    คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมายก็เพราะกิเลสมีมากมาย แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียว พระนิพพาน
    การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไป
    เราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้ แล้วจะต้องหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อจะพบธรรมอันเดียวกันนี้
    ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว รีบปฏิบัติให้หลุดพ้นเสีย มิฉะนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป
    เพราะว่าเมื่อสัจธรรมถูกลืม ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ให้อยู่ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน





    [​IMG]
    ภาพจาก http://www.dhammathai.org/kaveedhamma/view.php?No=441

    ปรารภธรรมะให้ฟัง
    มิใช่ครั้งเดียวเท่านั้นที่หลวงปู่เปรียบเทียบธรรมะให้ฟัง มีอยู่อีกครั้งหนึ่งหลวงปู่ว่า

    “ปัญญาภายนอกคือปัญญาสมมติ ไม่ทำให้จิตแจ้งในพระนิพพานได้ ต้องอาศัยปัญญาอริยมรรคจึงจะเข้าถึง
    พระนิพพานได้ ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ เช่น ไอน์สไตน์ มีความรู้มาก มีความสามารถมาก
    แยกปรมาณูที่เล็กที่สุดจนเข้าถึงมิติที่ 4 แล้ว แต่ไอน์สไตน์ไม่รู้จักพระนิพพาน จึงเข้าพระนิพพานไม่ได้
    จิตที่แจ้งในอริยมรรคเท่านั้น จึงเป็นไปเพื่อการตรัสรู้จริง ตรัสรู้ยิ่ง ตรัสรู้พร้อม
    เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน”








    วิธีระงับดับทุกข์แบบหลวงปู่
    ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐ โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์กำลังครอบงำข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยอย่างหนัก
    คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และทุกข์ แน่นอนความทุกข์โศกอันนี้ย่อมปกคลุมถึงบุตรภรรยาด้วย
    จึงมีอยู่วันหนึ่ง คุณหญิงคุณนายหลายท่านได้ไปนมัสการหลวงปู่ พรรณนาถึงความทุกข์โศกที่กำลังได้รับอยู่
    เพื่อให้หลวงปู่ได้แนะวิธีหรือช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่ท่านจะเมตตา

    หลวงปู่กล่าวว่า
    “บุคคลไม่ควรเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งนอกกายทั้งหลายที่มันผ่านพ้นไปแล้ว มันหมดไปแล้ว
    เพราะสิ่งเหล่านั้น มันได้ทำหน้าที่ของมันอย่างถูกต้องโดยสมบูรณ์ที่สุดแล้ว”








    เมื่อกล่าวถึงสัจธรรมแล้ว ย่อมลงสู่กระแสเดียวกัน
    มีท่านผู้คงแก่เรียนหลายท่านชอบถามว่า คำกล่าวหรือเทศน์ของหลวงปู่
    ดูคล้ายนิกายเซ็นหรือคล้ายมาจากสูตรเว่ยหลาง เป็นต้น อาตมาเรียนถามหลวงปู่ก็หลายครั้ง
    ในที่สุดท่านกล่าวอย่างเป็นกลางว่า

    “สัจธรรมทั้งหมดมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมนั้นแล้ว ก็นำมาสั่งสอนสัตว์โลก
    เพราะอัธยาศัยของสัตว์ไม่เหมือนกัน หยาบบ้าง ประณีตบ้าง พระองค์จึงเปลืองคำสอนไว้มากถึง
    ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อมีนักปราชญ์ฉลาดสรรหาคำพูดให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อจะอธิบายสัจธรรมนั้น
    นำมาตีแผ่เผยแจ้งแก่ผู้มุ่งสัจธรรมด้วยกัน เราย่อมจะต้องอาศัยแนวทางในสัจธรรมนั้นที่ตนเองไตร่ตรอง
    เห็นแล้วว่าถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดนำแผ่ออกไปอีก โดยไม่ได้คำนึงถึงคำพูด
    หรือไม่ได้ยึดติดในอักขระพยัญชนะตัวใดเลยแม้แต่น้อยเดียว”






    [​IMG]
    ภาพจาก http://palungjit.org/threads/สมาธิ-...://tamdee.udomtam.com/bbs/thread-126-1-1.html

    รู้จากการเรียน กับรู้จากการปฏิบัติ
    ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ ที่กระผมจำจากตำราและฟังครูสอนนั้น จะตรงกับเนื้อหาตามที่หลวงปู่เข้าใจหรือ

    หลวงปู่อธิบายว่า
    “ศีล คือปกติจิตที่อยู่อย่างปราศจากโทษ เป็นจิตที่มีเกราะกำบังป้องกันการกระทำชั่วทุกอย่าง
    สมาธิ ผลสืบเนื่องมาจากการรักษาศีล คือจิตที่มีความมั่นคง มีความสงบเป็นพลัง ที่จะส่งต่อไปอีก
    ปัญญา ผู้รู้ คือจิตที่ว่าง เบาสบาย รู้แจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริงอย่างไร วิมุติ
    คือจิตที่เข้าถึงความว่าง จากความว่าง คือละความสบาย เหลือแต่ความไม่มี ไม่เป็น ไม่มีความคิดเหลืออยู่เลย”







    อุบายคลายความยึด
    เมื่อกระผมทำความสงบให้เกิดขึ้นแล้ว ก็พยายามรักษาจิตให้ดำรงอยู่ในความสงบนั้นด้วยดี
    แต่ครั้นกระทบกระทั่งกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็มักจะสูญเสียสถานะที่พยายามธำรงไว้นั้นร่ำไป

    หลวงปู่ว่า
    “ถ้าเช่นนั้น แสดงว่าสมาธิของตนเองยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ ถ้าเป็นอารมณ์แรงกล้าเป็นพิเศษ
    โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นจุดอ่อนของเราแล้ว ต้องแก้ด้วยวิปัสสนาวิธี
    จงเริ่มต้นด้วยการพิจารณาสภาวธรรมที่หยาบที่สุด คือ กายแยกให้ละเอียด
    พิจารณาให้แจ่มแจ้ง ขยับถึงพิจารณานามธรรม อะไรก็ได้ทีละคู่ที่เราเคยแยกพิจารณามาก็มี
    ความดำความขาว ความมืดความสว่าง เป็นต้น”







    การค้ากับการปฏิบัติธรรม
    พวกกระผมมีภาระหน้าที่ในการค้าขาย ซึ่งบางครั้งจะต้องพูดอะไรออกไปเกินความจริงบ้าง
    ค้ากำไรเกินควรบ้าง แต่กระผมก็มีความสนใจและเลื่อมใสในการปฏิบัติทางสมาธิภาวนาอย่างยิ่ง
    แล้วก็ได้ลงมือปฏิบัติมาบ้างแล้วโดยลำดับ แต่บางท่านบอกว่าภาระหน้าที่อย่างผมนี้มาปฏิบัติภาวนาไม่ได้ผลหรอก
    หลวงปู่เห็นว่าอย่างไร เพราะเขาว่าขายของเอากำไรก็เป็นบาปอยู่

    หลวงปู่ว่า
    “เพื่อดำรงชีพอยู่ได้ ทุกคนจึงต้องมีอาชีพการงานและอาชีพการงานทุกสาขาย่อมมีความถูกต้อง
    ความเหมาะความควรอยู่ในตัวของมัน เมื่อทำให้ถูกต้องพอเหมาะพอควรแล้ว ก็เป็นอัพยากตธรรม
    ไม่เป็นบาป ไม่เป็นบุญแต่ประการใด ส่วนการประพฤติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
    เพราะผู้ประพฤติธรรมเท่านั้น ย่อมสมควรแก่การงานทุกกรณี”






    [​IMG]
    ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/ed/2007/07/11/entry-1

    อยากเรียนเก่ง
    หนูได้ฟังคุณตาสรศักดิ์ กองสุข แนะนำว่า ถ้าใครต้องการเรียนเก่งและฉลาด ต้องหัดนั่งภาวนา
    ทำสมาธิให้ใจสงบเสียก่อน หนูอยากจะเรียนเก่งเรียนฉลาดอย่างเขา จึงพยายามนั่งภาวนาทำให้ใจสงบ
    แต่ใจมันก็ไม่ยอมสงบสักที บางทีก็ยิ่งทวีความฟุ้งซ่านมากขึ้นก็มี เมื่อใจไม่สงบเช่นนี้ทำอย่างไรจึงจะเรียนเก่งเจ้าคะ

    หลวงปู่ว่า
    “เรียนอะไรก็ให้มันรู้อันนั้น เดี๋ยวก็เก่งเองแหละ ที่ใจไม่สงบ ก็ให้รู้ว่ามันไม่สงบ
    เพราะอยากสงบมันจึงไม่สงบ ขอให้พยายามภาวนาเรื่อยๆ ไปเถอะ สักวันหนึ่งจะได้สงบตามต้องการ”








    หยุดต้องหยุดให้เป็น
    นักปฏิบัติกราบเรียนหลวงปู่ว่า กระผมพยายามหยุดคิด หยุดนึกให้ได้ตามที่หลวงปู่เคยสอน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จสักที ซ้ำยังเกิดความอึดอัดแน่นใจ สมองมึนงง แต่กระผมก็ยังศรัทธาว่าที่หลวงปู่สอนไว้ย่อมไม่ผิดพลาดแน่ ขอทราบอุบายวิธีต่อไปด้วย

    หลวงปู่บอกว่า
    “ก็แสดงถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว เพราะบอกให้หยุดคิดหยุดนึก ก็กลับไปคิดที่จะหยุดคิดเสียอีกเล่า
    แล้วอาการหยุดจะอุบัติขึ้นได้อย่างไร จงกำจัดอวิชชาแห่งการหยุดคิด หยุดนึกเสียให้สิ้น
    เลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิดเสียก็สิ้นเรื่อง”






    [​IMG]
    ภาพจาก http://www.dhammathai.org/kaveedhamma/view.php?No=356

    โลกกับธรรม
    วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๒๒ หลวงปู่ไปพักผ่อนวิเวกอยู่ที่วัดถ้ำศรีแก้ว ภูพาน สกลนคร เป็นเวลา ๑๐ กว่าวัน
    ค่ำวันสุดท้ายที่หลวงปู่จะเดินทางกลับ ท่านอาจารย์สุวัจน์ พร้อมพระเณรในวัดเข้าไปกราบหลวงปู่เพื่อการอำลาให้หลวงปู่
    ท่านกล่าวว่า พักผ่อนอยู่ที่นี่สบายดี อากาศก็ดี ภาวนาก็สบาย นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ
    เมื่อสมัยเที่ยวธุดงค์ แล้วหลวงปู่ก็กล่าวธรรโมวาทมีความตอนหนึ่งว่า

    “สิ่งใดซึ่งสามารถรู้ได้ สิ่งนั้นเป็นของโลก สิ่งใดไม่มีอะไรจะรู้ได้ สิ่งนั้นคือธรรม
    โลกมีของคู่อยู่เป็นนิจ แต่ธรรมเป็นของสิ่งเดียวรวด”








    ควรถามหรือไม่
    ผู้สนใจในทางปฏิบัติหลายท่าน ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ บางท่านนอกจากจะตั้งใจปฏิบัติเอาเองแล้ว
    ยังชอบเที่ยวแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความชำนาญในการแนะนำสั่งสอน ฟังธรรมจากท่าน เป็นต้น
    มีพระนักปฏิบัติคณะหนึ่งจากภาคกลาง ไปพักอยู่หลายวัน เพื่อฟังธรรมและเรียนถามกัมมัฏฐานกับหลวงปู่องค์หนึ่ง
    พรรณนาความรู้สึกของตนว่า กระผมเข้าหาครูบาอาจารย์มาก็หลายองค์แล้ว ท่านก็สอนดีอยู่หรอก
    แต่ส่วนมากมักสอนแต่เรื่องระเบียบวินัย หรือวิธีธุดงคกัมมัฏฐาน และความสุขความสงบอันเกิดจากสมาธิเท่านั้น
    ส่วนหลวงปู่นั้นสอนทางลัด ถึงสิ่งสุดยอดอนัตตา สุญญตา ถึงนิพพาน
    กระผมขออภัยที่บังอาจถามหลวงปู่ตรงๆ ว่า การที่หลวงปู่สอนเรื่องนิพพานนั้น
    เดี๋ยวนี้หลวงปู่ถึงนิพพานแล้วหรือยัง

    หลวงปู่ปรารภว่า
    “ไม่มีอะไรจะถึง และไม่มีอะไรจะไม่ถึง”






    [​IMG]
    ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/nadrda2/2009/06/22/entry-1

    การปฏิบัติธรรมนั้นเพื่ออะไร
    หลวงพ่อเบธ ซึ่งเป็นญาติอย่างใกล้ชิดของหลวงปู่ อยู่ที่วัดโคกหม่อน แม้ท่านจะบวชเมื่อวัยชรา
    แต่ก็เคร่งครัดต่อการปฏิบัติธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างยิ่ง หลวงปู่เคยยกย่องว่าปฏิบัติได้ผลดี
    วันหนึ่งท่านอาพาธหนักใกล้จะมรณภาพแล้ว ท่านปรารภว่าอยากเห็นหลวงปู่เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อลาตาย
    อาตมาเรียนหลวงปู่ให้ทราบ เมื่อหลวงปู่ไปถึงแล้ว หลวงพ่อเบธลุกกราบ แล้วล้มตัวนอนตามเดิมโดยไม่ได้พูดอะไร
    แต่มีอาการยิ้ม และสดชื่นเห็นได้ชัด ขณะนั้น สุรเสียงอันชัดเจนและนุ่มนวลของหลวงปู่ก็มีออกมาว่า

    “การปฏิบัติทั้งหลายที่เราพยายามปฏิบัติมา ก็เพื่อจะใช้ในเวลานี้เท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่จะตาย
    ให้ทำจิตให้เป็นหนึ่ง แล้วหยุดเพ่งปล่อยวางทั้งหมด” (หมายถึงออกจากฌานและดับพร้อม)







    หวังผลไกล
    เมื่อมีแขกหรืออุบาสกอุบาสิกาไปกราบนมัสการหลวงปู่ แต่หลวงปู่มีปกติไม่เคยถามถึงเรื่องอื่นไกล มักถามว่าญาติโยมเคยภาวนาไหม ? บางคนตอบว่าเคย บางคนตอบว่าไม่เคย ในจำนวนนั้นมีคนหนึ่งฉะฉานกว่าใคร เขากล่าวว่า
    ดิฉันเห็นว่าพวกเราไม่จำเป็นต้องมาวิปัสสนาอะไรให้มันลำบากลำบนนัก เพราะปีหนึ่งๆ ดิฉันก็ฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ตั้งหลายวัด ท่านว่าอานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาตินี้จะได้ถึงศาสนาพระศรีอาริย์ จะได้พบแต่ความสุขความสบายอยู่แล้ว ต้องมาทรมานให้ลำบากทำไม

    หลวงปู่ว่า
    “สิ่งอันประเสริฐที่มีอยู่เฉพาะหน้าแล้วไม่สนใจ กลับไปหวังไกลถึงสิ่งที่เป็นแต่เพียงการกล่าวถึง
    เป็นลักษณะของคนไม่เอาไหนเลย ก็ในเมื่อมรรคผลนิพพานในศาสนาสมณโคดมในปัจจุบันนี้
    ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ กลับเหลวไหลไม่สนใจ เมื่อถึงศาสนาพระศรีอาริย์ ก็ยิ่งเหลวไหลมากกว่านี้อีก”






    [​IMG]
    ภาพจาก http://palungjit.org/threads/ชัยชนะ...ห้ถ่องแท้ด้วยปัญญาอันลึกซึ้งเท่านั้นเอง” [/B]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 พฤศจิกายน 2010
  11. beverzone

    beverzone เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    589
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +2,174
    [​IMG]


    บางทีฟังแล้วก็งงและทึ่ง
    อาตมามีส่วนเสียอยู่อย่างหนึ่งคือ ชอบถามหรือพูดกับหลวงปู่แบบทีเล่นทีจริงอยู่เรื่อย ทั้งนี้ก็เพราะหลวงปู่ไม่เคยถือ
    ท่านเป็นกันเองกับพระเณรผู้ใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ถามท่านว่าในตำรากล่าวว่า
    มีเทวดามาชุมนุมฟังเทศน์หรือมาเฝ้าพระพุทธเจ้าหลายสิบโกฏินั้น จะมีสถานที่บรรจุพอหรือ เสียงดังทั่วถึงกันหรือ
    เมื่อได้ฟังหลวงปู่ตอบแล้วก็งวยงงและอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยพบในตำราและไม่เคยได้ยินมาก่อน
    และยิ่งกว่านั้นเพิ่งจะได้ฟังท่านพูดเมื่ออาพาธหนักแล้วใกล้จะมรณภาพด้วย

    หลวงปู่ตอบว่า
    “เทวดาจะมาชุมนุมกันจำนวนกี่ล้านโกฏิก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะในเนื้อที่หนึ่งปรมาณู เทวดาอยู่ได้ถึงแปดองค์”








    แบบมโนสาเร่ก็เคยตอบ
    ปัญหาโลกแตก ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งคนมีปัญญาดีและปัญญาอ่อน นำมาถกเถียงกันอย่างไม่เกิดประโยชน์
    และตกลงกันไม่ได้สักทีว่า ไก่กับไข่อย่างไหนเกิดก่อน ซึ่งส่วนมากเป็นการถามตอบเพื่อเถียงกันเล่นแล้วจบลงไม่ได้
    ก็ยังมีผู้นำไปถามโดยคิดว่าหลวงปู่คงไม่ตอบปัญหาแบบนี้ ในที่สุดก็ได้ฟังคำตอบของหลวงปู่อย่างไม่เหมือนใครเลยคือ
    วันหนึ่งพระเบิ้มเข้าไปปฏิบัตินวดเท้าถวายท่าน แล้วถามว่า หลวงปู่ ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน

    หลวงปู่บอกว่า
    “เกิดพร้อมกันนั่นแหละ”








    กล่าวเตือน
    บางครั้งหลวงปู่แทบจะรำคาญกับพวกที่ปฏิบัติเพียงไม่กี่มากน้อย ก็มาถามแบบเร่งผลให้ทันตาเห็น

    ท่านกล่าวเตือนว่า
    “การปฏิบัติ ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อคลายความกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์
    ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ
    ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานมันเป็นของว่าง ไม่มีตัวมีตน หาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบเทียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง”









    ละอย่างหนึ่งติดอีกอย่างหนึ่ง
    ลูกศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่ รายงานผลการปฏิบัติให้หลวงปู่ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า
    ปลื้มใจอย่างยิ่งที่ได้พบหลวงปู่วันนี้ ด้วยกระผมปฏิบัติตามที่หลวงปู่แนะนำก็ได้ผลไปตามลำดับคือ
    เมื่อลงมือนั่งภาวนาก็เริ่มละสัญญาอารมณ์ภายนอกหมด จิตก็หมดความวุ่น จิตรวม จิตสงบ จิตดิ่งสู่สมาธิ
    หมดอารมณ์อื่น เหลือแต่ความสุข สุขอย่างยิ่ง เย็นสบาย แม้จะให้อยู่ตรงนี้นานเท่าไรก็ได้

    หลวงปู่ยิ้มแล้วพูด
    “เออ ก็ดีแล้วที่ได้ผล พูดถึงความสุขในสมาธิมันก็สุขจริงๆ จะเอาอะไรมาเปรียบไม่ได้
    แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็ได้แค่นั้นแหละ ยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรคที่จะตัด ภพ ชาติ ตัณหา
    อุปาทานได้ ให้ละสุขนั้นเสียก่อน แล้วพิจารณาขันธ์ห้าให้แจ่มแจ้งต่อไป”









    ปรารภธรรมเปรียบเทียบ
    จิตของพระอริยเจ้าชั้นโลกุตตระนั้น แม้จะยังอยู่ในโลก คลุกคลีกับสิ่งแวดล้อมโดยสถานใด
    ก็ไม่อาจจูงจิตของท่านให้ไขว้เขวเจือปนกับสิ่งเหล่านั้นได้คือ โลกธรรมไม่อาจครอบงำจิตได้เลยคือ
    จิตไม่กลับกลายไปเป็นจิตปุถุชนได้อีก ไม่อาจกลับไปอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหาได้อีก

    “เปรียบเหมือนกะทิมะพร้าวที่คั้นออกมาแล้ว เอาไปสำรอก หรือเคี่ยวด้วยความร้อนจนเป็นน้ำมันออกมาได้แล้ว
    ย่อมไม่กลับกลายไปเป็นกะทิเหมือนเดิมอีก แม้จะเอาไปปะปนระคนกับกะทิอย่างไร
    ก็ไม่อาจทำให้น้ำมันนั้นกลายเป็นกะทิเหมือนเดิมได้”








    ตัวอย่างเปรียบเทียบ
    มรรคผลนิพพาน เป็นสิ่งปัจจัตตัง คือ รู้เห็นได้จำเพาะตนโดยแท้ ผู้ใดปฏิบัติเข้าถึง ผู้นั้นเห็นเอง
    แจ่มแจ้งเอง หมดสงสัยในพระศาสนาได้โดยสิ้นเชิง มิฉะนั้นแล้วจะต้องเดาเอาอยู่ร่ำไป
    แม้จะมีผู้สามารถอธิบายให้ลึกซึ้งอย่างไร ก็รู้ได้แบบเดา สิ่งใดยังเดาอยู่ สิ่งนั้นก็ยังไม่แน่นอน

    ยกตัวอย่างเช่น เต่ากับปลา เต่าอยู่ได้สองโลกคือ โลกบนบกกับโลกในน้ำ ส่วนปลาอยู่ได้โลกเดียวคือ
    ในน้ำ ขืนมาบนบกก็ตายหมด

    วันหนึ่ง เต่าลงไปในน้ำแล้ว ก็พรรณนาความสุขสบายบนบกให้ปลาฟัง ว่ามันมีแต่ความสุขสบาย
    แสงสีสวยงาม ไม่ต้องลำบากเหมือนอยู่ในน้ำ

    ปลาพากันฟังด้วยความสนใจ และอยากเห็นบก จึงถามเต่าว่า บนบกนั้นลึกมากไหม เต่า มันจะลึกอะไร ก็มันบก

    เอ บนบกนั้นมีคลื่นมากไหม มันจะคลื่นอะไร ก็มันบก

    เอ บนบกนั้นมีเปือกตมมากไหม มันจะมีอะไร ก็มันบก

    ให้สังเกตดูคำที่ปลาถาม เอาแต่ความรู้ที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ

    “จิตปุถุชนที่เดามรรคผลนิพพาน ก็ไม่ต่างอะไรกับปลา”





    [​IMG]

    ภายนอกกับภายใน

    เมื่อเย็นวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๔ หลังจากหลวงปู่กลับจากราชพิธีในพระราชวัง กำลังพักผ่อนอยู่ที่พระตำหนักทรงพรต
    วัดบวรนิเวศฯ มีท่านเจ้าคุณซึ่งเป็นนักปฏิบัติภาวนาองค์หนึ่งเข้าไปเยี่ยมสนทนาธรรมกับหลวงปู่
    ขึ้นต้นด้วยคำถามว่า เขาว่าคนที่เป็นยักษ์ในชาติปางก่อน กลับมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้นั้น
    เรียนคาถาอาคมอะไรก็ศักดิ์สิทธิ์ไปทุกอย่าง เป็นความจริงแค่ไหนครับผม

    หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งฉับไว แล้วตอบว่า
    “ผมไม่เคยได้สนใจเรื่องอย่างนี้เลย ท่านเจ้าคุณเคยภาวนาถึงตรงนี้ไหม หสิตุปบาทคือกิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้นไม่มีในสามัญชน เพราะพ้นเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งแล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง”









    แค่ศีลห้าก็ไม่มี
    พระมหาเถระผู้ใหญ่แต่ละรูปนั้น ย่อมจะมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต บรรดาศิษย์เหล่านั้นจึงมีทั้งดีและเลว
    โดยเฉพาะศิษย์ฝ่ายพระ องค์ที่ดีก็ดีถมเถไป องค์ที่เลวก็พอมีปะปนอยู่บ้าง เช่น มีพระผู้ใกล้ชิดองค์หนึ่ง
    ชอบถือวิสาสะจนเกินควรคือ ชอบหยิบเอาข้าวของบางอย่างที่ยังไม่ได้รับอนุญาต มีผู้บอกหลวงปู่ให้ทราบ แต่หลวงปู่ก็ชอบวางเฉยอยู่แล้ว

    ครั้งหนึ่ง ท่านต้องการใช้ของอันนั้น จึงใช้ให้พระองค์หนึ่งไปถามหา แต่ถูกปฏิเสธว่าเขาไม่ได้เอาไป
    พระองค์นั้นจึงกลับมาบอกหลวงปู่ว่าเขาปฏิเสธไม่ได้เอา หลวงปู่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่พูดออกมานิดหนึ่งว่า

    “พระบางองค์ มัวแต่ตั้งใจรักษาศีล ๒๒๗ จนลืมรักษาศีล ๕”








    ต้องปฏิบัติจึงหมดความสงสัย
    เมื่อมีผู้ถามถึง การตาย การเกิดใหม่ หรือถามถึงชาติหน้า ชาติหลัง หลวงปู่ไม่เคยสนใจที่จะตอบ หรือมีผู้กล่าวค้านว่า
    เชื่อหรือไม่เชื่อ นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่จริงประการใด หลวงปู่ไม่เคยค้นคว้าหาเหตุผลเพื่อจะเอาค้านใคร
    หรือไม่เคยหาหลักฐานเพื่อยืนยัน เพื่อให้ใครยอมจำนนแต่ประการใด ท่านกลับแนะนำว่า

    “ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้า ชาติหลัง หรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรง
    ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้วก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ
    หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุขเป็นมนุษย์ชั้นเลิศ
    การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้น ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติ
    ทำวิปัสสนาญาณให้แจ้ง ความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง”










    ยิ่งแปลกอีก
    ไม่ต้องสงสัยว่าญาติโยมที่นั่งห้อมล้อมจำนวนมากนั้นจะตื่นเต้นดีใจขนาดไหน ที่เห็นพระเถระสำคัญนั่งอยู่ด้วยกันโดยบังเอิญ
    คือ หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทสก์ โอกาสเช่นนี้หาได้ง่ายที่ไหน ตากล้องจากสุรินทร์สองคนตั้งหน้าถ่ายรูปเอาอย่างเต็มที่

    ขากลับบนรถบัสใหญ่นั่นเอง ช่างถ่ายรูปเห็นว่าทุกคนกระหายที่จะได้รูป เขาจึงพูดว่า จะขยาย ๑๒ นิ้ว
    จำหน่ายเอาเงินบำรุงวัดป่าจอมพระ อาตมาคิดแต่ในใจว่า การเอารูปครูบาอาจารย์ไปตีราคาจำหน่ายเช่านี้ดูไม่ค่อยงามเท่าไรนัก
    แต่เขาก็สั่งจองกันเกือบทุกคน

    เมื่อช่างเอาฟิล์มไปล้างแล้ว ปรากฏว่าฟิล์มที่อุตส่าห์ถ่ายไม่ต่ำกว่า ๒๐ ครั้งนั้น มีลักษณะใสสะอาดเหมือนหนึ่งท้องฟ้าที่ปราศจากหมอกเมฆ
    ฉะนั้น ความหวังที่จะได้รูปก็สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้น การพบกันของพระเถระสำคัญทั้งสามท่านนั้น เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายแล้ว







    [​IMG]

    ปฏิปุจฉา
    ด้วยความคุ้นเคยและอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่มาเป็นเวลานาน เมื่ออาตมาถามปัญหาอะไรท่าน
    หลวงปู่ท่านมักจะตอบด้วยการย้อนถามกลับคืน ทำนองให้คิดหาคำตอบเอาเอง

    เช่น ถามว่า พระอรหันต์ท่านมีใจสะอาด สว่างแล้ว ท่านอาจรู้เลขหวยได้อย่างแม่นยำหรือครับ

    ท่านตอบว่า “พระอรหันต์ท่านใส่ใจเพื่อจะรู้สิ่งเหล่านั้นเองหรือ”

    ถามว่า พระอรหันต์ท่านเคยนอนหลับฝันเหมือนคนธรรมดาด้วยหรือเปล่าครับ

    ท่านตอบว่า “การหลับแล้วเกิดฝัน เป็นเรื่องของสังขารขันธ์มิใช่หรือ”

    ถามว่า พระปุถุชนธรรมดายังหนาด้วยกิเลส แต่มีความสามารถสอนคนอื่นให้เขาบรรลุถึงพระอรหันต์ เคยมีบ้างไหมครับหลวงปู่

    ท่านตอบว่า “หมอบางคน ทั้งที่ตนเองยังมีโรคอยู่ แต่ก็เคยรักษาคนอื่นให้หายจากโรคได้ มีอยู่ทั่วไปมิใช่หรือ”









    ปกตินิสัยประจำตัวของหลวงปู่
    ทางกาย มีร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉงว่องไว สมสัดส่วน สะอาด ปราศจากกลิ่นตัว มีอาพาธน้อย
    ท่านจะสรงน้ำอุ่นเพียงวันละครั้งเท่านั้น ทางวาจา เสียงใหญ่ แต่พูดเบา พูดน้อย พูดสั้น พูดจริง พูดตรง
    ปราศจากมารยาทางคำพูดคือ ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดโอ๋ ไม่พูดปลอบโยน ไม่พูดประชด ไม่พูดนินทา
    ไม่พูดขอร้อง ขออภัย ไม่พูดขอโทษ ไม่พูดถึงความฝัน ไม่พูดเล่านิทานชาดกหรือนิทานปรัมปรา เป็นต้น

    ทางใจ มีสัจจะ ตั้งใจทำสิ่งใดแล้วทำจนสำเร็จ มีเมตตากรุณาเป็นประจำ สงบเสงี่ยมเยือกเย็น อดทน
    ไม่เคยมีอาการกระวนกระวายวู่วาม ไม่แสดงอาการอึดอัดหงุดหงิดหรือรำคาญ
    ไม่แสวงหาของหรือสั่งสมหรืออาลัยอาวรณ์กับของที่สูญหาย ไม่ประมาท รุ่งเรืองด้วยสติสัมปชัญญะ
    และเบิกบานอยู่เสมอ เป็นอยู่โดยปราศจากทุกข์ ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ ไม่ถูกภาวะอื่นครอบงำ

    ท่านสอนอยู่เสมอว่า
    “ให้ทำความเข้าใจกับสภาวธรรมอย่างชัดแจ้งว่า เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงสลายไป อย่าทุกข์โศกเพราะสภาวะนั้นเป็นเหตุ”





    มีเวทนาหนัก แต่ไม่หนักด้วยเวทนา

    หลวงปู่อาพาธหนักอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นวันที่ ๑๗ ของการอยู่โรงพยาบาล คืนนั้น
    หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก ถึงต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจโดยตลอด เวลาดึกมากแล้ว
    คือหกทุ่มกว่า ท่านอาจารย์ยันตระ พร้อมด้วยบริวารหลายท่านเข้าไปขอกราบเยี่ยมหลวงปู่
    เห็นเป็นกรณีพิเศษจึงให้ท่านเข้าไปกราบเยี่ยมได้ หลวงปู่นอนตะแคงขวา หลับตาตลอด
    เมื่อคณะของท่านอาจารย์ยันตระกราบมนัสการแล้ว ท่านอาจารย์ยันตระขยับก้มไปชิดหูหลวงปู่
    แล้วถามว่า “หลวงปู่ยังมีเวทนาอยู่หรือ”

    หลวงปู่ตอบว่า
    “เวทนากับร่างกายนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติของมัน แต่ไม่ได้เสวยเวทนานั้นเลย”










    เดินทางลัดที่ปลอดภัย
    เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๖ ก่อนที่หลวงปู่จะกลับจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ชักชวนกันทำบุญถวายสังฆทาน
    เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนที่สร้างโรงพยาบาล ที่ล่วงลับไปแล้ว

    เมื่อพิธีถวายสังฆทานผ่านไปแล้ว มีนายแพทย์และนางพยาบาลจำนวนหนึ่งเข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่
    แสดงความดีใจที่หลวงปู่หายจากอาพาธครั้งนี้ พร้อมทั้งกล่าวปิยวาจาว่า หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี
    หน้าตาสดใสเหมือนกับไม่ได้ผ่านการอาพาธมา คงจะเป็นผลจากที่หลวงปู่มีภาวนาสมาธิจิตดี
    พวกกระผมมีเวลาน้อย หาโอกาสเพียรภาวนาสมาธิได้ยาก มีวิธีใดบ้างที่จะปฏิบัติได้ง่ายๆ หรือโดยย่อที่สุด

    หลวงปู่ตอบว่า
    “มีเวลาเมื่อไร ให้ปฏิบัติเมื่อนั้น การฝึกจิต การพิจารณาจิตเป็นวิธีลัดที่สุด”









    ทั้งหมดอยู่ที่ความประพฤติ
    ตลอดชีวิตของหลวงปู่ ท่านไม่เคยยอมรับกับการถือฤกษ์งามยามดีอะไรเลย แม้จะถูกถามหรือถูกขอให้บอกเพียงว่า
    จะบวชวันไหน จะสึกวันไหน หรือวันเดือนปีไหนดีเสียอย่างไร หลวงปู่ก็ไม่เคยเผลอเอออวยด้วย มักจะพูดว่า
    วันไหนเดือนไหนก็ดีทั้งนั้นแหละ คือถ้ามีผู้ขอเช่นนั้น ท่านมักให้เขาหาเอาเอง
    หรือมักบอกว่า วันไหนก็ได้ ถ้าสะดวกดีแล้วเป็นฤกษ์ดีทั้งหมด

    หลวงปู่สรุปลงว่า
    “ทุกอย่างรวมอยู่ที่ความประพฤติ คือ ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้าย โชคดี โชคร้าย เรื่องเคราะห์กรรม
    บาป บุญ อะไรทั้งหมดนี้ ล้วนออกไปจากความประพฤติของมนุษย์ทั้งนั้น”








    ไม่เคยกระทำแบบแสดง
    หลวงปู่ไม่มีมายาในทางอยากโชว์เพื่อให้เด่น ให้สง่าแก่ตนเอง เช่น การถ่ายรูปของท่าน
    ถ้าใครอยากจะถ่ายรูปท่าน ก็ต้องหาจังหวะให้ดีระหว่างที่ท่านห่มผ้าใส่สังฆาฏิเรียบร้อยเพื่อลงปาฏิโมกข์
    หรือบวชนาคหรือเข้าพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วขอถ่ายรูปท่านในจังหวะนี้ย่อมได้ง่าย เมื่อท่านอยู่ตามธรรมดา
    แล้วขอร้องให้ท่านลุกไปห่มผ้ามาตั้งท่าให้ถ่าย แบบนี้หวังได้ยากอย่างยิ่ง เช่น มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งจากกรุงเทพฯ
    นำผ้าห่มชั้นดีไปถวายหลวงปู่เมื่อหน้าหนาว พอถึงเดือนห้าหน้าร้อน เผอิญเขาได้ไปกราบหลวงปู่อีก
    จึงขอให้ท่านเอาผ้ามาห่มให้เขาถ่ายรูปด้วย เพราะตอนถวายไม่ได้ถ่ายไว้

    หลวงปู่ปฏิเสธว่า ไม่ต้องหรอก แม้เขาจะขอเป็นครั้งที่สองที่สาม ท่านก็ว่าไม่ต้องไม่จำเป็นอยู่นั่นเอง

    เมื่อสุภาพสตรีนั้นลากลับไปแล้ว อาตมาไม่ค่อยสบายใจ ก็ถามท่านว่า โยมเขาไม่พอใจหลวงปู่ทราบไหม

    หลวงปู่ยิ้มแล้วตอบว่า
    “รู้อยู่ ที่เขามีความไม่พอใจ ก็เพราะใจเขามีความไม่พอ”








    สิ้นชาติขาดภพ
    พระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน สนทนาธรรมะขั้นปรมัตถ์กับหลวงปู่หลายข้อ
    แล้วลงท้ายด้วยคำถามว่า พระเถระนักปฏิบัติบางท่าน มีปฏิปทาดี น่าเชื่อถือ แม้พระด้วยกันก็ยอมรับว่า
    ท่านเป็นผู้มั่นคงในพระศาสนาแต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด ถึงขั้นต้องสึกหาลาเพศไปก็มี หรือไม่ก็ทำไขว้เขว
    ประพฤติตัวมัวหมองอยู่ในพระธรรมวินัยก็มี จึงไม่ทราบว่าจะปฏิบัติถึงขั้นไหนอีก จึงจะตัดวัฏสงสารให้สิ้นภพสิ้นชาติได้

    หลวงปู่กล่าวว่า
    “การสำรวจสำเหนียกในพระวินัยอย่างเคร่งครัดและสมาทานถือธุดงค์นั้น เป็นปฏิปทาที่ดีงามอย่างยิ่งน่าเลื่อมใส
    แต่ถ้าเจริญจิตไม่ถึงอธิจิต อธิปัญญาแล้ว ย่อมเสื่อมลงได้เสมอ เพราะยังไม่ถึงโลกุตตรภูมิ
    ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้แจ้งในขันธ์ห้า
    แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาจิต
    มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง ว่าง มหาสุญญตา ว่างมหาศาล”






    [​IMG]


    [​IMG]


    [​IMG]

    ภาพจาก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=25-03-2009&group=8&gblog=7
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 พฤศจิกายน 2010
  12. beverzone

    beverzone เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    589
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +2,174
    [​IMG]
    ภาพจาก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=25-03-2009&group=8&gblog=7


    หลักธรรมของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

    จิตคิด จิตเกิด จิตไม่คิด จิตไม่เกิด
    จิตคิด จิตถูกทำลาย จิตไม่คิด จิตไม่ถูกทำลาย
    จิตปรุงแต่ง จิตถูกทำลาย จิตไม่ปรุงแต่ง จิตไม่ถูกทำลาย
    จิตแสวงหา จิตถูกทำลาย จิตไม่แสวงหา จิตไม่ถูกทำลาย
    จิตปรารถนา จิตถูกทำลาย จิตไม่มีความกำหนัด จิตไม่ถูกทำลาย
    ทิ้งหมด รู้หมด ทิ้งหมด ได้หมด
    ไม่ทิ้งเลย ไม่รู้เลย ไม่ทิ้งเลย ไม่ได้เลย
    ทรงจิตเข้ามรรคจิต แล้วจิตพิจารณาจิต
    รู้ธรรมในจิต แล้วถนอมมรรคจิต จงทำให้ชำนิชำนาญ

    จิตอบรมจิต รู้ธรรมภายในจิต แล้วอบรมธรรมในธรรมภายในจิต
    ผู้รู้ไม่คิด ผู้คิดยังไม่รู้ รู้แล้วไม่ต้องคิดก็เกิดปัญญา
    เอาธรรมมาอบรมธรรม รู้ธรรมในธรรม
    เอาธรรมชาติมาปฏิบัติธรรมชาติ ให้รู้ธรรมชาติในธรรมชาติ
    เอาธาตุมาปฏิบัติธาตุ ให้รู้ธาตุในธาตุ
    เอาธรรมอบรมในธรรม เอาจิตอบรมในจิต ให้รู้ธรรมภายในจิต
    รู้แล้วละวาง ปล่อยทิ้ง และไม่อาลัย และไม่ยึดมั่นธรรมต่างๆ
    ธรรมที่เกิดขึ้นภายในจิต ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว
    บาปบุญเปรียบเหมือนมารยา เกิดขึ้นแล้วดับ ปล่อยทิ้งทั้งสอง
    มีแต่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
    สิ้นแห่งความรู้ หุบปากเงียบ อิ่มในธรรม
    ธรรมเติมธรรม ไม่มีธรรม นั่นคือธรรม

    อย่าปล่อยให้จิตปรุงแต่งมากนัก
    ข้อสำคัญ ให้รู้จัก.....จิต.....ของเราเท่านั้นเอง
    เพราะว่าจิตคือ “ตัวหลักธรรม”
    นอกจากจิตแล้ว ไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย
    ภาวนามากๆ แล้วจะรู้ถึงความเป็นจริง
    เท่านั้นเอง.....ไม่มีอะไรมากมาย.....มีเท่านั้น


    เปล่า.....เปล่า.....บริสุทธิ์



    >>>>> จบ >>>>>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 พฤศจิกายน 2010
  13. ทางสายธาตุ

    ทางสายธาตุ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มกราคม 2009
    โพสต์:
    2,923
    ค่าพลัง:
    +6,434
    สิ้นชาติขาดภพ
    พระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน สนทนาธรรมะขั้นปรมัตถ์กับหลวงปู่หลายข้อ
    แล้วลงท้ายด้วยคำถามว่า พระเถระนักปฏิบัติบางท่าน มีปฏิปทาดี น่าเชื่อถือ แม้พระด้วยกันก็ยอมรับว่า
    ท่านเป็นผู้มั่นคงในพระศาสนาแต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด ถึงขั้นต้องสึกหาลาเพศไปก็มี หรือไม่ก็ทำไขว้เขว
    ประพฤติตัวมัวหมองอยู่ในพระธรรมวินัยก็มี จึงไม่ทราบว่าจะปฏิบัติถึงขั้นไหนอีก จึงจะตัดวัฏสงสารให้สิ้นภพสิ้นชาติได้

    หลวงปู่กล่าวว่า
    “การสำรวจสำเหนียกในพระวินัยอย่างเคร่งครัดและสมาทานถือธุดงค์นั้น เป็นปฏิปทาที่ดีงามอย่างยิ่งน่าเลื่อมใส


    แต่ถ้าเจริญจิตไม่ถึงอธิจิต อธิปัญญาแล้ว ย่อมเสื่อมลงได้เสมอ เพราะยังไม่ถึงโลกุตตรภูมิ

    ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้แจ้งในขันธ์ห้า

    แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาจิต

    มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง ว่าง มหาสุญญตา ว่างมหาศาล”



    ธรรมะหลวงปู่สอนสั้นๆแต่มีความหมายยิ่งใหญ่มากๆค่ะ

    ขอนอบน้อมต่อพระอริยสงฆ์ผู้สูงส่งผู้สว่างผู้เจริญด้วยเศียรเกล้า

    กราบหลวงปู่ค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...