เรื่องเด่น กรรมกับจิต เทศน์ในงานทำบุญอายุ อยู่ที่ใจ โดยพระอาจารย์ขาว อนาลโย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 21 สิงหาคม 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    [​IMG]


    กรรมกับจิต


    อย่าให้มีความประมาท จงพากันสร้างคุณงามความดี มีการให้ทาน มีการรักษาศีลของฆราวาส พวกฆราวาสก็ดี ให้ถือศีลห้า ศีลแปด วันเจ็ดค่ำ แปดค่ำ สิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ เดือนหนึ่งมีสี่หน อย่าให้ขาด ให้มีความตั้งใจ เรื่องเข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล ภาวนา อันนี้เป็นทรัพย์ภายในของเรา การรักษาศีลเป็นสมบัติภายในของเรา ควรใช้ปัญญาพิจารณาค้นคว้าร่างกาย ให้มันเห็นว่า ความจริงของมันตกอยู่ในไตรลักษณ์ ตกอยู่ในทุกขัง ตกอยู่ในอนิจจัง ตกอยู่ในอนัตตา มีความเกิดอยู่ในเบื้องต้น มีความแปรไปในท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในที่สุด อย่างนี้แหละ อย่าให้เรานอนใจ ให้สร้างแต่คุณงามความดี อย่าไปสร้างบาปอกุศล อย่าไปก่อกรรมกรอเวรใส่ตน ผู้อื่นไม่ได้สร้างให้เรา คุณงามความดีเราสร้างของเราเอง ตนสร้างใส่ตนเอง ผู้อื่นบ่ได้ทำดอก เมื่อเราเป็นบาป ก็เราเป็นผู้สร้างบาปใส่เราเอง ความดีก็แม่น เราใส่เราเอง จึงได้เรียกกุศลกรรม อกุศลกรรม สัตว์ทั้งหลายจะ หรือจะร้ายก็ดี จะเป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์ หรือยากจนค่นแค้นก็ดี เป็นเพราะกรรมดอก พระพุทธเจ้าว่านั่นแหละ สัตว์ทั้งหลายเป็นแต่กรรม สัตว์มีกรรมของตน เป็นเพราะกรรมดอก กรรมเป็นผู้จำแนกแจกสัตว์ให้ได้ดีได้ชั่วต่าง ๆ กัน ครั้นเป็นผู้ทำกรรมดี มันก็ได้ความสุข ไปชาติหน้าชาติใหม่ก็จะได้ความสุข ผู้ทำความชั่ว มันก็มีความทุกข์ มีอบายเป็นที่ไป มีนรกเป็นที่ไป กรรมเป็นผู้จำแนกไป ให้เกิดเป็นมนุษย์ ให้เกิดเป็นคนยากจน คนค่นแค้น มันเป็นเพราะกรรมของเขา ที่จะไปเกิดเป็นผู้มั่งคั่วสมบูรณ์มีความสุขเอง อย่างนี้ไม่มี นั่นแหละบาปมันเป็นผู้แจกให้ไป ไปเกิดในแดนคนยากคนจน เหมือนกันนั่นแหละกับเข้าไปหาเจ้านาย เราต้องระวังปานหยัง เข้าไปเราต้องทำอย่างใด จะทำท่าทางอย่างใด จะพูดอย่างไร ผู้เข้ามาหาคนยากคนจน มันไม่ต้องสนใจอะไร ไม่ต้องมีท่ามีทาง มันไปเกิดอยู่นั่นแหละ เราจะไปเกิดในที่ดีมันยากแล้ว บุญมันบ่ถึงเขา เราต้องทำเอา เกิดเป็นมนุษย์เป็นสัตว์อันสูงสุด ก็เป็นเพราะ ปุพฺเพจกตปุญฺญตา บุญหนหลังมาติดตามตนให้เกิดเป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์ ครั้นเป็นผู้สมบูรณ์แล้วก็ อตฺตสมฺมาปณิธิ ให้ตั้งตนอยู่ในที่ชอบ อย่าไปตั้งอยู่ในที่ชั่ว รักษาศีล ให้ทาน หัดทำสมาธิอย่าให้ขาด ศีลห้าให้รักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ศีลแปดให้รักษา ให้พากันภาวนาอยู่ สมาธิมันไม่มีที่อื่น ให้นั่งภาวนา พุทโธ ๆ ไม่ต้องร้องให้มันแรงดอก ให้มันอยู่ในใจซื่อ ๆ ดอก การภาวนาก็เป็นอริยทรัพย์ภายใน มันจะติดตามไปทุกภพทุกชาติ ติดไปสวรรค์ ลงมามนุษย์ มาตกอยู่ในที่มั่งคั่งสมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ยากไม่จน ทรัพย์อันนี้ติดตามไป บ่มีสูญหายดอก ตามไปจนสิ้นภพสิ้นชาติ หรือจนเหนื่อยหน่ายต่อความชั่ว เบื่อหน่ายไม่มีความยินดี ไม่อยากเกิดอีก ภาวนาไป ๆ ก็จะไปสู่พระนิพพานตามเสด็จพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ ก็สบายเท่านั้นแหละ คนเรามันมักอยากมาเกิดอยู่เสมอ


    ให้พากันตั้งใจ วันหนึ่ง ๆ เราจะนั่งภาวนา นั่งภาวนาก็ให้นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติ อย่าปล่อยใจ ให้ตั้งสติอยู่กับใจ ให้เอาพุทโธเป็นอารมณ์ ทีแรกว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ , พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหนแล้ว จึงเอาแต่พุทโธอันเดียว ทำงานอะไรอยู่ก็ได้ พระพุทธเจ้าบอก ทำได้ทุกอิริยาบถ ได้ทั้งสี่อิริยาบถ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นั่งก็ได้ นอนไม่เป็นท่าดอก เอนลงไปเดี๋ยวก็เอาสักงีบเถอะ เดินนั่นแหละดี นั่งกับยืนก็ได้ ได้หมดทั้งสี่อิริยาบถ พากันทำเอา ความมีอัตภาพนี่มันเป็นทรัพย์ภายนอก เงินทองแก้วแหวน บ้านช่องเรือนชานต่าง ๆ ที่หามาได้ก็เป็นทรัพย์ภายนอก ติดตามเราไปไม่ได้ดอก เมื่อตายแล้วก็ทิ้งไว้ กายอันนี้เมื่อตายแล้วก็นอนทับถมแผ่นดินอยู่ ไม่มีผู้ใดเก็บ กระดูกก็กระจายไป กระดูกหัวก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกแขนก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกขาก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกสันหลังก็ไปอยู่ที่อื่น กระจายไปเท่านั้นแหละ


    เรากเรามันกลัวตัณหาหลาย มันเชื่อตัณหาหลาย คนหนึ่ง ๆ มันมีสองศาสนา ศาสนาหนึ่ง มันตัณหาสั่งสอน ศาสนาหนึ่ง เป็นศาสนาของพระพุทธเจ้า เรามันยึดถือตัณหานี่ ชอบกันนัก หมอนี่มันก็บังคับเอา เราก็ยึดถือหมอนี่ มันสอนให้เราเอา ให้ตีเอา ลักเอา ฉกชิงวิ่งราวเอา มันสอนอย่างนี้ ตัณหาน่ะ พระพุทธเจ้าว่าให้ทำมาหากินโดยชอบธรรม ให้เป็นศีลเป็นธรรม อย่าเบียดเบียนกัน มันไม่อยากฟัง มันเกลียด ตัณหานี่ มันกลัวพระยามัจจุราช พระยามารก็ผู้ช่วยมัน มันไม่อยากให้เราไปฟังอื่น ให้ฟังมัน มันผูกใจเราไว้ ครั้นจะไปดำเนินตามทางของพระพุทธเจ้า มันไม่พอใจ พอจะรับศีล รับทำไม มันว่า อย่าไปรับมัน อย่าไปทำมัน นี่มันก็ถูกใจมันเท่านั้นแหละ มันสอนนะ มันชอบอย่างนั้น ส่วนธรรมะของพระพุทธเจ้า ครั้นอุตส่าห์ทำไป ปฏิบัติดีแล้ว เราก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ทำความเพียรภาวนาหนัก ๆ เข้า ก็ได้บรรลุพระนิพพาน กำจัดทุกข์ อันนี้ไม่อยากไป ไม่อยากฟัง ไม่เอา ไม่ชอบ เพราะฉะนั้นต้องระวังตัณหา กิเลสที่มันชักจูงใจเราไม่ให้ทำความดี อย่าไปเชื่อมัน พยายามฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้อยู่ในศีลในธรรม พระพุทธเจ้าว่า ให้เป็นผู้หมั่นขยันในทางที่ชอบ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แม่นในหน้าที่ของตน เป็นความบริสุทธิ์ ผู้ขยันหมั่นเพียรนั่นแหละจะเป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ มิใช่ว่าจะรักษาศีลภาวนาแล้วเฮ็ดหยังบ่ได้ มันบ่แม่น นั่นมันความเห็นผิดไป พระพุทธเจ้าว่าให้ขยันหมั่นเพียร อะไรที่ชอบธรรมก็ทำได้ กลางคืนจนแจ้งก็ทำไป กลางวันก็ทำได้หมดตลอดวัน ทำไร่ ทำสวน ทำนา ให้ทำสุจริต ไม่เบียดเบียนใครเท่านั้น เพราะพระพุทธเจ้าให้หยุด ไม่ให้เบียดเบียนกัน ทำใจให้สะอาด วาจาให้สะอาด กายให้สะอาด อย่าให้สกปรก ทำใจให้สะอาด คือให้หมั่นภาวนา ให้เอาพุทโธนั่นแหละเป็นอารมณ์ของใจ ให้ตั้งสติทำไป ๆ ใจมันจะสงบสะอาดและผุดผ่อง มนสาเจ ปสนฺเนน ภาสติวา กโรติวา ตโตนํ สุขมเนวติ ครั้นผู้ชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วสดใสแล้ว แม้จะพูดอยู่ก็ตาม ทำการงานอยู่ก็ตาม ความสุขนั้นย่อมติดตามเขาไป มนสาเจ ปทุฏฺเฐน ภาสติวา กโรติวา ตโตนํ ทุกฺขมเนวติ จกฺกํ วหโตปทํ ครั้นบุคคลมีใจขุ่นมัววุ่นวาย มีใจเศร้าหมอง ใจมืด ใจดำอำมหิตแล้ว แม้จะพูดอยู่ ความทุกข์ย่อมครอบงำมันอยู่อย่างนั้น แม้จะทำอยู่ ความทุกข์ก็เป็นอยู่อย่างนั้น ท่านเปรียบว่า เหมือนล้อที่ตามรอยเท้าโคไป ความทุกขฺตามบุคคลไปอยู่อย่างนั้น คนไม่รักษาใจ คนทำแต่ความชั่ว ก็มีแต่ความทุกข์นำไปอยู่อย่างนั้น


    พากันทำภาวนาไป วันหนึ่ง ๆ อย่าให้ขาด อย่าให้มันเสียเวลาไป ภาวนาไป ชั่วโมงหรือยี่สิบ สามสิบนาที อย่าให้มันขาด อาศัยอบรมจิตใจของตน ทำมันไป ขัดเกลาใจของตน ใจมันมีโลภะ โทสะ โมหะเข้าครอบคลุม ใจจึงเศร้าหมอง ธรรมชาติจิตเดิมแท้นั้น เป็นธรรมชาติผ่องใส ปภสฺสรมิตํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปฺกิเลเสหิ อุปฺกกิลิฏฺฐํ ธรรมชาติจิตเดิมเป็นของเลื่อมประภัสสร เป็นของใสสะอาด แต่มันอาศัยอาคันตุกะกิเลสเข้าครอบงำย่ำยี ทำให้จิตเศร้าหมองขุ่นมัวไป เพราะฉะนั้นให้พากันทำ อย่าประมาท อย่าให้มันเสียชาติ อย่าให้มันโศกเศร้าเป็นทุกข์ มนุสฺสปฏิลาโภ ความได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐ ให้พากันทำ อย่าให้มันเสียไป วันคืนเดือนปีล่วงไป ๆ อย่าให้มันล่วงไปเปล่า ประโยชน์ภายนอกก็ทำ ประโยชน์ของตนนั่นแหละมันสำคัญ พระพุทธเจ้าว่าให้ทำประโยชน์ของตนเสียก่อน แล้วจึงค่อยทำประโยชน์อื่น


    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_kao/lp-kao-13.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 สิงหาคม 2010
  2. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    [​IMG]

    เทศน์ในงานทำบุญอายุ ๖๐ ปี นายแพทย์ อวย เกตุสิงห์



    การทำงานครั้งนี้ก็ยาก น้อยคนที่สามารถจะทำได้ พระเถรานุเถระที่อยู่กันคนละแห่งหน ต่างองค์ต่างมา ยากที่จะมารวมกันได้ นี่ก็เพราะบุญวาสนาบารมีของคุณหมอ เป็นผู้มีธรรมอยู่ในตน มีความดีอยู่ในตน จึงสำเร็จเสร็จสรรพลงได้ อีกอย่างหนึ่ง ก็เพราะความเป็นสามัคคีอันหนึ่งอันเดียวกันของพวกญาติพวกมิตรทั้งหลาย ด้วยอำนาจบุญของคุณหมอที่มีความดีในตน อัตประโยชน์ ประโยชน์ของตน ทำให้มีสมบูรณ์บริบูรณ์ ญาตถะประโยชน์ ประโยชน์ของญาติก็ได้ทำ โลกัตถะประโยชน์ ประโยชน์ของโลก ประโยชน์ ๓ อย่างนี้ด้ำบริบูรณ์แล้ว มีกำลังแล้ว เป็นผู้ดีมีคนนับหน้าถือตา เพราะเป็นผู้มีอุปการคุณ และเป็นผู้มีศรัทธาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระกรรมฐานทั้งหลายจึงมีความยินดี แม้อยู่ที่ไหนก็มีความยินดีมา เพราะความเป็นสามัคคีอันหนึ่งอันเดียวกันนั่นเอง พระพุทธเจ้าท่านแสดงว่า สามัคคี สมัคคานัง ตโป สุโข ทำงานใหญ่โตปานนี้นากนักที่จะทำสำเร็จได้ ต้องอาศัยสามัคคีกัน ทำให้สำเร็จได้ ทั้งญาติมิตรเป็นสามัคคีกันพร้อมเพรียงกันจึงสำเร็จได้โดยเรียบร้อยเป็นการดี


    เรื่องธรรมะธัมโม ท่านก็เทศน์อยู่หลายองค์แล้ว สามองค์สี่องค์แล้ว เรื่องธรรม พวกกรรมฐาน พวกป่าพวกดง พูดเข้ามาที่นี่ไม่ได้อยู่ที่อื่น พูดเข้ามาที่สกนธ์กายของตนนี่แหละ กาย จิต พูดเข้ามาที่นี่ มาพิจารณาอัตภาพร่างกายนี้ มันเห็นว่าร่างที่อาศัยอยู่นี่ ได้ร่างอันนี้มาเพราะ ปุพเพกตปุญญตามคือบุญกุศลของเราที่ได้สร้างสมอบรมมาหลายภพหลายชาติ บำเพ็ญคุณงามความดีมา จึงได้สมบัติอันนี้ดี เรียกว่าอัตสมบัติ สมบัติอันนี้เป็นของหายาก เมื่อได้มาแล้วให้เป็นผู้ไม่ประมา? พึงระลึกว่าสมบัตินี้เอามาใช้ชั่วคราว เอามาใช้ชั่วคราวสมบัติอันนี้ เดี๋ยวก็เปื่อยพังทลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ของเก่ามัน แล้วก็หาเอาอีก เหมือนกันกับบ้านคุณหมออย่างนั้น ทีแรกไม่ดี ที่นี้ไม่สู้ดี เอาใหม่ เอาใหม่ก็มีสมบัติทำเอาใหม่ ทำเอาดีปานไหนก็ได้ เป็นปราสาทสามชั้นสี่ชั้นก็ได้ เพราะเรามีสมบัติ สมบัติอันนี้คือบุญกุศล คือคุณงามความดี มีการรักษาศีลอย่างสมบูรณ์ ศีลสมบัติ ศีลเป็นสมบัติอันหนึ่ง เป็นสิริมงคล เป็นความงามอันหนึ่ง สมาธิสมบัติ ทำจิตของเราให้แน่วให้แน่อยู่กับที่ ไม่ให้ออกไปตามอารมณ์ภายนอก ให้อยู่กับที่ ให้สงบอยู่กับที่ ปัญญาสมบัติ ความรู้เท่า พิจารณาให้รู้เท่าต่อสังขารร่างกาย ความเป็นจริงของมัน อาศัยไตรลักษณ์ คือ ๓ อย่าง เรียกว่า อนิจลักษณ์ ทุกขลักษณ์ อนัตลักษณ์ ลักษณะทั้ง ๓ อย่างนี้ มีเสมอกันหมดทุกตัวสัตว์ บรรดาสัตว์ทีมีวิญญาณ มีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องตน มีความแปรปรวนในเบื้องกลาง มีความสลายลงไปในที่สุด ปัญญาให้พิจารณาให้รู้เท่า ว่าเป็นเครื่องอาศัยกันอยู่ชั่วคราว เราจะเป็นผู้ไม่ประมาท รีบเร่งทำ รีบเร่งเอาสมบัติภายใน คือเอาอัตภาพนี้ รีบเร่งทำคุณงามความดี ทรัพย์ภายในนี้จะติดตามเราไป ถ้าเรายังไม่มีความเบื่อหน่ายในสังสารจักร การท่องเที่ยว เราจากไป เราจะได้มีสุคติอย่างเดียว ทุกคติไม่มี ท่านแสดงว่าธรรมมี ๓ อย่าง กุศลาธรรม อกุศลาธรรม อพยากตาธรรมา ธรรม ๓ อย่าง อพยากตธรรม หมายความว่า ความเป็นกลาง ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่มีความดี ไม่มีความชั่ว หมายเอาจิตอันนั้นสูงแล้ว กุศลาธรรมคือกุศลธรรม อันมนุษย์สร้างอยู่ในโลกนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเรียกว่ากุศลาธรรม คือคุณความดี กุศล ความฉลาด คุณหมอเป็นผู้ฉลาดสามารถจะเอาทรัพย์อันใดที่เป็นแก่นสาร ทรัพย์อันใดที่ไม่มีสาระแก่นสาร คืออัตภาพ ทำให้มันเป็นแก่นสารเอากับมัน เอากำไรกับมัน ทำกำไรกับมัน ได้แล้วเร่งอบรมจิตใจของเราให้ดีแล้ว อัตภาพมันจะเป็นอย่างไรก็ตามมัน มันมีความแก่ มีความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดาของมัน แล้วก็ไม่มีความหวาดหวั่น หวั่นไหวต่อมัน เพราะรู้เท่ามัน รีบพากันทำเอาเสีย






    ท่านว่าแสดงธรรมไม่มีอยู่ที่อื่นนี่แหละ ก้อนธรรมทั้งหมด ทั้งก้อนนี่แหละ สกนธ์กายของเรานี่แหละ มีอยู่นี่แหละ กายเรียกว่ารูปธรรม นามธรรมคือความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ ความจำ ความหมาย ความปรุง ความแต่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง ความรู้ทางทวารทั้งหมด เรียกว่าวิญญาณ รวมเป็นหมดทั้งรูป ก็เรียกว่ารูปธรรม ความรู้ทั้งหมด เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่านามธรรม มีอยู่สำหรับในโลกนี้ แต่ว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่แน่นอน พระพุทธเจ้าจึงแสดงว่า สัพเพสังขารา อนิจจาติ ยทา ปัญญาย ปัสสติ อถ นิพพินทติ ทุกเข เอสะ มัคคโค สิสทธิยา ผู้มีปัญญาใคร่ครวญพิจารณาเห็นอัตภาพร่างกาย เช่น มนุษย์ก็ตาม สัตว์เดรัจฉานอะไรก็ตาม มาพิจารณาเห็นเป็นของไม่แน่นอน ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นของเป็นทุกข์ เมื่อพิจารณาเห็นด้วยปัญญา อันนี้เรียกว่าเป็นทางหมดจดของผู้นั้น เป็นทางบริสุทธิ์ของผู้นั้น สัพเพ สังขารา ทุกขยาติ ยหา ปัญญาย ปัสสติ อถนิพพินทติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา สังขารร่างกายมาเห็นเป็นทุกข์ ให้พิจารณาธรรมอันนี้ คือสกนธ์กายอันนี้ เป็นทุกข์ ย่อมมีความเบื่อหน่ายต่อสังขารที่เป็นอยู่ สัพเพธัมมา อนัตตาติ ยทา ปัญญาย ปัสสติ อถ นิพพินทติ ทุกเข เอสะ มัคโค วิสุทธิยา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล คือสกนธ์กายของเรานี่แหละ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน พระพุทธเจ้าแสดงไว้ง่าย ๆ ไม่ลึกซึ้งซับซ้อน เปิดเผยว่าธรรมะของพระพุทธเจ้า เหมือนกันกับภาชนะที่คว่ำอยู่ พระพุทธเจ้าเป็นผู้เปิดขึ้นให้เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันนั้น ๆ เหมือนอยู่ในที่มืด พระพุทธเจ้าเป็นผู้จุดตะเกียงให้คนอื่นเห็นของเห็นสิ่งทั้งปวง ท่านแสดงให้เห็นอันนี้ ไม่ได้แสดงให้เห็นออกไปนอกสกนธ์กายนี้ เห็นจิตเห็นใจของตนนี้มันเป็นยังไง สอนให้มันมีสติ มีสัมปชัญญะ สติความระลึกอยู่กับกายนี้ สติความระลึกผูกพันอยู่กับใจนี้ ให้มันรู้ กำหนดเข้ามาพิจารณา จะรู้จะเห็น อกาลิโก ไม่ต้องอ้างกาลอ้างเวลา

    ถ้ามีสติกำหนดเข้ามา จะรู้ทุกเวลาว่า จิตของเรามีราคะไหม หรือหายแล้วไม่มี ก็จะรู้จำเพาะตนนี้ ดูโทสะมีอยู่ หรือหายโทสะแล้ว ดูโมหะ ความโง่ความเขลาความหลง ยังมีอยู่ก็จะรู้ หรือจิตของเรามันหายโทสะหายโมหะแล้วก็จะรู้ พระพุทธองค์จึงให้พิจารณาเข้ามาให้เห็น เห็นอันนี้ เรียกว่าเห็นธรรม จิตของตนเป็นอย่างไร จิตของตนเป็นกุศล มีเมตตา มีวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่ หรือมันยังมีราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำอยู่ก็จะรู้ รู้แล้วจะได้แก้ไขตัวมัน รีบปลดเปลื้องออกไป รีบเร่งทำความเพียร ขับไล่สิ่งที่เศร้าหมอง คือ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ให้มันเบาบางไป ออกจากขันธสันดาน


    ดวงจิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง ทำให้คนบริสุทธิ์ ทำให้คนมีสิริ ให้มีโภคทรัพย์ ก็เพราะคนเป็นผู้ทำคุณงามความดี มีศีล ศีลที่บริบูรณ์แล้วย่อมเป็นที่มาแห่งโภคทรัพย์ จิตดีบริสุทธิ์แล้ว จิตไม่มีอิจฉาพยาบาทเบียดเบียนแล้ว จิตอันนั้นแหละก็เป็นที่มาแห่งโภคทรัพย์ ปัญญาเป็นผู้รู้เท่าสิ่งทั้งปวงแล้วว่า สิ่งทั้งปวงมีความเกิดขึ้น มีความสลายไป รู้เท่าอย่างนี้แล้วไม่มีความเสียอกเสียใจ โภคทรัพย์ภายนอกมันมีขึ้น แล้วมันเกิดวิบัติไป ก็ไม่มีความเสียอกเสียใจ หรือมีเพื่อนยากคู่ทุกข์คู่ยากจะต้องพลัดพรากจากไป ก็จะไม่มีความทุกข์และเสียใจ เพราะรู้เท่าอัตภาพร่างกาย สัตว์ทั้งหลายเกิดมาในโลกนี้ มีแต่บ่ายหน้าไป บ่ายหน้าไปหาความแตกดับเป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนี้ อันที่จริงมันไม่ใช่ตาย พระพุทธเจ้าว่ามันตายเล่น ไม่ใช่ตายจริง ตายแล้วมันกลับก่อขึ้นอีก มันบังเกิดอีก เพราะความอาลัยอาวรณ์ผิด เหมือนพวกคุณหมอ คุณหญิงก็ดี เดี๋ยวนี้อัตภาพร่างกายมาอยู่ที่นี่ ที่ถ้ำกลองเพล พอออกจากที่นี่จะไปไหนล่ะ เพราะใจ ดวงใจมันไปจดจ่ออยู่ที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ของตนอยู่ที่ไหน ต้องไปจดจ่ออยู่ที่นั่น สัตว์ตายแล้วเกิดที่ไหน พระพุทธองค์ไม่ทรงพยากรณ์ เพราะการทำความดีความชั่วอยู่ มันเป็นเพราะกรรม กรรมเป็นของ ๆ ตน กรรมดีให้ผลตอบแทน คือความดี ความพอใจ กรรมไม่ดีให้ผลตอบแทนคือความไม่ดี ความไม่พอใจ มันเป็นสมบัติของสัตว์ ชาตินี้ยังอาลัยอยู่กับสิ่งทั้งปวงแล้ว คิดดูใจเราเดี๋ยวนี้แหละ เดี๋ยวนี้จดจ่ออยู่กรุงเทพฯ ตายไปเกิดที่ไหนล่ะ เกิดกรุงเทพฯ มนุษย์ถือผี ถือนั่น ถือเทพ บวงสรวงอย่างนั้นอย่างนี้ เอาอันนั้นเป็นสรณะที่พึ่งก็เหมือนกัน มันเคยแต่ไหว้ เคยแต่พึ่งอันนั้น มันตายจากนั่นมันเอาแต่นั่นเป็นชาติ ชาติอันนั้นมันต้องเป็น ชาติของเขาอยู่อย่างนั้น จิตเราไปจดจ่ออยู่ที่ไหน มันก็ไปเกิดที่นั่นแหละ อยู่ที่บ้านมันก็ไปเกิดอยู่ที่บ้าน


    เพราะเหตุนั้นแหละ พระพุทธเจ้าจึงแนะนำสั่งสอนเทศนาอบรมจิตใจ อย่าให้มันไปเกี่ยวข้องในอารมณ์ บ้านช่องที่บ้านที่อยู่ที่ทำการทำงาน ทำ ๆ ไป แต่ไม่ให้จิตไปเกี่ยวข้อง ให้จิตอยู่กับจิต ให้จิตมันรู้เท่าอยู่กับจิต กายนี่ก็ไม่ใช่ของตน มันแตกมันดับไปแล้ว มันไปก่อภพใหม่ชาติใหม่ ดวงจิตดวงเดียวนี่แหละมันไปก่อ จิตนี่แหละเดิมมันผ่องแผ้ว แต่อาศัยมันไม่รู้เท่าอารมณ์ อาศัยอาคันตุกกิเลส คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั้งหลาย เอาเข้ามาฉาบมาทาแล้ว ทำจิตใจของเราให้เศร้าหมองขุ่นมัวไป จิตเดิมเลยกลายเป็นตัวอวิชชา ความโง่ความเขลาไป ไม่รู้เท่าตามความเป็นจริง ไม่รู้เท่าสังขาร ยึดถือ เมื่อสิ่งทั้งปวงวิบัติไปแล้ว ก็มีความโศกเศร้าอาลัยผูกพัน สิ่งที่ไม่พอใจมาประสบพบกัน มาประชุมร่วมกัน ประสบอันนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดความคับแค้น เป็นเหตุให้เกิดทุกข์โทมนัส ความคับแค้น เห็นสิ่งที่พอกพอใจพลัดพรากไป ไม่มาร่วม ไม่ประชุมร่วม นี่ก็เป็นเหตุให้เกิดความโศกเศร้าความอาลัยอาวรณ์ถึงกัน เรื่องของสังขารมันเป็นอย่างนั้น จึงให้พิจารณาให้รู้เท่า เกิดเป็นรูป เป็นนามล้วนแต่ของไม่เป็นสาระแก่นสารหมดทั้งนั้น รู้เท่าแล้วถึงสิ่งทั้งหลาย มันจะเป็นอย่างไรก็ตาม ไม่มีความหวั่นไหว แล้วย่อมผ่องใส จิตไม่เศร้าโศก จิตผ่องใส จิตเบิกบาน จิตเยือกเย็น จิตเยือกเย็นแล้วสิ่งทั้งปวงมารวมหมด ภายนอก วัตถุข้าวของเงินทอง แก้วแหวนเงินทองอะไรก็มารวมหมด มาอาศัย พุทโธ ผู้รู้ พุทโธมีอยู่ทุกรูปทุกนาม พุทโธ คือผู้รู้ สัมปชัญญะ คือ ผู้ตื่นอยู่ ผิดหรือชอบ ตื่นขึ้น สัมปชัญญะเป็นผู้ตัดสิน เราทำผิด หรือเราพูดผิด คิดผิด ไม่ถูก สัมปชัญญะเป็นผู้รู้ สติเป็นผู้ระลึกขึ้น พอระลึกแล้ว สัมปชัญญะว่า “ถูก” เราทำถูก พูดถูก คิดถูก นั่นแหละ รู้เห็นตนอยู่อย่างนั้น จิตจะได้เบิกบานแช่มชื่นเบิกบาน จิตเบิกบานแล้ว ไม่มีความโศกเศร้า ไม่มีความเสียใจ ไม่มีความเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่มีความทุกข์กาย ไม่มีความเสียใจ สบาย ครั้นเย็นแล้ว สิ่งทั้งปวงภายนอกย่อมไหลเข้ามา เงินทองมาพึ่ง มาพึ่งพุทโธหมด มาพึ่งธัมโม มาพึ่งสังโฆหมด เดี๋ยวนี้เราถึงพระพุทธเจ้าอย่างไร ถึงพระธรรมอย่างไร ถึงพระสงฆ์อย่างไร ให้มาพิจารณาถึงกายของตน จิตใจของตน ถึงพระพุทธเจ้า หมายความว่าใจเบิกบาน ใจรู้เท่าต่อสิ่งทั้งปวง ไม่มีความดิ้นรนต่อสิ่งที่ไม่พอใจ สิ่งที่พอใจก็ไม่มีความฟูขึ้นไปตามอารมณ์ เรียกว่าพุทโธ เป็นผู้รู้ยิ่ง ธรรมไม่ใช่อยู่ที่อื่น ให้พิจารณาเอา พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงแล้ว นี่เรียก พุทโธ พุทโธเป็นผู้เห็น พุทโธเป็นผู้เบิกบาน เป็นผู้ตื่นแล้ว ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีความอาลัย ธัมโมคือแสงสว่าง เมื่อจิตสงบแล้ว นั่นแหละมีความสว่างไสวขึ้นมาในดวงจิต จิตสงบลงไป แน่วแน่ลงไป มีความสว่างไสวขึ้นมา ทำให้เราเห็นสิ่งทั้งปวง เห็นอัตภาพสกนธ์กายของตนชัดเจนขึ้นไป เห็นธัมโม สว่างขึ้น เห็นว่า โอ แม่นจริง ๆ พระพุทธองค์ว่าอัตภาพเป็นของกลาง ใครฉลาดใช้มันก็ได้ใช้ มันดี เอากำไรกับมัน ซื้อบุญกุศลคุณงามความดีไว้ ใครเป็นผู้โง่เขลา ไม่ก็เป็นผู้ประมาทไปยึดถือ ไม่รีบเร่งบำเพ็ญคุณงามความดีใส่ตนไว้ ก็ไม่ได้อะไรกับมัน เสียสมบัติดี ปล่อยให้มันแก่เฒ่ามันตายไป อันนี้เรียกว่าเป็นผู้ไม่ฉลาด ก็เพราะรู้ไม่เท่ามัน มายึดถือเป็นตนเป็นตัว ก็เป็นเหตุให้ทำสิ่งที่ไม่ดี ทางกายก็ไม่ดี วาจาก็ไม่มี ใจก็ไม่ดี ไม่มีเมตตากรุณาต่อเพื่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่าเสียสมบัติ อันนี้พระพุทธเจ้าก็ว่าอยู่ กิจโฉ มนุสสปฏิลาโภ การที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นลาภใหญ่ เกิดมาชาติหนึ่ง ๆ แสนทุกข์แสนยากแสนลำบาก เราได้มาแล้ว เราเป็นผู้ไม่ประมาท รีบเร่งเอาทรัพย์ภายในไว้เสีย ความได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นลาภอันสำคัญ มนุษย์เป็นชาติอันสูงสุด เป็นสัตว์ใจสูง มีเมตตาซึ่งกันแลกัน ได้สมบัติมาดีแล้วก็รีบเอามัน รับทำเอาเสีย อบรมบ่มอินทรีย์ให้มันแก่กล้า แก่กล้ามันสุก สุกมันก็ดี หมากไม้มันสุกมันก็หวาน ไม่ใช่สุกแกมดิบ นอกจากอัตภาพร่างกายของเราแล้วสิ่งอื่นไม่มี เรื่องนอกธรรม เรื่องข้างนอกกว้างขวาง ต้องเข้ามาพิจารณาแต่กายกับใจของเราเท่านั้น อันนี้ได้ชื่อว่าเข้ามาใกล้แล้ว ใกล้เข้ามาทุกที ใกล้ทางพระนิพพาน เป็นผู้อยู่ต้นทางพระนิพพานก็ว่าได้ เป็นผู้ไม่ประมาท เข้าใกล้เข้าทุกที ๆ ครั้นบารมีของเราพร้อมบริบูรณ์แล้วก็สามารถที่จะพิจารณาได้


    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_kao/lp-kao-14.htm
     
  3. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    [​IMG]


    อยู่ที่ใจ


    ผู้เห็นเวทนา ผู้เห็นสัญญา ผู้เห็นสังขาร วิญญาณ เป็นผู้เห็นนามรูป นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ เห็นรูปมากระทบตา เกิดวิญญาณขึ้นที่นี่ เสียงมากระทบหู เกิดวิญญาณที่นี่ขึ้นอีก รูปดีก็เกิดความยินดี ชอบใจ เป็นเวทนา อยากได้ รูปไม่ดี เกลียดชัง เกิดทุกขเวทนา ไม่อยากได้ ก็เป็นทุกขเวทนาขึ้น ตัณหาเกิดขึ้นมันก็เป็นปัจจัยให้ต่อกัน ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น ว่าขันธ์ของตน ว่าตัวของกู กูไปอยู่ที่โน่น กูไปอยู่ที่นี่ กูเป็นพระ กูเป็นเณร อุปาทาน เมื่อมีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นเหตุให้อยากเท่านั้นแหละ เป็นเหตุให้เกิดภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เกิดภพแล้ว เป็นเหตุให้เกิดชาติ เกิดชาติ ก็เป็นเหตุให้เกิด ชรา มรเณนะ เกิด โศกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาส ความคับแค้น อัดอั้นตันใจ อยู่ในสังสารจักร์ นี่แล ดับความโง่อันเดียวเท่านั้นแหละ ผลไม่มี ดับเหตุแล้ว ผลก็ดับไปตามกัน ผลคือได้รับความทุกข์ ความสุขไม่มี คือดับอวิชชา ความโง่ นั่นแหละตัวเหตุ ตัวปัจจัย มันเองมันเป็นต้นเหตุ เป็นปัจจัย จิตเดิม ธรรมชาติเป็นเลื่อมประภัสสร เหมือนกันกับเพชรพลอย หรือเหมือนกันกับแร่ทองคำ ธรรมชาติมันก็เลื่อมสดใสอยู่ยังงั้น แม้นว่ามันยังปนอยู่ ปนอยู่กับดินนั่นแหละ แล้วอาศัยคนไปขุดมา รู้จักว่าเป็นบ่อเพชร บ่อทอง บ่อแร่นั่นแหละ เขาไปขุดเอาขึ้นมา มันติดอยู่กับดินอันหยาบนั่น ขุดมาแล้ว มาถลุงออก แล้วเอามาเจียรนัยอีก มันจึงสำเร็จ มีแสงวาบ ๆ เป็นทองคำก็เอาทำสายสร้อย ตุ้มหู จิตของเราทั้งหลายก็ดี มันเกลือกกลั้วอยู่กับอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง มันเอาอารมณ์เข้ามาห้อมล้อมมัน จิตมันจึงเศร้าหมอง แต่แสงมันก็มีอยู่นั่นแหละ อาศัยมาชำระมัน เราฝึกมาชำระจิตนั่นแหละทุกวัน ให้มันผ่องใส จิตเราต้องชำระให้มันบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรมาปะปนมันแล้ว อันนั้นละจิตบริสุทธิ์ จิตผุดผ่อง ผ่องใส จิตตัง ทันตะ สุขาวหัง ครั้นผู้อบรม ฟอกจิตของตน สั่งสอนจิตของตน มีสติสัมปชัญญะ ระวังจิตอยู่ทุกเมื่อ ประคองจิตให้อยู่ในความดี หมั่นขยันทำความเพียร ชำระจิต ยกบาปทั้งหลายเหล่านี้ออกจากดวงจิตอยู่ทุกวัน ครั้นละออกแล้ว ก็เหมือนฝนทั่งให้เป็นเข็มเท่านั้น ฝนไปฝนไป อาศัยวิริยะ ความพากเพียร อาศัยฉันทะ ความพอใจ จะเพียรฝึกฝนจิตของเราให้เลื่อมประภัสสร ฝนไปฝนไป ผลที่สุดก็เป็นจิตบริสุทธิ์ หมดมลทิน มีแต่ธาตุรู้อันบริสุทธิ์ เป็นธาตุอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง จิตบริสุทธิ์แล้วจะไปทางไหนก็ได้ ไม่มีความเดือดร้อน เพราะเป็นแก้วอันบริสุทธิ์แล้ว บ่มีอันหยังมาเกิดแล้ว จิตแหละเป็นตัวนำทุกข์มาให้ ครั้นฝึกฝนดีแล้ว นำความสุขมาให้ อยู่ในโลกนี้ก็มีสุข ความทุกข์ไม่มี อันนี้มันเป็นธรรมดาของอัตภาพของสภาวะ มันเป็นเองของมัน ถึงมันจะทุกข์ปานใด มันก็ไม่มีความเดือดร้อน หวาดเสียวต่อความทุกข์ มันจะตายก็ไม่มีความอัศจรรย์ มันนี่จึงรู้เท่าสังขาร รู้เท่าสังขารจิตก็ไม่หวั่นไหว จิตไม่มีโศก ไม่มีเศร้าอาลัย จิตมีกิเลสเครื่องมลทินก็ปัดออกแล้ว จิตอันนี้เป็นจิตบริสุทธิ์ จิตสูง เพราะมันขาดจากการยึดการถือ เรามาหาความสุขใส่ตนไม่ใช่หรือ ต้องการความสุขเท่านั้นแล้ว จึงพ้นจากความสะดุ้งหวาดเสียว จิตของพระอริยะเจ้า จิตของพระพุทธเจ้า ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม มีลาภก็ไม่มีความยินดี เสื่อมลาภก็ไม่มีความยินร้าย ความสรรเสริญ พระพุทธเจ้าก็บ่ตื่น นินทา พระพุทธเจ้าก็บ่โศกเศร้าเสียใจ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ จึงว่า มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ เหล่านี้ แปดอย่างนี้ พระพุทธเจ้าและสาวก ไม่มีความยินดีและโศกเศร้า ไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีความยินดี ยินร้าย กับอารมณ์แปดอย่าง นี่ละ จึงว่าจิตประเสริฐ จิตเกษม


    พวกเราเกิดมาก็พากันเกลียดทุกข์อยู่นี่แหละ จึงได้พากันแสวงหาที่พึ่งของตน แสวงหาแล้วก็ต้องตั้งใจ มีความฝักใฝ่ในข้อวัตรปฏิบัติของตน ไม่ละ ไม่ถอนฉันทะ ความพอใจ จะบำเพ็ญคุณงามความดีให้มีขึ้น วิริยะ เพียรละชั่ว เพียรบำเพ็ญบุญกุศลให้เกิดขึ้น จิตฝักใฝ่อยู่ในคุณงามความดี ฝักใฝ่อยู่ในสติ ให้จิตอยู่กับจิต ให้ใจรู้จักใจ ให้จิตอยู่ที่จิต ให้ใจอยู่ที่ใจ มีสติประจำไว้ที่นั่น แกนอยู่นั่น ครั้นผู้ตั้งใจบำเพ็ญ หัดทำสติของตนให้สำเหนียกแม่นยำแล้ว จิตเป็นผู้ทำสติให้สำเหนียกแม่นยำ ครั้นมีสติแล้วก็เป็นผู้สมาทานเอาอยู่ในสิกขาบทของตนนั่นแล ให้มันเป็นอธิศีล อธิศีล คือ ศีลบ่มีหวั่นไหว ศีลบ่มีขาดวิ่น ไม่มีขาดตกบกพร่อง ศีล เรียกว่าปกติศีล อธิศีลสิกขา สมาทาเน อธิปัญญาสิกขา สมาทาเน อปมาเทน สมปาเทถ ด้วยความไม่ประมาท เป็นนิจศีลอยู่ทุกเมื่อ ผู้มีสติสัมปชัญญะ ทำให้แม่นยำ ให้ชำนาญแล้ว ผู้นั้นได้ชื่อว่า เป็นผู้ใกล้พระนิพพาน ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท ให้ตกปากทางพระนิพพานแล้ว


    ตน อยู่ไหน ตนมีความทุกข์ก็เพราะตนทำให้ตน เมื่อทำความดีใส่ตนแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้รู้ตน เป็นผู้ยกตน เป็นผู้รักษาตน ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแก่ตน อตฺตาหิ อตฺโนนาโถ ตนแล เป็นที่พึ่งของตน เป็นที่พึ่งของตนได้ก็เพราะตนนั่นแหละทำความดี เป็นที่พึ่งของตนไม่ได้ ก็เพราะตนเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่มีศรัทธา เข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล มันมัวแต่เห็นแก่ปากแก่ท้อง มัวหามาใส่ปากใส่ท้อง คอยเวลาที่มันตายนั่นแหละ


    ในเบื้องต้น ให้ตรวจดู ทานบารมีก็ดี ศีลบารมีก็ดี เนกขัมมบารมีก็ดี ตรวจดูมันอย่างไร อยู่ที่เราจะก้าวขึ้น ก้าวขึ้นชั้นสูง ให้ทานสูงนั่นแหละเรียกว่าปรมัตถบารมี เลือดเนื้อชีวิตจิตใจนี่แหละ ถวายบูชาพระพุทธเจ้า ถวายบูชาพระธรรม ถวายบูชาพระสงฆ์ ได้ชื่อว่าให้ทานสูง อันนี้ได้ชื่อว่าเป็น ปรมัตถทาน ปรมัตถบารมี ให้ทานเลือดเนื้อ ไม่เห็นแก่ชีวิตจิตใจ มุ่งหน้าทำความเพียรจนตลอดวันตาย เป็นทานบารมี ไม่ต้องหวงแหนมันไว้ ต้องให้มันทำความเพียร อย่าปล่อยให้มันชำรุดทรุดโทรมไป มันมีแต่จะครั้นชำรุดทรุดโทรมไป เหมือนเรือคร่ำคร่า นั่นแหละ มันมีแต่สลักหักพังไป ครั้นมันเฒ่ามาแล้ว มันบำเพ็ญเพียรอีหยังบ่ได้ดอก ยังหนุ่มยังแน่นตั้งใจทำความเพียรไป ครั้นเฒ่าอย่างอาตมานี่ มันผ่านมาแล้ว แม้จะแบกแต่กระดูกของตนก็จะตายแล้ว ปานนั้นมันก็บ่ยอมให้เขา หอบมันอยู่นี่แหละกระดูก จะตายให้มันตายอยู่นั่น ไม่ยอมหรอกเรื่องทำความเพียร เอามันจนตาย


    พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกก็ดี เมื่อสำเร็จกิจแล้ว เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังขยันกว่าเราเสียอีก นี่แหละ ท่านหมดเชื้อแล้ว หมดเชื้อแล้วอยู่เย็น มีความสุข หมดความขี้ลักขี้ขโมย หมดขี้โกรธ ขี้โลภ ขี้หลง นี้หมดแล้ว พระพุทธเจ้าและสาวกก็หมดแล้ว ขี้เกียจขี้คร้าน ความขี้เหงา ขี้เซา ขี้หลับขี้นอน พวกนี้หมดแล้ว พระอริยเจ้าท่านทำความเพียร ขุดขึ้นมา ขุดตัณหาขึ้นมา รากน้อยรากใหญ่ขุดขึ้นมา เอาขึ้นมาแล้วก็กวาด กวาดขึ้นมาแล้วเอาใส่ไฟ เผาไฟ กวาดแล้วกวาดเล่า เผาแล้วเผาเล่า เผาแล้วโกยลงน้ำที่เชี่ยว โกยแล้วโกยเล่า จนหมด ครั้นหมดเชื้อต่าง ๆ แล้วไม่มีดอกความเกียจคร้าน เราอย่าหมั่นขยันแต่ทำบาป ให้ขยันแต่ทำดี ทำความบริสุทธิ์ ทำบุญทำกุศลนี่ ให้หมั่นทางนี้ บาปด่ากัน บาปมันขึ้นมา หน้าแดง เรานี้เฮ็ดบาปคือขันแท้ ไปขยันใส่บาป ครั้นรู้จักว่าบาปก็บ่ขยันแล้ว จึงว่าให้กลัวบาป คำเถียงกันด่ากัน ทะเลาะวิวาทเบียดเบียนกันเป็นบาป อยากไปขันใส่มัน ให้หลีกไปไกล ให้เอาใจเว้น อย่าเอาใจใส่ ครั้นเว้นแล้ว มันก็บ่มีความเดือดร้อน ใครจะว่าอย่างใดก็ตาม เราไม่ว่าใส่เขาดอก เขาติฉินนินทา เขาก็ว่าใส่เขาเอง ปากเขามันก็อยู่ที่เขา หูเขามันก็อยู่ที่เขา เราจะเอามันเข้ามารวมไว้ให้มันเผาตนหยัง เราก็เป็นคนอยู่ไม่ใช่ควาย มันเป็นอย่างใด เราจึงตั้งสติฟาดมัน มันเป็นหยัง ให้ดูมัน เรารู้จักมันแล้ว เรารู้จักกิเลสแล้ว ดูมันเฉพาะตาย ถ้ามึงไม่ตายกูตาย เอาให้ตนเสียความดีนั่น บาปก็อยู่ที่ใจ ใจนี่เป็นผู้ว่า จึงว่าให้อบรมใจ มีสติสั่งสอนใจ อบรมนี่แหละ จะเอาภพเอาชาติก็แม่นใจนี่แหละ จะเป็นวัวเป็นควายก็แม่นใจนี่แหละ ครั้นดับใจนี้ได้ มันก็มีแต่เย็น มีแต่ความสุขเท่านั้น มันจะไปเกิดบ่อนใด ก็แม่นจิตนี่แหละไปยึดไปถือ มันเจ็บมันปวดก็เพราะใจไปยึดไปถือ ครั้นใจไม่ยึดไม่ถือแล้ว มันจะรู้จักการตาย รู้จักความตาย รู้จักมันดี ถ้าใจไม่ยึด มันจะมีทุกขเวทนามาจากไหน ไม่มี ดับเวทนาดับสัญญาได้อยู่ ดับสังขารความปรุงได้อยู่ ดับวิญญาณความรู้ทางทวารทั้ง ๖ ได้อยู่ ของใครของมันจะมีตนมีตัว มันไม่มีตนมีตัว แต่ว่ามันจำมันหมายว่าเจ็บนั่นเจ็บนี่ เวทนาก็พร้อมกันเกิดขึ้น มันไม่มีตัวมีตน มันก็ดับไปอีก ดับก็จิตมันสงบนั่นแหละ ครั้นจิตมันสงบแท้ ๆ ไม่มีคนหยังจะมาเจ็บอยู่นี่ จึงว่าให้อบรมจิตนั่นแหละ จิตสงบแล้วไม่มีผู้ใดเจ็บ คนบ่มี บ่อนตัวไม่มี แล้วก็ไม่มีอะไรเจ็บแล้ว ครั้นบ่มีคนแล้ว เป็นหยังจะมาจำหมายนั่นอยู่ บัญญัติอยู่ก็รู้ว่าไม่มีคน บัญญัติทางตา หู จมูก ลิ้น ก็บ่มี บ่มีคน มันว่างม๊ดละ ไม่มีอุปาทานแล้ว วางเสียก็มีความสุขนั่นแหละ จิตสงบ ให้ฝึกหัดจิต


    ตัวรักษาดีแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้แต่งความสุขให้ตน นั่นแหละเรียกว่าตนมีที่พึ่ง ปัจจุบันก็ไม่มีความเดือดร้อน แต่งทรัพย์สมบัติให้ตน สมบัติภายนอกมากมาย ไม่มีความยากจน ตบแต่งมนุษย์สมบัติให้ตน สมบัติภายนอกมากมาย ไม่มีความยากจน ตบแต่งมนุษย์สมบัติให้ตน ตบแต่งสวรรค์สมบัติให้ตน ตบแต่งเอาเอง รักษากาย วาจา ใจ ของตนให้บริสุทธิ์ ไม่แตะไม่ต้องสิ่งอันหยาบช้าเลวทราม ศีลห้าก็เป็นมนุษย์สมบัติ เป็นสวรรค์สมบัติ ศีลแปดก็ดีเป็นมนุษย์และสวรรค์สมบัติด้วย ก็ใครเล่าแต่งเอาให้ ก็เรานั่นแหละแต่งเอาเอง ใครจะทำให้เราได้ พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้สอน มันก็แม่นเรานั่นแหละ ครั้นทำบ่ดีก็แม่นเรา เพราะเหตุนั้นให้รักษาให้มันดี ที่ไม่ดีอย่าไปทำ พวกเรานี่มันสับสนปนกันนี่ทั้งดีทั้งชั่ว มันจึงสุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ เอาอยู่อย่างนั้นแหละ ได้รับทั้งสุข ได้รับทั้งโทษ เพราะสับสนปนกัน


    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_kao/lp-kao-15.htm


    ชุดเดียวกันก่อนหน้านี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 สิงหาคม 2010
  4. wvichakorn

    wvichakorn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    3,667
    ค่าพลัง:
    +9,239
    [​IMG]


    "จิตของเราทั้งหลายก็ดี มันเกลือกกลั้วอยู่กับอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง
    มันเอาอารมณ์เข้ามาห้อมล้อมมัน จิตมันจึงเศร้าหมอง แต่แสงมันก็มีอยู่นั่นแหละ
    อาศัยมาชำระมัน เราฝึกมาชำระจิตนั่นแหละทุกวัน ให้มันผ่องใส
    จิตเราต้องชำระให้มันบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรมาปะปนมันแล้ว อันนั้นละจิตบริสุทธิ์
    จิตผุดผ่อง ผ่องใส จิตตัง ทันตะ สุขาวหัง
    ครั้นผู้อบรม ฟอกจิตของตน สั่งสอนจิตของตน มีสติสัมปชัญญะ
    ระวังจิตอยู่ทุกเมื่อ ประคองจิตให้อยู่ในความดี หมั่นขยันทำความเพียร
    ชำระจิต ยกบาปทั้งหลายเหล่านี้ออกจากดวงจิตอยู่ทุกวัน ครั้นละออกแล้ว
    ก็เหมือนฝนทั่งให้เป็นเข็มเท่านั้น ฝนไปฝนไป อาศัยวิริยะ ความพากเพียร
    อาศัยฉันทะ ความพอใจ จะเพียรฝึกฝนจิตของเราให้เลื่อมประภัสสร
    ฝนไปฝนไป ผลที่สุดก็เป็นจิตบริสุทธิ์ หมดมลทิน มีแต่ธาตุรู้อันบริสุทธิ์
    เป็นธาตุอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง
    จิตบริสุทธิ์แล้วจะไปทางไหนก็ได้ ไม่มีความเดือดร้อน
    เพราะเป็นแก้วอันบริสุทธิ์แล้ว"

    ขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ
     
  5. ชนะ สิริไพโรจน์

    ชนะ สิริไพโรจน์ ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,891
    กระทู้เรื่องเด่น:
    14
    ค่าพลัง:
    +35,260
    สาธุ ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงครับ
    เว็บทางนิพพาน เว็บไซด์ เผยแพร่ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น<O:p

    ที่รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน<O:p
    ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่
    www.tangnipparn.com
    <O:p>ขอเชิญแวะเยี่ยมชมและโมทนาบุญเว็บศูนย์พุทธศรัทธา

    [​IMG]</O:p>
     
  6. ธัมปฏิบัติ

    ธัมปฏิบัติ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    177
    ค่าพลัง:
    +1,019
  7. jkkeng

    jkkeng สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มกราคม 2008
    โพสต์:
    8
    ค่าพลัง:
    +13
    อนุโมทนาสาธุ

    เคารพศรัทธาหลวงปู่ขาวมากครับ คนอุดรโดยกำเหนิด
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_4665.jpg
      IMG_4665.jpg
      ขนาดไฟล์:
      43.2 KB
      เปิดดู:
      42

แชร์หน้านี้

Loading...