ทวนกระแส (อุบายวิธีการพิจารณาด้วยปัญญา และวิปัสสนาญาณ) พระอาจารย์ทูล ขิปปปญโญ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 8 สิงหาคม 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    อุบายวิธีการพิจารณาด้วยปัญญา (๑)


    จากนี้จะได้อธิบายวิธีการพิจารณาด้วยปัญญาพอเป็นแนวทางการพิจารณานี้ ก็ต้องเอาความรู้เห็นในสมถะ ในวิธีเดินจงกรม วิธีนั่งสมาธิในวิธีที่ ๓-๔ ของสมถะมาเป็นอุบายพิจารณา เพราะการพิจารณากายไปตามความเป็นจริง ก็เพื่อให้ใจได้รู้ความจริงของกาย เพื่อไม่ให้หลงกายและหลงตน และให้ใจได้รู้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ภายในกาย และบั่นทอนความยึดถือกายนี้ว่าไม่มีสาระเป็นตัวอนัตตา ที่สมมติทั้งหลายว่าตัวตน ก็เพราะไม่รู้ตามความจริงของกายนั่นเอง ฉะนั้นการพิจารณากายก็ต้องมองกันหลาย ๆ ด้าน เพื่อหาเหตุผลประกอบเปรียบเทียบ เพื่อให้ใจได้ยอมรับตามความจริงของปัญญา


    ฉะนั้น การพิจารณากายจึงไม่มีกำหนดและขอบเขต การพิจารณาด้วยปัญญาก็ต้องอาศัยสัญญาเป็นเส้นทาง เพราะสัญญาความจำนั้น เมื่อเราได้จำในวัตถุสิ่งไหนมา เราควรจะประกอบปัญญาพิจารณาอย่างไร จึงจะเข้ากัน ถ้าเราใช้ไม่เป็นก็มีอันตรายแก่ตัวเอง ถ้าเราใช้เป็นก็มีคุณได้กับเหตุกับผล เพราะสัญญาความจำได้ยังเป็นมีดสองคม หรือเหมือนกับไฟ ถ้าเราใช้ไม่เป็นก็เป็นโทษ ถ้าเราใช้เป็นก็เป็นคุณ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นมีดสองคมเช่นเดียวกัน ถ้าสัญญาไปจำมาแล้ว ถ้าเราเอามาวิจารณ์ผิดก็เป็นพิษขึ้นที่ใจ และยังเป็นไปเผาใจตัวเองได้ และก็ยังเป็นเส้นทางให้กิเลสตัณหาได้พองตัวไปตาม ๆ กัน และยังเป็นเครื่องมือให้สังขารจิตได้ปรุงแต่งพรรณนาความดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไปไม่มีทางสิ้นสุด และยังทำให้ใจเรามีความยินดีกำเริบไปตามความกำหนัดอีกด้วย ถ้าสัญญาจำเอา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาแล้ว ถ้าประกอบด้วยปัญญาพิจารณาให้ลงสู่ไตรลักษณ์ได้ และใจก็รู้เห็นถูกต้องตามปัญญา ก็จะนำพาให้เกิดซึ่งความเบื่อหน่าย คลายจากความกำหนัดยินดี


    ฉะนั้น เมื่อหากสัญญาไปจำสิ่งไหนมาแล้ว ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาตัดสินชี้ขาดแต่ฝ่ายเดียว ถ้าเรามอบหน้าที่ให้กิเลสตัณหาเป็นผู้นำแล้ว มันก็จะพาสัญญาที่จดจำสิ่งต่าง ๆ มาได้นั้นไปในเส้นทางของกิเลสตัณหาแต่ฝ่ายเดียว รูปก็มีแต่รูปที่น่าเชยชม สังขารก็ปรุงแต่งเรื่อยไป ว่ารูปดีอย่างนั้น รูปสวยอย่างนี้ เรื่อยไป ใจก็เออออห่อหมกไปตามกิเลสตัณหา สังขารเห็นว่าได้ท่าของตัวเองแล้ว ก็มีกำลังคิดพรรณนารูปในอดีตที่เป็นมาอย่างไร ก็จดจำพรรณนารูปนั้นไปในวิธีต่าง ๆ ให้ใจได้เพลินไปทั้งวันคืนเดือนปี และเพลินมาแล้วในอดีตไม่รู้ว่ากี่กัปกี่กัลป์ ก็เพลินมาจนถึงปัจจุบันนี้ และจะเพลินไปในอนาคตอีกไม่รู้จะไปถึงไหน และไม่มีที่สุด เสียงก็เหมือนกัน พรรณนาความสนุกสนานร่าเริง ใจก็เกิดความร่างเริงไปด้วย กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ตาม สังขารก็ปรุงแต่งก็ปรุงไปแต่งไป สิ่งที่เน่าก็แต่งให้หอม สิ่งที่ทุกข์ก็แต่งว่าเป็นสุข สิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนก็แต่งให้เที่ยว สิ่งที่เป็นอนัตตาก็แต่งว่าเป็นอัตตา ตัวตน ใจที่มีอวิชชาปิดบังมืดบอดอยู่แล้ว ก็ยินดีใฝ่ฝันตาม ผลสุดท้ายก็ไม่มีผลอะไรให้ใจมีความสุข และใจก็ยังไม่เข็ดหลาย ทั้ง ๆ ที่กิเลสตัณหาได้ต้มตุ๋นเอาจนหมดเนื้อประดาตัว ก็ยังไม่กลัวภัย ยังมีกำลังใจคิดสู้อยู่ตลอดเวลา นี้แล เมื่อสัญญาจำรูป เสียง ฯลฯ มาได้แล้ว ถ้าให้กิเลสตัณหาดำเนินเดินเรื่อง ต้องเป็นอย่างนี้ทุกราย ไม่ว่าคนในฐานะใดย่อมเป็นอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าในกัปไหน ๆ ภพไหน ๆ ใจที่ยังเชื่อถือกับกิเลสตัณหาอยู่ตราบใด รางวัลของใจก็คือน้ำตา


    เหตุนั้น ถ้าสัญญาไปจำเอา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มา ไม่ว่าจะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ก็ต้องใช้ปัญญาเป็นผู้ดำเนินการ โดยอาศัยไตรลักษณ์เป็นพยานหลักฐาน อันเป็นเหตุผลที่เป็นธรรม เช่น จำรูปมาได้ ก็เอามาวิจัยตามหลักความจริง และวิจารณ์ไปในแง่ต่าง ๆ ให้ใจได้รู้เห็น แต่ก่อนมา ใจเราพลอยตามกิเลสตัณหามาตลอด แต่บัดนี้ ก็ต้องใช้ยุทธวิธีเพื่อปรับปรุงแก้ไขความรู้ของใจ ความเห็นของใจเสียใหม่ เพื่อให้ใจได้รับความรู้ที่เป็นจริงตามปัญญา ความรู้ของใจต่าง ๆ ที่เป็นมาก็จะค่อยถอนตัวออกมาสู่หลักเหตุผล เพราะไตรลักษณ์เป็นหลักความจริงอยู่ตลอดเวลา เช่น พิจารณากายที่ใจได้เคยยึดถือว่าตนเรามาเป็นเวลานาน ฉะนั้น จึงพิจารณากาย แยกแยะกายออกเป็นชิ้นเป็นส่วน เพื่อให้ใจได้รู้เห็นคำว่า ตน อย่างละเอียด คือใจ ตนอย่างหยาบคือกาย ก็อาศัยอาหารอย่างหยาบเป็นสิ่งหล่อเลี้ยง มีข้าวปลาอาหาร เป็นต้น ตนอย่างละเอียด ก็อาศัยอารมณ์ของใจที่ได้มาจากอายตนะและขันธ์ห้ามาเป็นที่หล่อเลี้ยง


    ฉะนั้น เราก็ต้องเปลี่ยนอาหารของใจอีกด้วย เพราะความคิดเห็นของใจอันดั้งเดิมที่ถือว่า ตัวตนนั้น ก็เพราะความเข้าใจผิดของใจเอง ฉะนั้น จึงหยิบยกเอารูปมาพิจารณาให้เป็นไปตามความจริง เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ละอย่างก็ต้องทำให้ใจได้ลุ่มหลงมาเป็นเวลานาน รูป เสียง ที่หลงในเบื้องต้น ก็คือรูปตัวเราเอง ถ้าเราหลงรูปเราแล้วก็พลอยหลงรูปอื่น ๆ อีกต่อไป ว่าเป็นที่น่ารักน่าใคร่ ก็เข้าใจในรูปว่าสวยงามน่าสัมผัส เสียงก็เป็นสิ่งสนุกสนานร่าเริงบันเทิงใจ กลิ่นก็เป็นสิ่งที่หอมหวนชวนดม รสก็น่ารับประทานอันทำให้ใจได้ติดพัน โผฏฐัพพะก็น่าสัมผัส ไม่อยากจะให้เหินห่างวางมือ อยู่ที่ไหนไปที่ไหนใจก็ใฝ่ฝัน ก็เลยถือว่าเป็นเรื่องสำคัญกว่าธรรมไป นี้เป็นความคิดเห็นฝ่ายต่ำ ถ้าเป็นมีดก็จะคอยเอาปาดคอตัวเองให้ตายเพราะความโง่ของใจ ฉะนั้น สิ่งที่พอให้ใจได้หมุนตัวกลับมาได้ ก็ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั้นแหละ ตีกลับคืน คือ ทวนกระแส เช่น ใจ ติดในรูป ก็เอารูปนั้นแหละมาวิจัยใคร่ครวญตามหลักความจริง คือ กำหนดพิจารณาให้เป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็แยกธาตุดินออกไปให้เป็นชิ้นส่วน ขณะที่เราพิจารณาแยกส่วนอยู่นั้น ก็ให้เราได้รู้เห็นส่วนของกายนั้น ๆ ไปทุกครั้ง


    ฉะนั้น จึงให้กำหนดเพ่งดูกายมาตั้งแต่วิธีการทำสมถะ เมื่อเราได้กำหนดรู้เห็นกายมาแล้วอย่างไร บัดนี้เราก็เอามาพิจารณาให้รู้เห็นกายส่วนนั้น ๆ เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณากายไม่รู้เห็นกาย ใจก็ไม่เกิดความเบื่อหน่าย ถ้าเราพิจารณากายใจก็รู้เห็นกาย จะพิจารณาให้เป็นไปในไตรลักษณ์ ใจก็รู้เห็นด้วย นั้นแล ใจจึงจะรับความจริงของปัญญา ถ้าพิจารณาว่ากันตามสูตรที่เรียนมาแล้ว จะว่าอย่างไร ในก็ไม่เกิดความเบื่อหน่าย เพราะใจไม่เห็น การพิจารณาให้ใจได้รู้เห็นกายไปพร้อม ๆ กันกับปัญญานี้เอง จึงได้ชื่อว่า รู้จริงเห็นจริง เช่น พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็ให้ใจรู้เห็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง จะพิจารณา เนื้อ เอ็น กระดูก ก็ให้ใจรู้เห็น เนื้อ เอ็น กระดูก ว่าเป็นลักษณะสัณฐานอย่างไร อยู่ที่ไหน ถ้าเราพิจารณากาย กำหนดเอามีดปาดออกมาข้างนอกเป็นกอง ๆ ก็ให้ใจรู้เห็นกายที่ปาดออกมานั้นเป็นกอง ๆ ไป ก่อนจะกำหนดปาดกายส่วนไหน ก็ให้พิจารณากายส่วนนั้นลงสู่ไตรลักษณ์ทุก ๆ ครั้ง คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา อันเป็นแกนนำของปัญญาได้เป็นอย่างดี และก็มีหลักฐานภายนอกยืนยันอันเป็นหลักความจริงอยู่ตลอดเวลา เช่น ความทุกข์ใครก็ย่อมเห็นอยู่แล้วในที่ต่าง ๆ อยู่ตามโรงพยาบาล หรือที่คุมขังของนักโทษและเรือนจำ ก็เป็นหลักฐานว่ามีความทุกข์ทั้งนั้น เช่น ทุกข์ประจำตัวคนอื่นเราก็รู้ แม้ทุกข์ประจำตัวเราก็ต้องรู้ ก็ทุกข์ภายในกายและทุกข์ภายในใจ


    ฉะนั้น ใครที่เกิดมาในโลกนี้แล้ว ย่อมประสบพบเห็นด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าคนในฐานะอย่างไร ย่อมได้รับด้วยกัน เช่น ปวดหัว ปวดแข้ง ปวดขา ปวดเอว ปวดสารพัดปวด เรามีกายเท่าไร ก็ปวดเท่านั้น เป็นทุกข์เท่านั้น บางทีก็ทุกข์น้อย บางทีก็ทุกข์มาก และก็ทุกข์เพราะการอยู่การกิน หาอยู่หากิน ดิ้นรนอยู่ตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดปี ตลอดชาติ จนถึงวันตาย ทุกข์เพราะการเจ็บไข้ได้ป่วยนานาชนิด แทบจะอาชีวิตไปไม่รอด และก็ไม่รอดจริง ๆ ด้วย ทุกข์นี้มาพร้อมกันกับความเกิดอยู่ในท้องแม่ก็เป็นทุกข์ ออกจากท้องแม่มาแล้วก็เป็นทุกข์ ทุกข์จนถึงครั้งสุดท้ายคือตาย ตายไปแล้วเกิดใหม่อีกก็เป็นทุกข์อีก ทุกข์ก็เป็นทุกข์อย่างเก๋านั้นแหละ แต่เราก็วิ่งเต้นขวนขวายหาสิ่งมาปิดบังทุกข์อยู่ตลอดเวลา แต่หาปิดได้ไม่ เพราะมีเชื้อไฟพาให้ทุกข์อยู่ภายในคือใจ ก่อนกาย ใจจะวิ่งแสวงหาสิ่งที่มาบำบัดทุกข์ เพื่อกลบทุกข์ ก็เพราะใจมีความอยากและใจเป็นผู้สั่งหามา กายที่แสดงความทุกข์ขึ้นในใจเดี๋ยวนี้ก็ใจเป็นผู้รู้ และต้องการในสิ่งนั้น ๆ แต่ใจหารู้ไม่ว่า สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ และเป็นเหตุให้เกิดทุกข์


    ฉะนั้น การพิจารณากายทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ใจได้รู้เห็นว่าอะไรเป็นเรา อะไรเป็นของของเรา เพื่อให้ใจได้รู้เห็นที่เกิดของความทุกข์ เห็นที่ตั้งอยู่ของความทุกข์ เพราะทุกข์ก็ยังอาศัยธาตุ และจะกลับไปเป็นธาตุตามเดิม นี้แล สายทางของรูปกายที่เราอาศัยอยู่นี้ มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลางและแตกสลายไปในที่สุด ในขณะนี้เราอยู่ในท่ามกลาง เพราะการเกิดเราก็ได้เกิดมาแล้ว ความตายก็จวนเจียนเวียนเข้ามาใกล้ทุกที ชีวิตความเป็นอยู่ก็สั้นเข้าทุกที อาการของกายทุกส่วนก็เพียงอาศัยกันไปเป็นวัน ๆ เท่านั้น ไม่นานกายกับใจก็จะแยกจากกันไป นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรเกิด มีทุกข์เท่านั้นเกิด นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรดับ มีทุกข์เท่านั้นดับ ถึงตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็มีทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ คือ ทุกข์ในเบื้องต้น คือเกิด การเกิดของกายทีแรกจะมีอะไรเป็นสิ่งสำคัญเล่า ก็มีเพียงหยดน้ำมันของบิดามารดาผสมกันรวมตัวเข้าเป็นก้อนเลือดเท่านั้นเอง ต่อมาก็แตกเป็นตุ่มห้าตุ่ม คือ ตุ่มของหัว ตุ่มของแขนสองแขน ตุ่มของขาสองขา ต่อมาก็เป็นหัว เป็นแขน เป็นขา ยื่นออกเป็นหัว เป็นหู เป็นตา เป็นปาก เป็นลิ้น เป็นตัว และก็แตกออกเป็นนิ้วมือ แตกออกเป็นนิ้วเท้า แล้วก็เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หลัง เป็นเนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อยไป และน้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำมูตรไป สิ่งเหล่านี้ก็เกิดมาจากก้อนเลือดก้อนเดียวที่อยู่ในท้องแม่นั่นเอง จะมายึดถืออะไรเป็นตัวเราสำคัญนักหนา เมื่อถึงกาลเวลา ก็ออกจากท้องแม่มานอนอยู่ในเบาะ ตัวแดง ๆ ไม่รู้ภาษาอะไรของพ่อแม่เลย แต่ถึงขนาดนั้น ก็มีความทุกข์และร้องอยู่ตลอดเวลา ตัวอนิจจัง คือการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่เป็นก้อนเลือดนั่นเอง มีความทุกข์อยู่ที่ไหน ตัวอนิจจังก็อยู่ในที่เดียวกัน และตัวอนัตตาก็ปฏิเสธความเป็นเรา เป็นตัวตนของเราอยู่ตลอดเวลา แต่เราขาดปัญญาการพิจารณาหยั่งรู้หลักความจริง จึงเข้าใจเอาเองว่าเป็นตัวเรา ส่วนธาตุขันธ์ทั้งหมดนี้ ยังปฏิเสธต่อเราอยู่เสมอ แต่เราไม่รู้ตัว และข้าใจว่าธาตุขันธ์นี้เป็นเราอยู่เรื่อยไป เมื่อธาตุขันธ์นี้เกิดไปก็เป็นทุกข์ อยากให้เป็นความสุขอยู่ตลอดไป เพราะกายนี้เป็นก้อนทุกข์ จะให้เป็นสุขได้อย่างไร เมื่อก้อนทุกข์มีแล้ว จำเป็นต้องวิ่งเต้นขวนขวายหาสิ่งต่าง ๆ มาบำบัดทุกข์พออยู่ได้ไปเป็นวัน ๆ เมื่อถึงกาลเวลาแล้วถึงจะหาสิ่งใดมาเยียวยาก็ไม่ได้ผล ทุกคนก็ย่อมลงสู่จุดเดียวกัน เพียงมีแต่กายอย่างเดียว ไม่มีใจครองแล้ว กายนี้จะไม่มีค่าราคาเลย เห็นไหม กายที่ไม่มีใจครองเขาเอาไปเผาตามเมรุ ตามป่าช้า จะมีคุณค่าอะไร ถึงจะให้ฟรี ๆ ก็ไม่มีใครยอมรับ ถึงจะเพิ่มเงินสักหมื่นบาทให้เอาร่างกายที่ไม่มีใจครองนี้ไปนอนร่วมห้องด้วยก็ไม่ยอมเอา นี้ขอให้เรามองให้ลึก พิจารณาให้ละเอียด เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบและเต็มไปด้วยของไม่สะอาดด้วยประการต่าง ๆ นี้ ก็เป็นความจริงอยู่แล้ว


    เพราะร่างกายทั้งหมดนี้ ก็เกิดอยู่ในสถานที่สกปรก และเอาสิ่งที่สกปรกมาปรุงให้เป็นรูป และก็อยู่ในความสกปรกนั้นจนกว่าจะออกมาได้ก็หลายเดือน ถึงออกมาได้แล้ว ก็ต้องหาสิ่งที่สกปรกมาทะนำบำรุง เช่น น้ำนมแม่ก็เป็นของสกปรกอยู่แล้ว แต่เราก็รับประทานได้ ตลอดอาหารกรบริโภคทุกชนิด ก็ล้วนแล้วเป็นของสกปรกทั้งนั้น หรืออาหารทั้งหมด ถ้าเราไม่รับประทาน ให้เก็บเอาไว้ อาหารนั้นก็บูดเน่าทั้งหมด และอาหารทุกประเภทก็เอามาจากธาตุ และก็เป็นก้อนธาตุอยู่ในตัวของมันเสร็จ ถึงเราจะนำมาทำเป็นอาหาร แต่อาหารก็เป็นธาตุเรียกว่า อาหารธาตุ เมื่อเราเอามารับประทานก็เพื่อบำรุงธาตุ เพราะร่างกายนี้ก็เป็นธาตุ อาหารที่มาหล่อเลี้ยงก็เป็นธาตุ ก้อนธาตุก็ต้องอาศัยก้อนธาตุบำรุงรักษากันไปและอยู่กันไป ถึงมีอาหารหวานความมาบำรุงรักษามาเท่าไร และอย่างดีมีรสชาติสักเท่าไรก็ตาม กายนี้ก็พออิ่มได้แต่ละมื้อเท่านั้น ถึงร่างกายได้รับรสอาหารดี ๆ แทนที่จะหนุ่มแน่นหรือชะลอความแก่ไว้ได้ก็ไม่เลย ร่างกายนี้ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ๆ ทั้งสิ้น ถึงจะมีเงินทองกองสมบัติมากมาย ร่างกายนี้ก็จะแก่เรื่อยไป และไม่ฟังเสียงใคร ๆ ทั้งสิ้น แม้การเจ็บไขได้ป่วยก็เป็นเงาตามตัว ยิ่งมีความแก่มาก การเจ็บป่วยก็มากไปตาม ๆ กัน มีทั้งแก่มีทั้งเจ็บบวกกันอยู่อย่างนี้ ความทุกข์ก็เป็นทวีคูณ ทุกข์เพราะห้ามแก่ไม่ได้ เป็นทุกข์เพราะห้ามการเจ็บป่วยไม่ได้ ขนาดนั้น ใจก็มองไม่เห็นความเป็นมาและความเป็นอยู่ของกายเลย


    นี้ก็เพราะเราไม่มีปัญญาพิจารณาดูธาตุขันธ์ร่างกายของตัวเอง จึงได้พยายามแสวงหาสิ่งภายนอกมาปกปิดอยู่เสมอ ถึงจะมีการประดับประดาตกแต่งร่างกายเสริมสวยให้ร่างกายก็เอาเถอะ จะลงทุนเป็นเงินล้านเพื่อหาวิธีแก้ไข เพื่อไม่ให้ร่างกายนี้แก่ ไม่ให้ร่างกายนี้เจ็บก็แก้ไขไม่ได้ เพราะสายทางเขาเป็นอย่างนี้ ผลที่สุดก็มารวมกันตาย กองกันอยู่ในโลกนี่เอง จะมีเงินเป็นล้าน เพื่อมาทำพิธีห้ามความตายไม่ได้ เพราะหน้าที่ของธาตุขันธ์ เมื่ออยู่ได้ถึงกาลถึงเวลาแล้ว ก็กลับลงไปสู่ธาตุเดิมของเขานั่นเอง ฉะนั้น กายทุกส่วนจะห้ามปรามไม่ได้ บังคับไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของเขา เช่น ตา หู เราจะบังคับไม่ให้ บอด หนวก ไม่ได้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง จะบังคับให้คงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้


    เพราะเรื่องของกายย่อมเป็นไปตามไตรลักษณ์จนถึงที่สุดคือตาย ถึงจะเกิดอีกในชาติใหม่ ก็แก่เจ็บตายในชาติใหม่ต่อไป เกิดเท่าไร ก็แก่เจ็บตายเท่านั้น จะว่าโลกนี้คือโลกเกิด โลกตาย ก็ไม่ผิด ถ้าเกิดมาแล้ว แทนที่จะได้ชมลูกชมหลานสนุกสนานร่าเริงในกามคุณให้สมใจตามความต้องการ ก็ยังเกิดความผิดหวังไป ไม่สมหวังกับสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่อิ่มในอารมณ์ที่รักที่ใคร่ ใจยังไม่อิ่มพอก็รีบตายกันไปเสีย จะว่าโลกอันผิดหวังก็ไม่ผิด


    เหตุนั้น เราก็จึงยกเรื่องที่ผิดหวังทั้งหลายมาคิด เพื่อให้จิตเรามีความรู้เห็นสภาพความเป็นจริง และให้ใจเราได้กลัวต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันไม่มีที่สิ้นสุด และเกิดตายมาแล้วหลายกัปหลายกัลป์ และก็ยังจะติดพันในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่อไปในอนาคตอีก ไม่รู้ว่าจะเกิดแก่เจ็บตายไปถึงไหน ทำไมเราจึงไม่อิ่มไม่เบื่อ จะเกิดมาชาติไหน ภพไหน ก็จะมีธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างเดิมนี้เอง และก็จะเป็นไปตามไตรลักษณ์ คือ ความทุกข์ภาย ความทุกข์ใจ เหมือนเดิม


    ถึงจะแสวงหาทรัพย์สมบัติได้มาน้อย ก็จะเป็นวัตถุของโลกทั้งหมด เพราะวัตถุนี้มีอยู่ในโลก เป็นของประจำโลก ถึงหามาได้ก็เอามาใช้อยู่ในโลก เกิดมาชาติก่อน ๆ ก็มาอาศัยวัตถุของโลก เกิดมาในชาตินี้ก็มาอาศัยวัตถุของโลก เราจะเกิดชาติต่อไป ก็จะอาศัยวัตถุของโลกนี้ทั้งนั้น ไม่นานก็จะตายจากวัตถุของโลกนี้ไปอีก คนที่ยังไม่ตายก็จะสืบทอดกันต่อไป และก็จะตายลงไปสู่จุดเดียว คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ด้วยกันทั้งนั้น


    ฉะนั้น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก่อนท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และพระขีณาสพเจ้าได้นั้น อันดับแรกท่านก็ได้มาพิจารณาด้วยปัญญาของท่าน และใจก็รู้เห็นสภาพความเป็นจริงว่า ร่างกายทั้งหมดนี้เกิดจากธาตุ อยู่ได้เพราะธาตุ และตายลงไปสู่ธาตุโดยไม่มีสาระใด ๆ จึงพิจารณาด้วยปัญญาให้รู้เห็นว่า ร่างกายนี้เหมือนกันกับฟองน้ำ เมื่อตั้งขึ้นแล้วก็แตกไป หรือร่างกายนี้เหมือนกันกับพยับแดด เมื่อมองดูความจริงแล้วไม่มี ให้พิจารณากายเรากายเขาเทียบเข้าหากัน ว่าธาตุเราก็เป็นอย่างนี้ ธาตุเขาก็เป็นอย่างนี้ แม้จะเห็นสัตว์ต่าง ๆ ที่มีชีวิตอยู่ก็ตาม หรือตายอยู่ในขณะนี้ก็ตาม ก็ให้พิจารณาเทียบเข้ามาหากายเราว่า มีสภาพเหมือนกันทั้งหมด มีธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกัน แต่ก่อนเขาก็มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนกับเรา แต่บัดนี้ เขาได้ตายไปจากเราเสียแล้ว แม้ตัวเราถึงจะมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ก็ตาม ก็จะต้องตายเหมือนกันกับผู้ที่ตายไปแล้วนั่นเอง และก็จะเป็นธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในที่สุด


    ไม่ว่าคนหรือสัตว์นานาชนิด ก็มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกสลายไปด้วยกันทั้งนั้น และไม่มีธาตุขันธ์ส่วนไหนพอที่จะยึดถือว่าเป็นตัวเราและเป็นของของเราแม้แต่น้อยเลย จะเป็นเรื่องอดีต อนาคต ปัจจุบัน ใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด ร่างกายเรา ร่างกายเขา ของที่มีวิญญาณครอง และของที่ไม่มีวิญญาณก็ตาม ก็ต้องนำมาพิจารณาให้เห็นโทษเห็นภัย ให้เห็นความเสื่อมไปว่า ไม่มีของสิ่งใดในโลกนี้เป็นสาระแก่นสาร ให้รู้เห็นภายในใจว่าของทุกอย่างย่อม ตกอยู่ในความทุกข์ ความไม่เที่ยง และเป็นของที่สภาพสูญจากความเป็นอยู่ด้วยกันทั้งนั้น


    เมื่อหากเราพิจารณาเหน็ดเหนื่อยแล้วก็ต้องหยุด แล้วก็หมุนกลับทำสมาธิต่อไป และเพื่อให้ใจได้มีกำลัง เมื่อใจได้พักในสมาธิพอสมควรแล้ว ก็หวนกลับมาพิจารณาด้วยปัญญาต่อไป แต่ก็พิจารณาตามเรื่องที่เคยพิจารณามาแล้วนั่นเอง เราจะนั่งพิจารณาด้วยปัญญาก็ได้ จะเดินพิจารณาด้วยปัญญาก็ได้ เช่น เราจะพิจารณาเรื่องของความทุกข์ เราก็ต้องให้รู้จักทุกข์ที่มีอยู่ที่กาย ทุกข์ที่มีอยู่ที่ใจ และให้ใจได้รู้เห็นทุกข์ตามปัญญาไปด้วย ถ้าเราจะพิจารณาเรื่องความไม่เที่ยงของร่างกาย ความไม่เที่ยงของใจ และความไม่เที่ยงใด ๆ ก็ให้ใจได้รู้เห็นความไม่เที่ยงตามปัญญาไปด้วย ถ้าเราจะพิจารณาร่างกายนี้เป็นสภาพความดับสูญลงเป็นธาตุ ก็ต้องให้ใจได้รู้เห็นความดับสูญไปตามปัญญาด้วย ถ้าเราจะพิจารณาเรื่องอสุภะ คือความไม่สวยไม่งาม ไปตามอาการของร่างกายส่วนต่าง ๆ ก็ตาม ให้ใจได้รูเห็นความไม่สวยไม่งาม ส่วนของร่างกายไปด้วย จะพิจารณาความสกปรก ความเปื่อยเน่าของร่างกาย ก็ให้ใจได้รู้เห็นความสกปรกเปื่อยเน่าของร่างกายไปด้วย เราจะพิจารณาอย่างไรก็ให้ใจได้รู้เห็นสิ่งนั้น ๆ ตามปัญญาทุกครั้งไป หรือเหมือนกันกับครูสอนนักเรียน ถ้านักเรียนพากันนอนหลับแล้ว ถึงครูจะสอนวิชาต่าง ๆ ให้นักเรียนฟัง นักเรียนก็ไม่เข้าใจ จึงทำให้ครูผู้สอนมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปโดยนักเรียนไม่ได้ความรู้อะไร นี้ฉันใด ถ้าใจเราหลับและไม่รู้ตามปัญญาแล้ว ถึงปัญญาจะสอนกันทั้งวันทั้งคืน ยืนสอน เดินสอน นั่งสอน นอนสอนอยู่ก็ตาม ถ้าใจไม่รู้เห็นตามปัญญาแล้วก็ไม่มีประโยชน์ และใจก็จะไม่รู้เห็นทุกข์ ไม่รู้อนิจจัง ไม่รู้อนัตตา ตลอดอสุภะความไม่สวยไม่งามของร่างกาย ความเน่าเปื่อยของร่างกาย ใจก็จะไม่รู้เห็น ถ้าใจไม่รู้เห็นแล้ว จะให้ใจเบื่อหน่ายในทุกข์ ในอนิจจัง ในอนัตตา และเบื่อหน่ายในร่างกายเรา ร่างกายเขา ได้อย่างไร


    เพราะปัญญาทำหน้าที่สอนใจให้มีความฉลาด ให้ใจได้มีความรู้ ให้ใจได้มองเห็นโทษภัยในการเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาความเกิดให้ใจรู้ว่าเป็นทุกข์อย่างนี้ พิจารณาความแก่ของร่างกายให้ใจรู้ว่าเป็นทุกข์อย่างนี้ พิจารณาความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกายให้ใจรู้ว่ามีความทุกข์อย่างนี้ พิจารณาความตาย ให้ใจได้รู้ว่า ความตายมีความทุกข์อย่างนี้ การพิจารณาด้วยปัญญาไม่ต้องเลือกกาลเวลา เราอยู่ที่ไหนก็พิจารณาได้ ไม่ใช่ว่านั่งสมาธิก่อนเถอะจึงจะพิจารณา หรือเดินจงกรมก่อนเถอะจึงพิจารณา ถ้าพิจารณาด้วยปัญญา หาเวลาอยู่อย่างนี้ ไม่ทันกิน และไม่ทันเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับใจ เพราะกิเลส ตัณหา ราคะ โลภ โกรธ หลง มันเกิดขึ้นที่ใจ เกิดได้ทุกเวลา ทำให้ใจเศร้าหมองเป็นทุกข์ได้ทุกเวลา การพิจารณาด้วยปัญญา ก็ต้องให้มันทันกับเหตุการณ์ จะปล่อยให้กิเลสตัณหาเข้ามาเหยียบย่ำทำลาย หัวใจแตกกระจายไปหมดแล้ว จึงหวนมาคิด มันจะทันกับกิเลสตัณหาได้อย่างไร เหมือนกันกับวัวควายได้เข้าไปกินข้าวกล้าในนาจนหมดแล้ว จึงคิดล้อมรั้งทีหลัง มันจะทันกันไหม นี้ฉันใด กิเลสตัณหาเข้าไปกินตับ กินไต ทำลายความมั่นคงของใจจนล้มละลายไปหมดแล้ว จึงจะรู้วิธีนั่งสมาธิ รู้วิธีเดินจงกรม และจึงจะรู้แนวความคิดของปัญญา มันจะทันกันอย่างไร


    ผู้ที่ท่านมีความดี มีจิตใจอันบริสุทธิ์ เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรม ท่านไม่เหมือนกันกับเรา ท่านไม่หากาลหาเวลาเหมือนกันกับเรา ท่านอยู่ทีไหน ท่านก็อยู่โดยมีสติปัญญา รักษาใจ ท่านจะอยู่ที่ไหน ไปที่ใด ก็ไปด้วยสติปัญญา อะไรมาสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย ท่านก็เอามาพิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา แม้หูได้ฟังเสียง ก็เอาเสียงนั้นแหละมาพิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ แม้กลิ่นหอมเหม็น ก็เอากลิ่นหอมเหม็นนั้นแหละมาพิจารณา รสอาหารคาวหวานต่าง ๆ ก็เอารสของอาหารนั้นแหละมาพิจารณาว่าเป็นธาตุ บำรุงธาตุพอให้อยู่ได้ ไม่ใช่รับประทานเพื่อสวยเพื่องาม หรือจะสัมผัสในของที่อ่อนแข็งด้วยกาย ก็นำเอาเรื่องสัมผัสนั้นแหละมาพิจารณาว่าเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ถ้ามีความสุขเกิดขึ้นก็พิจารณาความสุขนั้นแหละ ว่าเป็นเหตุแห่งความทุกข์ เพราะความสุขความทุกข์เป็นของคู่กัน หรือเห็นสัตว์ต่าง ๆ ก็พิจารณาได้ แม้สัตว์ทังหลายนี้ ก็เหมือนกันกับเรา มีธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกันกับเรา มีการหากินเหมือนกันกับเรา มีการเกิด มีการเจ็บ มีกายตาย เหมือนกันกับเรา มีความเกิดขึ้น มีความตั้งอยู่ และมีความตายไปเหมือนกันกับเรา


    หรือเรามองเห็นสัตว์ตายในที่ต่าง ๆ ก็เอาเรื่องของสัตว์ตายนั้นแหละมาพิจารณา ว่าสัตว์ที่ตายไปนี้ ก็เหมือนกันกับเรา แต่ก่อนเขาก็มีชีวิตเหมือนกันกับเรา หาอยู่หากินเหมือนกันกับเรา มีความเกลียดทุกข์รักสุขเหมือนกันกับเรา เขามีการเกิดขึ้นตั้งอยู่เพราะธาตุเหมือนกันกับเรา และธาตุเขาที่ตายไปแล้ว ก็จะลงสู่ธาตุเดิมของเขา คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ด้วยกันทั้งหมด หรือว่าเราเห็นคนตายก็ตาม ก็เอาเรื่องของคนตายนั้นแหละมาพิจารณาว่า คนที่ตายไปแล้ว กับตัวเราที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เหมือนกันทุกอย่าง เขามีหัว เราก็มีหัว คนที่ตายไปมีตา หู จมูก ลิ้น ฟัน มีผม เราก็มีเหมือนกัน เขามีแขนมีขา เราก็มีเหมือนกัน คนที่ตายไปมีอาการกี่อย่าง ก็เอามาเทียบให้เข้ากันกับร่างกายเราทั้งหมด อย่าไปเทียบเคียงอย่างรวบรัด จะไม่มีผลอะไร นี้เรามาพิจารณาดูความละเอียด ให้รู้เห็นร่างกายของคนที่ตายไปทั้งหมดนั้นเข้ามาเทียบกันกับร่างกาย ตัวเราผู้ที่ยังไม่ตายให้ลงสู่สภาพเดียวกันทั้งหมดว่า เพราะเขาเกิดขึ้นมาแล้วและอยู่มาจนตลอดวันตาย เราก็เกิดขึ้นมาแล้วอยู่ไปถึงวันตายเช่นเดียวกัน แม้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ก็จะตายต่อกันไป หรือคนที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ เขาก็จะอยู่ถึงวันตายด้วยกันทั้งนั้น เราอยู่ที่ไหนก็พิจารณาได้ทั้งนั้น จะนั่งอยู่อย่างไรก็พิจารณาได้ จะเดินอยู่ที่ไหนก็พิจารณาได้ จะยืนอยู่ที่ไหนก็พิจารณาได้ แม้จะนอนอยู่ก็พิจารณาได้ แต่ให้ลงสู่ไตรลักษณ์ทุกครั้ง และให้ใจได้รู้เห็นไปตามปัญญาทุกครั้ง แม้กระทั่งทรัพย์สมบัติที่เรามีอยู่มากน้อยเท่าไร เราก็หยิบขึ้นมาแต่ละชิ้นแต่ละอันมาพิจารณาด้วยปัญญา ว่าทรัพย์ส่วนนี้เป็นของเราจริงหรือ หรือทรัพย์นี้อยู่ในไตรลักษณ์ก็ให้ใจรู้เห็น เพราะสิ่งใดที่เราถือเป็นกรรมสิทธิ์ ว่าเป็นของของเราแล้ว ความยึดถือก็ต้องว่าเป็นของของเราจริง ๆ เมื่อของนั้นสูญหายไป น้ำท่วมไป ไฟไหม้ไป เราก็เป็นทุกข์ หรือถูกโจรปล้นจี้ หรือเขาลักเอาของเราไป เราก็เป็นทุกข์ ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งใดที่เรายึดถือว่าเป็นของของเราแล้ว สิ่งนั้นจะไม่ทำให้เรามีทุกข์ ไม่มีในโลก ทุกข์ทั้งการแสวงหามา และทุกข์ทั้งการรักษา และทุกข์ในเวลาของนั้นหายไป และทุกข์เพราะกลัวว่าเราจะจากของเหล่านั้นไป และทุกข์เพราะว่าไม่ได้ความเป็นธรรมจากเพื่อนฝูง


    การพิจารณาด้วยปัญญาอย่างนี้ เราอย่าพึงเอาปริยัติเข้ามาเทียบ เพราะปริยัติเพียงเป็นหลักการเท่านั้น แต่เราก็ไม่ทิ้งจนเลยเถิด เพราะการพิจารณาด้วยปัญญานี้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ประจำวัน หรือประสบการณ์ในสถานที่ เพราะสถานที่แต่ละแห่ง อาจจะประสบพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน หรือไปที่นี้มีคนร้องไห้ ไปที่นี้มีคนหัวเราะ ไปที่นี้มีคนตายต่อหน้า ไปที่นี้มีสัตว์ตาย ไปที่นี้ ไปเห็นหลุมมูตร ไปที่นี้เห็นงูพิษ ไปที่นี้เห็นน้ำวังวน ไปที่นี้เห็นจระเข้ ไปที่นี้เห็นเสือ ไปที่นี้เห็นฟองน้ำ ไปที่นี้เห็นพยับแดด ไปที่นี้เห็นน้ำท่วม ไปที่นี้เห็นไฟไหม้ ไปแต่ละสถานที่ไม่เห็นเหมือนกันทั้งหมด ฉะนั้น ปัญญาก็ต้องพิจารณาตามเหตุการณ์ทีเราได้พบเห็น คือเรื่องที่เห็นนั้นเป็นในลักษณะใด เราก็ต้องน้อมเอาเรื่องนั้นมาเทียบเคียงร่างกายเรา เทียบเคียงใจ ให้เป็นไปในไตรลักษณ์ทั้งหมด


    เหตุนั้น ปัญญาจึงเป็นสิ่งที่รอบรู้รู้รอบในเหตุการณ์ต่าง ๆ เราจะคิดสิ่งใด พิจารณาสิ่งใด ก็ต้องพิจารณาด้วยเหตุผล และพิจารณาให้รู้เห็นตามหลักความจริงในสิ่งนั้น ๆ ความรู้ที่เราได้รู้กันอยู่ในขณะนี้ เป็นความรู้เพียงสัญญาที่รู้ต่อ ๆ กันมานาน แต่เป็นความรู้ประจำโลก ฉะนั้น เราจึงเอาความรู้ที่เป็นสัญญาประจำโลกนี้แหละเข้ามาให้ปัญญาได้วิจัยตามหลักเหตุผล และวิจัยให้ถึงหลักความจริง และให้ใจได้รู้ได้เห็น สัญญาจำมาได้อย่างไร ปัญญาก็พิจารณาให้ลงสู่ไตรลักษณ์ทั้งหมด และใจก็จะยอมรับความจริง และใจก็จะรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ของโลกได้ดี ไม่ว่าโลกนี้และโลกหน้า ชาตินี้และชาติหน้า ใจก็จะรู้เห็นไปตามปัญญาทุกแง่ทุกมุม นี้ปัญญาจะรู้โลก รู้ความเป็นอยู่ของสัตว์โลกทั้งหมด และรู้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งหมด ปัญญาก็จึงตามขุดค้นทำลาย เช่น ไปจำเอารูปที่ชอบมา ปัญญาก็ตามพิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ ไม่ว่าอยู่ในสถานที่ใด ๆ ก็พิจารณาด้วยปัญญาให้ใจได้รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงทั้งหมด


    การพิจารณาดูอารมณ์ภายในใจ ก็เพื่อจะได้ประกอบปัญญาเข้าแก้ไขให้ถูกจุด ว่าอารมณ์นี้เกิดมาได้เพราะเหตุอันใด อะไรเป็นต้นเหตุ อารมณ์เหมือนกับปรอทเครื่องวัดใจ และวัดดูกิเลสตัณหาภายในใจ ถ้าใจผูกพันในกามคุณ อารมณ์ก็แสดงออกมาเกี่ยวกับกามคุณ ใจผูกพันกับตัณหาคือความอยาก อารมณ์ของความอยากก็แสดงออกมาจากใจ ใจเรามีราคะ อารมณ์ความกำหนัดก็เกิดจากใจ ใจเรามีความโกรธ อารมณ์แห่งความโกรธก็หงุดหงิดภายในใจ ฉะนั้น อารมณ์เป็นเพียงเครื่องวัดความดันสูงต่ำของใจ ใจคิดไปในทางต่ำคือกามคุณก็รู้ ใจคิดไปในทางมานะทิฏฐิถือว่าตัวดีตัวเก่งก็รู้ อารมณ์นี้ไม่ใช่กิเลสตัณหา แต่เป็นผลสะท้อนออกมาจากิเลสตัณหานั่นเอง หรือเหมือนกันกับความร้อนของไฟที่ออกมาจากไฟ ใจที่มีกิเลสตัณหาประเภทใด อารมณ์ภายในใจก็แสดงออกทันที ใจมีความทุกข์ ความสุข อารมณ์ก็แสดงออกมาจากใจ


    ฉะนั้น การกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจ ก็เพื่อจะได้พิจารณาด้วยปัญญาที่ใจกำลังได้รับอยู่ในปัจจุบัน และพิจารณาหาต้นตอสามาของกิเลสตัณหา ว่าเกิดจากสาเหตุอันใด เหมือนกันกับเราจะดับไฟ ก็ต้องรู้เห็นถิ่นกำเนิดของไฟ และสิ่งที่จะทำให้ไฟขยายตัว หรือเหมือนกันกับเราจะทำลายโจร เราก็ต้องรู้ที่อยู่ของโจร และที่มาของโจรและหัวหน้าโจรด้วย นี้ฉันใด ใจเรามีความเป็นอยู่แบบพึ่งตัวเองไม่ได้ ไฟคือราคะตัณหาได้แผดเอาอยู่ตลอดเวลา ราคะตัณหาจะมีความกำเริบรุนแรงได้ก็ต้องอาศัยเชื้อภายนอกประกอบขึ้น ราคะตัณหาต้นตอจริง ๆ ก็คือใจมีความกำหนัด คือใจมีความอยาก ถ้าใจมีความยินดีแล้ว ก็จำเป็นต้องแสวงหา รูป เสียง มาบำเรอใจ ถึงไม่ได้ตัวจริง ก็เพียงเอารูปเสียงที่ใจมีความรักนั้นมาเต้นรำขับร้องในวิธีต่าง ๆ โดยทางสมมติเอาเอง เดี๋ยวก็สมมติให้รูปเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวก็สมมติให้รูปเป็นอย่างนี้ หลายวิธีที่สมมติ และใจก็เพลิดเพลินไปตามความคิดของกิเลสตัณหา เมื่อราคะกำเริบก็เป็นทุกข์ใจ ฉะนั้น การภาวนาก็คือมุ่งหาตัวก่อเหตุคือหัวหน้าโจร และจับหัวหน้าโจร คืออวิชชาให้ได้ อวิชชาคือความไม่รู้นี่เอง จึงทำให้ใจหลง ถ้าใจไม่รู้และใจหลงแล้ว ใจก็ย่อมทำไปโดยไม่มีขอบเขต และไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก ควรหรือไม่ควร ใจชอบสิ่งใดก็ทำไปตามใจชอบ อยากในสิ่งใดก็แสวงหาเอาตามความอยากของใจเอง เหมือนกับคนตาบอดแล้วยังหลงทาง จะอยู่ที่ไหนไปที่ไหนก็ไม่รู้เห็นภัยที่จะเข้ามาทำลายตัว อาจเดินเข้าไปเหยียบงูพิษ หรือเดินข้าไปสู่ปากเสือก็ได้ หรือเหมือนกับคนตาบอดว่ายน้ำ ไม่รู้จะว่ายไปทิศไหน และว่ายไม่มีฝั่งมีฝา ว่ายไปว่ายมาก็ติดวังวนก็จมน้ำตาย หรือว่ายไปหาจระเข้มีหวังตายลูกเดียว นี้ฉันใด คนใจบอดใจมืดคืออวิชชาแล้วก็ไม่รู้ที่ไปที่มา ในโลกนี้เราก็เคยไปเคยมาและเคยอยู่แต่ไหนแต่ไรมา แต่ก็อยู่กันแบบบอดมืด และเข้าใจว่าที่ใหม่อยู่ตลอดไป ความเข้าใจนี้แลจึงทำให้เราผิดหวัง เพราะความเข้าใจผิดของใจเอง


    เพราะโลกนี้เป็นโลกเก่า จะเอาโลกใหม่มาจากไหน เกิดก็เกิดที่เก่า ออกมาก็ออกมาจากที่เก่า ธาตุก็ธาตุอันเก่า ดินน้ำลมไฟก็ดินน้ำลมไฟอันเก่า อาหารที่เอามาเลี้ยงธาตุก็เป็นอาหารประเภทเก่า การมีผัวเมียก็ชายหญิงเหมือนเก่า รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็อันเก่า เมาหล้าเมายาแล้วตีหัวกันก็เหมือนเก่า แย่งกันอยู่แย่งกันกินก็เป็นของเก่า ลักกันปล้นจี้กันก็ของเก่า ล่วงละเมิดอธิปไตยกันก็เหมือนเก่า พูดโกหกพกลมไม่มีมูลความจริงก็เหมือนเก่า ที่ดินทำไร่ทำนาก็ดินผืนเก่า สร้างบ้านอยู่ก็เหมือนเก่า เราเกิดในชาติก่อนภพก่อนก็โลกอันเก่านี้แหละ เราจะเกิดในชาติหน้าต่อไปก็จะมาเกิดในโลกเก่านี้แหละ ความทุกข์ความเดือนร้อนในชาติหน้าภพหน้าก็เหมือนในชาตินี้แหละ ความแก่ก็มาแกในโลกเก่า ความเจ็บก็มาเจ็บในโลกเก่า ตายก็มาตายในโลกเก่าอีก แต่ทำไมเราจึงไม่อิ่มไม่เบื่อไม่รำคาญ นี้ก็เพราะเรามาเข้าใจเอาเองอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ว่าเป็นโลกใหม่ของใหม่นั่นเอง ทั้ง ๆ ที่กิเลสตัณหาได้เอาเชือกผูกจมูกจูงใจเวียนไปวนมาในโลกนี้ไม่รู้กี่เที่ยวกี่หน วนไปเวียนมาก็ไม่เห็นท่าทีว่าจะเกิดความเบื่อหน่ายได้เลย มิหนำซ้ำ ก็ยังจะมาอวดอ้างสุขอ้างมี อ้างดีอ้างเด่น เอาแพ้เอาชนะกันในโลกนี้อีก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเอาไปได้แม้แต่นิดเดียว นี้เองจึงชื่อว่าความไม่รู้ของใจ เรียกว่า อวิชชา


    ฉะนั้น เรามาฝึกหัดภาวนากันขณะนี้ ก็เพื่อความมุ่งหวังให้ใจรู้ ให้ใจฉลาด ให้ใจมีความสว่าง ให้ใจได้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ของโลกว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร ใจเราจะมีความรู้ความฉลาด และความสว่างได้ก็ต้องอาศัยปัญญาเป็นผู้นำ ให้ปัญญาได้สอนใจเพื่อให้ใจรู้ ความรู้ความสว่างของใจไม่ใช่จะเกิดขึ้นแบบลอยลมโดยขาดเหตุผล เหมือนกันกับเรานั่งอยู่ในที่มืด แต่ก็ต้องการความสว่าง แต่เราไม่เตรียมหาตะเกียงหรือไฟอย่างอื่นมาจุดขึ้น ความมืดก็จะเป็นความมืดอยู่ตลอดไป นี้ฉันใด เราต้องการปัญญา แต่เราไม่ยอมฝึกหัดคิดค้นในแง่ธรรมต่าง ๆ มีกาอาการ ๓๒ เป็นต้น พิจารณาธาตุสี่ให้ประกอบกันกับไตรลักษณ์ ไม่เช่นนั้น ปัญญาก็จะไม่เกิดขึ้นกับใจเราเลย เพราะปัญญาก็อาศัยวิธีนึกคิดในอาการส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย พิจารณาให้เป็นอสุภะความไม่สวยไม่งาม พิจารณาความเน่าความเหม็นสาบเหม็นโขง พิจารณาให้ลงสู่ไตรลักษณ์ คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ต้องคิดไปคิดมาตามความเป็นจริง ทั้งร่างกายเราร่างกายเขาอยู่บ่อย ๆ


    นั่นแหละ จึงจะเป็นเส้นทางของปัญญาให้เกิดขึ้น และจึงจะกำจัดความมืดของใจได้ เพราะอาศัยปัญญาเป็นผู้นำ ถ้าปัญญาสว่าง ใจก็สว่างไปตาม ๆ กัน ถ้าใจมืดบอดแล้ว ความเห็นก็เห็นแบบมืด ๆ ความดำริ ความคิดก็ดำริและคิดแบบมืด ๆ บอด ๆ และไม่ยอมฟังเสียงใครได้ง่าย ๆ ชอบทำไปตามทิฏฐิมานะของตน ฉะนั้น คนบอดจึงชอบอวดฉลาด ไม่ยอมเสียเปรียบใคร จะเอาอย่างไร ทำอย่างไร ไปที่ไหน ก็ถูไถกันไปทั้ง ๆ ที่หลงทางก็ไม่ยอมถามใคร ทั้ง ๆ ที่ตกหลุมมูตร หลุมคูถก็ยังหาวิธีแก้ตัว คนบอดหนวกนี้อยู่ที่ไหนก็จะชอบจะลองของอยู่บ่อย ๆ เมื่อพลาดท่ามาก็ชอบแก้ตัวอยู่บ่อย ๆ มันจึงเกิดความขมขื่น กลืนไม่ลง คายไม่ออก นี้ก็เพราะบอดชอบลอง เดี๋ยวก็ลองอย่างนี้ ลองไปลองมามันก็จะเหมือนกันกับมดที่ลองดีกับน้ำผึ้ง ถ้าได้ชิมน้ำผึ้งนิดเดียวเท่านั้นก็วน ๆ เวียน ๆ ป้วนเปี้ยนไปมา เมื่อน้ำผึ้งติดขาแล้วดิ้นไม่หลุด ผลที่สุดก็ตายเพราะน้ำผึ้งนั่นเอง นี้แล จึงว่าคนบอดถึงไปที่ไหนก็ไปแบบมืดบอด ถึงงูจงอาจจะนอนพานทางก็ยังเข้าไปหาได้ หรือไปเหยียบขวากเหยียบหนา เข้าดงเข้าป่า ตกหลุมตกบ่อก็ไม่ยอมถอยตัว นี้แล ความไม่รู้ความไม่เห็น จึงเป็นเหตุให้เกิดความไม่เข้าใจว่าของสิ่งนั้นผิดหรือถูก จึงเรียกว่า อวิชชา คือ ความไม่รู้จักผลและไม่รู้จักเหตุ จึงได้เช็ดน้ำตากันมาและจะเช็ดน้ำตาต่อไป จะไม่มีเวลาที่จะสิ้นสุด เหตุนั้น การมีสติกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจ เพื่อจะได้รู้จด คือตัว อวิชชา ที่กำลังออกแสดงตัวชูหัวขึ้นที่ใจ เพื่อจะได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้ถูกจุด เหมือนกันกับยิงเสือก็ต้องเห็นตัวเสือ จะทำลายข้าศึกก็ต้องเห็นที่อยู่ของข้าศึก จึงจะเอาชนะต่อข้าศึกได้ นี้ฉันใด เราจะทำลายชาติภพ ก็ต้องรู้เห็นเหตุของชาติภพ เราจะหนีจากทุกข์ ก็ต้องรู้จักทุกข์ และเหตุให้เกิดทุกข์ หรือเราจะทำลายในสิ่งใด ก็ต้องรู้ในสิ่งนั้นให้ชัด จะตัดของสิ่งใดก็ต้องให้เห็นในที่เราจะตัด


    www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_tool/lp-tool_2-5_01.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 8 สิงหาคม 2010
  2. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    อุบายวิธีการพิจารณาด้วยปัญญา (๒)

    ฉะนั้น นักปฏิบัติจึงฝึกให้ความฉลาดเกิดขึ้นในใจเอง ความฉลาดนี้ไม่ขึ้นอยู่กับคำพูด เพราะคำพูดอาจจะไปลักเอาความฉลาดของใครมาพูดก็ได้ ความฉลาดของใจ ถึงไม่พูดก็เป็นธรรมชาติที่เตรียมพร้อมภายในใจอยู่ตลอดเวลา ถึงจะเกิดอะไรขึ้นมาภาในใจก็รู้เท่าทัน และฉลาดในการแก้ปัญหาภายในให้หลุดไปได้ ไม่ต้องไปหาใครต่อใครมาแก้ไข หรือได้ยินคำสั่งสอนแนวทางปฏิบัติมาได้อย่างไร ก็นำมาปฏิบัติและแก้ไขตัวเองให้เป็นไปอย่างนั้น นี้ก็คือผู้มีความฉลาด หรือสามารถนำเอาอุบายวิธีใช้สติปัญญามาพิจารณาแก้ไขกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไปได้ นี่ก็คือผู้มีความฉลาด ถึงจะอยู่กับหมู่ก็ฉลาด จะไปอยู่คนเดียวก็ฉลาด สามารถจะหาอุบายธรรมมาสอนตัวเองได้ หรือหาเอาอุบายธรรมมาปฏิบัติได้ จะพิจารณาด้วยปัญญาก็พิจารณาได้ตลอดไป ดังภาษิตว่า โย ธมมํ ปสสติ โส มํ ปสสติ ผู้ใดเห็นธรรม ชื่อว่าผู้นั้นเห็นเราตถาคต คำว่าเห็น ก็ปัญญานั่นแหละ พาใจให้เห็น คำว่ารู้ ก็ปัญญานั่นแหละพาใจให้รู้ ใจฉลาดก็ปัญญานั่นแหละ พาให้ใจฉลาด ใจมีความเฉียบแหลมคมคาย ก็ปัญญานั่นแหละพาให้ใจฉลาด ใจมีความเฉียบแหลมคมคาย ใจจะละกิเลสตัณหาได้ ก็ปัญญานั่นแหละพาให้ใจละ ใจจะหมดจากความมืดบอดลุ่มหลง ก็ปัญญานั่นแหละให้ความสว่างให้ความรู้แก่ใจ ใจจะรู้เห็นโทษภัยในวัฏสงสารก็ปัญญานั่นแหละพาให้ใจรู้ใจเห็น ใจจะถอดถอนออกจากอาสวกิเลสน้อยใหญ่ ก็ปัญญานั่นแหละพาให้ใจถอดถอน ใจจะบริสุทธิ์ ก็ปัญญานั่นแหละจะพาให้ใจบริสุทธิ์ จึงสมกับภาษิตว่า ปญญาย ปริสุชฌติ ใจจะมีความบริสุทธิ์ได้ก็เพราะปัญญา จะสิ้นทุกข์ สิ้นภพสิ้นชาติได้ ก็เพราะปัญญา


    ถ้าผู้ขาดปัญญาแล้ว ถึงจะนั่งจ้องมองดูพระพุทธเจ้าถึงตลอดวันตาย ก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้า ถึงจะจับชายสบงจีวรของพระพุทธเจ้าอยู่ ก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าเลย ถึงจะนั่นนอนกอดตู้พระไตรปิฎกอยู่ ก็ไม่เห็นธรรม เพราะกิเลสตัณหาอวิชชาไม่ได้อยู่กับกระดาษ ความโลภความโกรธความหลงไม่ได้อยู่กับกระดาษ ความสุขความทุกข์ไม่ได้อยู่กับกระดาษ ตลอดมรรคผลนิพพาน ความบริสุทธิ์ไม่ได้อยู่ในกระดาษหนังสือ แต่เป็นเพียงชื่อกิเลสตัณหาอวิชชาโลภโกรธหลงเท่านั้น เพียงเป็นชื่อของความสุขความทุกข์ และชื่อมรรคผลนิพพานเท่านั้น ส่วนตัวกิเลสตัณหา อวิชชา ความโลภ โกรธ หลง สุข ทุกข์ อยู่ที่กาย อยู่ที่ใจเราทั้งหมด เช่น การสุจริตหรือทุจริกก็อยู่กับตัวเรา วจีสุจริตหรือทุจริตก็อยู่กับตัวเรา ใจสุจริตหรือทุจริตก็อยู่ที่ตัวเราทั้งหมด


    ฉะนั้น ในหนังสือจึงไม่ใช่ตัวธรรม แต่เพียงเป็นชื่อของธรรมเท่านั้น หรือเหมือนกันกับ นาย ก. นาย ข. ส่วนตัว นาย ก. นาย ข. ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะหนังสือธรรมทั้งหมด เพียงเป็นแผนที่ธรรมเท่านั้น เหมือนกันกับแผนที่ประเทศแผนที่โลกนั้นเอง ว่าประเทศนั้นอยู่ไหน ทิศใด ไปทางไหน เพื่อศึกษาให้รู้ เราจะไปหรือไม่ไปก็เป็นเรื่องของเราเอง หนังสือธรรมก็เหมือนกัน ก็เพียงศึกษาให้รู้ว่า กิเลส ตัณหา อวิชชา โลภ โกรธ หลงอยู่ที่ไหน ให้ผลเป็นอย่างไร ความทุกข์ในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ที่ไหน และให้ผลอย่างไร ในหนังสือนั้นบอกชัดทีเดียว


    แม้หนทางที่จะออกก็บอกไว้ชัดทั้งหมด นับแต่วิธีเตรียมตัวจะออกเดินทางทีแรก หรือวิธีกำลังเดินทางก็บอกไปหมดทุกแง่ทุกมุม ทางที่ไม่ควรไปก็บอก ทางที่ควรไปก็บอก เดินไปถึงจุดไหนเป็นอย่างไรก็บอก เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางแล้วก็บอกว่าสุดแล้ว ทางจะต่อไปอีกไม่มี กตํ กรณียํ กิจที่จะเดินต่อไปอีกไม่มี


    ฉะนั้น การศึกษาในแผนที่ธรรมะจะศึกษาให้หมดทุกแง่ทุกมุมก็ศึกษากันไป แต่ถ้าจะทำให้ความบริสุทธิ์เกิดขึ้นแก่ใจแล้ว ก็ต้องหมุนตัวกลับมาปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดมีแก่ผู้กำลังศึกษาอยู่นั่นเอง เหมือนกับพระโปฐิละ ถึงจะศึกษาในพระไตรปิฎกจบ และเป็นธรรมกถึกเอกในสมัยนั้นก็ตาม แต่ก็มายอมจำนวนมอบกายถวายชีวิตต่อสามเณรน้อยผู้มีอายุเพียง ๗ ขวบ


    ถึงแม้พระโปฐิละมีการศึกษามาก เรียนรู้ทุกข้อทุกอรรถทุกแง่ทุกมุม แต่ทำไมความรู้ทั้งหลายเหล่านั้น พระโปฐิละจึงไม่นำเอาปัญญาในปริยัตินั้น มาพิจารณาในอริยสัจธรรม คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ได้เล่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระโปฐิละ ก็เรียนจบมาแล้ว แต่ทำไมจึงช่วยตัวเองไม่ได้ ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม ก็ศึกษาเรียนจบมาทั้งหมดแล้ว แต่ทำไมจึงไม่สามารถนำธรรมทั้งหมดนั้นมาปฏิบัติ เพื่อให้ตัวเองมีความบริสุทธิ์ได้เล่าหรืออาจจะเป็นดังคำว่า กระจกไม่มีประโยชน์แก่คนตาบอดฉันใด ความรู้ที่เรียนรู้ก็ไม่มีประโยชน์แก่บุคคลผู้ไร้สติปัญญาฉันนั้น ปัญญาไม่มีแก่บุคคลที่สิ้นความคิด ความพินิจก็ไม่มีแกใจที่ขาดความเฉียบแหลม อย่างนี้แหละ พระโปฐิละ จึงมายอมตัวเป็นศิษย์ก้นกุฏิของสามเณร ปริยัติก็เหมือนอาหาร ปฏิบัติก็เหมือนกำลังรับประทาน ปฏิเวธเหมือนความอิ่ม ฉะนั้น การปฏิบัติก็มีการศึกษามาจากปริยัติ แต่ก็อย่าศึกษาจนเกิดขอบเขตจนความรู้นั้นเป็นพิษ และพองตัวขึ้นโดยไม่มียารักษา จะเอาหินทั้งก้อนมาทับก็ไม่ยอมยุบตัว นั้นคือการศึกษาเกินความพอดี จึงเกิดทิฏฐิมานะ เหมือนกับพระโปฐิละนั่นเอง


    ฉะนั้น นักปฏิบัติผู้หวังผลจริงจังแล้ว จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คือ ความประมาทในวัย ประมาทในชีวิต ว่าเรายังหนุ่มแน่น ว่าจะไม่ใกล้ต่อความตาย หรือประมาทอย่างอื่น ๆ ที่ทำให้เราลืมตัวในกามคุณทั้งหลาย จึงทำให้ใจฟุ้งซ่านพะรุงพะรัง และนั่งภาวนาไม่ติด คิดไปหาแต่อารมณ์ที่ชอบใจอยู่เสมอ เราเป็นนักปฏิบัติธรรม ก็ต้องให้ใจมีความยินดีในธรรม และธรรมนั้นแหละ จะเป็นเข็มทิศชี้ทางไปสู่ความเจริญ ส่วนสมบัติที่เราหามาได้ก็ให้เป็นสมบัติไป และพอได้อาศัยกันไปอยู่ในโลกนี้ ส่วนธรรมก็ให้เป็นธรรม อันจะนำความสุขเข้ามาสู่ใจ ถ้าเราเห็นทรัพย์สมบัติยิ่งกว่าธรรมแล้ว การปฏิบัติธรรมก็ย่อหย่อนหละหลวม ไม่จริงจัง และการปฏิบัติธรรมก็ไม่ติดต่อกันเท่าที่ควร และการพิจารณาด้วยปัญญาในแง่ธรรมต่าง ๆ ก็หลง ๆ ลืม ๆ นี้ ก็เพราะขาดความตั้งใจ ไม่จริงจังต่อการปฏิบัติ จึงเป็นเหตุขัดข้อง และไม่ได้ผลเท่าที่ควร หรือไม่ได้ผลเสียเลย


    ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจึงขึ้นอยู่กับความตั้งใจเป็นหลัก เราจะตั้งใจในธรรมบทไหนก็ให้ลงสู่จุด คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทั้งหมด เช่น พิจารณากายให้เป็นอสุภะ ความไม่สวยไม่งาม ก็ให้ลงสู่ไตรลักษณ์ จะพิจารณาความเกิดแก่เจ็บตาย ก็ให้ลงสู่ไตรลักษณ์


    และแยกแยะออกให้รู้เห็นทุกชิ้นทุกส่วนของกาย เพื่อให้ใจได้รู้ เห็นได้ชัดในร่างกายส่วนนั้น ๆ ว่ากายกับใจอาศัยกันอย่างไร ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ เราก็ต้องรู้เหตุให้เกิดทุกข์ด้วยสติปัญญาของเรา


    เหตุนั้น ความทุกข์จึงไม่ขึ้นอยู่กับกายโดยเฉพาะ คือ ขึ้นอยู่กับใจที่มีอุปาทานความยึดมั่นถือขันธ์ต่างหาก เมื่อกายปราศจากใจแล้ว ร่างกายเราทั้งหมดนี้ จะไม่มีความทุกข์ความสุขเลย ทั้ง ๆ ที่ร่างกายของคนที่ตายไปแล้ว กับร่างกายเราที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นธาตุสี่เหมือนกัน นั้นแล จึงได้ชื่อว่า อารมณ์ที่มีในใจก็จะให้ผลเป็นสุขเป็นทุกข์อยู่ที่ใจนั้นเอง เช่น อารมณ์ที่เกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่ความสุข ไม่ใช่ความทุกข์ เพราะความสุขความทุกข์อยู่ที่ใจ เพราะตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นเพียงสะพานให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้เข้ามาสัมผัสใจ แล้วจึงทำให้เกิดอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ ขึ้นที่ใจ จึงเรียกว่า ธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ที่ฝังอยู่ภายในใจ ไม่ใช่ ตาหู จมูก ลิ้น กาย เป็นผู้รู้ ถ้าเช่นนั้น คนที่ตายไปเขาก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ครบถ้วนสมบูรณ์เหมือนกับเรา แต่ทำไม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของคนที่ตายไปจึงไม่รู้เล่า นี่ก็เพราะผู้ที่รู้คือใจ ได้ปราศจากร่างกายนี้ไปนั้นเอง จึงว่าธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นผู้รู้ และจะสำเร็จในการรู้ได้เฉพาะใจ


    ฉะนั้น อารมณ์ของใจ ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ อารมณ์นี้ต้องเป็นคู่ของใจตลอดไป เมื่อใจเราเกิดความรัก ความใคร่ ความกำหนัด อารมณ์แห่งความรัก ความใคร่ ความกำหนัด ก็แสดงออกมาจากใจ ใจมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ใจมีกิเลส ราคะ ตัณหา ก็เป็นผลออกมาเป็นธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ที่แสดงออกมาจากใจ เหมือนกับตัวไฟ กับความร้อนของไฟ เมื่อใจเรามีความร้อน อารมณ์ก็ร้อนไปตาม ๆ กัน เมื่อใจเราประสบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ อารมณ์ภายในใจก็แสดงออกซึ่งความทุกข์ และแสดงออกมาทางกายด้วย เมื่อใจเรามีความสุข อารมณ์ที่แสดงออกมาก็เป็นความสุข กิริยาทางกายก็แจ่มใสร่าเริง เพราะอารมณ์ของใจก็เกิดจากใจ และเป็นเครื่องวัดภายในใจได้ดีที่สุด หรือเหมือนกับปรอทวัดอาการของคนไข้ จะมีอาการไข้น้อยไข้มาก็รู้จากปรอทนั้น ๆ หรือเหมือนกันกับเครื่องวัดความดันสูงความดันต่ำ หรือตรวจเลือดปัสสาวะ ก็เพื่อรู้โรคที่เกิดขึ้นและมีอยู่ที่กาย ส่วนอารมณ์ก็เป็นเครื่องสำรวจของใจ ใจได้รับความสุขความทุกข์ เกิดความดีใจและเสียใจ ทุกข์ใจน้อยใจประการใด ใจที่เกิดความรักความชังเนื่องจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาประกอบให้ใจได้เกิดความรักใคร่ใยดีนี้แล


    อารมณ์จึงเป็นผลที่แสดงออกมาจากใจโดยตรง ความลุ่มหลงของใจก็มาจากความไม่รู้ในสัจธรรม นิยยานิกธรรม ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุที่ให้เกิดทุกข์ ไม่รู้แนวทางปฏิบัติให้สิ้นไปจากทุกข์ รวมแล้วก็คือ ไม่รู้ในสรรพสังขารทั้งหลายนั้นเองจะว่าไม่รู้หรือก็ไม่ใช่ แต่ก็มีความรู้อีกประเภทหนึ่งของมัน คือ รู้วิธีที่จะขุดหลุมฝังตัวเอง และรู้วิธีที่จะก่อไฟเผาตัวเองทั้งเป็น รู้วิธีที่จะลอยตามกระแสของโลก รู้วิธีนี้เก่งและเหนียวแน่นมาก จะจับหูดึงให้ขาดไปทั้งสองข้างก็ไม่ยอมปล่อยวาง พระพุทธเจ้า พระอริยเจ้า ประกาศขอร้องก็ไม่ยอมฟังเสียง ยังจะเอาตามความต้องการของตัวเองถ่ายเดียว


    ฉะนั้น ผลของการปฏิบัติในครั้งพุทธกาล กับผลการปฏิบัติในปัจจุบันนี้ ก็เป็นผลเหมือนกัน เพราะแนวทางปฏิบัติก็มี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นบรรทัดฐาน จะว่าสัมมาทิฏฐิในองค์มรรค ก็เป็นหลักยืนให้มรรคข้ออื่น ๆ มารวมอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ถ้าตั้งหลักสัมมาทิฏฐิไว้ไม่ตรง มรรคข้ออื่นก็ไม่ตรง ถ้าสัมมาทิฏฐิล้มละลาย บรรดามรรคทั้งหลายข้ออื่น ๆ ก็จะแตกกระจายไปโดยไม่มีชิ้นดี เหมือนโคลอยน้ำ ถ้าหัวหน้าโคลอยตรง ฝูงโคที่ลอยตามก็ตรงไปตาม ๆ กัน ถ้าหัวหน้าโคลอยคดเคี้ยว โคอื่นก็ลอยคดเคี้ยวตามกันไป ถ้าหัวหน้าโคติดวังวน ฝูงโคทั้งหลายก็จะจมน้ำตาม ฉะนั้น จึงให้ตั้งหลักใจให้ตรง มีความคิดเห็นให้ตรง ต่อมรรคต่อผล และเด็ดเดี่ยวกล้าหาญจริงจังในข้อวัตรปฏิบัติ เพื่อกำจัดความโง่ภายใจใจ ให้เกิดมีความฉลาดเฉียบแหลมคมคาย และเพื่อกำจัดความมืดด้วยความสว่าง คือ ปัญญา ความมืดบอดภายในใจอยู่ที่ไหน ก็ต้องใช้ปัญญาสอดแทรกลงไปในจุดนั้น ๆ เพื่อให้ปัญญาได้หยั่งลงไปหาส่วนลึกของใจ ให้ใจได้รับความสว่างจากปัญญา ใจจึงจะรู้จริงเห็นจริงเรียกว่า วิชชา มีอยู่ที่ใจ และก็จะทำให้ใจมีความรู้ ความฉลาด และรู้ความผิดถูกภายในใจเอง เพราะใจได้ถูกสิ่งปกปิดมานาน ถ้ากำจัดเครื่องปกปิดออกจากใจได้แล้ว ก็จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในตัวเอง และทั่ว ๆ ไป จึงเรียกว่าใจสว่าง เรียกว่าญาณเกิดขึ้นที่ใจ มีความรู้แจ้งแพรวพราวภายในใจเอง และไม่มีสิ่งใดที่จะมาปิดกำบังเหมือนในครั้งก่อน ๆ มา หรือจะว่าความลับไม่มีในตัวเองก็ว่าได้ จะดูสิ่งใดก็รู้เห็นได้ชัดเจนทั้งหมด


    เพราะความเฉียบแหลมมีอยู่ที่ใจ ถึงจะมีกิเลสตัณหาตัวใดจะมาโกหาพกลมให้ใจได้ลุ่มหลงก็โกหกได้ยาก เพราะใจมีเหตุมีผล และก็รู้กลมายาของกิเลสตัณหาได้ดี เพราะใจเคยคลุกคลีอยู่กับกิเลสตัณหาอวิชชามานาน จึงรู้เห็นหลักการ ผลงานอันเหลวไหลของกิเลสตัณหาได้ดี เพราะใจเป็นผู้รับเคราะห์และรับทุกข์แต่ฝ่ายเดียว และความเปลี่ยนแปลงในผลของกิเลสตัณหาที่ทำขึ้น ก็เป็นผลที่ไม่แน่นอน มีเกิดขึ้น แล้วก็แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีสิ่งใดพอยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา แม้แต่ชิ้นเดียว ตลอดวัตถุสมบัติทั้งหลายที่หามาได้ จะมีมากน้อย ก็เพียงอาศัยกันไปเป็นวัน ๆ ไม่นานก็แยกทางกันไป เมื่อใจและปัญญามาพิจารณารู้เห็นอยู่เช่นนี้ ก็มีแนวโน้มพร้อมที่จะถอนตัวออกจากหล่มลึก และพร้อมที่จะตัดกระแสความสัมพันธ์ฉันมิตรในกิเลสตัณหาทุกรูปแบบ และการมั่วสุมอยู่กับกิเลสตัณหา ก็เป็นอันว่า หยุดกันเสียที


    ฉะนั้น การพิจารณาต่างกายส่วนต่าง ๆ และวิธีรู้อารมณ์ภายในใจมาถึงขั้นนี้ ให้ถือว่าเป็นปัญญาธรรมดา แต่ก็เป็นปัญญาที่จริง เพราะคิดพิจารณาตามความเป็นจริง ถึงจะคิดโดยคาดหมายก็คาดหมายถูกความจริง จะนึกพิจารณาเองก็นึกถูกความจริง ถึงจะสมมติก็สมมติถูกหลักความจริง เรียกว่าจริงสมมติ เรียกว่าเป็นปัญญาขั้นพื้นฐาน และจะเป็นสะพานเชื่อมกันกับวิปัสสนาญาณต่อไป วิปัสสนาญาณ คือ ญาณที่หยั่งรู้ ก็จะรู้ไปตามปัญญาธรรมดานี้เอง ปัญญาส่วนหยาบก็ส่งผลมาจากสมาธิส่วนหยาบ สมาธิส่วนหยาบก็ส่งผลมาจากปัญญาส่วนหยาบ สมาธิปัญญาส่วนหยาบก็เปรียบเหมือนกันกับต้นไม้ที่ยังยืนต้น ถ้าผู้มีความประสงค์จะเอาไม้นั้นมาสร้างบ้านจำเป็นก็ต้องโค่นต้นไม้นั้นลง แล้วก็ตัดเป็นทอน มาคิดมาคำนวณในเนื้อไม้ว่า ส่วนไหนจะเป็นเสา ส่วนไหนะเป็นขื่อ เป็นแป กระดานพื้น กระดานฝา ก็ต้องคำนวณให้ถูก แล้วจึงจะลงมือเลื่อยไม้ต่อไป เมื่อเลื่อยเสร็จแล้ว ก็นำไม้ไปไสกบลบเหลี่ยมจึงนำไปสร้างบ้าน ถึงการสร้างบ้านเขาก็ต้องคิดหาแบบหาแปลนว่าจะทำในรูปไหน ก็ต้องคำนวณแปลนนั้นให้ถูก และดูแปลนนั้นให้ออก จึงจะสร้างบ้านนั้นไป แต่ก็เรานั่นแหละ เป็นคนคิดคำนวณดูแปลนเสียเองและสร้างเสียเอง เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็เรานั่นแหละ เป็นผู้อยู่เสียเอง ผู้ไม่มีบ้านเป็นของส่วนตัว จะไปอาศัยบ้านคนอื่นเป็นที่อยู่ก็จะอยู่ได้กี่ชั่วโมง หรือเหมือนเราอาศัยก้อนเมฆบังแสงแดด จะให้หายจากความร้อนจะหายร้อนได้กี่นาที เมื่อก้อนเมฆไหลหนี ความร้อนของแสงแดดก็แผดเผาเป็นทุกข์ นี้ฉันใด บุคคลที่ไม่มีปัญญาช่วยตนเอง ถึงจะไปอาศัยฟังปัญญาจากคนอื่น หรือฟังธรรมจากคนอื่น ก็ฟังกันไปได้ชั่วครู่ชั่วคราว เมื่อท่านอธิบายธรรมเสร็จ ธรรมเราก็หมดไปพร้อม ๆ กัน คือ ไม่มีปัญญาพอจะให้ธรรมได้ดูดซึมเข้าไปหาส่วนลึกของใจได้ ใจก็แห้งแล้ง ปัญญาก็ไม่มีพอที่จะผลิตธรรมให้เกิดขึ้นกับใจได้ ถึงจะฟังธรรมแล้วก็ไม่มีที่เก็บไม่มีที่รักษา เพราะขาดปัญญาที่สืบต่อ เหมือนฝนที่ตกจากฟ้า ถ้าไม่มีที่เก็บ ก็ไม่มีประโยชน์กับน้ำนั้นเลย ถึงเก็บไว้ไม่ทำให้เป็นประโยชน์ก็ไม่มีผลอะไรเช่นกัน


    ฉะนั้น ปัญญาส่วนหยาบ จึงเป็นโครงสร้างของปัญญาส่วนละเอียด และวางพื้นฐานให้เป็นแนวทางให้ปัญญาส่วนละเอียดได้เป็นอย่างดี การวางพื้นฐานด้วยปัญญาส่วนหยาบนี้ต้องล้มลุกคลุกคลาน มีทั้งเสื่อม มีทั้งเจริญ มีทั้งสู้ มีทั้งหลบ อยู่ตลอดเวลา แต่ก็พยายามตั้งหลักอยู่ตลอดไม่ลดละ จะให้เรียบราบทั้งหมดเลยทีเดียวไม่ได้ เหมือนกับการสร้างทาง ไม่ใช่เขาจะราดยางเทคอนกรีตไปเลยทีเดียว เขาต้องดูแนวทางที่จะตัดไป มีทั้งรถน้อยใหญ่นานาชนิด บุกเบิกป่าดงพงลึก จึงไดเป็นรูปทางขึ้นมา แล้วเทหินมีทั้งรถเหยียบทั้งรถอัดสารพัดที่เขาทำ เอาจนกว่าจะราดยางเทคอนกรีตได้นี้ฉันใด ปัญญาส่วนหยาบ ก็จึงเป็นพื้นฐานของปัญญาส่วนละเอียดต่อไป หรือเหมือนกับตำรวจผู้น้อยเขาก็ทำงานมีหลักฐาน ผลงานก็คือทำให้ผู้ร้ายอันธพาลมีความกลัว ถ้าทำงานจริงจัง ผลก็จะเลื่อนขั้นไปเป็นนายสิบ นายจ่า นายร้อย นายพัน นายพล นี้ฉันใด ถึงปัญญาส่วนหยาบ แต่ก็เป็นปัญญาที่มีเหตุมีผล ถึงจะคาดคิดก็คาดคิดด้วยเหตุด้วยผล และเป็นไปตามไตรลักษณ์ทั้งนั้น


    ถ้าหากเราพิจารณาด้วยปัญญาธรรมดานี้บ่อย ๆ ก็จะค่อย ๆ มีความละเอียดต่อไป หรือเหมือนเราเขียนหนังสือ เมื่อเขียนบ่อย ๆ ก็จะชำนาญในการเขียนไปเอง ปัญญาเมื่อหัดคิดบ่อย ๆ ก็จะค่อยรู้เห็นในสรรพสังขาร และค่อยรู้เห็นให้เป็นไปตามไตรลักษณ์ อันเป็นหลักความจริง และจะรู้เห็นละเอียดต่อไป หรือเหมือนกันกับมะม่วง ทีแรกก็เป็นผลเล็ก ๆ เท่าหัวไม้ขีดไฟ และก็เป็นผลใหญ่ขึ้นไปโดยลำดับ จนถึงกับแก่เต็มที่ ทีแรกก็มีรสเปรี้ยว เมื่อแกและสุกแล้ว ก็ย่อมมีรสชาติอันหวาน โดยไม่มีใครได้เอาน้ำอ้อยน้ำตาบไปผสมไว้ นี้ฉันใด ปัญญาธรรมดาก็มีทั้งปากกัดตีนถีบ ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด สมาธิก็ยังไม่หนักแน่น คอยแต่จะล้มละลาย แต่ก็ต้องอดทนต่อสู้และประคองตัวอยู่เสมอ หรือเหมือนกันกับเด็กที่กำลังจะหัดยืน กว่าจะยืนได้ก็ใช้ความพยายามเต็มที่ ถึงจะหัดเดินก็หัวซุกหัวซุนล้มข้างหน้าถลาหลัง จนกระทั่งยืนบนขาตัวเองได้ และฝึกเดินไปเดินมาหลายครั้งหลายหนจนชำนาญ ปัญญาและสมาธิที่ล้มลุกคลุกคลานในเบื้องต้นก็ฉันนั้น ดังองค์สมเด็จพระศาสดา ตลอดจนพระอรหันต์ทั้งหลาย กว่าจะได้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมมาสอนพวกเรา ก็เอาจนสุดเหวี่ยงแทบจะเอาชีวิตไปไม่รอด ในครั้งแรกก็ต้องอาศัยปัญญาธรรมดา สมาธิความตั้งใจมั่นธรรมนี้เองเป็นหลัก แต่อาศัยความไม่ประมาท และจริงจัง และตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ใคร่ครวญในสรรพธาตุสรรพสังขารทั้งหลาย ด้วยปัญญาธรรมดา ให้เป็นไปตามทุกขัง อนิจจัง อนัตตา โดยไม่มีกาลเวลา ก็ต้องมีสติปัญญากวัดแกว่งให้รอบรู้รู้รอบในสรรพสังขารทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ใกล้ไกล หยาบละเอียด ทั้งเราทั้งเขา ให้ลงสู่จุดเดียวกัน คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทั้งสิ้น และใจก็จะพลอยรู้เห็นตามเป็นจริงของปัญญาไปด้วย สุดท้าย พระองค์ก็ได้เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ และเป็นพุทธเนติแบบแผนของเราทั้งหลายมาจนถึงบัดนี้


    ฉะนั้น การปฏิบัติภาวนาของพวกเราทั้งหลาย ก็ให้เป็นไปในปัญญาธรรมดา และต้องบุกเบิกเพิกถอนไปเป็นลำดับ ใจก็จะได้รับการฝึกสอนจากปัญญาธรรมดานี้ไป ใจก็จะได้เกิดความสำนึกถึงความผิดพลาดลุ่มหลงภายในใจเอง และใจก็จะยอมรับความจริงจากปัญญามาเป็นลำดับ และจะรับความจริงจากปัญญาต่อไป จนกว่าใจจะมีความรู้ ความฉลาดเฉียบแหลม พร้อมที่จะถอดถอนความคิดเห็นผิด ๆ อันเป็นแนวความคิดที่ชั่วช้าลามาหมกไหม้ภายในใจ เมื่อใจได้ยอมรับความจริงจากปัญญาเช่นนี้แล้ว ก็จะเป็นกระแสรายทางขึ้นไปสู่สมาธิขั้นกลาง และปัญญาขั้นกลางต่อไป ใจก็จะมีความสงบแน่นหนาขึ้นไปเป็นลำดับ และความตั้งใจ ก็จะเกิดมีความมั่นคง ปัญญาก็จะมีบทบาท สามารถที่จะมองเห็นว่าทุกข์เป็นทุกข์ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในสรรพสังขารทั้งหลาย ก็จะมีมูลความจริง และการมองเห็นรูปกายเราและร่างกายคนอื่น ก็จะเห็นว่าไม่มีสิ่งที่จะเป็นสาระใด ๆ เพราะใจกับปัญญาก็รู้เห็นเป็นความจริงด้วยกัน เหมือนกับคนตาดีมีไฟฉายอยู่ในมือ จะเดินไปไหนอยู่ที่ใดก็ไม่ขัดข้อง และมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ถึงจะมีงูพิษช้างเสืออยู่ในเส้นทาง ก็มีอุบายกำจัดให้ช้างเสือกลัวได้


    หรือเพียงมีมีดมีปืนกระบอกเล็ก ๆ ก็ยังพออุ่นใจในเวลาเดินทาง หรือเรามีกำลังพอจะสู้กับข้าศึกคือโจรผู้ร้ายได้ เราก็ไม่ต้องหนี นี้ฉันใด กำลังใจ กำลังปัญญาของเรามีแล้ว ก็พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับกิเลสตัณหา ไม่ว่าอยู่ในสถานที่และในกรณีใด ๆ ก็ตั้งใจ รู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อศึกษาหาข้อมูลจากความจริงจากทุกข์ และสิ่งที่ให้เกิดทุกข์ และสถานที่รับรองทุกข์ต่อไป


    ส่วนปัญญาอย่างกลาง ก็สอนใจอย่างกลาง เมื่อใจได้ยอมรับเหตุผลของปัญญามาพอสมควรแล้ว ใจก็จะรู้เหตุรู้ผลรู้โทษรู้ภัย หรือหากใจยังมีความยินดีในของสิ่งใด ปัญญาก็จะเอาเรื่องที่ใจกำลังติดพันในเรื่องนั้น ๆ มาชี้แนะให้ใจได้รู้เห็นความคิดชั่วดำริชั่วของใจ และพิจารณากลับไปกลับมา กลับหน้าทวนหลัง เพื่อไม่ให้ใจได้มีความคิดหยั่งลงไปในกามคุณ เหมือนเจ้าของโคที่เลี้ยงโคฝูงใหญ่ โคตัวไหนไปเข้าป่าก็นำตัวออกมา โคตัวไหนจะไปกินพืชผลที่ไร่นาก็เฆี่ยนตี จนโคนั้นมีนิสัยไม่ดื้อดึงนี้ฉันใด ปัญญาที่จะสอนความคิดของใจก็เช่นนั้น เมื่อใจคิดไปในทางฉิบหายล่มจม ปัญญาก็เข้าอบรมสั่งสอน ใจคิดติดในกามคุณ ปัญญาก็ว่ากล่าวตักเตือน สิ่งใดที่ใจคิดไปในทางดี คิดอยากนั่งสมาธิภาวนา ปัญญาก็ส่งเสริม ใจคิดไปทางไหน คิดอย่างไร ก็ต้องมีสติปัญญาเป็นเครื่องสอดส่องมองดู ว่าใจคิดผิดหรือถูก จึงได้ชื่อว่าปัญญาเป็นสิ่งที่รู้รอบและรอบรู้ภายในความคิดของใจ ใจที่ไปฝังแน่นอยู่กับสิ่งใด ใจไปยินดีอยู่กับของสิ่งใด ก็เอาเรื่องของใจที่กำลังไปรักใคร่ยินดีนั้นแหละมาสอนใจเอง คือ สอนให้ใจได้เห็นโทษเห็นภัยในสิ่งนั้น ๆ และก็ให้ปัญญาได้สอนใจ ดังที่อธิบายมาแล้ว ส่วนปัญญาอย่างละเอียดก็เพื่อสำหรับได้สอนใจที่ละเอียด


    เรื่องใจที่ละเอียดนั้น คือ ละเอียดในความคิดฝักใฝ่ในฝ่ายต่ำ ถ้ายินดีอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ยินดีอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ ไม่แสดงออกมาภายนอก คือ กายและวาจาอันเป็นส่วนหยาบ ๆ หรือถ้าจะให้รู้ความคิดที่ละเอียดอันเป็นของฝ่ายต่ำจริง ๆ แล้วนั้น จะรู้จักในขณะที่มีความสงบในสมาธิส่วนลึก เช่น ผู้ชำนาญในการเข้าฌาน ผู้ชำนาญในการเข้าสมาบัติ การเข้าฌาน การเข้าสมาบัติ นี้เอง จะมีความสุขกายและมีความสุขใจเป็นที่อยู่ประจำวัน เมื่อความสุขภายในใจมีกำลังอยู่แล้ว ก็สามารถจะข่มกิเลสตัณหาไว้ได้ จะเหมือนกันกับศิลาทับหญ้านั่นเอง ขณะมีศิลาทับอยู่ หญ้าก็ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อศิลาเคลื่อนที่เมื่อไร หญ้าก็เกิดในที่นั้น ๆ ฉะนั้น ผู้หวังความสงบในสมาธิ หวังความสงบในฌาน หวังความสงบในสมาบัติ ก็เพื่อกลบความกำเริบของราคะตัณหานั้นไว้ ในก็เพลินอยู่ในความสุขนั้น ๆ ทั้งวันทั้งคืน นานเข้าก็จะเกิดลืมตัว ว่าราคะ ตัณหา อวิชชา ไม่มีในใจ ใจมีความสุข จึงไม่อยากนึกคิดอะไร ใจไม่อยากคิด ปัญญามันก็จะมืดมิดคิดอะไรไม่เป็น เหมือนกันกับร่างกายเราไม่มีโรค ก็ไม่คิดหายา


    ใจมีความสงบมาก็ไม่มีปัญญาที่จะคิด นี่ก็คือความละเอียดของใจ ทำให้กิเลสตัณหาฝังอยู่ในส่วนลึกของใจโดยไม่รู้ตัว หรือเหมือนกันกับเสือหรืองูที่อยู่ในถ้ำลึก มันจะออกมาหาสัตว์กินก็เมื่อเราเผลอตัว นี้ฉันใด ใจเมื่อเสื่อมจากฌานสมาบัติเมื่อไร กิเลส ตัณหา มันก็จะออกมาปรากฏตัวให้โลกได้รู้ และจับเอารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาเป็นอาหารเมื่อนั้น ฉะนั้น เมื่อใจเราละเอียด เราก็ต้องใช้ปัญญาอย่างละเอียดเข้าขุดค้นกันว่า ขณะนี้ กิเลส ตัณหา ได้หลบตัวอยู่ที่ไหน ก็ต้องใช้สติปัญญากับผู้รู้ คอยสังเกต เพื่อสำรวจตรวจตราลงไปหาใจอย่างละเอียด ความสงบในฌานในสมาบัติ นั้นเป็นเครื่องปกปิดกิเลสตัณหา ก็ต้องรื้อถอนชั่วคราวเหมือนกันกับผ้าปิดแผล เมื่อเราจะล้างแผล ก็ต้องเปิดผ้าฉันใด เมื่อปัญญาจะเข้าดูความจริงของกิเลส เราก็ถอนออกจากความสงบนั้นออกมา เพื่อจะได้ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป ให้เหมือนกันกับเหี้ยที่มีรูทั้งหกอยู่ในจอมปลวก เมื่อเราต้องการจับเหี้ย เราก็ต้องปิดเสียสักห้ารู ส่วนรูที่หกนั้นก็ปล่อยไว้ สำหรับให้เหี้ยได้โผล่หัวและออกมาหากินตามความอยากของมัน ถ้าเหี้ยโผล่หัวออกมาได้จังหวะแล้ว เราก็กำคอเหี้ยให้แน่น เอาเชือกผูกลากออกจากรู แล้วก็ปิดรูให้แน่นเสีย ส่วนเหี้ยก็จะไม่มีโอกาสได้เข้าไปในรูอีกต่อไป นี้ฉันใด เมื่อใจมีความละเอียด ก็ต้องหาวิธีที่จะดักจับกิเลสตัณหาภายในให้ได้ โดยใช้วิธีเอาสติปัญญาคอยจดจ้องอยู่กับใจ ถ้าเราไม่รู้ใจเห็นใจ เราก็ต้องเอาสติปัญญามาจดจ้องอยู่ในอารมณ์ของใจ อารมณ์ของใจเป็นอย่างไร ใจก็เป็นอย่างนั้น เมื่อรู้อารมณ์ของใจแล้ว ก็สืบสาวขยับเข้าหาใจตัวจริง คำว่าใจ ก็คือสภาพที่รู้ หรือธาตุรู้นั่นเอง สภาพรู้หรือธาตุรู้นี้เองแหละ เป็นต้นตอที่นักภาวนาต้องการรู้ต้องการเห็น จะว่า กิเลส ตัณหา อวิชชา ก็เกิดจากตัวนี้


    ตัวที่จะไปก่อภพก่อชาติต่อไปก็ตัวนี้ ตัวจะไปรับผลความสุข จะไปรับผลความทุกข์ก็ตัวนี้ ตัวจะไปสู่สวรรค์ พรหมโลก ก็ตัวนี้ ตัวจะไปสู่อบายภูมิ คือตกนรกก็ตัวนี้ ไปเป็นเปรตก็ตัวนี้ ไปเป็นอสุรกายสัตว์เดรัจฉานก็ตัวนี้ จะพาเข้าไปโรงหนัง โรงลิเก โรงละคร โรงเบียร์ โรงบ้า ก็ตัวนี้ ตัวจะพาจับแขนลูกจับแขนหลานดังก้นเป็นพวงเต็มโลกก็ตัวนี้ ฉะนั้น นักภาวนา เมื่อหากมาเห็นจุดสำคัญ คือต้นตอของอวิชชาคือใจดวงที่ลุ่มหลงนี้แล้ว ก็ใช้สติปัญญาเข้าฝึกสอนใจ เพื่อให้ใจได้รู้ความผิดของใจ ให้ใจรู้โทษรู้ภัยของใจ ให้ใจได้หายจากความพยศดื้อดึง ให้ใจได้หยุดจากความผาดโผนโลดเต้นไปตามกระแสของโลก เหมือนกันกับเสือหรือราชสีห์ ถึงจะเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ถ้าหากถูกการเสี้ยมสอนฝึกหัดได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์มากทีเดียว นี้ฉันใด ใจดวงที่เคยพยศคะนองคอยที่จะทำให้โลกนี้ล่มจมและเอาไฟเอาโลกอยู่ในปัจจุบันก็ตาม ถ้าใช้สติปัญญาเข้าฝึกสอนให้ถึงที่สุดแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ให้แก่โลกไม่น้อยทีเดียว


    ฉะนั้น ให้เราได้มาฝึกสอนใจด้วยปัญญา ให้ใจมีความฉลาดรู้เหตุรู้ผล สิ่งใดที่ใจยังไม่รู้ทั่วถึง ก็ใช้ปัญญาขุดค้นขึ้นมาให้ใจได้รู้ และสิ่งใดที่ใจได้ปกปิดไว้ ปัญญาก็จะเปิดเผยออกมาให้ใจได้รู้เห็น จึงเรียกว่าญาณทัศนะ ทั้งรู้ ทั้งเห็นไปพร้อม ๆ กัน หรือว่าใจมีปัญญา หรือปัญญาก็ฝังอยู่ที่ใจ รู้เห็นก็รู้เห็นพร้อมกัน จะพิจารณาร่างกายให้เป็นธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ใจกับปัญญา ก็มีความรู้เห็นเป็นธาตุพร้อมกัน หรือจะแยกร่างกายออกเป็นชิ้นเป็นส่วน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด แต่ละอย่าง ก็ให้ใจได้รู้เห็นไปตามปัญญาทั้งหมด ความสกปรกโสโครก ความไม่สะอาดเปื่อยเน่าในร่างกาย ก็ให้ใจและปัญญาได้รู้เห็น รู้เห็นจนมั่นใจว่า ไม่มีอะไรเป็นสาระในกายนี้ทั้งนั้น ทุกข์ที่เนื่องจากกาย ทุกข์ที่เนื่องจากใจก็รู้เห็น ความเปลี่ยนแปลงในกายทุกส่วนก็รู้เห็น และก็ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงและให้รู้เห็นจริงด้วย เมื่อรู้เห็นร่างกายตามความเป็นจริงอย่างนี้ ความยึดมั่นถือว่าเป็นร่างกายเราก็จะถอนตัว และจะรู้ว่าร่างกายนี้ เป็นเพียงที่พักพาอาศัยของใจชั่วคราวเท่านั้น


    หรือจะพิจารณาในขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ส่วนรูปก็เพียงธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันขึ้น ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ ก็เป็นเพียงอาการของใจ เป็นแสงสะท้อนออกมาจากใจ เหมือนกับแสงไฟที่เกิดมาจากไฟนั้นเอง เวทนา ก็คือ อารมณ์ที่เป็นสุข อารมณ์ที่เป็นทุกข์ อารมณ์ที่ไม่สุขไม่ทุกข์ ทั้งนี้ ก็เกิดมาจากใจที่ได้สัมผัสกับสิ่งที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ ก็สัญญาไปจับเอา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นแหละ มาทำให้ใจได้มีความสุข เอารูปนั้นมาปรุงมาแต่งนึกคิดไปโดยวิธีต่าง ๆ จึงทำให้ใจยินดีไปด้วย และถือว่ามีความสุข หรือไปเห็นรูปที่ชอบใจด้วยตาตนเอง หรือไปได้ยินเสียงด้วยหูตนเอง ถ้าชอบใจก็คิดว่ามีความสุข อารมณ์แห่งความสุขมีจำนวนมากมายทีเดียว


    ฉะนั้น ให้พิจารณาด้วยปัญญา คำว่า ความสุข นั้น อะไรพาสุข และความสุขนี้จะอยู่กับใจไปได้กี่วัน ไม่นานความสุขก็จะหายไป ก็ให้เข้าใจว่า ความสุขนี้ก็ไม่เที่ยง เมื่อความสุขหายไป ก็เกิดความทุกข์ใจ สัญญาก็เหมือนกัน ส่วนมากก็ไปหาจำเอาสิ่งที่ใจมันชอบ เมื่อจำได้ก็เอามาปรุง มานึกมาคิดติดพันในสิ่งที่ชอบใจ คิดไปคิดมาแต่งไปแต่งมา ประดับประดาเสริมสวยเข้าไป ใจก็ยิ่งเพลิน ใจยิ่งเพลิน กิเลสก็ยิ่งสมมติเรื่องขึ้นมาปรุงให้ใจได้หลงใหลเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ เรื่องเล็กนิดเดียว เมื่อถูกสังขารสมมติแต่งเรื่องขึ้น ก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่และยืดยาว ความยินดีในอารมณ์ที่ผ่านมาแล้ว ก็ยังเก็บมาคิดมาปรุง และสมมติในรูปนั้นให้เป็นไปในลักษณะต่าง ๆ ไปจำเอารูปร่างสัณฐาน ไปนึกหาสีสันวรรณะ ว่าดีอย่างนั้น สวยอย่างนี้ สมมติให้เป็นอย่างนั้น สมมติให้เป็นอย่างนี้ สุดแล้วแต่กิเลสจะคิดหาแสดง จะว่าหนังก็หนังอันดับโลก จะว่าลิเกละครก็อันดับโลก จะว่าวงดนตรีสถานที่เต้นรำก็อันดับโลก ทุกสิ่งทุกอย่างกิเลสมันรู้ภาษาใจได้ดี จึงได้จัดตัวพระเอก นางเอก ตัวตลก ตัวโกง ได้แสดงให้ใจดู จนไม่รู้ว่าเป็นเรื่องใหม่เรื่องเก่า กิเลสสมมติออกมาท่าไหน ใจก็สยดสยองพองตัวไปตาม จึงทำให้ความสัมพันธไมตรีระหว่างกิเลส ตัณหา อวิชชา และใจ ได้เกิดความผูกพันฉันมิตร กับกิเลสตัณหามานาน


    แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ให้เราใช้สติปัญญาเข้าสอนใจ ให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ความสุข ความทุกข์ ของโลกที่นิยมกันอย่างไร ก็ให้ใจได้รู้เห็น เมื่อใจไปเห็นว่า ความสุขเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว ใจก็จะไม่ติดสุขเหมือนที่เคยเป็นมา ยิ่งพิจารณาไป ใจก็ยิ่งเบื่อจากความสุขของโลก เพราะมีความสุขไม่พอแก่ความทุกข์ ถึงโลกนิยมกันในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขที่โลกถือกันว่า มีความวิเศษวิโส ใคร ๆ ก็แสวงหา ใคร ๆ ก็ต้องการเพราะโลกนิยม จำเป็นก็ต้องดิ้นรนขวนขวาย ถ้าได้สมใจก็ถือว่าเป็นสุข ถ้าไม่สมใจก็เป็นทุกข์ หรือถ้าเสื่อมจากลาภ ยศ ถูกนินทา ก็เกิดความทุกข์เป็นทวีคูณ


    เพราะความสุขในโลกนี้ ไม่มีสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นความสุขที่เจือปนด้วยยาพิษทั้งนั้น และไม่มีใครจะมีความหวังในสิ่งใด ๆ ในโลก ความอยากของเราก็เป็นโมฆะอยู่ในตัว เรามีสุขก็อยากให้มีสุขอยู่อย่างนี้ มี ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็อยากให้เต็มเปี่ยมอยู่อย่างนี้ เกิดมาแล้วก็ขออย่าให้มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจก็อย่าให้ปรากฏ โทษใด ๆ ก็ขออย่าให้ประสบพบเห็น เวรใด ๆ ก็ขออย่าให้มี นี้คือความต้องการของเรา แต่ก็เป็นไปตามความต้องการของเราไหม เป็นไปตามความอยากของเราไหม เป็นไปตามความใฝ่ฝันของเราไหม เพราะในโลกนี้ ไม่มีสุขล้วน ๆ พอที่จะให้เราได้คว้าเอามาครอง แต่เราก็เข้าใจว่าสุข เมื่อเราคว้าได้มาแล้วเป็นทุกข์ทั้งเพ เราก็คว้าหาความสุขในโลกนี้มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เจอ แต่เราก็จะคว้าหาความสุขต่อไปในอนาคตอีก ก็เหมือนกับในชาตินี้แหละ


    ดังมีภาษิตโลกบอกว่า ถ้าต้องการความสุข จะพบทุกข์เมื่อตอนปลาย ถ้าเราต้องการความสบาย จะพบร้ายตอนปลายมือ ภาษิตธรรมบอกว่า ถ้าเราต้องการความสุข เราต้องยึดทุกข์เป็นทางเดิน ถ้าเราต้องการความเจริญ ต้องรู้ทุกข์สุขนิรันดร์ ฉะนั้น เมื่อใจเรามีความละเอียด ใจเรามีปัญญา จะพิจารณาไปทางไหนแง่ไหน ใจก็รู้เห็น จะว่าสุข จะว่าทุกข์ ก็เห็นทั้งตัวเรา และคนอื่นสัตว์อื่น รู้เห็นทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ว่าเกิดแล้วดับด้วยกันทั้งนั้น จะหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่มี ของที่มีวิญญาณครองหรือไม่มีก็ตาม จะเป็นสังขารโลกสังขารธรรมก็ตาม สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้นแล้ว ไม่มีอะไรเป็นของเที่ยง และปฏิเสธความเป็นสัตว์เป็นบุคคลอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ ไม่มีใครเป็นตัวของใครได้เลย


    นี้เพราะใจเพียบพร้อมไปด้วยไตรลักษณ์ และรู้เห็นเป็นไปตามความจริงทุกอย่าง นี้แลเรียกว่า ญาณทัศนะ ทั้งรู้ ทั้งเห็น ไปพร้อม ๆ กัน และรู้เห็นเป็นจริงในสรรพธาตุ สรรพนาม สรรพสังขารทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก หยาบละเอียด ใกล้ไกล ย่อมตกอยู่ในสภาพของไตรลักษณ์ทั้งนั้น เมื่อใจกับปัญญามีความรู้เห็นพร้อมกันอยู่อย่างนี้ กิเลสตัณหาน้อยใหญ่ พร้อมทั้งตัวอวิชชาก็จะเกิดความระส่ำระสายไหวหวั่น เกรงกลัวต่อปัญญา ไม่รู้ว่าจะหาที่ซุกซ่อนหลบตัวอยู่ที่ไหน เพราะปัญญาได้วางแผนไว้อย่างรัดกุม และใจกำลังจะตัดความสัมพันธ์ฉันมิตร และปิดเส้นทางของกิเลสตัณหา นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป พร้อมที่จะตัดความเยื่อใยใฝ่ฝันในสังขตธาตุ สังขตปัจจัย พร้อมทั้งทุกข์ และเหตุให้เกิดทุกข์ ให้พินาศสูญหายไปจากใจ และพร้อมที่จะสังหารและตัดสะพานอันติดอยู่กับโลกอีกต่อไป ไฟที่เกิดจากเหตุอันใดก็พร้อมที่จะดับไฟให้หมดเชื้อวิปัสสนาญาณ


    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_tool/lp-tool_2-5_02.htm
     
  3. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    วิปัสสนาญาณ

    รู้เห็นตัววัฏฏะที่พาให้หมุน


    นี้แลจึงเรียกว่า วิปัสสนาญาณ คือญาณที่หยั่งรู้ตามความเป็นจริง คือ รู้จริงตามผลของวัฏสงสารที่ได้รับผลในปัจจุบัน คือ ความสุขความทุกข์ทางโลก ฉะนั้น วิปัสสนาญาณ จึงเป็นความรู้เห็นที่เฉียบแหลมคมคาย ไม่มีการคาดหมาย ไม่มีการสุ่มเดา และไม่เอาปริยัติมาเป็นเครื่องรู้ แต่เป็นธรรมชาติรู้ที่เกิดมาจากใจโดยเฉพาะ ยิ่งรู้เท่าไรใจก็ยิ่งเบื่อ ยิ่งรู้เท่าไร ใจก็ยิ่งกลัว ถึงอย่างไร เราก็จักต้องห้ามกงจักรและจับตัวอวิชชาไว้เป็นหลักประกัน และเป็นตัวการที่ทำให้วัฏฏะได้หมุนตัว


    เพราะอวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิด อายตนะ อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ถ้าชาติคือความเกิด มีอุปาทานตัณหา คือความอยาก ก็หมุนตัว แสวงหาความ ต้องการ อยากในสิ่งใดก็หาเอาเพื่อให้ได้ในสิ่งนั้น ถ้าหาได้มาก็เป็นสุข ถ้าหาไม่ได้มาก็เป็นทุกข์ และหมุนเวียนกันไปและก็เวียนกันมา มีสุขบ้างทุกข์บ้าง หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง ตายบ้าง เกิดบ้าง อยู่แค่นี้ ไม่มีอะไรเป็นสระพอที่จะอยู่อาศัย ไม่มีอะไรดีขึ้นเจริญขึ้น ดูในชาติอดีต ที่ผ่านมาก็อยู่อย่างนี้ ไม่ว่าสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ สัตว์บก สัตว์น้ำ ก็หมุนไปอย่างนี้ แม้คนเราทั้งหมดในโลกนี้ก็ต้องหมุนกันอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่จะมากอบโกยเอาวัตถุของโลกไปครอง เพื่อหาความสุข คนนี้กระโดเข้ามา ก็จะคว้าหาความสุข คนนั้นกระโดดเข้ามา ก็จะคว้าหาเอาความสุข ทั้ง ๆ ที่หาความสุขในโลกมาแล้ว หลายภาพหลายชาติ หลายกัปหลายกัลป์ นับไม่ถ้วน ประมวลไม่จบ คว้ามาแล้วแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็ไม่เจอความสุขของโลกเลย หาแต่วันเกิดจนถึงวันตายก็คว้าได้เพียงสมมติ


    ไม่เห็นใครกำลังหอบลูกหิ้วหลาน หาบเงินทองกองสมบัติที่หามาแล้วนี้ไปได้สักคน รายไหนก็รายนั้น มีตั้งแต่ดินกลบหน้า และไฟเผาทิ้ง ทุกราย ความสุขของโลกที่กำลังหาอยู่ก็ยังไม่เจอ ก็รีบหมุนตัวลงสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ ไปเสียก่อน และก็ต้องผิดหวังกันไปทุกราย ถึงแม้จะไปพักผ่อนอยู่สวรรค์ และพรหมโลก ที่ไหนก็ไปเถอะ แต่ก็จะลงมาให้ดินกลบหน้าอยู่ในโลกนี้เอง พิจารณาแล้วน่าอนาถใจ และอ่อนใจ ใครจะวิ่งเต้นขวนขวายหาความสุขของโลกนี้ ก็จะไม่บอเห็นตลอดไป


    ความลี้ลับไม่มีในโลก


    เมื่อหากนักปฏิบัติได้พิจารณาด้วยปัญญา รู้เห็นความจริงของวัฏจักรและแจ้งชัดภายในใจทั้งหมดนี้แล้ว ใจก็จะตัดสะพาน ทอดอาลัย ไม่ใยดีพีมันกับโลกนี้และโลกหน้า ไม่ว่ากามโลก รูปโลก อรูปโลก อีกต่อไป


    ใจก็จะตกกระแสแห่งความสงบ เรื่องจิตสงบในครั้งนี้ ผู้ปฏิบัติที่กำลังใช้ปัญญาพิจารณาอยู่นี้เองจะรู้ตัว เพราะปัญญาในระดับนี้ ไม่ใช่ปัญญาธรรมดา ดังที่เคยพิจารณามา แม้ความรู้ความเห็นของใจ ก็ไม่ใช่ความรู้เห็นธรรมดา ความสว่างของปัญญา จะสว่างไปถึงไหน ใจก็รู้เห็นไปถึงนั้น และไม่มีสิ่งใด ๆ ที่จะปกปิดลี้ลับในโลกทั้งสามนี้ไว้ได้เลย ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็จะเปิดเผยความจริงของโลก ออกมาให้ใจ ได้รู้เห็นไ ปตามปัญญา ทุกแง่ทุกมุม จึงเรียกได้ว่าความลี้ลับไม่มีในโลก เมื่อใจและปัญญาได้รู้เห็นโลกนี้และโลกหน้า และกามโลก รูปโลก อรูปโลก ทั้งหมดแล้ว จะว่าความสว่างของปัญญา ก็สว่างอย่างทั่วถึงแล้ว ความรู้เห็นก็รู้เห็นทั้งหมดแล้ว ความสว่างก็สว่างพอตัว ความรู้เห็น ก็รู้เห็นพอตัว อนัตตาคือความสูญจากสัตว์และบุคคลก็รู้เห็นพอตัว เมื่อมีความพอตัวแล้วทั้งหมดนี้เอง จิตก็วาง และว่าง จากสิ่งใด ๆ ในโลก จะว่าสูญก็ไม่มีสิ่งใดในโลกจะพาให้สูญ มีแต่อนัตตาเท่านั้นพาให้สูญ


    ทั้งสงบ ทั้งดับ


    จากนี้จิตก็จะลงสู่ความสงบเต็มที่ เมื่อจิตลงสู่ความสงบเต็มที่แล้ว ก็จะเกิดความดับ เรื่องจิตลงสู่ความสงบในครั้งนี้ จะไม่เหมือนกันกับความสงบที่เคยสงบมา เพราะความสงบนี้ เป็นพื้นฐานแห่งความดับ และไม่เหมือนกับความสงบในสมาธิขั้นใด ๆ ไม่สงบเหมือนฌาน และสมบัติใด ๆ ทั้งสิ้น คำว่าดับ ก็ไม่เหมือนกับสิ่งใด ๆ ที่เคยปรากฏมา จะว่าสงบก็สงบเต็มที่ จะว่าดับก็ดับเต็มที่ ไม่มีโลกใด ๆ มาแฝงอยู่ที่ใจเลย เพราะอุปาทานได้ถอนตัวออกจากขันธ์ ๕ อายตนะทั้งหมดแล้ว


    วัฏฏะหยุดหมุนตัว


    คำว่าดับ ก็คือตัวอวิชชานั้นแหละ พาให้ดับ อวิชชาดับสังขารทั้งหลายก็ดับ สังขารดับ วิญญาณก็ดับ วิญญาณดับนามรูปก็ดับ นามรูปดับอายตนะก็ดับ อายตนะดับผัสสะก็ดับ ผัสสะดับเวทนาก็ดับ เวทนาดับตัณหาก็ดับ ตัณหาดับอุปาทานก็ดับ อุปาทานดับภพก็ดับ ภพดับชาติก็ดับ เมื่อชาติดับ ความโศกเศร้าโศกาความทุกข์นานาประการก็ดับไปตาม ๆ กัน


    หมดเชื้อไฟ


    นั้นคือ นิโรธ ความดับทุกข์ ก็ดับในช่วงนี้เอง เรื่องชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ อายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขาร และตัวอวิชชา ทั้งหมดนี้ดับสนิท ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ฟื้นขึ้นมาอีกเลย คือ ดับโดยไม่ต้องบังคับ จะบังคับให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ฟื้นขึ้นมาก็ไม่ฟื้น และสิ่งที่จะบังคับให้ฟื้นก็ไม่มี เช่น ของที่ใช้ประจำวัน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าหากวิญญาณดับจากใจเท่านั้น ความรู้ทางตา จะรู้ได้อย่างไร ความรู้ทางหู จะรู้ได้อย่างไร แม้ความรู้ทางลิ้น ความรู้ทางกาย ก็หมดความรู้สึกทันที จะรู้ออกไปภายนอกก็รู้ไม่ได้ เพราะวิญญาณพาให้รู้ได้ดับหมดแล้ว จะสัมผัสกับของสิ่งใดก็สัมผัสไม่ติด และไม่รู้ในการสัมผัสนั้นเลย ถึงมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอยู่ในขณะนี้ก็ตาม จะทำงานอะไรไม่ได้ ต่างอันก็ต่างอยู่ ต่างอันก็ต่างดับ แม้กระทั่งใจก็คิดอะไรไม่ได้เลยในขณะนั้น หรือขันธ์ทั้งห้า ก็เหมือนกัน เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เพียงเป็นขันธ์ห้าเท่านั้นเอง ทำงานอะไรไม่ได้ในขณะนั้น ต่างอันก็ต่างอยู่ ต่างอันก็ต่างดับ เพราะวิญญาณดับจากใจเท่านั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร ก็หมดภาระกัน นี้เพียงเป็นของใช้ประจำวัน ก็ผู้ปฏิบัตินั้นแหละจะรู้เองในลักษณะนี้


    รู้ครอบโลกธาตุ


    เมื่อวิญญาณดับจากใจแล้ว ใจจะรู้ไหม รู้ แต่ความรู้นี้ ไม่ใช่ความรู้ของวิญญาณ ไม่ใช่ความรู้ในขันธ์ ไม่ใช่ความรู้ของอายตนะ แต่เป็นความรู้อีกประเภทหนึ่งที่เป็นเอกเทศอยู่เฉพาะ และไม่ติดอยู่กับสิ่งใด ๆ ในโลก และรู้ไม่ไปตามโลกใด ๆ และรู้ไม่อยู่กับโลกนี้ และโลกหน้าอีกด้วย และเป็นธรรมชาติรู้อย่างเดียว และรู้ไม่มีนิมิตหมายใด ๆ ความรู้นี้จะว่าเล็กก็เล็ก จะว่าใหญ่ก็ใหญ่ จะว่ากว้างก็กว้าง ทั้งสามภพสามโลกนี้ก็ไม่พอรู้นั้นเอง เพราะรู้ครอบไปทั้งหมด เมื่อความสงบหรือความดับนี้อยู่ได้พอประมาณ ก็จะขยับออกนิดเดียวเท่านั้น


    กล้าหาญเต็มที่


    ความกล้าหาญก็เกิดขึ้นจากใจ โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลย ความกล้าหาญนี้ ก็เกิดมาจากใจ สติก็กล้า ปัญญาก็กล้า เพราะใจมีความกล้านั้นเอง จะว่าการทำลาย ก็เหมือนจะกระโดดทุบตีภูเขาทั้งลูกให้พังพินาศให้เรียบราบไปในชั่วระยะพริบตาเดียว ความกล้านี้ก็ไม่มีความกล้าใด ๆ เสมอเหมือน จะว่านั่งภาวนาก็กล้านั่งได้เป็นเดือนเป็นปี เมื่อความกล้าหาญนี้เกิดขึ้นแล้ว


    อาสวขยญาณเกิด


    อาสวักขยญาณ ก็เกิดขึ้นในท่ามกลางแห่งความกล้าหาญนี้เอง และก็รู้ตัวดีว่า อาสวะจะหมดสิ้นไปในขณะนี้ ถ้าอาสวักขยญาณนี้เกิดขึ้นแล้ว จะนอนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม เดินอยู่ก็ตาม จะภาวนาก็ตาม จะอยู่ในความว่าง ๆ ภายในใจอยู่ก็ตาม จะไม่เป็นอุปสรรคขัดข้องต่อผลที่จะเกิดขึ้นแต่อย่างใด


    โลกขาดจากใจ ไฟดับอย่างสนิท


    อีกจริมกจิตเดียวเท่านั้น ความรู้อันบริสุทธิ์ ก็แสดงออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ “ตั๊บ” เดียวเท่านั้น ก็เป็นอันว่าผู้นั้นจะรู้ตัวเองทันที หรือในขณะนั้น ก็เหมือนกับโลกธาตุไหวหวั่นสั่นคลอนไปตาม ๆ กัน ความรู้ที่บริสุทธิ์นั้น ก็เป็นเอกเทศอยู่เฉพาะ ความรู้อันบริสุทธิ์ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งใด ๆ ในโลก ไม่เอนเอียงไปในที่ใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นอันว่าสะพานของวัฏจักรก็ขาดกระจาย ไม่มีความสืบต่อก็ในช่วงนี้เอง


    ปัญญา ที่เคยพิจารณาด้วยอุบายต่าง ๆ ด้วยความองอาจกล้าหาญ นับแต่เริ่มต้นจนถึงบัดนี้ ก็เพียงส่งทางให้ถึงจุด คือ ความบริสุทธิ์นี้เท่านั้น คำว่า นิพพินทํวิรชชติ วิราคา วิมุจจติ วิมุตตสมี วิมุตตมีติ ญาณํโหติ ขีณา ชาติวุสิตํ พรหมจริยํ กตํ กรณียํ ก็ประกาศออกมาจากใจอันบริสุทธิ์ ความหายสงสัยในตัวเองในขณะนั้นก็รู้ในใจอันบริสุทธิ์ของตัวเอง อันเป็นธรรมชาติรู้ โดยไม่มีนิมิตใด ๆ มากำหนดให้รู้ วิมุตตสมี วิมุตตมีติ ญาณํ โหติ ความหลุดพ้นแล้วก็มีในขณะนั้น ขีณา ชาติ วุสิตํ พรหมจริยํ ก็รู้ตัวเองว่าอยู่ในสภาพเช่นไร กตํ กรณียํ ก็เป็นอันว่าหมดภาระกันเสียที กิจที่จะไปหาอุบาย เพื่อมาถอดถอนเชื้อภายในก็ยุติกันเพียงเท่านี้ การพิจารณาในแง่ธรรมต่าง ๆ เพื่อจะได้รู้เพื่อจะได้ละ ก็หมดปัญหาไป แม้บุญกุศลน้อยใหญ่ เคยบำเพ็ญมาแล้วมากน้อยเท่าไร ก็ได้ส่งทางให้ถึงจุดจบอันสุดท้ายเพียงเท่านี้เอง


    จะอยู่ที่ไหน ไปที่ไหน ก็ไม่มีไฟติดตัว และก็หมดภาระที่จะไปแสวงหาเอาน้ำมาดับไฟอีกต่อไป เพราะไฟได้ดับสนิทเสียแล้ว จะสมมติเพื่อให้สมกับความบริสุทธิ์อย่างไหนก็สมมติไป จะว่าอกุปปธรรม วิราคธรรม ปริสุทธิธรรม ทิฏฐิวิสุทธิธรรม วิสุทธิญาณทัสนะ วิมุตติญาณทัสนะ นิพพานังปรมังสูญญัง นิพพานังปรมังสุขัง นี้ ก็เพียงให้คำสมมติ เพื่อให้สมกับความบริสุทธิ์ของธรรมที่บริสุทธิ์เท่านั้น


    ในช่วงเดียวกัน ก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ความคิดถึงพระพุทธเจ้า ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่า พระพุทธเจ้าได้ปรินิพาน ไปแล้ว ก็ตาม แต่กำลังแห่งความคิดถึงพระพุทธเจ้านั้น แทบตัวจะลอย ถ้าหากว่า พระพุทธเจ้ายังทรงมีชีวิต ถึงพระองค์จะอยู่ห่างไกล สักเท่าไร ก็ตาม ก็พร้อมที่จะออกเดินทางไปกราบพระพุทธเจ้า ด้วยความเต็มใจ ด้วยตนเอง แต่มิได้ตั้งใจว่า จะไปแสดงความบริสุทธิ์ภายในใจ ให้พระองค์ทรงฟัง และไม่ได้หวังเอาคำพยากรณ์ จากพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด และไม่ได้ไปศึกษากับพระพุทธเจ้าว่า ธรรมนี้ผิดหรือถูก แต่ประการใด และไม่มีในใจคิดจะถามพระพุทธเจ้าว่า ธรรมนี้อยู่ในขั้นไหนอย่างไร และไม่ได้ไปเปรียบเทียบธรรมที่รู้มา ไปเทียบกับ ความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า และไม่เอาความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า มาเปรียบเทียบในความบริสุทธิ์ของตน และไม่มีความคิดที่จะเอา ความบริสุทธิ์นี้ ไปเทียบกับปริยัติ และไม่เอาปริยัติมาเปรียบเทียบกับ ความรู้เห็นอันบริสุทธิ์ของตน แต่ถ้าหากพระพุทธเจ้าตรัสถาม ก็พร้อมที่จะเล่าถวาย ให้พระองค์ทรงฟังเท่านั้น หรือถ้าพระพุทธเจ้าตรัสถามในท่ามกลางสงฆ์ ก็พร้อมที่จะเล่าถวายพระพุทธเจ้า และอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ด้วยความกล้าหาญ และไม่หวั่นไหวครั่นคร้ามแต่อย่างใด หรือถ้าหากพระพุทธเจ้าไม่ตรัสถาม ก็ไม่มีในใจ ที่จะไปเล่าถวายแก่พระพุทธเจ้าเลย เพราะธรรมความบริสุทธิ์ ตัวเองก็รู้อยู่แล้วอย่างเต็มใจ จะไปถามใคร เพราะธรรมความบริสุทธิ์ ของพระพุทธเจ้า หรือความบริสุทธิ์ของพระขีณาสพเจ้า ทั้งหลาย ก็คือธรรมความบริสุทธิ์อย่างเดียวกัน จะว่าในครั้งสมัยโน้นหรือในสมัยนี้ หรือสมัยไหนก็ตาม ความบริสุทธิ์ก็เป็นความบริสุทธิ์อย่างเดียวกัน ทุกกาลทุกสมัย จะว่าความดับสนิท ก็ดับสนิท ในจุดเดียวกัน จะว่านิพพานก็นิพพานในที่แห่งเดียวกัน นั้นแล ท่านผู้รู้ทั้งหลาย จึงไม่นิยมถามกันในความบริสุทธิ์ เหมือนกันกับร่วมวงรับประทานอาหาร ที่อยู่ในสำรับเดียวกัน และอาหารคาวหวานก็มีอยู่ในที่แห่งเดียวกัน รับประทานอาหารก็ประเภทเดียวกัน ใครจะไปถามใคร เพราะทุกคน ก็ได้รับประทานอาหารที่มีรสชาติเหมือนกัน เมื่อเวลาอิ่มก็ไม่ต้องไปถามใครว่าอิ่มหรือไม่อิ่ม ตัวเองก็ต้องรู้ทันทีเดี๋ยวนี้


    ในครั้งพุทธกาล เมื่อท่านองค์ใดภาวนาถึงที่สุดแล้ว ถึงจะอยู่ห่างไกลกันกับพระพุทธเจ้าสักเท่าใดก็ตาม ก็ยังพากันเดินทาง มากราบพระพุทธเจ้า ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ท่านผู้รู้ทั้งหลายก็รู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว ถึงความคิดประเภทนี้เกิดขึ้นแล้ว ไม่นานก็จะดับไป เป็นธรรมดา ถึงจะคิดถึงครูอาจารย์ผู้ให้แนวทางปฏิบัติ ก็คิดถึงด้วยความเคารพ ถึงได้มาหาครูอาจารย์ก็ไม่หวังคำพยากรณ์ใด ๆ ถึงหมู่คณะจะไต่ถามก็หาอุบายออกตัว เพราะผู้มีสติเต็มที่แล้ว ย่อมรู้จักกาลเวลาอันควรหรือไม่ควร เรื่องปริสัญญู บุคคลัญญู ก็รู้ได้ชัดว่า จะปรับตัวเองเข้ากับหมู่คณะอย่างไร เหมือนพระมหากัจจายน์พูดว่า มีตาเหมือนคนตาบอด มีหูก็เหมือนคนหูหนวก และทำตัวเพื่อไม่ให้ใคร ๆ ได้จับพิรุธได้ จะว่าน้ำก็เป็นน้ำนิ่ง ไม่มีคลื่นใด ๆ เพราะสิ่งที่จะทำให้เป็นคลื่นนั้นไม่มี


    ในอีกช่วงหนึ่ง แต่ก็อยู่ในกรอบเดียวกัน ก็จะเกิดแนวความคิดขึ้นมาอีก คือ คิดไม่อยากสอนใคร ๆ ทั้งสิ้น คิดว่าธรรมนี้มีความละเอียด มีความสุขุมลุ่มลึก เป็นธรรมที่บุคคลรู้ได้ยาก เมื่อความคิดอย่างนี้เกิดขึ้น ก็คิดปราบทันทีว่า อ้าว ผู้ที่คิดอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นบุคคลที่วิเศษวิโสมาจากไหน เกิดก็เกิดจากท้องแม้เหมือนกันกับคนอื่นทั่ว ๆ ไป ตลอดความเป็นอยู่หลับนอน การไปการมา อาหารการบริโภคก็เหมือนกัน มีธาตุสี่เหมือนกัน คนอื่น ๆ เขาก็สร้างบุญกุศลเพื่อมรรคผลนิพพานเหมือนกัน หวังความสุข หวังความบริสุทธิ์ หวังความพ้นทุกข์ ด้วยกันทั้งนั้น และคนอื่น ๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมได้เหมือนกัน ไม่เช่นนั้น พระอรหันต์ก็จะสูญจากโลกนี้ไปอย่างนั้นหรือ เมื่อเรารู้ได้ คนอื่นก็ต้องรู้ได้เช่นกัน จะไปอ่อนใจในการสอนหมู่คณะทำไมเล่า เธอจะมาเลียนแบบเอาตัวอย่างของพระพุทธเจ้าที่เคยดำริมาแล้วอย่างนั้นหรือ เมื่อถูกปราบ ความคิดประเภทนี้ ก็จะดับไป เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความคิดประเภทนี้ ท่านผู้รู้ทั้งหลายก็คงรู้ดี


    อีกในช่วงต่อไป ก็จะมีกำลังใจเกิดขึ้น เป็นธรรมชาติเกิดขึ้นเอง กำลังใจนี้ ก็ไม่เหมือนกับกำลังใจอื่น ๆ ใดในโลก แต่เป็นกำลังใจ อันเป็นผลสะท้อนออกมา จากความบริสุทธิ์ของใจโดยเฉพาะ กำลังใจนี้ ถ้าหากมีกำลังกายประกอบ ก็เหมือนจะจับภูเขาทั้งลูกโยนเล่น เหมือนกันกับเขาโยนลุกตะกร้อหวายเล่นนั้นเอง หรือจะทำลายภูเขาทั้งลูก ให้พินาศเป็นจุลวิจุล เรียบราบไปในชั่ววินาทีเดียวก็ได้ ถ้ากำลังกายประกอบ กำลังใจในความบริสุทธิ์อันนี้ เมื่อมีกำลังเต็มที่แล้ว ก็จะแสดงให้มีความรู้สึกภายในกายด้วย และก็หลายวัน จึงจะอยู่ในความปกติของใจ ถึงใจจะอยู่ในความปกติแล้ว ส่วนความบริสุทธิ์ก็รู้อยู่ในความบริสุทธิ์ตามเดิม เป็นเอกรัตติงอยู่ตลอดเวลา และเป็นวิสุทธิญาณทัสนะอยู่ตลอดไป ไม่มีดับ ไม่มีเสื่อม ไม่มีขึ้น ไม่มีลง ไม่ไปและไม่มา ไม่เอนเอียงไปตามสมมติของโลกใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นวิสุทธิอยู่เฉพาะ ไม่ดีใจเสียใจกับสิ่งใด ๆ ในโลก


    นั้นคือที่ดับไฟอย่างสนิท ปิดแล้วซึ่งโลกทั้งสาม ขาดแล้วซึ่งอสังขตธาตุ อสังขตธรรม อสังขตปัจจัย ขาดจากเยื่อใย โดยไม่มีสิ่งไหน จะต่อเป็นปัจจัยให้เกิดอีกต่อไป ฉะนั้น นักปฏิบัติภาวนา มาถึงจุดจบ สุดท้ายแล้วเช่นนี้ จะอยู่ที่ไหน ไปที่ไหน ก็เป็นธรรมเฉพาะตัว ถึงคนอื่นจะมองไปในทางแง่ร้าย ก็เป็นเรื่องของคนอื่นจะมองไป ใจอันบริสุทธิ์ ก็บริสุทธิ์ตามเดิม หนำซ้ำก็ยังปรับตนปรับตัว เข้ากับหมู่คณะ ได้เป็นอย่างดี ที่เคยอยู่กันมาอย่างไรก็อยู่กันไปอย่างนั้น เพราะนิสัยละไม่ได้ นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียว ผู้มีนิสัยสุขุมลุ่มลึก ผู้มีนิสัยตลกคะนองก็เป็นอย่างเดิม เป็นเพียงกิริยาทาง กาย วาจา เท่านั้น


    สรุปเรื่อง


    จึงขอสรุปแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจอีกครั้ง สมาธิ ความตั้งใจมั่น กับสมาธิ ความสงบแห่งใจทั้งสองนี้ มีความหมายหยาบละเอียดต่างกัน สมาธิ ความตั้งใจมั่น คือ เป็นผู้มีสติปัญญาแฝงอยู่ที่ใจ จะยืนจะเดินอยู่ที่ไหน สถานที่ใด ก็มีสติรักษาใจ หรือนั่งอยู่ที่ไหน นั่งอยู่อย่างไร สถานที่เช่นไร ก็มีสติรักษาใจ หรือบางครั้งได้พูดคุยอยู่กับเพศตรงกันข้ามก็มีสติ หรือเพศตรงข้ามหนีไป ใจก็มีสติ จึงสมกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ในประโยคสุดท้ายว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อกิจที่จะได้พูดกับสตรีมีอยู่ ถ้าพูดก็พูดให้มีสติ นี้แล จึงได้ชื่อว่าสมาธิ ความตั้งใจมั่นขั้นพื้นฐาน สมาธิขึ้นนี้ ก็เริ่มพิจารณาด้วยปัญญาได้แล้ว จะพิจารณาในความทุกข์ คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งตัวเองและคนอื่น ให้อยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน จะพิจารณาธาตุสี่ ขันธ์ห้า จะพิจารณาให้เป็นอสุภะให้ตกอยู่ในไตรลักษณ์ หรือเรายินดีพอใจอยู่กับวัตถุใดสิ่งใด ๆ ก็ตาม ก็ยกเอาวัตถุสิ่งของที่เราคิดนั้น มาพิจารณาให้ตกอยู่ในสภาพแห่งไตรลักษณ์ การพิจารณานี้ เราจะอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร จะนั่งเดินอยู่ที่ไหนก็พิจารณาได้ ให้รู้ตัวเองอยู่เสมอว่า เรายังมีกิเลสตัณหา อย่าประมาทนอนใจ สถานการณ์ของใจเรายังไม่ปกติ เราก็ต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ข้าศึกคือกิเลสตัณหาเข้ามา เราก็จะกำจัดทันที กิเลสตัณหาเกิดขึ้น สติปัญญาก็รู้เท่าทัน นั้นคือผู้ไม่ประมาท คือเป็นผู้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ


    สมาธิ คือ ความสงบ สมาธินี้ ลึกลงไปอีก อันดับแรก เราก็ต้องอาศัยคำบริกรรม ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว เมื่อใจสงบลงลึกถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตถอนออกมาแล้ว ก็ต้องดำริหาอุบายปัญญามาพิจารณาทันที เรื่องที่จะพิจารณาก็ได้อธิบายมาแล้ว


    ถ้าหากความสงบไปถึงอัปปนาสมาธิ จะทำอย่างไรก็สงบอีกไม่ได้ จะเป็นเพียงขณิกสมาธิ อุปจารสมาธินิด ๆ หน่อย ๆ เราก็เริ่มพิจารณาด้วยปัญญาได้เลย ในช่วงขณิกสมาธิ อุปจารสมาธินี้แหละ ปัญญากำลังวิ่งรอบรู้ในสรรพสังขารทั้งหลายได้ดี เรื่องที่จะเอามาพิจารณาก็ได้อธิบายมาแล้ว


    ถ้าเรากำหนดบริกรรมภาวนา แต่ใจเราไม่มีความสงบในสมาธิขึ้นไหน ๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ ให้กำหนดดูใจ และอารมณ์ภายในใจ ของเราเอง ในขณะนั้น ว่ามีอะไรที่ทำให้ใจเราไม่สงบ มีความขัดข้องอยู่ที่ไหน ใจเรายังผูกพันอยู่กับของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บางทีก็อยู่กับกามคุณ มีรูป เป็นต้น หรือติดพันอยู่กับวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้ารู้ว่าใจผูกพันในสิ่งนั้นแล้ว เราก็จับเอาสิ่งที่ใจมีความผูกพันนั้นแหละ มาพิจารณา ด้วยปัญญา ยกโทษภัยในของที่เราติดนั้นแหละมาพิจารณาให้ใจได้รู้ การพิจารณาด้วยปัญญา ก็ได้อธิบายมาแล้ว


    เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาเหนื่อยแล้ว ก็กลับทำสมาธิต่อไป ออกจากสมาธิแล้ว ใจจะสงบ หรือไม่สงบ ก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญา ต่อไป สลับกันไอยู่อย่านี้ อย่าไปทำความสงบคอยปัญญา ถึงจะสงบลึกเท่าไร ก็ไม่เกิดปัญญา ถ้ามีความสงบมาก ก็ยิ่งมีความสบายมาก อยากอยู่ในความสงบสบายนั้นต่อไป ไม่อยากถอนตัว ยิ่งสงบลึกเท่าไร ปัญญาก็หมดไปเท่านั้น คือ ไม่อยากนึกอยากคิดอะไรเลย อยากอยู่ในความสงบสุขอย่างเดียว จึงเรียกว่า ใจติดสุข จนลืมปัญญา


    นี้เราไปตีความหมายจากคำที่ว่า ๑. สุตมยปัญญา ปัญญา จะเกิดขึ้นเพราะการศึกษาเล่าเรียน หรือได้ยินได้ฟัง ๒. จินตมยปัญญา ปัญญา จะเกิดขึ้นเพราะคิดใคร่ครวญตามที่ได้ศึกษาหรือได้ยินมา ๓.ภาวนามยปัญญา ปัญญา จะเกิดขึ้นได้จากการภาวนา ข้อที่ ๓ นี้เอง เป็นเหตุให้เรามั่นใจ เพราะเรามั่นใจว่า ภาวนามยปัญญา คือ ทำจิตให้สงบแล้ว ปัญญาก็ต้องเกิดขึ้น ฉะนั้น จึงได้พิถีพิถันหมายมั่นปั้นมือ ทำความสงบคอยปัญญาท่าเดียว บางคนก็มีความสงบอยู่บ้าง แต่ปัญญาก็ไม่เกิด ฉะนั้น ให้เราหวนกลับมาตีความหมายใจคำว่า ภาวนามยปัญญากันใหม่เถอะ คำว่า ภาวนามยปัญญา คือ ทำให้เกิดให้มีขึ้น ส่วนความสงบ คือสมาธิ เราก็ทำให้เกิดให้มีขึ้นแล้ว ส่วนปัญญาทำไมเราจึงไม่ทำให้เกิดให้มีขึ้นเล่า ถ้าปัญญาไม่มี เราก็ต้องฝึกให้มี คือ ฝึกแนวความคิด ให้เกิดให้มีขึ้นที่ใจ คำว่าทำให้เกิดให้มี ก็เรานั่นแหละ ทำให้ปัญญาเกิดเองมีเอง คิดใคร่ควรญตรึกตรองเสียเอง จะพิจารณาเรื่องอสุภะ พิจารณารูปขันธ์ ก็ให้เรานั่นแหละ คิดพิจารณาเอง จึงจะสมกับคำว่าภาวนามยปัญญา คือ ทำให้เกิดขึ้นมีขึ้น ตั้งแต่เด็กก็ยังสอนให้พูดได้ สัตว์ป่าก็ยังเอามาหัดมาฝึกได้ นี่ใจ ที่มีอยู่ในตัวเราแท้ ๆ หรือของที่มีอยู่ทั่วไป เราก็เห็นได้ยินอยู่แล้วด้วย ตา หู แต่ทำไม เราจึงเอามาคิดไม่เป็น แต่คิดเรื่องที่จะเอาไฟเผาตัวเอง นั้นเก่งนัก เมื่อเราคิดเผาตัวเองได้ เราก็ต้องคิดหาวิธีดับได้ เรียนบวกได้ เราก็ต้องเรียนลบได้ เราผูกได้ เราก็ต้องแก้ได้ นั้นแล คือคนฉลาด


    ให้เราฝึกเป็นพ่อครัวแม่ครัวเสียเอง หาอาหารมารับประทานเสียเอง และเราก็จะอิ่มเอง เราจะมีความสุขเอง นี้ฉันใด นักปฏิบัติก็ต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก อย่าเป็นคนขออาหารคนอื่นรับประทานมากนัก ต่อไปจะเดือดร้อน เพราะพึ่งตัวเองไม่ได้


    นักปฏิบัติ ก็ต้องฝึกตัวให้เป็นหมอเสียเอง ตรวจโรคด้วยตนเอง เอกซเรย์ตัวเสียเอง ผ่าตัดตัวเสียเอง เอาโรคร้ายออกทิ้งจากตัวเสียเอง ปรุงยารักษาโรคเสียเอง นั้นแล จึงจะหายจากโรค เกิด แก่ เจ็บ ตาย ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งของเราได้ นี้ก็เราฝึกสติปัญญา ให้เกิดขึ้นที่ใจเราเอง


    อีก ประโยคหนึ่งที่เป็นสิ่งที่ควรรู้ คือ วิปัสสนา มรรค ผล ผลทั้งสี่ คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตผล ผลทั้งสี่นี้ แต่ละผลจะมีวิปัสสนาญาณครั้งเดียวและมัคคสมังคีครั้งเดียว ผลทั้งสามเบื้องต้น จะไม่มีอาสวักขยญาณ เมื่อออกจากมัคคสมังคีแล้ว ก็จะรู้เป็นผลไปเลย จะเป็นผลอยู่ในขั้นไหน ก็ขึ้นอยู่กับวิปัสสนาญาณ และมัคคสมังคีที่มีกำลังมากน้อยจะส่งให้ เมื่อท่านผู้ใดได้รับผลขั้นใดขั้นหนึ่งแล้ว ผู้นั้นจะรู้ตัวเองได้ดี และไม่มีการโฆษณาให้ใคร ๆ ได้รู้


    เมื่อภาวนาถึงขั้นวิปัสสนาญาณแล้ว จะไม่มีการเสื่อมและหยุดพักให้ข้ามวันข้ามคืน เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว มัคคสมังคี ก็เกิดขึ้น และก็จะออกเป็นผลทันที นี้เป็นผลในสามขั้นต้น ส่วนผลที่สุดท้ายนั้น เมื่อออกจากมัคคสมังคีแล้ว ก็จะเกิดอาสวักขยญาณ คือ รู้จักตัวเองว่า จะหลุดพ้นในขณะนั้น และก็ออกเป็นผลทันที ถ้าวิปัสสนาญาณใด ไม่ต่อเนื่องให้เป็นไปในมัคคสมังคีได้ นั้นไม่ใช่มัคคสมังคี เช่นกัน บางท่านก็หยุดพักอยู่กับโสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล จนถึงวันตายก็มีมาก บางท่านได้พระโสดาบันแล้ว ก็หยุดพัก หลายวัน-เดือน-ปี แล้วจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ไปเลย โดยไม่ได้หยุดพักในขั้นสกิทาคา อนาคาเลยก็มี บางท่านก็หยุดพักอยู่กับ ภูมิของพระสกิทาคา อนาคา ก่อนแล้ว นานหลายวัน-เดือน-ปี จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็มี ไม่ใช่จะบรรลุธรรมเรียงแบบเหมือนกันทั้งหมด บางท่านไม่ได้มรรคผลใด ๆ มาก่อนเลย เมื่อปฏิบัติไป ก็ลุล่วงถึงภูมิของพระอรหันต์เลยทีเดียวก็มีจำนวนไม่น้อย บางท่านก็ได้รู้ธรรมใน อิริยาบถ ยืน บางท่านก็อิริยาบถ เดิน บางท่านก็อิริยาบถ นั่ง บางท่านก็อิริยาบถ นอน ถึงจะรู้ธรรมอยู่ในภูมิไหน ก็ชื่อว่าพระอริยบุคคลทั้งนั้น ถึงฆราวาสทำได้ ก็เรียกว่า พระอริยะ เหมือนกันจะเป็นคนประเภทไหน ชาติชั้นวรรณะใด ถ้าปฏิบัติได้ ก็เป็นพระอริยะด้วยกันทั้งนั้น.

    พระอาจารย์ทูล ขิปปปญโญ

    www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_tool/lp-tool_2-6.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 8 สิงหาคม 2010

แชร์หน้านี้

Loading...