ร่างกายของคนเราไม่มีอะไรดี เพราะไม่มีความยั่งยืนคงทน

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย เทพออระฤทธิ์, 9 มิถุนายน 2010.

  1. เทพออระฤทธิ์

    เทพออระฤทธิ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 กุมภาพันธ์ 2008
    โพสต์:
    4,573
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +22,048
    ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น (เล่ม 10)
    (พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๐)<?XML:NAMESPACE PREFIX = O /><O:p></O:p>​


    ปกิณกะธรรม<O:p></O:p>​





    <CENTER></CENTER>



    พระธรรมคำสั่งสอนที่ทรงตรัสไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ ในเดือนนี้ก็ทรงตรัสสอนเป็นปกิณกะธรรมทั้งสิ้น ทรงตรัสสอนเป็นวันๆ มีความสำคัญดังนี้
    <O:p></O:p>
    ๑. ร่างกายของคนเราไม่มีอะไรดี เพราะไม่มีความยั่งยืนคงทน แม้แต่อย่างหนึ่งในอาการ ๓๒ ที่เข้ามาประชุมกันเป็นร่างกายนี้ สร้างมาจากธาตุ ๔ ที่เข้ามารวมตัวกัน มีความย่อหย่อนอยู่ตลอดเวลา ความพร่องย่อมก่อให้เกิดความไม่สบายในร่างกายอยู่เสมอ จุดนี้พิจารณาให้เข้าถึงกฎไตรลักษณ์ เห็นความไม่เที่ยงของร่างกายอยู่ตลอดเวลา จักเห็นเหตุให้จิตคลายความเกาะติดในร่างกาย และเบื่อหน่ายในการมีร่างกาย แต่พึงระมัดระวังอย่าให้อารมณ์เบื่อเกิดขึ้นมากจนเกินไป จักเป็นเหตุให้เกิดความกลัดกลุ้มเป็นโทษแก่จิต และจักเป็นเหตุให้เสียผลของการปฏิบัติธรรมสืบไปเบื้องหน้า จักต้องคอยประคองจิตอย่าให้เศร้าหมอง หรือยินดีในธรรมมากจนเกินไป เอาจิตให้อยู่ในระดับสายกลาง ไม่เครียด ไม่หย่อน ปฏิบัติไปอย่างสบาย ๆ จึงจักมีปัญญาแทงตลอดในธรรมทั้งหลายได้ดี เรื่องของคนอื่นให้ปล่อยวางไปเสียจากจิต เพราะกรรมใครกรรมมัน ให้คิดเสียว่าเราช่วยเขาไม่ได้ เพราะในเรื่องของจิตใจจักต้องปฏิบัติกันเอาเอง ใครทำใครได้ และจงพยายามกันเรื่องของคนอื่นออกไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จักมากได้ สร้างความสงบสุขให้กับจิต จิตสงบมากเท่าไหร่ ปัญญาเกิดมากขึ้นเท่านั้น
    <O:p></O:p>
    ๒. ร่างกายคือธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ มาประชุมกันชั่วคราวที่สุดของร่างกายคืออนัตตา มีความสลายตัวไปในที่สุด อย่ายึดถือร่างกายของตนเองเป็นสรณะ อย่ายึดถือร่างกายคนอื่นเป็นสรณะ เพราะในโลกนี้ไม่มีร่างกายของใครจักเป็นที่พึ่งของใคร เมื่อถึงที่สุดแห่งวาระของการแตกดับของร่างกายนี้มาถึง จงหมั่นกำหนดจิตชำระล้างความเกาะติดในร่างกายของตนเองและร่างกายของคนอื่นเสีย ด้วยกำลังของ ศีล - สมาธิ - ปัญญา อันเป็นพระธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์เป็นสรณะ ปฏิบัติตามแล้วจักรู้ตามความเป็นจริงของกองสังขารทั้งปวง และหมั่นปล่อยวางอารมณ์ที่เกาะติดร่างกายนี้ลงเสีย

    <O:p></O:p>
    ๓. อย่ากังวลใจกับสภาวะสงครามใหญ่ และอุทกภัยที่จักเกิดขึ้นในปลายปีนี้ ให้ตั้งจิตมั่นคงในศีล - สมาธิ - ปัญญา ชำระกิเลสในขณะนี้ให้ลดน้อยหรือสิ้นยังจักดีกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของอนาคต ชีวิตของพวกเจ้าเองก็ยังไม่เที่ยง มันอาจจักตายลงไปในขณะจิตนี้ก็ได้ เรื่องสงครามหลังกึ่งพุทธกาลนั้นมีแน่ ทุกอย่างเป็นไปตามพุทธยากรณ์ ขององค์สมเด็จปัจจุบัน แต่จิตไม่ควรจักตื่นตกใจให้มากเกินไป ให้ปลงเสียว่า ถ้ากฎของกรรมมีอยู่ ให้ชีวิตของร่างกายจักต้องทรงอยู่ และมีอันจักต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้น ภัยอย่างนี้เลี่ยงไม่ได้ เราพึงเตรียมจิตเตรียมใจรับสภาวะกฎของกรรมอย่างไรดี จุดนี้ต่างหากที่พึงจักสนใจ เมื่อภัยพิบัติมาถึงเข้าจริง ๆ ในเวลานั้น ถ้าหากกฎของกรรมมีอันทำให้ถึงตาย ก็พึงเตรียมจิตเตรียมใจทิ้งขันธ์ ๕ เพื่อเข้าสู่พระนิพพานอย่างเดียว อะไรจักเกิดมันก็ต้องเกิด อย่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงเสียอย่างเดียว ตัวสติก็คุมจิตให้มีสัมปชัญญะได้ เรื่องหนีไม่จำต้องหนีไปไหน เพราะภัยที่จักเกิดขึ้นกับผู้ใด ไปที่ไหนก็หนีไม่พ้นภัยนั้น ๆ ยกเว้นเสียจากผู้ที่ทำจิตได้เข้าสู่พระนิพพานแล้ว ภัยทั้งหลายเหล่าใดก็เข้าถึงผู้นั้นมิได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีชีวิตอยู่ในกึ่งพุทธันดรนี้ จึงพึงเป็นผู้ไม่ประมาทอย่างยิ่ง ควรเร่งรัดในศีล - สมาธิ - ปัญญา ให้ตั้งมั่นอยู่ในจิต แล้วชีวิตจักรอดพ้นจากความตาย หากโชคดีละขันธ์ ๕ ได้ ก็ถึงซึ่งพระนิพานพ้นทุกข์ก่อนได้เห็นภัยพิบัติอีกยิ่งดี<O:p></O:p>


    ๔. ร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ มารวมกันเป็นเหยื่อล่อของกิเลส เป็นเหยื่อล่อของตัณหา หากปรารถนาจักทิ้งร่างกาย ต้องการมรรคผลนิพพาน ก็จงอย่าทิ้งการพิจารณาร่างกาย (ด้วย กายคตา, อสุภกรรมฐานและ มรณา, อุปสมานุสสติ) สร้างความเบื่อหน่ายในร่างกายให้เกิด อย่างจริงจัง (ด้วยวิปัสสนาญาณ ๙) รวมทั้งไม่ปรารถนาการเกิดในภพชาติใด ๆ อีก ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความหมายสำหรับชีวิต มีเพียงจุดเดียวเท่านั้น คือ ละ - ปล่อยวางไม่เกาะติดกังวลกับสิ่งใด ๆ อีก มีงานทำก็ทำไปไม่กังวล ปล่อยวาง ถือว่าทำเพียงหน้าที่เท่านั้น อย่าไปเกาะติดให้เป็นกังวล โจทย์จิตไว้ให้พร้อมทุกเมื่อ เมื่อจักละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไปพระนิพพานจุดเดียว อะไรจักเกิดขึ้นก็ปล่อยวาง ทำเพียงหน้าที่ไม่ห่วงใย ไม่กังวล แม้แต่กายสังขารของตนเอง จักดับสิ้นไป ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นอาการ ๓๒ ธาตุ ๔ จนเห็นชัด จนจิตคลายความเกาะติดในร่างกาย ไม่เห็นความสำคัญของร่างกาย สักเพียงแต่ว่ายังอัตภาพให้เป็นไปตามกรรมเท่านั้น มันจักพังเมื่อไหร่ ให้จิตพร้อมยอมรับการพังนั้นทุกเมื่อ ไม่ดินรนเดือนร้อนไปกับมัน จิตจับอารมณ์รักพระนิพพานให้แนบแน่นอย่างเดียวก็เป็นพอ<O:p></O:p>

    ๕. ร่างกายเป็นของที่น่ากลัว ให้กลัวตรงหาความเที่ยงในร่างกายไม่ได้เลย (เหมือนกับผีหลอก) เป็นเป็นบ่อเกิดแห่งทุกขเวทนาทั้งหมด (วิปัสสนาญาณข้อ ๓) ให้กำหนดรู้โทษของร่างกาย (วิปัสสนาญาณข้อ ๔) อันมีอายตนะรับสัมผัสให้เกิดเวทนาทั้งหลาย (วิญญาณของขันธ์


    ๕) อย่าได้มัวเมาอยู่ หลงอยู่ในรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส-ธรรมารมณ์ (ซึ่งไม่เที่ยง ใครยึดก็เป็นทุกข์) ให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วจึงจักวางความเกาะติดในเวทนาลงได้ทั้งปวง อนึ่ง การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอย่าทิ้ง เพราะจุดนี้จักทำให้มีสติ-สัมปชัญญะสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วให้ใจเย็น ๆ อย่าเร่งรีบอย่างคนใจร้อน และประการสุดท้ายให้ตัดความกังวลทุกอย่างทิ้งไป จึงจักเจริญพระกรรมฐานได้ดี ให้พยายามตัดแม้กระทั่งความกังวลในร่างกายหรือขันธ์ ๕ ที่มีอาการไม่ดีอยู่นี้ มรณานุสสติเป็นหลักใหญ่ที่ใช้ตัดความเกาะติดในร่างกายได้เป็นอย่างดีอย่าทิ้ง รวมทั้งอุปสมานุสสติกรรมฐาน เอาจิตตั้งเป้าหมายไว้เลยว่า ตายเมื่อไหร่ขอไปนิพพานเมื่อนั้น แล้วพึงตัดหมายกำหนดการที่จักท่องไปในที่ต่าง ๆ เสียด้วย อย่างบางคนคิดจักไปเชียงใหม่ ใจก็เกาะอยู่แต่เชียงใหม่ ไม่ทันได้ไปเกิดตายเสียก่อน ก็ต้องไปเกิดที่เชียงใหม่ ตามจิตที่จุตินั้น ถ้าคิดจักไปไหน ก็เอาเพียงแต่แค่คิด รู้แล้วทิ้งไปเสียก่อน เป็นเพียงหมายกำหนดการเท่านั้น ให้ดูตรงขณะจิตนี้หรือขณะจิตหน้า ชีวิตก็อาจจักตายได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพึงเอาจิตเกาะพระนิพพานให้แนบแน่น ตายเดี๋ยวนี้ก็ไปพระนิพพานได้เลย จิตจักได้ไม่ไหลไปทางอื่น<O:p></O:p>


    ๖. อย่ากังวลใจในทุกขเวทนาของร่างกาย ให้กำหนดรู้ดูเอาไว้เป็นครูสอนจิตตนเอง อย่าให้มาหลงในร่างกายอันเต็มไปด้วยทุกขเวทนาอย่างนี้อีก (คนส่วนใหญ่มักจะไม่กำหนด จึงไม่รู้ว่ากายนี้เป็นทุกข์อยู่กับมันจนชิน ทุกขสัจหรือทุกข์ของกายต้องกำหนดรู้ จึงจะรู้ว่ามันเป็นทุกข์) ถ้าเรากำหนดรู้ว่ากายกับเวทนาของกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์บ่อย ๆ จิตก็จักบังเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกาย (ใช้พิจารณาวิปัสสนาญาณ ๙ ข้อ ๑-๒-๓-๔ กลับไปกลับมา จนเกิดนิพพิทาญาณ) ไม่ปรารถนาจักมีร่างกายอันเต็มไปด้วยทุกขเวทนาอย่างนี้อีกต่อไป ให้กำหนดจิตตั้งมั่น หากร่างกายนี้มีอันเป็นไปเมื่อไหร่ จุดที่ต้องการไป คือ พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น กำหนดปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งทุกขเวทนาของร่างกาย สักแต่ว่ามันเป็นไป มันไม่ใช่ของเรา มันไม่มีในเรา เราไม่มีในร่างกาย แยกอาการ ๓๒ เข้าไว้ แล้วจิตจักยอมรับนับถือความจริงของร่างกายยิ่ง ๆ ขึ้นไป จิตจักคลายความเกาะยึดในร่างกายลงได้ในที่สุด<O:p></O:p>


    ๗. ร่างกายเป็นรังของโรค จุดนี้พิจารณาธาตุ ๔ ที่พร่องอยู่เป็นหลัก ให้เห็นสภาวะของร่างกายตามความเป็นจริง แล้วจักสร้างความเบื่อหน่ายในร่างกายให้เกิดขึ้นได้ อย่าละจากอารมณ์พิจารณาธาตุ ๔ โดยใช้อิทธิบาท ๔ มี ฉันทะ หรือมีความพอใจในการพิจารณาธาตุ ๔ อยู่เสมอ มีวิริยะ คือ ความเพียร กำหนดรู่ว่าธาตุดินของกายมีอะไรบ้าง ธาตุน้ำมีอะไรบ้าง ธาตุไฟมีอะไรบ้าง ธาตุลมมีอะไรบ้าง มีจิตตะ คือเอาจิตจดจ่ออยู่กับการพิจารณาธาตุ ๔ ทั้งภายนอกและภายในตามความเป็นจริง จักเห็นความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตลอดเวลาเป็นสันตติ และมีวิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาเพื่อแก้ไขอารมณ์ ที่ยังเกาะติดร่างกายหรืออุปาทานขันธ์ ๕ หรือ สักกายทิฎฐิ (ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย) ให้ลด - ละ - ปล่อย - วางร่างกายลงให้ได้ จากอุบายพิจารณาร่างกายของเราซึ่งประกอบด้วยธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ ล้วนแต่สกปรก ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ ยึดถืออะไรไม่ได้เลย เพียรมากพักน้อยก็จบเร็ว เพียรน้อยพักมากก็จบช้า<O:p></O:p>


    ๘. ร่างกายไม่ดีก็เห็นเป็นปกติของร่างกาย การป่วยของร่างกายเป็นการเตือนให้เห็นถึงความตาย มรณานุสสติอย่าทิ้ง เพราะเป็นนิพพานสมบัติ ยิ่งคิดถึงความตายถี่มากเท่าไหร่ ความประมาทในธรรม หรือในกรรมทั้งปวง ก็ลดน้อยลงมากเท่านั้น ยิ่งใกล้พระนิพพานมากขึ้นเท่านั้น ปัญหาทุกชนิด ทั้งทางโลกและทางธรรม จะบรรเทาลงได้อย่างอัศจรรย์ หากใช้ มรณานุสสติถามจิตตนเอง ให้จิตมันตอบ หากกายเกิดตายในขณะนี้แกจักไปไหน ทุกอย่างจะสงบลงทันที จิตจะกลับมามีสติ-สัมปชัญญะใหม่ และตอบทันทีว่าจะไปพระนิพพาน กรรมฐานกองนี้ต้องใช้เป็นปกติตั้งแต่พระโสดาบัน ยันถึงพระอรหันต์ (พระโสดาบันนึกถึงความตายประมาณวันละ ๗ ครั้ง แต่พระอรหันต์นึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้า - ออก) กรรมฐานกองนี้จักทำให้ไม่เผลอสติ จักได้เตือนจิตตนให้นึกถึงร่างกายตามความเป็นจริงอยู่เสมอ ว่าไม่มีใครที่มีร่างกายแล้วหนีพ้นความตายไปได้ พิจารณาเข้าไว้ให้จิตทรงตัว แล้วกำหนดจุดหมายตั้งมั่น คือ พระนิพพานเข้าไว้ แล้วที่สุดก็จักไปได้ตามนั้น (ด้วยอุบายสั้น ๆ ว่า รู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพาน) จำไว้อย่าเสียดายอะไรในโลกทั้งหมด หากยังมีชีวิตอยู่การทำบุญทำทานจำจักต้องมี เพื่อเป็นการเสริมสร้างบารมีให้เต็มอยู่เสมอ โดยเฉพาะทานบารมีถ้าเต็มก็ตัดความโลภได้ จงอย่าทิ้งการทำบุญทำทาน มีมากทำมาก มีน้อยทำน้อย ตามกำลังใจ และอย่าเบียดเบียนตนเอง อย่าเบียดเบียนผู้อื่น การทำอย่าหวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ให้มุ่งทำเพื่อพระนิพานจุดเดียวเท่านั้น เป็นสำคัญ จึงจักจัดว่าเป็นบุญสูงสุดในพระพุทธศาสนา<O:p></O:p>


    ๙. อย่าทำตนเป็นคนไร้ปัญญา พิจารณาบ้างไม่พิจารณาบ้าง แล้วจักหาจิตทรงตัวมาจากไหน จำไว้อย่าทิ้งอารมณ์พิจารณา คิดน้อย ๆ ค่อย ๆ คิด คิดบ่อย ๆ แล้ว จิตมันจักชิน ความทรงตัวในการตัดร่างกายมันจักมีขึ้นมาได้ จุดนี้จักต้องมีความเพียรสูง ต้องพยายามทำให้เกิดความทรงตัวเข้าไว้ ในวันหนึ่งเริ่มจาก ๑ นาที ย่อมทำได้ แต่อย่าเครียด ให้ค่อยๆ ทำกันไป พิจารณาพอจิตมีอารมณ์เบา ๆ สบาย ๆ จิตยอมรับความเป็นจริงของร่างกาย จิตก็จักมีความสงบ ไม่ดิ้นรนทะยานอยากในสิ่งที่เกินวิสัย ถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ ความสุขจักเกิดขึ้นแก่จิตมาก<O:p></O:p>


    ๑๐. อย่าสนใจในกรรมของบุคคลอื่น ให้สนใจกับกรรมของตนเอง กรรมแปลว่าการกระทำอันได้แก่ ทางกาย - วาจา - ใจ ของเราเองนี้ คนอื่นเขาจักทำกรรมอันใดมาจักมาเนื่องถึงเรา ถ้าเราไม่รับเสียอย่างเดียว เขาจักเล่นงานเราได้ก็เพียงแค่กรรมเก่าเท่านั้น พอหมดเขตวาระของกฎของกรรมแล้ว กรรมเหล่านั้นจักทำอะไรเราต่อไปไม่ได้ ถ้าหากเขายังกระทำต่อไป กรรมเหล่านั้นแหละจักเข้าตัวเขาเอง จำไว้ว่าเขาด่า เขานินทา เขาใส่ร้าย หรือกระทำใด ๆ มาก็ดี ถ้าหากกรรมนั้นเราไม่เคยกระทำมาก่อน กรรมทั้งหลายก็จักไม่มาเข้าถึงเราเป็นอันขาด ไม่ต้องไปโทษใคร จักต้องโทษตัวของเราเอง ถ้าชาติก่อน ๆ ไม่เคยทำกรรมเหล่านี้เข้าไว้ กรรมเหล่านี้จักเกิดขึ้นกับเราไม่ได้เลย ต่อไปก็ให้ตั้งใจตัดกรรม คือ ไม่ต่อกรรมหรือจองเวรกับใครอีก ให้เจริญพรหมวิหาร ๔ ให้มาก ๆ ตั้งกำลังใจแผ่เมตตาไปในทิศทั้งปวงว่า เราจักไม่เป็นศัตรูกับใคร ใครจักเป็นศัตรูกับเราก็เรื่องของเรา ไม้ต้องเอาจิตไปเกาะการกระทำของบุคคลอื่น ให้เอาจิตดูการกระทำของกาย - วาจา - ใจของตนเองเป็นสำคัญ อย่าให้ไปเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น<O:p></O:p>


    ๑๑. ร่างกายของเราหรือร่างกายของใคร ก็ไม่มีคำว่าจีรังยั่งยืน มีเกิดเมื่อไหร่ก็มีตายเมื่อนั้น อย่าไปฝืนกฎธรรมดาของร่างกาย ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็บำรุงรักษาไปตามหน้าที่ แต่จิตจักต้องไม่ลืมความจริงว่า ร่างกายนี้ต้องแก่ - เจ็บ - ตาย เป็นของธรรมดา อารมณ์ของจิตอันเนื่องด้วยเวทนา - สัญญา - สังขาร - วิญญาณก็เช่นกัน เกิดแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดาเช่นกัน จิตเพียงแต่กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา แล้วพยายามรักษาอารมณ์วางเฉยเข้าไว้ ให้เห็นทุกอย่างไม่เที่ยงเป็นของธรรมดา อย่าไปกังวลกับเหตุการณ์ต่างๆ ให้มากนัก ให้ใช้เวลาพิจารณาจิตของตนเองจักดีกว่า ได้ประโยชน์มากกว่า พยายามรักษาอารมณ์พิจารณาขันธ์ ๕ ให้เข้มแข็งเข้าไว้ ความเป็นพระอรหันต์เป็นของไม่ไกล ถ้าหากมีสติกำหนดรู้ และทำจิตให้วางเฉยให้ได้ในเหตุการณ์ทั้งหมด จุดสำคัญคือพยายามรักษาอารมณ์ให้เยือกเย็น จิตจักมีความเบาโปร่งสบาย ๆ พรหมวิหาร ๔ อย่าทิ้งไปจากจิต<O:p></O:p>


    ๑๒. ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ให้จงหนัก จิตจึงจักตัดราคะกับปฏิฆะได้ ในโลกนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดาของโลก มีลาภ - เสื่อมลาภ มียศ - เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุข ก็มีทุกข์ สิ่งเหล่านี้เกิดข้นกับเราได้ ก็ด้วยเรามีร่างกายหรือขันธ์ ๕ เป็นเครื่องรองรับ จึงต้องพิจารณาเพื่อละตัดให้ได้ซึ่งขันธ์ ๕ เท่านั้น (ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา) ก็จักพ้นทุกข์จากอารมณ์พอใจ และไม่พอใจ เมื่อโลกธรรม ๘ ประการเข้ามากระทบจิต จงพยายามกำหนดรู้ทุกสิ่งในโลกไม่เที่ยง ยึดเมื่อไหร่ทุกข์เกิดเมื่อนั้น ให้ชำระจิตปล่อยวางสภาวะโลกที่ไม่เที่ยงไปเสียดีกว่า จุดนั้นจักทำให้เข้าถึงพระนิพพานได้ง่าย<O:p></O:p>


    ๑๓. อย่าห่วงใยเรื่องในอนาคต ให้รักษาอารมณ์จิตอยู่ในปัจจุบันนั้นดีที่สุด เช่น เตรียมเสบียงไว้เมื่อยามมีน้ำท่วมวัด หรือยามมีสงครามนั้น ก็พึงทำไปเป็นเพียงแต่หน้าที่เตรียมได้ ก็พึงเตรียมแต่พอดีในทางสายกลาง เพราะชีวิตจักอยู่ถึงช่วงนั้นหรือไม่ก็อย่าไปคำนึง ทำปัจจุบันให้ดีพร้อม คือดีที่สุดเท่าที่จักทำได้ พยายามสงบใจ - สงบปาก - สงบคำให้มาก อย่าตำหนิบุคคลอื่นว่าเลว ให้ดูกาย - วาจา - ใจของตนเองอย่าให้เลวกว่าเขาเอาไว้เสมอ อย่ามองโทษ (เพ่งโทษ) บุคคลภายนอก ให้มองโทษอันเกิดขึ้นแก่กาย-วาจาใจของตนเองเป็นสำคัญ<O:p></O:p>


    ๑๔. ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง หากมุ่งจักไปพระนิพพาน จักต้องรู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง รู้ว่ารูปมีลักษณะอย่างไร ให้รู้จริง ๆ มิใช่สักแต่ว่ารู้แค่สัญญา ให้รู้ด้วยการพิจารณารูปด้วยปัญญา และรู้จักการละรูป - ละนาม นั่นแหละจึงจักเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ แล้วให้หมั่นตรวจสอบจิตดูว่า บกพร่องในเรื่องบารมีหรือกำลังใจตรงไหนบ้าง ต้องได้รู้ ต้องให้เห็นจุดบกพร่องจริง ๆ แล้วจึงจักแก้ไขได้ การแก้ไขก็จักต้องเอาจริง แก้ไขจริง ๆ ด้วยความตั้งใจจริง จุดนั้นนั่นแหละ กำลังใจจึงจักเต็มได้ (วิริยะ - ขันติ - สัจจะ โดยมีปัญญาคุม) การปฏิบัติธรรม อย่าให้ได้แค่คำพูด นั่นไมใช่ของจริง เป็นเพียงแค่สัญญา จักต้องสอบจิตให้ลึกลงไป โดยไม่เข้าข้างตนเอง แล้วจักเห็นความบกพร่อง คือ จุดบอดของการปฏิบัติของตนเอง จุดนั้นเห็นแล้วให้รับความจริง แล้วจึงจักแก้ไขได้<O:p></O:p>


    ๑๕. ข่าวใครว่าอย่างไร ปล่อยให้เป็นเรื่องของข่าว อย่าไปสนใจกรรมของใครมากไปกว่าสนใจกรรมของตนเอง เพราะเวลานี้ เป็นเวลาที่จักต้องเร่งรัดปฏิบัติเอาจริงกัน เพราะฉะนั้นจักต้องสำรวมกาย - วาจา - ใจ ของตนเองให้เต็มความสามารถ ใครจักนินทา - สรรเสริญใครที่ไหน หรือใครจักนินทา - สรรเสริญ เราก็จงอย่าหวั่นไหวไปตามคำเหล่านั้น ปล่อยวางเสียให้หมด มามุ่งปฏิบัติเอาจริงกันเสียที ให้สอบจิตดูว่าที่แล้ว ๆ มาเอาดีกันไม่ได้ เพราะความไม่เอาจริง คือขาดสัจจะบารมีกัน เพราะฉะนั้น หากต้องการมรรคผลนิพานในชาติปัจจุบันนี้ ให้ตรวจสอบบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วนว่าขาดตกบกพร่องตรงไหนบ้าง แก้ไขจุดนั้นนั่นแหละจึงจักไปได้ การสำรวจจิต สำรวจบารมี ๑๐ จงอย่าหลอกตนเอง มรรคผลอันใดได้หรือไม่ได้ ให้ตอบตัวเองอย่างจริงจัง แล้วมุ่งแก้ไขอย่างจริงจัง ก็จักสำเร็จในมรรคผลนั้น อย่าทิ้งกรรมฐานแก้จริตทั้ง 6 และอย่าทิ้งสังโยชน์ อย่าบกพร่องในบารมี ๑๐ เดินจิตอยู่ในศีล - สมาธิ - ปัญญา แล้วจักเข้าถึงพระนิพพานได้โดยง่าย<O:p></O:p>


    ๑๖. ร่างกายของคนเรามีอายุขัยกันทุกรูป - นาม และต้องแตกดับทุกรูป - นาม อย่าประมาทในชีวิต อย่ามัวเมากับลาภ - ยศ - สรรเสริญ - สุข ให้มากจนเกินไป หมั่นสร้างความดีในทาน - ศีล - ภาวนา ตัดโลภ - โกรธ - หลงไปสู่พระนิพพานกันดีกว่า อย่าไปมีอารมณ์ขุ่นมัวกับการกระทบ พยายามลงกฎธรรมดา กฎของกรรมให้มาก ๆ แล้วอย่าไปกำหนดลิขิตชีวิตของใคร เพราะแม้แต่ชีวิตร่างกายของตนเองก็ยังกำหนดไม่ได้เลย ทุกชีวิตมาตามกรรมแล้วก็ไปตามกรรม เพราะฉะนั้น อย่าไปยุ่งกับกรรมของใคร ให้มุ่งชำระกรรมของกาย วาจา ใจ ของตนให้บริสุทธิ์ ตัดกรรมให้เร็วที่สุด เพื่อเตรียมจิตเตรียมใจไปพระนิพพานดีกว่า<O:p></O:p>


    ๑๗. ให้ใช้เวลาพิจารณาร่างกาย อาการ ๓๒ ธาตุ ๔ ให้มาก รวมทั้งเวทนาที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ของจิตด้วย จุดนี้จักได้ประโยชน์ของการปล่อยวางดับทุกข์ได้ และการพิจารณาจักต้องต่อเนื่อง นอกจากใช้อานาปานัสสติคุมจิตแล้ว ให้ใช้สัจจานุโลมิกญาณ ย้อนไปย้อนมาพิจารณาธรรมภายนอก น้อมเข้ามาเป็นธรรมภายในบ้าง ทบทวนอารมณ์ตั้งแต่สมัยยังเป็น โลกียชน เข้ามาสู่อารมณ์ของพระโสดาบันบ้าง คือ ทบทวนสังโยชน์ไล่มาตรวจสอบดูกาย วาจา ใจ ว่าบกพร่องตรงไหนบ้าง ตรวจบารมี ๑๐ ไล่มาตามลำดับบ้าง ตรวจสอบพรหมวิหาร ๔ บ้าง อย่าหยุดการพิจารณา ถามให้จิตตอบ ยังบกพร่องจุดไหน แก้ไขจุดนั้น แล้วจิตจักมีกำลังไปได้เร็ว<O:p></O:p>


    ๑๘. ให้พิจารณาร่างกายนี้เป็นทุกข์ การละได้ซึ่งร่างกายนี้เป็นสุข สุขที่สุดคือทำให้แจ้งถึงซึ่งพระนิพพาน เหตุการณ์ภายนอกจักเป็นอย่างไร รู้แค่ให้รู้ไว้ แต่ให้พิจารณาธรรมภายใน คือการละซึ่ง สักกายทิฏฐิ และละจากอุปาทานขันธ์ของตนเองข้าไว้ให้ดี เห็นความสำคัญของการละได้ซึ่งกิเลสแห่งตนเป็นใหญ่ อย่าให้เหตุการณ์ภายนอกเข้ามาทำลายมรรคผลนิพพาน การเตรียมตนเพื่อความอยู่รอดแห่งภัยพิบัติ จักจากอุทกภัยก็ดี จากภัยสงครามก็ดี เตรียมได้เพื่อความไม่ประมาทในชีวิต ถ้าหากยังอยู่ได้ ก็เป็นการบรรเทาทุกขเวทนากันไป แต่ถ้าหากชีวิตจักสิ้น ก็ยังจิตให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน เหตุการณ์ข้างหน้าไม่เที่ยง เพราะกฎของกรรมย่อมลิขิตชีวิตของคนแต่ละคนเข้าไว้แล้วอยู่เสมอ เรื่องนี้พึงทำจิตเข้าไว้อยู่รอดก็ตายได้ ไปก็สบายดี<O:p></O:p>


    ๑๙. ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ปล่อยวางขันธ์ ๕ ให้เห็นทุกอย่างเป็นของธรรมดา เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีสาระอันใดที่จักมาเกาะยึดเอามาเป็นสรณะได้ ให้พิจารณาจนจิตยอมรับความจริง จนจิตนิ่งและเกิดความสุขอันเกิดขึ้นจากการยอมรับความจริงในการพิจารณานั้น ๆ ให้จำไว้เสมอว่า ร่างกายนี้มิใช่เรา เราไม่มีในร่างกาย กายนี้เป็นเพียงธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ เข้ามาประชุมกัน เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่กับความสกปรกความเสื่อม แล้วในที่สุดก็ดับไป อย่าลืมทุกสิ่งทุกอย่างในไตรภพ มีเกิดก็ต้องมีดับเป็นธรรมดา มีอยู่ที่เดียวเท่านั้นที่ไม่เกิด ไม่ดับ คือ พระนิพพาน จงรักษากำลังใจอยู่จุดเดียวคือ พระนิพพาน<O:p></O:p>


    ๒๐. ไม่ต้องดิ้นรนถึงความตาย (อยากตายเร็ว อยากตายช้า) เพราะจักอย่างไรการมีร่างกาย ก็มีความตายไปในที่สุดอยู่แล้ว เพียงแต่กำหนดรู้ความเกิดความดับตามความเป็นจริง เตรียมพร้อมที่จักไปพระนิพพานให้ได้ทุก ๆ ขณะ แล้วสำรวจจิตอย่าให้มีความห่วงหรือกังวลในสิ่งใด ๆ ทั้งปวง พยายามตัดความกังวลออกไปให้ได้ทุก ๆ ขณะจิต ให้จำไว้ว่าห่วงหรือกังวลด้วยเหตุใดแม้แต่นิดเดียวก็ไปพระนิพพานไม่ได้<O:p></O:p>


    ๒๑. ร่างกายเวลานี้มีทุกขเวทนา ก็ให้กำหนดทุกขเวทนานี้มิใช่ของจิต มันสักแต่ว่ามีอาการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปเท่านั้น พยายามรักษาอารมณ์ของจิตอย่าให้ปรุงแต่งไป ให้ตั้งมั่นเห็นสภาวะของขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง พิจารณาให้มากจักเกิดปัญญา หลีกเลี่ยงการคบกับคนมาก เพราะคุยกับคนมีกิเลส มักจูงจิตให้หวั่นไหวไปตามกิเลส แม้กระทั่งจักสนทนากันด้วยธรรมะ ก็ยังมีกิเลสเป็นเครื่องนำหน้า ให้ดูวาระจิตของตนเองเอาไว้ให้ดี<O:p></O:p>


    ๒๒. ให้หมั่นพิจารณาร่างกายโดยอเนกปริยาย รวมไปถึงการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจโดยอาศัยร่างกายนี้เป็นต้นเหตุ ให้แยกส่วนอาการ ๓๒ ออก จักได้เห็นชัด ๆ ว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่มีในเรา ไม่มีในใครทั้งหมด เพราะในที่สุดก็อนัตตาเหมือนกันหมด ดังนั้น จักมานั่งติดอยู่กับอารมณ์ชอบใจ ไม่ชอบใจ โดยอาศัยร่างกายเป็นต้นเหตุ จักได้ประโยชน์อะไร ให้ถามและให้จิตตนเองตอบตามความเป็นจริง แล้วในที่สุดจักละหรือตัดได้ ปล่อยวางได้ เหตุการณ์ของชีวิตประจำวันทั้งหมด ให้พิจารณาลงตรงทุกข์ตัวเดียว ยิ่งเห็นความเหนื่อยมากจากการทำงาน ก็จักเห็นความทุกข์เบียดเบียนจิตมากขึ้น จิตก็จักดิ้นรนหาทางออกมาขึ้นเท่านั้น อย่าลืม ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นเห็นอริยสัจ ผู้ใดเห็นอริยสัจ ผู้นั้นเห็นพระธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ร่างกายของตถาคตมิใช่พระพุทธเจ้า ความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ที่พระธรรม หรือจิตผู้ทรงธรรม<O:p></O:p>


    ๒๓. ร่างกายไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ให้พยายามพิจารณารูปขันธ์ นามขันธ์ให้มาก พยายามตัดกังวลให้ได้เป็นระยะ ๆ แม้จักตัดไม่ได้เด็ดขาด ก็ให้เพียรพยายามถามจิตตนเองดูเสมอ ถ้าละไม่ได้จักไปพระนิพพานได้อย่างไร การไปพระนิพพานจักต้องละหมดในรูป ในนาม ที่จิตของตนเองอาศัยอยู่นี้ และหมั่นกำหนดรู้รูปนามไม่มีในเราเราไม่มีในรูปนาม พยายามตัดให้ได้ วางอารมณ์ให้ถูก แล้วความหนักใจในการตัดกิเลสก็จักเบาใจลงได้มาก เพราะเห็นช่องแนวทางจักพ้นทุกข์ได้อย่างชัดเจน เพียงแต่จักต้องฝึกตัวสติ คือตัวรู้ให้ทรงตัวเข้าไว้ ใหม่ ๆ ก็เป็นสัญญาหนักเข้าพิจารณาให้จิตมันชิน ก็จักเกิดเป็นปัญญา ตัดกิเลสได้ เป็นสมุจเฉทปหานได้เอง<O:p></O:p>


    ๒๔. ร่างกายนี้ไม่ใช่เราและไม่มีในใครด้วย ถ้าคลายห่วงร่างกายของตนเองได้ ก็จักพลอยคลายห่วงร่างกายของบุคคลอื่นได้เช่นกัน ให้พิจารณาร่างกายตามความเป็นจริง บางครั้งแม้จักเผลอไปบ้าง ลืมไปบ้างก็เป็นของธรรมดา เรื่องของวจีกรรมก็เช่นกัน เผลอบ้าง ลืมบ้าง ก็ขอขมา แล้วพยายามตั้งต้นใหม่ ฝึกจิตควบคุมวาจาให้จงได้ ถ้าไม่ทิ้งความเพียรกาย วาจา ใจ ก็เรียบร้อยลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จักตัดสิ่งไหนก็จักมีอุปสรรคเข้ามาขัดขวางอยู่เสมอ เรื่องนี้ต้องให้เห็นเป็นของธรรมดา เพราะถ้าไม่มีข้อสอบจักรู้ได้อย่างไรว่าสอบผ่าน จำเอาไว้ให้ดี<O:p></O:p>
    <O:p></O:p>




    <CENTER>รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน</CENTER><CENTER>ที่มา http://www.tangnipparn.com/Frameset-10.html</CENTER>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 มิถุนายน 2010
  2. ธัมมนัตา

    ธัมมนัตา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    1,514
    ค่าพลัง:
    +9,766
    สาธุ

    เราคือองค์ประกอบของธาตุ 4
    ขันธ์ 5
    อายตน 6
    อาการ 32

    ปรุงแต่งจิตด้วยสังขารธาตุกลายเป็น กิเลส 1500 ตัณหา 108
    มีความต้องการไม่สิ้นสุดด้วยประการฉะนี้
     
  3. ศิลปินชนบท

    ศิลปินชนบท เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    773
    ค่าพลัง:
    +1,678
    กราบอนุโมทนาสาธุในธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค่ะ
     
  4. อารมณ์สุข

    อารมณ์สุข เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    39
    ค่าพลัง:
    +185
    อนุโมทนา สาธุครับ

    สุขยิ่งกว่า เมื่อจิตรเป็นอิสระ
     
  5. พัชรกันย์

    พัชรกันย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2008
    โพสต์:
    263
    ค่าพลัง:
    +622
    ขอโมทนาสาธุในพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
     

แชร์หน้านี้

Loading...