ตำนานการสร้าง พระเสริม พระสุก พระใส

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย SLK, 2 ตุลาคม 2006.

  1. SLK

    SLK เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    183
    ค่าพลัง:
    +446
    ตำนานพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของเมืองเวียงจันทน์เมื่อในอดีต ( ภาพด้านล่างขวาคือพระเสริม พระใสด้านซ้าย )
    ขอความสุขสวัสดิ์จงมีแด่ทุกท่านที่ได้สดับและอ่านเรื่องนี้เถิด

    พระเสริม พระสุก พระใส หล่อขึ้นจากทองสีสุก ( โลหะสำฤทธิ์ที่มีทองคำเป็นส่วนผสมหลัก ) เมื่อราวปี พ.ศ. 2109 โดยพระราชธิดาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ล้านช้าง ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน 3 พระองค์ ทรงพระนามว่า พระธิดาเสริม พระธิดาสุก และพระธิดาใส โปรดให้ช่างลาวล้านช้างหล่อพระพุทธรูปประจำพระองค์ เพื่อความเป็นสิริมงคลมีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ

    ในพิธีการหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นั้น พระภิกษุและฆราวาสช่วยกันทำการสูบเตาหลอมทองอยู่ตลอดถึง 7 วัน แต่ทองก็ยังไม่ละลาย พอถึงวันที่ 8 มีเพียงพระภิกษุสูงอายุรูปหนึ่งกับสามเณรรูปหนึ่งสูบเตาอยู่ ก็ปรากฏมีชีปะขาวคนหนึ่งมาอาสาสูบเตาแทนพระและเณร แต่วันนั้นญาติโยมต่างเห็นบรรดาชีปะขาวสูบเตาอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อพระภิกษุและสามเณรฉันเพลเสร็จแล้วก็จะไปสูบเตาต่อ ปรากฏว่าได้มีผู้เททองลงเบ้าทั้ง 3 จนเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่เห็นชีปะขาวอยู่แม้แต่คนเดียว การหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ สำเร็จลงด้วยดีอย่างน่าอัศจรรย์ พระธิดาเสริม สุก และใส ต่างถวายนามของตนเป็นนามของพระพุทธรูป ได้แก่ พระเสริมเป็นพระพุทธรูปประจำพระธิดาองค์พี่ พระสุกเป็นพระพุทธรูปประจำพระธิดาองค์กลาง และพระใสเป็นพระพุทธรูปประจำพระธิดาองค์สุดท้อง

    สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลงความเห็นเกี่ยวกับพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ว่า พระเสริม พระสุก พระใส เป็นพระพุทธรูปลาวล้านช้างที่งดงามยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ และทรงสันนิษฐานเรื่องการสร้างเป็น 2 ประการ คือ อาจจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างจากเมืองหนึ่งเมืองใดทางตะวันออกของอาณาจักรล้านช้างและต่อมาตกอยู่ในเขตล้านช้าง หรืออาจสร้างขึ้นในเขตล้านช้างโดยฝีมือช่างลาวพุงขาว

    ในยุคนั้น พระเสริม พระสุก พระใส เป็นพระใหญ่ล้านช้างประจำเมืองเวียงจัทน์

    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ครั้งเจ้าอนุวงศ์ เจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้างก่อกบฏ พระองค์ทรงโปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเป็นแม่ทัพยกทัพไปปราบ และได้ตั้งค่ายทหารที่เมืองพานพร้าว ทหารไทยเข้าตีเมืองเวียงจันทน์จนเจ้าอนุวงศ์หนีไปจากเวียงจันทน์ ในครั้งนั้นได้อัญเชิญพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจากเมืองเวียงจันทน์หลายองค์ ได้แก่ พระแซกคำ พระฉันสมอ พระเสริม พระสุก พระใส พระแก่นจันทน์ พระเงินหล่อ พระเงินบุ พระสรงน้ำ มาเก็บรักษาไว้ที่เมืองพานพร้าว และได้มีการสร้างพระเจดีย์เพื่อประดิษฐานจารึกพระนาม พระเจดีย์ปราบเวียง ต่อมาเจ้าอนุวงศ์ได้ร่วมกับพวกญวนเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์คืนและตีค่ายพานพร้าว ทหารฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ได้ทำการรื้อพระเจดีย์ปราบเวียง และนำพระพุทธรูปที่บรรจุอยู่ทั้งหมดกลับเวียงจันทน์ ต่อมาทหารไทยเข้ายึดค่ายพานพร้าวคืนและตีเมืองเวียงจันทน์ ทำลายเมืองเวียงจันทน์ กำแพงเมือง ป้อมเมือง และหอคำ จนกลายเป็นทะเลเพลิง เหลือไว้แต่วัดสีสะเกดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองบางแห่ง และได้มีการนำพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งข้ามกลับมาฝั่งไทย

    การอัญเชิญพระเสริม พระสุก พระใส จากเมืองเวียงจันทน์

    มีเรื่องเล่าเป็นตำนานต่อกันมาว่าพบพระพุทธรูปในถ้ำแห่งหนึ่งบนภูเขาควาย ( เนื่องจากชาวเมืองได้นำไปซ่อนไว้เพื่อหนีภัยสงคราม ) จึงนำขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่อัญเชิญมาทางลำน้ำงึมออกลำน้ำโขง เมื่อถึงบริเวณปากน้ำงึมเฉียงกับบ้านหนองกุ้งเมืองหนองคาย ( ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย ) เกิดพายุฝนตกหนักแพที่ประดิษฐานพระสุกแตก ส่งผลให้พระสุกจมหายไปในกระแสน้ำ ส่วนพระเสริมและพระใสได้อัญเชิญมาถึงเมืองหนองคายอย่างปลอดภัย

    พระเสริมนั้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระใสประดิษฐานอยู่ที่วัดหอก่อง ( วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ ) ต่อมายุครัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอุปราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์สมัยนั้น พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะอัญเชิญพระเสริมมาประดิษฐานยังพระบวรราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ขุนวรธานีและข้าหลวง ( เหม็น ) ไปอัญเชิญพระเสริมและพระใสมายังพระนคร เมื่อครั้งอัญเชิญพระเสริมและพระใสมายังพระนครนั้น กล่าวกันว่าพระใสแสดงปาฏิหาริย์ เกวียนที่ประดิษฐานพระใสหักลงตรงหน้าวัดโพธิ์ชัย ซ่อมก็หักอีก วัวลากเกวียนไม่ยอมเดิน ทั้งเชิญและบวงสรวงก็ไม่เป็นผล สุดท้ายทหารจึงอัญเชิญพระใสประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัยแทน ส่วนพระเสริมอัญเชิญไปกรุงรัตนโกสินทร์ ( ปัจจุบันหลวงพ่อพระใสเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดหนองคายประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัย อำเภอเมือง ) เมื่อครั้งที่มีการแห่พระเสริมจากหนองคาย เข้าเขตพระนครในยุคนั้น ชาวลาวล้านช้างที่ถูกต้อนมาอยู่ในกรุงรัตโกสินทร์ต่างได้ทำริ้วขบวนแห่ต้อนรับ จัดทำพานบายศรีและเครื่องบูชาเพื่อบูชาพระเสริม

    ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2408........ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้อัญเชิญพระเสริมจากพระบวรราชวัง ไปประดิษฐานยังพระวิหารวัดปทุมวนาราม ชาวลาวล้านช้างได้มาเฝ้ากราบไหว้บูชาพระเสริมตลอดทั้งวัน ชื่อเสียงพระเสริมกระจายไปทั่วเขตพระนคร ว่ามีพระใหญ่ล้านช้างองค์สำคัญถูกอัญเชิญมาใว้ในกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้คนทั่วสารทิศต่างแห่แหนกราบไหว้บูชาทั้งวัน

    วันเวลาผ่านไปนาน 200 ปี ชื่อเสียงพระเสริมลืมหายไปตามกาลเวลา คนกรุงเทพไม่รู้จักพระเสริม ส่วนพระใสยังพอมีชื่อผู้คนหนองคายและคนลาวนับถือนัก.....
    <!--detail--><!-- [​IMG] -->
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 266490.jpg
      266490.jpg
      ขนาดไฟล์:
      25 KB
      เปิดดู:
      4,222
    • 195163.jpg
      195163.jpg
      ขนาดไฟล์:
      48.9 KB
      เปิดดู:
      312
  2. SLK

    SLK เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    183
    ค่าพลัง:
    +446
    ผิด ๆ ๆ พระเสริมอยู่ล่าง พระใสอยู่บน
     

แชร์หน้านี้

Loading...