กรรมฐานป้องกันถีนมิทธะ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย Flankspeed, 31 มีนาคม 2010.

แท็ก: แก้ไข
  1. Flankspeed

    Flankspeed เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    91
    ค่าพลัง:
    +628
    กรรมฐานป้องกันถีนมิทธะ


    ›››››


    สมเด็จพระญาณสังวร


    สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


    วัดบวรนิเวศวิหาร


    คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์


    อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ


    ]

    บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็พึงตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

    ได้แสดงข้อถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ซึ่งเป็นนิวรณ์ข้อที่ ๓ ได้แสดงอาหารของถีนมิทธะ และอนาหารสิ่งที่ไม่ใช่อาหารของถีนมิทธะ ก็คือข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และได้แสดงข้อปฏิบัติมาแล้ว แต่ยังมีอีกข้อหนึ่ง ที่พระอาจารย์ได้แสดงไว้ว่าเป็นข้อปฏิบัติ หรือจะว่าเป็นกรรมฐานก็ได้ เป็นเครื่องละถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้น ทั้งป้องกันถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิด ก็คือ พุทธานุสสติ ความระลึกถึงพระพุทธเจ้า ข้อนี้ก็หมายถึงความระลึกถึงพระพุทธเจ้าโดยพระคุณ หรือจะกล่าวว่าระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าก็ได้


    นวหรคุณ


    อันพระคุณของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีประมาณ
    ดังบทที่แสดงว่า อัปปมาโณ พุทโธ พระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ คือมีคุณไม่มีประมาณ และการที่ได้มีบทพระพุทธคุณ ดังที่เราทั้งหลายได้สวดกัน ก็เป็นบทพระพุทธคุณที่เป็นกิติศัพท์ คือเสียงที่กล่าวสรรเสริญพระเกียรติ์ของพระพุทธเจ้า ดังพระคุณ ๙ ประการที่เราสวดกัน อันเรียกว่า นวรหคุณ หรือ นวหรคุณ ว่า อิติปิโส ภควา อรหังสัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น จะน้อมระลึกถึงพระคุณทั้ง ๙ นี้ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือโดยลำดับทีละข้อก็ได้

    หรือว่าจะระลึกถึงโดยสรุป ดั่งที่พระอาจารย์ได้แสดงว่า พระคุณโดยสรุปนั้น ( เริ่ม ๒๐๑/๒ )พระวิสุทธิคุณ คุณคือความบริสุทธิ์จริง พระกรุณาคุณ คุณคือพระกรุณาจริง ดังบทสวดต่อทำวัตรเช้าว่า พุทโธ สุสุทโธ กรุณา มหัณณโว พุทโธ พระผู้ตรัสรู้แล้ว ก็แสดงถึงพระปัญญาคุณ พระองค์ตรัสรู้อะไร เราทั้งหลายก็ทราบได้ จากปฐมเทศนาของพระองค์เป็นต้น ที่ตรัสถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ อันได้แก่ ทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือว่ามรรคมีองค์ ๘

    พระองค์ได้ตรัสรู้ ด้วยพระญาณที่ตรัสรู้ โดยเป็น สัจจญาณ คือตรัสรู้ว่า นี้ทุกข์จริง นี้สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์จริง นี้นิโรธดับทุกข์จริง นี้มรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง พระองค์ตรัสรู้โดยเป็น กิจจญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ในกิจที่พึงทำในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ว่ากิจที่พึงทำ คือพึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ก็คือ ทุกข์ควรกำหนดรู้ คือควรกำหนดรู้หรือให้รู้รอบคอบว่าเป็นทุกข์ สมุทัยควรละ นิโรธควรกระทำให้แจ่มแจ้งขึ้นในใจ และมรรคมีองค์ ๘ ก็ควรปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

    พระองค์ได้ตรัสรู้โดยเป็น กตญาณ คือความหยั่งรู้ว่าได้กระทำเสร็จแล้วในกิจที่พึงทำเหล่านั้น คือทุกข์ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว สมุทัยทรงละได้แล้ว นิโรธทรงกระทำให้แจ้งได้แล้ว มรรคทรงปฏิบัติได้บริบูรณ์แล้ว ดั่งนี้

    ญาณทัสสนะความรู้ความเห็นดังกล่าวนี้ หากยังไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์แก่พระองค์ พระองค์ก็ยังไม่ปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แต่เมื่อญาณทัสสนะความรู้ความเห็นดังกล่าวในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ สมบูรณ์แล้ว จึงได้ทรงปฏิญญาว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ดั่งนี้



    การระลึกในพระพุทธคุณ


    ในการระลึกไปในพระพุทธคุณดังที่กล่าวมานี้ ก็ต้องอาศัยความจำ คือต้องจำให้ได้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแล้ว ว่าทรงอธิบายทุกข์ไว้ว่าอย่างไร ทรงอธิบาย สมุทัย นิโรธ และมรรคไว้ว่าอย่างไร ก็ระลึกไปตามนั้น และระลึกไปให้เข้าใจ โดยที่ตรัสถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ว่าประกอบด้วยสัจจญาณ รู้ว่าจริง กิจจญาณ รู้กิจที่พึงปฏิบัติกระทำ และ กตญาณ รู้ว่าได้กระทำกิจนั้นแล้วเสร็จ ดั่งนี้ จึงทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ดั่งนี้ นี้เป็นการระลึกไปในพระปัญญาคุณ คุณของพระพุทธเจ้า
    ระลึกไปในพระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์นั้น ก็คือระลึกว่า เพราะพระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ ประกอบด้วยสมาธิอันชอบ และศีลอันชอบ หรือว่าประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ จึงทรงสิ้นอาสวะกิเลส กิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหมด และเมื่อสิ้นอาสวะกิเลส ก็สิ้นกิเลสอื่นๆ ทุกข้อ ทุกบท ทุกอย่าง ที่บังเกิดสืบเนื่องมาจากอาสวะกิเลสนั้นเอง

    เพราะฉะนั้น จิตของพระองค์จึงทรงพ้นแล้วจากอาสวะทั้ง ๓ คือ กามาสวะ อาสวะคือกาม ภวาสวะ อาสวะคือภพ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ทรงทราบว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่พึงกระทำได้กระทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำ ยิ่งหรือนอกไปกว่านี้

    เพราะฉะนั้น เมื่อทรงสิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น พระองค์จึงบรรลุถึงความบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจสิ้นเชิง เพราะเหตุว่า กายวาจาใจของพระองค์ปราศจากบาปอกุศลทุจริตทุกอย่าง เพราะเหตุว่าสิ้นอาสวะกิเลสทั้งปวงแล้ว จึงเป็นกายวาจาใจที่บริสุทธิ์สิ้นเชิง การระลึกถึงพระวิสุทธิคุณดั่งนี้ ก็ต้องอาศัยความกำหนดจดจำ คำอธิบายของพระพุทธเจ้าเอง และของพระอาจารย์ และมีความเข้าใจ เพ่งพินิจพิจารณาให้เข้าใจชัดในพระวิสุทธิคุณ



    ข้อว่ากรุณามหัณณโว


    อีกข้อหนึ่งก็คือพระกรุณาคุณ คุณคือพระกรุณาจริง ดังบทสวดที่ว่า กรุณา มหัณณโว มีกรุณาดังห้วงมหรรณพ คือห้วงทะเลหลวง อันหมายถึงว่ามีพระกรุณาที่แผ่ไปไพศาล ยิ่งใหญ่ กว้างขวาง มาก เพราะด้วยทรงมีพระมหากรุณาในสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ยังต้องตกอยู่ในกองทุกข์ หรือหากจะเปรียบอาสวะกิเลสว่าเป็นห้วงน้ำใหญ่ อันเรียกว่าอรรณพ หรือเรียกว่า โอฆะ สัตว์โลกทั้งสิ้นก็ยังเหมือนอย่างตกอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ คือห้วงน้ำคือกิเลส แหวกว่ายอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ที่จมลงไปก็มี ที่กำลังแหวกว่ายอยู่ก็มี เพราะฉะนั้น จึงมีพระกรุณามุ่งที่จะช่วยให้สัตว์ทั้งหลายพ้นจากทุกข์ดังกล่าว

    และความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นหาได้ยาก นานๆ พระพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติขึ้นในโลกครั้งหนึ่ง

    และเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติขึ้น ก็ไม่มีศาสดาองค์ไหนจะปฏิบัติสิ้นอาสวะกิเลส พ้นจากทุกข์ทั้งปวง เป็นต้นว่า พ้นจากชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณะทุกข์ สำหรับสัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่นั้น ก็มีอยู่ทั่วไป ในอบายภูมิเป็นต้นว่า สัตว์เดรัจฉาน นรก เปรต อสุรกาย ก็มีทั่วไป หนีขึ้นมาเป็นมนุษย์ก็มีทั่วไปเป็นอันมาก และสูงขึ้นเป็นสวรรค์ ตลอดจนถึงเป็นพรหม ก็มีอยู่เป็นอันมาก ทุกกาลสมัย



    ทางปฏิบัติเพื่อชั้นภูมิต่างๆ


    พิจารณาดูแล้วก็กล่าวได้ว่า ศาสดาทั้งปวง เว้นจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็สอนทางปฏิบัติเพื่อให้ไปได้แค่สวรรค์ หรือว่าแค่เป็นพรหมเป็นเทพ ไม่มีที่จะสอนให้ดับทุกข์ดับกิเลส เป็นผู้สิ้นอาสวะได้ พระพุทธะที่ปฏิบัติดับกิเลสและกองทุกข์ได้ ก็มีแต่พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น
    เพราะฉะนั้น พระองค์เมื่อทรงพิจารณาดูสัตว์โลกที่เกิดอยู่ในภูมิภพต่างๆ ก็ทรงแจ้งประจักษ์ว่าทุกภูมิภพนั้น ก็ล้วนต้องมีแก่เจ็บตาย แม้จะเป็นพรหมเป็นเทพ ก็มีอุปบัติคือบังเกิดขึ้น และจุติคือเคลื่อนไป ล้วนชื่อว่ายังไม่พ้นจากเกิดดับ ยังไม่พ้นจากเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงทรงมีพระกรุณาแผ่ไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า จึงได้เสด็จทรงเทศนาสั่งสอนโปรดเวไนยนิกร คือหมู่ชนที่จะพึงแนะนำได้ ให้รู้เห็นธรรมตามภูมิตามชั้น ให้ได้ศรัทธาความเชื่อ ให้ได้วิริยะความเพียร ให้ได้สติความระลึกได้ ให้ได้สมาธิความตั้งใจมั่น ให้ได้ปัญญาความรู้เข้าถึงธรรม อันเป็นพละหรือเป็นอินทรีย์ตามภูมิตามชั้น นำให้เวไนยนิกรได้ประสบประโยชน์สุขปัจจุบันบ้าง ประโยชน์สุขภายหน้าบ้าง ประโยชน์สุขอย่างยอดบ้าง ตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ นี้ก็คือพระกรุณาคุณของพระองค์



    ประโยชน์สุข ๓ ประการ


    พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นตั้งอยู่มาจนบัดนี้ ก็ด้วยพระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้า และก็ประกอบด้วยพระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณรวมกัน เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงชื่อว่าได้รับประโยชน์สุข ปัจจุบันบ้าง ภายหน้าบ้าง หรืออย่างสูงก็เป็นประโยชน์อย่างยอด เนื่องมาจากพระคุณทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้านี้เอง

    เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าดั่งนี้แล้ว เมื่อพระคุณมาปรากฏชัดแก่ใจตนเอง และได้ประจักษ์ว่าพระคุณของพระองค์ได้เนื่องมาถึงตน คือเนื่องมาถึงเราเองทุกๆ คน เราเองได้รับสุขประโยชน์ ก็ชื่อว่าได้รับพระคุณของพระพุทธเจ้ามาโปรดนั้นเอง ก็จะทำให้เกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ทำจิตใจให้สว่างให้แจ่มใส และน้อมนำให้เกิดอุตสาหะพยายาม ในอันที่จะตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียน ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้ว ตั้งใจปฏิบัติตามที่ฟัง ตามที่เรียนรู้ เพื่อให้ได้ผลเป็นความเข้าใจ เป็นความรู้แจ้งแทงตลอด เป็นเครื่องดับรำงับกิเลสในตนเองไปโดยลำดับ ตั้งแต่ดับกิเลสอย่างหยาบด้วยศีล ดับกิเลสอย่างกลางด้วยสมาธิ และดับกิเลสอย่างละเอียดด้วยปัญญา ก็ชื่อว่าได้ทำตนให้เป็น เนยยะ คือเป็นบุคคลที่พระพุทธเจ้าโปรดได้ พระพุทธเจ้าแนะนำได้

    แม้ว่าพระองค์จะได้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว แต่ก็ได้ทรงตั้งพระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้ว พระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์ ก็คือพระพุทธศาสนานั้นเอง เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงชื่อว่ายังมีพระศาสดาของตนตั้งอยู่ดำรงอยู่ ยังไม่สิ้นพระศาสดาของตน ทั้งพระองค์ก็ยังได้ตรัสไว้อีกว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้ เป็นการประกาศว่าเมื่อเห็นธรรมเมื่อใด คือเมื่อปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาเมื่อใด ก็อาจจะทำให้ได้ธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรมเมื่อนั้น

    และเมื่อเห็นธรรม อันเป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นสัจจะความจริงขึ้นแล้ว ก็เป็นอันว่าได้เห็นพระองค์ คือพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา และเห็นว่าท่านผู้ที่ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมนี้ไว้นั้น เป็นพุทโธจริง ตรัสรู้จริง ดั่งนี้

    ( เริ่ม ๒๐๒/๑ )เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงยังคงประทับอยู่ทุกกาลสมัย ตลอดเวลาที่พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่ และยังมีผู้ปฏิบัติให้เห็นธรรมได้ ก็จะเห็นพระพุทธเจ้าได้ แม้ว่าจะไม่มีพระพุทธศาสนาที่สอนกัน แต่สัจจะคือความจริง ก็ย่อมดำรงอยู่ย่อมตั้งอยู่ ไม่ดับหายไปไหน เมื่อมีผู้ปฏิบัติค้นคว้าจับทางที่ถูกต้องบังเกิดขึ้นเมื่อใด ก็ย่อมจะได้ตรัสรู้เมื่อนั้น และท่านนั้น ซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองก็เป็นพระพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น เมื่อเราทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็ย่อมจะทำให้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส จิตใจสว่างแจ่มใส บังเกิดอุตสาหะพยายามในอันที่จะปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญายิ่งขึ้น ก็จะทำให้ทั้งถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และนิวรณ์ข้ออื่นสงบระงับไปตาม
    ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป


    [​IMG]


    <!--BEGIN WEB STAT CODE----><SCRIPT language=javascript1.1> page="กรรมฐานป้องกันถีนมิทธะ สมเด็จพระญาณสังวร";</SCRIPT><SCRIPT language=javascript1.1 src="http://hits.truehits.in.th/data/i0017685.js"></SCRIPT><SCRIPT src="http://lvs.truehits.in.th/func/th_donate_1.8.js"></SCRIPT><SCRIPT src="http://lvs.truehits.in.th/func/th_common_1.4.js"></SCRIPT>



    <SCRIPT src="http://lvs.truehits.in.th/func/th_donate_1.8.js"></SCRIPT><SCRIPT src="http://lvs.truehits.in.th/func/th_common_1.4.js"></SCRIPT><SCRIPT src="http://lvs.truehits.in.th/func/th_donate_1.8.js"></SCRIPT><SCRIPT src="http://lvs.truehits.in.th/func/th_common_1.4.js"></SCRIPT>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 มีนาคม 2010

แชร์หน้านี้

Loading...