วิมุตติคือความหลุดพ้น : หลวงปู่ขาว อนาลโย

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 13 มีนาคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,896
    [​IMG]
    หลวงปู่ขาว อนาลโย
    วัดถ้ำกลองเพล ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู




    การทำความดี มีการให้ทาน รักษาศีล ภาวนา เป็นต้น การทำความชั่ว มีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นต้น ครั้นเราทำความดี ความดีจะตามสนองให้เรามีความสุข มีสุคติเป็นที่ไป ครั้นเราทำความชั่ว ความชั่วจะตามสนองให้เรามีความทุกข์มีทุคติเป็นที่ไป พวกเราได้อัตภาพร่างกายมาสมบูรณ์บริบูรณ์ ก็เป็นเพราะปุพเพกตปุญญตา บุญของเราได้ทำมาแต่ปางก่อน พวกเราจึงไม่ควรประมาท ควรรีบทำคุณงามความดีละความชั่ว

    ความชั่วก็ให้เห็นว่ามันพาไปในทางไม่ดี ทำแล้วได้รับความเดือดร้อน ตกนรกทั้งเป็นนั่นแหละ พวกเรามีการมาทำบุญให้ทาน มีการสดับรับฟังธรรมะ รักษาศีลภาวนา ก็พาให้เกิดความสบายใจนั่นแหละบุญ เห็นกันที่นี่แหละ ไม่ต้องรอตายแล้วจึงจะไปสวรรค์ ใจดีก็เป็นสวรรค์แล้ว ใจร้ายก็เป็นนรกเดี๋ยวนี้แหละ เพราะเหตุนี้ จงทำใจให้ร่าเริง อย่าไปทำให้เศร้าหมองขุ่นมัว มันจึงจะมีความสบาย จึงจะมีความสุข เพราะฉะนั้น จึงควรทำความดี อย่าประมาท ให้พากันทำสติสัมปชัญญะให้รู้ตัวอยู่ทุกเมื่อ คือความรู้ตัวในการกระทำ ก่อนทำอะไรลงไป ให้คิดเสียก่อนว่า มันได้ผลดีหรืออย่างไร ต่อไปข้างหน้า ถ้ารู้ว่ามันไม่ดีให้ความทุกข์ เราก็ไม่ทำ ประกอบแต่คุณงามความดี ให้ระลึกรู้ว่าเมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล เหตุชั่วก็ต้องได้รับผลชั่ว มันจะสูญหายไปไม่มี

    การปฏิบัติธรรมนั้นไม่มีโทษ มีแต่คุณคือจิตไม่ขุ่นมัว จิตผ่องใส จิตเบิกบาน จะยืน เดิน นั่ง นอนก็มีความสุข ไม่มีความทุกข์ จะเข้าสู่สังคมใดๆก็องอาจกล้าหาญ การทำความเพียร เมื่อสมาธิเกิดขึ้นมีขึ้นแล้วจะไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีความเกียจคร้านต่อการงานทั้งทางโลกทั้งทางธรรมจากนั้นก็เป็นปัญญาที่จะมาเป็นกำลัง เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้วรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ จะเรียนทางโลกก็สำเร็จ จะทำทางธรรมก็สำเร็จ

    พระพุทธเจ้าท่านจึงสั่งสอนอบรมให้เกิดให้มีขึ้นมาเบื้องต้นตั้งแต่ศีล ศีลเป็นที่ตั้งของสมาธิ สมาธิเป็นที่ตั้งของปัญญา ไม่ว่าศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางมาแห่งวิมุตติคือความหลุดพ้นด้วยกัน

    ธรรมทั้งหลายตกอยู่ในไตรลักษณ์ มีทุกขัง มีอนิจจัง มีอนัตตา ทั้งสามนี้ให้สำนึก พึงรู้ทุกขัง ชาติความเกิดมาเป็นทุกข์ อนิจจังมันไม่เที่ยงมันแปรเป็นอื่น อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน บอกมันก็ไม่ฟัง บอกไม่ให้มันแก่มันก็แก่ ฟันบอกไม่ให้มันหลุดมันก็หลุด หัวบอกไม่ให้มันหงอกมันก็หงอก หนังบอกไม่ให้มันเหี่ยวมันก็เหี่ยว ผลที่สุดไม่นานก็นอนตายทับแผ่นดิน ส่วนดินก็ไปเป็นดิน ส่วนน้ำก็ไปเป็นน้ำ ส่วนลมก็ไปเป็นลม ฯลฯ เหลือแต่ดวงวิญญาณนี้เท่านั้น นี่ธาตุ ๔ ให้พิจารณาแยกออกไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธาตุดินต่างหาก ธาตุน้ำต่างหาก ธาตุลมต่างหาก ธาตุไฟต่างหาก มารวมกันแล้วก็แตกดับไป เป็นของไม่แน่นอน เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังมีแต่ทุกข์ ถ้าใครไปยึดไปถือ

    ส่วนอริยสัจ ๔ ให้พิจารณาให้รู้ให้เห็นตามเป็นจริง ทุกข์ ความกำหนดรู้ สมุทัย ควรละเสีย นิโรธ ควรทำให้แจ้ง มรรค ควรทำให้เกิดให้มี

    ชาติ – ความเกิด ชรา – ความแก่ พยาธิ – ความเจ็บ มรณะ – ความตาย นี่ทุกขสัจทุกข์มันเกิดมาจากไหน ทุกข์ เป็นตัวผล สมุทัย เป็นตัวเหตุ สมุทัย คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความใคร่ในรูปที่สวยที่งามในวัตถุกามต่างๆ มีเงินทองข้าวของเป็นต้นเรียกว่า กามตัณหา ความอยากมี อยากเป็น อยากเป็นโน่นอยากเป็นนี่ อยากเป็นเศรษฐี คหบดีเป็นต้น เรียกว่า ภวตัณหา ความไม่พอใจ ของได้มาแล้วหายไปก็เกิดความไม่พอใจ ร่างกายของตนก็ดี ของคนอื่นก็ดี เมื่อแก่ลงมามีความชำรุดทรุดโทรม ผมหงอก ฟันหัก แก้มตอบเป็นต้น เลยไม่พอใจหรือเสียงเขาด่า เขานินทา ได้ยินเข้าก็เกิดความไม่พอใจ นี้เรียกว่า วิภวตัณหา ตัณหาทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นเหตุให้สัตว์ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏจักร ในภพน้อยภพใหญ่นับกัปนับกัลป์ไม่ได้

    ตัณหามันเกิดขึ้นมาจากไหนต้องค้นหาเหตุมัน เหตุมันเกิดจากอายตนะภายใน และอายตนะภายนอกมาสัมผัสกัน ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เพียรสำรวมเพียรละ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ทำจิตให้เป็นกลางวางเฉยต่ออารมณ์ นี่เรียกว่า การดับตัณหา

    การทำความเพียร การสำรวมและการทำความดีทุกอย่างเพื่อละตัณหานี้แหละเป็นทางมรรคเมื่อมีปัญญาเห็นความเกิดขึ้น ความดับไปของสังขารทั้งหลายทั้งปวง เห็นแน่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ป็นเพียงธาตุ ๔ มาประชุมกันเข้า แล้วก็แตกสลายไปอย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมา ฐิติธรรมมีการตั้งขึ้น มีอยู่ แล้วดับไป พิจารณารู้เท่าทันในสิ่งเหล่านี้ไม่หวั่นไหว เรียกว่า นิโรธ คือ ผู้วางเฉยต่ออารมณ์ ดังนี้แล​
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,896
    ควบคุมใจ

    พระพุทธเจ้าว่าเราตถาคตเป็นผู้แนะนำสั่งสอนทาง ทางออกจากโลก ทางไปสวรรค์ก็ดี ทางไปนิพพานก็ดี เราตถาคตเป็นผู้แนะนำสั่งสอนให้เท่านั้นแหละ ตนนั่นแหละ พวกอุบาสก – อุบาสิกา ทั้งหลายต้องทำเอาเอง แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระสาวกทั้งหลาย ก็ทำเอาเองทั้งนั้น ตนแหละทำให้ตน ตนจะออกจากโลกก็แม่นตน ตั้งอกตั้งใจทำใส่ตน ตนจะติดอยู่ในโลกก็แม่นใจของตนไม่อยากไปเพราะหลงตนหลงตัว

    ทางปฏิบัติน่ะเราก็ได้ยินได้ฟังมาแล้ว แล้วก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเอา พระพุทธเจ้าแนะนำสั่งสอนหรือครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอน ก็ไม่หนีจากกายคตา คือปัญจกรรมฐานนี่แหละ ต้องพิจารณาเราจะพิจารณานอกมันไปก็เป็นนอกไปเสีย ไกลไปเสีย เพื่อให้จิตให้ใจนั่นแหละรู้จักสกนธ์กายอันนี้ รู้จักก้อนอันนี้ว่ามันเป็นอย่างหนึ่ง มันเป็นของกลาง ไม่ใช่ของใครสักคน เรานี้ได้สมบัติอย่างดีคือ สกนธ์กายนี้มี ตา หู จมูก ลิ้น กายดี มีใจดี ได้สมบัติอันดีมาใช้ เราจะใช้สอยมัน เราจะเดินทางไปสวรรค์ก็ดี จะเดินทางไปพระนิพพานก็ดี ต้องอาศัยอันนี้ จะมีแต่ดวงจิตอย่างเดียวก็ไม่สำเร็จอะไรหมดทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าได้เทศน์ไว้ว่า มโนปุพฺพงคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายจะทำดี ทำกุศลดี ก็ใจนี่แหละเป็นผู้ถึงก่อน เป็นผู้ถึงพร้อม จะทำบาปอกุศลก็ใจนี่แหละ จะผ่องแผ้วผ่องใสเบิกบานก็ใจนี่แหละ จะเศร้าหมองขุ่นมัวก็ใจนี่แหละ ใจเศร้าหมองขุ่นมัวแล้วก็ไม่มีความสุขอยู่ในโลก จะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข ครั้นใจผ่องแผ้วละก็ พระพุทธเจ้าท่านว่า มนสา เจ ปสนฺเนน บุคคลผู้มีใจผ่องแผ้วดีแล้ว แม้จะพูดอยู่ก็มีความสุข แม้จะทำอยู่ก็มีความสุข ตโต นํ สุขมเนฺวติ อยู่ที่ไหนๆก็มีความสุข มีความสุขเหมือนกะเงาเทียมตนไป ฉายา ว อนุปายินี เหมือนเงาเทียมตนไป ไปสวรรค์ก็ดี มนุษย์ก็ดี

    เพราะเหตุนั้นแหละ ให้เราพากันตั้งใจอบรม ตั้งสติไว้ที่ใจ ควบคุมใจให้มีสติสัมปชัญญะ มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ การทำการพูดการคิด ก็อย่าให้มันผิดมันพลาดไป ควบคุมให้มันถูก ครั้นมันผิดมันพลาด เราก็มีสติยั้งไว้ ละ ปล่อย วาง ไม่เอามัน ทางมันผิดน่ะ พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ทางไปนรก ทางไปสวรรค์ ทางไปพรหมโลก ทางไปพระนิพพาน พระองค์ก็บอกไว้แล้ว ใหวางกายให้เป็นสุจริต วาจาให้บริสุทธิ์ ใจให้บริสุทธิ์ นี้ทางไปสวรรค์ ทางมามนุษย์ ทางไปพระนิพพาน ให้บริสุทธิ์อย่างนี้ ทางไปนรกนั่นเรียกว่าทุจริตนั้น ทางกาย ทางวาจา ทางใจ อันนี้ทางไปนรก เราจะเว้นเสียไม่ไปละ รู้จักแล้ว เราจะไปแต่ทางที่ราบรื่น ทางสบาย การเดินก็ทางกายวาจาใจเท่านั้นแหละ ผู้ที่จะเที่ยวเอาภพเอาชาติ นับกัปป์นับกัลป์ไม่ได้ตั้งแต่โลกเป็นโลกมา คือดวงจิตของเรานี่เอง ดวงจิตของเรานี่เองเป็นผู้ก่อกรรมก่อเวรแล้วก่อเล่า ไม่เบื่อสักที ก็แม่นดวงจิตของเรานี่แหละ เพราะเหตุนั้นเราจึงต้องอบรมจิตของเราให้ดี ให้ใจรู้เสีย ใจนี่แหละมันเป็นผู้หลงจนนับภพนับชาติไม่ได้ ภพน้อยภพใหญ่เที่ยวอยู่ในสังสารจักรนี่ จึงให้เข้าใจเสียว่าเจ้ากรรมนายเวรคือใจ ตัดกรรมแม่นใจ ดวงใจอันเดียววิญญาณอันเดียวเป็นตัวกรรม แต่งกรรมเสียแล้วให้เวียนตายเวียนเกิดที่นี่ ไม่เลิก เรารู้จักแล้ว เราต้องควบคุมใจ แนะนำสั่งสอนใจ ทำใจของเราให้ผ่องแผ้ว ว่าเอาย่อๆนี่แหละ กว้างขวางก็ได้ยินมาพอแฮง (แรง) แล้ว เอาย่อๆ ควบคุมใจเท่านั้นแหละเดี๋ยวนี้ ใจนี้ เจ้าของนรกก็แม่นใจนี่แหละม่าง (เลิก,ทิ้ง) นรกก็แม่นใจนี่แหละ ครั้นมันไม่ดีละก็ร้อนเป็นทุกข์เหมือนใจจะขาด ครั้นใจไม่ดีละมันกลุ้มใจเป็นทุกข์จนฆ่าตัวตายนี่แหละ ถือว่าเราเป็นเรานี่ก็เพราะใจนี่แหละไม่ใช่อื่นดอก เพราะมันไม่รู้ท่านเรียกว่าอวิชชา ตัวใจนี่แหละอวิชชา เราจึงควรสดับตรับฟังแล้วก็ค้นคว้าพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผล

    ทุกข์มันมาจากไหน ให้พิจารณาทุกข์ก่อน ทุกข์เป็นของจริงอันประเสริฐ มันมาจากไหนค้นขึ้นไปซิ เห็นแต่มาจากโง่นั่นแหละ ดวงจิตเป็นผู้โง่ มันต้องเป็น มันต้องเดือดร้อน มันถึงใคร่ มันถึงปรารถนา มันถึงอยากเป็นนั่นเป็นนี่ มันไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ เพราะเกลียดเพราะชัง มันชังมันก็ไม่อยากเป็น แล้วก็หาของมาแก้ไข หาคิดอีหยังมาทา หนังเหี่ยวก็เอามาทาลอกหนังออก มันได้กี่วัน มันก็เหี่ยวอย่างเก่านี่หาทางแก้ดู ท่านว่าวิภวตัณหา มันเป็นกับดวงใจ เราสดับรับฟังอยู่ อบรมอยู่ทุกวันนี้ ทำความเพียรอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะอยากรู้จักใจของเรา ครั้นรู้แล้ว ก็คุมเอาแต่ใจนี่ ขัดเกลาเอาแต่นี่ สั่งสอนเอาแต่นี่ ให้มันรู้เท่าสังขารนี่แหละ มันไม่รู้เพราะมันโง่ว่าแม่นหมดทั้งก้อนนี้ เป็นตัวเรา เป็นผู้หญิง ผู้ชาย ยึดถือไปยึดถือออกไปโดยรอบๆ แผ่นดินยึดในตัวยังไม่พอ ยึดแผ่นดินออกไปอีก นี่แหละเพราะความหลงก็ยึด ทั้งการทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง เรียนวิชาศิลปะทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เพื่อจะบำรุงบำเรอครอบครัวของตนบำรุงบำเรอตนให้เป็นสุข บำรุงพระศาสนา ค้ำจุนพระศาสนาก็เป็นการดี ขอให้รู้เท่าแล้วอย่าไปยึดมันเท่านั้นแหละ

    ในปฏิจจสมุปบาท ท่านว่า อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยเกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ท่านว่าให้ดับความโง่อันเดียวเท่านั้น ผลดับหมด เพราะธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ ธรรมทั้งหลายก็คือ ดีก็ดี ชั่วก็ชั่ว ไหลมาแต่เหตุความโง่ ความไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นตัวตนก็ได้รับผลเป็นสุขเป็นทุกข์สืบไป ท่านเรียกว่า วัฏฏะ การวน วนไม่มีที่สิ้นสุด เราท่องเที่ยวอยู่นี่ตั้งแต่แผ่นดินเป็นแผ่นดินมาแล้ว ทุกคนนี่แหละ คุณหมอก็ดี คุณหญิงก็ดี เกิดมาชาตินี้นับว่าบุญบารมีอันพวกท่านทั้งหลายได้อบรม ศีล ๕ ศีล ๘ รักษาอุโบสถ รักษากรรมบถ ๑๐ จึงเป็นผู้สมบูรณ์ เกิดมาก็ไม่เป็นผู้เกียจคร้าน ไม่เป็นผู้มักง่าย มีความพอใจแสวงหาวิชาศิลปะจนได้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นสูง นี่ก็เพราะบุญกุศลของเราได้สร้างสมอบรมมา จึงว่า ปุพเพกตปุญญตา คือได้สร้างสมไว้แล้วแต่กาลก่อนแล้วก็ได้เกิดในประเทศอันสมควร ประเทศอันสมควรก็หมายเอาสกนธ์กายอันนี้ หรือจะหมายเอาแผ่นดิน ฟ้า อากาศ ก็ได้ หรือจะหมายเอาประเทศที่มีพระพุทธศาสนาตั้งมั่นถาวร และมีอาจารย์นักปราชญ์แนะนำสั่งสอนได้ อันนี้ก็ว่าประเทสอันสมควร ปุพเพกตปุญญตา พวกเราได้เคยอบรมสร้างสมบุญกุศลมาหลายภพหลายชาติแล้ว จึงเป็นผู้บริบูรณ์สมบูรณ์ แล้วก็ได้เกิดในประเทศอันสมควร ประเทสเราได้นับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่บรรพบุรุษจนตราบเท่าทุกวันนี้ เราก็ได้นับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ได้ตั้งตนไว้ในที่ชอบ คือตั้งตนไว้ในการสดับตรับฟัง ทราบทุกสิ่งทุกอย่าง ในทางโลกก็ดี เกื้อกูลอุดหนุนโลกให้เจริญ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำอัตตประโยชน์ ประโยชน์ของตนก็ได้แล้ว ประโยชน์ของผู้อื่นของโลกก็ได้อยู่ นี่แหละชื่อว่าตั้งตนไว้ในที่ชอบ แล้วก็ตั้งตนอยู่ในศีล ในการภาวนา ตั้งตนอยู่ในการสดับรับฟัง นี่เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนในที่ชอบ ท่านกล่าวว่าเป็นมงคลอันประเสริฐสุด ให้มีสติควบคุมใจของตน อันนี้ก็ชื่อว่าตั้งตนไว้ในที่ชอบอย่างสูงสุด

    นี่แหละ ให้ควบคุมดวงจิตของเราให้รู้จักเสีย เจ้ากรรมนายเวรก็คือดวงจิตของเรานี่แหละ ผีนรกก็เป็นดวงจิตอันนี้ สวรรค์ก็เป็นดวงจิตอันนี้ พรหมโลกก็ดวงจิตอันนี้ ครั้นรู้จักแล้ว ก็ทำความเพียรต่อไปจนเกิดนิพพานความเบื่อหน่ายในอัตภาพของตนที่เป็นมาหลายภพหลายชาติ การเกิดเวียนไปเวียนมาก็ไม่ได้อะไร มีแต่การสดับรับฟัง มีแต่การบริจาคให้ทาน มีแต่ศีลของตนเท่านี้เป็นอริยทรัพย์ทรัพย์ภายในติดตามไปกับดวงจิตของเราทุกภพทุกชาติ จิตเมื่อมันทำความชั่วไว้แล้วก็ไม่ลืม ใครไม่ต้องการสักคนหมดทั้งนั้นความชั่วบาปกรรม ให้คิดดู แต่นักโทษเขาลักเขาปล้นสะดมแล้ว เขาก็หลบหนีไปซ่อนอยู่ตามป่าเขาตามถ้ำตามดง เพราะเขาไม่ปรารถนาจะให้พวกตำรวจไปจับเขา อันนั้นมันก็ไม่พ้นดอกบาปน่ะ ฉันใดก็ดี ครั้นทำลงไปแล้ว ทำบาป อกุศลจิตก็เป็นผู้จำเอา ไปตกนรกก็แม่นดวงจิตนั่นแหละเป็นผู้ไปตก อัตภาพคือร่างกายของเรานี้มันก็นอนทับดิน ส่วนดินมันก็เป็นดิน ส่วนน้ำมันก็เป็นน้ำ ส่วนลมส่วนไฟมันก็เป็นลมเป็นไฟของเก่ามัน ครั้นพ้นแล้วก็กลับมาถือเอาดินเอาน้ำของเก่าอีกเท่านั้นแหละแล้วก็มาใช้ดินน้ำลมไฟนี่แหละครบบริบูรณ์ เอามาใช้ในทางดีทางชอบ ก็เป็นเหตุให้ได้สำเร็จมรรคผลพระนิพพาน พระพุทธเจ้าสร้างบารมีก็อาศัยดินอันนี้แหละ ประเทสอันสมควรอันนี้แหละ สาวกจะไปพระนิพพานตามพระพุทธองค์ก็อาศัยอัตภาพอันนี้ ครั้นไม่อาศัยอัตภาพอันนี้ มีแต่ดวงจิตหรือมีแต่ร่างซื่อๆ ก็ไม่สำเร็จอะไรหมดทั้งนั้น เหมือนกันทั้งนั้น พวกเทพยดาได้ชมวิมานชมความสุขอยู่ตลอดชีวิตชมบุญชมกุศล ก็ทำเอามาแต่เมืองมนุษย์ ครั้นจุติแล้วก็ได้ไปเสวยผลบุญกุศลของตน ครั้นหมดบุญแล้วก็ลงมาเมืองมนุษย์มาสร้างอีกแล้วแต่จะสร้างเอา อันชอบบุญก็ตั้งหน้าตั้งตาทำเอาบุญ อันชอบบาปก็ตั้งหน้าตั้งตาทำเอาบาป เหมือนพระเทวทัตนั่นเอง ต่างคนต่างไปอย่างนั้น

    อาตมาบอกไว้เท่านั้นว่า ให้มีสติคุมดวงจิต สัตว์นรกก็แม่นจิต สัตว์อเวจีก็แม่นจิต พระอินทร์พระพรหมก็แม่นจิต ที่เข้าพระนิพพานก็แม่นจิต ไม่ใช่ใคร จิตไม่มีตนมีตัว จิตเหมือนวอก (ลิง) นี่แหละแล้วแต่มันจะไป บังคับบัญชามันไม่ได้ แล้วแต่มันจะปรุงจะแต่ง บอกไม่ได้ไหว้ไม่ฟัง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าให้วางมันเสีย อย่าไปยึดถือมัน ก็จิตนั่นแหละมันถือว่าตัวกู อยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี เราถือว่าเราเป็นผู้ชาย เราเป็นผู้หญิง ก็แม่นจิตนั่นแหละเป็นผู้ว่า มันไม่มีตัวไม่มีตนดอก แล้วพระพุทธเจ้าว่าให้วางเสียให้ดับวิญญาณเสีย ครั้นดับวิญญาณแล้ว ไม่ไปก่อภพก่อชาติอีก ก็นั่นแหละพระนิพพานหละ แน่ะพระพุทธเจ้าบอกอย่างนั้น มันไม่อยู่ที่อื่น นรกมันอยู่นี่ พระนิพพานก็อยู่นี่ อย่าไปค้นที่อื่น อย่าไปพิจารณาที่อื่น ให้ค้นที่สกนธ์กายของตน ให้มันเห็นเป็นอสุภะอสุภัง ให้เห็นเป็นของปฏิกูล ให้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายมันนั่นแหละ แต่กี้มันเห็นว่าเป็นของสวยของงามของดี ดวงจิตนั่นเมื่อมีสติควบคุมมีสัมปชัญญะค้นหาเหตุผล ใคร่ครวญอยู่ มันเลยรู้เห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้เป็นของปฏิกูล ของเน่าเปื่อยผุพัง แล้วมันจะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย จิตเบื่อหน่าย จิตไม่ยึดมั่นแล้ว เรียกว่า จิตหลุดพ้น ถึง วิมุตติ วิมุตติ คือความหลุดพ้นจากความยึดถือ หลุดพ้นจากอุปทานความยึดมั่นถือมั่น พ้นจากภาพจากชาติ ตั้งใจทำเอา


    www.dhammasavana.or.th/
     
  3. มุ่งเต็มใจ

    มุ่งเต็มใจ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 กันยายน 2006
    โพสต์:
    7,755
    ค่าพลัง:
    +23,468

แชร์หน้านี้

Loading...