(๓๐) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 23 กุมภาพันธ์ 2010.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๓๘
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๖
    เรื่อง

    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า ป่าช้า ๙ ข้อที่ ๓)


    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ว่าด้วยป่าช้า ๙ ข้อที่ ๓ สืบต่อไป

    ถ. ป่าช้า ข้อที่ ๓ ได้แก่อะไร?
    ต. ได้แก่ การพิจารณาซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูกยังมีเนื้อและเลือด มีเส้นเอ็นรัดรึงอยู่ ผู้ปฏิบัติก็พิจารณาน้อมเข้ามาสู่กายของตนว่า ร่างกายนี้ ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้เลย

    ถ. ที่ตอบอย่างนี้ มีหลักฐานอะไรเป็นเครื่องอ้าง?
    ต. มีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นเครื่องอ้างว่า
    "ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย สรรีรํ สิวถิกาย ฉฑฺฑิตํ. อฏฺฐิสงฺขลิกํ สมํสโลหิตํ นหารุสมฺพนฺธํ โส อิมเมว กายํ อุปสงฺหรติ" เป็นต้น
    ใจความว่า ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ป่าช้า ๙ ข้ออื่นยังมีอยู่อีกแล คือท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร พึงเห็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเหลือแต่ร่างกระดูก มีเนื้อเลือด และเส้นเอ็นรัดรึงอยู่ แม้ฉันใด เธอพึงน้อมเข้ามาสู่กายนี้ ฉะันั้นเหมือนกันว่า "ร่างกายของเรานี้ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้" ดังนี้
    ถ. ในป่าช้าข้อที่ ๓ นี้ จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ผลดีตามพระพุทธประสงค์ โปรดได้อธิบาย?
    ต. มีวิธีปฏิบัติเป็น ๒ แบบ คือ แบบสมถะ ๑ แบบวิปัสสนา ๑

    ถ. แบบสมถะและแบบวิปัสสนาทั้ง ๒ นี้ ต่างกันตรงไหน?
    ต. ต่างกันที่อารมณ์ คือ ถ้าเป็นสมถะในข้อนี้ได้บัญญัติเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นวิปัสสนา ได้ปรมัตถ์เป็นอารมณ์

    ถ. แบบสมถะมีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. แบบสมถะมี ๒ อย่าง คือปริตตสมถะ ๑ มหัคคตสมถะ ๑

    ถ.สมถะทั้ง ๒ นี้ ต่างกันอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร จึงจะไปวิปัสสนาได้?
    ต. ต่างกันอย่างนี้และปฏิบัติอย่างนี้คือ
    ก. ปริตตสมถะ แปลว่า สมถะเล็กน้อย ได้แก่สมถะที่เจริญแล้ว มีสมาธิเกิดเพียง ๒ ขั้น คือขณิกสมาธิ กับอุปจารสมาธิ เท่านั้น เช่นผู้ปฏิบัติไปสู่่ป่าช้าแล้วเอาร่างกระดูกเป็นอารมณ์ภาวนาว่า "อฏฺฐิสงฺขลิกํ ปฏิกูลํฝ" จนเกิดสมาธิแล้ว พิจารณาว่า ร่างกระดูกนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วใช้สติกำหนดที่ท้องภาวนาว่า "พองหนอ ยุบหนอ" ต่อๆ ไป จนกว่าจะเห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ ได้มรรค ผล นิพพาน อย่างนี้เรียกว่า เริ่มต้นด้วยแบบสมถะก่อนแล้วต่อวิปัสสนา

    ข. มหัคคตะสมถะ แปลว่า สมถะที่ทำได้ดีจนถึงฌาน เช่น เจริญอัฏฐิกสังขลิกอสุภะ ถึงฌาน ถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อได้ฌานแล้ว ให้เอาฌานเป็นบาทต่อวิัปัสสนา จนเห็นความเกิดดับของรูปนาม เบื่อหน่ายรูปนาม อยากหลุดพ้นจากรูปนาม ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงๆ ใจวางเฉยอยู่กับรูปนาม เห็นอริยสัจ ๔ รูปนามดับ ทำลายโคตรของปุถุชนเข้าสู่่โคตรของพระอริยเจ้า ตัดกิเลสได้เป็นสมุจเฉทประหาน มีนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้เรียกว่า เอาสมถะที่ได้ญาณแล้วเป็นบาทต่อวิปัสสนา
    ถ. แบบวิปัสสนา มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. มี ๓ คือ จุฬวิปัสสนา ๑ มัชฌิมวิปัสสนา ๑ มหาวิปัสสนา ๑

    ถ. วิปัสสนาทั้ง ๓ นี้ต่างกันอย่างไรบ้าง?
    ต. ต่างกันอย่างนี้ คือ
    ๑. จุฬวิปัสสนา แปลว่า วิปัสสนาน้อยๆ ได้แก่ผู้ปฏิบัติได้ลงมือเจริญวิปัสสนา โดยกำหนดรูปนาม ภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ เป็นต้น จนเห็นรูปนามเห็นเหตุปัจจัยของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของไม่เที่ยง มีแต่สิ้นไปหมดไปฝ่ายเดียว เป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ เป็นของน่ากลัว เป็นอนัตตา คือบังคับบัญชาไม่ได้ และไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย

    ๒. มัชฌิมวิปัสสนา แปลว่า วิปัสสนาอย่างกลาง ได้แก่ผู้ปฏิบัติตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงๆ โดยเดินจงกรมบ้าง นั่งกำหนดบ้าง กำหนดเวทนาบ้าง กำหนดจิตบ้าง กำหนดธรรมบ้าง ตามนัยแห่งพระไตรปิฎก อันมีปรากฏอยู่ในมหาสติปัฏฐานนั่นเอง เห็นความเกิดดับของรูปนาม คือญาณที่ ๔ เป็นต้นไป จนกระทั่งถงสาขารุเปกขาญาณ คือญาณที่ ๑๑

    ๓. มหาวิปัสสนา แปลว่า วิปัสสนาใหญ่ คือวิปัสสนา่ที่มีกำลังแก่กล้าสามารถเห็นอริยสัจ ๔ ซึ่งเรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ และสามารถทำลายปุถุโคตร คือโคตรของปุถุชนอันหนาแน่นไปด้วยกิเลสตัณหาให้เบาบางลงไป รูปนามดับหมดซึ่งเรียกว่า โคตรภูญาณ ต่อจากนั้นมรรคญาณก็เกิดขึ้น ประหานกิเลสคือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสให้เด็ดขาดออกไป แล้วปัจจเวกขณญาณก็เกิดขึ้นมา พิจารณากิเลสที่ละ ที่เหลือ มรรค ผล นิพพาน

    ถ. วิปัสสนาทั้ง ๓ อย่างนี้ เกี่ยวข้องกับป่าช้า ๙ ข้อที่ ๓ อย่างไร?
    ต. เกี่ยวข้องกันอย่างนี้ คือ
    ก. ป่าช้า ๙ ข้อที่ ๓ ได้แก่การพิจารณาซากศพของคนที่ตายไปแล้ว ซึ่งมีร่างกระดูก มีเนื้อ มีเลือด มีเส้นเอ็นรัดรึงอยู่

    ข. วิปัสสนาทั้ง ๓ ได้แก่การพิจารณาซากศพของคนเป็น คือ คนที่ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ มีร่างกระดูก ๓๐๐ ท่อน มีเนื้อ มีเลือด มีเส้นเอ็นรัดรังอยู่เช่นเดียวกัน

    ถ. การเจริญสมถะและวิปัสสนาทั้ง ๒ ประการนี้ เพื่อประโยชน์อะไรบ้าง?
    ต. ประโยชน์ที่ได้จากการเจริญสมถะและวิปัสสนานั้นนับไม่ถ้วน เพราะมีมากมายเหลือที่จะพรรณนา แต่เมื่อจะกล่าวโดยย่อๆ แล้ว ย่อมมีอยู่ดังนี้
    ๑. ทิฏฺฐิธมฺมสุขวิหาราย เพื่ออยู่เป็นสุขในภพปัจจุบันทันตาเห็น
    ๒. ญาณทสฺสนปฏิลาภาย เพื่อให้ได้ญาณทัสสนะ
    ๓. สติสมฺปชญฺญาย เพื่อให้ได้สติสัมปชัญญะ
    ๔. อาสวกฺขยาย เพื่อให้สิ้นอาสวกิเลส

    ถ. ผู้ที่จะปฏิบัติให้ถึงมหาวิปัสสนานั้น จะอาศัยคุณธรรมอะไรบ้างมาเป็นเครื่องประคับประคองให้การปฏิบัติได้ดำเนินไปถูกต้องตามทำนองคลองธรรม?
    ต. ในปฏิสัมภิทามรรค ท่านแสดงไว้มีอยู่หลายประการ จะได้ยกมาบรรยายพอเป็นตัวอย่างสัก ๑๑ ข้อ ดังต่อไปนี้
    ๑. ทัสสนะ มีความเห็นถูกเป็นลักษณะ ได้แก่เห็นปัจจุบันธรรม เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ เป็นต้น

    ๒. ปหานะ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ แล้วละโลภะ โทสะ โมหะ ได้ตามสัดส่วนแห่งการปฏิบัติ

    ๓. อุปัตถัมภนะ ต้องหมั่นบำเพ็ญไตรสิกขาให้แก่กล้า ดุจบุคคลหมั่นรดน้ำต้นไม้ในสวนของตน ฉะนั้น

    ๔. ปริยาทานะ ครอบงำกิเลสด้วยไตรสิกขา

    ๕. วิโสธนะ ชำระกิเลสให้หมดไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา

    ๖. อธิฏฐานะ ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ไม่ย่อหย่อน

    ๗. โวทานะ ยังใจให้ผ่องแผ้วสะอาดปราศจากมลทิน ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา

    ๘. วิเสสาธิคมะ พยายามปฏิบัติเต็มที่ ไม่เห็นแก่ความเกียจคร้าน จนสามารถได้บรรลุคุณวิเศษตั้งแต่ต่ำจนถึงสูง

    ๙. ปฏิเวธะ ปฏิบัติต่อไปไม่ท้อถอยจนได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยธรรม

    ๑๐. สัจจาภิสมยะ มีความบากบั่นมั่นอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา เป็นนิตย์ จนสามารถได้รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

    ๑๑. ปติฏฐาปนะ สามารถยังจิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา จนกระทั่ง ถึงมรรค ผล นิพพาน เป็นปริโยสาน
    ถ. รู้สึกว่ามากมายจนแทบจะจำไม่ไหว ถ้าจะย่อให้สั้นๆ กว่านี้จะได้หรือไม่ เพื่อสะดวกแก่นักปฏิบัติผู้มีสติปัญญาน้อย?
    ต. ได้ เมื่อจะย่อให้สั้นก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง ศีล สมาธิ ปัญญา ในที่นี้ ได้ปรมัตถ์ คือรูปกับนามเป็นอารมณ์อย่างเดียวเท่านั้น

    ถ. ถ้าจะย่อให้สั้นกว่านี้จะได้หรือไม่ ถ้าได้จะได้แก่อะไร?
    ต. ได้ ได้แก่ความไ่ม่ประมาท

    ถ. ความไม่ประมาท คืออะไร?
    ต. คือมีสติอยู่เสมอ ไม่อยู่ปราศจากสติ

    ถ. ทำอย่างไรจึงจะมีสติอยู่เสมอได้?
    ต. ต้องเจริญสติปัฏฐาน ๔

    ถ. จะกำหนดตรงไหน จึงจะถูกสติปัฏฐาน ๔?
    ต. กำหนดรูปนาม

    ถ. รูปนามอยู่ที่ไหน?
    ต. อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ

    ถ. จะภาวนาว่าอย่างไร?
    ต. เวลาตาเห็น ภาวนาว่า เห็นหนอ เวลาหูได้ยิน ภาวนาว่า ได้ยินหนอ เวลาจมูกได้กลิ่น ภาวนาว่ากลิ่นหนอ เวลาลิ้นได้รส ภาวนาว่า รสหนอ เวลากายถูกภาวนาว่า ถูกหนอ เวลาใจคิด ภาวนาว่า คิดหนอ

    ถ. ทำไมจึงต้องภาวนาตามทวารทั้ง ๖ อย่างนี้?
    ต. เพราะกิเลส คือโลภ โกรธ หลง เกิด ๖ ทางเท่านี้ ไฟไหม้ที่ไหนเราก็ต้องเอาน้ำไปดับที่นั้น เช่นไฟไหม้โรงหนัง ก็ต้องไปดับที่โรงหนังจึงจะได้ จะเอารถขนน้ำไปดับโรงละครไม่ได้เป็นอันขาด ข้อนี้ฉันใด การปฏิบัติเพื่อดับกิเลสก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือกิเลสเกิดที่ไหนต้องดับที่นั้น จะดับที่อื่นไม่ได้เป็นอันขาด เช่นเดียวกัน

    ถ. ถ้าปฏิบัติตามที่บรรยายมานี้ จะถูกป่าช้า ๙ ข้อที่ ๓ หรือไม่?
    ต. ถูกตรงทีเดียว รับรองว่าไม่พลาดเลย

    ถ. ข้อว่า มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายในภายในอยู่ เป็นต้นนั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่าพิจารณาเห็นรูปนามของตน พิจารณาเห็นรูปนามของคนอื่น และพิจารณาเห็นทั้งของตนและของคนอื่น

    ถ. ข้อว่า มีปกติพิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นเป็นต้นนั้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า เห็นความเกิดดับของรูปนาม ได้แก่ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไป

    ถ. ข้อว่า อตฺถิ กาโย เป็นต้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า สกลกายของผู้ปฏิบัติมีเพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือ รูปกับนาม แม้สกลกายของบุคคลทั่วโลก ก็มีเพียงรูปกับนามเท่านี้ เหมือนกันหมดไม่มียกเว้นใครเลย

    ถ. ข้อว่า อนสฺสิโต เป็นต้น หมายความว่าอย่างไร เพราะเหตุไร?
    ต. หมายความว่า ไม่มีตัณหา ไม่มีมานะ ไม่มีทิฏฐิ เพราะการปฏิบัติของผู้นั้นได้ผลดีแล้ว

    ถ. ข้อว่า น จ กิญฺจิ เป็นต้น หมายความว่าอย่างไร?
    ต. หมายความว่า ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นรูปนาม เพราะละกิเลสได้แล้วตามส่วนของมรรค มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น

    ถ. เมื่อปฏิบัติได้อย่างที่บรรยายมานี้ ชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนืองๆ ได้แล้วหรือยัง มีอะไรเป็นหลักอ้าง?
    ต. ชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนืองๆ ได้เต็ม ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว มีพระบาลีเป็นหลักอ้างอยู่ว่า
    เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขึฺ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ.
    ดูกร ท่านผู้เป็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนืองๆ ดังที่ได้บรรยายอย่างนี้

    ถ. การกำหนดป่าช้า ๙ ข้อที่ ๓ จัดเป็นอริยสัจ ๔ ได้อย่างไร?
    ต. จัดเป็นอริยสัจ ๔ ได้อย่างนี้ คือ
    ๑. ตติยสิวฏฺฐิกปริคฺคาหิกา ทุกฺขสจฺจํ
    สติที่กำหนดป่าช้าข้อที่ ๓ จัดเป็นทุกขสัจ

    ๒. ตสฺสา สมฺฏฺฐาปิกา ปุริมตณฺหา สมุทยสจฺจํ
    ตัณหาก่อนๆ ที่ยังสตินั้นให้เกิดขึ้น จัดเป็นสมุทยสัจ

    ๓. อุภินฺนํ อปฺปวตฺติ นิโรธสจฺจํ
    ทุกข์กับสมุทัยทั้ง ๒ ดับลงไป จัดเป็นนิโรธสัจ

    ๔. ทุกฺขปริชานโน สมุทยปชหโน นิโรธรมฺมโณ อริยมคฺโค มคฺคสัจฺจํ
    อริยมรรค กำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย มีนิโรธ คือพระนิพพานเป็นอารมณ์ จัดเป็นมัคคสัจ

    วันนี้ ได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ว่าด้วยป่าช้า ๙ ข้อที่ ๓ มา ก็นับว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้
    ********
     

แชร์หน้านี้

Loading...