พระอาจารย์ใหญ่มั่นสอนหลวงปู่ขาวและพระลูกศิษย์พิจารณาธรรมเมื่อยามเจ็บไข้

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 31 กรกฎาคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,027
    ขอกราบอนุญาตและกราบขอบพระคุณ หลวงปู่มั่น และหลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านด้วยดวงจิต
    กุศลผลบุญใดที่พึงบังเกิดจากธรรมทานนี้ ขอน้อมถวายแด่หลวงปู่มั่นและ หลวงปู่ขาว อนาลโย และจงเป็นบุญเป็นปัจจัยแด่ท่านผู้ที่ได้รวบรวมเรียบเรียงไว้คือท่าน รศ.ดร.ปฐม - รศ.ภัทรา นิคมานนท์
    รวมทั้งท่านเจ้าของภาพ และท่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในธรรมทานนี้ทุกๆท่าน

    เตือนพระที่เจ็บไข้
    หลวงปู่ขาวเล่าว่า บางครั้งเวลาพระลูกศิษย์เป็นไข้ หลวงปู่มั่นท่านจะเตือนเป็นเชิงเหน็บๆว่า
    “ท่านเคยคิดบ้างไหมว่า ท่านเคยทุกข์ก่อนจะตาย ทุกข์มากยิ่งกว่าทุกข์กำลังเป็นขณะนี้ ในภพชาติที่ผ่านๆมา เพียงทุกข์ในเวลาเป็นไข้ธรรมดา ซึ่งโลกๆเขามิได้เรียนธรรมเขายังพออดทนได้ บางรายเขายังมีสติดี มีมารยาทงามกว่าพระเราเสียอีก คือเขาไม่แสดงอาการทุรนทุราย กระสับกระส่ายร้องครางทึ้งเนื้อทึ้งตัว เหมือนพระบางองค์ที่แย่ๆ ซึ่งไม่น่าจะมีแฝงในวงพุทธศาสนาเลย และไม่น่ามี เพราะจะทำให้ศาสนาเปื้อนเปรอะได้ด้วย
    แม้เจ็บมาก ทุกข์มาก เขายังมีสติควบคุมมารยาทให้อยู่ในความพอดีงามตาได้อย่างน่านิยม”

    อย่านอนดูไข้เฉยๆ
    เมื่อพระอาจารย์ใหญ่มั่น สอนพระลูกศิษย์ที่กำลังนอนเจ็บไข้อยู่ว่า “ส่วนท่านเองไม่เห็นเป็นไข้หนักถึงขนาดนั้น ทำไมนอนใจไม่พิจารณา หรือมันหนักด้วยความอ่อนแอทับถมจิตใจ จึงทำให้ร่างกายอ่อนเปียกไปด้วย พระกรรมฐานถ้าขืนเป็นลักษณะนี้มากๆ ศาสนาต้องถูกตำหนิ กรรมฐานต้องล่มจม ไม่มีใครสามารถทรงไว้ได้ เพราะมีแต่คนอ่อนแอ คอยแต่ขึ้นเขียงให้กิเลสมันสับเอายำเอา
    สติปัญญาพระพุทธเจ้ามิได้ประทานไว้สำหรับคนขี้เกียจอ่อนแอ โดยนอนเฝ้านั่งเฝ้าไข้อยู่เฉยๆ ไม่คิดค้นพิจารณาธรรมดังกล่าวเลย
    การหายไข้หรือตายสำหรับผู้อ่อนแอไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยสู้หนูตายตัวเดียวก็ไม่ได้
    ท่านอย่านำลัทธิ และวิชาหมูนอนคอยเขียงอยู่เฉยๆ มาใช้ในวงศาสนาและวงพระกรรมฐาน ผมอายฆารวาส เขาผู้ดีกว่าพระ และอายหนูตัวที่ตายแบบเรียบๆ ซึ่งดีกว่าพระที่เป็นไข้แล้วอ่อนแอ และตายไปด้วยความไม่มีสติปัญญารักษาตัว
    ท่านลองพิจารณาดูซิว่า สัจธรรมมีทุกขสัจ เป็นต้น ที่ปราชญ์ท่านว่าเป็นธรรมของจริงสุดส่วนนั้น
    จริงอย่างไรบ้าง และจริงอยู่ที่ไหนกันแน่ หรือจริงอยู่ที่ความประมาทอ่อนแอ ดังที่พากันเสริมสร้างอยู่เวลานี้ นั่นคือการเสริมสร้างสมุทัย ทับถมจิตให้โงไม่ขึ้นต่างหาก มิได้เป็นทางมรรค เครื่องทำให้หลุดพ้นแต่อย่างใดเลย”

    เปรียบสติปัญญากับก้อนหิน
    พระอาจารย์ใหญ่ ท่านยกอุปมาสอนศิษย์ที่กำลังป่วยไข้ว่า “ผมจะเปรียบเทียบให้ท่านฟัง หินนั้นปาหัวคนก็แตก ทับหัวคนก็ตายได้ แต่นำมาทำประโยชน์ เป็นหินลับมีดหรืออื่นๆเพื่อประโยชน์แก่ตนตามต้องการ
    สติปัญญาก็เช่นกัน จะนำไปใช้ในทางที่ผิด คิดไตร่ตรองในทางไม่ชอบ ฉลาดประกอบอาชีพในทางผิด เช่นฉลาดหาอุบายฉกลัก ปล้นจี้เขา ก็ย่อมเกิดโทษเพราะนำสติปัญญาไปใช้ในทางที่ผิด
    การนำสติปัญญามาใช้เป็นการอาชีพในทางที่ถูก เช่น คิดปลูกบ้านสร้างเรือน เป็นช่างไม้ ช่างเขียน ช่างแกะลวดลายต่างๆ เป็นต้น หรือจะนำมาใช้แก้กิเลสตัณหาตัวเหนียวแน่นแก่นวัฏฏะ ที่พาให้เวียนเกิดเวียนตายอยู่ไม่หยุด จนหมดสิ้นไปจากใจ กลายเป็นความบริสุทธิ์ถึงวิมุตติ พระนิพพานทั้งเป็นในวันนี้ เดือนนี้ ปีนี้ ชาตินี้ ก็ไม่เหลือวิสัยมนุษย์จะทำได้ ดังที่ท่านผู้ฉลาดได้ทำกันมาแล้ว แต่ต้นพุทธกาลจนถึงปัจจุบันคือวันนี้
    ปัญญาย่อมอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้สนใจใคร่ครวญไม่มีทางสิ้นสุด เพราะสติกับปัญญา ไม่เคยจนตรอกหลอกตัวเองแต่ไหนแต่ไรมา พอจะทำให้กลัวว่าตนจะมีสติปัญญามากเกินไป จะกลายเป็นคนดีซ่านผลาญธรรม ประคองตัวไม่รอดและจอดจมกลางคัน
    สติปัญญานี้ ปราชญ์ท่านชมว่า เป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดอย่างออกหน้าออกตา แต่ดึกดำบรรพ์ไม่เคยล้าสมัย ท่านจึงควรคิดค้นสติปัญญาขึ้นมาเป็นเครื่องป้องกันและทำลายข้าศึกอยู่ภายในให้สิ้นซากไปจะเห็นใจดวงประเสริฐว่ามีอยู่กับตัวแต่ไหนแต่ไรมา”

    การพิจารณาทุกขสัจ
    คำสอนพระที่กำลังป่วยไข้ของหลวงปู่มั่นมีต่อว่า “ผมที่เคยได้กำลังใจในเวลาป่วยหนักนั้น ผมพิจารณาทุกข์ที่เกิดกับตัว จนเห็นสถานที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของมันอย่างชัดเจนด้วยสติปัญญาจริงๆ
    จิตที่รู้ความจริงของทุกข์แล้ว ก็สงบตัวลง ไม่แสดงการส่ายแส่ แปรสภาพไปเป็นอื่น นอกจากดำรงตนอยู่ในความเป็นจริง และเป็นหนึ่งอยู่เพียงดวงเดียว ไม่มีอะไรมารบกวนลวนลามเท่านั้น ไม่เห็นความแปลกปลอมใดๆ เข้ามาแฝงได้เลย
    ทุกขเวทนาก็ดับสนิทลงในเวลานั้น แม้ไม่ดับก็ไม่สามารถทับจิตใจเราได้ คงต่างอันต่างเจริญอยู่เพียงเท่านั้น
    นี่แลว่าสัจธรรมเป็นของจริงสุดส่วน จริงอย่างนี้เอง ท่านจึงว่าอยู่ที่จิตดวงมีปัญญารอบตัวเพราะการพิจารณา ไม่ใช่อ่อนแอเพราะนั่งทับสติปัญญา เครื่องมือที่ทันกันกับการแก้กิเลสอยู่เฉยๆ”

    พิจารณาทุกขเวทนายกขึ้นสู่สติปัญญา
    คำสอนของพระอาจารย์ใหญ่มีต่อว่า “เฉพาะพระธุดงค์กรรมฐาน ซึ่งพร้อมทุกอย่างแล้วในการดำเนินและเดินก้าวเข้าสู่ความจริงที่ประกาศอยู่กับตัวตลอดเวลา ถ้าท่านเป็นเลือดนักรบ สมนามที่ศาสดาขนานให้ว่า ศากยบุตร พุทธชิโนรส จริงๆแล้ว ท่านจงพิจารณาให้โจ่งแจ้งเปิดเผยในกายในใจท่านเวลานี้ อย่าปล่อยให้ทุกขเวทนาเหยียบย่ำทำลายและกาลเวลาผ่านไปเปล่าๆ
    ขอให้ยึดความจริงของทุกขเวทนาขึ้นสู่สติปัญญา และตีตราประกาศฝังใจลงอย่างแน่นหนาแต่บัดนี้เป็นต้นไปว่า ความจริงสี่อย่างที่พระพุทธเจ้าประกาศตลอดมานั้น บัดนี้ทุกขสัจได้แจ้งประจักษ์กับสติปัญญาเราแล้วไม่สงสัย นอกจากจะพยายามเจริญให้ความจริงนั้นๆเจริญยิ่งขึ้นโดยลำดับ จนหายสงสัยโดยสิ้นเชิงเท่านั้น”
    ถ้าท่านพยามยามดังที่ผมสั่งสอนนี้ แม้ไข้ในกายท่านจะกำเริบรุนแรงเพียงไร ท่านเองจะเป็นเหมือนคนที่มิได้เป็นอะไร คือใจท่านมิได้ไหวหวั่นสั่นสะเทือนไปตามอาการแห่งความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในกายนั่นเอง
    มีแต่ความภาคภูมิใจที่สัมผัสสัมพันธ์กับความที่ได้รู้แล้วเห็นแล้วโดยสม่ำเสมอ ไม่แสดงอาการลุ่มๆดอนๆ เพราะไข้กำเริบหรือไข้สงบตัวลงแต่อย่างใด”

    ทำด้วยตนเองแล้วจึงนำมาสอน
    “ การสอนท่านด้วยธรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นธรรมที่ผมเคยพิจารณาและได้ผลมาแล้ว มิได้สอนสุ่มเดาเกาหาที่คันไม่ถูก แต่สอนตามที่รู้เห็นที่เคยเป็นมาไม่สงสัย
    ใครที่อยากพ้นทุกข์ แต่กลัวทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตนไม่ยอมพิจารณา ผู้นั้นไม่มีวันพ้นทุกข์ไปได้ เพราะทางนิพพานต้องอาศัยทุกข์ กับสมุหทัยเป็นที่เหยียบย่าง ไปด้วยมรรคเครื่องดำเนิน
    พระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ทุกๆพระองค์ ท่านสำเร็จพระนิพพานด้วยสัจธรรมสี่ กันทั้งนั้นไม่ยกเว้นแม้องค์เดียว
    ก็เวลานี้ มีสัจจะใดบ้างที่กำลังประกาศความจริงของตนอยู่ ในกายในใจท่านอย่างเปิดเผย ท่านจงพิจารณาสัจจะนั้นด้วยปัญญา ให้รู้แจ้งความจริงด้วยสัจจะนั้นๆ อย่านั่งเฝ้านอนเฝ้ากันอยู่เฉยๆ จะกลายเป็นโมฆบุรุษในวงสัจธรรมซึ่งเคยเป็นจริงมาดั้งเดิม

    ทางที่ปราชญ์ท่านเรียนกัน
    หลวงปู่มั่นสอนศิษย์ต่อไปว่า “นี่แลคือการเรียนธรรมเพื่อความจริง ปราชญ์ท่านเรียนกันอย่างนี้ ท่านมิได้ปรุงแต่งเวทนาต่างๆ ให้เป็นไปตามความต้องการ เช่น อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ตามใจชอบ ซึ่งเป็นการสั่งสมสมุทัย ให้กำเริบรุนแรงขึ้น
    แทนที่จะให้เป็นไปตามใจชอบ ท่านจงจำไว้ให้ถึงใจ พิจารณาให้ถึงอรรถถึงธรรม คือความจริงที่มีอยู่กับท่านเอง ซึ่งเป็นฐานะที่ควรรู้ได้ด้วยตนเองแต่ละรายๆ
    ผมเป็นเพียงผู้แนะอุบายให้เท่านั้น ส่วนความเก่งกาจอาจหาญหรือความล้มเหลวใดๆนั้น ขึ้นอยู่กับผู้พิจารณาโดยเฉพาะ ผู้อื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
    หลวงปู่มั่นพูดสอนในทำนองให้กำลังใจว่า “เอานะท่าน จงทำให้สมหน้าสมตาที่เป็นลูกศิษย์ที่ครูสั่งสอน อย่านอนเป็นที่เช็ดเท้าให้กิเลสขึ้นย่ำยีตีแผ่ได้ จะแย่และเดือดร้อนในภายหลัง จะว่าผมไม่บอก”

    หลวงปู่ขาวอาพาธ
    ตลอดพรรษาที่พำนักที่ดอยจอมแจ้ง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย หลวงปู่ขาวมีอาการป่วยไข้ตลอดเวลา
    วันหนึ่งขณะที่หลวงปู่ขาวนอนซมด้วยอาการไข้ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นได้พูดเสียงดังออกมาว่า
    “พิจารณาเข้าซี จะนอนให้เป็นไข้อยู่เฉยๆ อย่างนี้ได้อย่างไร ความไข้เป็นอริยสัจของจริง จะหลีกหนีตายให้พ้นทุกคนไม่ได้ เขาเป็นอยู่ทั่วโลกนั่นแหละ
    ลุกขึ้นมาเดินจงกรมให้ส้นสายมันเหยียดออกเสียบ้าง นอนมากเลือดลมไม่เดิน เส้นเอ็นมันขอดงอมันหด มันจะตายซ้ำเสียอีก
    ท่านบวชกับผู้ใด พระเทวทัตบวชกับพระพุทธเจ้า ไม่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ตายไปแล้วก็ลงอเวจี ท่านจะลงอเวจีเหมือนพระเทวทัตหรือ จะมาเอาแต่นอนสาธุอยู่ เพราะลุกไม่ขึ้น และคิดแต่ว่าที่หนอมหาเมตตากรุณา อยากให้ได้จริงๆ”

    พิจารณาแยกทุกข์เป็นขันธ์ๆ
    หลวงปู่ขาวเล่าว่า พอพระอาจารย์ใหญ่เทศน์แบบพายุบุแคมอยู่พักใหญ่ แล้วท่านพระอาจารย์ก็หนีไป ทางหลวงปู่ขาวเอง ท่านรู้สึกเหมือนตัวจะลอยเพราะความปิติยินดี และตื้นตันในโอวาสที่ฉลาดหลักแหลม และออกมาจากความเมตตาของท่านล้วนๆ ไม่มีอะไรจะมีคุณค่าเสมอเหมือนได้ในเวลานั้น
    หลวงปู่เล่าว่า พอพระอาจารย์ท่านไปแล้ว หลวงปู่เองก็น้อมอุบายที่ท่านเมตตาสั่งสอนเข้าพิจารณาแก้ทุกขเวทนาที่กำลังแสดงตัวอยู่เต็มความสามารถ โดยไม่มีความย่อท้ออ่อนแอแต่อย่างใดเลย
    “ขณะพิจารณาทุกขเวทนาหลังจากพระอาจารย์ไปแล้ว ราวกับว่าท่านนั่งคอยดู และคอยให้อุบายช่วยเราอยู่ตลอดเวลา ยิ่งทำให้มีกำลังใจที่จะต้องสู้กับทุกข์มากขึ้น”
    หลวงปู่ เล่าถึงการภาวนาด้วยการเดินทางปัญญา “ขณะพิจารณานั้น ได้พยายามแยกทุกข์ออกเป็นขันธ์ๆ คือแยกกายและอาการต่างๆ ของกายออกเป็นขันธ์หนึ่ง แยกสัญญาที่คอยมั่นหมายหลอกลวงเราออกเป็นขันธ์หนึ่ง แยกสังขารคือความคิดปรุงต่างๆออกเป็นขันธ์หนึ่ง และแยกจิตออกเป็นพิเศษส่วนหนึ่ง แล้วพิจารณาเทียบเคียงหาเหตุผลต้นปลายของตัวทุกข์ที่กำลังแสดงอยู่ในกายอย่างชุลมุนวุ่นวาย โดยมิได้มีกำหนดว่าทุกข์จะดับเราจะหายหรือทุกข์จะกำเริบเราจะตาย แต่สิ่งที่หมายมั่นปั้นมือจะให้รู้ตามความมุ่งหมายเวลานั้น คือความจริงของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น”

    พิจารณาทุกข์ให้รู้แจ้ง
    หลวงปู่ขาว เล่าถึงการพิจารณาทางปัญญาของท่านต่อไปว่า
    “เฉพาะที่อยากรู้มากในเวลานั้นคือ ทุกขสัจ ว่าเป็นอะไรกันแน่ ทำไมจึงมีอำนาจมาก สามารถทำจิตใจของสัตว์โลกให้สะเทือนหวั่นไหวได้ทุกตัวสัตว์ ไม่ยกเว้นว่าเป็นใครเลย
    ทั้งเวลาทุกข์แสดงขึ้นธรรมดา เพราะความกระทบกระเทือนจากเหตุต่างๆ ตอนโยกย้ายภพภูมิไปสู่โลกใหม่ ภูมิใหม่ ( ตอนใกล้จะตาย ) สัตว์ทุกถ้วนหน้ารู้สึกหวั่นเกรงกันนักหนา ไม่มีรายใดหาญสู้หน้ากล้าเผชิญ นอกจากทนอยู่ด้วยความหมดหนทางเท่านั้น ถ้าสามารถหลบหลีกได้ก็น่าจะหลบไปอยู่คนละมุมโลก เพราะความกลัวทุกข์ตัวเดียวนี้เท่านั้น
    เราเองก็นับเข้าใจในจำนวนสัตว์โลกผู้ขี้ขลาดหวาดกลัวทุกข์ จะปฏิบัติตัวอย่างไรกับทุกข์ที่กำลังแสดงอยู่นี้ จึงจะเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ด้วยความจริงเป็นพยาน”
    หลวงปู่ พิจารณาตามอุบายที่ได้รับจากพระอาจารย์ใหญ่ดังนี้
    “เอาล่ะ เราต้องสู้กับทุกข์ด้วยสติปัญญาตามทางศาสนา และครูอาจารย์สั่งสอนไว้ เมื่อสักครู่ ท่านอาจารย์ก็ได้เมตตาสั่งสอนอย่างถึงใจไม่มีทางสงสัย ท่านสอนว่าให้รู้ด้วยสติปัญญา โดยแยกแยะขันธ์นั้นๆออกดูอย่างชัดเจน ก็เวลานี้ทุกขเวทนาเป็นขันธ์อะไร เป็นรูป เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ และเป็นจิตได้ไหม?
    ถ้าเป็นไม่ได้ทำไมเราจึงเหมาเอาทุกขเวทนาว่าเป็นเรา เป็นเราทุกข์เราจริงๆ คือทุกขเวทนานี้ล่ะหรือ หรืออะไรกันแน่ต้องให้เราทราบความจริงกันในวันนี้
    ถ้าเวทนาไม่ดับ และเราไม่รู้แจ้งทุกขเวทนาด้วยสติปัญญาอย่างจริงใจ แม้จะตายไปกับที่นั่งภาวนานี้เราก็ยอม แต่จะไม่ยอมลุกจากที่ให้ทุกขเวทนาหัวเราะเย้ยหยันเป็นอันขาด”

    ใจมีทางต่อสู้กับเวทนา
    หลวงปู่ขาว เล่าถึงการพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจังของท่านต่อไปว่า
    “นับตั้งแต่ขณะนั้น สติปัญญาทำการแยกแยะห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตายว่า ระหว่างสงครามของจิตกับทุกขเวทนาต่อสู้กันอยู่ เวลานั้นกินเวลาห้าชั่วโมง จึงได้รู้ความจริงจากขันธ์แต่ละขันธ์ได้
    เฉพาะอย่างยิ่ง รู้เวทนาขันธ์อย่างชัดเจนด้วยปัญญา ทุกขเวทนาดับลงในทันทีที่พิจารณารอบตัวเต็มที่”
    หลวงปู่ท่านว่า ท่านได้เริ่มเชื่อสัจธรรม มีทุกขสัจ เป็นต้น ว่าเป็นของจริงแต่บัดนั้นมาไม่หวั่นไหว
    แต่นั้นมาเวลาเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆขึ้นมา ใจมีทางต่อสู้กันกับทุกขเวทนาเพื่อชนะทางสติปัญญา ไม่อ่อนปวกเปียก ใจมักได้กำลังในเวลาเจ็บป่วย เพราะเป็นเวลาเอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตายกันจริงๆ
    ธรรมที่เคยถือเป็นของเล่นโดยไม่รู้สึกตัวมาประจำนิสัยปุถุชน ในเวลาธรรมดาไม่จนตรอก ก็แสดงความจริงให้ชัดเจนในเวลานั้น
    ขณะพิจารณาทุกขเวทนารอบแล้ว ทุกข์ดับไป ใจก็รวมลงถึงฐานของสมาธิ หมดปัญหาต่างๆทางกายทางใจไปพักใหญ่จนกว่าจิตถอนขึ้นมา ซึ่งกินเวลาหลายชั่วโมง มีอะไรค่อยพิจารณากันต่อไปอีกด้วยความอาจหาญต่อความจริงที่เคยเห็นมาแล้ว”

    ธรรมะโอสถรักษาไข้ได้จริงๆ
    หลวงปู่ขาวเล่าต่อว่า “เมื่อจิตรวมลงถึงฐานสมาธิ เพราะอำนาจการพิจารณาแล้ว ไข้ได้หายไปแต่บัดนั้น ไม่กลับมาอีกเลย จึงเป็นที่น่าประหลาดใจว่า เป็นไปได้อย่างไร”
    เกี่ยวกับเรื่องการใช้สมาธิรักษาอาการไข้นี้ ท่านหลวงตาพระมหาบัวยืนยันว่า “เชื่อทั้งร้อยไม่คัดค้าน เพราะเคยพิจารณาแบบเดียวกันนี้มาแล้ว ผลก็เป็นแบบเดียวกับที่ท่านพูดไม่มีผิดเลย จึงทำให้สนิทใจตลอดมาว่า ธรรมโอสถรักษาโรคได้อย่างลึกลับ”
    และประจักษ์กับท่านผู้ปฏิบัติที่มีนิสัยทางนี้ โดยมากพระธุดงค์กรรมฐานท่านชอบพิจารณาเยียวยาธาตุขันธ์ ของท่านเวลาเกิดโรคภัยไข้เจ็บอย่างเงียบๆโดยลำพัง ไม่ค่อยระบายให้ใครฟังง่ายๆ นอกจากวงปฏิบัติด้วยกัน และมีนิสัยคล้ายคลึงกัน ท่านจึงสนทนากันอย่างสนิทใจ
    ที่ว่าท่านบำบัดโรคด้วยวิธีภาวนานั้น มิได้หมายความว่าบำบัดได้ทุกชนิดไป แม้หลวงปู่ขาวเอง ท่านก็ไม่แน่ใจว่าโรคชนิดใดบำบัดได้และโรคชนิดใดบำบัดไม่ได้ แต่ท่านไม่ประมาทในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวท่าน ถึงร่างกายจะตายไปเพราะโรคในร่างกาย แต่โรคในจิตใจคืออาสวะต่างๆ ก็ต้องให้ตายไป ด้วยอำนาจธรรมโอสถท่านบ้างเหมือนกัน
    ฉะนั้น การพิจารณาโรคต่างๆ ทั้งในกายและโรคในใจ ท่านจึงมิได้ลดละทั้งสองอย่าง โดยถือว่าเป็นกิจจำเป็นระหว่างขันธ์กับจิต จำต้องพิจารณาและรับผิดชอบกันจนวาระสุดท้าย

    ระงับไข้ด้วยวิธีภาวนา
    หลวงปู่ขาวเล่าให้ศิษย์ฟังว่า เวลาท่านธุดงค์ไปตามป่าตามเขา หากป่วยไข้ขึ้นมา ท่านไม่ค่อยสนใจกับหยูกยาอะไรยิ่งไปกว่าระงับด้วยธรรมโอสถ ซึ่งได้ผลไปทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆกัน และยึดถือเป็นหลักใจระลึกได้นานกว่าธรรมดา
    หลวงปู่เคยระงับไข้ด้วยวิธีภาวนามาหลายครั้ง จนเป็นที่มั่นใจต่อการพิจารณาเวลาไม่สบาย เริ่มแต่จิตเป็นสมาธิคือมีความสงบเย็นใจสว่างไสวเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ เหมือนแก้วมณีอันสดใส ไม่มีความขุ่นมัวแต่ประการใด
    เวลาเป็นไข้ทีไร หลวงปู่ตั้งหน้าตั้งตาสู้ด้วยการภาวนาอย่างมั่นใจที่เคยเห็นผลประจักษ์มาแล้ว
    แรกๆหลวงปู่ได้อาศัยพระอาจารย์ใหญ่ คือหลวงปู่มั่นคอยให้อุบายอยู่เสมอในเวลาเป็นไข้ โดยยกตัวอย่างพระอาจารย์ใหญ่เองขึ้นเป็นพยานว่า ท่านจะได้กำลังใจสำคัญๆทีไร มักได้จากการเจ็บไข้ทั้งสิ้น
    ท่านพระอาจารย์ใหญ่บอกว่า “เจ็บหนักป่วยทีไร สติปัญญายิ่งหมุนตัวดีและรวดเร็วไปกับเหตุการณ์นั้นๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาที่เจ็บป่วย โดยไม่ต้องถูกบังคับให้พิจารณา และไม่สนใจกับความหายหรือความตายอะไรเลย นอกจากพยายามให้รู้ความจริงของทุกขเวทนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นและโหมเข้ามาในเวลานั้น ด้วยสติปัญญาที่เคยฝึกหัดอยู่เป็นประจำโดยชำนิชำนาญ”
    __________________

     
  2. varanyo

    varanyo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    925
    ค่าพลัง:
    +3,373
    สำคัญที่จิต...ร่างกายเป็นเพียงสังขาร...
    กายเจ็บแต่ใจไม่ได้เจ็บไปด้วย...

    ขออนุโมทนา...กราบมนัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ...
    สาธุ...สาธุ...สาธุ...อนุโมทามิ[b-wai] [b-wai] [b-wai]
     

แชร์หน้านี้

Loading...