กัณฑ์ที่ ๔๐๒ ใจไม่มีอายุขัย

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย aprin, 14 มกราคม 2010.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    กัณฑ์ที่ ๔๐๒ ใจไม่มีอายุขัย
    ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒

    เรื่องของสังขารร่างกายก็เป็นอย่างนี้แหละ เป็นธรรมดา เป็นไปตามเวลาของเขา แต่ใจไม่ได้เป็นเหมือนร่างกาย ใจไม่ได้แก่ ไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ตายตามร่างกาย ใจยังเป็นใจอยู่เหมือนเดิม ใจจะเปลี่ยนเฉพาะคุณสมบัติที่มีอยู่ในใจ จากการมีกิเลสไปสู่การไม่มีกิเลส จากการมีกิเลสน้อยไปสู่การมีกิเลสมาก จากการมีกิเลสมากไปสู่การมีกิเลสน้อย การเปลี่ยนแปลงของใจอยู่ในลักษณะนี้ แต่ใจไม่มีอายุขัย ไม่มีวันแก่ ไม่มีวันตาย แต่ยังมีวันทุกข์มีวันเจ็บอยู่ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ในใจ ก็ยังมีความทุกข์ทรมานใจอยู่ ถ้าไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่ในใจแล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์ทรมานใจ จะมีแต่ความสุขอย่างเดียว จึงควรให้ความสำคัญแก่ใจมากกว่าร่างกาย เพราะทำอะไรร่างกายไม่ได้ เขาต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา ส่วนที่ทำได้เป็นเพียงส่วนปลีกย่อย เช่นให้อาหาร ให้น้ำให้ยา เวลาที่เขาต้องการ ก็พอพยุงให้อยู่ได้ไปตามขั้นตอนของเขา ถ้าขาดสิ่งที่ควรจะได้ ก็จะไปเร็ว จะเจ็บไข้ได้ป่วยเร็วขึ้น แล้วก็ตายเร็วขึ้น ไม่ว่าจะดูแลรักษาเขาอย่างไร ความจริงของเขาก็ยังเป็นเช่นเดิม เขายังต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปในที่สุด แต่ใจที่มาเป็นเจ้าของร่างกายนี้ ไม่ได้แก่ ไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ตายตามร่างกาย แต่จะทุกข์ตามร่างกายถ้าไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน ให้เกิดปัญญา ให้ปล่อยวาง ให้เห็นว่าร่างกายไม่ได้เป็นใจ จึงต้องศึกษาความสัมพันธ์ของใจและกาย ดูตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ใจและกายมาพบกัน ก็ตอนที่อยู่ในครรภ์ ตอนที่มีการปฏิสนธิ ตอนที่มีเชื้อของพ่อของแม่มาผสมกัน แล้วก็มีปฏิสนธิวิญญาณคือใจ มาจับจองเป็นเจ้าของ อยู่คู่กันมาจนถึงเวลาคลอด แล้วก็เจริญเติบโตขึ้นมา เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นผู้ชรา เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ แล้วในที่สุดร่างกายก็หยุดทำงาน ใจที่ได้มาพบปะได้อยู่คู่กับร่างกายก็จากไป ใจก็ไปต่อ

    กายก็ไปส่วนของกาย ไปสู่ดินน้ำลมไฟ ใจก็ไปตามอำนาจของบุญของบาป ไปตามอำนาจของธรรม ถ้าใจมีธรรมอยู่เต็มดวง มีธรรมเต็ม ๑๐๐ ก็ไปสู่พระนิพพาน ไปสู่การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าใจไปตามอำนาจของบุญก็ไปสู่สุคติ ไปเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ หรือกลับมาเกิดเป็นมนุษย์มาสร้างบุญสร้างบาปใหม่ ถ้าไปตามอำนาจของกรรมก็ไปสู่อบาย ไปสู่นรกเปรตเดรัจฉานอสุรกาย นี่คือเรื่องของใจและกาย เมื่อมองอย่างนี้แล้ว ร่างกายก็เป็นเหมือนเสื้อผ้าอาภรณ์ชุดหนึ่งของใจเท่านั้นเอง จึงไม่ควรให้ความสำคัญต่อร่างกายมากจนเกินไป เหมือนกับที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าอาภรณ์ของร่างกาย เท่ากับที่ให้ความสำคัญต่อร่างกาย เราซื้อเสื้อผ้าอาภรณ์มาสวมใส่ เวลาขาดก็โยนทิ้งไป แล้วก็ซื้อชุดใหม่มาใส่ ตราบใดที่ร่างกายยังหายใจอยู่ ก็ยังต้องมีเสื้อผ้าอาภรณ์ไว้สวมใส่ เราจึงดูแลรักษาร่างกายมากกว่าดูแลรักษาเสื้อผ้าอาภรณ์ เพราะร่างกายมีความสำคัญกว่าเสื้อผ้าอาภรณ์ เช่นเดียวกับกายกับใจ ก็เป็นอย่างนั้น กายเป็นเหมือนเสื้อผ้าอาภรณ์ของใจ แต่ใจมีความสำคัญกว่าเสื้อผ้าอาภรณ์ของใจ คือร่างกาย ปัญหาของพวกเราส่วนใหญ่ เนื่องจากมีความเห็นผิดเป็นชอบ ขาดสัมมาทิฐิความเห็นที่ถูกต้อง จึงไปให้ความสำคัญต่อร่างกาย คือเสื้อผ้าอาภรณ์ของใจ มากกว่าให้ความสำคัญต่อใจ ใจจึงขาดการดูแลรักษา ใจจึงต้องทุกข์ทรมานไปกับความเป็นไปของร่างกาย เวลาคิดถึงความแก่ก็ไม่สบายใจ คิดถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่สบายใจ คิดถึงความตายก็ไม่สบายใจ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่าใจขาดการดูแลรักษาให้มีสัมมาทิฐิ ให้เห็นว่ากายไม่ใช่ใจ ให้เห็นว่ากายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ไม่มีใครยับยั้งได้ นอกจากการไม่มีกายเท่านั้น ถ้าใจไม่ไปไขว่คว้าเอาร่างกายมาครอบครอง ใจก็ไม่ต้องมาทุกข์ทรมานกับร่างกาย

    ใจนี้อยู่ได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องมีร่างกาย เช่นใจของพระพุทธเจ้าใจของพระอรหันต์ หลังจากที่ร่างกายของท่านดับไปแล้ว ได้ปรินิพพานแล้ว ใจของท่านไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ไม่ได้หายไปไหน ใจของท่านก็ยังเป็นใจอยู่ แต่เป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นใจที่ปราศจากความโลภความโกรธความหลง เมื่อไม่มีความโลภโกรธหลง ใจของท่านก็ไม่มีความอยากจะมีร่างกาย อยากจะมีภพมีชาติ ท่านจึงไม่ได้ไปไขว่คว้าไปจับจองเอาร่างกายมาเป็นสมบัติ ใจของท่านอยู่อย่างสุขสบาย ไม่มีความทุกข์เข้ามาเกี่ยวข้องเลย ถ้าได้ดูแลรักษาใจ อบรมสั่งสอนใจ ให้เห็นโทษ ของการมีร่างกาย มีภพมีชาติแล้ว แต่ถ้ายังมีการเกิดอยู่ ย่อมมีการแก่ มีการเจ็บ มีการตายเป็นธรรมดา เหตุที่ทำให้ไปเกิดก็คือความอยาก อยากได้รูปเสียงกลิ่นรส อยากมีอยากเป็น อยากไม่มีอยากไม่เป็น ท่านจึงปฏิบัติเพื่อตัดความอยากทั้ง ๓ ประการนี้ คือกามตัณหาความอยากในกาม ภวตัณหาความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหาความอยากไม่มีอยากไม่เป็น เมื่อได้ตัดความอยากทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว ใจก็ไม่มีอะไรผลักดันให้ไปจับจองร่างกาย จับจองภพชาติอีกต่อไป ใจจึงไม่มีความทุกข์ทรมานเกี่ยวกับร่างกาย นี่คือวิธีรักษาใจให้อยู่เหนือความทุกข์ ต้องรู้ว่าใจอยู่ตามลำพังได้ การไม่มีอะไรเลยนี้ดีที่สุด เพราะว่าได้อะไรมาก็เท่ากับได้ความทุกข์มา มีอะไรก็เท่ากับมีความทุกข์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่ ที่ใจได้มาครอบครองนั้น ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ทุกขังก็แปลว่าเป็นกองทุกข์ เวลาได้อะไรมาก็เท่ากับได้ความทุกข์มา ในทางตรงกันข้ามเวลาเสียอะไรไปก็เท่ากับเสียความทุกข์ไป ผู้มีปัญญามีสัมมาทิฐิจะเห็นอย่างนี้ จะไม่อยากได้อะไรเพราะได้อะไรมาก็เท่ากับได้ความทุกข์มา จะไม่เสียดายเวลาที่เสียไปเพราะเท่ากับเสียความทุกข์ไป นี่คือความจริงที่พวกเรามองไม่เห็นกัน

    เนื่องจากเราถูกความหลงครอบงำใจ ทำให้เห็นตรงกันข้าม เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นว่าได้อะไรมาเท่ากับได้ความสุขมา เห็นว่าเวลาเสียอะไรไปเท่ากับเสียความสุขไป เวลาได้อะไรมาจึงดีอกดีใจ เวลาได้ลูกมาดีอกดีใจกันใหญ่ พอเวลาเสียลูกไปหรือเสียคนนั้นคนนี้ไปก็ร้องห่มร้องไห้กัน แทนที่ควรเป็นตรงกันข้าม คือเวลาได้ลูกมาต้องร้องไห้ เพราะได้บ่วงมา เป็นนักปราชญ์ต้องร้องอย่างนั้น เพราะได้กองทุกข์มา บ่วงเป็นเครื่องพันธนาการ ที่จะผูกจิตให้ตกอยู่ในกองทุกข์ พอรู้ว่าได้ลูกปั๊บก็ร้องเลยว่าบ่วง ต้องหนีแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่เสียดายเลยเวลาหนีไป เพราะมีปัญญามีสัมมาทิฐิ เห็นว่าเป็นกองทุกข์ หนีจากกองทุกข์ไป แต่คนที่ไม่มีปัญญาจะเห็นตรงกันข้าม เวลาได้ลูกมาก็ดีอกดีใจคิดว่าได้ความสุขมา พอสูญเสียลูกไปก็เสียอกเสียใจ คิดว่าเสียความสุขไป แต่ความจริงเป็นการเสียความทุกข์ไปมากกว่า เพราะไม่ต้องทุกข์กับลูกอีกต่อไป ตราบใดที่ยังมีลูกอยู่ ก็ยังต้องทุกข์กับลูกต่อไป ถึงแม้จะเจริญเติบโตเป็นผู้หลักผู้ใหญ่มีครอบครัวแล้วก็ตาม ใจก็ยังอดที่จะทุกข์ไปกับเขาไม่ได้ เพราะความหลง เพราะอุปาทานความยึดติดในตัวเขา ว่าเป็นของเราเป็นลูกเรา เมื่อเป็นเราเป็นของเราก็จะมีตัณหาความอยาก อยากให้สิ่งที่เป็นเราเป็นของเรานี้ดีไปตลอด ไม่อยากให้สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น แต่ธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ได้เป็นอย่างที่ใจอยากให้เป็นกัน สิ่งต่างๆในโลกนี้มีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา มีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา มีดีมีไม่ดีเป็นธรรมดา เป็นของคู่กันเสมอ ผู้มีความมืดบอดด้วยโมหะความหลง จะไม่ยอมมองหรือมองไม่เห็นกัน จะเห็นแต่ส่วนที่ดีแล้วก็อยากจะให้ดีไปตลอด จะไม่ยอมมองในส่วนที่ไม่ดี เช่นเวลาพูดเรื่องความตายนี้ทุกคนจะต่อต้าน ว่าเป็นความคิดที่อัปมงคล ไม่ควรคิด เป็นผลงานของความมืดบอด ของความหลง ของอวิชชา ที่ไม่ยอมมองความจริงที่ไม่ชอบมอง ชอบมองความจริงในส่วนที่ดีที่เจริญ ไม่ชอบมองความจริงในส่วนที่เสื่อมในส่วนที่ดับ จึงเหมือนกับว่าส่วนที่ไม่เจริญส่วนที่เสื่อมส่วนที่ดับนี้ไม่มี พอมีเกิดขึ้นมาก็ตกอกตกใจ เสียอกเสียใจ เศร้าโศก กินไม่ได้นอนไม่หลับ นี่เป็นเพราะใจไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน ให้รู้ถึงสภาพความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ที่ใจได้มาสัมผัสได้มาครอบครอง

    การฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นการจุดประกายแห่งสัมมาทิฐิ คือความเห็นที่ถูกต้อง เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมจะได้ยินเรื่องของอนิจจังทุกขังอนัตตาเสมอ เพราะเป็นความจริง ที่จะทำให้จิตมีภูมิคุ้มกัน เพราะเมื่อจิตรู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น จิตก็จะปรับตัวให้รับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ โดยไม่มีความสะทกสะท้านหวาดกลัวแต่อย่างใด แต่ถ้าจิตไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ความจริงที่จะต้องพบจะต้องประสบ พอพบแล้วก็จะไม่รู้จักวิธีปฏิบัติ จะเกิดการต่อต้านขึ้นมา ไม่ยอมรับความจริงที่ได้เปลี่ยนไป จากการมีชีวิตอยู่สู่ความตาย ถ้าไม่ได้รับการอบรมให้รับรู้ไว้ล่วงหน้า ว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ ก็จะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ พอถึงเวลาที่จะก้าวสู่ความตาย ก็จะทุกข์ทรมานใจ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เพราะเคยอยู่กับการมีชีวิตจนติดเป็นนิสัย จนคิดว่าจะมีชีวิตไปตลอด พอจะต้องพบกับความตาย ต้องสูญเสียชีวิตไป จะไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร เหมือนกับเวลาที่มีน้ำท่วม ถ้ารู้ล่วงหน้า ก็จะเตรียมตัวรับกับเหตุการณ์ได้ ข้าวของต่างๆที่จะถูกน้ำท่วม ก็ขนย้ายไปเก็บไว้ในที่สูงที่ปลอดภัย ถ้าจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน ไปไหนมาไหน ก็เตรียมเรือพายไว้ อาหารการกินต่างๆก็เตรียมไว้ พอน้ำท่วมก็อยู่ได้ เพราะได้เตรียมรับเหตุการณ์ไว้แล้ว ไม่เดือดร้อน เช่นเดียวกับเรื่องของความแก่ความเจ็บความตายของร่างกาย การพลัดพรากจากสิ่งต่างๆหรือบุคคลต่างๆ การประสบกับสิ่งต่างๆที่ไม่พึงปรารถนา ถ้าไม่ได้รู้ไว้ล่วงหน้าก่อนว่าจะเกิดขึ้น ก็จะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ พอถึงเวลาก็จะไม่รู้จะทำอย่างไร จะเกิดความทุกข์ทรมานใจขึ้นมา ถ้ารู้ล่วงหน้าแล้ว ก็จะเตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน จะรู้จักวิธีรับกับเหตุการณ์ต่างๆ

    เพราะใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป แต่ใจยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่จะอยู่ในสภาพไหน อยู่ในสภาพนับ ๑๐ ยืนอยู่บนลำแข้งลำขาของตนได้ เหมือนกับนักต่อสู้บนสังเวียน ที่ไม่ว่าจะโดนหมัดมากมายขนาดไหน ก็จะไม่ล้ม จะไม่ถูกนับ ๑๐ เพราะมีความแกร่งพอที่จะรับกับหมัดทุกชนิดได้ จะหนักจะเบาอย่างไรจะไม่เป็นปัญหา จะไม่ล้มลงนอนกับพื้นให้นับ ๑๐ เพราะไม่มีอะไรทำลายใจได้ ความแก่ความเจ็บความตายของร่างกายทำลายใจไม่ได้ ลูกระเบิดนิวเคลียร์ก็ทำลายใจไม่ได้ สิ่งที่จะทำลายใจได้ก็คือความมืดบอด ความโง่เขลาเบาปัญญา พอไม่มีปัญญาก็จะไม่รู้วิธีที่จะทำใจ ไม่ให้หวั่นไหว ไม่ให้ทุกข์ทรมานไปกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น การรักษาใจจึงต้องเป็นการอบรมสั่งสอนใจ ให้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะตอนนี้ใจไม่ได้อยู่ลำพัง ถ้าใจอยู่ลำพังใจ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไร ก็ไม่ต้องรู้อะไรก็ได้ แต่ตอนนี้ใจมาเกี่ยวข้องกับหลายเรื่องหลายสิ่งด้วยกัน มาเกี่ยวข้องกับร่างกายในเบื้องต้น พอคลอดออกมาก็มาเกี่ยวข้องกับบิดามารดาปู่ย่าตายายญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหาย มาเกี่ยวข้องกับสามีภรรยาบุตรธิดาหลานเหลน มาเกี่ยวข้องกับสมบัติต่างๆ มาเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ มาเกี่ยวข้องกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างไร อนาคตของเขาจะเป็นอย่างไร ไม่เคยคิดไม่เคยรู้ คิดว่าจะเป็นอย่างนี้ไปตลอด ถ้ารู้ว่าจะไม่เป็นอย่างนี้ก็ไม่ยอมคิด แต่กลับภาวนาขอให้ไม่ให้เปลี่ยนไป ขอให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ให้ดีกว่านี้ ไม่ให้เลวกว่านี้ แต่ไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของใจ สิ่งต่างๆต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามเวลาของเขา

    จึงต้องฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อให้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฟังแล้วก็ต้องนำเอาไปสั่งสอนใจต่อ เพราะการได้ยินได้ฟังเพียงระยะเวลาสั้นๆนี้ ถ้าไม่นำเอาไปขยายผลงานต่อ ไม่เอาไปพิจารณาต่อ เดี๋ยวก็จะลืม เพราะใจต้องคิดหลายเรื่องด้วยกัน พอคิดเรื่องอื่นแล้ว เรื่องที่ได้ยินได้ฟังมานี้ก็จะค่อยๆถูกกลบไปหายไป แล้วก็จะลืมไป เหมือนกับไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ถ้าอยากจะให้เป็นปัญญาที่สามารถดูแลรักษาใจได้ ก็ต้องเอาไปบำเพ็ญต่อ เอาไปเจริญต่อ มี ๓ เรื่องนี้ที่ควรจะจำไว้คือ ๑. อนิจจังไม่เที่ยง ๒. เป็นทุกข์ ๓. ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ท่องจำไปทุกวันทุกเวลา ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่นถ้าไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นก็คิดไป พอคิดเสร็จก็กลับมาคิดเรื่องไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเราต่อ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วจะปล่อยวางได้ จะมีความสุขมีความสบายใจมากขึ้น จะเห็นว่าได้แบกกองทุกข์มาด้วยความหลง เพราะไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตานี่เอง พอเห็นแล้วก็รู้ว่าฝืนความจริงไม่ได้ ยังไงๆก็ต้องไม่เที่ยงต้องหมดไปต้องเปลี่ยนไป ถ้าไปยึดไปติดไปหวงไปห่วงก็จะต้องทุกข์ทรมานใจ เพราะไม่ใช่ของเราไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นกัน ตัวเราที่พูดอยู่นี้ก็คือใจ แต่พอพิจารณาไปปฏิบัติลึกเข้าไปแล้ว แม้แต่ตัวเราก็รู้ว่าไม่ใช่เป็นตัวเรา เป็นเพียงสมมุติที่ใจสมมุติขึ้นมาเอง สมมุติว่าเราคิดเรารู้ แต่ความจริงไม่มีเรา มีแต่ความรู้หรือผู้รู้ ไม่มีเราคิด มีแต่ความคิด เป็นสภาวธรรม เหมือนกับมีเสียง แต่ไม่มีเสียงของคนนั้นคนนี้ เป็นเหมือนเสียงลมที่พัดใบไม้กิ่งไม้แล้วปรากฏเป็นเสียงขึ้นมา ไม่มีตัวตนที่ทำให้เกิดเสียงนั้น เป็นเรื่องของธรรมชาติ ตัวที่ทำงานในจิตคือความคิด ความรู้สึก ความจำได้หมายรู้ ความรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่มาสัมผัสกับตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นสภาวธรรมทั้งนั้น เป็นธรรมชาติ ไม่มีตัวเรา มีแต่ความรู้หรือผู้รู้ ตัวเราเกิดจากความหลงของใจ ที่สมมุติว่ามีเรามีตัวเรา แต่ความจริงเป็นเพียงสมมุติ

    ถ้าปฏิบัติจนเห็นไตรลักษณ์ในส่วนภายนอกแล้ว เห็นไตรลักษณ์ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ในสิ่งของต่างๆ ในบุคคลต่างๆ ในร่างกายแล้ว ก็จะปล่อยสิ่งเหล่านั้นไปหมด เมื่อปล่อยแล้วใจก็จะเข้ามาข้างใน จะไม่สนใจกับเรื่องภายนอก จะสนใจเรื่องภายใน ที่ยังสร้างปัญหาสร้างความทุกข์ให้กับใจอยู่ ด้วยเรื่องตัวเราของเรา ยังรู้สึกว่ามีตัวเราของเราอยู่ในใจ ก็ต้องเข้าไปแยกแยะตัวเราของเราให้ออกจากใจ ให้ใจว่างจากตัวเราของเรา อะไรที่เป็นตัวเราของเรา ก็ต้องเอาอนัตตาเข้าไปแก้ เพราะไม่มีอะไรเป็นตัวเราของเรา ข้างนอกไม่มีตัวเราของเราแล้ว ข้างในก็ไม่มีตัวเราของเราเช่นกัน แต่ในเบื้องต้นถ้ายังเกี่ยวข้องกับเรื่องข้างนอกอยู่ ก็ยังต้องใช้สมมุติคือตัวเรา ว่าใจเป็นเราไปก่อน เพื่อการแยกแยะเปรียบเทียบ ว่าใจเป็นเรา ส่วนร่างกายไม่ใช่เราอย่างนี้เป็นต้น พอเข้าไปถึงในใจแล้ว ใจก็ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน ไม่มีเรา เราเป็นความเพ้อฝัน เกิดจากการปรุงแต่งของอวิชชาของโมหะความหลง ถ้ายังมีตัวเราของเรา ความสุขที่มีอยู่ภายในใจก็จะว่าเป็นความสุขของเรา ความทุกข์ก็จะเป็นความทุกข์ของเรา ก็จะเกิดตัณหา อยากจะให้สุขอย่างเดียว อยากไม่ให้ทุกข์ เป็นภวตัณหาและวิภวตัณหา ถ้าไม่มีตัวเราของเราแล้ว พิจารณาว่าสุขทุกข์เป็นสภาวธรรม เป็นของคู่กัน มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา สุขเกิดขึ้นได้สุขก็ดับได้ ทุกข์เกิดขึ้นได้ทุกข์ก็ดับได้ ถ้าไม่มีตัวตนแล้วก็จะไม่มีตัวไปรับความสุขหรือความทุกข์ ก็จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อปล่อยแล้วมันก็จะหายไป เพราะเกิดจากตัวหลงที่ไปสร้างมันขึ้นมา เมื่อตัวสุขตัวทุกข์ที่มีในใจหายไปหมดแล้ว ก็จะเหลืออยู่แต่ความว่างของใจ เหลือแต่ความบริสุทธิ์ของใจ ซึ่งเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง เป็นความสุขที่ไม่มีเกิดไม่มีดับ ไม่มีเสื่อม ที่เรียกว่าปรมังสุขัง เพราะเป็นปรมังสุญญัง ว่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง ว่างจากไตรลักษณ์ ว่างจากอนิจจังทุกขังอนัตตา ว่างจากอัตตาตัวตน ว่างจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสมมุติ

    ตัวตนนี้เป็นสมมุติ อนัตตาก็เป็นสมมุติ ที่ลบล้างตัวตนที่เป็นสมมุติเช่นเดียวกัน เมื่อตัวตนถูกทำลายด้วยอนัตตาแล้ว ก็หายไปด้วยกันทั้งคู่ เหมือนยากับเชื้อโรค เมื่อเชื้อโรคถูกทำลายไปแล้ว ก็ไม่ต้องรับประทานยาอีกต่อไป เมื่อตัวตนในใจหายไปแล้ว ก็ไม่ต้องเจริญสัพเพธัมมาอนัตตาอีกต่อไป เพราะอนิจจังทุกขังอนัตตาเป็นเพียงเครื่องมือหรืออาวุธ ที่ใช้ทำลายความหลงเท่านั้นเอง ความหลงที่ไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เมื่อได้ทำลายไปหมดแล้ว อาวุธอันเลิศอันประเสริฐนี้ก็ไม่ต้องใช้อีกต่อไป เหมือนกับยาที่ได้ทำลายเชื้อโรคจนหมดไปแล้ว ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บหลงเหลืออยู่ในร่างกายแล้ว ก็ไม่ต้องรับประทานยาอีกต่อไป ฉันใดเมื่อปัญญาคือไตรลักษณ์นี้ ได้ทำลายความหลงทุกชนิดที่มีอยู่ในใจจนหมดไปแล้ว เป็นความว่างเป็นความสุขล้วนๆแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาอีกต่อไป ปัญหาต่างๆที่เคยสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ใจก็หายไปหมด ทีนี้มองอะไรก็จะสักแต่ว่ามอง เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน สัมผัสอะไรก็สักแต่ว่าสัมผัส แต่จะไม่มีตัณหาความอยากกับสิ่งต่างๆที่ได้สัมผัสรับรู้ รู้ตามความเป็นจริงของเขา แต่ถ้าต้องมีการตอบโต้หรือปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ก็จะปฏิบัติไปตามเหตุตามผล ไปตามความจำเป็น แต่จะไม่มีความวิตกกังวล มีความอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอะไรได้ก็ทำไป เห็นเขาเดือดร้อนช่วยเหลือเขาได้ก็ช่วยเหลือเขาไป แต่จะไม่มาวิตกกังวลเวลาช่วยเขาไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร ช่วยไม่ได้ก็ช่วยไม่ได้ เขาจะตายก็ตายไป แต่จะไม่มาวิตกกังวลหรือเสียอกเสียใจ เพราะใจก็รู้อยู่แล้วว่าในที่สุดก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าใครก็ตาม ต่อให้ช่วยกันกี่ครั้งกี่รอบในที่สุดก็ต้องมีรอบสุดท้าย หนังยังมีรอบสุดท้ายเลย แล้วชีวิตของเราทำไมจะไม่มีรอบสุดท้ายบ้าง ก็ต้องมีรอบสุดท้ายเช่นเดียวกัน งานเลี้ยงย่อมมีการสิ้นสุด ไม่มีงานเลี้ยงไหนที่จะเลี้ยงกันไปตลอด นั่นแหละคือชีวิตของพวกเรา เป็นอย่างนั้น ชีวิตของพวกเราเป็นเหมือนงานเลี้ยง เลี้ยงกันไปเรื่อยๆ เลี้ยงวันนี้แล้ว พรุ่งนี้ก็เลี้ยงต่อ มะรืนนี้ก็เลี้ยงต่อ สักวันหนึ่งก็ต้องไปถึงวันสุดท้ายของงานเลี้ยง นั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องศึกษา สรุปแล้วสิ่งที่เราต้องจำให้แม่นอยู่ตลอดเวลาก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขอให้จำ ๓ คำนี้ไว้ แล้วนำเอาไปปฏิบัติเถิด จะอยู่อย่างปลอดภัยจากความทุกข์ทั้งหลาย

    เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจนไปไหนไม่ได้ ความจริงน่าจะได้ประโยชน์ ถ้าเป็นนักภาวนาแล้วจะได้ประโยชน์มาก เพราะบังคับเราในตัวให้ภาวนาเพราะไปไหนไม่ได้ เมื่อก่อนกิเลสมีข้ออ้างอยู่เรื่อย ไปงานครูบาอาจารย์บ้าง ไปงานคนนั้นคนนี้บ้าง ไปได้หมด ตอนนี้ไปไม่ได้แล้ว ถ้าเป็นนักภาวนาก็จะฉวยโอกาสภาวนาอย่างเต็มที่เลย เพราะการภาวนาอยู่ที่ใจ แต่อาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือ ถ้าร่างกายขยับเขยื้อนไม่ได้ก็ยังภาวนาได้อยู่ สติอยู่ที่ใจ กิเลสอยู่ที่ใจ ปัญญาอยู่ที่ใจ สร้างสติสร้างปัญญาขึ้นมาเพื่อทำลายกิเลสที่มีอยู่ภายในใจ ร่างกายจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด สำหรับคนที่ยังหยุดไปไหนมาไหนไม่ได้นี้ การเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะเป็นอุบายช่วยบังคับให้ภาวนาไปในตัว เหมือนกับคนจนตรอกไปทางไหนไม่ได้ ก็ต้องสู้อย่างเดียว ถ้าไม่สู้ก็โดนเขาต่อยอย่างเดียว ถ้าไม่ภาวนาแล้วอยากไปโน่นมานี่ก็จะทุกข์ทรมานใจ เพราะไปไม่ได้ พอภาวนาแล้วก็ตัดความอยากได้ พอความอยากดับปั๊บก็จะอยู่อย่างสุขสบาย ยิ่งกว่าได้ออกไปตามความอยาก บางทีก็ต้องอาศัยเหตุการณ์อย่างนี้เป็นอุบาย เป็นเครื่องสนับสนุนให้เราต้องสู้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ก็จะถูกกิเลสหลอกล่ออยู่เรื่อยๆ ให้ผัดวันประกันพรุ่ง ทำพรุ่งนี้ก็ได้ ตอนนี้ทำเรื่องนี้ก่อน แต่พอทำอย่างอื่นไม่ได้แล้วก็ต้องทำเรื่องภาวนาเรื่องเดียว พอเริ่มเห็นผลแล้วต่อไปไม่ต้องบังคับแล้ว รู้แล้วว่าการภาวนาเพื่อกำจัดกิเลสภายในใจ เป็นงานที่วิเศษที่สุด เป็นรางวัลที่ดีที่สุด เป็นรางวัลที่ ๑ ส่วนการไปทำอะไรภายนอกเกี่ยวกับคนนั้นคนนี้ ถึงแม้จะเป็นทานเป็นบุญก็ตาม ก็ไม่ได้เท่ากับการฆ่ากิเลสภายในใจ ความเบาอกเบาใจจะมีมากขึ้น การไปทำบุญให้ทานยังไม่ได้ตัดกิเลส เป็นเพียงฉีดยาสลบหรือตีหัวมันที ๒ ที ไม่ให้มันกล้าหาญมากจนเกินไป แต่มันไม่ตาย แล้วก็มีกิเลสตัวอื่นที่อาศัยการทำบุญนี้ เป็นช่องให้มันเจริญเติบโต คือกิเลสที่เรียกว่ากามฉันทะ เพราะเวลาได้ออกไปข้างนอกก็จะได้เห็นรูปได้ยินเสียงได้สัมผัสรับรู้อะไรต่างๆ ได้สัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทำให้กามฉันทะเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า มีแต่กิเลสคือความตระหนี่ความเห็นแก่ตัวที่จะลดน้อยลงไปบ้าง เพราะทำบุญให้ทานเพื่อเสียสละ เพื่อตัดความยึดติดในสมบัติข้าวของเงินทอง ได้ตัดส่วนนี้ไป แต่กิเลสคือกามฉันทะเหมือนกับได้น้ำ จะเจริญงอกงามตามไปด้วย

    นักภาวนาจึงต้องมีความเข้มงวดกวดขันมากกว่านักแสวงบุญ นักแสวงบุญยังต้องไปที่ต่างๆ ไปอินเดีย ไปวัดนั้นไปวัดนี้ นักภาวนาต้องตัดแล้ว ไม่ต้องไปไหนแล้ว ต้องปิดประตูเข้าออกของกิเลส คือทวารทั้ง ๕ ตาหูจมูกลิ้นกาย ที่เป็นทางเข้าออกของกิเลสคือกามฉันทะ ถ้ากิเลสยังเข้าออกได้อยู่ก็จะเจริญงอกงาม จะปราบมันยาก ถ้าปิดทวารทั้ง ๕ มันก็ออกไม่ได้ ก็จะวิ่งอยู่ภายในใจ จะสร้างความทุกข์ทรมานใจ ก็ต้องใช้สมถภาวนาใช้วิปัสสนาภาวนาปราบทำลายมัน เหมือนเวลาจะจับวัวมาฆ่า ถ้าไม่มีคอกล้อมมันไว้ ปล่อยให้มันวิ่งไปในป่าในทุ่ง จะตามจับมาฆ่าก็จะยาก ถ้าจับขังไว้ในคอกเวลาจะจับมันมาฆ่า ก็จะไม่ยาก ถ้าคอกยิ่งเล็กยิ่งแคบก็ยิ่งจับง่าย ถ้าคอกกว้างก็จับยากหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีคอกเลย คอกที่จะกักกิเลสไว้ก็คืออินทรีย์สังวรนี้เอง การสำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกายนี้เป็นคอก ถ้าเป็นคอกใหญ่ก็ศีลสังวร ถ้าเป็นคอกที่แคบเข้ามาก็เป็นอินทรีย์สังวร อยู่ในป่าในเขา ไม่ต้องไปรับรู้เรื่องต่างๆของทางโลกเขา กิเลสก็ไปไหนไม่ได้ ก็จะเพ่นพ่านอยู่ในใจ ถ้ามีสติก็จะเห็นทันทีเวลามันออกมาเพ่นพ่าน ก็ต้องกำจัดมันทันที ถ้าฟุ้งซ่านก็ต้องภาวนาทำจิตใจให้สงบ ถ้าสงบด้วยอุบายแห่งสมาธิไม่ได้ ก็ต้องสงบด้วยอุบายแห่งปัญญา วิเคราะห์เข้าไป ถามดูว่ากำลังฟุ้งซ่านกับเรื่องอะไร เอาปัญญาเอาไตรลักษณ์เข้าไปสกัด เรื่องต่างๆไม่อยู่เหนือกรอบของไตรลักษณ์ เรื่องต่างๆต้องจบของมันเอง จะไปแก้หรือไม่ไปแก้ จะไปทำไม่ไปทำ ในที่สุดก็จะต้องจบลงไปเอง เช่นห่วงพ่อห่วงแม่ สมมุติเราเป็นนักบวชไปอยู่ในป่า เกิดวิตกกังวลเรื่องพ่อเรื่องแม่ ก็พิจารณาไปว่า กลับไปช่วย ก็ช่วยได้ชั่วคราว ในที่สุดเขาก็ต้องตายอยู่ดี ถ้าเราไม่ไปเขาจะได้มีโอกาสพึ่งตัวเขาเอง ต่อสู้กับสิ่งต่างๆด้วยตัวเขาเอง ถ้าไปก็ควรไปเพื่อสอนให้เขารู้จักวิธีต่อสู้ที่ถูกต้อง แต่ตอนนี้เรายังไม่มีความรู้นั้นเราก็อย่าเพิ่งไป ตอนนี้เรารีบมาสร้างความรู้นี้ดีกว่า

    เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงขังพระองค์ไว้ถึง ๖ ปีด้วยกัน ขังอยู่ในป่า ๖ ปี ไม่เคยกลับไปในวัง ไม่ทรงห่วงพระราชบิดาหรือพระมเหสีหรือพระราชโอรส เวลาห่วงก็ทรงใช้ไตรลักษณ์เข้ามาสกัด แต่หลังจากที่ได้ตรัสรู้แล้วพระองค์ก็ทรงกลับไปโปรด เพราะมีสิ่งที่ดีไปโปรดแล้ว สิ่งที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ แต่ตอนภาวนานี้ถ้าฟุ้งซ่านกังวลกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ต้องใช้สมถะหรือวิปัสสนาทำให้สงบให้ได้ ถ้าทำให้สงบไม่ได้ก็จะต้องแหกคอกไปจนได้ เพราะทนอยู่ไม่ได้ เวลาเป็นห่วงใครมากๆก็ต้องไปดูแลเขาจนได้ ถ้าใช้ไตรลักษณ์สกัดก็ไม่ต้องไป สมมุติว่าเราตายไปแล้วเขาอยู่ได้ไหม ถ้าอยู่ไม่ได้เขาก็ต้องตายอยู่ดี ถึงแม้จะอยู่ได้ ต่อไปก็ต้องตายเหมือนกัน เพราะไม่มีใครหนีความตายไปได้ พอใช้ไตรลักษณ์ใช้ปัญญาเข้ามาสกัด ก็จะสงบตัวลงได้ พอสงบแล้วก็สบาย พอออกมาจากความสงบก็เริ่มห่วงอีกแล้ว กิเลสไม่ยอมหยุด เหมือนกับสงครามที่ข้าศึกศัตรูบุกมาเป็นระลอกๆ ส่งชุดที่ ๑ มาพอถูกฆ่าตายหมด ก็จะส่งชุดที่ ๒ มา จะส่งมาเรื่อยๆจนกว่าจะหมดกำลัง เราก็ต้องสู้ทุกระลอก หยุดไม่ได้ แต่เราจะไม่กลัว เพราะรู้วิธีฆ่ามันแล้ว รู้วิธีต่อสู้กับมันแล้ว เรามีอาวุธที่ประเสริฐที่ไม่มีมาก่อน ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนานี้เราจะสู้มันไม่ได้ ไม่มีใครสู้กิเลสได้ ก่อนที่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ไม่มีใครฆ่ากิเลสให้ตายหมดได้ ได้แต่ฉีดยาสลบหรือทุบให้มันสลบไปเท่านั้นเอง เดี๋ยวมันก็ฟื้นขึ้นมาใหม่ สมัยก่อนที่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ไม่มีใครบรรลุถึงพระนิพพานได้ ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสวงหาพระนิพพาน ก็ไม่มีใครสอนได้ เพราะไม่มีใครรู้ แต่พอพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้พบกับอาวุธวิเศษแล้ว ก็ทรงมอบให้กับพวกเรา จึงเป็นโชคเป็นวาสนาของพวกเราที่ได้รับอาวุธที่เลิศนี้มา ทีนี้เราสู้มันได้แล้ว จะมากี่ ๑๐๐ ระลอก มากี่ ๑๐๐๐ ครั้ง ก็ไม่กลัวมัน เราฆ่ามันได้หมด

    กิเลสสู้ไตรลักษณ์ไม่ได้ กิเลสทุกตัวไม่ว่าจะหยาบหรือละเอียด แพ้ไตรลักษณ์หมด จึงไม่ต้องกลัวกิเลส เรามีอาวุธที่ยอดเยี่ยมแล้ว อย่าไปเสียดายกิเลส เรื่องกลัวก็ไม่กลัว แต่เสียดาย จะขาดเพื่อนอย่างนี้ ก็เป็นกิเลสอีกแบบหนึ่ง ไปอยู่คนเดียวก็คิดว่าเรานี้เห็นแก่ตัวหรือเปล่า ทิ้งเพื่อนฝูงไปหรือเปล่า เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น อยู่กับเพื่อนแล้วเป็นอย่างไร จมไปด้วยกัน จมไปในกองทุกข์ พอหนีออกมาแล้วได้หลุดพ้น คนที่จะหลุดพ้นได้ ส่วนใหญ่หลุดพ้นด้วยการอยู่คนเดียว อยู่ตามลำพัง ไม่ได้หลุดพ้นด้วยการอยู่ร่วมกัน ต้องปลีกวิเวก ต้องอยู่ตามลำพัง จึงอย่าไปกลัวกับการปลีกวิเวกอยู่ตามลำพัง เป็นการอยู่ที่ดีที่สุดของนักปฏิบัติ จะมีความรื่นเริงบันเทิงใจกับความสงบความวิเวก จิตสงบแล้วจะไม่คิดถึงใคร จะไม่รู้สึกว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา ความเศร้าสร้อยหงอยเหงาเป็นผลงานของกิเลส ที่สร้างอารมณ์เหล่านี้ให้เกิดขึ้นมา ด้วยการคิดถึงอดีตที่หวานๆ กับคนนั้นคนนี้ กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตอนนี้ไม่มีแล้วจึงรู้สึกว้าเหว่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวใจ เป็นความคิดปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ที่กิเลสปลุกขึ้นมา ไม่ใช่ความจริง แต่ทำให้ทุกข์ทรมานใจ เพราะขาดสติ เรากำลังดูหนังในใจ แล้วก็เคลิ้มไปกับหนัง พอได้สติก็จะปลุกให้ตื่นขึ้นมา ว่าเป็นความฝัน ไม่เป็นความจริง ไปคิดบ้าบอคอแตกอย่างนั้นทำไม ทำไมไม่คิดพุทโธๆไป ทำไมไม่พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาไป นักปฏิบัติจะมีปัญหาตรงนี้เวลาอยู่คนเดียว บางครั้งเวลาเผลอนี่มันไหลไปเลย ไหลไปตามอารมณ์ คิดถึงอดีตอันแสนหวานแสนสวยงาม พอดูปัจจุบันรู้สึกแสนว้าเหว่ ไม่ว่าใครก็ตาม พอออกไปอยู่วิเวกแล้ว จะเจอเรื่องอย่างนี้กันทั้งนั้น
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 มกราคม 2010
  2. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    จึงควรเตรียมตัวรับกับมันไว้ ให้รู้ทัน คิดว่าความสุขเหล่านั้นเป็นความสุขในบ้านที่ไฟกำลังไหม้ ความสุขของทางโลกตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เที่ยง ของความแก่ของความเจ็บของความตาย เหมือนกับอยู่ในบ้านที่ไฟกำลังไหม้ ไปจัดปาร์ตี้ทำไมในบ้านที่ไฟกำลังไหม้ เดี๋ยวก็ถูกไฟเผาหรอก เวลาออกมาปลีกวิเวก ก็เท่ากับออกจากบ้านที่ไฟกำลังไหม้ ต้องตัดใจ อย่ากลับเข้าไปในบ้านที่ไฟกำลังไหม้อยู่ เพราะจะถูกไฟเผา ให้คิดอย่างนี้ จะมีกำลังใจ จะภาวนาพุทโธๆเดินจงกรมต่อได้ พอจิตสงบแล้วก็จะรู้ว่า ใจไปคิดเอง ใจไปปรุงแต่งขึ้นมาเอง ต่อไปก็จะไม่คิดแล้ว จะพยายามทำจิตให้สงบอยู่เรื่อยๆ จนมีความสงบเป็นฐานไปเลย ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็จะสงบ จะไม่สงบเป็นช่วงๆเหมือนตอนต้น เวลากิเลสปะทุขึ้นมาจะเป็นเหมือนภูเขาไฟระเบิด เวลาสัมผัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะปะทุขึ้นมา ถ้าไม่ได้สัมผัสก็จะสงบไปเรื่อยๆ อย่างนี้แสดงว่ามีสมาธิแล้ว แต่กิเลสที่สร้างปัญหายังไม่ตาย แต่ไม่ออกมาเพ่นพ่านเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนนี้จะอยู่เต็มไปหมดทุกแห่งทุกหน แต่พอมีสมาธิแล้วกิเลสจะหลบซ่อนตัว จะหลบในมุมนั้นมุมนี้ซอกนั้นซอกนี้ นานๆจะโผล่ขึ้นมา เวลาไปเห็นรูปได้ยินเสียงที่สะเทือนใจก็จะปรากฏขึ้นมา ก็ต้องใช้ปัญญาเข้าไปแก้เข้าไปตัด ต้องละตัวตน ที่ทำให้กิเลสสร้างความทุกข์ เช่นคิดว่าทำไมเขาไม่ปฏิบัติกับเราอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีเราไม่ใช่หรือ ทำไมจะต้องปฏิบัติกับเราอย่างนั้นอย่างนี้ด้วย ร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ จะปฏิบัติกับดินน้ำลมไฟอย่างไร ก็เรื่องของเขา ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา จะยกมือไหว้ร่างกายหรือไม่ ก็เรื่องของเขา จะยิ้มให้กับร่างกายหรือไม่ ก็เรื่องของเขา ไม่เป็นปัญหาอะไร ต้องมองอย่างนี้ อย่าไปมองว่ามีตัวมีตน ในร่างกายหรือในใจก็ดี ใจเป็นเพียงผู้รับรู้ ก็รู้ไป รู้ว่าเขาไม่ยิ้ม รู้ว่าเขาไม่ไหว้ ต้องใช้ปัญญาเข้าไปสกัด

    เวลาเกิดอารมณ์ไม่สบายใจขึ้นมา แสดงว่ากิเลสยังทำงานอยู่ แต่จะเห็นเรื่องของกิเลสได้ชัดเวลาที่มีสมาธิแล้วเท่านั้น เวลาไม่มีสมาธิมีกิเลสเต็มไปหมดเลย จึงไม่รู้อะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส เพราะส่วนใหญ่เป็นกิเลสไปทั้งหมด แต่พอเวลาสงบแล้วถึงจะรู้ว่า เวลาสงบนิ่งเฉยๆนี้เป็นธรรม พอเกิดอารมณ์ขึ้นมาปั๊บรู้เลยว่าเป็นกิเลส จึงต้องคอยกำจัดอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ต้องไปแหย่ให้เกิด ไปแหย่รังแตน ถ้าไม่ออกมาก็ต้องแหย่มัน ไม่อย่างนั้นจะไม่ออกมา ก็จะฆ่ามันไม่ได้ ต้องไปแหย่มัน เช่นกลัวอะไรก็ต้องไปหามัน กลัวเสือก็ต้องไปหาเสือ กลัวผีก็ต้องไปหาผี ไปแหย่รังแตน ให้ความกลัวออกมา พอออกมาแล้วจะได้ใช้ปัญญาเข้าไปสกัด เช่นกลัวความตาย กลัวกับการที่จะต้องพบเห็นสิ่งที่ไม่อยากจะพบเห็น ต้องใช้ปัญญาเข้าไปดับมัน ให้คิดว่าถ้ามันจะเกิดเราไปห้ามมันได้ที่ไหน ถ้าเห็นก็ให้สักแต่ว่าเห็น จะน่าเกลียดน่ากลัวขยะแขยงอย่างไร ก็ให้สักแต่ว่าเห็น ห้ามมันได้ที่ไหน สิ่งที่จะให้เราเห็น ถ้าทำใจกล้าไม่กลัวในสิ่งที่จะเห็นแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาอะไร อะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดขึ้นอยู่ดี ก็ให้มันเกิดไป เราก็สักแต่ว่ารู้ตามความจริงเท่านั้นเอง มีสมาธิรักษาใจให้สงบ มีปัญญาคอยสอนใจไม่ให้ผวาไม่ให้ตื่นเต้น ก็จะไม่มีปัญหาอะไร ถ้าไม่มีสมาธิจะทำไม่ได้ ใจจะกระโดดโลดเต้น จะไม่นิ่ง พอไม่นิ่งจะใช้ปัญญาไม่ได้ อารมณ์จะเข้ามาก่อน พอได้ยินเสียงเสือก็จะวิ่งแล้ว พอคิดว่ามีผีมาก็จะเผ่นหนีแล้ว ไม่มีสติปัญญามาคิดเลยว่า เห็นก็เห็นสิวะ ตายก็ตาย ถ้าไม่มีสมาธิจะทำไม่ได้ ถ้ามีสมาธิแล้วจะทำได้ ถ้าปฏิบัติได้สมาธิแล้ว แต่ไม่มีอะไรผุดโผล่ขึ้นมาก็อย่าตายใจ ต้องไปพิสูจน์ ต้องไปหารังแตนแหย่ อะไรที่เรากลัวก็ต้องไปหามัน อะไรที่เราชอบก็ต้องตัดมัน แล้วดูว่าแตนจะออกมาหรือเปล่า ถ้าออกมาจะได้ใช้ไตรลักษณ์ยิงให้ตายไปหมดเลย คนที่ติดสมาธิก็จะคิดว่าหมดปัญหาแล้ว ไม่มีอะไรแล้ว แต่เวลามีก็ไม่รู้สึกตัว ไม่ได้สังเกต ไม่ได้ดู เวลามีความทุกข์มีความวุ่นวายใจ ก็ไม่รู้ว่ากำลังทุกข์กำลังวุ่นวายใจ เพราะไปคิดว่าจิตเราสงบเราสบายแล้ว ส่วนเรื่องอารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติ ความจริงไม่ใช่เรื่องปกติหรอก ต้องไม่มีอารมณ์ถึงจะเป็นเรื่องปกติ

    ถาม : อัตตากับมานะ คือตัวเดียวกันใช่ไหม

    ตอบ : ตัวเดียวกัน

    ถาม : การที่เรายังมีอัตตานี้เกี่ยวเนื่องกับการต้องพิจารณากายด้วยไหม

    ตอบ : ถ้ามีความรู้สึกว่ามีตัวตนฝังลึกอยู่ในใจ เป็นอวิชชา ตัวที่ทำให้รู้สึกว่ามีเรา พอมีอะไรก็จะเป็นของเราขึ้นมา จิตเป็นของละเอียดมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า พอจิตได้ร่างกายก็เลยคิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา เพราะจิตเข้าไปอยู่ในร่างกาย ใช้ร่างกายเป็นตัวแทนจิต

    ถาม : แต่ถ้าเราพิจารณากาย จนเห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ที่รวมกันมาเป็นร่างกาย ก็จะไม่มีตัวเราในร่างกาย

    ตอบ : แต่ความรู้สึกว่ามีตัวเรายังมีอยู่ในใจ

    ถาม : การพิจารณากายจะช่วยแยกให้เห็นชัดขึ้น

    ตอบ : ถ้ามีตัวเราหลบซ่อนอยู่ในร่างกายก็ต้องตัดตัวนี้ไปก่อน พอซ่อนในร่างกายไม่ได้ มันก็ไปอยู่ซ่อนในใจ ก็ต้องเข้าไปดูในใจต่อ ความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเรายังมีซ่อนอยู่ในใจ ยังรู้สึกว่าเราเจ็บ เราทุกข์ เราสุขอยู่

    ถาม : ทีนี้เราก็ตามเข้าไปดูข้างใน

    ตอบ : ว่ามีเราหรือเปล่า

    ถาม : มันก็ละเอียดขึ้นไปอีก

    ตอบ : ละเอียดเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง ตอนต้นเรามองไม่เห็นใจ เพราะอัตตามาอยู่ที่ร่างกาย ต้องแยกที่ร่างกายก่อน พอตัวเราที่ร่างกายหมดไปแล้ว ก็จะหลบเข้าไปอยู่ในใจ เรียกว่ากิเลสหดตัวเข้าไปข้างใน ก็พิจารณาตามเข้าไป เข้าไปแยกในนามขันธ์ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แล้วก็เข้าไปแยกในจิต ลึกเข้าไปเรื่อยๆ จะข้ามขั้นตอนไม่ได้ เวลายังอยู่ข้างนอกจะเข้าไปดูจิตเลยไม่ได้ เหมือนที่เขาว่าดูจิตอย่างเดียว แต่อัตตาอยู่ที่ร่างกาย ไปดูจิตจะไม่รู้เรื่อง ต้องพิจารณาร่างกายเพื่อถอนอุปาทานในร่างกายก่อน ให้จิตปล่อยวางกายก่อน เพื่อจะได้เข้ามาข้างในจิต ถ้าดูจิตไม่พิจารณาร่างกาย ก็จะปล่อยร่างกายไม่ได้ ถ้าดูจิตก็จะเพียงแต่รู้ว่า จิตมีความสุข มีความทุกข์ มีความวุ่นวาย มีความสงบ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นอย่างนี้ ดูไปจนวันตายก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าจิตวุ่นวายกับร่างกาย ก็ต้องไปดูที่ร่างกาย ไปแก้ปัญหาที่ร่างกาย พิจารณาว่าไปวุ่นวายกับร่างกายทำไม มันไม่ใช่ตัวเราของเรา ต้องทำย่างนี้ พอเข้าใจก็จะหายวุ่นวาย ที่ดูจิตก็ให้รู้ว่าเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว แต่ดูจิตเฉยๆยังไม่พอ ดูจิตแล้วต้องรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้ปัญหาหายไป ต้องใช้ไตรลักษณ์แก้ มีปัญหากับอะไรก็ต้องไปแก้ตรงนั้น ถ้ามีปัญหากับคนนั้นก็ต้องไปแก้คนนั้น เช่นคนนั้นเป็นคู่อริกับเรา เห็นเขาทีไรแล้วใจเราวุ่นวาย ก็ต้องแก้ไม่ให้วุ่นวายให้ได้ ว่าทำอย่างไรให้สักแต่ว่าเห็น ต้องดูว่าเขาเป็นของเขาอย่างนั้น ไปห้ามเขาไม่ได้ ปล่อยเขาไป ถ้าปล่อยแล้วเขาจะด่าจะชมจะทำอะไรก็เรื่องของเขา เราอย่าไปให้ความสำคัญ ให้ความสำคัญกับใจ ให้มันสงบ ให้มันนิ่ง ให้มันสักแต่ว่ารู้ เป็นสิ่งที่เราต้องทำ

    ถาม : บางทีมันปล่อยของมันไปเอง

    ตอบ : จะปล่อยอย่างถาวรโดยไม่เห็นไตรลักษณ์ไม่ได้

    ถาม : พอเราเห็นคนที่เราเหม็นขี้หน้า เราก็เอาไตรลักษณ์มาตัด จนกว่าจะเห็นจริงตามนั้น

    ตอบ : จนไม่มีปัญหาต่อไป สักแต่ว่าเห็น ถ้ามีเรื่องอื่นที่เป็นปัญหาก็ต้องแก้ต่อไป ปัญหาอยู่ที่จิต จิตไปยุ่งกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้เอง เราก็ต้องพิจารณาเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ ว่าเป็นไตรลักษณ์ พอเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์จิตก็จะปล่อย ก็จะหมดปัญหาไป ถ้ายังไม่เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ก็จะยุ่งอยู่อย่างนั้น พอปล่อยข้างนอกแล้วก็จะไม่สนใจเรื่องภายนอก สักแต่ว่าเห็น ใครจะทำอะไร ใครจะพูดอะไร ก็ปล่อยเขาไปตามเรื่อง

    ถาม ; พอเห็นข้างนอกปุ๊บเราก็กลับมาดูใจของเรา

    ตอบ : ต้องดูว่าใจเป็นอย่างไร สักแต่ว่ารู้ว่าเห็น หรือมีปฏิกิริยา

    ถาม : แต่ก่อนจะว่าทำไมเขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เราส่งออกไปข้างนอกไปตำหนิคนข้างนอก แต่จริงๆเราควรจะกลับมาดูใจ

    ตอบ : ต้องดูทั้ง ๒ ส่วน แต่ดูใจเป็นหลัก ดูว่าใจเฉยหรือเปล่า ถ้าเฉยก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าไม่เฉยก็ต้องแก้ ปัญหาอยู่ที่ใจ แต่ส่งไปที่สิ่งนั้นคนนั้น ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่า สิ่งนั้นคนนั้นเป็นไตรลักษณ์ ที่ส่งออกไปเพราะหลง ไม่เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ พอเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ปั๊บ มันก็จะหดเข้ามา จะปล่อยสิ่งนั้นคนนั้นไป แต่ส่วนใหญ่เราไม่ดูที่ใจกัน เราดูที่คนนั้น แล้วก็ตอบโต้ทันที ไปแก้ที่ตัวเขา คุณทำไมพูดอย่างนี้ คุณทำไมทำอย่างนี้ แล้วก็มีเรื่องมีราวกัน เป็นเวรเป็นกรรมกัน เพราะไม่ดูที่ใจ ว่าใจเกิดอารมณ์ขึ้นมาแล้ว ต้องแก้ที่ใจ ต้องดับไฟที่ใจ นักปฏิบัติจะดูใจเป็นหลัก แต่ดูข้างนอกด้วย เพราะยังต้องเกี่ยวข้องกับข้างนอก ดูแล้วก็ต้องว่าใจมีปฏิกิริยาอย่างไร ถ้าเฉยเป็นอุเบกขาก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าไม่เฉยเริ่มมีอาการหงุดหงิดรำคาญใจ ไม่พอใจหรือชอบอกชอบใจ ก็ไม่ได้ ต้องสอนใจว่า ถ้าชอบอกชอบใจแล้ว พอเขาเปลี่ยนไปก็จะต้องเสียใจ ต้องสอนอย่างนี้ พอสอนแล้วก็จะเฉย พอเฉยแล้วก็ใช้ได้ นี่คือการดูใจดูจิต ไม่ใช่ดูเฉยๆ ดูเฉยๆไม่พอ ดูว่ามันเกิดมันดับ ถ้ามันไม่ดับล่ะ มันโกรธนานๆ จะทำอย่างไร ต้องหาวิธีดับความโกรธ ต้องใช้ไตรลักษณ์ ต้องใช้วิปัสสนา ต้องใช้สมถะเป็นเครื่องมือ ถ้าพิจารณาไม่ได้ ยังขาดสติปัญญา บางคนคิดไม่เป็น ก็ต้องอาศัยอุบายของสมถภาวนาไปก่อน ดึงใจออกจากเรื่องนั้น เข้าหาพุทโธ บริกรรมพุทโธๆไป หรือท่องคาถาอะไรก็ได้ เกิดแก่เจ็บตาย ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯลฯ ท่องไป อย่าไปคิดถึงเรื่องนั้น พอลืมปั๊บอารมณ์ก็จะหายไป จิตก็จะสงบตัวลง แต่พอเห็นปั๊บก็จะกลับขึ้นมาใหม่ เพราะสมาธิยับยั้งได้ชั่วคราว ไม่หายไปอย่างถาวร ถ้าพิจารณาทางปัญญาเป็น พิจารณาทางไตรลักษณ์เป็น พอใช้ไตรลักษณ์มันจะหายไปอย่างถาวรเลย สมาธิจึงตัดกิเลสไม่ได้ ต้องใช้ปัญญา สมาธิจึงไม่เป็นอริยมรรค

    ตัวอริยมรรคที่แท้จริงก็คือปัญญา ปัญญาเป็นตัวที่จะทำให้จิตเข้าสู่อริยภูมิได้ อย่างพระพุทธเจ้าก่อนที่จะทรงตรัสรู้ก็มีสมาธิแล้ว พระปัญจวัคคีย์ก็มีสมาธิแล้ว พระอาจารย์ ๒ รูปที่พระพุทธเจ้าไปทรงศึกษาด้วยก็มีสมาธิขั้นรูปฌานอรูปฌาน แต่ไม่ได้เป็นอริยมรรคอริยผล เพราะยังตัดภพตัดชาติไม่ได้ เพราะกิเลสไม่ได้ตายไปแม้แต่ตัวเดียว เพียงแต่ถูกฉีดยาสลบ ให้หยุดทำงานชั่วคราวเท่านั้นเอง พอกำลังของสมาธิอ่อนลงปั๊บ กิเลสก็ฟุ้งขึ้นมา จะฉุดลากใจให้ไปเวียนว่ายตายเกิดใหม่ เช่นไปเกิดชั้นพรหมแล้วพออำนาจของสมาธิชั้นพรหมอ่อนลง ก็จะทำให้เกิดกามฉันทะขึ้นมา ก็จะฉุดลากให้ลงมาชั้นเทพ พออำนาจของกามฉันทะแรงขึ้น จากการยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสที่เป็นระดับทิพย์ ก็จะต้องการรูปเสียงกลิ่นรสระดับหยาบ ที่ต้องใช้ตาหูจมูกลิ้นกาย ก็จะเลื่อนลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อมาหากามสุขในส่วนหยาบต่อไป กิเลสก็จะมีอำนาจมากขึ้นมากขึ้น พอเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ไม่ควบคุมกามฉันทะ ก็จะไปทำผิดศีลธรรม ก็จะไปเป็นเดรัจฉานต่อไป อยากได้สามีภรรยาใคร อยากจะหลับนอนกับใคร ก็ไม่ต้องแต่งงานกันให้ถูกต้องตามประเพณี เหมือนกับสมัยนี้ เอาความพอใจเป็นที่ตั้ง ไม่ต่างจากสุนัขเดือน ๙ เคยเห็นสุนัขเดือน ๙ ไหม เขาเดินตามกันเป็นฝูงเลย มีตัวเมียอยู่ตัวหนึ่ง มีตัวผู้ ๔ - ๕ ตัวเดินตาม เห่ากัดกันไล่กัน เพราะปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์ ไม่รู้ผิดถูกดีชั่ว ไม่รู้บาปบุญ พอศีลธรรมเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ก็จะพาให้ไปสู่อบายที่ต่ำลงไปเรื่อยๆ

    นี่คือเรื่องของสมาธิ ของการรักษาศีล ของการทำบุญให้ทาน เป็นโลกิยธรรม ไม่ใช่โลกุตรธรรม ถ้าจะเข้าสู่โลกุตรธรรม จะต้องเจริญไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา พอพระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจซึ่งเป็นไตรลักษณ์นี้ อริยสัจก็คือทุกขสัจ ที่เป็นหนึ่งในไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา แล้วก็ทรงแสดงอนิจจังด้วยเกิดแก่เจ็บตาย ในทุกขสัจก็มีอนิจจัง คือเกิดแก่เจ็บตาย พอทรงแสดงปั๊บ พระอัญญาโกณฑัญญะผู้มีสมาธิ มีจิตตั้งมั่นในความสงบอยู่แล้ว พอรับฟังคำสอนแล้วพิจารณาตามไป ก็รู้ว่าปัญหาอยู่ที่จิตไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา ถึงเป็นทุกข์ขึ้นมา เกิดสมุทัยขึ้นมา เกิดภวตัณหา เกิดวิภวตัณหาขึ้นมา พอเข้าใจแล้วก็ยอมรับว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา จิตก็เลยหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในระดับหนึ่ง ได้โสดาปัตติผลขึ้นมา ภพชาติเหลือเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก ถ้าไม่มีปัญญาของพระพุทธเจ้าคือไตรลักษณ์แล้ว ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากวัฏจักรได้ ต่อให้ภาวนาได้ถึงขั้นมีฤทธิ์มีเดช ก็ได้เพียงโลกิยธรรมเท่านั้นเอง โลกิยมรรคโลกิยผล แต่ไม่เป็นโลกุตรมรรคโลกุตรผล อันนี้ต้องมีปัญญาคือไตรลักษณ์

    จะมีปัญญาระดับไตรลักษณ์ได้ ต้องมีศีลมีสมาธิก่อน บางคนสอนว่าไม่ต้องทำสมาธิเจริญปัญญาไปเลย จะเอาอะไรมาเจริญ เอาจิตที่เต็มไปด้วยกิเลส ที่ว้าวุ่นขุ่นมัวกับเรื่องของกิเลส มาพิจารณาเรื่องไตรลักษณ์ได้อย่างไร พิจารณาไม่ได้ พิจารณาได้ปั๊บเดียวก็ไปแล้ว บางทีไม่อยากจะพิจารณาด้วยซ้ำไป กิเลสไม่ชอบความแก่ความเจ็บความตาย เวลาสอนใจเรื่องความแก่ความเจ็บความตายนี้แสนยากลำบากเหลือเกิน ทั้งๆที่เป็นความจริง ทั้งๆที่เห็นอยู่กับตาทุกวี่ทุกวัน เห็นคนแก่อยู่ทุกวัน เห็นคนเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ทุกวัน ได้ยินเรื่องของคนตายอยู่ทุกวัน แต่ยังไม่สามารถเอาเข้ามาสู่ใจได้ เพราะกิเลสคอยสกัดไว้ ให้เป็นเพียงสัญญาเท่านั้นเอง ให้เป็นเพียงความจำ ความจำกับปัญญาต่างกันตรงที่ว่า ความจำนี้จำแล้วหายไป นานๆก็นึกขึ้นมาทีหนึ่ง ถ้าเป็นปัญญามันจะต่อเนื่อง จะรู้อยู่ตลอดเวลา รู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า เธอต้องกำหนดพิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก ถึงจะเป็นปัญญา ถึงต้องบอกว่าฟังแล้วต้องเอาไปทำต่อ เอาไปขยายผล เอาไปทำการบ้าน แล้วก็เอาไปเข้าห้องสอบ

    ถาม : สัมมาสมาธิในมรรค ๘ เป็นสมาธิในอริยมรรคหรือเปล่า

    ตอบ : ถ้าเป็นสมาธิเพื่อสงบนิ่ง ไม่ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ก็เป็นสมาธิที่จะสนับสนุนในการเจริญปัญญาต่อไป แต่ถ้าเป็นสมาธิที่รับรู้เรื่องราวต่างๆ มีนิมิตนั้นนิมิตนี้ ไปรู้เรื่องนั้นรู้เรื่องนี้ ไปเที่ยวที่นั่นไปเที่ยวที่นี่ สมาธิแบบนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญปัญญา เพราะออกมาแล้วจิตจะไม่สงบไม่เย็นไม่นิ่ง เหมือนกับไม่ได้ทำสมาธิ ถ้าหลับนอนก็หลับไม่สนิท หลับแล้วฝันไป ถ้าฝันเรื่องไม่ดีตื่นขึ้นมาก็เหนื่อย ไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะไปทำงานต่อ แต่ถ้าหลับสนิทไม่ฝัน พอตื่นขึ้นมาจะมีชีวิตชีวาสดชื่น มีกำลังจิตกำลังใจที่จะไปทำอะไรต่อไปได้ สมาธิก็เช่นเดียวกัน ถ้าสงบนิ่งสักแต่ว่ารู้เป็นอุเบกขา เป็นเอกัคคตารมณ์ จิตรวมลงแล้วปล่อยวางทุกอย่าง ปล่อยวางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ปล่อยวางร่างกาย ถึงแม้จะยังได้ยินหรือยังรับรู้อยู่ แต่ไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย พักอยู่ในความสงบนั้นไป เป็นสัมมาสมาธิ เพราะเวลาจะพิจารณาปัญญาจิตจะได้ไม่วอกแวก จะพิจารณาเรื่องอะไรก็จะอยู่เรื่องนั้น ถ้าไม่มีสมาธิก็เหมือนกับเด็กที่ไม่มีสมาธิ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง เพราะใจจะคิดถึงเรื่องเล่น เรื่องเที่ยว เรื่องอะไรต่างๆ อ่านหนังสือก็ไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับจิตที่ไม่มีสมาธิ พอพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะแวบไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะพิจารณาไม่ต่อเนื่อง ไม่เห็นภาพที่ชัดเจน เวลาเข้าสมาธิแล้วควรให้สงบนิ่ง

    ถ้าจิตเป็นชนิดโลดโผนเหมือนของคุณแม่ชีแก้ว เวลาจิตสงบแล้วไม่อยู่กับที่ จะถอนออกมาแล้วไปรับรู้เรื่องต่างๆ ตอนที่ท่านปฏิบัติใหม่ๆท่านก็คิดว่าเป็นสมาธิ เป็นวิธีที่ปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่หลังจากหลวงตาสอนว่าไม่ใช่ ต้องหยุด ไม่ให้ออกไปรับรู้ แต่มันก็ยาก เพราะเป็นนิสัย พอนิ่งแล้วก็ออกไปทันที พอออกจากสมาธิแล้วก็ไม่มีกำลังที่จะไปเจริญปัญญาต่อ เจริญก็เจริญไม่ได้เพราะมันไม่นิ่ง ท่านถึงสอนว่าอย่าออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ถึงกับต้องขู่ว่า ต้องเลิกกันเลยถ้าไม่เชื่อฟัง ไม่สอนอีกต่อไป คุณแม่ชีแก้วจึงยับยั้งจิตไม่ให้ออกไปรับรู้ ให้นิ่งสงบเป็นอุเบกขา พอออกมาท่านก็สอนให้พิจารณาร่างกาย พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาอสุภะ พิจารณาปฏิกูล พิจารณาดินน้ำลมไฟ จนในที่สุดก็ปล่อยวางร่างกายได้ ถ้าไม่พิจารณา ต่อให้มีสมาธิระดับไหนก็ตาม ขั้นนิโรธสมาบัติก็ทำอะไรกิเลสไม่ได้ รูปฌานอรูปฌานก็ทำลายกิเลสไม่ได้ ระงับกิเลสไว้ได้ชั่วคราว พอออกมามันก็ทำงานต่อ พอออกจากสมาธิแล้ว ต้องพิจารณาต่อเลย ถ้าเป็นนักปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่พอออกจากสมาธิแล้วก็เอาจิตไปทำงานอื่น ไปทำขนม ไปทำกับข้าว ไปทำเรื่องไร้สาระทั้งหลาย ถ้าเป็นพระก็เอาไปทำเรื่องบาตรบ้าง เรื่องจีวรบ้าง เรื่องกลดบ้าง ถ้าเอาไปทำอย่างนี้แล้ว จะเสียเวลาไปเปล่าๆ พอเสร็จจากงานก็กลับเข้ามาทำสมาธิใหม่ ก็จะอยู่แต่ขั้นสมาธิเท่านั้น จะไม่ก้าวเข้าสู่ขั้นปัญญา

    เวลาออกจากสมาธิใหม่ๆจิตจะนิ่งจะสงบ ควรใช้เวลานั้นมาเจริญปัญญา พิจารณาเกิดแก่เจ็บตายอยู่เรื่อยๆ จนไม่นิ่งไม่สงบแล้วค่อยหยุด กลับเข้าไปทำสมาธิใหม่ให้นิ่งใหม่ พอนิ่งแล้วออกมาก็พิจารณาต่อ การปฏิบัติพอถึงขั้นปัญญาแล้ว สมาธิกับปัญญาจะสลับกันทำงาน แต่ในเบื้องต้นต้องสร้างสมาธิให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง วิธีของสมถะก็ได้ บริกรรมพุทโธหรือดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ ถ้าไม่ถูกจริตก็ต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาพิจารณาข่มใจให้สงบลง พอออกจากสมาธิก็เอามาพิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณารูปขันธ์ก่อน พิจารณาร่างกายก่อน สลับกับการกลับพักในสมาธิ จนร่างกายหมดปัญหาไป อุปาทานในร่างกายหมดไป จากนั้นก็พิจารณานามขันธ์ต่อไป เข้าไปสู่กิเลสและธรรมที่ละเอียด จากนามขันธ์ก็เข้าไปสู่ตัวจิต ที่เป็นศูนย์บัญชาการของกิเลส อวิชชาอยู่ในนั้น จิตตอวิชชาอยู่ในนั้น ตัวอวิชชาไม่ค่อยออกมาเพ่นพ่านภายนอก ทางรูปเสียงกลิ่นรสฯลฯ มันส่งบริวารส่งลูกน้องออกมา ตัวมันบงการอยู่ข้างใน การปฏิบัติจึงปราศจากสมาธิไม่ได้ แม้แต่ขั้นเริ่มต้นก็ต้องมีสมาธิให้ได้ก่อน พอได้สมาธิแล้วเวลาเจริญปัญญา ก็ต้องพักในสมาธิสลับกับการเจริญปัญญา เพราะสมาธิเป็นที่พักเป็นที่ให้อาหารใจ ทำสลับกันไปจนถึงขั้นสุดท้าย ถ้ามีใครสอนว่าไม่ต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องนั่งหลับตานี้ ก็อย่าไปฟังให้เสียเวลา พระพุทธเจ้าทรงสอนไตรสิกขาทำไม ทรงสอนศีลสมาธิปัญญาทำไม ทรงสอนสัมมาสมาธิทำไม ตัดมันออกไปก็ได้ มรรค ๘ ก็เอาแค่มรรค ๗ ก็พอ ไตรสิกขาก็เอาแค่ศีลกับปัญญาก็พอ ยกเว้นคนที่มีสมาธิแล้วก็ไม่ต้องทำสมาธิ อันนี้ยอมรับอยู่ถ้ามีสมาธิแล้ว เช่นพระปัญจวัคคีย์ ท่านมีสมาธิอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้สอนเรื่องสมาธิ ทรงสอนเรื่องปัญญาเลย ครั้งแรกทรงสอนเรื่องอริยสัจ ทรงสอนเรื่องมรรค ๘ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ต่อมาก็ทรงสอนอนัตตลักขณสูตร ทรงสอนเรื่องขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา เป็นปัญญาล้วนๆ เพราะมีสมาธิกันอยู่แล้ว

    สำหรับพวกที่ยังไม่มีสมาธิก็ต้องสอนให้ทำสมาธิไปก่อน สวดมนต์ก็ดี บริกรรมพุทโธก็ดี ก่อนหน้านั้นก็ต้องเจริญสติไปก่อน ถ้านั่งสมาธิแล้วจิตไม่สงบ ก็ต้องเจริญสติไปก่อน ให้มีสติอยู่ในทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหวของร่างกาย ให้อยู่ในปัจจุบัน อย่าส่งจิตไปที่นั่นที่นี่ พอมีสติดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบันได้แล้ว พอให้อยู่กับพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ พออยู่กับพุทโธอย่างต่อเนื่อง ก็จะรวมลงสู่ความสงบ เรื่องของการปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้ คนสอนอาจจะไม่ได้สอนเป็นขั้นเป็นตอน สอนขั้นนั้นบ้างขั้นนี้บ้าง คนฟังก็เลยสับสน แปลความหมายผิดไป มรรค ๘ ก็มีศีลมีสมาธิมีปัญญา สัมมาทิฐิสัมมาสังกัปโปเป็นปัญญา สัมมากัมมันโตสัมมาวาจาสัมมาอาชีโวเป็นศีล สัมมาสมาธิเป็นสมาธิ สัมมาสติและสัมมาวายาโมความเพียรชอบเป็นของทุกส่วน ต้องมีสติมีความเพียรในการรักษาศีลในการทำสมาธิในการเจริญปัญญา นี้คือองค์ประกอบที่จะนำไปสู่การตรัสรู้ สู่การบรรลุธรรม มรรค ๘ ต้องมีครบองค์ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาของปริพาชก ที่เข้าเฝ้าเป็นคนสุดท้าย ก่อนที่จะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ที่กราบทูลถามว่า มีลัทธิมีคำสอนอยู่มากมาย จะแยกแยะได้อย่างไร ว่าคำสอนไหนเป็นคำสอนที่ถูกต้อง พระองค์ทรงตอบว่าคำสอนใดที่มีมรรคเป็นองค์ ๘ คำสอนนั้นเป็นคำสอนที่ถูกต้อง ถ้ามีแค่ ๗ องค์ไม่มีสัมมาสมาธิก็ยังไม่ถูกต้อง คนที่ไม่ชอบนั่งสมาธิ ควรเปลี่ยนใจได้แล้ว ชอบถามปัญหานี้กันเหลือเกิน เวลานั่งต้องหลับตาหรือเปล่า ลืมตาไปทำไม เวลานั่งสมาธิจะไปดูอะไร ต้องปิดทวารทั้ง ๕ ต้องสำรวมอินทรีย์ จะไปเปิดตาดูอะไรอีก ต้องขังกิเลสไว้ข้างใน เพื่อจะได้ฆ่ามันได้ ไม่ใช่เปิดตาให้มันออกไปข้างนอก

    ถาม : ลาออกจากงานแล้ว กำลังเริ่มต้นภาวนา ทีนี้ก็สู้อยู่กับการอยู่คนเดียว บางทีฟุ้งซ่านก็พยายามกลับไปทำสมาธิ

    ตอบ : ต้องรีบภาวนาทันทีเวลาฟุ้งซ่าน สวดมนต์ไปนั่งสมาธิไป ฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อนก็ได้ ให้มันสงบ อะไรก็ได้ที่จะช่วยระงับความฟุ้งซ่าน

    ถาม : การทำสมาธินี้ต้องทำ ๓ เวลาหรือไม่คะ

    ตอบ : มากกว่านั้นได้ยิ่งดี สลับกับการเดินจงกรม ทั้งวันเลยก็ได้ พอไม่นั่งก็เดิน พอไม่เดินก็นั่ง

    ถาม : เวลาเบื่อก็แก้โดยการฟังเทศน์ฟังธรรม

    ตอบ : ฟังเทศน์อ่านหนังสือธรรมะบ้างก็ได้

    ถาม : ขอพร

    ตอบ : อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ
    ฟังธรรมมา ๔ ปีแล้วคงจะเข้าใจกันแล้ว ว่าต้องปฏิบัติเท่านั้น ที่เป็นอุปสรรค ความสงสัยในเรื่องต่างๆไม่สงสัยแล้ว รู้หมดแล้วว่าต้องกลับมาที่ตัวเรา เมื่อก่อนก็คิดว่าไปหาครูบาอาจารย์ที่วิเศษแล้ว ท่านจะเสกจะเป่าให้เรา ท่านก็ชี้กลับมาที่ใจเรา ชี้กลับมาที่ตัวเรา ชี้กลับมาที่การปฏิบัติของเรา ชี้มาที่การตัดการลดการละของเรา จึงอย่าไปเสียดายกับสิ่งต่างๆเลย เพราะสิ่งที่เราเสียไปก็เท่ากับเสียความทุกข์ไปเท่านั้นเอง สิ่งที่เรามีอยู่นี้ล้วนเป็นความทุกข์ทั้งนั้น เป็นกองทุกข์ที่เราแบกหามกันอยู่ทุกวัน อย่าไปคิดอยากได้อะไรมา เพราะเป็นการได้กองทุกข์มาเพิ่ม ให้คิดถึง ๓ คำนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีทุกข์อยู่ด้วย ให้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันทุกข์ทั้งนั้น เพียงแต่เรามองไม่เห็น เราเห็นแต่สุข ที่เป็นเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล ความทุกข์ที่เรามีกันนี้ มันถูกความสุขเคลือบไว้อยู่ ความสุขเล็กๆน้อยๆ จากการได้ทำอะไรตามความอยาก ก็เกิดความสุขขึ้นมา แล้วก็เกิดความทุกข์ตามมา ที่จะต้องหาความสุขใหม่ ที่เกิดจากเวลาหาไม่ได้ ที่จะต้องคอยรักษาความสุขนี้ไว้ เป็นความทุกข์ทั้งนั้น แต่เรามองไม่เห็นกัน เราเห็นแต่ความสุข พอได้อะไรมาก็ดีอกดีใจ แต่ไม่คิดถึงเวลาที่ผิดหวัง เวลาที่อยากแล้วไม่ได้ดังใจ จะเกิดอะไรขึ้นมา เวลาเสียสิ่งที่ได้มา จะรู้สึกอย่างไร ไม่คิดกัน ถ้าคิดว่ามันเป็นความทุกข์ ก็จะไม่อยากจะได้ ก็จะสบายใจ จะไม่เสียดายสิ่งที่เสียไป เพราะรู้ว่าเป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข

    จะรู้ได้จริงๆก็ต้องเกิดจากการภาวนา ทำจิตให้สงบให้ได้ก่อน ถ้าจิตไม่สงบจะไม่มีความสุขที่ดีกว่า มาทดแทนความสุขที่เป็นยาขมเคลือบน้ำตาล จะทุกข์ขนาดไหนก็ยอมทุกข์ เพื่อความสุขเล็กๆน้อยๆนี้ เหมือนคนที่ยอมทุกข์กับยาเสพติด ทุกข์กับสุรายาเมา แต่ถ้าได้พบกับความสุขที่เกิดจากการภาวนาแล้ว ความสุขอื่นๆจะเป็นเหมือนกองขยะไป ไม่มีคุณค่าเลย จะโยนทิ้งไปได้อย่างง่ายดาย ถ้ายังติดสุราก็เลิกได้ ยังติดการเที่ยวก็เลิกได้ ติดอะไรก็เลิกได้หมด แล้วจะทุ่มเทเวลาให้กับการสร้างความสุขแบบนี้ ตอนนั้นแหละถึงจะเป็นการภาวนาจริงๆ ภาวนามยปัญญาจริงๆ ตอนนี้เราก็รู้อนิจจังทุกขังอนัตตา แต่มันตัดกิเลสไม่ได้เพราะขาดสมาธิ ขาดความสุขทดแทน ก่อนที่เราจะเสียความสุขเหล่านี้ไป ต้องมีอะไรมาทดแทนก่อน เหมือนกับมีแฟน เรายังรักแฟนเราอยู่ พอได้แฟนใหม่แล้ว แฟนเก่าจะไปก็ไม่เสียใจ เพราะมีแฟนใหม่ทดแทนแล้ว เขาจะไปก็ไปได้เลย แต่ถ้าไม่มีแฟนทดแทนนี้ ไปไม่ได้ หัวเด็ดตีนขาดใครอย่ามาแย่งไปเป็นอันขาด นี่ก็แบบเดียวกัน เรายังติดความสุขทางโลกอยู่ เพราะยังไม่มีความสุขทดแทน ยังไม่ได้ความสุขทางสมาธิ ถ้าได้แล้วจะออกบวชได้เลย ไปอยู่วิเวกได้ ไปที่ไหนก็ไปได้ จึงควรพยายามสร้างความสุขแบบนี้ให้เกิดขึ้นเถิด พอได้ความสุขแบบนี้แล้ว จะสบาย จะไม่ต้องการอย่างอื่น

    เรานี้โชคดีจริงๆเกิดมาไม่คิดว่าจะทำได้ อยู่ๆก็มาเอง นั่ง ๑๐ นาที ๑๕ นาทีมันก็สงบ แล้วก็ไม่มีอาจารย์ไม่มีครู อ่านจากหนังสือ แล้วก็ลองทำดู แต่ก่อนจะได้ทำก็หลายเดือนอยู่นะ อ่านหนังสืออยู่หลายเดือน อยู่มาวันหนึ่งก็เอะใจขึ้นมาว่า นี่ยังไม่เคยทำสักที อ่านเรื่องทำสมาธิมาตั้งหลายเดือนแล้ว ยังไม่เคยนั่งสักที เอามันเดี๋ยวนี้เลย ก็เลยเอามันเดี๋ยวนั้นเลย พอนั่งไปสัก ๒ - ๓ ครั้งมันก็สงบ ไม่นานเดี๋ยวเดียว พอนั่งแล้วมันเจ็บมันปวดขึ้นมา ก็บริกรรมไปเรื่อยๆ ปั๊บเดียวความเจ็บความฟุ้งซ่านก็หายไป พลิกหน้ามือเป็นหลังมือไป แล้วมันก็นิ่ง แต่ยังรับรู้อะไรได้ทุกอย่าง รู้ว่าใจข้างในไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวายกระสับกระส่าย ความเจ็บก็หายไป ก็เลยเกิดความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ใจขึ้นมา ว่าใจของเราเป็นอย่างนี้ได้นะ มันพลิกจากอย่างนี้ไปเป็นอย่างนั้นได้ ด้วยการทำอย่างนี้ พอนั่งครั้งต่อไปก็ไม่เป็นอย่างนี้อีก แต่จะค่อยๆสงบลงไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่เป็นแบบวูบลงไป ขาดผึงลงไป แต่นั่งได้นานขึ้น ตอนนั้นนั่งได้ ๑๐ นาที ๑๕ นาทีก็เจ็บแล้ว แต่เราไม่ยอมลุก เราก็บริกรรมต่อ พอบริกรรมไปเดี๋ยวเดียว มันก็ขาดไปเลย หายไปเลยความเจ็บ

    ถาม : ฟังดูง้ายง่าย แต่ทำย๊ากยาก

    ตอบ : อยู่ที่สติตัวเดียว สติอยู่กับงานที่ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ไปคิดเรื่องอื่น

    ถาม : เกิดขึ้นก่อนที่ท่านจะบวช

    ตอบ : ได้หนังสือธรรมะมาอ่านก่อน ประมาณสัก ๒ - ๓ เดือน จึงลองนั่งดู พอนั่งแล้วได้ผลก็ติดใจ ก็ลาออกจากงานเลย พอดีมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง ก็เลยคิดว่าจะลองปฏิบัติอยู่สักปีหนึ่งไม่ทำอะไร นั่งสมาธิ เดินจงกรม อ่านหนังสือธรรมะเท่านั้น ไม่ออกไปเที่ยวดูหนังฟังเพลง แต่มีบ้างนานๆสู้กิเลสไม่ได้ก็แวบออกไปบ้าง แต่พอไปก็รู้ว่าไม่ได้ท่า เสียท่า ก็ทำอยู่ได้ปีหนึ่ง ก็รู้ว่าบวชได้ ก็เลยหาวัดบวช มันไปของมันเอง ไม่มีครูไม่มีอาจารย์ เหมือนกับไฟเก่าได้เชื้ออย่างนั้นนะ มันรุกไปของมันเอง มันหาทางของมันไปเอง พอได้หนังสือธรรมะมาเล่มแรกเท่านั้นก็ไปเลย ไปทางนี้เลย ตั้งแต่เด็กก็เห็นคนตาย ตอนอายุสัก ๑๒ ขวบได้ มันฝังตาฝังใจอยู่ตลอดเวลา มันพิจารณาอยู่ตลอดเวลา ว่าเราก็ต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน คนที่เรารักเราเคารพ เช่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายก็ต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน มันคิดของมันเอง คิดอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เศร้าสร้อยหงอยเหงาจากความคิดนี้ คิดด้วยเหตุด้วยผล แต่มันไม่หยุดยั้งชีวิตของเรานะ ยังต้องเรียนหนังสือก็เรียนไป ยังเที่ยวยังเล่นกับเพื่อนอยู่ แต่มันมีกรอบของมัน จะไม่ไปทำผิดศีล ไม่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ใครจะชวนไปยิงนกตกปลาจะไม่เอา ไปลักขโมยก็ไม่เอา มันไม่สบายใจ เวลาโกหกหลอกลวงจะไม่สบายใจ มันรู้อยู่ในใจของมันอย่างนั้น

    ถาม : ต่างจากพี่จากน้องไหมคะ

    ตอบ : ต่างกัน มีน้องสาวคนเดียว เขาไม่ค่อยรู้เรื่องธรรมะ เขาไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้มาจากพ่อจากแม่ มาจากบุญจากกรรมที่ได้สะสมมาแต่ละคน ไม่ได้เป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริงหรอก เพียงแต่อาศัยครรภ์เดียวกันมาเกิด ออกมาจากท้องแม่คนเดียวกัน แต่ที่มานี้มาจากคนละที่

    ถาม : ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรามีกรรมเป็นของตนเอง

    ตอบ : ใช่ ตอนที่ใจกับกายมาเจอกัน ใจไม่ได้มาจากพ่อจากแม่ มันมาจากภพก่อน มันตายจากภพก่อน พอถึงเวลาที่จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ก็หาครรภ์ พอได้ครรภ์ก็เข้าไปอยู่ในครรภ์นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพ่อกับแม่เจ้าของครรภ์ หรือกับพี่กับน้องที่เกิดก่อนหรือเกิดหลัง ยกเว้นถ้ามีอะไรกันในอดีตชาติ นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง อาจจะมาเกิดเป็นพี่เป็นน้องกันก็ได้ อย่างนี้ก็มีอยู่ อาจจะเคยเป็นญาติกันมาก่อนก็ได้ ไม่ใช่ว่าพอเป็นพี่เป็นน้องกันแล้ว จะต้องเป็นเหมือนกัน พ่อแม่เป็นอย่างนี้แล้วลูกจะต้องเป็นอย่างนี้ด้วย ก็ไม่ใช่ แต่ก็เป็นได้ในบางกรณี พอดีพ่อแม่ก็เป็นแบบนี้ จิตของลูกก็เป็นแบบนี้ด้วย แต่ไม่ได้มาจากพ่อจากแม่ มาจากบุญกรรมที่ทำไว้ในอดีต และที่กำลังทำกันอยู่ในปัจจุบัน ที่จะติดไปกับเรา ถ้าใฝ่ธรรมไปเกิดชาติหน้าก็จะใฝ่ธรรมต่อ

    ถาม : มีคำแนะนำให้คนที่ฟังท่านอาจารย์ ๔ ปีแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงไหน

    ตอบ : แยกเป็นบัว ๔ เหล่า ในห้องเรียนก็เหมือนกัน มีเด็กเรียนเก่งกับเด็กเรียนไม่เก่งผสมกันไป เด็กที่ไม่เก่งชอบอยู่ท้ายห้อง เด็กเรียนเก่งมักชอบอยู่หน้าห้อง เพราะไม่กลัวอาจารย์ถาม จะตอบได้เสมอ จะเกเรไม่ได้ ถ้านั่งอยู่ข้างท้ายห้องนี้เล่นกันได้ แต่เด็กที่อยู่หน้าห้องนี้จะต้องมีสมาธิฟังครูอย่างเดียว จึงเรียนเก่งกัน เด็กที่เรียนเก่งจะชอบนั่งอยู่ข้างหน้าห้อง เพราะชอบฟังคำสอนของครูของอาจารย์ เขาตั้งใจเรียน แต่เด็กที่ไม่ชอบฟัง จะหลบไปนั่งอยู่ข้างหลังห้องกัน จะได้เล่นกันได้ มีพราหมณ์ถามพระพุทธเจ้าว่า ตถาคตเป็นผู้สอนให้ผู้ที่ศึกษาปฏิบัติ ได้ไปถึงมรรคผลนิพพาน แต่ทำไมสาวกของท่าน บางคนก็ไปถึง บางคนก็ไปไม่ถึง พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบไปว่า เราเป็นคนสอน เราไม่ได้เป็นคนปฏิบัติ เขาต้องปฏิบัติด้วยตัวเขาเอง จะไปถึงไม่ถึงอยู่ที่การปฏิบัติของเขา ไม่ได้อยู่ที่คนสอน คนสอนก็ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่แล้ว อยู่ที่คนฟังจะนำเอาไปขยายผลต่อได้หรือไม่ อยู่ที่ความสามารถของเขา ที่เรียกว่าบุญบารมี ถ้าได้สะสมปัญญาบารมีมามาก พอฟังปั๊บก็จะเข้าใจทันที อย่างพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านมีปัญญาบารมีมากกว่ารูปอื่น รู้เร็วกว่า พอฟังแล้วบรรลุก่อนเลย อีก ๔ รูปยังไม่เข้าใจ เรื่องของลูกศิษย์ลูกหาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของอาจารย์ อาจารย์อาจจะวิตกกังวลบ้าง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องให้เวลามากหน่อย เพราะเป็นเด็กปัญญาอ่อน คนบางคนพอบอกคำเดียวก็เข้าใจ บางคนต้องขยายความ บางคนต้องวาดภาพให้เห็น คนเรามีปัญญาระดับต่างกัน จึงควรพยายามสร้างปัญญาไว้เรื่อยๆ ปัญญาเกิดได้ด้วยการได้ยินได้ฟัง เกิดได้ด้วยการนำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไปใคร่ควรพิจารณา จนสามารถพิจารณาได้อย่างต่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก แต่ต้องทำจิตให้สงบก่อนถึงจะทำได้ ขอให้นำเอาไปปฏิบัติกัน

    กัณฑ์ที่ ๔๐๒ ใจไม่มีอายุขัย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 มกราคม 2010
  3. วะศิ

    วะศิ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 ธันวาคม 2009
    โพสต์:
    18
    ค่าพลัง:
    +112
    นามะรูปัง อนิจัง ทุกขัง อนัตตา รูปธรรม มันตายแต่นามธรรมมันไม่ตาย มันไปอยู่ไหนสงสัยจัง มันเกิดมาจากไหน มันเป็นอมตะธาตรึ พระอาทิตย์ยังมีวันดับ งง
     
  4. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    กัณฑ์ที่ ๔๐๓ ทุกข์เกิดจากความอยาก

    ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๒

    ในสมัยพระพุทธกาลมีผู้เรียนธรรม ได้บรรลุธรรมกันเป็นจำนวนมาก บางคนเรียนเพียงวันเดียว ฟังครั้งเดียวก็บรรลุธรรมได้ ส่วนใหญ่พวกนักเรียนรุ่นแรกๆของพระพุทธศาสนา จะเรียนอยู่ในระดับปี ๓ ปี ๔ กัน ติดอยู่ที่ปี ๓ ปี ๔ มาหลายกัปหลายกัลป์ หลายภพหลายชาติแล้ว ได้ทานแล้ว ได้ศีลแล้ว ได้สมาธิแล้ว แต่ยังไม่ได้ปัญญา ไม่ได้อริยสัจ ๔ ที่เป็นความรู้จำเพาะของพระโพธิสัตว์ ที่จะศึกษาจนทะลุปรุโปร่งได้ด้วยตนเอง จนหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลายได้ จบวิชาทางด้านจิตใจได้ สมัยแรกๆที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา ทรงมุ่งไปสอนพวกที่มีทานมีศีลมีสมาธิแล้ว เช่นนักบวชในลัทธิต่างๆ กลุ่มแรกก็คือพระปัญจวัคคีย์ ทานท่านได้สละหมดแล้ว สละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง บุตรธิดาภรรยา แล้วก็มาบำเพ็ญรักษาศีล เจริญสมาธิจนได้ฌานขั้นต่างๆ ขั้นรูปฌานและอรูปฌาน แต่ไม่มีความรู้ทางปัญญาทางวิปัสสนา ไม่รู้ว่าความหลงที่เป็นต้นเหตุ ที่ทำให้เกิดความทุกข์เป็นอย่างไร จะแก้ความหลงนี้ได้อย่างไร รู้อยู่ว่าใจยังมีความทุกข์อยู่ เวลาจิตอยู่ในสมาธิ ไม่มีความทุกข์เลย แต่พอออกจากสมาธิ ใจก็เริ่มกระสับกระส่ายกระวนกระวาย มีอารมณ์ไปกับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัส จึงรู้ว่ายังไม่หลุดพ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร กับอาการกระสับกระส่ายกระวนกระวาย อาการทุกข์ของใจ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ในเบื้องต้นก็ไม่ทรงทราบเหมือนกัน ว่าจะทำอย่างไร หลังจากออกจากสมาธิแล้ว พระทัยของพระองค์ก็ยังมีความทุกข์ มีความกระวนกระวาย มีความหวาดกลัวกับความเป็นไปของร่างกาย ร่างกายของคนอื่นก็พอจะตัดได้ ได้ตัดมาแล้ว ทรงตัดญาติพี่น้องภรรยาลูกแล้ว แต่ยังติดพระวรกายของพระองค์ ที่ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ยังไม่รู้จักวิธีทำให้ใจปล่อยวางร่างกายได้

    ในเบื้องต้นทรงคิดว่า ทุกข์อยู่ที่ความอยากรับประทานอาหาร ทรงคิดว่าถ้าอดอาหารแล้วจะปล่อยวางร่างกายได้ หลังจากได้ทรงอดพระกระยาหารถึง ๔๙ วันแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถปล่อยวางร่างกายได้ ยังมีความกังวล มีความกลัว กับความแก่ความเจ็บความตายอยู่ ในที่สุดก็ทรงเห็นว่า การอดพระกระยาหารอย่างเดียว ไม่สามารถดับความทุกข์ ที่อยู่ภายในใจได้ ไม่สามารถปล่อยวางร่างกายได้ ทีนี้จะทำอย่างไรถึงจะปล่อยวางร่างกายได้ ก็ทรงใช้การบำเพ็ญจิตตภาวนา เข้าไปดูภายในใจว่า ใจกระวนกระวายกระสับกระส่าย ทุกข์กับร่างกายได้อย่างไร ทรงพิจารณาเห็นว่าเกิดจากความอยากต่างๆ เช่นอยากไม่ให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่อยากให้แก่ ไม่อยากให้ตาย สาเหตุที่ทำให้เกิดความอยากต่างๆนี้ ก็เกิดจากการไม่รู้ความจริงของร่างกาย ว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มาจากดินน้ำลมไฟ แล้วก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ พอทรงพิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็ทรงเห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวเราของเรา มาจากดินน้ำลมไฟ พอทรงเห็นอย่างนี้ก็ดับความหลง ที่คิดว่าร่างกายเป็นตัวเราเป็นของเราได้ ถ้าคิดว่าเป็นตัวเราของเรา ก็อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ แต่มันฝืนความจริง เป็นเหตุสร้างความทุกข์ขึ้นมาในใจ ก็เลยเห็นอริยสัจ ๔ เห็นว่าทุกข์เกิดจากความอยาก อยากไม่ให้ร่างกายแก่ ไม่ให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ให้ร่างกายตาย แต่ร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าคิดว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็จะไม่สนใจว่า จะแก่จะเจ็บจะตายหรือไม่อย่างไร ก็จะไม่เป็นปัญหา พอเห็นร่างกายว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็ปล่อยวางได้ ทุกข์ก็ดับไป นิโรธแปลว่าความดับของความทุกข์ พอพิจารณาเห็นว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็รู้ว่าต้องปล่อยวาง ถ้าปล่อยวางแล้วจะไม่ทุกข์ ที่ทุกข์ก็เพราะไม่ปล่อย เพราะหลง เพราะอยาก พอหลงก็จะคิดว่าเป็นตัวเราของเรา ก็จะเกิดความอยาก เป็นสมุทัย ที่สร้างความทุกข์ขึ้นมาในใจ ถ้าจะดับทุกข์ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่า ไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา การพิจารณานี้ก็คือมรรค คือปัญญา

    ปัญญาเป็นสุดยอดของมรรค เป็นเหมือนหัวหอก หอกนี้มีส่วนประกอบหลายส่วนด้วยกัน มีทั้งหัวหอก มีทั้งด้าม มีทั้งคนใช้หอก ส่วนประกอบสำคัญที่สุดก็คือ หัวหอกที่ต้องแหลม เมื่อพุ่งหอกไปแล้วจะทะลุทำลายเป้าได้ เวลาเจริญมรรคไปเรื่อยๆแล้ว จะไปถึงยอดถึงหัวหอกนี้เอง ตอนต้นก็เจริญส่วนอื่นก่อน เช่นเจริญการกระทำทางกายทางวาจาที่ถูกต้อง การมีอาชีพที่ถูกต้อง มีความเพียรที่ถูกต้อง มีสมาธิมีสติที่ถูกต้อง ส่วนประกอบที่สนับสนุนหัวหอก ที่สำคัญที่สุดก็คือสติ พอมีศีลมีสมาธิมีสติแล้ว ปัญญาก็จะตามมาต่อไป พอได้ใช้ปัญญาพิจารณาความจริงของสิ่งที่ใจไปทุกข์ด้วยแล้ว ก็จะเห็นว่ามันไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราของเรา พอเห็นอย่างชัดเจนแล้ว ก็จะตัดความอยากได้ เพราะเมื่อไม่เป็นของเราแล้ว เราก็ไม่ให้ความสนใจอีกต่อไป ถ้ายังเป็นของเราอยู่ เช่นเป็นสามีของเรา ก็จะอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอหย่ากันแล้ว ไปเป็นสามีของคนอื่นแล้ว เราก็จะไม่สนใจเขา ไม่ได้อยากอะไรกับเขาแล้ว เขาจะดีจะชั่วจะทำอะไรอย่างไร เราก็ไม่ทุกข์กับเขาแล้ว เพราะไม่มีความอยาก เพราะรู้ว่าไม่เป็นสามีของเราแล้ว พออะไรเป็นของเราขึ้นมา ก็จะเกิดความอยากทันที อยากให้ดี อยากให้อยู่กับเราไปนานๆ พอไม่เป็นของเราแล้วก็จะไม่สนใจ เวลาซื้อรถมาใหม่ๆ ก็จะห่วงจะหวง อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีไปเรื่อยๆ พอไม่เป็นดังใจอยากก็จะทุกข์วุ่นวายใจ ถ้ากระจกรถถูกค้อนทุบใจก็ปวดร้าวขึ้นมา พอขายรถไปแล้วใครจะทำอะไร ใจก็จะไม่หวาดผวา ถ้ายังเป็นของเราอยู่ เวลาจอดรถทิ้งไว้ก็จะเป็นห่วงรถ ตอนกลางคืนตื่นขึ้นมาต้องลงมาดูว่ายังอยู่หรือเปล่า เพราะเป็นของเรา พอเป็นของเราปั๊บ ก็จะเกิดความผูกพัน เกิดความอยากทันที

    ความจริงแล้วไม่มีอะไรเป็นของเรา สัพเพ ธัมมา อนัตตา เวลาเรามาเกิด เราก็ไม่ได้เอาอะไรติดตัวมาด้วยเลย แล้วจะมีอะไรเป็นของเรา ก็มีใจเท่านั้นแหละที่เป็นของเรา มีกรรมที่ติดมากับใจที่เป็นของเรา บุญกรรมนี้แลที่เป็นของเราแท้ๆ กรรมทางภาษาพระเป็นคำกลางๆไม่ได้เป็นบุญหรือเป็นบาป กรรมมี ๓ ชนิดด้วยกันคือ กรรมที่เป็นบุญ กรรมที่เป็นบาป กรรมที่ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป แต่ภาษาไทยเรามักจะใช้คำว่ากรรมแทนคำว่าบาป เวลาพูดถึงกรรมก็จะคิดว่าบาปกัน แต่คนพูดไม่ได้หมายถึงบาป แต่หมายถึงการกระทำ ที่มีทั้งบุญ มีทั้งบาป มีทั้งไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป ฉะนั้นเวลาฟังต้องฟังให้เข้าใจ ตามรสนิยมที่ใช้กันมา มักจะใช้กรรมแทนบาปกัน แต่บางเวลาก็ใช้กรรมเป็นการกระทำ กรรมนี้แลเป็นของเราที่แท้จริง เรามีกรรมเป็นของๆตน จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น กรรมเป็นสิ่งที่เราเอาติดตัวมา พระพุทธเจ้าก็ทรงมีกรรมดีติดตัวมา เรียกว่าบารมี ๑๐ คือทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี อธิษฐานบารมี สัจจบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี เมตตาบารมี ปัญญาบารมี อุเบกขาบารมี นี่คือสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญได้ทรงสะสมมาทุกภพทุกชาติ บารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้จะเป็นผู้สนับสนุน ผู้ผลักดันให้ไปสู่การตรัสรู้โดยถ่ายเดียว ไม่ไปทางอื่น ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ได้มีการพยากรณ์ว่าจะเป็นได้ ๒ อย่างด้วยกันคือ ถ้าอยู่ทางโลกก็จะเป็นพระมหาจักรพรรดิ ถ้าออกบวชก็จะได้เป็นศาสดาของโลก มีโหรอยู่รูปเดียวที่ทำนายว่าจะต้องเป็นพระศาสดาเพียงอย่างเดียว รู้สึกว่าจะเป็นอัญญาโกณฑัญญะ ที่ต่อมาได้เป็นพระอริยสงฆ์สาวกรูปแรกของพระพุทธศาสนา นี่คือสมบัติของเราที่แท้จริง อย่างอื่นไม่ใช่สมบัติของเรา เพราะฉะนั้นอย่าไปตู่ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของเราเป็นตัวเรา อย่าไปตู่เอาร่างกายว่าเป็นตัวเราของเรา อย่าไปตู่ว่าสามีภรรยาเป็นของเรา ลูกหลานเป็นของเรา เขาไม่ได้เป็นของเราหรอก เขาเพียงแต่เกี่ยวข้องกับเราทางด้านสายพันธุ์ ทางด้านเหตุการณ์เท่านั้นเอง เมื่ออยู่ด้วยกันอย่างสามีภรรยา ก็ถือวิสาสะเป็นของกันและกัน สามีก็ว่าเป็นภรรยาของฉัน ภรรยาก็ว่าเป็นสามีของฉัน แต่ความจริงเป็นเพียงสมมุติเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง เพราะเวลาหย่าเลิกกันไป ก็ไม่ได้เป็นสามีภรรยากันแล้ว ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องอย่างนี้ ต้องเห็นว่าทุกอย่างเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา สรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคลล้วนเป็นอนัตตาทั้งนั้น ไม่เป็นตัวเราของเรา

    นี่แลเป็นความรู้พิเศษของพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ที่ทรงมีพระปัญญาบารมีที่แหลมคม ที่สามารถมองทะลุเห็นความจริงนี้ได้ ด้วยการพิจารณาดูทุกสิ่งทุกอย่าง ว่ามาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ที่เราเห็นด้วยตานี้ มาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น ผสมกันแล้วก็แปรรูปออกมาเป็นรูปลักษณะต่างๆ ร่างกายของเราก็มาจากดินน้ำลมไฟ ต้นไม้ต้นหญ้าก็มาจากดินน้ำลมไฟ ภูเขาทะเลก็มาจากดินน้ำลมไฟ ภูเขาก็เป็นส่วนดิน ทะเลมหาสมุทรก็เป็นส่วนน้ำ ความร้อนต่างๆก็เป็นส่วนไฟ ลมที่เราหายใจเข้าออกก็เป็นส่วนลม ก็มีแค่นี้แหละ เมื่อมารวมกันภายใต้เหตุปัจจัยที่ต่างกัน ก็ทำให้มีรูปร่างลักษณะที่ต่างกันไป ต้นไม้มีนานาชนิด แต่ก็มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน คนมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน มีผิวขาวผิวดำผิวเหลือง ผมยาวผมสั้นผมหยิกผมงอก็มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน แล้วก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอะไรจะต้องมาจากธาตุทั้ง ๔ นี้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่ามีส่วนไหนมากน้อยต่างกัน พวกวัตถุต่างๆจะมีส่วนของดินมากกว่า แต่ก็มีส่วนของไฟผสมอยู่ด้วย เช่นไม้ที่ใช้ปลูกศาลาหลังนี้ ถ้าจุดไฟเผาก็จะปล่อยธาตุไฟออกมา ส่วนน้ำก็ระเหยออกมา ส่วนน้ำมีอยู่น้อยมากจนมองไม่เห็น จึงเห็นว่าเป็นส่วนดิน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีทั้ง ๔ ส่วนถึงจะรวมตัวกันขึ้นมาได้ ร่างกายก็มีทั้ง ๔ ส่วน ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำ นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาแล้วว่าร่างกายมี ๓ ใน ๔ ส่วนที่เป็นน้ำ ถ้าดูดส่วนน้ำออกมาหมด ร่างกายก็จะแฟบลงไป เหมือนกับยางรถยนต์ ส่วนใหญ่มีแต่ลมเป็นองค์ประกอบ พอปล่อยลมออก ยางรถยนต์ก็จะแฟบลงไป เหลือแต่ส่วนดินคือตัวยาง นี่คือเรื่องของส่วนต่างๆในโลกนี้

    สรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ล้วนมีธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟเป็นส่วนประกอบทั้งนั้น แล้วดินน้ำลมไฟมาเป็นตัวเราเป็นของเราตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็ตั้งแต่ตอนที่เราไปตู่เขาว่าเป็นตัวเราของเรา ตอนที่เราไปได้ร่างกายในท้องแม่ ใจนี่แลที่ไปสถิตอยู่ในร่างกายที่แม่พึ่งตั้งครรภ์ขึ้นมา พอคลอดออกมาก็อยู่ติดกันมา แล้วก็ตู่มาตลอดว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา พอเป็นตัวเราเป็นของเราแล้วก็อยากให้ดีอยู่เรื่อยๆ อยากให้สวยอยากให้งาม อยากให้แข็งแรง อยากให้อยู่ไปนานๆ ไม่อยากให้ตาย ไม่อยากให้แก่ ไม่อยากให้เจ็บ แต่ความอยากเหล่านี้ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงความจริงของร่างกายแต่อย่างใด เขาต้องเป็นไปตามวาระของเขา แต่ไปกระทบกับใจ ไปสร้างความทุกข์ให้กับใจ ความอยากเป็นตัวสร้างความทุกข์ให้กับใจ ความอยากมีอยากเป็น เป็นตัวสร้างความทุกข์ เช่นเดียวกับความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่เรียกว่าความอยากในกาม หรือความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ อยากร่ำอยากรวย อยากเป็นใหญ่เป็นโต ความอยากทั้ง ๓ ประการนี้เป็นสมุทัย เป็นต้นเหตุของความทุกข์ของใจ นี่คือความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ในขณะที่ทรงนั่งประทับอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ในวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเจริญสมถะในเบื้องต้นทำจิตใจให้สงบ พอจิตถอนออกจากความสงบแล้ว ก็จะมีพลังมีความเย็นมีความสบาย ก็ทรงพิจารณาร่างกายจนเห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา แล้วก็พิจารณาส่วนที่ละเอียดเข้าไปคือนามขันธ์ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา และสภาวธรรมที่อยู่ในจิตก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา ทรงพิจารณาจนปล่อยวางได้หมด ก็ทรงได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเห็นว่ากายเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ และสภาวธรรมในจิตนี้ ล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ปัญญาต้องพิจารณาให้เห็นว่ามันเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะปล่อยวางได้ จะไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าอยากแล้วก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที ถ้าไม่อยากถ้าปล่อยให้เป็นไปตามเรื่อง ความทุกข์ก็จะไม่เกิด เมื่อไม่มีความอยาก เขาจะเป็นอย่างไร ก็จะไม่ไปกระทบกับใจ

    ตัวที่กระทบกับใจไม่ใช่นามขันธ์ หรือสภาวธรรมที่มีอยู่ในจิต แต่ตัวความอยากความหลง ที่ไปคิดว่าเป็นตัวเราของเรา อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ตัวนี้ต่างหากที่เป็นตัวไปกระทบกับจิตใจ ไปสร้างความทุกข์ให้แก่จิตใจ พอตัวนี้ถูกระงับดับไป ความทุกข์ก็ระงับดับตามไปด้วย จากนั้นอะไรจะเป็นอย่างไร ก็จะไม่ไปกระทบกับใจ ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตาย ของเราก็ดีของคนอื่นก็ดี จะไม่ไปกระทบ เพราะใจไม่ได้มองว่าเป็นตัวเราของเราแล้ว มองว่าเป็นของดินน้ำลมไฟ เหมือนกับมองแดดลม ไม่ยึด ไม่ว่าแดดลมฝนฟ้าเป็นของเรา เขาจะตกไม่ตกเราก็รู้ว่าเราไปอยากไม่ได้ อยากก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถึงแม้จะเป็นพิษเป็นภัยก็ไปห้ามเขาไม่ได้ มีแต่ต้องเตรียมตัวรับเท่านั้นเอง เขาทำได้อย่างมากก็คือทำลายร่างกาย ในเมื่อร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา มันก็ไม่ได้ไปทำให้จิตใจกระทบกระเทือนแต่อย่างใด นี่คือการตรัสรู้ หรือการเรียนจบวิชาทางจิตใจ จบตรงที่อริยสัจ ๔ จบตรงที่มรรคมีองค์ ๘ ที่มีปัญญาเป็นหัวหอก ที่พิจารณาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง จนเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็น สัพเพ ธัมมา อนัตตา แล้วก็ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ ตั้งแต่ภายนอกคือร่างกายของผู้อื่น เข้ามาสู่ร่างกายของเรา เข้ามาสู่ความรู้สึกนึกคิด เข้ามาสู่อารมณ์ที่มีอยู่ในจิต ว่าไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา พอปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้หมดแล้ว ใจก็หลุดพ้นจากความทุกข์ เพราะใจไม่ได้อยากให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามความอยากเหมือนเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา จะเป็นอย่างไรก็รับได้หมด ไม่เดือดร้อนอะไร

    นี่คือเรื่องของการปฏิบัติ ของการทำใจของเราให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย เป้าหมายของพระพุทธศาสนาก็มีอยู่เพียงเท่านี้แล คือมาปลดเปลื้องดวงจิตดวงใจของสัตว์โลกทั้งหลาย เช่นพวกเรานี้ ให้ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ที่เกิดจากความหลง ที่ไม่เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวเราของเรา แล้วก็ไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ สอนให้นำเอาไปพินิจพิจารณา พอเห็นดังที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้ว ก็จะปล่อยวางได้เอง แล้วพอปล่อยวางได้ความทุกข์ทั้งหลายก็จะหมดไป นี่คือหน้าที่หรืองานของพุทธศาสนิกชน ผู้ปรารถนาความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย จะต้องบำเพ็ญจะต้องปฏิบัติ เริ่มต้นจากการทำบุญให้ทานเสียสละ ลดละสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ เอาเก็บไว้เพียงเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ แล้วก็ควบคุมการกระทำทางกายทางวาจา ไม่ให้ไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น แล้วจะส่งความเดือดร้อนกลับมาที่ใจของตน ถ้ายังไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น แล้วนำเอาความเดือดร้อนนั้นกลับมาสู่ใจ เวลาจะทำใจให้สงบก็จะทำไม่ได้ ในเบื้องต้นจึงต้องมีศีลก่อน ใจต้องไม่วุ่นวายกับการกระทำผิดต่างๆ พอไม่มีความวุ่นวายต่อการกระทำผิดแล้ว เวลาจะทำจิตให้สงบก็จะง่าย จะทำให้สงบได้ก็ต้องมีสติ ก็ต้องเจริญสติอยู่ตลอดเวลา

    สติก็คือการระลึกรู้ ให้ใจระลึกรู้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นร่างกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม มีอยู่ ๔ สิ่งด้วยกัน ที่สามารถเอาใจกับสติไปผูก สตินี้อยู่กับใจ ถ้าสติอยู่ตรงไหน ใจก็ต้องอยู่ตรงนั้น ถ้าบังคับให้อยู่กับร่างกาย ก็ต้องอยู่กับร่างกาย ถ้ามันดื้อมันไม่ยอมอยู่ ก็จะไปอยู่กับเรื่องอื่น ส่วนใหญ่มันชอบไปอยู่กับเรื่องของกิเลส เรื่องของตัณหา เรื่องของสวยๆงามๆ เรื่องที่ชอบที่ชัง เวลาชอบอะไรก็จะติดอยู่กับเรื่องนั้น เวลาชังก็จะติดอยู่กับเรื่องนั้น ต้องต่อสู้กับมัน ดึงมันมาให้อยู่กับร่างกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม ให้อยู่ใน ๔ ส่วนนี้ ถ้าสามารถแย่งมาจากกิเลสได้ ต่อไปก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเรา พอเราต้องการให้อยู่กับอารมณ์เดียว เช่นอยู่กับพุทโธ มันก็จะอยู่กับพุทโธ มันจะไม่ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าไม่คิดเรื่องอื่น อยู่กับพุทโธได้ ไม่นานก็จะรวมลง เข้าสู่ความสงบ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะยุติชั่วคราว ร่างกายไม่เคลื่อนไหวไม่เดินไม่ทำอะไร ความรู้สึกนึกคิด เช่นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็จะหยุดไป เหลืออยู่แต่ความสงบ ที่เต็มไปด้วยความสุข ที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ ที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน พอได้พบกับความสุขแบบนี้แล้ว จะทำให้ความสุขอย่างอื่นไร้ความหมายไป ไร้ค่าไป จะไม่สนใจกับความสุขแบบอื่นอีกต่อไป เมื่อก่อนยังติดอยู่กับความสุขแบบนั้นแบบนี้อยู่ พอได้พบกับความสุขที่เกิดจากความสงบของใจแล้ว ก็จะไม่สนใจอีกแล้ว จะเอาเวลาทั้งหมดมาสร้างความสุขแบบนี้ให้เกิดขึ้นนานๆ เพราะตอนได้ครั้งแรกนั้น ได้เดี๋ยวเดียว ชั่วนกกระจอกกินน้ำ ที่เรียกว่าขณิกสมาธิ รวมลงปั๊บเดียวก็ถอนออกมา แต่ตอนที่รวมอยู่นั้น มันแสนจะวิเศษแสนจะมหัศจรรย์ใจ ทำให้อยากจะได้พบกับความสุขแบบนี้มากๆยิ่งๆขึ้นไป แล้วก็รู้ว่าเหตุที่จะทำให้เกิดขึ้นได้นี้คืออะไร

    ก็คือการมีสติอยู่กับกรรมฐานที่ถูกจริต ถ้าถูกจริตกับพุทโธ ก็ให้มีสติกำหนดควบคุมจิต ให้อยู่กับพุทโธไปเรื่อยๆ พอทำได้ครั้งหนึ่งแล้วต่อไปก็จะง่าย เพราะจับเคล็ดได้แล้ว รู้วิธีทำแล้ว สิ่งที่ต้องมีก็คือเวลาปฏิบัติ ถ้ายังมีภารกิจอย่างอื่นอยู่ ยังทำมาหากิน ยังแสวงหาเงินหาทอง หาตำแหน่งอยู่ พอได้พบกับจิตรวมแล้ว ทีนี้ก็ไม่อยากได้อย่างอื่นแล้ว เงินทองไม่อยากได้แล้ว ตำแหน่งหน้าที่การงานต่างๆไม่อยากได้แล้ว ก็จะเตรียมตัวลาออกจากงาน เพื่อจะได้มีเวลามาทำจิตให้สงบมากขึ้น เพราะการไปทำงานนี้มันไปเขย่าจิต ไม่ได้ไปกล่อมจิตให้สงบ ทำงานแล้วก็จะเกิดความฟุ้งซ่านต่างๆตามมา พอกลับจากทำงานจะมาทำจิตให้สงบก็ยาก เพราะมันฟุ้งอยู่ตลอดเวลา จึงเห็นว่าเงินทองที่ได้มา ตำแหน่งที่ได้มา ยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ได้มานี้ ไม่คุ้มค่ากับความสงบที่เสียไป ถ้าได้พบกับความสงบแล้ว รับรองได้ว่าจะต้องทิ้งความสุขแบบอื่นไปหมด แล้วก็มุ่งมาสู่ความสุขแบบนี้ เพราะความสุขแบบนี้ดีที่สุด เพียงแต่ว่ายังไม่ถาวรเท่านั้นเอง สุขตอนที่สงบนิ่ง แต่พอออกมาก็ยังกระสับกระส่ายกระวนกระวาย ก็ต้องใช้หลักการเดียวกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมา ก็คือต้องเจริญปัญญา

    ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา ถ้าไปยึดไปติดก็จะเป็นทุกข์ พอเห็นว่าเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา ก็จะไม่ยึดไม่ติดไม่อยาก ก็จะไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่เห็นอนิจจังไม่เห็นอนัตตาก็จะอยาก พออยากมันก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา พอพิจารณาจนเห็นแล้วว่าเป็นธาตุ ๔ เป็นดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการรวมตัวกัน แล้วก็แยกกันออกไปตลอดเวลา ก็ปล่อยวาง หย่าขาดจากกัน เมื่อก่อนหลงว่าเป็นของเรา เป็นสามีเรา เป็นภรรยาเรา เดี๋ยวนี้หย่ากันแล้ว หย่ากันทางใจ ถึงแม้จะอยู่ด้วยกัน ก็อยู่แบบไม่มีความทุกข์ ไม่มีความผูกมัด ความผูกพัน แต่ดูแลกัน หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันก็ยังมีอยู่ แต่จะไม่อยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เขาจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา เรารู้แล้วว่าเราไปอยากไม่ได้ พออยากแล้วมันจะทุกข์ขึ้นมาทันที ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าจะรู้ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ ตอนที่ฟังอยู่นี้ก็รู้อยู่เข้าใจอยู่ พอหยุดฟังปั๊บก็ลืมไปทันที กลับไปอยากใหม่เหมือนเดิม ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร ที่จะสอนใจให้รู้อยู่อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า ต้องพิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก ก็หมายถึงการพิจารณาความไม่เที่ยง ความเป็นอนัตตา ทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าทำได้รับรองวันนี้ก็บรรลุได้ ประเด็นอยู่ตรงนี้ อยู่ที่การปฏิบัติ สอนใจให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ได้ทุกลมหายใจเข้าออกหรือไม่ ถ้าเห็นได้ ก็หลุดได้หลุดพ้นได้อย่างแน่นอน

    ตอนนี้มีความตื่นเต้นกับการสอนแนวใหม่ หรือแนวเก่าแต่นำมาเผยแผ่ใหม่ มีคนดีอกดีใจว่าปฏิบัติง่ายเหลือเกิน คือการสอนให้ดูจิตตามรู้จิต ให้ตามรู้จิตอย่างเดียว จะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องอดน้ำอดข้าวอดอาหาร ไม่ต้องควบคุมบังคับตัวเอง ให้อยู่อย่างสบาย อยู่อย่างปกติ ให้ดูจิต ตามดูจิตไป แล้วความทุกข์ต่างๆก็จะหมดไปเอง จะหลุดพ้นเอง คนที่ได้ปฏิบัติก็ว่าดีกว่านั่งหลับตาพุทโธที่แสนจะยาก ทำไม่ได้ แต่ให้ตามดูจิตนี้สบายมาก เขาว่าเขาตามดูได้ แต่เขาอาจจะไม่เข้าใจว่า ดูแล้วได้อะไรก็ได้ อาจจะระงับความรู้สึกที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นในบางเวลา พอเห็นว่ากำลังโกรธ ก็ทำให้ความโกรธเบาลงไป หรือหยุดไปชั่วคราว แต่เดี๋ยวก็กลับมาโกรธใหม่ ไปโกรธเรื่องอื่นอีก เหมือนกับตัดกิ่งไม้ สักพักหนึ่งก็งอกออกมาใหม่ ไม่ได้ตัดที่ต้น ไม่ได้ถอนรากถอนโคน การดูจิตตามรู้จิตก็เป็นหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ ให้รู้ว่าจิตเป็นอะไรขณะนี้ จิตหยาบจิตละเอียด จิตฟุ้งซ่านจิตสงบ จิตโลภจิตโกรธ ถ้ารู้แล้วมันดับก็ใช้ได้ แต่จะไม่ดับถาวร ถ้าจะให้ดับอย่างถาวร จะต้องเข้าไปวิเคราะห์เหตุ ที่ทำให้เกิดความโลภ เกิดความโกรธ สิ่งที่ทำให้โลภให้โกรธ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะดับได้อย่างถาวร ถ้ายังไม่ได้วิเคราะห์ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ยังเป็นเราเป็นของเราอยู่ เดี๋ยวก็มีอารมณ์กับสิ่งนั้นอีก เช่นรักรถมาก พอคิดถึงรถก็เกิดมีอารมณ์ขึ้นมา ใครมาแตะรถหน่อยก็เกิดมีอารมณ์ขึ้นมา พอดูจิตก็ระงับอารมณ์นั้นได้ แต่เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมาใหม่ พอมีใครมาทำอะไรกับรถ ก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาอีก หรือคนที่เรารักมาก พอคิดถึงเขาไม่เห็นเขาก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา ห่วงกังวล ถ้ามีสติก็หยุดได้ชั่วคราว พอไม่เห็นหน้าอีก คิดถึงอีกก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาอีก
     
  5. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ดูอย่างนี้อย่างเดียวยังไม่พอ ดูแล้วต้องวิเคราะห์ต่อ ว่าสิ่งที่ไปมีอารมณ์ด้วย เป็นอะไรกันแน่ เป็นเราเป็นของเราหรือไม่ อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเราได้หรือไม่ ถ้าวิเคราะห์อย่างนี้ถึงจะเป็นปัญญา พอรู้แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะตัดได้เลย ถ้ายังไม่มีกำลังที่จะตัด เช่นรู้ว่าร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แต่ยังตัดความกลัวความแก่ความเจ็บความตายไม่ได้ ทั้งๆที่รู้อยู่ แต่ไม่มีกำลังตัด ทุกครั้งที่นึกถึงเวลาที่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย จิตก็เกิดความกลัวขึ้นมา ถ้ามีสติดูจิตก็หยุดความกลัวได้ เพราะความคิดเกี่ยวกับเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยได้หยุดไปแล้ว มีสติอยู่ที่ความกลัว ความกลัวก็ดับไป แต่พอไปคิดถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาอีก ความกลัวก็กลับขึ้นมาอีก ถ้าวิเคราะห์ว่าต้องเป็นอย่างนี้ แต่ก็ยังรับไม่ได้อยู่ดี เพราะไม่มีกำลังที่จะปลง สิ่งที่เป็นกำลังของการปลงนี้ ก็คือการรวมของจิตนี่เอง ถ้าจิตรวมลงแล้วจะปล่อยทุกอย่าง ขณะที่รวมลงเป็นการปล่อยชั่วคราว ตอนที่จิตรวมลงเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์แล้ว ตอนนั้นจะปล่อยหมด ร่างกายเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง สามีภรรยาบุตรธิดา อะไรต่างๆ ปล่อยหมด จิตอยู่เป็นเอกเทศตามลำพัง ถ้าปล่อยแล้ว ต่อไปจะรู้วิธีปล่อย รู้จุดที่จะปล่อย เหมือนกับพวกคนเก็บขยะ ที่รู้ที่ๆจะเอาขยะไปทิ้ง พอเก็บขยะมาแล้วก็เอาไปทิ้งกองขยะได้เลย ถ้าไม่รู้ว่ากองขยะอยู่ที่ไหน ก็จะไม่รู้ว่าจะเอาขยะไปทิ้งที่ไหน รู้ว่าร่างกายต้องแก่เจ็บตาย รู้ว่าจิตใจมีความหวาดกลัวกับความแก่ความเจ็บความตาย แต่ไม่สามารถปลงได้ ไม่สามารถปล่อยวางร่างกายได้ ถ้ายังปล่อยไม่ได้ก็ยังมีความกลัวอยู่เรื่อยๆ

    จึงอย่าไปเข้าใจว่าการดูจิตอย่างเดียวจะไปถึงพระนิพพานได้ เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เป็น ก.ไก่ ข.ไข่ของการปฏิบัติ เป็นการสร้างสติ ให้มาบังคับจิตให้เข้าสู่ความสงบ ให้เข้าสมาธิให้ได้ก่อน ถ้าเข้าสมาธิได้แล้ว ต่อไปเวลาจะปลงอะไรก็จะปลงในสมาธินั้นแหละ ทำจิตให้สงบแล้วก็ปล่อยวางได้ แต่ถ้าไม่รู้จุดของความสงบอยู่ตรงไหน ก็ไม่รู้จะปลงอย่างไร ก็ยังต้องแบกอยู่ แบกร่างกาย แบกความกลัวความแก่ความเจ็บความตาย ทีนี้คนที่ปฏิบัติใหม่ๆก็เล่าว่า ง่ายเหลือเกิน สบายเหลือเกิน ไม่ต้องอดอาหาร ไม่ต้องถือศีล ๘ ไม่ต้องบังคับ ทำอย่างสบาย จะไปไหนก็ไปได้ ให้ดูจิตอยู่ตลอดเวลาก็แล้วกัน ไปเที่ยวก็ได้ ไปทำอะไรก็ได้ ก็ทำได้ควบคุมได้ในเหตุการณ์แบบนั้น แต่ชีวิตของเราไม่ได้มีเหตุการณ์แบบนั้นอย่างเดียว เหตุการณ์อื่นที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็มีอยู่ เช่นเวลาสูญเสียสิ่งที่รักไป ยังทำใจดูใจให้เป็นปกติได้หรือเปล่า ไม่ให้เศร้าโศกเสียใจท้อแท้เบื่อหน่าย จะทำได้หรือเปล่า ในชีวิตประจำวันที่เป็นสภาพปกติก็ทำได้ แต่ถ้าอยู่ในสภาพที่อัตคัดแร้นแค้นเสี่ยงต่อความเป็นความตาย ยังรักษาจิตให้เป็นปกติได้หรือเปล่า สติตัวเดียวไม่พอหรอก นอกจากสติของพระอรหันต์เท่านั้นถึงจะพอ ของผู้อื่นนี้ยังไม่พอ ต้องมีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญาควบคู่กันไป ถึงจะทำจิตให้ปลงได้ ปล่อยได้วางได้ การดูจิตอย่างเดียวไม่พอ ก็อยากจะเล่าให้ฟังเท่านั้นเอง เพราะเดี๋ยวนี้มีคนมาเล่าให้ฟังมาก ว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่ง่ายแสนง่าย ถ้าสนใจก็ลองไปศึกษาดูก็ได้ จะได้มาเล่าให้ฟังว่าเป็นอย่างไร ง่ายอย่างที่เขาพูดกันหรือเปล่า

    ถาม : ช่วงนี้ปฏิบัติไม่ดี หมกมุ่นกับเรื่องงานมากไป ไม่อยู่กับพุทโธ ชอบอยู่กับอนาคต พรุ่งนี้จะทำอะไร ไม่อยู่ในปัจจุบัน

    ตอบ : ถ้าจำเป็นต้องคิดก็คิดไป แต่ควรมีขอบเขต มีเวลา ไม่ควรปล่อยให้คิดเลยเถิด ถ้าหมดความจำเป็นแล้ว ก็ควรกลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน มาสร้างความสงบใจให้ได้ ถ้าไม่กลับมาสร้างความสงบ ทำให้จิตรวมลงได้ ก็จะวนอยู่ในอ่างอย่างนี้ จะไปไม่ถึงไหน พอร่างกายแก่ลงไปเรื่อยๆ ก็จะอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะปฏิบัติไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องหมกมุ่นกับการงาน ก็ให้เป็นชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อย่าให้เลยเถิด พอเสร็จแล้ว ก็ต้องดึงจิตกลับมาภาวนาอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่คืบหน้า จะไม่สำเร็จลุล่วงเพราะเถลไถล ไม่เห็นความสำคัญของการปฏิบัติเท่ากับงานอื่น ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องทำไปก่อน แต่ไม่มีอะไรที่จำเป็นตลอดเวลา ถ้าต้องทำงานเพื่อเก็บเงินเก็บทองไว้ใช้กับการปฏิบัติ ก็ต้องทำไปก่อน พอบรรลุเป้าหมายแล้ว ก็ควรจะหยุดหรือทำให้น้อยลงไป มาทำงานทางจิตให้มากขึ้น

    ถาม : อยากทราบตรงที่ว่าร่างกายเราเป็นเพียงธาตุ ๔ นี้ เวลาฟังก็เข้าใจ แต่ยังไม่รู้สึกว่ามันไม่ใช่เรานี้ มันจะเกิดขึ้นตอนไหนคะ

    ตอบ : ตอนที่เรานั่งสมาธิ แล้วเกิดอาการเจ็บปวดต่างๆตามร่างกาย ถ้าเชื่อว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็ควรปล่อยให้นั่งไป ถ้าเชื่อว่าเวทนาไม่ใช่ตัวเราของเรา ความเจ็บปวดไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็ปล่อยให้เจ็บปวดไป ให้สมมุติว่าความเจ็บปวดเป็นเหมือนไฟที่กำลังเผาร่างกาย เช่นเวลาเผาศพ ร่างกายคนเป็นกับคนตายก็เหมือนกัน ต่างกันตรงที่หายใจหรือไม่หายใจ มีส่วนประกอบต่างๆเหมือนกัน ผมก็ยังเป็นผมอยู่ ขนก็ยังเป็นขนอยู่ ตอนที่เป็นศพทำไมปล่อยให้ไฟเผาได้ ถ้าจิตเชื่อว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เชื่อว่าเวทนาเป็นเหมือนไฟที่กำลังเผาร่างกายอยู่ จิตก็ดูมันไปสิ เผามันไป ดูเวทนาที่เป็นเหมือนไฟเผาร่างกาย จนเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป แล้วก็จะเห็นเองว่า ร่างกายเป็นดินน้ำลมไฟ จิตกับร่างกายจะแยกออกจากกัน เพราะตอนนั้นจิตจะปล่อย พอปล่อยแล้วก็จะรู้ว่า ร่างกายเป็นส่วนเดียวกันกับพื้นที่กำลังนั่งอยู่ จะรวมเป็นอันเดียวกัน ส่วนจิตผู้ที่ดูอยู่นี้ ก็รวมลงเข้าสู่ความสงบ ไม่มีทุกข์ ไฟที่เผาร่างกายก็มอดหายไปหมด เวทนาก็ดับไปหมด จะเห็นอย่างนี้
    ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วจะไม่สงสัย แต่ตอนนี้ยังเป็นจินตนาการอยู่ ยังเป็นสัญญาอยู่ แต่ต้องอาศัยสัญญาเป็นตัวสอนจิตไปก่อน พอเข้าสู่เหตุการณ์จริง เช่นในขณะที่นั่งแล้วเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมา ก็เอาความจริงที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายและเวทนามาใช้ ว่าไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรามา ร่างกายเป็นเหมือนซากศพ เวทนาเป็นเหมือนไฟที่กำลังเผาซากศพ จิตก็เป็นผู้ดูก็ดูมันไป เหมือนกับไปงานศพ งานศพตามชนบทเมื่อก่อนนี้ ไม่มีเมรุ เอาโลงศพตั้งไว้บนกองฟืน ให้นั่งดูได้ เราก็นั่งดูร่างกายของเรา ที่กำลังถูกไฟของความเจ็บปวดเผา ดูไปเรื่อยๆเพราะกำลังพยายามปลง พยายามทำใจว่าไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ดูไปเรื่อยๆ แล้วมันจะแยกออกจากกันเอง พอไฟเผาร่างกายจนกลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านแล้ว ตอนนั้นร่างกายกับจิตจะแยกออกจากกัน ร่างกายก็จะไปรวมกับพื้นที่กำลังนั่งอยู่ ส่วนจิตก็จะเข้าสู่ความสงบ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะเห็นชัดเจน จะไม่สงสัย จะปล่อยได้ เพราะรู้ว่าปล่อยแล้วสบาย ถ้าไปยึดไปติดจะทุกข์ พอปล่อยแล้วจิตจะสงบ ไม่ทุกข์ ถ้าไปยึดไปติด จะกระวนกระวายกระสับกระส่าย จะเห็นอย่างนี้

    ถาม : ขอคำแนะนำวิธีการระงับความโกรธความไม่พอใจ

    ตอบ : ความโกรธเป็นผลที่เกิดจากความโลภ หรือความอยาก พอโลภหรืออยากได้อะไร แล้วไม่ได้ดังใจ ก็จะเกิดความโกรธขึ้นมา ส่วนความโลภก็ออกมาจากความหลง ที่ไม่รู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ ที่จะให้ความสมอยากได้ ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะไม่อยากไม่โลภ

    ถาม : เราไม่ได้โลภอย่างนั้น เขามาว่าเรา

    ตอบ : นั่นแหละกำลังโลภแล้ว เพราะอยากให้เขาชมเรา ไม่อยากให้เขาด่าเรา นั่นก็อยากแล้ว

    ถาม : เราไม่ได้อยากให้เขาชม

    ตอบ : เราไม่อยากให้เขาด่าเรา ก็เป็นความอยากอย่างหนึ่ง ต้องยอมให้เขาด่าให้เขาว่า ก็จะสมใจ เราจะได้ไม่โกรธ ความโกรธเกิดจากความอยาก แต่เราไม่รู้ว่าเรากำลังอยาก เป็นความอยากในมุมกลับ ถ้าอยากให้เขาชม ก็จะไม่อยากให้เขาด่า ถ้าไม่อยากให้เขาชมและให้เขาด่า ก็ยังเป็นความอยากอยู่ พอเขาชมหรือเขาด่าก็จะโกรธขึ้นมา ต้องทำใจให้เป็นกลาง ทำใจให้เป็นอุเบกขา ปล่อยวางให้ใช้ปัญญาสอนใจว่า อยู่ในโลกนี้มีทั้งสรรเสริญมีทั้งนินทาเป็นธรรมดา มีการเกิดมีการดับเป็นธรรมดา มีการเจริญลาภเป็นธรรมดา มีการเสื่อมลาภเป็นธรรมดา มีการเจริญยศมีการเสื่อมยศเป็นธรรมดา มีสรรเสริญย่อมมีนินทาเป็นธรรมดา เป็นของคู่กัน มีสุขย่อมมีทุกข์เป็นธรรมดา ถ้ายินดีกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พอสิ่งนั้นหายไปเปลี่ยนไป ก็จะเกิดความทุกข์เกิดความโกรธขึ้นมา

    ถาม : แสดงว่าต้องมีขันติเยอะใช่ไหมคะ

    ตอบ : ต้องอย่าไปอยากกับอะไร อย่าไปอยากได้อะไร ให้ยินดีตามมีตามเกิด วันนี้เขาชมก็ได้ พรุ่งนี้เขาด่าก็ได้ ให้รับได้ทุกอย่าง ใจของพวกเราอยากได้การเจริญในลาภยศสรรเสริญสุข พอเสื่อมปั๊บก็จะโกรธขึ้นมาทันที

    ถาม : แสดงว่ายังปฏิบัติได้ไม่ดีใช่ไหมคะ

    ตอบ : ยังไม่รู้เป้าหมายของการปฏิบัติ เพียงแต่รู้การบริกรรมพุทโธๆ เวลานั่งสมาธิไปเท่านั้น ส่วนใหญ่จะรู้เท่านั้น แต่จะไม่รู้เรื่องปัญญา ว่ามีความจำเป็นต่อการระงับดับความโลภความโกรธความหลง อันนี้เป็นขั้นละเอียดมาก สอนเท่าไรพูดเท่าไร ก็ฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แล้วก็ลืมไป แล้วก็กลับมาถามคำถามเดิมๆอีก เพราะไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้คิดอย่างต่อเนื่อง ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากความหลง ไม่รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ได้เป็นไปตามความอยากความต้องการ แต่ก็ยังอดที่จะอยากไม่ได้ อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอไม่ได้สมใจอยาก ก็เกิดความโกรธเกิดความเสียใจขึ้นมา ประเด็นอยู่ตรงนี้ แต่เราไม่เกาะติดกับประเด็นนี้ พอเห็นอะไรสวยๆงามๆก็อยากจะได้แล้ว มีความรู้สึกฝังลึกอยู่ในใจ ไม่อยากให้คนมาตำหนิเรามาว่าเรา พอใครมาตำหนิมาว่าเรา ก็เกิดความโกรธขึ้นมา

    ความโกรธเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่ครูบาอาจารย์จะใช้สอนลูกศิษย์ลูกหา ท่านจะยั่วยุแหย่โทสะลูกศิษย์อยู่เรื่อย ลูกศิษย์ก็รู้ว่าโกรธครูบาอาจารย์ไม่ได้ ก็โกรธอยู่ข้างในนั้นแหละ แต่ในที่สุดก็ดับได้ เพราะท่านช่วยคุ้ยเขี่ยให้เรา บางคนพอได้สมาธิแล้ว ก็คิดว่าบรรลุแล้วไม่โกรธแล้ว บางคนฟังเทศน์ฟังธรรมจนซาบซึ้งจิตใจแล้ว ก็คิดว่าไม่มีความโกรธแล้ว เหมือนนิทานเรื่องคุณหญิงคุณนาย ที่ฟังเทศน์ฟังธรรมกับหลวงพ่อองค์หนึ่ง ฟังจนซาบซึ้งใจจนจิตสงบ กิเลสสงบราบ ความโลภความโกรธไม่มีเหลืออยู่ในใจ ก็เลยดีใจไปเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า ตั้งแต่หนูได้ฟังเทศน์ฟังธรรมหลวงพ่อแล้ว เดี๋ยวนี้จิตใจหนูเย็นสบาย ไม่โกรธไม่แค้นเลย หลวงพ่อตอบไปว่า อีตอแหล เท่านั้นความโกรธก็โผล่ขึ้นมาเลย เหมือนเวลาไปกราบหลวงปู่เจี๊ยะ ต้องทำใจมากๆ พอไปถึงท่านจะถามว่ามาทำไมวะ เมื่อก่อนเวลาใครไปกราบหลวงตา ท่านจะพูดว่ามายุ่งทำไม มาไม่ได้เรื่องได้ราว ท่านจะไล่ใหญ่เลย นั่นแหละอุบายของครูบาอาจารย์ สอนเราตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไปในวัด ท่านจะแย็บใส่เราก่อนเลย

    ให้ดู ๓ ตัวนี้ โลภโกรธหลง ตัวสำคัญก็คือตัวหลง เรายังมีความหลงอยู่มาก ต้องพิจารณาไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ ให้สอนใจว่าไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอะไรที่จะสมใจอยาก พอรู้อย่างนี้จะได้ไม่อยาก จะปล่อยให้เป็นไปตามมีตามเกิด แต่ก็ไม่ได้ปล่อยหมด ส่วนไหนที่ทำได้ก็ทำไป มีงานมีการก็ทำไป มีหน้าที่อะไรก็ทำให้ดีที่สุด จะอนุโมทนาหรือไม่ จะด่าหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของเขา เขาจะดีกับเราหรือไม่ จะชั่วกับเราหรือไม่ ก็เรื่องของเขา เราไปบังคับเขาไม่ได้ ดูเขาเหมือนเป็นลมเป็นฝนเป็นแดด ปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา ฝนจะตกก็ปล่อยให้ตกไป แดดจะออกก็ปล่อยให้ออกไป ถ้าอย่างนี้แล้วก็จะไม่วุ่นวายใจ

    ถาม : ถ้ามีปัญหากับหัวหน้าที่ทำงาน

    ตอบ : เหมือนกัน อย่าไปหวังอะไรจากเขา

    ถาม : ถ้าย้ายไปทำที่อื่นจะดีกว่าไหม

    ตอบ : มีอยู่ ๒ ประเด็น ถ้าไปเพราะทนเขาไม่ได้ แสดงว่าเราแพ้ทางด้านปฏิบัติ ต้องอยู่ต่อถ้าจะเอาชนะทางด้านปฏิบัติ ต้องชนะใจเรา ใจเราต้องปล่อยวาง ให้เขาทำอะไรก็ได้ อย่างที่พระอานนท์กราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงย้ายไปที่อื่น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าปัญหาอยู่ที่นี่ ก็ต้องแก้ที่นี่ ถ้าไปที่อื่นก็เจอปัญหาเดิมอีก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เขา ปัญหาอยู่ที่เรา ถ้าแก้ปัญหาของเราได้แล้ว ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าเป็นปัญหาใจก็ต้องแก้ที่ใจ อย่าย้ายไปที่อื่น แต่ถ้าเป็นปัญหาเงินเดือนน้อยไป จะย้ายไปที่อื่นที่มีรายได้มากขึ้นก็ไป ได้ อันนั้นเป็นคนละประเด็นกัน ต้องแยกประเด็นให้ออกว่าไปเพราะอะไร เราไม่ได้แพ้เขา แต่แพ้กิเลสเรา ถ้าเรายอมแพ้เขา เราชนะกิเลสเรา ยอมให้เขาทำอะไรตามความต้องการของเขา ใจของเราก็จะสงบจะสบาย ไม่เดือดร้อน เขาเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เป็นเหมือนแดดลมฝนฟ้า ต้องมองเขาอย่างนั้น เวลาฝนตกแดดออกเราโมโหหรือไม่ หงุดหงิดใจหรือไม่ เวลาเขาแสดงอาการอะไรออกมา เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง เราไม่มองเขาเป็นดินน้ำลมไฟ ไปมองว่าเขาเป็นคนเป็นเจ้านาย อันนั้นเป็นสมมุติ ความจริงเขาเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ดูจิตต้องดูอย่างนี้

    ถาม : พยายามอย่างที่พระอาจารย์บอก ไม่ไปสนใจ เขาก็จะถามว่าทำไมถึงเงียบ เราก็ไม่ไปตอบ

    ตอบ : บอกเขาไปว่า คุณจะทำอะไรก็ทำไป ไม่เป็นปัญหาอะไรทั้งนั้น ปัญหาอยู่ที่ใจเรา ใจมีความอยาก อยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่ยอมรับเขา ไม่ยอมรับความจริง

    ถาม : ก็คิดแบบนี้ แต่ก็ยังเป็นอีก

    ตอบ : ถ้าความหลงเร็วกว่าปัญญา พออยู่ในเหตุการณ์ความหลงจะออกมาก่อน ความอยากออกมาก่อน ไม่ทันมัน เพราะไม่ได้ฝึกจิตอยู่เรื่อยๆ สติปัญญาไม่เร็วพอ ไม่มีสมาธิที่จะหยุดจิต ไม่มีแรงต้าน นี่ก็เป็นการทดสอบจิตใจ ว่าปฏิบัติไปถึงไหนแล้ว ต้องขึ้นเวที ถ้าเป็นนักมวยก็ต้องขึ้นเวที ถึงจะรู้ว่าได้แชมป์หรือยัง เวลาต่อยกับกระสอบทรายมันง่าย เพราะมันไม่ตอบโต้เรา เราต่อยมันอย่างไรก็ได้ เวลาฝึกซ้อมพิจารณาเราก็ทำใจได้ แต่พอขึ้นเวทีโดนแย็บ ก็งงเป็นไก่ตาแตกเลย ที่ฝึกที่ซ้อมมาหายไปหมดเลย

    ถาม : ก็คิดเหมือนกันว่า ถ้าไปก็แสดงว่าเราแพ้

    ตอบ : ถ้าอยู่ไม่ได้จริงๆ อยู่แล้วถึงกับจะเป็นบ้า ก็ต้องยอมถอยไปตั้งหลักก่อน ถอยเพื่อสู้ต่อ ไม่ใช่ถอยไปเรื่อยๆ พอเจอปัญหาอีกก็ถอยอีก อย่างนี้ไม่ควร ควรถอยไปตั้งหลัก ไปเสริมสร้างพลังจิต เพื่อจะรับกับเหตุการณ์ต่อไป เวลาปฏิบัติก็ต้องปลีกวิเวกก่อน เพื่อสร้างกำลังจิต สร้างสติ สร้างสมาธิ สร้างปัญญา ถ้าอยู่ในเหตุการณ์จะสร้างไม่ได้ เพราะต้องคอยรับกับเหตุการณ์ ต้องปลีกตัวไปหาที่สงบ เพื่อไปสร้างพลังขึ้นมา พอมีพลังพอแล้วก็กลับมาทดสอบดู กลับมาขึ้นเวทีดู ว่าเป็นอย่างไร จิตนิ่งเฉยได้ไหมกับเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือจะชั่ว อยู่เหนือเหตุการณ์นั้นได้หรือไม่ จะได้รู้ว่าผ่านหรือไม่ ดีขึ้นหรือเลวลง ในเบื้องต้นเวลาจะสร้างปัญญา สร้างสมาธิสร้างสติ ต้องปลีกวิเวกไปอยู่ที่สงบสงัด เหมือนคนไข้ต้องไปอยู่โรงพยาบาล ที่เป็นสถานที่เหมาะต่อการรักษาร่างกาย สถานที่วิเวกต่างๆก็เป็นสถานที่เหมาะต่อการรักษาใจ พอใจมีพลังมีกำลังแล้ว ก็ออกมาเผชิญกับโลกต่อไปได้ ไม่หวั่นไหวกับโลกธรรมทั้ง ๘ พระพุทธเจ้าทรงปลีกวิเวกถึง ๖ ปี ต้องออกจากวังเพราะรู้ว่าอยู่ในวังไม่มีทางที่จะหลุดพ้นได้ เพราะมีเรื่องต่างๆเข้ามากระทบอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่คอยรับเรื่องก็เหนื่อยแล้ว ไม่มีเวลาปลูกฝังให้มีสติมีปัญญามีสมาธิเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเสด็จออกจากพระราชวังไป เพื่อไปเสริมสร้างสติปัญญา จนจิตมีกำลังเต็มที่แล้ว ทีนี้ใครนิมนต์ไปไหนก็ไปได้ ไปได้ทุกหนทุกแห่ง พระราชบิดาส่งสารให้ไปโปรดที่พระราชวัง ก็ทรงเสด็จกลับไปโปรด ไม่หวั่นไหวเลย ไม่ติดด้วย ถ้าอยากจะเสริมสร้างกำลังจริงๆ ก็ออกจากงานไปปฏิบัติเลย

    ถาม : เวลาภาวนาพุทโธจะซึม รู้สึกง่วง บางทีก็ร้อน ไม่ทราบว่าปฏิบัติผิดอย่างไรเจ้าคะ

    ตอบ : ปฏิบัติยังไม่ได้ผล สติไม่มีกำลังพอ พอบริกรรมไป ถ้าสติอ่อนก็จะเข้าภวังค์หลับ เกิดอาการเคลิ้มหลับขึ้นมา จะไม่ได้ผล ถ้าจะให้ได้ผลก็ต้องไปอยู่ในที่ๆน่ากลัว สติจะดี ถ้าไม่สามารถไปอยู่ที่น่ากลัวได้ ก็ต้องผ่อนอาหาร เช่นรับประทานอาหารมื้อเดียว จะทำให้ร่างกายเบาขึ้น ความง่วงเหงาหาวนอนน้อยลงไป ควรฝึกเจริญสติอยู่ทุกเวลานาที ควรจะฝึกตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย พอตื่นขึ้นมาก็ตั้งสติเฝ้าดูกายเป็นหลัก กายจะลุกขึ้นก็ให้เฝ้าอยู่ที่กาย อย่าไปที่อื่น กายยืนขึ้นมา เดินไปทำอะไร ก็ให้อยู่กับการกระทำของกาย อย่าไปคิดเรื่องอื่น ถ้ามีสติอยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว เวลานั่งภาวนาพุทโธเพียง ๕ นาทีก็รวมลงได้ เพราะจดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียว ไม่ไปที่อื่น มีอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่อง ๕ นาทีก็รวมลงได้ ถ้าไม่มีอารมณ์เดียว อยู่ได้เพียง ๒ - ๓ วินาที แล้วก็แวบไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็กลับมาอีก ๒ - ๓ วินาที แล้วก็ไปอีก ถ้าเป็นอย่างนี้นั่งทั้งวันก็จะไม่สงบ จะเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน เกิดอาการรุ่มร้อนขึ้นมาได้ เป็นนิวรณ์ การปฏิบัติที่จะได้ผล ต้องเจริญสติเป็นงานประจำ ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย ไม่ว่าจะอยู่ในภารกิจการงานใด ให้อยู่กับภารกิจการงานนั้น อย่าไปคิดเรื่องอื่น ในขณะที่กำลังทำภารกิจต่างๆ ให้อยู่กับภารกิจนั้น ให้ใจจดจ่อเฝ้าดูอยู่กับการกระทำของร่างกาย ถ้าอยู่อย่างนี้แสดงว่ามีสติ แต่ส่วนใหญ่เวลาเริ่มทำจะทำไม่ได้ อยู่ได้เดี๋ยวเดียวก็ออกไปคิดเรื่องอื่น แปรงฟันอยู่ตรงนี้ ก็ยังออกไปคิดเรื่องงานเรื่องการ เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ได้ แสดงว่าเผลอสติแล้ว ถ้ามีสติต้องอยู่กับการแปรงฟันทุกจังหวะของการแปรงเลย ถึงจะมีสติ ถ้ามีสติอย่างต่อเนื่องแล้ว การทำจิตให้สงบนี้ ไม่ยากเย็นเลย

    ปัญหาของพวกเราส่วนใหญ่ เกิดจากการไม่มีสติ ที่จะดึงใจไว้ให้อยู่กับอารมณ์เดียว ใจชอบอยู่กับหลายอารมณ์ ชอบอยู่กับหลายเรื่อง ชอบคิดเรื่อยเปื่อย ทำให้จิตหมุน พอหมุนแล้วจะสงบได้อย่างไร ถ้าอยู่กับเรื่องเดียวแล้วจิตจะหยุดหมุน จะรวมลงเข้าสู่ความสงบ ในการปฏิบัติปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือสติ ที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า บรรลุได้ ๗ วันหรือ ๗ ปีนี้ ก็อยู่ที่สติเป็นหลัก ถ้าได้สติแล้ว ๗ วันก็บรรลุได้ ถ้าได้สติแล้วเวลาทำอานาปานสติจิตจะสงบลงรวมลง ก็จะมีพลัง พอออกจากสมาธิมาพิจารณาไตรลักษณ์ เดี๋ยวเดียวก็หลุดได้ สติจะควบคุมจิตให้อยู่กับงานที่ต้องทำ เวลาทำสมาธิก็จะอยู่กับการทำสมาธิ เวลาเจริญปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ ก็จะอยู่กับการพิจารณาไตรลักษณ์นี้ จะไม่เถลไถลไปคิดเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง จะจดจ่ออยู่กับงาน ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วไม่นานก็จะหลุดได้ ๗ วันก็หลุดได้ ฟังหนเดียวก็หลุดได้ พระอัญญาโกณฑัญญะฟังครั้งแรกก็หลุดได้ เพราะจิตจดจ่ออยู่กับการฟัง แล้วก็พิจารณาตามความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ พอเห็นว่าปัญหาอยู่ที่ความอยาก ก็ตัดความอยากปั๊บ จิตก็รวมลงเข้าสู่ความสงบ ปล่อยวางร่างกายได้ ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตายก็ถือว่าเป็นธรรมดา เพราะท่านมีสติอยู่แล้วมีสมาธิอยู่แล้ว ขาดแต่ปัญญา

    แต่พวกเราเป็นตรงกันข้ามกับท่าน เราขาดสติ มีปัญญามาก ฟังเทศน์ฟังธรรมกันไม่รู้กี่ ๑๐๐ กัณฑ์ แต่ไม่เป็นภาวนามยปัญญา เป็นสุตมยปัญญา ไม่ได้เข้าไปในใจ ไม่ได้พร่ำสอนอยู่ทุกเวลานาที ใจไปคิดเรื่องอื่น ไม่ยอมคิดเรื่องธรรมะ คิดแต่เฉพาะเวลาฟังเท่านั้น พอออกจากที่ฟังเทศน์แล้ว ก็ไปคิดเรื่องอื่นทันที คิดเรื่องเพื่อนฝูง เรื่องเที่ยว เรื่องทำภารกิจการงานต่างๆ ไม่คิดธรรมะเหมือนกับตอนที่ฟังเทศน์ฟังธรรม ยังไม่เป็นปัญญาที่แท้จริง ที่ต้องพิจารณาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก มีสติคอยควบคุมให้พิจารณาอยู่ตลอดเวลา ถึงจะได้ผล ธรรมะที่ต้องเจริญให้มากที่สุดในตอนนี้ก็คือสติ พอมีสติแล้วจะพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ จะพิจารณาร่างกายก็จะอยู่กับการพิจารณา จะเข้าสู่ความสงบ สู่การปล่อยวาง อยู่ที่การเจริญสติ จึงอย่ามองข้ามการเจริญสติไป พยายามฝึกไว้ให้มาก สอนมาหลายครั้งแล้วว่า ตื่นขึ้นมาให้ตั้งสติ ให้มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย

    ถาม : การฝึกสตินี้ ควรฝึกให้ทำอะไรช้าๆหรือเปล่าคะ

    ตอบ : ทำภารกิจตามปกติ เดินไปไหนมาไหนก็เดินตามปกติ สติไวกว่าร่างกายหลาย ๑๐๐ เท่า ให้มีสติรู้อยู่กับร่างกาย ให้รู้ว่ากำลังอยู่กับร่างกายหรือเปล่า หรือกำลังคิดเรื่องอื่นแล้ว ถ้าคิดเรื่องอื่นก็ดึงกลับมาที่ร่างกาย ดึงกลับมาเรื่อยๆ ส่วนการทำงานของร่างกายก็ทำอย่างปกติ ไม่ต้องช้า ไม่เหมือนกับที่สอนกัน ให้ยกหนอ ก้าวหนอ วางหนอ ไม่จำเป็นต้องทำช้าขนาดนั้น

    ถาม : เวลาทำงานมีความรู้สึกว่า ทางโลกกับทางธรรมจะสวนกัน ทางธรรมให้ปล่อยวาง จะเสร็จหรือไม่เสร็จไม่เป็นไร แต่ทางโลกให้มีความรับผิดชอบ ต้องทำให้เสร็จ

    ตอบ : ทำด้วยสติ จะสำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่ผิดพลาด ที่ผิดพลาดเพราะไม่ได้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ มัวไปกังวลกับเป้าหมาย ก็เลยไม่ได้อยู่กับงาน ทำแบบผิดๆถูกๆ ยิ่งรีบก็ยิ่งผิด ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ขัดกันหรอกทางธรรมกับทางโลก ต้องมีสติทั้งงานทางโลกและงานทางธรรม ถึงจะสำเร็จลุล่วงได้ ถ้าไม่มีสติก็จะผิดพลาด จะพลั้งเผลอ ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เลยไม่รู้ว่าทำถูกหรือไม่ ทางธรรมกับทางโลกถ้าเกี่ยวกับสตินี้ ไม่ขัดกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สติมีความจำเป็นในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการงานทางโลกหรือการงานทางธรรม ต้องมีสติเสมอ ถึงจะทำได้อย่างไม่ผิดพลาด ถ้าไม่มีสติก็ทำไม่ได้ เวลาเมาเหล้าแล้วเย็บผ้าได้ไหม เย็บไม่ได้หรอก ต้องมีสติ

    ถาม : เวลากลับบ้านมาเหนื่อยๆ ควรเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ

    ตอบ : แล้วแต่จะพอใจ การเดินหรือการนั่งไม่ได้เป็นตัวปฏิบัติ ตัวที่ปฏิบัติก็คือตัวจิต จิตปฏิบัติได้ทั้งเดินหรือนั่ง ตัวที่จะทำให้ปฏิบัติได้ก็คือสติ ถ้าทำงานทั้งวันด้วยสติ พอกลับมาบ้านจะพุทโธได้ทันที จะสงบได้ทันที เพราะงานอื่นจะหายไปจากจิต เพราะเป็นอดีตไปหมดแล้ว จิตจะอยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา แต่ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอย่างนั้น กลับมาบ้านแล้วยังเอางานมาที่บ้านด้วย เอาอดีตเข้ามาในปัจจุบัน ก็เลยภาวนาพุทโธไม่ได้ เพราะยังคิดถึงงาน เพราะไม่มีสติ ถ้ามีสติร่างกายอยู่ตรงไหนจิตก็อยู่ตรงนั้น ถ้ามีสติแล้วจะมีแต่ปัจจุบันอย่างเดียว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เกิดปั๊บก็ผ่านไปเลย สติจะดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้ไปอดีต ไม่ให้ไปอนาคต เพราะปัจจุบันเป็นที่เกิดของเหตุและผล ผลไม่เกิดในอดีต ไม่เกิดในอนาคต เหตุก็ไม่เกิดในอดีต ไม่เกิดในอนาคต เหตุจะต้องเกิดในปัจจุบัน ผลก็จะต้องเกิดในปัจจุบัน เหมือนกับที่พระอานนท์ที่มีปัญหากับเรื่องอดีตเรื่องอนาคต อดีตก็คือคำทำนายของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสว่า อานนท์เธอจะบรรลุภายใน ๓ เดือน พระอานนท์ก็คิดถึงคำทำนายอยู่เรื่อยๆ แล้วก็มากังวลถึงเรื่องอนาคตว่า นี่ใกล้จะครบ ๓ เดือนแล้วยังไม่บรรลุเลย
    พยายามเร่งความเพียรใหญ่ ก็ยังไม่สำเร็จ ใจก็เลยกลับไปกลับมาระหว่างอดีตกับอนาคต ตอนต้นก็เชื่อในคำทำนายของพระพุทธเจ้าว่าแม่นยำ แต่พอใกล้เวลาแล้วยังไม่บรรลุ ก็เลยเกิดความลังเลสงสัย จิตไม่ได้ภาวนา ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ทำจิตให้สงบเพื่อปล่อยวาง มัวแต่กังวลกับอดีตกับอนาคต พอใกล้จะสว่างก็เลยปลงว่า ปฏิบัติอย่างไรก็ไม่มีทางบรรลุแล้ว ก็เลยหยุดปฏิบัตินอนดีกว่า พอจะนอนตอนนั้นก็หลุดเลย พอปล่อยอดีตปล่อยอนาคต กลับมาอยู่ในปัจจุบัน ก็ปล่อยหมด ก็หลุดได้ สติจะเป็นตัวดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นที่เกิดของทั้งเหตุและผล จะทำอะไรก็ต้องทำในปัจจุบันนี้เท่านั้น มรรคผลนิพพานก็อยู่ในปัจจุบันนี้ การปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานก็อยู่ในปัจจุบันนี้ อริยสัจ ๔ ก็อยู่ในปัจจุบันนี้ ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคก็อยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ได้อยู่ในอดีต ไม่ได้อยู่ในอนาคต ทุกอย่างอยู่ในปัจจุบันหมด แม้กระทั่งพวกเราก็อยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ได้อยู่ที่อื่น ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ที่ไหน อดีตของเราก็ไม่มี อนาคตของเราก็ไม่มี เราอยู่ตรงนี้ แต่เราส่งไปคิดถึงอดีต ส่งไปคิดถึงอนาคต

    ถาม : มันเร็วมากปัจจุบันจิต พอปุ๊บหนึ่งก็เป็นอดีตแล้ว

    ตอบ : ปัจจุบันไม่เร็ว ปัจจุบันมันนิ่ง แต่เหตุการณ์กับเวลามันเคลื่อนไปเร็วมาก พอจิตไม่นิ่ง จิตตามไปกับเหตุการณ์ ก็เลยเหมือนกับว่าปัจจุบันมันเร็ว พอจิตนิ่งแล้ว ก็จะรู้ว่าปัจจุบันมันนิ่ง เหตุการณ์ต่างๆต่างหากที่ไม่นิ่ง มันผ่านมาผ่านไป พอจิตไม่นิ่งมันก็วิ่งไปวิ่งมา ระหว่างปัจจุบันอดีตอนาคต สับสนไปหมด ก็เลยไม่สงบ ก็เลยไม่เห็นภาพจริง ไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นอนัตตา แต่ถ้านิ่งแล้ว จะเห็นว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลา เราไปบังคับไปควบคุมเขาไม่ได้ เขามาเขาไป เหมือนนั่งอยู่ที่ริมน้ำเห็นสิ่งต่างๆที่ลอยมากับกระแสน้ำ เรือก็ลอยมา ขยะก็ลอยมา อะไรต่างๆก็ลอยมา เราก็ได้แต่นั่งดูเท่านั้น เขาก็ลอยมาลอยไป ถ้าดูเฉยๆแล้วไม่ไปมีอะไรกับเขา ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้าดูแล้วไปชอบเข้า ก็จะเสียดายที่มาแล้วก็ไป เกิดความอาลัยอาวรณ์ เกิดความโหยหวนอยากจะเห็นอีก ก็เป็นความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าใจอยู่นิ่งๆ ปล่อยให้ทุกอย่างมาแล้วไป ก็จะไม่เป็นปัญหาอย่างไร ถ้าจิตเป็นสมาธิมันจะปล่อยวาง ถ้ากิเลสจะดึงจิตให้ไปยึดติด ก็ต้องใช้ปัญญาตัด

    กัณฑ์ที่ ๔๐๓ ทุกข์เกิดจากความอยาก
     
  6. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    กัณฑ์ที่ ๔๐๔ นิสัย สันดาน

    ๒๐ กันยายน ๒๕๕๒

    อะไรที่เราทำมา จะติดเป็นนิสัยมา ทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ถ้าเคยทำด้วยความโลภโมโทสันมา ก็จะมีนิสัยโลภโมโทสันติดมา ถ้าเคยทำด้วยเหตุด้วยผล ก็จะมีเหตุมีผลเป็นนิสัยติดมา จะพิจารณาว่าถ้าทำอย่างนี้แล้ว จะเกิดผลอะไรตามมา ก็จะเป็นปัญญาบารมี ถ้าปลูกฝังความโลภโมโทสัน ก็จะเป็นนิสัยไม่ดี หรือสันดานไม่ดี ถ้าทำด้วยเหตุด้วยผล ใคร่ครวญด้วยสติด้วยปัญญา ก็จะเป็นปัญญาบารมี ถ้าทำทานอยู่เรื่อยๆ มีอะไรก็ไม่หวงเก็บเอาไว้ มีอะไรที่เกินความจำเป็น มีมากกว่าที่จะใช้ได้ ก็แบ่งให้ผู้อื่นไป ก็จะเป็นทานบารมีติดเป็นนิสัยมา ถ้าให้ทานด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ก็จะทำให้เกิดเมตตาบารมีตามมา ถ้าไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น ก็จะได้ศีลบารมีตามมาอีก แล้วก็จะเกิดเนกขัมมบารมีตามมา เพราะเวลามีศีลแล้วใจจะสงบกว่าตอนที่ไม่มีศีล ถ้าไม่รักษาศีลจิตใจจะวุ่นวาย กับการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควร เกิดความวิตกกังวล ถ้ามีศีลก็จะไม่เบียดเบียนไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ก็จะไม่วิตกกังวลหวาดกลัว จิตใจจะสงบกว่าตอนที่ไม่มีศีล เหตุที่ไม่มีศีลหรือรักษาศีลไม่ได้ เพราะไม่แบ่งปัน ไ่ม่ทำทาน คิดแต่ประโยชน์ของตนมากกว่าประโยชน์ของผู้อื่น ก็จะขาดความเมตตา บารมีเหล่านี้จึงเกี่ยวข้องกัน ทานบารมี เมตตาบารมี ศีลบารมี แล้วก็จะโยงไปหาเนกขัมมบารมี เพราะเมื่อจิตใจมีความสงบจากทานบารมี จากเมตตาบารมี จากศีลบารมีแล้ว ก็อยากจะเพิ่มความสงบให้มากขึ้น ถ้าได้รับการชี้แนะจากผู้รู้ ก็จะรู้ว่าต้องเจริญเนกขัมมบารมี ต้องสละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางกามสุข แล้วหันมาพัฒนาความสุขที่เกิดจากความสงบ

    ศีลเนกขัมมะก็คือศีล ๘ มาจากศีล ๕ อยู่ ๔ ข้อ ส่วนศีลข้อที่ ๓ คือกาเมสุมิจฉาจาราเวรมณี ก็จะเปลี่ยนเป็นอพรหมจริยาฯ ตอนที่ถือศีล ๕ ก็ยังหาความสุขจากคู่ครองได้อยู่ พอต้องการเอาความสุขที่ดีกว่า ที่เกิดจากความสงบของจิต ก็ต้องตัดศีลข้อกาเมฯไป มาถืออพรหมจริยาฯแทน คือศีลพรหมจรรย์ พรหมจรรย์หมายถึงไม่เสพกามหลับนอนกับคู่ครองของตน แล้วก็เพิ่มศีลอีก ๓ ข้อ ข้อที่ ๖ ตัดความสุขจากการรับประทานอาหาร ให้รับประทานเพื่อการยังชีพ ไม่ได้เพื่อความสุขของกิเลส เพื่อรสชาติที่ถูกปากถูกใจ รับประทานอย่างไม่มีขอบเขต เวลาไหนก็ได้ ถ้าไม่ถือศีลข้อ ๖ นี้ จะรับประทานตั้งแต่ตื่นจนหลับเลยก็ได้ เป็นความสุขของหมู จะอิ่มหมีพีมัน แต่หมูดีกว่าคนตรงที่เวลาตายไป เนื้อของเขายังขายได้ แต่คนตายไปแล้วเนื้อขายไม่ได้ คับโลงศพ ต้องสร้างโลงพิเศษไว้บรรจุ เสียเงินเพิ่มขึ้นไปอีก สร้างภาระให้แก่ผู้อื่น นี่คือศีลข้อที่ ๖ ไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ตัดความสุขจากการรับประทานอาหารไป ปิดประตูนี้ กิเลสออกช่องนี้ไม่ได้ หาความสุขจากการรับประทานไม่ได้แล้ว ให้รับประทานถึงเที่ยงวันเป็นอย่างมาก ถ้าอยากจะให้เข้มข้นกว่านี้ ก็รับประทานมื้อเดียว ถ้าจะให้เข้มกว่านี้ก็ไม่รับประทานเลย จะทำให้มีสติดี เวลานั่งสมาธิไม่ง่วงเหงาหาวนอน ถ้ารับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ จะนั่งสมาธิไม่ได้ จะสัปหงก เดินจงกรมก็เดินไม่ไหว ขี้เกียจ เพราะท้องหนัก ไม่มีกำลัง จะหาแต่หมอนอย่างเดียว ก็จะเสียเวลากับการหลับนอน นี่คือวิธีสละความสุขจากการรับประทานอาหาร

    ศีลข้อที่ ๗ ก็เกี่ยวกับการหาความสุข จากการร้องรำทำเพลง ดูภาพยนตร์ การบันเทิงต่างๆ ที่ให้ความสุขเพลิดเพลินในขณะที่ได้สัมผัส พอผ่านไปแล้วก็เหลือแต่ความว้าเหว่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว อยู่ตามลำพังไม่ได้ ต้องไปอยู่ตามสถานที่ที่มีแสงสีเสียง ไม่กล้าไปภาวนาตามสถานที่สงบสงัดวิเวก เพราะกลัวความเหงาความว้าเหว่ ถ้าถือศีลข้อนี้ก็ต้องละการหาความสุขจากความบันเทิงต่างๆ ไม่หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ใช้เครื่องสำอางหรือน้ำหอม ที่เป็นความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรส อาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำที่สะอาดฟอกด้วยสบู่ ชำระสิ่งสกปรกที่ถูกขับออกมา และฝุ่นต่างๆที่มาเกาะ ก็ใช้ได้แล้ว ถ้าไม่มีสบู่อาบน้ำเฉยๆก็ได้ ก็พอที่จะกำจัดสิ่งสกปรกต่างๆคราบต่างๆที่ติดอยู่กับร่างกายได้ เท่านี้ก็พอแล้วสำหรับการรักษาความสะอาดของร่างกาย ไม่ต้องใช้น้ำยาต่างๆมาเคลือบบำรุงผิวบำรุงผม นี่คือการตัดความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ประการสุดท้ายก็คือการตัดความสุขจากการหลับนอน ไม่หลับนอนมากจนเกินไป ถ้านอนบนฟูกหนาๆจะนอนได้นาน ถ้านอนบนพื้นแข็งๆปูด้วยเสื่อหรือผ้า ก็จะหลับไม่นาน หลับเท่าที่ร่างกายต้องการ พอร่างกายได้พักผ่อนเท่าที่จำเป็นแล้วก็จะตื่นขึ้นมา พอตื่นแล้วก็จะไม่อยากจะนอนต่อ เพราะพื้นมันแข็ง ถ้าเป็นฟูกหนาๆก็จะติดกับสัมผัสที่นิ่มนวลของฟูกหนาๆ ก็จะหลับต่อไปอีกรอบหนึ่ง จะเสียเวลาปฏิบัติไป เพราะเวลาไม่หยุดเวลาหลับนอน เวลาจะเคลื่อนไปเรื่อยๆ
    นักปฏิบัติจึงไม่ควรหลับนอนเกินวันละ ๔ ชั่วโมง ตามหลักที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินมา จะทรงกำหนดเวลาของการปฏิบัติไว้ดังนี้ ตอนค่ำตั้งแต่ ๖ โมงถึง ๔ ทุ่ม ให้นั่งสมาธิเดินจงกรม ๔ ทุ่มถึงตี ๒ ให้พักผ่อนหลับนอน ตี ๒ ให้ตื่นขึ้นมาบำเพ็ญภาวนาต่อ จนถึง ๖ โมงเช้า แล้วก็ออกบิณฑบาต ทรงสอนให้พวกนักบวชพระภิกษุปฏิบัติอย่างนี้ พวกที่เป็นนักปฏิบัตินักภาวนา ก็ต้องถือว่าตนเป็นนักบวชเหมือนกัน ถึงแม้ไม่ได้บวชทางร่างกาย คือไม่ได้โกนศีรษะ ไม่ได้นุ่งขาวห่มขาว หรือนุ่งเหลืองห่มเหลือง แต่ใจเป็นนักปฏิบัติ ก็ควรใช้หลักการนี้ ควรปฏิบัติตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลังจากฉันจังหันแล้ว กลับไปที่พักก็ไม่ควรนั่งสมาธิ เพราะจะง่วงนอน ควรเดินจงกรมไปถึงประมาณเที่ยงวัน แล้วก็พักสักชั่วโมงหนึ่ง จะนั่งสมาธิหรือจะนอนก็ได้ พอลุกขึ้นมาแล้ว ก็นั่งสมาธิหรือเดินจงกรมต่อ จนถึงเวลาปัดกวาดฉันน้ำปานะ เสร็จแล้วก็ไปสรงน้ำ พอ ๖ โมงเย็นก็บำเพ็ญต่อ เดินจงกรมนั่งสมาธิไปจนถึง ๔ ทุ่มก็พักหลับนอน ๔ ชั่วโมง พอตื่นขึ้นมาบำเพ็ญต่อ จะเป็นอย่างนี้ไปทุกวัน นักปฏิบัติจะไม่มีเวลาว่างจากการปฏิบัติ ถึงแม้จะบิณฑบาตหรือทำกิจอะไรต่างๆ ก็จะมีสติคอยกำกับจิต ไม่ให้ไปเถลไถลไปคิดเรื่องอื่น ให้อยู่กับกิจที่กำลังทำอยู่ เหมือนพ่อแม่ส่งลูกไปโรงเรียน ต้องคอยกำกับดูว่าไปโรงเรียนจริงหรือไม่ ไม่ใช่ออกจากบ้านแล้วก็แวบไปตามสถานบันเทิง ไปตามศูนย์การค้าต่างๆ

    นักปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ต้องมีสติคอยควบคุมใจ ให้อยู่กับภารกิจที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน กำลังเดินกำลังยืนกำลังนั่งก็ให้มีสติเฝ้าอยู่ ให้อยู่กับการเดินการยืนการนั่ง กำลังบิณฑบาตก็ให้อยู่กับการบิณฑบาต พอกลับมาที่วัดมาเตรียมอาหารเพื่อฉัน ก็ให้มีสติอยู่กับการเตรียมอาหาร ทุกขณะเวลาให้อยู่กับภารกิจการงานที่กำลังทำอยู่ ไม่ปล่อยให้ไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ เรื่องดีชั่วต่างๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าจิตยังเล็ดลอดออกไปคิดได้อยู่ ก็จะใช้คำบริกรรมกำกับไว้อีกชั้นหนึ่งก็ได้ คือมีสติอยู่กับภารกิจที่กำลังทำอยู่ แล้วก็บริกรรมพุทโธไปด้วย จะได้ไม่มีช่องว่างให้เล็ดลอดออกไปคิดได้ ถ้าสติไม่มีกำลังพอ จิตก็ยังสามารถเล็ดลอดออกไปคิดเรื่องอื่นได้ ต้องเอาพุทโธมาปิดช่องว่างนี้ บริกรรมพุทโธๆไป ถ้าทำอย่างนี้ได้อย่างต่อเนื่องแล้ว จะมีสติที่แก่กล้ามีกำลังมาก พอสั่งให้จิตอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นอยู่กับอานาปานสติ อยู่กับลมหายใจเข้าออก จิตก็จะไม่ไปที่อื่นจะไม่เถลไถล เพราะมีสติคุมอยู่อย่างใกล้ชิด ไม่มีช่องว่างให้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ถ้ามีสติขนาดนี้แล้วนั่งไม่นานจิตก็จะสงบ เพียง ๕ นาที ๑๐ นาทีจิตก็จะสงบได้

    ถ้านั่งสมาธิมาเป็นปีๆแล้วยังไม่เคยสงบเลย ก็ควรพิจารณาเรื่องสติ ว่ามีสติควบคุมบังคับ ให้จิตอยู่กับงานที่กำหนดให้ทำหรือไม่ ถ้าดูลมแล้วยังคิดเรื่องอื่นอยู่ ก็แสดงว่าสติมีกำลังไม่มากพอ ถ้าบริกรรมพุทโธแล้วยังไปคิดเรื่องอื่น ก็ต้องสวดมนต์ไปก่อน หรือฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน เพื่อสร้างสติขึ้นมา เพราะกิเลสไม่ชอบอยู่กับสิ่งที่จำเจ จะเบื่อเร็ว ถ้ามีอะไรให้ได้พิจารณาตาม เช่นการฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังแล้วก็เกิดความสนใจขึ้นมา ก็จะเกาะติดอยู่กับการฟัง จะสร้างสติขึ้นมา เป็นการฝึกภาวนาแบบง่ายๆ เวลาเริ่มต้นภาวนาจิตจะหยาบ จะฟุ้งซ่าน จะให้อยู่กับลม หรืออยู่กับพุทโธ จะอยู่ไม่ได้ ก็ให้ฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน ฟังไปจนรู้สึกเย็นสบายก็หยุดฟัง แล้วกลับมาดูลม หรือบริกรรมพุทโธๆ ดูว่าจะแวบไปที่อื่นหรือไม่ ถ้าสงบตัวลงแล้วจะไม่ไป จะอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจเข้าออก ในที่สุดก็จะสงบได้ ถ้าไม่ฟังเทศน์ฟังธรรมจะสวดมนต์ไปก็ได้ สวดพระสูตรที่เราจำได้ จะเป็นคำแปลก็ได้ จะเป็นคำบาลีก็ได้ จะเป็นคำอังกฤษก็ได้ ได้ทั้งนั้น จะเป็นการกล่อมจิตให้หายฟุ้งซ่าน ให้ละเอียดลง ให้สงบตัวลง ถึงแม้จะไม่สงบนิ่ง แต่จะทำให้การแกว่งหรือการหมุนของจิตช้าลงเบาลงไป ก็จะอยู่กับลมได้ ไม่นานก็จะนิ่งจะสงบ

    ทั้งหมดนี้เริ่มต้นที่สติเป็นหลัก สติเป็น ก.ไก่ ข.ไข่ ของการภาวนา ของการปฏิบัติ ข้ามขั้นไม่ได้ จะข้ามสติไปไม่ได้ ยกเว้นว่ามีสติแล้ว พอนั่ง ๕ นาทีก็รวมลง นักปฏิบัติบางท่านเป็นอย่างนั้น บางท่านพุทโธๆไปไม่นานจิตก็รวมลง อย่างครูบาอาจารย์บางท่าน พอเริ่มนั่งก็รวมลงได้ เพราะมีสติ ได้พัฒนาสติมาอย่างต่อเนื่อง พอเอามาใช้กับงานภาวนาทำจิตใจให้สงบ จิตก็สงบลงทันที อย่างพระพุทธเจ้าเคยทรงบำเพ็ญความสงบมาหลายภพหลายชาติแล้ว พอมีโอกาสอยู่ตามลำพังพระองค์ ไม่ต้องกำหนดอะไร จิตก็รวมลง เข้าสู่ความสงบได้ ถ้าอยู่กับผู้คนจิตจะต้องคิดปรุงอยู่ตลอดเวลา พอไม่มีคนไม่มีกิจมาเกี่ยวข้อง อยู่เฉยๆตามลำพัง อยู่ในความวิเวก พอกายวิเวกจิตก็จะวิเวกขึ้นมาทันที ถ้าจิตมีความวิเวกอยู่เดิมแล้วก็จะปรากฏขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องบริกรรมพุทโธๆ หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก เป็นเนกขัมมบารมีที่เคยสร้างมาในอดีต ติดมากับใจ การเจริญเนกขัมมบารมีก็เพื่อเจริญความสงบนี้เอง ถ้าตัดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะได้แล้ว พอภาวนาจิตก็จะสงบ ความสงบนี้ก็จะติดไปกับใจ เกิดภพไหนชาติไหน ก็จะมีนิสัยรักความวิเวก รักความสงบ เบื่อกับพวกแสงสีเสียงต่างๆ

    นี่คือเรื่องของบารมีที่ได้บำเพ็ญกันมา พวกเราจึงมีความแตกต่างกันตรงนี้ เป็นบัวต่างเหล่ากัน เพราะบำเพ็ญบารมีมาต่างกัน พวกที่บำเพ็ญบารมีมามากก็เป็นบัวเหนือน้ำ รอแสงอาทิตย์ส่องแสงให้บัวบาน เป็นพวกที่รอพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ แล้วมาแสดงธรรมโปรด ซึ่งในระยะ ๗ เดือนแรกของการเผยแผ่ ปรากฏมีพระอรหันต์อย่างน้อย ๑๒๕๐ รูป พวกนี้เป็นพวกบัวเหนือน้ำ ที่รอแสงอาทิตย์ พอแสงอาทิตย์คือพระพุทธเจ้าได้ปรากฏขึ้นมาในโลกนี้แล้ว และได้ทรงประกาศพระธรรมคำสอน ซึ่งเป็นแสงสว่างแห่งธรรมแล้ว เป็นเหมือนแสงอาทิตย์ พอส่องไปที่จิตของบัวเหล่านี้ ก็จะบานขึ้นมาทันที อย่างง่ายดาย เราไปเปรียบเทียบกับพวกนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีบารมีระดับนั้น เราฟังเทศน์ฟังธรรมกันไม่รู้กี่ ๑๐ กี่ ๑๐๐ ครั้งแล้ว มันบานหรือยัง จะบานได้อย่างไร เพราะยังอยู่ใต้น้ำ แสงอาทิตย์ไม่สามารถทะลุทะลวงลงไปได้ ถ้าเป็นบัวเหนือน้ำ ก็คงไม่ได้มาฟังเทศน์ฟังธรรมกันแล้ว คงไปสั่งสอนผู้อื่นต่อแล้ว เป็นครูเป็นอาจารย์ไปแล้ว นี่คือความแตกต่างของบุญบารมีของแต่ละบุคคล จึงอย่าไปกังวลกับผู้อื่น ถ้าเขาเร็วกว่าหรือช้ากว่า เราไปทำอะไรให้เขาไม่ได้ นอกจากจะให้กำลังใจเขา หรือหาธรรมะให้เขา เป็นเหมือนปุ๋ยบำรุงบารมีให้เจริญเติบโต

    ถ้ายังไม่มีบารมีก็ควรสร้างให้มีขึ้นมา สร้างทานบารมี เมตตาบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ส่วนปัญญาบารมีนี้ ในเบื้องต้นต้องอาศัยการศึกษา การได้ยินได้ฟังจากผู้รู้ทั้งหลาย จะได้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร จะรู้ว่าต้องบำเพ็ญทานบารมี บำเพ็ญเมตตาบารมี บำเพ็ญศีลบารมี บำเพ็ญเนกขัมมบารมี จะรู้ว่าการที่จะบำเพ็ญบารมีเหล่านี้ได้ จะต้องมีอธิษฐานบารมีเป็นผู้นำ อธิษฐานแปลว่าความตั้งใจ หรือการตั้งเป้าหมายของชีวิต ว่าจะทำอะไรต่อไปนี้ ถ้าตั้งจิตอธิษฐานว่า ต่อไปนี้จะทุ่มเทชีวิตจิตใจต่อการบำเพ็ญบารมีต่างๆ การกระทำต่างๆของเรา ก็จะมุ่งมาทางนี้ทันที ถ้าเราไม่ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะทำอย่างนี้ ก็จะไม่ได้ทำ อย่างพวกเราที่มาที่นี่กันอย่างต่อเนื่องทุกเดือนเป็นเวลา ๔ ปีกว่าแล้ว ก็เพราะมีอธิษฐานบารมีกัน มีความตั้งใจว่าจะมาที่นี่เดือนละ ๑ ครั้ง ถ้าไม่ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ พอถึงเวลาที่จะมา ก็จะไม่ได้มา เพราะติดธุระติดภารกิจอื่น หรือขี้เกียจ ไม่อยากจะมา อยู่บ้านดูโทรทัศน์ไป เพราะไม่ได้ตั้งใจไว้ แต่ถ้าตั้งใจไว้แล้วก็จะมาได้ การตั้งใจอย่างเดียวก็ยังไม่แน่ว่าจะมาหรือไม่ เพราะอาจจะมีเหตุจำเป็นที่ทำให้มาไม่ได้ก็ได้ เช่นมีธุระอื่นมาดึงเราไป เราจึงต้องสร้างสัจจบารมีมาคอยกับกำ สัจจะคือความจริงใจต่อความตั้งใจ ถ้าได้ตั้งใจอะไรไว้แล้ว จะไม่เลิกความตั้งใจนั้น ถึงจะเรียกว่ามีสัจจะ ถ้าเลิกด้วยการอ้างว่ามีเหตุจำเป็นอย่างอื่น อย่างนี้ก็จะขาดสัจจบารมี การตั้งจิตอธิษฐานตั้งเป้า ก็จะไม่เป็นไปตามที่ได้ตั้งไว้

    แต่ถ้ามีสัจจะด้วยมีอธิษฐานด้วยแล้ว ก็เหมือนกับใส่กุญแจล็อกไว้เลย ไม่มีทางที่จะเป็นอื่นไปได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งสัจจอธิษฐานไว้ ตอนที่ทรงนั่งประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ทรงตั้งสัจจอธิษฐานว่า จะนั่งภาวนาอยู่ที่ใต้ต้นโพธิ์นี้ไปจนกว่าจะตรัสรู้ ถ้าไม่ตรัสรู้ก็ยอมตาย ยอมให้ร่างกายนี้ตายไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ถ้ายังไม่ตรัสรู้ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้ไป นี่คือเรื่องของอธิษฐานบารมีและสัจจบารมี เป็นบารมีที่สำคัญต่อการไปสู่เป้าหมาย ถ้าไม่มีอธิษฐานบารมี ก็เหมือนเวลาขับรถแล้วไม่รู้จะไปไหน ออกจากบ้านถามตัวเองว่าวันนี้จะไปไหนดี แสดงว่าไม่มีเป้าหมาย แต่ไม่อยากจะอยู่บ้าน เบื่ออยู่ที่บ้านก็เลยขับรถออกจากบ้าน ขับไปแล้วก็ยังคิดอยู่ว่าวันนี้จะไปไหนดี ไปเหนือดีหรือไปใต้ดี ไปหาคนนั้นดีหรือไปหาคนนี้ดี แสดงว่าไม่มีอธิษฐานบารมี ไม่มีสัจจบารมี ถ้าตั้งเป้าหมายไว้ว่าวันนี้จะมาที่นี่ ถึงเวลาก็เดินทางมาที่นี่ ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ไม่ว่าจะมีใครมาชวนให้ไปทำอะไรอย่างอื่นก็ไม่ไป ยกเว้นมันสุดวิสัยจริงๆ น้ำท่วมขับรถมาไม่ได้ เจ็บไข้ได้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลหรือนอนอยู่ที่บ้าน ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการเสียสัจจะ แต่ถ้าตั้งใจจะมาที่นี่แต่พอถึงเวลาแล้วไปที่อื่น อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสัจจะ แต่ถ้ามีอธิษฐานบารมีมีสัจจบารมีแล้ว ก็ต้องมีวิริยบารมี ที่จะสนับสนุนให้ทำตามที่ได้ตั้งใจไว้ พอถึงเวลาก็เตรียมเนื้อเตรียมตัวออกจากบ้าน เดินทางมาสู่จุดหมายปลายทาง จะยากจะลำบากอย่างไร รถจะติดยางจะแตกหรือมีอุปสรรคอะไรต่างๆ ก็ต้องแก้ไขฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ ก็ต้องมีขันติบารมีเป็นผู้สนับสนุน บารมีที่คอยสนับสนุนคือ อธิษฐานบารมี สัจจบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี ไม่ว่าจะสร้างทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี เมตตาบารมี ปัญญาบารมี หรืออุเบกขาบารมี ก็ต้องมีบารมีเหล่านี้คอยสนับสนุน

    อุเบกขาบารมีก็คือการทำจิตให้สงบ ให้นิ่ง เป็นอุเบกขา เป็นเอกกัตคตารมณ์ ต้องมีความตั้งใจที่จะอยู่ที่สงบสงัดวิเวก ต้องเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ต้องตัดกามฉันทะความยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ต้องตัดการคลุกคลีกัน ไม่สมาคมนั่งคุยกันให้เสียเวลาไปเปล่าๆ ให้ปลีกวิเวกอยู่ตามลำพังอย่างต่อเนื่อง เจริญสติอย่างต่อเนื่อง ไม่นานก็จะได้อุเบกขาบารมี ก็จะได้ครบทุกบารมี เมตตาบารมีก็พูดแล้ว ที่โยงกับทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมีก็เกิดจากการฟังเทศน์ฟังธรรม ศึกษาเล่าเรียนจากผู้รู้ แล้วนำเอามาใคร่ครวญอย่างต่อเนื่อง เอามาพิจารณาอย่างต่อเนื่อง เช่นพระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาว่า เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ความเจ็บความตาย ล่วงพ้นการพลัดพรากจากกันไม่ได้ ให้คิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่ได้ยินได้ฟังเท่านั้น ควรจะคิดอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกเลย เพราะเป็นการเจริญปัญญา ถ้าคิดอย่างนี้ทุกลมหายใจเข้าออก ก็จะเป็นภาวนามยปัญญา ก็จะตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่้นในร่างกายได้ จะไม่กลัวความแก่ความเจ็บความตาย ไม่กลัวความพลัดพรากจากสิ่งต่างๆจากบุคคลต่างๆ ไม่เศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์ร้องห่มร้องไห้ เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมา เพราะใจเตรียมรับอยู่ทุกขณะ ทุกลมหายใจเข้าออก ที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีใครกำหนดเวลาได้ จะตายเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ ถึงเวลาก็เกิดขึ้นมา แม้แต่ตัวเราเองจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ เราก็ไม่รู้ แต่ถ้ามีปัญญาคอยรักษาใจอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว เวลาเกิดขึ้นมาใจจะเป็นเหมือนปกติ ไม่ตื่นเต้น เหมือนกับลมพัดอย่างนี้ ก่อนหน้านี้ลมไม่ได้พัดตอนนี้ลมพัดแล้ว เราก็ไม่ได้ไปตื่นเต้นตกใจแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ความแก่ความเจ็บความตาย ก็เป็นเหมือนลมพัด เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าสอนใจอยู่เรื่อยๆแล้ว จะไม่ตกอกตกใจ จะไม่หวาดกลัว จะเป็นปัญญาอย่างแท้จริง

    ปัญญาที่ตัดกิเลสได้ดับทุกข์ได้ ต้องเป็นภาวนามยปัญญา ต้องพิจารณาอย่างต่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก ยกเว้นในขณะที่พักจิตในสมาธิ ที่มีความจำเป็นต้องพักตามเวลา เพราะพิจารณามากๆแล้วจิตจะหลง จะฟุ้ง ไม่แหลมคม เหมือนกับมีดถ้าใช้มากๆแล้วจะทื่อ ไม่คม ต้องเอามีดไปลับก่อน จิตก็เป็นเหมือนเครื่องมือของปัญญา เป็นมีด พอใช้ไปมากๆแล้วก็จะทื่อ ต้องเอาจิตไปลับในสมาธิ ไปพักในสมาธิ ตอนนั้นก็ไม่ต้องกำหนดเรื่องการเกิดแก่เจ็บตาย ตอนนั้นต้องการให้นิ่งอย่างเดียว ไม่ให้คิดปรุงแต่งอะไรเลย วิธีไหนที่ถนัดทำจิตให้สงบก็ใช้วิธีนั้น ถ้าถนัดกับพุทโธก็ใช้พุทโธ ถ้าถนัดกับอานาปานสติก็ใช้อานาปานสติ ให้จิตได้พัก พอจิตสงบก็ปล่อยให้พักไปตามที่จิตต้องการ พออิ่มแล้วก็จะถอนออกมาจากสมาธิเอง พอถอนออกมาก็นำเอามาพิจารณา เรื่องความแก่ความเจ็บความตายต่อ ทำไปจนกว่าปัญหาความแก่ความเจ็บความตายจะหมดไปจากใจ ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ไม่วิตกกังวลหวาดกลัวเศร้าโศกเสียใจอีกต่อไป ถ้าอยากจะรู้ว่าหมดจริงหรือไม่ ก็ต้องไปหาสนามสอบดู สนามที่ท้าทายต่อความเป็นความตายดู ดูว่าจะนิ่งเฉย ไม่หวั่นไหวไม่หวาดกลัวหรือไม่ เพราะเวลาที่บำเพ็ญอยู่นี้ อยู่ในสนามที่ไม่ท้าทายต่อความเป็นความตายเท่าที่ควร ก็ยังไม่รู้ว่าจะตัดได้หรือไม่ ถ้าอยู่ในสภาพที่ท้าทายต่อความเป็นความตาย ทำการบ้านกับเข้าห้องสอบไม่เหมือนกัน ตอนนี้เราพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย อย่างต่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก ก็เป็นเหมือนกับการทำการบ้าน เพราะยังไม่ได้เจอความตายใกล้ตัวจริงๆ แต่ถ้าไปอยู่ในสถานที่ ที่มีภัยที่จะคุกคามต่อชีวิตได้ ตอนนั้นจะได้รู้ว่าปล่อยวางได้หรือไม่

    ปัญญาบารมีต้องเป็นภาวนามยปัญญา การได้ยินได้ฟังเป็นสุตตมยปัญญา การใคร่ครวญบางครั้งบางคราวบางเวลาเป็นจินตามยปัญญา เช่นพอนึกถึงก็เอามาพิจารณา แล้วก็ไปทำภารกิจอื่น ก็ไม่ได้พิจารณา พอว่างเราก็กลับมาพิจารณาอีก อย่างนี้ยังไม่เป็นภาวนามยปัญญา เป็นเพียงจินตามยปัญญา แต่ถ้าพิจารณาอยู่อย่างต่่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก ถึงจะเป็นภาวนามยปัญญา พอมีภาวนามยปัญญาแล้วก็ไปเข้าห้องสอบดู ดูว่าปล่อยได้จริงหรือไม่ ดับทุกข์ได้จริงหรือไม่ พอปล่อยได้ดับได้แล้ว งานชิ้นนี้ก็หมดไป ไม่จำเป็นต้องทำอีกต่อไป ปัญหานี้ไม่เป็นปัญหาแล้ว เรื่องของร่างกายที่เกี่ยวกับความแก่ความเจ็บความตาย ก็หมดปัญหาไป ทั้งของเราเองและของผู้อื่น ส่วนเรื่องของร่างกายที่ยังต้องวิเคราะห์ต่อ ก็คือเรื่องอสุภะความไม่สวยไม่งาม ที่จะดับราคะตัณหาหรือกามตัณหา การพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย ไม่ได้ดับราคะตัณหา ยังมีความอยากในเรื่องของเพศสัมพันธ์อยู่ ถ้าพิจารณาอสุภะจนเห็นอย่างต่อเนื่อง ทุกลมหายใจเข้าออก ว่าไม่สวยไม่งาม มีสิ่งปฏิกูลต่างๆ มีสิ่งไม่สวยงามต่างๆ มีอวัยวะต่างๆ เช่นตับไตไส้พุงต่างๆอยู่ในร่างกาย มีโครงกระดูกซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง ถ้าเห็นอย่า่งนี้แล้ว ก็จะตัดกามตัณหาหรือราคะตัณหาได้ ถ้าตัดได้แล้วเรื่องของราคะตัณหาก็จะหมดไป ต้องพิจารณาธาตุ ๔ ให้เห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา เรื่องของร่างกายก็มีอยู่แค่นี้ ข้อสอบของร่างกายก็มี ความแก่ความเจ็บความตาย การพลัดพรากจากกัน อสุภะกับปฏิกูล ดินน้ำลมไฟ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา พอผ่านร่างกายไปได้แล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาร่างกายอีกต่อไป เพราะได้เรียนจบวิชานี้แล้ว ได้สอบผ่านแล้ว
    วิชาที่ต้องเรียนต่อก็คือวิชาจิต เพราะชีวิตมี ๒ ส่วน มีกายมีจิต ปัญหาที่เกิดจากกายนี้ก็หมดไปแล้ว เหลือแต่ปัญหาที่เกิดจากจิต ก็มีเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณและจิตเอง นี่คืองานที่ต้องทำต่อด้วยการเจริญปัญญา พอผ่านจิตไปได้แล้ว งานทั้งหมดก็จะสิ้นสุดลง ปัญหาต่างๆที่เกี่ยวกับกายกับจิตก็จะหมดไป การบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการก็จะสิ้นสุดลง ได้สัมฤทธิ์ผลแล้ว คือการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด สิ้นสุดแห่งความทุกข์ทั้งหลาย อยู่ที่การบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ นี้ ถ้ายังไม่ได้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ บารมีทั้ง ๑๐ ที่ได้บำเพ็ญมาก็ไม่ได้สูญหายไปไหน เพราะติดอยู่กับใจ ไม่ได้อยู่กับกาย เวลากายตายไป บารมีไม่ได้หายไปกับร่างกาย เพราะบารมีอยู่กับจิต จิตไม่ได้ตายไปกับร่างกาย บารมีไม่สูญหายไปไหน พอจิตได้ร่างกายใหม่ ก็สามารถบำเพ็ญต่อ นี่แหละที่ทำให้พวกเรามีบารมี มีความสามารถแตกต่างกัน เพราะบารมีที่ได้บำเพ็ญมาในอดีตแตกต่างกัน ถึงแม้จะมาเกิดพร้อมกันเป็นพี่น้องฝาแฝดก็ตาม จิตแต่ละดวงก็มีบารมีมาไม่เหมือนกัน ยกเว้นเป็นความบังเอิญที่จิตที่ได้ร่างแฝดมีบารมีเท่ากัน เช่นพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ แต่ท่านไม่ได้เป็นฝาแฝดแต่เป็นเพื่อนสนิทกัน ได้บำเพ็ญบารมีมาพอๆกัน พร้อมที่จะบรรลุได้พร้อมๆกัน พวกเราจึงอย่าท้อแท้ อย่าเสียดายกับสิ่งต่างๆที่ต้องสละ เพื่อบำเพ็ญบารมี เพราะบารมีไม่สูญหายไป แต่สิ่งต่างๆที่เราเสียดายนั้น สักวันหนึ่งเราก็ต้องจากเขาไปอยู่ดี สูญเสียไปอยู่ดี จะไม่ติดไปกับใจ ควรเอาสิ่งต่างๆที่เราเห็นว่ามีค่านี้ มาแปลงให้เป็นบารมีจะดีกว่า จะได้ติดไปกับใจ
     
  7. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    ถาม : ถ้าเป็นนิสัยดีเรียกว่าบารมี ถ้านิสัยไม่ดีเรียกว่าสันดาน

    ตอบ : การกระทำต่างๆที่เราได้ทำมา ถ้าฝังไม่ลึกก็เป็นนิสัย ถ้าฝังลึกก็เป็นสันดาน แก้สันดานยากกว่าแก้นิสัย นิสัยแก้ง่ายกว่า เหมือนกับปักเสาลงไปในดิน ถ้าไม่ลึกก็ถอนง่ายกว่า ถ้าลึกมากก็ถอนยากกว่า แต่ไม่มีอะไรที่จะถอนไม่ได้

    ถาม : เรื่องอธิษฐานบารมีกับสัจจบารมี ฟังดูใกล้เคียงกัน สัจจะเป็นเครื่องมือของอธิษฐานหรือเปล่า

    ตอบ : สัจจะคือความจริงใจ ส่วนอธิษฐานเป็นการตั้งใจ เช่นตั้งเป้าว่าปีนี้จะเกษียณ ถ้ามีสัจจะ จะล่อให้ทำงานต่อ ก็จะไม่ทำ ถ้าไม่มีสัจจะก็เปลี่ยนใจได้ ถ้าขอให้ทำต่อ ก็อ้างว่าเมตตาสงสาร ก็จะทำต่อ อย่างนี้แสดงว่าไม่มีสัจจะ คนบางคนชอบตั้งใจอยู่เรื่อย พรุ่งนี้จะทำนั่นพรุ่งนี้จะทำนี่ พอถึงเวลากลับไม่ทำ แสดงว่าไม่มีสัจจะ มีแต่อธิษฐาน ถ้าทำตามที่ได้ตั้งใจไว้ แสดงว่ามีสัจจะมีอธิษฐาน สัจจะนี้ไม่ได้หมายถึงกับตัวเราเท่านั้น กับผู้อื่นก็ต้องมีสัจจะ รับปากรับคำกับใครไว้แล้ว ก็ต้องรักษาสัจจะ เช่นเวลาแต่งงาน ก็ให้คำสัญญากับคู่ครองว่า จะอยู่กันไปจนวันตาย ถ้าหย่ากันเลิกกันก่อนก็แสดงว่าไม่มีสัจจะ
    จึงมีคติเตือนใจว่า ก่อนจะพูดอะไรคิดให้ดีเสียก่อน เพราะก่อนจะพูดเราเป็นนายของคำพูด พอพูดแล้ว คำพูดจะเป็นนายของเรา เช่นเดียวกับความคิดตั้งใจก็แบบเดียวกัน ก่อนที่จะตั้งใจทำอะไรก็คิดให้ดีก่อน ว่าจะทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าไปตั้ง เช่นหลวงตาท่านตั้งใจจะนั่งตั้งแต่หัวค่ำจนถึงสว่าง นี่ก็เป็นการตั้งอธิษฐานแล้ว ถ้าไม่มีสัจจะ พอเจ็บปวดทนไม่ไหวก็จะเลิกนั่ง ถ้ามีสัจจะ จะปวดหรือจะตาย ก็จะไม่ลุก จนกว่าจะถึงเวลาที่ได้กำหนดไว้ อย่างนี้ถึงจะมีสัจจะ อย่างเวลาเริ่มปฏิบัติกันใหม่ๆ ก็ตั้งนาฬิกากันไว้ ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ถ้านาฬิกายังไม่ดัง ก็จะไม่ลุก ถ้าลุกก่อนที่มันดัง ก็แสดงว่าไม่มีสัจจะ มีความตั้งใจแต่ไม่มีสัจจะ ก็เลยล้มเหลว ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ได้ตั้งไว้ สำคัญมากนะเวลาจะทำอะไร ถ้าไม่ปิดประตูตีแมวตีหมา มันก็จะหาช่องออกไปเรื่อยๆ ต้องปิดช่องออก ก็ต้องตั้งสัจจอธิษฐาน จะตั้งสูงตั้งต่ำอย่างไรก็ต้องดูกำลังของเรา อย่าไปตั้งที่สูงกว่าที่จะทำได้ จะท้อแท้ ตั้งทีไรก็ทำไม่ได้ทุกที ไม่รู้จะตั้งไปทำไม ก็จะไม่มีความตั้งใจต่อไป ถ้าตั้งใจแล้วทำได้ ก็จะเกิดกำลังใจ ขั้นต่อไปก็ตั้งให้มากขึ้น ตอนต้นก็ตั้งชั่วโมงหนึ่ง ต่อไปก็ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ตั้งให้มากขึ้นไปตามลำดับ ตามกำลังความสามารถ

    อย่าปฏิบัติอยู่กับที่ ปฏิบัติมากี่ปีก็เหมือนเดิม เคยทำเท่าไหร่ก็ทำเท่านั้น อย่างนี้จะไม่ก้าวหน้า ต้องพัฒนา ต้องเพิ่มการปฏิบัติให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญสติ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด จะปฏิบัติก้าวหน้าหรือไม่ ก็อยู่ที่สตินี้เป็นหลัก ถ้าไม่มีสติแล้วถึงแม้จะนั่งเป็นชั่วโมงๆ ก็นั่งหลับหรือนั่งฟุ้งซ่าน เพราะไม่มีสติกำกับจิตให้อยู่กับงานที่ทำ พอสติเผลอปั๊บก็เริ่มสัปหงกหลับไป นั่งเพื่อให้ได้เวลา พอนาฬิกาปลุกก็ตื่นขึ้นมา อย่างนี้นั่งเพื่อเอาเวลา นั่งอย่างไม่มีสติ ถ้ามีสติแล้วจะได้ความสงบ พอสงบแล้วถึงแม้จะได้เวลาแล้ว ก็จะไม่ลุก เพราะมันสบาย เวลาจิตสงบแล้วมันเพลิน ไม่รู้สึกความเจ็บปวด นั่งไปได้เรื่อยๆ สติจึงเป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องใช้สติถึงจะทำได้อย่างถูกต้อง ทำได้ผล สติจึงมีความจำเป็นในทุกกรณี

    ที่ประเทศศรีลังกา จะถือมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นสูตรที่สำคัญมาก จะท่องกันได้มาก ให้ความสำคัญมากกว่า พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพราะถ้ายังไม่มีสติ พอฟังพระธัมมจักฯก็ทำอะไรไม่ได้ เป็น ก.ไก่ ข.ไข่ของการปฏิบัติจริงๆก็คือสติ ครูบาอาจารย์เน้นเรื่องสติก่อนเลย เวลาที่ท่านว่ากล่าวตักเตือนพระเณร ก็เป็นการให้สติ พอทำอะไรผิดพลาดท่านจะใส่อย่างแรงเลย ถ้ามีสติจะไม่ผิดพลาด ถ้าผิดพลาดแสดงว่าเผลอสติ ใจกำลังไปคิดเรื่องอื่น ไม่อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ จึงทำผิดๆถูกๆ ถ้ามีสติแล้วจะรู้อยู่ทุกขณะว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำถูกหรือไม่ จึงอย่าไปเห็นอะไรสำคัญกว่าสติ ถ้าเข้าสู่การปฏิบัติแล้วต้องเจริญสติก่อน พอได้สติแล้ว สมาธิจะตามมา ปัญญาจะตามมา วิมุตติจะตามมา ถ้าไม่มีสติแล้ว ไม่มีทางที่จะได้สมาธิ ได้ปัญญา ได้วิมุตติ อย่าปล่อยใจออกไปหาสิ่งต่างๆ ดึงใจไว้ให้อยู่กับร่างกาย ไม่ว่าจะอยู่กับใคร ถ้าไม่ส่งใจออกไปก็เหมือนอยู่คนเดียว อยู่กับร่างกาย อยู่กับความคิด ปล่อยให้คนอื่นพูดไปเรากำกับจิตใจ ให้อยู่ในปัจจุบัน ให้อยู่กับพุทโธ ถ้าฟังเสียงพูด ก็พิจารณาว่าเกิดแล้วดับไป พูดปั๊บก็หายไป ไม่ต้องเอามาคิดมาใคร่ครวญมาปรุงแต่ง พูดปั๊บก็หายไป ถ้ามีสติอยู่ในปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น จะชั่วขณะเดียว แล้วก็หายไป อย่างที่พูดอยู่นี้ พอพูดเสร็จก็หายไปแล้ว ถ้าไม่เอามาคิดเอามาปรุงต่อ ก็ผ่านไปแล้ว ถ้าเอามาคิดมาปรุงก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา

    ถ้าคิดปรุงแต่งไปทางกิเลส เช่นพูดไม่ดี ก็เกิดอารมณ์ไม่ดีตามมา ถ้าพูดดีก็ดีอกดีใจ อยากจะให้พูดอีก ก็เป็นกิเลสขึ้นมา ต้องสักแต่ว่าฟัง คือฟังด้วยสติ ฟังด้วยอุเบกขา ได้ยินแล้วก็ผ่านไป ไม่เอามาใส่ใจ ถ้าไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องรับรู้ ถ้าไม่ได้พูดกับเรา พูดกับคนอื่น ก็ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ไม่ต้องไปสนใจ ดึงใจไว้ให้อยู่ในปัจจุบัน ต่อไปก็จะมีสติ พอมีสติแล้วให้อยู่กับพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ ให้อยู่กับลมก็อยู่กับลม บางคนชอบใช้ลมกับพุทโธควบคู่กันไป ก็ทำได้ เช่นหายใจเข้าว่าพุท หายใจออกว่าโธก็ได้ แต่บางคนรู้สึกว่าสับสน ก็ไม่ต้องใช้ทั้ง ๒ อย่าง เอาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ จะเอาพุทโธอย่างเดียว ไม่ต้องไปยุ่งกับลมเลยก็ได้ ก็ให้อยู่กับพุทโธๆไป หรือจะไม่เอาพุทโธ จะเอาลมอย่างเดียวก็ได้ อยู่ที่จริตของเรา อยู่ที่ความละเอียดของจิตด้วย จิตหยาบต้องใช้ลมควบไปกับพุทโธ ถ้าจิตละเอียดแล้วไม่ต้องการพุทโธ ต้องการลมอย่างเดียว หรือต้องการพุทโธอย่างเดียว ต้องสังเกตดูว่าจิตหยาบหรือละเอียด วิธีไหนได้ผลก็เอาวิธีนั้น ถ้ามีสติแล้ว แต่ใช้วิธีนี้แล้วไม่ได้ผล ไม่ถูกจริต ก็ต้องใช้วิธีอื่น ถ้าไม่มีสติ ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็จะไม่ได้ผลทั้งนั้น ต้องแยกแยะว่าปัญหาอยู่ตรงไหน อยู่ที่กรรมฐาน หรืออยู่ที่มีสติหรือไม่มีสติ มี ๒ ส่วนด้วยกันที่ต้องพิจารณาดู

    ถาม : มาภาวนาแล้วค่ะ มาอยู่ร่วมกัน ๒ คน

    ตอบ : มาแล้วอย่าคุยกัน พอมีเพื่อนคุยจะไม่ได้ภาวนา อยู่ด้วยกันต้องอยู่เหมือนกับทะเลาะกันเกลียดกัน เหมือนกับเวลาไปวัดป่าเห็นพระไม่คุยกันเลย ทำอะไรก็ต่างคนต่างทำ ไม่พูดไม่คุยกัน ก็จะคิดว่าพระทะเลาะกันหรือเปล่า

    ถาม : ไม่มีมนุษยสัมพันธ์

    ตอบ : นักภาวนาไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ จิตต้องเข้าข้างใน จิตเข้าข้างในเป็นมรรค จิตออกข้างนอกเป็นสมุทัย พอออกไปก็จะฟุ้ง จะคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตอนต้นก็คุยธรรมะไปก่อน แล้วก็กลายเป็นธรรมเมาไป

    ถาม : การจะได้ครูบาอาจารย์ดี มันเกี่ยวกับวาสนาหรือเปล่า เคยทำมาด้วยกันใช่ไหม

    ตอบ : มีส่วน น้ำจะรวมตัวกับน้ำ น้ำมันจะรวมตัวกับน้ำมัน ลองเอาน้ำกับน้ำมันใส่ลงไปในขวดเดียวกันดู จะเขย่าอย่างไรก็ตาม จะไม่ปนกัน พอหยุดเขย่า น้ำมันก็จะรวมตัวกับน้ำมัน น้ำก็จะรวมกับน้ำ คนที่ชอบอย่างเดียวกันก็จะเกาะติดกัน ชอบอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ก็จะไปทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ชอบเลขชอบเบอร์ก็จะไปทางเลขทางเบอร์ ไปตามความชอบ ชอบธรรมก็จะไปหาธรรม

    ถาม : ถ้าผมชอบน้ำ ผมก็จะได้แต่น้ำ ใช่ไหมครับ

    ตอบ : ชอบน้ำก็จะไปหาน้ำ ชอบสีแดงเวลาซื้อเสื้อผ้าก็จะเลือกเอาแต่สีแดง ชอบเข้าบ่อนก็จะไปหาบ่อน ชอบสุราก็จะไปหาสุรา ชอบเที่ยวก็จะไปเที่ยวอยู่เรื่อยๆ ติดมาเป็นนิสัยเป็นสันดาน ชอบอะไรก็จะไปหาอย่างนั้น เมื่อก่อนเราไม่เคยคิดหาครูบาอาจารย์ ตอนเรียนหนังสือก็เรียนอีกศาสนาหนึ่ง ไปเรียนต่อก็ไปอยู่อีกซีกโลก แต่ทำไมยังมาทางนี้ได้ เพราะที่ไปมานั้นไม่ถูกใจ ไปเพราะหน้าที่ ต้องไปเรียนหนังสือ พอหมดหน้าที่แล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเองได้ พอได้หนังสือธรรมะมาเล่มเดียวก็ติดใจเลย ก็เขียนไปขอมาอีกหลายเล่ม พอได้อ่านก็รู้ว่าต้องปฏิบัติ พอปฏิบัติได้ผลปั๊บ ก็รู้ว่าต้องหาที่ปฏิบัติ เพราะชอบความสงบ เวลาจะบวชก็กำหนดไว้เลยว่า ต้องบวชวัดที่สงบ ไม่มีกิจกรรมต่างๆ ไม่มีงานบุญบังสังสวด

    โชคดีได้หนังสือที่ชาวต่างประเทศ ไปสำรวจวัดปฏิบัติต่างๆในประเทศไทย ว่าวัดนี้มีอาจารย์ชื่อนี้ มีพระกี่รูป ปฏิบัติอะไรเป็นหลัก สถานที่เป็นอย่างไร สงบไหม อาหารการกินเป็นอย่างไร ที่อยู่เป็นอย่างไร ก็พอจะรู้คร่าวๆว่ามีวัดที่ไหนบ้าง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะไปวัดไหน พอไปบวชที่วัดบวรฯ ก็ได้พบกับพระชาวต่างประเทศที่ได้ไปวัดป่าบ้านตาดมา ท่านก็บอกว่าวัดนี้สงบดี ก็เลยเขียนจดหมายขออนุญาตไป มันก็ไปของมันเอง ก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยได้ยินวัดป่าบ้านตาดมาก่อน ตอนที่ปฏิบัติตามลำพังก็ไม่รู้จักวัดต่างๆ ไม่รู้จักครูบาอาจารย์ต่างๆ พอถึงเวลาที่จะบวชก็รู้ว่าจะต้องหาวัดที่สงบ วัดที่ไม่มีกิจกรรมภายนอก เช่นการก่อสร้างหรืองานบุญต่างๆ ก็ต้องถามคนนั้นถามคนนี้ จนรู้ว่ามีวัดป่าสายหลวงปู่มั่น ที่เป็นวัดปฏิบัติจริงๆ มีหลายวัดหลายอาจารย์ ที่ตัดสินใจเลือกวัดป่าบ้านตาด เพราะมีพระชาวต่างประเทศแนะนำ ถ้าอยากจะไปก็ให้เขียนจดหมายไปขออนุญาต ก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปอยู่ จะไปดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่อยู่ ถ้าถูกใจก็อยู่ ถ้าให้อยู่ ถ้าถูกใจแต่ไม่ให้อยู่ก็อยู่ไม่ได้ ไม่ได้ยึดติดอะไรมากจนเกินไป เพียงแต่ต้องการสถานที่สงบ ให้ได้มีเวลาปฏิบัติอย่างเต็มที่เท่านั้น เป็นเป้าหมายที่ไป ไม่ได้คิดพึ่งพาครูบาอาจารย์เป็นหลัก เพราะมีหนังสือธรรมะพอเป็นแนวทางได้

    แต่ก็สู้ครูบาอาจารย์ไม่ได้ เพราะท่านเป็นเหมือนหมอ แต่หนังสือเป็นเหมือนตำรารักษาโรค ไม่เหมือนกัน ถ้าบอกหมอบอกว่าเป็นอะไร หมอจะบอกวิธีรักษา บอกยาให้รับประทานเลย ถ้าเป็นตำราก็ต้องไปค้นหาดู กว่าจะพบว่าโรคนี้ ควรจะใช้ยาชนิดไหนจะรักษาแบบไหน ก็จะนาน หรือรักษาผิดๆถูกๆก็ได้ ถ้ามีหมอจะง่ายกว่า ครูบาอาจารย์ก็เป็นเหมือนหมอ ส่วนหนังสือธรรมะเป็นเหมือนตำราที่หมอเขียนไว้ แต่เขียนไว้หลายโรคด้วยกัน เวลาเรากว่าจะไปเปิดหาเจอ ว่าโรคนี้รักษาด้วยวิธีไหน ก็ต้องเสียเวลาไปพอสมควร แต่โดยเจตนารมณ์เดิมที่ไปนั้นไม่ได้ไปหาครูบาอาจารย์ นี่ไม่ได้ประมาทนะ เพียงแต่เล่าให้ฟังตามความเป็นจริง เพียงแต่อยากจะหาสถานที่ปฏิบัติ โชคดีที่ได้ทั้งสถานที่ได้ทั้งครูบาอาจารย์ด้วย ยิ่งทำให้การปฏิบัติไปได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างง่ายดาย เหมือนได้พบทางเดิน เพียงเดินตาม ผลเป็นไปโดยไม่คาดฝัน อยู่ที่บารมี ถ้าสะสมมามาก จะผลักเราไปเอง

    ถาม : ท่านอาจารย์นั่งทุกครั้งสงบทุกครั้งไหม

    ตอบ : ไม่ทุกครั้ง แต่ไม่ยากเหมือนปีนขึ้นเขา ถ้าไม่สงบก็หาอุบายอื่นแทน เช่นท่องมหาสติปัฏฐานสูตรไปก่อน ถึงแม้จะไม่สงบ แต่ไม่ฟุ้งซ่าน นั่งเฉยๆได้ จะเห็นว่าความฟุ้งซ่านเกิดจากความอยาก อยากอะไรก็ต้องฝืน ตอนที่อยากถึงแม้จะแสนทรมานใจ ก็อย่าไปทำตามความอยาก พอความอยากหยุดปั๊บจะสงบเอง ถ้ารู้ว่าความทุกข์ความวุ่นวายใจเกิดจากความอยาก อยากได้สิ่งนั้นอยากได้สิ่งนี้ อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็อย่าไปทำตามความอยาก เช่นอยากดื่มกาแฟก็ไม่ดื่ม อยากดื่มเป๊บซี่ก็ไม่ดื่ม ยอมอดจนกว่าจะหายอยาก พอหายอยากก็จะสงบหายฟุ้งซ่านทันที อยากจะลุกก็ไม่ต้องลุก นั่งไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะนั่งขัดสมาธิไม่ได้ก็นั่งบนเก้าอี้ก็ได้ จะขยับเปลี่ยนท่าก็ได้ แต่ไม่ต้องลุก นั่งไปจนกว่าไม่อยากจะลุกแล้วค่อยลุก แต่มันจะทรมานใจ ใจกวัดแกว่งจะเป็นจะตายให้ได้ แต่พอรู้ว่าลุกไม่ได้ ทำตามความอยากไม่ได้ ก็จะหายอยากไปเอง จิตจะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลย จากที่กำลังฟุ้งซ่านจะสงบตัวลง เหมือนกับเล่นยูโด พอเราทุ่มคู่ต่อสู้ลงได้ปั๊บ เขาก็หยุดสู้เลย

    จิตก็เป็นอย่างนี้ เวลาอยากได้อะไรจะแผลงฤทธิ์เต็มที่เลย มีลวดลายมากน้อยก็จะแผลงออกมาหมดเลย สร้างความทุกข์ทรมานใจอย่างสุดๆเลย ถ้าไม่ยอมเสียอย่าง ปล่อยให้แผลงฤทธิ์ไป เดี๋ยวหยุดเอง พอหมดแรงแล้วหยุดเอง อยู่ที่ว่าจะมีขันติทนความทุกข์ทรมานใจได้หรือไม่ เป็นการดับความอยากโดยไม่ได้ใช้อุบายของปัญญา สู้ด้วยขันติ ถ้าใช้ปัญญาจะง่ายกว่า จะทรมานน้อยกว่า คือสอนจิตด้วยเหตุด้วยผล ชี้ผิดชี้ถูก ชี้โทษของสิ่งที่อยาก ชี้โทษของความอยาก ว่าไม่มีที่สิ้นสุด อย่างนี้จะไม่ทุกข์ทรมานใจมาก พอยอมรับเหตุผล ก็จะสงบตัวลง ถ้าไม่มีปัญญาก็ต้องอาศัยขันติ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ขันตี ปรมัง ตโป ตี ติกขา ขันติเป็นตบะเครื่องแผดเผากิเลสอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีขันติจะสู้กิเลสไม่ได้ การปฏิบัติจึงมีอุบายหลายอย่าง บางทีก็ใช้สติ บางทีก็ใช้สมาธิ บางทีก็ใช้ปัญญา อยู่ที่ว่าอะไรจะเหมาะสมในตอนนั้น หรือคิดอะไรได้ก่อนก็คว้ามาใช้ก่อน สติก็สู้ได้ สมาธิก็สู้ได้ ปัญญาก็สู้ได้ แต่ถ้าได้ทั้ง ๓ พร้อมกันยิ่งมีกำลังมาก ถ้าได้ทั้งสติทั้งสมาธิทั้งปัญญา กิเลสจะตายอย่างราบคาบเลย ถ้าไม่ได้ทั้ง ๓ ก็จะแพ้บ้าง ชนะบ้าง ถ้าใช้สติกับขันติข่มจนความอยากหายไป ก็ชนะไปรอบหนึ่ง ถ้าใช้สมาธิก็ชนะไปอีกรอบหนึ่ง ถ้าใช้ปัญญาด้วยก็จะหายขาดไปเลย จะเข็ดไปเลย จะไม่อยากดื่มกาแฟดื่มเป๊บซี่อีกเลย เพราะรู้ว่าเวลาไม่มีดื่มจะทรมานใจ

    หลังจากนั้นถ้ามีคนเอามาให้ดื่มก็ดื่มได้ ถ้าไม่ได้ดื่มจากความอยากจะไม่ติด เช่นบุหรี่ที่ครูบาอาจารย์ท่านสูบกัน ท่านไม่ได้หามาด้วยความอยาก มีคนเอามาถวาย ท่านก็สูบไป ถ้าไม่มีใครถวาย ท่านก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ได้อยาก ที่สูบเพราะมันมาเอง อย่างนี้ไม่เป็นปัญหา พอเลิกเป๊บซี่เลิกกาแฟได้แล้ว ใครเอามาให้ดื่มก็ดื่มได้ ไม่เป็นปัญหาแล้ว ถ้าไม่มีก็จะไม่กระวนกระวายกระสับกระส่าย คิดถึงกาแฟคิดถึงเป๊บซี่แต่อย่างใด ขอให้เลิกให้ได้ก่อน ความอยากเป็นอริยสัจ ถ้าเห็นความอยากเป็นต้นเหตุของปัญหาแล้ว จะเข้าใกล้ความจริง เข้าใกล้กับการดับทุกข์ได้ เพราะเป็นตัวที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา อยู่ที่ว่าจะใช้อะไรมาสู้กับมัน ถ้าใช้สติกับขันติก็ได้เป็นยกๆไป ได้เป็นครั้งเป็นคราวไป สมาธิก็เช่นเดียวกัน ถ้าใช้ปัญญาก็จะได้อย่างถาวร ต้องเห็นโทษ เห็นว่าเป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข เหมือนเห็นโทษของยาเสพติด พวกเราไม่เสพยาเสพติดกัน เพราะรู้ว่าเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ แต่คนที่เสพเขาจะเห็นว่าเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ เหมือนกับเห็นว่าเป๊บซี่เป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ เห็นว่ากาแฟเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ ก็จะดื่มกาแฟดื่มเป๊บซี่กัน ถ้าเห็นว่าเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ก็จะเลิกดื่มทันที เอาไปปฏิบัตินะ เป็นของใกล้ตัว อย่าไปมองว่าธรรมะอยู่ไกลตัว แต่อยู่ใกล้ตัว อยู่ในชีวิตประจำวันนี้แหละ ฆ่าตัวเล็กๆน้อยๆนี้ก่อน อย่าพึ่งไปฆ่าตัวใหญ่เลย

    เวลาทำอะไรถ้าถูกบังคับให้ทำ จะสู้ทำด้วยความสมัครใจไม่ได้ เพราะจะทำด้วยความพอใจ ความขยัน ความตั้งใจ ถ้าถูกบังคับจะต่อต้าน จะรู้สึกอึดอัด จะไม่ค่อยได้ผล พระพุทธศาสนาไม่บังคับให้คนเข้าหาศาสนา ไม่เรียกให้คนนั้นคนนี้มาฟังเทศน์ฟังธรรม พระภิกษุมีหน้าที่ธุดงค์จาริกไปตามที่ต่างๆ ถ้ามีคนสนใจถามก็ตอบเขาไป ถ้าอยากรู้ว่ามาทำอะไร ก็ตอบไปว่ามาหาที่สงบภาวนา หาความสงบภายในจิตใจ ถ้าถามว่าภาวนาเป็นอย่างไร ก็อธิบายไป ว่าดีกว่าความสุขอย่างอื่น ถ้าไม่สนใจก็ไม่เรียกไม่ชวน นี่คือหลักของการเผยแผ่ของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาไม่ได้ต้องการสาวก แต่ต้องการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นเหมือนหมอ ที่ไม่เรียกให้คนไข้มารักษา มีแต่คนไข้จะมาหาหมอเอง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย คนที่มีความทุกข์ใจก็จะเข้าหาพระหาศาสนา ถ้ายังไม่มีความทุกข์ ไปบอกให้เข้าหาศาสนา ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เหมือนกับคนที่ร่างกายยังปกติอยู่ ไปหาหมอมาทำไม ถ้าเป็นโรคต้องรักษา ก็วิ่งหาหมอเอง ถ้าไม่เป็นอะไรจะรักษาอะไร จะให้คนที่มีความสุข เข้าหาพระหาศาสนาเพื่ออะไร ในเมื่อไม่มีความทุกข์ ถ้ามีความทุกข์ค่อยเข้าหาศาสนา ควรเข้าหาศาสนา เพราะศาสนาจะช่วยรักษาความทุกข์ได้ จึงไม่ต้องลากคนที่ยังไม่สนใจเข้าหาศาสนา จะเหนื่อยเปล่าๆ เหมือนลากวัวลากควาย ให้มาเอง ไม่ต้องลาก จะสบายกว่า เราจึงไม่ค่อยอยากไปเทศน์ที่อื่น เพราะเหมือนไปลากวัวลากควาย คนที่นิมนต์เรานี้แหละเป็นคนลาก ลากพระไปเทศน์ ลากคนมาฟัง จะไม่ได้เรื่องทั้งคู่ คนฟังก็ไม่ได้อยากฟัง ฟังเพราะถูกบังคับ เพราะเจ้านายสั่งให้มาฟัง องค์กรอยากให้พัฒนาทางด้านจิตใจ ก็เลยนิมนต์พระมาเทศน์ แล้วก็สั่งให้ลูกน้องมาฟัง ก็ฟังแบบจำใจฟัง ฟังไปคุยกันไป เสียเวลาเปล่าๆ ฟังไม่รู้เรื่อง เสียเวลา จึงไม่รับนิมนต์ไปเทศน์ตามสถานที่ต่างๆ เพราะไม่อยากฟังจริงๆ ถ้าอยากจริงๆจะไปหาฟังเอง ถ้าไม่รู้ก็ถามได้ว่าที่ไหนมีธรรมะ จะไปหาเอง ถ้าไปอย่างนี้จะไปด้วยความตั้งใจ เวลาสอนก็ง่าย ถ้าถูกลากจูงมา จะเถียงในใจ จะต่อต้าน

    ศาสนาถึงแม้จะดีจะวิเศษอย่างไร ก็เหมาะกับผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของศาสนาเท่านั้น ถ้าไม่เห็นคุณก็อย่าไปเสียเวลายัดเยียดให้เขาเลย เหมือนกับเทน้ำใส่หลังสุนัข เทปั๊บก็สลัดทิ้งหมด ไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นพ่อเป็นแม่ก็ห่วงลูกเป็นธรรมดา อยากจะให้ลูกได้มีอะไรดีๆไว้ สำหรับดูแลรักษาจิตใจ ในยามที่มีความทุกข์จะได้มียารักษาใจ ก็อยากจะดึงเข้าหาศาสนา เป็นความเมตตาของพ่อของแม่ อยู่ที่ลูกว่าจะมาได้หรือไม่ ถ้าไม่มาพ่อแม่ก็อย่าไปโกรธ อย่าไปเสียใจ คิดว่าเขายังไม่พร้อมก็แล้วกัน อย่างน้อยก็ได้บอกเขาแล้ว ว่ามียารักษาใจนะ ถ้าสนใจก็มารับไป เพราะยานี้ไม่ใช่ถึงเวลาจะใช้ได้ทันที ถ้าไม่ศึกษาไม่ซ้อมการใช้ยานี้ก่อน พอถึงเวลาจะใช้จะไม่ทันกาล ถ้าได้ศึกษาได้ซ้อมอยู่เรื่อยๆ ก็จะใช้รักษาใจได้ทันที เหมือนกับเจ้าหน้าที่ดับไฟ ที่ต้องซ้อมการดับไฟอยู่เสมอๆ พอไฟไหม้ขึ้นมาก็จะดับไฟได้ทันที ถ้าไม่ซ้อมเลยพอถึงเวลาดับไฟก็จะหาน้ำกัน น้ำอยู่ตรงไหน สายยางอยู่ตรงไหน รถสตาร์ทไม่ติด พอไปถึงที่ไฟก็ไหม้หมดแล้ว ไม่ทันกาลแล้ว ถ้ารอให้ทุกข์ก่อนแล้วค่อยหายามารักษา จะไม่ทันการ จะฆ่าตัวตายไปก่อนก็ได้ ถ้ามีใครชวนก็น่าจะไปลองดู ถ้าจะช่วยรักษาความทุกข์ใจได้ ถ้ายังไม่เคยสัมผัสกับศาสนามาก่อน ก็ไปลองดู ไปพิสูจน์ว่ามีประโยชน์ไหม ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องไปอีกก็ได้ ถ้าไปแล้วทำให้มีความสบายใจมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง ก็จะได้รับประโยชน์ จะได้ตักตวงประโยชน์นี้ให้มีมากขึ้นไปเรื่อยๆ

    เมื่อก่อนนี้เราก็ไม่เคยสนใจศาสนา เป็นคนหัวทันสมัย คิดว่าศาสนาเป็นเรื่องของคนล้าสมัย กลัวจะหลงงมงาย เพราะเห็นคนเข้าหาศาสนาเป็นคนงมงาย เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ซึ่งศาสนาบางศาสนาก็เป็นอย่างนั้น แต่ศาสนาพุทธไม่ได้เป็นอย่างนั้น สิ่งที่ศาสนาพุทธสอนนี้ เป็นสิ่งที่เราสามารถพิสูจน์ได้ ศาสนาพุทธสอนว่า ความทุกข์เกิดจากความอยากต่างๆ ถ้าอยากจะดับความทุกข์ก็ให้ดับความอยาก พอนำไปปฏิบัติดู พอดับความอยากได้ ความทุกข์ก็หายไป จะรู้เลยว่านี้เป็นคำสอนที่แท้จริง ที่ถูกต้อง ที่ช่วยเราได้จริงๆ ช่วยดับความทุกข์ภายในใจของเราได้ เพราะเวลาศึกษาศาสนานี้ ต้องดูที่ใจเราเป็นหลัก ว่าคำสอนมีผลอย่างไรต่อจิตใจ ถ้าทำให้ใจทุกข์น้อยลงได้ ก็ใช้ได้ แต่จะให้หายหมดเลยหรือไม่นี้ ก็อยู่ที่ความสามารถของแต่ละศาสนา ศาสนาส่วนใหญ่จะช่วยทำให้ความทุกข์ใจเบาบางลง แต่จะให้หมดไปเลย มีเพียงแต่ศาสนาพุทธนี้เท่านั้น ที่จะทำให้ความทุกข์หมดไปได้ เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เวลาจะหยิบยื่นให้กับใคร เราต้องดูว่าเขาพร้อมหรือไม่ ยินดีหรือไม่ เช่นหนังสือที่เอาไปแจก ก็ต้องดูว่าเขาสนใจหรือไม่ ถ้าไม่สนใจ ก็จะเสียหนังสือไป คนที่สนใจจะไม่ได้รับ คนที่ไม่สนใจกลับได้รับแล้วก็เอาไปวางไว้เฉยๆ

    ถาม : ความศรัทธานี้ต้องสร้างใช่ไหม แล้วสร้างอย่างไร

    ตอบ : สร้างจากการประพฤติของเรา ทำเป็นตัวอย่าง ประพฤติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มีศีล มีธรรม มีสัจจะ มีความสงบ มีสติ มีความเมตตากรุณา พอคนอื่นเห็นการกระทำ ที่น่าเลื่อมใสน่าศรัทธา ก็อยากจะปฏิบัติตาม อย่างพวกเราไปกราบครูบาอาจารย์ที่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม มีปัญญาความรู้ความสามารถ ที่ปลดเปลื้องความทุกข์ในใจของเราได้ ก็จะทำให้เราเกิดศรัทธาขึ้นมา ถ้าไปพบกับครูบาอาจารย์ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม มีแต่กิเลสโลภโมโทสัน ไม่ได้ทำให้ความทุกข์ในใจน้อยลงไป ความสงสัยเบาบางลงไป กลับสร้างความสงสัยมากขึ้น ก็จะไม่ศรัทธา ผู้เผยแผ่ศาสนาื จึงต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ที่เป็นตัวอย่างได้ เช่นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระรัตนตรัยนี้ เป็นผู้สร้างศรัทธาให้แก่ผู้ไม่มีศรัทธาได้ จึงต้องมุ่งไปหาท่าน คำว่าพระสงฆ์ไม่ได้หมายถึงพระที่บวช บวชวันแรกก็เป็นพระสงฆ์แล้ว ไม่ใช่ หมายถึงพระภิกษุ ผู้บวชในพระพุทธศาสนา โกนศีรษะนุ่งเหลืองนี้ เราเรียกว่าพระภิกษุหรือพระภิกขุ แต่ไม่ได้เป็นพระสงฆ์ในพระรัตนตรัย พระสงฆ์ในพระรัตนตรัยหมายถึงพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ถึงจะเป็นแบบฉบับที่ดีได้ เพราะพระโสดาบันอย่างน้อยก็มีศีล ๕ อย่างถาวร จะไม่ทำผิดศีล ๕ โดยเด็ดขาด แต่พระที่พึ่งมาบวชนี้ อย่างที่หลวงตาท่านเทศน์ว่า เวลาบวชมันบวชแต่ร่างกายนะ แต่กิเลสมันไม่ได้บวชด้วย ไม่ใช่พอนุ่งเหลืองห่มเหลืองแล้วกิเลสจะตายไปจากใจ กิเลสก็ยังมีอยู่ ยังทำผิดศีลผิดธรรมได้อยู่ เพียงแต่ว่ามีเจตนารมณ์ที่จะมาชำระ มากำจัดพวกกิเลสตัณหาต่างๆเท่านั้นเอง ต้องรอดูความประพฤติของท่านไปก่อน ว่าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือไม่ ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว สามารถสั่งสอนธรรมะให้เราเข้าอกเข้าใจ ให้ปลดเปลื้องความทุกข์ภายในใจของเราได้ เราก็จะเกิดศรัทธาในตัวของท่านเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุพรรษาด้วยซ้ำไป เพราะในสมัยพระพุทธกาล แม้แต่สามเณรก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติและคำสอนของท่าน ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ หรือเป็นแบบแม่ปูสอนลูกปู สอนให้ลูกอย่าสูบบุหรี่อย่าดื่มเหล้า แต่ตัวแม่เองกลับสูบบุหรี่กลับดื่มเหล้าเอง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สิ่งใดที่พระพุทธองค์ทรงสอน สิ่งนั้นได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว ไม่ทรงสอนในสิ่งที่ทรงปฏิบัติไม่ได้ จะเป็นครูก็ต้องเป็นอย่างนั้น จะสอนให้คนอื่นภาวนาเราก็ต้องภาวนาให้ได้ก่อน สอนให้รักษาศีลก็ต้องรักษาศีลให้ได้ก่อน ถึงจะเป็นครูที่แท้จริง ถึงจะสร้างศรัทธาได้ ถ้าครูสอนอย่างแล้วทำอีกอย่าง จะไม่มีใครมีศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม ก็เช่นเดียวกัน พ่อแม่สอนลูกให้เป็นคนดี แต่พ่อแม่กินเหล้าเมายาอยู่ตลอดเวลา ลูกจะไม่ศรัทธา

    ถาม : ที่ท่านอาจารย์บอกว่าปฏิบัติง่าย มันง่ายมาตั้งแต่ทีแรกเลยหรือ

    ตอบ : ไปได้เรื่อยๆ จะง่ายแบบปอกกล้วยเข้าปากเลยก็ไม่ใช่ ต้องบังคับต้องต่อสู้กัน แต่ไม่ถึงกับท้อแท้ เป็นเหมือนกับการทำงานที่ยาก แต่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทำให้มีกำลังใจที่อยากจะทำมากขึ้นไปตามลำดับ แต่ไม่ง่าย ต้องทุกข์ทรมานใจ เวลาขังตัวเองอยู่ในบ้าน ไม่ออกไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย จิตจะพยศมาก แทบจะขาดใจ เพียงแต่รู้ว่าออกไปแล้วไม่ดีกว่าเดิม อยู่ทนสู้กับมันจะดีกว่า พอชนะมันแล้วจะสบาย มันเชื่ออย่างนี้ ก็เลยยอมทุกข์ทรมาน เพราะอินทรีย์ไม่แก่กล้าพอ มีปัญญาที่เกิดจากการอ่านหนังสือธรรมะ แต่ไม่มีสมาธิที่มั่นคง จึงต้องทุกข์ทรมานใจ ถ้ามีสมาธิที่มั่นคงแล้ว พอฟังเทศน์ฟังธรรมก็บรรลุได้เลย ถ้ายังตัดความทุกข์ไม่ได้หมด ก็ยังต้องทุกข์ทรมานไปก่อน จนกว่าเหตุที่สร้างความทุกข์ คือความอยากสงบตัวลง ความทุกข์ก็จะหมดไป ต้องล้มลุกคลุกคลานไป แต่ก็ไปได้เรื่อยๆ

    กัณฑ์ที่ ๔๐๔ นิสัย สันดาน
     

แชร์หน้านี้

Loading...