อภินิหารหลวงปู่ดูลย์ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 6 ธันวาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,895
    [​IMG]


    เข้าเป็นศิษยฺ์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต



    เมื่อหลวงปู่ดูลย์ญัตติเข้าเป็นสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตแล้ว ท่านก็มีสิทธิ์เป็นพระอยู่ในวัดสุทัศนารามได้อย่างสมบูรณ์ มิใช่อยู่เยี่ยงพระอาคันตุกะเหมือนเมื่อก่อน กิจกรรมการเรียนด้านปริยัติของท่านยังคงดำเนินต่อไป เพียงแต่เมื่อเข้ามาอยู่ใต้ชายคาแห่งสายวิปัสสนาธุระแล้ว ข้อวัตรปฏิบัติก็มีความเคร่งครัดรัดกุมมากขึ้น ทำให้ท่านมีใจใฝ่ศึกษาโดยเน้นการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง



    ในช่วงระหว่างทศวรรษ ๒๔๖๐ นั้น ไม่เพียงแต่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ติสสเถระ เท่านั้น ที่ทรงบทบาทเป็นอย่างสูงด้านพระพุทธศาสนาในภาคอิสาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดอุบลราชธานี



    อีกท่านหนึ่งที่ได้รับความเคารพรัก และศรัทธาเป็นอย่างสูง ก็คือ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่สายพระกรรมฐาน



    เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงปู่มั่น เดินทางจาก วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ มาพำนักที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี



    นับเป็นข่าวใหญ่ แพร่กระจายไปในหมู่สงฆ์ และประชาชนทั่วไป ทำให้บรรดาพระภิกษุสามเณร และชาวบ้านร้านตลาดทั้งปวง พากันแตกตื่นหลั่งไหลไปฟังธรรมเทศนาของ หลวงปู่มั่น กันเป็นโกลาหล



    หลวงปู่สิงห์ ได้ชักชวน หลวงปู่ดูลย์ ไปกราบเพื่อฟังเทศน์ และศึกษาธรรมะจาก พระอาจารย์ใหญ่ ที่วัดบูรพา เช่นเดียวกับคนอื่นๆ



    พระอาจารย์ใหญ่ กล่าวเมื่อพบหน้า หลวงปู่สิงห์ ว่า



    "เราได้รอเธอมานานแล้ว อยากจะพบและชักชวนไปปฏิบัติธรรมด้วยกัน"



    พระอาจารย์ใหญ่มั่น ได้กล่าวในตอนนั้นอีกว่า



    "การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ จักต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือ พิจารณาตจะปัญจกะกัมมัฏฐานเป็นเบื้องแรก เพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง"



    จากนั้น หลวงปู่สิงห์ กับ หลวงปู่ดูลย์ ก็ถวายตัวเป็นศิษย์ของ หลวงปู่มั่น ตลอดมา



    หลวงปู่ทั้งสององค์พากันไปฟังเทศน์จากพระอาจารย์ใหญ่เป็นประจำ ไม่เคยขาดแม้สักครั้งเดียว



    นอกจากจะได้ฟังธรรมะแปลกๆ ที่สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ มีความลึกซึ้ง รัดกุม และกว้างขวาง เป็นที่น่าอัศจรรย์แล้ว ยังมีโอกาสเฝ้าสังเกตปฏิปทาของท่านพระอาจารย์ใหญ่ ที่งดงามเพียบพร้อม น่าเลื่อมใสทุกอิริยาบถอีกด้วย ทำให้เกิดความซาบซึ้งถึงใจ แต่ละคำพูดมีนัยแปลกดี ไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อน จึงทำให้หลวงปู่ทั้งสององค์เพิ่มความสนใจ ใคร่ประพฤติปฏิบัติทางธุดงค์กัมมัฏฐานให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป



    การศึกษาเล่าเรียนด้านพระปริยัติธรรม ของหลวงปู่ดูลย์มีความก้าวหน้าตามลำดับ ท่านได้พิจารณาตามข้อธรรมเหล่านั้น จนแตกฉานช่ำชองพอสมควร และได้พิจารณาเห็นว่า การเรียนพระปริยัติธรรมอย่างเดียวนั้น เป็นแต่เพียงการจำหัวข้อธรรมะได้เท่านั้น ส่วนการปฏิบัติให้เกิดผล และรู้รสพระธรรมอย่างซาบซึ้งนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก



    หลวงปู่จึงได้บังเกิดความโน้มเอียงไปในทางปฏิบัติ คือ ธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างแน่วแน่ จึงได้ตัดสินใจที่จะออกธุดงค์กัมมัฎฐาน ในฤดูหลังออกพรรษานั้นอย่างแน่นอน เป็นเหตุให้การเรียนทางปริยัติธรรมในห้องเรียนของท่านเป็นอันสิ้นสุดลง



    ต่อไป คือการเข้าสู่ห้องเรียนที่เป็นธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาล ประกอบทั้งดินฟ้ามหาสมุทร รวมทั้งการเสาะแสวงหาตัวเองในโลกภูมินี้ก็กว้างไกลสุดแสน เหลือที่จะประมาณได้



    ปกตินิสัยประจำตัวของหลวงปู่



    ทางกาย มีร่างกายแข็งแรงกระฉับกระเฉงว่องไว สมxxxส่วนสะอาด ปราศจากกลิ่นตัว อาพาธน้อย ท่านจะสรงน้ำอุ่นเพียงวันละครั้งเท่านั้น



    ทางวาจา เสียงใหญ่แต่พูดเบา พูดน้อย พูดสั้น พูดจริง พูดตรง ปราศจากมารยาทางคำพูด คือไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดโอ่ ไม่พูดปลอบโยน ไม่พูดประชด ไม่พูดนินทา ไม่พูดขอร้อง ขออภัย ไม่พูดขอโทษ ไม่พูดถึงความฝัน ไม่พูดเล่านิทานชาดก หรือนิทานปรัมปรา เป็นต้น



    ทางใจ มีสัจจะ ตั้งใจทำสิ่งใดแล้วทำจนสำเร็จ มีเมตตากรุณาเป็นประจำ สงบเสงี่ยม เยือกเย็น อดทน ไม่เคยมีอาการกระวนกระวายวู่วาม ไม่แสดงอาการหงุดหงิดหรือรำคราญ ไม่แสวงหาของหรือสั่งสม หรืออาลัยอาวรณ์กับของที่สูญหาย ไม่ประมาท รุ่งเรืองด้วยสติสัมปชัญญะและเบิกบานอยู่เสมอ เป็นอยู่โดยปราศจากทุกข์ ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ ไม่ถูกภาวะอื่นครอบงำ



    ท่านสอนอยู่เสมอว่า “ให้ทำความเข้าใจกับสภาวธรรมอย่างชัดแจ้ง ว่าเกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงสลายไป อย่าทุกข์โศกเพราะสภาวะนั้นเป็นเหตุ”



    ธรรมะปฏิสันถาร



    เมื่อวันที่๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชนินาถ เสด็จเยี่ยมหลวงปู่เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงถามถึงสุขภาพอนามัยและการอยู่สำราญแห่งอิริยาบถของหลวงปู่ ตลอดถึงทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีราชปุจฉาว่า “หลวงปู่ การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน”



    หลวงปู่บอกว่า “กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน”



    ปรารภธรรมะเรื่องอริยสัจสี่



    พระเถระฝ่ายกัมมัฏฐาน เข้าถวายสักการะหลวงปู่ ในวันเข้าพรรษา ๒๔๙๙ หลังฟังโอวาทและข้อธรรมะอันลึกซึ้งข้ออื่นๆ แล้วหลวงปู่สรุปใจความ อริยสัจสี่ให้ฟังว่า



    “จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย

    ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์

    จิตเห็นจิต เป็นมรรค

    ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ”



    จริงแต่ไม่จริง



    ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เมื่อปรากฏผลออกมาในแบบต่างๆ ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา เช่นเห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง ปรากฎในอวัยวะของร่างกายตนเองบ้าง ส่วนมากมากราบเรียนหลวงปู่เพื่อให้ช่วยแก้ไข หรือแนะอุบายปฏิบัตติต่อไปอีก มีจำนวนมากที่ถามว่าภาวนาแล้วก็เห็น นรก สวรรค์ วิมานเทวดา หรือไม่ก็เป็นองค์พุทธรูปปรากฏอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ



    หลวงปู่บอกว่า “ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง”



    แนะวีธีละนิมิต



    ถามหลวงปู่ต่อมาอีกว่า นิมิตทั้งหลายแหล่ หลวงปู่บอกว่ายังเป็นของภายนอกทั้งหมด จะเอามาทำอะไรยังไม่ได้ ถ้าติดอยู่ในนิมิตนั้นก็ยังอยู่แค่นั้น ไม่ก้าวต่อไปอีก จะเป็นด้วยเหตุที่กระผมอยู่ในนิมิตนี้มานานหรืออย่างไร จึงหลีกไม่พ้น นั่งภาวนาทีไร พอจิตจะรวมสงบก็เข้าถึงภาวะนั้นทันที หลวงปู่โปรดแนะวิธีละนิมิตด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ผล



    หลวงปู่พูดว่า “เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วีธีละได้ง่ายๆ ก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่เห็นก็จะหายไปเอง”



    เป็นของภายนอก



    เมื่อวันที่ สิบ ธันวาคม ๒๕๒๔ หลวงปู่อยู่ในงานประจำปี วัดธรรมมงคล สุขุมวิท กรุงเทพฯ มีแม่ชีพราหมณ์ หลายคน จากวิทยาลัยครูพากันเข้าไปถามทำนองรายงานผล ของการปฏิบัติวิปัสสนาให้หลวงปู่ฟังว่า เขานั่งวิปัสสนาจนจิตสงบแล้ว เห็นองค์พระพุทธรูปอยู่ในหัวใจของเขา บางคนว่าได้เห็นสวรรค์ วิมานของตนเองบ้าง บางคนว่าเห็นพระจุฬามณีเจดีย์สถานบ้าง พร้อมทั้งภูมิใจว่า เขาวาสนาดี ทำวิปัสสนาได้สำเร็จ



    หลวงปู่อธิบายว่า “สิ่งที่ปรากฏเห็นทั้งหมดนั้น ยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้น จะนำเอามาเป็นสาระที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก”



    หยุดเพื่อรู้



    เมื่อเดือนมีนาคม สองห้าศูนย์เจ็ด มีพระสงฆ์หลายรูป ทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติ ได้เข้ากราบหลวงปู่เพื่อรับโอวาสและรับฟังการแนะแนวทางธรรมะที่จะพากันออกเผยแผ่ธรรมทูตครั้งแรก หลวงปู่แนะวิธีอธิบายธรรมะขั้นปรมัตถ์ ทั้งเพื่อสอนผู้อื่นและเพื่อปฏิบัติตนเอง ให้เข้าถึงสัจธรรมนั้นด้วย ลงท้ายหลวงปู่ได้กล่าวปรัชญาธรรมไว้ให้คิดด้วยว่า “คิดเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้”



    ทุกข์เพราะอะไร



    สุภาพสตรีวัยเลยกลางคนผู้หนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่ดูลย์ และพรรณนาถึงฐานะของตนว่าอยู่ในฐานะที่ดี ไม่เคยขาดแคลนสิ่งใดเลย มาเสียใจกับลูกชายที่สอนไม่ได้ ไม่อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดี ตกอยู่ในภายใต้อบายมุขทุกอย่าง ทำลายทรัพย์สมบัติและจิตใจพ่อแม่จนเหลือที่จะทนได้ ขอความกรุณาหลวงปู่ให้ช่วยแนะอุบายบรรเทาทุกข์ และแก้ไขให้ลูกชายพ้นจากอุบายมุขนั้นด้วย



    หลวงปู่แนะนำสอนไปตามเรื่องราวนั้นๆ ตลอดถึงแนะอุบายทำให้ใจสงบ รู้จักปล่อยวางให้เป็น



    เมื่อสุภาพสตรีนั้นกลับไปแล้ว หลวงปู่ปรารภธรรมะให้ฟังว่า “คนสมัยนี้ เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด”



    อุทานธรรม



    หลวงปู่กล่าวธรรมกถาต่อมาอีกว่า สมบัติพัสถานทั้งหลายมันมีประจำอยู่ในโลกนี้มาแล้วอย่างสมบูรณ์ ผู้ที่ขาดปัญญาและไร้ความสามารถ ก็ไม่อาจแสวงหาเพื่อยึดครองสมบัติเหล่านั้นได้ ย่อมครองตนอยู่ด้วยความฝืดเคืองและลำบากขันธ์ ส่วนผู้ที่มีปัญญามีความสามารถ ย่อมแสวงหาทรัพย์สมบัติของโลกไว้ได้อย่างมากมาย อำนวยความสะดวกสบายแก่ตนได้ทุกกรณี ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านพยายามดำเนินตนเพื่อออกจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ไปสูภาวะแห่งความไม่มีอะไรเลย เพราะว่า “ ในทางโลกมีสิ่งที่มี ส่วนในทางธรรมมีสิ่งที่ไม่มี”



    อุทานธรรมต่อมา



    เมื่อแยกพันธะแห่งความเกี่ยวเนื่องจิตกับสรรพสิ่งทั้งปวงได้แล้ว จิตก็หมดพันธะกับเรื่องโลก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จะดีหรือเลว มันขึ้นอยู่กับจิตที่ออกไปปรุงแต่งทั้งหมด และจิตที่ขาดปัญญาย่อมเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิด ก็หลงอยู่ภายใต้อำนาจของเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ทั้งทางกายทางใจ อันโทษทัณฑ์ทางกายอาจมีคนอื่นช่วยปลดปล่อยได้บ้าง ส่วนโทษทางใจ มีกิเลสตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้นั้น ต้องรู้จักปลดปล่อยตนด้วยตนเอง “ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านพ้นแล้วจากโทษทั้งสองทาง ความทุกข์จึงครอบงำไม่ได้”



    อุทานธรรมข้อต่อมา



    เมื่อบุคคลปลงผม หนวด เคราออกหมดแล้วและได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เรียบร้อยแล้ว ก็นับว่าเป็นสัญลักษณ์ แห่งความเป็นภิกษุได้ แต่ยังเป็นได้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น ต่อเมื่อเขาปลงสิ่งที่รกรุงรังทางใจ อันได้แก่อารมณ์ตกต่ำทางใจได้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุในภายในได้ ศรีษะที่ปลงผมหมดแล้ว สัตว์เลื้อยคลานเล็กน้อย เช่น เหา ย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด จิตที่พ้นจากอารมณ์ ขาดจากการปรุงแต่งแล้ว ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ฉันนั้น ผู้มีปกติเป็นอยู่อย่างนี้ ควรเรียกว่าเป็นภิกษุแท้



    พุทโธเป็นอย่างไร



    หลวงปู่ได้รับนิมนต์ไปโปรดญาติโยมที่กรุงเทพฯ เมื่อ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๑ ในช่วงสนทนาธรม ญาติโยมสงสัยว่า พุทโธ เป็นอย่างไร หลวงปู่ได้เมตตาตอบว่า เวลาภาวนาอย่าส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด ความรู้ที่เราเรียนกับตำรับตำรา หรือจากครูบาอาจารย์ อย่าเอามายุ่งเลย ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด แล้วก็ภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ เมื่อจิตของเราสงบเราจะรู้เอง ต้องภาวนาให้มากๆเข้า เวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง ความรู้อะไรๆ ให้มันออกจากจิตของเรา ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้จากจิตนั่นแหละมันดี คือจิตมันสงบ ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต และให้จิตภาวนาเอาเอง ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ แล้วพุทโธนั่นแหละจะผุดขึ้นในใจของเรา เราจะได้รู้จักว่า พุทโธนั้นเป็นอย่างไร แล้วรู้เอง....เท่านั้นแหละ ไม่มี อะไรมากมาย



    มีแต่ไม่เอา



    ปี๒๕๒๒ หลวงปู่ไปพักผ่อน และเยี่ยมพระอาจารย์สมชายที่วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี ขณะเดียวกันก็มีพระเถระอาวุโสรูปหนึ่งจากกรุงเทพฯ คือพระธรรมวราลังการ วัดบุปผาราม เจ้าคณะภาคทางภาคใต้ไปอยู่ฝึกกัมมัฎฐานเมื่อวัยชราแล้ว เพราะมีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่เพียงปีเดียว เมื่อทราบว่าหลวงปู่เป็นฝ่ายกัมมัฎฐานอยู่แล้ว ท่านจึงสนใจและศึกษาถามถึงผลของการปฏิบัติ ทำนองสนทนาธรรมกันเป็นเวลานาน และกล่าวถึงภาระของท่านว่า มัวแต่ศึกษาและบริหารงานการคณะสงฆ์มาตลอดวัยชรา แล้วก็สนทนาข้อกัมมัฎฐานกับหลวงปู่เป็นเวลานาน ลงท้ายถามหลวงปู่สั้นๆว่าท่านยังมีโกรธอยู่ไหม?



    หลวงปู่ตอบเร็ว “มี แต่ไม่เอา”



    รู้ให้พร้อม



    ระหว่างที่หลวงปู่อยู่รักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น มีผู้ไปกราบนมัสการและฟังธรรมเป็นจำนวนมาก คุณบำรุงศักดิ์ กองสุข เป็นผู้หนึ่งที่สนใจในการปฏิบัติสมาธิภาวนา นัยว่าเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ แห่งวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นวัดปฏิบัติที่เคร่งครัดฝ่ายธุดงค์กัมมัฎฐานในยุคปัจจุบัน ได้ปรารภการปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ ถึงเรื่องการละกิเลสว่า “หลวงปู่ครับทำอย่างไรจึงจะตัดขาดความโกรธให้ขาดได้”



    หลวงปู่ตอบว่า “ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง”



    ง่ายแต่ทำได้ยาก



    คณะของคุณดวงพร ธารีฉัตร จากสถานีวิทยุทหารอากาศ 01 บางซื่อ นำโดยคุณอาคม ทันนิเทศ เดินทางไปถวายผ้าป่า และกราบนมัสการครูบาอาจารย์ตามสำนักต่างๆ ทางภาคอีสาน ได้แวะกราบนมัสการหลวงปู่ หลังจากถวายผ้าป่า ถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่หลวงปู่ และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากท่านแล้ว ต่างคนต่างก็ออกไปตลาดบ้าง พักผ่อนตามอัธยาศัยบ้าง มีอยู่กลุ่มหนึ่งประมาณ สี่ห้าคน เข้าไปกราบขอให้หลวงปู่ แนะนำวิธีปฏิบัติง่ายๆ เพื่อแก้ไขความทุกข์ความกลุ้มใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ ว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ผลเร็วที่สุด



    หลวงปูบอกว่า “อย่าส่งจิตออกนอก”



    นักปฏิบัติลังเลใจ



    ปัจจุบันนี้ศาสนิกชนผู้สนใจในการปฏิบัติฝ่ายวิปัสสนา มีความงวยงงสงสัยอย่างยิ่งในแนวทางการปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นสนใจ เนื่องจากคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาแนะแนวปฏิบัติไม่ตรงกัน ยิ่งกว่านั้นแทนที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจ โดยความเป็นธรรมก็กลับทำเหมือนไม่อยากจะยอมรับคณาจารย์อื่น สำนักอื่น ว่าเป็นการถูกต้อง หรือถึงขั้นดูหมิ่นสำนักอื่นไปแล้วก็เคยมีไม่น้อย



    ดังนั้นเมื่อมีผู้สงสัยทำนองนี้มากและเรียนถามหลวงปู่อยู่บ่อยๆ จึงได้ยินหลวงปู่อธิบายให้ฟังอยู่เสมอว่า “การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้ เพราะผลมันอันเดียวกันอยู่แล้ว ที่ท่านสอนการปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีวัตถุ สี แสง และคำสำหรับบริกรรม เช่น พุทโธ, สัมมาอรหัง เป็นต้น เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน เมื่อจิตรวมสงบแล้ว คำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน คือมีวิมุติเป็นแก่น มีปัญญาเป็นยิ่ง”



    ตื่นอาจารย์



    นักปฏิบัติธรรมสมัยนี้มีสองประเภท ประเภทหนึ่งเมื่อได้รับข้อปฏิบัติหรือข้อแนะนำจากอาจารย์ พอเข้าใจแนวทางแล้ว ก็ตั้งใจเพียรพยายามปฏิบัติไปจนสุดความสามารถ อีกประเภทหนึ่งทั้งที่มีอาจารย์แนะนำดีแล้ว ได้ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องดีแล้ว แต่ก็ไม่ตั้งใจทำอย่างจริงจัง มีความเพียรต่ำ ขณะเดียวกันก็ชอบเที่ยวแสวงหาอาจารย์ ไปในสำนักต่างๆ ได้ยินว่าสำนักไหนดีก็ไปทุกแห่ง ซึ่งลักษณะนี้มีอยู่มากมาย



    หลวงปู่เคยแนะนำลูกศิษย์ว่า “ การไปหลายสำนักหลายอาจารย์ การปฏิบัติจะไม่ได้ผล เพราะการเดินหลายสำนักนี้ คล้ายกับการเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ไปเรื่อย เราก็ไม่ได้หลักธรรมที่แน่นอน บางที่ก็เกิดความลังเล งวยงง จิตก็ไม่มั่นคงการปฏิบัติก็เสื่อม ไม่เจริญคืบหน้าต่อไป”



    ทำจิตให้สงบได้ยาก



    การปฏิบัติภาวนาสมาธินั้น จะให้ได้ผลเร็วช้าเท่าเทียมกัน เป็นไปไม่ได้ บางคนได้ผลเร็ว บางคนก็ช้าหรือยังไม่ได้ผลลิ้มรสแห่งความสงบเลยก็มี แต่ก็ไม่ควรท้อถอย ก็ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรทางใจ ย่อมเป็นบุญเป็นกุศลขั้นสูงต่อการบริจาค ทาน รักษาศีล เคยมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากเรียนถามหลวงปู่ว่า อุตส่าห์พยายามภาวนาสมาธินานมาแล้ว แต่จิตไม่เคยสงบเลย แส่ออกไปข้างนอกอยู่เรื่อย มีวิธีอื่นใดบ้างที่พอจะปฏิบัติได้



    หลวงปู่เคยแนะนำวิธีอีกอย่างหนึ่งว่า “ถึงจิตไม่สงบ ก็ไม่ควรให้มันออกไปไกล ใช้สติระลึกไปแต่ในกายนี้ ดูให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญา หาสาระแก่นสารไม่ได้ เมื่อจิตมองเห็นชัดแล้ว จิตก็เกิดความสลดสังเวช เกิดนิพพิทา ความหน่ายคลายกำหนัด ย่อมตัดอุปาทานขันธ์ ได้เช่นเดียวกัน”



    เว็บไซต์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
    http://www.geocities.com/pudule/
     

แชร์หน้านี้

Loading...