ตอบปัญหาเรื่องจิตไม่เคยตายและนิพพาน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย เสขะ บุคคล, 3 ธันวาคม 2009.

  1. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    ตอบปัญหาเรื่องนิพพาน ณ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก
    เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๒



    พระนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ใคร่ขอเรียนหลวงตาช่วยให้คำอธิบายด้วยครับ


    ตอบ เรื่องพระพุทธศาสนา ขณะนี้สื่อมวลชนคือชาวพุทธเรานี้แล กำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพระนิพพาน แต่เรื่องกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหาเต็มหัวใจ ไม่เห็นวิพากษ์วิจารณ์กันบ้าง นี่เอาพระนิพพานมาถามหลวงตาบัว หลวงตาบัวเกิดมาไม่ได้เกิดมากับพระนิพพาน เกิดมากับราคะตัณหา พ่อแม่เสพสมกัน ลูกแตกออกมาเป็นหลวงตาบัว แล้วไม่เห็นมีใครวิพากษ์วิจารณ์ เข้าใจไหมล่ะ นี่เอะอะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพระนิพพาน หลวงตาบัวก็จนตรอก ถ้าวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหานี้ไม่ต้องตอบ รู้กันทุกคนหรืออันนี้ที่ไม่ถามนั่นน่ะ เพราะรู้กันทุกคนนี้เหรอ


    เอ้า จะวินิจฉัย จะตอบให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบ เรื่องพระพุทธศาสนาเป็นธรรมะที่ลึกซึ้งมาก เกินกว่าความรู้ของคนมีกิเลสสามไตรโลกธาตุนี้จะทราบธรรมของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นและประกาศสอนพวกประชาชนสัตวโลกทั้งหลาย เป็นธรรมที่เลิศเลอถึงกับพระพุทธเจ้าทรงท้อพระทัย เพราะความรู้นี้ ธรรมนี้ลึกซึ้งละเอียดสุด จะเรียกว่าเกินกว่าสัตว์ทั้งหลายจะรู้จะเห็นจะเข้าใจตามได้ แต่เมื่อพระองค์มาทรงวินิจฉัยใคร่ครวญดูนั้น เทียบอุปมาเหมือนกับว่าภูเขาทั้งลูกนี้ มองไปเต็มไปด้วยหินผาป่าไม้ ซึ่งไร้สาระทางประโยชน์อันสูงและอันสูงสุด พระองค์จึงท้อพระทัย เพราะมองดูภูเขาทั้งลูกไร้สาระไปประหนึ่งว่าเกือบทั้งหมด ทรงพินิจพิจารณาด้วยพระญาณก็หยั่งทราบว่า ภูเขาลูกนี้แม้จะไร้สาระไปเกือบทั้งหมดก็ตาม แต่ส่วนที่ยังเหลือพอที่จะเป็นสารประโยชน์จากวัตถุแร่ธาตุต่าง ๆ ในภูเขาลูกนี้ยังมี พระองค์จึงทรงพินิจพิจารณา แล้วการท้อพระทัยในการที่จะสั่งสอนโลกนั้น ทรงมีพระเมตตาที่จะถอดจะถอนเอาสารประโยชน์จากภูเขาลูกนั้น คำว่าภูเขาลูกนั้นหมายถึงสัตวโลกทั้งหลายนี้ เต็มไปด้วยสิ่งที่ไร้สาระ แต่สิ่งที่มีสาระมีอยู่จำนวนน้อย ได้แก่คุณธรรมภายในใจ พระองค์จึงทรงแนะนำสั่งสอนพวกที่ควรจะได้เป็นสาระ เหมือนอย่างเราไปหยิบเอาแร่ธาตุต่าง ๆ ในภูเขาลูกนั้น ซึ่งเป็นสารประโยชน์มาทำประโยชน์ต่อไป นี่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสัตวโลก แม้จะมีจำนวนน้อยก็มีสารคุณอันล้นพ้นที่ควรจะสนพระทัยในการแนะนำสั่งสอน แล้วจึงมาสั่งสอน นี้พูดถึงเรื่องว่าศาสนาหรือธรรมนี้ เป็นสิ่งที่ประหนึ่งว่าสุดวิสัยของโลกที่จะรู้ที่จะเห็นจะเอื้อมถึงได้ ที่พระองค์ท้อพระทัย ละเอียดลออสุขุมขนาดนั้น


    ทีนี้พูดถึงพระนิพพานก็คือธรรมประเภทนี้เอง ประเภทที่โลกนี้สุดวิสัย ทีนี้มีผู้ถือนิพพานว่าเป็นอัตตาหรืออนัตตานั้น ขอชี้แจงทางภาคปฏิบัติ เอาหัวใจหลวงตานี้ออกยันเลยให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบว่า หลวงตาปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผลนิพพานมานี้ตั้งแต่วันออกปฏิบัติ ฟัดกับกิเลสบนภูเขา ตามถ้ำเงื้อมผาป่าช้าป่ารกชัฏ ไม่ได้ออกมาอยู่ตามเมืองตามนา แม้จะไปอยู่จังหวัดไหนก็ตาม อยู่ในป่าในเขาอย่างนี้ตลอดมา เพื่อเป็นความสะดวก เป็นสนามชัยที่จะฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสได้โดยสะดวก จึงต้องอุตส่าห์พยายามค้นคิดมาตั้งแต่เริ่มแรกที่จิตวุ่นวายส่ายแส่เป็นฟืนเป็นไฟภายในหัวใจนี้ ก็เห็นประจักษ์ในหัวใจนี้ตลอดมา เอาธรรมเหมือนกับน้ำที่สะอาดชะล้างเข้าไป ด้วยความพากความเพียรความอุตส่าห์พยายามบึกบึนตลอดไป ก็เหมือนกับน้ำคอยชะล้างสิ่งที่สกปรกทั้งหลายนั้นให้จางลงไป ๆ จิตใจปรากฏเป็นแสงสว่างขึ้นมาภายในหัวอก ความรู้คือใจแท้ ๆ อยู่ในหัวอกนี้ อาศัยในท่ามกลาง สิ่งเหล่านี้เป็นเรือนร่างของจิตดวงนั้น อันนี้เป็นเครื่องมือเป็นเรือนร่างเหมือนอย่างศาลาหลังนี้เป็นเรือนร่างสำหรับอยู่ของพวกเรา อันนี้ร่างกายนี้ก็เป็นเรือนร่างสำหรับอยู่ของใจ ใจนี้รู้ซ่านไปหมด ทางตาก็เป็นเครื่องมือของความรู้นี้เพื่อเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทางหูก็เป็นเครื่องมืออันหนึ่งสำหรับได้ยิน จากผู้รู้อันนี้ส่งออกไปรับทราบจากเครื่องมืออันนี้ อันนี้รับรู้อันนั้น อันนั้นรับรู้อันนั้น จนกระทั่งประสาทส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกายของเรา อะไรมาสัมผัสสัมพันธ์นี้รู้ไปหมดตามความรู้สึกที่ส่งไปในเครื่องมือต่าง ๆ ให้รู้นั้นให้เห็นนี้ ให้สัมผัสนั้นสัมผัสนี้ นี่เรียกว่าอาการหรือทางเดินของจิต เครื่องมือของจิตที่ใช้อยู่ หมายถึงร่างอันนี้ทั้งหมด นี้เป็นเครื่องมือของความรู้นั้นล้วน ๆ เพราะฉะนั้นเวลาเครื่องมือชำรุด เช่น คนตาบอดแล้วมองไม่เห็น ทั้ง ๆ ที่ความรู้มีอยู่แต่เครื่องมือทางดูนี้ชำรุดไปเสีย ตาบอด หูหนวกฟังไม่ได้ยิน ส่วนสัมผัสอันใดที่ขาดวิ่นหรือด้านไปอย่างนี้ มันก็ไม่รับทราบสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลาย เรียกว่าเครื่องมือหายไป ๆ ชำรุดลงไปจนใช้ไม่ได้ เมื่อใช้ไม่ได้ทั้งหมดนี้เรียกว่าตาย เครื่องมือนี่ใช้ไม่ได้แล้วเรียกว่าตาย จิตดวงที่รู้นี้ถอนออกจากร่างนี้ ออกไปสู่กำเนิดนั้นไปสู่กำเนิดนี้ นี่ละจิต พี่น้องทั้งหลายจำให้ดีนะ


    นี่ละหลักพุทธศาสนาอย่างแท้จริงที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นทรงปฏิบัติมา สั่งสอนโลกดังที่นำออกมาเวลานี้ทีนี้ความรู้นี้คือจิต จิตนี้ไม่มีสิ่งที่อาศัย สมบัติเงินทองข้าวของทุกสิ่งทุกอย่างที่เต็มอยู่ภายนอกซึ่งเรายึดว่าเป็นเจ้าของนี้ หมดความหมายในขณะที่ลมหายใจได้ขาดจากร่างลงไปเท่านั้น เรียกว่าคนตาย สิ่งเหล่านั้นก็พังไปด้วยกันหมด ทีนี้จิตนี้ไม่ตาย บาป บุญ แทรกอยู่กับจิตนี้ไม่ตายด้วยกัน ไปด้วยกัน ผู้มีบาปมากก็ไปตกนรก มีบาปมากเท่าไรก็ลงนรกจมปิ๋ง ๆ นรกท่านแสดงไว้ถอดจากพระทัยของพระพุทธเจ้ามาประกาศให้โลกทั้งหลาย ผู้มีญาณความรู้อย่างพระพุทธเจ้าสามารถมองเห็น เช่นพระอรหันต์องค์เชี่ยวชาญรู้เห็นอย่างพระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น แม้จะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เห็น เป็นสักขีพยานพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดีแล้วผู้ที่ทำบาปทำกรรมมากจะตกนรกหลุมที่หนึ่ง เรียกว่ามหันตทุกข์มหันตโทษ ตกนรกอยู่ไม่ทราบกี่กัปกี่กัลป์กว่าจะได้หลุดพ้นจากนรกหลุมนี้ แล้วเลื่อนขึ้นมาจากนรกหลุมนี้ เป็นความทุกข์เบาขึ้นมาแล้วก็อยู่นรกหลุมนี้ เบาขึ้นมาอยู่นรกหลุมนี้ ๆ เรื่อยไป ไม่ได้ขาดออกมาอย่างเดียว ไม่ได้พ้นอย่างเดียวเหมือนเขาติดคุกติดตะราง เขาติดคุกติดตะรางนั้น โทษจะกี่ปีก็ตาม เมื่อพ้นโทษแล้วหลุดจากเรือนจำมา พ้นโทษแล้วเข้าถึงบ้านทันที ไม่ต้องไปเป็นอะไรต่ออะไรต่อไปอีก ไม่ต้องเสวยกรรมหนักกรรมเบาอะไรต่อไปอีก ออกจากเรือนจำพ้นความเป็นนักโทษแล้วก็เข้าถึงบ้านทันที ไปบ้านทันที เรียกว่าหมดโทษในทันทีจากความเป็นนักโทษในเรือนจำ แต่คนตกนรกสัตว์ตกนรกนี้ไม่เป็นอย่างนั้น พ้นจากนรกหลุมมหันตทุกข์นี้แล้ว เลื่อนขึ้นมาทุกข์เบาขึ้นมา ๆ เรื่อย ๆ กว่าจะพ้น นรกท่านแสดงไว้ ๒๕ หลุม นรก ๒๕ ขุมสำหรับรับกรรมของสัตว์ทั้งหลายผู้มีหนักเบาต่างกัน กรรมชั่วหนักที่สุดท่านแสดงไว้ ๕ ประการ คือ ฆ่าบิดา ๑ ฆ่ามารดา ๑ ฆ่าพระอรหันต์ ๑ ฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ ทำสังฆเภทให้สงฆ์แตกจากกัน ๑ ทำลายพระพุทธเจ้าแม้ไม่ถึงตายก็ตาม เพียงบอบช้ำส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งพระอวัยวะก็เป็นกรรมหนักเช่นเดียวกัน ๑ เรียกว่ากรรมหนัก ๕ ประเภทหากว่าโลกมนุษย์เรานี้ยังพอมีสติสตังอยู่บ้างแล้วให้รีบยับยั้งทันที ในกรรม ๕ ประเภทนี้เป็นกรรมที่เด็ดขาดแสบร้อนที่สุดเลย ลงในนรกหลุมมหันตทุกข์มหันตโทษเป็นอันดับหนึ่งของนรกที่เสวยกองทุกข์มหันตทุกข์อยู่ในนั้นหมด นี่กรรม ๕ ประเภทนี้ลงในหลุมนี้ แล้วหย่อนลงมา เช่น ฆ่าสัตว์ผู้มีบุญมีคุณ ฆ่าผู้ฆ่าคนผู้มีบุญมีคุณ ลดหย่อนกันลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงการฆ่าสัตว์ทั่ว ๆ ไป บาปก็จะมีเป็นลำดับลำดาหนักเบามากน้อยต่างกันอย่างนี้ เรื่องตกนรกก็ตกตามนี้ ๆ จำให้ดีนะ ถอดจากศาสนาของพระพุทธเจ้ามาให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบ ตามหลักความจริงเป็นอย่างนี้ ลบไม่สูญ สามแดนโลกธาตุใครจะมาลบเรื่องบาปเรื่องบุญ นรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพานลบไม่ได้ทั้งนั้น เป็นหลักธรรมชาติมีมากี่กัปกี่กัลป์นับไม่ได้เลย


    นี่ละสัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดตกอยู่อย่างนี้ นี่หมายถึงความชั่วที่เป็นอยู่กับจิต จิตดวงนี้ไม่ตาย แล้วก็พาจิตดวงนี้หมุนลงไปในนรก ตามแต่กรรมหนักเบาเสวยไปโดยลำดับ จนกระทั่งพ้นจากนรกมาแล้ว ยังต้องมาเป็นเปรตเป็นผีหาขอทานกินกับญาติกับวงศ์ ดังที่เราทำบุญอุทิศให้ผู้ตายทุกวันนี้แหละ เราทำบุญอุทิศให้ผู้ตายนี้ เปรตมี ๑๓ ประเภท อันนี้เรียก ปรทัตตูปชีวีเปรต เปรตพวกนี้เวลาพ้นมาแล้วมาเป็นเปรตจำพวกนี้แล้ว ก็มีความสามารถที่จะรับส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติพี่น้องพ่อแม่ญาติวงศ์ทั้งหลายได้ ทีนี้พอเราทำบุญให้ทานเราอุทิศส่วนกุศล เปรตพวกนี้ก็มารับได้ นอกจากนั้นรับไม่ได้ นี่เปรตมี ๑๓ จำพวก จำพวกเดียวที่รับได้ให้พี่น้องทั้งหลายทราบไว้เสีย นี่ขึ้นมาเป็นเปรต จากนั้นก็มาเป็นคน เป็นคนพิการง่อยเปลี้ยเสียแข้งเสียขา เป็นมนุษย์ไม่เต็มบาทขาดตาเต็ง ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ วิการง่อยเปลี้ยเสียแข้งเสียขา มนุษย์ขาดอวัยวะ จากนั้นมาก็เป็นมนุษย์สมบูรณ์ นี่หมายถึงพวกที่ทำบาปทำกรรมหนัก ทำกรรมหนักดังที่กล่าวมาแล้วนี้ไม่ว่ากรรมประเภทใดไม่มีที่ลับไม่มีที่แจ้ง เปิดเผยอยู่กับการกระทำของตัวเอง จะไปทำในที่มืดก็ตามในที่แจ้งก็ตาม เจ้าของเองผู้ทำบาปไม่มีที่มืดที่แจ้ง เป็นกรรมชั่วตลอดเวลาในขณะที่ทำ นี่หมายถึงการทำชั่ว ทีนี้เวลาทำลงไปแล้วบาปนี้ไม่มีที่ลับที่แจ้ง เป็นบาปตลอดเวลาขณะที่ทำลงไปมากน้อย นี่ละกรรมเหล่านี้ติดอยู่กับใจของสัตว์ทั้งหลาย พอตายแล้วถ้าใครมีกรรมหนักก็ดีดผึงเดียว ไม่ต้องได้ถามกันว่าจากนี้ไปถึงนั้นกี่กิโล จากจังหวัดนี้ถึงจังหวัดนั้นกี่กิโล จากนรกหลุมนี้ไปนรกหลุมนั้นกี่กิโล ไม่ต้องถามกัน ขาดสะบั้นลงไปทีเดียวผึงถึงเลย ๆ ไม่มีนาทีโมงกาลสถานที่ที่ไหนไม่มี อันนี้ถึงทันทีเลย นี่เราพูดถึงเรื่องความชั่วที่ติดอยู่กับหัวใจของสัตวโลก พาให้สัตว์ทั้งหลายได้รับความทุกข์ความทรมานอยู่ตลอดเวลาพวกเราทั้งหลายที่เกิดมานี้เกิดมาด้วยอำนาจแห่งกรรมดีกรรมชั่ว ไม่ได้เกิดมาด้วยอำนาจวาดภาพลม ๆ แล้ง ๆ ไปเฉย ๆ ดังที่วาดกันมาตลอดแต่หาความจริงไม่ได้ นี้เอาความจริงมาพูด


    นี่เราพูดถึงเรื่องความชั่วมันติดหัวใจ พาสัตว์ทั้งหลายให้ตกนรกตั้งแต่มหันตทุกข์ขึ้นมาจนกระทั่งถึงมนุษย์ ส่วนการทำดีก็เหมือนกัน การทำความดีนี้ไม่มีที่แจ้งที่ลับเช่นเดียวกับการทำบาป ทำมากทำน้อยทำที่ไหนก็ตามจะเป็นบุญเป็นคุณติดแนบกับใจเช่นเดียวกันใจนี้เป็นเหมือนเก้าอี้ตัวหนึ่ง ข้างนี้เป็นบาป ข้างนี้เป็นบุญ ติดอยู่ภายในใจ เพราะฉะนั้นเวลาตายแล้วจิตนี้ไม่เคยตาย บาปบุญติดแนบอยู่ภายในใจ จึงส่งผลให้ไปเกิดในที่ชั่ว เช่นตกนรก บุญทำให้เกิดในสถานที่ดี เช่นมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบมีวาสนาบารมี แล้วก็ไปสวรรค์ เป็นเทวบุตรเทวดาชั้นนั้น ๆ สวรรค์มี ๖ ชั้น นรกมี ๒๕ หลุม สวรรค์เป็นฝ่ายความดีนี้มี ๒๒ ชั้น ตั้งแต่จาตุมฯ ขึ้นไปถึงปรนิมมิตวสวัตดี มี ๖ ชั้น พรหมโลกมี ๑๖ ชั้น นี้สำหรับบรรจุคนผู้สร้างบุญสร้างกุศล สร้างได้มากได้น้อยควรจะเกิดมาเป็นมนุษย์ก็มาเป็นมนุษย์ ควรจะเป็นเทวบุตรเทวดาก็ไปเป็นเทวบุตรเทวดา อินทร์ พรหม ตลอด แล้วผู้ที่มีบารมีสูงสุดเป็นจิตที่บริสุทธิ์ทรงวิมุตติพระนิพพานไว้ในหัวใจแล้ว ดีดผึงถึงพระนิพพานทีเดียวเลย นี้เรียกว่าวิบากกรรม มีอยู่กับทุกคนทุกตัวสัตว์ เราไม่ได้มาเกิดอย่างลอย ๆ เราเกิดมาด้วยอำนาจแห่งบุญแห่งกรรม เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้ประมาทกัน ใครจะเกิดในสถานที่ใดสกุลใดมั่งมีศรีสุขหรือทุกข์จนหนโลกขนาดไหนก็ตาม ท่านไม่ให้ประมาทกัน เพราะเรานี้เกิดมาด้วยอำนาจแห่งกรรมของตน ๆ แต่ละคน ๆ ไม่สับปนกัน ท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน วาระเขาทำชั่วเขาก็มีกรรมประเภทนี้ เขาทำดีประการใด เขาก็มีความดีประเภทนี้ ๆ ไม่คละเคล้ากัน เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน ถึงวาระที่เสวยกรรมชั่วก็มี เสวยกรรมดีก็มี สัตว์ทุกตัวสัตว์เป็นอย่างนั้นเรื่อยมาเป็นลำดับ นี่พูดถึงจิตดวงนี้ไม่ตาย มันพาสัตว์ให้เกิดให้ตาย หมุนเวียนสูง ๆ ต่ำ ๆ อยู่นี้ตลอดมากี่กัปกี่กัลป์ในสัตว์บุคคลรายหนึ่ง ๆ นี่ตายไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์มาเรื่อยโดยลำดับ นี่คือจิตไม่ตาย


    ทีนี้ย่นเข้ามาเมื่อเราสร้างวาสนาบารมีแก่กล้าสามารถแล้ว จะเป็นการทำบุญให้ทานประเภทใดก็ตาม ที่แจ้งที่ลับกัปกัลป์ไหนไม่นับ แต่จะฝังอยู่ที่จิต ฟักตัวอยู่ที่จิตนั่นแล ถ้าเป็นบาปก็ฟักตัวอยู่ในจิต เป็นบุญก็ฟักตัวอยู่ในจิต จนบุญนี้สมบูรณ์แบบแล้วก็หนุนผู้บำเพ็ญนี้ให้หลุดพ้นถึงพระนิพพาน ถึงธรรมชาติที่ว่าสุดวิสัยที่จะนำมาประกาศสอนโลกได้ เพราะเลยโลกเลยสงสารเลยสมมุติโดยประการทั้งปวง นี่ท่านเรียกว่านิพพาน หรือเรียกว่าธรรมธาตุ ผู้สร้างบารมีสมบูรณ์แบบแล้วเข้าถึงขั้นนี้ ขั้นหาที่คาดที่หมายไม่ได้ แต่ไม่สงสัยสำหรับผู้ทรงธรรมประเภทนั้น เช่น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ แม้พระองค์เดียวไม่เคยสงสัยธรรมชาติอันนี้เลย เพราะจิตกับธรรมชาตินั้นเป็นอันเดียวกันแล้ว นี่เรียกว่านิพพาน


    ทีนี้จะมาตอบปัญหาละที่นี่นะ เรื่องพุทธศาสนาขณะนี้ สื่อมวลชนกำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพระนิพพาน จึงขอนมัสการเรียนถามว่า พระนิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา นี่ถามว่าอย่างนี้นะพระนิพพานนั้นคือพระนิพพาน นี่ตอบแล้วนะนี่นะ ท่านแสดงไว้ในธรรมว่า มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มรรค ๔ นั้นได้แก่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล นี่เรียกว่า มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ คือพ้นจาก ๘ ภูมินี้ไปแล้วเป็นนิพพาน ๑ นิพพานมีหนึ่งเท่านั้นไม่เคยมีสอง ไม่มีสองกับอัตตา ไม่มีสามกับอนัตตา นิพพานคือนิพพาน อัตตา อนัตตา นั้นเป็นทางเดินเพื่อพระนิพพานล้วน ๆ เป็นพระนิพพานไปไม่ได้ ผู้ที่จะพิจารณาให้ถึงพระนิพพาน ต้องเดินเหยียบย่างไปในไตรลักษณ์ คือพิจารณาไปกับเรื่อง ทุกขัง เรื่อง อนิจจัง อนัตตา และอัตตา ซึ่งเป็นกองแห่งกิเลสสุมเต็มอยู่ในนั้น ให้ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความเห็นว่าเป็นตนเป็นตัวเหล่านี้ออกเสียได้ จิตจึงจะหลุดพ้นเป็นพระนิพพาน เพราะฉะนั้นพระนิพพานจึงเป็นพระนิพพานเท่านั้น เป็นอัตตาเป็นอนัตตาไม่ได้ เพราะอัตตากับอนัตตานั้นเป็นทางเดินเพื่อพระนิพพานเช่นเดียวกับเราเดินก้าวขึ้นสู่บันได ขั้นหนึ่งสองขั้นขึ้นไป จนกระทั่งถึงที่สุดของบันได ก้าวเข้าสู่บ้านของเรา เมื่อเข้าสู่บ้านแล้วบันไดก็เป็นบันได บ้านก็เป็นบ้าน จะให้บ้านกับบันไดมาเป็นอันเดียวกันไม่ได้ นี่คำว่าไตรลักษณ์ก็ดี อัตตาก็ดี นี่คือบันไดก้าวเข้าสู่มรรคผลนิพพาน เมื่อพ้นจากนี้ ปล่อยนี้หมดแล้ว จิตก็ก้าวเข้าสู่พระนิพพาน เหมือนกับว่าเราก้าวเข้าสู่บ้านของเรา หมดปัญหากับบันได บันไดจึงจะกลายเป็นบ้านไปไม่ได้ บ้านจะมากลายเป็นบันไดไปไม่ได้ บ้านต้องเป็นบ้าน บันไดต้องเป็นบันได


    นี่ไตรลักษณ์คือ อัตตาก็ดี อนัตตาก็ดี เป็นบันไดทางก้าวเดินเพื่อมรรคผลนิพพาน จะเป็นนิพพานไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นนิพพานจึงเป็นนิพพาน นิพพานมีอันเดียวเท่านั้น ไม่มีสองกับอัตตาที่โปะเข้าไปเป็นส่วนเพิ่มส่วนเติมเข้าไป เหมือนกับดินเหนียวติดพระนิพพานเป็นไปไม่ได้ อนัตตาก็เป็นทางเดินจะเป็นพระนิพพานไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นนิพพานคือนิพพานเท่านั้น เรียกว่า มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นทางก้าวเดินเพื่อพระนิพพาน ขอให้พี่น้องทั้งหลายทราบตามนี้ ผิดถูกประการใดเราพูดตามหลักความจริงที่ว่ายกตัวหลวงตาออกมา หลวงตาได้ก้าวเดินตามนี้แล้ว พิจารณา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อตฺตา ทั้งหมดนี้ จนรอบคอบขอบชิดหาที่ตำหนิไม่ได้แล้ว จิตปล่อยวางจาก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และ อตฺตา นี้แล้วดีดผึงถึงความบริสุทธิ์วิมุตติเต็มหัวใจนี้ จะว่าอันนี้เป็นนิพพาน จะว่าก็ได้ไม่ว่าก็ได้ ถึงขั้นนี้แล้วหมดปัญหา พ้นจากบันไดขึ้นมาถึงบ้านแล้ว


    นี่ละการปฏิบัติธรรมต้องให้รู้ที่ใจ อย่าลูบ ๆ คลำ ๆ นำเพียงตำรับตำรามาเป็นหนอนแทะกระดาษถกเถียงกัน เดี๋ยวเขาจะหาว่าพวกเราชาวพุทธนี้เป็นหมากัดกันในกระดาษอย่างนั้นก็อาจเป็นได้ แล้วอย่าไปตำหนิเขานะ ถ้าเราไม่ปฏิบัติเอาเพียงกระดาษมาเถียงกัน เถียงวันยังค่ำก็ไม่มีสิ้นสุด เหมือนอย่างที่เรียนหนังสือ เรียนปริยัติเรียนอรรถเรียนธรรม เรียนตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงพระนิพพาน เรียนบาปสงสัยบาป เรียนบุญสงสัยบุญ เรียนนรกสงสัยนรก เรียนสวรรค์สงสัยสวรรค์ จนกระทั่งพรหมโลก นิพพาน เรื่องเปรตเรื่องผี ตำรับตำราท่านแสดงไว้ เรียนไปถึงไหนสงสัยไปถึงนั้น เรียนถึงพระนิพพานก็ไปตั้งเวทีต่อสู้กับพระนิพพาน ว่านิพพานมีหรือไม่มีหนา สุดท้ายก็ให้กิเลสลบไปหมดว่านิพพานไม่มี ก็เป็นอันว่าลบไปหมด บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี ไปเสียหมด นี้คือกิเลสลบนักปริยัติที่เรียนหนังสือ ทั้งท่านทั้งเราเป็นแบบเดียวกันหมด หาความหมายไม่ได้ หาตนเป็นตนเป็นตัวไม่ได้ เพราะได้แต่ชื่อของบาปของบุญของนรกของสวรรค์ของนิพพาน ไม่ได้ตัวจริงของสิ่งเหล่านี้มาครองในหัวใจ หายสงสัยไม่ได้


    ทีนี้การปฏิบัติ บุญมีที่ไหนไม่มีที่ไหนรู้ที่ใจ บาปมีไม่มีที่ไหนปรากฏที่ใจ เพราะใจเป็นนักรู้ ตลอดนรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน จ้าขึ้นที่ใจหายสงสัยหมด นี้เรียกว่ารู้จริงเห็นจริง ไม่ใช่เป็นความจำที่เรียนมาจากตำรับตำราซึ่งถกเถียงกันไม่มีวันหยุดได้เลย แต่ถ้าเข้าภาคปฏิบัติแล้วจะเจอเข้าไปโดยลำดับ ๆ เช่นพี่น้องทั้งหลายมาสู่สถานที่นี่ สถานที่นี่บางท่านไม่เคยเห็นก็จะคาดวาดภาพไปต่าง ๆ ว่า เห็นจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอก้าวเข้ามาสู่สถานที่นี่แล้วหายสงสัยไหม ดูซิสถานที่นี่เป็นยังไงบ้าง นี่เราก้าวเข้าสู่มรรคสู่ผลก็เหมือนกัน สมาธิเป็นยังไง ปัญญาเป็นยังไง วิมุตติหลุดพ้นเป็นยังไง บาป บุญ นรก สวรรค์ เป็นยังไง จะจ้าขึ้นที่หัวใจนี้แล้วหายสงสัย ไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้าไปถามใคร เพราะเป็นของอันเดียวกัน เหมือนอย่างเรามาสู่สถานที่นี่ เป็นของอันเดียวกันคือศาลาหลังนี้ เห็นอย่างเดียวกัน รู้อย่างเดียวกัน ถามกันหาอะไร นี่เรื่องมรรคผลนิพพานก็เช่นเดียวกับนี้แหละ ไม่ต้องถามกัน


    วันนี้ได้ตอบปัญหาให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบถึงเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา อัตตากับอนัตตาเป็นทางเดินเพื่อพระนิพพาน จะเป็นพระนิพพานไปไม่ได้ ให้จิตประจักษ์กับหัวใจตัวเองซิ อนัตตาก็เต็มหัวใจ อัตตาเต็มหัวใจ ด้วยความรู้รอบขอบชิดโดยทางปัญญา มีมหาสติมหาปัญญาเป็นสำคัญในภาคปฏิบัติ ที่จะฆ่ากิเลสเหล่านี้ให้หลุดลอยไปได้ มีมหาสติมหาปัญญาเท่านั้น มหาสติมหาปัญญาเป็นเครื่องมืออันทันสมัยฆ่ากิเลสขาดสะบั้นไปเลย เมื่อมหาสติมหาปัญญาได้พิจารณาอันนี้รอบหมดแล้ว สลัด อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และ อตฺตา ออกจากใจแล้วจิตดีดเป็นพระนิพพานขึ้นมาเลย นั่นละเรียกว่านิพพาน ไม่ใช่ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และ อตฺตา ซึ่งเป็นทางเดินนี้ไปเป็นพระนิพพาน อันนี้เป็นทางเดิน


    วันนี้พูดธรรมะให้พี่น้องทั้งหลายทราบเพียงแค่นี้ก่อน แล้วยังมีปัญหาอะไรถามมาอีก แล้วคำว่านิพพาน ๆ มีลักษณะยังไงนั่น นิพพานไม่มีลักษณะ ถ้ามีรูปร่างขึ้นมาก็ต้องมีลักษณะ พระนิพพานไม่มีรูปมีร่าง เป็นนามธรรม แต่นามธรรม พ้นจากความสมมุติโดยประการทั้งปวง ท่านตั้งชื่อขึ้นมาว่านิพพาน นี่ก็เป็นสมมุติอันหนึ่งเหมือนกัน ธรรมธาตุหลักธรรมชาตินั้นเป็นอันหนึ่ง อันนี้ตั้งชื่อขึ้นมา เมื่อตั้งชื่อขึ้นมานี้ก็แยกแยะไปขัดแย้งกันไปทั่ว แล้วหาว่านิพพานเป็นอัตตาบ้าง เป็นอนัตตาบ้าง นิพพานให้เป็นศูนย์กลางแห่งความจริงแล้ว นิพพานคือนิพพาน จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อัตตาและอนัตตา นี้เป็นทางเดินเพื่อพระนิพพาน จะเป็นพระนิพพานไปไม่ได้ เอาละพูดแค่นี้ก่อน


    เราพูดย้ำตอนท้ายที่ว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตานี้ เราต้องดูหัวใจของผู้ปฏิบัติ ผู้นี้ละเป็นผู้ตัดสินเอง จิตที่จะเป็นวิมุตติบริสุทธิ์เต็มที่นั้น จิตต้องปล่อย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้ทั้งหมดเสียก่อน อันนี้เป็นสมมุติ ความหลุดพ้นนั้นเป็นวิมุตติ จิตต้องปล่อยนี้หมด สลัดนี้ออกแล้วจิตก็เป็นนิพพาน เพราะฉะนั้นคำว่านิพพานกับอัตตากับอนัตตา จึงเข้ากันไม่ได้ในภาคปฏิบัติ เรายันได้เลยในหัวใจหลวงตาบัว สามแดนโลกธาตุนี้หลวงตาบัวไม่เคยหวั่นไหวกับอะไรทั้งนั้น เพราะเป็นสมมุติ จิตดวงนี้เป็นวิมุตติเรียบร้อยแล้วไม่มีอะไรเข้ามาเอื้อมถึง เราจึงเอาจิตที่ไม่มีอะไรมาเอื้อมถึงนี้มาพิจารณา แยกออกไปให้สมมุติทั้งหลายได้พิจารณาได้ฟังกันบ้าง นี่คือผลแห่งการปฏิบัติตามพุทธศาสนา เห็นประจักษ์อยู่ที่ใจนี้


    มรรคผลนิพพาน คุณงามความดีทั้งหลายในวงพุทธศาสนาของเรานี้ คือตลาดแห่งมรรคผลนิพพานสด ๆ ร้อน ๆ ไม่มีคำว่าครึว่าล้าสมัย อันนั้นเป็นเรื่องกิเลสหลอกคน พระพุทธเจ้านิพพานไปเท่านั้นปีเท่านี้ปีมรรคผลนิพพานไม่มี ๆ กิเลสมันเป็นยังไงมันมีมากี่ครั้งกี่สมัยแล้ว ไม่เห็นว่ามันครึมันล้าสมัยไปแล้ว หมดแล้วในหัวใจของโลกไม่มี ความโลภก็ไม่มี ความโกรธไม่มี ราคะตัณหาไม่มี ผัวเมียไม่ต้องทะเลาะกันอย่างนี้ไม่เห็นมี ไปที่ไหนเห็นแต่ผัวแต่เมียทะเลาะกันเรื่องกามกิเลส มันทำไมไม่ครึไม่ล้าสมัยไปบ้างกับเขา มรรคผลนิพพานทำไมครึทำไมล้าสมัยไปหมด แต่กิเลสมาครองบ้านครองเมือง อำนาจมันใหญ่โตมาจากไหน ให้พี่น้องทั้งหลายพิจารณา แล้วฟัดมันลงไปขาดสะบั้น ผัวเมียจะอยู่ด้วยกันสบายนะ เอาละพอ



    โดยหลวงตา พระมหาบัว
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 21 กันยายน 2011
  2. ธรรมภูต

    ธรรมภูต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    3,621
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +2,192
    สาธุอนุโมทามิ....ครับ
    ที่นำเอาคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์มาให้อ่าน

    ;aa24
     
  3. วิศว

    วิศว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    2,349
    ค่าพลัง:
    +5,104
    ธรรมชุด เตรียมพร้อม

    พิจารณาทุกขเวทนาในวาระสุดท้าย

    วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 ความยาว 34.53 นาที
    สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
    องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
    เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด


    เมื่อจิตยังอยู่ในที่มืดมนด้วยกิเลสชนิดต่างๆ ปกปิดกำบัง ก็เช่นเดียวกับเราเข้าไปในป่ารกชัฏและกว้างขวาง ขณะอยู่ในป่านั้น ความรู้สึกเหมือนไม่เคยผ่านทุ่งผ่านนาที่เวิ้งว้างมาก่อนบ้างเลย ทั้ง ๆ ที่เราก็เคยผ่านเคยอยู่มาแล้ว แต่เวลาเข้าไปในดงอันรกชัฏแล้ว ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปกับสิ่งที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเหมือนว่าเราไม่เคยผ่านทุ่งโล่งโถงเวิ้งว้างอะไรมาเลย เหมือนกับโลกนี้เป็นโลกมืดไปหมด เช่นเดียวกับป่าอันรกชัฏนั้น

    แต่จิตนี้ยังไม่เคยเห็นแสงสว่าง ความเวิ้งว้างภายในตัวเองมาก่อนก็ยังพอทำเนา แต่ผู้ที่เข้าป่าดงอันรกชัฏนั้น ทั้ง ๆ ที่เคยเห็นทุ่งเห็นนาอะไรที่เวิ้งว้างมาอยู่แล้ว มันก็ยังเกิดความสำคัญขึ้นมาว่า โลกนี้จะไม่มีที่ว่างจากป่าบ้างเลย มีแต่ความรกชัฏด้วยป่าอย่างนี้ไปหมด จิตในขณะที่อยู่ในความมืดมนอนธการ ก็เป็นลักษณะนี้เหมือนกัน แต่เมื่อก้าวไปถึงที่เวิ้งว้างโดยไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องเลย เพราะความผ่านพ้นไปหมดแล้วนั้น ก็เหมือนกับโลกนี้ไม่มีอะไรเป็น “นิมิต เครื่องหมาย” แห่งวัตถุต่าง ๆ เหลืออยู่บ้างเหมือนกัน

    ถ้าเราไม่คิดแยกไปว่า ที่นั่นเป็นนั่น ที่นี่เป็นนี่ ให้แก่ “สมมุติ” ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับสัตว์ บุคคล ต้นไม้ ภูเขา ดิน ฟ้า อากาศ ตามธรรมชาติที่มีอยู่ของเขา ก็เหมือนกับไม่มีอะไรเลยในบรรดาที่กล่าวมาเหล่านี้ เพราะจิตไม่ออกไปเกี่ยวข้อง จิตมีแต่ความว่างประจำตน หาเหตุปัจจัยอะไรเข้าไปหมุนไปเกี่ยวข้องไม่ได้เลย อยู่โดยปกติของตน โลกแม้จะมีก็เหมือนไม่มี ถ้าจะพูดว่า “โลกไม่มี สัตว์ สังขาร ไม่มี” ก็ได้ เพราะไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องในจิต จิตอยู่โดยหลักธรรมชาติแห่งความบริสุทธิ์แท้ เลยกลายเป็นธรรมด๊า......ธรรมดาไป

    แต่ คำว่า “ธรรมดา” นี้ ผู้สมมุติก็จะคิดและตีความหมายไปอีกแง่หนึ่ง คำ “ธรรมดา” ในธรรมชาตินี้ ไม่เหมือนกับธรรมดาที่เราพูดกันทั่ว ๆ ไป เป็นแต่เพียงข้อเทียบเคียงเล็กน้อยเท่านั้น เรื่องอะไร ๆ ก็ “ธรรมด๊า ธรรมดา ไปหมด” นั่นฟังซี ! เรื่องเกิดเรื่องตาย เรื่องทุกข์ลำบาก เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องประสบอารมณ์ต่าง ๆ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ในโลกธรรมมาสัมผัส ก็เป็นเรื่องธรรมด๊า ธรรมดา ไปหมด เพราะจิตอิ่มตัว และคลายอารมณ์ต่าง ๆ ออกหมดแล้วไม่มีอะไรเหลือ สิ่งเหล่านั้นแม้มีอะไรอยู่ก็ “สักแต่ว่า” รับรู้เพียงขณะๆ แล้วก็ดับไปในขณะๆ โดยหลักธรรมชาติของจิตที่มีความพอตัวแล้ว รับอะไรเข้าไปอีกไม่ได้ ความสรรเสริญซึ่งเคยชอบมาแต่ไหนแต่ไรก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา เช่นเดียวกับความนินทา เพียงแต่จิตรับทราบเท่านั้น เพราะจิตพอตัวแล้วไม่สามารถจะรับอะไรได้ ทั้งฝ่ายต่ำ ฝ่ายสูง ฝ่ายนินทา สรรเสริญ ฝ่ายทุกข์ ฝ่ายสุข ที่เป็นเรื่องของ “สมมุติ” ทั้งปวง ใจไม่เกี่ยวข้องจึงเป็นธรรมดาไปเสียหมด ทั้งนี้ออกจากจิตที่ถึงความอ้างว้างโดยหลักธรรมชาติของตัวแล้วเป็นอย่างนั้น อะไรจะมาผ่านก็เหมือนไม่ผ่าน

    แต่การที่จิตสามัญชนเราจะพยายามดำเนิน หรือก้าวไปด้วยความเพียร เพื่อให้ถึงสถานที่นั้น ๆ ตามขั้นของจิตของธรรมไปโดยลำดับ ๆ ตามสายทาง จนถึงที่จุดหมายปลายทางอันเป็นที่เวิ้งว้างโดยหลักธรรมชาตินั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ยากลำบากเป็นธรรมดา ราวกับการเชือดเฉือนตัวเรา ตัวเราคือกิเลส ด้วยมีดอันคมกล้า คือสติปัญญานั้นแล จะว่ายากมากก็ได้ แล้วแต่ใจของผู้ดำเนินนั้นมีความรักชอบมากน้อยต่างกันเพียงใด แต่ผู้ที่มีความรักชอบ มีความสนใจมากอยู่แล้ว การงานที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือเพื่อความเห็นแจ้งโดยลำดับนี้ ก็ไม่เป็นของยากนัก เพราะทำด้วยความพอใจทุกอาการแห่งการกระทำ เรื่องที่ว่ายาก ๆ ซึ่งเคยมีอยู่ในหัวใจนั้น ก็ไม่ยาก ความพอใจมาทำให้ง่าย

    คำว่า “การเจริญของจิต” ก็อย่าได้คิดคาดไปในแง่ต่าง ๆ ให้ผิดจากหลักความจริงของความเจริญอันแท้จริงภายในจิต และความเสื่อมภายในใจอันแท้จริงของจิต คือจิตมีความเปลี่ยนแปลงอาการของตัวอยู่โดยเฉพาะเท่านั้น ไม่ได้ก้าวไปไหน ไม่ได้ลงที่ไหน เป็นแต่ความเปลี่ยนแปลงแห่งอาการของจิตที่แสดงให้ตนทราบเท่านั้น

    ใจเปลี่ยนแปลงไปอย่างหนึ่ง เป็นความทุกข์ขึ้น เปลี่ยนแปลงไปอย่างหนึ่ง เป็นสุขขึ้นมา อยู่ภายในจิตนี้เท่านั้น การเจริญจิตตภาวนา แม้จะได้รับคำของครูอาจารย์ที่ท่านแสดงไปในแง่ใดก็ตาม ท่านพูดเรื่องสมาธิก็ตาม เรื่องปัญญาก็ตาม เรายึดไว้พอเป็นคติเท่านั้น

    ส่วนหลักธรรมชาติที่จะเป็นขึ้นภายในใจเรานั้น เริ่มจากการนำธรรมคติจากท่านมาปฏิบัติ ให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติจริตนิสัยของเรา อย่าเอาธรรมชาติที่เป็นจริตนิสัยของเราไปเทียบกับที่ท่านแสดง เพราะท่านแสดงธรรมอย่างกว้างขวางสำหรับ “นานาจิตตัง” ซึ่งมีจำนวนมาก พูดง่าย ๆ ก็ว่า จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดถึงการประพฤติปฏิบัติในแง่ความรู้ ความเห็น การพิจารณานี้ จะให้เหมือนกันไม่ได้ แม้จะอยู่ในวงแห่งสัจธรรมด้วยกันก็ตาม แต่อาการแห่งการพิจารณาและการดำเนินนั้น ผิดแปลกกันอยู่เป็นลำดับลำดาตามจริตนิสัย

    เมื่อเป็นเช่นนั้น อาการแห่งความสงบ หรือความรู้ต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นภายในจิต จึงมีต่างกัน ส่วนความสงบนั้นเป็นที่ยอมรับด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจริตนิสัย เพราะความสงบสุขของจิตนั้น เป็นผลเกิดขึ้นจากการปฏิบัติของตน จึงเป็นที่ยอมรับด้วยกัน เราจึงคอยดูผลที่ปรากฏขึ้นจากการปฏิบัติของเราอย่างนี้

    คำว่า “สงบ” นั้น มีหลายประเภทตามจริตนิสัย คือ สงบลงในขณะเดียวเหมือนกับตกเหวตกบ่อ อย่างนั้นก็มี คืออยู่ ๆ ที่เรากำหนดภาวนา “พุทโธ ๆ” แล้วก็พลิกขณะเดียวแพล็บ หายเงียบไปเลย คือ จิตพลิกขณะเดียวเท่านั้นเหมือนกับเราตกเหวตกบ่อ แล้วปรากฏเป็นความรู้ขึ้นมาทันที นี่เป็นแง่หนึ่ง

    อีกแง่หนึ่ง จิตสงบแล้วหายเงียบจากอารมณ์ต่างๆ แม้ “พุทโธ” ไปเลยก็มี นี่เป็นจิตนิสัยประเภทหนึ่ง ที่กล่าวมานี้เรียกว่า “ร้อยละ ๕ ราย” จะมีเพียง ๕ ราย หรือจะมากไปด้วยซ้ำในร้อยคนของผู้มีความสงบเยือกเย็น หรือเห็นผลในการทำสมาธิภาวนาแบบนี้ เพราะมีน้อยมากในการปฏิบัติสมัยปัจจุบันนี้


    อีก ๙๕ รายนั้น จะเป็นในลักษณะที่ค่อยสงบ ค่อย ๆ เยือกเย็นเข้าไปเป็นลำดับ ๆ นี้มีเป็นจำนวนมาก

    ให้เราสังเกตดูจริตนิสัยของเราว่า เป็นไปในจริตใด หรือเป็นไปในลักษณะใดในแง่ใดในสองแง่นี้ ส่วนมากจะเป็นไปในแง่ที่สองนี้

    คำว่า “สงบ” คือ ความสงบเย็นอยู่ภายในใจ ใจมีที่อยู่ ใจมีความร่มเย็นเป็นสุข มีฐานแห่งความสงบอยู่ภายในจิตของตน ทั้ง ๆ ที่คิดอ่านไตร่ตรองอะไรก็ได้ตามธรรมดาของโลกทั่ว ๆ ไป แต่ภายในจิตของตัว มีความโล่ง มีความสบาย มีความเบา หรือมีความสว่างไสว ตามกำลังจิตที่มีมากน้อย แล้วแต่กำลังแห่งสมาธิ หรือความสงบ นี่ท่านเรียกว่า “จิตสงบ” มีความคิดได้ปรุงได้อยู่อย่างนั้น แต่จิตที่เป็นเจ้าของความคิดนั้น มีความสงบสบายอยู่ภายในตน กำหนดเข้าเมื่อไร ก็ปรากฏความรู้ที่เป็นความสบายนั้นอยู่เรื่อย ๆ ไม่หายไป นี่ชื่อว่า “จิตได้ฐานแห่งความสงบ หรือมีฐานแห่งความสงบ” ขึ้นมาแล้ว

    ประการหนึ่ง ที่เป็นธรรมชาติของจิตเอง เราจะปรุงแต่งไม่ได้ ก็คือขณะที่ใจดับความคิดปรุงต่าง ๆ นั้น ดับจริง ๆ ความคิดความปรุงขาดจากกันไม่มีอะไรเหลือเลย เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ อยู่โดยลำพังตนเอง นี่ก็ให้เป็นตามหลักธรรมชาติของจิตที่เป็นขึ้นมาในตัวเอง

    การคาดการหมายไม่เกิดประโยชน์อะไร จึงไม่ควรคาดหมาย ให้ปล่อยไปตามจริตนิสัยของตนในส่วนนี้ ไม่ผิด ข้อสำคัญคือการปฏิบัติ ท่านสอนอย่างไร และเหมาะกับจริตนิสัยของเราอย่างไรบ้าง วิธีปฏิบัติ วิธีพิจารณา หรือวิธีบริกรรม ให้กำหนดตามนั้นเป็นของสำคัญ ให้ความรู้อยู่กับการภาวนานั้น ๆ จะภาวนาแบบไหนก็ตาม สติเป็นสิ่งสำคัญอยู่มาก ซึ่งจะให้พรากจากกันไม่ได้ จะขาดวรรคขาดตอนในทางความเพียรเพื่อจะยังผลให้สืบต่อเนื่องกันโดยลำดับ

    ที่พูดถึงจริตนิสัยของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ผู้นั้นเป็นอย่างนั้น หรือครูบาอาจารย์ท่านแสดงอย่างนั้น ผู้นั้นจิตรวมอย่างนั้น จิตรู้อย่างนั้น ๆ ให้เราเพียงฟังไว้เฉย ๆ หากจริตนิสัยของเราเป็นไปในทางใดแล้ว เรื่องที่ท่านกล่าวนั้นจะมาสัมผัสเราเอง เรารู้ในแง่ใด แง่ที่ท่านแสดงแล้วจะเข้ามาสัมผัส จะโผล่ขึ้นมารับกันทันที ๆ ถ้านิสัยของเราไม่มี ก็เป็นเพียงแต่ฟังไป ๆ อย่าไปยึดเอาข้อนั้นมาเป็นอารมณ์จนกระทั่งเกิดความร้อนใจ ในเมื่อจิตของเราไม่เป็นไปตามที่เรามุ่งหวังอย่างที่ท่านสอน อันนี้ก็เป็นความคิดอันหนึ่งของเรา ต้องระมัดระวัง

    ความสงบของใจ ที่เป็นความถูกต้องดีงามหรือเป็นที่ยอมรับกัน ก็คือความสงบ ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวายไปกับอะไร มีแต่ความเย็นใจ ถึงจะคิดในหน้าที่การงานต่าง ๆ ก็คิดไปได้อย่างธรรมดา แต่ไม่กวนใจเจ้าของเหมือนอย่างแต่ก่อน ที่ยังไม่เคยอบรมภาวนา นี่ท่านเรียกว่า “จิตสงบ” ถ้ามากกว่านั้นก็เป็นฐานมั่นคงอยู่ภายในใจ แม้จะคิดเรื่องอะไรก็คิดไป แต่พอย้อนเข้ามาสู่จุดแห่งความรู้ ก็เป็นจุดความรู้ ที่เด่นชัด ผ่องใส และเบา ให้เห็นอย่างชัดเจนภายใน นี่เป็นที่ยอมรับว่า “จิตสงบ” และมีฐานสมาธิประจำใจ และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “จิตเป็นสมาธิ” ถ้าจิตเป็นอย่างนี้ !

    เพราะฉะนั้น การที่จะไปยึดเอาเรื่องของคนนั้นคนนี้มาเป็นเรื่องของตัว หรือพยายามจะทำจิตของตนให้เป็นอย่างนั้น เป็นการขัดต่อจริตนิสัยของเรา จะเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา เพราะการสร้างความกังวลหม่นหมองให้เกิดขึ้นแก่ตน ด้วยเหตุนี้จึงควรทำความเข้าใจไว้ในข้อนี้

    ความเจริญของจิตนั้น ก็คือความสงบตัวนั้นแลเป็นสำคัญ ใจมีความละเอียดลออเข้าไปเป็นลำดับ มีความแน่นหนามั่นคงเข้าไปเรื่อย ๆ ความเจริญในขั้นเริ่มแรกเป็นอย่างนี้

    ต่อไปจะต้องมีความละเอียดขึ้นโดยลำดับจากจิตดวงนี้เอง จิตดวงนี้จะเปลี่ยนสภาพไปเรื่อย ๆ และเข้าสู่ความละเอียดจริง ๆ แม้จะพิจารณาทางด้านปัญญาการค้นคว้าต่าง ๆ ใจมีความเฉลียวฉลาดมากน้อยเพียงใดก็ตาม ฐานแห่งความสงบเย็นใจนี้ ก็ปรากฏเป็นความมั่นคงไปโดยลำดับเช่นกัน แต่บางครั้งเวลาชุลมุนวุ่นวายมากกับการงานทางด้านปัญญา ความสงบอันนี้จะหายไปก็มี แต่คำว่า “หายไป” นี้ไม่ได้หายไปแบบคนที่ไม่เคยภาวนา คนไม่เคยมีสมาธิมาก่อน

    คนไม่เคยภาวนานั้น ไม่มีความสุขความสงบภายในใจเลย จึงไม่มีคำว่า “จิตเจริญ” หรือ “จิตเสื่อม” เป็นจิตสามัญธรรมดา ๆ

    แต่จิตที่ “หายจากความสงบนี้” มีแต่ความรู้สึกที่จะพิจารณาอย่างเดียว มีความรื่นรมย์ มีความดูดดื่มในการพินิจพิจารณาเพื่อถอนกิเลสต่าง ๆ ออกจากจิตใจ ไม่ได้มีความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปกับโลกกับสงสารใด ๆ เลย แม้จะไม่ปรากฏเป็นความสงบแน่วแน่เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาก็ตาม เพราะความรู้อันนี้เปลี่ยนไปทางธรรมแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับโลกเลย ถึงจะไม่เป็นความสงบเหมือนจิตเป็นสมาธิก็ตาม แต่ก็เป็นความวุ่นกับตนเพื่อถอดถอนกิเลสต่างหาก มันผิดกันที่ตรงนี้

    การพยายามตะเกียกตะกายเพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจให้มีความสงบร่มเย็น เป็นที่แน่ใจตนเอง มีความอบอุ่น มีหลักใจเป็นเครื่องยึดเป็นที่อาศัยนี้ เป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่บ้าง แต่เราควรนึกคิดถึงเรื่องงานต่าง ๆ ที่เราทำ บางทีงานบางชิ้นมันก็หนักอึ้ง จนขนาดหัวเสียไปก็มี เรายังอุตส่าห์พยายามทำและผ่านไปได้ไม่รู้กี่งานมาแล้ว เหตุใดงานที่เป็นไปเพื่อตัวเองโดยเฉพาะแท้ ๆ เราจะทำไม่ได้ จะผ่านไปไม่ได้ นี่เป็นงานเหมือนกัน เป็นแต่เพียงว่างานนอกงานใน แปลกกันเพียงเท่านี้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ ต้องทำได้ ! เมื่อความพอใจมีอยู่แล้ว

    เมื่อปลงใจอย่างนี้แล้ว ความท้อถอยอ่อนแอก็ไม่มี พยายามดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จิตเมื่อได้รับการอบรมอยู่โดยสม่ำเสมอแล้ว จะแสดงความแปลกประหลาดขึ้นมาให้ชมเรื่อย ๆ ความเย็น ความอบอุ่น ความแน่ใจ จะมีกำลังมากขึ้น ๆ

    การฟังเทศน์ โดยเฉพาะที่เทศน์ทางด้านกรรมฐานเกี่ยวกับจิตตภาวนาล้วน ๆ ถ้าจิตไม่มีฐานแห่งความสงบเป็นที่รองรับกันบ้าง ฟังเทศน์ทางด้านปฏิบัติจะไม่เข้าใจ

    เราสังเกตจิตของเราตอนนี้ ถ้าฐานแห่งความสงบพอที่จะรับธรรมเทศนาของท่าน ทางด้านจิตตภาวนาทางด้านปฏิบัติไม่มีภายในใจ ฟังเทศน์ท่านเท่าไรก็ไม่เข้าใจ ยิ่งฟังเทศน์เรื่องมรรคเรื่องผลก็ยิ่งมืดแปดด้าน นี่แสดงว่าฐานรับภายในของเรายังไม่มี

    พอความสงบเริ่มมีขึ้น การฟังเทศน์ทางภาคปฏิบัติจะเริ่มมีรสมีชาติขึ้นภายในจิตใจ เพราะมีฐานของจิตที่เป็นความสงบเป็นเครื่องรองรับ เมื่อจิตรับกันได้ดีเท่าไร การฟังเทศน์ด้านปฏิบัตินี้จะยิ่งมีความซาบซึ้ง ไพเราะเพราะพริ้ง หวานอยู่ภายในจิตไม่จืดจาง แม้ใจเรายังไม่ถึงธรรมที่ท่านแสดงนั้นก็ตาม แต่ก็เหมือนเราเข้าใจ เรารู้เราเห็นไปตามท่านไม่มีข้อแย้ง เพราะท่านเปิดทางโล่งให้เห็นชัดเจน เห็นภาพนั้นภาพนี้โดยลำดับ ๆ ถ้าวาดภาพพจน์ขึ้นมาก็เป็นอย่างนั้น ยิ่งมีความดูดดื่มในการฟัง จนลืมเนื้อลืมตัว ลืมเวล่ำเวลาไปหมดในขณะที่ฟัง นี้คือจิตของเรามีฐานรับแล้ว เทศน์ทางด้านจิตตภาวนาจึงเข้ากันได้อย่างสนิทไม่มีปัญหา

    ทีนี้เวลาเราชินต่อการฟังเทศน์ประเภทนี้ เพราะจิตยอมรับแล้วอย่างนี้ ฟังเทศน์อื่น ๆ เลยขี้เกียจฟัง ราวกับฟังไม่ได้น้ำไม่ได้เนื้ออะไร พูดไปนอกโลกนอกสงสาร ไปที่ไหน ๆ โน้น ความจริงที่ปรากฏอยู่กับตัวทำไมไม่พูด ! เพราะเรื่อง “สัจธรรม” หมุนอยู่ภายในจิตใจ แล้วไปเทศน์ “ข้างนอก” แม้จะเป็น “สัจธรรม” ก็จริง แต่มันอยู่นอกห่างไกลจากปากจากท้องเรา ที่จะได้รับประทานอย่างง่าย ๆ ทันใจ เพราะเป็นภายในจิตเอง เมื่อเทศน์เข้ามาสู่ภายในนี้ ย่อมเป็นเครื่องกล่อมจิตใจได้อย่างสนิทมาก ลึกซึ้งมาก เพราะพริ้งมาก มีรสมีชาติขึ้นโดยลำดับ

    ท่านเทศน์เรื่อง “วิถีจิต” เทศน์เรื่อง “สติ” เทศน์เรื่อง “ปัญญา” เทศน์หมุนเข้ามาใน “สัจธรรม” ซึ่งมีอยู่กับตัวทุกคน ท่านยกสัจธรรมขึ้นเป็นสนามรบ หรือเป็นธรรมเทศนา ย่อมเข้ากับจิตที่มีความสงบได้ดี เพราะจิตเต็มไปด้วยสัจธรรม ทุกข์ก็เสียดแทงเข้ามาที่จิต สมุทัยก็เกิดที่จิต เสียดแทงที่จิต มรรคก็ผลิตขึ้นมาที่จิต คือสติปัญญา จะผลิตขึ้นมาจากไหนถ้าไม่ผลิตขึ้นจากจิต ผลิตขึ้นจากที่นี่ เมื่อมีอำนาจมีกำลังมากเพียงไร ก็ระงับดับกิเลสตัณหา ดับทุกข์กันลงไปเป็นลำดับ ๆ ก็ดับในที่นี้ ที่เรียกว่า “นิโรธ ๆ” นั่นน่ะ

    สัจธรรมมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้อยู่ภายในจิต หมุนอยู่ตลอดเวลา เป็น “ธรรมจักร” ถ้าจะพิจารณาให้เป็นธรรม สัจธรรมนี้ก็เหมือนธรรมจักร ถ้าจิตเราคิดไปแบบโลกแบบสงสารซึ่งไม่เคยภาวนาเลย มันก็เป็น “กงจักร” ผันให้เรารุ่มร้อนอยู่ตลอดเวลาวุ่นไปหมด จนหาที่ปลดเปลื้องไม่ได้ นั่งก็ไม่สบาย นอนก็ไม่สบาย อิริยาบถทั้งสี่มีแต่ไฟเผาจิตเผาใจ ไฟกิเลสตัณหาอาสวะนั่นแหละ ไม่ใช่ไฟอื่น ที่จะร้อนยิ่งกว่าไฟอันนี้

    ถ้าจิตเป็นอรรถเป็นธรรม พินิจพิจารณาเพื่อถอดเพื่อถอนด้วยมรรคผลปฏิบัติอยู่แล้ว เรื่องสัจธรรมทั้งสี่นี่ก็เป็น “ธรรมจักร” เป็นเครื่องซักฟอกสติปัญญาได้เป็นอย่างดี ทุกข์เกิดขึ้นที่ตรงไหนจะกระเทือนถึง ปัญญานำมาพิจารณา เราเคยทราบอยู่แล้วว่าทุกข์คืออะไร เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ เป็นสิ่งที่ทรมานจิตใจของสัตว์โลกอย่างมากมาย และทุกข์นี้เกิดขึ้นมาจากอะไร

    ย้อนไปเรื่องสติปัญญา การค้นคว้าอย่างนี้ การคิดอย่างนี้ เป็นเรื่องของมรรค พิจารณาเหตุพิจารณาผลไปโดยลำดับ เฉพาะอย่างยิ่งควรเอา “ขันธ์ห้า” เป็น “สนามรบ” รบที่ไหนไม่ถนัดเหมือนรบในขันธ์ห้า เพราะขันธ์ห้านี้เป็นเจ้าตัวการสำคัญ ที่ก่อทุกข์ภายในร่างกายและจิตใจไม่หยุดหย่อน การพิจารณาขันธ์ห้าจึงเหมือนว่า การรบกับกิเลสในขันธ์ห้า การรบด้วยการพิจารณาขันธ์ห้า จึงเป็นการปลดเปลื้องภาระจากข้าศึก และนำชัยชนะกลับมาได้ จากการรู้เท่าทันขันธ์ห้านี้โดยไม่ต้องสงสัย

    พระพุทธเจ้าท่านรบข้าศึกก็อยู่ภายในขันธ์ห้า สาวกท่านก็ได้ชัยชนะภายในขันธ์ห้า ไม่ได้ชัยชนะจากที่อื่นใด เพราะแพ้ก็แพ้ที่นี่เอง หลงก็หลงเพราะสิ่งนี้ ไม่หลงเพราะสิ่งอื่น หลงเพราะสิ่งนี้สิ่งเดียว การพิจารณาจึงต้องพิจารณาจุดที่หลง เพื่อให้เกิดความรู้ขึ้นมาในจุดที่เคยหลง เมื่อรู้สิ่งใดย่อมแยกตัวออกได้จากสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นขันธ์ทั้งห้านี้จึงเป็นหินลับปัญญาได้อย่างดีเยี่ยม จึงไม่ควรมองข้ามขันธ์ห้า ถ้าผู้พิจารณาเพื่ออรรถเพื่อธรรมไม่ใช่เพื่อเห็นแก่ตัว คำว่า “เพื่อเห็นแก่ตัว” นั้นเป็นเรื่องของกิเลส กลัวตายก็กลัว อะไรก็กลัวไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกข์เกิดขึ้นมาก็กลัวจะสู้ไม่ไหว ความกลัวจะสู้ไม่ไหวก็คือเรื่องของกิเลส ฉะนั้นจงอย่าไปกลัว สร้างความกลัวขึ้นมาทำลายตัวทำไม! ความกลัวนี้เป็นตัวภัย สร้างขึ้นมามากน้อยก็เสียดแทงจิตใจ ให้เกิดความทุกข์มากน้อยตามที่เราสร้างขึ้นมา

    ความจริงมีอย่างไรให้นำมาใช้ ความจริงคืออะไร ? ให้รู้ความจริงของ “สัจธรรม” หรือของขันธ์ห้าที่มีอยู่ในตัวของเรา ผู้ไม่รู้ความจริงในขันธ์ห้าที่อยู่กับตัวนั้น ไม่จัดว่าเป็นผู้ฉลาด และหาทางพ้นภัยไปไม่ได้ จะต้องถูกสิ่งที่เราถือว่าเป็น “ข้าศึก” สิ่งที่เรากลัวนั้นแลย่ำยีเราให้ได้รับความทุกข์ทรมาน และแพ้อยู่ตลอดไป

    ยิ่งเป็นวาระสุดท้ายด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะกลัวตายมาก กลัวเจ็บกลัวปวดตรงนั้นตรงนี้มาก นั้นแลคือการสร้างเสี้ยนหนามขึ้นมาเสียดแทงจิตใจของตัวเอง ให้เกิดความท้อแท้อ่อนแอ ดีไม่ดีเกิดความเผลอตัวไปได้ เพราะผิดจากสัจธรรม ผิดจากหลักความจริง

    ปัญญามีอยู่ สติมีอยู่ จงนำมาใช้ สติปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้รู้แจ้งเห็นจริงกับสิ่งที่เป็นข้าศึกนี้ จนกลายเป็นมิตรกันได้ คือต่างอันต่างจริง


    จิตไม่เคยตาย เราไม่ต้องวิตกวิจารณ์ เราไม่ต้องสะทกสะท้านว่าจิตจะตาย อะไรจะเกิดก็เกิดเถอะ จิตเป็นผู้สามารถรับทราบได้ทุกสิ่งทุกอย่างบรรดาที่เกิดขึ้นกับจิต ไม่มีอะไรที่จะแหลมคมยิ่งกว่าจิตที่คอยรับรู้อยู่ตลอดเวลา

    เอ้า ทุกขเวทนาเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร จิตก็รู้ว่าทุกขเวทนาตอนนี้เกิดขึ้นมาก เอ้า ดับไปก็ดับไปเรื่องทุกข์ แต่จิตไม่ดับ อะไรจะเกิดขึ้นมากน้อย ให้เห็นความจริงของมัน อย่าลืมตัวว่าจิตเป็นผู้รู้ เป็นนักรู้แท้ๆ ไม่ใช่นักหลบ หลบความรู้จนกลายเป็นไม่รู้ขึ้นมา นั่นเป็นเรื่อง “อวิชชา” อย่านำมาใช้ ให้รู้เกิดขึ้นมากน้อย ให้รู้ตามความจริงของมันเฉย ๆ

    การพิจารณาทุกขเวทนาเราก็ทราบ ทุกข์เราก็ทราบว่าทุกข์ ผู้ทราบว่าทุกข์นั้นคือจิต ความทุกข์นั้นเป็นสภาพอันหนึ่ง ผู้ทราบว่าทุกข์นั้นเป็นสภาพอันหนึ่ง ไม่ใช่อันเดียวกัน โดยหลักความจริงแล้วเป็นอย่างนี้ จงพิจารณาให้เห็นความจริงของทุกข์นี้ จะได้เห็นความจริงของ “จิต” ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

    นักปฏิบัติเราถ้าใจยังถือทุกขเวทนาเป็นข้าศึกต่อตน จนต้องหาทางหลบหลีก ไม่อยากเข้าหน้ากับทุกข์อยู่ตราบใด ความจริงนั่นคือ “ทางแพ้ ทุกข์ สมุทัย” นั่นเอง จะหาทางออกจากทุกข์และพ้นทุกข์ ดับสมุทัยไม่ได้อยู่ตลอดเวลาถ้าไม่กล้าสู้ทุกข์ ขุดค้นสมุทัยด้วยมรรคคือสติปัญญา

    เอ้า อะไรเกิดขึ้นก็ให้รู้ จิตมีหน้าที่ที่จะรู้ เอาปัญญาเทียบเข้าไป ค้นดูให้เห็นชัดเจนว่า ทุกข์เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่จุดใด ทุกข์เกิดขึ้นทางกาย หนึ่ง ทางกายเกิดขึ้นมีอาการใด เกิดขึ้นภายในจิต เพราะเหตุใดจึงเกิดขึ้นภายในจิตได้ ถ้าไม่ใช่ “สมุทัย” คือความคิดนอกลู่นอกทางเป็นเครื่องเสริม หรือเป็นเครื่องผลิตขึ้นมา

    ความจริงก็คือความลุ่มหลงตนเอง เพราะความรักสงวนตน ไม่อยากให้ทุกข์เกิดขึ้น แม้เกิดขึ้นแล้วก็อยากให้ดับไปอย่างดื้อ ๆ โง่ ๆ นั้นแล สร้างขึ้นมา เช่น อยากให้ทุกข์ดับโดยไม่พิจารณาค้นหาเหตุของทุกข์คือสมุทัยตัวการสำคัญ ความอยากให้ทุกข์ดับนี้แลคือสมุทัย มีแต่อยากให้ทุกข์ดับไป นั่นแหละคือสร้าง “สมุทัย” โดยตรง

    ที่ถูกเราไม่ต้องอยาก พิจารณาสิ่งที่มีอยู่ ที่ปรากฏอยู่ สิ่งที่ไม่มีอย่าไปคว้าหามามันเป็นทุกข์ มันเป็นการสร้างกิเลสขึ้นภายในอีก เวลานี้ทุกข์ยังไม่ดับ อย่านำความอยากมาบังคับให้มันดับไป ทุกข์ปรากฏขึ้นมาให้พิจารณาตามสิ่งที่ปรากฏ อะไรที่ยังไม่เกิดขึ้น อย่าตั้งความอยากให้มันเกิดขึ้น เพราะมันเป็นความจริงอันหนึ่ง ๆ ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ใด ขณะที่มันเกิดขึ้นก็ดี ไม่เกิดขึ้นก็ดี มันตั้งอยู่ก็ดี มันดับไปก็ดี ผู้รู้เป็นรู้ อย่าไปสร้างความอยากขึ้น ให้รู้ชัดอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้รอบคอบในการพิจารณา ตายก็ตายเถอะ ความจริงไม่มีอะไรตาย พิจารณาให้เห็นชัดเจนอย่างนี้

    ร่างกายจะสลายก็ให้สลายไป เพราะเรื่องสลายเป็นของคู่กันกับสิ่งที่ผสม สิ่งที่รวมตัวกัน เมื่อรวมตัวแล้วก็ต้องสลาย ถึงเวลาแล้วต้องสลายไปด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรในโลกนี้ ความไม่สลายไม่มี แม้แต่ภูเขาทั้งลูกมันยังสลายได้ ทำไมร่างกายอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ จะสลายไปไม่ได้ ฝืนธรรมดาไปทำไม เกิดประโยชน์อะไร

    การไม่ฝืนธรรมดา ให้รู้ความจริงของธรรมดานี้แล คือทางธรรม ทางโล่ง ทางปลดปล่อย ไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องได้เลย ปัญญารอบตัว หากจะตายขณะที่เวทนากำลังกล้าก็ให้รู้กันอยู่กับเวทนา เป็นการ “ลับจิต” ด้วยปัญญา โดยถือเอาเวทนาเป็น “หินลับ” ได้อย่างประจักษ์ภายในจิต

    ทุกข์ดับไปจิตจะไปเกาะอะไร เพราะจิตเป็น “ผู้รู้” ผู้พิจารณาทุกข์เพื่อรู้และสลัดทุกข์อยู่แล้ว จิตจะไปติดทุกข์และตกทุกข์ได้ยากที่ไหนกัน ทุกขเวทนาเราก็ทราบแล้วว่าเป็นสภาพอันหนึ่ง เมื่อพิจารณาทุกขเวทนานั้นด้วยปัญญาความฉลาด เพื่อปลดเปลื้องทุกขเวทนานั้นอยู่แล้ว เราจะไปตกนรกอเวจีที่ไหนกัน!

    ทุกขเวทนาดับไป ก็ดับไปตามเรื่องของเวทนา ผู้รู้ผู้ฉลาดพิจารณาแยกตัวออกจากทุกขเวทนาก็คือจิตกับปัญญา ผู้ไม่ดับก็คือจิต ก็อยู่ตามความไม่ดับของจิต ตามความรู้ความฉลาดของจิต จิตฉลาดเปลื้องตนเพราะการพิจารณาเวทนาต่างหาก จิตมิได้ติดจมอยู่กับความทุกข์ เพราะการพิจารณาทุกข์เพื่อความฉลาดปลดเปลื้องตน เราเหยียบ “บันได” ขึ้นสู่บนบ้านต่างหาก มิได้เหยียบ “บันได” เพื่อติดอยู่กับบันไดนั้น

    นี่เราก็พิจารณาทุกขเวทนาเพื่อเปลื้องตนจากทุกขเวทนาต่างหาก ไม่พิจารณาทุกขเวทนาเพื่อติดทุกขเวทนา เมื่อตายไปจะเกิดความล่มจมแก่จิตผู้เดินทางชอบได้อย่างไร เมื่อทุกขเวทนาคือทางเดินของจิตของปัญญาแท้แล้ว ชื่อว่าจิตเดินถูกทางของอริยสัจและสติปัฏฐาน อันเป็นทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ไม่สงสัย

    การพิจารณา “ขันธ์” ท่านพิจารณาอย่างนี้ ไม่ต้องกลัว พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้กลัว แต่สอนให้รู้ความจริง ให้พิจารณาความจริง นี่เป็นจุดหมายที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแท้ เรื่องความกลัวพระองค์ไม่ได้สอน เป็นเรื่องของกิเลสเสี้ยมสอนคนให้โง่หนักเข้าต่างหาก ผลที่ได้รับมีแต่ความโง่ และกองทุกข์เต็มหัวใจ ภพชาติเต็มตัว

    คำว่า “เรา ๆ หรือใคร ๆ” มาเป่าหูปาว ๆ ก็อย่าเชื่อง่าย ๆ ให้เชื่อพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวที่เลิศโลกมาแล้ว อย่ากลัวความจริงเราเป็นนักปฏิบัติ ความกลัวไม่เป็นเรื่องให้สำเร็จประโยชน์ เป็นเรื่องสั่งสมกิเลสขึ้นมา ให้เกิดความทุกข์มาก เพราะความกลัว กลัวมากเท่าไรก็เกิดความทุกข์มากเท่านั้น พิจารณาให้เห็นประจักษ์ภายในจิตอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น โดยไม่ต้องไปหวังพึ่งใครในเวลานั้น เราอย่าหวังพึ่งใคร ไม่ใช่ที่พึ่งอันแท้จริง! นอกจาก “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ด้วยสติปัญญาเราเท่านั้น จะเป็นที่พึ่งของเราได้อย่างเต็มใจ ตึกรามบ้านช่อง ใครต่อใครก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างพึ่งไม่ได้ทั้งนั้น เวลาจะตายจริง ๆ ขันธ์ห้าก็พึ่งไม่ได้ มันจะแตกอยู่เวลานี้จะพึ่งมันได้ที่ไหน แล้วเราจะพึ่งใคร

    สติปัญญาเท่านั้นเป็นอาวุธที่ทันสมัย ที่จะแก้หรือช่วยเราได้ในขณะนั้น จงค้นลงไปพิจารณาลงไป ทุกข์เป็นของเกิดของดับ ใจเป็นของไม่เกิดไม่ดับ เป็นธรรมชาติของใจอยู่โดยธรรมชาติของตน พิจารณาให้ชัดเจนแล้ว จิตจะแยกตัวออกมาเอง เมื่อเข้าใจชัดเจนแล้วไม่ไปไหน ไม่ไปติดอยู่กับอะไร มีทุกขเวทนาเป็นต้น เพราะปัญญาเป็นเครื่องผลักดันสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลายนั้นออกไปโดยลำดับ ๆ ให้เข้าใจอย่างนี้ เราก็โล่งใจสบายใจ นี่แหละเรียกว่า “การพึ่งตนเอง”

    จงคิดถึงวาระสุดท้าย วาระสำคัญที่สุดคือวาระไหน? คือทุกขเวทนาอันแสนสาหัสนี้แล จะสาหัสขนาดไหนในวาระสุดท้าย ต้องเตรียมสติปัญญาให้พร้อมมูล สู้ ! เพื่อแย่งเอาของจริงจากสิ่งจอมปลอมที่เคยหลอกเรามาเป็นเวลานาน มาครองให้ได้ !

    ร่างกายนี้แค่ตายเท่านั้น ! สติปัญญาเป็นผู้สามารถตลอดสาย เวทนาจะมาจากทิศใดแดนใด มันก็อยู่ในขันธ์นี้เท่านั้น เวทนาขันธ์ก็คือขันธ์นี้เท่านั้น ไม่ได้อยู่นอกเหนือเมฆลอยมาทับเราได้ มันทับอยู่ภายในตัวเรานี้ถ้าเราไม่มีสติปัญญาทันมัน ถ้าสติปัญญาทัน ทุกขเวทนาก็ไม่ทับ ทุกขเวทนามีมากมีน้อยก็ทราบกันอย่างชัดเจนด้วยปัญญานี้เท่านั้น ปัญญานี้แหละเป็นเครื่องช่วยตัวเอง

    ความพากเพียร อย่าถอย ถอยไม่ได้เมื่อเข้าตาจนแล้วต้องสู้จนสุดเหวี่ยง และเปลื้องกิเลสตัวหลงงมงายลงให้ “วัฏจักร” โน้นเป็นไร! ก็เราจะสู้ จะเอาชัยชนะ จะถอยไปไหน จะเอาชัยชนะด้วยการสู้นี่! ไม่ได้เอาชัยชนะด้วยการถอย เมื่อเอาชัยชนะด้วยการสู้ ต้องสู้ด้วยสติ สู้ด้วยปัญญา ไม่ใช่สู้ด้วยความโง่ ๆ

    จิตนี้พระพุทธเจ้าทรงรับรองอยู่แล้วว่าไม่ตาย
    เรา จะกลัวตายหาอะไร เราคือจิต ก็ไม่ตายนี่ เราจะกลัวตายไปทำอะไร ถ้าตัวจิตตายเราก็ตาย นี่ตัวจิตไม่ตายแล้วเราจะตายได้ที่ไหน เงาแห่งความตายมันมีอยู่ที่ไหน มันไม่มีนี่ ไม่มีจนกระทั่ง “เงา” แห่งความตาย เราตื่นเราตกใจ เรากลัวตายไปเฉยๆ กลัวลม ๆ แล้ง ๆ ความตายของใจไม่มี แม้กระทั่ง “เงา” ให้กลัว ก็ยังกลัวกันไปได้ เพราะความหลงของจิตนี่เอง

    ท่านจึงสอนให้สร้างปัญญาให้ทันกับเหตุการณ์ จิตนี้เป็นที่แน่ใจว่าไม่ตาย พิจารณาให้ชัด เอ้า อะไรเกิดก็เกิดขึ้นเถอะ จิตมีหน้าที่รู้ทั้งหมด จนกระทั่งวาระสุดท้ายเครื่องมือนี้แตกไป ปัญญาก็สลายไปด้วยกัน
    จิตที่ได้รับการซักฟอกจากปัญญาแล้วจะไม่ตายไม่สลาย จะ มีแต่ความผ่องใสเป็นอย่างน้อย มีความผ่องใสประจำตัว มากกว่านั้นก็ผ่านพ้นไปได้เลย จงเอากันในวาระสุดท้าย เอาชัยชนะอย่างสุดยอด ! ในวาระสุดท้ายนี้ให้ได้

    ไม่ต้องไปคาดโน้นคาดนี้ว่า เป็นหญิงเป็นชาย ว่าเราปฏิบัติมา เท่านั้นปีเท่านี้เดือน ได้มากได้น้อย ไม่ใช่เวลาจะมาแก้กิเลสตัณหาให้เราได้ มีความเพียรเท่านั้นเป็นเครื่องแก้



    http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1553&CatID=1]Luangta.Com]Luangta.Com -
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 ธันวาคม 2009
  4. ธรรมะสวนัง

    ธรรมะสวนัง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    1,305
    ค่าพลัง:
    +1,256
    อนุโมทนาค่ะ

    จิตไม่ดับ ถ้าจิตดับ แล้วพระพุทธองค์จะทรงมาบอกได้รึว่า
    ทรงบรรลุพระนิพพาน

    จิตไม่ดับ แต่ราคะ โทสะ โมหะ ดับไปจากจิต
    จึงตรัสไว้ในปฐมพุทธพจน์ว่า

    จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง
    บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว


    (smile)
     
  5. 2ชาติตรัสรู้

    2ชาติตรัสรู้ គ្រប់គ្រាន់ รักษาดวงใจ.គ្រប់គ្រាន់

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    1,696
    ค่าพลัง:
    +1,558
    สาธุอนุโมทนา..
    จิตไม่ดับ แต่ก็ไม่ไช่ไห้ยึดว่า เป็นเรา จิตก็เป็นจิตอย่างนั้น ไม่ไช่เรา..
     
  6. ธรรมะสวนัง

    ธรรมะสวนัง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    1,305
    ค่าพลัง:
    +1,256
    จิตไม่ดับ เพราะจิตไม่ใช่ขันธ์ ๕
    จิตคือธาตุรู้ รู้ทรงตัวทุกกาลสมัย

    จิตรู้ผิด (อวิชชาครอบงำ) ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
    จิตรู้ถูก (หลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชา) รู้จักอริยสัจ ๔ตามความเป็นจริ

    ปุถุชน จิตมีอวิชชาครอบงำ ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
    หลงยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตนของเรา


    จึงต้องปฏิบัติอริยมรรค ๘ ตามเสด็จ
    จิตหลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชา รู้จักอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
    ไม่หลงยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตนของเรา

    เพราะจิตรู้อยู่ เห็นอยู่ ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕


    เรา เป็นเพียงสรรพนามเรียกขานให้รู้ว่า จิตดวงนี้เป็นของผู้ปฏิบัติคนนี้
    จิตของใครของเค้า ใครปฏิบัติก็รู้แจ้งได้ด้วยตนเอง เห็นได้ด้วยตนเอง

    อ้อ แล้วถ้ายังมีการยึดอยู่ตราบใด
    จิตก็ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะตราบนั้น

    ฉะนั้น อย่ากลัวเรา กันมากไปจนเกินเหตุ
    เพราะเราผู้ปฏิบัติ ก็คือ จิต

    (smile)
     
  7. 2ชาติตรัสรู้

    2ชาติตรัสรู้ គ្រប់គ្រាន់ รักษาดวงใจ.គ្រប់គ្រាន់

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    1,696
    ค่าพลัง:
    +1,558
    จะว่าจิตคือเราก็คงได้มั๊งครับ...
    แต่ขณะนี้ผมเห็นว่า จิตก็เป็นจิต เราบุคคลคนนี้ไม่มีตั้งแต่แรกเราเป็นแค่สมมุติหนึ่ง ที่จิตไปรู้เท่านั้น ..
    แล้วความเห็นว่าจิตไม่ไช่เราแบบนี้ก็ไม่ไช่เพราะกลัวอะไรเลยไม่มีอะไรต้องกลัวจนต้องหนีเราเลย ..
    ตรงข้าม บางคนที่ยึดว่าจิตเป็นเรายึดเพราะความกลัวซะด้วยซ้ำคือ กลัวว่าเราจะไม่มีตัวตน

    แต่ความเห็นที่ว่าจิตไม่ไช่เราเราไม่มีนี้ก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นหรอกนะครับ
     
  8. 2ชาติตรัสรู้

    2ชาติตรัสรู้ គ្រប់គ្រាន់ รักษาดวงใจ.គ្រប់គ្រាន់

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    1,696
    ค่าพลัง:
    +1,558
    พูดถึงจิตเป็นเราหรือไม่เล่นๆอีกหน่อยนะครับ...

    เปรียบเทียบกับสิ่งอื่นๆ เช่นสังขาร หรือ ขัน5 ท่านว่าไม่ไช่เรา เพราะ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ควบคุมไม่ได้ ถ้าเป็นเรา ต้องได้ดังใจเรา ต้องบังคับบันชามันได้ แต่นี้ ควบคุม บังคับบันชามันไม่ได้.. ท่านจึงว่าไม่ไช่เรา..

    ที่นี้จิตหละ มีลักษณะเดียวกับ สังขาร หรือ ขัน5 ที่ท่านว่าไม่ไช่เราหรือไม่ ...
    อาจพูดได้ว่า ถ้าเมื่อไร ที่จิต มีลักษณะอาการแบบสังขาร หรือ ขัน5 ที่ท่านว่าไม่ไช่เรา จิตนั้นก็ยังไม่ไช่เรา
    แต่ ถ้าเมื่อไร จิต มีลักษณะอาการ ตรงกันข้ามกับ สังขาร หรือ ขัน5 อาจพูดได้ว่า จิตนั่นหละ เรา..
     
  9. Bull_psi

    Bull_psi เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    889
    ค่าพลัง:
    +1,445
    การที่เราจะทำอะไรสักอย่างนึง ล้วนมีจุดมุ่งหมาย
    ดูทีวี ก็เพื่อแก้เบื่อ เสพอารมณ์ ตลก มันส์ บันเทิง
    เปิดบริษัท แสวงหากำไร
    NGO ช่วยเหลือสังคม
    อย่างตอนนี้ปฎิบัติธรรมเราก็ปฎิบัติเพื่อพ้นทุกข์
    ถ้านิพพานแล้ว จะทำอะไรที่นั่นกันนะครับ

    หรือการไปแดนนิพพานแบบยังไม่ดับวิญญาณ
    ตัวสัมผัสเวทนายังมี จึงเห็นเป็นแดน
    เมื่อดับวิญญาณแล้วจึงเหลือแต่ จิตรู้ จึงว่างไปหมด

    เมื่อวานนี้จอดรถเข้าไปซื้อขนมกินในเซเว่น ในปั๊มปตท.
    พอออกมาเห็นมีพี่ผู้หญิงกับลูก ยืนรออยู่ข้างรถ
    พี่เค้าถอยรถมาชนรถผม บุบเลย
    คำแรกที่ผมถามพี่เค้าด้วยรอยยิ้มขณะกินไส้กรอกชีส "ทำไมไม่หนีไปหล่ะครับ"
    เห็นรถบุบมันก็ไม่ทุกข์เหรอเดี๋ยวนี้(แปลกดี เป็นไปเองแฮะ)

    พี่เค้าบอกว่าเราโกงเค้าเราก็ไม่เจริญ ถ้าพี่หนีเธอก็จะด่าพี่ (สาธุ ขนลุกปิติเลย)
    มีเค้าให้มา2000 กับเบอร์โทรบอกว่าถ้าซ่อมเกินให้โทรบอก
    "ดีจริงที่เธอไม่โกรธพี่" (สาธุ)

    ตั้งแต่ปฎิบัติธรรมมา คนรอบข้างใจเย็น สงบ คนที่พบเจอก็มีแต่คนดีๆ
     
  10. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    ขออณุญาติ ขุดๆๆ ......
    เผื่อบางทีอาจมีคนคลายความสงสัยในบางเรื่องได้บ้าง

    :)
     
  11. kengkenny

    kengkenny เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    2,878
    ค่าพลัง:
    +2,500
    ปัจจุบัน ในปัจจุบัน เป็นปัจจุบัน และปัจจุบันของแต่ละคนไม่เท่ากันบางคนสั้นบางคนยาว เหมือนความเร็วของเวลา บางคนนาที บางคนวินาที บางคนน้อยกว่าวินาทีออกไปอีก คงไม่มีใครอุปทานธรรมขึ้นมาได้ด้วยตนเองหรอก ต่างคนก็มีที่มาของธรรมนั้นแต่จะละเอียดลึกซึ้งเท่าพระอรหันต์นั้นคงเป็นไปไม่ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่พระอรหันต์ทุกองค์สอนไว้ และพระพุทธเจ้าทุกองค์สอนไว้ ศาสนาจะอยู่ได้เจริญขึ้นได้ด้วยพุทธบริษัท ๔ หาได้จากความเชื่อ อย่างไม่มีเหตุผล แต่เป็นความเชื่อเพราะปฏบัติตาม เจริญรอยตาม ความเชื่อนั้นๆ จึงสมบูรณ์ ผมเชื่อว่าธรรมทั้งหลายที่ท่านทั้งหลายพิจารณามาเองก็ดี นำมาจากพระอริยะสงฆ์องค์อรหันต์ทุกท่าน พระพุทธวจนะ พระไตรปิฏก ก็ดีต่างก็ต้องผ่านการพิจารณามาตามสมควรแก่ฐานะของแต่ละท่าน ส่วนเรื่องจะบอกว่าจิตไม่ดับ หรือจิตไม่เกิด มันเป็นในส่วนที่ฐานะของแต่ละท่านจะมองเห็นได้ ไม่ต่างกัน หรือจะเห็นว่าดวงเดียวไปมันก็เป็นอย่างนั้นเช่นกัน ความสำคัญของธรรมทั้งหลาย พระศาสดาสอนให้ใช้ปัญญาของตนพิจารณาถอดถอนความยึดมั่นถือมั่น แล้วอะไรคือความยึดมั่นถือมั่นละ นี่เป็นข้อควรพิจารณา หากพิจารณาได้ว่าอะไรคือความยึดมั่นถือมั่น จิตเป็นเรา มีความหมายไหม จิตไม่ใช่เรา มีความหมายไหม ตลอดจน จิต ยังมีความหมายไหม ผมก็ประมวลคำสอนตกผลึกคำสอนของพระศาสดาและพระอรหันต์ทั้งหลายทั้งปวงมากล่าวเช่นกัน หาใช่สิ่งที่ผมมีหรอกครับ เพราะผมเองก็รู้แค่เพียง หากนิพพานคือ การละวางความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงแล้ว ใครจะบอกว่าเป็นจิตอย่างนั้นเป็นจิตอย่างนี้ผมยังเห็นว่า คงยังปฏิบัติมาไม่พอต่อการจะทวนกระแสกิเลสที่มีในตนเอง เท่านั้น แม้แต่ตัวผมเองด้วยเช่นกัน เพราะธรรมชาติของความยึดมั่นในสิ่งใดก็ตาม ไม่มีเลยที่จะไม่เป็นทุกข์ ไม่เศร้าโศกเสีย ใจเมื่อพลัดพลาด หรือ เสียดายเมื่อไม่ได้ไม่มีไม่เป็นไปตามที่ยึดมั่นในสิ่งต่างๆเหล่านั้น ขอท่านทั้งหลายพิจารณา ด้วยสติปัญญาให้มาก
    ผมขออนุโมทนาในความตั้งใจของท่านทั้งหลายครับ
     
  12. Peet

    Peet เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    296
    ค่าพลัง:
    +324
    สาธุ อนุโมทนามิ ครับ
    นิพพาน ก็คือนิพพาน จะมา อัตตา อนัตตา อะไรกันอีก
     
  13. หม้อหุงข้าว..!

    หม้อหุงข้าว..! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,103
    ค่าพลัง:
    +1,072
    ธรรมของพระอริยสงฆ์ ผู้ประจักษ์เป็นพยาน ในมรรคผล
    ต่อพระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    สาธุๆ
     
  14. COME&Z

    COME&Z เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    1,144
    ค่าพลัง:
    +234
    :)จิตเราเดิมแท้นั้นประภัสสร แต้ต้องมัวหมองเพราะกิเลสจรมา:) ดังนั้น นิพพานจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง สุขจากความว่าง...สงบจากการปรุงแต่งใดๆ........:) ขออนุโมทนาในธรรมทานค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ^/\^
     
  15. วิษณุ12

    วิษณุ12 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    5,337
    ค่าพลัง:
    +6,846
    ช่วยหลวงพี่ฯ และพี่เสขะ ดัน ดัน ดัน
    จิตที่ได้รับการซักฟอกจากปัญญาแล้วจะไม่ตายไม่สลาย

    แต่ จิต ที่ยังไม่ได้รับการซักฟอกจากปัญญา
    หรือ อยู่ ระหว่างทางดำเนินการซักฟอกจากปัญญา ติ๊กต๊อก ติ๊กต๊อก
     

แชร์หน้านี้

Loading...