ทัวร์ธรรม ตามรอย 'หลวงปู่มั่น'

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย aprin, 15 สิงหาคม 2009.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    [​IMG]
    [​IMG]
    [​IMG]
    [​IMG]



    [​IMG]

    เชิดชูบูรพาจารย์แดนอีสาน

    พระเกจิชื่อดังในเมืองไทยมีอยู่มากมายหลาย รูป หากเอ่ยถึง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หรือที่รู้จักกันในนามหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์แห่งภาคอีสาน น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก!!

    หลวงปู่มั่น เป็นพระสอนธรรมสายวิปัสสนากรรมฐานวัดป่า ที่ได้รับการเรียกขานว่า “พระอาจารย์ใหญ่” เป็นพระผู้มีประวัติอันงดงาม เป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางใจให้กับผู้คน ตลอดเวลาในเพศบรรพชิต หลวงปู่มั่นปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระเถระซึ่งเป็นที่เคารพของผู้คนเจริญรอยตามท่านมากมายหลายต่อหลายรูป

    ผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระรูปนี้ คงอยากรู้เรื่องราวของท่านกันไม่ใช่น้อย รวมทั้ง ผู้ที่เคยได้ยินคงสงสัยว่าเพราะเหตุผลใดถึงได้เป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพศรัทธามาจนถึงทุกวันนี้แม้ จะละสังขารไปนานแล้วก็ตาม?

    ทริปนี้จึงเป็นทริป ตามรอยหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งล้วนแต่เป็นสถานที่ในภาคอีสานทั้งสิ้น โดยเส้นทางนี้อาจจะไม่ได้เริ่มจากถิ่นกำเนิดมาจนถึงวาระสุดท้ายของหลวงปู่มั่น แต่เพื่อความสะดวกในการเดินทางจะได้ไม่ต้องย้อนกลับไปกลับมา โดยเริ่มกันที่แรก วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เป็นวัดที่ท่านเมื่ออุปสมบทแล้วมาพำนักอยู่ที่วัดนี้ เพื่อศึกษาวิปัสสนา ปฏิบัติธรรม ร่วมกับ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล

    ถัดมาประมาณ 1 กม. คือ วัดบูรพาราม เป็นวัดที่หลวงปู่มั่น มาศึกษาวิปัสสนากับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เช่นกัน วัดนี้นับเป็นวัดต้นกำเนิดสายพระวิปัสสนากรรมฐานยุคแรกเริ่มของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ทั่วประเทศต่างเดินทางมาปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้กัน ภายในสิมหลังเก่ามีรูปหล่อโลหะของพระอาจารย์ทั้ง 5 คือ พระอาจารย์ สีทา ชยเสโน อาจารย์เสาร์ กันตสีโล อาจารย์มั่น ภูริทัตโต อาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และอาจารย์ลี ธัมมธโร สร้างขึ้นเมื่อสมัยปลายสงครามอินโดจีน โดย กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงในสมัยนั้น

    ที่วัดนี้มีเรื่องแปลกที่เล่า ต่อ ๆ กันมาว่า ถ้ามีการตั้งเครื่องเสียงจัดงานมหรสพภายในวัดทีไรต้องได้เรื่องทุกที มีอยู่ครั้งหนึ่งตั้งจอฉายหนังในวัด ฉายไปยังไม่ถึงครึ่งเรื่องอยู่ดี ๆ แผ่นฟิล์ม ก็หล่นลงมา เครื่องก็ดับ ถ้าเปิดเพลงทั้งเพลงหมอลำและเพลงสตริงจะเปิดได้ไม่นาน เครื่องเสียงพังบ้าง อยู่ดี ๆ ก็ดับเองบ้าง แต่ถ้าเป็นเพลงบรรเลงปี่พาทย์และไปทำกันนอกวัดจะไม่ เป็นอะไร ก็เป็นเรื่องที่ร่ำลือกันมา สิ้นเสียงคำบอกเล่า เท้าเจ้ากรรมก็เดินมุ่งหน้าขึ้นรถอย่างอัตโนมัติ?!?

    ฟังเรื่องราวชวนขนหัวลุก กันแล้ว เดินทางอีก 1 กม. เพื่อมายัง วัดศรีทอง ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดศรีอุบลรัตนาราม เป็นวัดที่นายมั่น แก่นแก้ว (ชื่อเดิมของหลวงปู่มั่น) อุปสมบทเป็นภิกษุกลับเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง เมื่ออายุได้ 22 ปี แต่ท่านกลับไปพำนักที่วัดเลียบ ด้วยเหตุที่ว่าวัดศรีทองมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาทำพิธีกันบ่อยครั้ง ไม่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม โดยมีพระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ขนานนาม มคธว่า “ภูริทัตโต” แปลว่า “ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด” ด้านข้างวัดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ด้านในมีของเก่าเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามากมายให้ได้ชื่นชมกัน

    ยังคงอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี เดินทางกันอีก 82 กม. เพื่อมาที่ วัดศรีบุญเรืองหรือวัดบ้านคำบง ต.สงยาง อ.ศรีเมืองใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านและเป็นสถานที่ ที่ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ 15 ปี แต่บวชได้เพียง 2 ปี แม่ขอร้องให้ลาสิกขา เพื่อ กลับมาช่วยงานที่บ้าน ท่านจำต้องออกไปช่วยงานที่บ้าน หลวงปู่มั่นเป็นคนร่างเล็ก เมื่อครั้งที่บวชได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา อาทิ บทสวดมนต์และสูตรต่าง ๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ ท่านสามารถจดจำได้อย่างรวดเร็ว เอาใจใส่ในการเล่าเรียน มีพฤติกรรมเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ

    ภายในวัดจะมีอนุสรณ์สถานและหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่มั่นให้ได้สักการะกัน เยื้อง ๆ กับวัด จะเป็นบ้านที่หลวงปู่มั่นเกิดเมื่อชำรุดลงจึงได้สร้างเป็นศาลา และมีรูปหล่ออยู่ภายในเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานของหลวงปู่มั่นอีกแห่งหนึ่ง

    ออกจากวัดศรีบุญเรืองมาประมาณ 12 กม. เพื่อเดินทาง ไปยัง วัดภูหล่น ต.สงยาง อ.ศรีเมืองใหม่ เป็นสถานที่ปฐมวิปัสสนา กรรมฐานของหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เสาร์ ผู้เป็นพระอาจารย์ ซึ่ง วัดจะอยู่ด้านล่าง ส่วนด้านบน เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ต้อง เดินขึ้นบันไดศิลาแลงไปด้านบนเหนื่อยพอสมควร แต่ด้วยจิตศรัทธาอันแรงกล้าจึงดั้นด้นมาถึงจนได้ บรรยากาศโดยรอบสงบ มีต้นไม้ปกคลุมสลับกับโขดหินน้อยใหญ่ มีเพิงผาหินที่ร่มครึ้ม ไปด้วยแมกไม้ เมื่อมองออกไป ไกล ๆ จะเห็นทิวทัศน์แนวเทือกเขาหัวตัด และที่นาของชาวบ้าน มีสายลมพัดมาเป็นระลอก ๆ ทำให้เย็นสบาย จึงมาถึงบางอ้อว่าทำไมหลวงปู่มั่นถึงได้ขึ้นมาเพราะเหมาะแก่การนั่งสมาธิเป็นอย่างยิ่ง

    จากนั้นเดินทางข้ามจังหวัดมายัง สกลนคร ที่ วัดป่านาคนิมิตต์ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ วัดป่าบ้านนามน อ.โคกศรีสุพรรณ เป็นวัดที่หลวงปู่มั่น ได้มาจำพรรษา เมื่อ พ.ศ. 2486 ปัจจุบันมี พระอาจารย์อว้าน เขมโก เป็นเจ้าอาวาส วัดแห่งนี้เป็นป่าธรรมชาติ มีพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ขึ้นโดยรอบทั้ง ต้นยาง ไม้ตะเคียน ไม้เต็ง ต้นรัง ภายในวัดมีกุฏิที่หลวงปู่มั่น เคยมาพำนักอยู่ ซึ่งทางวัดรักษาไว้เป็นอย่างดี รวมทั้ง ยังรักษาสภาพแวดล้อมให้สงบ ร่มเย็นและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ทำให้วัดแห่งนี้ มีผู้คนหมั่นหมุนเวียนกันเข้ามาบำเพ็ญ สมณธรรมกันเป็นจำนวนมาก

    เดินทางต่อเพื่อไปยัง วัดป่าวิสุทธิธรรม ตั้งอยู่ที่ อ.โคกศรีสุพรรณ เช่นกัน เป็นวัดที่หลวงปู่มั่นได้มาจำพรรษาเมื่อ พ.ศ. 2485 และพ.ศ. 2487 ภายในมีกุฏิหลวงปู่มั่น ศาลาโรงธรรมที่ท่านใช้เป็น ที่อบรมสานุศิษย์ ภายในศาลาตั้งแสดงรูปหล่อและเครื่องอัฐบริขารที่ท่านเคยใช้ โดยทางวัดได้บูรณะปรับปรุงใหม่เพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาสักการะกัน

    จากนั้นเดินทางอีก 20 กม. เพื่อมาที่ วัดป่าสุทธาวาส ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง เป็นสถานที่ที่หลวงปู่มั่นเลือกเป็นที่ละสังขาร เพราะหากท่านต้องมรณภาพที่วัดป่าภูริทัตตถิราวาส จะต้องมีคนมางานศพของท่านที่นั่น ชาวบ้านต้องฆ่าสัตว์เป็นจำนวนมาก เพื่อมาเลี้ยงพระและญาติโยมที่มางาน ด้วยความเมตตาสงสารสรรพสัตว์ ท่านจึงให้นำร่างที่อาพาธมาไว้ที่วัดป่าสุทธาวาสและมรณภาพที่วัดแห่งนี้ ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิ กายน พ.ศ. 2492 เวลา 02.23 น. สิริชนมายุรวมได้ 80 ปี ต่อมา ได้สร้างพระอุโบสถครอบตรงที่ถวายเพลิงไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์

    ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์อาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อเหมือนเท่าองค์จริงของหลวงปู่มั่น และจัดแสดงเครื่องอัฐบริขาร เช่น ผ้าสังฆาฏิ จีวร สบง บาตร กลด และสิ่งของต่าง ๆ ที่ท่านเคยใช้สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ถัดเข้าไปด้านในเป็นเจดีย์พิพิธภัณฑ์บรรจุอัฐิธาตุอัฐบริขารหลวงปู่หลุย จันทสาโร ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น

    ทุกปีจะมีงานวันบูรพา จารย์ ในวันที่ 29-31 มกราคม ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบูรพาจารย์ของทางวัด

    มาต่อที่ วัดป่าภูริทัตตถิราวาส หรือ วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม เป็นวัดที่หลวงปู่มั่นได้มาจำพรรษา เมื่อ พ.ศ. 2488-2492 เป็นวัดที่หลวงปู่มั่นมาพำนักจำพรรษาปฏิบัติธรรมนานที่สุดคือ 5 พรรษา และมรณภาพ ภายในวัดมีกุฏิของหลวงปู่มั่น ด้านข้างของกุฏิเป็นทางเดินจงกรมของหลวงปู่มั่น ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานสำคัญเมืองสกลนคร นอกจากนั้น ยังมีศาลาโรงธรรมที่หลวงปู่มั่นท่านใช้อบรมสานุศิษย์ในภาคปฏิบัติจิตตภาวนา โดยวัดจะมีงานประจำปีครบรอบวันมรณภาพหลวงปู่มั่น ในวันที่ 10-11 พฤศจิกายน ของทุกปี

    จากนั้นมาที่ วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม ต.ไร่ อ.พรรณา นิคม ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลาพักอาพาธของหลวงปู่มั่น ลักษณะเป็นอาคารไม้ ใช้พักชั่วคราวในคราวที่ท่านอาพาธระยะสุดท้ายก่อนจะเดินทางไปยังวัดป่าสุทธาวาส และมรณภาพที่นั่น ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องอัฐบริขารของพระอาจารย์มั่นขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ มีตระแคร่ที่ใช้หามหลวงปู่มั่นมาจาก วัดป่าบ้านหนองผือ กลด มุ้ง ที่นอน รวมทั้งสิ่งของที่ท่านเคยใช้เมื่อครั้งท่านอาพาธ

    จะเห็นได้ว่าหลวงปู่มั่นไม่เคยจำพรรษาอยู่ที่วัดใดเป็นเวลานาน ๆ เพราะท่านเคยกล่าวไว้ว่า จะได้ไม่ยึดติด ผูกพัน เพราะเมื่อเกิดความคิดเหล่านั้นแล้ว จะหลุด พ้นจากความทุกข์ได้ยากนัก...

    เส้นทางธรรมสายนี้ ทอดยาว ผ่านเรื่องราวมากมาย กว่าจะได้มาซึ่งคำว่า “ศรัทธา”.

    สีสันรายทาง

    การเดินทาง เส้นทางทั้งหมดอยู่ในถิ่นภาคอีสานที่มีเรื่องราวอยู่ในหลาย ๆ จังหวัด อาจจะเลือกเดินทางไปทุกที่ที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่มั่นหรือจะเลือกเดินทางไปจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งก็ได้ เพราะในจังหวัดหนึ่งมีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่มั่นอยู่หลายที่ด้วยกัน โดยเส้นทางจะมีทั้งใกล้กันและไกลออกไปบ้าง

    สถานที่ใกล้เคียง วัดถ้ำจำปากันตสีลาวาส หรือภูผากูด อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์ได้มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2458 โดยหลวงปู่มั่น ได้เดินทางมาจำพรรษาด้วยและปฏิบัติอาจริยวัตร (กิจที่ควรปฏิบัติต่ออาจารย์) ถวายหลวงปู่เสาร์ อาทิ ล้างบาตร ตักน้ำ ซักจีวร

    วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเขาต้องเดินขึ้นบันไดไป ส่วนด้านบนสุดจะมีรูปปั้นหลวงปู่เสาร์บนลานหินที่มีชื่อว่า ลานวิมุตติธรรม เนื่องจากหลวงปู่เสาร์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่วัดแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดที่ไม่มีพระจำพรรษาแน่นอน

    วัดป่าวิเวกวัฒนาราม อ.คำชะอี จ.มุกดา หาร มีหลวงปู่จามมหาปุญโญ ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เป็นเจ้าอาวาส ปัจจุบันอายุ 100 ปีแล้ว แต่หลวงปู่จามยังให้เหล่าบรรดาญาติโยมเข้ามากราบท่านได้ที่กุฏิและท่านจะมีไม้เท้าประจำกายคอยเคาะหัวเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตให้กับญาติโยม

    ของฝาก มาถิ่นอีสานก็ต้องซื้อ หมูยอ ไส้กรอกอีสาน กุนเชียง แหนมเนือง เป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน




    Daily News Online > หน้าวาไรตี้ > ทัวร์ธรรม ตามรอย 'หลวงปู่มั่น'
     
  2. boontar

    boontar เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 มีนาคม 2008
    โพสต์:
    2,717
    ค่าพลัง:
    +5,514
    ผมตามหลวงปู่มั่น ใกล้ๆหน่อยครับ
    วัดถ้ำสาริกา ทางไปน้ำตกสาริกา นครนายก
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  3. บุษบากาญจ์

    บุษบากาญจ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2007
    โพสต์:
    9,476
    ค่าพลัง:
    +20,271
    ขอขยายภาพหน่อยนะคะ เล็กไปหน่อย ^_____^

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]
     
  4. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    [​IMG]

    [​IMG]

    [MUSIC]http://audio.palungjit.org/attachment.php?attachmentid=17558[/MUSIC]
     
  5. Faithfully

    Faithfully เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    656
    ค่าพลัง:
    +2,459
    ขออนุโมทนาด้วยค่ะ ถ้ามีโอกาสจะขอไปนมัสการแน่ ๆ ค่ะ
     
  6. กิตติ_เจน

    กิตติ_เจน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    1,657
    ค่าพลัง:
    +1,281
    ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลที่ดีๆ
     

แชร์หน้านี้

Loading...