ท่านเคยแสดงอาการอย่างนี้ไหม?

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 19 มิถุนายน 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ผรุสวาจา
    ผรุสํ กโรตีติ ผรุสวาจา
    "วาจาใด ย่อมกระทำให้เป็นอย่างหยาบ วาจานั้นชื่อว่า ผรุสวาจา"

    ผรุสวาจา นี้ ได้แก่การด่า การแช่ง โดยประทุฐโทสเจตนา คือเจตนาที่จะทำลายหรือประทุษร้าย อนึ่ง การกล่าวคำหยาบ คำด่า คำแช่ง ด้วยโทสจริต ก็ชื่อว่า "ผรุสวาจา"

    วาจาหยาบที่เรียกว่า ผรุสวาจานี้ ย่อมมีปรกติทำความเดือดร้อนให้แผ่ไปในหัวใจของผู้ฟัง คนทั้งหลายที่ได้ฟังผรุสวาจาแล้ว ย่อมทนนิ่งอยู่ไม่ได้ ให้เกิดความไม่สบายจิต ไม่สบายใจ คือว่า จิตใจของผู้ได้รับฟังผรุสวาจา ย่อมจะมีอาการเจ็บปวดเป็นนักหนา ประหนึ่งว่า ถูกฟันเลื่อยอันแสนคมเข้าไปกระทบก็ปานกัน


    การกล่าวคำหยาบคือ ผรุสวาจานี้ สำคัญอยู่ที่เจตนา ถ้ามีเจตนาร้ายแล้วกล่าววาจาออกไป เพื่อให้ผู้ฟังเสียประโยชน์ แม้จะเป็นวาจาที่อ่อนหวานก็ตาม หากการกล่าวนั้น มีความมุ่งหมายด้วยเจตนาร้ายแล้ว ย่อมเป็นผรุสวาจาทั้งสิ้น โดยนัยตรงกันข้าม คือ ผู้ที่กล่าวด้วยเจตนาดี ต้องการใ้ห้ผู้ฟังได้ประโยชน์ ถึงหากวาจานั้นจะไม่อ่อนหวาน ไม่ไพเราะ ไม่น่าฟัง หรือแม้จะเจือปนด้วยคำหยาบอยู่บ้าง การกล่าวเช่นนั้นก็ไม่จัดเป็นผรุสวาจา โดยมีอุทาหรณ์ปรากฎอยู่ในพระคัมภีร์์ทางศาสนา (มังคลัตถทีปนี ปฐมภาค หน้า ๒๑๗) ซึ่งแปลเป็นใจความได้ว่า
    ยังมีเด็กชายคนหนึ่ง ปรารถนาจักไปเที่ยวเล่นในป่า จึงแจ้งความประสงค์แก่มารดาของตน แต่มารดาเห็นว่าอาจจักเกิดอันตรายขึ้นแก่เขาได้ จึงออกปากห้ามไว้ไม่ให้ไป ด้วยชี้แจ้งให้เขาทราบถึงอนตรายต่างๆ ที่อาจจะพึงมี แต่บุตรไม่เชื่อฟัง ยังดื้อรั้นขืนจะไปให้ได้ นางจึงกล่าวคำหยาบคล้ายกับจะเป็นการสาปแช่งออกไปว่า
    "ถ้าเจ้าขืนไป จงถูกควายขวิดตายเสียในป่าเถิด เจ้าเด็กดื้อ"
    แทนที่เด็กชายนั้นจะเชื่อถือถ้อยคำเพราะเกรงอันตราย กลับผละจากมารดาวิ่งต่อไปสู่ป่าในทันใดด้วยใจคะนอง ในขณะที่ท่องเที่ยวเล่นอย่างเพลิดเพลินอยู่ในป่านั้น มีกระบือแม่ลูกอ่อนตัวหนึ่งนอนอยู่ ครั้นมันเห็นเด็กชายหัวดื้อเดินเข้ามาใกล้ตน ก็บังเกิดความโกรธเคืองลุกขึ้นมาวิ่งไล่จะขวิดเด็กนั้นด้วยความว่ิองไว ในขณะวิกฤตินั้น เด็กหัวดื้อให้ตกใจกลัวจนตัวสั่น พลันวิ่งหนีจนเต็มกำลังสุดความสามารถ แต่ก็ไม่อาจที่จะวิ่งให้เร็วไปกว่าแม่กระบือตัวร้าย เมื่อแม่กระบือวิ่งไล่มาใกล้จะทัน เด็กนั้นระลึกถึงคำสาปแช่งของมารดาขึ้นได้ จึงตั้งใจอธิษฐานตามแต่จะนึกได้ในขณะนั้นว่า

    "ถ้ามารดาของเรา ไม่ได้ตั้งใจกล่าวเพื่อสาปแช่งให้กระบือขวิดเราจริงๆ แล้ว ขอให้กระบือร้ายจงหยุดไล่เราเดี๋ยวนี้เถิด อย่าได้วิ่งขับไล่เราอีกต่อไปเลย"

    พอเขาอธิษฐานในใจดังนี้จบลง ผลก็ปรากฏว่า แม่กระบือร้ายซึ่งวิ่งไล่มาด้วยความเร็วเต็มที่นั้น ได้มีอาการพลันหยุดชะงักลงในทันทีทันใด ไม่สามารถที่จะวิ่งไล่เขาอีกต่อไปได้...
    โดยอุทาหรณ์นี้ เป็นอันชี้ให้เห็นว่า วาจาที่มารดากล่าวแก่บุตรนั้น แม้จะเป็นคำแช่งหรือคำด่าก็ดี แต่มารดามิได้มีเจตนาร้าย มิได้มีใจมุ่งหมายที่จะให้มีอันตรายเกิดขึ้นแก่บุตรของตนเลย ฉะนั้น วาจาของมารดานี้ถึงแม้จักเป็นวาจาที่ไม่ดี ก็ไม่ได้ชื่อว่า เป็นผรุสวาจา เพราะเป็นคำกล่าวที่มีเจตนาดี อันที่จริง มารดาบิดานั้นย่อมมีความปรารถนาดีต่อบุตรของตนอยู่โดยธรรมดา ไม่ว่าในกาลไหน สมตามนัยที่ท่านกล่าวไว้ว่า
    ความเมตตากรุณาของมารดาบิดาที่มีต่อบุตร สุดที่จะหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบได้ เมื่อบุตรไม่เชื่อฟัง หรือไ่ม่ตั้งอยู่ในโอวาท บางครั้งอาจกล่าวคำบริภาษอย่างรุนแรงถึงขนาดแช่งให้ถูกโจรฆ่าหรือแช่งให้โจรทำร้ายร่างกายจนขาดเป็นท่อนๆ ไปก็ตาม แต่เจตนาที่แท้จริงจะได้เป็นเช่นวาจาที่กล่าวออกไปก็หามิได้ อันจิตใจของมารดาบิดานั้น แม้แต่กลีบในอุบลก็ไม่ต้องการที่จะให้ตกลงมาถูกศีรษะบุตรแห่งตนเลย ดังนี้

    อนึ่ง ความเมตตากรุณาของพระอุปัชฌายาจารย์ที่มีต่อศิษย์นั้น มีคำที่ท่านพรรณาไว้ว่าพระอุปัชฌายาจารย์อาจกล่าวคำบริภาษรุนแรงต่อศิษย์ผู้ซึ่งมีนิสัยว่ายากอบรมสั่งสอนยาก เพราะเขาเป็นคนหัวดื้อไม่มีความละอายและไม่มีความเกรงกลัวต่อความผิด ซึ่งบางครั้งพระอุปัชฌายาจารย์นั้นถึงกับออกปากขับไล่เขาไม่ให้อยู่ในอาวาสอีกต่อไปก็ตาม แต่โดยเนื้อแท้แห่งจิตใจแล้ว ท่านย่อมมีจิตหวังดีต่อศิษย์อยู่เสมอ ปรารถนาจะให้ศิษย์มีความรู้ประสบความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านปริยัติทั้งในด้านปฏิบัติ ตลอดจนปรารถนาที่จะให้ศิษย์ได้บรรลุมรรคผล นิพพาน อันเป็นยอดสมบัติในที่สุด ดังนี้

    ฉะนั้น การกล่าววาจาร้ายของท่านผู้ใหญ่ซึ่งมีคุณอันประเสริฐเลิศล้นเช่นบิดามารดา พระอุปัชฌายาจารย์นั้น ย่อมเป็นการกล่าวที่ไม่สมประกอบไปด้วยเจตนาร้ายต่อบุตรหรือศิษย์ทั้งหลายแห่งตนเลย มีแต่ความปรารถนาดีทั้งสิ้น เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ คำกล่าววาจาร้ายนั้นจึงไม่จัดเป็นผรุสวาจา


    สำหรับนัยที่ตรงกันข้าม คือ คำกล่าววาจาอ่อนหวาน แต่นับว่าเป็นผรุสวาจาได้นั้น มีอุทาหรณ์ในพระคัมภีร์ทางศาสนา ซึ่งแปลเป็นใจความได้ว่า
    ท่านผู้มีอำนาจหรือสมเด็จพระราชาธิบดีบางองค์ในอดีตกาล ขณะที่จะสั่งให้ประหารชีวิตนักโทษขั้นอุกฤษฏ์นั้น มักจะกล่าวด้วยวาจากอ่อนหวานเรียกเจ้าพนักงานให้คุมตัวนักโทษไปประหารแล้ว สั่งให้ปฏิบัติรับใช้เป็นอย่างดีเป็นปิยวาจาว่า "ขอเจ้าจงนำพ่อมหาจำเริญคนนี้ไป แล้วจงตั้งใจปฏิบัติรับใช้ให้เขาได้พักผ่อนหลับนอนอย่างสุขสบาย" ดังนี้ แต่ในใจนั้นเต็มไปด้วยเจตนาร้ายหมายจะฆ่า การกล่าววาจาอ่อนหวานไพเราะ แต่มีเจตนาร้ายหมายจะฆ่าเช่นนี้ ย่อมเป็นวาจาที่นับได้ว่าเป็นผรุสวาจาทั้งสิ้น
    ก็ข้อวินิจฉัยที่จักให้ทราบได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้ที่กล่าวผรุสวาจาจักสำเร็จเป็นผรุสวาจาอกุศลกรรมบถได้หรือไม่นั้น ต้องวินิจฉัยด้วยองค์สัมภาระ คือองค์ประกอบแห่งผรุสวาจา ซึ่งมีอยู่ ๓ ประการ ดังต่อไปนี้
    ๑. อกฺโกสิตฺพโพ ปโร มีผู้อื่นที่ตนควรด่า
    ๒. กุปิตจิตฺตํ มีจิตโกรธ
    ๓. อกฺโกสนํ กล่าวคำด่าอันเป็นคำหยาบนั้น
    องค์ประกอบแห่งผรุสวาจาอกุศลกรรมบถ ย่อมมี ๓ ประการเช่นนี้ เมื่อบุคคลใดประกอบอกุศลกรรมบถผรุสวาจาครบองค์ทั้ง ๓ ประการแล้ว ก็เป็นอันว่าผู้ที่กระทำผรุสวาจานั้น เป็นผู้ก้าวล่วงอกุศลกรรมบถ สำเร็จเป็นอปายคมนียะ คือเป็นชนกกรรม สามารถน้อมนำให้เขาไปเกิดเป็นอบายสัตว์ในอบายภูมิได้ แต่ถ้าไม่ครบองค์ทั้ง ๓ ก็หาได้ชื่อว่าเป็นผู้ก้าวล่วงอกุศลกรรมบถไม่

    ในการประกอบอกุศลกรรมเพื่อก้าวล่วงซึ่งองค์ผรุสวาจาให้ครบนี้ย่อมต้องมีปโยคะ คือความพยายามอย่างหนึ่งอย่างใด ในบรรดาปโยคะแห่งผรุสวาจาทั้งหลาย ก็ปโยคะหรือความพยายามในผรุสวาจาอกุศลกรรมบถนี้ มีอยู่ ๒ ประการคือ
    ๑. กายปโยคะ การล่วงผรุสวาจาทางการ! หมายความว่าอย่างไร?

    หมายความว่า ทำการด่า ทำการแช่ง อันเป็นการชั่วร้ายหยาบคาย ให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บใจ ด้วยความพยายามทางกาย เช่น เขียนหนังสือด่า เขียนหนังสือแช่ง หรือแสดงกิริยาอาการหยาบคายต่างๆ ที่ทำให้ผู้เห็นรู้สึกโกรธอายได้รับความไม่สบายใจ ให้รู้สึกเจ็บปวดใจ ประหนึ่งฝีที่กำลังกลัดหนองถูกกระทบกระแทกให้แตกกระจายก็ปานกัน

    ๒. วจีปโยคะ การล่วงผรุสวาจาทางวาจา! หมายความว่าอย่างไร?

    หมายความว่า เปิดปากพยายามด่าแช่ง ซึ่งบุคคลที่ตนต้องการจะด่า ต้องการจะแช่ง ด้วยคำหยาบคาย ที่เรียกว่า อักโกสวัตถุ คือวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งการด่
    าการแช่งทั้งหลาย
    ก็อักโกสวัตถุ คือวัตถุัอันเป็นที่ตั้งแห่งการด่า การแช่งทั้งหลายซึ่งจัดเป็นผรุสวาจาได้นั้น ขอให้ท่านผู้มีปัญญาพึงรับทราบไว้ว่า มีทั้งหมดด้วยกัน ๑๐ ประการ คือ
    ๑. ชาติ คำด่าที่เกี่ยวกับเชื้อชาติต่ำทราม และคำด่าที่เกี่ยวกับเชื้อชาติสูงส่งจัดเข้าในอักโกสวัตถุข้อว่า ชาติ หมายความว่า ยกเอาชาติขึ้นมาด่าในด้านต่ำทราม เช่นด่าทอด้วยคำหยาบว่า เจ้าชาติไพร่! ดังนี้เป็นต้น หรือยกเอาชาติขึ้นด่าในด้านสูงส่ง เช่น ประสงค์จะกล่าวคำแดกดันให้เจ็บใจ จึงกล่าวคำหยาบคายออกมาว่า เจ้าผู้ีดีแปดสาแหรก! ดังนี้เป็นต้น

    ๒. นาม คำด่าที่เกี่ยวกับชื่ออันต่ำทราม และคำด่าที่เกี่ยวกับชื่อนั้นสูงส่ง จัดเข้าในอักโกสวัตถุข้อว่านาม หมายความว่า ยกเอาชื่อขึ้นมาด่าในด้านต่ำทราม ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริง เช่น เขาเป็นชื่อนี้ชื่อนั้นอยู่ในมนุษย์ภูมินี้แท้ๆ แต่ด่าว่าโดยตั้งชื่อใหม่ให้เขากลายเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่ต่ำทราม เช่น ด่าทอเขาด้วยคำหยาบคายว่า เจ้าสัตว์นรก! เจ้าสัตว์เดียรฉาน! ดังนี้เป็นต้น หรือยกเอาชื่อขึ้นมาด่าในด้านสูงส่ง เช่น ตนก็รู้แล้วว่าเขาเป็นคนธรรมดาอยู่แท้ๆ แต่ประสงค์จะด่าให้เจ็บใจ จึงด่าประชดประชันออกมาว่า พ่อเทวดา! ดังนี้เป็นต้น

    ๓. โคตะ คำด่าที่เกี่ยวกับโคตร คือสกุลวงศ์อันต่ำทราม ละคำด่าที่เกี่ยวกับสกุลวงศ์อันสูงส่ง จัดเข้าในอักโกสวัตถุข้อว่าโคตมะ หมายความว่า ยกเอาสกุลวงศ์ขึ้นมาด่าในด้านต่ำทราม เช่น ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า เจ้าเป็นสกุลขี้ข้า! เจ้าเ็ป็นสกุลโจร! ดังนี้เป็นต้น หรือยกเอาสกุลวงศ์ขึ้นมาด่าในด้านสูงส่ง เช่น ตนก็รู้ว่าเขาเป็นคนธรรมดา แต่ประสงค์จะด่าว่าให้เจ็บใจ จึงด่าประชดออกมาว่า เจ้าเป็นคนสกุลเจ้านาย! เจ้าเป็นคนสกุลผู้ดี! เจ้าเป็นคนสกุลเศรษฐี! ดังนี้เป็นต้น

    ๔. กรรม คำด่าที่เกี่ยวกับอาชีพการงานที่ต่ำ และคำด่าที่เกี่ยวกับอาชีพการงานตำแหน่งสูง จัดเข้าในอักโกสวัตถุข้อว่ากรรม หมายความว่า ยกเอาอาชีพการงานที่ต่ำของเขาขึ้นมาด่าว่าให้เจ็บใจ เช่นด่าทอด้วยถ้อยคำว่า เจ้ากรรมกร! เจ้าคนขอทาน! ดังนี้เป็นต้น หรือยกเอาตำแหน่งหน้าที่การงานในด้านสูงส่งขึ้นมาด่า เช่น ตนก็รู้ว่าเขาเป็นคนเมตตา และประสงค์จะด่าว่าให้เจ็บใจ จึงด่าประชดประชันด้วยถ้อยคำว่า เจ้าเป็นคนชั้นเสนาบดี! สูเป็นชนชั้นเจ้านาย! ดังนี้เป็นต้น

    ๕. สิปปะ คำด่าที่เกี่ยวกับศิลปวิทยาการที่ต่ำ และคำด่าที่เกี่ยวกับศิลปวิทยาการอันสูง จัดเข้าในอักโกสวัตถุข้อว่า สิปปะ หมายความว่า ยกเอาศิลปวิทยาการหรือความรู้อันต่ำของเขาขึ้นด่าว่าให้เจ็บใจ เช่น ด่าทอด้วยถ้อยคำว่า เจ้ามีความรู้เพียงแค่หางอึ่ง! เจ้ามีความรู้เพียงแค่ทำขนมขาย! เจ้ามีความรู้เพียงแค่แจวเรือจ้าง! ดังนี้เป็นต้น หรือยกเอาศิลปวิทยาการและความรู้ในด้านสูงส่งขึ้นมาด่าว่าให้เจ็บใจ เช่น ด่าทอด้วยถ้อยคำว่า เจ้าเป็นอาจารย์ถ่อย! เจ้าเป็นครูที่ชั่วช้า! ดังนี้เป็นต้น

    ๖. อาพาธ คำด่าที่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บอันต่ำทราม และคำด่าที่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บเบื้องสูง จัดเข้าในอักโกสวัตถุข้อว่า อาพาธ หมายความว่ายกเอาโรคภัยไข้เจ็บของเขาซึ่งเป็นโรคที่ต่ำทรามน่ารังเกียจขึ้นมาด่า เช่น ด่าทอด้วยถ้อยคำว่า เจ้าขี้เรื้อน! เจ้าง่อย! เจ้าเป๋! ดังนี้เป็นต้น หรือยกเอาโรคภัยไข้เจ็บของเขา ซึ่งเป็นโรคชั้นสูงโดยมักเกิดขึ้นกับอวัยวะเบื้องสูงขึ้นมาด่าว่าให้ช้ำใจ เช่น ด่าทอด้วยคำว่า เจ้าหัวล้าน! เจ้าโรคประสาท! เจ้าบ้า! ดังนี้เป็นต้น

    ๗. สิงคิกะ คำด่าที่เกี่ยวกับเพศหรือรูปพรรณสัณฐานอันต่ำทราม และคำด่าที่เกี่ยวกับเพศหรือรูปพรรณสัณฐานอันสูงส่ง จัดเข้าในอักโกสวัตถุชื่อว่าลิงคิกะ หมายความว่า ยกเอาเพศพรรณสัณฐานขึ้นมาด่าว่าให้เจ็บใจในด้านต่ำ เช่นด่าทอด้วยถ้อยคำว่า เจ้าอ้วน! เจ้าเตี้ย! ตัวเจ้าเป็นชายแต่ใจเป็นหญิง! ดังนี้เป็นต้น หรือยกเอาเพศพรรณสัณฐานอันสูงส่งดีงามของเขาขึ้นมาด่าว่า เพื่อให้ได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจ เช่น ด่าทอด้วยถ้อยคำว่า รูปร่างเจ้าเหมือนเทวดา แต่ว่าใจร้ายเหมือนคนป่า! รูปร่างเจ้าปานนางฟ้า แต่ว่าใจชั่วช้าเหมือนแม่มด! ดังนี้เป็นต้น

    ๘. กิเลสา คำด่าที่เกี่ยวกับกิเลสจัดเข้าในอักโกสวัตถุข้อว่า กิเลสาหมายความว่า ยกเอากิเลสของเขาขึ้นมาด่าว่าเพื่อให้เจ็บใจ เช่น ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า เจ้าคนบ้านตัณหา! เจ้าคนมีทิฐิมานะ! ดังนี้เป็นต้น ใ
    นกรณีนี้ ขอให้ท่านผู้มีปัญญาพึงตั้งข้อสังเกตว่า คำด่าที่เกี่ยวกับกิเลสนี้ ปรากฎว่ามีแต่คำด่ในด้านต่ำอย่างเดียว ไม่มีคำด่าในด้านสูงส่งเหมือนอักโกสวัตถุข้ออื่นๆ ที่เป็นเช่นนี้ ก็โดยมีเหตุผลที่ท่านแสดงไว้ว่า ธรรมดาสิ่งทั้งหลาย ย่อมมีทั้งสูงทั้งต่ำ แต่ธรรมที่มีชื่อว่า "กิเลส" ย่อมมีแต่ฝ่ายต่ำอย่างเดียวเท่านั้น

    ๙. อาปัตติ คำด่าที่เกี่ยวกับอาบัติอันแสดถึงความต่ำทรามอย่างมาก และคำด่าที่เกี่ยวกับอาบัติอันแสดงถึงความต่ำทรามธรรมดา จัดเข้าในอักโกสวัตถุข้อว่าอาปัตติ หมายความว่ายกเอาอาบัติ คือความผิดกฎวินัยขึ้นมาด่าว่า ในด้านต่ำทรามอย่างมากก็ยกเอาอาบัติหนักขึ้นมาด่า เช่นด่าทอดด้วยคำว่า เจ้าปาราชิก! เจ้าสมี! เจ้าคนบาปหนา! ดังนี้เป็นต้น หรือยกเอาอาบัติที่แสดงถึงความต่ำทรามธรรมดา อันได้แก่ความผิดวินัยที่มีโทษเบากว่าอาบัติปาราชิกแลสังฆาทิเสสขึ้นมาด่ากัน ซึ่งจัดเป็นการด่าในด้านสูง สำหรับกรณีแห่งอักโกสวัตถุข้อว่าอาปัตตินี้ หมายถึงการด่าทอเพื่อให้่เจ็บใจด้วยคำว่า เจ้าคนต้องปาจิตตีย์! เจ้าคนมีความผิด! ดังนี้เป็นต้น

    ๑๐. อักโกโส คำด่าที่เป็นสาธารณนัย อันเป็นไปทั้งในด้านต่ำและด้านสูง ซึ่งเป็นคำด่าที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในโลกของคนด่าทั้งหลาย เช่น คำด่าทอที่พาดพิงไปถึงพ่อแม่หรือสันดานของเขาเป็นต้น ซึ่งเป็นคำด่าที่ก่อความเจ็บช้ำน้ำใจให้เกิดแก่ผู้ถูกด่าทั้งหลาย ย่อมจัดเข้าในอักโกสวัตถุข้อว่าอโกสนี้ทั้งสิ้น
    การกล่าวผรุสวาจา โดยพยายามเปิดปากทำการด่าทอ เพื่อให้ก่อให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจแก่บุคคลผู้ที่ตนต้องการจะด่าทั้งหลาย ด้วยคำหยาบคายซึ่งจัดเข้าในอักโกสวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้ เรียกชื่อว่า วจีปโยคะ คือการกล่าวผรุสวาจาทางวาจา

    ท่านอาจารย์บางท่านแสดงมติไว้ว่า การกล่าวผรุสวาจานี้ ไม่จำกัดว่าจะต้องกล่าวเฉพาะต่อหน้าผู้ถูกด่าจึงจะสำเร็จเป็นผรุสวาจาอกุศลกรรมบถก็หามิได้ โดยที่แท้ แม้ผู้ที่ถูกด่าทอจะไม่ได้อยู่เฉพาะหน้าก็ดี หรือผู้ที่ถูกด่าทอจะได้ตายไปเป็นผีแล้วก็ดี ผรุสวาจาของผู้ที่ด่าเขาลับหลัง หรือผรุสวาจาของผู้ที่ด่าผีตายนั้น ก็ย่อมสำเร็จเป็นผรุสวาจาอกุศลกรรมบถได้เช่นกัน โดยท่านอุทาหรณ์ว่าดังนี้

    ผู้น้อยที่กล่าวว่าวาจาล่วงเกินผู้ใหญ่ เช่นกล่าวคำล่วงเกินบิดามารดา ครูอาจารย์ เป็นต้น ต่อมาเกิดสำนึกในความผิดของตนขึ้นมาได้ จึงทำความขอษมาอภัยต่อท่าน แม้ท่านเหล่านั้้นจะไม่ได้อยู่เฉพาะหน้า หรือว่าท่านเหล่านั้นได้แก่กาลกิริยาตายไปแล้วก็ตาม การขอษมาอภัยของผู้ที่สำนึกความผิดของตน ก็ย่อมสำเร็จประโยชน์ คือโทษที่กล่าววาจาล่วงเกินนั้น ย่อมอันตรธานหายไปเป็นอโหสิกรรมไปได้ ก็ในเมื่อการขอษมาโดยไม่มีผู้ที่ถูกด่าว่าปรากฎอยู่เฉพาะหน้า ย่อมสำเร็จประโยชน์คือทำให้โทษผิดนั้นอันตรธานหายไปได้เช่นนี้แล้ว การกล่าวผรุสวาจาโดยไม่มีผู้ที่ถูกด่าปรากฎอยู่เฉพาะหน้า จะเป็นการด่าลับหลัง หรือจะเป็นการด่าผีที่ตายไปแล้ว ก็ย่อมจักสำเร็จเป็นโทษเข้าถึงความเป็นผรุสวาจาอกุศลกรรมบถได้เช่นเดียวกัน

    เมื่อพรรณนาถึงโทษแล้่ว ผรุสวาจาอกุศลกรรมบถนี้ ก็ย่อมจักมีโทษหนักเบาเป็นมหาสาวัชชะ และอัปปสาวัชชะเช่นเดียวกับอกุศลกรรมบถประการอื่น คือ ถ้าบุคคลผู้เป็นเจ้ากรรมนั้น ทำการด่า ทำการแช่งซึ่งผู้มีอุปการคุณอันสูงส่ง เช่น บิดามารดาพระอุปัชฌายาจารย์ หรือทำการด่า ทำการแช่งท่านผู้ทรงไว้ซึ่งศีลธรรมอันสูงส่ง เช่น พระอรหันตอริยบุคคล พระอนาคามีอริยบุคคล พระสกิทาคามีอริยบุคคล พระโสดาบันอริยบุคคล และภิกษุสงฆ์ที่เป็นปุุถุชนเป็นต้นแล้ว ผรุสวาจาของเขาก็ย่อมจักเป็นมหาสาวัชชะ คือมีโทษมาก มีโทษหนัก หากว่าทำการด่า ทำการแช่งบุคคลอันธพาล ซึ่งเป็นคนไร้ศีลธรรม เป็นคนสามัญธรรมดา ผรุสวาจา คือการด่าการแช่งของบุคคลเจ้ากรรม ก็เป็นอัปปสาวัชชะ คือมีโทษน้อย มีโทษเบาเป็นธรรมดา

    thx1


    กรรมทีปนี เล่ม ๒
    พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙),


    หน้า๒๓๖-๒๔๔






     

แชร์หน้านี้

Loading...