เรื่อง...ความเมตตาของพระเดชพระคุณ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย gopets, 3 มิถุนายน 2008.

  1. gopets

    gopets เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    273
    ค่าพลัง:
    +119
    บุญคุณของพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่าน เจ้าประคุณพระราชพรหมยาน ที่มีต่อศิษยานุศิษย์และพระพุทธศาสนานั้น หาประมาณมิได้ ท่านได้ทำหน้าที่ของพระสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคตที่ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมครูโดยเคร่งครัดทั้ง อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และ อธิปัญญาสิกขา จนจบกิจ เมื่อเสร็จธุระแล้วก็ทำหน้าที่ สงเคราะห์สั่งสอนลูกศิษย์และพุทธบริษัทในทุกๆรูปแบบ เพื่อให้เหมาะแก่อัชฌาสัยของเขาเหล่านั้น ตลอดอายุขององค์ท่าน โดยมิได้ย่อท้อแม้แต่น้อย แม้ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ดังที่ท่านเคยปรารถว่า
    "เมื่อขณะป่วยหนักอยู่นั้น แขกไปมาหาสู่ก็เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ บางพวกรู้ว่าป่วยก็มาเยี่ยม บางพวกก็มาให้ช่วยสงเคราะห์ ก็ได้พยายามอดกลั้นทุกขเวทนา ปกปิดอาการทุรนทุรายของสังขารเสียด้วยอธิวาสนขันติธรรม ช่วยสงเคราะห์ไปตามหลักธรรมที่เรียนรู้ และปฏิบัติได้ ได้ตัดสินใจเสียแล้วว่า โอกาสใด ได้อนุเคราะห์ผู้ที่มีทุกข์ด้วยธรรมแล้วถึงแม้จะต้องสิ้นลมปราณไปในขณะนั้นก็เต็มใจ เพราะการตายในระหว่างพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นการตายตามแบบของพุทธศาสนิกชนผู้กตัญญูต่อพระพุทธเจ้า"
    ท่านหมั่นหาอุบายทั้งปวงมาแนะนำทั้งวิธีปฏิบัติและตัวอย่าง เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ได้เข้าถึงพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้จริง
    ดังคำปรารภเรื่องการปฏิบัติตนในพระพุทธศาสนา ตอนหนึ่งขององค์ท่านว่า
    เรื่องนรก สวรรค์ พรหม และนิพพานมีจริงหรือไม่
    อาตมาในฐานะพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอยืนยันตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่ามีจริง ตามท่านตรัส การพิสูจน์ ถ้าพิสูจน์กันด้วยการอ่านตำรา และคิดตามอารมณ์ อาตมาเห็นว่ายังไม่ตรงเป้าหมายในการค้นคว้าด้วยหลักสูตรพระพุทธศาสนา จะค้นหากันในด้านวัตถุนั้นยังไม่ตรงจุดตามความเป็นจริงทั้งนี้ เป็นเพราะความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน สอนในด้านอารมณ์ ไม่ใช่วัตถุ ถ้าท่านจะค้นหาความจริง ท่านจะต้องค้นคว้าด้านอารมณ์ การใช้อารมณ์ค้นคว้า อย่างเลวที่สุดท่านจะต้องทรงอารมณ์ดีประเภทเลว ตามที่กล่าวต่อไปนี้ให้ได้เสียก่อนคือ
    ๑.เลิกสนใจกับความดีความชั่วของคนอื่นสนใจอารมณ์ของตนเองให้ทรงอยู่ในความดีโดยเฉพาะไม่สนใจกับอารมณ์ชั่วร้าย
    ๒.ทรงศีลบริสุทธิ์ตลอดกาล ไม่แนะนำให้คนอื่นทำลายศีล ไม่ยินดีเมื่อคนอื่นทำลายสีล
    ๓.ระงับนิวรณ์ ๕ ประการคือ
    ๓.๑ กามฉันทะ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
    ๓.๒ ปฏิฆะ จองล้างเพื่อการแก้แค้นก็อย่าให้มี
    ๓.๓ ถีนะมิทธะ ระงับความง่วง เมื่อทำความดีในการทรงสมาธิ
    ๓.๔ อุทธัจจะกุกกุจจะ ระงับอารมณ์จรและความรำคาญ เมื่อทรงสมาธิ
    ๓.๕ วิจิกิจฉา ระงับความสงสัยในผลของสมาธิ
    เมื่อระงับนิวรณ์ได้แล้ว พยายามทรงพรหมวิหาร ๔ ให้ครบถ้วนตลอดเวลาที่มีลมปราณอยู่ คือ
    ๑. มี เมตตา ความรักคนและสัตว์เสมอด้วยตน มีอารมณ์ให้อภัยต่อผู้ประพฤติผิดพลาดไม่พยาบาทจองเวรจองกรรม ถ้าจะลงโทษก็ลงโทษตามวินัย ไม่ใช่อารมณ์พยาบาท
    ๒. กรุณา สงสารคนและสัตว์อื่นเสมอด้วยตนเอง สงเคราะห์ตามความสามารถที่จะสงเคราะห์ได้
    ๓. มุทิตา ไม่มีอารมณ์ริษยา เมื่อคนอื่นได้รับผลความดี ยินดีด้วยกับความดีที่ผู้อื่นได้รับแล้วด้วยความจริงใจ
    ๔. อุเบกขา ถ้าเกิดการอย่างไรก็ตามที่เกิดขึ้นแก่ตนเองและคนอื่นเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาได้ ก็ทำใจสบาย ไม่เดือดร้อน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบอารมณ์ทั้งหมดตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ให้ทรงได้ตามปกติ ไม่ใช่เฉพาะเวลา ต่อจากนั้นไปก็ให้จับนิมิตกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งใยกสิณ ๓ อย่างคือ
    ๑. เตโชกสิณ เพ่งไฟ
    ๒. โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว
    ๓. อาโลกกสิณ เพ่งแสงสว่าง
    การเพ่งเมื่อท่านทรงอารมณ์ขั้นต้นจนเป็นปกติ ผลของการเพ่งไม่มีอะไรยาก ใช้เวลาอย่างช้าไม่เกิน ๗ วันก็จะทรงนิมิตเป็นฌานได้อย่างสบายและใช้นิมิตเป็นสื่อดูสวรรค์ นรก พรหมโลก ถ้าท่านทรงวิปัสสนาญาณ ได้อารมณ์ถึงโคตรภูญาณเป็นอย่างน้อย ท่านจะพิสูจน์นิพพานได้อีกด้วย จะทราบว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า จริงหรือโกหก ดีกว่ามานั่งตีสำนวนตามตำรา ใคร่ครวญพิจารณาจนตายก็ไม่พบอะไร
    ในฐานะเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระจอมไตร คือพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนให้เรามีความไม่ประมาทในชีวิต ก็จงอย่าคิดว่าเราดีแล้วจงนึกถึงคำเตือนขององค์พระประทีปแก้วตรัสว่า
    "อัตตนา โจทยัตตานัง"
    "จงกล่าวโทษโจทย์ความผิดตนเองไว้เสมอ"
    ไอ้การกล่าวโทษโจทย์ความผิดนี้มันไม่ยาก
    เอาวินัยเป็นที่ตั้ง
    เอาธรรมะเป็นเครื่องตั้ง
    เอาสมถภาวนาเป็นที่ตั้ง
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอาอารมณ์ฌาณเป็นที่ตั้ง
    เอาอารมณ์บารมี ๑๐ เป็นที่ตั้ง
    แล้วก็ไปดูจริยาในอิทธิบาท ๔ ว่าเรามีครบถ้วนไหม
    ไปดูอารมณ์ฌานว่าในอารมณ์ฌานตอนไหนเราบกพร่องบ้าง อุดรูรั่วเสีย
    ดูข้อปฏิบัติวัฎฐากในศีล เราบกพร่องตอนไหนบ้าง พยายามอุดรูรั่วเสีย
    และจุดที่มีความสำคัญก็คือพิจารณาสังโยชน์ว่า การละสังโยชน์ ๓ เป็นคุณสมบัติของพระโสดาบันกับสกิทาคามี การละสังโยชน์ ๕ เป็นคุณสมบัติของพระอนาคามี การละสังโยชน์ ๑๐ เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ สังโยชน์แต่ละจุดเราละได้แล้วหรือยัง เราพิจารณาจุดนี้ จุดบกพร่องเราเอาจุดนี้เป็นสำคัญ
    และธรรมใดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พ่อแนะนำมาแล้ว ขอลูกทุกคนจงนำไปประพฤติปฏิบัติ โดยส่วนสุดที่มีความสำคัญ นั่น ก็คือ
    "อย่าเมากายจนเกินไป อย่าเมาชีวิต จงอย่าคิดว่าร่างกายของใครดี ดูร่างกายของเรานี้ มันสกปรกโสมม และมีความเสื่อมโทรมไปเป็นธรรมดาในไม่ช้ามันก็พัง อยู่คนเดียวมีความสุข สุขอย่างมีคนเดียวแต่ก็ทุกข์อย่างมีขันธ์ ๕ ฉะนั้นขอลูกทุกคนจงตั้งหน้าตั้งตาปลงจิตคิดว่า
    อนิจจา วต สังขารา
    สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
    อุปปาทวยธัมมิโน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แก่ไปทีละน้อยคือ ทรุดโทรมไป
    อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วในที่สุดก็ตาย ให้เอาใจนึกถึง ภาพคนตายว่า เวลานี้คนที่เขาตายมานอนอยู่ข้างหน้าเรา สภาพมันเป็นอย่างไร
    เตสัง วูปสโม สุโข ร่างกายที่เปื่อยเน่าอย่างนี้ถ้าเรางดไม่มีเสียได้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วตรัสว่า จะมีกายแก้วคือพระนิพพาน"
    "ลูกรักทั้งหลาย ธรรมส่วนใดที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วสอน ที่พ่อจะปกปิดไว้ไม่มี พ่อสอนหมดทุกอย่าง เมื่อพ่อตายแล้ว ขอลูกแก้วของพ่อจง ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยส่วนนี้ทั้งหมด ในเมื่อขันธ์ ๕ มันทรงไม่ไหวพ่อก็อยู่ไม่ได้ พ่อสอนลูกอยู่เสมอว่า ขันธ์ ๕ เป็นของธรรมดามันเกิด แก่ เจ็บ และในที่สุด มันก็ต้องตายเหมือนกันหมด ลูกจะเกาะขันธ์ ๕ ของพ่ออยู่อย่างนี้ตลอดกาลตลอดสมัยไม่ได้ ความดีที่จะเกิดมีขึ้นนั้นไซ้ก็คือการปฏิบัติตนเอง ฟังแล้วก็จำ จำแล้วก็คิด คิดแล้วก็ปฏิบัติตาม ถ้าสามารถทำได้ ในที่สุดไม่ช้าก็จะบรรลุมรรคผล เป็นพระอริยะบุคคล"
    จากหนังสือ พ่อรักลูก ๒ หน้า ๑๓-๒๒
    บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษบุคคลอื่นเป็นกำลัง
     

แชร์หน้านี้

Loading...