เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๘

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 23 มกราคม 2025 at 17:38.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๘


     
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ กระผม/อาตมภาพพร้อมด้วยคณะออกจากวัดอุทยาน ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ตี ๓ วิ่งมาฉันเช้าแถวอำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์

    จากนั้นก็ตรงไปยังพิษณุโลก เข้ากราบหลวงพ่อพระพุทธชินราช ประจำพรรษา ๒๕๖๗ ตามที่ครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง ก็คือหลวงปู่มหาอำพัน - พระเดชพระคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (อำพัน อาภรโณ บุญ-หลง) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ท่านได้สั่งเอาไว้ว่า "ถ้าตราบใดที่คุณยังบวชอยู่ เมื่อออกพรรษาแล้ว ให้หาเวลาไปสักการะสถานที่สำคัญและพระพุทธรูปสำคัญ ประกอบไปด้วยพระแก้วมรกต พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระปฐมเจดีย์ให้ได้ทุกปี" ซึ่งบางปี กระผม/อาตมภาพก็มาได้ตั้งแต่ต้น ๆ ปี บางปีก็ล่าไปจนกระทั่งเกือบเข้าพรรษาถึงจะมาได้

    พอดีปีนี้ได้รับนิมนต์จากท่านพันแสน (ธรรมชัย อคฺคธมฺโม) มาทำบวงสรวงพุทธาภิเษกที่วัดศิลาวาส บ้านปางโม่ จึงได้เดินทางขึ้นเหนือมาทางจังหวัดพิษณุโลก เพื่อเข้ากราบสักการะหลวงพ่อพระพุทธชินราชตามแผนงานของตน เมื่อไปถึงก็ได้บูชาบายศรี ๑ คู่ นำไปถวายหลวงพ่อพระพุทธชินราช กราบสักการะ สวดมนต์อุทิศส่วนกุศลแล้ว ก็ได้ไปกราบหลวงพ่อเหลือ (พระเสสันตปฏิมากร)

    เห็นรอบบริเวณได้รับการจัดการจนกระทั่งสะอาดเรียบร้อย ยังรู้สึกชื่นชมที่หลวงพ่อเจ้าคุณสุรชัย - พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย ป.ธ. ๗) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ซึ่งท่านได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร หรือว่าวัดพระพุทธชินราชแห่งนี้

    เนื่องจากว่าท่านบวชเป็นสามเณรที่วัดแห่งนี้ เมื่อมาถึงท่านก็ได้ปรับปรุงวัดขนานใหญ่ โดยเฉพาะบรรดาร้านค้าต่าง ๆ ตลอดจนกระทั่งร้านจำหน่ายวัตถุมงคล ร้านจำหน่ายล็อตเตอรี่ โดนโยกย้ายออกจากบริเวณหน้าวิหารทั้งหมด จนกระทั่งโล่งโถงดูสะอาดตา บรรดานักท่องเที่ยวสามารถที่จะเข้าออกได้อย่างสะดวกสบาย บริเวณอื่น ๆ ก็ได้รับการจัดการจนเป็นระเบียบเรียบร้อยเช่นกัน ยังรู้สึกว่าท่านสามารถในการบริหารจัดการจริง ๆ

    จากนั้นกระผม/อาตมภาพก็ได้วิ่งขึ้นเหนือมาตามเส้นทางพิษณุโลก สุโขทัย แพร่ แล้วแวะฉันเพลที่ลำปาง บริเวณร้านกาแฟสดชมดอย ปรากฏว่ามีของดี ก็คือข้าวไข่ข้น โดยเฉพาะเมนูพิเศษนี้ ถ้ากระผม/อาตมภาพเข้าร้านสะดวกซื้อเมื่อไร ก็จะสั่งข้าวไข่ข้นกะเพราเบคอน แต่ว่าที่ร้านนี้มีข้าวไข่ข้นกุ้งสดจึงสั่งมาลองฉันดู ปรากฏว่ารสชาติอยู่ในระดับออกงานได้ ไม่อายใครเลย ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจทำเป็นร้านกาแฟแท้ ๆ แต่ว่าฝีมือทำอาหารใช้ได้ทีเดียว
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    เมื่ออิ่มหนำสำราญแล้ว ก็ได้เดินทางขึ้นมาเชียงใหม่ ทะลุออกมาทางแม่ริม แม่แตง แวะกราบสังขารหลวงปู่ครูบาธรรมชัย (พระครูวรเวทย์วิสิฐ) ครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือมากรูปหนึ่ง เมื่อเข้าไปกราบ ปรากฏว่าบรรดาคุณสุนัขทั้งหลายก็ส่งข่าวต่อกันทั้งวัด ทำเอาหลวงพี่สมศักดิ์ของกระผม/อาตมภาพ (พระสมศักดิ์ ปญฺญาวโร) รองเจ้าอาวาสวัดทุ่งหลวงแห่งนี้ ต้องออกมาดูว่าแขกไปใครมาเป็นอย่างไร ?

    ปรากฏว่าเจอหน้าแล้วท่านจำไม่ได้ กระผม/อาตมภาพต้องคลายกำลังใจลง เนื่องเพราะว่าในช่วงที่อยู่ในรถนั้น น้องเล็ก (นางสาวจิราพร ซื่อตรงต่อการ) ได้ปรารภว่า "ถ้ามีคนจำได้ก็จะเอิกเกริกอีก" ในเมื่อเป็นเช่นนั้น กระผม/อาตมภาพจึงได้ภาวนาคาถานารายณ์แปลงรูปก่อนที่จะลงจากรถ เล่นเอา "พี่สมศักดิ์" ของกระผม/อาตมภาพจำไม่ได้จริง ๆ..!

    เมื่อคลายกำลังใจออกมา ท่านจำได้ จึงได้นั่งสนทนากัน แล้วก็เห็นใจท่านอยู่ทีเดียว เนื่องเพราะว่าวัดทุ่งหลวงนั้น หลวงปู่ครูบาธรรมชัยท่านสร้างเอาไว้ใหญ่โตเจริญรุ่งเรืองมาก นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงในเขตส่วนของเมืองพระนิพพานเลย แค่ในวัดอย่างเดียวก็ดูแลให้ดียากมากแล้ว

    ที่กระผม/อาตมภาพได้ปรารภแก่บรรดาพระภิกษุ แม่ชี ฆราวาสวัดท่าขนุนไว้เสมอว่า ถ้าพิพิธภัณฑ์วัดท่าขนุนเสร็จแล้ว กระผม/อาตมภาพจะไม่สร้างอะไรเพิ่มเติมอีก นอกจากดูแลของเก่าให้ดี และหาเงินกองทุนเข้าบัญชีวัดเอาไว้ เพื่อที่ใครมาเป็นเจ้าอาวาสก็จะได้มีเงินบำรุงวัด ไม่ต้องเสียเวลาไปหาเองด้วยความยากลำบาก

    เนื่องเพราะว่าศรัทธาของประชาชนนั้นเป็นของเฉพาะตน คนที่เคยทำบุญกับกระผม/อาตมภาพ ไม่ได้แปลว่าจะไปทำบุญกับเจ้าอาวาสใหม่ จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้จักพอเพียง อะไรที่พอสมควรแก่การใช้งานแล้ว ก็ไม่ต้องไปสร้างเพิ่มเติมอีก ดูแลของเก่าเอาไว้ให้ดี ใช้งานได้สะดวกก็เพียงพอแล้ว

    ในส่วนของที่ควรจะทำก็คือบรรดากองทุนต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้ วัดท่าขนุนมีกองทุนพระครูสุวรรณเสลาภรณ์ ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับบูรณปฏิสังขรณ์วัดท่าขนุน มีกองทุนรักษาพยาบาลพระภิกษุสามเณร มีกองทุนการศึกษาพระภิกษุสามเณร แล้วยังมีทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา และทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นอุดมศึกษา แผนการต่อไปก็คือตั้งกองทุนภัตตาหารสำหรับพระภิกษุสามเณร เพื่อที่จะเก็บเอาไว้สำหรับเป็นค่าภัตตาหาร ค่าน้ำค่าไฟภายในวัด ถ้ามีกองทุนทั้งหลายเหล่านี้อยู่ คาดว่าผู้มาทำหน้าที่เจ้าอาวาสใหม่ก็จะได้ไม่หนักใจมากนัก

    กระผม/อาตมภาพคาดว่าช่วงสุดท้ายของชีวิต นอกจากช่วยเหลือพรรคพวกเพื่อนฝูง ตลอดจนกระทั่งงานคณะสงฆ์แล้ว ปัจจัยส่วนที่เหลือก็จะส่งเข้ากองทุนทั้งหลายเหล่านี้ ถ้ามีจำนวนที่เพียงพอแล้วก็ว่าจะหยุดเอาไว้แค่นั้น เพื่อที่ให้เจ้าอาวาสใหม่ได้แสดงฝีมือของตนเองบ้าง
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    เมื่อคุยกันจนหายคิดถึงแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ลาหลวงพี่สมศักดิ์ เดินทางต่อมายังอำเภอเชียงดาว เข้าไปยังวัดศิลาวาส ซึ่งชื่อเดิมก็คือวัดปิงโค้ง แต่เนื่องจากว่าบ้านปิงโค้งนั้น อยู่ถึงก่อนวัดศิลาวาสหลายกิโลเมตร และสถานที่นี้ก็ขึ้นอยู่กับบ้านปางโม่ด้วย ท่านพันแสนซึ่งเป็นลูกศิษย์ครูบาเหนือชัย โฆสิโต สำนักสงฆ์ถ้ำป่าอาชาทอง เมื่อได้รับคำสั่งให้มาพัฒนาวัดแห่งนี้ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดศิลาวาส (ปางโม่)

    สำหรับวันนี้ที่นิมนต์กระผม/อาตมภาพมา ก็เพื่อที่จะให้ทำการบวงสรวงพุทธาภิเษก และถ้าหากว่าจำไม่ผิดพลาดก็น่าจะมีการหล่อพระด้วย อีกส่วนหนึ่งก็คือในเรื่องของการบริหารจัดการวัดนั้น ท่านพันแสนมีความรู้ความสามารถในการตีหอก ตีดาบ สร้างศาสตราวุธแบบโบราณ แล้วท่านก็ได้นำมาถ่ายทอดให้กับบุคคลทั้งหลายในบริเวณนี้ ผู้ใดที่ทำงานฝีมือเหล่านี้ไว้ ก็จะมาออกร้านจำหน่ายในงานวัด

    ส่วนศิลปกรรมต่าง ๆ ที่ท่านได้สร้างเอาไว้ ก็จะเป็นศิลปกรรมออกแนวไทยใหญ่ ประมาณว่ามีช่อมีชั้นลวดลายในลักษณะที่เรียกว่า "ปานต่อ ปานซอย" ซึ่งเป็นการฉลุโลหะประดับตัวอาคาร ท่านบอกว่าเป็นฝีมือสามเณรล้วน ๆ มีสถานที่ซึ่งฝึกหัดให้สามเณรศึกษาเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เอาไว้ แล้ว
    ถ้าสึกหาลาเพศไปจะได้ทำเป็นอาชีพ หรือถ้าหากว่ายังอยู่ในเพศบรรพชิต ก็จะได้เป็นครูช่างสืบสานวิชาการกันต่อไป

    ท่านได้จัดให้กระผม/อาตมภาพพักอยู่บนเนิน ซึ่งเป็นกุฏิเล็ก ๆ ดูท่าแล้วบรรยากาศค่อนข้างจะดีมาก ญาติโยมที่ตามมาประกอบไปด้วยพลขับ ก็คือคุณแดง (มงคล ม่วงน้อยเจริญ) และน้องเล็ก (นางสาวจิราพร ซื่อตรงต่อการ) นั้น ก็ให้กางเต็นท์อยู่บริเวณข้าง ๆ กุฏินี่เอง แต่ได้ยินว่าอากาศช่วงเช้าอยู่ที่ ๑๔ - ๑๕ องศาเซลเซียส ก็น่าจะต้องไปขนผ้าห่มภายในรถ ซึ่งกระผม/อาตมภาพตุนเอาไว้ ๓ - ๔ ผืนลงมาใช้งานเพิ่มได้

    แม้ว่าทางนี้จะจัดเตรียมทุกอย่างเอาไว้แล้ว แต่ว่าเป็นเรื่องของบุคคลที่คุ้นชินกับสถานที่ ท่านอาจจะรู้สึกว่าเพียงพอแล้ว แต่บุคคลที่ไม่คุ้นชิน ถ้าไม่เพียงพอเราก็มีของตนเองเพิ่มเติมได้ ในส่วนอื่นนั้น กระผม/อาตมภาพไม่ได้หนักใจ เพราะว่ากุฏิที่พักนั้น น้ำไหลไฟสว่าง ห้องน้ำสะดวกสบาย แถมยังมีนอกชานที่ให้ตั้งเตาสำหรับต้มน้ำ หรือว่าสนทนาธรรมรอบกองไฟกันได้อีกด้วย ถือว่าเป็นการจัดสถานที่ออกมาได้ดีทีเดียว

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๘
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...