เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๘

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 22 มกราคม 2025 at 17:17.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๘


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ อากาศที่ทองผาภูมิอยู่ที่ ๑๖ องศาเซลเซียส ช่วยให้การเดินบิณฑบาตแล้วไม่รู้สึกเหนื่อย ถือว่าเป็นเรื่องดีอย่างหนึ่ง เนื่องเพราะว่าบรรดานักท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ไปยังทองผาภูมิ ส่วนหนึ่งก็ตั้งใจจะไปสัมผัสกับอากาศหนาวแบบนี้เอง

    วันนี้กระผม/อาตมภาพมีภารกิจสำคัญ ก็คือร่วมประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี ในระดับเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ และเลขานุการ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๘ เรียกง่าย ๆ ว่าเริ่มประชุมครั้งแรกของปี

    วาระการประชุมสำคัญต่าง ๆ นั้นมีอยู่มาก แต่ด้วยความที่ว่าหลายต่อหลายอย่างนั้น ทางคณะสงฆ์ดำเนินการมาจนแทบจะเป็นระบบอัตโนมัติอยู่แล้ว อย่างเช่นว่าการส่งบัญชีรับจ่ายประจำปี การส่งรายงานการปฏิบัติงานของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล การส่งรายงานการปฏิบัติงานของสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด เหล่านี้เป็นต้น จึงทำให้ในการประชุมนั้น ไม่ต้องเสียเวลาที่จะมาทวงถามเอกสารกันอีก เพียงแต่ว่ามีการเน้นในเรื่องของการคัดเลือกตัวบุคคลที่จะมาสอบความรู้เพื่อเป็นพระอุปัชฌาย์ประจำปี ๒๕๖๘

    กระผม/อาตมภาพในฐานะที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ให้พิจารณาจากเจ้าคณะตำบลก่อน เพราะว่าพระอุปัชฌาย์นั้นแต่เดิมก็คือ ต้องให้ภายในตำบลนั้นอย่างน้อยมีพระอุปัชฌาย์ ๑ รูป เพื่อที่จะได้บวชกุลบุตรในเขตปกครองของตน ไม่ต้องให้เขาเดินทางไปไกล จึงให้สิทธิ์แก่เจ้าคณะตำบลก่อน

    หลังจากนั้นแล้ว ทางมหาคณิสสรก็มีการผ่อนผัน ให้ส่งเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดในเขตนั้น ๆ มาด้วย ถ้าหากว่าตำบลหนึ่งของทางคณะสงฆ์ ซึ่งต่ำสุดจะต้องมีวัดในเขตปกครอง ๕ วัด เกิดว่า ๕ วัดนั้นเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดทั้งหมด เขาก็ย่อมที่จะมีสิทธิ์ในการที่จะส่งชื่อเพื่อเข้ารับการอบรมฝึกซ้อมเป็นพระอุปัชฌาย์ทุกรูป

    เพียงแต่ว่าต้องพิจารณาคุณสมบัติอื่น ๆ ประกอบ อย่างเช่นว่าอายุพรรษา ซึ่งถ้าหากว่าเป็นคณะสงฆ์หนอื่น ๆ นั้นก็เห็นมีทั้ง ๑๐ พรรษาตามพระธรรมวินัย และ ๑๕ พรรษา มีเพียงคณะสงฆ์หนกลาง ตั้งแต่สมัยพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ป.ธ. ๙) วัดชนะสงคราม อดีตคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ท่านได้วางกฎเกณฑ์ไว้ว่า พระอุปัชฌาย์ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลางนั้น ขอให้มีพรรษาอย่างน้อย ๒๐ พรรษาขึ้นไป
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    กระผม/อาตมภาพเองก็ยังสงสัย จึงได้กราบเรียนถามว่า "พระเดชพระคุณกำหนดกฎเกณฑ์ข้อนี้มาด้วยสาเหตุอะไรครับ ?" ท่านบอกว่า "เพื่อให้อายุห่างกันเพียงพอที่จะเป็นพ่อกับลูกกันได้อย่างสมภูมิ" เนื่องเพราะว่าบางท่านบวชตั้งแต่อายุ ๒๐ เมื่อครบ ๒๐ พรรษาก็เพิ่งจะอายุ ๔๐ ถ้าเป็นบุคคลที่สร้างบุญมาดี ก็ยังดูหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว บางคนก็หน้าตาเหมือนอย่างกับเณรเสียด้วยซ้ำไป จึงทำให้การเป็นพระอุปัชฌาย์นั้นขาดความน่าเชื่อถือ จึงต้องกำหนดเอาไว้ว่า "ต่ำสุดต้องให้ได้ ๒๐ พรรษาขึ้นไป"

    แต่เท่าที่ผ่านมา ถ้าหากว่าในพื้นที่กันดาร อย่างเช่นว่าอำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น เหล่านี้ก็ยังมีการอนุโลม เท่าที่กระผม/อาตมภาพพบมาก็คือ ๑๒ พรรษาท่านก็ให้เป็นพระอุปัชฌาย์ได้ ตรงนั้นต้องบอกว่า ขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้นว่าหาพระยากง่ายระดับไหน ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ถือกฎเกณฑ์ตายตัว หากแต่ว่าท่านมีการพิจารณาแล้วก็ปรับแก้ยืดหยุ่นกันไปได้ตามพื้นที่

    ตรงนี้ต้องกราบขอบพระคุณพระเถระทั้งหลาย ที่ร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ไม่ปล่อยให้พวกเราเสียโควต้าไปฟรี ๆ ซ้ำตนเองก็ยังต้องเสียเวลาไปอธิบายให้กับบรรดาคณะกรรมการในมหาคณิสสร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็คือเจ้าคณะภาคและรองเจ้าคณะภาค เพื่อที่ขออนุญาตว่าให้รายนี้เข้ารับการอบรมฝึกซ้อมอบรมเพื่อเป็นพระอุปัชฌาย์กรณีพิเศษ

    โดยปกตินั้นในตอนต้น กรณีพิเศษของเราก็คือพระอุปัชฌาย์วิสามัญ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง หรือว่าผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ผ่านการอบรมแล้ว ไม่ได้รับตราตั้งจากมหาคณิสสร หากแต่ว่าต้องไปรับตราตั้งจากสมเด็จพระสังฆราช แต่ว่าบรรดาที่ได้รับตราตั้งจากทางมหาคณิสสร หรือเจ้าคณะใหญ่ของตนนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นบุคคลที่ได้รับอนุมัติพิเศษ ให้เข้ารับการอบรมได้

    อย่างช่วงที่ผ่านมา จังหวัดสมุทรสาครก็ส่งหลวงปู่ที่อายุ ๘๓ ปีแล้ว เข้ารับการอบรมพระอุปัชฌาย์ โดยที่ท่านก็ไม่ได้เป็นเจ้าคณะตำบลด้วย แต่ว่าเป็นบุคคลที่ญาติโยมทั้งหลายให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง เป็นพระเกจิอาจารย์สำคัญของจังหวัด จึงอยากให้ท่านได้เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชลูกบวชหลานให้กับญาติโยมผู้เคารพเลื่อมใสท่าน ซึ่งมีหลายพันหลายหมื่นคน ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ทางมหาคณิสสรก็อนุญาตให้เช่นกัน
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    ทำให้ภาค ๑๔ ภายใต้การปกครองของพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) นั้น มีความพิเศษไม่เหมือนกับที่อื่นเขาอยู่เรื่อย ทำให้มีคนบ่นว่า "หลวงพ่อแย้มท่านชอบทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้านเขา" อย่างเช่นว่าตั้งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาคเสีย ๑๐ กว่ารูป..!

    หลวงพ่อแย้มท่านบอกว่า แต่ละรูปนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีประสบการณ์ ผ่านการปกครองคณะสงฆ์มายาวนาน พูดง่าย ๆ ว่า "ผ่านร้อนผ่านหนาว" มานาน มีประสบการณ์มาก เมื่อมาเป็นที่ปรึกษา เรื่องหนักก็กลายเป็นเบา เรื่องเบาก็กลายเป็นหาย เพราะว่าหลายต่อหลายท่านมีประสบการณ์ ในการแก้ไขปัญหาการปกครองด้านต่าง ๆ มา ในเมื่อเรื่องไหนไปตรงกับความถนัดของท่าน ท่านให้คำแนะนำมา เรื่องนั้นก็จบลงในเวลาอันรวดเร็ว..!

    อีกประการหนึ่ง หลวงพ่อเจ้าคณะภาค ๑๔ ท่านบอกว่า ที่ปรึกษาแต่ละท่านที่ตั้งขึ้นไป ส่วนใหญ่ก็อยู่ในระดับครูบาอาจารย์ของท่าน ในเมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว ก็ควรที่จะยกย่องเชิดชูให้เกียรติท่านด้วย ไม่ปล่อยให้คนแก่อยู่เหงา ๆ จนกระทั่งเฉาและหมดลมหายใจไปเฉย ๆ ควรที่จะดึงท่านออกมาทำการทำงาน ทำให้ท่านรู้สึกคึกคักเข้มแข็ง รู้สึกว่ายังมีคนต้องการตนเองอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดความกระตือรือร้น มีชีวิตชีวา ไม่ใช่เป็นคนแก่ที่นั่งรอวันมรณภาพอย่างเดียว กระผม/อาตมภาพก็เห็นด้วยในข้อนี้เช่นกัน

    อีกเรื่องหนึ่งก็เป็นการขอความร่วมมือในโครงการอบรมบาลีก่อนสอบ เนื่องเพราะว่าทางคณะสงฆ์ภาค ๑๔ นั้น จะมอบหมายให้แต่ละอำเภอร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ในการถวายภัตตาหารเพลแก่ผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเจ้าภาพอำเภอเดียว หากแต่ว่าต่ำสุดก็เป็นสองอำเภอ ก็คืออาจจะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครปฐม แล้วก็ยังมีเจ้าภาพขาจรที่ร่วมมาเป็นเจ้าภาพอีกด้วย เนื่องเพราะว่าการที่จะได้ถวายภัตตาหารพระเป็นร้อย ๆ รูปในลักษณะของมหาสังฆทานนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะได้พบเจอกันง่าย ๆ จึงมีบรรดาทานบดีผู้มีจิตศรัทธา เข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพเสริมอยู่เสมอ

    เท่าที่กระผม/อาตมภาพเข้าไปร่วมงานอบรมบาลีก่อนสอบ มาหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน ต้องบอกว่าข้าวปลาอาหารอยู่ในลักษณะที่อุดมสมบูรณ์มาก จึงทำให้บุคคลที่เข้าอบรมนั้น ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะมาเข้าร่วมการอบรม เนื่องเพราะว่าอยู่วัดของตนเอง ก็อาจจะไม่ได้มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ขนาดนี้ ฟังดูแล้วเหมือนกับเห็นแก่กินอย่างไรก็ไม่ทราบ ?!

    ในส่วนนี้พวกเราก็เต็มใจที่จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะแต่ละอำเภอก็จะมีเจ้าคณะตำบลคอยหนุนเสริมอยู่ ทางเจ้าคณะตำบลก็ไปขอความร่วมมือจากเจ้าอาวาส ในเมื่อมีการสนับสนุนกันเป็นชั้น ๆ แบบนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่หนักใจเลย ทำให้งานอบรมบาลีก่อนสอบที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ซึ่งดำเนินการมาประมาณ ๕๐ ปีแล้วนั้น เป็นเรื่องที่สำเร็จลงได้โดยง่าย
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    โดยเฉพาะบรรดาพระวิทยากรต่าง ๆ มาเหนื่อยยากตรากตรำกันเป็นเดือน ๆ "ปากเปียกปากแฉะ" ในการสั่งสอนพระภิกษุสามเณร ซึ่งบางท่านก็ "หัวไม่ไป" เลย เจอศัพท์ที่สมาสหรือว่าสนธิเข้าหากัน บางทีก็แยกไม่ออกว่ากี่ศัพท์กันแน่ ?

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้แปลไม่ถูก ต้อง "ปากเปียกปากแฉะ" คอยจิ้มคอยไชกันอยู่ตลอดเวลา เป็นการกระทำที่เป็นธรรมทานจริง ๆ จนกระทั่งทางด้านผู้บังคับบัญชาทุกระดับมีความเห็นว่า ควรที่จะมีรางวัลให้ด้วย โดยมาขอความร่วมมือจากบรรดาพระสังฆาธิการอย่างกระผม/อาตมภาพนี่เอง

    ปีที่แล้วกระผม/อาตมภาพก็มอบเหรียญเต่าโล่กันภัยไปให้ ๒๐ เหรียญ ก็คือเป็นเหรียญที่ทางวัดสี่แยกเจริญพรของพระครูเทพ (พระครูปฐมสาธุวัฒน์) สร้างขึ้นมา เป็นเหรียญสำหรับตั้งบูชาขนาดใหญ่เกือบ ๑ ฟุต..! แต่ว่ามีโซ่ ซึ่งความจริงก็คือสร้อย แต่เส้นใหญ่หน่อย ให้สามารถคล้องคอได้ สำหรับท่านที่รู้สึกว่าตัวเองมีโล่กำบังแบบนี้น่าจะปลอดภัยดี ก็สามารถที่จะคล้องคอไปได้เลย แต่ถ้าหากว่าตั้งไว้บูชาก็จะเป็นเรื่องที่ดีกว่า

    กระผม/อาตมภาพได้สละในส่วนที่พระครูเทพถวายมา เพื่อให้จำหน่ายหาทุนสำหรับวัดท่าขนุนเองนั้น ไปเป็นรางวัลให้แก่พระวิทยากรทั้งหลาย ปีนี้ก็ยังไม่ทราบว่าจะหาอะไรให้ไป เนื่องเพราะว่าวัตถุมงคลในคลังนั้น ร่อยหรอจนแทบจะไม่เหลือติดวัดแล้ว แต่ละรายการก็เหลืออยู่แค่ ๑๐๐ - ๒๐๐ องค์ ถ้าในส่วนของเว็บไซต์วัดท่าขนุนก็ดี เว็บเพจกิฟท์จังพลังเวทย์ก็ตาม ถ้าจำหน่ายหมดไปแล้ว อาจจะไม่มีส่วนของวัดเหลืออยู่อีกเลยก็ได้..!

    แต่ว่าการเสียสละเพื่อส่วนรวมนั้น เป็นสิ่งที่กระผม/อาตมภาพเต็มใจที่จะทำอยู่แล้ว ถ้าไม่มีวัตถุมงคลไปเป็นรางวัลแก่พระวิทยากร ก็อาจะถวายปัจจัยสนับสนุนงานเพิ่มขึ้น เพื่อถึงเวลาจะได้จัดสรรปันส่วนให้กับพระวิทยากรได้ แม้ว่าท่านจะไม่เรียกร้องอะไร แต่ก็ถือว่าพวกเราให้เป็นสินน้ำใจ ที่ท่านอุตส่าห์ช่วยงานคณะสงฆ์โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๘
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...