เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 14 มีนาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,528
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,536
    ค่าพลัง:
    +26,373
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,528
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,536
    ค่าพลัง:
    +26,373
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ ความจริงกระผม/อาตมภาพยังมีภารกิจ ในการอบรมฝึกซ้อมว่าที่พระอุปัชฌาย์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ อีก แต่ว่าพระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. (ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ส่งฎีกานิมนต์ให้ไปร่วมงาน ๑๑๔ ปีชาตกาลหลวงพ่ออุตตะมะ จึงต้องวิ่งกลับมา พรุ่งนี้พองานเสร็จแล้ว ก็ต้องวิ่งกลับไปที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม (แห่งที่ ๒) สถานที่ฝึกซ้อมอบรมว่าที่พระอุปัชฌาย์อีก

    ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณและเจริญพรขอบคุณ ทั้งพระภิกษุของเรา แม่ชี และฆราวาส ที่ช่วยกันดูแลนิสิตพระวิปัสสนาจารย์โครงการทุนเล่าเรียนหลวงรุ่นที่ ๔ ซึ่งมาฝึกซ้อมการธุดงค์ที่วัดท่าขนุนนี้เป็นอย่างดี ในพิธีปัจฉิมนิเทศ ทางด้านเจ้าหน้าที่ก็มีการประกาศต่อหน้านายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี ซึ่งเป็นผู้แทนพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการมอบประกาศนียบัตรและพัดรอง ให้แก่ผู้สำเร็จเป็นพระวิปัสสนาจารย์ของรุ่นนี้ ซึ่งจากที่สมัครเข้ามา ๘๐ รูป แล้วศึกษาทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ ตลอดจนกระทั่งการเดินธุดงค์ ผ่าน ๗๖ รูป อีก ๔ รูปนั้น ก็แล้วแต่ปัญหาสภาพร่างกาย เนื่องเพราะว่าที่อยู่กับเราก็มีเป็นลมแดดกันบ้าง บางท่านพอสุขภาพชำรุด ไปต่อไม่ไหว ต้องถอนตัวกลางคันก็มี

    ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่าธุดงค์นั้นไม่ใช่การเดิน โดยเฉพาะไม่ใช่การเดินในป่าในดง ถ้าท่านทั้งหลายศึกษาในเรื่องของธุดงควัตร ๑๓ ประการ จะเห็นว่าเกี่ยวข้องด้วยเรื่องของอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย

    เรื่องของอาหาร อย่างเช่นว่าบิณฑบาตเป็นวัตร บิณฑบาตไปตามลำดับบ้าน ฉันอาหารบิณฑบาตเฉพาะในภาชนะเดียว เหล่านี้เป็นต้น ในเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม อย่างเช่นว่า ถือผ้าสามผืนเป็นวัตร ในเรื่องของที่อยู่อาศัย อย่างเช่นว่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่กลางแจ้งเป็นวัตร

    แล้วรูปแบบการธุดงค์ที่เราคิดว่าใช่นั้นมาจากไหน ? ก็มาจากการที่ครูบาอาจารย์ท่านเดินเข้าป่า เพื่อหาที่เหมาะ ๆ ในการประพฤติวัตร ปฏิบัติธรรม ตามหลักธุดงควัตรทั้ง ๑๓ ประการ ซึ่งถ้าเป็นแบบที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงท่านสรุปเอาไว้ ก็คือเดินไปภาวนาไปอย่างหนึ่ง แล้วก็เดินไปหาที่เหมาะสม ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่าสถานที่สัปปายะ แล้วไปปฏิบัติอยู่ที่นั่นอีกอย่างหนึ่ง
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,528
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,536
    ค่าพลัง:
    +26,373
    แต่บังเอิญว่ากระผม/อาตมภาพนั้นถนัดในการเดินภาวนา ดังนั้น..ในสมัยที่ธุดงค์ ถ้าเดินอย่างสบาย ๆ ก็วันละ ๔๐ กิโลเมตร แต่ถ้าหากว่าเร่งด่วน ที่เคยเร่งเดิน ก็อย่างที่เคยเล่าเอาไว้ว่าทุ่งใหญ่ ๙๓ กิโลเมตร สามารถเดินถึงภายใน ๑๒ ชั่วโมงเท่านั้น..!

    ทำให้กระผม/อาตมภาพประมาณกำลังของเด็กรุ่นใหม่ผิดไปมาก เพราะคิดว่าระยะแรกเดินจากวัดเราไปวัดวังปะโท่ แค่ ๒๖ กิโลเมตรเท่านั้น หลังจากนั้นพอเดินไปวัดนพเก้าทายิการาม และสำนักสงฆ์ถ้ำโป่งช้าง ระยะทางก็มีแต่ลดลง ๆ ด้วยความที่ประมาณการณ์ผิด พอปรึกษาหารือคณะอาจารย์ที่คุมนิสิตมาแล้ว จึงได้ลดระยะทางลง ให้เหลือวันละไม่เกิน ๑๐ กิโลเมตรเท่านั้น จึงทำให้หลายท่านสามารถที่จะเดินไปถึงก่อนอาหารมื้อเพล แต่ก็ยังมีคนเป็นลมเป็นแล้งอยู่ดี..!

    เรื่องพวกนี้กระผม/อาตมภาพเคยย้ำกับบุคคลหลายคนว่า "ภูมิใจที่เกิดเป็นเด็กบ้านนอก" เพราะว่าความเป็นเด็กบ้านนอก ทำให้มีร่างกายที่แข็งแรงกว่าเด็กในเมือง เป็นความแข็งแรง แข็งแกร่ง ที่สะสมขึ้นมาวันละเล็กวันละน้อย เป็นความแข็งแรงที่เกิดจากการทำมาหากิน ไม่ใช่เกิดจากที่ไปเข้าฟิตเนส..! ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถึงเวลาถ้ามีอะไรที่ต้องวัดกันจริง ๆ ก็จะกลายเป็นว่า ท้ายที่สุดแล้วจะมีความอึดมากกว่าเด็กในเมืองหลายเท่า

    ธุงดควัตรนั้นไปเจริญทางด้านภาคอีสาน โดยเฉพาะพระสายวัดป่าธรรมยุตของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ธุดงควัตรที่บางคนบอกว่าเหมือนกับอัตกิลมถานุโยค คือการทรมานตนนั้น สำหรับบุคคลที่เป็นชาวอีสานแล้ว ด้วยความที่ดินฟ้าอากาศค่อนข้างจะโหดร้าย ทุกคนต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดในสถานที่แบบนั้น จึงมีทั้งกำลังกายและกำลังใจที่เข้มแข็งกว่าคนภาคอื่น หลักธรรมปกติทั่วไปแล้ว "เอาไม่อยู่" แต่เมื่อเจอความลำบากแบบธุดงควัตรเข้า กลับเหมาะกับจริตของท่านทั้งหลายเหล่านั้นพอดี จึงทำให้ธุดงควัตรไปเจริญอยู่ทางพระสายวัดป่าภาคอีสาน

    แล้วในปัจจุบันนี้ นอกจากตีความคำว่าธุดงค์ผิด คิดว่าต้องแบกกลดสะพายบาตรออกเดินเท่านั้นถึงเป็นการธุดงค์ แล้วก็มีบางสำนัก มีการธุดงค์โดยเดินบนกลีบดอกไม้เสียอีก..! ก็ยิ่งห่างไกลความจริงไปใหญ่ ดังนั้น..ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า คำว่าธุดงค์ในที่นี้คือภาษาบาลีที่ว่า ธุตงฺค คือ องค์คุณความเพียรในการเผากิเลส ไม่ได้แปลว่าเดินดงเดินป่าอย่างภาษาไทย เพียงแต่การประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมของเหล่านักธุดงค์ ไปสอดคล้องกันจนคนเข้าใจผิด นึกภาพว่าถ้าธุดงค์เมื่อไรก็ต้องเดินป่า
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,528
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,536
    ค่าพลัง:
    +26,373
    ในปัจจุบันนี้พระสงฆ์สามเณรของเราจำนวนมากบอกว่า "ไม่มีป่าให้เดิน" กระผม/อาตมภาพขอยืนยันว่าป่าที่ให้เดินยังมีมาก แต่ท่านไม่กล้าไปกันเอง อย่างที่กระผม/อาตมภาพออกเดินธุดงค์ครั้งแรกเมื่อพรรษาที่ ๔ ก็ตก ๓๐ กว่าปีมาแล้ว ตอนแรกเพื่อนฝูงพี่น้องก็ขอตามไป ๗ - ๘ รูป แต่พอบอกว่าจะไปที่ไหน ลำบากอย่างไร ก็ถอนตัวกันหมด โดยเฉพาะหลวงพ่อโอ (พระครูสมุห์พิชิต ฐิตวีโร) ที่พวกกระผม/อาตมภาพเรียกว่า "หลวงพี่" ท่านบอกว่า "ธุดงค์อย่างท่านผมก็อยากไป แต่ในป่าไม่มีเนสว่ะ..!" เพราะว่าท่านติดกาแฟ ในเมื่อไม่มีกาแฟ ท่านก็เลยไม่เดินธุดงค์..!

    เรื่องนี้ท่านทั้งหลายที่เห็นว่าหลังอาหารมื้อเพลแล้ว นอกจากน้ำเปล่า กระผม/อาตมภาพไม่ได้ฉันน้ำปานะอะไรแบบทุกท่าน เพราะว่าเห็นทุกข์เห็นโทษจากการเดินธุดงค์นั่นเอง พอถึงวันท้าย ๆ ร่างกาย "กรอบเป็นข้าวเกรียบ" แล้ว อะไรที่เป็นส่วนเกินแม้แต่นิดเดียวก็ไม่อยากได้

    แต่ไปเห็นหลวงพ่อทวน โฆสโก เจ้าพ่อธุดงค์สายชายแดนพม่า ท่านแบกย่ามธุดงค์สองใบ พอท่านวางลง กระผม/อาตมภาพลองยกดู ใบเดียวยังยกไม่ขึ้นเลย..! ทั้ง ๆ ที่น้ำหนักตนเองแบกไปคือ ๒๒ กิโลกรัม แปลว่าของหลวงพ่อทวน ใบหนึ่งนั้นเกิน ๓๐ กิโลกรัมแน่นอน เมื่อกราบเรียนถามท่านว่า "หลวงพ่อครับ ใส่อะไรไว้บ้าง ?" ท่านก็รูดซิปเปิดย่าม หยิบให้ดูทีละอย่าง สรุปว่าแค่น้ำตาลทรายอย่างเดียว ๑๓ กิโลกรัม..! แล้วท่านก็ไม่ได้ฉันเองด้วย ท่านแบกไปเผื่อพวกกระผม/อาตมภาพที่ตามไป ๗ - ๘ รูปนั่นแหละ..!

    ถึงเวลาสรงน้ำสรงท่าเสร็จ เข้าที่สวดมนต์ไหว้พระแล้วก็เดินจงกรมภาวนา หลวงพ่อทวนต้องถือแกลอนน้ำข้างละ ๕ ลิตร ถึงจะเดินจงกรมได้..! กระผม/อาตมภาพเห็นแล้วก็แปลกใจ ถามว่า "หลวงพ่อ..ทำไมต้องหิ้วแกลอนด้วยครับ ?" ท่านบอกว่า "ถ้าไม่หิ้วไว้มันจะลอย..!" ก็คือตัวเองแบกน้ำหนักข้างหนึ่ง ๓๐ กว่ากิโลกรัม พอถึงเวลาปลดลง ก็คงประมาณฝึกวิทยายุทธแบบกำลังภายในเขา ทำให้ตัวเบามากจนเกินไป เดินไม่เป็น ต้องเอาน้ำถ่วงไว้ข้างละ ๕ ลิตร ก็คงประมาณข้างละ ๕ กิโลกรัม ไม่อย่างนั้นท่านก็จะเดินไม่ได้..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,528
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,536
    ค่าพลัง:
    +26,373
    แล้วการธุดงค์ในสมัยนี้ ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ไปธุดงค์เกินครึ่งเป็นพวกที่อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ยาก..! มีความประพฤติแบบที่วัยรุ่นเขาว่า "ไม่สนโลก"

    กระผม/อาตมภาพเจอมากับตัวเองเลย พักอยู่รวมกัน ๗ - ๘ คน พ่อเจ้าประคุณตื่นตี ๑ ครึ่ง กูก็ห่มผ้า ปูอาสนะ สวดมนต์ทำวัตรสนั่นหวั่นไหวอยู่คนเดียว ไม่สนใจว่าคนอื่นจะหลับจะนอนอย่างไร..! ดังนั้น..ในเมื่ออยู่ร่วมกับใครไม่ได้ ท้ายสุดก็ต้องออกป่า

    คราวนี้การออกป่าแทนที่จะขัดเกลานิสัยของตนเอง กลับกลายเป็นปลีกตัวหนีจากสังคม เพื่อไปทำอะไรตามใจตนเอง โอกาสที่จะได้ดี ก็เลยหาไม่ได้หนักเข้าไปอีก บางรายก็เข้าไปดูดยาบ้า พอเรี่ยวแรงเหลือเฟือขึ้นมา ก็วิ่งแข่งกันขึ้นเขา แช่งให้เป็นลมตาย ก็ไม่เป็นสักที..! บางทีคึกจนหาทางออกไม่ได้ ก็เอามีดสปาตาร์ฟันหัวกัน..! กระผม/อาตมภาพก็ต้องแบกออกมารักษาอีก..!

    ดังนั้น..ภาพพจน์ของพระธุดงค์สมัยปัจจุบันจึงตกต่ำไปมาก โดยเฉพาะพวกหากินด้วยการโบกรถ คนที่อยากได้บุญว่าไปส่งพระธุดงค์ พอให้ขึ้นเท่านั้นแหละ..ไม่ลงหรอก..! จนกว่าจะถวายปัจจัยค่ารถเท่านั้นเท่านี้ ถึงจะยอมลง กลายเป็นแก๊งหากินข้างถนนไปอีก

    ถ้าท่านทั้งหลายจะประพฤติในธุดงควัตร ก็ศึกษาว่า ๑๓ หัวข้อเราทำอะไรได้บ้าง แล้วทำอยู่ในวัดก็ได้ เพราะไม่ได้บังคับว่าต้องเดินดง ยกเว้นข้อที่ว่าอยู่ป่าช้าเป็นวัตร วัดของเราก็ไม่มีป่าช้า มีแต่ที่เก็บกระดูก ก็เลือกเอาว่าเราถือข้อไหนได้ โดยที่ไม่ทำให้ตนเองแปลกแยกจากเพื่อนฝูงมากนัก ก็ทำไปตามนั้น เป็นการหาหลักยึดหลักปฏิบัติสักอย่างหนึ่งที่เป็นของตัวเอง จะได้ขัดเกลา กาย วาจา ใจ ของตนให้ดีขึ้น

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...