เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 11 มีนาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพต้องไปบรรยายถวายความรู้ แก่ผู้เข้าสอบความรู้พระอุปัชฌาย์ ในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี ประจำปี ๒๕๖๗ ที่ห้องประชุมศาลาเอนกประสงค์ วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร หมู่ที่ ๑๐ ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการอบรมในระดับจังหวัด จากนั้นก็ต้องเข้าไปอบรมต่อในระดับภาคที่ ศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐมแห่งที่ ๒ ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมต่อไป

    กระผม/อาตมภาพได้ย้ำต่อว่าที่พระอุปัชฌาย์ว่า ในระดับจังหวัดก็ดี ในระดับภาคก็ดี ท่านทั้งหลายจะพบกับบทโหดของครูบาอาจารย์ ซึ่งจะต้องพยายามทำให้ท่านทั้งหลาย เข้าไปอยู่ในกรอบของความเป็นพระอุปัชฌาย์ ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ท่านที่สอบตกหรือว่าได้คะแนนน้อย ก็อย่าเพิ่งเสียกำลังใจ

    ถ้าเราเข้มงวดเอาไว้แต่แรก เมื่อไปถึงระดับประเทศที่วัดสามพระยาวรวิหาร ซึ่งเป็นการสอบรอบสุดท้ายนั้น ท่านทั้งหลายก็มักจะผ่านได้โดยง่าย เนื่องเพราะว่าความยากเข็ญทั้งหลายเหล่านั้น จะโดนมากันตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับภาค หรือว่าระดับหนไปแล้ว ครั้นไปถึงระดับประเทศ ครูบาอาจารย์ท่านมักจะผ่อนผันให้ เนื่องเพราะว่าท่านทั้งหลายโดนทุบ โดนนวด จนกระทั่งเข้าที่เข้าทางแล้ว แต่ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะเข้าที่เข้าทาง ก่อนที่จะผ่านไปได้แต่ละด่านนั้น ก็ต้องเครียด ต้องเหนื่อย แต่เราต้องอดทนและต่อสู้ไม่ถอย

    พร้อมกับได้ยกตัวอย่างของปีที่แล้ว ซึ่งท่านพระครูปริยัติชัยกาญจน์ เจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาปูน ซึ่งท่านไปในฐานะเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมจังหวัดกาญจนบุรี (วัดถ้ำเขาปูน) ปรากฏว่าในช่วงสอบนั้น ทุลักทุเลเป็นอย่างมาก ท่านเองทำท่าจะถอดใจเสียหลายครั้ง ไม่นึกว่าการสอบพระอุปัชฌาย์จะยากเย็นและเข้มงวดขนาดนี้

    แต่กระผม/อาตมภาพและครูบาอาจารย์หลายท่าน ก็ช่วยกันให้กำลังใจว่า ยากแค่ตรงนี้เท่านั้น ถ้าหากว่าท่านสู้แล้วผ่านไปได้ ในระดับประเทศที่วัดสามพระยาวรวิหาร ท่านผ่านได้แน่นอน แล้วก็เป็นความจริง ซึ่งงานนี้ท่านเองก็ช่วยมาเป็นพี่เลี้ยงในการอบรม และช่วยยืนยันในสิ่งที่กระผม/อาตมภาพบอกกล่าวแก่ว่าที่พระอุปัชฌาย์ทั้งหลายด้วย

    ครั้นเมื่อทำพิธีปิดการอบรมเสร็จเรียบร้อย และฉันเพลร่วมกันแล้ว กระผม/อาตมภาพก็เดินทางไปยังวิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรี ศรีไพบูลย์ ด้วยภารกิจสำคัญสองอย่าง อย่างแรกก็คือนำเอาค่าเทอมของพระนิสิตประกาศนียบัตรกิจการคณะสงฆ์ จำนวน ๒๔๕,๒๕๐ บาท ไปถวายให้แก่พระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. (ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙) ผู้อำนวยการวิทยาสงฆ์กาญจนบุรี ศรีไพบูลย์

    และภารกิจสำคัญที่สอง ก็คือร่วมสัมมนาวิชาการ กับนิสิตสาขาพระพุทธศาสนา วิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรี ศรีไพบูลย์ ในหัวข้อ บทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาสังคม ซึ่งผู้ร่วมการสัมมนานั้น ประกอบไปด้วยกระผม/อาตมภาพ ท่านเจ้าคุณวีรพล (พระสุธีวชิรปฏิภาณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร และคุณณัฐภัทร ศิริพันธุ์ พัฒนาชุมชนอำเภอพนมทวน
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    โดยที่กระผม/อาตมภาพได้ย้ำกับทุกท่านว่า ในเรื่องบทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาสังคมนั้น จะว่าไปแล้ว ก็เป็นความประสงค์ประการหนึ่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์ท่านได้ตรัสเอาไว้ชัดเจน ในวันที่ส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ออกไปประกาศพระพุทธศาสนาว่า

    จะระถะ ภิกขะเว จาริกัง ภิกษุทั้งหลาย ขอเธอจงเที่ยวไป

    พะหุชะนะหิตายะ พะหุชะนะสุขายะ เพื่อประโยชน์ของชนหมู่มาก เพื่อความสุขของชนหมู่มาก

    โลกานุกัมปายะ เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก


    นี่คือบทบาทที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชี้แนวทางปฏิบัติ แก่พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา แต่ว่าในสมัยนั้นท่านได้ส่งพระอรหันต์ออกไปทำบทบาทนี้ ท่านทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีภาระทางใจแล้ว จึงสามารถที่จะแสดงบทบาทของตนได้อย่างเต็มที่ แต่ว่าเราท่านทั้งหลาย ซึ่งจะรับบทบาทในการพัฒนาสังคมในยุคปัจจุบันนี้ เรายังแบกกิเลสอยู่เต็มตัว แล้วยังต้องแบกภาระหน้าที่ต่าง ๆ ตามความคาดหวังของชาวบ้านเขาเอาไว้อีก จึงเป็นภาระที่หนักมากอย่างยิ่ง..!

    โดยเฉพาะการที่ท่านจะพัฒนาชาวบ้านเขานั้น ต้องยึดหลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ คือเราต้องเข้าใจ เข้าถึง เราจึงจะสามารถไปพัฒนาเขาได้ อย่างเช่นตัวกระผม/อาตมภาพนั้นอยู่อำเภอทองผาภูมิ มีชาติพันธุ์ต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นมอญ พม่า กะเหรี่ยง ตลอดจนกระทั่งไทยอีสาน ม้ง เย้า ลีซอ แม้กระทั่งขมุ ที่เป็นชนเผ่าโบราณก็ยังพอมีเหลืออยู่ ท่านทั้งหลายเหล่านี้มีธรรมเนียมประเพณีที่ต่าง ๆ กันไป

    อย่างเช่นว่าเมื่อสนับสนุนให้พี่น้องกะเหรี่ยงทำการทอผ้า นำออกไปจำหน่ายแล้ว ทุกท่านก็เลิกการทอผ้าไปชั่วคราว เมื่อไปสอบถามว่าทำไมถึงไม่ทำต่อ ? ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็ตอบแบบซื่อ ๆ ว่า "ยังมีเงินพอใช้อยู่" ซึ่งเป็นความพอเพียงยิ่งกว่าพระเสียอีก..! ในการที่คนทั้งหลายเหล่านั้นมีมาแต่ดั้งแต่เดิม ในเมื่อยังมีกินมีใช้อยู่ ก็จะไม่ทำงานให้เหนื่อยยาก

    เราจะต้องเข้าใจว่า แบบธรรมเนียมของชนชาติกะเหรี่ยงเป็นอย่างนี้ เราต้องรอจนกระทั่งเขาใช้เงินหมด จึงจะสามารถดำเนินโครงการต่อได้ ไม่เช่นนั้นต่อให้ทั้งผลัก ทั้งเข็นอย่างไร ท่านก็ไม่สามารถที่จะเข็นคนทั้งหลายเหล่านี้ไปได้เลย..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    หรือว่าพี่น้องม้งทั้งหลาย กระผม/อาตมภาพเข้าไปสนับสนุนให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น นำเอาพืชผักผลไม้ที่ตนเองปลูกไว้ มาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวในช่วงงานปีใหม่ม้ง ให้นำเอาชุดม้งสวย ๆ มาให้นักท่องเที่ยวเช่าเพื่อแต่งตัวถ่ายรูป ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลา พี่น้องม้งก็แต่งตัวให้กับนักท่องเที่ยวเสียเต็มที่ แล้วก็ไม่เก็บเงินค่าเช่าชุดเลย..! ถึงเวลาก็มอบพืชผักผลไม้ฟรีให้คนละถุงใหญ่ ๆ ประมาณ ๒๐ กิโลกรัมบ้าง ๒๕ กิโลกรัมบ้าง..!

    ครั้นเข้าไปสอบถามว่า "ทำไมไม่ให้เช่า ? ทำไมถึงไม่ขาย ?" พี่น้องม้งบอกว่า "ธรรมเนียมของคนม้งนั้น ผู้ที่มาถึงบ้านคือแขกบ้านแขกเมือง เราจะไปเอาเงินของแขกไม่ได้..!" ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจตรงนี้ ก็จะหันไปสนับสนุนและพัฒนาในด้านอื่น ไม่เช่นนั้นแล้วเขาทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะไปได้

    กระผม/อาตมภาพจึงต้องไปสนับสนุนการแสดงต่าง ๆ ของพี่น้องชาวม้งแทน หาเวทีให้เขามีโอกาสได้แสดง แล้วก็รับรางวัลต่าง ๆ ไป ทำให้คนเห็นว่ายังมีวัฒนธรรมม้งอยู่ในอำเภอทองผาภูมิ ยังมีการแสดงที่สนุกสนานรื่นเริงเหล่านี้อยู่ เป็นต้น ถ้าเราไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง ไม่รู้ในพื้นฐานของแบบธรรมเนียมประเพณีเหล่านี้ เราก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาเขาทั้งหลายเหล่านั้นได้เลย

    ในขณะเดียวกัน การทำงานของท่านทั้งหลาย ก็ต้องไม่ลืมหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เนื่องเพราะว่าถ้าท่านไม่มีความอดทน ไม่มีความพากเพียร ท่านก็ไม่สามารถที่จะทำงานให้สำเร็จลงได้ ถ้าท่านไม่มีความเมตตา โดยเฉพาะไม่มีหัวใจพระโพธิสัตว์ ท่านก็จะตัดช่องน้อยเฉพาะตัว ไม่คิดจะช่วยเหลือสังคม ทั้ง ๆ ที่สังคมรอบข้างนั้น ให้การสนับสนุนสถาบันวัดของเรามาโดยตลอด

    และโดยเฉพาะต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ โรงเรียน หรือว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พูดง่าย ๆ ว่า ถ้ามีเครือข่าย เราก็ช่วยกันผลัก ช่วยกันดัน ไม่ต้องเหนื่อยยากอยู่คนเดียว ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายตั้งใจทำงานพัฒนาชุมชน ก็ต้องยึดหลักการเหล่านี้เอาไว้ โดยเฉพาะความอดทนอดกลั้น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน ตามที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระบรมราโชวาทเอาไว้ ท่านก็จะสามารถทำงานด้านพัฒนาสังคม ได้สมกับบทบาทของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

    โดยเฉพาะต้องนำเอาพระธรรมวินัย คือศีลพระ มาเป็นกรอบในการทำงาน ถ้าเราตีกรอบตนเองด้วยศีล เราก็จะไม่มีข้อด่างพร้อยให้เป็นที่ตำหนิของชาวบ้านเขาได้ เรามีหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องในการทำงาน เราก็จะสามารถที่จะทำได้อย่างคล่องตัวทุกงาน

    โดยเฉพาะหลักของสังคหวัตถุทั้ง ๔ ก็คือทาน มีการให้ ปิยวาจา พูดดีกับเขาทั้งหลายเหล่านั้น อัตถจริยา ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเขา ไม่ใช่เป็นประโยชน์ต่อเรา และสมานัตตตา มีความพยายามทำเรื่องทั้งหลายเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ ปีแล้วปีเล่า ต่อหน้าทำอย่างไร ลับหลังก็ทำอย่างนั้น ท่านจึงจะสามารถทำงานทางพระพุทธศาสนา ให้สมกับบทบาทของพระสงฆ์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดเอาไว้
    โดยเฉพาะเราอาศัยการทำงานเป็นการขัดเกลา กาย วาจา ใจ ของตนเองไปด้วย
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ส่วนท่านเจ้าคุณวีรพล ท่านก็ย้ำว่า องค์กรสงฆ์ของเรานั้น กำหนดงานคณะสงฆ์เอาไว้ ๖ ด้าน คือ ด้านการปกครอง ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้านการศึกษา ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ด้านการสาธารณูปการ และด้านการสาธารณสงเคราะห์ เท่ากับกำหนดว่าพระสงฆ์ของเรา ต้องมีความชัดเจนในบทบาททั้งหลายเหล่านี้

    โดยเฉพาะในสังคหวัตถุธรรม ถ้าหากว่าเราคิดจะช่วยเขา เราก็ต้องดูด้วย ว่าหลักการช่วยเหลือของเรานั้น ต้องอยู่ในหลักของการเสียสละ ซึ่งจะประกอบไปได้ด้วย การให้ การเกื้อกูล การพัฒนา และการบูรณาการ ถ้าหากว่าเรามีการให้อย่างเดียว ไม่มีการเกื้อกูลอาทรต่อกัน สายสัมพันธ์ก็จะขาดลง เมื่อมีการให้ มีการเกื้อกูลต่อกัน เขาทั้งหลายเหล่านั้นก็จะรู้สึกดีกับวัด รู้สึกดีกับพระ รู้สึกดีกับสถาบันพระพุทธศาสนา

    เมื่อมีการพัฒนาให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น รู้จักยืนหยัดด้วยตนเอง สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และบูรณาการงานคณะสงฆ์ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน และหน่วยราชการ ตามหลัก "บวร" แล้ว เราก็สามารถที่จะทำบทบาทของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้อย่างดีมาก

    ส่วนทางด้านคุณณัฐภัทร ศิริพันธุ์ พัฒนาชุมชนอำเภอพนมทวนฝากเอาไว้ว่า เราต้องมีส่วนร่วม รู้จักวางแผน รู้จักร่วมพัฒนากับเครือข่ายต่าง ๆ จึงจะทำให้งานพัฒนาชุมชนเป็นไปด้วยดี แต่เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อฟังพระอาจารย์ทั้งสองพูดมาแล้ว รู้สึกว่าพัฒนาชุมชนจะตกงานไปเลย..! ทำเอาทุกฝ่ายได้สนุกสนานเฮฮากันเป็นอย่างมาก

    โดยเฉพาะเมื่อปิดท้าย กระผม/อาตมภาพได้ย้ำเตือนให้ทุกคน อย่าลืมความเป็นสงฆ์ของตนเอง ว่าเราต้องมีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องยึด เราถึงจะเป็นพระสงฆ์ที่ดีในพระพุทธศาสนา เมื่อออกไปทำบทบาทหน้าที่ตัวเอง ก็จะได้รับความเกรงใจ และความร่วมมือจากเครือข่ายรอบด้าน ทำให้งานทุกอย่างเป็นไปด้วยดี การปิดสัมมนาในครั้งนี้ เชื่อว่านิสิตไม่ว่าจะเป็นปีไหนก็ตามที่เข้าร่วมงานสัมมนา ย่อมเห็นแนวทางและบทบาทที่ตนเองจะเป็นไปได้ หลังจากมีภารกิจหน้าที่ตามลำดับของตนเองไป ก็จะสามารถนำไปพัฒนาสังคมเป็นขั้น ๆ ตามบทบาทของตนเองที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    เมื่อได้ปิดการสัมมนา ถ่ายรูปหมู่รวมกันแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ขอตัวเดินทางกลับ โดยบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนบนรถยนต์ตามเคย

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...