เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 28 มกราคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,368
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,368
    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ความจริงกระผม/อาตมภาพยังมีงานเปิดการอบรมบาลีก่อนสอบ แต่ว่าพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ท่านติดการเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติ จะมาทำพิธีเปิดให้ในตอน ๖ โมงเย็น

    กระผม/อาตมภาพก็เลยขออนุญาตพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ ขอกลับไปนำเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติที่วัดตัวเอง ก็คือทำงานมาเยอะแล้ว ขออู้บ้าง..ว่าอย่างนั้น ท่านเองก็ไม่ได้ว่าอะไร อนุญาตให้ แต่บอกให้เจ้าคณะอำเภอมาแทน..! อยู่ ๆ ก็หางานให้เจ้านายเสียอย่างนั้น..!

    คราวนี้ในช่วงวันนี้กับพรุ่งนี้ ทางด้านมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยเฉพาะคณะสังคมศาสตร์ ท่านอาจารย์ รศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป ท่านจัดธุดงค์ธรรมยาตรา ซึ่งจัดทุกปี ปีแรกที่จัดคือปีที่กระผม/อาตมภาพเรียนอยู่ ท่านมีความเห็นว่าในเมื่อเรียนกันเคร่งเครียดมาทั้งปีแล้ว ช่วงก่อนปิดเทอมก็ไปธุดงค์ ผ่อนคลายกันเสียหน่อย ครั้งแรกที่จัดก็คือที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ยังดีที่ไม่พาเข้าป่าลึกมาก ไม่อย่างนั้นจะโดนเสือโดนช้างไล่กระทืบไล่ฟัดหรือเปล่าก็ไม่รู้ !?

    ในเรื่องของธุดงควัตรนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าป่าถึงจะทำได้ เพราะว่าหลายต่อหลายอย่าง อย่างเช่นการบิณฑบาตเป็นวัตร การใช้ผ้า ๓ ผืน การฉันมื้อเดียว เป็นเรื่องที่เราอยู่ที่ไหนก็ทำได้ การอยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ก็เหมือนกัน


    ธุดงควัตรนั้น ในส่วนที่ค่อนข้างจะเคร่งครัด อย่างเช่นว่าการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร การอยู่โคนไม้เป็นวัตร การอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร การถือการนั่งโดยไม่นอนเป็นวัตร เป็นการขัดเกลากำลังใจของตน จะได้รู้ว่าในเมื่อเป็นนักปฏิบัติธรรมแล้ว จะมีความกล้าในการต่อสู้กับกิเลสสักเท่าไร

    บางท่านบอกว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค แสดงว่ากำลังใจห่วยมาก..! ธุดงควัตรนั้นเหมาะสำหรับผู้ที่มีจริตนิสัยค่อนข้างดื้อ อันนี้กระผม/อาตมภาพใช้ภาษาง่าย ๆ คือบรรดาท่านที่มีจิตใจเข้มแข็งกว่าบุคคลทั่ว ๆ ไป บรรดาบทเรียนต่าง ๆ ใช้กับท่านแล้วไม่ค่อยจะเกิดผล จึงต้องใช้ธุดงควัตรเข้ามาช่วยในการขัดเกลา
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,368
    ท่านจะเห็นว่าในประเทศไทยเรานั้น ธุดงควัตรเจริญรุ่งเรืองได้ก็ด้วยหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ปรมาจารย์ใหญ่สายวัดป่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าหลวงปู่มั่นเป็นคนภาคอีสาน ความยากลำบากในการดำรงชีวิต ความแห้งแล้ง ทำให้คนอีสานต้องปากกัดตีนถีบตั้งแต่เล็ก ในเมื่อต่อสู้ชีวิตมาหนักตั้งแต่เด็ก กำลังใจจึงค่อนข้างที่จะเข้มแข็งมาก ถ้าไม่มีหลักธรรมที่เหมาะสมด้วยกันแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ท่านทั้งหลายเหล่านี้เข้าถึงได้ง่าย ในเมื่อเจอคนแข็ง เจอคนดื้อเข้า ก็ต้องมีธุดงควัตรช่วยในการขัดเกลา ดังนั้น..ในเรื่องของธุดงควัตร จึงไปรุ่งเรืองในวัดป่าสายอีสาน

    ในการธุดงค์ในปัจจุบันนั้น ถ้าเป็นหลวงปู่บุดดาท่านบอกว่า "ถูดงค์" ก็คือสักแต่ว่าถู ๆ ไถ ๆ ในป่าเท่านั้น แล้วร้อยละแปดเก้าสิบก็คือเดินระหว่างถนนกับเมือง ไม่ได้เข้าป่า เรื่องพวกนี้กระผม/อาตมภาพถือว่าท่านเก่งมาก เพราะว่าการเดินบนถนนกลางแดดร้อนเปรี้ยง ๆ ตัวกระผม/อาตมภาพเองรู้ตัวเลยว่าไม่ไหว ขนาดอยู่ในป่าช่วงระหว่างเที่ยงถึงบ่ายโมงยังต้องพัก เพราะแดดร้อนมาก เดินแล้วเพลียมาก ถ้าร่างกายสูญเสียน้ำ สูญเสียเกลือแร่มาก บางทีพักวันสองวันยังไม่ฟื้นเลย เมื่อร่างกายเพลียสะสมมาก ๆ ระยะท้าย ๆ ก็จะเดินไม่ไหว แต่ท่านทั้งหลายเหล่านี้เดินบนถนนลาดยางได้..!

    กระผม/อาตมภาพเองออกธุดงค์มา ไม่เคยเดินบนถนนลาดยางแบบนี้ เข้าป่าไปหาที่ป่าอย่างเดียวเลย ท่านใดที่บอกว่าประเทศไทยในปัจจุบันไม่มีป่าให้ธุดงค์แล้ว กระผม/อาตมภาพขอยืนยันว่ามีเยอแยะไป เพียงแต่ท่านไม่กล้าไปเองต่างหาก..!

    ตัวอย่างก็คือพระครูหน่อย (พระครูสมุห์ธรรพ์ณธร ธมฺมทินฺโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบ้านเก่า พอธุดงค์เจอเสือเข้าไปครั้งเดียว ชวนให้ตายก็ไม่ไปอีก คือการเจอของท่าน ก็เหมือนอย่างกับเทวดาลองใจหรืออย่างไรก็ไม่รู้ ? เพราะปกติ ๙ โมงเช้า ๑๐ โมง เสือก็ต้องเข้าที่พักหมดแล้ว หลังจากที่หากินมาทั้งคืน

    แต่เจ้าตัวนี้ไปเดินจ๊ะเอ๋กับท่านเข้า ท่านบอกว่ารู้ตัวอีกทีอยู่บนยอดไม้โน่น..! ขึ้นไปอย่างไรก็ยังไม่รู้เลย..!? อกใจเต้นไม่เป็นส่ำ อยู่บนต้นไม้เป็นชั่วโมงกว่าที่จะมั่นใจว่าเสือไปแล้ว จึงค่อย ๆ ปีนลงมา ปรากฏว่าเสือเป็นสัตว์ที่ขี้สงสัยมาก สงสัยอะไรก็จะตามไปดู คงสงสัยว่าพระธุดงค์เป็นตัวอะไร ? จึงย่องแอบตามดูไปเรื่อย..!

    ดังนั้น..ในการที่เข้าป่า ถ้าหากว่าท่านเจอเสือ กระผม/อาตมภาพขอยืนยันว่า ถ้าไม่ใช่บังเอิญจริง ๆ แปลว่าเสือเห็นเราก่อนเป็นร้อยครั้งแล้ว..! พอดูจนเบื่อ เจ้าเสือก็โดดข้ามถนน วิ่งเข้าป่าไป แต่พระครูหน่อยกำลังระแวงอยู่ พอเห็นเสือโดดตัดหน้าแบบนั้นก็วิ่งสุดชีวิต ท่านบอกว่า มารู้ตัวอีกที ความรู้สึกบอกกับตัวเองว่า วิ่งอีกก้าวเดียวขาดใจตายแน่ หายใจไม่ทันแล้ว ถึงได้หยุด แล้วก็หอบเป็นหมาหอบแดดเป็นครึ่งค่อนชั่วโมง ตั้งแต่นั้นมาชวนท่านออกธุดงค์ ไม่ต้องชวนเลย..ไม่ไปเด็ดขาด..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,368
    แต่ท่านก็จะเห็นว่า ผู้ที่กำลังใจเข้มแข็งมาก ๆ ต่อให้เจอเหตุการณ์แบบไหนท่านก็ไป อย่างท่านที่เป็นพระรุ่นเก่า ๆ หน่อย จะเจอพระรูปหนึ่งที่ท่านโดนหมีกัดกะโหลกทะลุมา มาขอพักที่วัดเราสองรอบแล้ว ท่านเองต้องบอกว่า น่าจะเป็นเวรเป็นกรรมจริง ๆ เพราะว่าหมีนอนหลับอยู่หลังขอนไม้ แล้วขอนไม้นั้นขวางทางอยู่ ท่านก็ปีนข้ามขอนไม้ เหยียบลงไปตรงตัวหมีพอดี หมีตกใจลุกขึ้นมาตะครุบท่านได้ก็งับหัวเลย..! ปรากฏว่าท่านโดนกัดกะโหลกทะลุสลบไปเลย..!

    ในเมื่อไม่มีการต่อสู้ ไม่มีการดิ้นรนอะไร เจ้าหมีก็คงคิดว่าท่านตายไปแล้ว ก็ทิ้งท่านไว้แล้วเดินจากไป ท่านบอกว่าฟื้นขึ้นมาอีกที มดตอมเต็มตัวเลย..!เพราะมดมากินเลือด ท่านก็เอาผ้าอาบพันหัวที่โดนหมีกัดทะลุไว้ แล้วก็โซซัดโซเซออกจากป่ามาหาหมอ กระผม/อาตมภาพดูแผลแล้วน่ากลัวมาก แต่ว่าหลังจากที่รักษาตัวจนหายท่านก็เข้าป่าใหม่ นักปฏิบัติที่ดีต้องอย่างนั้น ก็คือต่อให้รู้ว่าไปแล้วต้องตายก็ไป ไม่มีอะไรที่จะแลกกับธรรมะนี้ได้ แม้แต่ชีวิต ก็ยังถือว่าถ้าได้ธรรมะแล้ว การแลกด้วยชีวิตเป็นเรื่องที่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง..!

    ดังนั้น..ในเรื่องของธุดงควัตร ถ้าหากว่าใครปฏิบัติไปแล้ว สิ่งที่จะได้ก็คือความมักน้อย สันโดษ ปลีกตัวออกจากหมู่ ขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบางลง เพราะว่าความต้องการจะเหลือน้อยมาก อาหารก็เหลือแค่มื้อเดียว ข้าวของเครื่องใช้ก็เหลือเฉพาะที่จำเป็น อย่างเช่นว่าผ้า ๓ ผืน บาตร กระบอกน้ำ เป็นต้น

    ฉะนั้น..ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเห็นรูปเท่ ๆ ซึ่ง
    กระผม/อาตมภาพก็เจอมาแล้ว ก็คือมีพระห่มดอง พาดสังฆาฏิ รัดอกเป็นอย่างดี แบกกลด สะพายบาตร ถือกาน้ำ กระผม/อาตมภาพไปเจอในป่ามา ๓ รูปท่านเดินมา ถอดแบบจากรูปภาพมาเลย แล้วเจอคณะของกระผม/อาตมภาพ ที่มีแต่สบงกับอังสะ จีวรอยู่ในย่าม แล้วย่ามก็ใบเล็กนิดเดียว

    ท่านทั้งหลายยังทำหน้าอัศจรรย์ใจ ถามว่า "พวกท่านจะไปไหนกัน ?" กระผม/อาตมภาพตอบว่า "พวกผมมาธุดงค์ครับ" แล้วมั่นใจว่าอยู่ได้นานกว่าพวกท่านด้วย..! ของท่านนี่แบกไปเต็มที่เลย โดยที่ไม่ได้คิดว่า ภาพถ่ายสวย ๆ เหล่านั้น ครูบาอาจารย์ท่านไปถึงที่พักแล้ว ปักกลดเรียบร้อย สรงน้ำสรงท่า เสร็จแล้วลูกศิษย์ก็ขอให้ครองจีวร แบกกลด สะพายบาตร ทำท่าธุดงค์ ให้ลูกศิษย์ถ่ายรูปหน่อย ถ้าเดินไปแบบนั้นจีวรก็ขาดบรรลัยหมด..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,368
    ถ้าหากว่าใครอ่านพระไตรปิฎกก็จะเห็นอย่างเช่นว่า "พระเถระเดินออกจากป่าไปสู่โคจรคาม มีมืออันถือบาตรและจีวร" ไม่ได้ห่มนะครับ "เมื่อถึงโคจรคามหรือเมืองมนุษย์แล้ว จึงได้ห่มคลุม ซ่อนบาตรไว้ใต้จีวร ออกเดินบิณฑบาตเพื่อภิกษาหาร" ทราบไหมครับว่าทำไมถึงไม่ได้ห่มจีวรในป่า ? เพราะว่าหนามมีทุกมุมเลยครับ ถ้าไปห่มจีวรมีหวังโดนหนามเกี่ยวจีวรขาดบรรลัยหมด..! เพราะฉะนั้น ๓ ท่านนั้น กระผม/อาตมภาพก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าท่านจะอยู่ป่าได้กี่วัน ? น่าจะเข้าป่าลึกไม่ได้อีกด้วย แต่ที่กระผม/อาตมภาพไป แทบจะไม่มีของติดตัวเลย นั่นอยู่กันเป็นเดือน..!

    เรื่องของการธุดงค์เป็นเรื่องของประสบการณ์ ถ้าหากว่าเราเคยชินกับการเดินภาวนา อย่างที่กระผม/อาตมภาพเดิน ก็เดินวันหนึ่งประมาณ ๔๐ กิโลเมตร แต่ถ้าท่านที่ไม่เคยชินก็จะไปหาที่ที่ตนเองชอบใจแล้วก็หยุดภาวนาที่นั่น เพียงแต่ว่าอย่าพักนาน อยู่ที่ไหนถ้าพักนาน เมื่อสภาพจิตเคยชิน ความระมัดระวังจะลดลง สติปัญญาจะไม่แหลมคมเหมือนเดิมแล้ว ต้องย้ายที่ต่อไป ถ้าไปไหนแล้วนอนไม่หลับ นั่นใช้ได้เลย แสดงว่าที่ใหม่ สติต้องระมัดระวังไว้ว่าจะมีอันตรายหรือไม่ ระแวงก็เลยไม่ได้นอน

    สิ่งที่นักปฏิบัติเราต้องการก็คือให้ถึงความเป็นผู้ตื่น ก็คือปฏิบัติไปแล้ว หลับหรือตื่นจะต้องรู้สึกเท่ากัน ไม่อย่างนั้นแล้ว กิเลสจะกินเราได้ในตอนหลับ เพราะว่าตอนตื่นเราระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา

    การที่เราออกธุดงค์ เจอสัตว์ร้ายบ้าง เจอผี เจอเทวดาทดสอบบ้าง แล้วท้ายสุดเราก็จะรู้ว่า ไม่มีอะไรเหนือกว่าคุณพระรัตนตรัย ความเคารพในพระรัตนตรัยจะค่อย ๆ มั่นคงในหัวใจของเรา ถ้าหากว่าเคารพด้วยความมั่นคง ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจจริง ๆ ความเป็นพระโสดาบันส่วนหนึ่งก็เริ่มปรากฏขึ้นในใจของเราแล้ว ก็แค่ไปควบคุมศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ มีสติรู้ตัวอยู่เสมอว่าจะต้องตาย ถ้าหากว่าตายแล้วเราขอพระนิพพานเป็นที่ไปแห่งเดียว

    ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า เป้าหมายจริง ๆ ในการธุดงค์กันแทบล้มประดาตายนั้นไม่ได้มีอะไรเลย นอกจากขัดเกลาตนเองจนกระทั่งมั่นใจในคุณพระรัตนตรัยเท่านั้น

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันเสาร์ที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...