เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 30 ตุลาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,486
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,486
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ กระผม/อาตมภาพออกตรวจติดตามงานบูรณปฏิสังขรณ์วัดท่ามะขาม หรือในชื่ออย่างเป็นทางการว่าวัดราษฎร์ประชุมชนาราม ที่หมู่ที่ ๒ ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีตั้งแต่ช่วงเช้า

    งานบูรณปฏิสังขรณ์วัดท่ามะขามนั้น กระผม/อาตมภาพมอบหมายให้กับพระมหานันทวัฒน์ เขมธมฺโม ป.ธ. ๖ หรือหลวงพ่อเอของหลาย ๆ ท่าน ซึ่งท่านเองก็ได้ร่วมมือกับพลเอกเจษฏา เปรมนิรันดร ทำการปรับปรุง รื้อถอน เปลี่ยนแปลง และสร้างใหม่ จนกระทั่งวัดท่ามะขามที่เสธ.นิด (พลตรีศรชัย มนตริวัต) เคยให้คำจำกัดความว่า "รื้อทิ้งให้หมดทั้งวัดแล้วสร้างใหม่..!"

    ในปัจจุบันนี้แม้ว่าไม่ถึงกับรื้อทิ้งหมดทั้งวัด แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่โดนรื้อไปโดยความยินยอมพร้อมใจของทางชาวบ้านและผู้นำชุมชน โดยที่ชาวบ้านและผู้นำชุมชนกล่าวกับกระผม/อาตมภาพว่า "ถ้าเป็นพระอาจารย์ พวกกระผมยอมเชื่อครับว่ารื้อแล้วสามารถสร้างคืนใหม่ให้ได้ เพราะว่าเห็นฝีมือมามากแล้ว แต่ถ้าเป็นท่านอื่นมาบอกแบบนี้ พวกกระผมไม่ยอมอย่างเด็ดขาด..!"

    ตรงนี้ต้องบอกว่าเป็นความภูมิใจส่วนตัว เนื่องจากว่าในสมัยที่ได้ถวายการรับใช้พระเดชพระคุณพระเทพเมธากร (ณรงค์ ปริสุทฺโธ ป.ธ.๔) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีนั้น กระผม/อาตมภาพไม่เคยเกี่ยงงานที่ท่านมอบหมายให้ ไม่ว่าท่านเห็นวัดไหนที่ทำท่าจะไปไม่รอด แล้วให้กระผม/อาตมภาพเข้าไปช่วยดูแลบูรณปฏิสังขรณ์ กระผม/อาตมภาพก็ทุ่มเทจิตใจทำให้อย่างสุดชีวิตสุดฝีมือ

    เนื่องเพราะว่าสิ่งที่ทำนั้น นอกจากเป็นบุญเป็นกุศลส่วนตัวแล้ว ยังเป็นการสร้างความเจริญให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างตรงประเด็นที่สุดด้วย เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้ต่อไป วัดทั้งหลายก็จะรกร้างและทรุดโทรมลงไปเรื่อย บุคคลที่กำลังไม่ถึง ก็ไม่มีวันที่จะพลิกฟื้นคืนให้กลับขึ้นมาดีได้เลย..!

    ในเมื่อได้ทำเช่นนั้นอยู่หลายวัด จนกระทั่งญาติโยมทางบ้านท่ามะขามนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นสมาชิกสภาเทศบาล ตลอดจนกระทั่งเหล่าผู้นำชุมชนอื่น ๆ และบรรดาผู้ที่เข้าวัดรักษาศีล ๘ เป็นปกติ ได้เห็นจนยอมเชื่อแล้วว่า สิ่งนั้นไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ หรือว่าราคาแพงแค่ไหนก็ตาม ถ้ากระผม/อาตมภาพเห็นว่าหมดสภาพแล้วรื้อทิ้งไป สามารถที่จะสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิมได้ทุกครั้ง..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,486
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    หลังจากนั้นแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ได้เดินทางไปยังวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (พระอารามหลวง) เพื่อที่จะร่วมพิธีเปิดการอบรมก่อนสอบนักธรรมชั้นโทและนักธรรมชั้นเอก ซึ่งทางคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี นำโดยพระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. (ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีนั้น วางกำหนดการอบรมเอาไว้ ๑๐ วันต่อเนื่องกัน

    เมื่อพระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. ท่านได้ทำการเปิดและกล่าวสัมโมทนียกถาแล้ว ก็ต่อด้วยท่านอาจารย์พระมหาวิสูตร วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙ รองเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ตามด้วยกระผม/อาตมภาพ, พระครูกาญจนสุตาภรณ์ (ณัฐพล ป.ธ.๔) เจ้าอาวาสวัดน้ำตก เจ้าคณะอำเภอไทรโยค และพระมหาบุญรอด มหาวีโร ป.ธ.๗, ดร. รองเจ้าคณะอำเภอเมืองกาญจนบุรี ปิดท้ายด้วยพระครูสุวิมลกาญจนวัฒน์ เจ้าคณะตำบลชะแลเขต ๑ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

    บรรดาพระเถระทั้งหลายเหล่านี้มาร่วมในพิธีเปิด เพราะว่าได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งนั้นอาศัยความเคยชินว่า โดยปกติแล้วมักจะทำพิธีเปิดอบรมกันตอนเที่ยงครึ่ง แต่เนื่องจากว่าพิธีการอบรมปีนี้นั้น ท่านเจ้าคุณพระเมธีปริยัติวิบูล (ศิริ สิริธโร ป.ธ. ๙, ดร.) รองเจ้าคณะอำเภอเมืองกาญจนบุรี รักษาการเจ้าคณะอำเภอเมืองกาญจนบุรี ท่านเป็นประธานในโครงการอบรม ได้กำหนดแบ่งการอบรมออกเป็นวันละ ๓ รอบ คือรอบเช้า รอบบ่าย และรอบค่ำ เรียกง่าย ๆ ว่าต้องการความเข้มข้นอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ขอเข้าสอบนักธรรมชั้นโทและชั้นเอก มีโอกาสสอบผ่านมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงต้องเลื่อนพิธีเปิดมาเป็นตอนเช้า

    หลังจากที่ทุกท่านได้กล่าวสัมโมทนียกถาเสร็จสรรพเรียบร้อยก็ได้เวลาฉันเพล หลังเพลแล้ว กระผม/อาตมภาพได้เดินทางไปยังสนามอบรมที่ ๒ วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร ซึ่งอำนวยการอบรมโดยพระราชวิสุทธาภรณ์ (ทองดำ อิฏฺฐาสโภ ป.ธ.๖) รองเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี โดยผู้รับผิดชอบโดยตรงก็คือพระครูวิบูลกาญจโนภาส (สมบัติ ปริปุณฺโณ ป.ธ.๔) เจ้าคณะอำเภอท่ามะกา

    เมื่อไปถึงก็ได้รับหน้าที่กล่าวสัมโมทนียกถาในชั้นอบรมนักธรรมชั้นโทและนักธรรมชั้นเอกตามลำดับ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าสิ่งที่กระผม/อาตมภาพบอกกล่าวไปนั้น เป็นสิ่งที่บรรดาผู้ขอเข้าสอบต้องการได้ยินได้ฟัง
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,486
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    เหตุที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะว่า การสอบนักธรรมชั้นโทและชั้นเอกนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สมัยที่กระผม/อาตมภาพสอบนั้น ช่วง ๓๐ กว่าเกือบ ๔๐ ปีที่แล้ว หลักสูตรนักธรรมชั้นโทคือหลักสูตรของพระอาจารย์คู่สวด ถ้าหากว่าท่านสอบนักธรรมชั้นโทผ่านเมื่อไร พรรษาพ้น ๕ ก็จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอาจารย์คู่สวด

    ดังนั้น..ในรุ่นของกระผม/อาตมภาพ หรือว่ารุ่นใกล้เคียงกันนั้น โดนบังคับให้เขียนคำสวดญัตติ และคำสวดอนุสาวนามากันจนนับไม่ถ้วนแล้ว แปลว่า ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายจะผ่านนักธรรมชั้นโทไปได้ ท่านจะต้องเขียนคำสวดญัตติและอนุสาวนา ไม่ว่าจะเป็นการสวดกฐิน การสวดญัตติในงานอุปสมบท ตลอดจนกระทั่งงานสวดในงานต่าง ๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้ง นะโมชั้นเดียว นะโม ๓ ชั้น นะโม ๕ ชั้น นะโม ๙ ชั้น เป็นต้น

    แล้วในส่วนของนักธรรมชั้นเอกนั้น เป็นหลักสูตรของเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์ ถ้าหากว่าใครเป็นเจ้าอาวาส จะเห็นว่าหลักสูตรนั้นเอาไว้สำหรับท่านทั้งหลายที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสีมา เรื่องสมบัติ วิบัติของกุลบุตรที่จะเข้ารับการบรรพชาอุปสมบท ตลอดจนกระทั่งศึกษาในหลักธรรมชั้นสูงที่เรียกว่าธรรมวิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อเกี่ยวกับวิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน หรือต้องอธิบายว่าวิสุทธิ ๗ ประการเปรียบเหมือนกับรถ ๗ ผลัดนั้น เหมือนในลักษณะอย่างไร ?

    ในส่วนนี้นั้นบรรดาผู้เข้าสอบส่วนหนึ่งซึ่งโดนหลวงพ่อเจ้าอาวาสบังคับให้มาสอบ มักจะมีความรู้สึกต่อต้าน เพราะรู้สึกว่าตนเองบวชมาก็หวังความสงบ ตั้งใจที่จะประพฤติวัตร ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ ไหว้พระ หาความสุขเฉพาะตนเท่านั้น ทำไมต้องมาเรียนในเรื่องที่ยากลำบากขนาดนี้ด้วย ? แต่ท่านทั้งหลายคงจะลืมไปแล้วว่า ไม่ว่าท่านต้องการความสงบเพียงใดก็ตาม ในส่วนของอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคนั้น ท่านต้องรบกวนจากญาติโยมอยู่เสมอ

    ญาติโยมเป็นผู้ที่เลี้ยงดูเรามาด้วยปัจจัย ๔ เมื่อถึงเวลาญาติโยมเขาเดือดร้อน มีความทุกข์ มาปรึกษาหารือ ถ้าเราไม่รู้ข้อธรรมคำสอนอะไรเลย เราจะเอาหลักธรรมอะไรไปผ่อนคลายความทุกข์ แนะนำให้ญาติโยมทั้งหลายได้สบายใจขึ้น ??

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษา โดยเฉพาะวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้นเป็นวิชาการเทศน์ดี ๆ นี่เอง เพียงแต่ว่าเป็นการเทศน์บนหน้ากระดาษ โดยที่ทางสนามสอบตั้งหัวข้อในการเทศน์มาให้แก่เรา ท่านที่สอบนักธรรมชั้นโทและชั้นเอก อย่างน้อยก็ต้องบวชมา ๒ หรือว่า ๓ พรรษา ถ้าหากว่าท่านที่เคยสอบตก พรรษาก็จะมากกว่านั้น หรือท่านที่ตัดสินใจสอบช้า ก็อาจจะถึง ๑๐ กว่าพรรษา..! ท่านทั้งหลายย่อมได้ศึกษาเรียนรู้มาใน ๒ หรือ ๓ พรรษาที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย ว่าหลักธรรมในศีล ในสมาธิ ในปัญญานั้นเป็นอย่างไร
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,486
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ในเมื่อเขาตั้งหัวข้อมาให้ ท่านก็พินิจพิจารณาว่า ถ้าท่านจำเป็นที่จะต้องบอกกล่าวให้ญาติโยมฟังแล้วเข้าใจ ท่านควรที่จะเขียนอธิบายอย่างไร แล้วก็โยงเอาเนื้อหานั้นมากับหัวข้อที่เรากำหนดไว้ว่าจะเป็นข้อรับ อธิบายข้อรับของเราให้สมเหตุสมผลกับหัวข้อที่ทางสนามสอบตั้งมา เมื่อทุกอย่างสมเหตุสมผลแล้วก็สรุปจบ "เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้" ได้

    ดังนั้น..วิชาการเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้น รุ่นของกระผม/อาตมภาพถือว่าเป็นวิชาช่วยให้สอบได้ เพราะว่าเขียนอธิบายอย่างไรก็ได้คะแนนทั้งสิ้น จึงไม่เข้าใจว่าท่านทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ทำไมจึงทำให้กลายเป็นวิชาที่ซ้ำเติมให้เราสอบตก !? เมื่อท่านทั้งหลายเข้าใจตรงจุดนี้แล้ว ต่อไปก็น่าจะทำการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมได้ง่ายขึ้น

    อีกประการหนึ่ง เมื่อท่านทั้งหลายอยู่นานไป ไม่ว่าจะรักสงบขนาดไหนก็ตาม วันร้ายคืนร้าย เวรกรรมนำส่ง ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส หรือว่าเจ้าอาวาสก็จะตกมาถึง ไม่ว่าท่านจะต้องการหรือไม่ต้องการก็ตาม เมื่อญาติโยมทั้งหลายเขาศรัทธาและเห็นว่าท่านเหมาะสม ระบุลงมาแล้ว ทุกท่านก็ต้องวางกำลังใจอยู่ในลักษณะว่า "เราก็ชายหมายมาดว่าชาติเชื้อ ถึงปะเสือก็จะสู้ดูสักหน"

    ดังนั้น..ท่านทั้งหลายที่ขอเข้าสอบนักธรรมชั้นโทและชั้นเอก ท่านจึงต้องทำใจล่วงหน้าไว้เลยว่า ท่านต้องสอบให้มีความรู้ติดตัวอย่างแท้จริง ไม่ใช่สอบแค่ให้ผ่าน แค่ให้จบ ให้หมดภาระไป เพราะว่าถ้าท่านทำอย่างนั้นแล้ว ถึงเวลาความรู้ในการบริหารงานคณะสงฆ์ก็ไม่มี ความรู้ในการที่จะปกครองสัทธิวิหาริก คือ บุคคลที่เราบวชให้ก็ไม่มี ความรู้ที่จะปกครองอันเตวาสิก คือ ลูกศิษย์ที่มาพึ่งพาอาศัยก็ไม่มี โดยเฉพาะญาติโยมที่ช่วยเหลือเจือจานเรามาตลอด เมื่อทุกข์กายทุกข์ใจมา เราก็ไม่มีหลักธรรมไปคลายทุกข์ให้ เพราะว่าเราสักแต่ว่าสอบให้ผ่าน ๆ ไป ถึงเวลาแล้ว ไม่มีอะไรเหลือติดหัวตัวเองไว้เลย..!

    กระผม/อาตมภาพจึงต้องชี้แจงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของบุคคลที่เข้าสอบ เนื่องจากว่า ก่อนที่จะสอบนักธรรมชั้นนวกภูมิ และนักธรรมชั้นตรี ในสมัยที่กระผม/อาตมภาพเพิ่งบวชนั้น กระผม/อาตมภาพก็มีอคติต่อการเรียน เพราะเห็นว่าตำราบางส่วนนั้นชักจูงให้เราผิดพลาด อย่างเช่นคำถามของนักธรรมชั้นตรีที่ว่า ฆฏิการพรหม ผู้นำเอาบริขาร ๘ มาถวายเจ้าชายสิทธัตถะในการออกมหาภิเนษกรมณ์เป็นผู้ใด ? จงอธิบายมาให้สมเหตุสมผล
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,486
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    ถ้าเราไปตอบว่า ฆฏิการพรหมเป็นท้าวมหาพรหม ผู้เลื่อมใสการออกมหาภิเนษกรมณ์ของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงได้นำเอาบริขาร ๘ มาถวาย ถ้าตอบแบบนี้เขาปรับตกเลย..!

    ต้องตอบว่า คำว่า พรหม เป็นคุณสมบัติของผู้ทรงฌานทรงสมาบัติ อาจจะมีศาสดาเจ้าลัทธิใดลัทธิหนึ่งที่ได้ฌานสมาบัติ แล้วเลื่อมใสในการออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร จึงได้นำบริขาร ๘ มาถวาย กระผม/อาตมภาพเห็นว่า เป็นการเลี่ยงบาลีจนอาจจะเกิดความเสียหายในหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่ขอเรียน

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ท่านได้กล่าวตรงกำลังใจของกระผม/อาตมภาพในตอนนั้นว่า "พระปริยัติคือพระนักเรียน มักจะดูถูกว่าพระปฏิบัตินั้นโง่ รู้ไม่เท่าตนเอง แกไปเรียนให้เขารู้ว่าแกเก่งกว่า..!" ในเมื่อครูบาอาจารย์รู้ และกล่าวได้ตรงใจของตนเองขนาดนี้ ว่าต้องพูดแบบนี้ จึงสามารถจุดไฟให้เกิดแก่กระผม/อาตมภาพได้

    เมื่อถึงเวลาต้องรับหน้าที่ในการกล่าวสัมโมทนียกถา กระผม/อาตมภาพก็ต้องพิจารณากำลังใจของผู้ฟังก่อน แล้วหลังจากนั้น จึงได้ปรับทัศนคติ และจุดไฟให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นได้กระตือรือร้น ที่จะศึกษาเรียนรู้เพื่อตนเองและพระพุทธศาสนาต่อไป

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...