เรียงลำดับอริยภูมิ หลวงตาพระมหาบัว

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย เสขะ บุคคล, 13 พฤศจิกายน 2019.

  1. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    22405682_2014497905451140_2016123486560611803_n.jpg
    เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
    เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๗
    เรียงลำดับอริยภูมิ


    วันนี้จะแสดงจุดรวมของเรื่องทั้งปวง ทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งสุข ทั้งทุกข์ให้ท่านผู้ฟังทราบว่า รวมลงที่ไหนกันแน่ โปรดตั้งเครื่องรับไว้โดยถูกต้อง จะทราบเรื่องทั้งมวลว่า “รวมลงในจิตแห่งเดียวกัน”

    ความมืดก็อยู่ที่นี่ ความสว่างก็อยู่ที่นี่ ความโง่ ความหลงก็อยู่ในตัวของเรานี้ ความรู้ความฉลาดก็อยู่ในใจของเรานี้ ใจดวงนี้จึงเป็นเหมือนเก้าอี้ตัวเดียว แต่คนรอนั่งบนเก้าอี้มีสองคน ถ้าคนหนึ่งเข้านั่ง อีกคนหนึ่งก็ต้องยืน แต่ถ้าแบ่งกันนั่งก็ได้นั่งคนละซีก เช่นเดียวกับความโง่ความฉลาดแทรกกันอยู่ในใจดวงเดียว จะว่าโง่จริง ๆ ก็รู้อยู่ จะว่าหลงจริง ๆ ก็ยังรู้อยู่ แต่ถ้าจะว่ารู้จริง ๆ ก็ยังมีความโง่ความฉลาดแทรกอยู่ด้วย จึงเทียบกับเก้าอี้ตัวเดียวแต่คนนั่งสองคน ใจดวงเดียวแต่มีความโง่กับความหลงแทรกกันอยู่คนละซีก ถ้าใครมีกำลังมากกว่า คนนั้นก็ได้นั่งมาก

    ฉะนั้น อุบายวิธีอบรมใจและการประกอบคุณงามความดีทุกประเภท จึงเพื่อกำจัดปัดเป่าสิ่งมัวหมองออกจากใจดวงนี้ ท่านพูดเรื่องคนโง่ เราก็ได้ยินและเข้าใจ ท่านพูดเรื่องคนฉลาด เราก็ได้ยินและเข้าใจ ท่านพูดเรื่องปุถุชนคนหนา เราก็รู้และเข้าใจ ท่านพูดเรื่องพระอริยเจ้านับแต่ชั้นต้นจนถึงพระอริยเจ้าชั้นสูงสุด เราก็รู้และเข้าใจเป็นลำดับ เฉพาะเราเองยังไม่สามารถทำตัวให้เป็นอย่างนั้นได้ แต่มีความสนใจใคร่อยากจะสดับเรื่องราวความดีที่ท่านอบรมมา และทางดำเนินของท่าน ท่านดำเนินอย่างไร จึงเป็นไปเพื่อธรรมเช่นนั้น

    เบื้องต้นพระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกอรหันต์ผู้ปฏิบัติและรู้เห็นตามพระพุทธเจ้าก็ดี ท่านเป็นคนมีกิเลสประเภทเดียวกันกับพวกเรา แต่อาศัยความพากเพียรพยายามไม่ลดละการบำเพ็ญ เพื่อชำระซักฟอกสิ่งมืดมนของใจ ท่านพยายามบำเพ็ญโดยความสม่ำเสมอไม่หยุดชะงักหรือทอดทิ้งความพยายาม ใจที่ได้รับการบำรุงจากปุ๋ยที่ดี คือกุศลกรรม ก็ค่อย ๆ เจริญขึ้นโดยลำดับ จนสามารถบรรลุธรรมถึงชั้นอริยภูมิอันสูงสุด คือพระอรหัตผล

    คำว่าพระอริยเจ้านั้น แปลว่าผู้ประเสริฐ เพราะธรรมที่ท่านได้บรรลุเป็นธรรมอันประเสริฐมีอยู่ ๔ ชั้น คือ ดังนี้ ชั้นพระโสดา ชั้นพระสกิทาคา ชั้นพระอนาคา และชั้นพระอรหัต ...

    ที่มา http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1973&CatID=9

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 พฤศจิกายน 2019
  2. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    25930_143152082513224_1674276011_n.jpg

    ผู้สำเร็จชั้นพระโสดา ท่านกล่าวไว้ว่า ละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิหนึ่ง วิจิกิจฉาหนึ่ง สีลัพพตปรามาส


    หนึ่ง สักกายทิฏฐิ ที่แยกออกตามอาการของขันธ์มี ๒๐ โดยตั้งขันธ์ห้าแต่ละขันธ์ ๆ เป็นหลักของอาการนั้น ๆ ดังนี้ ความเห็นกายเป็นเรา เห็นเราเป็นกาย คือเห็นรูปกายของเรานี้เป็นเรา เห็นเราเป็นรูปกายอันนี้ เห็นรูปกายในอันนี้มีในเรา เห็นเรามีในรูปกายอันนี้ รวมเป็น ๔ เห็นเวทนาเป็นเรา เห็นเราเป็นเวทนา เห็นเวทนามีในเรา เห็นเรามีในเวทนา นี่ก็รวมเป็น ๔ เหมือนกันกับกองรูป แม้สัญญา สังขาร วิญญาณก็มีนัย ๔ อย่างเดียวกัน โปรดเทียบกันตามวิธีที่กล่าวมา คือขันธ์ห้าแต่ละขันธ์มีนัยเป็น ๔ สี่ห้าครั้งเป็น ๒๐ เป็นสักกายทิฏฐิ ๒๐ มีตามท่านกล่าวไว้ว่า พระโสดาบันบุคคลละได้โดยเด็ดขาด

    แต่ทางด้านปฏิบัติของธรรมะป่า รู้สึกจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง เฉพาะสักกายทิฏฐิ ๒๐ นอกนั้นไม่มีข้อข้องใจในด้านปฏิบัติ จึงเรียนตามความเห็นของธรรมะป่าแทรกไว้บ้าง คงไม่เป็นอุปสรรคแก่การฟังและการอ่าน เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทางปลดเปลื้องตามนัยของสวากขาตธรรมแล้วก็กรุณาผ่านไป อย่าได้ถือเป็นอารมณ์ขัดข้องใจ ผู้ละสักกายทิฏฐิ ๒๐ ได้เด็ดขาดนั้น เมื่อสรุปแล้วก็พอได้ความว่า ผู้มิใช่ผู้เห็นขันธ์ห้าเป็นเรา เห็นเราเป็นขันธ์ห้า เห็นขันธ์ห้ามีในเรา เห็นเรามีในขันธ์ห้า คิดว่าคงเป็นบุคคลประเภทไม่ควรแสวงหาครอบครัว ผัว-เมีย

    เพราะครอบครัว (ผัว-เมีย) เป็นเรื่องของขันธ์ห้า ซึ่งเป็นรวงรังของสักกายทิฏฐิที่ยังละไม่ขาดอยู่โดยดี ส่วนผู้ละสักกายทิฏฐิได้โดยเด็ดขาดแล้ว รูปกายก็หมดความหมายในทางกามารมณ์ เวทนาไม่เสวยกามารมณ์ สัญญาไม่จำหมายเพื่อกามารมณ์ สังขารไม่คิดปรุงแต่งเพื่อกามารมณ์ วิญญาณไม่รับทราบเพื่อกามารมณ์ ขันธ์ทั้งห้าของผู้นั้นไม่เป็นไปเพื่อกามารมณ์ คือประเพณีของโลกโดยประการทั้งปวง ขันธ์ห้าจำต้องเปลี่ยนหน้าที่ไปงานแผนกอื่นที่ตนเห็นว่ายังทำไม่สำเร็จ โดยเลื่อนไปแผนกรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

    ผู้ละสักกายทิฏฐิ ๒๐ ได้โดยเด็ดขาด คิดว่าเป็นเรื่องของพระอนาคามีบุคคล เพราะเป็นผู้หมดความเยื่อใยในทางกามารมณ์ดังกล่าวแล้ว ส่วนพระโสดาบันบุคคลคิดว่าท่านรู้และละได้โดยข้ออุปมาว่า มีบุรุษผู้หนึ่งเดินทางเข้าไปในป่าลึก ไปพบบึงแห่งหนึ่งมีน้ำใสสะอาดและมีรสจืดสนิทดี แต่น้ำนั้นถูกจอกแหนปกคลุมไว้ ไม่สามารถจะมองเห็นน้ำโดยชัดเจน เขาคนนั้นจึงแหวกจอกแหนที่ปกคลุมน้ำนั้นออก แล้วก็มองเห็นน้ำภายในบึงนั้นใสสะอาดและเป็นที่น่าดื่ม จึงตักขึ้นมาดื่มทดลองดู ก็รู้ว่าน้ำในบึงนั้นมีรสจืดสนิทดี เขาก็ตั้งหน้าดื่มจนเพียงพอกับความต้องการที่เขากระหายมาเป็นเวลานาน เมื่อดื่มพอกับความต้องการแล้วก็จากไป ส่วนจอกแหนที่ถูกเขาแหวกออกจากน้ำก็ไหลเข้ามาปกคลุมน้ำตามเดิม

    เขาคนนั้นแม้จากไปแล้วก็ยังมีความติดใจ และคิดถึงน้ำในบึงนั้นอยู่เสมอ และทุกครั้งที่เขาเข้าไปในป่านั้น ต้องตรงไปที่บึงและแหวกจอกแหนออก แล้วตักขึ้นมาอาบดื่มและชำระล้างตามสบายทุก ๆ ครั้งที่เขาต้องการ เวลาเขาจากไปแล้วแม้น้ำในบึงนั้นจะถูกจอกแหนปกคลุมไว้อย่างมิดชิดก็ตาม แต่ความเชื่อที่เคยฝังอยู่ในใจเขาว่า น้ำในบึงนั้นมีอยู่อย่างสมบูรณ์หนึ่ง น้ำในบึงนั้นใสสะอาดหนึ่ง น้ำในบึงนั้นมีรสจืดสนิทหนึ่ง ความเชื่อทั้งนี้ของเขาจะไม่มีวันถอนตลอดกาล

    ข้อนี้ เทียบกันได้กับโยคาวจร ภาวนาพิจารณาส่วนต่าง ๆ ของร่างกายชัดเจนด้วยปัญญาในขณะนั้นแล้ว จิตปล่อยวางจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หยั่งเข้าสู่ความสงบหมดจดโดยเฉพาะ ไม่มีความสัมพันธ์กับขันธ์ทั้งหลายเลย และขณะนั้น ขันธ์ทั้งห้าไม่ทำงานประสานกับจิต คือต่างอันต่างอยู่ เพราะถูกความเพียรแยกจากกันโดยเด็ดขาดแล้ว ขณะนั้นแลเป็นขณะที่เกิดความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ขึ้นมาอย่างไม่มีสมัยใด ๆ เสมอเหมือนได้ นับแต่วันเกิดและวันปฏิบัติมา แต่ก็ได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ปรากฏขึ้นในเวลานั้น จิตก็ได้ทรงตัวอยู่ในความสงบสุขชั่วระยะกาล แล้วจึงถอนขึ้นมา พอจิตถอนขึ้นมาจากที่นั้นแล้ว ขันธ์กับจิตก็เข้าประสานกันตามเดิม

    แต่หลักความเชื่อมั่นว่าจิตได้หยั่งลงถึงแดนแห่งความสงบอย่างเต็มที่หนึ่ง ขันธ์ทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้แยกจากจิตโดยเด็ดขาดในเวลานั้นหนึ่ง ขณะจิตที่ทรงตัวอยู่ในความสงบเป็นจิตที่อัศจรรย์ยิ่งหนึ่ง ความเชื่อทั้งนี้ไม่มีวันถอนตลอดกาล

    เพราะความเชื่อประเภทอจลศรัทธา ความเชื่อมั่นไม่หวั่นไหวโยกคลอนไปตามคำเล่าลือ โดยหาหลักฐานและเหตุผลมิได้ และเป็นความเชื่อมั่นประจำนิสัยของโยคาวจรผู้นั้น จากประสบการณ์นั้นแล้ว ก็ตั้งหน้าบำเพ็ญต่อไปเช่นที่เคยทำมาด้วยความดูดดื่มและเข้มแข็ง เพราะมีธรรมประเภทแม่เหล็กซึ่งเป็นพลังของศรัทธาประจำภายในใจ จิตก็หยั่งลงสู่ความสงบสุขและพักอยู่ตามกาลอันควร ทำนองที่เคยเป็นมา แต่ยังไม่สามารถทำใจให้ขาดจากความซึมซาบของขันธ์ได้โดยสิ้นเชิงเท่านั้น แม้เช่นนั้น ก็ไม่มีความท้อถอยในทางความเพียรเพื่อธรรมขั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ

    ส่วนคุณสมบัติประจำใจของพระโสดาบันบุคคลนั้น คือหลักความเชื่อมั่นประเภทอจลศรัทธา เป็นผู้เชื่อมั่นต่อผลที่รู้เห็นประจักษ์ใจแล้ว และเชื่อมั่นต่อคุณธรรมเบื้องสูงที่ตนยังไม่รู้ไม่เห็น

    สมานตฺตตา ความเป็นผู้วางตนเสมอ ไม่ถือตัวด้วยมานะชนิดใดชนิดหนึ่งกับคนทุกชั้น เป็นผู้มีธรรมครองใจ ไม่ถืออะไรให้ยิ่งกว่าเหตุการณ์ที่เห็นว่าถูกต้องด้วยเหตุผล พระโสดาบันบุคคลยอมรับและปฏิบัติตามทันที ไม่ยอมฝ่าฝืนหลักความจริง ไม่ว่าพระโสดาบันบุคคลจะเป็นคนชาติ ชั้น วรรณะใด ย่อมให้ความสนิทสนมและความสม่ำเสมอกับคนทั่วไปไม่ลำเอียง

    แม้คนชั่วที่เคยประพฤติตัวไม่ดีมาแล้วตลอดสัตว์ดิรัจฉาน พระโสดาบันบุคคลก็ไม่รังเกียจ โดยเห็นว่าเขากับเราตกอยู่ในวงแห่งกรรมดี-ชั่วเหมือนกัน ใครมีกรรมประเภทใดจำต้องยอมรับตามหลักกรรมที่ตนทำมา และยอมรับตามหลักความจริงที่เขาทำ หรือเขายกเหตุผลขึ้นมาอ้างโดยถูกต้องในขณะนั้น โดยไม่ต้องรื้อฟื้นอดีตคือความเป็นมาของเขา ตลอดชาติ ชั้น วรรณะมาเป็นอุปสรรคต่อความจริงที่ตนเห็นว่าถูกต้อง รีบยึดถือมาเป็นคติทันที นี้เป็นหลักธรรมประจำอัธยาศัยของพระโสดาบันบุคคล

    ถ้าคำที่กล่าวมาด้วยความจนใจทั้งนี้เป็นการถูกต้อง พระโสดาบันบุคคลแสวงหาครอบครัวผัว-เมีย ก็ไม่ขัดข้องต่อประเพณีของผู้ละสักกายทิฏฐิ ๒๐ อันเป็นรวงรังของกามารมณ์ยังไม่ได้เด็ดขาด สักกายทิฏฐิ ๒๐ ก็ไม่เป็นอุปสรรคแก่พระโสดาบันในทางครอบครัว เพราะเป็นคนละชั้น

    ท่านนักปฏิบัติโปรดยึดเอาเข็มทิศจากสวากขาตธรรมนำไปปฏิบัติ จนเกิดความรู้ความเห็นขึ้นจำเพาะตน และกลายเป็นสมบัติของตนขึ้นมา นั่นแหละจะมีทางทราบได้ว่างานของเราเป็นงานประเภทหนึ่ง งานของท่านเป็นงานประเภทหนึ่ง แต่รวมผลรายได้เป็นตัวเงินอันเดียวกัน จะได้ร้อยบาท พันบาท หมื่นบาท หรือมากกว่านั้น ก็ทราบชัดว่าเงินจำนวนนี้เกิดจากผลงานที่ตนได้ทำความอุตส่าห์พยายามแสวงหามา มีมากหรือมีน้อยจะเป็นที่อุ่นอกอุ่นใจแก่ตนเอง อาจจะดีกว่าการคาดคะเนทรัพย์ในกระเป๋าของคนอื่น หรือการนำปริมาณทรัพย์ของคนอื่นมาถกเถียงกัน โดยคู่ความทั้งสองไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากความแพ้ความชนะนั้น ๆ เลย ทั้งเป็นการตัดทอนสันทิฏฐิโกที่ทรงมอบให้เป็นสมบัติของผู้บำเพ็ญจะรับไปเป็นมรดก ให้ลดคุณภาพลง

    วิจิกิจฉา คือความสงสัย โดยสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ ถ้าตายแล้วเกิด แต่จะเกิดในภพชาติที่เคยเกิดหรือไม่ หรือจะเกิดเป็นอะไรในภพต่อไป คนตายแล้วเปลี่ยนภพชาติเกิดเป็นสัตว์ หรือสัตว์ตายแล้วเปลี่ยนภพชาติเกิดเป็นคนได้หรือไม่ คนตายแล้วสัตว์ตายแล้วไปอยู่ที่ไหนกัน กรรมดี-กรรมชั่วมีจริงไหม? และที่ทำลงไปแล้วให้ผลหรือไม่ ภพหน้าชาติหน้ามีจริงไหม? นรก สวรรค์ มีจริงไหม? มรรค ผล นิพพาน มีจริงไหม? ทั้งนี้อยู่ในข่ายแห่งความสงสัยทั้งนั้น พระโสดาบันบุคคลคิดว่าท่านละได้ เพราะท่านรู้เห็นหลักความจริงประจำใจ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งมวลที่กล่าวมา และยังเชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างฝังใจแบบถอนไม่ขึ้น ทั้งเชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและพระธรรม ว่าเป็นสวากขาตธรรมและเป็นนิยยานิกธรรม สามารถนำผู้ปฏิบัติตามให้ถึงความพ้นทุกข์ได้โดยลำดับ อย่างฝังใจอีกเช่นเดียวกัน

    ตามหลักความจริงของกฎธรรมชาติแล้ว ไม่มีอะไรสูญในโลก มีแต่ความเปลี่ยนแปลงของสังขารทุกประเภท ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติเดิมเท่านั้น เปลี่ยนแปลงตัวเองลงสู่ธรรมชาติ คือธาตุเดิมของเขา และเปลี่ยนแปลงตัวเองจากธรรมชาติเดิมขึ้นมาสู่ธาตุแฝง เช่นเป็นสัตว์ บุคคล เป็นต้น กรรมดี กรรมชั่ว ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประจำสัตว์ผู้มีกิเลสเครื่องผลักดันและมีความรู้สึกในแง่ดีชั่วต่างกัน จำต้องทำกรรมอยู่โดยดี แล้วกรรมดีกรรมชั่วจะสูญไปไม่ได้ แม้ผลดีผลชั่วซึ่งผู้ทำกรรมจะรับเสวยเป็นความสุขความทุกข์ จำต้องมีเป็นคู่กัน โดยจะเสื่อมสูญไปไม่ได้เหมือนกัน นอกจากผู้ทำใจให้หมดเชื้อจากภพชาติแล้วเท่านั้น จะเป็นผู้หมดปัญหาในเรื่องเกิดตาย เพราะการทำดีทำชั่วและได้รับผลดีชั่ว ทั้งนี้เป็นสาเหตุมาจากเชื้อแห่งภพชาติที่ฝังอยู่ภายในใจเป็นมูลฐาน นอกจากนี้แล้วจะไม่อยู่ในอำนาจคำปฏิเสธและคำรับรองของผู้ใด เช่นเดียวกับความมืด ความสว่างตั้งอยู่เหนือโลกธรรมของโลก ฉะนั้น

    สีลัพพตปรามาส ท่านแปลว่า การลูบคลำศีลพรต เป็นสังโยชน์เครื่องข้องอันดับสาม การลูบคลำเกิดจากความไม่ไว้ใจ ถ้าเป็นลูกหญิงลูกชายก็เป็นที่ไม่ไว้ใจของพ่อแม่ อาจจะทำความหนักใจให้พ่อแม่ได้รับทุกข์อยู่เรื่อย ๆ เช่นลูกหญิงประพฤติตัวไม่สมศักดิ์ศรีของหญิง ทำคุณค่าของหญิงให้ต่ำลง เป็นคนชอบเที่ยว ชอบเกี้ยวผู้ชาย ชอบทำตัวในลักษณะขายก่อนซื้อ ใครชมว่าดี ว่าหญิงคนสวยที่ไหนเกิดความติดใจ เชื่อง่าย จ่ายไปโดยไม่คิดมูลค่าเพื่อความเป็นคู่ครอง ไปที่ไหนแฟนคอยแอบแฝงและติดตามเป็นพวง ๆ ประหนึ่งเขาร้อยปูนาปลาทะเลไปขายที่ตลาด ครั้นแล้วกลายเป็นเขาร้อยหญิงปรามาส หญิงประเภทนี้เรียกว่าหญิงปรามาส เป็นที่ลูบคลำของชายทั่ว ๆ ไปด้วย เป็นหญิงปรามาสสำหรับพ่อแม่จะต้องหนักใจในการว่ากล่าวสั่งสอนซ้ำ ๆ ซาก ๆ ด้วย เป็นหญิงชอบค้าประเวณีอันเป็นที่อับอายและขายหน้าของวงศ์สกุลด้วย

    ถ้าผู้เป็นลูกชายก็ทำความหนักใจให้พ่อแม่อีกทางหนึ่ง เช่นประพฤติตัวเป็นคนเกเร ขี้เกียจเรียนหนังสือและไปโรงเรียน เพื่อนชวนไปเที่ยวและเกี้ยวผู้หญิงที่ไหนเป็นที่พอใจ ไปโดยไม่บอกลาผู้ปกครองทางบ้านและทางโรงเรียนให้ทราบหัวท้ายปลายเท้าเลย ไปแสวงหาความสนุกสนานรื่นเริงโดยวิธีชิงสุกก่อนห่าม ครูทางโรงเรียนเห็นท่าไม่ดี เพราะเด็กขาดโรงเรียนไปหลายวัน เข้าใจว่าเด็กขโมยมาที่บ้าน รีบมาหาผู้ปกครองทางบ้านถามเรื่องราวของเด็กคนเก พ่อแม่ผู้ปกครองทางบ้านเกิดงงงันอั้นตู้และพูดออกมาด้วยความตื่นเต้นตกใจว่า อ้อ ก็ได้มอบเด็กให้อยู่กับครูที่โรงเรียนแล้ว ทางบ้านก็ไม่สนใจ เพราะเข้าใจว่าเด็กอยู่ประจำที่โรงเรียน

    เรื่องก็เลยยุ่งกันใหญ่ เพราะผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่รู้เรื่องของเด็ก ไฟที่เด็กก่อขึ้นเพื่อประโยชน์เฉพาะตัว จึงลุกลามไปไหม้ทั้งครู ผู้ปกครอง ทางโรงเรียนและพ่อแม่ของเด็กทางบ้าน ให้กลายเป็นเพลิงทั้งกองไปด้วยกัน ทั้งนี้เป็นเรื่องหนักใจแก่พ่อแม่ไม่น้อยเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นลูกชายประเภทที่กล่าวนี้เรียกว่า ชายปรามาส พ่อแม่ต้องทุกข์แล้วทุกข์เล่า สั่งสอนแล้วอบรมเล่า ไม่มีเวลาปิดปากสนิทลงได้เลย ต้องลูบต้องคลำอยู่เช่นนั้น ไม่เป็นอันกินอยู่หลับนอนให้สนิทได้

    ถ้าเป็นสามีก็คือสามีที่ไม่น่าไว้ใจ กลัวจะไปคบชู้สู่แฟนในสถานที่ต่าง ๆ เวลาลับหูลับตาลูกเมีย เที่ยวพ่วงผู้หญิงตามตรอกตามซอก แล้วนำไฟปรมาณูมาเผาผลาญลูกเมียและครอบครัว เพราะตามธรรมดาผู้ชายชอบเป็นนักเที่ยว นักเกี้ยวผู้หญิง และนักฉวยโอกาส ผู้หญิงคนใดใจลอยพลอยเชื่อง่าย มักจะถูกต้มจากฝ่ายชายเสมอ ผู้ชายที่ไม่ค่อยจะเห็นคู่ครองเป็นของสำคัญ โดยมากมันเป็นคนเสียหายในทางกามารมณ์ เบื้องต้นก็เห็นเหยื่อ (หญิง) ที่ผ่านเข้ามาอย่างลอย ๆ นั้นว่าเป็นอาหารว่าง แต่ไม่ได้คำนึงถึงปลาที่ติดเบ็ดจนถึงตายเพราะเหยื่อล่อ ปล่อยเลยตามเลยจึงต้องเสียคน

    ผู้มีครอบครัวเป็นหลักฐานประพฤติให้หนักไปทางอารมณ์ จึงเป็นความเสื่อมเสียแก่ตนและครอบครัว หญิงผู้มีสามีประเภทชอบแสวงหาอาหารว่างเป็นนิสัย จึงเป็นที่หนักใจยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูก กินอยู่หลับนอนไม่เป็นสุข ฉะนั้นสามีประเภทอาหารว่างนี้ จึงควรให้นามว่าสามีปรามาสของภรรยา เพราะต้องรับประทานข้าวกับน้ำตา เนื่องจากความประพฤติระแวงจากสามีเสมอ ปล่อยอารมณ์ให้สบายใจสักนิดไม่ได้เลย

    ถ้าเป็นภรรยาก็เป็นภรรยาที่ไม่น่าไว้ใจของสามีเช่นเดียวกัน เป็นคนผลาญทรัพย์กลับใจ มีนิสัยเหมือนวานร (ลิง) ทั้งเป็นคู่รัก ทั้งเป็นคู่เวร ชอบเที่ยวแสวงหาสิ่งแปลก ๆ เป็นอาหารในเวลาวิกาลแบบนกค้างคาว กลับมาถึงบ้านก็ทำการเคี่ยวเข็ญสามี ทำท่าตีโพยตีพายหาโทษร้ายป้ายสีสามี เพื่อหาอุบายหนีจากสามีไปตามชู้ กิจการงานซึ่งเป็นหน้าที่ของแม่บ้านในครอบครัวจะจัดทำไม่นำพา สอดหูส่ายตามองไปมองมา ล้วนแต่เป็นเรื่องมารยามองทางหาแฟน หนักเข้าก็นำเงินไปมอบให้ชายชู้ จ้างคนมาฆ่าสามีของตัวเพื่อครองรักกับเขา ถ้าเป็นหญิงประเภทนี้ก็ควรให้นามว่าภรรยาปรามาส เพราะก่อกรรมทำเข็ญให้สามีได้รับความทุกข์ทรมานและปวดร้าวในหัวใจไม่มีวันสร่าง ทั้งเป็นการเสี่ยงภัยต่อชีวิตอันอาจเกิดขึ้นจากภรรยาเพชฌฆาตผู้คอยสังหารอยู่ตลอดเวลาที่ได้โอกาส

    ถ้าเป็นสมบัติ มีรถราเป็นต้น ก็เป็นที่ไม่น่าไว้ใจ จะขับขี่ไปทางไหนก็กลัวอันตราย ต้องเข้าโรงซ่อมบ่อย ๆ ไม่เช่นนั้นก็จะพาเจ้าของไปคว่ำจมดินที่ไหนไม่แน่ทั้งนั้น ต้องตรวจดูเครื่องทุกเวลาก่อนจะขับขี่ไปไหนมาไหน ลักษณะที่กล่าวมาทั้งนี้เข้าในข่ายของคำว่าปรามาส คือการลูบคลำทั้งนั้น

    ถ้าเป็นศีลก็เป็นศีลประเภทล้มลุก คนผู้รักษาศีลก็เป็นบุคคลล้มลุก เดี๋ยวก็ทำศีลให้ขาด เดี๋ยวก็ไปรับศีลใหม่ รับแล้วรับเล่า ขาดแล้วขาดเล่า จนตัวเองก็ไม่แน่ใจว่าตนมีศีลหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่รับศีลแล้วรับศีลเล่าอยู่นั่นเอง ทั้งนี้หมายถึงศีลของสามัญชนทั่ว ๆ ไปเพราะรับแล้ววันนี้คราวนี้ แต่วันหน้าคราวหน้าต้องรับอีก เหล่านี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาส เพราะลูบคลำศีลเหมือนลูบคลำบาดแผล

    พระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบันแม้จะเป็นฆราวาส ก็เป็นผู้แน่วแน่ในศีลที่ตนรักษาอยู่ ไม่รับศีลแล้วรับศีลเล่าเหมือนสามัญชน เพราะท่านเชื่อเจตนาของตนและรักษาศีลด้วยความระมัดระวัง ไม่ยอมให้ศีลขาดหรือด่างพร้อยด้วยเจตนาล่วงเกิน แม้จะเป็นผู้นำหน้าของหมู่ชน ก็เพียงรับเป็นจารีตของผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น แต่เจตนาจะรับเพราะเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีศีลขาดหรือด่างพร้อยนั้น ไม่มีในพระโสดาบันบุคคลเลย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 พฤศจิกายน 2019
  3. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    321239_453454018053368_1230091995_n.jpg

    พระสกิทาคา ท่านว่าทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาลง นี่ทางด้านปฏิบัติไม่มีข้อข้องใจ จึงขอยุติไว้เพียงนี้..
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 พฤศจิกายน 2019
  4. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    _3_736.jpg

    พระอนาคามีละสังโยชน์ได้ ๕ คือ ๓ กับที่ผ่านมาแล้วและละเพิ่มได้อีก ๒ ข้อ คือกามราคะ ความยินดีในประเพณีของโลก และปฏิฆะความหงุดหงิดใจ

    ส่วน กามราคะ นั้นอยู่ในวงของรูปกาย ตามความเห็นของธรรมะป่าว่า สักกายทิฏฐิ ๒๐ นั่นแลเป็นบ่อของกามราคะแท้ ควรเป็นภาระของพระอนาคามีเป็นผู้ละได้โดยเด็ดขาด

    "เพราะผู้จะก้าวขึ้นสู่ภูมิอนาคามีโดยสมบูรณ์ จำต้องพิจารณาขันธ์ห้าโดยความรอบคอบด้วยปัญญา แล้วผ่านไปด้วยความหมดเยื่อใย คือสามารถพิจารณาส่วนแห่งร่างกายทุกส่วน เห็นด้วยความเป็นปฏิกูลด้วย โดยความเป็นไตรลักษณ์ด้วย ประจักษ์กับใจ จนทราบชัดว่าทุกส่วนในร่างกายสะท้อนนี้มีความปฏิกูลเต็มไปหมด ความปฏิกูลของร่างกายที่ปรากฏเป็นภาพอยู่ภายนอก กลับย้อนเข้ามาสู่วงของจิตภายในโดยเฉพาะ

    และทราบชัดว่าความเป็น สุภะ ทั้งนี้ เป็นเรื่องของจิตออกไปวาดภาพขึ้นมา แล้วเกิดความกำหนัดยินดีก็ดี

    ความเป็น อสุภะ ที่จิตออกไปวาดภาพขึ้น แล้วเกิดความเบื่อหน่ายและอิดหนาระอาใจต่อความเป็นอยู่ของร่างกายทุกส่วนก็ดี

    ในภาพทั้งสองนี้จะรวมเข้าสู่จิตดวงเดียว คือมิได้ปรากฏออกภายนอกดังที่เคยเป็นมา จิตได้เห็นโทษแห่งภาพภายนอกที่ตนวาดขึ้นอย่างเต็มใจ พร้อมทั้งการปล่อยวางจากสุภะและอสุภะภายนอก ที่เกี่ยวโยงกับส่วนร่างกายที่ตนเคยพิจารณา ถอนอุปาทานความถือกายออกได้โดยสิ้นเชิง

    เรื่องของกามราคะซึ่งเกี่ยวกับกายก็ยุติลงได้ ในขณะที่ถอนจิตถอนอุปาทานจากกาย โดยผ่านออกระหว่างสุภะและอสุภะต่อกัน หมดความเยื่อใยในสุภะและอสุภะทั้งสองประเภท"


    ปฏิฆะ ความหงุดหงิดของใจ ข้อนี้ทางด้านปฏิบัติไม่มีแปลกต่างและข้องใจ จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 พฤศจิกายน 2019
  5. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,240
    กระทู้เรื่องเด่น:
    54
    ค่าพลัง:
    +4,023
    -๕๐.jpg

    อันดับสี่คือ อรหัตภูมิ ท่านว่าละสังโยชน์ได้ ๑๐ คือสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ที่กล่าวผ่านมาแล้ว กับสังโยชน์เบื้องบนอีก ๕ คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา


    รูปราคะ ความกำหนัดยินดีในรูป ไม่ได้หมายถึงรูปหญิง รูปชาย และรูปพัสดุสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งเป็นของภายนอกและเป็นส่วนหยาบ ๆ แต่หมายถึงนิมิตที่ปรากฏกับจิตอยู่ภายในโดยเฉพาะ คือภาพที่ได้จากภายนอกตามที่กล่าวผ่านมา ซึ่งย้อนกลับเข้ามาอยู่ในวงของจิตโดยเฉพาะ ผู้พิจารณาจำต้องถือนิมิตนี้เป็นอารมณ์ของจิต หรือเป็นเครื่องเพ่งเล็งของจิต จะว่าจิตยินดีหรือติดรูปฌานก็ถูก เพราะจิตชั้นนี้ต้องทำการฝึกซ้อมความเข้าใจเพื่อความชำนาญอยู่กับนิมิตภายใน โดยไม่เกี่ยวกับกายอีกเลย จนเกิดความชำนิชำนาญในการปรุงและทำลายภาพภายในจิต ให้มีการปรากฏขึ้นและดับไปแห่งภาพได้อย่างรวดเร็ว

    แต่การเกิด-ดับของภาพทั้งนี้เป็นการเกิด-ดับอยู่จำเพาะใจ มิได้เกิด-ดับอยู่ภายนอกเหมือนแต่ก่อน ซึ่งจิตกำลังเกี่ยวข้องอยู่กับกายเลย แม้ความเกิดดับของภาพภายใน เมื่อถูกสติปัญญาจดจ้องเพ่งเล็งอยู่ไม่หยุด ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปโดยลำดับ ความเกิด-ดับของภาพชนิดนี้ นับวันและเวลาเร็วเข้าทุกทีจนปรากฏเหมือนฟ้าแลบแล้วดับไป ผลสุดท้ายก็หมดไป ไม่มีนิมิตเหลืออยู่ภายในใจเลย พร้อมทั้งความรู้เท่าทันว่า ภาพนี้ก็มีความสลายไปเช่นเดียวกับสภาวธรรมอื่น ๆ จากนั้นก็เป็นสุญญากาศว่างเปล่า ไม่มีนิมิตภายในจิต แม้ร่างกายจะทรงตัวอยู่ แต่ในความรู้สึกนั้นปรากฏเป็นความว่างเปล่าไปหมด ไม่มีภาพใด ๆ เหลืออยู่ภายในจิตเลย

    อรูปราคะ คือความยินดีในสุขเวทนาหรือรูปฌาน ข้อนี้ทางด้านปฏิบัติไม่มีข้อข้องใจ จึงขอยุติไว้

    มานะ ความถือ แยกออกเป็นมานะ ๙ คือความสำคัญใจ ๙ อย่าง เช่นตัวมีภูมิธรรมต่ำกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง ยิ่งกว่าเขาบ้าง ตนมีภูมิธรรมเสมอเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง ยิ่งกว่าเขาบ้าง และตนมีภูมิธรรมยิ่งกว่าเขา แต่สำคัญว่าต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง ยิ่งกว่าเขาบ้าง ความสำคัญทั้งนี้เป็นการผิดทั้งนั้น ถ้าพูดตามธรรมชั้นสูง เพราะความสำคัญเป็นเรื่องของกิเลส จึงควรแก้ไขจนไม่มีอะไรมาแสดงความสำคัญภายในใจ จะชื่อว่าเป็นใจที่บริสุทธิ์เพราะหมดความคะนองส่วนละเอียด

    อุทธัจจะ คือความฟุ้งของใจ นี้ไม่ได้หมายถึงความฟุ้งซ่านแบบสามัญชนทั่ว ๆ ไป แต่เป็นกิริยาแห่งความขยันหมั่นเพียรและเพลิดเพลินของพระอริยเจ้าชั้นนี้ ท่านทำการขุดค้นหาต้นตอของวัฏฏะด้วยสติปัญญาอันแหลมคมของท่านต่างหาก แต่การทำทั้งนี้รู้สึกจะมุ่งสำเร็จให้ทันกับความหวังของใจที่มีกำลังกล้าต่อแดนพ้นทุกข์ จึงไม่ค่อยคำนึงถึงมัชฌิมา คือความพอดี ได้แก่การพักผ่อนจิตให้เข้าสู่ความสงบสุขคือสมาธิ เพราะปัญญาชั้นนี้คิดไปเท่าไรก็ยิ่งเห็นทางถอดถอนกิเลสอาสวะโดยลำดับ ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้พิจารณามีความเพลินต่องานของตน จนลืมพักจิตในความสงบคือสมาธิ เพื่อเป็นกำลังทางด้านปัญญาต่อไป เพราะเห็นว่าการพักจิตในสมาธิก็ดี การพักหลับนอนก็ดี เป็นการเนิ่นช้าต่อทางดำเนิน ฉะนั้น จิตจึงมีความเร่งรีบและเพลิดเพลินต่อการพิจารณาจนเลยเถิด ซึ่งเป็นทางผิดได้อีกทางหนึ่ง ที่ท่านให้นามว่า สังโยชน์ คือเครื่องผูกมัดใจ

    อวิชชา ถ้าหมายถึงอวิชชาทั่ว ๆ ไปในสามัญชนและสามัญสัตว์ ก็ขอแปลแบบพระป่าว่ารู้แกมโง่ ฉลาดแกมโกง ทั้งรู้ทั้งหลง จับเอาตัวจริงไม่ได้ เรียกว่าอวิชชาชั้นหยาบ ส่วนอวิชชาชั้นละเอียดที่ท่านกล่าวไว้ในสังโยชน์เบื้องบนนั้น ตามความรู้สึกของธรรมะป่าว่า คือความหลงจิตดวงเดียวเท่านั้น เพราะสิ่งอื่น ๆ สามารถรู้เท่าและปล่อยวางได้ แต่กลับมาหลงตัวเอง ท่านจึงให้นามว่า “อวิชชา” แปลว่ารู้ไม่รอบ รู้ไม่ชัดเจน ยังมีเงาปิดบังตัวเองไว้ ต่อเมื่อสติปัญญาเพียงพอเพราะอาศัยการขุดค้นไตร่ตรองเสมอ นั่นแลจิตจึงจะรู้ขึ้นมาว่า อวิชชาคือความหลงตัวเองเท่านั้น พอปัญญาได้หยั่งทราบ อวิชชาก็ดับลงในขณะเดียว ไม่มีอวิชชาตัวไหนจะยังเหลืออยู่ในจิตอีกเลย

    คำว่าอุทธัจจะ คือความฟุ้งในการพิจารณาก็ดี มานะความถือจิตก็ดี ย่อมหมดปัญหาลงในขณะเดียวกันกับขณะอวิชชาดับไป เพราะหมดต้นเหตุที่จะทำให้เพลิดเพลินและถือมั่นโดยประการทั้งปวงแล้ว เรื่องทั้งหมดก็มีอวิชชา คือสิ่งที่แปลกประหลาดอันเดียวเท่านั้นเป็นต้นเหตุสำคัญในไตรภพ เพราะเป็นสิ่งน่ารู้ และน่าหลงเคลือบแฝงอยู่ในตัวของมันอย่างพร้อมมูล ผู้ปฏิบัติถ้าไม่สันทัดทางด้านปัญญาจริง ๆ จะหาทางออกจากอวิชชาได้โดยยาก เพราะอวิชชาทั่ว ๆ ไปกับตัวอวิชชาจริง ๆ รู้สึกผิดแปลกกันมาก อวิชชาทั่ว ๆ ไปได้แก่ธรรมชาติที่รวมความหลงทั้งภายนอกและภายในเป็นตัวกิเลสไว้ด้วยกัน เช่นเดียวกับไม้ทั้งต้น ซึ่งรวมสิ่งต่าง ๆ ของมันไว้ ส่วนอวิชชาจริง ๆ ได้แก่ธรรมชาติที่ถูกตัดต้นโค่นรากจากความเพียรมาเป็นลำดับ จนหายพยศจากสิ่งต่าง ๆ เข้ามาเป็นระยะ ๆ สุดท้ายก็มารวมลงที่จิตแห่งเดียว

    จุดนี้แลเป็นจุดตัวจริงของอวิชชาแท้ แต่ขณะนี้อวิชชาไม่มีสมุนเป็นบริวารเหมือนสมัยที่กำลังเรืองอำนาจ ตัวอวิชชาแท้นี้เป็นที่เก็บรวมสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกประหลาดซ่อนไว้กับตัวของมันหลายอย่าง ซึ่งเราไม่เคยคาดหมายไว้ก่อนเลย เช่นเดียวกับยาพิษที่แทรกอยู่กับวัตถุชิ้นเล็ก ๆ เป็นเครื่องล่อสัตว์ให้ตายฉะนั้น สิ่งแทรกซึมอยู่กับตัวอวิชชาแท้นั้น ที่พอจะนำมาอธิบายให้ท่านผู้ฟังได้ก็เพียงเล็กน้อย เพราะไม่สามารถจะนำมาเทียบกับสมมุติให้เหมือนตัวจริงของสิ่งเหล่านั้นได้สมความต้องการ สิ่งแทรกซึมนั้นคือความผ่องใสเด่นดวง ประหนึ่งเป็นสิ่งสำเร็จรูปโดยสมบูรณ์แล้ว หนึ่ง ความสุขเพราะอำนาจความผ่องใสครองตัวอยู่ เป็นความสุขที่แปลกประหลาดมาก ประหนึ่งเป็นความสุขที่พ้นจากแดนสมมุติทั้งปวง หนึ่ง ความองอาจภายในตัวเอง ประหนึ่งจะไม่มีสิ่งอาจเอื้อมเข้าไปเกี่ยวข้องได้ หนึ่ง ความติดใจและสงวนธรรมชาตินั้นประหนึ่งทองคำธรรมชาติ หนึ่ง

    สิ่งเหล่านี้แลเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินเพื่อสันติธรรมอันแท้จริง โดยเจ้าตัวไม่รู้สึกในเวลานั้น ต่อเมื่อได้ผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปแล้ว จึงจะทราบความผิดถูกของตน เมื่อย้อนกลับคืนมาพิจารณาข้างหลังที่เคยดำเนินมา ก็ทราบได้ชัดว่าเราดำเนินมาถึงที่นั้น คดโค้งไปหรือผิดเพี้ยนไป ระยะนั้นเราติดความสงบ คือติดสมาธิมากไป ระยะนั้นเราพิจารณาทางด้านปัญญามากไป ไม่สม่ำเสมอทั้งด้านสมาธิและด้านปัญญา ความเพียรจึงช้าไปในระยะนั้น ๆ ย่อมทราบย้อนหลังโดยตลอด สิ่งที่จะให้เกิด-ตายต่อไปอีกคืออะไร ย่อมทราบชัดจากขณะอวิชชาดับไปแล้ว จากนั้นเป็นผู้หมดกังวลทั้งอดีตที่เคยเป็นมาของตน ทั้งอนาคตที่จะพาให้เป็นไปข้างหน้า เพราะปัจจุบันจิตขาดจากการติดต่อกับเรื่องทั้งหลายโดยประการทั้งปวงแล้ว

    ธรรมทั้งนี้ได้อธิบายตามปริยัติบ้าง ตามความเห็นของธรรมะป่าบ้าง เมื่อผิดบ้างถูกบ้างก็ขออภัยจากท่านผู้ฟังผู้อ่านทุกท่านด้วย เพราะแสดงไปตามความเข้าใจแบบป่า ๆ ที่ได้ปฏิบัติมา และพร้อมที่จะรับฟังเหตุผล ผิดถูกและติชมจากท่านผู้มีเมตตาเสมอ

    วิธีปฏิบัติเพื่อความสุขความเจริญเป็นขั้น ๆ และประจักษ์ใจ คือการอบรมภาวนาคุณงามความดีอื่น ๆ ย่อมเป็นเครื่องอุดหนุนกันไป ขึ้นชื่อว่าความดีแล้วต้องเป็นเครื่องหนุนกันไปทั้งนั้น เช่นเดียวกับพริก แม้จะเป็นเม็ดเล็ก ๆ หรือเม็ดไม่ค่อยจะเต็มเท่าไรก็ตาม เมื่อนำมาผสมกันตำลงในครกแล้วคดออกมาใส่ถ้วยหรือจาน ขณะรับประทานจะจิ้มลงไปด้านไหนของถ้วยหรือจานนั้น ย่อมมีรสเผ็ดเช่นเดียวกันหมด ไม่ได้นิยมว่าด้านนั้นพริกเต็ม ด้านนี้พริกลีบ

    ขึ้นชื่อว่าความดีแล้ว ไม่ว่าจะเกิดจากกุศลกรรมประเภทใดรวมกันแล้วจะกลายเป็นกองบุญอันใหญ่โตเช่นเดียวกัน ดังนั้นโปรดท่านผู้ฟังทุกท่านซึ่งมีความมุ่งหวังในธรรมอย่างเต็มใจ นำไปปฏิบัติดัดแปลงตัวเองตามฐานะให้ถูกเข็มทิศทางเดินของธรรม ในขณะที่มีชีวิตอยู่ แม้ถึงคราวจำเป็นซึ่งทุกคนจำต้องเผชิญ จิตจะมีหลักยึดไม่รวนเรไปในทางผิด จะก้าวไปตามทางผิด นิยยานิกธรรมนำตนให้ถึงสุขในคติภพนั้น ๆ ขึ้นชื่อว่าความสุขความเจริญที่เรารำพึงรำพันถึงอยู่ทุกขณะจิตนั้น จะกลายมาเป็นสมบัติเครื่องครองของใจในภพของตน ๆ โดยไม่ต้องสงสัย

    ในอวสานแห่งธรรม จึงขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยตามคุ้มครองรักษาท่านทั้งหลาย ให้มีแต่ความสุขกายสบายใจ นึกสิ่งใดจงสมหวังดังความปรารถนาทุกประการเทอญ ฯ


    ที่มา http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1973&CatID=9
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 พฤศจิกายน 2019
  6. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,912
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,147
    ค่าพลัง:
    +70,548
    ?temp_hash=f8ebf4f81154f99462f5b895214e9c6f.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  7. mrmos

    mrmos Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2016
    โพสต์:
    1,190
    ค่าพลัง:
    +1,101

แชร์หน้านี้

Loading...