นอกจากจะเป็นช่วงเวลาของการเปิดของขวัญ และร่วมทานอาหารที่เรียงรายเต็มโต๊ะ คริสต์มาสและปีใหม่ก็เป็นเทศกาลที่น่าอึดอัดสำหรับใครบางคน บ่อยครั้งที่การรวมตัวของสมาชิกในครอบครัวนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ขุดค้นความขัดแย้งในอดีตให้ปะทุขึ้นมาอีก นี่คือคำแนะนำ 5 ประการจากรายการ “Thought For The Day” ทางช่องวิทยุ เรดิโอ 4 ของบีบีซี ว่าทำไม “การให้อภัย” จึงควรเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีการเฉลิมฉลองช่วงคริสต์มาส 1.การให้อภัย ไม่ใช่ความอ่อนแอ การให้อภัยอาจถูกมองว่าเป็นความอ่อนแอ เป็นการยอมให้คนที่เคยทำร้ายเราพ้นผิด ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ลูซี วิงเค็ทท์ อธิการประจำโบสถ์เซนต์เจมส์ ซึ่งอยู่ใจกลางกรุงลอนดอน บอกว่า การให้อภัยไม่ใช่การทำตัวดี หรือทำตัวเป็นเหมือนพรมเช็ดเท้า “การให้อภัยตามหลักศาสนาคริสต์เป็นเรื่องของกระบวนการมากกว่า เป็นเรื่องของการพยายามที่จะเผชิญหน้ากับอดีต เมื่อพยายามจะให้อภัยคนอื่น หรือตัวเอง ฉันจะหายใจเข้าลึก ๆ และหันหน้าเข้าหาอดีตที่ฉันรู้อยู่แล้วว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันไม่ใช่ความอ่อนแอ มันคือความเข้มแข็ง” “ฉันถูกข่มขืนตอนอายุ 10 ขวบ แต่ฉันก็เรียนรู้ที่จะให้อภัย” เปิดใจครูอิสลามไทยผู้ให้อภัยมือวางแผนฆ่าลูกชาย 2. ให้อภัยทำให้มิตรภาพยั่งยืน นักเขียน มาร์ติน โรว์ บอกว่า “การให้อภัยเป็นเรื่องลึกลับ เช่นเดียวกับความรักและความเห็นอกเห็นใจ เป็นความรู้สึกที่บังคับไม่ได้ และขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นข้อบังคับให้ต้องปฏิบัติ” เขาบอกว่า การให้อภัยเพื่อนมิตรก็เหมือนกับการหยอดน้ำมันหล่อลื่นลงที่บานพับประตู และมันอาจจะสามารถ “ป้องกันบานประตูไม่ให้พังครืนลงมาทั้งบานได้” ตามที่กวีอย่าง เดวิด ไวท์ ได้พูดไว้ว่า “ทุกมิตรภาพตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้อภัยกันและกันอย่างต่อเนื่อง” 3.เคียดแค้นเท่ากับทำร้ายตัวเอง เชตนา แคง นักบวชฮินดูและนักจิตวิทยา บอกว่า คนใกล้ตัวคือคนที่เราอภัยได้ยากที่สุด แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ จะกลายเป็นความไม่พอใจและความบาดหมางในระยะยาว และจะทำลายความสัมพันธ์ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวหรือที่ทำงาน ครูทางศาสนาของแคงแนะนำเธอว่า การไม่ให้อภัยก็เหมือนการถือถ่านร้อนระอุในมือตัวเองไปเรื่อย ๆ เพื่อรอเวลาจะโยนใส่คนที่เราไม่พอใจ เวลาแห่งการแก้แค้นอาจมาถึง แต่เราอาจจะลืมว่าเราได้ทำร้ายตัวเองไปแล้วมากเท่าไร 4.ฤกษ์ดีสำหรับการให้อภัย วิชวาภานี ชาวพุทธและครูฝึกสมาธิในสหราชอาณาจักร พูดถึงการมีสติจดจ่อว่าเป็นการใส่ใจการกระทำ และคิดตรึกตรองว่ามันจะส่งผลอย่างไรบ้าง เป็นการระลึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีความสำคัญต้องอาศัยความพยายามอย่างต่อเนื่อง การตระหนักรู้ว่าเวลาของเราในโลกนี้นั้นมีน้อย คือการรู้ว่ามันมีค่าแค่ไหน โดย วิชวาภานี ได้ยกคำกล่าวสุดท้ายของพระพุทธเจ้าที่ว่า “จงเดินหน้าต่อไป จงเห็นใจผู้อื่นต่อไป จงฝึกปฏิบัติต่อไป ไม่ว่าวันนี้จะเป็นแค่อีกวันหนึ่งในชีวิต หรือวันสุดท้าย” 5.ให้อภัยตัวเอง ลูซี วิงเค็ทท์ คิดว่าความสามารถของเราในการให้อภัยผู้อื่นเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเอง เธอกล่าวว่า “เหตุการณ์ในทุก ๆ วันจะเปิดโอกาสให้เราฝึกความกล้าหาญและให้อภัย ความจริงคือ ความเข้มแข็งที่จะให้อภัยผู้อื่นมีส่วนมาจากความตั้งใจของเราที่จะให้อภัยตัวเอง” ขอขอบคุณที่มา http://www.bbc.com/thai/international-42479967