เรื่องเด่น ทุกข์ดับได้จริง .. นี่คือสัจธรรมในพุทธะ!!

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 24 พฤศจิกายน 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,592
    dhamsongloak-23nov14.jpg

    โดย…พระ อ.อารยวังโส

    เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา วันวาน (๒๑ พ.ย.๖๐) รับนิมนต์ไปสวดมนต์-แสดงปกิณณกธรรม ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดี ได้นิมนต์และอาราธนาขอฟังธรรมในเรื่อง “การใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขในการทำงาน” ..นับว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อทุกๆ คน จึงได้ยกหลักธรรมพร้อมเรื่องราวประกอบมาบอกเล่าให้คณาจารย์และสาธุชนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน บรรยากาศเป็นไปด้วยความรื่นเริงและจบลงด้วยการถวายสังฆทาน… ทุกคนร่วมกันรับประทานอาหาร

    การไปบรรยายธรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันวาน (๒๑ พ.ย.๖๐) ไม่สูญเปล่า ได้จุดประกายให้คณะต่างๆ ที่มีคณบดีมาร่วมรับฟัง คิดจะจัดให้มีการบรรยายธรรมลักษณะดังกล่าวต่อไป โดยได้แนะนำให้จัดร่วมกันจะได้สิ้นเปลืองน้อย ได้ประโยชน์สูงสุด และควรเป็นไปในลักษณะปุจฉา-วิสัชนา จะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการเรียนรู้ที่มุ่งตรงหาเป้าหมายตามประสงค์ของผู้เรียน

    จริงๆ แล้ว .. ความทุกข์ ความคับแค้นใจ ที่เกิดขึ้น …หรือความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ที่เกิดปรากฏในแต่ละชีวิตนั้น ย่อมมาจากสาเหตุเดียวกัน คือ การรู้ผิดเห็นผิดไปจากธรรม (อริยสัจ)!!

    ความรู้ผิด .. ความเห็นผิด จึงเป็นตัวพ่อของความทุกข์ เป็นเหตุที่นำไปสู่นานาปัญหาของการดำเนินชีวิต.. “ยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง ยิ่งยุ่ง ยิ่งยากจน ทุกข์ใจ คับแค้นใจ ก่อเกิดความไม่สบายจิต .. ส่งสืบต่อสู่เรือนกาย ให้กายรับผลจากจิตในปัจจุบันขณะนั้นๆ อันเป็นไปตามหลักกฎเกณฑ์กรรม มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์.. มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย…

    เรื่องของความรู้ผิด-เห็นผิดไปจากธรรม (อริยสัจ).. จึงเป็นเหตุที่นำพาชีวิตไหลวนไปในห้วงแห่งความทุกข์ ที่เรียกว่า วัฏสงสาร … ไม่จบไม่สิ้น เป็นอย่างนี้ และจักต้องเป็นอย่างนี้อยู่ร่ำไป

    การศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตให้ออกจากความทุกข์ จึงเป็นศาสตร์การเรียนรู้ในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า พุทธศาสตร์ ก็ได้… ด้วยศาสตร์หรือความรู้นี้เป็นไปเพื่อ การรู้ถูก-เห็นถูก ที่เรียกอาการรู้ถูก-เห็นถูกว่า พุทธภาวะ เป็นภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน ด้วยการพัฒนาตัวจิต (ผู้รู้) ให้รู้ถูกต้องตรงธรรม (ปัญญา) จนมี วิชชา คือความรู้ และ อาโลโก .. อุทะปะทิ (ความสว่างเกิดขึ้นแล้ว)

    “การใช้ชีวิตเพื่อให้มีความสุขในการทำงาน…” จึงเป็นศาสตร์ศิลป์ของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ด้วยพุทธศาสนาชี้แนวทางไปสู่ความสุข และมุ่งสู่ความดับทุกข์… เพราะแม้ความสุขก็แปรเป็นทุกข์.. จริงๆ แล้ว “ความสุข” นี่แหละ คือ ตัวหลอกล่อให้สัตว์โลกเข้าไปติดข่ายความทุกข์กันเป็นทิวแถว ไม่ว่ายุคใด สมัยใด ..ในพระพุทธศาสนาจึงไม่ได้สอนให้ไปหาความสุข แต่กลับย้อนเข้าหาเหตุตัวแท้ของชีวิต ด้วยเมื่อชีวิตคือปัญหา .. ปัญหาคือความทุกข์ในชีวิต ทุกชีวิตไม่ต้องการมีปัญหา เพราะไม่ต้องการความทุกข์ จึงชี้ตรงไปที่จุดมุ่งหมายแท้จริงว่า สัตว์โลกทั้งหลายมีความต้อง

    การไปให้ถึงเพื่อดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง ที่เรียกว่า พระนิพพาน!การดับทุกข์.. หรือทำความทุกข์ให้สิ้นไป จึงเป็นงานศึกษาปฏิบัติเพื่อพัฒนาชีวิตในพระพุทธศาสนา โดยชี้เปรี้ยงไปที่จิตใจว่า นั่นแหละคือมูลเหตุของชีวิต.. การพัฒนาชีวิต คือ การพัฒนาจิตใจ จึงเป็นบริบทการศึกษาในพระพุทธศาสนาเรียกว่า การภาวนาจิต หรือ จิตภาวนา!คำถามต่อไปจึงเกิดขึ้น เมื่อรู้ว่าต้อง ภาวนาจิตหรืออบรมจิตภาวนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ความเห็นที่ตรงธรรมให้เกิดขึ้น… ว่าควรทำอย่างไร จะอบรมอย่างไร ..จะภาวนาด้วยธรรมปฏิบัติบทใด .. แบบใด!? ….และใช้อะไรเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยพัฒนาจิตใจ จนกว่าจะเกิดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อการรู้ถูก การเห็นถูกตามความเป็นจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ที่เรียกว่า สัจธรรม

    การพัฒนาจิตในพระพุทธศาสนาจึงเกิดวิชาหนึ่งเดียวไม่มีสองขึ้น เรียกว่า การเจริญสติ ที่เรียกอย่างเต็มรูปแบบว่า การเจริญสติปัฏฐานสี่ หรือกระบวนการ วิปัสสนาญาณ ในพระพุทธศาสนา โดยสรุปลงชัดเจนว่า นี่เป็นกระบวนการศึกษาปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีในลัทธิหรือศาสนาภายนอก …และชี้แจงแสดงให้เห็นจริงว่า เส้นทางสายนี้คือการเจริญสติปัฏฐานสี่ เป็นหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง หากยังไม่สามารถบรรลุถึงจุดความรู้สุดยอดจนบรรลุความทุกข์ได้จริง ก็ยังสามารถตอบแทนค่าความสุข (คือ ทุกข์จางคลายไปชั่วขณะ) ให้ได้ชั่วขณะตาม กำลังของสติปัญญา ที่เกิดขึ้นมีอยู่ประกอบจิตในขณะนั้นๆ… นี่คือความอัศจรรย์ของการศึกษาปฏิบัติอย่างมีระบบระเบียบแบบแผนในพระพุทธศาสนา

    องค์คุณของสติปัญญา ที่สามารถพัฒนาให้เกิดมีปรากฏดำรงอยู่ในจิตใจของสัตว์ทั้งหลายได้นั้น จึงเป็น ธรรมโอสถ ดับโรคาพยาธิในจิตนั้นได้จริง จนเกิดความสร่างทุกข์ สร่างโศกโรคภัย ด้วยองค์คุณของสติปัญญาจะสามารถสร้างองค์ความรู้ ให้รู้ทั่วถึง รู้เท่าทัน… ใน สารพันปัญหา ที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาสู่ชีวิตของเราไม่เว้นในแต่ละวัน และสามารถประมวลธรรมโอสถขนานอื่น เพื่อปรุงเป็นยาขนานเอก ดับทุกข์ ขจัดโรคภัยที่จิตใจให้สูญสิ้นไปได้ ที่สำคัญ องค์คุณแห่งปัญญาจะสร้างค่าแห่งความพึงใจให้เกิดขึ้นในชีวิต ปรากฏยกเป็นอารมณ์ให้จิตได้เสพกิน จนชอบใจ พึงใจ และสุขใจ

    ความสุขใจ จึงเกิดจากความพึงใจ ความชอบใจ พระสารีบุตรเถรเจ้ามีเถระวาทีไว้เช่นนี้ และเมื่อยกระดับสู่กุศลธรรม ที่ให้เกิดประโยชน์และความเหมาะควร สะดวกสบาย เสริมสร้างให้จิตเข้าสู่กุศลธรรมได้อย่างดี ก็จะเกิดปัญญารู้ชอบ ขจัดความรู้ผิด-ความเห็นผิด หรือความหลง (โมหจิต) ออกไปได้ ความรู้ผิด ความเห็นผิด .. จึงขจัดหรือทำให้สิ้นไปได้ ด้วยการเจริญสติที่ประกอบด้วยองค์ธรรมในแต่ละบท เพื่อการสร้างค่าคุณธรรมความรู้ให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะเป็น พรหมวิหารธรรม อิทธิบาทธรรม และสังคหวัตถุธรรม.. ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐานธรรม.. ที่สามารถพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ เพื่อการใช้ชีวิตให้มีความสุขในการทำงาน แม้จะต้องเกี่ยวข้องกับโลกวิสัย

    ที่สำคัญที่สุด หากประมวลจิตใจด้วย สติปัญญา ลงสู่วิถีทางสายกลางหรือ มัชฌิมาปฏิปทา อันประกอบด้วยองค์ธรรมแปดประการ จนยกขึ้นสู่อริยมรรค ก็ย่อมบรรลุถึงการรู้เห็นที่หมดจด เกิด ญาณทัสสนวิสุทธิ ที่สามารถดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง… และนั่นคือที่สุดแห่งชีวิตที่ควรจะไปให้ถึง ที่สุดแห่งที่สุดของเส้นทางเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ให้เกิดขึ้นเพื่อ พระนิพพาน!!พระนิพพานในพระพุทธศาสนา จึงไม่ใช่ของไกลตัว ไม่ใช่เป็นของเกิดปรากฏได้ยาก.. ไม่ยากเลยถ้าตรงทาง .. ตรงธรรม ตามอริยมรรค และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.. ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ดีแล้ว.. “..ความสุขเกิดขึ้นได้ เมื่อความทุกข์ดับสิ้นไป … เรียกความทุกข์ที่ดับสิ้นไปไม่เหลือเชื้อว่า บรมสุข อันเป็นลักษณะธรรมของพระนิพพานอย่างหนึ่ง จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำได้ด้วยการพึ่งตนพึ่งธรรม .. จึงสามารถพัฒนาชีวิต”

    ความสุขจะเกิดขึ้นได้ในชีวิต เมื่อเรารู้จัก พึ่งตน-พึ่งธรรม จนเกิด ปัญญาชอบ.. และนี่คือสัจธรรมในพระพุทธศาสนา!!.

    เจริญพร

    dhamma_araya@hotmail.com





    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.ryt9.com/s/tpd/2745095
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 26 พฤศจิกายน 2017

แชร์หน้านี้

Loading...