ความเข้มข้นของบารมีก็ต้องจัดเป็นชั้นบารมีต้น อุปบารมี และ ปรมัตถบารมี เราจะคิดว่าเรามีบารมีขั้นไหนก็ดูกำลังใจของเราเป็นสำคัญว่า คนมีบารมีต้นคือ กำลังใจที่จะทำความดี บุคคลประเภทนี้ชวนเข้าวัด เดือนหนึ่งมี ๔ วันพระ ยังไปไม่ครบเลย ดีไม่ดีวันพระนี้ปวดท้องขี้ไม่ไปเสียแล้ว วันพระโน้นหลานมันร้องไปวัดไม่ได้แล้ว อย่างป้าหวง เป็นต้น ถามว่า "ป้าหวงไม่ไปทำบุญหรือ" "ฮือ...ลูกยังเล็กเจ้าค่ะ" ต่อมาลูกมีผัวมีเมียมีหลาน ถามว่า "ป้าหวงไม่ไปวัดหรือ?" "หลานยังไม่โตเจ้าค่ะ" พอดีตายไปทำบุญไม่ได้ ไปบ้างก็ผลุบๆ โผล่ๆ เขาเรียกว่า "ศรัทธาหัวเต่า" ผลุบเข้า ผลุบออก อย่างนี้เขาเรียก "บารมีต้น" นะ ทีนี้ต่อมาเป็น "อุปบารมี" บารมีขั้นกลาง บารมีขั้นกลางนี่เวลาจะไปวัดไปวา "พอใจในศีล พอใจในทาน พอใจในการสดับพระธรรมเทศนา" ความมั่นคงในกามาวจรสมบูรณ์แบบ หมายความว่า ถ้าทำบุญพอใจขั้นกามาวจร คือการให้ทานถวายทานไปเกิดเป็นเทวดา การรักษาศีลตามปกติไปเกิดเป็นเทวดา การสดับพระธรรมเทศนาพอใจในธรรมะไปเกิดเป็นเทวดา อารมณ์อย่างนี้มีความพอใจ แต่ว่ามีบุคคลใดเขาชวนไปเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน "ไม่ว่าง" อุปบารมีนี่มีกำลังใหญ่จริงๆ ขั้นกามาวจรสวรรค์ แต่ว่า บางทีเผลอๆ ก็ย่องไปเป็นพรหมนิดๆ หน่อยๆ ใช่ไหม คือว่ากำลังใจใกล้จะตายอาจจะรวบรวมกำลังใจถึงปฐมฌาณก็ไปเป็นพรหมได้ พรหมเล็ก ปฐมฌาณนี่อย่างหยาบเป็นพรหมชั้นที่ ๑ อย่างกลางเป็นพรหมชั้นที่ ๒ อย่างละเอียดเป็นพรหมชั้นที่ ๓ ก็จัดว่าเป็นพรหมประเภทกระจ้อยร่อย นี่บางท่านไปได้นะ อันนี้เป็น "อุปบารมี" สำหรับขั้น "ปรมัตถบารมี" การบริจาคทานมีจิตเต็มเปี่ยมพร้อมสมบูรณ์ที่จะทำ จิตพอใจในการทรงศีลเป็นปกติ ถึงแม้จะบกพร่องบ้าง แต่กำลังใจพอใจที่จะให้ศีลบริสุทธิ์ สำหรับการเจริญสมถภาวนาก็มีความพอใจ จะได้มากจะได้น้อยไม่สำคัญ ฉันอยากจะได้อย่างเขา กำลังใจมุ่งมั่นอยู่อย่างนี้ท่านเรียกว่า "ปรมัตถบารมี" ฉะนั้นอารมณ์ของคนที่ก้าวเข้าสู่ "ปรมัตถบารมี" ถ้าเราไม่ใช่พระโพธิสัตว์ ถ้าพระโพธิสัตว์ขั้นปรมัตถบารมีนี่ต้องปฏิบัติให้เต็มชาติละอย่าง ๑๐ ชาติจึงครบใช่ไหม อย่างในทศชาติ ๑๐ ชาติจึงครบ จึงจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ "สำหรับบรรดาท่านผู้ปฏิบัติเป็นสาวก ถ้าในชาติใดอารมณ์เข้าถึงปรมัตถบารมี ชาตินั้นมีสิทธิ์ได้เป็นพระอรหันต์ได้ทันที" ถ้าไม่เผลอ หรือไง? ถ้าไม่เผลอ แต่ว่า อารมณ์ที่เป็นปรมัตถบารมีนี่ นรกเขารังเกียจ พระยายมท่านรังเกียจ ไม่อยากให้เข้าไปใกล้หรอก รำคาญ ถ้าเข้าไปแกก็ไล่ส่ง นี่กำลังใจจริงนะ ถ้ามัดบ้างปล่อยบ้างไม่รู้นะ ต้องมัดกันจริงๆ ถ้าว่ามัดกันจริงๆ หมายความว่า เอ๋...เราศีลไม่บริสุทธิ์ทุกวันนั่นเป็นของจริง แต่ว่ากำลังใจเราพร้อมที่จะให้มันบริสุทธิ์ใช่ไหมว่าคอยระมัดระวังจะไม่บกพร่องในศีลเป็นสำคัญ .. (พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน) ที่มาจาก.. สังโยชน์ ๑๐ หน้า ๓๑-๓๓