หลวงปู่มั่นอธิบายปฏิจสมุปบาท

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 4 มิถุนายน 2013.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    ก็เมื่อรุ่งเช้าวันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันปลอดโปร่งที่สุดแล้ว ท่านคงบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ตามปกติ อยู่มาวันหนึ่ง ท่านนั่งกำหนดพิจารณาความละเอียดอยู่ในถ้ำสิงห์โตนั้น ได้ระลึกไปถึงท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) ณ ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ว่าท่านกำลังทำอะไรอยู่ที่วัดนั้น ปรากฏว่าท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ ท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ที่ศาลาเหลือง บนธรรมาสน์ ในเวลานั้นเป็นเวลาราว ๒๓.๐๐ น.เศษ นั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และกำลังพิจารณาถึงปฏิจจสมุปบาท ว่า

    อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ เมื่อเป็นชาติ ก็ต้องมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ และการพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ นี้เหตุมาจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเมื่อยังมีอวิชชาอยู่ตราบใด ก็จะต้องมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ตราบนั้น

    ท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ ท่านก็ได้คำนึงถึงพระพุทธเจ้า ที่ทรงพิจารณาถึง ปฏิจจสมุปบาท ว่า พระองค์ท่านได้ทวนกระแสกลับ ดูตัวอวิชชา ท่านจึงได้เริ่มทวนกระแสว่า เพราะเหตุใดท่านจึงต้องแก่ ตาย โศกเศร้าเสียใจ ร้องไห้รำพัน คับแค้นแน่นใจ เพราะความพลัดพรากจากของชอบใจ พลาดหวัง ท่านได้พิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะได้เกิดมาเป็นอัตภาพแห่งมนุษย์ จะต้องประสบความเป็นเช่นนี้ทุกคน อัตภาพคือความเกิดนั้นมาจากอะไร ก็มาจากภพ

    คำว่าภพ ก็คือสัตว์ทั้งหลายที่พึงอาศัยอยู่ ขณะนี้เรากำลังอาศัยอยู่ในภพ ซึ่งมันเป็นผลมาจากอะไร ก็เป็นผลมาจากอุปาทาน คือความเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะจิตเศร้าหมองติดพันอยู่กับสิ่งใด ด้วยเหตุแห่งการยึดมั่น จิตก็จะไปก่อกำเนิด ณ ที่นั้น เช่นบุคคลที่ทำจิตไปในทางฌาน เพ่งอยู่ในความละเอียดคือไม่มีรูป ก็จะไปเกิดในภพเป็นอรูปภพ เพ่งอยู่ในความละเอียดในรูป ก็จะไปเกิดในภพคือรูปภพ และถ้าได้ฝึกจิตเป็นธรรมดา ก็จะไปเกิดในกามภพ เช่น มนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน เปรต นรก เป็นต้น สุดแล้วแต่จิต ไปประหวัดกับอะไร ก็จะไปถือกำเนิดในสิ่งนั้น สุดแล้วแต่กรรมของคนที่จะประหวัดเห็นดีไป

    ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านก็พิจารณาไปก็ได้ถอยกลับมาจากที่ว่า ก่อนอุปาทานนี้มาจากอะไร คือมาจากตัณหา คือความทะเยอทะยาน อันความทะเยอทะยานนี้ คือกามตัณหาความทะเยอทะยานในกามคุณ คือความใคร่ในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น

    ความทะเยอทะยานในภวะ คือความมีความเป็น ต้องการอยาก รูปสวยรวยทรัพย์ ต้องการอยากเป็นคุณหญิงคุณนาย ต้องการอยากมียศถาบรรดาศักดิ์ ทะเยอทะยานในวิภวะ คือความไม่อยากมีไม่อยากเป็น คือไม่อยากมีความทุกข์ ความอดอยากปากแห้ง ไม่อยากเสื่อมจากยศถาบรรดาศักดิ์ที่ตนกำลังเฟื่องฟูอยู่ ความทะเยอทะยานเหล่านี้ ก็มาจากเวทนา คือความเสวยทุกข์ เสวยสุข ทุกข์ที่เกิดเป็นมีขึ้นมาแล้ว และได้รับผลอยู่ทุกกาลเวลาแห่งความเกิดขึ้น ได้รับอันเนื่องมาจากความได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ขณะที่เสวยทุกข์นั้น ก็ต้องการแต่ความสุขเป็นต้น แต่ผลหาได้มีแต่ความสุขไม่ ต้องมีทุกข์ด้วย

    ความเสวยสุขเสวยทุกข์นี้เนื่องมาจากอายตนะ คือมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เช่นมีตาไปเห็นรูป ก็เกิดความสุขทุกข์ หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส ใจกระทบอารมณ์ เกิดความสุขทุกข์ ก็นับเนื่องมาจากนามรูป เพราะนามกับรูปที่ก่อกำเนิด เกิดขึ้นมาเป็นคน คนเรานี้มีนามกับรูปจึงเป็นตัวขึ้นมาได้

    ท่านเจ้าคุณอุบาลี ฯ ท่านได้พิจารณาถอยร่นปฏิจสมุปบาท มาจนถึงรูปนามนี้แล้ว ท่านเกิดความสงสัยว่า ถอยจากรูปนามยังมีวิญญาณและสังขาร แล้วจึงขึ้นต้นด้วยอวิชชา และวิญญาณ สังขารนี้ก็มีแล้วในนามรูป เหตุไฉน จึงมามีสังขารและวิญญาณ โดยเฉพาะของตัวมันอีก เมื่อท่านสงลัยแล้วก็ได้เลิกพิจารณาในวันนั้น

    อยู่มาวันหนึ่งท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้มาเที่ยวที่เขาพระงาม ลพบุรี เพราะโดยปรกติแล้วท่านจะไปที่นี่บ่อยๆ ซึ่งท่านชอบสถานที่นี้มาก จนภายหลังท่านได้สร้างพระใหญ่ หน้าตักกว้างถึง ๑๒ วากว่า และวันนั้นเป็นวันที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้มาที่เขาพระงามตามปกติ ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์มั่น ฯ ก็ได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้นเหมือนกัน เมื่อได้ทราบว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ มา ท่านก็ไปนมัสการและได้สนทนาปราศรัยตามปกติ เมื่อได้สนทนาเรื่องอื่นไปพอสมควรแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้ถามขึ้นว่า

    “เมื่อคืนวันที่ ๑๐ ค่ำที่แล้ว คือเดือน ๘ นั้น ท่านเจ้าคุณนั่งสมาธิอยู่ที่ศาลาเหลือง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น. เศษ ได้พิจารณาถึงปฏิจสมุปบาท หวนกลับไปกลับมา แล้วเกิดความสงสัยขึ้นมาตอนหนึ่งใช่ไหมครับ”

    ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เมื่อได้ฟังคำถามเช่นนั้นถึงกับตกตะลึง ไม่นึกเลยว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านจะมาล่วงรู้ถึงการพิจารณาของเราที่ได้พิจารณาด้วยตัวเองโดยมิได้บอกให้ใครรู้เลย ท่านจ้าคุณอุบาลีฯ จึงพูดถามอาจารย์มั่น ฯ ว่า

    “ก็ท่านอาจารย์ว่าอย่างไรเล่า ที่ผมสงสัย อธิบายให้ผมฟังบ้างได้ไหม ?”
    ท่านอาจารย์มั่นจึงตอบว่า “ได้” แล้วท่านก็ได้อธิบายถวายท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ว่า
    “ปฏิจสมุปบาท ข้อที่ว่าวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปนั้นแล ในนามรูปก็มีทั้งวิญญาณและสังขาร ซึ่งมันจะมีการแตกต่างกันดังนี้ คือ สังขาร วิญญาณ ที่ต่อจากอวิชานั้น เรียกว่าสังขารกรรม วิญญาณกรรม แตกต่างกับสังขาร-วิญญาณ-ของนามรูป สังขารวิญญาณของนามรูปนั้น เป็นสังขารวิญญาณวิบาก เนื่องจากเป็นการปรุงแต่งที่สำเร็จรูปแล้ว สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นการปรุงแต่งที่กำลังทำอยู่ คือว่า สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นภาวะที่ไม่เป็นอิสระอยู่ภายใต้อำนาจของกรรม มี (อวิชชา) เป็นหางเรือใหญ่ อาศัยสังขารการปรุงแต่ง อาศัย วิญญาณความรู้สึกในขณะที่กำลังปรับปรุงภพ อันจะเป็นแนวทางแห่งการก่อให้เกิด ซึ่งในขณะนั้นจิตเป็นประธาน อาศัยสังขารปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึก ในขณะที่กำลังปรุงภพ อันจะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของสังขารกรรม วิญญาณกรรม ทั้ง ๒ นั้นสืบเนื่องมาจากจิต ณ ที่นี้จึงแล้วแต่กรรมจะจำแนกไป คือให้สังขารและวิญญาณนี้เห็นดีไป เมื่อเห็นดีไปอย่างไร จิตก็จะไปตั้งก่อให้เกิดไปตามนั้นเพราะที่นี้จึงเป็นสถานที่กำลังปรุงแต่งภพ ถ้าพิจารณาแล้วจะรู้สึกมันละเอียด และพึงจะรู้จริงได้ต่อเมื่อจิตได้ดำเนินตามอริยสัจจ และเป็นวิปัสสนาอันแก่กล้าแล้วนั้นทีเดียว ที่กระผมได้อธิบายมานี้เป็นสักแต่แนวทางเท่านั้น ตามความเป็นจริงต้องมีตาภายในคือกระแสจิต กระแสธรรมเท่านั้น ที่จะเขาไปรู้จริงได้”

    เมื่อท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้ฟังดังนั้นก็ถึงกับอุทานขึ้นว่า “อ้อ เราเข้าใจแล้ว ท่านอาจารย์รู้ใจผมได้ดีมาก และถูกต้องทุกประการ และแก้สงสัยให้ผมได้ราวกับปลิดทิ้ง ผมพยายามพิจารณาเรื่องนี้มานาน แต่ยังไม่แจ่มแจ้ง พึ่งจะแจ่มแจ้งในเวลานี้เอง”

    ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์ โดยพระอาจารย์วิริยังค์
    http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-03-01.htm
     
  2. 2ชาติตรัสรู้

    2ชาติตรัสรู้ គ្រប់គ្រាន់ รักษาดวงใจ.គ្រប់គ្រាន់

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    1,696
    ค่าพลัง:
    +1,558
    ปฏิจสมุปบาทนี้เป็นปฏิจสมุปบาทแบบคร่อมภพชาติ ใช่มั๊ยครับ
     
  3. paetrix

    paetrix เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 เมษายน 2011
    โพสต์:
    2,478
    ค่าพลัง:
    +1,878
    พระวจนะ" ภิกษุทั้งหลาย คนทั่วไปกล่าวกันว่า สังขารทั้งหลาย เพราะอาศัย ความหมายอะไรเล่า ภิกษุทั้งหลาย เพราะกริยาที่ปรุงแต่งให้สำเร็จรูป มีอยู่ในสิ่งนั้น ดังนั้นสิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่าสังขาร สิ่งนั้นย่อมปรุงแต่งอะไรให้เป็นของสำเร็จรูป สิ่งนั้นย่อมปรุงแต่งรูป ให้สำเร๊จรูปเพื่อความเป็นรูป ย่อมปรุงแต่งเวทนาให้สำเร็จรูป เพื่อความเป็นเวทนา ย่อมปรุงแต่งสัญญา ให้สำเร็จรูป เพื่อความเป็นสัญญา ย่อมปรุงแต่งสังขารให้สำเร็จรูปเพื่อความเป็นสังขาร แลัย่อมปรุงแต่งวิญญานให้สำเร็จรูปเพื่อความเป็นวิญญาน ภิกษุทั้งหลาย เพราะกริยาที่ปรุงแต่งให้สำเร็จรูป มีอยู่ ในสิ่งนั้น ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่า สังขาร---ขนธ.สํ.17/106/159..:cool: ถ้าจะลองทำความเข้าใจคำสอนของพระอาจารย์มั่นดู...ท่านใช้คำว่าสังขารกรรม( เจตนา ผัสสะ) และสังขารที่เป็น วิบาก(ผล).....ลักษณะคุณสมบัติของสังขารคือปรุงแต่งให้เป็นสิ่งนั้นนั้น(แท้จริงไม่ได้มีได้อยู่ด้วยตัวมันเอง แต่อาศัยสิ่งอื่น จึงเกิดขึ้น) อันมีรากเหง้า คือ อวิชชา...คือผมคิดว่า ท่านหมายถึงตราบใดที่มีอวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร(สังขารที่ท่านเรียกว่าสังขารกรรม) ย่อม ปรุงแต่งสิ่งอื่นต่อไปเรื่อยเรื่อย.....ตามอิทัปจจัยตา สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะมี สังขารที่ปรุงแต่งตั้งแต่ต้นอันเกิดจากอวิชชา จึงมีการปรุงแต่ง(ให้มีความสำเร็จรูปเป็นกองขันธิ์ต่างต่างตามอุปาทานของคน)ต่อ ต่อ มาเอง:cool:
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 มิถุนายน 2013
  4. paetrix

    paetrix เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 เมษายน 2011
    โพสต์:
    2,478
    ค่าพลัง:
    +1,878
    ........................พระวจนะ ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นอย่างไรเล่า ภิกษุทั้งหลาย หมู่แห่งเจตนาหกเหล่านี้คือ สัญเจตนาในเรื่องรูป สัญเจตนาในเรื่องเสียง สัญเจตนาในเรื่องกลิ่น สัญเจตนาในเรื่องรส สัญเจตนาในเรื่องโพฐัพพะ และสัญเจตนาในเรื่องธัมารมณ์ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สังขารทั้งหลาย ความเกิดขึ้นแห่งสังขารทั้งหลาย มีได้เพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะตวามดับไม่เหลือแห่งสังขารทั้งหลายมีได้เพราะความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ อริยะมรรคมีองค์แปดนี้นั้นเอง เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสังขารทั้งหลาย ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งใจมั่นชอบ---ขนธ.สํ.17/74/116...:cool:
     
  5. สุรีบุตร

    สุรีบุตร สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กรกฎาคม 2011
    โพสต์:
    21
    ค่าพลัง:
    +7
    “ปฏิจสมุปบาท ข้อที่ว่าวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปนั้นแล ในนามรูปก็มีทั้งวิญญาณและสังขาร ซึ่งมันจะมีการแตกต่างกันดังนี้ คือ สังขาร วิญญาณ ที่ต่อจากอวิชานั้น เรียกว่าสังขารกรรม วิญญาณกรรม แตกต่างกับสังขาร-วิญญาณ-ของนามรูป
    สังขารวิญญาณของนามรูปนั้น เป็นสังขารวิญญาณวิบาก เนื่องจากเป็นการปรุงแต่งที่สำเร็จรูปแล้วจากสังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นการปรุงแต่งที่กำลังทำอยู่
    คือว่า สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นภาวะที่ไม่เป็นอิสระอยู่ภายใต้อำนาจของกรรม มี (อวิชชา)(จิต) เป็นหางเรือใหญ่ อาศัยสังขารการปรุงแต่ง อาศัย วิญญาณความรู้สึกในขณะที่กำลังปรับปรุงภพ อันจะเป็นแนวทางแห่งการก่อให้เกิด ซึ่งในขณะนั้นจิต(อวิชชา)เป็นประธาน อาศัยสังขารปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึก ในขณะที่กำลังปรุงภพ อันจะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของสังขารกรรม วิญญาณกรรม ทั้ง ๒ นั้นสืบเนื่องมาจากจิต ณ ที่นี้จึงแล้วแต่กรรมจะจำแนกไป คือให้สังขารและวิญญาณนี้เห็นดีไป เมื่อเห็นดีไปอย่างไร จิตก็จะไปตั้งก่อให้เกิดไปตามนั้นเพราะที่นี้จึงเป็นสถานที่กำลังปรุงแต่งภพ ถ้าพิจารณาแล้วจะรู้สึกมันละเอียด และพึงจะรู้จริงได้ต่อเมื่อจิตได้ดำเนินตามอริยสัจจ และเป็นวิปัสสนาอันแก่กล้าแล้วนั้นทีเดียว ที่กระผมได้อธิบายมานี้เป็นสักแต่แนวทางเท่านั้น ตามความเป็นจริงต้องมีตาภายในคือกระแสจิต กระแสธรรมเท่านั้น ที่จะเขาไปรู้จริงได้”

    สังขารกรรม วิญญาณกรรมเป็นการปรุงแต่งโดยตัวจิตเอง(เมื่อตายหมดสติแล้ว) จึงกล่าวว่า ไม่เป็นอิสระ เพราะยังไม่มีเราเป็นผู้เจตนา ตั้งใจปรุึงแต่งตามใจ แต่เป็นการปรุงแต่งโดยตัวจิต(อวิชชา)เอง (ก่อนการปฏิสนธิ)

    ต่างจากสังขารในนามรูป(ปฏิสนธิแล้ว)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 มิถุนายน 2013
  6. บุคคลทั่วไป 3 คน

    บุคคลทั่วไป 3 คน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,938
    ค่าพลัง:
    +1,253
    [๒] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิจจสมุปบาท เป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย

    เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
    เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
    เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
    เพราะนามรูป เป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
    เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
    เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
    เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
    เพราะตัณหาเป็น ปัจจัย จึงมีอุปาทาน
    เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
    เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
    เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและ
    อุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
    นี้เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ฯ


    *************************

    .....................
    .....................
    [๑๒] ก็ผัสสะเป็นไฉน ผัสสะ ๖ หมวดเหล่านี้คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส
    ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส นี้เรียกว่าผัสสะ ฯ

    [๑๓] ก็สฬายตนะเป็นไฉน อายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เรียกว่าสฬายตนะ ฯ

    [๑๔] ก็นามรูปเป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่านาม
    มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป นามและ รูปดังพรรณนามาฉะนี้
    เรียกว่านามรูป ฯ

    [๑๕] ก็วิญญาณเป็นไฉน วิญญาณ ๖ หมวดเหล่านี้คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ
    ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่า วิญญาณ ฯ

    [๑๖] ก็สังขารเป็นไฉน สังขาร ๓ เหล่านี้คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร นี้เรียก
    ว่าสังขาร ฯ
    ............................
    ............................
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 มิถุนายน 2013
  7. สุรีบุตร

    สุรีบุตร สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กรกฎาคม 2011
    โพสต์:
    21
    ค่าพลัง:
    +7
    ทำไมไม่อธิบายตั้งแต่อวิชชาไล่มาตามลำดับละครับ
     
  8. บุคคลทั่วไป 3 คน

    บุคคลทั่วไป 3 คน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,938
    ค่าพลัง:
    +1,253
    [๑๔] ก็นามรูปเป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่านาม
    มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป นามและ รูปดังพรรณนามาฉะนี้
    เรียกว่านามรูป ฯ

    ******************



    ******************

    สอบทานตามพุทธวัจนะ จะได้ นามรูป มี เจตนา(กรรม) จัดอยู่ในส่วน นาม

    *********

    สอบทานตามพุทธวัจนะ จะได้ นามรูป มี ผัสสะ เป็นตัวสืบเนื่อง กับ เจตนา เป็นตัวจำแนกไป


    **********

    สอบทานตามพุทธวัจนะ : เมื่อผัสสะเกิดสืบเนื่องเจตนาเข้ามาจำแนก(เลือกขึ้นวิถีจิต) สัญญา
    จำได้หมายรู้ แล้วจะตามด้วย เวทนา(ความเห็นดีอย่างไร) ก็จะเกิด นมสิการ(จิตทำหน้าที่ประธาน) ขึ้นวิถีจิตตั้งให้เกิด
    .....ไปตามนั้น รวมเรียกกระบวนการทั้งหมดว่า นามรูป ( สำเร็จรูป )


    ***************


    สอบทานตามพุทธวัจนะ เป็นการ อธิบายส่วน นามรูป ยังไม่ใช่ การทวนกระแสไปอธิบาย วิญญาณ

    ดังนั้น

    เสนอให้คงการอธิบาย ช่วง อวิชชา ถึง วิญญาณ ไว้ตาม ปฏิจจสมุปบาท ตามพุทธวัจนะ
    ไม่จำเป็นต้องไปสร้างคำว่า " สังขารกรรม วิญญาณกรรม " ขึ้นมาใช้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 มิถุนายน 2013
  9. บุคคลทั่วไป 3 คน

    บุคคลทั่วไป 3 คน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,938
    ค่าพลัง:
    +1,253
    ถ้าสมมติ งง

    อันนี้ก็ต้องขออนุญาติ แจง ในเรื่องของ อุบาย และ ข้อปัญหา

    เจ้าคุณอุบาลี ไม่ได้ไม่เข้าใจปฏิจจสมุปบาท การใคร่ครวญ หยิบยก
    ปฏิจจสมุปบาท ตลอดเวลา จะเป็นปรกติของพระที่มีคุณธรรมประมาณ
    หนึ่ง

    ปัญหนของเรื่องนี้ จึงไม่ใช่ เนื้อหาสาระของ ปฏิจจสมุปบาท แต่เป็น
    อาการ " เจตนาตรึก เจตนาใคร่ครวญธรรม " ซึ่ง มี keyword ในการ
    จี้ชี้เข้าไปด้วยคำว่า " กรรม "

    เราจึงเห็น การหยิบคำว่า " กรรม " ขึ้นมาห้อมล้อมพยัญชนะ ความรู้
    ตล่อมให้เห็น ตัวกรรม หรือ ตัวเจตนา


    ดังนั้น ปัญหาการ ภาวนา ของเจ้าคุณอุบาลีจึงไปอยู่ที่ เจตนาใคร่ครวญ ธรรม ทำให้
    ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ ไม่สามารถโน้มไปเห็นธรรมที่ยิ่งกว่าได้

    แต่พอ หลวงปู่มั่น ตล่อมเรื่อง " เจตนา กับ กรรม " แล้ว ขมวดลงด้วยถ้อยคำว่า

    เมื่อเห็นดีไปอย่างไร จิตก็จะไปตั้งก่อให้เกิดไปตามนั้นเพราะที่นี้จึงเป็นสถานที่กำลังปรุงแต่งภพ ถ้าพิจารณาแล้วจะรู้สึกมันละเอียด ( ชี้ปัญหาการภาวนา )

    และพึงจะรู้จริงได้ต่อเมื่อจิตได้ดำเนินตามอริยสัจจ( ชี้ทางแก้ให้ ละ เจตนาตรึกธรรมเสีย เพื่อยก....--> ) และเป็นวิปัสสนา
    อันแก่กล้าแล้วนั้นทีเดียว ที่กระผมได้อธิบายมานี้เป็นสักแต่แนวทางเท่านั้น
    ตามความเป็นจริงต้องมีตาภายในคือกระแสจิต กระแสธรรมเท่านั้น ที่จะเขา
    ไปรู้จริงได้
     
  10. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    ปฏิจจสมุปบาทคร่อมภพชาติ

    ปรัศนี: คนบางคนอธิบายว่า การอธิบายปฏิจจสมุปบาท ทั้งสายให้มีได้ในเวลาอันสั้นชั่ว ๒-๓ นาที ของการเกิดอุปาทานว่า ตัวตน โดยไม่ต้องกินเวลาคร่อมภพคร่อมชาติ ถึงสามชาตินั้นเป็นเพราะ บุคคลนั้นไม่เชื่อว่า มีอัตตาหรือวิญญาณ ที่เป็นผู้ไปเกิด นี้ท่านอาจารย์จะอธิบายว่าอย่างไรครับ? เพราะดูเหมือนเขาเจาะจงว่า ท่านอาจารย์เป็นผู้มีความเห็นเช่นนั้น

    พุทธทาส: อธิบายว่าไม่มีตัวตน อย่างที่เขาพูดกัน คือไม่มีปฏิจจสมุปบาทคร่อมภพ คร่อมชาตินี่เพื่ออธิบายให้ตรงตามพุทธประสงค์ ในพุทธภาษิต เรื่องปฏิจจสมุปบาท คืออธิบายให้เห็นว่าไม่ได้คร่อมภพคร่อมชาติถึงสามชาติ ว่าวงหนึ่งชั่วเวลาแวบเดียวก็ได้กว่าจะตายนี้มีปฏิจจสมุปบาทนับไม่ถ้วนว่ามีกี่วงหรือมีกี่ชาติ การอธิบายไม่ให้ปฏิจจสมุปบาทคร่อมภพคร่อมชาตินี้คือ การอธิบายให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ของเรื่องปฏิจจสมุปบาท มีเท่านี้ ไม่ต้องอธิบายอะไรต่อไป...
     
  11. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า ความยินดี
    ความเพลิน ความอยาก ยังมีอยู่ในกวฬิงการาหาร วิญญาณก็ตั้ง
    มั่นแล้ว งอกงามแล้ว ในเพราะกวฬิงการาหารนั้น วิญญาณตั้งมั่น
    แล้ว งอกงามแล้วในที่ใด ความหยั่งลงแห่งนามรูปก็มีอยู่ในที่นั้น
    ความหยั่งลงแห่งนามรูปมีอยู่ในที่ใด ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย
    ก็มีอยู่ในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลายมีอยู่ในที่ใด การเกิด
    ในภพใหม่ต่อไปก็มีอยู่ในที่นั้น การเกิดในภพใหม่ต่อไปมีอยู่ในที่
    ใด ชาติ ชรา มรณะ ก็ยังมีอยู่ต่อไปในที่นั้น


    พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๗ หน้าที่ ๑๙๒/๘๔๒
     
  12. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

    บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

    ได้แสดงพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร ในข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบมาโดยลำดับ ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่าน ถึงอธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิ เมื่อท่านได้ตอบไปตอนหนึ่งแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามปริยายคือทางอธิบายอย่างอื่นต่อไปอีก ซึ่งท่านก็ตอบไปโดยลำดับ ตามหลักแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น โดยยกเอาธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นเหล่านี้ มาแสดงอธิบายทีละข้อ จำแนกออกเป็น ๔ ตามแนวแห่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ทุกข้อ

    จึงเท่ากับว่าพระเถราธิบายนี้ได้แสดงอธิบายอริยสัจจ์ ๔ หลายนัยยะ หลายปริยาย อย่างละเอียด ไปตามข้อธรรมะที่เนื่องกัน เป็นสายแห่งปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

    โดยจับข้างปลายคือชรามรณะขึ้นมาจนถึงอวิชชาอาสวะ และก็ได้แสดงอธิบายอวิชชาอาสวะนี้ว่าต่างเป็นปัจจัยของกันและกัน พระพุทธาธิบายในปฏิจจสมุปบาทนี้จบลงแค่อวิชชาเป็นส่วนมาก ท่านพระสารีบุตรได้จับเอาพระพุทธาธิบาย หรือพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าในที่อื่น มาเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่งคืออาสวะ อวิชชาเกิดเพราะอาสวะ ก็จบลงแค่อาสวะ แต่ว่าอาสวะเกิดเพราะอะไร ก็ต้องกลับมาหาอวิชชาอีก ว่าเกิดเพราะอวิชชา ซึ่งได้แสดงอธิบายในที่นี้แล้วว่า อวิชชาเกิดเพราะอาสวะอย่างไร และอาสวะก็เกิดเพราะอวิชชาอย่างไร

    จึงมาถึงข้อที่จะอธิบายต่อไปตามพระเถราธิบาย ว่าเพราะอวิชชาเกิดจึงเกิดสังขาร และคำว่าสังขารนั้น ก็ได้อธิบายในที่นี้แล้วว่าได้แก่สังขาร ๓ คือ กายสังขาร ได้แก่ลมอัสสาสะปัสสาสะ ลมหายใจเข้าลมหายใจออก วจีสังขาร ได้แก่วิตกวิจารความตรึกความตรอง จิตสังขาร ได้แก่สัญญาเวทนา ในวันนี้จะได้อธิบายว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร หรือว่าเพราะอวิชชาเกิดสังขารจึงเกิดอย่างไร จึงจะต้องอธิบายคำว่าสังขารก่อน

    สังขาร

    คำว่าสังขารนั้นใช้ในหมวดธรรมะหลายหมวด เช่นสังขาร ๒ คือสังขารที่มีใจครองหรือมีผู้ครองเรียกว่า อุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครองหรือไม่มีผู้ครองเรียกว่า อนุปาทินนกสังขาร สังขารในเบ็ญจขันธ์ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ซึ่งหมายถึงความคิดปรุงหรือความปรุงคิดของจิตใจ สังขารที่แสดงไว้ในโลก ๓ คือ โอกาสโลก โลกคือโอกาสอันได้แก่พื้นพิภพนี้ สังขารโลก โลกคือสังขารอันได้แก่ทุกๆ สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นจากพื้นพิภพนี้ ตลอดจนถึงเป็นอุปาทินนกสังขาร อนุปาทินนกสังขารดังกล่าว

    สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์โดยตรงก็หมายถึงจิตใจซึ่งครองสังขารอยู่ ซึ่งยังมีความข้องความติด สังขาร ๓ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร ที่ท่านพระสารีบุตรได้ยกมาอธิบายในข้อว่าสังขารนี้

    และสังขาร ๓ อีกหมวดหนึ่ง ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบุญ ก็คือทำบุญ อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งกรรมที่มิใช่บุญคือบาป ก็คือทำบาป อเนญชาภิสังชาร ปรุงแต่งธรรมะที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงสมาธิที่เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น สำหรับในข้อสังขารที่ว่าเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยเกิดสังขาร หรือเพราะอวิชชาเกิดสังขารเกิดนี้ ก็มีอธิบายถึงสังขาร ๓ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ในที่บางแห่งด้วยเหมือนกัน จึงรวมเข้าได้ว่าท่านยกเอาสังขาร ๓ ทั้งสองหมวดนี้มาอธิบายสังขารในที่นี้

    สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

    แต่ในเบื้องต้นนี้จะได้อธิบายเป็นกลางๆ ก่อน ว่าสังขารก็คือสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือการผสมปรุงแต่ง ทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างที่เป็นไปทางจิตก็ตาม เป็นไปทางกาย หรือเป็นไปอยู่ในโลกธาตุทั้งสิ้น ที่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่ ทั้งที่เป็นอย่างหยาบ ทั้งที่เป็นอย่างละเอียด ล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น ถ้าหากว่าไม่มีสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือไม่มีการผสมปรุงแต่ง ก็จะไม่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่อะไรทั้งสิ้น จะไม่ปรากฏสัตว์บุคคล จะไม่ปรากฏต้นไม้ภูเขา จะไม่ปรากฏโลกธาตุนี้ ไม่ปรากฏพื้นพิภพนี้ ไม่ปรากฏกลางวันกลางคืน ไม่ปรากฏหนาวร้อน ลม ฝน ไม่ปรากฏดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ดวงดาว อะไรทั้งสิ้น

    แต่ที่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ดังกล่าว ตลอดจนถึงสัตว์บุคคล ดังเราทั้งหลายทุกๆ คนที่มีกายมีใจ ก็เพราะมีการผสมปรุงแต่ง

    จึงมีสิ่งผสมปรุงแต่งปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้น ดังเช่นตัวอย่างที่ยกมากล่าวแล้ว และการผสมปรุงแต่งนี้ย่อมมีอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด หยุดทีหนึ่งก็คือว่าแตกสลายหรือว่าดับไปทีหนึ่ง เกิดก็คือผสมปรุงแต่งขึ้นใหม่ แล้วก็ดับ ในระหว่างเกิดและดับซึ่งเรียกว่าตั้งอยู่ ก็ไม่หยุดผสมปรุงแต่ง ไม่หยุดความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

    เกิดดับ

    ดังจะพึงเห็นได้ว่าร่างกายของทุกๆ คนนี้ เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งอย่างหนึ่ง ต้องมีความปรุงแต่งติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา ไม่มีหยุด ดังเช่นต้องหายใจเข้าหายใจออก ติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่หมายความว่าสืบเนื่องกันเป็นอันเดียว เพราะว่ามีเกิดมีดับต่อเนื่องกันไป คือหมายความว่าเกิดดับ แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ แล้วก็เกิดติดต่อกันไปอันเรียกว่าสันตติ

    ( เริ่ม ๖๙/๑ ) ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้เป็นตัวอย่างที่ปรากฏ พิจารณาเห็นได้ คือเอาเป็นว่าหายใจเข้านี่เป็นเกิด และหายใจออกนั้นเป็นดับ ก็สมมติเท่านั้น แต่อันที่จริงนั้นหายใจเข้าเองก็เกิดดับๆ เข้าไป เช่นทีแรกอยู่ที่ปลายจมูก ก็แปลว่าเกิดที่ปลายจมูก แล้วก็เข้าไป ก็ดับจากปลายจมูกเข้าไป ถึงจุดหนึ่งก็ไปเกิดที่นั่นจุดหนึ่ง ผ่านจุดนั้นไปก็ดับจากจุดนั้น ไปเกิดในจุดอื่นต่อไปอีก หายใจออกก็เหมือนกัน ก็แปลว่าเกิดเหมือนกัน คือลมหายใจนั้นในส่วนที่นำออก ก็เกิดตั้งแต่จุดออกทีแรก ผ่านจุดนั้นมาก็ดับจากจุดนั้น อีกจุดหนึ่งก็มาเกิดที่จุดนั้น ผ่านแล้วก็ดับที่จุดนั้น มาสู่อีกจุดหนึ่งก็มาเกิดอีกจุดหนึ่ง เรื่อยมาดั่งนี้ จนถึงปลายจมูก ก็พ้นปลายจมูกไป ดั่งนี้คือสังขารปรุงแต่ง ไม่หยุด ชีวิตจึงดำรงอยู่ได้

    นอกจากนี้อาการทั้งหลายในร่างกายนี้ ที่แบ่งเป็นอาการ ๓๑ หรืออาการ ๓๒ หรือว่าจะแบ่งตามหลักสรีระศาสตร์ในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นส่วนภายนอก ทั้งที่เป็นส่วนภายใน

    ล้วนมีการปรุงแต่งอยู่ตลอดทุกส่วนทุกสิ่ง ไม่มีหยุดการปรุงแต่ง ชีวิตจึงดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น สังขารคือความปรุงแต่งนี้ จึงเป็นตัวชีวิตของร่างกายนี้ เมื่อหยุดการปรุงแต่ง โดยที่ไม่มีสันตติคือความสืบต่อ ก็แปลว่าชีวิตนี้ดับ ซึ่งเรียกตามภาษาธรรมะว่ากายแตกทำลาย กายนั้นแปลว่าประชุม ส่วนทั้งหลายที่มาประชุมกันเป็นกายนี้แตกทำลาย จึงหยุดปรุงแต่ง ร่างกายนี้จึงเริ่มเป็นสิ่งที่เน่าเปื่อยผุพัง ต้องนำไปเผาไปฝัง แม้จะไม่เผาก็ผุพังไปเอง ซึ่งในที่สุดก็แตกสลายไปหมด เพราะเหตุว่าหยุดความเป็นสังขาร คือหยุดความปรุงแต่ง

    เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสยกเอาลมอัสสาสะปัสสาสะขึ้นมา ว่าเป็นตัวกายสังขารเครื่องปรุงแต่งกาย เป็นตัวอย่างให้พิจารณาเห็นได้ กายนี้ดำรงชีวิตอยู่ก็เพราะมีลมหายใจเข้าลมหายใจออก ลมหายใจเข้าลมหายใจออกดับ ก็แปลว่าเครื่องปรุงกายนี้ดับ กายนี้ก็แตกสลาย

    วจีสังขาร จิตสังขาร

    จิตใจก็เหมือนกัน มีเครื่องปรุงแต่งคือมีวิตกมีวิจารความตรึกความตรอง หรือความคิด ซึ่งเป็นเหตุให้พูดออกมาเป็นวาจา วาจาที่พูดนี้ก็เพราะมีวิตกวิจารคือความตรึกความตรอง จึงเป็นอันว่าต้องมีวิตกวิจารความตรึกความตรองขึ้นก่อน วาจาจึงจะออกมา ถ้าหากว่าไม่มีความตรึกความตรอง ก็ไม่มีวาจา เพราะฉะนั้น ความตรึกความตรองจึงเป็นเครื่องปรุงวาจาที่เรียกว่า วจีสังขาร วาจานี้เป็นผลที่ออกมาจากวิตกวิจารความตรึกความตรอง

    และจิตที่มีความคิดไปต่างๆ ดังเช่นมีวิตกวิจารความตรึกความตรอง ซึ่งเป็นความตรึกความตรองของจิตนั้นเอง ก็เพราะว่ามีสัญญามีเวทนา สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ เวทนาก็ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข

    เพราะมีสัญญาเวทนานี้จิตจึงมีความคิด หรือมีวิตกมีวิจารความตรึกความตรองไปต่างๆ ถ้าไม่มีสัญญาไม่มีเวทนา จิตก็ไม่ปรากฏ คือจะไม่มีความคิด ไม่มีความตรึกความตรองต่างๆ เพราะฉะนั้น สัญญาเวทนานี้จึงเป็น จิตสังขาร เครื่องปรุงจิต

    อันคนที่จะตายนั้นท่านแสดงไว้ว่าดับวจีสังขาร คือดับวิตกวิจารความตรึกความตรองก่อน วาจาจึงดับ นิ่งไม่พูด เพราะไม่มีความตรึกความตรอง แต่ว่าเพียงนี้ยังไม่ตาย ต่อไปก็ดับกายสังขาร คือดับลมอัสสาสะปัสสาสะ หยุดหายใจ แต่ว่าแม้จะดับลมหายใจ ดับกายสังขาร ก็ยังไม่ตาย จะต้องดับสัญญาเวทนาซึ่งเป็นตัวจิตสังขาร เมื่อดับสัญญาเวทนาที่เป็นตัวจิตสังขาร นั่นแหละจึงจะตาย ซึ่งข้อนี้ก็ตรงกับความรู้ในปัจจุบัน ที่ว่าแม้ว่าจะดับลมหายใจเข้าออก แต่ว่าถ้าสมองยังไม่ดับคนก็ยังไม่ตาย ต้องสมองดับ เพราะฉะนั้นจึงมาตรงกับที่ว่า จะต้องดับสัญญาเวทนาซึ่งเป็นจิตสังขาร ดับจิตสังขาร ดับสัญญาเวทนา นั่นแหละจึงจะตาย

    สังขาร ๓

    นี้คือสังขาร ๓ และเมื่อสังขาร ๓ ดังกล่าวนี้ยังมีอยู่ คนยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ มีวิตกวิจารอยู่ มีสัญญาเวทนาอยู่ ร่างกายก็ยังดำรงอยู่ และเป็นไปได้ เดินยืนนั่งนอนได้ อาการต่างๆ ในร่างกายนี้ใช้ได้ มือเท้าใช้ได้ จักขุประสาทโสตประสาทเป็นต้นใช้ได้ และพูดได้ คิดอะไรได้ ก็เพราะว่าสังขารทั้ง ๓ นี้ยังดำรงอยู่ และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงทำดีได้ทำชั่วได้ ตลอดจนถึงทำสมาธิจนถึงได้อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นได้ เพราะฉะนั้น จึงมีปุญญาภิสังขารปรุงแต่งบุญ อปุญญาภิสังขารปรุงแต่งบาปคือทำบุญทำบาป อเนญชาภิสังขารทำสมาธิกันได้ ดังที่มาปฏิบัติทำสมาธิกันนี้

    ฉะนั้น แม้บุญ แม้บาป แม้สมาธิที่ทำกันนี้ ก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ต้องปรุงต้องแต่งคือต้องทำ ถ้าไม่ทำ ก็ไม่เกิดเป็นบุญ ไม่เกิดเป็นบาป ไม่เกิดเป็นสมาธิที่แนบแน่น ต้องทำคือต้องปรุงต้องแต่ง ให้เป็นบุญขึ้นมาจึงเป็นบุญ ให้เป็นบาปขึ้นมาจึงเป็นบาป ให้เป็นสมาธิขึ้นมาจึงเป็นสมาธิ คือทำได้

    ยอดของสังขตธรรม

    แม้มรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้ให้ปฏิบัติ เป็นตัวมรรคข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ทุกข้อ ก็เป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง คือต้องปฏิบัติต้องกระทำ ต้องปฏิบัติอบรมทิฏฐิคือความเห็นให้เห็นถูกเห็นชอบ จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ ต้องปฏิบัติอบรมความดำริให้ถูกให้ชอบ จึงจะเป็นสัมมาสังกัปปะความดำริชอบ ต้องปฏิบัติต้องกระทำกรรมทางกายให้ถูกให้ชอบ เว้นจากที่ไม่ถูกไม่ชอบ จึงจะเป็นสัมมากัมมันตะ ทางวาจาก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาวาจา ทางอาชีพก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาอาชีวะ ความเพียรก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาวายามะ สติก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาสติ สมาธิก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาสมาธิ คือต้องทำต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ทำไม่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า มรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นยอดของสังขตธรรม ธรรมะที่ปรุงแต่งขึ้น เพราะว่ามรรคมีองค์ ๘ นี้เมื่อได้ปรุงแต่งขึ้นจนเป็นมรรคสมังคี กำจัดกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ก็เสร็จกิจ ไม่ต้องปรุงแต่งกันอีกต่อไป จึงชื่อว่าเป็นยอด เหมือนอย่างขึ้นไปถึงยอดไม้แล้ว ก็ไม่ต้องขึ้นต่อไป เมื่อขึ้นไปถึงมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นมรรคสมังคีแล้ว กำจัดกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ก็เป็นอันว่าหมดกิจไม่ต้องขึ้น ไม่ต้องทำกันต่อไป เสร็จกิจ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

    แต่ว่าปรุงแต่งมรรคมีองค์ ๘ ก็นับเข้าว่าเป็นปุญญาภิสังขารปรุงแต่งบุญ และก็นับเข้าในข้ออเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่งอเนญชาเพราะมีสมาธิอยู่ด้วย

    สังขารทั้งปวงนี้ คือสิ่งผสมปรุงแต่ง การผสมปรุงแต่งทั้งปวงนี้ มีเพราะอวิชชา เมื่อมีอวิชชาจึงมีการผสมปรุงแต่ง ดังจะพึงเห็นได้ว่าเพราะมีอวิชชา จึงได้มีชาติความเกิดขึ้นมา เป็นสังขาร ๓ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร และเมื่อมีสังขาร ๓ ก็แปลว่ามีขันธ์ ๕ บริบูรณ์ มีกายใจบริบูรณ์ ก็ทำบุญทำบาปทำสมาธิกันได้ ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ได้ และการปฏิบัติแม้ที่เป็นบุญ ก็เพราะว่าเพื่อที่จะชำระบาป ชำระกิเลส ซึ่งมีอวิชชานั่นแหละเป็นหัวหน้า ถ้าหากว่าไม่มีอวิชชาแล้ว คือดับอวิชชาเสียได้แล้ว ก็ไม่ต้องทำบุญไม่ต้องทำบาปกันต่อไป เรียกว่าเสร็จกิจ

    กิจที่จะต้องทำ

    การที่ต้องทำบุญอยู่นั้นก็เพราะว่ามีบาปที่จะต้องละ มีกิเลสที่จะต้องละ มีอวิชชาที่จะต้องละ จึงต้องทำบุญ ต้องปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ต้องปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญากัน และเมื่อยังมีอวิชชาก็ต้องทำบาป เพราะความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงต้องทำบาปทำบุญกันอยู่ ต้องทำสมาธิกันอยู่ ทำบุญก็เพื่อละบาปละกิเลส และจะทำบาปก่อกิเลสกันอยู่ก็เพราะยังมีอวิชชา

    เพราะฉะนั้นจึงแปลว่าต้องมีกิจที่จะต้องทำ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนเอาไว้ว่า พึงอบรมศีลสมาธิปัญญา ตราบเท่าจนถึงสิ้นความติดใจยินดี บรรลุนิพพานดับกิเลสและกองทุกข์ได้หมดสิ้น คือแปลว่าเมื่อดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ดับอวิชชาได้แล้ว อวิชชาเป็นหัวหน้าใหญ่ของกิเลสทั้งหลาย หรือจะว่าอาสวะเป็นหัวหน้าใหญ่ของกิเลสทั้งหลายก็ได้

    เมื่อดับได้แล้วก็เป็นอันว่าเสร็จกิจ ไม่ต้องปรุงไม่ต้องแต่งกันต่อไป ดังที่ตรัสเอาไว้ว่าจิตถึง วิสังขาร คือธรรมะที่ปราศจากความปรุงแต่ง ไม่มีความปรุงแต่ง อันหมายถึงนิพพาน เพราะสิ้นตัณหาทั้งหลาย ก็เป็นอันว่าจิตนี้หยุดปรุงแต่ง เพราะละอวิชชาได้ จิตประกอบด้วยวิชชาคือความรู้แจ่มแจ้งถูกต้องตามความเป็นจริง วิมุติคือความหลุดพ้น เรียกว่าเป็นจิตที่รู้พ้น

    วิสังขาร นิพพาน

    จิตนี้รู้อะไรๆ ทุกอย่างทางอายตนะตาหูเป็นต้น แต่รู้แล้วก็ไม่ยึด หลุดพ้นทุกอย่าง เป็นจิตที่รู้พ้น จิตที่รู้ก็คือจิตที่มีวิชชา จิตที่พ้นก็คือจิตที่มีวิมุติ รู้พ้น จึงเป็นจิตที่บรรลุวิสังขารที่เรียกว่านิพพาน คือธรรมะที่ไม่มีสังขารคือปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้น ไม่ปรุงแต่งบุญ ไม่ปรุงแต่งบาป ไม่ปรุงแต่งอเนญชาทั้งหมด อยู่กับรู้และพ้น ในเมื่อวิบากขันธ์นี้ยังดำรงอยู่

    เมื่อวิบากขันธ์นี้ยังดำรงอยู่ ก็คงมีกายสังขารปรุงแต่งกาย ยังหายใจเข้าหายใจออก มีวจีสังขารคือวิตกวิจารตรึกตรองพูด มีจิตสังขารสัญญาเวทนา คิดตรึกครองเป็นต้น ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว จิตของพระองค์ดับกิเลสและกองทุกข์ได้สิ้นแล้ว ดับอวิชชาได้แล้ว จิตของพระองค์อยู่กับวิชชาวิมุติ แต่พระกายก็ยังหายใจเข้าหายใจออก และยังทรงมีวิตกวิจาร แสดงธรรมะสั่งสอน ก็เป็นพระวาจาที่แสดงออกมา วิตกวิจารคือวิชชา คือความรู้ วิมุติคือความพ้น จิตของพระองค์ก็ยังมีเป็นจิตสังขาร มีสัญญาเวทนานี้ปรุงแต่งจิตให้คิด จึงทรงตรึกตรอง ทรงพระญาณดูสัตว์ทั้งหลายในตอนเช้า เมื่อผู้ใดเข้าในข่ายของพระญาณ ว่าเป็นเวไนยชนคือบุคคลที่พึงแนะนำอบรมได้ ก็เสด็จไปทรงแสดงธรรมะโปรด ก็เป็นอันว่า กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร ของพระองค์นั้นเป็นวิบากขันธ์ที่เหลืออยู่ และก็ทรงใช้วิบากขันธ์ที่เหลืออยู่นี้ ด้วยพระมหากรุณา

    ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนโปรดให้เวไนยนิกรพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ตามพระองค์ ซึ่งทรงใช้อยู่ตลอดเวลาถึง ๔๕ ปี จึงดับขันธปรินิพพาน ดับกายสังขารวจีสังขารจิตสังขาร แต่เพราะสิ้นกิเลสหมดสิ้นแล้วจึงไม่ทรงเกิดอีก ไม่ก่อเกิดกายสังขารวจีสังขารจิตสังขาร คือขันธ์ ๕ หรือนามรูปขึ้นอีก เป็นผู้ไม่เกิด เมื่อไม่เกิดก็เป็นผู้ที่ไม่แก่ไม่ตาย พ้นจากถ้อยคำที่จะพูดถึงว่าเป็นอะไร

    เพราะเมื่อพูดถึงว่าเป็นอะไร ก็ต้องเป็นสังขารขึ้นมา ต้องเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา จึงจะพูดถึงได้ แต่เมื่อไม่เป็นสังขาร ไม่เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ไม่เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา ก็ไม่มีอะไรจะพูดถึง อาจจะกล่าวได้แต่เพียงว่าเป็นอมตะธรรม ธรรมะที่ไม่ตาย ที่เป็นวิสังขาร ไม่มีการปรุงแต่ง หรือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด

    แต่ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ ก็จะต้องมีสังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่ง การผสมปรุงแต่ง ต้องทำบุญ ต้องทำบาป ต้องทำสมาธิ ตลอดจนถึงต้องปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น กันไป เพราะฉะนั้น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร สิ่งผสมปรุงแต่งหรือการผสมปรุงแต่งดั่งนี้ และสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือการผสมปรุงแต่ง อันเรียกว่าสังขารนี้ ต้องมีอยู่ตลอดเวลา ดั่งชีวิตนี้ต้องมีการผสมปรุงแต่งกันอยู่ตลอดเวลา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หยุดเมื่อใดก็ดับชีวิตเมื่อนั้น

    ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

    สมเด็จพระญาณสังวร
    สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
    วัดบวรนิเวศวิหาร
    คัดจากเทปธรรมอบรมจิต
    อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
     
  13. 2ชาติตรัสรู้

    2ชาติตรัสรู้ គ្រប់គ្រាន់ รักษาดวงใจ.គ្រប់គ្រាន់

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    1,696
    ค่าพลัง:
    +1,558
    สังขาร กรรม การปรุงแต่งกรรม
     

แชร์หน้านี้

Loading...